วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

New line of Falcon


เหยี่ยวเวหาจอมอหังการ
วันที่ 20 มกราคม 1974 เครื่องบินต้นแบบ YF-16 หมายเลข 72-1567 ได้ทดสอบวิ่งด้วยความเร็วสูงบนแท็กซี่เวย์ ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1974 มีการทดสอบบินจริงด้วยความเร็ว 400 น็อต ระดับความสูง 30,000 ฟิต เป็นเวลา 90 นาที หลังจากนั้นอีกประมาณ 4 ปีครึ่ง เครื่องบินขับไล่น้ำหนักเบา F-16 Fighting Falcon จำนวน 8 ลำแรกสุด (ที่นั่งเดี่ยว 6 ลำ สองที่นั่ง 2 ลำ) ได้ถูกส่งมอบให้กับกองทัพอากาศอเมริกา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเหยี่ยวเวหาหน้าตาหล่อเหลาตัวนี้

เครื่องบินขับไล่ซึ่งมีอายุ 44 ปีกับอีก 11 เดือน สะสมยอดการผลิตนับถึงปี 2017 เท่ากับจำนวน 4,574 ลำ อายุมากแล้วก็จริงแต่ยังมีสินค้าใหม่พร้อมขาย บริษัท Lockheed Martin ใช้ชื่อเครื่องบินรุ่นว่า F-16 Block 70/72 ต่อจากนี้ผู้เขียนจะเรียกสั้นๆ ว่า F-16V นะครับ ตัว V ย่อมาจากคำว่า Viper เป็นชื่อเล่นเครื่องบินเพราะมีส่วนหัวคล้ายคลึงงูเห่า
จุดเด่นของเครื่องบินลำนี้อยู่ที่เรดาร์ APG-83 SABR ซึ่งมีขนาดกะทัดรัด ใช้เทคโนโลยี AESA (Active Electronically Scanned Array) ผู้เขียนเคยเขียนถึงไปแล้วเมื่อนานมาแล้ว อ่านทบทวนภาคหนึ่งกันก่อนนิดก็ดีนะเออ
F-16V ทดสอบบินครั้งแรกวันที่ 21 ตุลาคม 2015 พร้อมขายแบบจริงจังประมาณต้นปีที่แล้ว ต้องรอให้เรดาร์พัฒนาเสร็จสมบรูณ์ และแก้ปัญหาน้อยใหญ่ที่ตรวจพบระหว่างทดสอบ เครื่องบินรุ่นก่อนหน้านี้มีอุปสรรคเล็กน้อย F-16 E/F Block 60 Desert Falcon ซึ่งว่ากันว่าเป็น F-16 ที่ดีที่สุดในโลก จัดเป็นรุ่นพิเศษมีอะไรหลายอย่างไม่เหมือนพี่น้อง Desert Falcon จึงอยู่สูงลิบจนเกินมือเอื้อม ไม่อาจไขว่คว้ามาครอบครองแม้มีเงินถุงเงินถัง แลดูคล้ายคลึงเจ้าชายซากิแห่งประเทศอัสแลนด์
แต่ F-16V แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นการกลับมาของคนเดินดินกินข้าวแกง ราคาเครื่องบินไม่แพงเกินไป ค่าใช้จ่ายในการบินไม่แพง ค่าซ่อมบำรุงดูแลไม่แพง ติดระบบเอวิโอนิกส์รุ่นใหม่เอี่ยม ใส่อุปกรณ์บางอย่างจากเครื่องบินยุคที่ 5 ติดอาวุธทันสมัยของอเมริกาได้เกือบหมด พร้อมขายกับพันธมิตรทุกประเทศ และยังสามารถนำเครื่องบิน F-16 รุ่นเก่า มาให้คุณหมอทุบโหนก เกาคาง เสริมดั้ง ตัดปีกจมูก จนกลายมาเป็น F-16V แบบเต็มตัว ลูกครึ่ง หรือลูกเสี้ยวตามความประสงค์ลูกค้า

วางขายได้เพียงไม่นานก็มีเหยื่อ วันที่ 25 มิถุนายน 2018 ประเทศบาห์เรนสั่งซื้อเครื่องบิน F-16V จำนวน 16 ลำ วงเงิน 1.124 พันล้านเหรียญ เป็นการแยกซื้อเฉพาะเครื่องบินไม่รวมอุปกรณ์อื่น จับมาหารกันง่ายๆ ได้เท่ากับ 70.25 ล้านเหรียญต่อลำ แหล่งข่าวอื่นแจ้งว่าประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญ ต่างกันเล็กน้อยคือ 75 ล้านเหรียญต่อลำ บาห์เรนยังต้องการปรับปรุง F-16 C/D Block 40 จำนวน 20 ลำให้เป็น F-16V ค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ น่าจะมารวมกับโครงนี้
วันที่ 12 ธันวาคม 2018 ประเทศสโลวัก สั่งซื้อเครื่องบิน F-16V จำนวน 14 ลำ วงเงิน 1.8 พันล้านเหรียญ ลดลงมาจากก่อนหน้านี้ที่มากถึง 2.91 พันล้านเหรียญ ในวงเงินจะมีการอบรมนักบิน และจัดหาจรวด AIM-120C7 AMRAAM กับ AIM-9X Sidewinder จำนวนหนึ่งด้วย สโลวักนำ F-16V มาทดแทนเครื่องบิน MiG-29 Fulcrum ในภารกิจสกัดกั้นทางอากาศเป็นงานหลัก คู่แข่งสำคัญก็คือ JAS-39 C/D Gripen ผลการตัดสินอย่างที่รู้กันแหละครับ
วันที่ 21 ธันวาคม 2018 ประเทศบัลแกเรีย สั่งซื้อเครื่องบิน F-16V จำนวน 8 ลำ วงเงิน 1.05 พันล้านเหรียญ ไม่ทราบรายละเอียดโครงการว่ามีอะไรบ้าง นำมาใช้งานแทนเครื่องบิน MiG-29 Fulcrum พวกเขายังต้องการเฟสสองอีกจำนวน 8 ลำ คู่แข่งสำคัญก็คือ JAS-39 C/D Gripen เจ้าประจำ โดยครั้งนี้สวีเดนใช้แผนอัดฉีดเฮือกสุดท้าย ด้วยการเสนอเครื่องบินถึง 10 ลำในราคาเดิม โชคร้ายที่บัลแกเรียยังไม่คิดเปลี่ยนใจ ทำให้ปีนี้ F-16V มียอดขายเครื่องบินใหม่เท่ากับ 38 ลำ
จะเห็นได้ว่า 2 โครงการหลังซึ่งเกิดขึ้นในทวีปยุโรป เป็นการห้ำหั่นกันระหว่างเครื่องบินอเมริการุ่นใหม่ กับเครื่องบินสวีเดนรุ่นเก่าไม่ได้ผลิตหลายปีแล้ว สาเหตุเป็นเพราะอะไรคงต้องถามสวีเดน มีอะไรในใจที่ผมควรรู้หรือเปล่า รวมทั้งฝากถามไปยังโบอิ้งด้วยว่า คุณพี่ส่ง F/A-18 มาเป็นไม้ประดับอย่างนั้นหรอกหรือ เงียบสนิทศิษย์หลวงพ่อห้อยจริงๆ เลย
บังเอิญผู้เขียนมีข้อมูลของประเทศสโลวัก ซึ่งอันที่จริงรู้ผลตั้งหลายเดือนแล้ว แต่การเจรจาเพิ่งมาสะเด็ดน้ำเอาตอนสิ้นปี เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง JAS-39 C/D Gripen (ต่อไปนี้จะเรียกสั้นๆ ว่ากริเพนนะครับ) กับ F-16V ผู้เป็นพระเอกของบทความนี้ ข้อมูลได้มาจากเว็บไซด์ทั่วไปนี่แหละครับ มีรายละเอียดพร้อมเหตุผลพอประมาณ ตรวจสอบดูแล้วไม่ได้เอนเอียงฝ่ายไหนมากเกินไป อ่านกันแค่พอหอมปากหอมคอแล้วกัน อย่าไปอะไรมากถือว่าเป็นอีกหนึ่งมุมมอง
โครงการนี้วัดผลกันที่ประสิทธิภาพเครื่องบิน อย่างที่ผู้อ่านทราบกันมานานมากแล้ว ว่าเครื่องบิน F-16 มีขนาดใหญ่กว่ากริเพน บินได้ไกลกว่า เครื่องยนต์อัตราเร่งดีกว่า บรรทุกอาวุธได้มากกว่า เทียบกันตัวต่อตัวกริเพนเสียเปรียบเล็กน้อย สโลวักมีโจทย์สำคัญคือภารกิจอากาศ-สู่-อากาศ ส่วน อากาศ-สู่-พื้น กับอากาศ-สู่-ทะเล เป็นเรื่องสำคัญรองลงไป


ผลการให้คะแนนตามภาพเลยครับ F-16V มีความเร็วสูงกว่า บินได้ไกลทั้งแบบติดถังน้ำมันสำรองและไม่ติด ตัวเลขพวกนี้ไม่แตกต่างสักเท่าไหร่ ปัญหาก็คือการบินไปทำภารกิจที่ระยะ 400 ไมล์ทะเล พร้อมจรวดต่อสู้อากาศยานจำนวนหนึ่ง F-16V อยู่ในพื้นที่ได้นานถึง 113 นาที ส่วนกริเพนอยู่ได้เพียง 12 นาทีก็ต้องกลับฐาน สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากปริมาณน้ำมัน เพราะ F-16V มีถังน้ำมันแนบลำตัวหรือ Conformal Tank ก็เลยบินได้นานกว่าตามปริมาณไปด้วย เรื่องนี้จะบอกว่าโคตรโกงก็คงไม่ถูก เป็นข้อเท็จจริงที่มีตัวเลขอันน่าเจ็บปวด สโลวักให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็ต้องตามนี้

ดูคะแนนส่วนอื่นกันต่อเลย F-16V ใช้เครื่องยนต์ปรับปรุงมาจาก F-16 Block 50 ประสิทธิภาพสูงกว่ากันตามนั้นเลย F-16V ติดจรวด AIM-9X Sidewinder ได้พร้อมกัน 6 นัด กริเพนติด ติดจรวด AIM-9M Sidewinder (รุ่นเก่ากว่า) ได้พร้อมกัน 6 นัด F-16V ติดจรวด AIM-120C7 AMRAAM ได้พร้อมกัน 6 นัด กริเพนติด ติดจรวด AI AIM-120C5 AMRAAM (รุ่นเก่ากว่า) ได้พร้อมกัน 4 นัด F-16V ติดระเบิดฉลาดได้ 4 รุ่น ส่วนกริเพนไม่ได้แจ้งข้อมูลมาในข้อเสนอ (อ้าวเฮ้ย!)
คะแนนส่วนนี้เปรียบได้กับหมัดซ้ายทะลวงไส้ กริเพนติดจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่เหมือน F-16V ไม่ได้ จำนวนที่ติดก็น้อยกว่ากันเล็กน้อย ผู้อ่านอาจมีคำถามว่าทำไมไม่เอา IRIS-T กับ Meteor มาใช้ล่ะตัวเอง ผู้เขียนจึงขอถามกลับไปว่าทำไมสวีเดนไม่ใส่มาในข้อเสนอล่ะตัวเธอ แต่ถึงใส่เข้ามาจริงๆ สโลวักก็คงไม่เอาตาม อยากใช้อาวุธทั่วไปของสมาชิกนาโต้มากกว่า ทั้งนักบินและเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินคุ้นเคยกันดี หยิบยืมจรวดของเพื่อนบ้านใช้งานได้เลย อันที่จริง IRIS-T กับ Meteor ก็มีใช้งานในกลุ่มสมาชิกนาโต้ แต่ความนิยมต่างกันสโลวักคงไม่อยากหาเรื่อง

คะแนนต่อไปเป็นของระบบเรดาร์ AN/APG-83 ของ F-16V กิน PS-05/A ของกริเพนแบบเชือดนิ่ม ผู้เขียนไม่ได้สนใจระยะตรวจจับเป้าหมายขนาดใหญ่ ตัวเลข 296 กิโลเมตรเท่ากับเรดาร์ AN/APG-68(V)9 ติดใน F-16 MLU ที่ไทยพอดิบพอดี ส่วนระยะตรวจจับเป้าหมายขนาด 2 ตารางเมตร อยู่ที่ 160 กิโลเมตรกับ 120 กิโลเมตร เป็นไปตามเทคโนโลยีและความสดใหม่ ตัวเลขก็ดูสมจริงสมจังกับการใช้งานจริง นี่คือการเปรียบเทียบเฉพาะข้อมูลเรดาร์เท่านั้น เวลาใช้งานลำไหนตรวจจับลำไหนได้ก่อนนั้น เห็นว่ามีสูตรคำนวณเฉพาะทางอะไรสักอย่างด้วย ผู้เขียนไม่รู้อะไรบ้างเลยจึงไม่มีข้อมูลมาโม้
AN/APG-83 เป็นเรดาร์ AESA ทันสมัยกว่า ทำงานได้เร็วกว่า ทำงานได้งานมากกว่า ติดตามเป้าหมายทางอากาศได้มากกว่า ขณะที่ PS-05/A มีคุณสมบัติบางอย่างดีกว่าของใหม่ เรดาร์สามารถตรวจจับเป้าหมายในทะเลได้ด้วย บังเอิญสโลวักไม่มีทางออกสู่ทะเล ออปชั่นนี้จึงไม่มีประโยชน์ในชีวิตจริง กริเพนจึงไม่ได้คะแนนพิเศษเพิ่มเติม

ปิดท้ายกันด้วยผลคะแนนรวม กริเพนมีคะแนนเหนือกว่าเรื่องการสนับสนุนอะไหล่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของสโลวัก เพราะจะมาจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ในประเทศ รองรับกริเพนจำนวน 100 ลำของยุโรปตอนกลาง (ประเทศไหนบ้างหนอ?) ปัญหาเรื่องการขาดอะไหล่ไม่มีแน่นอน ไปมีปัญหาเรื่องการดูแลรักษาสถานที่แทน รวมทั้งส่งมอบเครื่องบินได้เร็วกว่ากันมาก ใช้เวลาเพียง 28 เดือนมาครบทุกลำแล้ว ต่างจาก F-16V ต้องใช้เวลาถึง 48 เดือน การปลดประจำการเครื่องบินเก่าจำต้องเลื่อนออกไป โรงงานผลิตมีงานล้นมือก็แบบนี้แหละครับ ขนาด F-35 ยังส่งมอบล่าช้ากว่าแผนสมควร
แต่คะแนนนอกเหนือจากนี้ F-16V กินเรียบ คะแนนในส่วนสมรรถนะเครื่องกับการทำภารกิจ F-16V ได้ 30 คะแนนเต็มส่วนกริเพนได้เพียง 22 คะแนน นี่คือจุดชี้เป็นชี้ตายของโครงการนี้ ถ้ากริเพนมีคะแนนสูสีอาจพลิกโผก็เป็นได้ อย่างที่ทุกคนรู้กันตั้งแต่โครงการในไทยแล้วว่า สวีเดนมักมีข้อเสนออื่นพ่วงท้ายมาด้วย ส่วนอเมริกาเน้นขายของอย่างเดียว อยากได้ของแถมดิ้นรนเอาเองแล้วกัน สโลวักอยากได้เครื่องบินมากกว่าคลังอะไหล่ ตัดสินใจเลือกเหยี่ยวเวหาจอมอหังการ
ในเอกสารระบุเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งไว้ว่า ค่าใช้จ่ายในการทำภารกิจ 10 ปีของ F-16V จะต้องใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายของกริเพน ปิดท้ายแบบนี้ได้ตาเหลือกกันบ้าง ไม่ทราบเหมือนกันว่าคำนวณกันแบบไหน ถ้าค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินของกริเพนต่ำกว่า แล้ว F-16V เอาตรงไหนมาเกลี่ยให้มันใกล้เคียง ยิ่งคิดแล้วยิ่งปวดหัวผู้เขียนจนด้วยเกล้าขอยอมแพ้
มาดูรายละเอียดส่วนอื่นกันบ้าง นักบินจำนวน 22 นายถูกส่งมาฝึกระยะยาวที่อเมริกา ใช้เวลา 12-18 เดือนตามสนามบินต่างๆ ทั่วประเทศ นักบิน 3 คนต่อเครื่องบิน 2 ลำ เครื่องบิน 4 ลำแรกจะมาถึงไตรมาสแรกปี 2023 ระหว่าง 2 ปีแรกจะมีเจ้าหน้าที่อเมริกามาช่วยดูแล ในระยะยาวสโลวักสามารถซ่อมบำรุงได้เอง มีการจัดเตรียมสถานที่และบริษัทในประเทศ มีการพูดคุยเรื่องสัญญาการผ่อนชำระ เมื่อการเจรจาได้ข้อตกลงที่ยอมรับได้ รัฐบาลจึงเซ็นสัญญาในวันที่ 12 ธันวาคม 2018
F-16V ขายได้ถึง 3 โครงการแล้วก็จริง แต่ผู้ผลิตและคนทั่วโลกต่างรู้เต็มอก ว่าเครื่องบินจะไม่กลับมาขายดีเหมือนในอดีต ประเทศใหญ่ๆ มองไปยัง F-35 กันหมด เหลือแต่รายเล็กรายน้อยให้ตามเก็บแต้ม เครื่องบินคู่แข่งมีเยอะมากนับกันไม่ไหว รัฐบาลประเทศอื่นพร้อมสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว นำมาซื้อเครื่องบินตัวเองตามแผนอัฐยายซื้อขนมยาย ส่วน F-16V ไม่มีความช่วยเหลืออะไรเลย แค่สภาคองเกรตอนุมัติการขายก็บุญโขแล้ว จำเป็นที่ Lockheed Martin ต้องหาทางดิ้นรนเอาเอง
ตลาดขนาดใหญ่ของ F-16V ยังพอมีอยู่เช่นกัน โครงการ The Medium Multi-Role Combat Aircraft หรือเรียกสั้นๆ ว่า MMRCA ของกองทัพอากาศอินเดีย มียอดรวมจำนวนเครื่องบินมากถึง 126 ลำ ตั้งงบประมาณไว้ที่ประมาณ 30 พันล้านเหรียญ (ในปี 2012) อินเดียเริ่มตั้งโครงการตั้งแต่ปี 2001 แต่กว่าจะเริ่มประกวดจริงจังก็อีก 10 ปีถัดมา
Lockheed Martin เป็นหนึ่งในหกผู้เข้าชิงชัย เสนอแบบเครื่องบิน F-16IN ตั้งแต่ปี 2008 หรือ 10 ปีที่แล้ว เครื่องบินลำนี้คือ F-16 E/F Block 60 เหมือนประเทศยูเออี ติดเรดาร์ APG-80 AESA ใหม่เอี่ยม เครื่องยนต์ F110-GE-132 นี่ก็แรงสุดๆ เพียงแต่ไม่มี AN/ASQ-28 IFTS (Internal FLIR and Targeting System) สันจมูกเครื่องบินจึงไม่มีสิวหัวช้างหรือ AN/AAQ-32 Navigation sensor turret รวมทั้งอุปกรณ์บางอย่างแตกต่างกัน ตามความต้องการของอินเดียผู้เป็นเจ้าของเงิน
ผลการชิงชัยประกาศกันในปี 2013 เครื่องบิน Rafale ของฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะการประกวด ยอดรวมสั่งซื้อเครื่องบินมากถึง 126 ลำ โดยที่เครื่องบิน 108 ลำจะต้องประกอบในอินเดีย คุยกันไปคุยกันมาปรากฏว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง อินเดียอยากให้รับประกันคุณภาพเครื่องบินทุกลำ ฝรั่งเศสบอกว่าตรูไม่ได้ประกอบไม่รับผิดชอบวุ้ย สุดท้ายอินเดียสั่งซื้อเครื่องบินผลิตในฝรั่งเศส 36 ลำ สองเราเปลี่ยนสถานะจากแฟนมาเป็นเพื่อนร่วมโลก
แล้วเครื่องบินส่วนที่เหลืออินเดียทำอย่างไร? ทำกันง่ายๆ ไม่ต้องคิดมากให้ปวดหัว โดยการเปลี่ยนมาเป็นโครงการ MMRCA 2.0 จัดหาเครื่องบินจำนวน 110 ลำ ที่นั่งเดี่ยว 75 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นสองที่นั่ง ต้องผลิตภายในประเทศทุกลำ พร้อมการถ่ายโอนเทคโนโลยีและการรับประกัน ยกตัวอย่างเรื่องสุดท้ายสักเล็กน้อย รับประกันเครื่องบินทุกลำปีละ 150 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 ปีเต็ม ตัวเต็งโครงการนี้ก็คือ Rafale เพื่อนร่วมโลกผู้อยากกลับมาเป็นแฟนอีกครั้ง
ความต้องการของกองทัพอากาศอินเดียยังไม่หมด พวกเขายังมีโครงการจัดหาเครื่องบินเครื่องยนต์เดี่ยว จำนวนรวม 114 ลำเพื่อมาทดแทนเครื่องบินเก่า ตั้งงบประมาณไว้ที่ 18 พันล้านเหรียญ บริษัท SAAB ของสวีเดนวิ่งเข้าใส่รายแรก ด้วยการเสนอเครื่องบิน Gripen-E รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมข้อเสนอโน่นนั่นนี่ตามแบบฉบับ ปรากฏว่ารัฐบาลอินเดียสั่งดองโครงการชั่วคราว เอา MMRCA 2.0 ให้จบก่อนดีกว่าไหม รวมทั้งแอบหวังลึกๆ ว่าเครื่องบิน Tejas จะสามารถแปรงร่างเป็นซูเปอร์โงกุนได้
Lockheed Martin เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ตายแล้วเกิดใหม่ อยู่ดีๆ มีส้มหล่นคนจะรวยช่วยไม่ได้ F-16V ถูกส่งเข้าแข่งขันทั้ง 2 โครงการ พร้อมยื่นข้อเสนอย้ายโรงงานผลิตมาที่อินเดีย ทุกประเทศต้องซื้อ F-16V ผลิตโดย Tata Advanced Systems โดยมีวงเล็บต่อท้ายว่า ถ้าเครื่องบิน F-16V ได้รับการคัดเลือก ส่งผลกระทบมายังประเทศอื่นที่ต้องการ F-16 ซื้อเครื่องบินอาจได้ของแถมติดปลายนวม แต่ผู้อ่านอย่าเพิ่งคิดมากเหมือนผู้เขียนเลย โครงการอาจถูกยกเลิกหรือดองยาว 10 ปีก็เป็นได้

จากภาพประกอบลำบนคือ F-16IN ปี 2008 ส่วนลำล่างคือ F16V ปี 2018 มีสิวอุดตันต่างกันเล็กน้อย ไม่มีสิวหัวช้างด้วยกันทั้งคู่ ลายพรางต่างกันตามสมัยนิยม ติดอาวุธต่างกันอยู่บ้างอย่าไปสนใจ เครื่องบิน F-16 ไม่ว่าเก่าหรือใหม่หน้าตาคล้ายกัน ไม่ได้บวมน้ำมันก๊าดกลายเป็นพี่อุ้ยแบบ F/A-18 E/F Super Hornet แต่อย่างใด
นอกจากอินเดียจอมดราม่าแต่กระเป๋าหนัก ไต้หวันก็เป็นอีกหนึ่งประเทศเป้าหมายสำคัญ รวมทั้งเป็นหนึ่งในปัจจัยก่อให้เกิด F-16V ไต้หวันช่วยลงขันกับ Northrop Grumman ในการพัฒนาเรดาร์ APG-83 SABR ขึ้นมาจนแล้วเสร็จ ปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการ Phoenix Rising ปรับปรุงเครื่องบิน F-16A/B จำนวน 144 ลำให้กลายมาเป็น F-16V สามารถใช้จรวด AIM-120C7 AMRAAM กับ AIM-9X Sidewinder ได้ จรวด  AGM-154 JSOW กับ AGM-88B HARM ก็ใช้งานได้
ภายใต้งบประมาณ 5.3 พันล้านเหรียญ กำหนดให้ปรับปรุงปีละ 24 ลำ แล้วเสร็จครบทุกลำภายในปี 2022 เอาเข้าจริงคงล่าช้าพอสมควร โดยที่ 4 ลำแรกปรับปรุงใกล้เสร็จแล้ว ปรากฏภาพถ่ายเครื่องบินลำแรกในเดือนตุลาคม ได้เรดาร์ใหม่ ระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ใหม่ ทาสีพรางใหม่ มีหมายเลขเครื่องแต่ไม่มีหมายเลขฝูง โชคไม่ดีเครื่องบินประสบปัญหาสนิมเกาะ เลื่อนการส่งมอบจากสิ้นปีไปเป็นหลังสงกรานต์ ไม่ทราบว่า F-16 MLU ของเราเจอน้องหนิมบ้างไหมนะ

นอกจากโครงการปรับปรุงเครื่องบินเก่าแล้ว วันที่ 28 พฤศจิกายน 2018 มีข่าวว่าไต้หวันสนใจซื้อเครื่องบิน F-16V จำนวน 66 ลำ ภายใต้งบประมาณ 10 พันล้านเหรียญ รวมทั้งเล็งเป้าหมายมายังเครื่องบิน F-35B อีกหนึ่งรุ่น โครงการนี้ไม่มีคู่แข่งขันแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับว่าอเมริกาจะขายให้หรือไม่ และไต้หวันหางบประมาณได้จริงหรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นจริงอาจได้เห็นพนักงาน Lockheed Martin ยืนเต้นระบำท่า แอปเปิ้ล-มะละกอ-กล้วย-ส้ม กันทั้งบริษัท
การกลับมาของ F-16V ในครั้งนี้ เท่ากับจั่วได้แต้มป๊อกสองเด้งกินรอบวง เครื่องบินใหม่ก็ยังขายได้เรื่อยๆ ทำลายโอกาสคู่แข่งขันไปในตัว ส่วนเครื่องบินเก่ารอการปรับปรุงมีอีกมหาศาล F-16C/D Block 30/32 และ 40/42 ของกองกำลังพิทักษ์ชาติ กองทัพอากาศอเมริกา รอคิวอยู่อีกประมาณ 250–280 ลำ (ตอนนี้กำลังปรับปรุง 72 ลำแรก) โครงการใหญ่ของอินเดียกับไต้หวันก็ยังมีหวัง ได้ก็ดีไม่ได้ก็แล้วไปไม่มีอะไรให้เสีย อาจได้กินคำไม่ใหญ่แต่กินได้ยาวนาน
การปรับปรุงเครื่องบินเก่ามีความยืดหยุ่นสูง คุณลูกค้าอยากได้แบบไหนว่ามาได้เลย กองทัพอากาศเกาหลีใต้ต้องการปรับปรุง KF-16 จำนวน 134 ลำ ภายใต้วงเงิน 1.2 พันล้าน ด้วยการติดตั้งเรดาร์ APG-84 RACR (ออกเสียงว่าเรเซอร์) ของบริษัท Raytheon ซึ่งไม่ใช่เรดาร์มาตรฐานของ F-16V แต่อย่างใด ปรากฏว่าโครงการนี้ย้ายจาก BAE มาสู่อ้อมกอด Lockheed Martin โรงงานสาขาเกาหลีใต้ทำงานกะสองกะสามกันเพลิน อาจได้กินคำไม่ใหญ่แต่กินได้ยาวนานอีกครั้ง
ยังมีอีกหนึ่งโครงการน่าสนใจมาก วันที่ 20 ธันวาคม 2018 รัฐบาลกรีซเซ็นสัญญาปรับปรุงเครื่องบิน F-16C/D Block 52+ กับ Block 52 จำนวน 84 ลำ ให้กลายมาเป็น F-16V รุ่นใหม่ มูลค่ารวมทั้งโครงการ 996.8 ล้านเหรียญ กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2027 ลดลงมาจากความต้องการเดิม 154 เครื่อง ด้วยการตัด F-16C/D Block 30 กับ Block 50 ออกไป
การปรับปรุงคิดเป็นเงิน 11.86 ล้านเหรียญต่อลำ ไม่แพงเท่าไหร่และน่าจะเป็นงานง่าย เพราะเครื่องบินกรีซค่อนข้างใหม่มาก รวมทั้ง F-16V ก็คือ Block 52 ปรับปรุงใหม่หมดนั่นเอง ในสัญญาประกอบไปด้วย เรดาร์ APG-83 SABR ระบบดาต้าลิงค์ Link16 ปรับปรุงแผงหน้าปัดห้องนักบิน ใส่ระบบมิสชั่นคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ เพิ่มเติมระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ รวมทั้งติดตั้งระบบ Automatic ground-collision avoidance system
Auto GCAS คืออะไร? มีความสำคัญมากแค่ไหน? ใช้ยิงศัตรูแบบ Lock on after launch ได้หรือเปล่า? ถ้าทำไม่ได้ทำไมอเมริกาถึงยอมเสียเงินก้อนโต ไล่ติดตั้งระบบนี้บนเครื่องบิน F-16 F-22 รวมทั้ง F-35? คำถามทั้งหมดผู้เขียนขอติดไว้ก่อน บทความนี้จะขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีปีใหม่ 2019 ผู้อ่านทุกท่านตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)
            -----------------------------------------
อ้างอิงจาก
            -----------------------------------------








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น