อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของเรือรบชนิดต่างๆ
มีความสำคัญไม่แพ้ระบบอาวุธหรือระบบอำนวยการรบรุ่นใหม่ทันสมัย
เพราะเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันต้องเสียเงินทุกครั้งที่ติดเครื่องยนต์ บทความนี้จะพูดถึงอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเรือรบชนิดต่างๆ
แห่งราชนาวีไทย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้จัดเก็บเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
แต่ยังคงมีคุณค่าเหมาะสมในการศึกษาสั่งสมความรู้ให้กับตัวเอง
รวมทั้งเปรียบเทียบระบบขับเคลื่อนชนิดต่างๆ ที่มีใช้งานบนเรือรบลูกประดู่ไทย
ไม่พูดพร่ำทำเพลงมาพบกับเรือลำแรกกันเลยก็แล้วกัน
1.เรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำจากสหรัฐอเมริกามีระวางขับน้ำ
3,500
ตัน ยาว 134 เมตร กว้าง 14.25 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อนกังหันไอน้ำจากยุคสงครามโลก ติดตั้งเครื่องยนต์กังหันไอน้ำ
Westinghouseจำนวน 1 ตัว ทำงานร่วมกับหม้อต้มไอน้ำจำนวน
2 ตัว มีใบจักร 1 เพลา ให้กำลังสูงมากถึง
35,000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 27 นอต
ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 20 นอต
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกถูกออกแบบให้คุ้มกันกองเรือจากเรือดำน้ำสหภาพโซเวียต
ความเร็วมัธยัสถ์จึงค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเรือรบยุคใหม่ อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์
20 นอตเท่ากับ 2,730 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 27 นอตเท่ากับ 6,375 ลิตรต่อชั่วโมง เป็นอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของเรือรบยุคเก่านั่นแหละครับ
เครื่องยนต์กังหันไอน้ำมีกำลังสูงเพิ่มความเร็วให้เรือได้อย่างรวดเร็ว
แต่ต้องแลกเปลี่ยนกับความสิ้นเพลิงน้ำมันเชื้อเพลิงตามระดับความเร็วในการใช้งาน
2.เรือฟริเกตชุดเรือหลวงมกุฎราชกุมาร
เรือฟริเกตรุ่นส่งออกจากอังกฤษมีระวางขับน้ำ
1,782
ตัน ยาว 97.56 เมตร กว้าง 10.97 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOG หรือ Combined
diesel or gas ติดตั้งเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ Rolls-Royce
Olympus จำนวน 1 ตัวให้กำลัง 19,500 แรงม้า
กับเครื่องยนต์ดีเซล Crossley Pelstick PA6S จำนวน 1 ตัวให้กำลัง 6,000 แรงม้า มีใบจักร 2 เพลา ความเร็วสูงสุด 26 นอตเมื่อใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์
ความเร็วสูงสุด 18 นอตเมื่อใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอตเมื่อใช้เครื่องยนต์ดีเซล
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงมกุฎราชกุมารเป็นเรือลำแรกของกองทัพเรือไทยที่ใช้ระบบขับเคลื่อน
CODOG อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์ 16 นอตเท่ากับ 750 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 26 นอตเท่ากับ 5,000 ลิตรต่อชั่วโมง
เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าใช้เครื่องยนต์ดีเซลจะกินน้ำมันเชื้อเพลิงค่อนข้างน้อย เมื่อเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์เพื่อทำความเร็วสูงสุด
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงกลับพุ่งทะยานขึ้นสูงมากถึง 6.66 เท่าตัว
3.เรือฟริเกตชุดเรือหลวงตาปี
เรือฟริเกตตรวจการณ์รุ่นส่งออกจากสหรัฐอเมริกามีระวางขับน้ำ
1,079.1
ตัน ยาว 82.5 เมตร กว้าง 9.5 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซล ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล Detroit
Diesel 16V-149TI กำลัง 1,400 แรงม้าจำนวน 2 ตัว มีใบจักร 2 เพลา ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 20
นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,203 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว
15 นอต
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงตาปีคือเรือรุ่นเดียวกับเรือฟริเกตชุด
Bayandor ของกองทัพเรืออิหร่าน แบบเรือค่อนข้างเก่าระบบขับเคลื่อนย่อมเก่าตามกัน แต่ใช้งานได้อย่างดีดีเยี่ยมไม่มีปัญหารบกวนจิตใจ
จนถึงทุกวันนี้เรือฟริเกตอิหร่านซึ่งมีอายุมากกว่าเรือฟริเกตไทยมากถึง 10 ปี ยังคงรับใช้ชาติครบทุกลำที่ยังไม่ถูกยิงจมระหว่างสงคราม ขณะที่เรือฟริเกตไทยปลดประจำการไปแล้ว
1 ลำจาก 2 ลำ
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์
15 นอตเท่ากับ 650 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 20 นอตเท่ากับ 1,180 ลิตรต่อชั่วโมง เป็นตัวเลขที่ไม่ได้กระโดดสูงแบบฮวบฮาบจนน่าตกใจ
นี่คือข้อดีเรือรบรุ่นส่งออกแท้ๆ
ทั้งลำของสหรัฐอเมริกาซึ่งในปัจจุบันหาซื้อไม่ได้แล้ว
4.เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชุดเรือหลวงราชฤทธิ์
เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจากอิตาลีมีระวางขับน้ำ
300
ตัน ยาว 49.8 เมตร กว้าง 7.5 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซล ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล MTU 20V 538
TB91 จำนวน 3 ตัว มีใบจักร 3 เพลา ความเร็วสูงสุด 36 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,000
ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต
เร็วโจมตีอาวุธนำวิถี BMB-230
ถูกออกแบบให้บุกโจมตีแบบฉาบฉวย ใช้เครื่องยนต์ดีเซลตัวแรงจากเยอรมันจำนวน
3 ตัวในการขับเคลื่อน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์
15 นอตเท่ากับ 457 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 36 นอตเท่ากับ 2,155 ลิตรต่อชั่วโมง ตัวเลขค่อนข้างดีเพราะเรือมีระวางขับน้ำเพียง
300 ตัน แม้ความเร็วสูงสุดจะสูบน้ำมันเชื้อเพลิงค่อนข้างเยอะมาก
แต่เมื่อแลกกับความเร็วที่ได้รับถือว่าคุ้มค่าน้ำมันทุกหยด ทว่าลูกเรือต้องใช้ชีวิตลำบากพอสมควรเพราะตัวเรือมักโคลงไปโคลงมาตามระดับความเร็ว
ปัจจุบันเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ปลดประจำการหมดแล้ว
กองทัพเรือไทยไม่จัดหาเรือชุดใหม่มาใช้งานทดแทนด้วยหลักนิยมเปลี่ยนไป เราจึงไม่มีโอกาสเห็นภาพเรือหัวแหลมวิ่งฝ่าคลื่นลูกใหญ่ก่อนมุดน้ำหายไปครึ่งค่อนลำเหมือนในอดีต
5.เรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหลวงหัวหิน
เรือตรวจการณ์ปืนชุดนี้ออกแบบโดยกรมอู่ทหารเรือ
(แต่ใช้แบบเรืออังกฤษเป็นต้นแบบ) มีระวางขับน้ำ 645 ตัน ยาว 61.67 เมตร กว้าง 8.9 เมตร
ใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซล ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล MAN Diesel 12VP185 จำนวน 3 ตัว มีใบจักร 3 เพลา
ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,667 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต
เรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหลวงหัวหินปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น
เรือหลวงคำรณสินธุ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำจากอังกฤษจำนวน 3 ตัวในการขับเคลื่อน
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์ 15 นอตเท่ากับ 438 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 25 นอตเท่ากับ 1,882 ลิตรต่อชั่วโมง ตัวเลขจัดว่าดีเมื่อเทียบกับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชุดเรือหลวงราชฤทธิ์
เรือมีระวางขับน้ำมากขึ้นสองเท่าและใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่าเล็กน้อย
เหมาะสมกับภารกิจลาดตระเวนตรวจการณ์ในน่านน้ำโดยใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน
6.เรือคอร์เวตชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์
เรือคอร์เวตรุ่นส่งออกจากสหรัฐอเมริกามีระวางขับน้ำ
870
ตัน ยาว 76.8 เมตร กว้าง 9.6 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซล ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล MTU 20V1163
TB83 จำนวน 2 ตัว มีใบจักร 2 เพลา ความเร็วสูงสุด 24 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,568
ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต
เรือคอร์เวต PFMM
Mk.16 จากบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง ถูกออกแบบและปรับปรุงให้สามารถทำการรบครบทั้ง
3 มิติ ติดตั้งอาวุธและเรดาร์รุ่นที่ดีที่สุดทันสมัยที่สุด
ใช้เครื่องยนต์ดีเซลตัวแรงจากเยอรมันจำนวน 2
ตัวในการขับเคลื่อน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์
18 นอตเท่ากับ 785 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 24 นอตเท่ากับ 2,810 ลิตรต่อชั่วโมง ตัวเลขถือว่าไม่เลวเมื่อเทียบกับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชุดเรือหลวงราชฤทธิ์
แต่ถ้าไปท้ารบเรือฟริเกตชุดหลวงตาปีต้องบอกว่าพ่ายแพ้แบบสู้กันไม่ได้
เนื่องจากเรือหลวงตาปีใช้เครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำจากสหรัฐอเมริกา
เรือหลวงรัตนโกสินทร์เปรียบได้กับเรือคอร์เวตสหรัฐอเมริกาที่ใช้เครื่องยนต์เยอรมัน
ใช้ระบบเรดาร์กับระบบอำนวยการรบจากยุโรป ติดตั้งอาวุธจากสหรัฐอเมริกากับยุโรปผสมปนเป
เป็นไปตามความต้องการผู้ใช้งานซึ่งอยากได้สิ่งที่ตัวเองคุ้นมือเป็นอย่างดี
7.เรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา
เรือฟริเกตเจียงหูจากประเทศจีนมีระวางขับน้ำ
1,840
ตัน ยาว 102.87 เมตร กว้าง 11.36 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD หรือ Combined
diesel and diesel ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล MTU 30 V 1163 TB
83 จำนวน 4 ตัว มีใบจักร 2 เพลา ความเร็วสูงสุด 30 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500
ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต
เรือฟริเกตเจียงหูจากจีนซึ่งถูกปรับปรุงให้ใช้งานเครื่องยนต์ดีเซลตัวแรงจากเยอรมัน
มีประสิทธิภาพที่ผู้เขียนรู้สึกตกใจปานกลางค่อนไปในทางสูง อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์
18 นอตเท่ากับ 1,350 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 30 นอตเท่ากับ 5,730 ลิตรต่อชั่วโมง หรือเพิ่ม 4.24
เท่าเมื่อเทียบกับความเร็วมัธยัสถ์
เครื่องยนต์ดีเซล MTU
ช่วยให้เรือหลวงเจ้าพระยามีความเร็วสูงไม่แพ้เรือฟริเกตจากยุโรป
แต่ต้องแลกกับอัตราการผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งได้เปลี่ยนจาก ‘จิบ’ เป็น ‘เขมือบ’ อาจเป็นเพราะธรรมชาติของเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อทำงานในรอบค่อนข้างสูง
ความประหยัดได้พลันแปรเปลี่ยนเป็นความกำหมัด น้ำมันเชื้อเพลิงจึงถูกเผาผลาญอย่างรวดเร็ว
8.เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร
เรือฟริเกตรุ่นส่งออก F25T
จากประเทศจีนมีระวางขับน้ำ 2,800 ตัน ยาว 120
เมตร กว้าง 13.7 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน
CODOG เหมือนเรือหลวงมกุฎราชกุมาร แต่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล MTU
20V1163 จำนวน 2 ตัว
กับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ LM-2500 จำนวน 1 ตัว มีใบจักร 2 เพลา ความเร็วสูงสุด 32 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว
18 นอต
เรือฟริเกตลูกผสมจีน-ยุโรปมีต้นกำเนิดจากสยามเมืองยิ้ม พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์คือผู้เขียนแบบ
Conceptual Design ด้วยตัวเอง ก่อนส่งให้บริษัทสร้างเรือประเทศจีนออกแบบรายละเอียดเป็นพิมพ์เขียวพร้อมทำ
Model Tank Test เรือมีประสิทธิภาพที่ผู้เขียนรู้สึกตกใจปานกลางค่อนไปในทางสูง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต (ใช้เครื่องยนต์ดีเซล) เท่ากับ 1,500 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 32 นอต (ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์) เท่ากับ 2,200 ลิตรต่อชั่วโมงประหยัดน้ำมันยิ่งกว่าออลนิวอีซูซุ
เทียบกับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยาผู้เขียนตกใจขนหัวตั้งชั้น
เครื่องยนต์ดีเซล MTU 30 V 1163 TB 83
ใช้ความเร็ว 30 นอตจะผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง 5,730 ลิตรต่อชั่วโมง ส่วนเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ LM-2500 ใช้ความเร็ว 32 นอตจะผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง 2,200
ลิตรต่อชั่วโมง
คล้ายดั่งตัวเลขสลับร่างสร้างรักแต่เป็นเรื่องจริงไม่อิงนิยาย
ผู้เขียนนึกถึงเรือฟริเกต Oliver
Hazard Perry ที่สหรัฐอเมริกาอยากมอบให้ไทยขึ้นมาทันที
เรือลำนี้ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ LM-2500 จำนวน
2 ตัว มีใบจักร 1 เพลา มิตรรักแฟนเพลงทั่วประเทศบอกว่าสิ้นเปลืองเกินไปไม่เหมาะสมกับราชนาวีไทย
เจอ MTU 30 V 1163 TB 83 เรือหลวงเจ้าพระยาเข้าไปบอกได้คำเดียว…ฮานาก้า!!!
9.เรือฟริเกตชุดเรือหลวงปิ่นเกล้า
เรือพิฆาตคุ้มกันจากสหรัฐอเมริกามีระวางขับน้ำ
1,178
ตัน ยาว 91.8 เมตร กว้าง 11.12 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซล-ไฟฟ้าจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล General Motors 16-278A พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน
4 เครื่อง ให้กำลังสูงสุด 6,400 แรงม้า
มีใบจักร 2 เพลา ความเร็วสูงสุด 20 นอต
ระยะปฏิบัติการไกลสุด 8,340 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต
เรือพิฆาตคุ้มกันยุคสงครามโลกครั้งที่สองสร้างผลงานได้อย่างสุดเหลือเชื่อ
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์
12 นอตเท่ากับ 570 ลิตรต่อชั่วโมง
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อใช้ความเร็วสูงสุด 20 นอตเท่ากับ 780 ลิตรต่อชั่วโมง เทียบกับเรือหลวงตาปีที่ว่าโคตะระประหยัดยังเอาชนะได้อย่างใสสะอาด
เรือฝึกอายุเก่าแก่มากที่สุดในประเทศคือผู้ชนะเลิศการแข่งขันน้ำมันถังเดียวเที่ยวทั่วไทย
บทสรุปปิดท้าย
เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ LM-2500 เป็นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง ระหว่างยุค 90 มักทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน
2 ตัวโดยใช้ระบบขับเคลื่อน CODOG ปัจจุบันระบบขับเคลื่อน
CODOG กำลังเลือนหายไปจากตลาดเรือรบทั่วโลก
เรือฟริเกตจำนวนมากรวมทั้งเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG หรือ Combined diesel and gas ซึ่งมีความทันสมัยมากกว่า
ส่วนเรือฟริเกตที่เลือกใช้งานเครื่องยนต์ดีเซลล้วนก็มีมอเตอร์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ทันสมัยเป็นออปชันเสริม
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมลดลงกว่าเรือที่ใช้ระบบขับเคลื่อนรุ่นเก่าไม่มากก็น้อย
สำหรับเรือรบราชนาวีไทยผู้เขียนกำหนดผู้ชนะเลิศได้ตามนี้
อันดับหนึ่งเรือหลวงปิ่นเกล้า อันดับสองเรือหลวงตาปี และอันดับสามเรือหลวงนเรศวร
++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
เอกสารดาวน์โหลดของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาเรื่อง
:
‘อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของเรือและอากาศยานแต่ละประเภท’
https://thaidefense-news.blogspot.com/2021/04/blog-post_22.html
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:HTMS_Klang_-_PC_542.jpg
https://x.com/WassanaNanuam/status/1436324575424376838
https://x.com/Prachaya_Ice/status/932516613516955648
https://www.getit01.com/p2018012525095627/
http://thaimilitary.blogspot.com/2017/10/the-missing-radar.html