วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

HTMS Makut Rajakumarn Behind the Scenes


วันสบายๆ กับเรือหลวงมกุฎราชกุมาร

ใกล้เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2019 แล้ว ปีนี้เป็นปีที่ผู้เขียนประสบความวุ่นวายมากที่สุด และเป็นปีที่เขียนบทความทางทหารมากที่สุด มีเพียงกันยายนเดือนเดียวหาเวลาว่างไม่ได้จริงๆ แรกสุดตั้งใจเขียนหนักไปทางเรื่องไม่เป็นเรื่อง เมื่อได้อ่านทบทวนปรากฏว่าเป็นเรื่องเครียดๆ เยอะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบทความนี้จะอ่านง่ายไม่ปวดหัว อ่านไปดื่มกาแฟกินทองหยิบฝอยทองไป มารู้ตัวอีกทีเบาหวานขึ้นตาเสียแล้ว โดยจะเป็นเรื่องราวเรือหลวงมกุฎราชกุมารในมุมมองสบายๆ
วันที่ 21 สิงหาคม 1969 กองทัพเรือลงนามสัญญาสร้างเรือกับบริษัท ยาร์โรว์ จำกัด เพื่อจัดหาเรือฟริเกตจากอังกฤษเข้าประจำการ เรือหลวงมกุฎราชกุมารทำพิธีปล่อยน้ำวันที่ 18 พฤศจิกายน 1971 ก่อนที่เรือราคา 375 ล้านบาทจะเดินทางไกล 14,476 ไมล์กลับมายังประเทศไทย จากนั้นทำพิธีเข้าประจำการในวันที่ 7 พฤษภาคม 1973

ในภาพเป็นแสตมป์เฉลิมฉลองกองทัพเรือ ในชุดนี้ประกอบไปด้วย เรือหลวงมกุฎราชกุมารราคา 2 บาท เรือหลวงตาปีราคา 3 บาท เรือหลวงปราบปรปักษ์ราคา 5 บาท และเรือต.91 ราคา 6 บาท มีวางขายอยู่ใน EBAY ราคาดวงละ 753.05 บาทเท่ากันทุกดวง ผู้อ่านท่านใดสนใจเข้าไปตามเก็บแต้มได้เดี๋ยวนี้เลย
เรือหลวงมกุฎราชกุมารมีระวางขับน้ำปกติ 1,948 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,072 ตัน ยาว 97.56 เมตร กว้าง 10.97 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.50 เมตร เป็นเรือรบที่ทันสมัยที่สุดของราชนาวีไทย ติดอาวุธจากอังกฤษทั้งหมดประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วจำนวน 2 กระบอก ปืนกลขนาด 40/60 มม.จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยาน Seacat 1 แท่นยิง และจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo อีก 1 แท่นยิง โซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำใช้ของของอังกฤษ แต่เลือกติดตั้งระบบเรดาร์ทั้งหมดจากเนเธอร์แลนด์ ไม่สนใจเรดาร์รุ่นส่งออกของอังกฤษแต่อย่างใด ทำให้เรือทันสมัยกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า

นี่คือภาพถ่ายตอนเพิ่งเข้าประจำการ เสากระโดงดูโล่งๆ เพราะยังไม่มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์กับเรดาร์ตรวจการณ์ระยะใกล้ เป็นแบบเรือจากอังกฤษก็จริงแต่ไม่เหมือนเรือรบเขาสักลำ เพราะเป็นรุ่นส่งออกมีลูกค้าอยู่แค่เพียง 2 ราย เพ่งมองที่กราบเรือข้างปืนใหญ่กระบอกหน้า จะเห็นว่าเป็นผิวเรียบทั้งหมดและไม่มีท่อน้ำทิ้ง ตอนนี้เริ่มกันงงแล้วใช่ไหมเอ่ย
หลังเข้าประจำการได้เพียงไม่กี่ปี เรือหลวงมกุฎราชกุมารถูกปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม (หรืออีกนัยก็คือเพิ่งได้งบประมาณ) โดยเฉพาะระบบตรวจจับและระบบสงครามสงครามอิเล็กทรอนิกส์ มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ ZW06 ซึ่งสามารถช่วยนำทางการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ได้ ติดระบบตรวจจับการแพร่คลื่นเรดาร์ Elettronica ELT 211 ติดระบบรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์ Elettronica ELT 318 โดยใช้จาน ELT 828 Antennas จำนวน 4 จาน สุดท้ายติดระบบเป้าลวง Sippican Mk 33 RBOC อีก 2 แท่นยิง หมายความว่ากองทัพเรือไทยจัดอุปกรณ์มาครบองค์ประชุม

ภาพนี้ค่อนข้างชัดเจนมากและสวยงามมาก ผู้เขียนได้มาจากท่านจูดาสซึ่งน่าจะแสกนจากนิตยสารสงคราม เห็นปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกท้ายอย่างชัดเจน และเห็นท่อยิง Limbo กระดกขึ้นอยู่ในโหมดพร้อมยิง แบบเรือเดิมๆ จากอังกฤษมีแค่ปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกหน้า ตอนที่เราซื้อเรือมี 2 แนวความคิดแตกต่างกัน ทหารเรือบางส่วนต้องให้ติดปืนใหญ่ 2 กระบอกเพิ่มอำนาจการระดมยิง ทหารเรืออีกส่วนต้องการให้มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก ผลสรุปก็อย่างที่รู้คือฝ่ายแรกเอาชนะไปได้ โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบเรือติดปืนเยอะๆ ชนิดล้นลำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงยอมรับได้ทั้งสองแนวความคิด
อยากให้เปรียบเทียบสักเล็กน้อย ภาพที่สองเรือเล็กจะเห็นเรือบดอยู่ด้านข้างจรวด Seacat มองไปที่หัวเรือเห็นท่อน้ำทิ้งกำลังทำงานอย่างชัดเจน (ใต้กระบอกปืนใหญ่ไม่ไกลจากเลข 7) ทีนี้อยากให้ผู้อ่านย้อนกลับไปชมภาพแรกอีกครั้ง เรือเล็กจะเป็นเรือติดเครื่องยนต์สีขาวและไม่มีท่อน้ำทิ้งใต้ปืนใหญ่ นี่คือข้อแตกต่างที่พอสังเกตได้ระหว่างกราบซ้ายกราบขวา
เนื่องมาจากเรือหลวงมกุฎราชกุมารมีรูปร่างสง่างาม บวกกับอาวุธและเรดาร์ทันสมัยเต็มลำเท่าที่จะติดได้ เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากบรรดามิตรรักแฟนเพลงทั่วโลก ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลบางส่วนมาได้อยากนำมาอวด

เริ่มกันจากดินแดนเมืองน้ำหอมฝรั่งเศส มีคนนำภาพเรือหลวงมกุฎราชกุมารจากนิตยสารฉบับหนึ่ง มาแสกนใส่คอมพิวเตอร์พร้อมเขียนระบุเวอร์ชันปี 1975 ภาพนี้ได้ถูกสลับด้านเพื่อความสวยงาม เพราะเรือเล็กเป็นเรือบดและมีท่อน้ำทิ้งใต้ปืนใหญ่หัวเรือ ยังไม่ได้ติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ มองไม่เห็นหมายเลขเรือแต่เห็นธงราชนาวีชัดเจน ภาพถ่าย 3 ใบจาก 3 มุมสวยทุกมุมเลยนะครับ หาเรือที่ถ่ายภาพขึ้นแบบนี้ได้น้อยเต็มที ยกตัวอย่างเช่นเรือฟริเกต DW3000F บางมุมโคตรขี้เหล่ บางมุมสูงอย่างกับเครนหน้าท่า และบางมุมถือว่าสวยใช้ได้เลย แต่ใม่ใช่กับเรืออังกฤษลำนี้อย่างแน่นอน

ความนิยมชมชอบได้มาโผล่ที่เอเชียเช่นกัน คนวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นแอบขโมยเรือเรามาติดธงญี่ปุ่นเสียเลย ก่อนส่งการ์ตูนไปขายที่ฝรั่งเศสอีกแล้วสินะ (เป็นภาพการ์ตูนก็ยังสวยนี่มันเรืออะไรกัน) เนื้อหาในภาพน่าจะประมาณต้นหนบอกว่าเรือมาถึงจุดนัดหมายแล้ว กัปตันเรือจึงสั่งให้ส่งสัญญาณไฟไปยังเรืออีกลำ แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่ามาจากการ์ตูนเรื่องอะไร
ประเทศญี่ปุ่นวงการการ์ตูนใหญ่โตมากและมีมูลค่าสูงมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเขียนเป็นการ์ตูนเพื่อสื่อความหมายในวงกว้าง และมีการ์ตูนเกี่ยวกับสงครามเป็นจำนวนมาก ของฝรั่งก็มีเหมือนกันผู้เขียนเคยอ่านตอนเด็กๆ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สอง บางเรื่องก็พวกสายลับทำนองนี้ เส้นสายค่อนข้างมืด เนื้อหาเดินเร็วมาก ภาพไม่ค่อยสมจริง โชคร้ายที่ตอนนี้จำชื่อนิตยสารไม่ได้แล้ว น่าจะอยู่สำนักพิมพ์เดียวกับ กีฬา&การ์ตูน ที่เมื่อนานมาแล้วโด่งดังมาก ใครจำ ฮามิชตีนระเบิด รองเท้าของทอมมี่ ปัญหาของบิลลี่ หรือ รอยแห่งโรเวอร์ได้โปรดมารายงานตัวด้วย

จากเอเชียเราไปทวีปอเมริกาใต้กันบ้าง ศิลปินท่านหนึ่งแสดงฝีมือตัวเองด้วยการวาดภาพ และนี่ก็คือภาพวาดเรือหลวงมกุฎราชกุมารเวอร์ชัน 1973 เขาใช้สเกล 20 พิกเซลเท่ากับ 1 เมตร ภาพจึงมีขนาดใหญ่กว่าเว็บไซต์ Shipbuckket.com ที่กำหนดให้ 2 พิกเซลเท่ากับ 1 ฟุต ถือว่าวาดสวยใช้ได้เลยนะสวยกว่าภาพวาดของผู้เขียนด้วยซ้ำ เพียงแต่รายละเอียดหลายๆ ส่วนอาจไม่ตรงความจริง คงว่าอะไรไม่ได้เพราะผิดมาตั้งแต่ภาพกราฟิกของ Thales แล้ว
ความนิยมชมชอบไม่ได้หยุดแค่เพียงเท่านี้ ผู้เขียนขอพาขึ้นเหนือไปเที่ยวทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อตามรอยหาภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเรื่องหนึ่ง และนี่ก็คือโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องที่เป็นเป้าหมาย

‘Bermuda Tentacles’ สร้างโดยค่าย The Asylum ซึ่งภาพยนตร์ส่วนใหญ่ไม่ฉายโรงแต่ออกแผ่น DVD ส่วนเรื่องนี้มีฉายในเคเบิลทีวีด้วย เข้าวันที่ 12 เมษายน 2014 เป็นภาพยนตร์แนวไซไฟแอคชั่นสยองขวัญความยาว 89 นาที เห็นภาพครั้งแรกผู้เขียนตื่นเต้นดีใจมาก เรือรบไทยได้เข้าฉากภาพยนตร์อเมริกาเชียวนะ ว่าแล้วจึงออกค้นหาแผ่นซีดีซึ่งบอกได้คำเดียวยากมาก เพราะผ่านมาแล้วตั้ง 2 ปีกว่าและตัวเองดันอยู่ต่างจังหวัด ใช้เวลาอยู่หลายเดือนก่อนทำใจว่าคงหาไม่เจอ
แต่แล้วเหมือนมีโชคช่วยอำนวยชัย แฟนเก่าทอดทิ้งไปแต่ได้ของเด็ดโดนใจกลับคืน ปลายปี 2018 ผู้เขียนแวะซื้อของกินที่เทสโก้ โลตัสใกล้บ้าน ก่อนจากมาพร้อมภาพยนตร์มา 6 เรื่องรวมทั้งเรื่องนี้

มฤตยูเบอร์มิวด้าคือชื่อเรื่องภาษาไทย ใช้ภาพเดียวกับโปสเตอร์อเมริกาแต่ลงชื่อเรื่องคนละจุด เล่นบังหัวเรือเสียจนมิดชิดเห็นแต่หมายเลข 433  โปรยหัวตัวอักษรแดงว่า ปฏิบัติการกู้ชีวิตประธานาธิบดี ที่มีสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าเป็นสมรภูมิ นี่เรือรบไทยช่วยเหลือประธานาธิบดีอเมริกาเชียวหรือ? น่าจะสนุกสนานเร้าใจและเร้าหรืออย่างแน่นอน
ปรากฏว่างานนี้เนื้อเรื่องไม่ตรงปก เรื่องราวส่วนใหญ่อยู่บนเรือประจัญบานอเมริกากับเรือคุ้มกัน ที่จับพลัดจับพลูได้เผชิญหน้าภัยร้ายจากใต้มหาสมุทร ต้องระดมทหารทั้งหมดมายืนเรียงแถวยิงเอ็มสิบหกใส่ตัวประหลาด ส่วนอาวุธปืนอาวุธจรวดซึ่งมีล้นลำไม่รู้ว่าติดไปเพื่ออะไร ภาพยนตร์เรื่องนี้พอดูเอาสนุกได้แต่อย่างจริงจัง คิดเสียว่านั่งดูเรือรบอเมริกาของจริงบ้างของปลอมบ้าง เปลี่ยนบรรยากาศจากบ้านผีปอบหรือบุญชูผู้น่ารัก
เนื่องมาจากภาพนี้หายากมากผู้เขียนขออนุญาตใส่ลายน้ำ แต่ค่อนข้างเนียนกริบถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็นจริงๆ (ฮา) บทความนี้ใช้เวลาค้นหาข้อมูลนานถึง 2 ปี หามาได้แล้วดันลืมเขียนบวกเพิ่มอีก 1 ปี นำมารวมกันจึงเท่ากับ 3 ปีพอดิบพอดี ไม่น่าจะมีบทความไหนของผู้เขียนยาวนานกว่านี้ คือถ้านานกว่านี้คงไม่เขียนแล้วไปเรื่องอื่นเถอะ
ราชนาวีไทยซื้อเรือหลวงมกุฎราชกุมารลำเดียวก็จริง แต่ยังมีพี่น้องร่วมสายโลหิตคลานตามกันมาหนึ่งลำ เธอก็คือเรือฟริเกตมาเลเซียชื่อ KD Rahmat รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกันแต่ขนาดเล็กกว่านิดหน่อย

เรือลำนี้มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,600 ตัน ยาว 93.9 เมตร กว้าง 10.4 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ติดอาวุธอังกฤษแต่ใช้เรดาร์จากเนเธอร์แลนด์เหมือนเรา เพียงแต่ปืนใหญ่ 4.5 นิ้วและระบบเรดาร์โบราณกว่ากัน เพราะสั่งซื้อก่อนประมาณ 3 ปีและเข้าประจำการก่อน 2 ปี เรือมาเลเซียไม่มีปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกท้าย แต่มีลานจอดสำหรับเฮลิคอปเตอร์ Westland Wasp Mk1 เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่นจิ๋วที่เขามีประจำการถึง 12 ลำ ตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือคล้ายคลึงกับเรือเรามาก ยกเว้นปล่องระบายความร้อนขยับขึ้นมาข้างหน้า สลับกับเรดาร์ตรวจการณ์ LW02 ขยับไปอยู่ท้ายปล่อง ส่วนเสากระโดงเยื้องมาทางกลางเรือมากกว่าเรือเรา จุดแตกต่างมองเห็นด้วยสายตาน่าจะมีแค่เพียงเท่านี้

ส่วนภาพนี้เป็น F24 KD Rahmat ลำเดิม แต่ปีน่าจะใหม่กว่ากันพอสมควร มีการทาสีเข้มด้านบนปล่องระบายความร้อน รวมทั้งถอดจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo ออกเพื่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์เต็มพื้นที่ เสากระโดงท่อนบนทาสีเข้มเหมือนเรือรบราชนาวีอังกฤษ เรือเราไม่ได้ทาเพราะเสาอยู่ห่างปล่องระบายความร้อนค่อนข้างเยอะ
ปี 1983 มาเลเซียถอดจรวดต่อสู้อากาศยาน Seacat ออกเพราะหมดอายุการใช้งาน ติดตั้งปืนกลขนาด 40/70 มม.กระบอกที่ 3 เข้าไปทดแทน F24 KD Rahmat ถูกปลดประจำการปี 2004 สุดท้ายกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำให้ประชาชนเข้ามาเยี่ยมชม ครั้นถึงปี 2017 เกิดอุบัติเหตุทำให้เรือจมโดยการเอียงซ้าย ไม่ทราบเหมือนกันว่าแก้ไขเรียบร้อยหรือยัง
หลังจากเข้าประจำการประมาณ 15-20 ปี เรือหลวงมกุฎราชกุมารมีการปรับปรุงช่วงครึ่งอายุ ด้วยการถอดจรวดต่อสู้อากาศยาน Saecat และเรดาร์ควบคุมการยิงออก ทดแทนด้วยปืนกล 40 มม.แท่นคู่จากอิตาลี ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงใกล้เคียงระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด เปลี่ยนโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำเป็นรุ่นใหม่จากเยอรมัน ใส่แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเข้าไป แต่ต้องถอดปืนกล 40/60 มม.ออกเสียก่อน ถือว่าปรับปรุงไม่มากใช้งบประมาณแค่พอสมควร

แต่การปรับปรุงยังไม่โดนกองเชียร์สักเท่าไร หลายคนจึงสร้างเรือหลวงมกุฎราชกุมารเวอร์ชันตัวเองขึ้นมา รวมทั้งภาพนี้ซึ่งเป็นเวอร์ชันท่านจูดาส มีการติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon บริเวณท้ายเรือซึ่งเป็นที่ว่างโล่ง มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยจำนวนหลายคนก็เลือกจุดนี้ เพราะเป็นจุดที่ง่ายที่สุดไม่ต้องดัดแปลงเรือ รวมทั้งไม่เกะกะทั้งปืนใหญ่และปืนกล
ผู้เขียนเคยวาดภาพเรือหลวงมกุฎราชกุมารเช่นกัน เป็นเรือลำแรกของกองทัพเรือไทยกันเลยทีเดียว ตอนนั้นมีความพยายามปรับปรุงเรือเหมือนท่านจูดาส ใช้เวลาออกแบบและแก้ไขอยู่ประมาณ 3-4 เดือนเต็ม จนได้ข้อสรุปว่าไม่มีจุดเหมาะสมในการติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon คือถ้าจะทำจริงๆ ต้องถอดปืนใหญ่ 4.5 ท้ายเรือออกไปสถานเดียว เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแนวความคิดต่างจากคนอื่น ด้วยเหตุผลที่กำลังจะกล่าวถึงโปรดรอสักประเดี๋ยว
ตอนนั้นเองผู้เขียนแอบคิดในใจว่าแล้วกองทัพเรือไทยล่ะ พวกเขามีแนวคิดปรับปรุงเรือให้ทันสมัยกว่านี้หรือไม่? และถ้าต้องการปรับปรุงเขาเลือกวิธีไหน? วันเวลาผ่านพ้นมาถึงกลางเดือนที่แล้ว ปริศนาคาใจจึงได้คลี่คลายกระจ่างชัดเจน

นี่คือภาพจากแสกนนิตยสารสงครามปี 1990 เป็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ด้วยระบบเรดาร์และอาวุธทันสมัยระดมใส่เข้ามาชนิดล้นลำ โดยพอจะเรียบเรียงให้ชัดเจนได้ดังนี้
-ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.Super Rapid อัตรายิง 120 นัดต่อนาทีแทนปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกหัวเรือ
-ติดเรดาร์ควบคุมการยิงจรวดรุ่น STIR 180 จำนวน 2 ตัวแทนรุ่น M44
-ติดระบบเป้าลวง DAGAIE รุ่นใหม่ทันสมัยแทน Sippican Mk 33 RBOC
-ติดจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon แทนปืนกล 40/60 มม.
-ติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx หรือ Goldkeeper แทนแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Seacat
-ติดแทนยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Aspide จากอิตาลี แทนปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกท้ายเรือ
-ติดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stringray แทนจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo
-ติดระบบโซนาร์ลากท้าย Towed Array System Sonar (TASS) หรือ Variable Depth Sonar (VDS) แทนรางปล่อยระเบิดลึก
-ถ้ามีงบประมาณเหลือจะปรับปรุงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันสมัยกว่าเดิม

ภาพนี้ติด Phalanx กับ Towed Array System Sonar เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 180 โดนบังเล็กน้อยแต่ไม่มีปัญหา ซึ่งอันจริงติด STIR 180 แค่ตัวเดียวก็พอ เพราะปืนใหญ่หัวเรือมีเรดาร์ WM22 ช่วยจัดการอยู่แล้ว

ส่วนภาพนี้ติด Goldkeeper กับ Variable Depth Sonar เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 180 โดนบังน้อยลง แต่เนื่องมากจาก Goldkeeper ต้องใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือเป็นคลังกระสุน จึงไม่เหลือพื้นที่ไว้ใส่จรวด Aspide ต้องไปโมจุดอื่นเพิ่ม
จะเห็นได้ว่าราชนาวีปรับปรุงเรือโดยการจัดชุดใหญ่จัมโบ้ กลายเป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ติดอาวุธล้นลำตัวจริงเสียงจริง เห็นภาพนี้ครั้งแรกผู้เขียนถึงกับอึ้งทึ่งเสียว ไม่คิดมาก่อนว่าจะออกมาในแนวนี้ เกิดคำถามในใจขึ้นมาทันทีว่าติดจรวด Harpoon ไหวเหรอ? คำถามข้อนี้มีคำตอบรวดเร็วมากครับ เรามาดูภาพถัดไปกันต่อเลย

ภาพถ่ายใบนี้น่าจะไม่นานสักเท่าไร เพราะเรือบดถูกแทนที่ด้วยเรือยางท้องแข็งเสียแล้ว ที่นี้ถ้ามองที่กราบเรือข้างปล่องระบายความร้อน จุดที่ติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ จะเห็นว่ามีพื้นที่โล่งทั้งยาวและลึกพอสมควร สามารถติดตั้งแท่นยิงจรวด Harpoon ให้เฉียงทำมุมออกด้านนอกเล็กน้อย เพียงแต่ต้องเสริมเสาและคานรองรับน้ำหนักจรวด จากนั้นมาดูที่ท้ายเรือโล่งๆ กันบ้าง ปรกติจะมีรางปล่อยระเบิดลึกเพียงรางเดียว ทำไมในข้อเสนอถึงไม่เลือกติดจรวด Harpoon จุดนี้? ทั้งๆ ที่มันง่ายดายกว่ากันตั้งเยอะแยะ ผู้อ่านลองคิดเล่นๆ สัก 5 นาทีค่อยอ่านบทความต่อนะครับ
เหตุผลหลักน่าจะมาเรื่องความเตี้ยของท้ายเรือ เนื่องจากออกแบบให้ใช้งานจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo ซึ่งมีแท่นยิงค่อนข้างใหญ่ กินพื้นที่มาก มีน้ำหนักรวมถึง 35 ตัน ถ้าตั้งชั้นเดียวกับอาวุธชนิดอื่นจะเกะกะมาก ไหนยังต้องมีคลังแสงเก็บลูกจรวดอีกจำนวนหนึ่ง อู่ต่อเรือจึงกำหนดให้ Limbo อยู่ต่ำลงไปจากดาดฟ้าเรือ มีช่องเปิดปิดอย่างดีป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แล้วทำท้ายเรือเปิดโล่งเพื่อความสะดวกในการดูแล รวมทั้งสะดวกในการขนย้ายลูกจรวดเข้ามาเก็บในคลังแสง
ทีนี้ถ้าเราเอาจุดท้ายเรือมาติดจรวด Harpoon จรวดจะอยู่ใกล้ระดับน้ำมากเกินไป มีคลื่นซัดสาดเข้ามารับรองว่าโดนแท่นยิงทุกลูกคลื่น ความเสียหายเล็กๆน้อยๆ อาจเกิดได้ง่ายกว่าและมากกว่า โดยเฉพาะเทียบกับดาดฟ้าเรือชั้นสองที่กำหนดไว้ตามข้อเสนอ เหตุผลเดียวกันนี้เองที่ผู้เขียนเลือกติดจรวด Harpoon แทนปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกท้ายเรือ แต่แผนปรับปรุงของกองทัพเรือเหนือชั้นกว่าหน้าตาเฉย บอกตามตรงว่าไม่เคยคิดถึงจุดนี้แม้แต่ครั้งเดียว
เหตุผลข้อถัดไปอาจฟังแล้วคิดว่าตลกคาเฟ่ โดยปรกติท้ายเรือจะเป็นจุดผูกเรือกับเสาบนชายฝั่ง ถ้าติดแท่นยิงจรวด Harpoon เข้าไปมันจะเกะกะ ถามว่าติดได้ไหม-ผูกได้ไหม-เป็นจุดติดตั้งได้ไหม คำตอบก็คือติดได้-ผูกได้-เป็นจุดติดตั้งได้ แต่ไม่ใช่จุดติดทั้งที่ดีที่สุดและอาจมีปัญหาตามมา มันจะวุ่นวายเกินไปจนไม่เหมาะสมในการใช้งาน
แต่ถ้าติดโซนาร์ลากท้ายตัวเล็กๆ กลางท้ายเรือพร้อมสร้างห้องขึ้นมาคลุม (เรือลำเล็กติดได้แค่โซนาร์ตัวเล็กแหละครับ เหมือนเรือคอร์เวตของสิงคโปร์ที่สร้างจากเยอรมัน ลำนั้นติด VDS โซนาร์โดยใช้พื้นที่นิดเดียว) ยังเหลือพื้นที่ด้านข้างส่วนหนึ่งสำหรับผูกเชือกเรือ และไม่มีปัญหาเรื่องโดนน้ำทะเลเหมือนจรวด Harpoon เพราะโซนาร์ถูกออกแบบให้ทำงานใต้น้ำอยู่แล้ว เรือบางลำแค่ยกโซนาร์พ้นจากระดับน้ำเพียงหนึ่งฟุต ที่เขียนทั้งหมดเป็นการคาดเดาของผู้เขียนคนเดียวนะครับ
สุดท้ายท้ายสุดแผนปรับปรุงเรือหลวงมกุฎราชกุมารถูกยกเลิก เหลือแค่เพียงติดปืนกล 40 มม.แท่นคู่กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ (ตามภาพสวยๆ ภาพนี้แหละ) กองทัพเรือไทยต้องรอต่อไปอีกประมาณ 7 ปีกว่า ถึงจะได้เรือฟริเกตมือสองชั้น KNOX จากอเมริกาเข้าประจำการ ทำให้มีเรือฟริเกตติดระบบโซนาร์ลากท้ายลำแรกใช้งาน อุปกรณ์ชิ้นนี้สำคัญจริงๆ นะครับ ถึงมีเฮลิคอปเตอร์ติดโซนาร์แบบชักหย่อนก็ทดแทนไม่ได้ เพราะเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินในสภาพอากาศแปรปรวนไม่ได้ ระยะเวลาปฏิบัติการณ์สั้นกว่ากันหลายเท่าตัว ปัจจุบันเรามีเรือฟริเกตติดโซนาร์ลากท้ายเพียง 1 ลำเท่านั้น

เรือหลวงมกุฎราชกุมารเข้าประจำการปี 1973 เวลาผ่านพ้นจนถึงปลายปี 2016 หรือ 43 ปีให้หลัง ได้มีการทดสอบยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo โดยกองทัพเรือไทย ผู้เขียนนำภาพและข่าวให้เพื่อนชาวอังกฤษอ่าน เขาบอกว่านี่คือการทดสอบ Limbo ครั้งล่าสุดและอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย จากเรือรบเพียงลำเดียวบนโลกที่ยังคงประจำการอาวุธนี้ ชมภาพเคลื่อนไหวกันสักนิดดีกว่านะครับ

Limbo มีระยะยิงไกลสุด 914 เมตร แท่นยิงแฝดสามจะส่งลูกจรวดหนัก 177 กิโลกรัมพร้อมรบหัวขนาด 94 กิโลกรัมขึ้นไปบนอากาศ ก่อนตกลงมาเป็นรูปสามเหลี่ยมล้อมเป้าหมายที่เล็งไว้ ผลลัพธ์ก็คือเกิดการระเบิดในวงกว้างใต้ท้องทะเล ถ้าเรือดำน้ำเป้าหมายหลบอยู่แถวนั้นก็ซวยไป ปรกติในคลังแสงมีลูกจรวด 51 นัดสามารถยิงถล่มเป้าหมายได้ถึง 17 ครั้ง
ผลการทดสอบบนเรือเรือหลวงมกุฎราชกุมารเป็นไปด้วยดี ลูกจรวดตกใกล้เคียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเกือบเท่า นี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้เห็น Limbo ทำงาน หาไม่ได้อีกแล้วขนาดเขียนเองยังแอบใจหายเอง
แล้วบทความนี้ก็เดินทางมาถึงตอนจบ เรือหลวงมกุฎราชกุมารประจำการมาแล้ว 46 ปีครึ่ง แต่ยังไม่มีเรือฟริเกตลำใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน นับรวมเรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐเข้าไปด้วย เท่ากับเรามีเรือติดอาวุธปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำที่มีอายุถึง 45-48 ปี และยังไม่มีกำหนดว่าวันไหนพวกเธอจะได้พักผ่อน จั่วหัวว่าเป็นบทความสบายๆ อ่านแค่พอขำๆ เหตุไฉนลงท้ายกลายเป็นเรื่องเคร่งเครียดอีกแล้วล่ะหนอ วันนี้ขอลาแบบแอบเศร้าเล็กน้อยสวัสดีครับ J
                     -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
            นิตยสารสงครามปี 1990
หนังสือ A Compendium of Armaments and Military Hardware (Routledge Revivals)

1 ความคิดเห็น:

  1. ความสนใจ:

    คุณกำลังมองหา บริษัท สินเชื่อทางการเงินที่แท้จริงเพื่อให้คุณกู้ยืมระหว่าง 50,000 ยูโรถึง 50,000,000 ยูโร (สำหรับสินเชื่อธุรกิจหรือ บริษัท สินเชื่อส่วนบุคคลสินเชื่อบ้านสินเชื่อรถยนต์สินเชื่อรวมหนี้เงินร่วมทุนเงินกู้เพื่อการดูแลสุขภาพ ฯลฯ ) หรือ คุณเคยถูกปฏิเสธการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือไม่? สมัครทันทีและได้รับการดำเนินการและอนุมัติสินเชื่อทางการเงินจริงภายใน 3 วัน NOMARK LOAN FIRM เราคือ "ผู้ให้กู้สินเชื่อที่ได้รับการรับรองในระดับสากล" ที่ให้สินเชื่อทางการเงินจริงแก่บุคคลและ บริษัท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% พร้อมบัตรประจำตัวที่ถูกต้องของคุณ หรือหนังสือเดินทางระหว่างประเทศของประเทศของคุณสำหรับการตรวจสอบ การชำระคืนเงินกู้ของเราเริ่มต้น 1 (หนึ่ง) ปีหลังจากที่คุณได้รับเงินกู้และระยะเวลาการชำระคืนอยู่ระหว่าง 3 ถึง 35 ปี บริษัท ของเรายังต้องการบุคคลที่สามารถเป็นตัวแทน บริษัท ของเราในประเทศของคุณได้

    บริษัท NOMARK LOAN
    อีเมล: nomarkloanfirm@hotmail.com
    C.E.O นายโนมาร์คเวสลีย์

    ตอบลบ