ความเดิมตอนที่แล้ว ------> The Original Harrier
แฮริเออร์ของลุงแซม
เมื่อ
Harrier
GR.1 เข้าประจำการในปี 1969 อังกฤษนำเครื่องบินบางส่วนไปยังเยอรมันตะวันตก
จัดวางกำลังบริเวณป่าสนตะเข็บชายแดน เป็นฐานทัพที่ไม่ปรากฎอยู่บนแผนที่
พร้อมเคลื่อนย้ายไปไหนก็ได้ตามคำสั่ง ใช้ถนนทุกสายเป็นทางวิ่งขึ้นลง ทั้งนี้ก็เพื่อหวังผลทางการทหารและการเมือง
ด้านการทหารเหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว
เครื่องบินไม่กี่สิบลำเปลี่ยนแปลงการรบไม่ได้ก็จริง แต่ฝ่ายตรงข้ามจะทำอะไรก็ต้องระแวงกันบ้าง
ทหารฝ่ายเรามีกำลังใจมากกว่าเดิม เครื่องบินสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิดลำใหม่
ทำภารกิจได้เป็นอย่างดีทุกครั้งที่ร่วมฝึกซ้อม ปืนกล 30
มม.ก็ดี จรวดอากาศสู่พื้นไม่นำวิถีก็ดี รวมทั้งลูกระเบิดธรรมดาน้อยใหญ่ก็ดี
เป็นอาวุธที่ดูไม่น่ากลัวซักนิดเดียว แต่พร้อมจะหล่นใส่หัวเมื่อคุณเข้าใกล้แนวป่า
ส่วนด้านการเมืองก็อย่างที่ทราบ
อังกฤษเป็นชาติเดียวของนาโต้ที่คุยโม้ได้ว่า พัฒนาเครื่องบินรบขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้นสำเร็จ
ทั้งยังเป็นการต่อลมหายใจอุตสาหกรรมการบิน ที่นับวันจะแห้งเหี่ยวลงตามกาลเวลา
เครื่องบินลำนี้เป็นทั้งอาวุธและมาสคอต ผลงานการออกแบบที่ดีเยี่ยมของ Kignston
Aviation ถูกยอมรับภายหลังว่าดีที่สุดในรอบ 100 ปีของบริษัท
"เมาคลีหนึ่งเรียกเมาคลีสองเปลี่ยน....คืนนี้ไปซดเบียร์ที่มิวนิคกัน"
นี่คือเครื่องบินแฮริเออร์อังกฤษในเยอรมันตะวันตก มุมบนซ้ายและมุมล่างขวาคือรุ่น GR.1
ส่วนมุมบนขวาและมุมล่างซ้ายคือรุ่น GR.3 เพิ่มระบบนำทางและโจมตีรุ่นใหม่
ระบบเลเซอร์ติดตามเป้าหมาย ระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ รวมทั้งปรับปรุงเครื่องยนต์ให้แรงกว่าเดิม
Harrier Carrier Projects
เครื่องบินขับไล่ใช้งานบนเรือ
Sea Harrier FRS.1 เข้าประจำการในปี 1979
ช้ากว่ารุ่นใช้งานบนบกถึง 10 ปีเต็ม แต่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจชิ้นสำคัญ
ทำให้เกิดโครงการใหม่ ๆ ตามมาไม่หยุดหย่อน มีเรือหลากหลายรูปแบบถูกพัฒนาขึ้น
ทั้งจากอังกฤษเองและชาติพันธมิตรใกล้ตัว ผู้เขียนขอนำเสนอเฉพาะโครงการที่น่าสนใจ
เริ่มต้นจากสิ่งที่ผู้อ่านรู้จักกันดี
Harrier
Carrier หรือเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็กติดตั้งลานสกีจัมป์
เป็นแบบเรือใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเกิด รองรับแฮริเออร์และเครื่องบิน V/STOL ขนาดใกล้เคียง ลำแรกเป็นแบบเรือ Vosper Thornycroft Harrier Carrier ปรากฎโฉมในปี 1980 และถูกนำชื่อมาตั้งเป็นชนิดของเรือ
ระวางขับน้ำเต็มที่ 8,000 ตัน ยาว 130 เมตร
กว้าง 28 เมตร ความเร็วสุงสุด 25 น๊อต
ระยะทำการ 4,500 ไมล์ทะเล บรรทุกแฮริเออร์จำนวน 8 ลำกับเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ
ลานสกีจัมป์หัวเรือทำมุม 6 องศา ติดตั้งปืนกล 40 มมลำกล้องแผด DARDO จำนวน 3 ระบบ
ลำที่สองโผล่ขึ้นมาในปี
1983
ใช้ชื่อว่า Vickers Versatile Aircraft Carrier หรือ VVAC ระวางขับน้ำ 13,000 ตัน
บรรทุกอากาศยานได้ 16 ลำ ลานสกีจัมป์หัวเรือทำมุม 15 องศา ติดตั้ง Phalanx CIWS จำนวน 3 ระบบ ส่วนลำที่สามเผยโฉมในปีเดียว ใช้ชื่อว่า Vickers Light Fleet
Carrier ระวางขับน้ำ 24,000 ตัน ยาว 202
เมตร กว้าง 32 เมตร บรรทุกแฮริเออร์จำนวน 15 ลำและเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ
ติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf จำนวน 2 ระบบ และ Goal Keeper CIWS อีกจำนวน
2 ระบบ ลานสกีจัมป์หัวเรือไม่ได้บอกองศา
เท่ากับอังกฤษมีเรือถึง 3 ขนาดให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ
ผู้เขียนชื่นชอบแบบเรือลำแรกเป็นพิเศษ คิดว่าเหมาะสมกับกองทัพเรือไทยที่สุด
เพราะมีขนาดกระทัดรัดไม่เทอะทะ ราคาไม่น่าแพง ค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุงก็เช่นกัน
จำนวนเครื่องบินเหมาะเจาะกับเราดีแท้ ทั้งยุคที่มีแฮริเออร์และยุคไม่มีแฮริเออร์
ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน Sadral ได้ 3 ระบบ
แค่เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนให้ตรงกับใจ แก้โน่นใส่นี่เข้าไปเดี๋ยวก็ลงตัวเอง
แต่เรื่องนี้ว่ากันไม่ได้ ตอนนั้นเราต้องการเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์
แต่จับพลัดจับพลูมาเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินในภายหลัง
จำนวนเครื่องบินที่บรรทุกได้ตามข้อมูล
หมายถึงพื้นที่โรงเก็บเครื่องบินใต้ดาดฟ้า ซึ่งจะต้องดูแปลนเรือประกอบอีกที
เรือขนาด 8,000 ตันของ Vosper
Thornycroft ยัดแฮริเออร์ 8 ลำกับเฮลิคอปเตอร์
2 ลำ ไม่เหลือพื้นที่ให้ทำอย่างอื่นเลย
Harrier
Carrier ได้รับความนิยมพอสมควร ประเทศที่อยากมีเรือบรรทุกเครื่องบิน
เหลียวมองจนคอเอียงน้ำลายไหลย้อย ประเทศที่ไม่มีแฮริเออร์ก็เอาด้วย อู่ต่อเรือฝรั่งเศสนำเสนอแบบเรือในปี
1995 ใช้ชื่อว่า DCN Multi-Purpose Intervention Ship
(BIP) ระวางขับน้ำ 19,000 ตัน ยาว 198 เมตร กว้าง 33 เมตร ความเร็วสุงสุด 22.5 น๊อต ระยะทำการ 10,000 ไมล์ทะเล
มีลานสกีจัมป์ที่หัวเรือ มีอู่ลอยที่ท้ายเรือ รองรับทั้งเรือ LCAC และ LCM มีโรงเก็บขนาดใหญ่จำนวนสองชั้น เป็นทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก
เรียกชนิดเรือว่า Landing Helicopter Deck หรือ LHD ทว่าลำนี้เป็นรุ่นพิเศษใส่ไข่เป้ดสองฟอง เพราะรองรับเครื่องบินแฮริเออร์ได้ด้วย
ปัจจุบันเรือ LHD ได้รับความนิยมทดแทน Harrier
Carrier ไปแล้ว
โครงการ
BIP
มีแบบเรือจำนวน 4 ขนาด ตั้งแต่เรือ LPD ดาดฟ้าเรียบขนาด 8,000 ตัน ไปจนถึงเรือ LHD ติดลานสกีจัมป์ขนาด 19,000 ตัน สุดท้ายเรือลำนี้ก็ไม่ได้แจ้งเกิด
เพราะใครก็ตามที่อยากได้ต้องมีแฮริเออร์ และใครก็ตามที่มีแฮรริเออร์ดันต่อเรือได้เอง
ส่วนไทยกับอินเดียก็ดันซื้อเรือบรรทุกเครื่องบินไปแล้ว ไม่อย่างนั้นงานนี้มีเสียว…ฮ่า ฮ่า
BIP ซึ่งเป็นร่างทรงโครงการ PH 75
เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์พลังงานนิวเคลียร์ ถูกพัฒนาต่อจนเป็น Protection and
Command Ship หรือ BPC ในอีก 2 ปีต่อมา ตัดสกีจัมป์แล้วใส่ลานจอดเต็มพื้นที่ ปรับโน่นปรับให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
แบบเรือ BPC 250 ขนาด 24,542 ตัน
ได้รับคำสั่งซื้อจำนวน 5 ลำ เป็นของฝรั่งเศส 3 ลำซึ่งก็คือเรือชั้น Mistral ส่วนอีก 2 ลำรัสเซียซื้อไปเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ บังเอิญเกิดเรื่องวุ่นวายจนต้องยกเลิกการขาย
สุดท้ายอียิปต์กู้เงินซื้อทั้งสองลำไปใช้เสียเอง
SkyHook Projects
โครงการต่อไปค่อนข้างฮือฮาพอสมควร
ในเวลาฝนตกหนักคลื่นลมแรงทัศนวิสัยไม่ดี เครื่องบินอาจลื่นไถลขณะลงจอดได้ทุกเมื่อ
โดยเฉพาะกับแฮริเออร์ซึ่งมีขนาดเล็กน้ำหนักเบา อังกฤษจึงพัฒนาเครนจับเครื่องบินชื่อ
SkyHook ขึ้นมา วิธีใช้ให้เครื่องบินลอยต่ำในระดับที่เหมาะสม แล้วใช้ SkyHook เลื่อนลงมาดูดบริเวณกลางหลังเครื่อง แล้วยกมันทั้งลำลงไปเก็บบนดาดฟ้าเรือ
หมดปัญหาเครื่องบินลื่นไถลตกน้ำเหมือนในอดีต หลักการง่าย ๆ แค่นี้แหละครับ
เมื่อ
SkyHook พัฒนาและทดสอบแล้วเสร็จ การใช้งานแฮริเออร์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
จึงมีแบบเรือใหม่เอี่ยมตามมามากมาย เริ่มต้นกันด้วย SkyHook Frigate ซึ่งนำเรือฟริเกต Type 22 มาปรับปรุงเสียใหม่
ขยายลานจอดด้านท้ายเรือ ทำโรงเก็บอากาศยานสุงสองชั้น มี SkyHook จำนวนสองจุดดักจับเครื่องบิน อาวุธชนิดอื่นสามารถติดตั้งได้ตามปรกติ
แต่
SkyHook Frigate ก็ยังมีจุดอ่อนสำคัญ
แฮริเออร์จะต้องบินขึ้นในแนวดิ่งสถานเดียว ถ้าบรรทุกอาวุธและน้ำมันจนเต็มอัตรา
การเทคตัวค่อนข้างยากการไต่ระดับก็เช่นกัน
(ปรกติจะใส่น้ำมันและอาวุธเพียงครึ่งเดียว) ใครซักคนจึงทำสะพานเดินเรือให้เตี้ยลง
ตัดปล่องควันและเสากระโดงออกเป็นสองฝั่ง แล้วใส่ลานบินพร้อมสกีจัมป์เข้าไปกลางลำ โรงเก็บใส่เครื่องบินได้จำนวน
6 ลำ ลานจอดท้ายเรือยกให้เฮลิคอปเตอร์ไปเลย Skijump
Skyhook Escort Carrier คือชื่อแบบเรือลำที่สอง ทันทีที่เปิดตัวมีคนพูดถึงกันทั่วยุโรป
คิดถึงเรือบรรทุกเครื่องบินยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมาทันที
มนุษยชาติมีความฝันร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง
คือการพัฒนาเรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบินให้สำเร็จ flights
from the deep จะเป็นสุดยอดอาวุธลับที่น่าเกรงขาม
หลายชาติได้เพียรพยายามสร้างเรือชนิดนี้ แต่เท่าที่เห็นยังไม่ได้เรื่องกันเลยซักราย
กระทั่งอังกฤษมีแฮริเออร์และอุปกรณ์ชิ้นสำคัญ โครงการ SkyHook Submarine จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นยานแม่
แล้วใช้ SkyHook ดักจับเครื่องบินลงมาเก็บในเรือ ความเห็นส่วนตัวลำนี้ใกล้เคียงความจริงที่สุด
เพราะเครื่องบินไม่มีปัญหาอะไรเลย ส่วนเรือดำน้ำก็แค่เพิ่มโรงเก็บเข้ามา ปัญหาอยู่ที่งบประมาณและความจำเป็นมากกว่า
ชมของดีจากผู้ดีอังกฤษกันอีกซักนิด
ภาพซ้ายมือคือโครงการ Light Carrier Cruiser เรือลาดตระเวนขนาดใหญ่ใส่ลานบินพร้อมสกีจัมป์
รองรับภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ มีทั้งแฮริเออร์และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล
เป็นแนวความคิดที่ออกจะล้าสมัยไปนิด ราคาแพงเกินเหตุรัฐบาลไม่ยอมจ่ายแน่ ทว่านี่คือ
Crossover Ship ที่แท้จริงในยุคสงครามเย็น
มาที่ลำสุดท้ายภาพซ้ายมือกันนะครับ
Air-capable Destroyer ซึ่งก็คือเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ Type
43 ใส่ลานบินพร้อมสกีจัมป์เข้าไปด้วย มีโรงเก็บแฮริเออร์จำนวน 2 ลำ ทำหน้าที่สกัดกั้นเครื่องบินฝ่ายตรงข้าม
รวมทั้งต่อต้านเรือผิวน้ำจากระยะไกล ยุคนั้นจรวดต่อสู้เรือรบกำลังแพร่หลาย ส่วนใหญ่ระยะยิงไม่ถึง
100 กิโลเมตร และยังไม่มีอาวุธใช้สกัดกั้นได้อย่างเด็ดขาด
(ปัจจุบันก็ยังไม่มี) ถ้าเรือสองฝ่ายดวลจรวดกันชนิดหมัดต่อหมัด บางทีอาจสูญเสียกำลังพลจนหมดหน้าตัก
แฮริเออร์พร้อมจรวดต่อสู้เรือรบคือสูตรโกงความตาย แต่ก็ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง
ต่อมาไม่นาน
Type
43 ได้ถูกแปลงโฉม ถอดแฮริเออร์และลานบินออกไป
โรงเก็บกลางเรือกลายเป็นพื้นที่ว่าง รองรับเฮลิคอปเตอร์ใหม่เอี่ยมที่เพิ่งแล้วเสร็จ
Westland Lynx รุ่นใช้งานบนเรือ มาพร้อมจรวดต่อสู้เรือรบ Sea
Skua จำนวน 4 นัด
รวมทั้งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำและระเบิดลึก เหมาะสมกับเรือขนาดเล็กมากกว่าแฮริเออร์
ค่าใช้จ่ายถูกกว่าครึ่งต่อครึ่ง ทำงานได้ทั้งพรากชีวิตและช่วยชีวิต เรือลูกผสมทุกลำจึงหายตัวไปตลอดกาล
ส่วนเรือพิฆาต Type 43 ที่ปรับปรุงใหม่นั้น สุดท้ายก็ยังถูกดองพราะมีราคาแพงเกินไป
รวมทั้งลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่ดันมาอยู่กลางลำ น่าจะมีปัญหาพอสมควรในการใช้งาน
USS Harrier Carrier
ผู้เขียนขอพาไปยังทวีปอเมริกากันบ้าง
ฝั่งนี้ก็มีโครงการเกี่ยวข้องกับแฮริเออร์ เริ่มต้นกันที่
Air-capable Destroyer ซึ่งมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเรือชั้น Type
43 ของอังกฤษ อเมริกามีเรือแบบนี้อยู่ประมาณ 7-8 โครงการ ส่วนใหญ่ปรับปรุงมาจากเรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำชั้น Spruance
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแค่เพียงลำเดียว
เป็นลำที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
Commander
Ghiradella Air-Capable Spruance หรือ DDV-2
เปิดตัวในปี 1978 ระวางขับน้ำประมาณ 9,000 ตัน ยาว 184.7 เมตร กว้าง 26.51 เมตร มีลานบินยาว 143.3 เมตรอยู่ที่กาบซ้าย รองรับแฮริเออร์จำนวน 4 ลำ
และเฮลิคอปเตอร์จำนวน 8 ลำ ติดตั้งปืนใหญ่ 5 นิ้วจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม.จำนวน 4 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow
จำนวน 8 นัด รวมทั้งมีจุดติดตั้ง Phalanx
CIWS อีก 2 ระบบ สามารถเปลี่ยนแท่นยิง Harpoon
ให้เป็นจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC ได้ ส่วนแมกกาซีนสำรองถ้าต้องการก็เสียเงินเพิ่ม
ค่อนข้างเหมือนเรือโซเวียตในยุคนั้นมาก
เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ที่ป้องกันตนเองได้สบาย อเมริกาคิดแล้วคิดอีกสุดท้ายไม่เอา
ประสิทธิภาพของเรือก้ำกึ่งจนไม่น่าสนใจ จะเป็นเรือรบก็ติดอาวุธได้น้อยเกินควร จะเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ก็ดันเล็กเกินไป
ค่าใช้จ่ายสุงมากเมื่อเทียบกับเรือรบธรรมดา รวมทั้งพวกเขามีโครงการที่น่าจะดีกว่าอยู่ในมือ
โครงการที่น่าจะดีกว่านั้นก็คือ
Sea Control Ship หรือ SCS
ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดี รวมทั้ง VSTOL Support Ship หรือ VSS ที่ทุกคนน่าจะไม่รู้จักกันเลย โครงการแรกเกิดในยุคปลายปี 1960 ส่วนอีกโครงการเกิดขึ้นเพื่อทดแทนโครงการแรก
ทั้งสองลำเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก หน้าตาคล้ายกันตั้งแต่หัวเรือจรดท้ายเรือ
ทว่ามีขนาดแตกต่างค่อนข้างมาก
โครงการ Sea Control Ship มีแบบเรือส่งเข้าประกวดเพียงไม่กี่ลำ
แต่มีแบบเครื่องบินเข้าร่วมชิงชัยมากถึง 12 ลำ
ผู้เขียนขอยกยอดเครื่องบินไปก่อน แล้วพาไปพบแบบเรือที่ชนะเลิศในปี 1971 (คุ้นหน้าคุ้นตาเหมือนเคยเห็นแถวสัตหีบ) ระวางขับน้ำเต็มที่ 13,736
ตัน ยาว 190 เมตร กว้าง 24 เมตร บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ SH-3 Sea
King จำนวน 12 ลำ เฮลิคอปเตอร์ SH-2 Seasprite จำนวน 2 ลำ
และเครื่องบินโจมตี AV-8A Harrier จำนวน
3 ลำ โดยมีภารกิจปราบเรือดำน้ำเป็นงานหลัก รองรับ AV-8A Harrier ได้มากสุดถึง 12 ลำ
ในกรณีมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนภารกิจ
โครงการ
Sea Control Ship ถูกยกเลิกในปี 1974 ถัดมาปีเดียวโครงการ
VSTOL Support Ship พลันได้เข้ามาแทนที่ ระวางขับน้ำเต็มที่ 22,940
ตัน ยาว 228.6 เมตร กว้าง 26.5 เมตร บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดใหญ่ SH-53 Sikorsky
Sea Stallion จำนวน 16 ลำ เฮลิคอปเตอร์
SH-2 Seasprite จำนวน 6
ลำ และเครื่องบินโจมตี AV-8A Harrier จำนวน
4 ลำ มีภารกิจสนับสนุนการยกพลขึ้นบกเป็นงานหลัก
ซึ่งทางฝั่งอังกฤษจะเรียกว่า Commando Carrier
VSTOL
Support Ship ก็เหมือนกับโครงการทั่วไป ตราบใดที่ยังไม่นิ่งแบบเรือก็เปลี่ยนไปเรื่อย
กระทั่งถูกยกเลิกในปี 1979 อเมริกาหันไปปรับปรุงเรือ LHA
ชั้น Tarawa กับเรือ LPH ชั้น Iwo Jima ให้รองรับแฮริเออร์ได้มากสุดถึง 20
ลำ พร้อมกับพัฒนาเรือ LHD ชั้น WASP ขนาด 40,000 ตันขึ้นมาทดแทน ไม่มีสกีจัมป์เพราะลานบินยาวเกินพอ
แบบเรือรุ่นใหม่เหมาะสมกับภารกิจหลัก มีอู่ลอยท้ายเรือรองรับทั้งเรือ LCAC และ LCM การลำเลียงทหารและยุทธปัจจัยจึงสะดวกกว่าเดิม
เขียนมาค่อนข้างยาวมาก
สรุปความตามท้องเรื่องได้ว่า Harrier Carrier
ถูกสร้างจริงจำนวน 7 ลำ ได้แก่เรือชั้น Invinceble ของอังกฤษจำนวน 3 ลำ เรือ Sea Control Ship จำนวน 2 ลำ โดยสเปนสร้างเอง 1 ลำและขายให้ไทยอีก 1 ลำ ส่วนเรือ 2 ลำสุดท้ายเมดอินอิตาลี พวกเขาเคยมีโครงการนำเรือ Sea Control Ship มาติดเรดาร์ EMPAR พร้อมจรวดต่อสู้อากาศยาน Aster
แต่ต้องยกเลิกไปเพราะเรือมีขนาดเล็กเกิน
ส่วนฝ่ามือเทพบุปผาร่วงโรยหรือ
SkyHook ซึ่งมีโครงการเยอะมากจนผู้เขียนจำไม่ไหว (รวมทั้งรุ่นติดบนรถบรรทุกหรือ SkyHook
Mobile) เมื่ออังกฤษไม่ได้นำมาใช้งานจริง
ลูกค้ารายอื่นเลยพลอยไม่กล้าสั่งซื้อ (ญี่ปุ่นเหล่แล้วเหล่อีกจนตาเข) แต่ได้ถูกพัฒนาต่อมาจนมีขนาดเล็กลง
ใช้งานกับอากาศยานไร้คนขับในปัจจุบัน
Submersible Aircraft Carrier
โครงการเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้นของอเมริกา
เริ่มต้นก่อนฝั่งอังกฤษและยุโรปเสียด้วยซ้ำ ทว่ามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี
เป็นแค่เพียงเครื่องต้นแบบในการทดลอง จนกระทั่งถึงปี 1958
จึงได้มีของแปลกเกิดขึ้นมา
.นี่คือ Boeing AN-1 Submersible Aircraft
Carrier หรือเรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบินที่หลายชาติถวิลหา ใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นยานแม่
ระวางขับน้ำ 9,260 ตันที่ผิวน้ำ และ 14,700 ตันขณะดำน้ำ ยาว 152.4 เมตร บรรทุกเครื่องบินขับไล่
F11F Tiger จำนวน 8 ลำ
วิธีปล่อยเครื่องบินเหมือนกับปล่อยบั้งไฟ คือโหลดขึ้นมาวางบนดาดฟ้าเรือ
ตั้งหัวเครื่องตรงแหนวเล็งไปที่ดวงดาว แล้วจุดระเบิดจรวดช่วยส่งหรือ Rocket
Booster ส่งขึ้นไป พอถึงจุดเครื่องบินจะแยกตัวออกมาเอง
แล้ว
F11F Tiger จะกลับยานแม่ได้อย่างไร ตามคำอธิบายจากเจ้าของแบบเรือ
ด้วยสายเคเบิ้ลพิเศษและเครนจับเครื่องบินที่คล้าย SkyHook ฉุกเฉินยังไงร่อนลงทะเลไปก่อนก็ได้
แล้วใช้เครนที่ว่าเกี่ยวขึ้นเรือดำน้ำภายหลัง นอกจากนี้ยังมีโครงการ AN-2 ตามมาด้วย โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ความเร็ว 3 เท่าเสียง
AN-1 Submersible Aircraft Carrier มีราคาประมาณ 1.5
เท่าของเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์
แทนที่จรวดร่อนด้วยเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียง โครงการนี้คงไม่ต้องเดาบทสรุป
แบบเรือมีความละเอียดซับซ้อนเกินเหตุ การซ่อมบำรุงทำใด้ยากจนถึงยากที่สุด การแบกเครื่องบินและจรวดนำส่งเพื่อดำน้ำลึก
ไม่ต่างไปจากการแบกระเบิดที่ดึงสลักออกแล้ว วิธีรับส่งเครื่องบินจะดูซักกี่ทีก็ไม่ผ่าน
การเกิดอุบัติเหตุมีสุงมากและมีสุงแน่ ประสิทธิภาพที่ได้รับเป็นอีกหนึ่งเหตุผล
มีประโยชน์ในการรบยุคใหม่เพียงน้อยนิด เครื่องบินขับไล่ความเร็ว 3 มัคคือสิ่งที่จับต้องไม่ได้
ส่วนสิ่งที่จับต้องได้อย่าง
F11F Tiger ก็สุดแสนจะอาภัพอับวาสนา เครื่องบินรุ่นนี้เข้าประจำการในปี
1956 แค่เพียงปีเดียวดันมี F-8 Crusader ตามมาจอดเคียงคู่กัน พอครบ 5 ปีถูกปรับไปเป็นเครื่องบินฝึกนักบิน
ทัพเรือนำ F-4 Phantom II ที่บินได้ 2.2
มัคเข้ามาทดแทน ส่วน F-8 Crusader
ซึ่งบินได้เร็ว 1.8 มัคและมียอดผลิต 1,219 ลำยังคงประจำการต่อไป ทิ้งพี่เสือซึ่งบินได้เร็ว 1.1
มัคและมีเพียง 200 ลำให้นั่งตบยุงแต่เพียงผู้เดียว (F-4 Phantom II ผลิตออกมา 5,195 ลำ)
ความล้มเหลวครั้งนี้โทษเจ้าตัวไม่ได้ การแปลงร่างจาก F-9F
Cougar ที่เก่ามากมายได้แค่นี้แหละ
เครื่องบิน V/STOL
ของอเมริกา
เครื่องบินลำต่อไปสร้างเครื่องต้นแบบในปี
1955
เข้าร่วมโครงการ
NATO Basic Military Requirement 3 กับเขาด้วย นั่นก็คือ
Ryan X-13 Vertijet เครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งตัวจริงของลุงแซม
เป็นเครื่องบินประจำตัวแบทแมนอีกหนึ่งตำแหน่ง สามารถบินขึ้นแล้วไต่ระดับได้อย่างเร็วมาก
ลอยนิ่ง ๆ กลางอากาศราวกับเป็นนักมายากล จะลอยเอียงทำมุม 60 องศาก็ได้
หรือลอยตั้งตรง 90 องศาก็ดี วิธีบินขึ้นในแนวดิ่งต้องใช้อุปกรณ์ช่วย
นั่นคือส่วนพ่วงรถบรรทุกที่สามารถยกตั้งฉาก (ขอเรียกว่าจุดปล่อยยาน)
ส่วนหัวเครื่องบินจะถูกเกี่ยวไว้ด้วยลวดสลิง กลางลำมีแผ่นตั้งวางท้องเครื่องกับจุดปล่อยยาน
นักบินก็แค่บังคับเครื่องลอยพ้นลวดสลิง
แล้วปรับหัวลงมาให้เหมือนเครื่องบินทั่วไป วิธีลงจอดในแนวดิ่งให้ทำตรงข้ามกัน
คือลอยเข้าใกล้จุดปล่อยยานให้มากที่สุด บังคับส่วนหัวเข้าใกล้ลวดสลิงเยอะ ๆ หน่อย
(อย่าชนล่ะ) แล้วแขนจับจะบังคับลวดสลิงเกี่ยวหัวเครื่องบินให้เอง จุดปล่อยยานจะทำการเอนลงในแนวนอน
กระทั่งถึงพื้นนักบินก็เดินลงมาจากเครื่อง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าอธิบายดีพอหรือเปล่า
ชมภาพการทดสอบกันเลยดีกว่า
Ryan X-13 Vertijet มีขนาดค่อนข้างเล็กมาก เป็นเครื่องบินปีกสามเหลี่ยมรูปทรงล้ำสมัย ใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวพร้อมท่อปรับแต่งทิศทาง
ควบคุมการหมุนด้วย jet reaction control ติดตั้งอยู่ปลายปีกด้านใน
นี่คืออากาศยานที่ลอยออกมาจากการ์ตูน ผ่านนิยายวิทยาศาสตร์เข้าสู่ชีวิตรันทด
ต้นแบบทั้ง 2 ลำไม่มีการติดตั้งอาวุธ ไม่ได้ไปต่อเพราะมีอย่างอื่นที่ดีกว่า
เครื่องบินลำต่อไปได้แก่พระเอกตลอดกาล
Convair
Model 200 จากผู้สร้างเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นปีกสามเหลี่ยม F-106
Delta Dart ซึ่งมีจรวดต่อสู้อากาศยานหัวรบนิวเคลียร์ AIR-2
Genie เป็นไพ่ตาย (คือตายกันหมดทั้งสองฝ่าย)
ย้อนกลับไปที่โครงการ
Sea Control Ship กันอีกครั้ง เครื่องบิน Convair Model 200A (V/STOL) ได้ถือกำเนิดเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ใช้โครงสร้างเครื่องบิน
F-106 Delta Dart แล้วใส่ปีกคานาร์ดขนาดใหญ่เหมือนกับกริเพน
ส่วนหัวและท่อรับอากาศคล้ายกับ F-14 ใช้เครื่องยนต์หลักและเครื่องยนต์ยกตัวคล้ายกับ F-35 (F-35 ติดพัดลมยกตัว) ติดตั้งหน้าจอ HUD
และหน้าจออเนกประสงค์สำหรับดูแผนที่ ทั้งเทคโนโลยีและหน้าตาอาจล้ำสมัยไปบ้าง
แต่ก็แค่เล็กน้อยไม่น่าจะเกินสิบปี
ถัดมาในปี
1974 กองทัพเรือต้องการเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์น้ำหนักเบา ใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดมาตราฐาน
เพื่อทดแทน F-4 Phantom II และ A-7
Corsair II โดยต้องมีราคาที่ไม่แพงเกินไป
ค่าซ่อมบำรุงไม่โหดเหมือนรุ่นพับปีกได้อย่าง F-14 หรือ F-111 เครื่องบิน Convair Model 201A (CTOL) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ใช้ชิ้นส่วนร่วมกับ Model 200A
มากถึง 74 เปอร์เซนต์ ความเร็วสุงสุด 2
มัค ติดตั้งจรวดนำวิถีอินฟาเรดและจรวดนำวิถีเรดาร์รุ่นใหม่ แฝดคู่นี้คนอเมริกาค่อนข้างนิยมชมชอบ
นำมาใส่ในเกมส์กดบ้าง วาดภาพสวย ๆ อวดกันก็เยอะ ทำแบบจำลองออกมาขายเกลื่อนตลาด
ช่วงเวลาอันแสนหอมหวานผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว
แค่เพียง 2 ปี Convair ก็ได้พบว่าตนเองไม่เหลือที่ให้ยืน
โครงการ Sea Control Ship เลือกเครื่องบิน Rockwell
XFV-12A ส่วนโครงการเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เลือกเครื่องบิน McDonnell
Douglas F/A-18 Hornet บริษัทที่เคยผลิตเครื่องบินขับไล่ ดาวเทียม
กระสวยอวกาศ รวมทั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน ต้องพบกับขาลงเมื่อสินค้าไม่มีคนซื้อ กระทั่งในปี
1996 จำต้องสูญหายไปจากวงการ เมื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่เทขายทุกอย่างให้คู่แข่ง
ความล้มเหลวและผลกระทบ
ผู้อ่านน่าจะรู้จัก
F/A-18 Hornet กันเป็นอย่างดี จึงขอข้ามไปยังเครื่องบิน V/STOL ผู้ชนะเลิศของกองทัพเรืออเมริกา Rockwell XFV-12A
มีรูปร่างล้ำสมัยเหมือนมาจากปีคศ. 2099 มีปีกคานาร์ดขนาดใหญ่มากที่กลางลำ และปีกหลักขนาดกระทัดรัดที่ท้ายลำ
ใส่แพนหางพร้อมชุดควบคุมการทรงตัวที่ปลายปีก ใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวโดยไม่พึ่งเครื่องยนต์ยกตัว
ความเร็วสุงสุดทำได้ถึง 2.4 มัค มีน้ำหนักเบากว่า
Convair Model 200A อยู่ประมาณ 15 เปอร์เซนต์
ตอนเป็นเครื่องบินคอนเซปนั้นได้คะแนนสุงสุด
แต่พอเป็นเครื่องต้นแบบเหมือนหนังคนล่ะม้วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายจึงต้องใช้อะไหล่เก่า
จมูกเครื่องและห้องนักบินมาจาก A-4
Skyhawk ท่อรับอากาศมาจาก F-4 Phantom
II ใช้เครื่องยนต์ Pratt & Whitney F100 รุ่นเดียวกับ
F-14 Tomcat ถ้าบินขึ้นในแนวดิ่งปลายท่อจะถูกปิด
ช่องระบายอากาศใต้ลำตัวจะถูกเปิดออก เพื่อยกเครื่องบินให้ลอยสุงขึ้นท้องฟ้า ทดสอบในอุโมงค์ลมให้ผลลัพท์ค่อนข้างดี
แต่ทดสอบกับของจริงให้ผลลัพท์ค่อนข้างเลว เครื่องบินทำการยกตัวรวมทั้งทรงตัวได้แย่มาก
ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์ประสิทธิภาพเกินน้ำหนักไปตั้งเยอะ
หลังทดสอบบ้างหยุดบ้างอยู่พักใหญ่
ในปี 1981
จึงมีข้อสรุปให้ยกเลิกโครงการ ประเด็นนี้เสียงแตกออกเป็นสองฝั่ง ฝ่ายหนึ่งบอกว่าระบบยกตัวมีปัญหา ถ้าใส่เครื่องยนต์ยกตัวเข้าไปก็น่าจะจบ
ส่วนอีกฝ่ายบอกว่าเป็นเรื่องปรกติ เครื่องบินลำอื่นผลทดสอบแย่กว่านี้อีก ที่ถูกยกเลิกเพราะติดอาวุธได้น้อยต่างหาก
คือใต้ท้องกับปลายปีกรวมกันเพียง 4 จุด ส่วนกองทัพเรือให้เหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายมหาศาล
รวมทั้งโอกาสที่จะสำเร็จได้เข้าประจำการนั้น มีความเป็นไปได้คือ…เป็นไปไม่ได้เลย
แม้โครงการเครื่องบิน
V/STOL จะถูกยกเลิก ไม่ได้หมายความว่าอเมริกาไม่มีเครื่องบินชนิดนี้ เพราะเหล่านาวิกโยธินประจำการ
AV-8A Harrier มาตั้งแต่ปี 1971 ซึ่งก็คือเครื่องบินโจมตี Harrier GR.1 ใส่เครื่องยนต์ตัวใหม่ของรุ่น
GR.3 กับระบบต่าง ๆ ตามใจคนที่จ่ายเงิน
อเมริกาเป็นชาติที่สองที่มีแฮริเออร์ และเป็นชาติแรกที่มีแฮริเออร์ใช้งานบนเรือ
หมายเหตุ
: โครงการ Sea Control Ship ในปี 1971 ต้องการเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ แล้วใส่แฮริเออร์เข้าไปเพื่อช่วยคุ้มกัน
ต่อมาอีก 3 ปีต้องการเครื่องบินขับไล่ความเร็ว 2 มัค เพื่อใช้คุ้มหัวกองเรือขนาดเล็กที่มาด้วยกัน เมื่อเครื่องบิน
XFV-12A ได้รับการคัดเลือก โครงการก็ถูกยกเลิกช่วงเวลาใกล้เคียง
ก่อนแปลงร่างมาเป็น VSTOL Support Ship สำหรับนาวิกโยธินหน้าตาเฉย
ย่างเข้าสู่ปี 1978 ผู้ที่อยู่เบื้องหลังขยายแบบเรือจนมีขนาด
33,000 ตัน ติดตั้งเครื่องส่งเครื่องบินแบบรางดีดหรือ
Catapult และระบบลงจอดโดยใช้สายเคเบิ้ลหรือ Arresting Gear Landing
รองรับเครื่องบิน F/A-18 Hornet
การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายไม่สมหวัง
กองทัพเรือบอกปัดเพราะไม่รองรับเครื่องบิน F-14 Tomcat
ความล้มเหลวที่อังกฤษใช้เงินก้อนโตปรับปรุงเรือรองรับเครื่องบิน F-4K Phantom II คือสาเหตุที่อเมริกาไม่เอาเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก
ถึงเวลาที่จะต้องแปลงแกลลอนอังกฤษให้เป็นแกลลอนอเมริกาแล้ว
ประเด็นส่งท้าย
วันที่
2 เมษายน 1982 อาร์เจนตินาส่งทหารหน่วยรบพิเศษจำนวนหนึ่ง
บุกเข้ายึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ชนิดสายฟ้าแลบ กองกำลังอังกฤษซึ่งมีแค่เพียง 130 นาย ต้านทานไม่ไหวถูกจับเป็นตัวประกัน 22 นาย สงครามระหว่างสองประเทศจึงได้เกิดขึ้น
บนหมู่เกาะที่อยู่ห่างอาเจนติน่าประมาณ 400 ไมล์ทะเล และอยู่ห่างอังกฤษประมาณ
8,000 ไมล์ทะเล
ตอนนั้นอังกฤษมีเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวน
2
ลำ HMS Hermes (R12) ระวางขับน้ำ 28,000
ตัน ประจำการมาแล้ว 23 ปี กับ HMS
Invincible (R05) ระวางขับน้ำ 22,000 ตัน
ประจำการมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน 9 วัน โดยมีเครื่องบินขับไล่ Sea Harrier FRS.1 ฝูงล่ะ
5 ลำอยู่จำนวน 2 ฝูง (ลำเก่าที่สุดอายุเพียง
2 ปี) เครื่องบินที่เหลือสังกัดฝูงบินฝึกหัด อยู่ระหว่างคัดเลือกกำลังพลไปลงเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สาม
ซึ่งสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างติดโน่นนั่นนี่
เครื่องบินก็ดี
นักบินก็ดี เจ้าหน้าที่บนเรือก็ดี ล้วนอ่อนประสบการณ์ไม่พร้อมที่จะรบกับใคร
ทว่าสงครามได้เกิดขึ้นจริงและพวกเขาก็เป็นทหาร จึงเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าเตรียมออกเดินทาง
ทั้งที่บนเรือไม่มีเครื่องบินโจมตีแม้แต่ลำเดียว..!!
-----------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น