วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559
The Power of the Sea : โครงการบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนรูปแบบของประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยกลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎร ได้ใช้กำลังทหารเข้าทำการปฏิวัติสยาม จากนั้นเพียง 3 วันจึงมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกเกิดขึ้น และในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 พระยามโนปกรณนิติธาดาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหาร และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ
2 ปีถัดมา ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี นาวาเอกหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือและรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล ได้เสนอโครงการจัดหาเรือรบครั้งใหญ่ในชื่อ "พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478" เอกสารสำคัญเดินทางไปยังผู้บัญชาการทหารเรือนาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ บุญชัย สวาทะสุข ต่อไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พันเอกหลวงพิบูลสงคราม และเข้าสู่คณะรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 ต่อไป เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบจึงได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาพระราชบัญญัติในการประชุมสภาครั้งที่ 62/2477 และได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายวันที่ 1 เมษายน 2478 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา 3
ก่อนอื่นเลยผู้เขียนขอพาไปทำความรู้จักกองทัพเรือไทยยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อน เนื่องจากติดขัดด้วยงบประมาณ ทำให้มีจำนวนเรือรบไม่เพียงพอต่อการป้องกันประเทศ ประกอบไปด้วยกองเรือ 2 กองคือ กองเรือรักษาฝั่ง (Coast Defensive Division) และกองเรือรุกรบ (Offensive Division หรือ Mobile Division) เรือรบที่ทันสมัยที่สุดคือเรือปืนเบารักษาชายฝั่ง (Coastal defence ship) ชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์จำนวน 2 ลำ ความยาว 53 เมตร กว้าง 11 เมตร ระวางขับน้ำสุงสุด 1,000 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด152/50 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนใหญ่ขนาด 76/45 มม.อีก 4 กระบอก เรือรบสำคัญลำต่อไปคือเรือหลวงพระร่วง ระวางขับน้ำ 1,046 ตัน เป็นเรือพิฆาตติดตั้งตอร์ปิโดขนาด 533 มม.และปืนใหญ่ขนาด 102 มม. โดยเป็นเรือที่ซื้อต่อจากกองทัพเรืออังกฤษอีกทีมีอายุการใช้งาน 18 ปีแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นเรือรบขนาดเล็กคือเรือยามฝั่งและเรือตรวจฝั่ง มีทั้งเรือที่ต่อเองในประเทศและซื้อจากอังกฤษพร้อมท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 450 มม.และรางปล่อยระเบิดลึก (หรือระเบิดน้ำลึก)
เพื่อให้ความเป็นธรรมกับกองทัพบกไทยและกรมอากาศยาน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองก็มีอาวุธและยุทธปัจจัยต่างๆไม่เพียงพอเช่นกัน ผู้เขียนอยากให้อ่านบทความเรื่อง "รถถังยานเกราะไทยในเหตุการณ์กบฎบวรเดช" จนจบก่อน เพื่อจะได้มองภาพรวมการพัฒนากำลังรบในทุกๆด้านได้ดีขึ้น ตามลิงค์นี้เลยครับ
=> http://thaimilitary.blogspot.com/2015/12/1933-thai-army-vehicles.html
หลังพระราชบัญญัติผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการบำรุงกำลังทางเรือขึ้น โดยมีนาวาเอกพระยาวิจารณ์จักรกิจ รักษาราชการผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน และนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้นเป็นหัวเรือหลัก เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่กองทัพเรือไทยเคยมีมา เป็นการขยายกำลังรบทางเรือมากกว่าเดิมชนิดหลายเท่าตัว โครงการนี้เดินหน้าได้ด้วยเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นงบประมาณพิเศษที่รัฐบาลทยอยแบ่งจ่ายให้เป็นเวลา 6 ปีเต็มปีล่ะ 3 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 18 ล้านบาท (รวมงบประมาณประจำปีจำนวน 1 ล้านบาทต่อปีด้วย) จึงสามารถจัดหาเรือรบหลากหลายรูปแบบเข้าประจำการตามความต้องการของกองทัพเรือ ประกอบไปด้วย
- เรือปืนหนักหุ้มเกราะจำนวน 2 ลำ
- เรือสลุปและฝึกหัดนักเรียนทหารจำนวน 2 ลำ
- เรือตอร์ปิโดใหญ่จำนวน 7 ลำ
- เรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำ
- เรือวางทุ่นระเบิด 2 ลำ
- เรือลำเลียง 2 ลำ
- เรือดำน้ำ 4 ลำ
- เครื่องบินทะเล 6 เครื่อง และอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆเช่น ปืนใหญ่ ทุ่นระเบิด ฯลฯ
พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478 มีรายละเอียดโครงการค่อนข้างเยอะพอสมควร ผู้เขียนจึงขอลงรายละเอียดแค่พอประมาณเท่านั้น เนื้อหาบทความนี้จะได้ไม่ยืดยาวเยิ่นเย้อมากเกินไป
เรือปืนหนักหุ้มเกราะชั้นเรือหลวงธนบุรี
ธันวาคม 2478 กองทัพเรือไทยสั่งต่อเรือปืนหนักจำนวน 2 ลำจากอู่คาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ในวงเงิน 5.727 ล้านบาท เรือลำแรกได้มีพิธีวางกระดูกงูเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2479 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำวันที่ 31 กรกฎาคม 2480 เข้าประจำการวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2481 และได้รับพระราชทานนามว่า เรือหลวงธนบุรี ส่วนเรือในชั้นเดียวกันอีกลำหนึ่งคือ เรือหลวงศรีอยุธยา ทำพิธีวางกระดูกงูและปล่อยเรือลงน้ำพร้อมกันกับเรือหลวงธนบุรี ทว่ามีการส่งมอบเรือก่อนคือในวันที่ 16 มิถุนายน 2481 และเข้าประจำการวันที่ 19 กรกฏาคม 2481
เรือชั้นเรือหลวงธนบุรีจัดเป็นเรือปืนหนักรักษาชายฝั่ง (Coastal defence ship) มีความยาวรวม 77 เมตร กว้าง 13.41 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.2 เมตร ระวางขับน้ำสุงสุด 2,350 ตัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MAN จำนวน 2 เครื่องยนต์ ให้กำลัง 5,200 แรงม้าต่อเครื่อง ทำความเร็วสูงสุด 15.9 นอตมีระยะทำการไกลสุด 6,493 ไมล์ทะเล วิ่งด้วยความเร็วเดินทางที่ 12.2 นอตมีระยะทำการไกลสุด 11,100 ไมล์ทะเล ติดตั้งอาวุธปืนใหญ่ Japanese 200/50 มม.แท่นคู่จำนวน 2 ป้อมปืนที่บริเวณหัวเรือและท้ายเรือ ปืนใหญ่ Bofors 76/51 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 4 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก ทั้งยังมีหอควบคุมการยิงบนดาดฟ้าสะพานเดินเรือพร้อมอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ ทำให้เรือมีความสามารถเล็งยิงจากศูนย์รวมได้อย่างแม่นยำ
เรือปืนทั้ง 2 ลำเป็นเรือรบที่ทันสมัยที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดของกองทัพเรือไทย ทั้งยังเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบกับกองทัพเรือในอนาคตด้วย เพียง 3 ปีหลังจากเข้าประจำการ เรือหลวงธนบุรีก็ได้เข้าร่วมทำศึกครั้งสำคัญมากที่สุด เมื่อได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสขึ้น ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 มีการประกาศสงครามระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสเหนือดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสในขณะนั้น จัดว่าเป็นสงครามชนิดเต็มรูปแบบที่มีการเคลื่อนกำลังพลเข้าสู้รบกันทั้งบนบก ในอากาศ และบนท้องทะเล ยุทธนาวีเกาะช้างคือการรบทางทะเลครั้งเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย
เช้าตรู่วันที่ 17 มกราคม 2484 กองเรือรบจำนวน 7 ลำของหมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7 ฝรั่งเศส ได้รุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำไทยบริเวณเกาะช้าง ก่อนตรงเข้าเข้าโจมตีหมวดเรือไทยที่ส่งเรือรบจำนวน 6 ลำเข้ามาปักหลักตั้งรับ ผลการสู้รบส่งผลให้เรือตอร์ปิโดใหญ่จำนวน 2 ลำของไทยอัปปางลง ด้านเรือหลวงธนบุรีก็เกิดความเสียหายหนักก่อนจมลงบริเวณแหลมงอบ จังหวัดตราด 7 เดือนหลังจากนั้นกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัทมิตซุยบุซซันไกชา ให้มาทำการกู้เรือขึ้นและจัดการลากกลับสู่ฝั่ง แต่ราคาซ่อมเรือคืนสภาพที่ญี่ปุ่นเสนอมาให้ค่อนข้างแพงมาก กองทัพเรือจึงให้กรมอู่ทหารเรือทำการซ่อมเรือปืนหนักลำนี้ให้สามารถใช้งานได้ ถึงแม้จะหมดคุณค่าในเรื่องทำการรบจริงไปแล้วก็ตาม แต่เรือหลวงธนบุรีก็ยังรับใช้ชาติต่อไปในฐานะเรือฝึก กระทั่งปลดประจำการวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2502
เรือปืนหนักลำที่ 2 คือเรือหลวงศรีอยุธยา คือเรือที่ฝรั่งเศสคาดว่าประจำการอยู่ที่เกาะช้างอย่างแน่นอน หลังการประกาศสงครามราชนาวีไทยได้ส่งเรือรบจากหมวด 1 กองเรือที่ 1 รวมทั้งสิ้น 6 ลำ เข้าไปรักษาการณ์บริเวณเกาะช้าง ซึ่งเป็นชายแดนภาคตะวันออกติดกับดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส ในหมวดเรือดังกล่าวประกอบไปด้วย เรือหลวงศรีอยุธยาศรีอยุธยา เรือหลวงภูเก็ต เรือหลวงสุราษฎร์ เรือหลวงคราม เรือดำน้ำ 2 ลำ และเรือหลวงตระเวนวารี ซึ่งถ้าหมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7 ฝรั่งเศสบุกรุกเข้ามา ก็จะต้องปะทะกันกับเรือหลวงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน ทว่าวันที่ 14 มกราคม 2484 กองทัพเรือไทยได้ส่งเรือรบจากหมวด 2 กองเรือที่ 1 จำนวน 6 ลำ นำโดยเรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงชลบุรี เรือหลวงระยอง เรือหลวงหนองสาหร่าย และเรือหลวงเทียวอุทก เข้าไปผลัดเปลี่ยนหมวดเดิมที่ประจำการมานานแล้ว จากนั้นในวันที่ 16 มกราคม 2484 เรือรบจากหมวด 1 กองเรือที่ 1 จึงได้เดินทางกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ถ้ากองทัพเรือฝรั่งเศสตัดสินใจบุกรุกน่านน้ำไทยก่อนหน้านี้ซัก 1 ถึง 2 วัน พวกเขาจะต้องพบกับเรือปืนหนัก 2 ลำ เรือตอร์ปิโด 5 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ และเรืออื่นๆอีก 3 ลำ แปรขบวนรอตั้งรับอยู่
หลังกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสยุติลง เรือหลวงศรีอยุธยาได้รับการปรับปรุงด้วยการติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Japanese 40/40 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก ทดแทนปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.ที่มีระยะยิงใกล้เกินไป ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเรือต้องนำเรือรบสำคัญซุ่มจอดหลบตามเกาะเล็กเกาะน้อย เรือหลวงศรีอยุธยาจึงรอดพ้นมาได้โดยไม่ได้รับความเสียหาย อาจจะดูเหมือนว่าเรือลำนี้ดวงดีมากใน 2 สมรภูมิใหญ่ก็ตาม แต่ก็ยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในเวลาต่อมาคือ "กรณีกบฏแมนฮัตตัน" บ่ายวันที่ 29 มิถุนายน 2494 ระหว่างพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อแมนฮัตตันจากอเมริกา ที่ได้จัดขึ้นณ.บริเวณท่าราชวรดิฐ มีทหารเรือกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าคณะกู้ชาติ ได้บุกเข้ามาจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางแขกรับเชิญระดับสุงจำนวนมาก ก่อนพาตัวขึ้นเรือเล็กไปกักขังไว้บนเรือหลวงศรีอยุธยาที่จอดอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาอีกที โดยมีทหารเรืออีกจำนวนหนึ่งคอยสนับสนุนการกบฏครั้งนี้อยู่บนฝั่งด้วย ตลอดวันนั้นทั้งวันมีการใช้อาวุธจริงยิงใส่กัน ระหว่างกองบัญชาการฝ่ายรัฐบาลกับคณะกู้ชาติและทหารเรือที่เข้าร่วม
วันที่ 30 มิถุนายน 2494 มีการยิงกันตั้งแต่เช้าตรู่ เป็นแค่เพียงการยันกันไปยันกันมาไม่รู้ผลแพ้ชนะ กระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น.เครื่องบินรบกองทัพอากาศได้รับคำสั่งให้โจมตีทิ้งระเบิดใส่เป้าหมาย เรือหลวงศรีอยุธยาที่เครื่องยนต์พังไปแล้วตกเป็นเป้านิ่งอย่างช่วยไม่ได้ หลังโดนโจมตีด้วยระเบิดหลายครั้งจนไฟลุกใหม้ทั้งลำ เรือปืนหนักลำสุดท้ายของไทยก็ต้องอัปปางลงในที่สุด นายกรัฐมนตรีถูกพาตัวออกมาก่อนแต่ยังคงถูกคุมตัวอยู่ หลังเสร็จสิ้นการเจรจาคณะกู้ชาติทั้งหมดถูกผลักดันออกนอกประเทศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับการปล่อยตัวกลับโดยไม่ได้รับอันตราย จากนั้นไม่นานนายทหารเรือจำนวนมากถูกจับกุมในข้อหาเป็นกบฎ มีการปรับลดกำลังพลต่างๆของกองทัพเรือลง หน่อยงานที่เคยอยู่ในเมืองหลวงโดนย้ายออกต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด
เรือสลุปชั้นเรือหลวงท่าจีน
วันที่ 13 สิงหาคม 2478 กองทัพเรือสั่งต่อเรือสลุปและฝึกหัดนักเรียนทหารจำนวน 2 ลำจากบริษัทมิตซุยบุชซันไกชาในวงเงิน 1.885 ล้านบาท เรือถูกต่อขึ้นที่อู่ต่อเรืออูรางา เมืองโยโกสุกะ กองทัพเรือไทยได้ส่งนาวาเอกพระประกอบกลกิจ เป็นหัวหน้าควบคุมการต่อเรือ และนาวาโทหลวงชาญจักรกิจ เป็นผู้ควบคุมการต่อเรือให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา วันที่ 24 กรกฎาคม 2479 มีพิธีปล่อยเรือหลวงท่าจีนลงน้ำ พร้อมกับพิธีวางกระดูกงูเรือหลวงแม่กลอง วันที่ 23 พฤษภาคม 2480 กองทัพเรือจัดส่งทหารไปรับเรือทั้ง 2 ลำที่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 26 กันยายน 2480 มีพิธีต้อนรับ เจิมเรือ และเข้าประจำการที่กรุงเทพ รวมทั้งได้มีพิธีเฉลิมฉลองในเวลาต่อมา
เรือสลุปชั้นเรือหลวงท่าจีนมีความยาวรวม 85 เมตร กว้าง 10.5 เมตร กินน้ำลึก 3.7 เมตร ระวางขับน้ำ 1,400 ตัน ใช้เครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อร่วมกับเครื่องกังหันไอน้ำจำนวน 2 เครื่อง ให้กำลัง 2,500 แรงม้า ความเร็วสุงสุด17 นอตมีระยะทำการไกลสุด 5,700 ไมล์ทะเล วิ่งด้วยความเร็วเดินทาง 10 นอตมีระยะทำการไกลสุด 16,000 ไมล์ทะเล ติดตั้งอาวุธปืนใหญ่ Japanese 120/45 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 4 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นคู่ จำนวน 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 450 มม.แท่นคู่จำนวน 2 แท่นยิง รางทิ้งทุ่นระเบิด แบบ 70/80 จำนวน 2 ราง พาราเวนสำหรับกวาดทุ่นระเบิดแบบ S TYPE C จำนวน 2 ชุด เครื่องบินทะเลรุ่น Watanabe WS-103 จำนวน 1 ลำพร้อมกว้านรอก เรือสลุปทั้ง 2 ลำมีภารกิจดังนี้
- ในยามสงคราม ปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศทางทะเล สามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ในยามสงบ ปฏิบัติภารกิจเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารและนายทหาร สำหรับฝึกภาคทะเลทั้งใกล้และไกลจนถึงต่างประเทศ เพื่อให้นักเรียนทหาร นายทหาร และทหารประจำเรือมีความรู้ความชำนาญในการเดินเรือ นอกจากนี้ยังเป็นการอวดธงราชนาวีไทยไปในตัวด้วย
ช่วงปลายกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพเรือได้ยกเลิกการใช้งานเครื่องบินทะเล และติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Japanese 40/40 มม.แท่นคู่จำนวน 1 กระบอกเป็นการทดแทน รวมทั้งถอดตอร์ปิโดขนาด450 มม.ออกแล้วติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Japanese 40/40 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอกเป็นการทดแทน เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมาไม่นาน ประเทศไทยโดนโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดเวลา วันที่ 1 มิถุนายน ณ.บริเวณอ่าวสัตหีบ มีฝูงบินประมาณ 10 - 15 เครื่องเข้าโจมตีกองเรือไทยที่ซุ่มจอดหลบภัยอยู่ตามเกาะเล็กเกาะน้อย ระเบิดขนาด 250 กิโลกรัมลูกหนึ่งตกลงที่กราบขวาของเรือหลวงท่าจีน โดนเข้าที่ห้องเครื่องใหญ่ทะลุพื้นเรือลงไประเบิดในน้ำ มีทหารบาดเจ็บ 3 นายและบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 50 นาย เรือหลวงท่าจีนแตกตามตะเข็บเรือ น้ำท่วมห้องเครื่องหลักเสียหายหนักใช้การไม่ได้ กองทัพเรือได้พยายามซ่อมคืนสภาพในภายหลัง ซึ่งก็ยังไม่ดีเหมือนเดิมประสิทธิภาพของเรือลดลงมาก ท้ายที่สุดจึงต้องปลดประจำการ
เรือหลวงแม่กลองที่สามารถรอดพ้นมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการปรับปรุงอาวุธตลอดอายุการใช้งาน ปลายปี 2494 ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 3 กระบอกทดแทนปืนต่อสู้อากาศยาน Japanese 40/40 มม.ทั้งหมด ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.แท่นเดียวจำนวน 3 กระบอกทดแทนปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen และติดเพิ่มบริเวณหัวเรือ ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ ติดตั้งเครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 ท้ายเรือ กลางปี 2512 มีการติดตั้งปืนใหญ่ MK 22 76/50 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 4 กระบอก ทดแทนปืนใหญ่ Japanese 120/45 มม. รวมทั้งปรับปรุงใหญ่เรือทั้งลำเพื่อยึดอายุการใช้งาน เรือหลวงแม่กลองรับใช้ราชนาวีไทยรวมเวลาทั้งหมด 59 ปี ก่อนปลดประจำการวันที่ 20 มีนาคม 2538 และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบในปัจจุบัน
เรือตอร์ปิโดใหญ่ชั้นเรือหลวงตราด
หลังเหตุการณ์กบฎบวรเดชในปี 2476 กองทัพเรือได้งบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลประมาณ 3 ล้านบาท นาวาเอกหลวงสินธุสงครามชัยเสนาธิการทหารเรือ ได้เสนอให้ต่อเรือตอร์ปิโดจำนวน 2 ลำ จากอู่กันดิเอริ ริอูนิดิ เดลลัดดริอาดิ โก ประเทศอิตาลี (Cantieri Riuniti dell’ Adriatico in Monfalcone Italy) ราคาต่อเรือพร้อมอาวุธลำละ 1 ล้าน 3 แสนบาท คือเรือหลวงตราดและเรือหลวงภูเก็ต ถือเป็นเรือตอร์ปิโดใหญ่เฟสแรกสุด
เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดมีความยาวรวม 68.5 เมตร กว้าง 6.55 เมตร กินน้ำลึก 2.1 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 470 ตัน ใช้เครื่องจักรกังหันไอน้ำแบบพาร์สันใช้ไอดงจำนวน 2 เครื่อง ให้กำลัง 9,000 แรงม้า ความเร็วสุงสุดแ32 นอต วิ่งด้วยความเร็วเดินทาง 15 นอตมีระยะทำการไกลสุด 1,700 ไมล์ทะเล ติดตอร์ปิโดขนาด 450 มม.แท่นคู่จำนวน 2 แท่นยิง และแท่นเดี่ยวจำนวน 2 แท่นยิง กองทัพเรือได้ทำการติดตั้งปืนใหญ่ QF Mk I HA 76/40 มม.จำนวน 3 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นคู่จำนวน 1 กระบอก และรางทิ้งทุ่นระเบิดจำนวน 2 รางในภายหลัง เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดเฟส 1 เข้าประจำการพร้อมกันวันที่ 19 พฤษภาคม 2480
เมื่อพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478 ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว กองทัพเรือต้องการต่อเรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดเพิ่มเติม 4 ลำ ในโครงการเฟส 2 ได้มีการเรียกประกวดราคาเรือและราคาอาวุธต่างๆแยกกันออกไป โดยเลือกใช้ปืนเรือจากสวีเดนและตอร์ปิโดจากเดนมาร์คทดแทนของเดิม ส่งผลให้ราคาต่อเรือหนึ่งลำไม่รวมอาวุธเหลือแค่เพียง 571,300 บาท ทำให้สามารถจัดหาเพิ่มเติมได้ถึง 7 ลำในวงเงิน 3.999 ล้านบาท และเมื่อติดตั้งอาวุธครบครันแล้วมีราคาต่อลำแค่เพียง 8 แสนบาทเท่านั้น พอรวมกับเรือเดิมอีก 2 ลำแล้วจึงเท่ากับมีเรือชั้นเดียวกันถึง 9 ลำ กองทัพเรือสามารถจัดกำลังรบเป็นหมู่ละ 3 ลำได้ถึง 3 หมู่ เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดเฟส 2 เข้าประจำการพร้อมกันทุกลำวันที่ 5 ตุลาคม 2481 เรือมีระวางขับน้ำลดลงมาประมาณ 10 ตันคือ 460 ตัน ความเร็วลดลงมาประมาณ 1.5 นอตคือ 30.5 นอต มีการปรับปรุงในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งสามารถบรรทุกน้ำมันได้มากขึ้นกว่าเดิม จึงมีระยะทำการไกลสุดเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เรือเฟส 2 ติดตั้งปืนใหญ่ Bofors 75/51 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 1 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 1 ถึง 2 กระบอก และปืนกล Lewis 7.7 มม จำนวน 2 ถึง 4 กระบอก
เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดมีจุดเด่นที่ความเร็วสุง ติดปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานเพียงพอสำหรับป้องกันตัว โดยมีอาวุธสำคัญคือตอร์ปิโดขนาด 450 มม.จำนวน 6 นัด มีความเหมาะสมกับภารกิจลอบเข้าโจมตีกองเรือฝ่ายตรงข้าม แต่กับภารกิจตั้งรับดูเหมือนจะมีปัญหาอยู่พอสมควร เพราะเรือไม่มีระบบสื่อสารทันสมัยนอกจากใช้สัญญานมือ ระบบควบคุมการยิงและอุปกรณ์ช่วยเล็งแม่นยำสู้เรือรบขนาดใหญ่ไม่ได้ ในการรบที่ยุทธนาวีเกาะช้าง กองทัพเรือต้องสูญเสียเรือตอร์ปิโดใหญ่จำนวน 2 จาก 3 ลำ สาเหตุเพราะโดนจู่โจมกระทันหันขณะจอดนิ่งยังไม่ได้ติดเครื่องยนต์ จึงไม่สามารถใช้ความเร็วและอาวุธตอร์ปิโดที่เป็นจุดเด่นในการรบได้
เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดที่เหลืออีก 7 ลำ ได้ทำภารกิจปกป้องน่านน้ำไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือหลวงสุราษฎร์ได้สร้างวีรกรรมการรบกับอากาศยานครั้งสำคัญขึ้น โดยระหว่างที่เรือจอดเทียบท่าบริเวณอ่าวโกงกาง สัตหีบ มีเครื่องบิน B - 24 ของฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวนหนึ่งบินเข้ามาเพื่อทิ้งระเบิด ปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นคู่ด้านท้ายของเรือหลวงสุราษฎร์ยิงโดนเครื่องบิน 1 ลำก่อนตกลงบริเวณเกาะจวง ถือเป็นการยิงเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามตกครั้งแรกและครั้งเดียวของกองทัพเรือไทย
หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงได้มีการปรับปรุงเรือเมื่อครบวงรอบอายุ โดยเน้นไปที่ซ่อมแซมระบบเครื่องจักรหลักและตัวเรือให้คงสภาพสมบูรณ์ หลังปี 2500 มีความพยายามยืดอายุการใช้งานเรืออีกครั้ง โดยมีการติดตั้งเรดาร์เดินเรือบนเสากระโดงหลัก สร้างห้องวิทยุหลักเพิ่มเติม ติดตั้งปืนใหญ่ MK 22 76/50 มม. และปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.ทดแทนของเดิม เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดรับใช้ราชนาวีไทยต่อไปเรื่อยๆ เพราะช่วงนั้นประสบปัญหาขาดแคลนเรือรบอย่างหนัก กระทั่งทยอยปลดประจำการระหว่างปี 2518 ถึง 2521 ปัจจุบันเหลือเพียงเรือหลวงชุมพรลำเดียวที่ หาดทรายรี จังหวัดชุมพร เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้รำลึกถึง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ยของทหารเรือ
เรือตอร์ปิโดเล็กชั้นเรือหลวงคลองใหญ่
วันที่ 13 สิงหาคม 2478 กองทัพเรือไทยสั่งต่อเรือตอร์ปิโดเล็กจำนวน 3 ลำจากญี่ปุ่นในวงเงิน 721,000 บาท โดยอู่ต่อเรืออิชิกาวายิมา กรุงโตเกียว คือเรือหลวงคลองใหญ่ เรือหลวงตากใบ และเรือหลวงกันตัง มีความยาวรวม 41.8 เมตร กว้าง 4.6 เมตร ระวางขับน้ำสุงสุด 142 ตัน ใช้เครื่องกังหันไอน้ำบราวน์คอติส จำนวน 2 เครื่อง ให้กำลัง 1,125 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 18 นอต ระยะทำการไกลสุด 450 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนใหญ่ลำกล้องสั้น Japanese 76/25 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 1 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 1 ถึง 2 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 450 มม.แท่นคู่จำนวน 1 แท่นยิง รางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง เรือชั้นเรือหลวงคลองใหญ่ทำพิธีวางกระดูกงูเรือวันที่ 3 ตุลาคม 2479 และเข้าจำการวันที่ 26 กันยายน 2480
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเรือได้ปรับปรุงเรือทั้ง 3 ลำเพื่อคงสภาพสมบูรณ์และทันสมัยมากขึ้น ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 1 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 1 กระบอกทดแทนของเดิม เรือตอร์ปิโดเล็กถูกใช้เป็นเรือฝึกเพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ รวมทั้งใช้เป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งอีกหนึ่งภารกิจ เรือทุกลำทยอยปลดประจำการระหว่างปี 2513 ถึง 2515
เรือวางทุ่นระเบิดชั้นเรือหลวงบางระจัน
ปี 2478 กองทัพเรือไทยสั่งต่อเรือวางทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ จากอู่กันดิเอริ ริอูนิดิ เดลลัดดริอาดิ โก ประเทศอิตาลี โดยทำสัญญาพร้อมกับเรือตอร์ปิโดใหญ่ชั้นเรือหลวงตราดเฟส 2 จำนวน 7 ลำ คือเรือหลวงบางระจันและเรือหลวงหนองสาหร่าย หลังต่อเรือเสร็จมีพิธีส่งมอบเรือในวันที่ 26 พฤษภาคม 2480 และเข้าประจำการวันที่ 5 ตุลาคม 2481 พร้อมเรือตอร์ปิโดใหญ่ที่ต่อจากอู่ต่อเรือเดียวกัน
เรือวางทุ่นระเบิดชั้นเรือหลวงบางระจันมีความยาวรวม 49.12 เมตร กว้าง 7.91 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 395 ตัน ใช้เครื่องจักรดีเซล ความเร็วสุงสุด 13 นอต สามารถบรรทุกทุ่นระเบิดได้ถึง 142 ทุ่น ราคาต่อเรือ 2 ลำโดยไม่รวมอาวุธอยู่ที่ 23,300 เหรียญหรือ 583,000 บาท ระหว่างกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพเรือได้ติดตั้งปืนใหญ่ QF Mk I HA 76/40 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นเดี่ยว 1 กระบอกให้กับเรือทั้ง 2 ลำ เรือหลวงหนองสาหร่ายได้มีโอกาสเข้าร่วมยุทธนาวีเกาะช้างด้วย แต่ไม่ได้ทำการรบจริงเพราะไม่ใช่เรือรบแท้ๆ โดยมีหน้าที่สนับสนุนและคอยช่วยเหลือลูกเรือจากเรือที่อัปปางเท่านั้น
เรือได้มีการปรับปรุงใหญ่เมื่อครบวงรอบอายุเฉกเช่นเรือลำอื่นๆ ได้มีการซ่อมแซมเรือทั้งลำเพื่อคงสภาพสมบูรณ์ สร้างห้องวิทยุหลักเพิ่มเติมรวมทั้งติดตั้งเรดาร์เดินเรือจำนวน 1 ตัว ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอกทดแทนของเดิม เรือวางทุ่นระเบิดชั้นเรือหลวงบางระจันปลดประจำการวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 พร้อมกันทั้ง 2 ลำ
เรือลำเลียงพลชั้นเรือหลวงสีชัง
นอกจากเรือรบทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ทั้งผิวน้ำและใต้น้ำแล้ว เรือลำเลียงพลก็เป็นอีกหนึ่งความต้องการที่สำคัญมาก ปี 2480 กองทัพเรือไทยสั่งต่อเรือลำเลียงพลจำนวน 2 ลำจากอู่ฮาริมา เมืองโกเบ ในวงเงิน 677,000 บาท เรือลำเลียงพลชั้นเรือหลวงสีชังมีความยาวรวม 58.5 เมตร กว้าง 9.3 เมตร ระวางขับน้ำปกติ 1,374 ตัน ใช้เครื่องจักรดีเซล ความเร็วสูงสุด 12.8 นอต ระยะทำการไกลสุด 2,051 ไมล์ทะเล มีพิธีรับมอบเรือจากญี่ปุ่นวันที่ 30 สิงหาคม 2480 และเข้าประจำการพร้อมกันทั้ง 2 ลำในวันที่ 5 ตุลาคม 2481 ได้มีการติดตั้งอาวุธเพิ่มเติมในภายหลัง คือ ปืนใหญ่ลำกล้องสั้น Japanese 76/25 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 1 ถึง 2 กระบอก
เรือหลวงสีชังและเรือหลวงพงันได้ปรับปรุงใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 1 กระบอกทดแทนของเดิม วันที่ 16 ตุลาคม 2493 เรือหลวงสีชังได้รับภารกิจสำคัญในกรณีสงครามเกาหลี เพื่อปฏิบัติราชการร่วมกับองค์การสหประชาชาติ มีหน้าที่ลำเลียงทหารของกรมผสมที่ 21 หน่วยทหารไทย และหน่วยพยาบาลจากสภากาชาดไทย และเป็นเรือลำเลียงของหน่วยทหารไทยประจำเกาหลีและญี่ปุ่น เมื่อเล็งเห็นว่าไม่มีภารกิจที่เหมาะสมในการใช้งานอีกแล้ว เรือหลวงสีชังจึงเดินทางกลับถึงประเทศไทยวันที่ 21 สิงหาคม 2494
เรือลำเลียงพลชั้นเรือหลวงสีชัง ผ่านสงครามใหญ่ถึง 3 สมรภูมิด้วยกันคือ กรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี ซึ่งถือเป็นการอวดธงราชนาวีไทยต่อนานาประเทศทั่วโลก และยังคงรับใช้ชาติในฐานะเรือลำเลียงพลต่อไปอย่างยาวนาน กระทั่งปลดประจำการวันที่ 23 ธันวาคม 2526
เรือดำน้ำชั้นเรือหลวงมัจฉาณุ
โครงการจัดหาเรือดำน้ำถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญมาก ถือเป็นอาวุธสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการรบทางทะเล กองทัพไทยมีความต้องการเรือดำน้ำมานานพอสมควร ตามแผนระยะยาวได้กำหนดจำนวนเรือไว้ที่ 6 ลำด้วยกัน โดยจะมีการจัดหาในเฟสแรกจำนวน 3 ถึง 4 ลำก่อน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีการจัดหาเรือเพิ่มในเฟส 2 เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง
ตุลาคม 2478 กองทัพเรือได้มีการเรียกประกวดราคาต่อเรือ และมี 6 ประเทศเสนอแบบเรือตัวเองเข้าร่วมชิงชัย ประกอบไปด้วย อิตาลี เดนมาร์ค อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นที่เสนอแบบเรือถึง 3 ขนาด คณะกรรมการใช้เวลาพิจารณาข้อเสนออยู่นาน ก่อนตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำขนาด 370 ตันจากญีปุ่นจำนวน 4 ลำ ในวงเงิน 3,280,000 บาท มีการจัดหาอุปกรณ์หนีภัยจากเรือดำน้ำและสูตรการฝึกกำลังพลประจำเรือดำน้ำเพิ่มเติม
เรือหลวงมัจฉานุและเรือหลวงวิรุณทำพิธีวางกระดูกงูวันที่ 6 พฤษภาคม 2479 และทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำวันที่ 1 ตุลาคม 2479 เรือหลวงสินสมุทรและเรือหลวงพลายชุมพลทำพิธีวางกระดูกงูวันที่ 24 ธันวาคม 2479 และทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำเดินทางกลับประเทศไทยหลังเสร็จสิ้นหลักสูตรการฝึกกำลังพลประจำเรือดำน้ำ ก่อนเข้าประจำการพร้อมกันวันที่ 19 กรกฎาคม 2481
เรือดำน้ำชั้นเรือหลวงมัจฉาณุมีความยาวรวม 51 เมตร กว้าง 4.1 เมตร สุง 11.65 เมตร กินน้ำลึก 3.6 เมตร ระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 374.5 ตัน ระวางขับน้ำขณะดำ 430 ตัน ใช้เครื่องจักรดีเซล 8 สูบ 1,100 แรงม้าจำนวน 2 เครื่องยนต์ ความเร็วสูงสุดบนผิวน้ำ 15.7 นอต ความเร็วสุงสุดขณะดำ 8.1 นอต ระยะทำการไกลสุด 4,770 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 10 นอต สามารถดำน้ำได้ลึกสุดที่ 60 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ลำกล้องสั้น Japanese 76/25 มม.แท่นเดี่ยว1 กระบอก ปืนกล Lewis 7.7 มม.จำนวน 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 450 มม.จำนวน 4 ท่อยิงที่หัวเรือ
ช่วงเหตุการณ์กรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพเรือไทยได้ส่งเรือดำน้ำทั้งหมดไปประจำการฐานทัพเรือสัตหีบ เรือได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนออกไปลาดตระเวนในน่านน้ำติดกับชายแดน วันที่ 17 มกราคม 2484 หมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7 ฝรั่งเศสซึ่งต้องการบุกโจมตีฐานทัพเรือสัตหีบ ต้องเปลี่ยนแผนเป็นโจมตีกองเรือไทยบริเวณเกาะช้างแทน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะหวาดเกรงเรือดำน้ำไทยลอบเข้าโจมตี เนื่องจากผลการตรวจสอบทางอากาศพบเรือดำน้ำจอดเทียบท่าเพียง 2 ลำเท่านั้น ผู้เขียนเข้าใจว่า หมวด 1 กองเรือที่ 1 ที่มีเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำด้วยได้เดินทางกลับถึงฐานทัพแล้ว แต่เรือดำน้ำอีก 2 ลำซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวด 1 กองเรือที่ 2 ซึ่งไม่ได้เดินทางไปยังเกาะช้าง ผู้เขียนไม่มีข้อมูลเลยว่าได้หายตัวออกไปทำภารกิจอะไรกันแน่
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น เมื่อโรงไฟฟ้าสามเสนและโรงไฟฟ้าวัดเลียบถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทางอากาศใส่หลายครั้ง จนกระทั่งท้ายที่สุดเกิดความเสียหายอย่างหนักและไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ กองทัพเรือจึงได้นำเรือหลวงมัจฉานุและเรือหลวงวิรุณมาจอดเทียบท่ากลางเมืองหลวง เพื่อให้จ่ายไฟเลี้ยงระบบรถรางไฟฟ้าเป็นการทดแทน ส่งผลให้รถรางไฟฟ้าสายถนนตก-หลักเมือง ยังคงสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเรือดำน้ำโจมตีในด้านอื่นๆได้เป็นอย่างดี
เรือดำน้ำชั้นเรือมัจฉาณุทั้ง 4 ลำปลดประจำการวันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 เหตุผลแรกเป็นเพราะไม่มีอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงตามวงรอบอายุ เนื่องจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่มีบริษัทผลิตอะไหล่ให้ เหตุผลต่อมาคือโรงงานแบตเตอรี่ของไทยที่สร้างขึ้นใหม่ ยังไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่สำหรับเรือดำน้ำได้ เหตุผลสุดท้ายสืบเนื่องมาจากผลกระทบเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ส่งผลให้ทหารเรือมีการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร หมวดเรือดำน้ำโดนยุบและโอนกำลังพลไปที่หมวดเรือตรวจฝั่งที่ตั้งขึ้นใหม่ ปิดฉากเรือดำน้ำไทยลงในเวลาเพียง 13 ปี
เครื่องบินทะเลรุ่นราชนาวี 1
ปี 2480 กองทัพเรือสั่งซื้อเครื่องบินทะเลรุ่น Watanabe WS-103 จำนวน 6 เครื่อง จากบริษัท Watanabe Iron Work ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาใช้ในภารกิจลาดตระเวนทางทะเล โจมตี คุ้มกัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฝึกบิน เครื่องบิน 2 ลำประจำการอยู่บนเรือสลุปชั้นเรือหลวงท่าจีน ส่วนที่เหลือประจำการฐานทัพเรืออ่าวสัตหีบ วันที่ 4 พฤษภาคม 2481 มีพิธีการส่งมอบเครื่องบินที่กรุงเทพ ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน 2481 กองทัพเรือได้จัดตั้งหมวดบินทะเลขึ้นโดยให้สังกัดกองเรือรบ และกำหนดชื่อเครื่องบินทะเล WS-103 ว่า เครื่องบินราชนาวี 1 หรือ บ.รน.1
WS-103S SIAM NAVY RECONNAISSANCE SEAPLANE เป็นเครื่องบินใบพัดปีก 2 ชั้น 2 ที่นั่ง ทุ่นคู่ คันบังคับคู่ ทำความเร็วสุงสุด 128 ไมล์ต่อชั่วโมง บินได้นานสุด 5 ชั่วโมง ติดตั้งปืนกลขนาด 7.7 มม.นอกวงใบพัดจำนวน 2 กระบอก สามารถบรรทุกลูกระเบิดชนิดต่างๆได้น้ำหนักรวม 300 กิโลกรัม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเรือใช้เครื่องบินราชนาวี 1 ในภารกิจลาดตระเวนอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เพื่อตรวจการณ์และปราบเรือดำน้ำ คุ้มกันการเดินเรือพาณิชย์ รวมทั้งปฏิบัติการร่วมกับกองเรือรบ โดยมีฐานทัพหลักอยู่ที่สัตหีบและที่อ่าวฉลองจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ยังได้ใช้บริเวณเกาะสมุยเป็นสถานีที่เติมน้ำมันเครื่องบินด้วย
เรือลาดตระเวนเบาชั้นเรือหลวงนเรศวร
นอกจากเรือรบรุ่นต่างๆที่ได้เขียนถึงไปแล้วซึ่งอยู่ในสกีม 1 (Scheme 1) กองทัพเรือไทยยังมีโครงการจัดหาเรือลาดตระเวนเบาจำนวน 2 ลำในสกีม 2 เพิ่มเติม เรือขนาดใหญ่ทั้ง 2 ลำจะเข้าประจำการในกองเรือรุกรบโดยมีคุณสมบัติคือ สามารถทำการรบในทะเลลึกได้ สามารถรังควานและตัดเส้นทางคมนาคมของฝ่ายตรงข้ามได้ ความต้องการเบื้องต้นของโครงการนี้คือ เรือจะต้องมีระวางขับน้ำ 3,000 ตันขึ้นไป มีความยาวรวมประมาณ 133 เมตร กว้างประมาณ 12 เมตร กินน้ำลึกประมาณ 3.6 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 152 มม.จำนวน 4 กระบอก หรือปืนใหญ่ขนาด 137 มม.จำนวน 6 กระบอก ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.จำนวน 4 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มม.จำนวน 4 กระบอก ตอร์ปิโดแฝด 3 จำนวน 2 แท่นยิง สามารถทำความเร็วสุงสุดได้ถึง 33 นอต
หลังจากใช้เวลาต่อรองเกือบ 2 ปี ผู้ชนะการประกวดราคาก็คือ ซาน มาร์โค ดิ ตริเอสเต้ (San Marco di Trieste) จากอิตาลี โดยได้รับสัญญาต่อเรือ 2 ลำมูลค่า 13.1 ล้านบาท กองทัพเรือจัดเตรียมงบประมาณอีก 3 ล้านบาทสำหรับซื้ออาวุธปืนจากสวีเดนและตอร์ปิโดจากญี่ปุ่น เรือลาดตระเวนเบาชั้นเรือหลวงนเรศวรต่อโดยอู่ต่อเรือ Cantieri Riumiti dell' Adriatico เมืองตริเอสเต ประเทศอิตาลี ตามสัญญาเรือมีความยาวรวม 147 เมตร กว้าง 14.74 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 5,533 ตัน เครื่องจักรกังหันไอน้ำ 2 เพลาใบจักร ให้กำลัง 40,000 แรงม้า ความเร็วสุงสุด 28 นอต ติดตั้งอาวุธปืนใหญ่ Bofors 152 มม. จำนวน 6 กระบอก ปืนใหญ่ Bofors 75/51 มม. จำนวน 6 กระบอก ปืนกลขนาด 13.2 มม. จำนวน 8 กระบอก เครื่องบินทะเล 2 ลำพร้อมเครื่องดีดส่ง (Catapult) ส่วนปืนต่อสู้อากาศยานและตอร์ปิโดขนาด 450 มม.แฝดสามจำนวน 2 แท่นยิง กองทัพเรือจะติดตั้งเองในภายหลัง
เรือหลวงนเรศวรทำพิธีวางกระดูกงูวันที่ 26 สิงหาคม 2482 เเละทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำวันที่ 6 สิงหาคม 2484 เรือหลวงตากสินทำพิธีวางกระดูกงูวันที่ 23 กันยายน 2482 เเละทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำวันที่ 28 พฤษภาคม 2485 ภายหลังได้มีการปรับปรุงเรือให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ติดตั้งอาวุธแตกต่างไปจากเดิม และเปลี่ยนมาเป็นเรือลาดตระเวนต่อสู้อากาศยาน เรือที่กำลังสร้างอยู่ทั้ง 2 ลำไม่ใช่สมบัติของไทยอีกแล้ว เนื่องจากรัฐบาลอิตาลีได้ยกเลิกสัญญาและรับมาเป็นเรือรบของตัวเอง นั่นก็เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เปิดฉากขึ้นและอิตาลีก็ได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายอักษะ เดือนกันยายน 2487 เรือลาดตระเวน Vesuvio และ Etna ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ถูกเครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่จนเสียหายหนักและอัปปางนั่งแท่น แม้จะมีความพยายามกู้เรือคืนแต่ก็ต้องยกเลิกในท้ายที่สุด
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยได้ฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายต่อรัฐบาลอิตาลี เพื่อเป็นค่าต่อเรือลาดตระเวนเบาชั้นเรือหลวงนเรศวร ซึ่งได้สั่งต่อและชำระเงินล่วงหน้าไปแล้ว แต่รัฐบาลอิตาลียกเลิกสัญญาและนำเรือมาเป็นของตัวเอง จนทำให้กองทัพเรือไทยไม่ได้รับเรือทั้ง 2 ลำตามข้อตกลง หลังการฟ้องร้องเสร็จสิ้นรัฐบาลอิตาลีต้องชดใช้เงินคืนเป็นจำนวน 601,360 ปอนด์สเตอริงก์ ทว่าอิตาลีได้เสนอเป็นอะไหล่สำหรับซ่อมแซมและปรับปรุงเรือตอร์ปิโดใหญ่ชั้นเรือหลวงตราด ทดแทนเงินสดจำนวนหนึ่งที่ต้องชดเชยกลับคืนมา กองทัพเรือไทยนำอะไหล่ดังกล่าวมาซ่อมแซมและปรับปรุงเรือชั้นเรือหลวงตราด ให้คงสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานต่อไป
กองทัพเรือไทยหลังโครงการบำรุงกำลังทางเรือ
งบประมาณพิเศษที่ทางรัฐบาลทยอยแบ่งจ่ายเป็นเวลา 6 ปีเต็มปีล่ะ 3 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 18 ล้านบาทนั้น (รวมงบประมาณประจำปีจำนวน 1 ล้านบาทต่อปีด้วย) ทำให้กองทัพเรือไทยสามารถจัดหาเรือรบได้ตรงตามความต้องการ เป็นการเพิ่มอำนาจทางทะเลให้สุงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เพื่อเพื่อรองรับภัยคุกคามขนาดใหญ่ที่ก่อตัวบริเวณชายแดน รวมถึงสงครามใหญ่ระดับโลกในยุโรปซึ่งเหมือนฝีหัวช้างใกล้แตกเต็มที เป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดของราชนาวีไทย ผู้เขียนคาดว่าในอนาคตจะไม่มีโครงการใหญ่แบบนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว
งบประมาณจากพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ทำให้กองทัพเรือไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมากน้อยไหนเรามาดูกันครับ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสขึ้น หลังการประกาศสงครามเพียง 1 วัน กองทัพเรือไทยได้มีการจัดตั้งทัพเรือซึ่งเป็นหน่วยรบเฉพาะกิจขึ้นมาทันที โดยมีการแบ่งหน่วยสนามออกเป็นกองเรือหลักจำนวน 3 กองเรือด้วยกัน ประกอบไปด้วย
กองเรือที่ 1 นาวาเอก หลวงสังวรยุทธกิจเป็นผู้บังคับกองเรือ แบ่งออกเป็น 2 หมวด คือหมวด 1 ประกอบไปด้วย เรือหลวงศรีอยุธยา เรือตอร์ปิโดใหญ่ 3 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ (เรือหลวงมัจฉานุและเรือหลวงสินสมุทร) หมวด 2 ประกอบด้วย เรือหลวงธนบุรี เรือตอร์ปิโดใหญ่ 3 ลำ และเรือหลวงบางระจัน
กองเรือที่ 2 นาวาเอก ชลิต กุลกำม์ธรเป็นผู้บังคับกองเรือ แบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ หมวด 1 ประกอบด้วย เรือหลวงท่าจีน เรือตอร์ปิโดใหญ่ 3 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ (เรือหลวงวิรุณและเรือหลวงพลายชุมพล) หมวด 2 ประกอบด้วย เรือหลวงแม่กลอง เรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำ และเรือหลวงหนองสาหร่าย
กองเรือที่ 3 นาวาโท หลวงพรหมพิสุทธิ์เป็นผู้บังคับกองเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงพระร่วง เรือยามฝั่ง 6 ลำ เรือประมง 3 ลำ เรือหลวงสีชัง เรือหลวงพงัน เรือหลวงช้าง เรือหลวงเสม็ด เรือหลวงจวง เรือหลวงคราม และเรือหลวงบริพารพาหน (เรือหลวงเกล็ดแก้ว ลำที่ 1)
เทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านี้ซึ่งมีเพียง 2 กองเรือคือ กองเรือรักษาฝั่งและกองเรือรุกรบ โดยเรือรบทั้งหมดถูกจัดอยู่ในกองเรือที่ 3 ซึ่งไม่มีหน้าที่เข้าปะทะกับผุ้รุกรานโดยตรง ผู้เขียนตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเปรียบเทียบด้วยจำนวนเรือรบก็ดี ขนาดระวางขับน้ำโดยรวมก็ดี หรือจำนวนอาวุธปืนและตอร์ปิโดที่เพิ่มขึ้นก็ดี เพื่อให้เห็นภาพรวมการขยายตัวได้อย่างชัดเจน จึงขอโยนเรื่องดังกล่าวให้ผู้อ่านตัดสินเอาเองนะครับ ว่ากองทัพเรือไทยใหญ่มากขึ้นมากน้อยแค่ไหนจากโครงการบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 เสียดายนิดเดียวว่าเรือลาดตระเวนเบาถูกอิตาลียกเลิกไปก่อน ทำให้โครงการที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทยไม่บรรลุเป้าหมายท้ายสุดตามที่ต้องการ
---------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
http://thaiarmedforce.com/distribution/viewtopic.php?f=6&t=2070
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4768.0
http://www.navy.mi.th/newwww/code/calander/showform.php?varlink=416
http://www.rtni.org/th/-1/4-naikasart/119-torpido-ship.html
http://www.navy.mi.th/newwww/code/calander/showform.php?varlink=395
http://www.navy.mi.th/newwww/document/history/royalnavy/chap307.htm
http://www.navy.mi.th/NavyHistory/Maeklong_Museum/mk03.htm
http://zedth.exteen.com/page/402
http://www.navy34.com/board342550/index.php?topic=980.0;wap2
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B8
http://www.rtni.org/th/library/wp-content/uploads/2013/11/นาวิกศาสตร์-พย-2555-เรือรบหลวงที่มาไม่ถึงประเทศไทย.pdf
http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2009/04/X7700876/X7700876.html
http://warshipsthailand.blogspot.com
http://rach1968.blogspot.com/2014/09/blog-post_5.html
http://rach1968.blogspot.com/2014/11/ws-103s.html
---------------------------------------------------------------------------------
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น