วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

The Missing Radar

 เรดาร์ที่หายไป
                เรือหลวงชลบุรีหมายเลข 331 เป็นหนึ่งในสามเรือเร็วโจมตีอาวุธปืนชั้น MV400 (หรือชั้นเรือหลวงชลบุรี) สร้างโดยอู่ต่อเรือ Cantiere Navale Breda ประเทศอิตาลี เข้าประจำการในปี 2526 ระวางขับน้ำสุงสุด 450 ตัน ยาว 60.4 เมตร กว้าง 8.8 เมตร นับเป็นเรือเร็วโจมตีที่มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดลำหนึ่ง
                ระบบตรวจจับเป้าหมายบนเรือหลวงชลบุรี ใช้เรดาร์ ZW06 จากบริษัท Thales Nederland ซึ่งเป็นเรดาร์เดินเรือและเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ทำงานในโหมด I-band หรือ X- band แล้วแต่จะเรียก ช่วยในการลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ มีระบบป้องกันสงครามอิเลคทรอนิกส์ ออกแบบให้ใช้งานบนเรือตรวจการณ์ไปจนถึงเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเบา นับเป็นเรดาร์เดินเรือตัวท๊อปบนสุดในเวลานั้น มีระยะทำการอยู่ที่ประมาณ 46 กิโลเมตร ได้รับความนิยมพอสมควรคือขายได้ถึง 72 ระบบ ลูกค้ารายแรกก็คือเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซื้อไปติดตั้งในปี 1972 ก่อนบราซิลซื้อไปใช้บนเรือฟริเกตชั้น Niteroi แค่เพียงนิดหน่อย
                ปัจจุบันเรือหลวงชลบุรีมีอายุอานาม34 ปีเข้าไปแล้ว บางสิ่งบางอย่างจึงได้เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา มีการถอดเรดาร์ ZW06 ออกไปจากเสากระโดง แล้วติดตั้งเรดาร์เดินเรือสีขาวสว่างโร่ทดแทน ไม่แน่ใจว่าเรดาร์หมดอายุไข ราคาซ่อมบำรุงแพงเกินกำลัง หรือเรดาร์ที่ติดเข้าไปใหม่ดีกว่ากว่าเดิม เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ตซึ่งเป็นเรือชั้นเดียวกัน ก็ถอดเรดาร์ ZW06 ออกไปแล้วเช่นกัน ทว่าเรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัย ยังคงติดตั้งที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง อาจเป็นไปได้ว่า...เรือ 3 ลำหลังมีขนาดใหญ่โตพอสมควร จึงติดเรดาร์เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องถอดของเก่า คาดเดากันไปตามภาษาคนเขียนบทความ

                 เรือหลวงชลบุรี ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จำนวน 2 กระบอก ทำงานคู่กับเรดาร์ควบคุมการยิง WM22 mod 61 ปืนกลอัตโนมัติลำกล้องแฝด 40/70 ทำงานคู่กับระบบเรดาร์/ออปโทนิค LIROD-8 ซึ่งมีจุดเด่นคือการจัดการเป้าหมายบนฟากฟ้า ติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยเรดาร์ Elettronica ELT 211 ระบบส่งสัญญานรบกวนเรดาร์ Elettronica ELT 318 รวมทั้งระบบเป้าลวง Sippican Mk 33 RBOC อีกจำนวน 4 แท่นยิง ถ้าเปลี่ยนปืน 76/62 มม.ท้ายเรือมาเป็นจรวดเอ๊กโซเซ่ต์ 4 นัด จะกลายเป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีครบเครื่องเรื่องต้มยำที่แท้จริง
                ในภาพเล็กแสดงระบบเรดาร์ ZW06 บนชั้นสองของเสากระโดงเรือ และมีเรดาร์เดินเรืออีก 1 ตัวบนหลังคาสะพานเดินเรือ ส่วนภาพใหญ่จะเห็นว่าไม่มีแล้ว กลายเป็นเรดาร์เดินเรือสีขาวจำนวน 2 ตัวทดแทน ส่วนระบบเรดาร์ควบคุมการยิงและระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ ยังปรกติสุขอยู่ที่เดิมครบครันทั้งหมด
เรดาร์มาตราฐานกองทัพเรือไทย
                ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปี 2531 ระบบเรดาร์เกือบทั้งหมดที่ทัพเรือจัดหาใหม่ ล้วนมาจากบริษัท Signaal ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ก่อนจะกลายมาเป็น Thomson-CSF Signaal และ Thlaes Nederland ในปัจจุบัน) ประกอบไปด้วย เรดาร์ควบคุมการยิงตระกูล WM20 เรดาร์/ออปโทนิค LIROD-8 เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW06 รวมทั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ DA05  ทำงานควบคู่กับระบบสงครามอิเลคทอนิกส์จากประเทศอิตาลี ประกอบไปด้วย ระบบแจ้งเตือนภัยเรดาร์ Elettronica ELT 211 และระบบส่งสัญญานรบกวนเรดาร์ Elettronica ELT 318 มีการติดตั้งบนเรือรบใหม่จำนวนมากถึง 12 ลำ
                การติดตั้งเรดาร์เป็นไปตามขนาดเรือ บางลำติดตั้งครบครันทุกระบบ ได้แก่เรือหลวงมกุฎราชกุมาร บางลำติดแค่เพียง 1 ถึง 2 ระบบ ได้แก่เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้นเรือหลวงปราบปรปักษ์ และชั้นราชฤทธิ์ บางลำติดออปชั่นเสริมเป็นระบบนำวิถีจรวดต่อสู้อากาศยาน ได้แก่เรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังจึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้นปี 2534 มีการจัดหาระบบเรดาร์จากอังกฤษ เพื่อติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธ์ และได้มีการจัดระบบเรดาร์จากจีน มาติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้นเจียงหูและชั้น F-25T ปิดฉากระบบเรดาร์มาตราฐานจากบริษัท Signaal ประเทศเนเธอร์แลนด์

                ประมาณปี 2531 กองทัพเรือไทยได้ผุดแผนสำคัญแผนหนึ่ง คือการติดตั้งเรดาร์และอาวุธจากค่ายตะวันตก บนเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจากจีนจำนวน 4 ลำ ต่อมาได้ยกเลิกไปด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณ เรื่องคุณภาพการต่อเรือของจีน รวมทั้งปัญหาการเมืองเล็ก ๆ น้อย ๆ (แต่ไม่น้อย) ท้ายสุดจึงได้เรือรบติดตั้งอาวุธและเรดาร์จากจีนทั้งลำ โชดยังดีว่าเรือฟริเกตชั้น F-25T หรือชั้นเรือหลวงนเรศวร ยังคงติดตั้งอาวุธและเรดาร์จากค่ายตะวันตกตามแผนเดิม แต่บังเอิญแผนเดิมที่ว่านั้น มีอาวุธและเรดาร์จากจีนปะปนอยู่ด้วยนะครับ
                ปัจจุบันอะไรที่มาจากจีนได้กลับบ้านเก่าไปหมดแล้ว แทนที่ด้วยอาวุธและเรดาร์รุ่นใหม่จากค่ายตะวันตก เป็นเพราะใช้งานค่อนข้างยุ่งยากวุ่นวาย เกิดปัญหาจุกจิกมากมายตามมาไม่เว้นวัน อีกทั้งคุณภาพของสินค้าไม่เป็นไปตามใบปลิว นับเป็นบทเรียนราคาแพงและเป็นกรณีศึกษาที่ดีมาก
การปรับปรุงเรือฟริเกตจากจีน
            เรือหลวงเจ้าพระยาหมายเลข 455 เป็นหนึ่งในสี่เรือฟริเกตอาวุธนำวิถีชั้น Type 053 (หรือชั้นเจียงหู) จากประเทศจีน เป็นหนึ่งในสองของเรือฟริเกตชั้น Type 053HT ซึ่งไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือ ทั้งยังเป็นเรือฟริเกตลำแรกจากจำนวน 6 ลำที่เราสั่งซื้อจากประเทศจีน ตามโครงการออกสู่ทะเลลึกหรือ Blue Sea Project เข้าประจำการในปี 2534 ระวางขับน้ำสุงสุด 1,924 ตัน ยาว 102.87 เมตร กว้าง 11.36 เมตร
                ตลอด 20 กว่าปีที่ได้รับใช้ประเทศ เรือหลวงเจ้าพระยามีการปรับปรุงเรือเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิเช่น ติดตั้งเรดาร์เดินเรือเพิ่ม ติดตั้งเครื่องรับสัญญานผ่านดาวเทียมและกล้องตรวจการณ์กลางคืน ถอดระบบรบกวนสัญญาณเรดาร์ Type 981-2 ออกเพราะหมดอายุ กระทั่งเมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว เรือได้เข้าอู่แห้งเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ครั้งล่าสุด นอกจากปรับปรุงคืนสภาพตามปรกติแล้ว ยังได้ติดตั้งเครนและเรือยางเพิ่มเติมจนครบสองลำ ได้ Satcom ขนาดบักเป้งเพิ่มขึ้นมา 1 ใบ แต่ดันมีเรื่องที่ทำให้ต้องใจหายใจคว่ำ เมื่อเรดาร์ตรวจการณ์ Type 354 Eye Shield ได้หายไปจากยอดเสากระโดงเรือ โดยมีกล้องตรวจการณ์กลางคืนติดตั้งทดแทน

                Type 354 Eye Shield เป็นเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและทางอากาศ เป็นรุ่นก๊อปปี้ของเรดาร์ Fut-N (Slim-Net) จากรัสเซีย ซึ่งต้นฉบับมีระยะตรวจจับมากถึง 147 กิโลเมตร เรดาร์ของจีนมีสเป็กและตัวเลขที่น้อยกว่า สามารถตรวจจับเป้าหมายขนาด 10 ตารางเมตรได้จากระยะ 50 ไมล์ทะเล การหายตัวไปของเรดาร์ Type 354 Eye Shield  เท่ากับยกภาระอันหนักอึ้งให้กับเรดาร์เดินเรือ Sperry Marine BridgeMaster E และ Furuno ในการค้นหาเป้าหมายที่อาจจะเป็นภัยคุกคามระดับร้ายแรง ผู้เขียนเห็นภาพครั้งแรกบอกได้คำเดียว...หนักใจ !!!
                เรือหลวงเจ้าพระยารวมทั้งเรือหลวงบางปะกง ยังมีเรดาร์ควบคุมการยิง Type 343 Sun Visor ซึ่งใช้ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศได้ประมาณ 40 ไมล์ทะเล  และเรดาร์ควบคุมการยิง Type 352 Square Tie ซึ่งใช้ตรวจการณ์พื้นน้ำได้ประมาณ 40 ไมล์ทะเลเช่นกัน แต่เรดาร์ทั้งสองไม่ได้ถูกออกแบบให้ทำงาน 24 ชั่วโมง จะใช้งานก็ต่อเมื่อยิงปืนเรือหรือจรวดต่อสู้เรือรบ ทั้งยังมีความเทอะทะ ติดตั้งอยู่ในจุดไม่เหมาะสม กินไฟค่อนข้างเยอะ รวมทั้งอื่น ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ภารกิจหน้าที่จึงเป็นของเรดาร์เดินเรือตามระเบียบ
ทำไมถึงติดตั้งเรดาร์เดินเรือทดแทนของเดิม
                เริ่มจากเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีกันก่อน การเปลี่ยนจากเรดาร์ ZW06 มาเป็นเรดาร์เดินเรือ Furuno ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก คุณสมบัติอาจลดลงบ้างแต่ก็ไม่มาก มีผลต่อการทำภารกิจหลักและภารกิจรองน้อยมาก เนื่องจากเรือมีเพียงปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.และปืนกลขนาด 40/70 มม.ทำการรบได้ในระยะหวังผลไม่เกิน 8 กิโลเมตร มากกว่านั้นโอกาสยิงถูกน้อยลงตามระยะทาง

                ในภาพคือเรือชื่อ LÉ William Butler Yeats หมายเลข P63 ของประเทศไอร์แลนด์ เป็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้น Samuel Beckett อายุหนึ่งขวบปี ระวางขับน้ำ 2,256 ตัน ยาว 90 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes SharpEye S-band และ X-band อย่างล่ะ 1 ตัว มีปืนใหญ่ 76/62 จำนวน 1 กระบอกเป็นอาวุธหลัก ทำงานควบคู่กับระบบออปโทรนิค Sea Eagle ของ Chess Dynamics อาวุธรองเป็นปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกลเบาขนาด 7.62 มม.อีกจำนวนหนึ่ง
                Kelvin Hughes SharpEye เป็นเรดาร์เดินเรือทางทหารตัวท๊อป กองทัพเรือไทยก็ใช้งานอยู่บนเรือหลวงนเรศวร ตรวจจับเป้าหมายได้ดีกว่าเรดาร์เดินเรือพาณิชย์ แต่ระยะตรวจจับไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ หลายประเทศในยุโรปนิยมใช้แค่เรดาร์เดินเรือบนเรือตรวจการณ์ทุกขนาด เพราะไม่คิดจะเอาไปรบกับใครอย่างเป็นจริงเป็นจัง การหายตัวไปตลอดกาลของเรดาร์ ZW06 ส่งผลกระทบกับเรือหลวงชลบุรีไม่มากเท่าไหร่
                แต่กับเรือหลวงเจ้าพระยานั้นตรงกันข้าม เพราะเป็นเรือฟริเกตติดจรวดต่อสู้เรือรบ จำเป็นต้องตรวจสอบและพิสูจน์ทราบเป้าหมายก่อนปล่อยจรวด การหายตัวไปตลอดกาลของเรดาร์ Type 354 Eye Shield ส่งผลต่อการทำภารกิจของเรือค่อนข้างใหญ่หลวง แล้วทำไมกองทัพเรือถึงได้ถอดถอน
                หมดอายุการใช้งาน ? ไม่มีอะไหล่ในการซ่อมบำรุง ? เหตุผลประการแรกมีความเป็นไปได้ เพราะอายุของสินค้าจีนค่อนข้างสั้นตามราคา และเมื่อพังแล้วต้องซื้อของใหม่สถานเดียว แต่เหตุผลประการที่สองไม่น่าจะใช่ เรือฟริเกตชั้นเจียงหูของพม่าและบังคลาเทศ ซึ่งได้เปลี่ยนไปใช้งานจรวดC-802 กันหมดแล้วนั้น ยังคงใช้งานเรดาร์ตัวนี้ตราบเท่าทุกวันนี้ แปลได้ว่าอะไหล่ทุกชิ้นยังขายในท้องตลาด มีอายุค่อนข้างสั้นตามราคาเฉกเช่นปรกติ ด้วยเหตุนี้เอง...ผู้เขียนจึงมองไปยังเหตุผลประการที่สาม นั่นคือกองทัพเรือต้องการลดบทบาทและภารกิจเรือ
                เรือหลวงบางปะกงที่เป็นฝาแฝดเรือหลวงเจ้าพระยานั้น ปัจจุบันยังคงซ่อมบำรุงตามวาระในอู่แห้ง ถ้ากลับมาอีกครั้งแล้วเรดาร์ Type 354 Eye Shield หายตัวไป จะสื่อความหมายอนาคตเรือทั้งสองลำได้อย่างชัดเจน
ภัยคุกคามที่อาจต้องเผชิญ
            ทั้งเรือหลวงชลบุรีและเรือหลวงเจ้าพระยา มีภารกิจต้องไปเข้าเวรปกป้องอธิปไตย ณ.ทัพเรือภาคที่สามฝั่งทะเลอันดามัน  ซึ่งพรมแดนส่วนใหญ่ติดกับมาเลเซียและพม่า ภัยคุกคามที่อาจต้องเผชิญก็คือพม่าและมาเลเซีย ที่ไกลออกไปอีกหน่อยอย่างบังคลาเทศ สิงคโปร์ รวมทั้งอินโดนิเซียกับบรูไน โอกาสปะทะกันแทบเป็นไปไม่ได้
                เรือหลวงชลบุรีทำได้แค่รบกับโจรสลัดหรือเรือตรวจการณ์ด้วยกัน ส่วนเรือหลวงเจ้าพระยาต้องรับศึกค่อนข้างใหญ่ ด้วยว่าตนเป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุดในฝั่งอันดามัน ถึงแม้จะมีเรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวรเข้ามาประจำการตามวงรอบ แต่ใครเล่าจะหยั่งรู้อนาคตตนเองได้ ปะเหมาะเคราะห์ร้ายเรือหลวงเจ้าพระยาอาจต้องออกโรงเพียงลำพัง จึงเป็นที่มาของการเปรียบเทียบข้อมูล
                ออกตัวกันก่อนนิดส์นึง...ความสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้านทุกประเทศ อยู่ในระดับดีมากจนถึงมากที่สุด ความน่าจะเป็นในการปะทะกันมีไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ และเรากำลังคุยกันถึง 1 เปอร์เซนต์ที่ว่านั้นอยู่

                เริ่มยกตัวอย่างจากฝั่งมาเลเซียกันก่อน พวกเขามีเรือคอร์เวตชั้น Kasturi จำนวน 2 ลำ ระวางขับน้ำ 1,850 ตัน ยาว 97.3 เมตร กว้าง 11.5 เมตร มีจรวดต่อสู้เรือรบเอ็กโซเซ่ต์ MM40 ระยะยิง 72 กิโลเมตรเป็นลูกยาว มีเรดาร์ DA08 ระยะทำการไกลถึง 193 กิโลเมตรเป็นกล้องส่องดูดาว ส่วนลำถัดไปคือเรือฟริเกตชั้น Lekiu จำนวน 2 ลำ ระวางขับน้ำ 2,270 ตัน ยาว 106 เมตร กว้าง 12.75 เมตร มีจรวดเอ็กโซเซ่ต์ MM40 และเรดาร์ DA08 เหมือนกับลำแรก รวมทั้งมีจรวดต่อสู้อากาศยาน VL-Seawolf ไว้ป้องกันตนเอง นับว่าเขี้ยวเล็บแหลมคมในระดับปานกลาง
                เอ็กโซเซ่ต์ MM40 อาจมีระยะยิงไม่ไกลเท่าไหร่ แต่ไกลกว่าจรวด C-801 อย่างไม่ต้องสงสัย และไม่ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงจรวด เรือเรายังมีปัญหาในการค้นหาเป้าหมาย เพราะเรือมาเลเซียมีเรดาร์ที่ทันสมัยกว่ามาก ระยะตรวจจับก็ไกลกว่ากันมาก ฝากผู้อ่านไว้เป็นการบ้านข้อแรกสุด ผู้เขียนมืนตื๊บคิดอะไรไม่ออกแล้ว

                หันมาดูทางฝั่งประเทศพม่ากันบ้าง ทุกท่านคงคุ้นเคยเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตสร้างเองจำนวน 3 ลำกันเป็นอย่างดี จึงขอตัดทิ้งและนำเรือขนาดเล็กมาเปรียบเทียบบ้าง ลำแรกเป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถียาว 49 เมตร รูปทรงลดการสะท้อนของคลื่นเรดาร์ แบกจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัด มีระบบดาต้าลิงค์ ระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ ระบบเป้าลวง และอาวุธป้องกันตนเองรุ่นท๊อปของกองทัพ เรดาร์เดินเรือ 2 ตัวบนเรือหลวงเจ้าพระยา ต้องรับบทหนักในการตามล่าหาตัวจิ๊ด และต้องหาเจอก่อนที่อีกฝ่ายจะปล่อยจรวด
                เรือลำถัดไปเป็นเรือคอร์เวตความยาว 77 เมตร ระวางขับน้ำไม่น่าเกิน 1,800 ตัน ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A และไอ้โน่นไอ้นั่นไอ้นี่ครบครันเหมือนเรือฟริเกต นอกจากจะมีเรดาร์ Type360 เหมือนเรือหลวงกระบุรีแล้ว ยังมีเรดาร์ RAWL-02 Mk III ซึ่งตรวจจับเป้าหมายได้ไกลสุดถึง 350 กิโลเมตร ว่ากันตามตัวเลขซึ่งไม่เคยหลอกใคร ต้องเอาเรือหลวงนเรศวรหรือเรือหลวงตากสินมาปะทะสถานเดียว เพราะมีเรดาร์ตระกูลเดียวกันระยะทำการใกล้เคียงกัน จึงพอฟัดพอเหวี่ยงไม่มีการแบกน้ำหนัก ส่วนเรือหลวงเจ้าพระยาโฉมใหม่ของเรา ก็นะ..!!!
เรือหลวงจักรีนฤเบศรกับกรณีศึกษา
            กาลครั้งหนึ่งยังไม่นานเท่าไหร่ กองทัพเรือไทยมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่ง ซึ่งมักถูกค่อนขอดว่าเป็นเรื่องบรรทุกเฮลิคอปเตอร์อยู่เสมอ ตอนนั้นเราต้องการออกสู่ทะเลลึก ไปกันเป็นกองเรือ..โดยมีเครื่องบินขับไล่คอยคุ้มกัน จึงจำเป็นต้องมีเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล ไว้ส่องเครื่องบินข้าศึกหรืออะไรก็ตามที่ลอยมาจากฟากฟ้า เมื่อหาเจอก็ส่งเครื่องบินแฮริเออร์ไปจัดการ แผนของเราก็มีง่าย ๆ แค่นี้แล
                เพราะเราไม่มีอากาศยานเตือนภัยล่วงหน้า เรดาร์ระยะไกลจึงจำเป็นกับการป้องกันภัยทางอากาศ แต่เพราะงบประมาณเริ่มมีปัญหาตามมา กองทัพเรือจึงได้จัดหาเรดาร์มือสองรุ่น  AN/SPS-52C จากอเมริกามาใช้ไปก่อน เรดาร์ตัวนี้แปลงร่างมาจาก AN/SPS-39 ค้นหาเป้าหมายได้ 3 มิติที่ระยะไกลสุด 445 กิโลเมตร อ่านตัวเลขจากสเป๊กแล้วโหดมาก ส่วนของจริงใช้งานได้บ้างไม่ได้บ้างตามสภาพ
                เมื่อเครื่องบินแฮริเออร์ปลดประจำการ เรดาร์  AN/SPS-52C ปลดประจำการ แผนการออกสู่ทะเลลึกปลดประจำการ กองทัพเรือไทยจึงได้มีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง ซึ่งมักถูกค่อนขอดว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินอยู่เสมอ มีการติดตั้งระบบดาต้าลิงค์ ระบบอำนวยการรบ รวมทั้งเรดาร์ตรวจการณ์ใหม่เอี่ยมรุ่น Sea Giraffe AMB ซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก ระยะตรวจจับไกลสุดเพียง 180 กิโลเมตร ความเห็นส่วนตัวผู้เขียน ระยะตรวจจับเท่านี้ก็เพียงพอเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพราะเรือไม่ได้ออกไปจากน่านน้ำตนเอง มีเครื่องบินขับไล่และเรือฟริเกตคอยช่วยคุ้มกัน ภารกิจหลักคือเป็นฐานให้กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ จะเอาอะไรกันมากมายใช่ไหมครับคุณ

                แต่ก็นั่นแหละ Sea Giraffe AMB ถ่ายภาพไม่ขึ้นแม้แต่น้อย เรือหลวงจักรีนฤเบศรมีขนาดใหญ่โต เสากระโดงทั้งสุงทั้งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เหมาะสมกับเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกลรุ่น Sea Giraffe 4A ซึ่งใช้เทคโลโลยี AESA ตรวจจับได้ไกลสุดถึง 350 กิโลเมตร ตอนที่เราปรับปรุงเรือเรดาร์ตัวนี้ยังไม่ขาย ทว่านาทีนี้พร้อมแล้วสำหรับผู้ต้องการของ แบ่งงบประมาณมาซักก้อนได้ไหมครับทร.ที่รัก ปีงบประมาณหน้าไม่ทันผู้เขียนจะรอปีถัดไปได้
บทสรุปที่ยังไม่ใช่บทสรุป
                การไม่ปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยาเหมือนเรือหลวงกระบุรีก็ดี การถอดถอนเรดาร์ Type 354 Eye Shield ออกจากเรือก็ดี  พอคาดเดาความหมายได้บางอย่าง ประการแรกสุดเห็นจะเป็นเรื่องงบประมาณ เพราะการปรับปรุงเรือหลวงกระบุรีมีมูลค่าลำล่ะ 1,542 ล้านบาท  นับรวมราคาจรวด C-802A จำนวน 841 ล้านบาทเข้าไปด้วย (ไม่รู้เหมือนกันว่าได้มากี่ลูก) ประการที่สองก็คือจรวดต่อสู้เรือรบของเดิม จะทำอย่างไรดีเพราะยังไม่หมดอายุการใช้งาน เอาไปติดเรือลำอื่นก็แสนลำบาก ต้องขนเรดาร์ควบคุมการยิงและระบบอำนวยการรบไปด้วย เพราะอาวุธจีนคุยกับอุปกรณ์จากจีนเท่านั้น อุปกรณ์ใหม่กว่าหรือเก่ากว่ากันก็คุยไม่รู้เรื่อง
                สาเหตุประการที่สามเกี่ยวเนื่องกับอายุของจรวด C-801 ซึ่งกำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่งผลกับเรือหลวงเจ้าพระยาอย่างชัดเจน กลายเป็นปัญหางูกินหางวกไปวนมา กองทัพเรืออาจต้องการซื้อเวลา ด้วยการถอดเรดาร์ที่หมดอายุไขออกไปชั่วคราว ครั้นจรวดหมดอายุไขตามกันทั้งหมด จึงให้ผู้ใหญ่ในตอนนั้นตัดสินใจเด็ดขาด อาจจัดหาจรวดและเรดาร์รุ่นใหม่จากยุโรป แยกตัวเป็นเอกเทศจากระบบอำนวยการรบของจีน
                หรืออาจตัดสินใจมานานแล้ว ว่าถึงตอนนั้นก็ตามนั้นนั่นแหละครับ เรือหลวงเจ้าพระยารวมทั้งเรือหลวงบางปะกง ถูกลดบทบาทและภารกิจลงตามคุณสมบัติของเรือ เราอาจเห็นเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสิน มาเข้าเวรฝั่งทะเลอันดามันชนิดถาวร ยกอ่าวไทยให้กับเรือหลวงท่าจีนลำใหม่และฝาแฝดที่ยังไม่ได้สั่งซื้อ ก็ว่ากันไปครับ
รือหลวงสายบุรี FF-458 ภายหลังการปรับปรุงใหม่ เป็นเรือฟริเกตที่ใหม่ที่สุดในฝั่งทะเลอันดามัน ใหญ่ที่สุดทันสมัยที่สุด และมีจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A ระยะยิงไกลสุด 180 กิโลเมตรเป็นอาวุธเด็ดในการป้องกันน่านน้ำ ผู้เขียนรอว่าจะมีการทดสอบยิงกันเมื่อไหร่ ถ้ายังไม่มีก็รอกันไปจนกว่าลูกชายคนโตจะบวช ตอนนี้ยังหาแม่ของลูกไม่ได้เลยครับ ฮา....
                                             -------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
เอกสารดาวโหลด : A Brief History of Chinese Naval Radar and EW dev.pdf

2 ความคิดเห็น:

  1. เอ่อ เรื่อ type 053 ถอดแบบมาจากเรือพิฆาตยุค WW2 หรือเปล่าครับ ดูมันคล้ายๆกันอยู่

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช้แบบเรือของโซเวียตครับ ต้นฉบับเริ่มสร้างประมาณ 10 กว่าปีหลังสงครามโลก จีนนำมันปรับปรุงเพิ่มเติมให้ดีขึ้นใส่อาวุธทันสมัยขึ้น

      ลบ