วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

The Andaman Crisis


วิกฤตเรือดำน้ำทะเลอันดามัน
วันที่ 11 มีนาคม 1992 เป็นวันสถาปนากองเรือเฉพาะกิจภาคที่ 3 มีการก่อสร้างกองบัญชาการที่ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2009 จึงเปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็นทัพเรือภาคที่ 3 มีพื้นที่รับผิดชอบรวมทั้งสิ้น 6 จังหวัด ประกอบไปด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง กระบี่ และ จังหวัดสตูล
หน้าที่หลักคล้ายคลึงกับทัพเรือภาคอื่น สิ่งที่แตกต่างก็คือรับผิดชอบทะเลอันดามัน กับไม่มีอัตราเรือประจำการอย่างแท้จริง แต่ใช้วิธีหมุนเวียนเรือจากทัพเรือภาคอื่น พอครบกำหนดจะมีเรือชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้มีหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการประจำการเรือรบและเจ้าหน้าที่ ประกอบไปด้วยฐานทัพ ท่าเรือ อู่สำหรับซ่อมบำรุงตามวงรอบ รวมทั้งการฝึกฝนกำลังพลทุกระดับชั้น ซึ่งที่นี่ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ


จากแผนที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยมีทะเลโอบล้อมจำนวน 2 ฝั่ง แต่ไม่มีทะเลเชื่อมต่อติดกันเป็นทางตรง ต้องเดินทางผ่านช่องแคบมะระกา ใช้เวลาเร็วสุดประมาณ 3 วัน แต่เป็นเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น อาจติดแหงกเหมือนทางด่วนก็เป็นได้ ถ้าอยากได้เส้นทางที่มีเรือพาณิชย์ไม่มาก ต้องไปอ้อมช่องแคบซุนดาของอินโดนีเซีย ก่อนวกมาทางช่องแคบมะละกา ผ่านมาเลเซียตะวันตกเข้าสู่พื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งจะเสียเวลาและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่ากัน
ทะเลอันดามันทิศใต้ติดกับน่านน้ำมาเลเซีย เยื้องมาทางซ้ายมือเป็นเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เลยลงไปอีกนิดก็จะเป็นสิงคโปร์ ซึ่งค่อนข้างไกลจนถือว่าไม่เกี่ยวข้องกัน และถ้าขึ้นมาทางเหนือจะได้เจอน่านน้ำพม่า ทะเลอันดามันมีอีกชื่อหนึ่งก็คือทะเลพม่า ฉะนั้นแล้วไม่ว่าอย่างไรเราคงหนีพม่าไม่พ้น เลยไปอีกหน่อยก็คือบังคลาเทศ ค่อนข้างห่างไกลมากไม่น่ามีปัญหา แต่บังเอิญว่าบทความนี้อาจมีปัญหา เพราะสิ่งที่เป็นประเด็นร้อนแรงในเวลานี้ คือภัยคุกคามจากเรือดำน้ำเพื่อนบ้านนั่นเอง
เมื่อมีการจัดตั้งทัพเรือภาคที่ 3 อินโดนีเซียเป็นชาติเดียวที่มีเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ แต่อินโดนีเซียมีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต เอาเรือดำน้ำมาดำหาหอยหาปูในทะเลภูเก็ต ใช้คำว่าเป็นไปไม่ได้เลยน่าจะใกล้เคียงที่สุด เราไม่จำเป็นต้องส่งเรือลำใหญ่ทันสมัยมาประจำการ แต่หลวงปู่เค็มให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จึงมีการจัดหาเรือขนาดเล็กเข้ามาทำหน้าที่
ภาพบนขวาคือเรือหลวงทยานชล เป็นเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุซึ่งเรามีอยู่ 3 ลำ ระวางขับน้ำ 475 ตัน ยาว 62 เมตร กว้าง 8.22 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ติดตั้งโซนาร์ DSQS-21 มีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาแฝดสามเป็นอาวุธหลัก รวมทั้งรางปล่อยระเบิดลึกกับแท่นยิงระเบิดลึก โดยมีปืนใหญ่ 76/62 กับ ปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดไว้ป้องกันตัว อาวุธครบครันเพียงแต่ว่าเรือขนาดเล็กเกินไป ที่จะออกไปไล่ล่าเรือดำน้ำกลางทะเลอันดามัน ซึ่งมีคลื่นลมแรงจัดโดยเฉพาะช่วงหน้ามรสุม เรือลำนี้เหมาะสมกับภารกิจใกล้ชายฝั่งมากกว่า และนี่ก็คือมือวางอันดับหนึ่งทัพเรือภาคที่ 3
มือวางอันดับสองคือเรือหลวงคีรีรัฐ (ภาพล่างขวา) เป็นเรือคอร์เวตชั้น PF-103 จากอเมริกาซึ่งเรามีอยู่ 2 ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,172 ตัน ยาว 82.5 เมตร กว้าง 9.9 เมตร กินน้ำลึก 4.2 เมตร ติดตั้งโซนาร์ DSQS-21 พร้อมแท่นยิงตอร์ปิโดเบาแฝดสาม แม้ไม่ใหญ่โตเมื่อเทียบกับคลื่นลมทะเลอันดามัน แต่พอถูๆ ไถๆ ได้เมื่อเทียบกับภัยคุกคาม ปัญหาก็คือเรือลำนี้ประจำการมาแล้ว 45 ปี ต่อให้มีการซ่องบำรุงตามวงรอบอย่างดี ทว่าอะไรต่อมิอะไรย่อมเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ใครเลยจะรู้ว่าระบบเรดาร์ก็ดี ระบบโซนาร์ก็ดี ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน พูดง่ายๆ ก็คือเรือเก่าเกินไปจนใกล้ปลดระวาง
ตัดกลับมายังปี 2019 แบบเร็วฟ้าผ่า ปัจจุบันเพื่อนบ้านพัฒนากองทัพเรือจนใหญ่โตกว่าเดิม เรือดำน้ำในทะเลอันดามันมีมากขึ้นกว่าเดิม เริ่มจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นภัยคุกคามน้อยที่สุด พวกเขามีเรือดำน้ำมือสองจากสวีเดนจำนวน 4 ลำ และกำลังสั่งซื้อเรือดำน้ำใหม่จากเยอรมันจำนวน 4 ลำ เพื่อนำมาทดแทนของเดิมในอนาคตข้างหน้า แต่อย่างที่รู้ว่าสิงคโปร์ไม่ได้อยู่ติดประเทศไทย โอกาสรุกล้ำน่านน้ำโดยความไม่ตั้งใจเป็นไปไม่ได้เลย
ประเทศต่อมาก็คืออินโดนีเซีย ตอนนี้พวกเขามีเรือดำน้ำมากถึง 5 ลำ และกำลังสั่งซื้อเพิ่มเติมจากเกาหลีใต้อีก 3 ลำ ประเทศนี้ไปไกลมากขนาดประกอบเรือดำน้ำได้เองแล้ว แต่อินโดนีเซียเป็นมหามิตรที่ดีกับประเทศไทย ถ้าจะฮึ่มๆ ใส่มาเลเซียหรือออสเตรเลียก็ว่าไปอย่าง ผู้เขียนจึงขอตัดประเทศนี้ออกไปพร้อมกับสิงคโปร์


มาถึงประเทศที่อาจเป็นภัยคุกคามในอนาคต เริ่มจากประเทศมาเลเซียซึ่งอยู่ภาคใต้ของเรา พวกเขามีเรือดำน้ำชั้น Scorpene จำนวน 2 ลำ (ภาพบนสุด) เป็นเรือรุ่นใหม่ทันสมัยสูงมากจากฝรั่งเศส ประจำการมาแล้วหลายปีจนลูกเรือมีความชำนาญ โอกาสที่เรือหลวงทยานชลจะตรวจจับพบแทบเป็นไปไม่ได้ จึงสามารถดำผุดดำว่ายใต้ท้องทะเลกระบี่ได้อย่างสบาย โชคดีที่มาเลเซียมีทะเลโอบล้อมหลายด้าน เรือดำน้ำเพียง 2 ลำดูแลพื้นที่ทั้งหมดไม่ไหว และเรายังไม่มีปัญหากระทบกระทั่งขนาดใหญ่กับเขา โอกาสที่เขาจะรุกล้ำน่านน้ำเรามีเหมือนกันแต่ (ตอนนี้) น้อยมาก
ประเทศต่อมาที่มีเรือดำน้ำก็คือบังคลาเทศ พวกเขาซื้อเรือมือสองชั้น Type 035G จากจีนจำนวน 2 ลำ (ภาพกลาง) มีการปรับปรุงใหญ่จนมีสภาพพร้อมประจำการ และน่าจะใช้งานไปได้อีกสัก 15-20 ปี บังคลาเทศยู่ห่างไกลจากน่านน้ำไทยก็จริง รวมทั้งมีน่านน้ำพม่าทั้งผืนกั้นขวางเอาไว้ แต่อย่าลืมว่าเรือเพิ่งเข้าประจำการได้เพียง 2 ปี อาจเดินทางพลัดหลงมาโผล่ทะเลจังหวัดระนองก็เป็นได้ พม่าเองเพิ่งมีเรือติดระบบโซนาร์รุ่นใหม่เพียงไม่กี่ลำ โอกาสที่เรือดำน้ำบังคลาเทศจะหลุดมาถึงไทยโดยความบังเอิญ ก็พอมีเหมือนกันแม้ค่อนข้างน้อยนิดแต่ก็ถือว่ามี
เป็นอันว่าประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำกันครบถ้วน ยกเว้นแค่เพียงไทยแลนด์กับพม่าเท่านั้น ให้บังเอิญปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่หักปากกาโคตรเซียนจนงงกันทั้งบาง ภายในปี 2020 พม่าจะมีเรือดำน้ำลำแรก เป็นเรือมือสองชั้น Kilo จากอินเดียที่มีการปรับปรุงใหม่ทั้งลำ (ภาพแทนล่างสุด) พร้อมส่งมอบตามนัดโดยได้รับความเห็นชอบจากรัสเซีย หลังจากเคยส่งทหารไปฝึกวิชาเรือดำน้ำที่ปากีสถาน อีกไม่นานพม่าจะมีเรือดำน้ำมือสองจากอินเดีย (ผ่าง!)
และนี่ก็คือแจ๊คพอตเงินล้านมะลิแจกโชค น่านน้ำพม่าติดน่านน้ำไทยมากพอสมควร มีปัญหาเรือประมงรุกล้ำข้ามเขตตลอดเวลา (ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ) เคยมีเหตุทำให้เอาเรือตรวจการณ์ส่องปืนใส่กันมาแล้ว แม้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตถึงขนาดต้องทำสงคราม และความสัมพันธ์ระดับประเทศดีมากจนถึงมากที่สุด แต่เนื่องมาจากมีพื้นที่ติดกันค่อนข้างยาว โอกาสที่มือใหม่หัดดำจะหลงมาโผล่ชายหาดเมืองตรัง ผู้อ่านท่านใดกล้ารับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้น?
ไม่มีใครยกมือผู้เขียนขอเขียนต่อนะครับ ทัพเรือภาคที่ 3 เป็นส่วนใช้กำลังในการปฏิบัติงาน จึงมีแค่เรือตรวจการณ์กับเรือรบไม่ค่อยทันสมัยในยามปรกติ ครั้นเกิดสงครามจึงได้มีการส่งกองเรือที่ดีที่สุด เข้ามาจัดการปัญหาซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปรกติ ปัญหาก็คือระยะเวลาในการเดินทาง ถ้าชาวประมงเห็นกล้องเรือดำน้ำไม่ปรากฏสัญชาติ แล้วขึ้นฝั่งมาแจ้งข่าวทัพเรือภาคที่ 3 กว่าเรือฟริเกตทันสมัยจากอ่าวไทยจะเดินทางมาถึง เรือดำน้ำลำที่ว่าคงปฏิบัติภารกิจเรียบร้อยแล้ว ครั้นจะเอาเรือหลวงทยานชลหรือเรือหลวงคีรีรัฐเข้าไปจัดการ คำตอบเป็นอย่างไรผู้อ่านทุกท่านคงทราบดีแก่ใจ
ในเมื่ออันดามันมีเรือดำน้ำเยอะแยะไปหมด และการส่งเรือรบทันสมัยจากอ่าวไทยต้องใช้เวลานาน แล้วเราจะรับมือภัยคุกคามใต้น้ำได้อย่างไร? ลองใช้แผนแบบคนมองโลกในแง่ดีกันก่อนนะครับ
1 ส่งเครื่องบิน F-16 ไปทำโซนิคบูม เพียงเท่านี้ฝ่ายตรงข้ามก็ปอดแหกยอมแพ้เสียแล้ว แต่นี่เป็นเรือดำน้ำนะเฟ้ยถ้าดำอยู่ใต้น้ำคงไม่ได้ยินเสียงเครื่องบิน F-16 แน่นอน เพราะฉะนั้นแผนนี้เป็นอันตกไป
2 ส่งเครื่องบินกริเพนไปยิงจรวด RBS-15 ใส่เสียเลย กองทัพเรือไม่ต้องทำอะไรมีแค่เรือหนองเหน่งหนองแกละก็พอ ถ้าเรือฝ่ายตรงข้ามลอยลำเหนือผิวน้ำ แล้วบังเอิญเรดาร์จรวด RBS-15 ตรวจจับได้ก็อาจยิงโดน แต่นี่เป็นเรือดำน้ำนะเฟ้ยถ้าดำอยู่ใต้น้ำ RBS-15 คงดำใต้น้ำไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นแผนนี้เป็นอันตกไป
3 ซื้อเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลรุ่นใหม่ ติดเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกลพร้อมอุปกรณ์ตรวจจับเรือดำน้ำ ถ้าเรือฝ่ายตรงข้ามลอยลำเหนือผิวน้ำ แล้วบังเอิญเรดาร์ตรวจจับได้ก็อาจหย่อนตอร์ปิโดใส่ได้ แต่นี่เป็นเรือดำน้ำนะเฟ้ยถ้าดำอยู่ใต้น้ำเรดาร์ตรวจไม่เจอแน่ ต้องใช้อุปกรณ์ตรวจจับใต้น้ำชื่อว่าโซโนปุย ทิ้งลงมาสู่ท้องทะเลเพื่อค้นหาสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ แต่อย่างที่รู้กันว่าโซโนปุยมีขนาดเล็ก ประสิทธิภาพก็ตามขนาดนั่นแหละครับ โอกาสจะตรวจเจออยากพอๆ กับถูกหวยใต้ดิน หลังจากใช้งานยังต้องตามมาเก็บขึ้นฝั่ง (ก็ของมันแพง) การค้นหาแบบเดาสุ่มคือภารกิจฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้นแผนนี้เป็นอันตกไป
แล้วปรกติเขาไล่ล่าเรือดำน้ำอย่างไร? ถ้าลองหาคลิปวีดีโอประเทศฝั่งนาโต้มาดู พวกเขาจะใช้เรือฟริเกตติดโซนาร์ทันสมัย กับเฮลิคอปเตอร์ติดโซนาร์แบบชักหย่อน ค้นหาเป้าหมายใต้น้ำร่วมกันในพื้นที่รับผิดชอบ เมื่อเจอสิ่งที่น่าสงสัยจะส่งเฮลิคอปเตอร์อีกลำ มาหย่อนตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำใส่จุดดังกล่าว ส่วนเครื่องบินซึ่งเดินทางได้เร็วกว่าและมีระยะปฏิบัติการยาวนานกว่า จะช่วยเห็นหูเป็นตากับประสานงานระหว่างหมู่เรือได้เป็นอย่างดี รวมทั้งอาจเป็นมือหย่อนตอร์ปิโดได้ในบางครั้ง อาทิเช่นอยู่ใกล้เป้าหมายมากกว่า หรือเฮลิคอปเตอร์ไม่มีตอร์ปิโดเหลือติดตัวแล้ว
เท่ากับว่าว่าเราต้องมีเรือฟริเกตติดระบบโซนาร์ทันสมัย กับเฮลิคอปเตอร์ติดระบบโซนาร์แบบชักหย่อน ทำงานร่วมกับเครื่องบินตรวจการณ์รุ่นใหม่ ที่เขียนมาทั้งหมดทัพเรือภาคที่ 3 ไม่มีสักอย่าง ต้องรอกำลังจากทัพเรืออ่าวไทย ที่แม้จะใช้เส้นทางลัดลับสุดยอดก็ตาม กว่าจะแจ้งข่าวสาร กว่าจะเตรียมกำลังพล กว่าจะติดตั้งอาวุธ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียก่อน
แล้วเราจะทำอย่างไรดี ให้สามารถส่งเรือกับเฮลิคอปเตอร์เข้าสู่พื้นที่ภายในไม่กี่ชั่วโมง คำตอบก็คือต้องมีเรือฟริเกตติดโซนาร์ทันสมัย กับเฮลิคอปเตอร์ติดโซนาร์ชักหย่อนอยู่ที่ทัพเรือภาค 3  และที่สำคัญต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ดี โดยใช้งบประมาณทีมีอย่างจำกัดจำเขี่ย สิ่งนี้ก็คือประเด็นสำคัญของบทความนี้ ผู้เขียนมีไอเดียบรรเจิด 3 ทางเลือกด้วยกัน


ทางเลือกที่หนึ่งปรับปรุงเรือเดิมที่มีใช้งาน ตามปรกติทัพเรือภาคที่ 3 จะมีเรือฟริเกตชั้นเจียงหูเป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุด แบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อยคือ Type 053HT หรือเรือหลวงบางปะกงภาพบน กับ Type 053HTH หรือเรือหลวงสายบุรีลำล่าง ผลัดกันเข้ามาประจำการฝั่งทะเลอันดามัน ผู้เขียนให้ความสำคัญกับเรือหลวงสายบุรีเป็นพิเศษ เพราะมีการปรับปรุงใหม่ติดอาวุธทันสมัยกว่าเดิมแล้ว รวมทั้งมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง รองรับภารกิจปราบเรือดำน้ำได้ดีกว่ากัน
เรือฟริเกตชั้นเจียงหูมีโซนาร์หัวเรือรุ่น SJD-5A ทำงานคู่กับจรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-1200 แต่ทั้งโซนาร์และจรวดเป็นอาวุธโบราณยุคหลังสงครามโลก แทบไม่มีประโยชน์แล้วแต่ผู้เขียนจะไม่ไปแตะต้อง การปรับปรุงจะติดโซนาร์จากประเทศจีนบริเวณท้ายเรือ เป็นอะไรที่เข้ากันได้โดยมีการปรับปรุงเล็กน้อย พิจารณาภาพประกอบถัดไปกันต่อเลยครับ


นี่คือบั้นท้ายของเรือฟริเกตชั้น Type 053H2G ของประเทศจีน ติดตั้งโซนาร์ลากท้าย Towed Array Sonar System หรือ TASS ขนาดกำลังเหมาะนำมาติดตั้งบนเรือของเราได้ จีนมีโซนาร์ลากท้ายใช้งานอยู่ด้วยกัน 2 รุ่น ได้แก่ H/SJG-208 ซึ่งมีความคล้ายคลึง AN/UQQ-2 SURTASS ของอเมริกา กับ H/SJG-206 ซึ่งมีความคล้ายคลึง AN/SQR-19 ของอเมริกาเช่นกัน โดยมีรุ่นส่งออกใช้ชื่อว่า TLAS-1 ซึ่งปรับปรุงมาจากรุ่น H/SJG-206 อีกที แต่ตัดบางอย่างที่ใช้เฉพาะกองทัพเรือจีนออกไป เราจะขอซื้อโซนาร์ TLAS-1 มาติดบนเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรี
แค่นี้อาจไม่พอเพราะโซนาร์ลากท้ายค้นหาเป้าหมายในโหมด Passive ระยะทำการค่อนข้างไกลก็จริง แต่ให้ข้อมูลแค่เพียงทิศทางของเป้าหมายหรือแบริ่ง ต้องมาวิเคราะห์กำหนดระยะทางเป้าหมายอีกที อาจกินเวลายาวนานจนเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามหายตัวไป ผู้เขียนต้องการโซนาร์ชักหย่อน Variable Depth Sonar หรือ VDS เข้ามาเสริมทัพอีกแรง โซนาร์ชนิดนี้ค้นหาเป้าหมายในโหมด Active ส่งสัญญาณครั้งเดียวได้ข้อมูลครบทั้งทิศทางและระยะทาง แต่เรือฝ่ายตรงข้ามตรวจจับคลื่นโซนาร์ของเราได้เช่นกัน ฉะนั้นแล้วก่อนใช้งาน VDS…ผู้การเรือต้องคิดไตร่ตรองให้ถ้วนถี่เสียก่อน


ในภาพประกอบคือบั้นเรือคอร์เวตชั้น Type 056A เป็นรุ่นปราบเรือดำน้ำซึ่งมีจำนวนเรือเพียง 12 ลำ ติดทั้งโซนาร์ลากท้าย (เส้นสีเหลืองสลับดำ) กับโซนาร์ชักหย่อนเคียงคู่กัน โดยใช้พื้นที่ฝั่งซ้ายมือเพียงฝั่งเดียว สังเกตดีๆ จะเห็นว่าเรือทั้งเล็กและแคบสุดๆ แต่ยังสามารถใส่อะไรต่อมิอะไรลงไปได้ เพราะฉะนั้นเรือเราซึ่งใหญ่กว่าย่อมใส่ได้เช่นกัน
โซนาร์ลากท้าย TLAS-1 ระยะตรวจจับไกลหลายสิบกิโลเมตร แต่ต้องเข้าใจนะครับว่ายิ่งไกลแรงส่งยิ่งน้อย อาจเจออะไรบางอย่างแต่ระบุไม่ได้ว่ามันคืออะไร ส่วนโซนาร์ชักหย่อนซึ่งจีน (อาจ) พัฒนาขึ้นมาเอง ข้อมูลที่หาได้มีระยะตรวจจับประมาณ 15 กิโลเมตรกว่า ขนาดเท่านี้ได้เท่านี้ก็ถือว่าตรงตามมาตรฐาน การปรับปรุงเรือจะใช้เงินลำละ 30 ล้านเหรียญ
ทำไมถึงเป็น 30 ล้านเหรียญ? อธิบายง่ายๆ ได้ดังนี้
เรือคอร์เวตชั้น Type 056 รุ่นใช้งานทั่วไป ระวางขับน้ำสูงสุด 1,365 ตัน ยาว 89 เมตร กว้าง 11.6 เมตร กินน้ำลึก 4.4 เมตร มีราคาลำละ ‘200 ล้านเหรียญ ส่วนเรือคอร์เวตชั้น Type 056A รุ่นปราบเรือดำน้ำ เพิ่มโซนาร์ลากท้าย โซนาร์ชักหย่อน ระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำ รวมทั้งระบบดาต้าลิงค์สื่อสารเฮลิคอปเตอร์ มีราคาลำละ ‘230 ล้านเหรียญ
เพราะฉะนั้นเราจะใช้เงิน 30 ล้านเหรียญต่อเรือ 1 ลำในการติดตั้งโซนาร์จีนตามภาพ โดยขอแถมแท่นยิงตอร์ปิโดแฝดสามมาด้วย เพราะโซนาร์ของเราเป็นรุ่นส่งออกน่าจะถูกกว่ากัน พอได้มาแล้วต้องจัดซื้อตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ ผู้เขียนขอเลือก YU-7 ของจีนจำนวน 16 นัด เพราะเป็นรุ่นเก่าราคาไม่น่าเกิน 10 ล้านเหรียญ นอกจากจีนจะใจปล้ำขายรุ่น YU-11 ให้ ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เลย ที่เลือกรุ่นนี้เพราะต้องนำมาใช้งานบนเฮลิคอปเตอร์ด้วย


เราะจะสร้างหมวดบินปราบเรือดำน้ำฝั่งทะเลอันดามัน ด้วยเฮลิคอปเตอร์ Z-9D จากจีนจำนวน 4 ลำ มีระบบโซนาร์ชักหย่อนจำนวน 2 ระบบ เวลาทำงานให้บินไปกับอีกลำซึ่งติดตอร์ปิโด จะต้องประสานงานกับเรือฟริเกตที่ลอยลำอยู่ในทะเล ถ้าน้ำมันหมดให้บินลงมาเติมบนเรือฟริเกต ใช้วิธีนี้จะมีระยะเวลาปฏิบัติการนานที่สุด เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำราคาประมาณ 15 ล้านเหรียญ โซนาร์ชักหย่อน 2 ตัวพร้อมอะไหล่ผู้เขียนให้ 10 ล้านเหรียญ งบประมาณส่วนนี้จึงเท่ากับ 70 ล้านเหรียญ
ระบบโซนาร์ 60 ล้านเหรียญ + ตอร์ปิโด 10 ล้านเหรียญ + เฮลิคอปเตอร์ 70 ล้านเหรียญ = 140 ล้านเหรียญหรือ 4,309.9 ล้านบาท ใช้ระบบจีนทั้งหมดการปรับปรุงน่าจะไม่ยาก แล้วเราจะได้ของทุกอย่างตามภาพวาดนี้ครับ


แท่นยิงจรวด C-802A ท้ายเรือหายไป 4 นัด มีการปรับปรุงระบบระบายอากาศตรงนี้เล็กน้อย จำเป็นต้องทำแบบนี้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น จะเอาแท่นยิงตอร์ปิโดมาติดข้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ลานจอดของเราก๊องแก๊งเกินไปและสั้นเกินไป เวลาเฮลิคอปเตอร์ลงจอดอาจเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ตั้งใจ ผู้อ่านอาจคิดว่าแพงเกินไปหรือเปล่า แต่ถ้าไม่มีเฮลิคอปเตอร์ 4 ลำมาด้วยกัน เท่ากับเสียเงินปรับปรุงเรือเพียงลำละ 1,000 ล้านบาท และอย่างที่รู้ว่าถ้าไม่ซื้อเฮลิคอปเตอร์มาด้วยกัน โอกาสที่จะได้ซื้อในปีถัดไปหรือปีถัดไปมีค่าเท่ากับศูนย์ เสียเงินก้อนโตทีเดียวจบเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด



มีอีกเรื่องที่ค่อนข้างประหลาดนิดหน่อย ผู้เขียนเลือกใช้ระบบเป้าลวง C-Guard รุ่น 6 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นยิง ทำงานร่วมกับระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ ES-3061 ซึ่งติดตั้งอยู่ก่อนแล้ว ใช้ยิงได้ทั้งเป้าลวงจรวดต่อสู้เรือรบและเป้าลวงตอร์ปิโด (บนเรือหลวงนเรศวรใช้ยิงเป้าลวงตอร์ปิโดอย่างเดียว แต่พื้นที่บนเรือหลวงกระบุรีมีค่อนข้างจำกัด) การติดตั้งและปรับปรุงไม่น่าจะยุ่งยาก เพราะเป็นระบบง่ายๆ ไม่ผูกมัดระบบอำนวยการรบ เราจะได้ใช้ระบบเป้าลวงมาตรฐานกองทัพเรือไทย


ทางเลือกที่หนึ่งผ่านพ้นไปแล้ว มาดูทางเลือกที่สองซึ่งยากกว่ากันบ้าง เรือฟริเกตชั้น F-122 ของเยอรมันยังเหลืออยู่อีก 2 ลำ ในภาพคือเรือชื่อ F-213 Ausburg ทำภารกิจสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เรือมีระวางขับน้ำ 3,680 ตัน ยาว 130.5 เมตร กว้าง 14.6 เมตร กินน้ำลึก 6.3 เมตร มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ Super Lynx ได้ถึง 2 ลำ ถือเป็นจุดแข็งในการไล่ล่าเรือดำน้ำ ทางเลือกที่สองก็คือซื้อเรือมือสองจากเยอรมันมาใช้งาน




ชมภาพเรือเมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้วกันบ้าง ทุกอย่างยังคงสภาพดีจากการดูแลรักษา อาวุธและอุปกรณ์ทุกชนิดยังอยู่ที่เก่า ยกเว้นแค่เพียงจรวดต่อสู้เรือรบถูกถอดออกไป ใช้เครื่องยนต์ CODOG ไม่สิ้นเปลืองเหมือนกับเรืออเมริกา ใช้อาวุธใกล้เคียงกับกองทัพไทยใช้งาน ไม่รู้จะไปหาเรือแบบนี้จากที่ไหนมาได้อีก ถ้าเยอรมันยอมขายไฉนเลยที่เราจะปฏิเสธ


ส่วนภาพนี้คือเรือชื่อ F-214 Lubeck มีแผนปลดประจำการในปี 2021 เราขอซื้อ F-213 โดยให้เขาปรับปรุงเรือมาให้เรียบร้อย อาวุธที่เขาไม่ให้ช่วยถอดออกไปด้วยเลย แล้วเร่งให้เขาปลดประจำการ F-214 เร็วกว่าเดิม ให้ F-213 มาไม่เกินกลางปี 2020 และ F-214 มาห่างกันไม่เกิน 12 เดือน เพียงเท่านี้เราก็จะมีของเด็ดโดนใจ อาจวุ่นวายไปบ้างและได้ของใหญ่เพิ่มเข้ามา แต่เราจะมีเรือฟริเกตอาวุธครบ 3 มิติใช้งานได้อีก 15-20 ปี แก้ปัญหาใหญ่ฝั่งทะเลอันดามันได้ในระดับหนึ่ง


นอกจากนี้จะขอซื้อเฮลิคอปเตอร์ Sea Lynx จำนวน 4 ลำ (จาก 20 กว่าลำ) ปรับปรุงใหม่หมดพร้อมติดโซนาร์ชักหย่อนครบทุกลำ จะให้ประจำการบนเรือหรือบนฝั่งยังไงก็ได้ ไว้อีก 15-20 ปีค่อยปลดประจำการพร้อมกับเรือ ลูกประดู่ไทยคุ้นเคยเฮลิคอปเตอร์ตระกูลนี้ดีอยู่แล้ว จึงไม่ยากเลยที่จะใช้งานได้ในเวลาอันสั้น


และนี่ก็คือภาพเรือที่ปรับปรุงใหม่จากเยอรมัน แท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยานหายไป เรดาร์ควบคุมการยิงทั้งปืนและจรวดหายไป แท่นยิงจรวด RAM บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ก็หายไป ย้ายเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติจากท้ายเรือมาไว้ที่หัวเรือ สองกราบเรือสร้างแท่นวางเรือยางกับเครนขนาดเล็ก โดยจะถอดเครนเดวิดซึ่งเกะกะมากออกไปก่อน ห้องยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำยังอยู่ที่เดิม นี่คือจุดแข็งของเรือห้ามหายโดยเด็ดขาด ปรับปรุงโซนาร์หัวเรือรุ่น DSQS-23BZ ให้ทันสมัยเหมือนรุ่น DSQS-24C ซึ่งเป็นโซนาร์รุ่นมาตรฐานตัวใหม่กองทัพเรือไทย มีเรดาร์เดินเรือติดมาด้วยแค่ 1 ตัวก็พอ เราจะนำเรือมาติดตั้งอาวุธและอุปกรณ์ภายในประเทศ โดยใช้อาวุธและอุปกรณ์จากจีนอีกแล้วครับท่าน ติดตั้งครบถ้วนจะมีหน้าตาประมาณนี้


ปืนหลักเป็น 76/62 มม.กระบอกเดิม ที่อยู่ถัดไปเป็นปืนกล AK630 เวอร์ชันจีน ด้วยอัตรายิง 4,000-5,000 นัดต่อนาที จึงเรียกว่าเป็น CIWS รุ่นควบคุมด้วยมือได้เช่นกัน ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G คุมปืนทั้ง 2 กระบอก โดยมีระบบออปโทรนิกส์ Kolonka สำหรับควบคุม AK630 ในเวลาฉุกเฉิน  มีปืนกล 12.7 มม เสริมทัพอีกจำนวน 2 กระบอก
ผู้อ่านอาจนึกสงสัยว่าทำงานร่วมกันได้หรือ? ทำงานได้แน่นอนเพราะผู้เขียนลอกการบ้านพม่ามาอีกที เรือเขาตั้งไม่รู้กี่ลำทำได้เรือเราก็ต้องทำได้ เรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G ก็มีใช้งานบนเรือหลวงสายบุรีอยู่แล้ว สามารถใช้อะไหล่ร่วมกันได้อย่างสบายแฮ ส่วนปืนกล AK630 โผล่มาได้อย่างไรกัน? ในเมื่อกองทัพเรือไม่สนใจ Common Fleet อีกแล้ว แล้วผู้เขียนจะมามัวสนใจไปใยเล่า ในเมื่อ AK630 เวอร์ชันจีนถูกกว่า Phalanx มากก็เอาตัวนี้แหละ
ใส่จรวดต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัดไว้ป้องกันตัว จะได้แบ่งกันใช้งานกับเรือหลวงสายบุรี ผู้อ่านอาจมีคำถามว่าใส่ได้หรือ? ในเมื่อเรือมาจากตะวันตกแต่จรวดมาจากจีน จรวดต่อสู้เรือรบมีราคาแพงมากก็จริง แต่ใช้อุปกรณ์น้อยนิดและไม่วุ่นวายกับระบบอื่นๆ ในเมื่อเรือตรวจการณ์ยาว 45 เมตรของพม่าติดได้ ในเมื่อเรือคอร์เวตอายุ 50 กว่าปีของอิหร่านติดได้ ไฉนเลยเรือไทยซื้อต่อจากเยอรมันจะติดไม่ได้ ส่วนตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ แบ่ง MK46 Mod 5 มาใช้งานไปก่อนก็แล้วกัน
มีระบบเป้าลวง C-Guard รุ่น 6 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นยิง มีปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอกคอยคุมหลัง บนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดของหนัก จรวดต่อสู้อากาศยาน FL-3000N รุ่น 8 ท่อยิงจากจีน เรือลำนี้จึงมี CIWS ถึง 2 ระบบด้วยกัน ที่ระยะ 8 กิโลเมตรเป็นหน้าที่จรวด FL-3000N ถ้าหลุดมาที่ 3 กิโลเมตรค่อยถึงคิว AK630 และถ้ายังหลุดเข้ามาได้อีกละก็เรายังมีระบบเป้าลวง C-Guard เป็นปราการด่วนสุดท้าย
ผู้เขียนเลือกใช้อาวุธจีนเพราะราคาไม่แพง รวมทั้งอะไรบางอย่างใช้งานร่วมกับเรือเก่าได้ ถามว่าราคารวมทั้งโครงการเท่าไหร่? ให้ตอบเป็นตัวเลขชัดเจนไม่ได้หรอก แต่ไม่เกิน 140 ล้านเหรียญอย่างแน่นอน เราจะได้เรือฟริเกตมือสองจำนวน 2 ลำ (อายุน้อยกว่าเรือหลวงรัตนโกสินทร์ 2 ปี และ 3 ปีตามลำดับ) เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำมือสองอีก 4 ลำ และมีจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่ติดบนเรือ แต่จะไม่มีโซนาร์ลากท้ายกับโซนาร์ชักหย่อนท้ายเรือ ต้องพึ่งพาโซนาร์ชักหย่อนบนเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 4 ลำ โดยมีเรือฟริเกตขนาด 3,680 ตันเป็นศูนย์บัญชาการ และเป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุดของทัพเรือภาคที่ 3
ก่อนจบบทความเร่งด่วนบทความนี้ มาถึงทางเลือกที่สามที่ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว เมื่อไหร่ก็ตามพม่ามีเรือดำน้ำประจำการ ให้เราส่งเรือฟริเกตลำใหม่พร้อมเฮลิคอปเตอร์ S-70B มาฝึกซ้อมปราบเรือดำน้ำที่ฝั่งทะเลอันดามัน
เอ็งมาข้ากวาด-เอ็งมาข้าจุ่ม-เอ็งมาข้าปิง การฝึกซ้อมที่ดีที่สุดคือการฝึกซ้อมกับของจริง ในเมื่อมีของจริงมาให้ฝึกซ้อมแล้วคุณจะช้าอยู่ใย บทความนี้คงต้องจบแต่เพียงเท่านี้ ตามอ่านเพื่อให้กำลังใจกันต่อสวัสดีครับ J

อ้างอิงจาก
            กองทัพเรือ
                http://www.thaifighterclub.org/webboard.php
เอกสารดาวน์โหลด: PLAN Towed Array and Acoustic Decoy
เอกสารดาวน์โหลด: Naval ASW Sonar Review


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น