วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

World War II : Bombing of Thailand

สงครามโลกครั้งที่สอง : วันระเบิดลง

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 2.00 น.กองทัพญี่ปุ่นเริ่มต้นบุกประเทศไทยพร้อม ๆ กับ มาเลเซีย  ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ช่วงเวลาเดียวกับที่คนกรุงเทพกำลังร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางอากาศหนาวกำลังพอเหมาะและงานฉลองก็มีถึงรุ่งเช้า กองเรือขนาดใหญ่ญี่ปุ่นซึ่งเตรียมพร้อมอยู่กลางอ่าวไทย  ได้ทำการแยกกองเดินทางไปยังเป้าหมายจำนวน 7 เส้นทาง ประกอบไปด้วย ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และบางปู (สมุทรปราการ) ญี่ปุ่นยังได้เคลื่อนกำลังพลทางบกจากพระตะบอง เข้าสู่ชายแดนไทยด้านอรัญประเทศ ปฐมบทสงครามโลกครั้งที่สองในเมืองไทยเริ่มขึ้นแล้ว

ความเดิมตอนที่แล้ว --->               World War II : Japanese invasion of Thailand

                                                  World War II : Japanese invasion of Thailand Part II

วันที่ 9 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยเปิดประชุมสภาผู้แทนวิสามัญวาระด่วนพิเศษ จอมพลป.พิบูลสงคราม ได้แจ้งเรื่องรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านดินแดนเข้าที่ประชุม วันถัดมามีการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ในประเด็นซึ่งยังมีความแตกแยกด้านความคิด รวมทั้งประเด็นการเข้าร่วมทางทหารกับญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เรือประจัญบานของอังกฤษจำนวน 2 ลำ ได้แก่ HMS Prince of Wales ระวางขับน้ำ 43,786 ตัน และ HMS Repulse ระวางขับน้ำ 32,740 ตัน ได้ถูกเครื่องบินรบญี่ปุ่นโจมตีใส่จนอัปปาง ในทะเลบริเวณนอกชายฝั่งรัฐกลันตัน แหลมมลายู กำลังทางเรือของอังกฤษแทบไม่เหลืออีกต่อไป

วันที่ 21 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว โดยทางญี่ปุ่นได้แจ้งความประสงค์เอาไว้ว่า ไม่ต้องการยึดครองประเทศไทยแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการใช้เป็นทางผ่านไปยังพม่าและแหลมมลายู และต้องการขอใช้พื้นที่ในประเทศไทยส่วนหนึ่ง สำหรับจัดตั้งที่พักให้กับทหารจำนวนมาก รวมทั้งสถานที่รักษาพยาบาลหรือคุมตัวนักโทษสงคราม

ส่งผลให้ประเทศไทยหลังวันญี่ปุ่นขึ้นบก โดนผลักให้อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในที่สุด การโจมตีจากอีกฝ่ายจึงตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เส้นทางการคมนาคม โดยเฉพาะที่เส้นทางรถไฟซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการทำสงคราม เนื่องจากมีความสะดวกสบายที่สุด ขนส่งสินค้าและกำลังพลได้ในปริมาณมาก รวมทั้งประเทศไทยมีรางรถไฟตั้งแต่เหนือจรดใต้ ญี่ปุ่นวางแผนเชื่อมต่อทางรถไฟสายใต้ เข้ากับทางรถไฟในมลายูและสิงคโปร์ ไม้หมอนอีกฝั่งมุ่งตรงไปยังตอนใต้ของพม่า โดยมีเป้าหมายท้ายสุดที่ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่นยังได้มีการก่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติม นับเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว

      ภาพถ่ายทางอากาศสะพานพระรามหก หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของฝ่ายสัมพันมิตร

ทหารญี่ปุ่นในไทยมีอยู่ประมาณ 50,000 นาย จึงมีการตั้งค่ายทหารกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับรองลงมา เป้าหมายที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ อันประกอบไปด้วย โรงงานผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม สถานีรถไฟและโรงรถจักร สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำ ทางหลวงสายหลัก คลังน้ำมัน คลังสรรพวุธ รวมทั้งสถานที่ราชการบางส่วน ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ ต่อเป้าหมายในเขตกรุงเทพรวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง เพราะมีระยะทางค่อนข้างไกลพอสมควร ส่วนเป้าหมายรอบชายแดนและต่างจังหวัด สามารถใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดไม่ใหญ่ได้

อังกฤษเปิดฉากโจมตี

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 หลังจากญี่ปุ่นขึ้นบกที่สงขลาสำเร็จ อังกฤษได้มีภารกิจโต้ตอบตามมาทันควัน ด้วยการส่งกำลังทหารข้ามเข้ามาในฝั่งไทย เพื่อทำลายสะพานรถไฟที่บ้านคลองแงะจังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยถ่วงเวลาจากทหารญี่ปุ่นนั่นเอง

ขบวนรถยนต์นำโดยทหารราบจำนวน 2 กองร้อย เดินทางเข้ามาในไทยเวลาประมาณ 17.30 น.จากนั้นขบวนรถไฟหุ้มเกราะจึงตามเข้ามา จึงเกิดการปะทะกับทหารญี่ปุ่นในช่วงกลางคืน สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นในไทยแล้ว นี่คือการรบกันครั้งแรกระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษ หลังทำลายสะพานรถไฟที่บ้านคลองแงะสำเร็จ  ขบวนรถไฟหุ้มเกราะจึงถอนตัวกลับปาดังเบซาร์ ญี่ปุ่นใช้เครื่องบินตามโจมตีเป็นการส่งท้าย ทว่าไม่ได้ผลเพราะกลางคืนมองไม่เห็นเป้าหมาย อังกฤษบุกทางบกสำเร็จครั้งนี้ครั้งเดียว เพราะเสือตัวใหญ่ไม่ยอมให้กระตุกหนวดเล่นอีกแล้ว

เมื่อรัฐบาลไทยลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น การโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้อุบัติขึ้น กองทัพอากาศอังกฤษที่ยังอยู่ในสิงคโปร์ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด Bristol Blenheim ในการทำภารกิจ

  วันที่ 22 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 21.55 น.(หรือถัดมาแค่เพียงวันเดียว) เครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษ ได้บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่จังหวัดชุมพร สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษธานี ในเวลาไล่เลี่ยกัน

วันที่ 23 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 20.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษ ได้บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ตัวเมืองชุมพร ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง เป็นการทิ้งระเบิดครั้งที่สองในรอบ 24 ชั่วโมง

วันที่ 24 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 17.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษจากเมาะตะมะ ได้ลักลอบบินข้ามเทือกเขาตะนาวศรี เพื่อโจมตีขบวนรถไฟที่เดินทางมาจากบางซื่อ ที่ได้ลำเลียงกองทหารญี่ปุ่นมายังประจวบคีรีขันธ์ การโจมตีเส้นทางนี้มีอยู่ด้วยกันบ่อยครั้ง กระทั่งญี่ปุ่นบุกเข้ายึดพม่าสำเร็จจึงได้ยุติลง

การทิ้งระเบิดในช่วงแรกสุดของสงคราม มีอย่างประปรายในพื้นที่ใกล้ชายแดนประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่กองทหารญี่ปุ่น เพื่อช่วยยับยั้งหรือถ่วงเวลาการบุกไว้ก่อน เครื่องบินทิ้งระเบิดมีขนาดไม่ใหญ่ บรรทุกระเบิดได้ไม่มาก อานุภาพการทำลายล้างจึงน้อยตาม ความเสียหายของประชาชนแทบไม่มี นอกจากสถานที่ซึ่งญี่ปุ่นใช้เป็นค่ายทหาร ข่าวการทิ้งระเบิดของอังกฤษแทบไม่ปรากฎ กระทั่งก้าวข้ามเข้าสู่ปีถัดไปในอีกไม่กี่วัน

                                    เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น Bristol Blenheim ของกองทัพอากาศอังกฤษ มีบทบาทมากในช่วงแรกของสงครามโลก

ระเบิดลงที่กรุงเทพ

วันที่ 8 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 02.00 น.ขณะที่คนกรุงเทพกำลังนอนหลับฝันดีกันอยู่นั้น พลันมีเสียงไซเรนหรือหวอเตือนภัยดังกระหึ่ม เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้โจมตีใส่กรุงเทพเป็นครั้งแรกสุดของสงคราม โดยมีเป้าหมายที่สถานนีหัวลำโพงและสะพานพุทธ การโจมตีขาดความแม่นยำโดยสมบรูณ์แบบ ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ที่เยาวราช โรงไม้กระดาน และตรอกบีแอลฮั้วฝั่งธนบุรี เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนและสถานที่ราชการหลายแห่ง ได้แก่ สะพานเจริญสวัสดิ์ กระทรวงมหาดไทย วัดตะเคียน โรงพยาบาลบางรัก รวมทั้งตึกสุงเจ็ดชั้นที่ถนนเยาวราช เป็นสัญญานบ่งบอกกับคนกรุงเทพว่า มหันตภัยจากฟากฟ้าได้มาเยี่ยมเยือนแล้ว

ก่อนอื่นผู้เขียนขอย้อนเวลาเพียงนิดเดียว กลับไปยังจุดเริ่มต้นของสงครามใหญ่อีกครั้ง หลังทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในช่วงกลางดึก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศตั้งแต่เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เพื่อให้คนกรุงเทพทำตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การควบคุมแสงไฟ การใช้เสียงไซเรนหรือหวอเตือนภัย งดงานฉลองรัฐธรรมนูญทันที งดการหยุดงานของข้าราชการ รวมทั้งจัดเตรียมน้ำไฟและอาหารไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

เมื่อไทยลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น จึงมีประกาศต่อเนื่องตามมาภายหลัง โดยสั่งให้ใช้ผ้าสีน้ำเงินคลุมโป๊ะไฟโดยรอบ เพื่อเป็นการพรางไฟให้มีแสงแค่ในบ้าน ไฟนอกบ้านทุกดวงต้องปิดอย่างเด็ดขาด มีสายตรวจเดินเท้าคอยดูแลตลอดทั้งคืน มีการซ้อมป้องกันภัยหรือ ซ.ป.อ.จำนวนบ่อยครั้ง คนกรุงเทพเริ่มคุ้นเคยกับเสียงไซเรนจากหอสัญญานที่อยู่ตามวัด ถ้าเสียงไซเรนดังเป็นห้วง ๆ ตลอดนั่นคือมีการทิ้งระเบิด ถ้าเสียงไซเรนดังยาวครั้งเดียวแล้วหยุดนั่นคือปลอดภัยแล้ว แต่ผู้คนก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าตนเองเผชิญหน้าอยู่กับอะไร

การโจมตีครั้งแรกสุดสร้างความเสียหายพอสมควร มีผู้โชดร้ายเสียชีวิต 31 คน (บางข้อมูลบอกว่า 11 คน) บาดเจ็บ 112 คน เช้าตรู่วันนี้คนกรุงเทพจึงเริ่มเข้าใจ ว่าชีวิตพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง บนท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก รถรางและรถเมล์ล้วนมีผู้โดยสารแน่นขนัด ส่วนหนึ่งต้องการอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนหนึ่งต้องการเยี่ยมญาติพี่น้องที่บาดเจ็บ บ้างส่วนต้องการไปโรงเรียนหรือที่ทำงาน และบางส่วนทำหน้าที่ไทยมุงผู้แข็งขัน รถสามล้อถีบขึ้นราคาสองเท่าโดยพลัน เมื่อไม่มียานพาหนะให้ได้โดยสาร หลายคนจึงต้องก้าวเดินด้วยสองเท้าตนเอง

                             ก่อนโจมตีต้องมีการถ่ายภาพและระบุพิกัดเป้าหมายให้ชัดเจนเสียก่อน แต่การทิ้งระเบิดได้ผลน้อยเพราะเครื่องบินอยู่สุงเกินไป

การทิ้งระเบิดในปี พ.ศ.2485

นอกจากการทิ้งระเบิดกลางดึกวันที่ 8 มกราคม 2485 แล้ว ตลอดทั้งปียังมีการโจมตีทางอากาศอีกจำนวน 6 ครั้ง แบ่งออกเป็นพื้นที่กรุงเทพกับธนบุรีจำนวน 4 ครั้ง และพื้นที่ภาคเหนือของประเทศอีกจำนวน 2 ครั้ง

วันที่ 24 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 20.30 น.มีการโจมตีทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพและธนบุรี ทหารไทยโต้ตอบด้วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 โดยใช้ไฟฉายขนาดใหญ่ช่วยส่องเป้าหมาย การโจมตีครั้งนี้มีผลสำคัญตามมา เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดมุ่งตรงไปยัง ร.พัน.5 ซึ่งอยู่ใกล้กับพระที่นั่งอนันตสมาคม ลำแสงจากปืนต่อสู้อากาศยานสาดส่องทั่วท้องฟ้า แสงเพลิงจากการระเบิดสว่างจ้ากลบความมืดมิด การสู้รบดำเนินไปอย่างรุนแรงและดุเดือด กระทั่งเวลาประมาณ 23.00 น.ทุกอย่างจึงยุติ ข่าวความเสียหายตามติดมาในวันรุ่งขึ้น

ทหารรักษาการณ์เสียชีวิตจำนวน 3 นาย ระเบิดจำนวน 10 ลูกตกบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยที่ระเบิด 4 ลูกไม่ทำงาน ทว่าระเบิด 2 ลูกตกใส่มุขด้านเหนือของพระที่นั่ง โชดดีที่มีความเสียหายไม่มากนัก

วันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ด้วยสาเหตุว่าประเทศทั้งสองรุนรานประเทศไทย จากทางอากาศจำนวน 30 ครั้ง และจากทางพื้นดินจำนวน 36 ครั้ง

วันที่ 28 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 20.30 น.มีการโจมตีทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพและธนบุรี เกิดความเสียหายที่ตลาดชูชีพ เชิงสะพานกษัตริย์ศึก รวมทั้งตึกแถวขนาดใหญ่บริเวณใกล้เคียง โรงไฟฟ้าวัดเลียบซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ ยังคงปลอดภัยดีไม่มีความเสียหาย เครื่องบินทิ้งระเบิดถูกทหารเรือยิงตก 1 ลำ นักบินบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด คาดว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ของอเมริกา นี่คือข้อมูลจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย

เดือนมกราคมวิปโยคผ่านพ้นไปแล้ว กรุงเทพโดนรุกรานทางอากาศจำนวน 6 ครั้ง แบ่งเป็นการโจมตีจำนวน 3 ครั้ง ถ่ายภาพทางอากาศจำนวน 3 ครั้ง ช่วงเวลาหลังจากนั้นเป็นช่วงปลอดลูกระเบิด ทว่าพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงมีการโจมตีทางอากาศ ต่อเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2485 อังกฤษประกาศสงครามกับประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2485

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2485 ข้อมูลจากอเมริการายงานว่า เครื่องบินรบอังกฤษได้ทิ้งระเบิดบริเวณตัวเมืองเชียงราย ทหารไทยเสียชีวิตจำนวน 14 นาย บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ส่วนข้อมูลจากไทยรายงานว่า ฝ่ายตรงข้ามส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น Bristol Blenheim จำนวน 7 ลำ เข้าโจมตีสนามบินเชียงราย กองบินผสมที่ 80 ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) เข้าทำการสกัดกั้น ผลการรบไม่ปรากฎอยู่ในรายงาน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2485 สิงคโปร์ยอมจำนนต่อญี่ปุ่นแบบไม่มีเงื่อนไข

                     ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดสิงคโปร์ได้อย่างเด็ดขาด ทหารอังกฤษยอมแพ้ทั้งที่มีกำลังพลใกล้เคียงกัน และกลายเป็นนักโทษสงครามนับหมื่นคน

วันที่ 6 มีนาคม 2485 มีการทิ้งระเบิดในจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย ทหารไทยที่ประจำการในพื้นที่ก็คือ กองพันทหารม้าที่ 4 กรมทหารม้าที่ 46 (ม.พัน.4 ม.46) ซึ่งเป็นทหารม้าส่วนหน้าของกองทัพพายัพ มีภารกิจสำคัญที่แนวรบเหนือสุดของประเทศ

วันที่ 9 มีนาคม 2485 กองทัพญี่ปุ่นยึดเมืองร่างกุ้งได้อย่างเด็ดขาด พม่าตกอยู่ในความควบคุมเป็นที่เรียบร้อย กำลังทหารอังกฤษได้ถอยร่นเข้าสู่อินเดีย ทิ้งดินแดนพม่าให้กับผู้รุกรานจากแดนอาทิตย์อุทัย

แนวรบภาคใต้ของพม่ากลับเข้าสู่ความปรกติ ญี่ปุ่นระดมสรรพกำลังสร้างทางรถไฟอย่างเร่งด่วน แนวรบภาคใต้ของพม่าลุกเป็นไฟขึ้นมาแทนที่ เมื่อกองทัพพายัพบุกเข้าตีเมืองเชียงตุงหรือ "สหรัฐไทยเดิม" โดยมีกองพลที่ 93 กองกำลังทหารฝ่ายจีนก๊กมินตั๋ง ตั้งมั่นรอรับอยู่ในพื้นที่เมืองเชียงตุง การโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตรเงียบหายตามไปด้วย เป็นช่วงเวลา 9 เดือนเต็มที่ไทยไม่โดนรุกราน เป็นความสงบก่อนพายุลูกใหญ่จะพัดผ่าน

ผีซ้ำด้ามพลอย

สิ้นสุดเดือนมกราคม 2485 กรุงเทพปลอดภัยจากจากการทิ้งระเบิด มีการจัดทำหลุมหลบภัยจำนวนมาก ทั้งที่เป็นอาคารมั่นคงแข็งแรงสร้างโดยรัฐบาล และที่สร้างกันเองโดยการขุดหลุมขนาดใหญ่ ทำคานค้ำยันมุงหลังคาแล้วเอาดินถม ให้ดีหน่อยก็กั้นปากหลุมไม่ให้มีน้ำไหลเข้า แต่ถ้าช่วงไหนฝนตกหนักก่อนหรือหลังระเบิดลง หลุมหลบภัยจะกลายเป็นหลุมปลักควายในบัดดล ผู้คนซึ่งกำลังขวัญหนีดีฝ่อต้องนั่งแช่น้ำ พร้อมกับใช้มือตบยุงที่ตามมาหลบระเบิดด้วยกัน กระทั่งได้ยินเสียงหวูดยาว ๆ ครั้งเดียวจึงกลับบ้านได้ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วในช่วงเวลานั้น ย่างเข้าสู่เดือนมีนาคมในอีกไม่นานนัก ทั่วกรุงเทพไม่มีเสียงไซเรนกลางดึกอีกต่อไป ทั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจาก พม่า สิงคโปร์ รวมทั้งชวาหรืออินโดนีเซีย ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย

ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องถอยร่นไปไกลสุดกู่ แนวรบที่ไกลโพ้นยังคงร้อนระอุด้วยไฟสงคราม การทิ้งระเบิดที่กรุงเทพจึงต้องยกเลิกชั่วคราว แต่กระนั้นทั่วทั้งเมืองก็ยังพรางไฟเช่นเดิม โรงเรียนทุกระดับชั้นเปิดเรียนตามปรกติ ข้าวของเครื่องใช้รวมทั้งอาหารหยุกยา ยังคงวางขายอยู่ในตลาดเหมือนอดีต ทว่ามีราคาแพงขึ้น แพงขึ้น แล้วก็แพงขึ้น อีกทั้งมีการกักตุนเพื่อแอบขายให้กองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลพยายามแก้ไขความเดือดร้อนจนสุดกำลัง ความช่วยเหลืออันน้อยนิดแทบไม่ส่งผลกับคนหมู่มาก ทุกคนจึงต้องดิ้นรนหาทางช่วยเหลือตัวเอง

วันเวลาผันผ่านเข้าสู่ปลายเดือนกันยายน ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพ สถานที่สำคัญทั้งหมดล้วนจมอยู่ใต้กระแสน้ำ ไม่ว่าจะเป็น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม น้ำยังได้ท่วมอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง รวมทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้บางส่วน นับเป็นน้ำท่วมรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่งผลกระทบกับประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว

ระดับน้ำเริ่มจากทางเท้าปูอิฐแดงซึ่งอยู่ต่ำกว่าถนน ก่อนสุงมากขึ้นจนท่วมพื้นถนนและรางรถราง จากนั้นจึงเอ่อล้นขึ้นทุกวันไม่มากก็น้อย แม้จะมีน้ำขึ้นน้ำลงตามแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม กระทั่งรถยนต์และรถรางไม่สามารถใช้งานได้ จึงต้องใช้เรือพายในการเดินทางระยะใกล้ และมีเรือแจวข้ามฟากมาทดแทนรถรางกับรถโดยสาร ตลาดสดทุกแห่งถูกย้ายขึ้นไปอยู่บนสะพาน เนื่องจากเป็นพื้นที่สุงในชุมชนที่ยังหลงเหลืออยู่

                                                         สภาพน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพในปี 2485 ต้องใช้เรือแจวในการสัญจรทางน้ำแทน

บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสุง ระดับน้ำจึงท่วมไม่ถึงพื้นบ้านพักอาศัยได้ การเดินทางแม้จะลำบากแต่ก็ยังเดินทางได้ ถ้าต้องการไปไหนไกล ๆ มีเรือสำปั้นพายรับจ้างบริการ ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนมีเรือพายติดบ้าน ใช้เป็นพาหนะส่วนตัวทดแทนรถจักรยานได้ เมื่อมีน้ำก็มีปลาให้หาอาหารปะทังชีวิต บรรเทาความลำบากเรื่องปากท้องได้พอประมาณ น้ำประปาค่อนข้างขาดแคลนและขนส่งลำบาก เพราะก๊อกน้ำเกือบทั้งหมดจมอยู่ใต้บาดาล อาหารแห้งและสดยังคงมีขายเช่นเดิม ทว่ามีราคาแพงขึ้นจากที่เคยแพงมากอยู่แล้ว

น้ำเริ่มท่วมปลายเดือนกันยายน 2485 ระดับน้ำสุงสุดลึก 2.27 เมตรในวันที่ 12 ตุลาคม ระดับน้ำเริ่มลดลงในวันที่ 18 ตุลาคม กรุงเทพกลับสู่ปกติปลายเดือนพฤศจิกายน กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม ถึงวันที่16 พฤศจิกายน ทุกวันอาทิตย์บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จะมีประชาชนมารวมตัวเพื่อแข่งขันเรือพาย พ่อค้าแม่ค้าแจวเรือมาขายอาหารคาวหวาน การแข่งพายเรือเริ่มมีพร้อมน้ำท่วมใหญ่ปี 2460 เป็นการพักผ่อนหย่อนใจในยามที่ชาติเกิดสงคราม ทั้งโดนซ้ำเติมจนเกิดอุทกภัยใหญ่ เมื่อระดับน้ำเริ่มลดลงจนใกล้แห้งสนิท  ผู้คนต่างพากันซ่อมแซมบ้านเรือน และเมื่อถนนใช้งานได้ตามปรกติ เครื่องบินทิ้งระเบิดก็มาทำงานตามปรกติ

วันที่ 28 พฤศจิกายน  2485 รถรางทุกสายมีผู้โดยสารแน่นขนัด แต่รถยนต์ยังวิ่งไม่ได้เพราะถนนค่อนข้างลื่น เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 10 กองบินทหารบกอเมริกา ได้เริ่มโจมตีทิ้งระเบิดใส่พื้นที่กรุงเทพอีกครั้ง เครื่องบินทุกลำออกจากฐานทัพประเทศอินเดีย พร้อมลูกระเบิดขนาด 200 ปอนด์จำนวนมากใต้ท้องเครื่อง การทิ้งระเบิดมักใช้เครื่องบินอเมริกาเป็นหลัก และมีเครื่องบินอังกฤษ ออสเตรเลีย เข้าร่วมในภายหลัง ช่วงเวลา 9 เดือนแห่งความสงบเงียบแต่เฉอะแฉะ สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันนี้เอง

วันที่ 26 ธันวาคม 2485 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 10 เจ้าเดิม ได้บินมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพง ท่าเรือคลองเคยซึ่งมีทางรถไฟเชื่อมโยงกับหัวเมือง โรงไฟฟ้าสามเสน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ รวมทั้งโรงงานสรรพาวุธบางซื่อ ทั้งหมดล้วนเป็นเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย ผลการทิ้งระเบิดยังคงไม่แม่นยำเช่นเคย เป้าหมายทั้งหมดเสียหายแค่เพียงเล็กน้อย บ้านเรือนประชาชนโดยรอบรับลูกหลงกันเต็มอิ่ม

                                                 เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล B-24 กำลังทิ้งระเบิดขนาด 200 ปอนด์ออกจากใต้ท้องเครื่อง

การทิ้งระเบิดในปี พ.ศ.2486

การทิ้งระเบิดในปี พ.ศ.2485 มีจำนวน 7 ครั้ง ใกล้เคียงกับการทิ้งระเบิดในปีที่แล้ว สถานการณ์โดยรวมทั่วประเทศ ส่อแววว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มตั้งหลักจากฝ่ายญี่ปุ่นได้ ภารกิจทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายสำคัญในประเทศไทย จึงมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อตัดทอนกำลังสนับสนุนของฝ่ายญี่ปุ่น

วันที่ 19 มกราคม 2486 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ได้บินเข้ามาในจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อถ่ายภาพทางรถไฟที่กำลังก่อสร้าง เส้นทางสายใหม่เริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านกาญจนบุรี แม่น้ำแควใหญ่ ด่านเจดีย์สามองค์ และมีปลายทางอยู่ที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า โดยมีความยาวรวมทั้งสิ้น 415 กิโลเมตร อยู่ในเขตประเทศไทย 303.95 กิโลเมตร อยู่ในเขตประเทศพม่า 111.05 กิโลเมตร รู้จักกันในชื่อทางรถไฟสายพม่า หรือทางรถไฟสายกาญจนบุรี แต่มักถูกขนานนามว่า "ทางรถไฟสายมรณะ"

วันที่ 4 เมษายน 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 24 ลำ ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่น ที่จังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีรายงานความเสียหายจากทุกฝ่าย

วันที่ 21 เมษายน 2486 (บางข้อมูลบอกว่าวันที่ 14 เมษายน 2486) เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 16 ลำ จากกองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงงานสรรพาวุธบางซื่ออีกครั้ง แต่มีเครื่องบินเพียง 4 ลำได้ทิ้งระเบิดในพื้นที่เป้าหมาย ส่วนที่เหลือบินหลงทิศทางไปไกลลิบ จึงทิ้งระเบิดใส่พื้นที่อื่นของกรุงเทพและธนบุรี

วันที่ 19 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน หลังหยุดพักการทิ้งระเบิดไปนานประมาณ 9 เดือน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 20 ลำ จากกองบิน 10 เจ้าเก่า ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ท่าเรือคลองเตยอย่างหนัก พื้นที่เป้าหมายเกิดความเสียหายพอสมควร ถือเป็นการอุ่นเครื่องหลังร้างเวทีมาพอสมควร โดยได้นำระเบิดขนาด 500 ปอนด์จำนวน 110 ลูกมาเป็นของกำนัล (ในตอนนั้นลูกระเบิดมาตราฐานมีขนาด 200 ปอนด์)

ท่าเรือคลองเตยเป็นจุดสำคัญในขนส่งสินค้า ซึ่งลำเลียงทางน้ำมาจากญี่ปุ่นและอาณานิคม โดยมีเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปยังหัวเมือง จึงต้องผ่านบางซื่ออันเป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีโรงรถจักร ชุมชนรถไฟ และโรงงานปูนซีเมนต์อยู่ในพื้นที่ สถานที่ทั้งสองแห่งจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดแวะมาเยี่ยมเยียนตลอดเวลา และถ้าผู้อ่านบวกสะพานพระรามหกเข้าไปด้วย ยอดรวมเที่ยวบินและลูกระเบิดจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ

                                สถานีรถไฟบางซื่อและโรงรถจักรเป็นจุดที่โดนทิ้งระเบิดบ่อยครั้ง มองเห็นสะพานพระรามหกในภาพด้านซ้ายมือ

วันที่ 21 ธันวาคม 2486 เวลาประมาณ 20.30 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 29 ลำจากฝูงบิน 308 กองบิน 14 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ตัวอาคารสถานีและคลังสินค้าถูกระเบิดเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งคลังเก็บอาวุธและยุทธปัจจัยของทหารญี่ปุ่น ตลอดจนบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากฝูงบินที่ทำภารกิจมีขนาดใหญ่ อำนาจการทำลายล้างจึงสุงตามเช่นกัน สถานีรถไฟเชียงใหม่ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง อเมริกายื่นซองขาวให้กับเจ้าหน้าที่รถไฟทุกราย ปลายทางรถไฟสายเหนือหยุดอยู่ที่สถานีป่ายางเนิ้ง (หรือสถานีสารภีในปัจจุบัน) มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้รวม 300 คน นับเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสุงพอสมควร ข้อมูลจากฝั่งอเมริกานะครับ

วันที่ 23 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 19 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพง รวมทั้งท่าเรือคลองเตยอีกครั้ง การโจมตีเที่ยวนี้มีการทิ้งพลุส่องสว่างนำทางก่อน จากนั้นจึงตามด้วยลูกระเบิดของจริงสู่เป้าหมาย พลุส่องสว่างสีแดงขนาด 5000 แรงเทียน ผูกติดร่มชูชีพจึงสามารถลอยตัวอยู่ในอากาศ ให้แสงสว่างไสวยาวนานเกือบ 15 นาที

ผลการโจมตีด้วยรูปแบบใหม่ครั้งนี้ แม้จะมีการเตรียมพร้อมมากกว่าเดิมก็ตาม แต่ทว่าลูกระเบิดทั้งหมดลอยข้ามเป้าหมายสำคัญ แล้วตกใส่พื้นดินบริเวณ สีลม สุรวงศ์ สาธร และสุรศักดิ์ (สมัยนั้นเรียกว่าย่าน 4 ส) กระทั่งโรงพิมพ์ของ นมส.ไฟใหม้วอดวอยทั้งหลัง สาเหตุสำที่พลาดเพราะบินอยู่ในระดับสุงมาก เพื่อรอดพ้นจากปืนต่อสู้อากาศยาน ความแม่นยำในการโจมตีจึงแทบไม่มีเลย

                                                โรงแรมราชธานีซึ่งอยู่ด้านขวาของสถานีหัวลำโพง ยังคงเป็นปรกติสุขจากการโจมตีครั้งแรก

การทิ้งระเบิดในค่ำคืนนี้เอง ทำลายขวัญกำลังใจประชาชนจำนวนมาก เพราะระเบิดตกห่างเป้าหมายไกลลิบลับ บ้านเรือนและตึกแถวในเขต บางรัก วัดตรี ตรอกวัดสามพระยา สะพานเหลือง เกิดไฟใหม้ครั้งรุนแรงกันโดยถ้วนหน้า ส่งผลให้มีการอพยพครั้งใหญ่เกิดขึ้น ทั่วเขตพระนครเริ่มร้างผู้คน คนกรุงเทพเข้าใจอันตรายอย่างถ่องแท้แล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้ขู่ผ่านทางวิทยุเดลฮีว่า พวกเขาเตรียมระเบิดสำหรับประเทศไทยมากถึง 1,500 ตัน

วันที่ 31 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 25 ลำจากฝูงบิน 308 เมืองฉงชิ่ง (หรือจุงกิง) ซึ่งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟนครลำปาง การโจมตีสร้างความเสียหายแค่เพียงนิดหน่อย อาคารสถานียังคงปลอดภัยทุกประการ ฝูงบินขับไล่ที่ 16 กองบินน้อยผสมที่ 85 กองบินใหญ่ภาคพายัพ ณ สนามบินพระบาท ของนครลำปาง ได้บินขึ้นเพื่อสกัดกั้นหลังจากตรวจพบ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ได้บินหลบฉากออกไปทันควัน โดยไม่ได้มีการปะทะกันแต่อย่างใด

ปี 2485 กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ Ki-27 จำนวน 12 ลำ โดยใช้ชื่อว่าเครื่องบินขับไล่ บ.ข.12 (Ki-27) เครื่องบินรุ่นนี้สร้างจากโรงงานแมนส์ยู เมืองฮาร์บิน ประเทศแมนจูเรีย เข้าประจำการในฝูงบินขับไล่ที่ 15 ฝูงบินรักษาพระนคร และฝูงบินขับไล่ที่ 16 ซึ่งอยู่ที่ลำปาง Ki-27 เป็นเครื่องบินขับไล่มาตราฐานของกองบินทหารบกญี่ปุ่น มีบทบาทสำคัญในช่วงต้นของการทำสงคราม

ฝูงบินขับไล่ที่ 16 ที่นครลำปาง มีเครื่องบิน Ki-27 ร่วมฝูงอยู่กับเครื่องบินขับไล่ บ.ข.11 (ฮอว์ค 75N) ในจำนวนใกล้เคียงกัน เครื่องบินขับไล่นกกระจอก หรือ เครื่องบินขับไล่แบบโอตะ มีบทบาทสำคัญมากต่อกองทัพอากาศไทย ในยุทธเวหาเหนือน่านฟ้าลำปางในอีก 2 ปีต่อมา

สถานีรถไฟนครลำปางอันแสนสวยงาม เป็นอีกจุดหนึ่งที่โดนทิ้งระเบิดหลายครั้ง เนื่องจากว่ามีสนามบินพระบาทอยู่ไม่ห่างนัก จึงมีเครื่องบินรบของไทยและญี่ปุ่น คอยดูแลป้องกันหรือไม่ก็เรียกแขก

มหันตภัยที่แท้จริงมาเยือน

ยอดรวมการทิ้งระเบิดในปีพ.ศ.2486 มีมากกว่าปีพ.ศ.2485 ไม่เท่าไหร่ก็ตาม ทว่าใช้จำนวนเครื่องบินในแต่ละเที่ยวบินมากกว่าเดิม เกือบทั้งหมดเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น B-24 แม้จะเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลก็ตาม แต่ถ้าต้องบินมายังเป้าหมายในกรุงเทพ ซึ่งอยู่ห่างจากฐานทัพในอินเดียถึง 1,100 ไมล์นั้น จะบรรทุกระเบิดได้น้อยตามระยะทางไปด้วย จึงได้เพิ่มจำนวนเครื่องบินจนกลายเป็นฝูงใหญ่ ประชาชนชาวไทยที่ได้ประสบภัย จึงมีความหวาดกลัวมากกว่าเดิม คนกรุงเทพทยอยเดินทางออกต่างจังหวัด ไม่ก็พื้นที่ห่างไกลลูกระเบิดอย่างลาดกระบัง แต่ชานเมืองที่ได้รับความนิยมมาก คือถนนสุขุมวิทที่รถโคตรติดนั่นแหละครับ ช่วงเวลานั้นรู้จักกันในชื่อทุ่งบางกะปิ

การทิ้งระเบิดในประเทศไทยช่วง 2 ปีแรก ยังเป็นแค่เพียงน้ำจิ้มหรือขนมขบเคี้ยว กระทั่งก้าวเข้าสู่ช่วงเดือนธันวาคม การโจมตีจึงได้มีความรุนแรงมากกว่าเดิม จำนวนเที่ยวบินมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อเข้าสู่ปีพ.ศ.2487 ในเดือนถัดมานั้น การทิ้งระเบิดก็ได้มีความถี่ยิบมากขึ้น

 วันที่ 3 มกราคม 2487 เครื่องบินจำนวนหนึ่งบินเข้ามาถ่ายภาพทางรถไฟสายพม่า ทหารญี่ปุ่นพยายามยิงสกัดจึงเกิดการต่อสู้เล็กน้อย ไม่มีรายงานความเสียหายของทั้งสองฝ่าย คาดว่าคงมีเพียงเล็กน้อย

 และในวันเดียวกันนั้นเอง เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 28 ลำจากฝูงบิน 308 เมืองฉงชิ่ง (หรือจุงกิง) ซึ่งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟนครลำปางอีกครั้ง ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย คาดว่าคงมีเพียงเล็กน้อยเช่นเคย

วันที่ 9 มกราคม 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ 9 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 7 ลำจากกองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งทุ่นระเบิดบริเวณปากน้ำ ในช่วงกลางดึกข้ามไปถึงอีกวัน เพื่อเป็นการปิดกั้นเส้นทางออกสู่ทะเล กองทัพเรือไทยพยายามกู้ทุ่นระเบิด แต่ทำได้เพียงบางส่วนเพราะมีเรือกวาดทุ่นระเบิดจำกัด ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวนหนึ่ง ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟบางซื่อ โรงรถจักรบางซื่อ รวมทั้งสนามบินดอนเมืองที่อยู่ไม่ไกลกัน

วันที่ 10 มกราคม 2487 รัฐบาลไทยได้เริ่มย้ายโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.มาตั้งที่บ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบรูณ์ (เป็นที่รู้จักในชื่อร.ร.นายร้อยป่าแดง) ในการประชุมได้พูดถึงขบวนรถไฟพิเศษ เพื่อลำเลียงนักเรียนนายร้อย จ.ป.ร.มายังสถานที่ใหม่ ขบวนรถออกจากสามเสนมุ่งไปยังอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เพื่อลำเลียงรถบรรทุกทหารกลับมาด้วย นี่เป็นส่วนหนึ่งในแผนการย้ายเมืองหลวงมายัง "นครบาลเพชรบูรณ์"

นอกจากนี้ยังได้ย้ายส่วนราชการสำคัญต่าง ๆ อาทิเช่น ย้ายกระทรวงการคลังมาที่ถ้ำฤาษี ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก ย้ายกระทรวงยุติธรรมมาที่บ้านห้วยลาน ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก ย้ายกระทรวงมหาดไทยมาที่บ้านบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก และย้ายกระทรวงอุตสาหกรรมมาที่บ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก กระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 แผนการย้ายเมืองหลวงจึงเป็นอันยุติลง

                                                            "นครบาลเพชรบูรณ์" เมืองหลวงใหม่ของประเทศไทย ฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง

วันที่ 11 มกราคม 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ 12 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากกองบิน 14 ได้บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟหัวลำโพง และโรงรถจักรบางซื่อ ส่งผลให้โรงแรมราชธานีและโรงแรมตุ้นกี่ โดนลูกหลงได้รับความเสียหายหนักทั้งสองแห่ง นายสถานีหัวลำโพงเสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่

มีการรบครั้งสำคัญที่สถานีหัวลำโพง เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 4 ลำ ต้องเผชิญหน้ากับเครื่องบินรบฝ่ายไทยจำนวน 3 ลำ เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเพลิงในเที่ยวแรก ก่อนบินวนกลับมาเพื่อทิ้งระเบิดธรรมดาอีกครั้ง เครื่องบินฝ่ายไทยได้เข้าสกัดกั้นในเที่ยวหลัง เกิดการยิงต่อสู้ด้วยปืนกลเหนือน่านฟ้ากรุงเทพ ท่ามกลางไทยมุงผู้แข็งขันนับร้อยบนท้องถนน เครื่องบินไทยถูกยิงตก 1 ลำ ส่วนเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายข้าศึก มีข่าวว่าบินกลับไม่ถึงฐานทัพจำนวน 2 ลำ มีผู้คนเสียชีวิตที่สถานีหัวลำโพงเป็นจำนวนมาก

สถานีรถไฟกรุงเทพหรือหัวลำโพงนั้น เป็นแหล่งชุมชนที่มีประวัติศาตร์มาอย่างยาวนาน ประเทศไทยได้ใช้รถไฟเป็นการเดินทางหลัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 จากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 เส้นทางรถไฟสายแรกจึงได้เปิดบริการ สถานีหัวลำโพงจึงกลายเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ นับตั้งแต่วันนั้นตราบกระทั่งถึงวันนี้

รอบสถานีหัวลำโพงในเวลานั้น มีโรงแรมใหญ่จำนวน 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ โรงแรมราชธานี อยู่ในสถานีรถไฟหัวลำโพงฝั่งขวา ตัวอาคารยาวเลียบไปกับถนนรองเมือง โรงแรมที่สองคือโรงแรมทอคาเดโร อยู่บริเวณถนนสุรวงศ์ ใกล้แยกสุรวงศ์กับถนนเจริญกรุง และสุดท้ายคือโรงแรมตุ้นกี่ สร้างเป็นตึกสามชั้นอยู่ฝั่งซ้ายมือของสถานีหัวลำโพง โดยใช้สถาปนิกและวิศวกรชุดเดียวกัน ผู้โดยสารที่ต้องการห้องพัก รวมทั้งญาติพี่น้องที่มารอรับ ต่างได้ใช้บริการโรงแรมทั้ง 3 แห่งนี้ ตามรสนิยม ความต้องการส่วนตัว และเงินในกระเป๋าสตางค์

                                    สถานีหัวลำโพงยังคงปลอดภัยและตั้งตระหง่าน ทว่าอาคารโดยรอบทั้งสองฝั่งโดนลูกหลงเสียหายหนัก

            โรงแรมตุ้นกี่หลังแรกสร้างพร้อมกับสถานีหัวลำโพง มีชื่อเสียงในเรื่องอาหารยุโรประดับห้าดาว เป็นโรงแรมที่ใช้ในการเจรจาลับกันอยู่บ่อยครั้ง

วันที่ 19 มกราคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 16 ลำ จากกองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงรถจักรบางซื่อ และสถานีรถไฟดอนเมือง สร้างความเสียหายให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงแรมแกรนด์พาเลซ รวมทั้งโรงไฟฟ้าสามเสนบางส่วน แต่ไม่ส่งผลกับการจ่ายกระแสไฟให้ประชาชน

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2487 ต่อเนื่องถึงวันที่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2487 (บางข้อมูลบอกว่าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2487) เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 8 ลำ จากกองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพในช่วงกลางดึก

ถึงคิวสนามบินดอนเมือง

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 9 ลำ จากกองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่โรงงานสรรพาวุธบ้านม้า รวมทั้งสนามบินดอนเมืองอีกครั้ง ลูกระเบิดได้ทำลายเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ Ki-21 และหรือเครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa ที่จอดอยู่ในสนามบิน ไม่แน่ใจว่าเป็นเครื่องบินของประเทศไทยหรือญี่ปุ่น และไม่ทราบจำนวนที่ถูกทำลายอย่างชัดเจน เที่ยวบินนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น กองทัพอากาศไทยประจำการเครื่องบินทิ้งระเบิดบ.ท.4 (Ki-21-I Nagoya) จำนวน 9 ลำ เครื่องบินรุ่นนี้ได้เคยฝากผลงานอันยอดเยี่ยม ในกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อไม่นานมานี้ เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่รุ่นแรกและรุ่นเดียว ที่เคยมีประจำการอยู่ในกองทัพไทย

ส่วนทางด้านเครื่องบินขับไล่ บ.ข.13  (Ki–43 IIb Hayabusa) นั้น เมื่อนายพล โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2486 และเห็นว่าไทยควรมีเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ เพื่อป้องกันภัยจากการโจมตีทางอากาศ ปีถัดมาจึงได้มอบเครื่องบินขับไล่ Ki-43 ให้จำนวน 24 ลำ เครื่องบินทั้งหมดประจำการอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ในภายหลังผู้คนเรียกขานฝูงบินนี้ว่า "ฝูงบินรักษาพระนคร" และได้มีบทบาทสำคัญในเวลาต่อมาด้วย เพียงแต่ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2487 นั้น ผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่าได้รับมอบเครื่องบินแล้วหรือไม่

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 9 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์ที่บ้านดารา สะพานแม่ต้าที่แก่งหลวง รวมทั้งทางรถไฟสายมรณะช่วงหนองปลาดุกถึงกาญจนบุรี การโจมตีสร้างความเสียหายได้บางส่วน สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำยังคงปรกติสุขทั้งหมด แต่รางรถไฟบนฝั่งเสียหายใช้งานไม่ได้ ส่งผลให้ขบวนรถไฟสายพิษณุโลก-เด่นชัย และขบวนรถไฟสายบ้านดารา-สวรรคโลก ต้องหยุดใช้งานจนกว่าเส้นทางจะซ่อมแล้วเสร็จ มีการประกาศในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ถึงเรื่องการหยุดเดินรถทั้งสองขบวน เนื่องจากเปรียบเสมือนหัวใจหลักทางรถไฟสายเหนือ

สะพานปรมินทร์หรือสะพานบ้านดารา อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ประมาณ 32 กิโลเมตร  เป็นสะพานรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของทางรถไฟสายเหนือ เริ่มก่อสร้างสะพานเมื่อปี พ.ศ.2449 กระทั่งเปิดใช้งานในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2452 สะพานมีลักษณะเป็นแบบคานยื่น (Cantilever) ประกอบไปด้วยสะพานเหล็กจำนวน 3 ช่วง ช่วงกลางสะพานยาว 121.20 เมตร ส่วนช่วงริมน้ำทั้ง 2 ด้านยาว 80.60 เมตรเท่ากัน รวมความยาวทั้งสะพานเท่ากับ 262.40 เมตร บนสะพานมีทางรถไฟกว้าง 1.435 เมตรตลอดเส้นทาง และมีทางเท้ากว้าง 1.5 เมตรสำหรับเดินข้ามฝั่ง  เพราะเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำน่านที่สำคัญมาก เชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างภาคเหนือถึงกรุงเทพ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญมากของฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน สะพานปรมินทร์ยังมีเรื่องราวให้ได้ติดตามกันต่อไป

                                          สะพานปรมินทร์หรือสะพานบ้านดารา เป็นอีกจุดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลายให้จงได้

คุยกันส่งท้าย

ย่างเข้าสู่ปีพ.ศ.2487 แค่เพียง 2 เดือนเท่านั้น มีการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรไปแล้วถึง 7 ครั้ง โดยในช่วงแรกสุดยังเน้นพื้นที่กรุงเทพและธนบุรี มุ่งตรงไปยังเป้าหมายสำคัญเพียงไม่กี่แห่ง จากนั้นจึงเริ่มทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเปลี่ยนเป้าหมายจากสถานีรถไฟหรือค่ายทหารญี่ปุ่น มาเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำที่มีความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ในการทำภารกิจทิ้งระเบิดทุกเที่ยวบิน เพราะสามารถเดินทางไกลจากอินเดียและจีนมายังเป้าหมายได้ เนื่องจากพม่าเกือบทั้งประเทศยังเป็นของญี่ปุ่นอยู่

บทความตอนแรกเรื่อง "สงครามโลกครั้งที่สอง : วันระเบิดลง" ผู้เขียนต้องขอหยุดพักแค่เพียงเท่านี้ก่อน สถานการณ์ในเดือนถัดมาจะเป็นอย่างไร ระเบิดลงมากขึ้นหรือเงียบหายเฉกเช่น 2 ปีก่อน พื้นที่การโจมตีจะขยายตัวมากกว่าเดิมหรือไม่ ชนิดเครื่องบินทิ้งระเบิดจะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมหรือเปล่า รวมทั้งการป้องกันภัยและรับมือจากทหารไทยและญี่ปุ่น จะปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรนั้น ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ  ;)


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_invasion_of_Thailand

https://en.wikipedia.org/wiki/Bombing_of_South-East_Asia_(1944%E2%80%9345)

https://en.wikipedia.org/wiki/Bombing_of_Bangkok_in_World_War_II

https://en.wikipedia.org/wiki/Thailand_in_World_War_II

http://pantip.com/topic/31885621

https://pantip.com/topic/31880190

http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711067

http://oknation.nationtv.tv/blog/sonorwut/2013/07/16/entry-3

http://rach1968.blogspot.com/2014/09/blog-post.html

http://rach1968.blogspot.com/2015/09/ki-43.html

http://pantip.com/topic/30129522

http://pantip.com/topic/30131647

http://pantip.com/topic/30134323

http://pantip.com/topic/30138041

http://pantip.com/topic/30141591

http://pantip.com/topic/30145710

http://pantip.com/topic/30148496

http://pantip.com/topic/30151731

https://www.facebook.com/%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99-199476353430283/

http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9480000089456

หนังสือ : ประวัติการเมืองไทย 2475-2500 เขียนโดย : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ข้อมูลหลักในการดำเนินเรื่องอ้างอิงจาก

http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=119&postdays=0&postorder=asc&start=0

ภาพถ่ายอ้างอิงจาก

http://pantip.com/topic/31885621

https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/originals/1d/50/05/1d50054748c20bdfa90b9ec1fb46df75.jpg

http://historywars.tumblr.com/image/87427443434

https://www.facebook.com/199476353430283/photos/a.553021588075756.1073741827.199476353430283/1033546660023244/?type=3

http://k31.kn3.net/3/2/2/9/1/F/538.png

https://web.facebook.com/ThaiRailwayClub/posts/433928423349493?_rdr

http://olphistory.blogspot.com/2006/12/06.html

https://wisonk.files.wordpress.com/2007/06/10507136_10151926935082168_5088525854669567915_o.jpg

https://web.facebook.com/Charoen1948/posts/978969682152975?_rdr

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=795098360548694&id=222323771159492

https://f.ptcdn.info/362/016/000/1393984731-fwddercom0-o.jpg


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น