วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

HTMS Chonburi

 

HTMS Chonburi เรือหลวงชลบุรี

ตามโครงการเสริมกำลังทางเรือในปี 2523 รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือเร็วโจมตี (ปืน) จำนวน 3 ลำ กองทัพเรือจึงได้ว่าจ้างบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ประเทศอิตาลี เป็นผู้ต่อเรือทั้ง 3 ลำโดยใช้ชื่อว่า เรือหลวงชลบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงภูเก็ต

เรือหลวง 3 ลำเดินทางถึงประเทศไทยตามลำดับดังนี้

1.เรือหลวงชลบุรี วันที่ 2 มิถุนายน 2526

2.เรือหลวงสงขลา วันที่ 5 กันยายน 2526

3.เรือหลวงภูเก็ต วันที่ 12 ธันวาคม 2526

ทำการฉลองและสมโภชเรือหลวง 3 ลำตามลำดับดังนี้

1.เรือหลวงสงขลา วันที่ 5-7 กันยายน 2526

2.เรือหลวงภูเก็ต วันที่ 12-13 ธันวาคม 2526

3.เรือหลวงชลบุรี วันที่ 11-21 เมษายน 2527

หลายคนแปลกใจว่า ทำไมเรือหลวงชลบุรีเดินทางถึงประเทศไทยก่อนเรือหลวงลำอื่นๆ แต่ถึงได้กระทำพิธีฉลองเรือหลวงชลบุรีหลังเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ต

เหตุผล

            1.เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ตมาถึงประเทศไทยก็เทียบท่าจังหวัดแต่ละจังหวัดทำการฉลองได้ทันที เมื่อเรือหลวงเดินทางมาถึงก็จัดพิธีฉลองและสมโภชได้ตามกำหนดการที่เตรียมไว้

                2.เรือหลวงชลบุรีถึงประเทศไทยวันที่ 2 มิถุนายน 2526 พลเรือเอกสมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กระทำพิธีรับมอบเรือหลวงชลบุรี ณ ท่าเทียบเรือ กรมสรรพาวุธ ทหารเรือ บางนา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526

                3.เป็นประเพณีของชาวจังหวัดชลบุรี ที่กระทำพิธีฉลองเรือรบหลวง 32 ชลบุรี (ลำเก่า) ในงานประจำปีจังหวัดชลบุรีปี พ..2481 จังหวัดชลบุรีจึงเห็นควรรอการฉลองเรือหลวงชลบุรี (ลำใหม่) ไว้ในงานประจำปีจังหวัดชลบุรี พ..2527 เพราะเรือหลวงชลบุรีเดินทางมาถึงประเทศไทย หลังจากงานประจำปีจังหวัดชลบุรี พ..2526 แล้ว

                ด้วยเหตุผล 3 ประการ งานฉลองเรือหลวงชลบุรีจึงล่าช้ากว่างานฉลองเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ต แต่จังหวัดชลบุรีก็ได้ร่วมกับกองทัพเรือจัดงานเฉลิมฉลองเรือหลวงชลบุรีอย่างมโหฬารถึง 11 วัน 11 คืน มีพิธีการที่เหมาะสมยิ่งและมหรสพสมโภชอย่างมโหฬาร นับเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะ ได้สร้างของที่ระลึกในงานฉลองเรือหลวงชลบุรีไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายสิ่งหลายประการ


เรือหลวงชลบุรีลำใหม่มีสาระที่ควรศึกษาและสนใจคือ

                เรือหลวงชลบุรีเป็นเรือเร็วโจมตี (ปืน) ซึ่งกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ณ เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี ซึ่งได้ลงนามทำสัญญา ณ ที่กองบัญชาการ กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2522 ระหว่างกองทัพเรือ โดย พลเรือเอกกวี สิงหะ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ  กับบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า แห่งประเทศอิตาลี โดยทำสัญญาต่อเรือ จำนวน 3 ลำ ด้วยกันคือ

                -ลำที่ 1 เรือหลวงชลบุรี

-ลำที่ 2 เรือหลวงสงขลา

-ลำที่ 3 เรือหลวงภูเก็ต

8 มิถุนายน 2524 เริ่มประกอบพิธีประกอบเปลือกของเรือบนหมอน (วางกระดูกงู) ในอู่ โดยเรือชุดเรือหลวงชลบุรี จะประกอบไปด้วยสามท่อนคือ ส่วนท่อนหัว ส่วนท่อนกลาง และส่วนท่อนท้าย

-ส่วนท่อนหัว โดยเริ่มจากหัวเรือจนถึงหน้าสะพานเรือ

-ส่วนท่อนกลาง โดยเริ่มจากหน้าสะพานเดินเรือจนถึงหน้าห้องเครื่องท้าย

-ส่วนท่อนท้าย โดยเริ่มจากหน้าห้องเครื่องท้ายจนถึงท้ายเรือ

7 มิถุนายน 2525 ทำพิธีปล่อยเรือ โดยคุณหญิงสมบัติ เชื้อพิบูลย์

29 พฤศจิกายน 2525 ทำพิธีรับมอบเรือขั้นต้น ที่อู่เบรดา เมืองเวนิช โดยพลเรือเอกประเสริฐ แทนขำ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

22 กุมภาพันธ์ 2526 ลงนามเซ็นสัญญารับมอบเรือขั้นสุดท้าย โดยนาวาเอกเกษม รุจาคม กรรมการตรวจสอบการจ้างอาวุโส ที่อู่เบรดา เมืองเวนิช และวันนี้เองเรือหลวงชลบุรีก็ตกเป็นสมบัติของราชนาวีไทย และคนไทยโดยสมบรูณ์

16 เมษายน 2526 เวลา 06.00 . เริ่มออกเดินทางจากเมืองตารันโต ประเทศอิตาลีกลับประเทศไทย โดยผ่านเมืองท่าต่างๆ ดังนี้

-ปอร์เสด ประเทศอียิปต์

-เจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

-จีบุติ ประเทศจีบุติ

-รัสมัสกัท ประเทศโอมาน

-บอมเบย์ ประเทศอินเดีย

-โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

-ปีนัง ประเทศมาเลเซีย

-เกาะบรานี ประเทศสิงคโปร์

-สงขลา และสัตหีบ

เดินทางถึงสัตหีบในวันที่ 2 มิถุนายน 2526 เวลา 08.00 . รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 48 วัน เป็นระยะทาง 8,005 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 14,000 กิโลเมตร

การเดินทางถึงประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคใดๆ ในช่วงการเดินทางนับเป็นโชคดีแก่เรือหลวงชลบุรีเป็นยิ่งนัก

คุณลักษณะทั่วไปของเรือหลวงชลบุรี

ประเภท

เรือเร็วโจมตี (ปืน) Fast Attack Craft (Gun) - FAC(G)

ขนาด   

ความยาวตลอดลำ               : 60.40 เมตร

กว้างสุด : 8.80 เมตร

กินน้ำลึก : 1.95 เมตร

ระวางขับน้ำเต็มที่ : 450 ตัน

ระวางขับน้ำปรกติ : 400 ตัน

ความเร็วและรัศมีทำการ

            ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง : 29 นอต

                ความเร็วเดินทาง (ประหยัด) : 22 นอต

                รัศมีทำการที่ความเร็วสูงสุด : 900 ไมล์ทะเล

รัศมีทำการที่ความเร็วประหยัด : 2,500 ไมล์ทะเล

กำลังงานของเครื่องจักร

            เครื่องจักรใหญ่เป็นเครื่องยนต์ MTU ขนาด 20 สูบจำนวน 3 เครื่อง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง เครื่องละ 200 กิโลวัตต์

อัตรากำลังพลประจำเรือ : จำนวน 47 นาย

ระบบอาวุธ

            ปืน 76/62 โอโตเมลารา (OTO-MELARA NAVAL COMPACT GUN) จำนวน 2 กระบอกที่หัวเรือ-ท้ายเรือ

                ปืน 40/70 แท่นคู่ของเบรดา (BREDA BOFORS) พร้อมระบบบรรจุอัตโนมัติจำนวน 1 แท่น

                เครื่องควบคุมการยิง SIGNAAL WM22/61 ซึ่งประกอบด้วย WM22/61-53TH กับ WM22/61-54TH  เพื่อใช้ควบคุมปืนทั้ง 3 กระบอก

                เครื่องทำเป้าลวงจำนวน 4 แท่นแท่นละ 6 ท่อยิง

                +++++++++++++++++++++++++++++

 

                ข้อมูลทั้งหมดผู้เขียนคัดลอกจากเอกสารชื่อ ฉลองเรือหลวงชลบุรี 11-21 เมษายน27’

เอกสารฉบับนี้บ่งบอกรายละเอียดการจัดซื้อเรือจากประเทศอิตาลี อันมีความชัดเจนโปร่งใส สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมทั้งมีความสง่าภาคภูมิสมศักดิ์ศรี ข้อมูลอาจผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อย่าใส่ใจ เพราะเป็นหนังสือที่ระลึกงานฉลองเรือหลวงชลบุรี จัดทำโดยคนชลบุรีหาใช่จากกองทัพเรือโดยตรง ผู้เขียนอ่านอย่างละเอียดแล้วไม่ถือว่าน่าเกลียด

                บทความตัดจบตรงนี้เลยก็คงไม่น่าเกลียด บังเอิญผู้เขียนได้รับภาพถ่ายเรือหลวงชลบุรีระหว่างเดินทางกลับ จากมิตรรักแฟนเพลงรายหนึ่งผ่านทางหลังไมค์ จึงอยากนำเสนอพร้อมกับเอ่ยถึงเรือลำนี้สักเล็กน้อย


                ภาพถ่ายใบนี้เรือหลวงชลบุรีแวะจอดท่าเรือปอร์เสด ประเทศอียิปต์ อันเป็นจุดแวะพักจุดแรกหลังเดินทางออกจากเมืองตารันโต ประเทศอิตาลี เรือมีสภาพใหม่เอี่ยมอ่องยังไม่พ้นช่วงรันอิน ปืนใหญ่หัวเรือ Oto 76/62 มม.รุ่น Compact  ถูกสวมปลอกยาวปกปิดลำกล้องปืน เหนือสะพานเดินเรือเป็นเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SIGNAAL ZW06 ทำงานในโหมด I-band มีระยะทำการไกลสุด 46 กิโลเมตร เป็นของดีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ประเทศไทยมีใช้งานบนเรือหลวงมกุฎราชกุมาร (ถือเป็นลำแรกของโลกที่ติดตั้งเรดาร์ ZW06) เรือหลวงรัตนโกสินทร์  และเรือหลวงสุโขทัย

                ถัดจากเรดาร์ ZW06 มีรูปร่างคล้ายไข่คือเรดาร์ควบคุมการยิง SIGNAAL WM22/61 อุปกรณ์ตัวนี้ได้รับความนิยมระเบิดระเบ้อยิ่งกว่าเรดาร์ ZW06 บนเสากระโดงติดตั้งระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ESM รุ่น Elettronica ELT 211 มาพร้อมระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 ที่เห็นเป็นลูกกลมๆ กราบซ้ายกราบขวาคือจานส่งสัญญาณรบกวนรุ่น ELT 828 จำนวน 2 ใบ (เรือหลวงมกุฎราชกุมารมีถึง 4 ใบ) เห็นอะไรแปลกๆ ไหมครับ เรือหลวงชลบุรียังไม่ได้ติดปืนกล 12.7 มม.ที่สองกราบสะพานเดินเรือ เนื่องจากยังเดินทางมาไม่ถึงเมืองไทยนั่นเอง

                เรามาชมภาพท้ายเรือกันบ้างครับ นอกจากหมายเลขหนึ่งกับคำว่าชลบุรีแล้ว ยังมองเห็นปืนใหญ่ท้ายเรือ Oto 76/62 มม.รุ่น Compact  ถูกสวมปลอกยาวปกปิดลำกล้องปืนเช่นกัน ที่อยู่ถัดไปคือปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝด มาพร้อมระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ กระสุนจำนวน 444 นัดอยู่ในแมกาซีนใต้ป้อมปืน เลยไปไม่กี่เมตรหลังเสากระโดงคือเรดาร์/ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง SIGNAAL LIROD-8 เมื่อได้จับคู่กับปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝด จะช่วยป้องกันภัยทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นคู่โหดที่หลายชาตินิยมจัดหามาใช้งานบนเรือตัวเอง

                ยังครับยังไม่หมด เรือลำนี้ติดตั้งระบบเป้าลวง MK-33 RBOC ชนิด 6 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นด้วยกัน ใช้แท่นยิง MK-135 ขนาด 114 มม.กะทัดรัด เข้าประจำการครั้งแรกช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพเรือไทยใช้ MK-33 RBOC กับเรือหลายลำด้วยกัน ประกอบไปด้วยเรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ รวมทั้งเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีอีก 3 ลำ

                MK-33 RBOC ถูกพัฒนามาเป็น MK-36 Super RBOC (หรือ SBROC) ในปัจจุบัน เปลี่ยนมาใช้แท่นยิง MK-137 ขนาด 130 มม.ส่งผลให้มีระยะยิงไกลกว่าเดิม ใส่เป้าลวงรุ่นใหม่ได้ทุกชนิดรวมทั้งเป้าลวงตอร์ปิโด

สิ่งที่ขาดหายไปจากเรือหลวงชลบุรีคือเรือเล็ก เนื่องจากบนเรือไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอ อู่ต่อเรือจึงใส่เรือยางท้องแข็งลำหนึ่งให้ ห้อยอยู่ด้านข้างใต้ปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ถึงแม้ไม่มีอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ ทว่าระบบอื่นๆ ถูกใส่เข้ามาแบบจัดแน่นจัดเต็ม จนผู้เขียนไม่รู้จะร้องขอสิ่งใดเพิ่มเติม นอกเสียจากทำไมไม่ซื้อเพิ่มอีกสัก 3 ลำ

การเดินทางจากอิตาลีมาแวะพักอียิปต์ เป็นการออกทะเลเที่ยวแรกของเรือหลวงชลบุรี เพราะฉะนั้นเมื่อเดินทางมาถึงที่หมาย จึงมีเจ้าหน้าที่คนไทยตามมาสมทบ เพื่อช่วยอำนวยการให้เรื่องต่างๆ สะดวกราบรื่น  ส่งผลให้เรือเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย ระยะทาง 14,000 กิโลเมตรถือว่าไกลเอาเรื่องเลยทีเดียว

ภาพถัดไปย้อนกลับมาที่อู่เบรดา เมืองเวนิช พลเรือเอกสมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือ ทำพิธีแบบง่ายๆ ที่ท้ายเรือหลังปืนใหญ่ 76/62 มม. ผู้บัญชาการยังได้เป็นประธานพิธีรับมอบเรือหลวงชลบุรี ณ ท่าเทียบเรือ กรมสรรพาวุธ ทหารเรือ บางนา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526 อีกหนึ่งรอบ

ภาพถ่ายใบนี้ผู้เขียนภูมิใจแทนทหารเรือไทย ความภาคภูมิใจที่ปัจจุบันค่อนข้างเลือนราง

การจัดหาเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีมีความสมบูรณ์ ทั้งแบบเรือก็ดี ระบบอาวุธก็ดี ระบบเรดาร์ก็ดี ล้วนทันสมัยเป็นของดีอันดับต้นๆ มีใช้งานบนเรือรบไทยจำนวนหลายลำ กองทัพเรือมีการทำงานอย่างมืออาชีพ ใช้งบประมาณจัดหาอาวุธอย่างชาญฉลาด แม้เป็นเรือลำเล็กมีเพียงอาวุธปืนป้องกันตัวเอง แต่มีศักดิ์ศรีทัดเทียมทุกชาติเพราะซื้อด้วยเงินตัวเอง

ในส่วนเอกชนมีความตื่นตัวรอต้อนรับเรือใหม่ ประชาชนใน 3 จังหวัดรับรู้ข่าวเรือรบ 3 ลำโดยตลอด งานเฉลิมฉลองเรือเป็นประเพณีใหญ่ตั้งแต่ก่อนสงครามโลก คือความผูกพันของคนในจังหวัดกับเรือลำนั้นๆ ไม่ทราบเหมือนกันว่าปัจจุบันยังมีอยู่หรือไม่ จังหวัดผู้เขียนห่างไกลชายทะเลหลายร้อยกิโล จึงไม่เคยมีและไม่มีวันมีงานเฉลิมฉลองเรือรบ

ขอรบกวนสักนิดหนึ่งนะครับ

ภาพถ่ายทั้ง 3 ใบเป็นภาพส่วนตัวแฟนเพจรายหนึ่ง มีน้ำใจไมตรีส่งให้ผู้เขียนนำมาใช้ในบทความ ผู้เขียนไม่กล้าใส่เครดิตหรือลายน้ำลงบนภาพเพราะมันไม่เหมาะสม ฉะนั้นใครก็ตามต้องการนำภาพไปงานเพื่ออะไรก็ตาม ขอความกรุณาอย่าใส่เครดิตหรือลายน้ำตัวเองลงบนภาพ ถ้าจะให้ดีกระซิบบอกผู้เขียนหลังไมค์สักนิดหนึ่ง

ปรกติผู้เขียนไม่อะไรกับเรื่องพวกนี้ อยากตัดต่อภาพวาดหรือเปลี่ยนเครดิตเชิญตามสบายชินแล้ว แต่เนื่องมาจากไม่ใช่ภาพตัวเอง มีความจำเป็นต้องร้องขอชีวิตสักครั้งเถอะ รวมทั้งขออภัยสำหรับผู้อ่านที่ไม่สนใจเรื่องพวกนี้

เรือหลวงชลบุรีในปัจจุบัน

ตัดกลับมาที่เรือหลวงชลบุรีในปี 2021 ยังคงเข้าประจำการรับใช้ชาติร่วมกับเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ต โดยมีสิ่งเปลี่ยนชัดเจนมากที่สุดก็คือ เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW06 ถูกถอดออกไปเพราะหมดอายุขัย ทดแทนด้วยเรือเรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัวตำแหน่งใกล้ตำแหน่งเดิม อาวุธและอุปกรณ์อื่นๆ ยังอยู่ครบถ้วนเหมือนเก่า


หลายๆ อย่างอาจสู้ของใหม่ไม่ได้ อาทิเช่นปืนใหญ่ 76/62 มม.รุ่น Compact ประสิทธิภาพต่ำกว่ารุ่น Super Rapid  ปืนกล 40/70 มม.ลำกล้องแฝดขายไม่ออกนานแล้ว เรดาร์ควบคุมการยิง WM22/61 มีขนาดเทอะทะเมื่อเทียบกับรุ่นหลาน เรดาร์/ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง LIROD-8 หายหน้าหายตาไปนาน ระบบเป้าลวง MK-33 RBOC ถูกทดแทนด้วย MK-36 Super RBOC ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ก็ล้าสมัยเต็มทน บังเอิญมีข้อดีคือทุกอย่างยังมีชาติอื่นใช้งานเช่นกัน

เรือหลวงชลบุรีเข้าประจำการใกล้ครบ 38 ปีแล้ว แต่อาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยังมีอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงวางขายอีกหลายปี ถือเป็นอานิสงส์จากคณะกรรมการจัดหาเรือ ที่ได้คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุดนำมาติดตั้งบนเรือ

ผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับเรือหลวงเจ้าพระยา เรือทั้งสองลำมีชะตากรรมใกล้เคียงกัน เนื่องจากถูกถอดเรดาร์ตรวจการณ์ตัวหลักออกไป ทั้งๆ ที่เรือหลวงเจ้าพระยาประจำการช้ากว่า 8 ปี ด้วยสาเหตุอันใดผู้เขียนไม่อาจทราบได้เลย

เรือหลวงเจ้าพระยาเป็นเรือฟริเกตติดอาวุธครบ 3 มิติ แต่เป็นมิติพิศวงระยะทำการค่อนข้างสั้น มีปืนกล 37 มม.ไว้รับมือภัยร้ายจากฟากฟ้า มีจรวดปราบเรือดำน้ำระยะยิง 1,200 เมตรไว้รับมือภัยร้ายจากใต้น้ำ มีปืนใหญ่ 100 มม.กับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 ไว้รับมือภัยร้ายจากผิวน้ำ กองทัพเรือยังไม่มีแผนปรับปรุงใหญ่ครึ่งอายุการใช้งาน

ปัจจุบัน C-801 น่าจะหมดอายุใช้งานครบถ้วนแล้ว ประสิทธิภาพเรือหลวงเจ้าพระยาลดต่ำลงแบบฮวบฮาบ เทียบกับเรือหลวงชลบุรีซึ่งไม่มีการปรับปรุงใหญ่เช่นกัน เรือมีประสิทธิภาพอาวุธลดต่ำลงสัก 10 เปอร์เซ็นต์เอ้า (ป้อมปืนเก่าแล้วอาจขยับได้ช้ากว่าของใหม่) ประสิทธิภาพเรดาร์ลดลงมาสัก 30 เปอร์เซ็นต์ ผู้เขียนคิดว่าถ้าได้เรดาร์ Sea Giraffe1X ตัวเล็กนิดเดียวเป็น AESA ระยะทำการ 100 กิโลเมตรเข้ามาปิดช่องว่าง จะกลับดีงามทันสมัยเทียบเท่าเรือใหม่ในปี 2526

   แต่เรือหลวงเจ้าพระยาอยู่ในสภาพร่อแร่ ไม่มี C-801 ประสิทธิภาพอาวุธต่ำกว่าเดิมอย่างน้อยๆ 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเรดาร์ตรวจการณ์ Type 354 Eye Shield ระยะตรวจ 147 กิโลเมตร ประสิทธิภาพเรดาร์ลดต่ำกว่าเดิมมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แน่นอน เพราะ Type 354 Eye Shield ตรวจจับเป้าหมายขนาด 10 ตารางเมตรได้จากระยะ 50 ไมล์ทะเล เรดาร์เดินเรือที่นำมาทดแทนคงทำอะไรค่อยไม่ได้ ผู้เขียนเคยเขียนถึงเรื่องนี้ครั้งหนึ่งแล้วในบทความ เรดาร์ที่หายไป

เรือหลวงชลบุรีในอดีต

            เรือเร็วโจมตีปืนหมายเลข 331 ที่จัดหามาจากประเทศอิตาลี เป็นเรือลำที่สองซึ่งใช้ชื่อว่าเรือหลวงชลบุรี ก่อนหน้านี้ในปี 2481 กองทัพเรือไทยเคยมีเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่งเข้าประจำการ เป็นเรือตอร์ปิโดใหญ่จัดหามาจากประเทศอิตาลีเช่นกัน เรือตอร์ปิโดหมายเลข 32 มีประวัติแบบย่อมากๆ ดังนี้คือ

                วันที่ 23 กรกฎาค 2478 ลงนามสัญญาสร้าง

                วันที่ 22 สิงหาคม 2478 ทำพิธีวางกระดูกงู

                วันที่ 18 มกราคม 2479 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ

                วันที่ 5 ตุลาคม 2481 ทำพิธีเข้าประจำการ

                วันที่ 17 มกราคม 2484 เรือหลวงชลบุรีถูกเรือรบฝรั่งเศสยิงจมที่เกาะง่าม ในกรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส

                ภาพนี้คือเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่งก่อนทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ มองเห็นหมายเลข 32 ที่หัวเรืออย่างชัดเจน ด้านบนมีเครนขนาดใหญ่สำหรับขนของหนัก ท้ายเรือหันเข้าหาทะเลเตรียมพร้อมปล่อยลงน้ำ ประดับประดาด้วยธงมากมายซึ่งผู้เขียนไม่รู้ความหมาย เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือลงน้ำบรรดาคนงานในอู่ต่อเรือ จะมายืนมุงพร้อมกับใช้มือโบกหมวกตัวเอง พร้อมๆ กับลุ้นว่าเรือลงน้ำแล้วจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิดนอกเสียจากดวงตกสุดขีด

ระหว่างปี 2478 ถึง 2480 ชาวจังหวัดชลบุรีได้มีส่วนบริจาคทรัพย์ให้กับกองทัพเรือ โดยการเปิดเรี่ยไรในงานประจำปีจังหวัดชลบุรี นำเงินที่ได้มาสมทบซื้อเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่ง คล้ายคลึงจังหวัดอื่นๆ ที่ชื่อจังหวัดถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเรือ

ข้อมูลต่อจากนี้เป็นความเห็นส่วนตัว สมัยนั้นประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนามีรายได้ค่อนข้างน้อย การรับบริจาคไม่น่าได้เงินก้อนโตซื้อเรือรบทั้งลำ เข้าใจว่ากองทัพเรือนำเงินบริจาคมาซื้อปืนกลเมดเสนขนาด 20 มม.ติดตั้งบนเรือ  ถ้าได้เงินน้อยซื้อรุ่นลำกล้องเดี่ยวถ้าได้เงินมากก็ซื้อรุ่นลำกล้องแฝด

                เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดมีมากถึง 9 ลำ แบ่งเป็นเฟสแรกจำนวน 2 ลำคือเรือหลวงตราดกับเรือหลวงภูเก็ต  สร้างโดยอู่ต่อเรือกันดิเอริ ริอูนิดิ เดลลัดดริอาดิ โก ประเทศอิตาลี ในราคาลำละ 1 ล้าน 3 แสนบาท ต่อมาไม่นานกองทัพเรือไทยตั้งโครงการจัดหาอีก 4 ลำ ผลการประมูลสามารถต่อเรือ (เฉพาะเรือและเครื่องจักร) ในราคาเพียงลำละ 571,300 บาท รวมค่าปืนใหญ่และตอร์ปิโดเท่ากับประมาณลำละ 7 แสนบาท จึงสามารถจัดหาได้ถึง 7 ลำเพิ่มขึ้นมา 3 ลำ


ภาพสุดท้ายคือเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่ง ระหว่างทำพิธีปล่อยลงน้ำในวันที่วันที่ 18 มกราคม 2479 ข้อแตกต่างระหว่างเรือเฟสสองเทียบกับเรือเฟสหนึ่ง นอกจากระวางขับน้ำมากกว่าเดิมเล็กน้อย เพื่อบรรทุกน้ำมันมากกว่าเดิมมีระยะทำการไกลกว่าเดิมแล้ว (แลกกับความเร็วสูงสุดลดลงมานิดหน่อย) ที่เห็นชัดเจนคือแท่นยิงปืนกลต่อสู้อากาศยานแท่นที่สอง สร้างเพิ่มเติ่มระหว่างแท่นยิงตอร์ปิโดหน้าและหลัง  จากภาพนี้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน (ที่สุดของแจ้แล้วครับ)

หลังจากเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่งพลีชีพเพื่อชาติ  42 ปีถัดมาเรือหลวงชลบุรีลำที่สองจึงได้กลับคืนจังหวัดชลบุรี ในอนาคตถ้ามีเรือหลวงชลบุรีลำที่สาม หวังว่าผู้เขียนจะมีโอกาสเขียนถึงเรือลำนี้อีกครั้ง วันนี้ลากันไปก่อนสวัสดีครับ ^_+

                                                +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

เอกสารดาวน์โหลดบทความเรื่อง ฉลองเรือหลวงชลบุรี 11-21 เมษายน27’

เอกสารดาวน์โหลดบทความเรื่อง คุณครูเล่าให้ฟังเรื่องเรือตอร์ปิโดใหญ่

สารคดี 'เรือตอร์ปิโด...การเดินทางสู่ทะเลตะวันตกของราชนาวีไทย'

https://m.youtube.com/watch?v=Dx7mXIOwwOg&feature=youtu.be

https://m.youtube.com/watch?v=SIjDkXwaiNE&feature=youtu.be

https://thaimilitary.blogspot.com/2017/10/the-missing-radar.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2016/04/the-power-of-sea-2478.html

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น