วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

Evolution of Falcon


ปฐมบทเหยี่ยวเวหา

เมื่อ Harry Hillaker วิศวกรบริษัท General Dynamics ได้พบกับ John Boyd เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในปี 1962 นั้น พวกเขาพูดคุยกันถึงเครื่องบินขับไล่โจมตีระยะกลาง F-111 Aardvark  ซึ่งกำลังพัฒนาโดย General Dynamics อยู่นั้นว่า มีรูปร่างใหญ่เทอะทะมากเกินไป ค่อนข้างยุ่งยากในการใช้งานและซ่อมบำรุง และมีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินสูงมาก อเมริกาควรพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ ขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวสูง เหมือนกับเครื่องบิน Mig-21 ของโซเวียตที่สามารถต่อกรกับ F-4 Phantom II ได้เป็นอย่างดี

หลังการพูดคุย Harry Hillaker นำข้อมูลมาพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ กระทั่งมีการสร้างโมเดลจำลองขึ้นในเวลาต่อมา โดยมี 2 เครื่องยนต์ ใช้เทคโนโลยีจำนวนมากจากเครื่องบิน F-111 ไม่ว่าจะเป็นปีกแบบพับได้ ช่องรับอากาศ แพนหางดิ่ง แพนหางระดับ แต่มีขนาดเล็กกว่ากันประมาณครึ่งต่อครึ่งก่อนที่ ติดจรวดอากาศ-สู่-อากาศรุ่นใหม่ใต้ท้องเครื่อง สามารถท้ารบตั้งแต่ Mig-21 ไปจนถึง Mig-25 ที่ยังเป็นเพียงข่าวลือ ก่อนที่ต้นแบบจะถูกจัดเก็บไว้ใช้งานในอนาคต


ถ้าใครบางคนออกมาคุยโม้ว่า เครื่องบินลำนี้มียอดการผลิตถึง 4,574 ลำ (ในปี 2017) เขาคงถูกครหาว่าเมากัญชาแต่หัววัน และถ้าใครบางคนออกมาบอกว่า เครื่องบินลำนี้ประจำการมาแล้วถึง 45 ปี เครื่องบินลำนี้ไต้หวันขอซื้อ 66 ลำด้วยวงเงิน 13 พันล้านเหรียญ (ในปี 2019) และเครื่องบินลำนี้เองถูกแปลงร่างโดยใช้ชื่อใหม่ พร้อมกับย้ายโรงงานผลิตไปอยู่ที่อินเดีย เขาคงโดนจับขังลืมอยู่ที่กวนตาดาโม ทั้งที่เขาคนนี้พูดความจริงทุกประการ เพราะเครื่องบินลำนี้ก็คือเหยี่ยวเวหาจอมอหังการ

วันเวลาผันผ่านเข้าสู่ปี 1965 กองทัพอากาศอเมริกากำลังประสบปัญหาใหญ่ เมื่ออัตราสูญเสียเครื่องบินจากการรบกลางเวหาเพิ่มสูงขึ้น จาก F-86 1 ลำต่อ Mig-15 11 ลำในสงครามเกาหลี กลายเป็น F-4 1 ลำต่อ Mig-21 1.6 ลำในสงครามเวียดนาม เครื่องบินขับไล่สกัดกั้นสมรรถนะสูงล้าสมัยไปแล้ว เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด F-105 มีผลงานล้มเหลวเกินรับได้ พวกเขาจึงได้ผุดโครงการสำคัญขึ้นมา 2 โครงการ มีชื่อเล่นเรียกกันเองว่า Hi-Lo Fighter Program ประกอบไปด้วย

Fighter Experimental หรือ F-X โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นความเร็วสูง เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-102 Delta Dagger กับ F-106 Delta Dart โดยในช่วงแรกยังใช้ชื่อโครงการว่า Advance Tactical Fighter

Advanced Day Fighter หรือ ADF โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ขนาดเล็ก กำหนดให้มีน้ำหนักไม่เกิน 25,000 ปอนด์ เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-4 Phantom II กับ F-105 Thunderchief รวมทั้งเครื่องบินรบยิบย่อยทั้งหมด

บริษัท General Dynamics เข้าร่วมทั้ง 2 โครงการ นำเครื่องบินต้นแบบของ Harry Hillaker มาพัฒนาให้เหมาะสมกว่าเดิม ภาพซ้ายมือคือเครื่องบินในโครงการ ADF รูปร่างโดยรวมคล้ายคลึงกับต้นแบบ แต่เปลี่ยนมาใช้ปีกตรึงขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนภาพขวามือคือเครื่องบินในโครงการ F-X โดยเป็นรุ่นเครื่องยนต์เดี่ยวสร้างขึ้นมาเป็น Case Study ติดจรวดอากาศ-สู่-อากาศที่โคนปีกจำนวน 4 นัด ขนาดใหญ่กว่าโครงการ ADF ไม่มากเท่าไหร่ และใช้แพนหางดิ่งแบบคู่เป็นลำแรกของบริษัท


ต่อมาในปี 1967 โซเวียตเผยโฉมเครื่องบินขับไล่ MiG-25 Foxbat ซึ่งบินได้เร็วถึง 2.83 มัคและบินได้สูงถึง 90,000 ฟิต ทำให้อเมริกาทนนิ่งเฉยต่อไปไม่ไหว ทั้งเม็ดเงินและความสำคัญถูกเทให้กับโครงการ F-X (ส่วนโครงการ ADF ต้องหยุดพักชั่วคราว) โดยที่เครื่องบินต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม ติดอาวุธได้มากกว่าเดิม ติดเรดาร์ทันสมัยว่าเดิม บินได้เร็วสุดอย่างน้อย 2.5 มัค และสามารถต่อกรกับ MiG-25 ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ บริษัทผลิตเครื่องบิน 13 รายได้รับเชื้อเชิญให้ร่วมโครงการ


General Dynamics เป็น 1 ใน 2 บริษัทที่ถูกคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบ (มีอีก 2 บริษัทแต่ต้องออกเงินพัฒนาเอง) วิศวกรได้แปลงร่างเครื่องบินให้ใหญ่กว่าเดิม จนมีหน้าตาใกล้เคียงเครื่องบินจารกรรม SR-71 โดยเฉพาะการจัดวางเครื่องยนต์แยกจากกัน เพื่อให้บินได้เร็วกว่าและสูงกว่าฝ่ายตรงข้าม ทว่าเต็งหนึ่งจาก McDonnell-Douglas ได้รับการคัดเลือกในปี 1969 ก่อนกลายมาเป็นเครื่องบินขับไล่ครองอากาศ F-15 Eagle ที่ทุกคนรู้จักกันอย่างแพร่หลาย

เมื่อโครงการ F-X เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว กองทัพอากาศหันกลับมามองโครงการ ADF อีกครั้ง โดยได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า Lightweight Fighter หรือ LWF กำหนดความต้องการใกล้เคียงกับของเดิม แต่ลดขนาดลงมาให้เหลือน้ำหนักไม่เกิน 20,000 ปอนด์ (เพื่อให้ราคาถูกลง) การชิงชัยเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 1969 บริษัทผลิตเครื่องบิน 5 รายหวังได้รับคำสั่งซื้อจำนวนหลายร้อยลำ งานนี้ General Dynamics ระดมมือดีมาเกือบหมดทั้งบริษัท


การออกแบบเครื่องบินค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งเครื่องยนต์เดี่ยว (PW100 ของ Pratt & Whitney) สองเครื่องยนต์ (YJ101 ของ General Electric) แพนห่างดิ่งแบบเดี่ยว แพนหางดิ่งแบบคู่ และมีช่องรับอากาศถึง 6 แบบ วิศวกรต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียให้ละเอียด โจทย์สำคัญต้องเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ทันสมัย ราคาไม่แพง การผลิตไม่ยุ่งยาก ทนแรง G ได้ถึง 9 G (เมื่อใช้น้ำมันในเครื่อง) และใช้งานได้ถึง 8,000 ชั่วโมงบิน ก่อนที่ Model 401F จะออกมาอวดโฉมชาวโลกในปี 1970


เครื่องต้นแบบมีขนาดเล็กกว่าโครงการ ADF ใช้เครื่องยนต์เดี่ยวแต่ติดแพนหางดิ่งแบบคู่ (คล้ายคลึงกับ F-35 ไม่มากก็น้อย) ช่องรับอากาศรูปทรงรีย้ายมาอยู่ด้านล่าง ปีกเรียวยาวค่อนมาทางท้ายชนกับแพนหางดิ่ง แม้จะมีความโดดเด่นแต่ยังคงพบเจอปัญหา จึงถูกพัฒนาต่อจนกลายเป็น Model 401F-16 ภาพขวามือ ขยับปีกขึ้นมาข้างหน้ามากกว่าเดิม เปลี่ยนใช้แพนหางดิ่งแบบเดี่ยวขนาดใหญ่ เพื่อให้เครื่องบินราคาถูกลงและสร้างง่ายขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่อง Vortex Lift ได้เป็นอย่างดี

                คู่แข่งขันสำคัญก็คือบริษัท Northrop ผู้เชี่ยวชาญเครื่องบินขับไล่ขนาดเล็กน้ำหนักเบา ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีก็คือ F-5 E/F Tiger II ที่ปัจจุบันยังคงประจำการและเพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ นี่คือศึกใหญ่ที่ทั้งคู่ไม่อาจพ่ายแพ้ได้อีก โครงการ YFX ของกองทัพเรือบริษัท Grumman คว้าไปแล้ว (F-14 Tomcat) ส่วนโครงการ F-X ก็เสร็จ McDonnell-Douglas เป็นที่เรียบร้อย (F-15 Eagle) ถ้าพลาดโครงการนี้ไปบริษัทจะพบกับความยากลำบาก


Northrop นำเครื่องต้นแบบ P-530 ส่งเข้าประกวด มีปีกเรียวยาวค่อนไปทางท้ายเหมือน Model 401F แต่ปีกบางกว่าและยาวกว่าอย่างชัดเจน ใช้แพนหางดิ่งแบบคู่รูปตัวเอกซ์ ติดตั้งเครื่องยนต์คู่รุ่น GE 15/J1A5 (เครื่องยนต์ F101 รุ่นลดขนาด) ช่องรับอากาศลอกการบ้านมาจาก F-104 Starfighter เครื่องต้นแบบถูกพัฒนามาเป็นรุ่น P-600 มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งาน เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ GE YJ101 แทนของเดิม ให้กำลังมากกว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า

วันที่ 13 เมษายน 1972 General Dynamics Model 401F-16 กับ Northrop P-600 ถูกคัดเลือกจากกองทัพอากาศอเมริกา ให้สร้างเครื่องบินต้นแบบของจริงเป็นจำนวน 2 ลำ กำหนดให้ชื่อ YF-16 กับ YF-17 เรียงตามลำดับคะแนน ส่งผลให้ Vought V-1100 กับ Lockheed X-27 Lancer รวมทั้ง Boeing Model 908 ไม่ได้ไปต่อ เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้เขียนขอลงภาพต้นแบบทั้งสามลำ ผู้อ่านสนใจลำไหนติดต่อบริษัทผู้ผลิตได้ทันที


ภาพต่อไปคือ YF-16 ลำที่สองกับ YF-17 ลำที่หนึ่ง จะเห็นได้ว่ามีขนาดใกล้เคียงกันมาก เพราะใช้สองเครื่องยนต์ YF-17 จึงมีน้ำหนักเปล่าถึง 21,000 ปอนด์ (เกินข้อกำหนดเล็กน้อย) แพนหางดิ่งมีความเอียงน้อยกว่าต้นแบบ ช่องรับอากาศเปลี่ยนใหม่คล้ายคลึงกับ F-4 สังเกตได้ว่าใช้ล้อหน้าแบบเดี่ยวทั้งสองลำ เพราะเป็นเครื่องบินกองทัพอากาศนั่นเอง


ตอนที่เป็นเครื่องบินกระดาษอยู่นั้น YF-17 Cobra มีความโดดเด่นเรื่องประสิทธิภาพ ส่วน YF-16 มีความโดดเด่นเรื่องความคล่องตัว ครั้นพอเป็นเครื่องบินจริง YF-16 ทำได้ตามที่โม้ทุกประการ ส่วน YF-17 ไม่สามารถดึงจุดเด่นออกมาได้ ราคาก็แพงกว่าเนื่องจากใช้สองเครื่องยนต์ หลังการทดสอบ 600 ชั่วโมงบินผ่านพ้นไปแล้ว บริษัท General Dynamics จึงได้รับสัญญาสร้างเครื่องบิน 650 ลำ มูลค่าถึง 4.35 พันล้านเหรียญไปครอบครองสมใจหมาย

ภาพถ่ายเครื่องบิน YF-16 ต้นแบบลำที่หนึ่ง กับ F-4 Phantom II ผู้กำลังจะกลายเป็นอดีต รายงานในปี 1976 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เครื่องบิน F-4 หนึ่งฝูงหรือ 24 ลำมีค่าใช้จ่ายทั้งปีเท่ากับ 21.4 ล้านเหรียญ ส่วน F-16 หนึ่งฝูงมีค่าใช้จ่ายทั้งปีเพียง 14.6 ล้านเหรียญ ลดลงมาถึง 6.8 ล้านเหรียญนับว่าเป็นตัวเลขที่สวยหรู ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยียุคใหม่ อีกส่วนเป็นเพราะขนาดเครื่องบินเล็กลง ผลกระทบจาก Mig-25 ทำให้ได้ F-16 ที่ประหยัดแต่แข็งแกร่ง


อันที่จริงการนำ F-16 มาประจำการแทน F-4 ในช่วงนั้น ยังไม่สามารถทดแทนได้หมดทุกภารกิจ เพราะใช้งานอาวุธและอุปกรณ์บางอย่างไม่ได้ จรวดอากาศ-สู่-อากาศ AIM-7 Sparrow ก็ติดไม่ได้ (รุ่นปัจจุบันติด AIM-120 AMRAAM ได้ถึง 6 นัด) แต่เพราะอเมริกามี F-15 Eagle เครื่องบินขับไล่ครองอากาศตัวจริงอยู่ด้วย การใช้งาน F-16 จึงมีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม และเมื่อได้รับการพัฒนามากขึ้นตามลำดับแล้ว F-16 รุ่นใหม่ๆ ก็เลยสามารถเป็นทุกอย่างที่คุณต้องการ


ภาพซ้ายมือคือผลงานการรบกลางอากาศของ F-4 ในสงครามเวียดนาม เทียบกับ F-86 ในสงครามเกาหลีช่างแตกต่างราวฟ้ากับเหว ส่วนภาพขวามือคือค่าใช้จ่ายทั้งปีของ F-4 เทียบกับ F-16 ปีแรกสุดที่เข้าประจำการ เมื่อพิจารณาถึงผลงานการรบของ F-16 ด้วยแล้ว ถือว่าโครงการ Lightweight Fighter ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย

บทความที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน F-16 นั้น ผู้เขียนได้เขียนถึงไปแล้ว 2 ตอนด้วยกัน โดยยังไม่รู้ว่าจะมาจบเอาที่ตอนไหน บทความก่อนหน้าประกอบไปด้วยดังนี้ (ไม่ประติดประต่อสักเท่าไหร่หรอกนะครับ)


ตั้งแต่แรกเริ่มเข้าประจำการจนถึงปัจจุบัน เครื่องบิน F-16 Fighting Falcon ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง มีการผลิตเครื่องบินรุ่นต่างๆ ออกมาจำนวนมาก สามารถแบ่งออกเป็นรุ่นที่สร้างจริงได้ตามนี้

F-16 A/B Block 1/5/10/15/10OCU/20
F-16 C/D Block 25
F-16 C/D Block 30/32
F-16 C/D Block 40/42
F-16 C/D Block 50/52
F-16 E/F Block 60
F-16 MLU
F-16 V Block 70 (ส่วน F-21 ยังไม่ได้สร้างจริงจึงไม่นับรวม)

                จนถึงทุกวันนี้ F-16 ยังคงขายได้ทั่วโลก เพียงแต่ปริมาณลดน้อยลงตามยุคสมัย มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยมักเข้าใจว่า ถ้าคุณซื้อ F-16 คุณจะได้เพียงเครื่องบินเปล่าๆ และคุณต้องซื้อด้วยเงินสดตัวเองเท่านั้น ไม่มีการค้าต่างตอบแทนหรือ Counter Trade ไม่มีวิธีซื้อโดยการหักทอนบัญชีหรือออฟเซท (Offset) ซึ่งเป็นที่นิยมมากตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ปี 2000 นี่คือความเชื่อที่ผิดโดยสิ้นเชิง ถ้าโครงการมีมูลค่าและความสำคัญค่อนข้างสูงแล้ว อเมริกาก็พร้อมที่จะเทหน้าตักเฉกเช่นชาติอื่น

                ปี 1999 กองทัพอากาศโปแลนด์ผุดโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์จำนวน 48 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่ล้าสมัยจากยุคสงครามเย็น โครงการนี้มีผู้เข้าแข่งขันสำคัญ 3 ราย Lockheed Martin เสนอเครื่องบิน F-16 C/D Block 52 ส่วน Saab/BAE เสนอเครื่องบิน JAS-39 C/D Gripen และ Dassault เสนอเครื่องบิน Mirage 2000-5 MkII มีข้อเสนอ Offset จากทุกบริษัทให้กับทางรัฐบาล จัดเรียงข้อมูลเป็นกราฟสวยงามได้ดังนี้


                อเมริกาเสนอ Offset เป็นอันดับหนึ่ง ถ้ารวมเงินกู้ระยะยาวด้วยแล้วจะมีตัวเลขสูงทะลุโลก อันดับสองตกเป็นของสวีเดน และฝรั่งเศสหล่นไปอยู่รั้งท้ายขบวน ถ้านับเฉพาะตัวเลขจริงไม่อิงนิยายแล้ว ข้อเสนอจาก Dassault อยู่ที่ 3.5 พันล้านเหรียญ ข้อเสนอ Saab/BAE อยู่ที่ 7.48 พันล้านเหรียญ (รวมราคาเครื่องบิน 3.15 พันล้านเหรียญ) และข้อเสนอ Lockheed Martin อยู่ที่ 9.83 พันล้านเหรียญ (รวมราคาเครื่องบิน 3.58 พันล้านเหรียญ) หักตรงโน้นตรงนี้เหลือตัวเลขสุทธิ 6.028 พันล้านเหรียญ หรือเท่ากับ 170 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการ รายละเอียดตามภาพล่างเชิญส่องกันได้เลย


                วันที่ 18 เมษายน 2003 รัฐบาลโปแลนด์เซ็นสัญญาซื้อเครื่องบิน F-16 C/D Block 52 จำนวน 48 ลำ เครื่องบิน 5 ลำแรกส่งมอบในเดือนตุลาคม 2006 สัญญาฉบับนี้ถูกเรียกว่า ‘Contract of the Century’ ตัวเลขเพิ่มจาก 3.58 พันล้านเหรียญเป็น 4.7 พันล้านเหรียญก็จริง ทว่าโปแลนด์จะเริ่มจ่ายเงินก้อนแรกในปี 2010 แล้วผ่อนไปเรื่อยๆ จนครบจำนวนตามสัญญา

มีประเด็นน่าสนใจอยู่ว่าทำไมโปแลนด์ต้องกู้เงินซื้อเครื่องบิน? ใช้งบประมาณตัวเองไม่ดีกว่าเหรอ? เพราะโปแลนด์ไม่ได้ยากจนหรือมีปัญหาการคลัง ทั้งรัฐบาลและประชาชนก็เปิดไฟเขียว ไม่อย่างนั้นคงไม่อาจหาญซื้อเครื่องบินถึง 48 ลำ อันที่จริงการซื้ออาวุธด้วยเงินกู้มีมานานมากแล้ว เพียงแต่ช่วงหลังค่อนข้างนิยมเพราะมีเหตุอันควร

ย้อนเวลากลับไปเพียงเล็กน้อย ปี 1996 ประเทศไทยสั่งซื้อเครื่องบิน F/A-18C/D Hornet จำนวน 8 ลำ โดยที่อเมริกาต้องขายจรวด AMRAAM ให้เราด้วย ปีถัดมาได้เกิดวิกฤตการเงินขนาดใหญ่ ทำให้เราไม่มีเงินจ่ายค่างวดที่สอง จึงบอกกับเขาไปว่าขอยกเลิกสัญญา เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน สภาคองเกรสผู้อนุมัติขาย เพนตากอนผู้ช่วยผลักดันเรื่องขายจรวด รวมทั้งนาวิกโยธินผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต่างพากันเดือดร้อนเพราะประเทศไทยไม่มีเงิน

รัฐบาลอเมริกาต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ปัญหาจึงผ่านพ้นไปได้อย่างทุลักทุเล กรณีนี้ถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘Thailand Model’ ประเทศผู้ขายอาวุธนำไปคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ก่อนได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันว่า กับประเทศที่มีความเสี่ยงหรือสมัครใจเอง นอกจากขายอาวุธแล้วยังต้องหาเงินกู้ให้ด้วย บริษัทผู้ผลิตจะได้เงินครบจำนวน รัฐบาลไม่ต้องเผชิญปัญหาวุ่นวาย ส่วนคนซื้อก็ได้อาวุธตามความต้องการ เรียกได้ว่า วิน-วิน-วิน ด้วยกันทั้งสามฝ่าย

แม้ต้องจ่ายเงินแพงกว่าใช้งบประมาณตัวเอง แต่ถ้ามีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นในอนาคต ทุกฝ่ายจะมีวิธีแก้ไขที่ชัดเจนและเบ็ดเสร็จ อาจต้องรีไฟแนนซ์ทำสัญญากู้เงินใหม่ เสียค่าดอกเบี้ยแพงกว่ากู้เงินจาก IMF ก็จริงอยู่ แต่คุณจะไม่โดนแทรกแซงนโยบายการเงิน ไม่ต้องเอาหนี้ดีหนี้เสียมารวมกันเพื่อเทขาย ประเทศมีความเสียหายน้อยกว่ากันมหาศาล

ฉะนั้นแล้วถ้าใครบอกว่าอเมริกาไม่มี Offset ผู้เขียนแนะนำให้ยกตัวอย่างเครื่องบิน F-16 โปแลนด์ และถ้าประเทศเพื่อนบ้านซื้ออาวุธด้วยเงินผ่อน ผู้เขียนแนะนำให้ยิ้มอ่อนก่อนกล่าวคำยินดี อันว่าอาวุธทุกชนิดไม่ว่าจัดซื้อด้วยวิธีไหน ยิงโดนใครรับรองตายหมดไม่มียกเว้น อย่าไปกระแนะกระแหนพวกเขาเลยครับ ทางนั้นสวนกลับเรื่อง F-18 จะหาว่าหล่อไม่เตือน

บทความเรื่อง Evolution of Falcon เดินทางมาถึงตอนจบอีกแล้ว ยังไม่ได้เขียนถึงเรื่องที่เคยติดค้างไว้เลย จำเป็นต้องขอยกยอดไปตอนถัดไป โดยจะเป็นเรื่องราวของ F-16 ในแง่มุมอื่นบ้าง ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)

------------------------------------

อ้างอิงจาก
เอกสารรายงาน : Why did Poland Choose the F-16? By: Barre R. Seguin
เอกสารรายงาน : Analysis and Forecasting of Operating and Support costs for F-16 C/D By: Aurel Cobianu and Konrad Madej
เอกสารรายงาน : Evolution of the F-16 A Secret Projects Forum Study By: Paul Martell-Mead
เอกสารรายงาน : Desgin Concept and Rationale for YF-16 By: Harry J.Hillaker




               






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น