วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567

Fiat CM6614 for Thai Army

 

ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614

ระหว่างงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีเมื่อวันที่ 9-11 เมษายน 2525 กระทรวงกลาโหมได้จัดแสดงนิทรรศการทางทหารบริเวณสนามเสือป่า หน่วยงานต่างๆของสามเหล่าทัพนำผลงานการพัฒนามาตั้งแสดงให้ประชาชนได้เยี่ยมชม รวมทั้งยานลำเลียงพลหุ้มเกราะคันต้นแบบอันเป็นผลงานกรมสรรพาวุธทหารบก

การพัฒนา

ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะซึ่งประกอบเสร็จเรียบร้อยและนำมาจัดแสดง นำแผนแบบมาจากยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 จากบริษัทเฟียต-โอโตเมลาราแห่งประเทศอิตาลี โครงการนี้เป็นไปตามนโยบายยืนอยู่บนขาตัวเองอย่างแท้จริง

ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะเป็นสิ่งที่กองทัพไทยทั้งสามเหล่าทัพต้องการเป็นจำนวนมาก การที่คิดแต่จะซื้อสำเร็จรูปมาใช้งานเพียงอย่างเดียวเหมือนที่เคยทำ ประเทศไทยต้องประสบปัญหาและอุปสรรคมากมาย ทั้งเสียเงินซื้ออาวุธมาใช้งานและต้องพึ่งพาต่างชาติในการซ่อมบำรุง ถ้าไม่มีงบประมาณอาจต้องปลดประจำการอาวุธกลายเป็นเศษเหล็กไร้ค่า

วิธีการแก้ไขปัญหาเราต้องมีทหารช่างฝีมือเก่งกล้า มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในการดูแลอาวุธทันสมัยราคาแพง จึงมีโครงการพัฒนายานลำเลียงพลหุ้มเกราะด้วยตัวเอง ในการปฏิบัติจริงมีทางเลือกสองทางประกอบไปด้วย

1.ลงมือศึกษา ทำแผนแบบ และสร้างยานลำเลียงพลหุ้มเกราะด้วยตัวเองทั้งหมด

2.ซื้อความรู้โดยการนำแผนแบบยานลำเลียงพลหุ้มเกราะต่างชาติมาสร้างเอง

เมื่อตกลงปลงใจจะใช้วิธีการที่สองในการพัฒนายานลำเลียงพลหุ้มเกราะคันต้นแบบ กรมสรรพาวุธทหารบกต้องหาหนทางขึ้นโครงการโดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด ตอนนั้นเองบริษัทเฟียต-โอโตเมลาราจากอิตาลียื่นข้อเสนอเข้ามาว่า บริษัทจะให้เปล่าแผนแบบยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 4414 หรือ 6614 และยินดีให้นายทหารช่างกองทัพบกเดินทางไปดูงานและฝึกศึกษาที่ประเทศอิตาลี บริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยความเต็มใจ

นอกจากให้แผนแบบและให้ศึกษาการประกอบในโรงงาน บริษัทเฟียต-โอโตเมลารายังให้เปล่าส่วนประกอบยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 จำนวน 1 คัน รวมทั้งจัดส่งวิศวกรมาให้คำแนะนำหรือฝึกสอนเท่าที่จำเป็นแก่ทหารช่างไทยโดยไม่ต้องเสียเงิน

โครงการสร้างและประกอบยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 จึงเริ่มเดินหน้าเต็มกำลัง โดยมีร้อยเอกอภิชาต พิมสุวรรณเป็นนายทหารดูแลโครงการ

คุณลักษณะโดยทั่วไป

ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 หรือ CM6614 จัดเป็นยานลำเลียงพลหุ้มเกราะขนาดเบาสะเทินน้ำสะเทินบก ออกแบบมาเพื่อลำเลียงพลหรือยุทโธปกรณ์ หนักประมาณ 8.5 ตัน ยาว 5.86 เมตร  กว้าง 2.5 เมตร สูง 1.78 เมตร ความเร็วสูงสุดประมาณ 100 กิโลเมตร ระยะปฏิบัติการไกลสุดประมาณ 700 กิโลเมตร มีใช้งานหลายประเทศรวมทั้งเกาหลีใต้ซึ่งได้ลิขสิทธิ์สร้างเองเหมือนประเทศไทย

บริษัทเฟียต-โอโตเมลาราติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 4 จังหวะ IVECO Model 8062.24 ให้กำลัง 160 แรงม้าที่ 3,200 รอบ ใช้ระบบถ่ายแรงขับเคลื่อนสมบูรณ์แบบ ทำงานเป็นอิสระแยกจากกันระหว่างล้อหน้ากับล้อหลัง ยานเกราะจากอิตาลีเคลื่อนที่ได้ทุกสภาพถนน ไต่ทางลาดระดับ 60 องศาได้โดยไม่มีปัญหา วิ่งได้อย่างราบรื่นแม้ในเส้นทางทุรกันดาร การทรงตัวดีเยี่ยมแตกต่างจากยานเกราะรุ่นเก่าซึ่งทั้งแข็งทั้งอันตราย

ท้องยานออกแบบให้แบนราบอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าเพลาขับ ไม่มีส่วนประกอบใดๆ โผล่ออกมาจากใต้ท้อง การเคลื่อนที่ข้ามสิ่งกีดขวางจึงเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความเกิดเสียหายต่อตัวถังหรือช่วงล่าง เพิ่มความมั่นใจให้กับทหารและพลประจำรถเมื่อออกปฏิบัติการในพื้นที่ห่างไกล

ตัวยานประกอบขึ้นด้วยเหล็กหล่อเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น ป้องกันกระสุนปืนเล็กยาวได้ไม่ว่าถูกยิงจากมุมไหน ป้องกันอันตรายจากระเบิดสังหารบุคคลได้ เป็นยานสะเทินน้ำสะเทินบกที่แท้จริงโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริม ติดเครื่องสูบน้ำสำหรับสูบน้ำทิ้งในกรณีเกิดรอยรั่วบริเวณใต้ท้อง มีระบบแรงดันลมป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ชิ้นส่วนต่างๆ ของยาน

ของดีจากอิตาลีมีทางเข้าออกภายในรถมากถึง 3 จุด ได้แก่ ประตูหลังขนาดใหญ่ควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิก ในกรณีฉุกเฉินสามารถเปิดปิดด้วยมือตามปรกติ รวมทั้งประตูทางเข้าด้านข้างทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา การเข้าออกยานเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว พลขับมีทางเข้าออกพิเศษเหนือศ๊รษะตัวเอง ติดอุปกรณ์ทัศนวิสัยพิเศษสำหรับการขับเคลื่อนยานตอนกลางคืนโดยไม่เปิดไฟหน้า

การจัดกำลังพลในรถได้มากสุด 11 นาย ประกอบไปด้วยพลขับ 1 นาย พลประจำปืนกลบนหลังคา 1 นาย ผู้บังคับรถ 1 นาย และทหารพร้อมอาวุธอีก 8 นาย ทหารทุกนายทำการรบได้ทั้งจากภายในยานและนอกตัวยาน ติดช่องกระจกป้องกันกระสุนขนาดเล็กรอบคันเพื่อตรวจการณ์ เมื่อต้องการใช้อาวุธให้สอดปากกระบอกปืนในช่องวงกลมใต้กระจก ซึ่งถูกออกแบบให้เปิดได้จากภายในรถเพียงอย่างเดียว

        นำยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 มาเปรียบเทียบกับคู่แข่ง พบว่าสินค้าจากอิตาลีความสูงน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานเทียบเท่ายานลำอื่น การออกแบบให้เกราะบริเวณข้างลำตัวทำมุมลาดเอียง ยังช่วยให้ยานทนทานต่อการทะลุทะลวงของกระสุนปืนมากขึ้นกว่าเดิม

ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา ง่ายต่อการลำเลียงโดยเฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยาน เครื่องบินลำเลียง C-130 กองทัพอากาศสามารถบรรทุกได้ครั้งละ 2 คันพร้อมอาวุธเต็มอัตรา ลำเลียงด้วยรถไฟชานต่ำได้ ลำเลียงด้วยรถพ่วงได้ มีความอ่อนตัวเหมาะสมกับทุกเส้นทางขนส่งในประเทศไทย

ภารกิจหลัก

        ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 นอกจากใช้ในการลำเลียงทหาร ยังสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการอาทิเช่น ใช้เป็นยานรถทหารราบยานยนต์ ใช้เป็นยานเกราะลาดตระเวน ใช้เป็นยานเกราะตรวจการณ์ระยะไกล ใช้เป็นยานเกราะลำเลียงกระสุนหรือวัตถุระเบิด ซึ่งต้องการความปลอดภัยจากการโจมตีมากกว่าเดิม

        นอกจากใช้งานในปฏิบัติการภารกิจทางทหาร ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 ยังตอบสนองงานราชการของตำรวจได้เป็นอย่างดี ทั้งปฏิบัติการควบคุมและปราบจลาจล ตรวจการณ์ในพื้นที่อันตราย และงานคุ้มครองป้องกันภัยให้กับประชาชน

        ในกรณีนำยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 มาใช้งานเป็นยานเกราะพยาบาลหรือลำเลียงยุทธปัจจัย สามารถถอดป้อมปืนกลหนักขนาด 12.7 มม.บนหลังคาออก เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกและเพิ่มความสะดวกสบายในการปฏิบัติภารกิจรถพยาบาล

 บทสรุปปิดท้าย    

ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบ 6614 ถูกประกอบขึ้นมาเพียงคันเดียว หลังจากนั้นโครงการก็เงียบหายไปพร้อมสายลมและสองเรา บริษัทบริษัทเฟียต-โอโตเมลาราซึ่งตั้งใจทำกำไรจากการขายอะไหล่และอื่นๆ ได้พลอยสูญหายตามกัน แต่เป็นเพราะเหตุใดโครงการถึงไม่ได้ไปต่อผู้เขียนไม่มีข้อมูลไม่กล้ายืนยัน

อ้างอิงจาก

นิตยสารสงครามฉบับที่ 128 วันที่ 10 พฤษภาคม 2525