วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562

RTN Light Frigate Program


ช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น ประเทศเพื่อนบ้านพากันปรับปรุงกองทัพเรือ ด้วยวิธีสร้างหรือซื้อเรือรบรุ่นใหม่เข้าประจำการ ทดแทนของเดิมที่ล้าสมัย ขนาดเล็กเกินไป และทำภารกิจสงครามได้อย่างเดียว กองเรือผิวน้ำของพวกเขาใหญ่โตกว่าเดิม บางรายเอาเรือฟริเกตขนาด 3,200 ตันมาทดแทนเรือเร็วโจมตียาว 45 เมตร

เริ่มต้นกันจากประเทศสิงคโปร์ นอกจากเรือฟริเกตชั้น Formidable จำนวน 6 ลำแล้ว ยังมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอีก 8 ลำ ติดเรดาร์ทันสมัยพร้อมจรวดต่อสู้อากาศยาน VL Mica และในอนาคตจะมีเรือ Multi-Role Combat Vessel เพื่อทดแทนเรือคอร์เวตชั้น Victory เรือลำใหม่ระวางขับน้ำประมาณ 4,000 ตัน ใหญ่กว่าเรือฟริเกตและทำภารกิจได้หลากหลายกว่า

ประเทศถัดมาคือเสือเหลืองมาเลเซีย กำลังสร้างเรือฟริเกตชั้น Gowind ขนาด 3,100 ตันจำนวน 6 ลำ สั่งซื้อเรือ Missile Surface Corvette หรือ MSC ระวางขับน้ำ 1,800 ตันอีก 6 ลำ เรือรบทั้งหมดใช้จรวดต่อสู้เรือรบ NSM ของนอร์เวย์ จรวดตัวนี้สร้างปัญหาให้กับ RIM-116 Rolling Ariframe Missile หรือ RAM ที่มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยนิยมชมชอบ

ผลการทดสอบภายในของอเมริกา ด้วยรูปทรงลดการตรวจจับจากเรดาร์ และแพร่ความร้อนออกมาเพียงน้อยนิด จรวดนำวิถีอินฟาเรด RAM ซึ่งมีคุณสมบัติ Log on after launch ค้นหาจรวด NSM ไม่เจอเป็นส่วนมาก อเมริกาต้องพัฒนา RAM Block II อย่างเร่งด่วน ของใหม่ดีกว่าเดิม แพงกว่าเดิม รับมือ NSM ได้มากกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี

หันมามองประเทศพม่ากันบ้าง จากกองเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งขนาดกะทัดรัด วันนี้พวกเขามีเรือฟริเกตมากถึง 5 ลำ (มือสองจากจีน 2 ลำ สร้างเองอีก 3 ลำ) มีเรือคอร์เวตเพิ่มขึ้น 1 ลำ เรือเร็วโจมตีลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ 1 ลำ (ยอดรวม 10 ลำ) เรือตรวจการณ์ยาว 45 เมตร ติดจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A อีกร่วม 10 ลำ ถ้านับรวมเรือคอร์เวตกับเรือเร็วโจมตีของเดิมอีกจำนวน 8 ลำ เท่ากับพม่ามีเรือติดจรวดต่อสู้เรือรบตั้งแต่ 25 ลำขึ้นไปเรื่อยๆ

ส่วนอินโดนีเซียมหามิตรของไทยนั้น พวกเขาทั้งสร้างเรือได้เองและส่งออกขายทั่วโลก นับเฉพาะเรือผิวน้ำติดจรวดที่เพิ่มขึ้นมา ประกอบไปด้วย เรือฟริเกตชั้น Sigma10514 เฟสแรก 2 ลำ (ต้องการ 6 ลำ) เรือเร็วโจมตีขนาด 45 เมตรสองเฟสแรก 8 ลำ (ต้องการ 16 ลำ) เรือเร็วโจมตีขนาด 60 เมตรเฟสแรก 4 ลำ (ต้องการ 18 ลำ) และยังมีเรือคอร์เวตมือสองติดจรวดต่อสู้อากาศยาน VL Seawolf อีก 4 ลำ รบกวนผู้อ่านช่วยรวมตัวเลขให้ผู้เขียนด้วย

ทางด้านฟิลิปปินส์ที่เคยมีแต่เรือยุคสงครามโลก ได้เรือฟริเกตมือสองติดอาวุธปืนจากอเมริกา 3 ลำ กำลังจะได้เรือคอร์เวตมือสองจากเกาหลีไต้ 1 ลำ และสั่งซื้อเรือฟริเกตขนาด 2,600 ตันในราคาถูกเหลือเชื่ออีก 2 ลำ ประเทศเวียตนามได้เรือฟริเกตชั้น Gepaard จำนวน 4 ลำ (สั่งซื้ออีก  2 ลำ) เรือคอร์เวตชั้น Moliya จำนวน 8 ลำ (สร้างเอง 6 ลำ) โดยที่ลำหลังแบกจรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 มากสุดถึง 16 นัด จรวดตัวนี้ว่ากันว่าเวียดนามผลิตเองได้แล้ว

กลับมายังประเทศไทยของเราบ้าง นอกจากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชที่เพิ่งมาถึง เรือลำก่อนหน้านี้ก็คือเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย (ตอนนี้ปลดประจำการแล้ว) ซึ่งต้องย้อนกลับไปยังปี 1997 หรือ 22 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นเราเน้นจัดหาเรือช่วยรบ เรือตรวจการณ์น้อยใหญ่ หรือเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก ที่ให้ความสำคัญก็คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 4 ลำ 2 ชั้นกับอีก 3 แบบ กำลังมีโครงการจัดหาเพิ่มเติมให้ครบ 6 ลำ แต่จะไม่ใช้แบบเรืออังกฤษซึ่งตอบโจทย์ได้ไม่หมด

ผู้เขียนนั่งคิดนอนคิดมาเป็นเวลาหลายเดือน ยังมองไม่เห็นหนทางสักนิดเลยว่า เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดจรวดต่อสู้เรือรบ จะไปรับมือกับเรือฟริเกตหรือเรือคอร์เวตได้อย่างไร จริงอยู่ว่าเรามีเรือฟริเกต 8+1 ลำ เรือคอร์เวตแท้ๆ อีก 4 ลำ แต่ติดจรวดต่อสู้เรือรบเพียง 7-9 ลำ ติดจรวดต่อสู้อากาศยานแค่ 5 ลำ และเรือส่วนใหญ่อายุราชการมากกว่า 20 ปี

ด้วยเหตุผลมากมายทั้งหลายทั้งปวง ผู้เขียนอาสาตั้งโครงการ ‘RTN Light Frigate Program’ ขึ้นมา เพื่อทดแทนเรือเก่าและเสริมสร้างกองเรือผิวน้ำ ให้รับมือกับภัยคุกคามได้อย่างเหมาะสม โครงการนี้มีโจทย์สำคัญอยู่ว่า เราจะสร้างเรือเองในประเทศ ติดอาวุธครบครันรวมทั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน ใช้แบบเรือจากจีนราคาไม่แพง สร้างง่าย ซ่อมบำรุงง่าย ใช้งบประมาณของตัวเองทั้งหมด โดยไม่ไปดึงงบจากโครงการอื่นเด็ดขาด 

และคอนเซปต์ของโครงการนี้ก็คือ ‘Common Fleet’


เรือหลวงมกุฎราชกุมารของเรานั้น เคยเป็นหนึ่งในตองอูเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เคยครองแชมป์ด้วยสถิติไร้พ่ายมาแล้ว ทว่าตอนนี้ได้หล่นมาอยู่ในโซนตกชั้น จำเป็นต้องมีเรือรบรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน โดยเฉพาะกองเรือภาค 3 ที่ต้องดูแลฝั่งทะเลอันดามัน เราหมุนเวียนเรือไปประจำการในจำนวนเพียงพอ แต่มีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ อีกทั้งเก่าและโทรมเกินไป อาวุธสำหรับป้องกันตนเองก็ล้าสมัย เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งไม่สามารถแบกภาระนี้ได้ ต้องเป็นเรือรบแท้ๆ ติดอาวุธครบ 3 มิติเท่านั้น

ก่อนอื่นผู้เขียนขอออกตัวล้อฟรีว่า นี่คือบทความที่ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง ทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกแต่งขึ้นจากจินตนาการ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘What If’ แปลว่าเรื่องสมมุติ เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วก็ไปกันต่อเลยครับ ;)

RTN Light Frigate Program ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทดแทนเรือเก่าจำนวน 5 ลำ ประกอบไปด้วย เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ เรือหลวงเจ้าพระยา และเรือหลวงบางปะกง อ่านถึงตอนนี้คงมีคำถามในใจกันว่า แล้วเรือ 2 ลำหลังโผล่เข้ามาได้ยังไร? คำตอบก็คือนอกจากจะไม่ปลดประจำการแล้ว ยังถูกปรับปรุงใหญ่ให้เหมือนเรือชั้นเรือหลวงกระบุรี ก่อนจะโอนย้ายให้มาทำหน้าที่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

อะไรนะ! เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง? เก่าขนาดนี้เดี๋ยวก็ปลดประจำการแล้ว? มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปหรือเปล่า?

การปรับปรุงเรือและย้ายภารกิจคือทางเลือกที่ดีและคุ้มค่า ยกตัวอย่างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Hamilton ของอเมริกา เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1967 ถึงปี 2011 เท่ากับว่าได้รับใช้ชาติ 44 ปีเต็ม จากนั้นเรือถูกโอนไปให้ฟิลิปปินส์ แปลงร่างมาเป็นเรือฟริเกต BRP Gregorio del Pilar และถึงตอนนี้ก็ยังคงประจำการอยู่ เท่ากับว่าใช้งานมาแล้วถึง 52 ปี

ฉะนั้นแล้วเรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกง ซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซลล้วนประหยัดน้ำมัน ถ้ามีการซ่อมบำรุงตามวงรอบอย่างดีที่สุด จะสามารถใช้งานได้อีกอย่างน้อย 20 ปีเต็ม คุ้มค่ากับการลงทุนระยะยาวไม่ใช่เหรอ?


เรือทั้ง 2 ลำใช้ระบบอำนวยการรบ เรดาร์ตรวจการณ์ เรดาร์ควบคุมการยิง ปืนกล 37 มม.อัตโนมัติ และจรวดต่อสู้เรือรบเหมือนเรือแฝดอีก 2 ลำ ปืนใหญ่ 100 มม.ปรับปรุงใหม่แต่ไม่เปลี่ยนตัวป้อม ที่แตกต่างออกไปก็คือส่วนครึ่งหลังของเรือ จุดติดตั้งจรวด C-802A กลายเป็นที่ตั้งตู้ Mission Module เรดาร์ควบคุมการยิงหายไป ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดหายไป ได้ปืนกล 12.7 มม.ไว้กันเหนียว สร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน รวมทั้งติดตั้งระบบช่วยทรงตัวไว้อย่างครบถ้วน

ใต้ลานจอดสร้างห้องพักขนาด 7.5x6 เมตร ยังเหลือพื้นที่ข้างกราบเรือทั้ง 2 ฝั่ง ท้ายเรือยังเหลือที่ว่างประมาณ 11 เมตร ที่เขียนทั้งหมดกำหนดให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ เวลาปรกติรองรับการขนย้ายผู้ประสบภัย ติดตั้งสะพานขึ้นเรือหรือ Gangway ไว้ด้วย การขนคนขึ้นจากเรือเล็กจึงสะดวกง่ายดาย ส่วนเวลาเกิดสงครามทำได้ตามที่โชว์ในภาพวาด

ลำบนคือเรือหลวงเจ้าพระยาในภารกิจกวาดทุ่นระเบิด ปรกติเรือจะไม่แบกจรวด C-802A ไปไหนมาไหน เก็บไว้ในคลังแสงติดแอร์ช่วยยึดอายุการใช้งาน ติดตั้งตู้ Mission Module เป็นห้องทำงาน ท้ายเรือใช้จัดวางอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิด ห้องพักใต้ลานจอดใช้เก็บอุปกรณ์กับเจ้าหน้า MCM Pouncer หรือให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั่งรวมกันก็ยังได้

ส่วนลำล่างคือเรือหลวงบางปะกงในภารกิจวางทุ่นระเบิด ภารกิจนี้ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย ต้องติดจรวด C-802A ไว้ป้องกันตัวเอง นี่คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 2 ลำท้ายสุด ที่อาจจะเก่าไปสักนิดแต่ทำภารกิจได้หลากหลาย โดยมีทุกอย่างเหมือนกับเรือหลวงกระบุรี ทำให้การซ่อมบำรุง การจัดหายุทธภัณฑ์ รวมทั้งการฝึกซ้อมเจ้าหน้าที่ทำได้อย่างสะดวก

ราคาปรับปรุงเรือให้เป็นตามภาพนั้น ผู้เขียนอ้างอิงกับของเดิมที่เคยทำมาแล้ว โครงการปรับปรุงเรือหลวงกระบุรีกับสายบุรีมีมูลค่า 1,682 ล้านบาท แต่เรือหลวงเจ้าพระยากับบางปะกงที่ปรับปรุงใหม่ ติดอาวุธกับเรดาร์ควบคุมการยิงแค่เพียงครึ่งเดียว เมื่อนำมาบวกค่าสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ผู้เขียนให้เท่าราคาเดิมคือลำละ 841 ล้านบาทหรือ 26.61 ล้านเหรียญ จรวด C-802A ใช้ของเดิมในคลังแสงไปก่อน อีกสัก 5 ปีค่อยซื้อใหม่ 16 นัดสำหรับใช้งานบนเรือ 4 ลำ

ระหว่างปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยากับบางปะกง โครงการใหม่ก็เริ่มเดินหน้าไปพร้อมกัน จะมีการสร้างเรือฟริเกตในประเทศจำนวน 4 ลำ ปัญหาน้อยใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างนั้น ยกให้คนดูแลโครงการเป็นผู้จัดการแก้ไข โดยที่รัฐบาลต้องยื่นมืเข้ามาช่วยเหลือ อาจจะขอเช่าอู่ลอยมาจากจีน หรือลงทุนสร้างไอ้โน่นไอ้นั่นไอ้นี่ก็ว่าไป

ตามแผนการได้กำหนดไว้ว่า วางกระดูกงูเรือลำแรกกันยายน 2019 สร้างแล้วเสร็จภายในปี 2023 เข้าประจำการต้นปี 2024 และเข้าประจำการครบ 4 ลำภายในเดือนธันวาคม 2025 ใช้แบบเรือจากจีนที่ถูกตั้งชื่อว่า F-108 ซึ่งอันที่จริงก็คือแบบเรือฟริเกต UMS Sinbyushin 2019 (F-14) ของพม่านั่นเอง


ทำไมต้องเป็นแบบเรือลำนี้? คำตอบก็คือพม่าใช้เงินประมาณ 200 ล้านเหรียญต่อเรือหนึ่งลำ โครงการ Light Frigate Program ตั้งงบประมาณไว้ที่ 1,100 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นค่าสร้างเรือกับอุปกรณ์ทั้งหมด 840 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับลำละ 210 ล้านเหรียญ เรดาร์และอาวุธของเราอาจแพงกว่าของพม่า แต่มีเรดาร์และอาวุธน้อยกว่าทำให้ราคาไม่แตกต่าง

งบประมาณอีก 100 ล้านเหรียญซื้อเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 4 ลำ ส่วนที่เหลือ 160 ล้านเหรียญสำหรับซื้อจรวดต่างๆ ตอร์ปิโด กระสุนปืน รวมทั้งเป้าลวง และนี่ก็คือแบบเรือ F-108 ของไทยแลนด์ ได้ตัวเลขมาจากความยาวเรือนั่นเอง


เรือพม่าสร้าง Superstructure หน้าสะพานเดินเรือสูงหนึ่งชั้น สำหรับติดปืนกล AK630 ซึ่งกินเนื้อที่ด้านล่างดาดฟ้าจำนวนหนึ่ง เลยมาข้างหน้าเป็น Superstructure สูงครึ่งชั้น เพื่อติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานระยะเผาขน ตรงจุดนี้เอง F-108 จะสร้าง Superstructure ยาวติดกัน รองรับแท่นยิงแนวดิ่งหรือ VLS ได้ถึง 2 ระบบ สีเขียวคือจุดติดตั้งหลักเว้นว่างไว้เลย ส่วนสีชมพูสามารถติดได้ถ้ามีความต้องการ มีความลึกเพียง 2 ชั้นจึงไม่รองรับจรวด SM-2 หรือ VL- ASROC

เสากระโดงเรือผอมเพรียวกว่าเดิม ปล่องระบายความร้อนกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เหมือนต้นฉบับ ท้ายเรือออกแบบให้ลาดเอียงมากขึ้น จึงยาวกว่าเดิมจาก 107.5 เมตรเป็น 107.9 เมตร กว้าง 13.5 เมตร กินน้ำลึก 3.5 เมตร ระวางขับน้ำไม่ถึง 3,000 ตัน (ส่วนตัวคิดว่าไม่เกิน 2,800 ตัน) ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตันพร้อมโรงเก็บ ใส่เครนกับเรือยางขนาด 6 เมตรไว้ที่กราบขวา ส่วนกราบซ้ายติดสะพานขึ้นลงเรือ ห้อยเรือยางขนาดไม่เกิน 4 เมตรไว้อีก 1 ลำ

ผู้อ่านอาจข้องใจว่าเรือกินน้ำตื้นหรือ shallow draught จะดีหรือ เจอคลื่นลมแรงอาจพลิกคว่ำกลางทะเลได้ ผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต ในเมื่อพม่าใช้ได้เราก็ต้องใช้ได้ เรือลำนี้ใช้เฝ้าบ้านเป็นงานหลัก อยู่ห่างชายฝั่งไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล เมื่อเข้าร่วมกับกองเรือเพื่อทำภารกิจ จะถูกจัดวางให้เป็นเรือแถวสองทุกครั้ง แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย จึงได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยทรงตัวเพิ่มเติม ข้อดีข้อหนึ่งของเรือ shallow draught ก็คือ แล่นเข้ามาจอดกินหมูกระทะที่ท่าเตียนได้

งบประมาณ 100 ล้านสำหรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ คงใช้ซื้อ S-70B ของอเมริกาไม่ได้แน่นอน ขณะที่ Super Lynx ราคาเครื่องเปล่า 35 ล้านเหรียญ และ Wildcat ที่ฟิลิปปินส์ซื้อไปลำล่ะ 45 ล้านเหรียญ ฉะนั้นแล้วเราจำเป็นต้องมองรุ่นอื่น ผู้เขียนสนใจ Eurocopter AS565 Panther มากเป็นพิเศษ โดยต้องติดตั้ง DS-100 HELRAS Dipping Sonar พร้อม ASW Suite เหมือนอินโดนีเซียครบถ้วนทุกลำ ไม่อย่างนั้นเอามาตรวจจับเรือดำน้ำไม่ได้แน่นอน


ก่อนหน้านี้  AS365 Dauphin ลำละ 15 ล้านเหรียญ ฉะนั้น AS565 Panther จึงไม่ควรเกิน 20 ล้านเหรียญ บวกค่าโซนาร์ชักหย่อนอีก 5 ล้านเหรียญ ถ้าเกินไปบ้างให้มาตัดจากงบซื้อจรวด แต่ถ้าเกินงบมากกว่า 30 ล้านเหรียญ จำเป็นต้องเลี้ยวกลับมายัง Harbin Z-9B ของจีน ปากีสถานเคยซื้อในราคา 11 ลำเหรียญต่อลำ โดยถ้าเป็นลำนี้จะได้โซนาร์ชักหย่อน Thales HS-12 กับเรดาร์ตรวจการณ์ผิวน้ำ KLC-11 ซึ่งก็คือเรดาร์ Thales Agrion 15 ฉะนั้นแล้ว 100 ล้านเหรียญเพียงพอแน่นอน

เรามาซื้ออาวุธให้กับเรือลำนี้กันบ้าง เริ่มจากจรวดต่อสู้เรือรบ 16 นัดหรือลำละ 4 นัด จรวด C-802A นอนมาพระสวดเพราะราคาไม่โหด อีกทั้งมีใช้งานบนเรือของเรามากถึง 4 ลำ ต่อกันด้วยจรวดต่อสู้อากาศยาน ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 24-32 นัด หรือลำละ 6-8 นัดแล้วแต่ราคา ก่อนสรุปท้ายที่ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ให้ซื้อของใหม่เลยจะได้อยู่ด้วยกันไปนานๆ โดยต้องใช้งานบน AS565 Panther ได้ด้วย จึงเหลือตอร์ปิโดให้เลือกใช้งานอยู่เพียง 3 รุ่น

เริ่มจากการตัด MU-90 ออกไปก่อน เพราะมีราคามากกว่า 2 ล้านเหรียญ และค่อนข้างหนักแบกขึ้นเครื่องได้เพียง 1 นัด ผู้เขียนอยากได้ Mk-46 Mod 5 เหมือนเรือลำอื่น ถ้ายังมีสินค้าวางขายก็จะเอารุ่นนี้ แต่ถ้าไม่คงต้องเป็น A244/S Mod 3 จากอิตาลี ตอร์ปิโดรุ่นนี้สิงคโปร์กับอินโดนีเซียมีใช้งาน ยิงได้ไกลสุด 13.5 กิโลเมตร ระยะยิงหวังผล 9 กิโลเมตร ต้องการซื้อ 24 นัดหรือลำละ 6 นัด และถ้ารวมค่าเป้าลวงกับกระสุนปืนด้วยแล้ว 160 ล้านเหรียญคงไม่เหลือทอนให้กับใคร

เพราะเป็นเรือฟริเกตสร้างเองลำแรกของไทย ผู้เขียนขอตั้งชื่อว่า เรือหลวงชุมพร ที่ไม่ใช่ชื่อจังหวัด ส่วนเรืออีกสามลำใช้ชื่อแม่น้ำตามปรกติ ติดตั้งปืนหลัก Oto 76/62 Super rapid ต่อด้วยแท่นยิงจรวดแนวดิ่ง และระบบเป้าลวงตอร์ปิโด เหนือสะพานเดินเรือติด SATCOM รุ่นมาตรฐาน ระบบอำนวยการรบ 9LVMk4 เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB เรดาร์เดินเรือ X-Band กับ S-Band อย่างละตัว และมีที่ว่างสำหรับเรดาร์เดินเรือตัวที่สาม

ท้ายเรือติดปืนกลอัตโนมัติ DS-30MR จำนวน 2 กระบอก ควบคุมการยิงด้วย EOS 500 กับ CEROS 200 หน้าเสากระโดง (อาจโดนบังมุมท้ายเรืออยู่บ้างช่างมัน) เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดเป้าลวงจรวด สร้างห้องเก็บเป้าลวงใต้จุดติดตั้ง EOS 500 สามารถติดระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดหรือ CIWS ได้ แต่ไม่ได้ติดเพราะงบประมาณจำกัดจำเขี่ย ส่วนท่อยิงจรวด C-802A จำนวน 8 ท่อนั้น ใส่จรวดจริงแค่ 4 ท่อและเป็นท่อดัมมี่อีก 4 ท่อ

ส่วนทางด้านระบบตรวจจับเรือดำน้ำข้าศึก ใช้โซนาร์หัวเรือรุ่นมาตรฐานใหม่ราชนาวีไทย นั่นคือโซนาร์ Atlas DSQS-24C ซึ่งทำงานทั้งภาคส่งและภาครับ (Active/Passive) ได้พร้อมกัน ระยะตรวจจับไกลสุด 44 กิโลเมตร ระยะตรวจจับหวังผล 15 กิโลเมตร มีใช้งานกับเรือปัจจุบันจำนวน 3 ลำ เท่ากับว่าเราจะมีเรือติดโซนาร์ DSQS-24C มากถึง 7+1 ลำ

เรือหลวงชุมพรใช้ RTN Link กับ Link-T ในการติดต่อสื่อสาร ส่วน Link ของสวีเดนเอาไว้ว่ากันทีหลัง แท่นยิงตอร์ปิโดอยู่ข้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แล้วเอาตอร์ปิโดทั้งหมดไว้ในโรงเก็บ จะได้ติดให้กับเรือหรือเฮลิคอปเตอร์ได้พร้อมกัน เรือพม่าติดไว้ด้านล่างสะพานเดินเรือ มีพื้นที่ค่อนข้างแคบไม่สะดวก และอยู่ใกล้ห้องอำนวยการรบมากไป เกิดตูมตามขึ้นมามีหวังซวยกันทั้งลำ ไว้พื้นที่โล่งๆ ห่างไกลผู้คนเหมาะสมมากกว่า รวมทั้งยังมีปืนกล 12.7 มม.อีก 2 กระบอกตามมาตรฐาน

อาวุธชนิดสุดท้ายก็คือจรวดต่อสู้อากาศยาน ผู้เขียนตัด ESSM ออกไปก่อน เพราะต้องใช้แท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 ซึ่งมีราคา 12 ล้านเหรียญขึ้นไปต่อหนึ่งชุด (8 ท่อยิง) รวมทั้งต้องใช้กล่อง Mk-25 สำหรับบรรจุจรวด ทำให้มีราคาเฉลี่ยถึงนัดละ 1.25 ล้านเหรียญ รวมทั้งต้องติดระบบนำวิถีจรวดให้กับ CEROS 200 แค่อุปกรณ์เสริมก็เกินงบประมาณไปไกลลิบลับ

แล้วเราจะใช้จรวดรุ่นไหนดี? เริ่มจากการตัด Sea Ceptor หรือ CAMM ออกไปก่อน เพราะมีราคาอย่างไม่เป็นทางการ 1-1.2 ล้านเหรียญ ส่วนจรวด RAM ซึ่งมีราคา 1 ล้านเหรียญนิดๆ ก็คงไม่ไหว โครงการนี้เหลือผู้เข้าชิงชัยจำนวน 4 ราย ผู้เขียนจะแสดงภาพวาดให้ครบทั้ง 4 ชนิด เริ่มต้นจากการติดจรวดรุ่นที่แพงมากที่สุด VL Mica


จรวด VL Mica ระยะยิง 20 กิโลเมตร ใช้ระบบนำวิถีอินฟาเรดและเรดาร์ ท่อยิงเฉพาะมีความลึกเพียง 4 เมตร มีให้เลือกทั้งรุ่น 3 ท่อยิง 6 ท่อยิง 8 ท่อยิง 12 ท่อยิง และ 16 ท่อยิง ผู้เขียนขอเลือก 12 ท่อยิงตามภาพเลย มีขนาดกะทัดรัดใช้พื้นที่น้อยนิด แต่ด้วยราคาจรวดที่มีตัวเลข 0.8-1 ล้านเหรียญ จึงซื้อลูกจรวดได้เพียง 6 นัดก็หมดงบแล้ว

VL Mica สามารถยิงเครื่องบิน 4 ลำจาก 4 ทิศทางได้อย่างง่ายดาย ใช้วิธี Log on after lunch สุดแสนทันสมัย สั่งเปลี่ยนทิศทางจรวดได้โดยต้องใช้อุปกรณ์เสริม แต่ไม่เคยบอกชัดๆ ว่ายิงจรวดต่อสู้เรือรบได้ ฉะนั้นแล้วจึงต้องยึดถือว่าทำไม่ได้ นี่คือจรวดรุ่นที่ทันสมัยที่สุด ระยะยิงไกลสุด ได้รับมีความนิยมมากที่สุด และเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของโครงการนี้

 เรือลำต่อไปใช้จรวดจากแอฟริกาใต้ นั่นคือ Umkhonto-IR Block 2 ระยะยิง 15-20 กิโลเมตร ใช้ท่อยิงทรงกลมความลึก 3.8 เมตร โดยมีจำนวน ท่อยิงต่อหนึ่งระบบ นำวิถีอินฟาเรดเหมือน VL Mica ใช้วิธี Log on after lunch เหมือน VL Mica แต่มีความเร็วเพียง มัคน้อยกว่ากัน มัค เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบนำวิถี ยิ่งลูกจรวดวิ่งได้เร็วสุดมากเท่าไหร่ ระบบนำวิถียิ่งมีประสิทธิภาพสูงตามกัน แอฟริกาใต้จำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักพัก ในการพัฒนาระบบนำวิถีให้ดีกว่าเดิม


ในเมื่อ VL Mica ยิงจรวดต่อสู้เรือรบไม่ได้ Umkhonto ซึ่งทันสมัยน้อยกว่าก็คงไม่ได้ แม้ผู้ผลิตจะกำหนดให้เป็น CIWS เอาไว้ก็ตาม ราคาจรวดเมื่อหลายปีก่อนอยู่ที่ 600,000 เหรียญ ปัจจุบันคงขึ้นมาบ้างตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้นเราซื้อจรวดได้ประมาณ 7 นัด กองทัพเรือไทยเป็นลูกค้าบริษัทนี้มายาวนาน การบริการหลังการขายไม่มีปัญหาแน่นอน

เรือลำต่อไปใช้จรวดจากอิสราเอล นั่นคือ Barak 1 ระยะยิง 12 กิโลเมตร ความเร็ว 2.5 มัค ลูกจรวดยาว 2.1 เมตร ท่อยิงแนวดิ่งลึกเพียง 2.5 เมตร ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงของอิสราเอล เพราะจรวดใช้ระบบนำวิถีด้วยเรดาร์ น้ำหนักรวม 8 ท่อพร้อมจรวดเท่ากับ 1.7 ตัน เรือเร็วโจมตีขนาด 300 ตันยังติดได้ถึง 16 ท่อยิง และเหลือพื้นที่ไว้โยนเปตองได้อีกต่างหาก


เรดาร์ควบคุมการยิงอิสราเอลกับระบบอำนวยการรบสวีเดน จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้ทำงานร่วมกัน อิสราเอลไม่มีปัญหาแม้แต่น้อย ไม่ว่าอุปกรณ์รุ่นไหนค่ายไหนพ่อทำได้ทั้งหมด ส่วนระบบต่างๆ ของ SAAB นั้น มิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เราสามารถเข้าถึง Software SAAB ในระดับ Soucecode ได้ นี่คือจุดแข็งที่ใช้ข่ม F-16 Block 52 ในโครงการเครื่องบินขับไล่ และใช้ข่มระบบ Thales ในโครงการปรับปรุงเรือชั้นเรือหลวงนเรศวร ฉะนั้นแล้วงานนี้ไม่ควรมีปัญหาแม้แต่น้อ

Barak 1 สามารถยิงจรวดต่อสู้เรือรบได้ เหตุผลก็คือใช้ระบบนำวิถีเรดาร์ ในภาพเป็นการทดสอบยิงจรวดกาเบรียลของตัวเอง ไม่ทราบเหมือนกันว่าต้องถ่ายทำกันกี่ครั้ง แต่ในเมื่อมีหลักฐานยืนยันแล้วใครจะกล้าเถียง ผู้เขียนมีคลิปการยิงสกัดเครื่องบินซึ่งบินเรี่ยน้ำให้ได้ชม (จรวดรุ่นอื่นหาเจอแต่ภาพจำลองหรือรุ่นใช้งานบนฝั่ง) 



ปี 2013 อินเดียซื้อจรวด Barak 1 นัดละ 465,000 เหรียญ เพื่อติดตั้งบนเรือบรรทุกเครื่องบิน INS Vikramaditya ปี 2018 อินเดียซื้อจรวด Barak-1 อีก 131 นัดในวงเงิน 70.5 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับนัดละ 538,000 เหรียญ เพราะฉะนั้นเราสามารถซื้อจรวดได้ 8 นัด พร้อมกับเรดาร์ควบคุมการยิงตัวที่สอง ถ้าในอนาคตถ้าได้แท่นยิงเพิ่มเป็น 16 ท่อยิง จะเป็นการทำลายทุกสถิติของราชนาวีไทย แต่เชื่อเถอะว่าเดี๋ยวคนไทยก็บ่นอยู่ดี เพราะ Barak 1 มีระยะยิงไม่มากเท่าไหร่

เรือลำถัดไปเปลี่ยนมาใช้จรวดจีนบ้าง เป็นทางเลือกสุดท้ายที่น่าจะใช้เงินน้อยที่สุด นี่คือจรวด RAM จากหลังม่านไม้ไผ่หรือ FL-3000N ยาว 2.8 เมตร ระยะยิงไกลสุด 9 กิโลเมตร ใช้ระบบนำวิถีอินฟาเรดกับคลื่นวิทยุ ใช้ระบบ Lock on after lunch แท่นยิง 8 ท่อยิงติดตั้งบนดาดฟ้าเรือ มีคู่มือใช้งานเป็นภาษาอังกฤษ การันตีเรื่องอะไหล่เป็นเวลาถึง 20 ปี รับประกันซ่อมฟรี 18 เดือน มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี แต่มากกว่าเท่าไหร่เรื่องนี้จีนไม่เคยบอก


ราคาเฉลี่ยต่อนัดไม่ทราบ น่าจะแพงกว่า Barak 1 แต่ไม่เกิน Umkhonto จีนพร้อมขายให้กับไทยคืนนี้เลยก็ยังได้ ประสิทธิภาพน่าจะดีพอสมควร เพราะถูกใช้เป็น CIWS บนเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวเหนียง เราสามารถซื้อจรวดได้ถึง 8 นัด รวมทั้งอาจมีเงินทอนกลับคืนกระเป๋า แต่ได้จรวดที่มีระยะยิงสั้นที่สุด ไม่ทราบเหมือนกันว่าแผนนี้ดีหรือไม่ดี

ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์สมมุติที่หนึ่ง 

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชื่อท่านกบ ได้เล็งเห็นว่าเรือฟริเกต F-108 นั้น ควรมีระบบโซนาร์ทันสมัยมากกว่านี้ ใช้ปราบเรือดำน้ำมันต้องมีลากท้ายด้วย! ลากท้าย! ลากท้าย! ลากท้าย! ถ้ายังไม่ทำเดี๋ยวพ่อทุ่มด้วยโต๊ะกินข้าว กองทัพเรือรีบทำตามด้วยการเปลี่ยนแผน แบ่งเรือออกเป็น 2 เฟสตามความเหมาะสม

เรือเฟสแรกจำนวน 2 ลำติดอาวุธเหมือนเดิม แต่เรือเฟสสองอีก 2 ลำแตกต่างออกไป โดยมีการติดระบบโซนาร์แบบ Towed Array ของ ATLAS ที่ด้านท้ายเรือ ทำงานในโหมด Passive คือการดักฟังเสียงใต้น้ำในย่านความถี่ต่ำ เป็นทางเลือกที่มีราคาไม่แพงเกินไป ค้นหาเป้าหมายได้ดีกว่าเดิม ระยะทางไกลกว่าเดิม และยัดใส่ท้ายเรือขนาดไม่เกิน 3,000 ตันได้


ชมภาพเขียนกันเลยนะครับ ลำบนเป็นเรือหลวงชุมพรติดอาวุธปรกติ ส่วนลำล่างเรือหลวงแม่กลองเรือเฟสสอง มี Towed Array Sonar ห้อยท้ายเรือ มีระบบดาต้าลิงค์ระหว่างเรือกับเฮลิคอปเตอร์ ภารกิจปราบเรือดำน้ำจึงดีขึ้นทันตาเห็น แต่เนื่องมาจากท่านกบไม่ได้ให้งบเพิ่ม จึงไม่มีเงินซื้อจรวด C-802A แต่ตั้งตู้ Mission Module สำหรับกวาดทุ่นระเบิดไว้แทน จรวดต่อสู้อากาศยานก็ยังไม่มีเพราะท่านกบใจร้าย ไว้มีงบประมาณแล้วค่อยจัดหาในภายหลัง


การแบ่งเรือออกเป็นสองเฟสนั้นมีสาเหตุ เพื่อจะได้คุ้มครองกันและกันระหว่างทำภารกิจ การสร้างเรือจำนวนมากก็ดีแบบนี้แหละครับ ปรับเปลี่ยนแผนได้ เดินหน้าถอยหลังได้ ราคาต่อลำถูกกว่าสร้างทีล่ะลำพอสมควร

ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์สมมุติที่สอง 

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชื่อท่านนริส ได้เล็งเห็นว่าเรือฟริเกต F-108 ลำสุดท้ายได้สร้างปัญหา บังเอิญว่าตอนนั้นรัฐบาลโดนกินรอบวง ท่านนริสจึงสั่งตัดงบประมาณ 30 ล้านเหรียญ เรือหลวงประแสร์ซึ่งเป็นเรือลำสุดท้ายและสร้างเสร็จแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนมาติดตั้งอาวุธราคาประหยัด


เริ่มกันจากปืนใหญ่ Oto 76/62 Compact มือสอง จรวด C-802A ติดไว้ 4 ท่อยิงก็จริง แต่เป็นจรวดจริง 2 ท่อกับท่อดัมมี่อีก 2 ท่อ ใช้ปืนกล 20 มม.เป็นปืนรอง ระบบโซนาร์เหมือนเดิม แต่ตอร์ปิโดลดลงมาเหลือ 4 นัด ติดระบบ SIMBAD-RC จำนวน 2 ระบบ (หัวเรือท้ายเรือ) ใช้ยิงจรวดต่อสู้อากาศยานระยะเผาขน Mistral จำนวน 4 นัด จรวดมีความเร็ว 2.5 มัค ระยะยิงหวังผล 3 กิโลเมตร เป็นจรวดประทับบ่านำวิถีอินฟาเรด ต้องเล็งเป้าหมายให้ติดเสียก่อนถึงจะปล่อยจรวดได้

อันที่จริงผู้เขียนไม่ได้ชื่นชอบ SIMBAD-RC สักนิด ใส่จรวดได้เพียง 2 นัดไม่คุ้มกับที่ติดระบบช่วยเล็ง โชคร้ายไม่มีรุ่นอื่นวางขายอีกแล้ว รวมทั้งกองทัพเรือใช้จรวด Mistral อยู่แล้ว เรือหลวงประแสร์ของท่านนริสจึงกลายเป็นลูกคนสวน

ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์สมมุติที่สาม 

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชื่อซูเปอร์บอย ได้เล็งเห็นว่าเรือฟริเกต F-108 ลำสุดท้ายได้สร้างปัญหา เพราะว่าไม่มีระบบ CIWS ที่แท้จริง ปืนกล DS-30MR ก็ใช้ยิงได้แค่เรือขายถ่าน อีกทั้งยังขาดโซนาร์ลากท้ายช่างดูโหวงเหวง จึงได้เพิ่มงบประมาณให้อีก 20 ล้านเหรียญ พร้อมกำชับว่าห้ามบอกภรรยาที่บ้านเด็ดขาด


เรือหลวงประแสร์ถูกแปลงร่างใหม่อีกครั้ง ได้ Milinium Gun CIWS ขนาด 35 มม.เข้ามาหน้าตาเฉย ราคาประมาณ 10 ล้านเหรียญหรือ 317.8 ล้านบาท ส่วน DS-30MR จำนวน 2 กระบอกราคา 150 ล้านบาท เท่ากับเพิ่มเงินประมาณ 167.8 ล้านบาท พร้อมกับติดตั้งโซนาร์ ST2400 Variable Depth Sonar จากนอร์เวย์ท้ายเรือ ทำงานในโหมด Active ความถี่ 22 ถึง 29 kHz ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียใช้งานกับเรือขนาดเล็ก จึงนำมาติดตั้งกับเรือ F-108 ได้อย่างสบาย

ประสิทธิภาพของ ST2400 VDS อาจสู้โซนาร์ตัวใหญ่ราคาแพงไม่ได้ แต่ใช้งานเขตน้ำตื้นไม่เกิน 100 เมตรได้ดีมาก  อ่าวไทยของเราก็ไม่ได้ลึกมากกว่านั้น 'Put the right man on the right job'  มิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้

อ้อเรือยังได้ติดตั้งระบบเตือนภัยการถูกตรวจจับด้วยเลเซอร์ Naval Laser Worning System หรือ NLWS รุ่นใหม่ล่าสุดของ SAAB เพื่อประหยัดงบประมาณจึงใช้เซนเซอร์เพียง 2 ตัว เพียงเท่านี้ 20 ล้านเหรียญก็หมดเกลี้ยงแล้ว

ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์สมมุติที่สี่ 

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชื่อท่านจูดาส ได้เล็งเห็นว่าเรือฟริเกต F-108 ลำสุดท้ายได้สร้างปัญหา เพราะเรือติดอาวุธได้หนองเหน่งหนองแกละที่สุด บังเอิญตอนนั้นรัฐบาลถูกเลขท้ายสามตัว ท่านจูดาสจึงบอกให้ติดจรวดอเมริกาเท่านั้น จรวดอเมริกา! จรวดอเมริกา! จรวดอเมริกาวุ้ย! ว่าแล้วก็โอนงบประมาณให้ 50 ล้านเหรียญ เรือหลวงประแสร์จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนอีกครั้ง คราวนี้ได้อาวุธทันสมัยเทียบเท่ากับเรือแถวแรก


เริ่มจากติดระบบโซนาร์ ST2400 VDS กับ NLWS เปลี่ยนจรวดต่อสู้เรือรบมาเป็น Harpoon Block II เปลี่ยนจรวดต่อสู้อากาศยานมาเป็น ESSM โดยใช้แท่นยิงแนวดิ่ง MK56 จำนวน 4 ท่อ (เหมือนเรือคอร์เวตชั้น Baynunah ของยูเออี) เจาะดาดฟ้าเรือ 3.714 เมตร และสูงจากพื้น 0.9 เมตร ใส่ได้เฉพาะจรวด ESSM จำนวน 8 นัด ติดระบบนำวิถีจรวดให้กับเรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 แต่ยังไม่มี CEROS ตัวที่สองเพราะมันแพง และซื้อจรวด ESSM มาใส่เพียง 6 นัดไปก่อน

ระบบ CIWS ท้ายเรือเปลี่ยนใหม่เช่นกัน คราวนี้หันมาใช้แท่นยิง MK49 Mod 2 ซึ่งใส่จรวดได้ 11 นัด (เหมือนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ของยูเออี) ให้ท่านจูดาสขอซื้อจรวด RAM Block II จำนวน 8 นัดจากอเมริกา ทำให้เรือหลวงประแสร์กลายเป็นเรือ F-108 ที่ดีที่สุด ถ้าได้เปลี่ยนเรดาร์มาเป็น Sea Giraffe 4A ล่ะก็ รับรองว่าเรือเฟี๊ยวเงาะกว่านี้แน่

ยกตัวอย่างกันแค่พอหอมปากหอมคอ มาสำรวจกองเรือผิวน้ำในปี 2025 กันต่อเลย โครงการ Light Frigate สร้างเสร็จ 4 ลำแล้ว เรือฟริเกตชั้น DW-3000F ลำที่สองเข้าประจำการแล้ว เพราะฉะนั้นแล้วจะเป็นตามแผนภาพนี้


เรือแถวแรกประกอบไปด้วย เรือฟริเกตชั้น DW-3000F 2 ลำ กับเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงนเรศวร 2 ลำ

เรือแถวสองประกอบไปด้วย เรือฟริเกตชั้น F-108 จำนวน 4 ลำ

เรือแถวสามประกอบไปด้วย เรือฟริเกตชั้นกระบุรีจำนวน 2 ลำ กับเรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์จำนวน 2 ลำ

เรือแถวสี่ประกอบไปด้วย เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นเรือหลวงเจ้าพระยาจำนวน 2 ลำ กับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์

เรือแถวหนึ่งและเรือแถวสองจำนวน 8 ลำ ใช้ระบบอำนวยการรบ ระบบเรดาร์ ระบบโซนาร์ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเป้าลวง และปืนกลอัตโนมัติเหมือนกันทุกลำ ใช้ปืนใหญ่ 76/62 เหมือนกัน 6 ลำ ใช้จรวดต่อสู้เรือรบ 2 รุ่น ใช้จรวดต่อสู้อากาศยาน 2 รุ่น ใช้ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำเหมือนกันหรือ 2 รุ่น ถ้ากองทัพเรือตัดสินใจทุ่มงบประมาณ ให้เรือแถวสองติดจรวด Harpoon กับ ESSM แล้วล่ะก็ ผู้เขียนจะกู่ก้องให้โลกรู้ว่า Common Fleet !!

หันมามองเรือแถวสามกับเรือแถวสี่บ้าง มีเรือจำนวน 4 ลำที่ทุกอย่างเหมือนกัน (Common Fleet !) เรือชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์อายุค่อนข้างมาก แค่ซ่อมบำรุงให้ดีเหมือนเดิมก็คงเพียงพอ ส่วนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลำสุดท้าย เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดจรวด Harpoon จึงได้พลัดหลงมาอยู่ในภาพโดยไม่ตั้งใจ ฉะนั้นแล้วจึงไม่ต้องอะไรกับเรือลำนี้

เรือฟริเกต F-108 ไม่ได้เป็นเรือที่ดีที่สุด ไม่ได้มีอาวุธทันสมัยที่สุด ไม่ได้มีเรดาร์รุ่นใหม่ล่าสุด ลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ได้ไม่มาก แต่เรือลำนี้ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด กำจัดจุดอ่อนและเติมเต็มช่องว่างที่เคยขาดหาย กองเรือของเราที่ต้องดูแลฝั่งทะเลอันดามัน สมควรได้รับเรือ F-108 ไปประจำการ 2 ลำ บวกเรือหลวงชั้นกระบุรีและชั้นรัตนโกสินทร์อย่างล่ะ 1 ลำ เท่ากับเรามีเรือรบติดอาวุธทันสมัย 4 ลำ ต่อหนึ่งวงรอบประจำการ นี่ยังไม่รวมสุดยอดเรือดำน้ำ AIP จากประเทศจีน

ถ้ารัฐบาลใหม่อยากจัดตั้งโครงการนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเรือตามบทความ ขอให้ได้เรือขนาดใหญ่กว่า 2,000 ตัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซลล้วน มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ มีจุดติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งหรือ VLS และมีจุดติดตั้งระบบ CIWS เผื่อเอาไว้ ลำเล็กกว่านี้หรือมีออปชันไม่ครบมองข้ามไปเลย ถ้าหากกองทัพเรือไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร ลองทาบทามอู่ต่อเรือฮุนไดดูก่อนก็ได้ แบบเรือฟริเกตที่ขายให้ฟิลิปปินส์น่าสนใจมากที่สุดแล้ว แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ ;)


หมายเหตุ

                ผู้เขียนชอบเขียนบทความเหนือจินตนาการ กำหนดไว้ปีละหนึ่งบทความไม่มากไม่น้อย ที่ผ่านมาได้เคยเขียนถึง 3 ปีติดกัน ใครอยากอ่านเพื่อการบันเทิงและพักสมอง แวะเข้าไปเยี่ยมชมกันได้นะครับ บทความดังกล่าวประกอบไปด้วย

                PGM-997 Program



อ้างอิงจาก







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น