วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

RIM-7 Sea Sparrow ปฐมบทจรวดต่อสู้อากาศยานประจำเรือรบแนวคิดใหม่




หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปีคศ.1945 วิทยาการทางด้านการทหารได้เจริญรุดหน้าไปพร้อมๆกับสงครามเย็นที่ก่อตัวขึ้น จากประเทศรักสันโดษแยกตัวออกจากประชาคมโลกมุ่งแต่ทำมาค้าขาย อเมริกาก็กลับกลายมาเป็นประเทศผู้นำของค่ายตะวันตกเนื่องจากอังกฤษและฝรั่งเศสอ่อนแอลง และได้เข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ด้วย ทั้งยังมีการส่งทหารจำนวนมากเข้ามาประจำการในเยอรมันตะวันตกและยุโรป ขณะที่ฝ่ายตะวันออกนำโดยสหภาพโซเวียตและประเทศในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซออีก7ประเทศ ต่างเร่งเสริมกำลังรบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมรับสงครามครั้งใหม่ที่กำลังมาเยือนถึงหน้าบ้านตนเอง

หนึ่งในวิทยาการด้านการทหารที่อเมริกาพัฒนาขึ้นมาก็คือจรวดต่อสู้อากาศยานประจำเรือรบ จรวด RIM-2 Terrier เริ่มเข้าประจำการในปี 1953 มีความเร็ว 3 มัคยิงได้ไกล 32 กิโลเมตรที่ระดับความสุง 8 หมื่นฟิต จากนั้นในปี 1958 จรวด RIM-8 Talos ที่ยิงได้ไกลถึ ง92 กิโลเมตรก็เข้าประจำการเป็นรุ่นถัดไป จรวดทั้ง 2 แบบใช้แท่นยิงแบบคู่สามารถบรรจุจรวดจากแม็กกาซีนด้วยระบบกลไกมีความทันสมัยมากที่สุด แต่เนื่องจากขนาดของจรวดและอุปกรณ์ทั้งหมดค่อนข้างใหญ่ จึงสามารถติดตั้งบนเรือลาดตระเวณหรือเรือประจัญบานระวางขับน้ำหลายหมื่นตันเท่านั้น เพราะจรวด RIM-2 Terrier พร้อมแท่นยิงและจรวด 144 นัดมีน้ำหนัก 127 ตันโดยประมาณ ขณะที่ RIM-8 Talos พร้อมแท่นยิงและจรวด 46 นัดมีน้ำหนักมากถึง 185 ตัน

                                                                                   RIM-2 Terrier
                                                                  
RIM-8 Talos

อเมริกาพยายามพัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานให้มีขนาดโดยรวมเล็กลงกว่าเดิม เพื่อที่สามารถติดตั้งบนเรือรบขนาดเล็กลงโดยกินพื้นที่ใช้สอยน้อยกว่าเดิมได้ ปี1970 จรวดต่อสู้อากาศยานนำวิถีเรดาร์ขนาดที่เล็กที่สุดของเขาก็คือ RIM-24 Tartar ตัวจรวดมีความยาว4.57 เมตร นำหนัก 594 กิโลกรัม วิ่งด้วยความเร็วสุงสุด 1.8 มัคได้ไกลสุดที่ 16-32 กิโลเมตร แต่ทว่าแท่นยิงและแม็กกาซีนบรรจุจรวดก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่เหมือนเดิม RIM-24 Tartar ใช้แท่นยิงได้หลายแบบและขนาดที่เล็กที่สุดก็คือรุ่น MK-22 GMLS แท่นยิงแขนเดี่ยวรุ่นนี้เป็นแฝดผู้น้องของ MK-13 GMLS โดยแม็กกาซีนที่อยู่ด้านล่างสามารถบรรจุจรวดได้เพียง 16 นัดส่วน MK-13 บรรจุได้ถึง 40 นัด  แต่ MK-22 ก็ยังมีน้ำหนักรวมมากถึง 42 ตันขณะที่ MK-13 อยู่ที่ 60 ตันเลยทีเดียว แม้จะมีน้ำหนักน้อยลงมามากแล้วก็ตาม แต่ยังคงต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและระบบบรรจุจรวดที่ทันสมัยซับซ้อน เรื่องนี้ได้สร้างปัญหาให้พอสมควรทั้งเรื่องราคาในการจัดซื้อและการซ่อมบำรุงในภายหลัง ทั้งยังส่งผลให้มีเรือรบอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานได้

ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่กับกองทัพเรืออเมริกาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหลายชาติในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ ที่ต้องการจรวดต่อสู้อากาศยานเพื่อป้องกันกองเรือของตนเองด้วย ออสเตรเลีย, เยอรมัน,ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, เนเธอร์แลนด์ รวมถึงญี่ปุ่น ต้องสั่งซื้อจรวด RIM-24 Tartarพร้อมแท่นยิง MK-13 หรือ MK-22 หลายประเทศสั่งซื้อเรือทั้งลำพร้อมอาวุธครบเซตเพื่อความสะดวกในการใช้งาน แต่เรือรบที่เหมาะสมกับจรวดควรจะมีระวางขับน้ำอยุ่ที่4,000ตันหรือมากกว่านั้น แม้กองทัพเรืออเมริกาจะสามารถติดแท่นยิง MK-22 บนเรือฟริเกตชั้น Brooke ที่มีระวางขับน้ำสุงสุดเพียง 3,426 ตัน แต่ด้วยขนาดที่เล็กเกินไปจึงไม่สามารถใช้งานได้ตามความคาดหมาย และจำเป็นต้องลดการสร้างจากเดิมตามแผน 19 ลำเหลือเพียง 6 ลำในท้ายที่สุด ปัญหาเรื่องแท่นยิงและแม็กกาซีนของจรวดต่อสู้อากาศยานจึงเป็นเรื่องสำคัญมากพอสมควร


                                                                 เรือฟริเกตชั้น Brooke

                                                  RIM-24 Tartarพร้อมแท่นยิง MK-22 GMLS

 

ในการแก้ปัญหาดังกล่าวกองทัพเรืออเมริกาได้พยายามพัฒนาระบบป้องกันเฉพาะจุดที่มีขนาดเบาลง (lightweight  point defense weapon) หนึ่งในหลายแนวคิดก็คือการนำจรวดอากาศสู่อากาศที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินรบมาใช้บนเรือรบบ้าง หลังปี1960เป็นต้นไปได้มีการศึกษาและสรุปผลในที่สุด มีจรวดอยู่ 2 แบบด้วยกันที่มีความเป็นไปได้คือ จรวดนำวิถีอินฟาเรด AIM-9 Sidewinder  และจรวดนำวิถีเรดาร์ RIM-7 Sea Sparrow ในปี 1965 กองทัพบกอเมริกาเริ่มมีระบบจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น MIM-72 Chaparral เข้าประจำการ ตัวจรวดพัฒนามาจาก AIM-9D ติดตั้งอยู่บนรถหุ้มเกาะขนาดกระทัดรัดสามารถคุ้มครองทหารที่อยู่แนวหน้าได้เป็นอย่างดี กองทัพเรืออเมริกาจึงทดลองจับมาใส่บนเรือดูบ้างโดยใช้เรดาร์ควบคุมการยิงช่วยเสริมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายโครงการนี้ต้องถูกยกเลิกอาจเป็นเพราะระยะยิงสั้นเกินไป อีกทั้งตัวจรวดมีความแม่นยำน้อยเกินไปที่จะติดบนเรือเนื่องจากระบบนำวิถีอินฟาเรดในตอนนั้นต้องยิงตามหลังเป้าหมายถึงจะได้ผลที่ดี โครงการ Sea Chaparral ถูกขายให้กับไต้หวันแบบยกเซต ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีเรือรบรุ่นใหม่ของไต้หวันติดจรวดรุ่นนี้อยู่ด้วย

จรวดต่อสู้อากาศยานSea Chaparral บนเรือฟริเกต Kang Dingของไต้หวัน


ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากอเมริกาแล้วอังกฤษก็ยังเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ1ในด้านการทหารของยุโรป สินค้าจากเมืองผู้ดีที่ขายดีไปทั่วโลกคือจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Cat จรวดถูกดัดแปลงมาจากจรวดต่อสู้รถถังรุ่น Malkara ของออสเตรเลีย แม้ความแม่นยำค่อนข้างต่ำและระยะยิงสั้นแค่เพียง5กิโมเตรก็ตาม แต่จรวดนำวิถีคลื่นวิทยุมีขนาดกระทัดรัดทั้งตัวจรวดและแท่นยิง สามารถติดกับเรือรบระวางขับน้ำไม่ถึง 2000 ตันได้อย่างสบายมาก เรดาร์ควบคุมการยิงก็สามารถใช้งานได้หลายแบบ ทำให้ขายดีมากรวมมาถึงกองทัพเรือไทยบนเรือหลวงมกุฎราชกุมารด้วย หลังจากนั้นไม่นานนักอังกฤษได้พัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่ขึ้นมานั่นคือ Sea Wolf  จรวดมีความทันสมัยมากกว่าเดิมมีระบบนำวิถีที่แม่นยำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่ในตลาดโลก Sea Wolf แทบขายไม่ออกเอาเสียเลย เนื่องมาจากแม้จะเป็นจรวดรุ่นใหม่แต่มีระยะยิงหวังผลอยู่ที่5กิโลเมตรเท่านั้นเอง แท่นยิงแบบแผด 6 (GWS-25 sextuple launcher )ก็มีขนาดใหญ่มากและมีน้ำหนักถึง 13.5 ตัน ระบบเรดาร์ควบคุมการยิงมีรูปร่างใหญ่จนน่าตกใจและต้องใช้ของอังกฤษเท่านั้น แม้ในเวลาต่อมาพวกเขาจะพัฒนาจรวดรุ่นที่ยิงจากท่อยิงแนวดิ่งได้และมีระยะยิงเพิ่มเป็น 10 กิโลเมตรแล้วก็ตาม แต่ก็มีลูกค้าน้อยมากเรียกว่าบังคับซื้อกันเลยก็น่าจะได้

                                                    จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Cat

                                                       จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf

ความนิยมในอุตสาหกรรมการทหารจากเมืองผู้ดีกำลังร่วงโรยลงไปเรื่อยๆ แสงแห่งความหวังจากเมืองลุงแซมก็เริ่มสว่างไสวมากขึ้นตามลำดับ โครงการพัฒนาจรวด RIM-7 Sea Sparrow มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเข้าประจำการในกองทัพเรืออเมริกาอย่างเป็นทางการในปี 1976 แท่นยิง Mk 25 Basic Point Defense Missile System สามารถใส่จรวดได้8นัดโดยมีนำหนักรวมอยู่ที่ 14.3 ตันเท่านั้น เบากว่าแท่นยิงแขนเดี่ยว MK-22 พร้อมแม๊กกาซีนและจรวด RIM-24 Tartar 16 นัดถึง 27.7ตัน ทั้งยังไม่ได้ใช้ระบบการบรรจุจรวดที่ซับซ้อนหรือพื้นที่ด้านล่างตัวเรือแต่อย่างใด นั่นทำให้สามารถติดตั้งบนเรือรบขนาดเล็กกว่าเดิมได้รวมถึงเรือช่วยรบที่มีพื้นที่จำกัดด้วย เรือลำแรกที่เริ่มใช้งาน RIM-7 Sea Sparrow ก็คือเรือฟริเกตชั้น Knox ตามด้วยเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกชั้น Tarawa เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำรุ่นแรกๆของโลกที่มีการติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลาง แม้ในตอนนั้น Sea Sparrow จะถูกกำหนดเป็นเพียงระบบการป้องกันเฉพาะจุดก็ตาม แต่ด้วยระยะยิง 10 ไมล์ทะเลหรือ 18.5 กิโลเมตร ก็เป็นการสร้างมิติใหม่ของจรวดต่อสู้อากาศยานบนเรือรบอย่างแท้จริง

 

 

หลังจากนั้นไม่นานนักอเมริกาก็พัฒนาแท่นยิง Mk 29 ขึ้นมาสำเร็จ แท่นยิงรุ่นใหม่สามารถโหลดจรวดได้ 8 นัดเท่ากันแต่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมโดยมีน้ำหนักรวมอยู่ที่ 6.39 ตันเท่านั้น ระบบเรดาร์ควบคุมการยิงมีการพัฒนาใหม่ โดยเปลี่ยนจาก MK-115 ซึ่งเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติมาเป็น MK-95 ที่ทันสมัยมากขึ้น เรือบรรทุกเครื่องบินของเขาทุกลำได้รับการติดตั้งแท่นยิง Mk 29 และจรวด RIM-7 Sea Sparrow แทบจะทันที อเมริกาก้าวผ่านเงาของตัวเองสำเร็จอย่างงดงาม หลังจากใช้ความพยายามอย่างหนักและลองผิดลองถูกอยุ่เป็นเวลาพอสมควร ตรงข้ามกับอังกฤษที่ยังคงยึดแนวทางเดิมจนหลุดออกวงโคจรออกไป

  

ผลจากความสำเร็จครั้งนี้ได้ส่งผลไปยังทั่วโลกทันทีด้วย หลายประเทศที่อยู่ในโครงการ NATO SEASPARROW Project Office (NAPO) ต่างเริ่มทยอยติดตั้งจรวดบนเรือรบของตนเอง RIM-7 Sea Sparrow ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Nato Sea Sparrow Missile หรือ NSSM และกลายเป็นจรวดต่อสู้อากาศยานแบบมาตราฐานของกองทัพเรือในค่ายยุโรปตะวันตกต่อไป หนึ่งในนั้นคือประเทศอิตาลีผู้ไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกเขานำ RIM-7 Sea Sparrowมาพัฒนาต่อตามความต้องการของตัวเอง แล้วในที่สุดก็เกิดเป็นจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น  Aspide Mk.1 ขึ้นมาในปี1980 แม้จะมีระยะยิงน้อยกว่ากันเล็กน้อยความแม่นยำหายไปนิดหน่อย แต่มีราคาถูกกว่าพอตัวและขายดีมากถึง 17 ประเทศรวมทั้งกองทัพเรือไทยด้วย 

                                              เรือหลวงสุโขทัยกับจรวดต่อสู้อากาศยาน Aspide แบบ8ท่อยิง

จนถึงปัจจุบันนี้ Sea Sparrow ก็ยังได้รับการพัฒนาต่อยอด Evolved Sea Sparrow missile (ESSM) มีระยะยิงไกลถึง 50 กิโลเมตรด้วยความเร็ว4มัค สามารถยิงจากท่อยิงแนวดิ่งได้โดย1ท่อบรรจุจรวดได้มากถึง 4 นัด RIM-162 ESSM block II ที่กำลังพัฒนาอยู่จะมีระยะยิงเพิ่มขึ้นมาบ้างและมีระบบค้นหาเป้าหมายถึง2ระบบในตัว ทำให้มีความแม่นยำสุงมากขึ้นไปอีกจัดการกับจรวดที่เป็นเป้าหมายได้ดีมากยิ่งขึ้น ESSM block II อาจเป็นจุดสุงสุดของจรวดรุ่นนี้แต่ผมอยากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นเสียก่อน การมาของ Sea Sparrow เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกองทัพเรือหลายสิบประเทศ เพราะจรวดมีประสิทธิภาพสุงและแท่นยิงมีขนาดกระทัดรัดมาก อีกทั้งยังสามารถใช้เรดาร์ควบคุมการยิงได้หลากหลายแบบแล้วแต่ความต้องการแต่ละประเทศ 

เรือคอร์เวตชั้น Descubierta ของสเปนมีระวางขับน้ำเพียง 1,480ตัน เป็นเรือลำเล็กที่สุดที่ติดตั้งแท่นยิง Mk 29พร้อมจรวด Sea Sparrow 8 นัด(เล็กที่สุดเท่าที่ผู้เขียนค้นหาเจอ) แต่ถ้านับรวมจรวด Aspide ของอิตาลีเข้าไปด้วย เรือคอร์เวตชั้น Laksamana ขนาด 675 ตันของมาเลเซียติดแท่นยิง4นัดถือว่ามีขนาดเล็กที่สุด และถ้านับเฉพาะรุ่นแท่นยิง8นัดเรือหลวงรัตนโกสินทร์จากกองทัพเรือไทยครองแชมป์ที่ระวางขับน้ำ 962 ตัน  Sea Sparrow ทำให้จรวดต่อสู้อากาศยานประจำเรือรบไม่ใช่ของสุงขั้นเทพที่ได้แต่ชะเง้อคอแอบมองอีกต่อไป 

                              เรือคอร์เวตชั้น Descubierta ของสเปน กับจรวด Sea Sparrow แบบ8ท่อยิง


                                                RIM-7 Sea Sparrow  Surface-to-air missile



General Characteristics:
Primary Function: Air-to-air and surface-to-air radar-guided missile
Contractor: Raytheon Co., General Dynamics, and Hughes Missile Systems
Date Deployed: 1976
Unit Cost: $165,400
Propulsion: Alliant TechSystems (Hercules) MK-58 solid-propellant rocket motor
Length: 12 feet (3.64 meters)
Diameter: 8 inches (20.3 cm)
Wingspan: 3 feet 4 inches (one meter)
Weight: Launch weight is approximately 500 pounds (225 kg)
Speed: approx. 4250 km/h
Range: 10 nautical miles (18,5 km)
Guidance System: Raytheon semi-active on continuous wave or pulsed Doppler radar energy
Warhead: Annular blast fragmentation warhead, 90 pounds (40.5 kg)

 -----------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น