วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

Australian Defence White Paper 2016



Australian Defence Force

                ออสเตรเลีย (Australia) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าเครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) ตั้งอยู่บนทวีปออสเตรเลีย มีพื้นที่รวม 7,692,024 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 23,897,300 คน แม้จะมีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยถึงเกือบ 15 เท่าก็ตาม ทว่ากองกําลังป้องกันประเทศของออสเตรเลีย ( Australian Defence Force) หรือ ADF ก็มีจำนวนไม่มากนัก นั่นคือกองทัพเรือมีจำนวน 13,921 คน กองทัพอากาศ 13,991 คน และกองทัพบก 29,010 คน รวมเท่ากับ 56,922 คน นอกจากนี้ยังมีกำลังพลสำรองรวมทุกเหล่าทัพอีก 23,232 คนเท่านั้น เทียบกับกองทัพเรือไทยรวมนาวิกโยธินด้วยก็มีจำนวนถึง 71,000 คนเข้าไปแล้ว งบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีแปรผันกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือค่าGDP ในปีงบประมาณ 2014-2015 ที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียจัดสรรงบประมาณมาให้ จำนวน 29.2 พันล้านเหรียญ หรือ 1.8 เปอร์เซ็นต์ของค่า GDP


                เพราะประเทศเป็นเกาะขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก การป้องกันจึงเน้นไปยังภัยคุกคามบนน้ำและใต้น้ำเป็นหลัก กองทัพเรือออสเตรเลียประกอบไปด้วยเรือดำน้ำโจมตีชั้น Collins จำนวน 6ลำ เรือฟริเกตอาวุธจรวดนำวิถีชั้น  Adelaide จำนวน 3 ลำ เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น  Anzac จำนวน 8 ลำ เรือตรวจการณ์ชั้น Armidale ความยาว 56.8 เมตรจำนวน 13 ลำ เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่จำนวน 3 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Huon จำนวน 6 ลำแต่มีสถานะประจำการเพียง 4 ลำ ทางด้านอากาศยานราชนาวีประกอบไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B Seahawk จำนวน 16 ลำ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง MRH-90 จำนวน 6 ลำ และเฮลิคอปเตอร์เบา AS350B อีกจำนวน 13 ลำ

                กองทัพอากาศออสเตรเลียมีความสำคัญเป็นอันดับต่อไป พวกเขามีเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินขับไล่ F-35A Lightning II จำนวน 2 ลำจากยอดรวม 72 ลำ F/A-18 A/B Hornet จำนวน 71 ลำ เครื่องบินขับไล่โจมตี F/A-18 F Super Hornet จำนวน 24 ลำ เครื่องบินสงครามอิเลคทรอนิค EA-18G Growler จำนวน 1 ลำจากยอดรวม 12 ลำ เครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ E-7 Wedgetail จำนวน 6 ลำ เครื่องบินฝึกขั้นสุง Hawk 127 จำนวน 33 ลำ ฝูงบินลาดตระเวณทางทะเลประกอบไปด้วยเครื่องบิน P-8 Poseidon จำนวน 8 ลำ เครื่องบิน AP-3C Orion จำนวน 19 ลำ (ซึ่งจะทยอยปลดประจำการทั้งหมดในปี 2019) ฝูงบินลำเลียงประกอบไปด้วย เครื่องบิน C-17 Globemaster III จำนวน 8 ลำ เครื่องบิน C-130J Super Hercules จำนวน 12 ลำ เครื่องบิน C-27J Spartan จำนวน 2 ลำและสั่งซื้ออีก 8 ลำ และเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ KC-30A จำนวน 7 ลำและสั่งซื้ออีก 2 ลำ ที่น่าแปลกใจก็คือกองทัพอากาศไม่มีเฮลิคอปเตอร์เลย หลังจากได้โอน S-70 A Blackhawk ทั้งหมดให้กับกองทัพบกในปี 1989 พร้อมกับปลดประจำการเฮลิคอปเตอร์รุ่นเก่าๆทั้งหมดในปี 1990


                ทางด้านกองทัพบกที่ดูจะเป็นลูกเมียน้อยของคนขับรถอีกที มีรถถังหลัก M1A1 Abrams จำนวน 59 คัน และยานเกราะล้อยาง 8X8 Australian Light Armoured Vehicle (ASLAV) จำนวน 253 คันเป็นกำลังรบหลัก ทางด้านยานเกราะสำหรับขนส่งประกอบไปด้วย M113 จำนวน 431 คัน กับยานเกราะล้อยาง 4X4 Bushmaster PMVs จำนวน 737 คัน มีปืนใหญ่ 155 มม.จำนวน 54 กระบอก ปืนครกขนาด 81 มม.จำนวน 188 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า RBS-70 19 ระบบ ทางด้านอากาศยานประกอบไปด้วย เฮลิคอปเตอร์โจมตี AS-665 Tiger จำนวน 22 ลำ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง S-70 A Blackhawk จำนวน 34 ลำ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง MRH-90 จำนวน 16 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง CH-47D  จำนวน 6 ลำ  ที่น่าสนใจก็คือมีเรือระบายพลขนาดกลางและรถสะเทินน้ำสะเทินบกอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะย้อนกลับมามาเฉลยปริศนาให้ในภายหลัง


Defence White Paper 2016

                เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียได้เปิดเผยสมุดปกขาวประจำปี 2016 เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และพัฒนากองทัพในช่วงเวลา 20 ปีข้างหน้า เพียง 3 ปีหลังจากที่เคยจัดทำสมุกปกขาวประจำปี 2013 นับว่าสั้นที่สุดยิ่งกว่าครั้งจัดทำสมุดปกขาวประจำปี 2009 เป็นเพราะภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบกับประเทศออสเตรเลียทั้งทางตรงและทางอ้อม นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์ของอเมริกาและจีนที่เริ่มตรึงเครียดมากขึ้น กรณีพิพาทระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนทะเลจีนใต้บริเวณหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสเเปรตลีย์ ภัยจากการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ที่ได้ลุกลามเป็นสงครามเต็มตัวไปแล้วในหลายๆประเทศ กระทั่งการรบกันเองของคนในประเทศยูเครนที่อยู่ในในยุโรป  ภัยคุกคามทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องใหม่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก รัฐบาลและกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียทนอยู่เฉยต่อไปไม่ได้  จึงได้จัดทำสมุกปกขาวเล่มใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังจะเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดนโยบายเสริมสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะโครงการสร้างเรือผิวน้ำทั้งหมดจะต้องทำในออสเตรเลียทุกขั้นตอน


                งบประมาณสำหรับป้องกันประเทศถูกจัดสรรออกเป็นหลายส่วน มีทั้งเหมือนและแตกต่างกับที่ประเทศไทยเราจัดสรรในแต่ละปี โดยหน่วยงานกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือจะได้รับส่วนแบ่งมากที่สุดเท่ากันคือ 25 เปอร์เซนต์สำหรับภารกิจ Key Anablers และ  Maritime and Anti-Submarine Warfare ตามลำดับ กองทัพบกได้รับงบประมาณ 18 เปอร์เซนต์สำหรับภารกิจ  Land Combat and Amphibious Warfare กองทัพอากาศได้รับงบประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์สำหรับภารกิจ Strike and Air Combat งบประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์สำหรับระบบการข่าวกรองการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ สงครามอิเลคทอนิค  สงครามอวกาศ และสงครามไซเบอร์ และงบประมาณ 6 เปอร์เซนต์สุดท้ายสำหรับการลำเลียงขนส่งร่วมทางอากาศและทางทะเล การจัดแบ่งงบประมาณจะอิงกับภารกิจเป็นหลักหาใช่ตามเหล่าทัพไม่

            งบประมาณในส่วนหน่วยงานกระทรวงกลาโหม( Key Anablers )จะเกี่ยวข้องกับ รายจ่ายประจำปี รายจ่ายทางธุรการ การฝึกอบรมบุคลาการและกำลังพลในทุกเหล่าทัพ ระบบสื่อสารคมนาคมและเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งการปรับปรุงและก่อสร้างฐานทัพทางทหารทั่วประเทศด้วย สมุดปกขาว 2016 ดูจะเน้นไปยังกองทัพเรือออสเตรเลียซึ่งมีภารกิจ  Maritime and Anti-Submarine Warfare เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการจัดการกับเรือรบที่เป็นกำลังหลักในการป้องกันประเทศ และให้ความสำคัญกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำรุ่นใหม่มากเป็นอันดับ

Maritime and anti-submarine warfare

                บทความนี้ผู้เขียนจะเน้นไปที่กองทัพเรือออสเตรเลียเป็นหลัก เพราะมีโครงการจัดหาอาวุธใหม่เป็นจำนวนมาก และขนาดโครงการก็ใหญ่มากน่าสนใจมากตามไปด้วย ดูแผนภาพที่กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียจัดทำประกอบไปด้วยนะครับ



Project SEA1000 : Future Submarine Programme

            โครงการจัดหาเรือดำน้ำทดแทนเรือชั้น Collins เริ่มเดินหน้าตั้งแต่ปี 2009 เพื่อสรรหาเรือดำน้ำรุ่นใหม่จำนวน 12 ลำเพื่อทดแทนเรือเก่าจำนวน 6 ลำในอนาคต ออสเตรเลียต้องการเรือดำน้ำขนาด 4,000 ตัน ใช้ระบบอำนวยการรบ  AN/BYG-1 combat system และตอร์ปิโดรุ่น  Mark 48 MOD 7 ที่พัฒนาร่วมกันระหว่างออสเตรเลียกับอเมริกา ติดตั้งระบบ Datalink สามารถติดต่อสื่อสารกับเรือผิวน้ำรวมทั้งอากาศยานได้ ใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งสามารถบรรทุกอาวุธได้ตามความต้องการ คือ ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด จรวดต่อสู้เรือรบ รวมทั้งจรวดร่อนโจมตีชายฝั่งระยะไกล Project SEA1000 หรือ SEA100 Programme มีบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำเข้าร่วมชิงชัย 3รายด้วยกันคือ DCNS จากฝรั่งเศส TKMS จากเยอรมัน และ Mitsubishi Heavy Industries ในนามรัฐบาลญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้ออสเตรเลียได้ตัดบริษัทจากสวีเดนออกไป ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้มีการสร้างเรือดำน้ำมานานพอสมควร ทั้งที่สวีเดนคือผู้ผลิตเรือดำน้ำชั้น Collins ทั้ง 6 ลำ

                เรือดำน้ำรุ่นใหม่ลำแรกสุดจะเข้าประจำการได้ในช่วงต้นทศวรรษ 2030 ลำที่เหลือจะทยอยเข้าประจำการไปจนถึงปลายทษวรรษ 2040 หรือช้าสุดก็ประมาณปี 2050 ขณะที่เรือดำน้ำชั้นชั้น Collins เริ่มเข้าประจำการในปี 1996 และมีกำหนดปลดประจำการเมื่ออายุครบ 30 ปีในปี 2025 ทำให้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างนี้อยู่ประมาณ 10 ปีด้วยกัน กองทัพเรือจึงจัดทำโครงการปรับปรุงเรือดำน้ำชั้นชั้น Collins ให้สามารถประจำการได้อีกซักพักใหญ่ๆ จนกว่าจะได้เรือดำน้ำรุ่นใหม่พร้อมใช้งานเข้ามาทดแทน รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดให้คงจำนวนเรือดำน้ำไว้ที่ 12 ลำแบบตายตัว นั่นคือถ้ามีการปลดประจำการก็จะมีการจัดหาเรือใหม่มาทดแทนอย่างทันท่วงที

                Project SEA1000 จะมีระยะเวลาดำเนินการนานถึง 25 ปี ในสมุดปกขาวปี 2009 รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดให้มีการดำเนินการและสร้างเรือทั้งหมดภายในประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างความรู้และพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต โดยบริษัทผู้ผลิตจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและช่วยเหลือในทุกด้านจนกว่าจะจบโครงการ ถือเป็นการควบคุมงานทั้งหมดแบบต้นน้ำปลายน้ำ ตั้งแต่ภาพวาดแบบเรือภาพแรกสุดไปจนถึงขันน๊อตตัวสุดท้าย แต่แนวความคิดนี้ได้รับการคัดค้านมากขึ้น และรัฐบาลเองก็มีความโอนอ่อนลงมาพอสมควร เพราะการสร้างเรือดำน้ำเป็นเทคโนโลยีขั้นสุงมาก ถ้าไม่มีความพร้อมจริงๆจะมีปัญหาตามมาพอสมควร จึงยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ทว่างานในส่วนอื่นๆรวมทั้งการฝึกอบรมและซ่อมบำรุงจะทำในประเทศทั้งหมดเหมือนเดิม


                ทำไมรัฐบาลออสเตรเลียถึงยอมถอย ทั้งที่เรือดำน้ำจำนวน 12 ลำสามารถสั่งให้ผู้ขายเนรมิตอะไรก็ได้ ผู้เขียนคาดว่าเนื่องมาจากประสบการณ์ในอดีตนั่นเอง ขอย้อนกลับไปในปี 1952 ออสเตรเลียสั่งซื้อเรือพิฆาตชั้น Daring ระวางขับน้ำ 3,820 ตันจากอังกฤษจำนวน 3 ลำ และลงมือสร้างเองทั้งหมดโดยอู่ต่อเรือภายในประเทศชื่อ Cockatoo Island Dockyard 10 ปีต่อมาอู่นี้ยังได้สร้างเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 12M ขนาด 2,650 ตัน เข้าประจำการอีกจำนวน 6 ลำด้วย ช่วงเวลาดังกล่าวอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของออสเตรเลียเจริญก้าวหน้ามากพอสมควร นอกจากสร้างเรือรบได้แล้วยังมีอาวุธทันสมัยหลากหลายชนิดเข้าประจำการ (ผู้เขียนจะแยกเรื่องนี้ไปเขียนบทความต่างหากอีกครั้ง) แสงแห่งความรุ่งเรืองที่ว่านี้ดำเนินไปอีก 10 กว่าปีก็ถึงยุคถดถอย

                ประมาณปี 1966 กองทัพเรือออสเตรเลียได้เริ่มต้นโครงการ  Australian light destroyer project หรือ DDL เพื่อพัฒนาเรือพิฆาตเบาติดอาวุธและเรดาร์ทันสมัย เพื่อนำมาทดแทนเรือพิฆาตชั้น Daring และเรือฟริเกตชั้น Type 12M ในช่วงเริ่มต้นโครงการแบบเรือมีความยาว 102 เมตร ระวางขับน้ำ 2,100 ตัน ติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอกพร้อมปืนรอง มีลานจอดและโรงเก็บสำหรับเฮลิคอปเตอร์เบาจำนวน 1 ลำ กระทั่งปี 1970 แบบเรือก็มีขนาดใหญ่ขึ้น จนมีความยาว 129.5 เมตร ระวางขับน้ำ 4,200 ตัน ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบฮาร์พูน ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลางรุ่น SM-1 ที่ทันสมัยมากอีกด้วย

                DDL Project ถูกยกเลิกในปี 1973 เพราะงบประมาณในโครงการที่แม้จะลดจำนวนเรือจาก 10 ลำมาเป็น 3 ลำแล้วก็ยังแพงมหาศาล  ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องการตรวจสอบปรับปรุงแบบเรือ และค่าที่ปรึกษาในเรื่องการจัดการโครงการ ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรือติดตั้งระบบจรวดต่อสู้อากาศยานที่ทันสมัยมาก มีระบบแมกกาซีนบรรจุกระสุนที่ยุ่งยากละเอียดอ่อนและจุกจิก ประการต่อมาคือต้องมีการปรับปรุงอู่ต่อเรือ Williamstown Dockyard ให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆได้ ประการที่สามคือแบบเรือที่ขยายใหญ่ขึ้นติดอาวุธมากขึ้นทำให้เรือขาดความสมดุล  ทว่ากองทัพเรือเองก็ไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดเรือจะดีอย่างที่คิดหรือไม่ ประการสุดท้ายก็คือแบบเรือที่นำมาปรับปรุงเป็นของบริษัท Yarrowจากอังกฤษ ซึ่งไม่เคยใช้จรวดต่อสู้อากาศยานของอเมริกา การปรับปรุงแบบเรือจึงกลายเป็นงานที่ไม่มีวันจบ(เพราะแบบเรือไม่รองรับ) และผลาญงบประมาณมากเกินไปจนน่าใจหาย


                เมื่อยกเลิกโครงการ DDLไปออสเตรเลียจึงต้องเปลี่ยนแผน โดยได้ตัดสินใจซื้อเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีชั้น Oliver Hazard Perry จากอเมริกาจำนวน 6 ลำมาใช้งานแทน เทคโนโลยีขั้นสุงคือสิ่งที่ออสเตรเลียไม่สามารถก้าวผ่าน พวกเขายอมหยุดไว้ก่อนแล้วค่อยก้าวต่อไปเมื่อคิดว่าตัวเองพร้อม  ทว่าในเวลาเดียวกันนั้นเอง กองทัพเรือสเปนได้สั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry จำนวน 6 ลำเท่ากัน  แต่เลือกที่จะสร้างเองทุกลำด้วยอู่ต่อเรือภายในประเทศ จากนั้นไม่นานนักอุตสาหกรรมต่อเรือรบของสเปนก็เจริญก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ จนสามารถขายเรือรบของตัวเองให้กับทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ออสเตรเลียเองก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสเปนเช่นกัน

Project SEA4000 : Air Warfare Destroyers (AWDs) 

                สมุดปกขาว 2016 ได้กำหนดจำนวนเรือรบผิวน้ำไว้อย่างชัดเจน นั่นคือเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Hobart จำนวน 3 ลำ เรือฟริเกตรุ่นใหม่จำนวน 9 ลำ และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอีกจำนวน 12 ลำ  ภาพโดยรวมในปี 2035 กองทัพเรือออสเตรเลียจะประกอบไปด้วยเรือดำน้ำขนาด 4,000 ตันจำนวน 12 ลำ เรือรบผิวน้ำขนาด 7,000 ตันจำนวน 12 ลำ และเรือตรวจการณ์ติดอาวุธขนาด 1,000 ตันขึ้นไปอีกจำนวน 12 ลำ

                Air Warfare Destroyers Programme หรือโครงการเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ เป็นการจัดหาเรือรบขนาด 7,000 ตันจำนวน 3 ลำ ทดแทนเรือฟริเกต Adelaide จำนวน 6 ลำ แม้จำนวนเรือจะน้อยกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง แต่เรือถูกออกแบบมาสำหรับภารกิจป้องกันภัยทางอากาศโดยตรง จึงมีทั้งระบบอำนวยการรบเอจิส ระบบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรุ่น  AN/SPY-1D(V) ระบบเรดาร์ควบคุมการยิง MK-99 ระบบท่อยิงแนวดิ่ง MK-41 VLS 48 ท่อยิง สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง ESSM และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล SM-2 ภารกิจป้องกันภัยทางอากาศกองเรือออสเตรเลีย จึงมีประสิทธิภาพสุงมากขึ้นอย่างโดดเด่นชัดเจนกว่าเดิม


                Project SEA4000 เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2004 มีบริษัทผู้ผลิตเรือเข้าร่วมชิงชัยจำนวน 3 รายประกอบไปด้วย Blohm@Voss จากเยอรมัน  Navantia จากสเปน และ Gibbs & Cox จากอเมริกา ก่อนจะมีการประกาศผลและเซ็นสัญญากันในปี 2007 โดยที่แบบเรือ F-100 ของ Navantia เป็นผู้ได้รับคัดเลือก ก่อนหน้านี้ไม่นานแบบเรือ F-100 เพิ่งได้รับคัดเลือกจากกองทัพเรือสเปน เพื่อเข้าประจำการทดแทนเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry ของตัวเองเช่นกัน ทำให้ยอดรวมของเรือรุ่นนี้มีถึง 8 ลำนับว่าเยอะมาก อุตสาหกรรมต่อเรือรบของสเปนเจริญรุ่งเรืองติดต่อกันมานาน 20 ปีเข้าไปแล้ว ตรงกันข้ามกับอังกฤษที่ขายเรือรบแท้ๆได้น้อยนิดเหลือเกิน

                Air Warfare Destroyer ของออสเตรเลีย ใช้แบบเรือ F-100 ของสเปนมาปรับปรุง และทำการสร้างโดยอู่ต่อเรือ BAE Systems Australia ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอังกฤษ ผู้เขียนอ่านแล้วดูวุ่นวายพิลึกและมันก็วุ่นวายจริงๆ รัฐบาลออสเตรเลียทราบดีว่าจะมีปัญหาเยอะจึงได้กำหนดวงเงินไว้สุงตั้งแต่แรก ทว่าเอาเข้าจริงๆปัญหาเรื่องงบประมาณบานปลายก็ยังตามมาหลอกหลอน ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าเรือพิฆาตระบบเอจิส+เรดาร์ AN/SPY-1D(V) ค่อนข้างมีความยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร การสร้างเรือลำแรกจึงมีความล่าช้าและปัญหาเยอะพอสมควร สมุดปกขาว 2016 รัฐบาลออสเตรเลียจึงได้กำหนดวงเงินสร้างเรือ 3 ลำไว้ใหม่ที่ 9.1 พันล้านเหรียญ (ไม่รวมการจัดหาอาวุธและระบบอำนวยการรบ) เข้าใจว่าตอนยกมือโหวตคงมีคนยกมือน้ำตาไหลกันบ้างล่ะ
               
Project SEA5000 : Future Frigates

                นี่โครงการจัดหาเรือผิวน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ กองทัพเรือออสเตรเลียต้องการเรือฟริเกตขนาด 7,000 ตันจำนวน 9 ลำ เพื่อนำมาทดแทนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น  Anzac จำนวน 8 ลำในช่วงปลายทศวรรษ 2020 รายละเอียดของโครงการเท่าที่มีการเปิดเผย จะมีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ CEAFAR2 และเรดาร์ควบคุมการยิง CEAMOUNT โดยเรดาร์ทั้ง 2 แบบจะฝังติดอยู่ในเสากระโดงหลักครอบคลุมทุกองศา เรือฟริเกตรุ่นใหม่จะใช้ระบบอำนวยการรบของ SAAB มีระบบท่อยิงแนวดิ่ง MK-41 VLS จำนวน 48 ท่อยิง รองรับการติดตั้งจรวดร่อนโจมตีชายฝั่งระยะไกล รวมทั้งมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ถึง2 ลำด้วยกัน
               

                ทั้งเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศและเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ ล้วนมีระวางขับน้ำใกล้เคียงกัน (และอาจจะเป็นแบบเรือเดียวกันด้วย ถ้าแบบเรือ F-100ได้รับคัดเลือกอีกครั้ง) กองทัพเรือออสเตรเลียต้องการให้เรือทั้ง 12 ลำทำงานร่วมกันได้ในทุกภารกิจอย่างดีเยี่ยม ระบบอาวุธ ระบบตรวจการณ์ ระบบสื่อสารและระบบอื่นๆของเรือทั้ง 2 ชั้นจึงเป็นมาตราฐานเดียวกัน (ยกเว้นระบบอำนวยการรบและระบบเรดาร์หลัก) รวมทั้งสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลเรียลไทม์กับเรือดำน้ำและอากาศยานจากกองทัพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                Project SEA5000 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีบริษัทผู้ผลิตเรือรบเข้าร่วมชิงชัยจำนวนมาก อาทิเช่น Navantia จากสเปนเจ้าเก่า DCNS จากฝรั่งเศษ Fincantieri จากอิตาลี BAE Systems จากอังกฤษ TKMS จากเยอรมันที่ต้องการจะล้างตาอีกซักครั้ง และ Mitsubishi Heavy Industries ในนามรัฐบาลญี่ปุ่น ยังคงต้องรอดูกันต่อไปกับโครงการใหญ่ราคา 30 พันล้านเหรียญ แต่จะมีการสรัางเรือทุกลำในประเทศออสเตรเลียอย่างแน่นอน ผู้เขียนคิดว่าคงไม่มีปัญหาซักเท่าไหร่ เพราะเคยมีประสบการณ์ที่หนักหนามาแล้วจาก Project SEA4000

Offshore patrol vessels

                กองทัพเรือออสเตรเลียต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่จำนวน 12 ลำ ทดแทนเรือตรวจการณ์ชั้น Armidale จำนวน 13 ลำในอนาคต โครงการนี้จะเริ่มต้นในปี 2018 และกำหนดให้มีการส่งมอบเรือทุกลำภายในปี 2030 รายละเอียดต่างๆยังไม่เป็นที่ชัดเจน ทราบแต่เพียงว่าเรือยาวประมาณ 70-80 เมตร มีประสิทธิภาพและระยะทำกาไกลกว่าเรือรุ่นเก่าทุกด้าน จึงคาดว่าจะมีระวางขับน้ำประมาณ 1,500 ตัน

                เคยมีแบบเรือจากสิงคโปร์จัดแสดงพร้อมแบบเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ของตัวเอง ระบุว่าเสนอให้กับกองทัพเรือออสเตรเลียในโครงการนี้ โดยใช้แบบเรือ FEARLESS-75 Multi-role Combat ติดปืนใหญ่ Oto Melara 76/62 1กระบอก ปืนกล 12.7 mm 2 กระบอก และจรวดต่อสู้เรือรบฮาร์พูนจำนวน 4 นัด ทว่าเอาเข้าจริงๆเรืออาจติดแค่ปืนกลอัตโนมัติ Mk 38 25 มม. 1 กระบอก กับปืนกล 12.7 mm 2 กระบอกก็เป็นได้ ตามมาตราฐานกองทัพเรือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน รัฐบาลกำหนดให้เรือทั้ง 12 ลำสร้างในออสเตรเลียเท่านั้น

Mine countermeasures systems and Hydrographic survey

                เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Huon จำนวน 4 ลำจะได้รับการปรับปรุงช่วงปี 2018-2025 เพื่อประจำการไปจนถึงปลายทศวรรษ 2030 การปรับปรุงใหญ่ทำให้พวกเขาทำสงครามทุนระเบิดได้ดีขึ้น ออสเตรเลียมีเรือกวาดทุ่นระเบิดค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะภูมิประเทศที่เป็นเกาะใหญ่แยกออกมาต่างหาก ทำให้การลักลอบเข้ามาวางทุ่นระเบิดในจุดเสี่ยงทำได้จากเรือดำน้ำเท่านั้น
                ออสเตรเลียมีเรือสำรวจอุทกศาสตร์ขนาดใหญ่จำนวน 2 ลำและขนาดเล็กอีก 4 ลำและจะปลดระวางในช่วงปลายทศวรรษ 2020 กองทัพเรือจะจัดหาเรือสำรวจรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ โดยจะติดตั้งอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในการสำรวจแผนที่ทะเลและสำรวจสมุทรศาสตร์ งานฝึก และการกู้ภัยทางทะเล ตลอดจนสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งรองรับปฎิบัติการทางทหารได้ด้วย  

Maritime combat helicopters

                ออสเตรเลียสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R Romeo Seahawk จำนวน 24 ลำ เพื่อนำมาทดแทนของเก่าคือ S-70B Seahawk จำนวน 16 ลำ โดย 2 ลำแรกถูกส่งมอบแล้วให้กับฝูงบินที่ 725 ซึ่งมีภารกิจฝึกนักบิน ดูจากจำนวนแล้วมากขึ้นแต่ความต้องการใช้เครื่องก็มากกขึ้นด้วย เพราะฝูงบิน 816 ซึ่งประจำการยู่บนเรือรบจะใช้จำนวนเครื่องถึง 21 ลำ (เรือฟริเกตรุ่นใหม่ 9 ลำต่อเฮลิคอปเตอร์ 18 ลำ และเรือพิฆาต 3 ลำต่อเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ) จึงเหลือเครื่องบินลำหรับฝึกบินจริงๆแค่เพียง 3 ลำเท่านั้น

Maritime surveillance and response aircraft

                ฝูงบินลาดตระเวณทางทะเลซึ่งเป็นของกองทัพอากาศ มีการจัดหาเครื่องบิน P-8 Poseidon จำนวน 15 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบิน  AP-3C Orion จำนวน 19 ลำ โดยได้สั่งซื้อล๊อตแรก 8 ลำและเข้าประจำการแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนอีก 7 ลำจะตามมาในล๊อตที่สองจนครบฝูงในปี 2025 นอกจากนี้จะมีการจัดหาอากาศยานไร้คนขับรุ่น MQ-4C Triton unmanned aircraft จำนวน 7 ลำเข้าประจำการเพิ่มเติมในช่วงช่วงปลายทศวรรษ 2030 ภารกิจลาดตระเวณทางทะเลที่ค่อนข้างสำคัญมากในเวลานี้ จะมีประสิทธิภาพและศักยภาพสุงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

  Canberra class amphibious ships

                เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกชั้น Canberra ระวางขับน้ำ 27,500 ตันดาดฟ้าเรียบพร้อมลานสกีจั๊มพ์ จำนวน 2 ลำเข้าประจำการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ออกปฎิบัติภารกิจแรกสุดแล้วด้วย คือเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนที่ประเทศฟิจิ กองทัพเรือทำการบรรจุอากาศยานประจำเรือแต่ละลำดังนี้คือ  เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง MRH-90 จำนวน 3 ลำเท่านั้น ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ นั่นก็เพราะพวกเขามี  MRH-90 จำนวน 6 ลำเท่านั้นเอง (มีเรือที่ดาดฟ้าโล่งกว่าเรือหลวงจักรีนฤเบศรแล้ว ไชโย) กองทัพเรือออสเตรเลียจะใช้เรือทั้ง 2 ลำนี้ ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย การอพยพคนจากภัยสงคราม และฐานบินกลางทะเลเป็นหลัก


                แล้วภารกิจสนับสนุนการยกพลขึ้นบกจะทำอย่างไร ก็ต้องเป็นหน้าที่ของนาวิกโยธินนั่นแหละครับ เหล่าคอหนังออสเตรเลียจะมีอายุครบ 103 ปีในเดือนตุลาคม 2016 พวกเขาเคยผ่านการทำภารกิจมาแล้วมากมาย ทั้ง สงครามเกาหลี สงครามเวียตนาม ติมอร์ตะวันออก และสงครามอิรัค  ทว่านาวิกโยธินทุกนายสังกัดกองทัพบกออสเตรเลียนะครับ เป็นหน่วยปฎิบัติการพิเศษมีกำลังพลรวมเพียง 650 นาย ในการทำภารกิจจริงต้องใช้ทหาร อาวุธ และยานภาหนะทั้งหมดจากกองทัพบก ผู้อ่านจะได้เห็นนาวิกโยธินเตรียมพร้อมบนเรือระบายพลขนาดกลาง ในโรงเก็บและดาดฟ้าเรือกว้างๆจะมีเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง MRH-90 จำนวน 12 ลำ กับเฮลิคอปเตอร์โจมตี AS-665 Tiger จำนวน 6 ลำจอดเรียงรายแน่นขนัด โดยมีเฮลิคอปเตอร์ลำโตอย่าง CH-47D แวะมาเยี่ยมเยียนอยู่บ่อยครั้งและอาจค้างคืนบนดาดฟ้าเรือด้วย แม้จะมีการติดตั้งลานสกีจั๊มพ์ที่หัวเรือแต่จะไม่มีเครื่องบิน F-35B อย่างแน่นอน กองทัพเรือยกเลิกฝูงบินปีกแข็งประจำเรือตั้งแต่ปลายปี 1984 ทั้งนี้ก็เพราะได้ปลดประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินลำสุดท้าย HMAS Melbourne (R21) ในปี 1982 โดยที่ A-4G Skyhawk คือฝูงบินท้ายสุดของกองบินราชนาวี 

 Air and sea lift

            ผู้เขียนจะพูดถึงการลำเลียงขนส่งร่วมทางอากาศและทางทะเลเพียงสั้นๆ โดยจะประกอบไปด้วย
                -เครื่องบินลำเลียง C-17A Globemaster III 8 ลำ  C-130J Hercules 12 ลำ และ C-27J Spartans 10 ลำ
                -เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ KC-30A  7ลำ
                - เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง  CH-47F Chinooks 7ลำ และ  MRH-90 47 ลำ
                - ปรับปรุงเรือลำเลียงสนับสนุน HMAS Choules และสร้างเรืออเนกประสงค์ขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 1 ลำ
                - เรือชั้น Canberra จะถูกใช้ในการลำเลียงขนส่งร่วมทางทางทะเลเป็นภารกิจรองเท่านั้น

Strike and air combat warfare


            กองทัพอากาศออสเตรเลียมีแผนการจัดหาเครื่องบินรบที่ค่อนข้างชัดเจน คือเอาเครื่องบิน F-35มาทดแทน F/A-18 A/B ในจำนวนเท่าเดิม ในปี 2023 หรืออีก 8ปีข้างหน้า กำลังรบของพวกเขาจะประกอบไปด้วย

                -เครื่องบินขับไล่ F-35A Lightning II Joint Strike Fighters  72 ลำ ทดแทน F/A-18 A/B Hornet  71 ลำ
                -เครื่องบินขับไล่โจมตี F/A-18 F Super Hornet  24 ลำ
                -เครื่องบินสงครามอิเลคทรอนิค EA-18G Growler 12 ลำ
                -เครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ E-7 Wedgetail  6 ลำ 

                F-35A Lightning II จำนวน 2 ลำ ถูกส่งมายังออสเตรเลียแล้ว ความน่าสนใจของการจัดหาเครื่องบินขับไล่ยุค 5 จำนวน 72 ลำไม่ใช่ที่ประสิทธิภาพดีไม่ดี ความล่าช้าของโครงการ หรือปัญหาต่างๆที่ตามมาแต่อย่างใด ทว่ากลับเป็นเรื่องการเข้าร่วมของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่างหาก โครงการ Joint Strike Fighters หรือ JSF จะมีปริมาณการผลิตเครื่องบินสุงถึงประมาณ 3,000 ลำในเวลา 30 ปี ออสเตรเลียเป็นชาติที่เข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่แรก มีบริษัทน้อยใหญ่ภายในประเทศจำนวนมากเข้าร่วมในการผลิตด้วย นับจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2015 บริษัทจากออสเตรเลียได้รับสัญญาสั่งซื้อจากโครงการJSFรวมถึง 554.5 ล้านเหรียญแล้ว และจะมีสัญญาสั่งซื้อเข้ามาอีกเรื่อยๆตราบใดที่F-35 ยังเปิดสายการผลิต นอกจากนี้ยังสามารถขายเป็นอะไหล่ในการซ่อมบำรุงได้อีกด้วย นั่นหมายถึงเงินก้อนโตที่ใช้ซื้อเครื่องบินรบ จะกลับคืนสู่ประเทศจำนวนหนึ่งมากน้อยก็ว่ากันไป


Airborne electronic attack aircraft 

            สงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Warfare) หรือปฏิบัติการทางทหารต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ของข้าศึก ด้วยการโจมตีเพื่อให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของข้าศึกไม่สามารถใช้การได้เต็มประสิทธิภาพ การโจมตีที่ว่าสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ อาทิ การดักฟังสัญญาณ การก่อกวน การทำลายเป้าหมาย การดักฟังรวบรวมข่าวกรอง กระทั่งการโจรกรรมข้อมูล เครื่องบินสงครามอิเล็คทรอนิกส์แบบ EA-18G Growler จะเข้าประจำการครบฝูง 12 ลำในปี 2018 โดยมาพร้อมอาวุธสุดทันสมัยในการทำสงคราม ระบบสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกภาคพื้นดิน รวมทั้งการปรับปรุงฐานทัพอากาศที่เครื่องบินประจำการ เพื่อให้สามารถปฎิบัติภารกิจได้ยาวนานถึง 20-30 ปี


 Integrated air and missile defence

                อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจมาก นั่นคือกองทัพอากาศออสเตรเลียในปัจจุบัน มีแค่เพียงจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า RBS-70 .ไม่กี่ระบบในการป้องกันฐานทัพสำคัญๆ พวกเขาไม่มีจรวดต่อสู้อากาศยานแท้ๆประจำการเลยแม้แต่ระบบเดียว นั่นก็เพราะความที่เป็นเกาะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก และตั้งอยู่ห่างจากภัยคุกคามหลายพันไมล์ทะเลนั่นเอง โอกาสที่จะมีเครื่องบินรบฝ่ายตรงข้ามบินเข้ามาถึงฐานทัพน่าจะเป็นไปได้กรณีเดียว นั่นคือกองทัพเรือออสเตรเลียแตกเสียแล้ว กองทัพอากาศก็โดนไปเก็บหมด กองทัพบกยันอีกฝ่ายให้ตกทะเลไม่ได้ นั่นแหละถึงจะได้ใช้งานจรวดระยะยิง 5 กิโลเมตร

                แต่รัฐบาลออสเตรเลียก็ไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด เพราะภัยคุกคามรูปแบบใหม่กำลังพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว อาทิเช่นจรวดร่อนโจมตีชายฝั่งระยะไกล ที่เรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามอาจเล็ดเข้ามาใกล้แล้วยิงเข้าใส่ชายฝั่งได้ (แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลียจะเป็นของเอกชน และใช้ทำปศุสัตว์เป็นหลักก็ตามเถอะ) กองทัพอากาศมีแผนที่จะจัดหาจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่ารุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ RBS-70 ในช่วงต้นทศวรรษ 2020 และโครงการจัดหาจรวดต่อสู้อากาศยานระยะปานกลางรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่ง มาป้องกันฐานทัพอากาศสำคัญๆในช่วงปลายทศวรรษ 2020

Deployable light helicopters

            โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์เข้าประจำการอีกครั้งในช่วงประมาณปี 2025 โดยจะเป็นเฮลิคอปเตอร์เบาอเนกประสงค์ ใช้ในภารกิจขนส่งโดยสาร ลาดตระเวณตรวจการณ์ สนับสนุนปฎิบัติการพิเศษ รวมทั้งเป็นเฮลิคอปเตอร์โจมตีได้ด้วย สามารถขนส่งทางอากาศโดยเครื่องบิน C-17 ได้เพื่อความสะดวก โปรดนึกถึงเฮลิคอปเตอร์ลาโกต้าของกองทัพบกเราไว้ครับ

                โครงการอื่นๆของกองทัพอากาศไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ส่วนมากเป็นการปรับปรุงเครื่องบินที่ประจำการอยู่ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น มีประสิทธิภาพสุงขึ้น รวมทั้งทยอยติดตั้งระบบสื่อสาร Datalink สามารถส่งข้อมูลเรียลไทม์ให้กับเครื่องบินด้วยกัน สถานีเรดาร์พื้นดิน รวมทั้งเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศและเรือฟริเกตรุ่นใหม่ได้ด้วย 

Land combat and amphibious warfare


            กองทัพบกออสเตรเลียและนาวิกโยธิน มีความน่าสนใจอยู่ในระดับนั่งหลับเช้ายันเย็นได้เลย นั่นคือไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าที่ควร งบประมาณส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยมากขึ้นในทุกด้าน ทว่าการจัดหาอาวุธใหม่ก็มีน้อยมาก อาทิเช่น โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับสำหรับลาดตระเวนตรวจการณ์ โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่นใหม่ทดแทนเฮลิคอปเตอร์ AS-665 Tiger ในช่วงประมาณปี 2025 อีกโครงการก็คือการปรับปรุงรถถังหลัก M1A1 Abrams ให้ทันสมัยมากกว่าเดิม (ดูเหมือนทั่วโลกจะเลือกปรับปรุงรถถังมากกว่าซื้อของใหม่ไปเสียแล้ว) 

                โครงการจัดหายานเกราะติดอาวุธรุ่นใหม่เข้าประจำการทดแทน ASLAV เป็นโครงการสำคัญมากเช่นกัน ภูมิประเทศของออสเตรเลียเหมาะสมกับยานเกราะล้อยางมากกว่ารถถัง เพราะรถมีความคล่องตัวสุงกว่า มีความเร็วในการเดินทางมากกว่า มีความอเนกประสงค์มากกว่า มีความยืดหยุ่นในทุกภารกิจมากกว่า อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจก็คือ โครงการจัดหาจรวดพื้น-สู่-พื้นระยะยิงไกลสุด 300 กิโลเมตรรุ่นใหม่ โดยจะมีกำหนดเข้าประจำการช่วงประมาณปี 2025 


                ทางด้านนาวิกโยธินและภารกิจยกพลขึ้นบก จะเหมือนอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปแล้ว ในหัวข้อเรือเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกชั้น Canberra นอกจากเรือระบายพลขนาดกลาง LCM8 และรถสะเทินน้ำสะเทินบก LARC V แล้ว จะมีการจัดหาเรือตรวจการณ์ลำน้ำเข้าประจำการจำนวนหนึ่ง ส่วนโครงการอื่นๆที่เหลือไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจเท่าที่ควร

บทสรุป

            Australian Defence White Paper 2016 ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ไปจากสมุดปกขาวปี 2013 แต่เป็นการกำหนดความชัดเจนของทุกสิ่งทุกอย่างให้ชัดเจนมากกว่าเดิม ไม่ว่าภัยคุกคามที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ประเทศที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดปัญหากับการป้องกันประเทศ ความชัดเจนในทุกโครงการจัดหาอาวุธและโครงการพัฒนาปรับปรุงกองทัพ ตลอดจนความชัดเจนในเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการปรับตัวให้เข้ากับนวัตกรรมใหม่ๆที่เพิมขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้เขียนได้นำเสนอบางประเด็นที่น่าสนใจเท่านั้น บทความนี้จึงไม่คลอบคลุมข้อมูลทั้งหมดของสมุดปกขาว 2016 ผู้อ่านท่านใดต้องการข้อมูลทั้งหมด แนะนำให้โหลดเอกสารเพิ่มเติมจากลิงค์แรกของส่วนอ้างอิงครับ


      -----------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น