วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565

RAF Gripen Maintenance Program

 

โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แบบที่ 20/

เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก หรือ JAS 39 Gripen C/D เข้าประจำการกองทัพไทยเฟสแรกจำนวน 6 ลำในวันที่ วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 เท่ากับว่าตอนนี้มีอายุการใช้งาน 11 ปีเต็มเรียบร้อยแล้ว ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยขึ้นมาเล็กน้อยในใจว่า มีปัญหาสำคัญเกิดขึ้นกับเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์รุ่นใหม่ทันสมัยหรือไม่ เนื่องจากนี่คือครั้งแรกที่กองทัพอากาศไทยจัดหาเครื่องบินจากสวีเดนมาใช้งาน เพื่อนบ้านที่อยู่ในย่านอาเซียนเหมือนกันก็ไม่มีชาติไหนเคยใช้มาก่อน จึงไม่อาจนำปัญหาที่พวกเขาเคยเผชิญมาเป็นตัวช่วยในการดูแลเครื่องบินตัวเอง

เพราะความอยากรู้อยากเห็นผู้เขียนดิ้นรนขวนขวายด้วยตัวเอง โดยการค้นหาข้อมูลจากสมุดปกขาวกองทัพอากาศ พ.ศ.2563 หรือ RTAF White Paper 2020 กระทั่งพบเจอบางอย่างที่น่าสนใจจนตัวเองต้องเขียนบทความ สิ่งนั้นก็คือโครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ บ.ข. ๒๐/ก อันหนึ่งในหกโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2564

เมื่อเจอบางอย่างที่น่าสนใจแล้ว คำถามถัดไปก็คือโครงที่ว่านี้คืออะไร?

ผู้เขียนเข้าไปค้นหาโครงการนี้จากเอกสารออนไลน์กองทัพอากาศ ได้รับคำอธิบายตามภาพประกอบ

โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ บ.ข. ๒๐/ก (บ.Gripen 39 C/D) ระยะที่ ๑

๙.หลักการและเหตุผล

๙.๑ กล่าวทั่วไป

กองทัพอากาศได้จัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ บ.ข. ๒๐/ก (บ.Gripen 39 C/D) ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีความทันสมัยและมีศักยภาพในการปฏิบัติทางอากาศสูง ซึ่งจะสอดคล้องกับการเตรียมและใช้กำลังทางอากาศ โดยดำรงไว้ซึ่งขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ

เนื่องจากเครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีสูง และมีความสลับซับซ้อนด้านการส่งกำลังบำรุงประกอบกับที่ผ่านมากองทัพอากาศประสบปัญหาด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ เช่น การใช้ระยะเวลายาวนานในการซ่อมบำรุง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพัสดุที่ต้องส่งซ่อมในต่างประเทศ ต้องผ่านขบวนการต่างๆ หลายขั้นตอนกว่าจะได้พัสดุกลับมาใช้งานได้อีก การจัดหาอุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับการซ่อมบำรุงยาก เนื่องจากมีผู้ผลิตน้อยรายและบางชนิดยกเลิกสายการผลิตแล้ว รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดทางด้านงบประมาณในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ได้รับการจัดสรรประจำปีน้อยกว่าความต้องการใช้งานจริง

ข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในการส่งกำลังและซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพอากาศ ดังนั้นกองทัพอากาศจึงได้วางแผนการส่งกำลังบำรุง เพื่อใช้ซ่อมบำรุง บ.Gripen 39 C/D ในลักษณะการซ่อมบำรุงแบบรวมการ (Pool Services) ซึ่งเป็นลักษณะของการส่งกำลังบำรุง โดยการสนับสนุนเครื่องยนต์ อุปกรณ์และอะไหล่ที่สามารถถอดสับเปลี่ยนได้ในระดับฝูงบิน ซึ่งดำเนินการในลักษณะแบบรวมกลุ่มสมาชิกใช้เครื่องยนต์อุปกรณ์และอะไหล่ร่วม

โดยสมาชิกสามารถส่งเครื่องยนต์ อุปกรณ์และอะไหล่ที่สามารถถอดสับเปลี่ยนหมุนเวียนได้ในระดับฝูงบิน (Line Replaceable Unit : LRU) ไปซ่อม หรือเปลี่ยนเครื่องยนต์ อุปกรณ์และอะไหล่ใหม่มาทดแทน และมีการดำเนินการสำรองเครื่องยนต์ อุปกรณ์และอะไหล่ที่สามารถถอดสับเปลี่ยนหมุนเวียนได้ในระดับฝูงบินไว้สำหรับการซ่อมบำรุงให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม รวมทั้งสนับสนุนชิ้นอะไหล่ พัสดุสิ้นเปลืองคู่มือเอกสารเทคนิคและการบริการทางด้านเทคนิค การบริการธุรการทางด้านการบิน การฝึกอบรม จนท.ช่างให้มีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด และบริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินของ บ.Gripen 39 C/D ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้การซ่อมบำรุงเกิดความแน่นอน รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้กองทัพอากาศมีความพร้อมปฏิบัติการของ บ.Gripen 39 C/D ที่จะสามารถตอบสนองภารกิจในการเตรียมและใช้กำลังทางอากาศได้อย่างเต็มขีดความสามารถ

ข้อมูลจากกองทัพอากาศเปิดเผยปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินรุ่นใหม่ประกอบไปด้วย

-หนึ่ง: ใช้ระยะเวลายาวนานในการซ่อมบำรุงเพราะส่งไปซ่อมต่างประเทศ

-สอง: จัดหาอุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับการซ่อมบำรุงยากเพราะผู้ผลิตน้อยรายและบางชนิดไม่ผลิตแล้ว

-สาม: ปัญหาข้อจำกัดทางด้านงบประมาณในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน

การซ่อมบำรุงแบบรวมการ (Pool Services) จึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาให้ดีกว่าเดิม ผู้เขียนอ่านแล้วเข้าใจได้ว่ากองทัพอากาศไทยจะเข้าร่วมกับสมาชิกชาติอื่น เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงให้เป็นไปตามมาตรฐาน สมาชิกที่เข้าร่วมย่อมมีกองทัพอากาศสวีเดนเป็นตัวยืนอย่างแน่นอน

ข้อมูลจากต่างประเทศระบุไว้ว่า โดยปรกติแล้วการซ่อมบำรุง JAS 39 Gripen C/D กองทัพอากาศไทยมีการเซ็นสัญญาระยะยาวหลายปีกับบริษัท SAAB ในราคาคงที่ตามชั่วโมงบินโดยใช้เจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศกับ TAI แตกต่างจากช่วงเริ่มเข้าประจำการที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่จากสวีเดนจำนวน 10 ลำ แต่ถึงกระนั้นยังมีเจ้าหน้าที่จากสวีเดนจำนวนหนึ่งประจำอยู่ที่กองบิน 7 เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือเรื่องการส่งกำลังบำรุงรวมทั้งช่วยวางแผนการต่างๆ

หมายเหตุ: นี่คือข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศแห่งหนึ่ง ฉะนั้นแล้วอาจมีบางอย่างคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

การซ่อมบำรุงเครื่องบินทุกขั้นตอนต้องทำภายในโรงเก็บ  เนื่องจากสนามบินอยู่ใกล้ทะเลความชื้นค่อนข้างสูง คลังอะไหล่ถูกจัดเก็บอยู่ภายในกองบิน 7 การขนส่งอะไหล่ใช้เครื่องบินพลเรือนยกเว้นอะไหล่สำคัญกับอาวุธใช้เครื่องบินทหาร  ว่ากันตามจริงค่อนข้างมีความรัดกุมและเป็นแบบแผนชัดเจน แต่ถึงกระนั้นในปัจจุบันได้กลายเป็นปัญหาให้กองทัพอากาศปวดหัว จนต้องตั้งโครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงให้ดีกว่าเดิม

โครงการนี้มีความสำคัญกับกองทัพอากาศพอสมควร มีการจัดตั้งโครงการในปี 2563 และเริ่มต้นดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 เริ่มต้นด้วยการเดินหน้า โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ บ.ข. ๒๐/ก (บ.Gripen 39 C/D) ระยะที่ ๑  (ช่วงที่ ๒.๑)  หรือการปรับปรุงขีดความสามารถเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ แบบที่ 20/ก ให้เป็นเวอร์ชัน 20 (MS 20)  รุ่นใหม่ล่าสุดเหมือนกองทัพอากาศสวีเดน เป็นเพียงการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์เครื่องบินให้เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดเท่านั้น การซ่อมบำรุงแบบรวมการ (Pool Services) น่าจะตามมาหลังจากโครงการระยะที่ ๑  ช่วงที่ ๒.๑ สำเร็จเรียบร้อย

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 กองทัพอากาศขึ้นโครงการ จ้างเหมาบริการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงสำหรับ บ.Gripen 39 C/D จำนวน ๑๑ เครื่อง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินราคากลาง ๓,๒๗๔,๑๐๓,๗๐๐ บาทโครงการนี้คือการเซ็นสัญญาซ่อมบำรุงกับบริษัท SAAB ตามปรกติ ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการตามบทความแต่อย่างใด

โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ บ.ข. ๒๐/ก ยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่าง เกิดเรื่องดราม่าสไตล์ไทยแลนด์โอนลี่ขึ้นมาเสียก่อน เมื่อสื่อมวลชนรายหนึ่งเปิดเผยข้อมูลการจัดหาอาวุธที่ไม่ปรกติเท่าไร

ระหว่างเดือนเมษายน 2563 คณะอนุกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือการใช้อำนาจในการยกเว้นผ่อนผันของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต กรณีได้รับหนังสือจากกองทัพอากาศและกองทัพบก ขอยกเว้นผ่อนผันไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการ ค.ป.ท. เรื่องแนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบของข้อตกลงคุณธรรมที่กำหนดไว้ว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐ ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจในการพิจารณางบประมาณแล้ว ให้แจ้งข้อมูลโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปต่อคณะกรรมการ ค.ป.ท.ภายใน 15 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณ เพื่อพิจารณาคัดเลือกให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม

การแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้จัดทำตามแบบและวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด ซึ่งในการดำเนินโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมจะให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตลอดระยะเวลาและทุกขั้นตอน ซึ่งปัจจุบัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เป็นผู้ส่งผู้สังเกตการณ์ภาคเอกชนเข้าไปสังเกตการณ์

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ค... ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมเพื่อพิจารณา โดยฝ่ายเลขานุการ มีความเห็นว่า สืบเนื่องจากเรื่องนี้กองทัพมีความจำเป็นและมีเหตุผล ไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างได้ เพราะมีกฎหมายหรือสัญญากับเอกชนกำหนดไว้ว่าไม่ให้เปิดเผยข้อมูลความลับแก่บุคคลที่ 3 พร้อมกับเสนอเรื่องไม่คัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ทั้ง 4 โครงการ ของกองทัพอากาศและกองทัพบกเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม

โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก  ประจำปีงบประมาณ พ..2563 จำนวน 4 โครงการใหญ่มูลค่าหลายพันล้านบาท  ที่ไม่ต้องการเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมประกอบไปด้วย

1. โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ (เครื่องบิน Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วง 2) ของ กองทัพอากาศ

2. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4) ของ กองทัพอากาศ

3. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 ของ กองทัพอากาศ

4. โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ของกองทัพบก

โครงการเครื่องบิน Gripen 39 C/D ไม่เข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม หรือ ACT ดราม่าเรื่องนี้สิ้นสุดเช่นไรคงไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะกองทัพอากาศเริ่มต้นเดินหน้าทำตามแผนการไปตามปรกติ มีความเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้นประกอบไปด้วย

-วันที่ 20 พฤษภาคม 2565

สำนักงานบริหารโครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ บ..20/ (Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (Gripen Logistics Improvement Program (GLIP)) ได้จัดประชุมด้านเทคนิค (Technical Conference :TC) ของ บ..20/ (Gripen 39 C/D) ร่วมกับ จนท.สวีเดน และหน่วยเกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม กบ.ทอ.โดยมี น..สันติ แก้วสนธิ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศเป็นประธานในการประชุม

-วันที่ 26 พฤษภาคม 2565

กองบิน 7 ให้การต้อนรับประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและคณะ  พลอากาศโท ภูวเดช สว่างแสง ประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และคณะ เดินทางมาประชุมและติดตามผลในโครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แบบที่ 20/ก (Gripen39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วงที่ 2.1) โดยปรับปรุงขีดความสามารถเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ แบบที่ 20/ก (Gripen39 C/D) เป็นเวอร์ชัน 20 (MS 20) 

โอกาสนี้ นาวาอากาศเอก พุทธพงศ์  ผลชีวิน ผู้บังคับการกองบิน 7 มอบหมายให้ นาวาอากาศเอก กฤษณะ  สุขดี รองผู้บังคับการกองบิน 7 และเสนาธิการกองบิน 7  ให้การต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 7 และรับฟังบรรยายสรุป ณ อาคารกองบังคับการ ฝูงบิน 701 กองบิน 7

-วันที่ 9 มิถุนายน 2565

สื่อมวลชนต่างประเทศรายงานว่ากองทัพอากาศไทย เริ่มต้นเดินหน้าปรับปรุงขีดความสามารถเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ แบบที่ 20/ก (Gripen39 C/D) ให้เป็นเวอร์ชัน 20  หรือการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ บนเครื่องบินให้เป็นเวอร์ชัน MS 20 นั่นเอง โดยใช้งบประมาณ 18.28 ล้านเหรียญหรือ 631,730,000 บาท มากกว่าวงเงินราคากลางโครการระยะที่ 1 ที่ถูกเปิดเผยในวันที่ 13 มกราคม 2564 ไม่กี่ล้าน (ราคากลางเท่ากับ 629,224,200 บาท) การปรับปรุงน่าจะแล้วเสร็จครบทุกลำภายในปี 2025

การปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์บนเครื่องบิน 11 ลำใช้เวลา 3 ปีผู้เขียนไม่ทราบว่านานหรือไม่ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินผู้เขียนไม่ทราบเช่นกัน เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมผู้เขียนยิ่งไม่ทราบไปกันใหญ่ ทว่าโครงการนี้เดินหน้าเต็มตัวแล้วผู้เขียนขอให้สำเร็จลุล่วงแคล้วคลาดจากปัญหาทั้งปวง

โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินจะมีปัญหาหรือไม่?

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าถ้าไม่ถูกตัดงบประมาณก็คงไม่มีปัญหา เนื่องจากกองทัพอากาศทำทุกอย่างตามคำแนะนำบริษัทผู้ผลิต ไม่ใช่อยู่ดีๆ จัดตั้งกลุ่มสมาชิกเพื่อการซ่อมบำรุงแบบรวมการ (Pool Services) ขึ้นมาเองเสียหน่อย

ปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นกับ Gripen39 C/D ต้องนับไปอีก 10 -15 ปีครับ

สมาชิกที่มี Gripen39 C/D ประจำการและไม่มีปัญหาประกอบไปด้วย สวีเดน 158 ลำ ไทยแลนด์ 11 ลำ และฮังการี 14 ลำ ส่วนสาธารณรัฐเชกเช่าไปใช้งาน 14 ลำก็จริง ทว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาพวกเขาจะเปลี่ยนไปซื้อ F-35A จากอเมริกา ส่วนแอฟริกาใต้มีเครื่องบิน 26 ลำสภาพค่อนข้างใหม่ โชคร้ายประสบปัญหางบประมาณต้องจอดทิ้งไว้เฉยๆ หลายปีแล้ว ส่วนอังกฤษมีเครื่องบินแค่เพียงลำเดียวผู้เขียนขอข้ามไปเลยแล้วกัน

เท่ากับว่ากลุ่มสมาชิกเพื่อการซ่อมบำรุงแบบรวมการมีแค่สวีเดน ไทยแลนด์  และฮังการี นับจากนี้ไปอีก 10 ปีเมื่อฮังการีหมดสัญญาเช่าซื้อจะเหลือเพียง 2 ชาติ นับเพิ่มไปอีก 5 ปีสวีเดนทยอยปลดประจำการ Gripen39 C/D ของตัวเองไปเรื่อยๆ  ฉะนั้น Gripen39 C/D ของไทยซึ่งมีอายุ 25 ปีจะมีปัญหาใหญ่เรื่องการส่งกำลังบำรุงเครื่องบิน

อันที่จริงเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่ก่อนซื้อเครื่องบินแล้ว เพียงแต่กองทัพอากาศอาจไม่คาดคิดว่า Gripen39 C/D จะขายไม่ออกเลย เครื่องบินที่บราซิลจัดหาไปใช้งาน 36 ลำก็เป็นรุ่นใหม่ขนาดใหญ่กว่าใช้อะไหล่ต่างกัน ปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินเลยพลอยใหญ่โตกว่าเดิมไปด้วย

ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับเครื่องบิน F-35A หรือไม่? เรามาไล่ตรวจสอบทีละประเด็นไปพร้อมๆ กัน

-หนึ่ง: ใช้ระยะเวลายาวนานในการซ่อมบำรุงเพราะส่งไปซ่อมต่างประเทศ

ปรกติเครื่องบินรบอเมริกาจะซ่อมบำรุงในประเทศลูกค้าเลย เพราะตัวเองมีลูกค้าทั่วโลกจะให้มาต่อคิวในอเมริกาที่เดียวคงไม่ไหว เพียงแต่ผู้รับผิดชอบโครงการอาจเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน หรือบริษัทคู่ค้าที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิต เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องระยะเวลาจึงมีค่อนข้างน้อย

-สอง: จัดหาอุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับการซ่อมบำรุงยากเพราะผู้ผลิตน้อยรายและบางชนิดไม่ผลิตแล้ว

ปัจจุบันเครื่องบินตระกูล F-35 กำลังขายดีขึ้นหิ้ง ยอดขายเพียง 1 ปีแซงหน้ายอดขาย Gripen39 C/D ทุกลำบนโลกไปแล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องจัดหาอุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่จึงมีค่อนข้างน้อย

-สาม: ปัญหาข้อจำกัดทางด้านงบประมาณในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน

เรื่องนี้แหละที่กองทัพอากาศต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเป็นที่มาของการลดจำนวนเครื่องบินให้น้อยลงกว่าเดิม บังเอิญตอนนี้ยังไม่มีเครื่องบิน F-35A เพราะฉะนั้นผู้เขียนขอข้ามไปก่อน

เมื่อโครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ บ.ข. ๒๐/ก เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามแผนการ ถึงตอนนั้นต้องมาตรวจสอบกันอีกครั้งว่า ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นได้รับการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน แก้ไขปัญหาได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ รวมทั้งในอนาคต 10-15 ปีข้างหน้ากองทัพอากาศวางแผนรับมือรัดกุมแค่ไหน

+++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

 

https://ocg.rtarf.mi.th/e-book/project/mobile/index.html#p=14

https://web.facebook.com/wing7RTAF

https://www.flightglobal.com/analysis/analysis-how-gripen-became-prize-thai-fighter/130853.article

https://web.facebook.com/wing7RTAF/posts/5171222802966052

http://www.dae.rtaf.mi.th/index.php/2017-02-01-02-07-02/2017-02-01-02-08-41/1116-gripen-39-c-d

http://119.46.201.14/index.php/left-egp?start=330

http://dae.rtaf.mi.th/index.php/left-egp?start=135

https://logist.rtaf.mi.th/index.php/page-main/2-uncategorised/344-2022-05-20-02-59-17

https://thaidefense-news.blogspot.com/2018/07/royal-thai-air-force-gripen-39-cd-weapon.html

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น