เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Independence ของสิงคโปร์
วันที่ 5 พฤษภาคม 2017 ประธานาธิบดีลี เซียนลุง ได้เป็นประธานในพิธีรับตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ เข้าประจำการในกองทัพเรือสิงคโปร์ RSS Independence เป็นลำแรกสุดจากจำนวน 8 ลำ ที่ได้สั่งซื้อจาก ST Marine ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือภายในประเทศ เพื่อใช้ทดแทนเรือตรวจการณ์ชั้น Fearless จำนวน 11 ลำ ซึ่งจะทยอยปลดประจำการไปจนกระทั่งครบทุกลำ
ข่าวนี้ดูเหมือนจะช้าไปประมาณ 1 ปีนะครับ ผู้เขียนตั้งใจช้าเองไม่ใช่ตกข่าวแต่อย่างใด เรือลำนี้สิงคโปร์ตั้งชื่อชนิดเรือว่า Littoral Mission Vessel (LMV) แน่นอนที่สุดว่ามีอยู่ลำเดียวบนโลกมนุษย์ ผู้เขียนขอกำหนดให้เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ตามขนาด คุณสมบัติเรือ รวมทั้งภารกิจหลักที่เรือต้องทำ และขอเรียกชื่อสั้นๆ ว่าเรือ LMV ตลอดบทความ
คุณลักษณะทั่วไปของเรือ
ความยาวตลอดลำ 80 เมตร
ความกว้าง 12 เมตร
กินน้ำลึก 3 เมตร
ความเร็วสูงสุด
27 นอต
ระวางขับน้ำสูงสุด
1,250 ตัน
ระยะปฏิบัติการไกลสุด
3,500 ไมล์ทะเล
เครื่องจักรใหญ่
2 x Diesels MTU 20V 4000 M93
กำลังพลประจำเรือ 23 -30 นาย
ระบบตรวจการณ์
เรดาร์ตรวจการณ์
Thales NS100
เรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes SharpEye X Band
เรดาร์เดินเรือ
Kelvin Hughes SharpEye S Band
ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง
STELOP COMPASS D
ระบบตรวจการณ์และติดตาม
STELOP 360°
all-round surveillance
ระบบอาวุธ
ปืนหลัก OTO Melara 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก
ปืนกล 25 มม. Mk38
Mod2 Typhoon ควบคุมรีโมทจำนวน 1 กระบอก
ปืนกล 12.7มม. Hitrole
ควบคุมรีโมทจำนวน 2 กระบอก
จรวดต่อสู้อากาศยาน
MBDA VL MICA จำนวน 12 นัด
คุณสมบัติของเรือลำนี้
อ้างอิงข้อมูลจากกองทัพเรือสิงคโปร์เป็นหลัก ภาพรวมก็คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งนั่นเอง
ทีนี้เราจะมาส่องดูกันทีล่ะส่วน เห็นได้ว่าใช้ลูกเรือแค่เพียง 23 นายในยามปรกติ
(เรือ ต.111 ยาว 36 เมตรของเราใช้ลูกเรือ
28 คน) เพราะสิงคโปร์ใช้ระบบอัตโนมัติเป็นหลัก
ตั้งแต่ปืนใหญ่ไปจนถึงปืนฉีดน้ำความดันสูง
แบบเรือมีความทันสมัยเหมาะสมกับยุคสมัย
หัวเรือเรียวแหลมรูปปากฉลาม ติดปืนใหญ่ 76/62 ที่หัวเรือ เจาะช่องระบายอากาศหน้าป้อมปืน
และแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยานหลังป้อมปืน สะพานเดินเรือติดตั้งหน้าต่าง 360
องศา กราบสะพานเดินเรือตีโป่งเป็นทางเดิน ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม. LRAD 1000X ปืนฉีดน้ำความดันสูง และปืนกล 25 มม.อัตโนมัติไล่จากหน้ามาหลัง
บนเสากระโดงทรงโดมสุดทันสมัย ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ 2 ตัวไว้ด้านนอก
กับเรดาร์ NS 100 ไว้ภายในโดม ตั้งเสาเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหนึ่งตัว
สำหรับชักธงและติดอุปกรณ์สื่อสาร
เรือ LMV ไม่มีปล่องควันเรืออย่างที่เคยคุ้นตา
ต่อจากสะพานเรือเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์กันเลย กราบเรือเจาะช่องระบายความร้อนจำนวน 4
ช่อง (กราบขวาเรือก็ 4 ช่องแต่จุดไม่ตรงกัน)
รวมทั้งช่องว่างอีก 1 จุดซึ่งอาจเป็นช่องเติมน้ำมัน
ส่วนท้ายเรือซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ต่ำสุดนั้น ใช้เป็นจุดปล่อยเรือเล็กจำนวน 2
ลำ พร้อมติดตั้งเครนอเนกประสงค์ ภาพรวมเป็นเรือที่สวยเรียบๆ
ง่ายต่อการใช้งานและซ่อมบำรุงตามวงรอบ สิ่งที่น่าสนใจของเรือ LMV มีอยู่หลายอย่าง
เรื่องแรกก็คือปืนใหญ่หัวเรือขนาด 76/62 มม.ใช้ป้อมปืนทรงกลมที่ผู้ผลิตไม่มีขายแล้ว
ไม่ทราบเหมือนกันว่าสิงคโปร์นำมาจากที่ไหน ไม่ทราบเช่นกันว่าเป็นรุ่น
Compact หรือ Super rapid เรือตรวจการณ์ชั้น Fearless ที่ทยอยปลดระวางไปแล้วหลายลำ ผู้เขียนตามไปส่องมาแล้ว ปรากฏว่ายังมีปืนใหญ่ติดอยู่ที่หัวเรือ
ปืนใหญ่ที่ติดตั้งกับเรือลำใหม่ทั้งหมด อาจซื้อปืนมือสองซ่อมคืนสภาพจากผู้ผลิต
เหมือนเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงแหลมสิงห์ของเราก็ได้
เรื่องถัดมาก็คือจรวดต่อสู้อากาศยาน
MBDA VL MICA
สามารถตีต่อเป้าหมายอากาศยานและจรวดต่อสู้เรือรบได้ ระยะยิงไกลสุดประมาณ 20
กิโลเมตร ระบบนำวิถีมีทั้งอินฟาเรดและเรดาร์
โดยใช้ท่อยิงแนวดิ่งเฉพาะของตัวจรวด สิงคโปร์ติดแบบชุดละ 6 ท่อยิงจำนวน
2 ชุดเท่ากับ 12 ท่อยิง
หรูหราเกินหน้าเกินตาเรือตรวจการณ์ไปแล้ว ทำไมเขาถึงเลือกของดีมาใช้งาน
อาจเป็นเพราะระบบเรดาร์ที่อยู่ภายในราโดม
เรดาร์ Thales NS100 มีสเป๊กที่โหดร้ายทารุณเหลือเกิน
เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วผู้ผลิตระบุในโบรชัวร์ว่า ระยะตรวจจับไกลสุดประมาณ
200 กิโลเมตร แต่โบรชัวร์ในปีนี้ระบุไว้ว่า 280 กิโลเมตร อาจเป็นการลงข้อมูลผิดพลาดก็เป็นได้ การใช้งานจริงอาจไม่ถึง 200
กิโลเมตรก็เป็นได้ ทว่าประสิทธิภาพของเรดาร์ AESA รุ่นใหม่แต่ตัวเล็ก สูงเกินพอที่จะเป็นเรดาร์ตัวเดียวของเรือฟริเกตได้เลย ที่สำคัญมีขนาดเล็กกะทัดรัด
เรือยาวแค่ 80 เมตรยังซ่อนเร้นได้อย่างเนียนตา
สิงคโปร์เป็นลูกค้ารายที่สองที่สั่งซื้อ
NS100 แต่เป็นลูกค้ารายแรกที่ติดตั้งบนเรือเรียบร้อย
ลูกค้ารายแรกก็คือกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ ซื้อไปติดแทนเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง LW08 (เรดาร์ตัวใหญ่บนเรือหลวงนเรศวร) บนเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก HNLMS
Rotterdam (L800) ตอนนี้กำลังปรับปรุงเรืออยู่ยังไม่แล้วเสร็จ
ทีนี้เราไปดูระบบอาวุธรูปแบบใหม่กันบ้าง
ที่เหมาะสมกับการทำสงครามอสมมาตรในปัจจุบัน สิ่งนั้นก็คือ Non Lethal Weapon
อาวุธที่ไม่ทำอันตรายจนถึงชีวิต ใช้เพื่อควบคุมหรือผลักดันฝ่ายตรงข้ามให้ถอยห่าง
ที่คุ้นเคยกันดีก็คือกระสุนยาง (Rubber Bullet) ซึ่งถูกพัฒนาและใช้งานตั้งแต่ยุค
1960s เรือ LMV ลำนี้ติดตั้งอยู่ด้วยกัน 2
ชนิด อย่างแรกก็คือปืนฉีดน้ำแรงดันสูง อย่าที่สองก็คือ Long
Range Acoustic Device หรือ LRAD หรือ แอลแรด
หรืออุปกรณ์สงเสียงรบกวนระยะไกล โดยที่ LRAD
1000X ซึ่งจะส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่ระดับสูง
ไปยังฝูงชนหรือเรือบางลำที่แสดงท่าทีคุกคาม ซึ่งคนส่วนใหญ่แล้วจะทนได้ไม่เกิน 10
วินาที ถ้ายังฝืนทนฟังจะเริ่มมีอาการหน้ามืด วิงเวียน อาเจียน ไปจนถึงปวดแสบปวดร้อนผิวหนัง
สิงคโปร์ใช้งาน Non Lethal Weapon
ชนิดนี้มานานหลายปีแล้ว เรือฟริเกตทุกลำได้รับการติดตั้ง LRAD 500X มาตั้งแต่ปี 2013
ปัจจุบันอุปกรณ์ชนิดนี้กำลังได้รับความนิยม ออกรบจริงกับโจรสลัดมาแล้วหลายครั้ง
กองทัพเรือไทยก็มีในเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงตรัง นี่ผู้เขียนก็อยากรู้เหมือนกัน ว่าถ้าเปิดเพลง
‘ผู้สาวขาเลาะ’ แล้วจะสนุกสนานแค่ไหน
ภาพใหญ่คือ LRAD 1000X ระยะทำการไกลสุด 3,000 เมตร
ควบคุมอัตโนมัติผ่านระบบเน็ตเวิร์ค ด้วยโปรแกรมที่แถมมากับเครื่อง โดยมีออฟชั่นเป็นโปรแกรมตัวเต็มให้ได้เสียเงิน
ส่วนภาพเล็กคือ LRAD 500X
ติดกับเรือฟริเกตชื่อ RSS Interpid ระยะทำการไกลสุด 2,000
เมตร รองรับ MP3 มากสุด 16 กิ๊ก โดยมีออฟชั่นระบบควบคุมไร้สาย 300 เมตรให้ได้เสียเงิน
ตัวหลังนี่ถอดเข้าถอดออกได้นะครับ
แต่ตัวแรกสิงคโปร์ใช้ติดตายตัวเจาะช่องไว้ให้ด้วยเลย
ไปดูอีกหนึ่งระบบที่น่าสนใจกันต่อ ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง
STELOP COMPASS D จากบริษัทสิงคโปร์เองซึ่งมีหน้าตาเหมือนของยุโรป
ไม่ต้องแปลกใจว่าเคยเห็นบนเรือเนเธอร์แลนด์หรือนอร์เวย์
เป็นแฝดผู้น้องที่ต้องพลัดพรากจากกันนั่นเอง อุปกรณ์อีกตัวที่น่าสนใจก็คือ STELOP
360° All-Round Surveillance System ใช้ตรวจสอบและเฝ้าติดตามภัยคุกคามรอบตัวเรืออย่างละเอียด
โดยการติดตั้งระบบออปโทรนิกส์จำนวน 4 จุดบนเสากระโดง
ที่เห็นในวงกลมสีแดงๆ นั่นแหละครับ มีเลนส์กล้องตรวจการณ์กลางวัน/กลางคืน นับตาเปล่าได้จุดละ 5 เลนส์ ส่วนภาพฝั่งขวามือจะเป็นตัวอย่างหน้าจอแสดงผล
อุปกรณ์แบบนี้ผู้เขียนเคยเห็นบนเรือฟริเกตชั้น
F125 ของเยอรมัน
รู้สึกจะมีเซนเซอร์ 6 จุดติดอยู่ติดรอบๆ ลำเรือ
คงเป็นเพราะเรือยาวตั้ง 149.5 เมตร
ติดบนเสากระโดงอาจมองได้ไม่หมด อนาคตจะเป็นที่นิยมหรือเปล่าไว้รอดูกันต่อไป
มาดูส่วนท้ายเรือกันบ้างนะครับ
มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางจำนวน 1 ลำ เนื่องมาจากสิงคโปร์มีเรือที่มีลานจอดมากถึง 20
ลำ (นับรวม 8 ลำนี้ด้วย)
เฮลิคอปเตอร์ไม่เพียงพอทุกลำอย่างแน่นอน เรือ LMV
บางลำหรือทุกลำจะต้องใช้งานอากาศยานไร้คนขับ มีการทดลองใช้งาน Schiebel Camcopter S-100 กันไปแล้วด้วย
ท้ายเรือเป็นจุดปล่อยเรือเล็กจำนวน 2 ลำ โดยเปิดประตูหลังแล้ววิ่งขึ้นมาจอดภายในอู่
รองรับเรือยางและยานผิวน้ำไร้คนขับ (USV) ที่ยาวไม่เกิน 11
ฝั่งขวามือติดตั้งเครนอเนกประสงค์ ใช้ปล่อยยานใต้น้ำควบคุมระยะไกล (ROV) หรือยานใต้น้ำอัตโนมัติ (AUV)
โครงการ Littoral Mission Vessel (LMV) มีความไม่ธรรมดาเล็กน้อย
ในการคัดเลือกแบบเรือเข้าประจำการจริง อู่ต่อเรือ ST Marine
มีแบบเรือของตัวเองอยู่พอสมควร ที่สร้างเป็นลำจริงก็คือแบบเรือ Fearless 75 ซึ่งกองทัพเรือโอมานสั่งซื้อไปแล้วจำนวน 4
ลำด้วยกัน เรือ Fearless 75 มีขนาดและสมรรถนะ ใกล้เคียงกับเรือ LMV ค่อนข้างมาก
เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Al-Ofouq
มีระวางขับน้ำ 1,250 ตัน ยาว 75 เมตร
กว้าง 10.8 เมตร กินน้ำลึก 3.3 เมตร
ความเร็งสูงสุด 25 น๊อต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,000 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 Super
Rapid จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม. Merlin ควบคุมรีโมทจำนวน 2 กระบอก ปืนกล 12.7มม. Hitrole ควบคุมรีโมทจำนวน 2 กระบอก
บริเวณกลางเรือมีพื้นที่รองรับจรวดต่อสู้เรือรบ กองทัพเรือสิงคโปร์ไม่ได้เลือกแบบเรือนี้
อาจเป็นเพราะไม่เหมาะกับความต้องการ
ทำไมถึงไม่เหมาะกับความต้องการ?
นำเรือมาติดเสากระโดงเหมือน LMV ก็ได้เหมือนกัน
กลางเรือติดตั้งแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยานก็ได้เหมือนกัน ส่วนตัวคิดว่า Fearless 75 หัวสั้นพิกล น่าจะสู้แรงคลื่นกลางทะเลลึกได้ไม่ดีเท่าไหร่
แต่ที่เรือ LMV มีทีเด็ดทีขาดมากกว่า เห็นจะเป็นในส่วนการรองรับภารกิจเสริม
คือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดได้ด้วย
ประมาณกลางปี 2017 ที่ผ่านมา
บริษัท SAAB ได้เปิดตัวเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดรุ่นใหม่
ใช้ชื่อว่า MCMV 80 โมเดลเรือแบบแรกติดปืนใหญ่ 57 มม.ที่หัวเรือ และปืนกล 30 มม. ท้ายสะพานเดินเรือ รูปร่างเรือโดยรวมก็ดี เสากระโดงหลักก็ดี
ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ก็ดี เหมือนกันกับเรือ LMV ราวกับฝาแฝด
โมเดลเรือแบบที่สองติดปืนกล 30 มม.จำนวน
2 กระบอก เสากระโดงขนาดเล็กลง ลานจอดลดลงแค่สำหรับอากาศยานไร้คนขับ
มีจุดติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ Multi Mission จำนวน 2 ตู้ มีเรือยางจำนวน 1 ลำ เครนใหญ่จำนวน 1 ตัว และยานผิวน้ำไร้คนขับสำหรับภารกิจต่อต้านทุ่นระเบิดอีก 2 ลำ
MCMV 80 ยาว 80 เมตร ระวางขับน้ำ 1,250 ตัน ความเร็วสุงสุด 15
น๊อต ใช้ลูกเรือ 40-60 คน
ตามสเป๊กระบุว่าบรรทุกเรือยางหรือยานผิวน้ำไร้คนขับได้ยาวสุด 11 เมตร เรือลำนี้เป็นฝาแฝดของเรือ LMV อย่างไม่ต้องสงสัย
สาเหตุมาจากเป็นผลงานการออกแบบร่วมกัน ก่อนจะแยกเป็นเรือตรวจการณ์ของสิงคโปร์ กับเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดของสวีเดน
ใช้เทคโนโลยีหลายอย่างจาก FLEXpatrol Multi-Mission Patrol Vessel นี่คือสาเหตุที่ Fearless 75 สู้กันไม่ได้เลย
MCMV 80
เป็นหนึ่งในสามผู้เข้าประกวด
ในโครงการเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดของเนเธอร์แลนด์กับเบลเยี่ยมจำนวน 12
ลำ เพื่อทดแทนเรือกวาดทุ่นระเบิดของเดิมจำนวน 12 ลำเท่ากัน เห็นแบบนี้แล้วผู้อ่านอาจนึกสงสัย ว่าเรือ LMV ของสิงคโปร์ทำภารกิจที่ว่าได้มากน้อยแค่ไหน
รวมทั้งพวกเขามีของเล่นอะไรกันบ้าง
กองทัพเรือสิงคโปร์มีเรือกวาดทุ่นระเบิดอยู่แล้ว
รวมทั้งมียานผิวน้ำไร้คนขับล่าทำลายทุ่นระเบิดใช้งานด้วย
รุ่นที่พัฒนาเสร็จแล้วก็คือรุ่น Venus 16 ยาว 16.5 เมตร
ระวางขับน้ำ 26 ตัน บรรทุกได้หนักสุด 10 ตัน ติดตั้งโซนาร์ลากท้าย Thales Towed Synthetic Aperture Sonar
(T-SAS) ส่วนรุ่นที่ใช้ปล่อยยานใต้น้ำควบคุมระยะไกลหรือ ROV ซึ่งสิงคโปร์ใช้ K-STER นั้นผู้เขียนยังหาภาพไม่เจอ
รวมทั้งรุ่นติดโซนาร์ปราบเรือดำน้ำกับตอร์ปิโดเบา คงต้องรอกันอีกซักพักหนึ่ง
Venus 16 ใหญ่และยาวเกินไปที่จะขึ้นท้ายเรือ
LMV แต่ Venus 9 ซึ่งมีความยาว 9.5
เมตรขึ้นได้สบายมาก ในโบรชัวร์ปรากฏภาพ Venus 9 กำลังลาก T-SAS อยู่แถวชายฝั่ง กับภาพ Venus
9 แบก K-STER จำนวน 2 ตัว
เข้าใจว่าสิงคโปร์คงไม่นำเข้าประจำการ ดูแล้วลำมันเล็กเกินไปหน่อย
ปฏิบัติการได้ไม่ยาวนานเท่าไหร่ สู้คลื่นลมแรงๆ ก็ไม่ค่อยดีด้วย
ถ้าอย่างนั้นบนเรือ LMV มีของเล่นอะไรบ้าง
ที่มีแน่นอนก็คือยานใต้น้ำอัตโนมัติ REMUS 100 เพราะนำมาโชว์ในวันเข้าประจำการด้วย ตามด้วยเจ้าหน้าที่ถอดทำลายอมภัณฑ์ (EOD)
เข้าไปจัดการทุ่นระเบิดโดยการโดดจากเฮลิคอปเตอร์ ที่มายากหน่อยแต่น่าจะมาได้ก็คือ
ยานใต้น้ำควบคุมระยะไกล K-STER ส่วนโซนาร์ T-SAS นี่ไม่น่ามาเพราะไม่รู้จะเอาอะไรลาก
อ่านมาจนใกล้จบบทความแล้ว
ผู้อ่านคงพอมองภาพรวมของเรือลำนี้ออก ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
ทำภารกิจอะไรได้บ้าง มีพี่น้องร่วมคำสาบานชื่ออะไร ผู้เขียนอยากปิดท้ายด้วย…ความน่ากลัวของเรือ LMV
ลำนี้
ไม่ใช่เรดาร์ NS100 ซึ่งมีระยะตรวจจับ
280 กิโลเมตร ไม่ใช่จรวด VL MICA ที่สามารถยิงจรวดเอ๊กโซเซต์ได้
ไม่ใช่ LRAD 1000X ที่ทำให้ปวดแก้วหู
แต่เป็นความเร็วในการสร้างเรือของสิงคโปร์ เรือลำแรกทำพิธีวางกระดูกวันที่ 11
กันยายน 2014 ปัจจุบันสร้างเรือเสร็จแล้วจำนวน
6 ลำ เข้าประจำการจริงแล้วจำนวน 3 ลำ
โดยที่เรือทั้ง 8 ลำจะเข้าประจำการภายในปี 2020 พร้อมๆ กับเรือหลวงตรังของเราเข้าประจำการนั่นเอง
บางทีผู้เขียนก็ไม่แน่ใจ…ว่าของเขาเร็วหรือของเราช้ากันแน่
พบกันใหม่บทความต่อไปนะครับ ;)
ภาพนี้จะเห็นภารกิจหลักของเรือ LMV อย่างชัดเจน
สิงคโปร์เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่มาก มีเรือสินค้าจำนวนมหาศาลแล่นเข้าออกทุกวัน
พวกเขาจึงต้องการเรือที่มีความเร็วความคล่องตัว มีระบบตรวจจับที่ดียอดเยี่ยม
มีความทันสมัยรองรับความเจริญในอนาคต มีอาวุธเพียงพอในการป้องกันตนเอง
สามารถปรับเปลี่ยนไปทำภารกิจอื่นๆ ได้
และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพเรือได้ในอนาคต
เรือ LMV จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ตรงกับคำถามมากที่สุด
------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
https://www.mindef.gov.sg/web/portal/mindef/news-and-events/latest-releases/article-detail/2017/may/05may17_nr
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น