วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Royal Saudi Navy : พัฒนาการของกองทัพเรือซาอุดิอาระเบีย


     กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน มีกำลังพลรวมทั้งสิ้นประมาณ 90,000 นาย (รวมเหล่านาวิกโยธินด้วยประมาณ 30,000 นาย) มีกองบัญชาการหลักอยู่ที่กรุงริยาด ฐานทัพเรือฝั่งตะวันตกในทะเลแดงอยู่ที่เมืองญิดดะฮ์ และฐานทัพเรือฝั่งตะวันออกในอ่าวเปอร์เซียตั้งอยู่ที่เมืองจูเบล นอกจากนี้ยังมีฐานทัพเรือย่อยและอู่ซ่อมบำรุงเรืออยู่ที่เมืองยันบู เมืองอัดดัมมาม และเมืองรัส อัล มิช๊าบ ที่มีฐานทัพอากาศขนาดใหญ่อยู่ใกล้กันอีกด้วย

     ย้อนกลับไปในปี 1960 ซึ่งกองทัพเรือซาอุดิอาระเบียได้ถือกำเนิดขึ้น ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับอังกฤษประกาศถอนกองกำลังของตนเองออกจากคลองสุเอซฝั่งตะวันออก เมื่อกองทัพเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นซาอุดิอาระเบียได้สั่งซื้อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งและเรือโฮเวอร์คราฟจำนวนหนึ่งจากประเทศอังกฤษ แต่กลับมีอุปสรรคปัญหาต่างๆมากมายทำให้โครงการมีความล่าช้ามากและยกเลิกการจัดซื้อไปในท้ายที่สุด ความพยายามในการจัดหาเรือรบทันสมัยเข้าประจำการยังคงมีอยู่ กระทั่งถึงปี 1969 พวกเขาได้รับเรือเร็วโจมตีตอร์ปิโดชั้น Type140 Jaguar Class ที่สั่งซื้อจากเยอรมันตะวันตกจำนวน 3 ลำโดยใช้ชื่อว่า Dammam class เรือมีความยาว 42.6 เมตร กว้าง 7.1 เมตร กินน้ำลึก 2.1 เมตร ทำความเร็วได้สุงสุด 42 น๊อต ติดตั้งปืนกล 40/70 มม. จำนวน 2 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 533มม. 4 ท่อยิง และระเบิดลึกจำนวน  4 ลูก หรือเปลี่ยนเป็นทุ่นระเบิดจำนวน 4 ลูก Jaguar Class จัดว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุด เพราะเรือลำอื่นๆที่ทยอยเข้าประจำการเป็นแค่เพียงเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเท่านั้น

ความช่วยเหลือจากอเมริกา

     ในปี 1970  กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียมีกำลังพลประมาณ 1 พันนายและเรืออีกประมาณ 12 ลำ นับว่ามีขนาดเล็กกว่าชาติเพื่อนบ้านอยู่พอสมควร เวลาเดียวกันนั้นเองอเมริกาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในอ่าวเปอร์เซีย โดยเข้ามาแทนที่อังกฤษซึ่งถอนตัวออกไปเมื่อ 10 ปีก่อน อิหร่านคือชาติพันธมิตรที่สำคัญที่สุดและมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากที่สุด รัฐบาลของกษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาเลวีลได้สั่งซื้ออาวุธทันสมัยจำนวนมากจากอเมริกาอาทิเช่น เครื่องบินขับไล่ทันสมัยรุ่น F-4 และ F-14 รวมทั้งเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Kouroush Class ติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานทันสมัยรุ่น SM-1 เป็นต้น นอกจากอิหร่านแล้วอเมริกายังได้ให้ความสำคัญกับซาอุดิอาระเบียเป็นพิเศษ ความช่วยเหลือจากแดนไกลได้รวมมาถึงกองทัพเรือที่ยังมีขนาดเล็กมากไปด้วย อเมริกาสร้างฐานทัพเรือขนาดมาตราฐานให้ ฝึกสอนทหารให้มีความรู้ความสามารถในการทำการรบสมัยใหม่ และช่วยจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธินให้ชนิดตั้งแต่ตอกตะปูตัวแรกกันเลยทีเดียว ทั้งอเมริกาและซาอุดิอาระเบียมีความเห็นตรงกันว่า ต้องขยายกองทัพเรือให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นและทันสมัยขึ้น โดยจะใช้กองทัพเรืออิหร่านเป็นบรรทัดฐานในทุกๆด้าน

     เมื่อกองทัพเรือซาอุดิอาระเบียมีความพร้อมเทียบเท่ามาตราฐานชาติอื่นๆแล้ว อเมริกาจึงได้ทยอยจัดส่งเรือรบและเรือช่วยรบมือสองจำนวนหนึ่งมาให้ตามข้อตกลง เรือกวาดทุ่นระเบิดชายฝั่ง MSC322 Class 4 ลำ เรือลากจูงขนาดใหญ่ 2 ลำ เรือ utility landing craft 2 ลำ เรือ LCM-6 4 ลำ เรือ LCU-1610 4 ลำ และเรือ LCM landing craft อีก 4 ลำ แผนการถัดไปคือการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ปืนขนาด 500 ตัน และเรือตรวจการณ์ขนาด 1,000 ตันติดจรวดต่อสู้เรือรบ ทว่าตอนนั้นเองได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่ประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวเปอร์เซีย มีการการทำปฏิวัติในอิหร่านระหว่างปี 1978-1979  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่กษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาเลวี ลงจากอำนาจและก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านขึ้นมาแทน ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียทนนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะทะเลด้านตะวันออกของประเทศที่เคยมีแต่ความสงบสุข ได้มีกองทัพเรือขนาดใหญ่ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเข้ามาจ่อคอหอยอย่างไม่ทันตั้งตัว

     กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียได้ขอเปลี่ยนแปลงแบบเรือที่กำลังสั่งซื้อจากอเมริกา โดยขอให้ติดตั้งอาวุธจรวดต่อต้านเรือรบและระบบอาวุธป้องกันตัวเองระยะประชิดบนเรือทุกลำ ปลายปี 1980 เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี (guided missile craft หรือ PGG)  Al Sadiq Class ลำแรกจากจำนวน 9 ลำได้เข้าประจำการในทะเลฝั่งตะวันออก เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 495 ตัน ยาว 58.2 เมตร กว้าง 8.08 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ OTO-Melara 76/62 mm 1 กระบอก ระบบอาวุธป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon 4 นัด ปืนกลขนาด 20 มม. 2 กระบอก เครื่องยิงจรวดขนาด 81 มม. 1 กระบอก ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแฝด 3 ขนาด 324 มม. จำนวน 2แท่นยิง เรดาร์เดินเรือ AN/SPS-55 ระบบโซนาร์หัวเรือ AN/SQS-56/DE1160B ระบบเป้าลวง MK-36 SRBOC 2 แท่นยิง และระบบสงครามอิเลคทรอนิค  AN/SLQ-32(V)1

     ถัดมาอีกเพียง 1 ปีเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาดใหญ่ (larger patrol-chaser missile craft หรือ PCG) Badr Class ลำแรกจากจำนวน 4 ลำได้เข้าประจำการเช่นกัน (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นเรือคอร์เวต) เรือจากอู่ต่อเรือ Tacoma มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,038 ตัน ยาว 74.7 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 2.6 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ OTO-Melara 76/62 mm 1 กระบอก ระบบอาวุธป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon 8 นัด ปืนกลขนาด 20มม. 2 กระบอก เครื่องยิงจรวดขนาด 81มม. 1 กระบอก ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแฝด 3 ขนาด 324มม.จำนวน  2 แท่นยิง ยิง เรดาร์เดินเรือ AN/SPS-55 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ  AN/SPS-40B ระบบโซนาร์หัวเรือ  AN/SQS-56/DE1160B ระบบเป้าลวง MK-36 SRBOC 2 แท่นยิง และระบบสงครามอิเลคทรอนิค AN/SLQ-32(V)1

     นอกจากเรือรบสำคัญๆทั้ง 2 แบบนี้แล้ว ซาอุดิอาระเบียได้มีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาด 21 ที่นั่งรุ่น Super Puma จำนวน 12 ลำ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่งขนาดเล็กจากฝรั่งเศสอีก 12 ลำเพิ่มเติมด้วย (ต่อมาได้สั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ Super Puma เพิ่มเติมอีก 8 ลำ) รวมทั้งจัดหาเรือกวาดทุ่นระเบิด Sandown class เข้าประจำการเพิ่มเติมอีก 3 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิดจากอังกฤษลำนี้ติดตั้งระบบตรวจจับและทำลายทุ่นระเบิดที่ทันสมัยมาก เรือมีระวางขับน้ำสุงสุด 600 ตัน ยาว 52.5 เมตร กว้าง 10.9 เมตร กินน้ำลึก 2.3 เมตร Sandown class ทั้ง 3 ลำทยอยเข้าประจำการในปี 1991-1994 กองเรือทุ่นระเบิดของพวกเขาจึงมีจำนวนเรือมากถึง 7 ลำด้วยกัน

Sawari I Program

     เรือรบทันสมัยติดจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 13 ลำทำให้กองทัพเรือมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อาวุธและระบบต่างๆที่ติดตั้งอยู่บนเรือล้วนแต่เป็นมาตราฐานเดียวกับกองทัพเรืออเมริกา แต่ถึงอย่างไรก็ตามพวกเขายังคงมีจุดอ่อนขนาดใหญ่มากอยู่ นั่นคือเรื่องการป้องกันภัยที่แอบลักลอบเข้ามาจากใต้น้ำและภัยทางอากาศ จริงอยู่ที่ว่าเรือทั้ง 13 ลำติดตั้งระบบโซนาร์และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ด้วย แต่ก็มีประสิทธิภาพแค่เพียงป้องกันตัวเองในระยะใกล้เท่านั้นเอง นอกจากนี้พวกเขายังต้องการเรือที่สามารถติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานอีกด้วย จึงจำเป็นจะต้องจัดหาเรือฟริเกตทันสมัยขนาด 2,000 ตันขึ้นไป ติดอาวุธครบทั้ง 3 มิติและรองรับการปฎิบัติการของเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำได้ กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียเริ่มต้นโครงการ Sawari I Program ในปี 1980 และมีการเซ็นสัญญาซื้อเรือในช่วงกลางปี 1982 ฝรั่งเศสคือผู้ที่ได้สัญญาวงเงิน 1.9 พันล้านเหรียญไปครอบครอง แลกเปลี่ยนกับการสร้างเรือฟริเกต Type F-2000S พร้อมอาวุธจำนวน 4 ลำ

      Madina class หรือ Type F-2000S ลำแรกจากจำนวน 4 ลำเริ่มเข้าประจำการในปี 1985 เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,870 ตัน ยาว 115 เมตร กว้าง 12.5 เมตร กินน้ำลึก 4.65 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 100มม. 1 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Otomat ระยะยิง 160 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน Crotale ระยะยิง 11 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่อยิง (สามารถบรรทุกจรวดไปได้มากสุดถึง 26 นัด) ปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara 40mm/70 ลำกล้องคู่ 2 กระบอก ปืนกลขนาด 20 มม. 2 กระบอก  ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324มม. 4 ท่อยิง ติดตั้งโซนาร์หัวเรือ TSM 2022 และโซนาร์ลากท้าย TSM 2630 VDS รวมทั้งมีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์จำนวน 1 ลำที่ด้านท้ายเรือ ระบบสงครามอิเลคทรอนิคประกอบไปด้วย DR4000S intercept และ Janet jammer ติดตั้งระบบเป้าลวง Sagem Dagaie จำนวน 2 ระบบ นอกจากเรือฟริเกตและอาวุธประจำเรือแล้วพวกเขายังได้มีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทางทะเลรุ่น  AS365 Dauphin จากฝรั่งเศสอีกจำนวน 24 ลำด้วยกัน โดยมีจรวดต่อสู้เรือรบ AS15 TT ระยะยิง 15กม. จำนนวน 221 นัดรวมอยู่ในสัญญาด้วย Sawari I Program ทำให้ซาอุดิอาระเบียมีขุมกำลังทางเรืออันทันสมัยเทียบเท่าประเทศจากค่ายตะวันตก เป็นการยกระดับกองทัพเรือตัวเองให้เข้มแข็งและทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม

 Sawari II Program

     เรือฟริเกต Madina class และเฮลิคอปเตอร์ Dauphin ถือเป็นอาวุธที่ทันสมัยที่สุดในอ่าวเปอร์เซีย ไม่กี่ปีต่อมาอ่าวเปอร์เซียก็ร้อนระอุด้วยไฟสงครามอีกครั้ง แม้ว่าสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านที่เริ่มต้นในเดือนกันยายน 1980 จะได้สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 1988 แล้วก็ตาม ทว่าอีกเพียง 2 ปีเท่านั้นคือในวันที่ 2 สิงหาคม 1990 กำลังรบขนาดมหึมาของอิรัคได้เคลื่อนพลเข้ารุกรานและยึดครองคูเวตไว้ทั้งประเทศ แม้จะมีการประณามจากนานาชาติและมีการคว่ำบาตรทางการค้าก็ตาม แต่รัฐบาลอิรัคไม่ได้แยแสเลยซักนิด ซ้ำยังเสริมกำลังรบมากกว่าเดิมและมีท่าทีแข็งกร้าวใส่ การรุกรานคูเวตในครั้งนี้ส่งผลร้ายต่ออิรัคในท้ายที่สุด เนื่องมาจากกำลังรบแทบทั้งหมดในคูเวตต้องล่มสลายลงรวมทั้งกองทัพเรือของพวกเขาด้วย เช้าตรู่วันที่ 17 มกราคม 1991 กองกำลังผสมจาก 10 ชาติได้เริ่มโจมตีกองกำลังอิรัคในคูเวต สงครามอ่าวเปอร์เซียได้ระเบิดขึ้นแล้วหลังความพยายามทางการทูตล้มเหลวลง ปฏิบัติการพายุทะเลทรายใช้เวลาเพียง 100 ชั่วโมงจึงได้ประกาศหยุดยิง กองกำลังผสม 10 ชาติเอาชนะขั้นเด็ดขาดได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว สามารถขับไล่ทหารอิรัคออกไปจากคูเวตและทำลายอาวุธร้ายแรงได้เกือบทั้งหมด ซาอุดิอาระเบียได้เข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ด้วยแต่ไม่ได้ออกโรงมากนัก เรือรบของพวกเขาทุกลำไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย นั่นก็เพราะเรือรบทั้งหมดของอิรัคโดนยิงจมในชั่วโมงแรกสุดของยุทธนาวี

     ความสงบสุขกลับคืนสู่อ่าวเปอร์เซียอีกครั้งหนึ่ง แม้ทุกคนจะรู้ดีว่ามันไม่ยั่งยืนถาวรเท่าไหร่ก็ตาม ระยะเวลา10ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลายชาติได้พัฒนาปรับปรุงและสั่งสมกำลังรบของตัวเองให้ดีขึ้นและมากขึ้น นับรวมไปถึงกองทัพเรืออิหร่านที่ไม่ได้ทำสงครามมานานมากแล้ว พวกเขาได้ซ่อมแซมปรับปรุงเรือรบเก่าๆที่ชำรุดเสียหายให้คืนสภาพพร้อมรบ รวมทั้งสร้างเรือรบรุ่นใหม่ๆขึ้นมาเองในประเทศโดยความช่วยเหลือจากต่างชาติบางประเทศ ความเคลื่อนไหวของอิหร่านอยู่ในสายตาของซาอุดิอาระเบียมาโดยตลอด เพราะภัยคุกคามของพวกเขากำลังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ตอนนี้เรามาดูกราฟกองทัพเรือของทุกชาติในอ่าวเปอร์เซียช่วงปี 2002 กันหน่อยนะครับ เห็นได้ชัดเจนว่าอิหร่านนำโด่งทั้งเรื่องกำลังพลและอาวุธรบ ซาอุดิอาระบียอาจจะมีเรือฟริเกตและเรือคอร์เวตรุ่นใหม่มากที่สุด แต่อิหร่านก็มีเรือดำน้ำโจมตีทันสมัย Kilo Class จากรัสเซียจำนวน 3 ลำ และเรือเร็วโจมตีติดจรวดต่อสู้เรือรบ C-802 ของจีนจำนวนมากถึง 20 ลำ รวมทั้งมีเรือฟริเกตติดจรวดต่อสู้เรือรบ Sea Killer อีก 3 ลำด้วย นี่เองที่ทำให้กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียต้องจัดหาอาวุธทันสมัยเพิ่มเติมทันที


     Sawari II Program มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเรือฟริเกตที่ใหญ่กว่าและทันสมัยกว่าเรือฟริเกต Madina class หรือ Type F-2000S กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียต้องการเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศที่มีระบบเรดาร์ทันสมัยและมีจรวดต่อสู้อากาศยานระยะยิงปานกลาง ที่ดีพอที่จะหยุดเครื่องบินรบและหรือจรวดต่อสู้เรือรบ C-802 ของอิหร่านได้ โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียจบ หลังจากมีความล่าช้าอยู่พอสมควรจึงได้มีการเซ็นสัญญาซื้อเรือจำนวน 2 ลำในวันที่ 22 พฤษจิกายน 1994 และอีก 1 ลำในวันที่ 20 พฤษภาคม 1997 ฝรั่งเศสคือผู้ที่ได้รับสัญญาซื้อเรือไปครอบครองอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้เป็นแบบเรือ Type F-3000 ซึ่งปรับปรุงมาจากเรือฟริเกต La Fayette class อีกที Sawari II จะเป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัยที่สุดในย่านอ่าวเปอร์เซีย และติดตั้งอาวุธจรวดต่อสู้อากาศยานที่มีประสิทธิภาพสุงมากที่สุดเช่นกัน

     ในปี 2002 เรือฟริเกต  Al Riyadh class หรือ Type F-3000 ลำแรกสุดจากจำนวน 3 ลำได้เข้าประจำการ เรือมีระวางขับน้ำสุงสุด 4,650 ตัน ยาว 133 เมตร กว้าง 17 เมตร รูปทรงเรือทั้งลำลดการตรวจจับจากเรดาร์หรือ Stealth อย่างแท้จริง ติดตั้งปืนใหญ่ Oto Melara 76/62 Super Rapid gun 1 กระบอก ปืนกล Giat 15B ขนาด 20 มม. 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet MM-40 Block 2 จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน  Aster15 ระยะยิง 30 กม.จำนวน 16 นัดติดตั้งอยู่ในระบบแท่นยิงแนวดิ่ง Aster15 ทำงานร่วมกับระบบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales  Arabel 3D เรดาร์ค้นหาทางอากาศระยะไกล Thales DRBV 26D Jupiter  ระบบอำนวยการรบ SENIT 7 ระบบสงครามอิเลคทรอนิค DR 3000 ESM กับ Salamandre B2 radar jammer และ TRC 281 communications jammer ระบบเป้าลวงใช้ Sagem Dagaie จำนวน 2 ระบบ ถึงจะเป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศแต่มีระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำที่ทันสมัยมาก ติดตั้งระบบโซนาร์ลากท้าย Thales CAPTAS 20 towed array sonar ติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม. DCNS F17 จำนวน 4 ท่อยิง บวกกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ AS365 Dauphin ที่มีระบบสื่อสารแบบเรียลไทม์กับเรือด้วยแล้ว นับว่ามีประสิทธิภาพสุงมากกว่าเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำแท้ๆบางรุ่นเสียด้วยซ้ำ (กองทัพเรือไทยเอาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 533 มม.ของเยอรมันมาติดกับเรือฟริเกตใหม่บ้างก็ไม่เลวนะครับ เพราะระบบโซนาร์ของเราใช้ของเยอรมันยกชุดอยู่แล้ว) มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญ

     ข้อมูลของเรือฟริเกต Al Riyadh class เป็นข้อมูลทั่วไปที่ผู้อ่านทราบดีอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนจะขอย้อนไปยังช่วงแรกสุดของโครงการ Sawari II Program หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นช่วงเศรษกิจตกต่ำทั่วภูมิภาค ซาอุดิอาระเบียเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกันจึงได้ตั้งงบประมาณไว้ไม่สุงมาก พวกเขาต้องการเรือฟริเกตขนาด 2,000-4,000 ตันที่ทันสมัยกว่าเรือฟริเกต Madina class ระหว่างดำเนินโครงการอยู่นั้นได้มีการแก้ไขสัญญาหลายครั้งหลายหนด้วยกัน สัญญาจริงที่เซ็นในวันที่ 22 พฤษจิกายน 1994 เป็นแบบเรือที่ปรับปรุงมาจากเรือฟริเกต La Fayette Class มีระวางขับน้ำสุงสุดประมาณ 3,700 ตัน ยาว 122 เมตร กว้าง 16.2 เมตร ติดปืนใหญ่ขนาด 100 มม. 1 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet MM-40 จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน Crotale NG ระยะยิง 11 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่อยิง (สามารถบรรทุกจรวดไปได้มากสุดถึง 26 นัด) ปืนกล Giat 15B ขนาด 20 มม. 2 กระบอก ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม. จำนวน 4 ท่อยิง ซึ่งภายหลังได้มีการแก้ไขสัญญาเปลี่ยนมาใช้จรวดต่อสู้อากาศยาน  Aster15 แทน ส่วนสัญญาของเรือลำที่ 3 แบบเรือจะมีขนาดใหญ่ขึ้นระวางขับน้ำมากขึ้นตามไปด้วย ระบบอาวุธเปลี่ยนไป และติดตั้งระบบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales  Arabel 3D ท้ายที่สุดซาอุดิอาระเบียขอปรับเปลี่ยนให้แบบเรือ 2 ลำแรกมีแบบเรือเหมือนเรือลำสุดท้ายไปเลย เปิดฉาก Sawari II Program ที่กินเวลายาวนานหลายปีลงไปในที่สุด

Saudi Naval Expansion Program II

     ปลายปี 2008 กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียได้เริ่มต้นโครงการที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าสุงที่สุด โดยจะเป็นการจัดหาเรือรบและอาวุธทันสมัยรุ่นใหม่มาทดแทนของเดิม ที่มีขนาดเล็กเกินไปล้าสมัยเกินไปและต้องปลดระวางลงในอีกไม่ช้า โครงการนี้มุ่งเป้าไปยังทะเลฝั่งตะวันออกหรืออ่าวเปอร์เซียเป็นหลัก เพราะภัยคุกคามที่เคยมีในอดีตยังไม่มีแน้วโน้มว่าจะลดลงแต่ประการใด เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี 9 ลำ และเรือคอร์เวต 4 ลำที่ซื้อจากอเมริกาคือเรือเก่าที่กำลังจะถูกแทนที่ ส่วนเรือฟริเกต Madina class ซึ่งเพิ่งมีการปรับปรุงใหม่ไปไม่นานอาจจะเป็นเฟส 2 ในชื่อโครงการ Sawari III Program มีการประเมินมูลค่ารวมทั้งโครงการไว้ที่ประมาณ 15-20 พันล้านเหรียญ กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียได้ใช้เวลาเตรียมการอยู่หลายปีเต็ม และมีความต้องการเรือในขั้นต้นที่หลากหลายพอสมควรอาทิเช่น เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ  Arleigh Burke class จากอเมริกา เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ FREMM Class จากฝรั่งเศส และเรือรบอเนกประสงค์ Littoral Combat Ship (LCS) จากอเมริกาเช่นกัน

     กระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย The letter of request (LoR) ฉบับที่ 2 ระบุรายละเอียด โครงการ Saudi Naval Expansion Program II ดังต่อไปนี้

     1. เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศขนาด 3,500 ตันจำนวน 4 ลำ ติดตั้งระบบแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 8-16 ท่อยิงพร้อมจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล SM-2 ระบบอำนวยการรบ Aegis และระบบเรดาร์ SPY-1F lightweight Aegis radar รองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R ได้ ทำความเร็วได้สุงสุดที่ 35 น๊อต
     2. เรือฟริเกตอเนกประสงค์ขนาด 2,500 ตันจำนวน 6 ลำ รองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R ได้
     3. เรือตรวจการณ์ความเร็วสุงยาว 40-45 เมตรใช้เครื่องยนต์ดีเซล2เครื่องจำนวน 20-24 ลำ  
     4. เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R 10 ลำ
     5. เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลจำนวน 3 ลำสำหรับหน่วยยามฝั่ง
     6. อากาศยานไร้คนขับจำนวน 30-50 ลำ สำหรับใช้งานบนเรือรบและฐานทัพบนชายฝั่ง

     วันที่ 20 ตุลาคม  2015 มีการเผยแพร่เอกสารความต้องการซื้อเรือ Multi-Mission Surface Combatant (MMSC) พร้อมอาวุธจำนวน 4 ลำให้กับสภาคองเกรสของอเมริกา มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 11.25 พันล้านเหรียญและซาอุดิอาระเบียจัดซื้อแบบ FMS (Foreign Military Sale)  เห็นตัวเลขกลมๆแล้วผู้เขียนตกใจพอสมควร แต่พอได้ดูรายละเอียดทั้งหมดแล้วจึงถึงบางอ้อ เพราะทุกอย่างมาครบมาเต็มและมาเกินดังต่อไปนี้ (อุปกรณ์บางอย่างไม่มีตัวเลขจำนวนที่ชัดเจน)

-4 MMSC Ships (Base on Freedom Class)
-5 COMBATSS-21 Combat Management Systems (4 installed,1 spare)
-5 TRS-4D Radars (4 installed,1 spare)
-5 IFF UPX-29 (Identification Friend or Foe) (4 installed,1 spare)
-5 Compact Low Frequency Active Passive Variable Depth Sonar หรือโซนาร์แบบลากท้าย (4 installed,1 spare)
-8 MK-41 Vertical Launch Systems (VLS) (16 cells per ship)
-532 tactical RIM-162 Evolved Sea Sparrow Missiles (ESSM) (128 installed, 20 test and training rounds, 384 spares)
-5 AN/SWG-l (V) Harpoon Ship Command Launch Control Systems (4 installed,1 spare)
-8 Harpoon Shipboard Launchers (installed 4 tube assemblies per ship)
-48 RGM-84 Harpoon Block II Missiles (32 installed, 16 test and training rounds)
-5 MK-15 Mod 31 SeaRAM Close-In Weapon System (CIWS) (4 installed, 1 spare)
-188 RIM 116C Block II Rolling Airframe Missiles (RAM) (44 installed, 12 test and training rounds, 132 spares)
-5 MK-75 76mm OTO Melara Gun Systems (4 installed, 1 spare)
-48 50-caliber machine guns (40 installed (10 per ship), 8 spares)
-Communications equipment employing Link 16 equipment
-Fire Control System/Ceros 200 Sensor and Illuminator
-20mm Nexter's Narwhal 20mm Remote Weapon Station
-MK-32 Surface Vessel Torpedo Tubes
-WBR-2000 Electronic Support Measure and Threat Warning System
-Automatic Launch of Expendables (ALEX) Chaff and Decoy-Launching System
-Nixie AN/SLQ-25A Surface Ship Torpedo Defense System หรือระบบเป้าลวงตอร์ปิโดแบบลากท้าย
-Combined Enterprise Regional Information Exchange System (CENTRIXS)
 -ARC-210 Radios
 -Automated Digital Network System
-Study, design and construction of operations, support and training facilities, spare and repair parts, support and test equipment, publications and technical documentation, personnel training and training equipment, U.S. Government and contractor engineering, technical and logistics support services, and other related elements of logistical and program support
                                                  ---------------------------------------

     เรือ Multi-Mission Surface Combatant (MMSC)ของ Lockheed Martin มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับเรือ Littoral Combat Ship Freedom Class ราวกับฝาแฝด แตกต่างกันตรงที่ MMSC เป็นเรือรบแท้ๆที่ไม่มี modular mission package ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนภารกิจได้อย่างรวดเร็วเหมือน LCS ของอเมริกา เรือมีระวางขับน้ำประมาณ 3,600 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 17.2 เมตร ติดตั้งระบบ Water Jet สามารถทำความเร็วได้สุงสุดถึง 35 น๊อต พิจารณาโดยรวมแล้วก็จะตรงกับความต้องการข้อที่ 1 พอดี เพียงแต่ว่าระบบอำนวยการรบ Aegis ระบบเรดาร์ SPY-1F และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล SM-2 ถูกเปลี่ยนมาเป็นระบบอำนวยการรบ COMBATSS-21 ระบบเรดาร์ TRS-4D และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง ESSM ระยะยิง 50 กม.  ผู้เขียนไม่ทราบเหตุผลที่ได้เปลี่ยนแปลง อาจเป็นเพราะรัฐบาลซาอุดิอาระเบียต้องการลดงบประมาณลง หรือทางอเมริกาตัดสินใจไม่ขายระบบเอจิสและจรวด SM-2 ให้ก็เป็นได้ แต่ทว่าจำนวนจรวด 64 นัดต่อเรือ 1 ลำก็นับว่ามีปริมาณมากพอที่จะป้องกันกองเรือยุทธการในรัศมี 50 กิโลเมตรได้ เพียงแต่ว่าเรดาร์ควบคุมการยิง Ceros 200 ตรวจจับและล๊อคเป้าหมายได้ไม่มากนัก จึงไม่สามารถยิงจรวดแบบซัลโวติดต่อกันหลายนัดเหมือนเรือรบติดระบบเอจิสได้

     ส่วนความต้องการในข้ออื่นๆมีความชัดเจนมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละหัวข้อ ผู้เขียนพอที่จะให้ความเห็นส่วนตัวได้นิดหน่อยอาทิเช่น เรือฟริเกตขนาด 2,500 ตันมีตัวเต็งหนึ่งก็คือแบบเรือ Gowind 2500 จากฝรั่งเศสเจ้าเก่านั่นแหละ ส่วนเต็งสองก็คือแบบเรือ Sigma 10514 Class จากเนเธอร์แลนด์ ในเดือนพฤษภาคม 2015 ที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียได้สั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R จำนวน10 ลำตรงตามความต้องการข้อ 4 พอดี ส่วนความต้องการในข้อที่ 5 ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเครื่องบิน P-8A Poseidon จากอเมริกาเช่นเคย

     จะเห็นได้ว่าคู่ค้าสำคัญของกองทัพเรือซาอุดิอาระเบียก็ยังคงเป็นอเมริกาและฝรั่งเศสเหมือนในอดีต ขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้ดีลใหญ่กว่าและใครจะได้ดีลเล็กกว่าเท่านั้นเอง พัฒนาการของกองทัพเรือซาอุดิอาระเบียเป็นไปตามยุคสมัยและภัยคุกคาม พวกเขาแสดงความสนใจที่จะซื้อเรือดำน้ำโจมตีเช่นกัน มีรายงานในปลายปี 2014 ว่าซาอุดิอาระเบียต้องการซื้อเรือดำน้ำ Type 209 จากเยอรมันจำนวน 5 ลำในวงเงิน 3.4 พันล้านเหรียญ และในอนาคตมีแผนการที่จะจัดหาเรือดำน้ำรวมทั้งสิ้นถึง 25 ลำด้วยกัน เป็นตัวเลขที่น่าตกใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ว่าชาติที่ไม่เคยมีเรือดำน้ำประจำการมาก่อน จะสามารถจัดหาและใช้งานเรือดำน้ำได้ตามความต้องการจริงหรือไม่ เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญมากของประเทศจากอ่าวเปอร์เซียที่เคยมีเรือรบเพียง 12 ลำในปี 1970


                      ---------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Royal_Saudi_Navy
http://www.globalsecurity.org/military/world/gulf/rsnf.htm
http://www.globalsecurity.org/military/world/gulf/rsnf-modernization.htm
http://www.wikiwand.com/de/Jaguar-Klasse
http://www.deagel.com/Frigates/Al-Madinah_a002832001.aspx
http://militaryedge.org/armaments/al-riyadh-class-f-3000s/
http://www.hazegray.org/worldnav/mideast/saudi.htm
http://www.dsca.mil/major-arms-sales/kingdom-saudi-arabia-multi-mission-surface-combatant-mmsc-ships
http://www.defensenews.com/story/defense/naval/ships/2015/02/28/saudi-eastern-fleet-navy-lcs-frigate-lockheed-aegis-letter-request/24085347/
http://www.navyrecognition.com/index.php/news/defence-news/year-2015-news/october-2015-navy-naval-forces-defense-industry-technology-maritime-security-global-news/3181-kingdom-of-saudi-arabia-may-order-four-multi-mission-surface-combatant-mmsc-ships.html
http://www.defensenews.com/article/20131103/DEFREG04/311030007/Report-Saudi-Arabia-Eyes-Buying-German-Submarines
                      ---------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น