อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศออสเตรเลีย
ความเดิมตอนที่แล้วจากบทความเรื่อง Australian Defence White Paper 2016 ผู้เขียนได้ขอยกเรื่องอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศออสเตรเลีย เพื่อนำมาเขียนแยกต่างหากในบทความนี้ ลิงค์ต้นฉบับตรงนี้ครับ
http://thaimilitary.blogspot.com/2016/03/australian-defence-white-paper-2016.html
หลังจากอ่านต้นเรื่องเสร็จแล้วเราก็มาว่ากันต่อเลย ผู้เขียนจะเขียนถึงทั้งโครงการที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จหรือถูกยกเลิกในที่สุด เพื่อให้สามารถมองภาพโดยรวมได้อย่างไม่มีอะไรตกหล่น
Malkara Project
ระหว่างปี 1951-1954 อังกฤษและออสเตรเลียได้ร่วมมือกันพัฒนาจรวดต่อสู้รถถังรุ่นใหม่ โครงการนี้ได้รับการออกแบบพัฒนาและปรับปรุงในออสเตรเลีย ก่อนนำเข้าประจำการจริงในปี 1958 ระบบจรวดถูกติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกขนาดเล็ก สามารถจัดส่งทางอากาศด้วยเครื่องบินขนส่งรุ่นมาตราฐานได้ สามารถทิ้งร่มทางอากาศลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้ สามารถเคลื่อนที่และเล็งยิงเป้าหมายได้อย่างอิสระ ตัวจรวดพัฒนาขึ้นใหม่หมดด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด นับได้ว่าเป็นโครงการที่มีแนวคิดความทันสมัยและมีประสิทธิภาพค่อนข้างสุงในยุคนั้น
Malkara ยาว 1.9 เมตร หนัก 93.5 กิโลกรัม ใช้หัวรบรุ่นใหม่ High Explosive Squash Head (HESH) ขนาด 26 กิโลกรัม นำวิถีด้วยสัญญานไฟฟ้าจากเส้นใยไฟเบอร์ออปติค หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่านำวิถีด้วยเส้นลวดนั่นเอง มีระบบควบคุมการนำวิถีแบบ MCLOS ( Manual Command to Line of Sight ) พลยิงทำการบังคับจรวดผ่านสายสัญญานจนกระทั่งจรวดวิ่งชนเป้าหมาย โดยมีระยะยิงไกลสุดอยู่ที่ 4,000 เมตร ผลการทดสอบ Malkara ทำผลงานด้านความแม่นยำได้ถึง 90 เปอร์เซนต์
รถบรรทุก 4x4 ขนาด 1 ตันรุ่น FV1620 Humber Hornet ได้รับการปรับปรุงมาจากรถบรรทุกขนส่งรุ่น FV1611 Humber Pig ซึ่งมีใช้อยู่ในกองทัพบกออสเตรเลียและอังกฤษอยู่แล้ว ตู้ทืบด้านท้ายถูกถอดออกเพื่อติดตั้งแท่นยิงจรวดชนิด 2 ท่อยิง พลยิงสามารถยกแท่นยิงขึ้นลงได้ด้วยระบบกลไก Humber Hornet วิ่งบนถนนหลวงได้เร็วสุดถึง 64 กม./ชม ระบบต่อต้านรถถังใหม่เอี่ยมรุ่นนี้จึงมีทั้งความแม่นยำและความรวดเร็ว ทว่าเมื่อเข้าประจำการจริงกลับทำผลงานได้ไม่ดีเลย นั่นก็เพราะแท่นยิงมีขนาดใหญ่เทอะทะมากเกินไป การควบคุมบังคับจรวดทำได้ยากไม่เหมือนตอนทดสอบ และความเร็วของจรวดตกลงอย่างรวดเร็วหลังผ่าน 3,000 เมตรไปแล้ว
ปลายทศวรรษ 1960 กองทัพบกอังกฤษได้นำจรวดต่อสู้รถถัง Vickers Vigilant มาแทนที่ Malkara เป็นจรวดนำวิถีเส้นลวดเช่นเดียวกันแต่มีขนาดเล็กกว่ากันมาก คือหนักแค่ 14 กิโลกรัมเท่านั้น จรวดรุ่นใหม่ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ (อเมริกาได้ขอซื้อลิคสิทธิ์ไปผลิตให้กับนาวิกโยธินตัวเอง) Vickers Vigilant มีทั้งรุ่นประทับบ่ายิงหรือ MANPADS รุ่นติดตั้งบนพื้นดินควบคุมผ่านคันบังคับ รุ่นติดตั้งบนรถบรรทุกทหารและรถหุ้มเกราะล้อยางพร้อมแท่นยิงหลายรุ่น จึงมีความเอนกประสงค์และความคล่องตัวในการใช้งานมาก แม้จะมีขนาดหัวรบเล็กกว่าพอสมควรก็ตาม ทางด้านออสเตรเลียซึ่งมี Malkara ใช้งานไม่มากเท่าไหร่ ก็ทยอยปลดประจำการในภายหลัง
แม้โครงการ Malkara จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่บทเรียนและความผิดพลาดจากโครงการนี้ ถูกนำไปวิจัยพัฒนาและปรับปรุงต่อในภายหลัง อังกฤษสามารถพัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานระยะสั้นประจำเรือรบรุ่น Seacat อันโด่งดังสำเร็จ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายใช้งานอยู่ในกองทัพเรือทั่วโลกถึง 22 ประเทศ รวมทั้งราชนาวีไทยบนเรือหลวงมกุฎราชกุมารด้วย ทางด้านออสเตรเลียได้นำประสบการณ์จากโครงการ Malkara ไปพัฒนาเป็นระบบจรวดปราบเรือดำน้ำระยะไกลรุ่นใหม่ ซึ่งผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงถัดจากนี้
Ikara Project
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำจากค่ายตะวันตกประกอบไปด้วย ระเบิดลึกหรือระเบิดน้ำลึก (Depth charge) โดยมีทั้งแบบทิ้งลงจากท่อด้านท้ายเรือ (Depth Charge Rack) และใช้อุปกรณ์ช่วยดีดให้ลอยไกลออกไปหลายร้อยเมตร (Depth Charge Projector หรือ Depth Charge Gun) อาวุธอีกชนิดที่มีความแม่นยำกว่าและทันสมัยกว่าก็คือ จรวดปราบเรือดำน้ำระยะใกล้ (Mortar) อาทิเช่น Limbo Squid และ Hedgehog ซึ่งอันที่จริงควรจะเรียกว่าเครื่องยิงลูกระเบิดนำวิถีปราบเรือดำน้ำมากกว่า อาวุธทั้ง 2 ชนิดทำงานได้อย่างดีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งสงครามเกาหลีที่แทบไม่มีการปราบเรือดำน้ำเลย
ทว่าเรือดำน้ำรุ่นใหม่ก็มีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก ภายในไม่กี่ปีหลังสงครามเกาหลี โซเวียตสามารถสร้างเรือดำน้ำรุ่นใหม่ๆอย่างชั้น Zulu และโดยเฉพาะชั้น Whiskey เข้าประจำการจริงเป็นจำนวนมาก เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้น November ก็เริ่มทยอยเข้าประจำการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 ทำให้อเมริกาและหลายประเทศในกลุ่มนาโต้นิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ ต้องพัฒนาระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำแบบใหม่ขึ้นมาบ้าง
ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mark 44 คืออาวุธรุ่นใหม่ล่าสุดของอเมริกา มีน้ำหนักเบาขนาดเล็กใช้งานได้ทั้งบนเรือรบและอากาศยาน วิ่งในน้ำด้วยความเร็ว 30 น๊อต ระยะทำการอยู่ที่ 5.5 กิโลเมตร ติดตั้งระบบค้นหาเป้าหมายด้วย active sonar สามารถแพร่คลื่นเสียงใต้น้ำหรือการ Ping ค้นหาเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง ตอร์ปิโด Mark 44 คือพัฒนาการที่ก้าวกระโดดจากค่ายตะวันตก แม้จะมีความทันสมัยมากขึ้น ความแม่นยำสุงขึ้น และระยะทำการมากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม ทว่าก็ยังน้อยกว่าระยะทำการของตอร์ปิโดขนาดใหญ่จากเรือดำน้ำอยู่ดี
หลายชาติจึงได้พยายามพัฒนาระบบอะไรก็ตาม ที่สามารถส่งตอร์ปิโด Mark 44 (หรือรุ่นอื่น) ให้วิ่งไปไกลมากกว่าเดิม อเมริกาใช้วิธีการติดตั้ง Rocket Booster เข้าไปที่ด้านท้ายเพื่อยิงตอร์ปิโดขึ้นฟ้าก่อนตกลงในทะเล (เรียกว่าจรวดปราบเรือดำน้ำ หรือ ASROC) ออสเตรเลียซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโต้ได้พัฒนาระบบใหม่เช่นกัน โดยใช้ประสบการณ์จากจรวดต่อสู้รถถัง Malkara เป็นบทเรียนสำหรับโครงการใหม่ ในที่สุดพวกเขาก็สามารถแจ้งเกิดระบบจรวดปราบเรือดำน้ำระยะไกล Ikara และเข้าประจำการจริงในช่วงต้นทศวรรษ 1960 สำเร็จ
Ikara เอาจรวดหรือ Rocket มาช่วยส่งตอร์ปิโด Mark 44 (หรือแบบอื่นๆ) ให้บินขึ้นฟ้าเช่นกันกับ RUR-5 ASROC ของเมริกา แต่เปลี่ยนมาใช้จรวดไร้คนขับขนาดใหญ่แทน Rocket Booster และติด Mark 44เข้าไปที่ใต้ท้อง สามารถกางปีกหลักออกได้หลังยิงไปแล้ว บนสุดของแพนหางติดตั้งเสาอากาศรับส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุ Ikara มีหลักการทำงานคร่าวๆคือ เมื่อโซนาร์ของเรือรบตรวจจับเป้าหมายได้ จะส่งข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไปยังห้องศูนย์ยุทธการ (Combat Information Center) และเมื่อยิงจรวดออกไปแล้ว เรือรบยังสามารถช่วยตรวจหาและสั่งเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย ด้วยระบบควบคุมการยิงที่ติดอยู่ภายในราโดมขนาดใหญ่ จรวดไร้คนขับมีระยะทำการไกลถึง 19 กิโลเมตร (ไม่รวมระยะยิงของตอร์ปิโด) มากเป็น 2 เท่าของ RUR-5 ASROC เลยทีเดียว ออสเตรเลียได้ติดตั้งกับเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีชั้น Perth หรือ Charles F. Adams และเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น River หรือ Type 12M ส่วนกองทัพเรืออังกฤษนำไปติดตั้งกับเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Leander หรือ Type 12I และเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีชั้น Bristol หรือ Type 82 นอกจากนี้แล้วกองทัพเรือบราซิล ชิลี และนิวซีแลนด์ ยังได้จัดหาไปใช้งานอีกด้วย
Ikara สามารถต่อกรกับเรือดำน้ำรุ่นใหม่ได้อย่างดี สามารถติดตั้งระเบิดลึกหัวรบนิวเคลียร์เพื่อจัดการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อใช้งานจริงไปได้ระยะหนึ่ง อาวุธจากออสเตรเลียก็ประสบปัญหายุ่งยากพอสมควร นั่นเป็นเพราะจรวดไร้คนขับมีขนาดใหญ่มากจึงยิงได้ที่ล่ะ1นัด ระบบโหลดจรวดใหม่และแมกกาซีนก็ยุ่งยากซับซ้อนทั้งการใช้งานและการซ่อมบำรุง นอกจากนี้ยังต้องใช้พื้นที่มหาศาลตามขนาดจรวดไปด้วย แตกต่างจาก RUR-5 ASROC ที่จำนวน 1 แท่นยิงสามารถใส่จรวดได้ถึง 8 นัด ระบบแมกกาซีนมีขนาดเล็กกว่ากันพอสมควร ระบบโหลดจรวดใหม่ก็รวดเร็วกว่าและคล่องตัวกว่า ภาพรวมจึงใช้งานง่ายกว่าและยุ่งยากน้อยกว่า
บริษัทผู้ผลิตและกองทัพเรือออสเตรเลียได้เล็งเห็นจุดอ่อนเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้พยายามพัฒนาระบบท่อยิงเดี่ยวเหมือนจรวดปราบเรือรบรุ่นใหม่ขึ้นมา รวมทั้งมีความพยายามที่จะพัฒนา Super Ikara ที่มีระยะยิงไกลสุดถึง 100 กิโลเมตรด้วย ทว่าทั้ง 2 โครงการก็ต้องยุติลงและยกเลิกไปในที่สุด สาเหตุเป็นเพราะเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 มีอาวุธชนิดใหม่ที่สามารถส่งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำไปได้ไกลกว่ากันมาก และยังสามารถทำภารกิจอื่นๆได้อีกนานับประการ อาวุธที่ว่าก็คือเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่นั่นเอง กองทัพเรืออังกฤษและออสเตรเลียเลิกใช้งาน Ikara ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ปิดตำนานจรวดปราบเรือดำน้ำระยะไกลจากแดนจิงโจ้ลงในที่สุด
Bushranger Project
โครงการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง4x4เพื่อทดแทนรถรุ่นเดิมคือ Land Rover Perentie หรือ Land Rover 110 ที่ได้รับใช้ชาติมาอย่างยาวนาน กองทัพบกออสเตรเลียได้กำหนดความต้องการไว้ดังนี้ บรรทุกทหารได้ 9 นายไม่รวมพลขับ มีน้ำมันเชื้อเพลิงและอื่นๆสำหรับ 3 วัน น้ำดื่ม 270ลิตร ระยะปฏิบัติการ 600 -1000 กิโลเมตร ด้วยความเร็วเดินทาง 90 กม./ชม.บนทางหลวง สามารถใช้งานเส้นทางออฟโรดได้เทียบเท่ารถบรรทุก Unimog ของเยอรมัน มีจุดติดตั้งแท่นยิงปืนกล เกราะรอบคันป้องกันกระสุนปืนขนาด 7.62 มม.และ 5.56 มม.ได้ ติดตั้งเกราะใต้ท้องรถเพื่อป้องกันทุ่นระเบิดบกชนิดต่างๆได้ มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ และมีน้ำหนักเปล่าประมาณ 10-12 ตัน
โครงการนี้เริ่มต้นในปี 1994 มีบริษัทภายในประเทศจำนวน 13 บริษัทส่งแบบรถตัวเองเข้าร่วม ในปีต่อมาเป็นการคัดเลือกรอบสุดท้าย มีบริษัทผ่านด่านเข้าร่วมชิงชัยในรอบนี้จำนวน 3 บริษัทด้วยกัน คือ
1 Australian Specialised Vehicle Systems (ASVS) (Australian National Industries / Reumech OMC of South Africa) เสนอแบบรถ Taipan 4X4
2 British Aerospace Australia (BAeA) เสนอแบบรถ Foxhound 4X4
3 Perry Engineering / Stewart & Stevenson (USA) เสนอแบบรถ Bushmaster 4X4 ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นบริษัท Australian Defence Industries (ADI) ภายใต้ลิคสิทธิ์เดิม
Taipan พัฒนามาจากรถหุ้มเกราะล้อยาง Mamba ของแอฟริกาใต้ ส่วน Foxhound พัฒนามาจากรถ Brothers S600 รุ่นช่วงสั้น ทั้งคู่ใช้โครงสร้างรถและเกียร์จากรถ Unimog อีกที ขณะที่ Bushmaster ออกแบบใหม่หมดใช้ตัวถังโมโนค็อกและระบบกันสะเทือนแบบอิสระ ทำให้รถมีจุดศูนย์ถ่วงดีกว่า ลดน้ำหนัก ลดความสุงตัวถัง และควบคุมการขับขี่ได้ดีมากขึ้น การทดสอบจริงมีขึ้นในปี 1998 ก่อนจะมีการประกาศผลในเดือนมีนาคมปีถัดไป ADI's Bushmaster 4x4 เป็นผู้ชนะในโครงการนี้ คะแนนทิ้งห่างรถอีก 2 คันด้วยคุณสมบัติที่ดีกว่าในเกือบทุกด้าน
Project Bushranger มีการสั่งซื้อจำนวนหลายเฟสด้วยกัน โดยมีตัวเลขยอดรวมปัจจุบันอยู่ที่ 1,072 คัน นับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสุงกว่าที่คาดคิด รถได้เคยออกปฎิบัติการจริงมาแล้ว ทั้งในติมอร์ตะวันออก อิรัค และอัฟกานิสถานซึ่งรบกันค่อนข้างหนัก รวมทั้งโดนระเบิดแสวงเครื่องของจริงมาแล้วด้วย ADI ยังสามารถขาย Bushmaster ให้กับ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย จาไมก้า และญี่ปุ่นตามลำดับ แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนักคือ 149 คันก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศออสเตรเลีย
Waler Project
ต้นทศวรรษ 1980 กองทัพบกออสเตรเลียเริ่มต้นโครงการจัดหายานเกราะลำเลียงพลรุ่นใหม่ เพื่อนำมาทดแทนรถรุ่นเดิมคือ M113 ที่มีอยู่ประมาณ 700 คัน รถรุ่นใหม่จะต้องออกแบบและผลิตได้เองภายในประเทศ โดยมีความต้องการรวมทั้งหมดประมาณ 800-1,000 คัน ประเมินยอดรวมโครงการว่าอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านเหรียญ โดยรถคันแรกจะต้องเข้าประจำการ ในปี 1995 ในปี 1981 มี 14 บริษัทเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ และมีการคัดเลือกให้เหลือ 3 บริษัทเข้ารอบสุดท้ายในปีถัดมาประกอบไปด้วย
1 EASAMS Ltd of Sydney ภายใต้ความร่วมมือกับ Vickers Defence Systems ของอังกฤษ
2 Evans Deakin Industries Ltd ภายใต้ความร่วมมือกับ GIAT จากฝรั่งเศส
3 Goninan and Co. ภายใต้ความร่วมมือกับ FMC จากอเมริกา
ยานเกราะรุ่นใหม่จะมีความทันสมัยในทุกๆด้าน ทั้งเรื่องการออกแบบตัวถังรถ เครื่องยนต์และเกียร์ ระบบเกราะป้องกัน และระบบอาวุธที่สามารถติดตั้งได้อย่างหลากหลาย จัดว่าเป็นก้าวกระโดดสำคัญของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศออสเตรเลีย และนี่ก็คือภาพแบบรถในโครงการนี้ที่ถูกเปิดเผยในช่วงแรกๆ ซึ่งคอนเซ็ปทั้งหมดตรงตามความต้องการของกองทัพบกออสเตรเลีย เป็นแบบรถของ Goninan ร่วมือกับ FMC จากอเมริกา สังเกตได้ว่าด้านรถจะลาดเอียงมากกว่า M113เยอะมาก ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 25 มม.พร้อมระบบช่วยเล็ง
ทีนี้เรามาดูแบบรถจากบริษัท ESAMS กันบ้างนะครับ โดยความร่วมมือกับบริษัท Vickers จากอังกฤษเพื่อเข้าร่วมชิงชัยเค๊กก้อนโต โดยมีทั้งยานเกราะสายพานลำเลียงพล ติดปืนกลขนาด 7.62 มม.ด้านขวามือพลขับอยู่ด้านซ้ายของรถ และยานเกราะล้อยางลำเลียงพล 6X6 ติดเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มม.ตรงกลางรถโดยที่พลขับโยกไปอยู่ด้านขวาแทน นั่นหมายความว่ารถในโครงการนี้จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ และกองทัพบกออสเตรเลียมีความต้องการใช้งานยานเกราะล้อยางตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 แล้ว
ปี 1985 รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียได้ประกาศเลื่อนโครงการนี้ออกไปก่อน นับเป็นลางร้ายบอกให้รู้ให้เตรียมใจกับทุกๆคน หลังจากมีการเลื่อนออกไปอีก 2-3 รอบ Waler Project ก็ปิดตัวลง สาเหตุสำคัญมาจากงบประมาณบานปลายไปเรื่อยๆ (อีกแล้ว) จนยอดรวมทั้งโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าถ้ายังต้องการไปต่อ เมื่อไม่มียานเกราะลำเลียงพลรุ่นใหม่แล้ว กองทัพบกออสเตรเลียก็ต้องเปลี่ยนแผนอีกครั้งหนึ่ง Land 106 Project จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน M113 จำนวน 431 คันถูกปรับปรุงให้เป็นรุ่น M113 AS4 ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ทว่า M113 AS4 ที่ปรับปรุงใหม่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ทั้งหมด พอถึงปี 1990 กองทัพบกออสเตรเลียจึงเริ่มทำงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โครงการจัดหายานเกราะล้อยางลำเลียงพล 8X8 ภายใต้ชื่อ Australian Light Armoured Vehicle หรือ ASLAV ได้ถือกำเนิดขึ้น บริษัท General Dynamics Land Systems ภายใต้ความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและแคนาดาเป็นผู้ได้รับคัดเลือก โดยใช้แบบรถ 8X8 ที่ปรับปรุงมากจาก MOWAG Piranha 8x8 ของสวิสเซอร์แลนด์ให้ตรงตามความต้องการ ASLAV ได้รับการสั่งซื้อจนถึงปัจจุบัน 257 คัน มีแบบย่อยรวมทั้งสิ้น 7 รุ่นเพื่อตอบสนองในทุกความต้องการ
Australian Light Destroyer Project และ Vickers Vedette Project
ผู้เขียนได้เขียนถึง Australian Light Destroyer Project ไปแล้วในบทความก่อน จึงไม่อยากฉายหนังซ้ำอีกครั้งนอกจากจะเอาหลักฐานสำคัญมาแสดง แบบเรือจาก Yarrow ถูกขยายขนาดจากความยาว 102 เมตร ระวางขับน้ำ 2,100 ตัน ติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1-2 กระบอกพร้อมปืนรอง มีลานจอดและโรงเก็บสำหรับเฮลิคอปเตอร์เบาจำนวน 1 ลำ กระทั่งปี 1970 แบบเรือก็มีขนาดใหญ่ขึ้น จนมีความยาว 129.5 เมตร ระวางขับน้ำ 4,200 ตัน ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบฮาร์พูน ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลางรุ่น SM-1เพิ่มเติม และนี่ก็คือจุดจบของการจับจีบที่ไม่น่าจดจำ เพราะการขยายแบบเรือเพื่อติดอาวุธทันสมัยโดยที่แบบเรือไม่ได้รองรับมาแต่แรก ผลก็คืองานแก้ไขที่ไม่มีวันจบและงบประมาณที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม
หลัง Australian Light Destroyer Project ถูกยกเลิกโครงการ ปี 1974 หรือถัดไปแค่เพียงปีเดียว รัฐบาลออสเตรเลียได้แสดงความสนใจที่จะจัดหาเรือคอร์เวตอเนกประสงค์ Vickers Vedette แบบเรือจากอังกฤษแต่ติดอาวุธอเมริกาตามความต้องการกองทัพเรือ มีระวางขับน้ำประมาณ 1,200 ตัน ยาว 72 เมตร กว้าง 10 เมตร เรือมีความเร็วสุงอเนกประสงค์และคล่องตัวมาก มีราคาไม่แพงค่าใช้จ่ายในการออกปฎิบัติการไม่แพง โดยจะมีทั้งแบบเรือรุ่นปราบเรือดำน้ำ Type 642 ที่มีลานจอดและโรงเก็บแบบพับได้สำหรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ และแบบเรือรุ่นเอนกประสงค์ Type 633 ติดตั้งจรวดปราบเรือรบ Harpoon พร้อมปืนรอง GDM-C ขนาด 35 mm ลำกล้องคู่ รวมทั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่นยิง และปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอกที่หัวเรือเหมือนกันทั้ง 2 รุ่น จำนวนที่ต้องการสั่งซื้อมีสุงถึงประมาณ 8-10 ลำ ทว่าท้ายที่สุดกองทัพเรือตัดสินใจไม่เอาเพราะมีขนาดเล็กเกินไป และตัดสินใจเลือกเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry จำนวน 6 ลำจากอเมริกาแทน ผู้เขียนเพิ่งเอามาลงเพราะบทความก่อนค่อนข้างยาว และโครงการนี้จะสร้างเรือทุกลำในประเทศออสเตรเลียอีกด้วย
Anzac Project
เขียนถึงโครงการที่สำเร็จของกองทัพเรือดูบ้างนะครับ กลางทศวรรษ 1980 พวกเขาได้ริเริ่มโครงการจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่เพื่อทดแทนของเดิมคือเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 12M และ Type 12I (ที่ติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำระยะไกล Ikara นั่นเอง) ขณะเดียวกันกองทัพเรือนิวซีแลนด์ต้องการจัดหาเรือรบมาแทนที่เรือฟริเกตชั้น Leander ของตัวเองด้วย ทั้งคู่จึงจับมือกันเปรียบเสมือนโครงการซื้อเหล้าพ่วงเบียร์ CN02 Project หรือ Anzac Project ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1987 สองปีถัดมาแบบเรือ MEKO 200 รุ่นปรับปรุงจากบริษัทเยอรมันคือ Blohm + Voss ที่จับมือกับบริษัท Tenix Defence Systems (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ BAE Systems Australia) ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการร่วม เรือ 8 ลำของออสเตรเลียและ 2 ลำของนิวซีแลนด์ ถูกสร้างโดยอู่ต่อเรือ AMECON รัฐวิคตอเรีย (ซึ่งก็คือ Tenix นั่นเอง) โครงการนี้เริ่มการตัดเหล็กเรือแผ่นแรกในปี 1992 เรือลำแรกสุดคือ FFH 150 Anzac แห่งราชนาวีออสเตรเลีย เข้าประจำการในวันที่ 18 เมษายน 1996 เรือลำสุดท้ายคือ FFH 157 Perth กองทัพเรือออสเตรเลียเช่นกันเข้าประจำการในวันที่ 26 สิงหาคม 2006 ค่าเฉลี่ยในการสร้างเรือตกอยู่ที่ปีล่ะ 1 ลำ
เรือฟริเกตชั้น Anzac มีขนาดใหญ่กว่ารุ่นเดิมสามารถปฎิบัติการในทะเลลึกได้ดี ระวางขับน้ำ 3,600 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 14.8 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOG ความเร็วสุงสุด 27 น๊อต ระยะทำการไกลสุด 6,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 น๊อต ติดปืนใหญ่เรือขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอก จรวดปราบเรือรบ Harpoon 8 นัด ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่นยิง จรวดต่อสู้อากาศยาน RIM-7 Sea Sparrow จำนวน 8 นัดโดยยิงจากแท่นยิงแนวดิ่ง Mark 41 Mod 5 VLS ด้านท้ายเรือเป็นลานจอดและโรงเก็บสำหรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขนาด 10 ตัน จำนวน 1 ลำ เฉพาะเรือนิวซีแลนด์ติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx CIWS ด้วย
หลังเข้าประจำการได้ไม่ถึง 10 ปี กองทัพเรือออสเตรเลียได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงเรือให้ทันสมัยมากขึ้น โดยต้องการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ CEAFAR และเรดาร์ควบคุมการยิง CEAMOUNT ทดแทนของเดิม อุปกรณ์สุดทันสมัยจาก CEA Technologies ซึ่งเป็นบริษัทภายในประเทศ จะทำให้เรือฟริเกตชั้น Anzac ทำภารกิจป้องกันภัยทางอากาศได้อย่างดีเยี่ยม HMAS Perth ซึ่งเข้าประจำการเป็นลำท้ายสุด แต่ได้รับเกียรติให้เป็นเรือลำแรกสุดที่เข้าปรับปรุงใหญ่ เดือนตุลาคม 2010 เธอก็กลับสู่อ้อมออกทะเลอีกครั้ง พร้อมเรดาร์สุดทันสมัยผังอยู่ในเสากระโดงขนาดใหญ่รอบด้าน เรือลำอื่นๆต่างทยอยเข้ารับการปรับปรุงเช่นกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จครบทุกลำภายในปี 2017
Anzac Project เปิดฉากและปิดตัวลงอย่างสวยงาม เป็นการสร้างเรือรบรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ภายในประเทศอย่างแท้จริง ระยะเวลา 10 ปีเต็มถือเป็นการสร้างงาน สร้างบุคคลากร สร้างองค์ความรู้และบทเรียนต่างๆมากมาย เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ ทว่าอุตสาหกรรมนี้ก็ดันโดนอังกฤษฮุบไปเสียแล้ว เพราะอู่ต่อเรือสำคัญๆของพวกเขาถูกควบรวมเข้ากับ BAE Systems Australia นั่นเอง
Australian Air Force Project
อุตสาหกรรมการบินออสเตรเลียค่อนข้างเจริญก้าวหน้ามากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาสามารถผลิตเครื่องบินรบรุ่นต่างๆเป็นจำนวนมากเข้าประจำการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการซื้อลิคสิทธิ์มาปรับปรุงตามความต้องการอีกที จำนวนที่ผลิตอยู่ในระดับ2-3พันลำกันเลยทีเดียว ซึ่งจะว่าไปแล้วการผลิตเครื่องบินในยุคนั้นยังไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก ประเทศไทยโดยกรมอากาศยานได้ผลิตเครื่องบินรบขึ้นมาเองจำนวนรวมถึง 170 ลำเช่นกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคสมัยของอากาศยานก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสุงเข้ามาทำหน้าที่แทนเครื่องบินรบรุ่นเก่าๆ โดยมาพร้อมกับความยุ่งยากซับซ้อนและเทคโนโลยีขั้นสุง
กองทัพอากาศออสเตรเลียยึดนโยบายพึ่งพาตัวเองมาโดยตลอด และโดยส่วนใหญ่จะใช้บริการจากบริษัท Commonwealth Aircraft Corporation หรือ CAC เพื่อผลิตเครื่องบินรบตามลิคสิทธิ์ให้ พวกเขายังคงพยายามทำตามนโยบายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยการผลิตเครื่องบินขับไล่ CAC Sabre ซึ่งก็คือ F-86F Sabre ของ North American Aviation โดยใช้เครื่องยนต์ไอพ่น Rolls-Royce Avon R.A.7 จากอังกฤษแทน เครื่องต้นแบบ CA-26 Sabre เริ่มทดสอบบินในวันที่ 3 สิงหาคม 1953 ส่วนเครื่องบินจริง CA-27 Sabre ลำแรกสุดเข้าประจำการในปีถัดไป ยอดผลิตรวมทั้งโครงการอยู่ที่ 112 ลำ เป็นเครื่องบินขับไล่ลำสุดท้ายของ CAC ที่ผลิตเพื่อเข้าประจำการ
ต่อมาในปี 1964 กองทัพอากาศออสเตรเลียได้เลือกเครื่องบินไอพ่นปีกสามเหลี่ยม Dassault Mirage III จากฝรั่งเศส โดยนำมาผลิตเองภายในประเทศภายใต้ลิคสิทธิ์เหมือนเช่นเคย ทว่างานนี้ Government Aircraft Factories หรือ GAF ได้เป็นเจ้าภาพหลัก ส่วน CAC ช่วยในเรื่องผลิตชิ้นส่วนต่างๆรวมทั้งติดตั้งเครื่องยนต์หลักให้ ยอดรวมทั้งหมดของเครื่องบิน Mirage IIIO อยู่ที่ 114 ลำ ทางด้านเครื่องบิน CAC Sabre ที่เริ่มชราภาพลงได้ทยอยปลดประจำการตั้งแต่ปี 1971 เครื่องบินส่วนหนึ่งถูกส่งให้กองทัพอากาศมาเลเซียและอินโดนีเซียแบบไม่คิดมูลค่า
หลังจบโครงการ Mirage III อุตสาหกรรมการบินของออสเตรเลียยังคงเดินหน้าไปต่อ เดือนตุลาคม 1981 กองทัพอากาศออสเตรเลียเลือกเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ F/A-18 Hornet จำนวน 75 ลำ เพื่อนำมาทดแทน Mirage IIIO โดย GAF รับเป็นผู้ผลิตภายในประเทศจำนวน 73 ลำเช่นเดิม ส่วนทางด้านบริษัท CAC ซึ่งเคยรุ่งเรืองก็มีแต่ทรงกับทรุดไปตามท้องเรื่อง เพราะโครงการที่ได้รับมาจะเป็นเครื่องบินฝึกบ้าง เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลบ้าง แต่ก็มีจำนวนไม่มากเทียบเท่าผลิตเครื่องบินขับไล่ในอดีต ปลายปี 1967 พวกเขาได้เริ่มต้นโครงการเครื่องบินฝึกขั้นสุงปีกสามเหลี่ยม CA-31 ขึ้น โดยสามารถติดอาวุธได้และเป็นเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดได้ ความเร็วสุงสุดถึง 1.5 มัคมากกว่าเครื่องบินฝึกรุ่นเก่าเกือบ 2 เท่า เครื่องบินมีขนาดเล็กกว่าและค่าใช้จ่ายถูกกว่า Mirage III ที่ใช้เป็นเครื่องบินรบหลักอยู่ รวมทั้งยังสามารถบินขึ้นลงเรือบรรทุกเครื่องบินได้อีกด้วย เทียบกับเครื่องบินโจมตีแท้ๆอย่าง A-4 Skyhawk แล้วยังแทบกินกันไม่ลง ถือเป็นความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการบินออสเตรเลีย
ทว่าในปี 1975 กองทัพอากาศออสเตรเลียติดสินใจไม่นำ CA-31เข้าประจำการ โดยยังคงใช้งาน Aermacchi MB-326 เป็นเครื่องบินฝึกขั้นสุงต่อไป CAC จึงต้องพับโครงการอันยิ่งใหญ่ลงอย่างช่วยไม่ได้
อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศออสเตรเลียในปัจจุบัน
แม้ออสเตรเลียจะไม่ได้ส่งออกอาวุธอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมทั้งไม่มีสินค้าที่มีชื่อเสียงติดตลาดเฉกเช่นชาติอื่นๆ บริษัทส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กที่ชำนาญการเฉพาะทาง เป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ รวมทั้งเป็นบริษัทย่อยของต่างชาติอีกทีหนึ่ง งานสำคัญก็คือการผลิตชิ้นส่วนต่างๆของอาวุธหลากหลายจากค่ายตะวันตก รวมทั้งผลิตชิ้นส่วนสำหรับอะไหล่ซ่อมบำรุงตามวงรอบ แม้ยอดส่งออกจะยังไม่มากเหมือนประเทศอื่นๆก็ตาม แต่ด้วยกำลังซื้อค่อนข้างสุงจากประเทศตัวเอง ช่วยให้กิจการเจริญก้าวหน้าไปได้ตามเหตุตามผล บริษัทที่มีชื่อเสียงก็คือ CEA Technologies ซึ่งผลิตเรดาร์ชนิดต่างๆ ระบบควบคุมการยิง รวมทั้งระบบสื่อสารข้อมูลบนเรือรบ ประเทศไทยเองก็เป็นลูกค้า CEA เช่นกัน โดยได้สั่งซื้อระบบ SSCWI (Solid State Continuous Wave Illuminator) มาติดตั้งบนเรือชั้นนเรศวรปรับปรุงใหญ่ และเรือฟริเกตสมรรถนะสุงลำใหม่จากเกาหลีใต้
ทางด้านระบบอาวุธอื่นๆที่ออสเตรเลียมีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นความร่วมมือกับกองทัพเรืออเมริกา อาทิเช่น ระบบอำนวยการรบ AN/BYG-1 combat system ตอร์ปิโด 21 นิ้วรุ่น Mark 48 MOD 7 สำหรับใช้งานในเรือดำน้ำโจมตี ระบบเป้าลวงรุ่นใหม่ Nulka Active Expendable Decoy สำหรับใช้งานบนเรือรบ นอกจากนี้แล้วก็จะเป็นอาวุธขนาดเล็กต่างๆ เช่น ระเบิดขว้างสังหาร F1 และ F3 Hand Grenades ของ Thales Australia อาจจะมีอาวุธชนิดอื่นๆเพิ่มเติมอีกนะครับ ทว่าตอนนี้ผู้เขียนมีอาการสมองทืบเสียแล้ว และบทความก็ค่อนข้างยาวมากแล้ว จึงต้องขอปิดฉากเรื่องราวของประเทศออสเตรเลียไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน
---------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Australian_Army
http://www.nuclear-weapons.info/vw.htm
http://tonnel-ufo.ru/eanglish/weapon/asw-complex-ikara.php
https://en.wikipedia.org/wiki/Ikara_%28missile%29
http://www.secretprojects.co.uk/forum/index.php/topic,11820.0.html
http://www.secretprojects.co.uk/forum/index.php/topic,13157.msg130056.html#msg130056
https://eamonh.wordpress.com/2014/01/03/the-ca-31-the-best-little-jet-trainer-that-never-was/
http://www.gonzales.com.au/joe/resume/gaf.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_aircraft_of_the_Royal_Australian_Air_Force
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น