อิตาลีเป็นประเทศที่มีบทบาทในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย โดยตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ( Axis Powers) ที่มีเยอรมันและญี่ปุ่นเป็นสมาชิกร่วมประหนึ่งสามทหารเสือ นอกจากนี้ยังมีประเทศสมาชิกรองผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหาร คู่สงครามร่วม และรัฐบริวาร รวมกันมากถึง 26 ประเทศด้วยกัน บทสรุปของสงครามเป็นไปอย่างที่ผู้อ่านทุกท่านทราบคือฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะ และทางด้านกองทัพอิตาลีเองก็มีผลงานการรบในทุกสมรภูมิที่ไม่ดีเอาเสียเลย เรียกว่าเป็นบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ของฝ่ายอักษะก็ไม่น่าจะผิด
สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 หลังจากญี่ปุ่นได้ประกาศยอมจำนนกับกองทัพอเมริกาที่บุกมาประชิดถึงหน้าบ้าน กองทัพฝ่ายอักษะทุกประเทศถูกปลดอาวุธทันที มีการไต่สวนคดีความต่างๆระหว่างสงคราม มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายทั่วโลกรวมทั้งอิตาลีด้วย 2 ปีต่อมากองทัพเรือของพวกเขาถูกจัดตั้งใหม่อีกหน โดยเปลี่ยนชื่อเรียกจาก Royal Navy หรือ Regia Marina มาเป็น Italian Navy กระทั่งปัจจุบัน เรือรบจำนวนหลายลำได้กลับเข้าประจำการอีกครั้งหนึ่ง เรือช่วยรบบางลำรับโอนมาจากเยอรมัน เรือช่วยรบบางลำรับโอนหรือซื้อมาจากอเมริกา เรือตรวจการณ์จำนวนมากสั่งต่อจากอเมริกาและอังกฤษ โดยติดตั้งอาวุธของอังกฤษและอเมริกาผสมกันไป คล้ายคลึงกับการจัดหาอาวุธของประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นในเวลาเดียวกัน
ช่วงเวลาดังกล่าวอิตาลีได้รับอนุญาติให้ต่อได้เพียงเรือช่วยรบขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปรกติของประเทศผู้แพ้สงคราม บางทีอิตาลีอาจต้องซื้อเรือรบจากต่างประเทศตลอดไป ถ้าไม่บังเอิญเกิดภัยคุกคามขนาดใหญ่กับชาติตะวันตกเกิดขึ้น นั่นคือสหภาพโซเวียตและประเทศในสนธิสัญญาวอร์ซอ อาวุธจำนวนมหาศาลถูกผลิตและส่งเข้าประชิดพรมแดนยุโรปตะวันตก ลำพังแค่อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ไม่สามารถพัฒนาและผลิตอาวุธมาคานอำนาจรบอีกฝ่ายได้ทันแน่ กฎเหล็กหลายข้อในอดีตจึงต้องผ่อนคลายลงหรือปรับเปลี่ยนไป และแล้วในที่สุดอิตาลีก็สามารถต่อเรือรบด้วยตัวเองได้อีกครั้ง โครงการเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Centauro เริ่มต้นขึ้นในปี 1952 เรือลำแรกจาก 4 ลำคือ D 571 Centauro เข้าประจำการในปี 1957 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นเรือฟริเกต F 554 Centauro ในเวลาต่อมา เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอิตาลียุคใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เขียนอยากเขียนบทความอาวุธใช้งานทางทะเลจากอิตาลี ทั้งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายและไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
76/62 MMI (Allargato) and 76/L62 SMP3 Naval Guns
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธปืนที่ใช้งานบนเรือรบอิตาลีคือปืนใหญ่ Mk.12 127/38 mm จากอเมริกาและปืนกลต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 mm จากสวีเดน เมื่ออิตาลีเริ่มโครงการต่อเรือพิฆาตคุ้มกันขนาด 2,180 ตัน ชั้น Centauro รวมทั้งเรือคอร์เวตขนาด 1,000 ตัน ชั้น Albatros จึงได้มีการพิจารณาอาวุธปืนประจำเรือรุ่นใหม่ ผลคือ Mk.12 127/38 mm มีขนาดใหญ่เกินไปไม่สามารถติดตั้งได้ ส่วน Bofors 40/60 mm ก็เหมาะสมเป็นปืนรองมากกว่า พวกเขาจึงได้นำปืนใหญ่ Mk.22 76/50 mm จากอเมริกามาพัฒนาปรับปรุงเพื่อใช้งานบนเรือตนเอง
76/62 SMP3 คือปืนเรือกระบอกแรกสุดของอิตาลี Oto Melara พัฒนาสำเร็จและเข้าประจำการช่วงต้นทศวรรษที่ 50 โดยมีทั้งรุ่นลำกล้องเดี่ยวติดตั้งบนเรือชั้น Albatros จำนวน 4 ลำ และรุ่นลำกล้องคู่ซ้อนกันติดตั้งบนเรือชั้น Centauro จำนวน 4 ลำ ปืนสามารถยิงได้ไกลสุด 16 กิโลเมตรที่มุม 45 องศา อัตรายิงสุงสุด 50 นัดต่อนาที ทว่าป้อมปืนของ SMP3 มีขนาดใหญ่พอสมควร ระบบแมกกาซีนมีปัญหาติดขัดบ่อย รวมทั้งปริมาณกระสุนที่บรรจุได้ไม่มากเท่าที่ควร การใช้งานจริงจึงไม่เป็นไปตามความต้องการของกองทัพเรืออิตาลี
76/62 Compact / Super Rapid and Strales Naval Guns
Oto Melara นำปืน 76/62 MMI มาพัฒนาต่อยอดให้ทันสมัยมากขึ้น ออกแบบป้อมปืนรูปทรงกลมขนาดกระทัดรัด ระบบแมกกาซีนทันสมัยมากขึ้นฝังใต้ดาดฟ้าเรือ ต้องการพื้นที่ในการติดตั้งป้อมปืนไม่มาก จึงสามารถใช้งานบนเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กไปจนถึงเรือบรรทุกเครื่องบินได้ เริ่มเข้าประจำการกองทัพเรืออิตาลีในปี 1964 และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมีลูกค้าถึง 51 ชาติ ยอดผลิตรวมถึงปัจจุบันมากกว่า 1,000 กระบอก หลายประเทศได้ขอซื้อลิคสิทธิ์ปืนไปพัฒนาปรับปรุงเพื่อใช้งาน เช่น อิสราเอล อินเดีย เกาหลีใต้ บริษัทผู้ผลิตยังได้พัฒนาปืนรุ่นใหม่ๆให้ทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม ปรับปรุงป้อมปืนรูปทรงเหลี่ยมลดการตรวจจับจากเรดาร์ (Stealth) กองทัพเรือไทยใช้งานปืนรุ่นนี้เป็นจำนวนมากเราสามารถแบ่งรุ่นของปืนออกเป็น 3 รุ่นหลักและ 1 รุ่นย่อยด้วยกัน
- Rapid Fire ถือเป็นรุ่นปรับปรุงจาก Compact ฐานข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจำนวนมากจึงนับรวมกันโดยไม่ได้แยกออกมา อัตรายิงสุงสุด 100 นัดต่อนาที ประจำการบนเรือชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์จำนวน 2 ลำ
- Super Rapid Fire อัตรายิงสุงสุด 120 นัดต่อนาที สามารถปรับปรุงให้ใช้กระสุน Vulcano ได้ ประจำการบนเรือหลวงอ่างทองและเรือชั้นเรือหลวงปัตตานีจำนวน 2 ลำ รวมทั้งเรือฟริเกตสมรรถนะสุงลำใหม่ด้วย
- Strales ติดตั้งระบบนำวิถีด้วยคลื่นวิทยุในป้อมปืนด้านขวามือ สามารถยิงกระสุน Vulcano (Long Rang High Accuracy Ammunition Family) ใช้ระบบ GPS/INS ในการนำทาง และใช้ระบบเลเซอร์ IR/SAL (Infrared/Semi-Active LASER) ในการนำวิถีสู่เป้าหมาย กระสุนมีระยะยิงไกลสุด 40 กม. เหมาะสำหรับโจมตีเป้าหมายพื้นน้ำและพื้นดิน และกระสุน DART (Driven Ammunition Reduce Time of Flight) ตัวลูกปืนติดตั้งปีกคานาดเพื่อใช้ปรับวิถีโคจร ควบคุมทิศทางด้วยลำคลื่นวิทยุ (Beam Axis) กระสุนมีระยะยิงไกลสุด 35 กม. เหมาะสำหรับโจมตีเป้าหมายทางอากาศ ปัจจุบันกองทัพเรืออิตาลีใช้เป็นระบบป้องกันระยะประชิดทดแทนระบบเดิม
นอกจากปืน 4 รุ่นนี้แล้ว ยังมีรุ่น Refurbished ที่ Oto Melara นำปืนเก่า(จากที่ไหนซักแห่ง)มาซ่อมคืนสภาพเพื่อขายให้กับลูกค้าในราคาพิเศษ กองทัพเรือไทยให้ความสนใจจัดหาเข้าประจำการเช่นกัน เท่าที่ผู้เขียนทราบคือบนเรือหลวงกระบี่ และเรือหลวงแหลมสิงห์ Oto Melara 76/62 Compact มีอายุ 52 ปีแล้วนับแต่ปืนกระบอกแรกเข้าประจำการ แต่ยังคงได้รับความนิยมสุงมากและจะเป็นแบบนี้ไปอีก 10-20 ปีเป็นอย่างน้อย
Lancia Bas and Menon K-113 Mortars
ในโครงการเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Centauro นอกจากปืนใหญ่เรือขนาด 76/62 มม.แล้ว กองทัพเรืออิตาลีต้องการจรวดปราบเรือดำน้ำที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ Bofors 375 mm ASW Mortar ของสวีเดน Lancia Bas ASW Mortar จึงได้เริ่มต้นพัฒนาขึ้นและเข้าประจำการในปี 1960 ติดตั้งท่อยิงจรวดขนาด 305 มม.(12 นิ้ว)จำนวน 3 ท่อยิงบน แท่นยิงขนาดไม่ใหญ่มากพร้อมแมกกาซีนใต้ดาดฟ้าเรือ ลำกล้องท่อยิงทำมุม 45 องศาอัตรายิงสุง 21 นัดใน 70 วินาทีพร้อมระบบโหลดอัตโนมัติ จรวดปราบเรือดำน้ำที่ใช้งานกับ Lancia Bas มีน้ำหนัก 160 กิโลกรัม ระยะยิงไกลสุดประมาณ 900 เมตร จรวดหนึ่งชุดมีอำนาจทำลายล้างครอบคลุมพื้นที่ขนาด 70 x 165 เมตร
ต่อมาไม่นานกองทัพเรืออิตาลีจึงพบว่า Lancia Bas มีขนาดใหญ่เกินไปติดตั้งบนเรือเล็กไม่ได้ และอาวุธปราบเรือน้ำจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มล้าสมัยมากขึ้น เนื่องจากตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.ทำหน้าที่ได้ดีกว่า ทว่าอาวุธรุ่นใหม่มีราคาค่อนข้างแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ พวกเขายังต้องการจรวดปราบเรือดำน้ำเพื่อใช้งานควบคู่กันไป โดยต้องการระบบที่มีขนาดเล็กลงราคาถูกลงใช้พื้นที่น้อยลง การพัฒนา Menon ASW Mortar K-113 เป็นไปอย่างล้าช้าก่อนเข้าประจำการต้นทษวรรษ 70 ระบบใหม่จะใช้ท่อยิงจรวดขนาด 305 มม.เพียง 1 ท่อยิงเท่านั้น ลำกล้องทำมุม 45 องศา บรรจุจรวดพร้อมยิงในแมกกาซีนจำนวน 7 นัด (สามารถใส่จรวดเพิ่มเติมได้) Menon K-113 ได้รับความนิยมจากกองทัพเรือมากกว่า Lancia Bas เพราะสามารถติดตั้งบนเรือรบที่มีระวางขับน้ำเพียง 1,000 ตันได้ ปัจจุบันอาวุธทั้ง 2 ชนิดปลดประจำการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Milas Ship-Borne Anti-Submarine Weapon
ปี 1986 บริษัทจากอิตาลีและฝรั่งเศสจับมือกันเพื่อพัฒนาจรวดต่อสู้เรือดำน้ำยุคใหม่ โดยนำตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำมาใส่ในท่อนท้ายของจรวดต่อสู้เรือรบ Otomat Mk.2 เมื่อถึงพิกัดเป้าหมายตอร์ปิโดจะสลัดตัวออกมาเพื่อทำหน้าที่ตัวเองต่อไป นั่นจะทำให้ Milas มีระยะยิงไกลสุดถึง 35 กิโลเมตร (ไม่รวมระยะยิงตอร์ปิโด) เรือรบสามารถให้ข้อมูลและเปลี่ยนแปลงเป้าหมายผ่านคลื่นวิทยุ จรวดต้นแบบสร้างเสร็จในปี 1989 แต่กว่าการทดสอบจะเสร็จสมบูรณ์เวลาก็ผ่านไปถึง 10 ปีเต็ม ทำให้กองทัพเรือฝรั่งเศสที่ตั้งใจจะนำมาใช้งานแทนจรวดปราบเรือดำน้ำ Malafon ของตัวเอง หมดความสนใจอาวุธชนิดนี้และขอถอนตัวออกไป ทว่าโครงการนี้ยังไม่ล้มเนื่องจากกองทัพเรืออิตาลีสั่งเดินหน้าต่อ กลางปี 2002 จรวด Milas ลูกแรกเข้าประจำการบนเรือพิฆาตต่อสู้อากาศยานชั้น Durand de la Penne แม้ว่า Milas จะใช้ท่อนหลังของ Otomat มาต่อท้าย แต่ก็มีความยาวมากกว่ากันพอสมควรคือ 6 เมตรกับ 4.46 เมตร ระบบแท่นยิงจรวดทั้งสองแบบจึงจึงไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ และระบบแท่นยิง Milas มีเฉพาะรุ่นแท่นยิงเดี่ยวเท่านั้น โดยสามารถซ้อนกันได้ทำให้จำนวนจรวดไม่ลดลง
ซ้ายมือคือแท่นยิงแฝด Otomat ขวามือคือแท่นยิงเดี่ยว Milas
Milas ประจำการบนเรือรบเพียง 2 ลำมานานพอสมควร กระทั่งเรือฟริเกตชั้น Bergamini หรือ FREMM เวอร์ชั่นอิตาลีทยอยเข้าประจำการ จรวดปราบเรือดำน้ำดาวหางสีแดงจึงได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเติม เพื่อติดตั้งบนเรือชุดที่ทำหน้าที่ปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ ปริมาณสุงสุดที่เรือสามารถติดตั้งจรวด Milas ได้คือ 8 นัด แต่กองทัพเรืออิตาลีจะติดตั้งเพียง 4 นัดในยามปรกติ (ผู้เขียนเห็นแค่ 2 นัดด้วยซ้ำ) เพราะต้องติดตั้งแท่นยิงจรวดต่อสู้เรือรบ Otomat Mk.2 เข้าไปด้วย โครงการจรวดปราบเรือดำน้ำ Milas ที่ใช้เวลาพัฒนานานถึง 20 ปี มีเสน่ห์และความลึกลับน่าลุ่มหลงในตัวไม่เหมือนใคร เหมาะสมกับประเทศอิตาลีที่มีความอินดี้ทุกเรื่องกระทั่งช่วงทำสงคราม ปัจจุบัน Milas ได้ย้ายมาร่วมสังกัดกับบริษัท MBDA แล้ว แต่ผู้เขียนยังมองไม่เห็นว่าใครจะเป็นลูกค้ารายใหม่ที่จะจัดหาไปใช้งาน จึงคาดว่าจะมีเรือรบเพียง 6 ลำเท่านั้นที่ติดตั้ง Milas Ship-Borne Anti-Submarine Weapon
Aspide Missile / Albatros missile launching system
แม้อิตาลีจะสามารถพัฒนาอาวุธหลายชนิดได้ด้วยตัวเอง ทว่าบางส่วนเป็นการซื้อลิคสิทธิ์มาผลิตและปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจกระทั่งปัจจุบันหลายชาติก็ทำกัน เพราะเทคโนโลยีหลายชนิดต้องใช้เวลาพัฒนาและเม็ดเงินลงทุนมหาศาล อาวุธดังกล่าวจะได้รับการยอมรับและสามารถแจ้งเกิดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อซื้อลิคสิทธิ์มาแล้วพัฒนาต่อยอดได้มากน้อยแค่ไหน และมีหัวการค้าสามารถขายอาวุธให้กับประเทศอื่นๆมากน้อยแค่ไหนด้วย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตอาวุธรวมทั้งรัฐบาลอิตาลีทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยม
จรวดต่อสู้อากาศยานเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สลับซับซ้อน อเมริกาเองยังต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกนับสิบๆปี กองทัพเรืออเมริกาประจำการจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นแรกตั้งแต่ปี 1953 ทว่าจรวด RIM-2 Terrier ที่มีความเร็ว 3 มัค ระยะยิงไกลสุด 32 กิโลเมตร ที่ระดับความสุง 8 หมื่นฟิต มีน้ำหนักรวมทั้งระบบมากถึง 127 ตัน กว่าพวกเขาจะพัฒนาระบบป้องกันเฉพาะจุดขนาดเบา (lightweight point defense weapon) สำเร็จล่วงมาถึงปี 1976 จรวด RIM-7 Sea Sparrow หรือ Nato Sea Sparrow Missile หรือ NSSM คือจรวดต่อสู้อากาศยานประจำเรือรบแนวคิดใหม่ ที่ทำให้เรือรบขนาด 2,000 ตันมีความสามารถป้องกันภัยทางอากาศได้ทัดเทียมเรือรบขนาดใหญ่ในอดีต ผู้เขียนเคยลงบทความเกี่ยวกับจรวดรุ่นนี้ไว้นานพอสมควร เรามาอ่านทบทวนกันดูซักนิดก็ไม่เลวนะครับ
http://thaimilitary.blogspot.com/2014/10/rim-7-sea-sparrow.html
อิตาลีมีความจำเป็นต้องใช้งานจรวดต่อสู้อากาศยานเฉกเช่นชาติอื่น บริษัท Selenia จึงได้ขอซื้อลิคสิทธิ์จรวด Sea Sparrow เพื่อนำมาปรับปรุงและผลิตให้กองทัพภายใต้ชื่อ Aspide โดยในช่วงแรกเป็นการพัฒนาจรวดอากาศ-สู่-อากาศนำวิถีด้วยเรดาร์ สำหรับใช้งานกับเครื่องบินขับไล่ Aeritalia F-104S Starfighter กองทัพอากาศก่อน โดยนำโครงสร้างเดิมของ Sea Sparrow มาติดตั้งระบบค้นหาเป้าหมายและระบบขับเคลื่อนที่พัฒนาเอง ปรับปรุงระบบป้องกันการรบกวนคลื่นเรดาร์ให้ดียิ่งขึ้น เมื่อจรวด Aspide Mk.1 เข้าประจำการจริงแล้วจึงได้พัฒนารุ่นใช้งานทางทะเลเพิ่มเติมภายใต้ชื่อ Albatros missile launching system ก่อนเข้าประจำการจริงในปี 1983 โดยมีทั้งรุ่นแท่นยิงแฝด 4 ที่พัฒนาเอง และแท่นยิงแฝด 8 ที่ซื้อลิคสิทธ์แท่นยิง Mk 29 ของอเมริกามาปรับปรุงเพิ่มเติม
Albatros/Aspide เข้าประจำการในปี 1980 บนเรือฟริเกตอเนกประสงค์ขนาด 2,500 ตันชั้น Lupo ของกองทัพเรืออิตาลี ช่วงเวลาดังกล่าวมีความต้องการซื้อจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow จากทั่วโลก แต่เพราะว่าอยู่ในช่วงสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียตและสนธิสัญญาวอร์ซอ สภาคองเกรสอเมริกาจึงอนุมัติให้ขายจรวดเฉพาะสมาชิกนาโต้และประเทศที่มีความสำคัญเท่านั้น ส่งผลให้ Albatros/Aspide ที่เพิ่งพัฒนาเสร็จขายดีมากจนถึงมากที่สุด มีลูกค้าที่ยอมควักเงินซื้อถึง 16 ประเทศทั้งที่สินค้ายังไม่พร้อมที่จะส่งมอบ กองทัพเรือไทยสั่งซื้อจรวดในปี 1984 เพื่อใช้งานร่วมกับแท่นยิง Albatros แฝด 8 บนเรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์จำนวน 2 ลำ รวมทั้งประเทศจีนที่ท้ายสุดได้ขอซื้อลิคสิทธิ์ไปพัฒนาเป็นจรวดรุ่น LY-60 / FD-60 / PL10 ของตนเองต่อไป
Aspide Mk.1 มีระยะยิงไกลสุด 14 กิโลเมตรน้อยกว่า Sea Sparrow ที่ยิงได้ไกลสุด 18.5 กิโลเมตร มีการพัฒนาปรับปรุงเป็นรุ่น Aspide Mk.2 ที่มีระบบนำวิถีดีมากยิ่งขึ้น และรุ่นล่าสุดในปัจจุบันคือ Aspide 2000 ซึ่งได้ปรับปรุงใหม่หมดในทุกด้าน ระยะยิงไกลสุดเพิ่มขึ้นเป็น 25 กิโลเมตร แต่ Aspide 2000 ขายได้น้อยมากคือขายดีเฉพาะรุ่นใช้งานบนบก ทราบมาว่ากองทัพเรืออิตาลีปรับปรุงเรือรบตนเองให้ใช้งาน Aspide 2000 ได้ แต่ผู้เขียนไม่กล้ายืนยันว่ากี่ลำและลำไหนบ้างนะครับ ระบบ Albatros/Aspide มีใช้งานอยู่บนเรือรบมากกว่า 70 ลำ ระหว่างปี 1980 ถึง 2000 อิตาลีติดตั้งบนเรือรบทุกลำที่ขนาดใหญ่กว่า 1,200 ตัน รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินด้วย
เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำขนาด 3,100 ตันชั้น Maestrale ได้รับการติดตั้ง Albatros/Aspide เช่นกัน แม้จะมีภารกิจปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก แต่เรือถูกออกแบบให้มีแมกกาซีนสำรองใส่จรวดได้มากสุดถึง 16 นัด ระบบกลไกจะยกแมกกาซีนทั้งชุดขึ้นบนดาดฟ้า แล้วจึงโหลดจรวดเข้าแท่นยิงจากด้านหลัง ทำให้เรือฟริเกตชั้นนี้มีจรวดต่อสู้อากาศยาน Aspide มากถึง 24 นัด เรือชั้น Maestrale จึงเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำทรงอานุภาพมากที่สุดลำหนึ่งของนาโต้ จริงอยู่ว่าประเทศอื่นก็มีระบบแมกกาซีนสำรองสำหรับ Sea Sparrow จำนวน 16 นัดเช่นกัน แต่จะติดตั้งอยู่บนเรือฟริเกตต่อสู้อากาศยานขนาดใหญ่เท่านั้น เรือชั้น Maestrale ยังมีปืนใหญ่ขนาด 127/54 มม.จำนวน 1 กระบอก ระบบป้องกันระยะประชิด DARDO 40/70 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Otomat Teseo Mk2 จำนวน 8 นัด ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.จำนวน 6 ท่อยิง ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม.จำนวน 2 ท่อยิง พร้อมลูกตอร์ปิโด A184 จำนวน 8 นัด ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลางที่ทันสมัย ระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์รุ่นใหม่ เรดาร์ควบคุมการยิงจำนวน 3 ระบบ โซนาร์หัวเรือขนาดใหญ่และโซนาร์ลากท้าย DE 1146 VDS ระบบเป้าลวงจรวดและเป้าลวงตอร์ปิโด รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำอีก 2 ลำ
40L70 Compact / Fast Forty and Other Variations Anti-aircraft Guns
ต้นทศวรรษที่ 60 กองทัพเรืออิตาลีต้องการปืนต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่ทดแทนปืน Bofors 40/60 mm จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางเลือกของพวกเขาคล้ายคลึงกับอีกหลายสิบชาติคือใช้ปืน Bofors 40/70 mm ที่ใหม่กว่าทันสมัยกว่ามีประสิทธิภาพสุงกว่า โดยให้บริษัท OTOBreda (Oto Melara และ Breda Meccanica Bresciana) พัฒนาป้อมปืนกับระบบควบคุมให้สอดคล้องกับความต้องการ ระบบปืนในรุ่นแรกๆยังคงใช้ป้อมปืนแบบเปิดด้านบนครึ่งตัว มีทั้งรุ่นควบคุมการยิงด้วยมือหรือใช้เรดาร์ควบคุมการยิงได้ โดยรุ่น Type 64 และ Type 107 จะใช้ลำกล้องแฝด ส่วน Type 107 และ Type 564 เป็นรุ่นลำกล้องเดี่ยว นอกจากกองทัพเรืออิตาลีแล้วยังสามารถส่งออกได้ด้วย เพียงแต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมีลูกค้ามีจำนวนไม่กี่ประเทศ เช่น สเปน เปรู อิรัค อิยิปต์
แม้จะสามารถผลิตปืนต่อสู้อากาศยานได้เองก็ตาม แต่กองทัพเรืออิตาลีก็ยังต้องการอาวุธที่ทันสมัยมากกว่านี้ เนื่องจากภัยคุกคามทางอากาศทวีความน่ากลัวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาวุธรุ่นใหม่อย่างจรวดต่อสู้เรือรบก็มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยร้ายแรงมาก ระบบปืนรุ่นใหม่จะต้องใช้ป้อมปืนแบบปิดทั้งหมด ระบบแมกกาซีนอัตโนมัติและกระสุนจำนวนมากด้านใต้ดาดฟ้าเรือ สามารถใช้ได้กับเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นใหม่หลายรุ่น และกำหนดให้เป็นระบบป้องกันระยะประชิดรุ่นหนึ่งด้วย เพียงแต่ระบบไม่ได้ทำงานอัตโนมัติทั้งหมดเหมือน Phalanx ของอเมริกา โครงการ DARDO เริ่มต้นพัฒนาทันทีกระทั่งสร้างปืนต้นแบบสำเร็จในปี 1976 ผลการทดสอบโอกาสที่ปืนจะยิงสกัดจรวดต่อสู้เรือรบได้อยู่ที่ 30 เปอร์เซนต์ เป็นตัวเลขที่ไม่เลวเลยเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ต้องจ่าย
OTOBreda 40L70 DARDO ได้รับการพัฒนาเพื่อขายจำนวน 2 รุ่นคือ Compact ยิงได้เร็วสุด 600 นัดต่อนาที และ Fast Forty ยิงได้เร็วสุด 900 นัดต่อนาที และยังติดตั้งระบบแมกกาซีน 2 ชุดสามารถเปลี่ยนชนิดกระสุนได้อย่างรวดเร็ว หลังการเปิดตัวได้ไม่นาน DARDO ก็สามารถทำตลาดได้ทั่วโลก เพราะใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือไม่มากหรือจะเลือกแบบไม่ใช้เลยก็ได้ ราคาไม่แพงมากใช้งานง่ายประสิทธิภาพสุง กองทัพเรืออิตาลีติดตั้งบนเรือรบสำคัญทุกลำรวมทั้งเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจำนวนมาก DARDO มีประจำการอยู่ในกองทัพเรือมากกว่า 20 ชาติรวมทั้งราชนาวีไทย บนเรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์จำนวน 2 ลำ และเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีจำนวน 3 ลำ ผู้เขียนเข้าใจว่าทั้งหมดเป็นุร่น Compact ที่มีราคาไม่แพงนัก
OTOBreda ยังมีระบบปืนลำกล้องเดียวรุ่น ใหม่คือ Type 520 และ Type 520R ขายด้วย รวมทั้งพัฒนา DARDO รุ่นใหม่ที่มีการปรับปรุงทั้งตัวปืนและป้อมปืนให้ทันสมัยมากกว่าเดิม แต่ทั้งหมดไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรคือแทบไม่มีลูกค้าเลย ปัจจุบันกองทัพเรืออิตาลีเลือกใช้งานปืนขนาด 76/62 แทน DARDO ในหน้าที่ป้องกันเรือระยะประชิด เมื่อประเทศตัวเองไม่สั่งซื้อทำให้มองอนาคตได้ไม่ยาก บริษัทผู้ผลิตก็รู้ดีว่าอาวุธเสื่อมความนิยม จึงได้หันไปพัฒนาระบบ Remote Weapon System (RWS) รุ่น Marlin WS 30 ขึ้นมาขาย ติดตั้งปืนกลขนาด 25-30 มม.ตามความต้องการของลูกค้า ป้อมปืนกระทัดรัดพร้อมอุปกรณ์ช่วยเล็งควบคุมด้วยรีโมท Marlin WS ได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมากจากกองทัพเรืออิตาลีรวมทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ ส่งผลให้ DRADO รุ่นใหม่แทบไม่เหลือที่ยืนอีกต่อไป
Heavyweight and Lightweight Torpedoes
ปี 1971 กระทรวงกลาโหมอิตาลีต้องการตอร์ปิโดขนาด 533 มม.รุ่นใหม่ ที่มีความสามารถต่อกรได้ทั้งเป้าหมายบนผิวน้ำและใต้น้ำ ภายใต้การออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท Whitehead Alenia Sistemi Subacquei หรือ WASS (ต่อมาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Finmeccanica ในปี 1995) โครงการตอร์ปิโดนำวิถีด้วยเส้นใยไฟเบอร์ออปติค A184 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1974 และเข้าประจำการกองทัพเรืออิตาลีในเวลาต่อมา A184 Dual-purpose wire-guided heavyweight torpedo สามารถติดตั้งได้ทั้งกับเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำ มีความยาว 6 เมตร หนัก 1,265 กิโลกรัม ระยะยิงไกลสุด 25 กิโลเมตรที่ความเร็ว 24 น๊อต และ 17 กิโลเมตรที่ความเร็วสุงสุด 36 น๊อต อิตาลีใช้งานทั้งบนเรือดำน้ำและเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ โดยมีลูกค้าหลงเข้ามาเพียงรายเดียวคือเปรู
หลังจาก A184 เข้าประจำการ 20 ปีเต็ม WASS จึงได้เปิดตัวตอร์ปิโดรุ่นใหม่ทดแทนโดยใช้ชื่อว่า Black Shark ขณะเดียวกันก็ยังมี A184 Mod3 ขายให้กับประเทศที่ต้องการตอร์ปิโดราคาไม่แพง แต่ไม่แน่ใจว่าจะยังขายอีกนานแค่ไหนนะครับ Black Shark ใช้เทคโนโลยีใหม่หมดรูปร่างแตกต่างไปจากเดิม เข้าประจำการในปี 2004 และขายได้ดีกว่ารุ่น A184 พอสมควร โดยมีลูกค้าถึง 6 ชาติจัดหาไปใช้งาน Black Shark ยาว 6.3 เมตร หนัก 1,483 กิโลกรัม ระยะยิงไกลสุด 75 กิโลเมตรที่ความเร็ว 12 น๊อต และ 22 กิโลเมตรที่ความเร็วสุงสุด 52 น๊อต (ข้อมูลจากวิกิระบุว่าระยะยิงไกลสุด 50 กิโลเมตร แต่ไม่ทราบความเร็ว) ตอร์ปิโดรุ่นใหม่ออกแบบให้ใช้งานกับเรือดำน้ำเท่านั้น อาจเป็นเพราะความนิยมติดตั้งตอร์ปิโดขนาด 533 มม.บนเรือผิวน้ำลดน้อยลงไปมาก
WASS ยังได้พัฒนาตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.เช่นกัน โครงการ A244-S Lightweight torpedo เริ่มต้นช่วงปลายทศวรรษที่ 70 และเข้าประจำการในปี 1982 ตอร์ปิโดรุ่นใหม่มีความยาว 2.75 เมตร หนัก 254 กิโลกรัม ความเร็วสุงสุด 30 น๊อต ระยะยิงไกลสุด 6 กิโลเมตรสำหรับรุ่น Mod1 และ 13.5 กิโลเมตรสำหรับรุ่น Mod3 สามารถติดตั้งบนอากาศยานรุ่นต่างๆได้โดยไม่มีปัญหา ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจากแดนมักกะโรนีได้รับความนิยมสุงมาก มียอดผลิตรวมจนถึงปัจจุบันมากกว่า 1,000 นัด โดยมีกองทัพเรือจำนวน 23 ชาติจัดหาไปใช้งาน รวมทั้งจีนที่ได้ขอซื้อลิคสิทธิ์ไปพัฒนาเป็นตอร์ปิโดรุ่น ET52 ของตัวเองต่อไป ปัจจุบัน A244-S Mod3 ยังคงขายได้เรื่อยๆแต่ไม่มากนัก ทั้งยังได้ลูกค้าใหม่เพิ่มเติมอาทิเช่น บังคลาเทศ ส่วนทางด้านกองทัพเรืออิตาลีเหลือใช้งานน้อยเต็มที เพราะถูกแทนที่โดยของใหม่เอี่ยมราคาแพงคือ MU90 Impact ตอร์ปิโดยุคที่ 3 จาก EuroTorp เช่นกัน
127/54 Compact and 127 mm/64 LW Naval Guns
เมื่อกองทัพเรืออิตาลีผุดโครงการเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Audace ขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 พวกเขาต้องการปืนใหญ่เรือขนาดที่เหมาะสมกับเรือขนาด 4,500 ตันด้วย ประมาณต้นปี 1965 บริษัท OTOBreda ได้นำปืนใหญ่เรือขนาด 127/54 มม.จากอเมริกา มาปรับปรุงและติดตั้งในป้อมปืนและระบบแมกกาซีนที่ออกแบบใหม่หมด ปืนใหญ่ 127 mm/54 Compact เข้าประจำการในอีก 3 ปีต่อ ขณะที่ปืนใหญ่รุ่นใหม่ล่าสุดของอเมริกาคือ 127/54 Mk 45 เข้าประจำการในปี 1971 คือห่างกันแค่เพียง 3 ปี เมื่อนำระบบปืนทั้งสองรุ่นมาเปรียบเทียบกันแล้ว ปืนจากอิตาลีจะมีขนาดใหญ่กว่าและน้ำหนักมากกว่าพอสมควร แต่ก็มีอัตรายิงสุงสุดมากกว่าคือ 40 นัดกับ 20 นัดต่อนาที และมีระยะยิงไกลสุดมากกว่าด้วยคือ 30 กิโลเมตรกับ 24 กิโลเมตร
127 mm/54 Compact ขายดีพอสมควรทั้งที่มีคู่แข่งเยอะมากคือ 10 ประเทศจำนวนรวม 65 กระบอก ช่วงเวลานั้นนอกจาก 127/54 Mk 45 ของอเมริกาแล้ว ยังมี 4.5 inch Mark 8 ของอังกฤษ และ 100 mm naval gun จากฝรั่งเศสด้วย ในปี 1985 OTOBreda ยังได้พัฒนา 127 mm/54 LW (Light Weight) ขึ้นมาอีกรุ่น เพื่อใช้งานกับเรือรบขนาดต่ำกว่า 2,000 ตันได้ด้วย มีน้ำหนักรวมลดลงจาก 37.5 ตันมาเป็น 22 ตัน จำนวนกระสุนพร้อมใช้งานลดลงจาก 66 นัดเป็น 20-40 นัดกองทัพเรืออิตาลีนำมาติดตั้งกับเรือฟริเกตเบาชั้น Soldati ซึ่งก็คือเรือชั้น Lupo ที่อิรัคได้สั่งซื้อจำนวน 4 ลำ แต่ทว่าเมื่อเกิดสงครามอิรัค-อิหร่านขึ้น เรือจึงเข้าประจำการกับกองทัพเรืออิตาลีแทนในที่สุด
วันเวลาผ่านไป อาวุธที่ทันสมัยก็เริ่มเก่าและกลายเป็นของตกรุ่น ปืนใหญ่เรือก็เป็นอีกหนึ่งที่ไม่พ้นคำกล่าวข้อนี้ เมื่อ 127 mm/54 Compact เริ่มล้าสมัยมากขึ้น อิตาลีจึงต้องการปืนรุ่นใหม่มาทดแทนในการจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่ โครงการ 127/64 LW เริ่มเดินหน้าเต็มตัวในปี 2005 และสามารถเข้าประจำการในปี 2012 เป็นปืนใหญ่เรือยุคใหม่สามารถยิงเป้าหมายผิวน้ำและเป้าหมายอากาศยานได้ ใช้กระสุนรุ่นใหม่จากค่ายนาโต้ได้ทุกชนิด รวมทั้งกระสุนต่อระยะนำวิถี Vulcano ที่อิตาลีพัฒนาขึ้นมาเองซึ่งมีระยะยิงไกลสุดมากถึง 120 กิโลเมตร ลำกล้องปืนยาวขึ้นขนาดป้อมปืนใกล้เคียงกัน แต่น้ำหนักรวมทั้งระบบลดลงมาเหลือเพียง 33 ตัน อัตรายิงสุงสุดลดลงนิดหน่อยที่ 35 นัดต่อนาที ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานทั้งระบบ ออกแบบป้อมปืนลดการตรวจจับจากเรดาร์
ปืนรุ่นใหม่ได้รับคำสั่งซื้อจากอิตาลี เยอรมัน อินเดีย และอัลจีเรียแล้ว และอาจรวมลูกค้าเก่าแคนาดากับโครงการ Canadian Surface Combatant (CSC) ในอนาคตข้างหน้า OTOBreda127/64 LW และกระสุน Vulcano ยังคงมีอนาคตอยู่ในตลาดโลก ยอดขายอาจไม่มากเหมือนเดิมแต่ก็ยังขายได้เรื่อยๆ ต่างจาก 4.5 inch Mark 8 ของอังกฤษ และ 100 mm naval gun จากฝรั่งเศส ที่แม้กระทั่งประเทศตนเองก็ไม่เลือกใช้งานอีกต่อไป
Otomat Medium-range anti-ship missile
ระบบอาวุธท้ายสุดในบทความนี้คือจรวดต่อสู้เรือรบระยะกลาง Otomat โครงการเริ่มต้นในปี 1967 โดยเป็นการร่วมพัฒนาระหว่าง Oto Melara ของอิตาลีกับ Matra ของฝรั่งเศส (หรือ MBDA ในปัจจุบัน) ซึ่งชื่อโครงการ Otomat ก็มาจาก OTO Melara+ MATra นั่นเอง จรวดตามคอนเซปแรกสุดจะใช้เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน เพื่อเพิ่มระยะยิงให้ไกลขึ้นและสามารถใส่หัวรบขนาดใหญ่ขึ้น ได้เริ่มทดสอบจรวดต้นแบบในปี 1971 ก่อนเสร็จสมบรูณ์ในปี 1974 ทว่ายังไม่ทันเริ่มผลิตจริงก็พบปัญหาขนาดใหญ่เสียแล้ว เมื่อกองทัพเรือฝรั่งเศสตัดสินใจเลือกจรวดต่อสู้เรือรบ Exocet ของ Nord Aviation เข้าประจำการ Oto Melara จึงต้องพัฒนาโครงการร่วมนี้แต่เพียงลำพัง
Otomat Mk1 เริ่มเข้าประจำการจริงในปี 1976 บนเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Lupo อาวุธใหม่เอี่ยมใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ท ยาว 4.46 เมตร หนัก 770 กิโลกรัม หัวรบหนัก 210 กิโลกรัม ระยะยิงไกลสุด 60 กิโลเมตร ความเร็ว 0.9 มัค ระบบแท่นยิงเดี่ยวเป็นกล่องไฟเบอร์กลาสทรงเหลี่ยมวางมุม15 องศา เพียงเปิดตัวในปีแรกก็สามารถขายจรวดได้แล้วถึง 210 นัด Oto Melara จึงมีกำลังใจเร่งพัฒนา Otomat Mk2 Block I สำเร็จในอีก 2 ปีต่อมา จรวดรุ่นที่ 2 สามารถยิงได้ไกลถึง 180 กิโลเมตร เพราะมีระบบ Datalink สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างจรวดกับเรือรบและเฮลิคอปเตอร์ได้ ทำให้สามารถยิงเป้าหมายข้ามเส้นขอบฟ้าได้อย่างมีประเสิทธิภาพ จรวดรุ่นใหม่สามารถพับปีกได้จึงใช้พื้นที่จัดเก็บน้อยลง Oto Melara ออกแบบให้ใส่จรวด 2 นัดในกล่องไฟเบอร์กลาสทรงสี่เหลี่ยมเกือบจตุรัสได้ นับเป็นระบบแท่นยิงแฝดที่มีรูปทรงแปลกตาที่สุดในสามโลก
Otomat Teseo Mk2 Block IV
Otomat มีการพัฒนาและปรับปรุงตลอดเวลา จนถึงรุ่นปัจจุบันคือ Teseo Mk2 Block IV ซึ่งใช้ระบบค้นหาเป้าหมายรุ่นใหม่ ระบบสร้างภาพ 3 มิติใหม่ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียวใหม่ สามารถโจมตีเป้าหมายบนชายฝั่งได้ มีลูกค้า 10 ชาติจัดหา Otomat ไปใช้งาน โดยมียอดขายรวมทั้งหมด 1019 นัด (ไม่รวมจรวดต่อสู้เรือดำน้ำ Milas) นับเป็นอาวุธจากอิตาลีอีกรุ่นที่ได้รับความนิยมสุงมาก ปัจจุบัน Otomat อยู่ภายใต้สังกัด MBDA เช่นเดียวกับจรวด Exocet ผู้เขียนไม่ทราบเรื่องการจัดวางตำแหน่งสินค้า แต่เวลาขายจริงคงมีการทับไลน์กันบ้างไม่มากก็น้อย
Oto Melara ได้ริเริ่มโครงการ Teseo Mk 3 หรือโครงการ Ulisee ในปี 1993 จรวดมีหน้าตาแปลกไปจนดูคล้ายหัวฉลาม มีการปรับปรุงใหม่หมดทุกจุด ระยะยิงไกลสุด 300 กิโลเมตร และสามารถใช้งานบนอากาศยานได้ด้วย ปี 1996 กองทัพเรืออเมริกาให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ มีการเซ็นสัญญาและกำหนดเข้าประจำการในปี 2003-2005 ทว่าในปี 1999 กองทัพเรืออเมริกาตัดสินใจถอนตัว ทำให้โครงการ Ulisee ต้องยกเลิกในท้ายที่สุด
อาวุธใช้งานทางทะเลของอิตาลียังมีอีกหลากหลายชนิด อาทิเช่น ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ MU-90 จรวดต่อสู้อากาศยาน ASTER 15/30 แต่เนื่องจากเป็นโครงการร่วมหลายชาติจึงไม่ได้เขียนถึง นอกจากนี้แล้ว เรือรบรุ่นต่างๆทั้งเก่าและใหม่ ระบบเรดาร์ตรวจการณ์และควบคุมการยิง อากาศยานปีกแข็งและปีกหมุน รวมทั้งอาวุธยุทธปัจจัยอื่นๆจากอิตาลีล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนถึงอีกครั้งในอนาคตที่ไม่แน่นอนของตัวเอง เจอกันใหม่บทความหน้าขอบคุณครับ
----------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
http://www.navweaps.com/Weapons/WNIT_Main.php
http://www.navweaps.com/Weapons/WAMIT_ASW.php
http://www.seaforces.org/marint/Italian-Navy/Frigate/Centauro-class.htm
http://www.seaforces.org/wpnsys/SURFACE/Oto-Melara-76mm-Allargato.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Albatros-class_corvette
http://forum.worldofwarships.com/index.php?/topic/8441-albatros-class-corvettes-1950s/
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_decommissioned_ships_of_the_Italian_Navy
https://en.wikipedia.org/wiki/76mm/L62_Allargato
http://www.seaforces.org/wpnsys/SURFACE/Oto-Melara-76mm-compact-super-rapid.htm
http://www.seaforces.org/wpnsys/SURFACE/Otomat-Teseo-SSM.htm
http://www.seaforces.org/wpnsys/SURFACE/Albatros-missile-launcher.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Aspide
http://www.seaforces.org/wpnsys/SURFACE/Oto-Melara-40L70-DARDO.htm
https://it.wikipedia.org/wiki/A184
http://www.naval-technology.com/contractors/missiles/whitehead/
https://en.wikipedia.org/wiki/Otomat#Developments
https://en.wikipedia.org/wiki/A244-S
http://www.seaforces.org/wpnsys/SURFACE/Oto-Melara-127mm-64caliber-gun.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_Italian_Navy_ships
----------------------------------------------------------------------------------------
บทความน่าสนใจมากครับ ทั้งปืนเรือทั้งทัพเรือยุ่น เกาหลี
ตอบลบขอบคุณมากครับที่ติดตาม :)
ตอบลบ