วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

Royal Thai Navy in 1963

 

โครงการปรับปรุงเรือปี 2506

         ในคำบรรยายเรื่อง ‘นโยบายกองทัพเรือ’ โดยพลเรือเอก สวัสดิ์ ภูติอนันต์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ณ โรงเรียนเสนาธิการทหาร วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2506 มีเรื่องหนึ่งน่าสนใจเหลือเกินจนผู้เขียนอยากนำมาเผยแพร่ต่อ เป็นบันทึกเรื่องความพยายามครั้งหนึ่งของราชนาวีไทย

กองทัพเรือสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิด

         (เริ่มต้นคำบรรยาย) แม้ว่าในขณะนี้กองทัพเรือยังไม่ได้รับงบประมาณสำหรับบำรุงกำลังทางเรือ เนื่องจากรัฐบาลยังมีภาระในการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่มากก็ตาม กองทัพเรือได้ตระหนักถึงภารกิจที่จะต้องปฏิบัติในสงครามอนาคต และมิได้นิ่งนอนใจคอยรับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศแต่อย่างเดียว กองทัพเรือได้พยายามปรับปรุงกำลังทางเรือที่มีอยู่ โดยถืออันดับความสำคัญของเรือที่จะปรับปรุง ตามสภาพของภัยที่อาจคุกคามในสงครามอนาคต และตามสถานการณ์ปัจจุบันดังนี้คือ

-เรือกวาดทุ่นระเบิดเป็นอันดับหนึ่ง

-เรือปราบเรือดำน้ำเป็นอันดับสอง

-เรือสำหรับทำการรุกรานทางน้ำเป็นอันดับสาม

-เรือบริการและเรืออื่นๆ เป็นอันดับต่อไป ขณะนี้กำลังดำเนินการคือ

1.พิจารณาสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดแบบเรือหลวงท่าดินแดง ด้วยไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น ไม้สัก ไม้ตะเคียน เป็นต้น และใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเก่าที่กองทัพเรือมีอยู่ ซึ่งขณะนี้ตัวเรือกำลังทรุดโทรมและเสื่อมสภาพไปตามอายุขัย หรือถ้าทำได้จะขอความช่วยเหลือในเรื่องเครื่องจักรและอุปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา ขณะนี้กำลังเจรจาของแบบแปลนรายละเอียดจากสหรัฐอเมริกา และทาบทามขอเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย

ในเรื่องไม้และการสร้างนั้น เจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วว่า จะสามารถสร้างเรือได้ด้วยเครื่องมือและช่างที่มีอยู่โดยใช้เวลาลำละประมาณ 1 ปี และต้องเสียค่าไม้ประมาณลำละ 8 แสนบาท (ราคาเรือแบบนี้ที่สร้างในต่างประเทศประมาณลำละ 45 ล้านบาท) จริงอยู่ สหรัฐอเมริกาได้มีโครงการให้เรือใหม่แบบเดียวกันกับเราแล้ว แต่จำนวนที่ให้มานั้นไม่พอที่จะปฏิบัติภารกิจในสงครามอนาคต ประกอบกับโครงการให้เรือประเภทนี้เป็นโครงการระยะยาว ไม่แน่ใจว่าจะถูกตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงเสียเมื่อใด

หากเราสามารถสร้างเรือแบบนี้ขึ้นใช้เองแล้ว แม้ว่าจะไม่ดีเท่ากับเรือที่ได้รับความช่วยเหลือหรือที่สร้างในต่างประเทศก็ตาม เราก็ยังสามารถใช้เรือที่สร้างเองนั้นในการฝึกหัดและปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเย็นได้ กับทั้งยังเป็นการเพิ่มความชำนาญและความมั่นใจให้แก่ช่างต่อเรือของเราด้วย

การขอความช่วยเหลือโดยฝ่ายเราร่วมออกค่าใช้จ่ายด้วยเช่นในกรณีเรือกวาดทุ่นระเบิด เราออกค่าสร้างตัวเรือและขอเครื่องจักรกับอาวุธจากเขา เข้าใจว่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าขอซื้อเรือทั้งลำ ในเรื่องการสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดนี้เมื่อได้รับแบบแปลนรายละเอียดมาแล้ว จะได้พิจารณาและวางแผนโดยละเอียดต่อไป และเข้าใจว่าคงเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2507 เป็นอย่างช้า (สิ้นสุดคำบรรยาย)

คำบรรยายผู้บัญชาการทหารเรือค่อนข้างชัดเจน กองทัพเรือต้องการสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดแบบเรือหลวงท่าดินแดง ซึ่งเป็นเรือเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้รับมาจากสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือจะสร้างตัวเรือด้วยไม้ในประเทศโดยใช้งบประมาณ 8 แสนบาท ส่วนแบบแปลนเรือ เครื่องจักร อาวุธ และอุปกรณ์ต่างๆ จะขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

เป็นแนวคิดที่ไม่ได้แปลกแหวกแนวอะไรเลย  ช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้ชาติพันธมิตรสร้างเรือเองจากแบบเรือยุคเก่า ยกตัวอย่างเช่นอู่ต่อเรือ Bazan สร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขนาด 83 ฟุตให้กองทัพเรือสเปนจำนวนหนึ่ง โดยใช้แบบเรือเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุตของหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงแต่ไม่ทราบว่าพวกเขาขอความช่วยเหลือเรื่องเครื่องจักร อาวุธ และอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนเราหรือไม่

หมายเหตุ : เหตุผลที่เรือกวาดทุ่นระเบิดสร้างด้วยไม้เพราะไม้ไม่กระตุ้นให้ทุ่นระเบิดทำงาน แต่เอาเข้าจริงเรือกวาดทุ่นระเบิดหลายลำก็จมเพราะทุ่นระเบิดอยู่ดี ฉะนั้นจึงถือเป็นเรืออันตรายและทำภารกิจอันตรายมาก กองทัพเรือในปี 2506 ถึงให้ความสำคัญอยู่ในลำดับต้นๆ

ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือหลวงลาดหญ้าลำที่หนึ่ง เรือกวาดทุ่นระเบิดที่ราชนาวีไทยต้องการสร้างด้วยตัวเองหน้าตาแบบนี้เลย เป็นเรือสนับสนุนการกวาดทุ่นระเบิด YMS-1 ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาสร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2490 กองทัพเรือไทยได้รับโอนมาใช้งานจำนวน 3 ลำ เรือมีระวางขับน้ำ 270 ตัน ยาว 41 เมตร กว้าง 7.47 เมตร กินน้ำลึก 2.4 เมตร เป็นเรือยุคเก่าช่างกองทัพเรือไทยสร้างตัวได้อย่างสบาย

บังเอิญโครงการสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดในประเทศไม่เกิดขึ้นจริง กองทัพเรืออาจสร้างเรือไม่เสร็จหรือไม่ได้สร้างเลยไม่แน่ใจ เหตุผลที่มีความเป็นไปได้ผู้เขียนตั้งสมมุติฐานไว้ 3 ข้อได้ตามนี้

1.รัฐบาลให้งบประมาณน้อยเกินไปจนไม่หลงเหลือนำมาสร้างเรือ มีความเป็นไปได้เหมือนกันแต่ค่อนข้างน้อยนิด เพราะราคาสร้างตัวเรือเพียง 8 แสนบาทน่าจะพอจัดสรรได้ไม่ยาก

2.สหรัฐอเมริกาไม่สนับสนุน มีความเป็นไปได้สูงกว่าสมมุติฐานข้อที่หนึ่ง

3.กองทัพเรือเปลี่ยนนโยบาย มีความเป็นได้สูงกว่าสมมุติฐานสองข้อแรก

ข้อเท็จจริงที่ตามมาซึ่งอาจเกิดจากสหรัฐอเมริกาสนับสนุนด้วยวิธีการอื่น หรือกองทัพเรือเปลี่ยนนโยบายในภายหลังก็คือ ราชนาวีไทยได้รับมอบเรือกวาดทุ่นระเบิดใหม่เอี่ยมจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 4 ลำ

ภาพประกอบที่สองคือเรือหลวงบางแก้วลำที่สอง เป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น MSC-294 ซึ่งสหรัฐอเมริกาสร้างขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายชาติพันธมิตร เรือมีระวางขับน้ำ 384 ตัน ยาว 43.5 เมตร กว้าง 8.1 เมตร กินน้ำลึก 2.7 เมตร ติดตั้งอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ทันสมัย ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในปี 2507 และเข้าประจำการราชนาวีไทยปี 2508

สหรัฐอเมริกามอบเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น MSC-294 ใหม่เอี่ยมให้กับกองทัพเรือไทยจำนวน 4 ลำ บวกเรือหลวงโพสามต้นซึ่งเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดและเรือฝึก เรือหลวงรางเกวียนเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิด และเรือกวาดทุ่นระเบิดเขตน้ำตื้นขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง ถือว่ามากเพียงพอสำหรับการปฏิบัติภารกิจของกองเรือทุ่นระเบิด จำนวนเรือมากกว่ากองเรือทุ่นระเบิดในปัจจุบันด้วยซ้ำ

โครงการสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดในประเทศจึงไม่เกิดขึ้นจริง

เรือตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ

(เริ่มต้นคำบรรยาย) 2.พิจารณาซ่อมและดัดแปลงเรือตอร์ปิโดใหญ่ 7 ลำให้ทันสมัยขึ้น มีความสามารถในการลาดตระเวนระยะไกล การต่อสู้กับเรือผิวน้ำด้วยปืนใหญ่และตอร์ปิโด และการทิ้งทุ่นระเบิดทางยุทธวิธี หากการทรงตัวของเรือเหมาะสมก็จะติดตั้งอุปกรณ์ค้นหาเรือดำน้ำ และอาวุธปราบเรือดำน้ำเพิ่มขึ้น การดัดแปลงและซ่อมทำเรือเหล่านี้ใช้เงินค่าสร้างเรือลาดตระเวนที่รัฐบาลอิตาลีชดเชยให้ประมาณ 36 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องซื้อสิ่งของจากประเทศอิตาลี

เหตุที่กองทัพเรือยืนยันที่จะซ่อมและดัดแปลงเรือเหล่านี้ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกเห็นว่าตัวเรือและเครื่องจักรยังอยู่ในสภาพที่พอจะซ่อมได้ ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่จัสแมกให้ความเห็นว่าการซ่อมเรือให้ทันสมัยนั้น ถ้าต้องใช้เงินไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของราคาเรือแบบเดียวกันที่สร้างใหม่แล้วก็นับว่าคุ้มค่า เรือแบบเรือตอร์ปิโดใหญ่นี้เจ้าหน้าที่จัสแมกประเมินราคาสร้างใหม่ลำละ 100 ล้านบาท เมื่อเราประมาณค่าซ่อมและดัดแปลงรวมทั้งค่าซื้อกระสุนด้วยเพิ่มเติมทั้ง 7 ลำเป็นเงินประมาณ 44 ล้านบาท จึงนับว่าสมควรแล้วที่เจ้าหน้าที่จัสแมกก็เห็นชอบด้วย และรับพิจารณาเปลี่ยนปืนใหญ่ประจำเรือให้เป็นแบบอเมริกันในโอกาสต่อไป

เหตุผลประการที่สองเพื่อใช้เงินที่ได้รับคืนในการจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่จำเป็น เพราะเรือเหล่านี้สร้างที่อู่ต่อเรือในอิตาลี นอกจากนั้นภารกิจในการลาดตระเวนชายแดน และเตรียมส่งกำลังรบไประงับความไม่สงบบริเวณชายแดนกัมพูชา ซึ่งกองทัพเรือต้องปฏิบัติเรื่อยมาตั้งแต่เกิดกรณีพิพาทกับกัมพูชานั้น แสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้เรือเหล่านี้อยู่ในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ยังไม่แน่ใจว่ากองทัพเรือจะได้เรืออื่นๆ มาทดแทนเรือตอร์ปิโดใหญ่ ดังนั้นการซ่อมและดัดแปลงเรือเหล่านี้จึงนับว่าสมควร

ในขณะนี้กำลังดำเนินการขอ Specification ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะสั่งซื้อจากอิตาลี เพื่อตรวจสอบกับความต้องการของเราเพื่อสั่งซื้อเอามาใช้งานในการซ่อมต่อไป สำหรับเรือหลวงชุมพรซึ่งเข้าอู่ทำการซ่อมใหญ่นั้น ก็ได้เริ่มดัดแปลงสะพานเดินเรือและเสาด้วยวัสดุคงคลังที่มีอยู่เพื่อเป็นการทดลองว่า จะเป็นไปตามโครงการได้เพียงใด และจะได้เป็นแนวทางในการดัดแปลงเรือลำอื่นด้วย

3.พิจารณาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่าง ให้แก่เรือที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา และกองทัพเรือยังมีความจำเป็นต้องใช้เรือเหล่านั้น เช่นเรือหลวงแม่กลองเป็นต้น เพื่อเพิ่มพูนความสามารถให้แก่เรือเหล่านั้นตามสมควร (สิ้นสุดคำบรรยาย)

ข้อมูลจากคำบรรยายผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้เขียนสรุปใจความทั้งหมดได้ตามนี้

1.กองทัพเรือได้รับเงินเงินชดเชยค่าสร้างเรือลาดตระเวนจากรัฐบาลอิตาลีประมาณ 36 ล้านบาท กว่าจะได้รับเงินจริงก็เลยเวลาส่งมอบเรือไปแล้ว 20 ปี เป็นหนี้ก้อนโตที่ติดอยู่ในอกลูกประดู่ไทยมาอย่างยาวนาน และมาในช่วงเวลาเหมาะสมหลังกองทัพเรือถูกพิษการเมืองเล่นงานอย่างรุนแรง

2.ค่าซ่อมและปรับปรุงเรือตอร์ปิโดใหญ่จำนวน 7 ลำอยู่ที่ 44 ล้านบาท รวมกระสุนปืนใหญ่แต่ไม่รวมปืนใหญ่จากสหรัฐอเมริกา จึงเป็นไปได้ว่าใช้เงินจริงไม่ถึง 44 ล้านเพราะไม่ได้ซื้อกระสุนปืนใหญ่

3.การปรับปรุงเรือตอร์ปิโดใหญ่เกิดขึ้นจริงเพียง 4 ลำ การซ่อมและเปลี่ยนปืนใหญ่เกิดขึ้นทั้ง 7 ลำ ส่วนการดัดแปลงสะพานเดินเรือและเสากระโดงมีเพียงเรือหลวงชุมพร เรือหลวงตราด และเรือหลวงภูเก็ตจำนวน 3 ลำ โดยมีเรืออีกหนึ่งลำเปลี่ยนมาใช้เสากระโดงตั้งตรงด้านบนติดเรดาร์เดินเรือจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

4.การปรับปรุงให้เรือตอร์ปิโดใหญ่วางทุ่นระเบิดทางยุทธวิธี หรือการติดตั้งโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำกับอาวุธปราบเรือดำน้ำตามคำบรรยาย ไม่เคยเกิดขึ้นจริงรวมทั้งบนเรือหลวงชุมพร

5.หนึ่งในเหตุผลที่กองทัพเรือต้องการปรับปรุงเรือตอร์ปิโดใหญ่ เพราะมีเรือตรวจการณ์ไม่เพียงพอต่อภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ จำเป็นต้องมีเรือติดปืนใหญ่ไว้ยิงสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดิน รวมทั้งช่วยเหลือในภารกิจปราบเรือดำน้ำ แต่เอาเข้าจริงการปรับปรุงเรือกลับไปไม่สุดตามความตั้งใจด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

ภาพประกอบที่สามเรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงจันทบุรีจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือหลวงนาคากับเรือหลวงแรดจอดเรียงกันบริเวณกราบซ้าย ช่างภาพชาวอเมริกันถ่ายภาพนี้ในปี 2513 เป็นหลักฐานชัดเจนการปรับปรุงเรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงจันทบุรีไม่ได้สร้างเสากระโดงใหม่ ไม่มีการติดตั้งเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่ ไม่มีการต่อเติมห้องวิทยุ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวคือปืนใหญ่ทั้งหมดบนเรือ ส่วนเรือหลวงนาคาที่จอดติดกันมีทั้งเรดาร์เดินเรือและระบบสื่อสารรุ่นใหม่

ภาพประกอบที่สี่ภาพเล็กมุมบนซ้ายคือเรือตอร์ปิโดใหญ่หลังการปรับปรุงใหญ่ หัวเรือ-ท้ายเรือติดปืนใหญ่ Mk 22 ขนาด 76/50 มม. ป้อมปืนกลางเรือติดปืนกลโบฟอร์สขนาด 40L60 มม. ส่วนป้อมปืนขนาดเล็กอีก 2 ป้อมปืนติดปืนกลเออริคอนขนาด 20 มม.มีความแตกต่างจากเรือหลวงชุมพรพอสมควรโดยเฉพาะเสากระโดง

ภาพประกอบที่สี่ภาพใหญ่เรือหลวงชุมพรในปี 2563 หลังปลดประจำการในปี 2523 เรือถูกส่งมาจอดหน้าพระตำหนักหาดทรายรีจังหวัดชุมพร สังเกตนะครับเสากระโดงถูกปรับปรุงใหม่เป็นรุ่น 3 เสา ติดตั้งเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่จำนวน 1 ตัว มีการต่อเติมห้องวิทยุด้านหลังสะพานเดินเรือ ส่วนเสากระโดงรองติดป้อมปืนกลท้ายเรือหายไป หัวเรือ-ท้ายเรือติดปืนใหญ่โบฟอร์สขนาด 75/51 มม.ปลดประจำการแล้ว ป้อมปืนกลางเรืออีก 2 จุดติดปืนกลแมดเสนขนาด 20 มม.ปลดประจำการแล้วเช่นกัน ส่วนปืนใหญ่ Mk 22 ขนาด 76/50 มม.ปืนกลโบฟอร์สขนาด 40L60 มม.และปืนกลเออริคอนขนาด 20 มม.ถูกถอดนำไปใช้งานบนเรือลำอื่น

ภาพประกอบที่ห้าเป็นท้ายเรือเรือหลวงชุมพรปี 2563 จะเห็นนะครับว่าแท่นยิงตอร์ปิโดกลางเรือลดจาก 2 แท่นยิงเหลือเพียง 1 แท่นยิง ป้อมปืนใกล้ปืนใหญ่กระบอกหลังหายไป ป้อมปืนระหว่างแท่นยิงตอร์ปิโดสร้างขึ้นมาใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิม ถ้าถอดปืนใหญ่ท้ายเรือออกจะมีพื้นที่ว่างพอสมควร สามารถติดตั้งแท่นยิงระเบิดลึกกับรางปล่อยระเบิดลึกเหมือนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงสารสินธุ

บังเอิญการติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำมีปัญหากวนใจ เนื่องจากท้ายเรือเป็นรูปทรงรีค่อนข้างแคบเหมือนเรือรุ่นเก่าอาทิเช่นเรือหลวงพระร่วง (เรือรุ่นใหม่จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมค่อนข้างกว้าง) การติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกทำได้เพียง 1 รางถือว่าน้อยเกินไป การติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดก็ทำได้เพียง 1 รางถือว่าน้อยเกินไปเช่นกัน นอกเสียจากจะสร้างระเบียงสำหรับติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดหรือระเบิดลึกสองกราบเรือ เหมือนเรือหลวงแม่กลองซึ่งมีบั้นท้ายทรงรีคล้ายกันและมีอายุใกล้เคียงกัน

อาจเป็นเพราะเหตุผลนี้เรือตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำจึงไม่เกิดขึ้นจริง

อ้างอิงจาก

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสวัสดิ์ ภูติอนันต์

https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=aumteerama&month=10-2020&date=14&group=12&gblog=244

https://www.shipscribe.com/thai/images/above.html

https://www.history.navy.mil/


วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

RTN Naval Programme

 

โครงการบำรุงกำลังทางเรือ

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศในปี 2475 กองทัพเรือไทยขนาดค่อนข้างเล็กเต็มไปด้วยเรือเก่าใกล้ปลดประจำการ ประกอบกับเรือสมัยนั้นอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น เรือปืนอายุ 15 ปี เรือพิฆาตและเรือตอร์ปิโดอายุ 15 ปี เรือยามฝั่งอายุ 5-10 ปี ส่งผลให้กองทัพเรือเหลือเรือใช้งานได้ประกอบไปด้วย เรือปืนจำนวน 2 ลำ (เรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์) เรือยามฝั่งจำนวน 5 ลำ (ร.ย.ฝ.2 ถึง ร.ย.ฝ.5 และเรือหาญหักศัตรู) รวมทั้งเรือหลวงพระร่วงซึ่งเข้ารับการปรับปรุงยึดอายุการใช้งาน กำลังรบที่มีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับภัยคุกคามซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ย่างเข้าสู่ปี 2477 กองทัพเรือปรับปรุงกำลังทางเรือให้แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยการซื้อเรือตอร์ปิโดจากประเทศอิตาลีจำนวน 2 ลำ ได้แก่เรือหลวงตราดและเรือหลวงภูเก็ต ราคารวมทั้งอาวุธประมาณ 2.6 ล้านบาท กับเรือยามฝั่งจากอังกฤษจำนวน 3 ลำได้แก่เรือ ร.ย.ฝ.6 ถึง ร.ย.ฝ.8 ราคาไม่รวมอาวุธประมาณ 8 แสนบาท โดยใช้งบประมาณที่ได้รับเพิ่มเติมจากกระทรวงกลาโหมช่วงปลายปี 2476

ราชนาวีไทยขยับตัวครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือหลวงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในสองเรือปืนซึ่งจัดว่าทันสมัยที่สุดในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรือจากอังกฤษขนาดเล็กมากระวางขับน้ำเต็มที่เพียง 1,000 ตัน ระบบควบการยิงค่อนข้างล้าสมัยใช้งานยากความแม่นยำต่ำ

เพื่อให้การปรับปรุงกำลังทางเรือเป็นไปตามแบบแผนการที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ กองทัพเรือได้จัดทำโครงการสร้างเรือ (Naval Construction Programme หรือ Naval Programme) เพื่อส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาในวันที่ 18 มกราคม 2477 ผู้เขียนขอคัดลอกข้อมูลสำคัญบางส่วนมาเผยแพร่ต่อตามนี้

เรียน นายพันเอก หลวงพิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ตามนโยบายป้องกันประเทศสยามในปัจจุบัน ทุกหน่วยกำลังของชาติกำลังวางโครงการที่จะทำให้ประเทศมีกำลังพลเหมาะสมกับสถานการณ์ สำหรับกองทัพเรือได้วางโครงการไว้เป็นขั้นๆ ตามกำลังทรัพย์ของประเทศ และขั้นต่ำสุดที่ต้องการให้พอทำการได้ผลบ้างเฉพาะในยุคนี้มีดังนี้

-เรือปืนขนาดหนัก 2,000 ตันจำนวน 2 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันจำนวน 6 ลำ

-เรือดำน้ำขนาด 300-400 ตันจำนวน 6 ลำ

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ

-ทุ่นระเบิดจำนวน 2,000 ลูก

-เรือยามฝั่งไม่ต่ำกว่า 20 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาดเล็กสำหรับฝึกคนจำนวน 2 ลำ

-เรือฝึกหัดนักเรียนจำนวน 1 ลำ

ด้วยกำลังเท่านี้จะช่วยรักษาความเป็นกลางไว้ได้ ถ้าเกิดสงครามจะช่วยป้องกันการยกพลขึ้นบก และช่วยรักษาปีกทหารบกบริเวณก้นอ่าวสยามไว้ได้ แต่จะไปทำการรุกรานไม่ได้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น

ราคาเรือและอาวุธที่กล่าวถึงประมาณได้ดังนี้

-เรือปืนขนาด 2,000 ตันลำละ 5,000,000 บาท

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันลำละ 1,300,000 บาท

-เรือดำน้ำขนาด 300 ตันลำละ 2,300,000 บาท

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดขนาด 400 ตันลำละ 500,000 บาท

-เรือยามฝั่งลำละ 120,000 บาท

ในขั้นนี้กองทัพเรือขออนุมัติเริ่มดำเนินการเฉพาะ

-เรือปืนขนาด 2,000 ตันจำนวน 1 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันจำนวน 4 ลำ

-เรือดำน้ำขนาด 300 ตันจำนวน 3 ลำ

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดขนาด 400 ตันจำนวน 1 ลำ

รวมทั้งหมดเป็นเงินประมาณ 17,600,000 บาท

กองทัพเรือกำลังทาบทามบริษัทต่างๆ ในการใช้เงิน ถ้าหากบริษัทตกลงให้ผ่อนปีละ 2,000,000 บาท กองทัพเรือขอให้กระทรวงกลาโหมเจรจาตกลงกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลอนุมัติกองทัพเรือจะรีบดำเนินการต่อไป ฉะนั้นถ้าเริ่มได้เสียเดี๋ยวนี้จะเป็นการดียิ่ง มิฉะนั้นจะไม่ได้เรือมาใช้ทันการ

ควรมีควรแล้วแต่จะกรุณา นาวาเอกพระยาวิจารณ์จักรกิจ ผู้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ

หมายเหตุ : ผู้เขียนถือวิสาสะปรับปรุงสำนวนการเขียนเล็กน้อย ข้อมูลยังอยู่ครบถ้วนแต่อ่านเข้าใจง่ายกว่าเดิม

ภาพประกอบที่สองเรือลำใหญ่คือเรือหลวงระยอง เรือตอร์ปิโดใหญ่สร้างจากประเทศอิตาลี ส่วนเรือลำเล็กสองลำคือเรือหลวงตากใบกับเรือหลวงสัตหีบ เรือตอร์ปิโดเล็กสร้างจากประเทศญี่ปุ่นและสร้างเอง เป็นหนึ่งในผลผลิตจากโครงการบำรุงกำลังทางเรือเรือ

โครงการบำรุงกำลังทางเรือแบ่งออกเป็น 2 สกรีมประกอบไปด้วย สกรีมหนึ่งสร้างเรือเล็กสำหรับทำการรบใกล้ฝั่ง สกรีมสองสร้างเรือใหญ่สำหรับทำการรบระยะไกล จำนวนเรือที่กองทัพเรือเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเพียงสกรีมแรกเนื่องจากเกรงว่ารัฐบาลอาจมีงบประมาณไม่เพียงพอ

โครงการบำรุงกำลังทางเรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล เพียงแต่รัฐบาลไม่เห็นด้วยที่กองทัพเรือขอซื้อเรือด้วยวิธีผ่อนจ่าย เกรงว่านานาชาติจะเข้าใจผิดคิดว่าการเงินประเทศไทยไม่ดี รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้เงินคงคลังซึ่งมีเงินสดมากเพียงพอ กำหนดให้ใช้งบประมาณบำรุงกำลังทางเรือ 18 ล้านบาทในเวลา 6 ปี

วันที่ 29 มีนาคม 2477 พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือถูกดันเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน 2478 พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือถูกประกาศเป็นกฎหมาย เนื้อหาใจความสำคัญมีแค่เพียง 4 มาตรา ประเด็นสำคัญอยู่ในมาตราที่ 3 ให้ตั้งงบประมาณก้อนหนึ่งเป็นเงิน 18 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงกลาโหมจัดสร้างโครงการบำรุงกำลังทางเรือภายใน 6 ปี และมาตราที่ 4 ให้จ่ายเงินจากเงินงบประมาณปีละ 1 ล้านบาท ที่เหลือให้จ่ายเงินจากเงินคงคลัง

เท่ากับว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้สูตร เงินงบประมาณ 1 ล้านบาท + เงินคงคลัง 2 ล้านบาท = งบประมาณบำรุงกำลังทางเรือเรือ 3 ล้านบาทต่อปี

ข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่สมควรบันทึกเพิ่มเติมก็คือ กองทัพเรือใช้สูตร 1+2= 3 ระยะเวลา 6 ปีในการใช้เงินซื้อเรือ ครั้นถึงเวลาจริงเงินคงคลังจำนวน 12 ล้านถูกใช้หมดสิ้นภายใน 4 ปีแรก เนื่องจากกองทัพเรือมีการปรับเปลี่ยนแผนการจ่ายเงินกับบริษัทสร้างเรือเล็กน้อย ความเปลี่ยนแปลงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งใดรัฐบาลยังคงจ่ายเงินเท่าเดิม

เมื่อพระราชบัญญัติถูกประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ กองทัพเรือได้ออกคำสั่งเฉพาะที่ 2/78 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือ ประกอบไปด้วยนายทหารเรือระดับนาวาตรีขึ้นไปจำนวน 13 นาย คณะกรรมการใช้วิธีประกวดราคาและคัดเลือกซื้อเรือ จากบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดแต่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ และอาจแยกซื้อเรือจากบริษัทหนึ่งแต่ซื้ออาวุธจากอีกบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้กองทัพเรือได้ใช้อาวุธคุณภาพดีราคาประหยัด ยกตัวอย่างเช่นซื้อเรือตอร์ปิโดจากอิตาลี ซื้อปืนใหญ่จากสวีเดน ส่วนตอร์ปิโดซื้อจากเดนมาร์กและญี่ปุ่น

เมื่อการประกวดราคาได้ผู้ชนะการคัดเลือกครบถ้วนทั้งหมด คณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือจึงสั่งซื้อเรือชนิดต่างๆ ประกอบไปด้วย

1.กรกฎาคม 2478 เรือกวาดทุ่นระเบิดไม่มีอาวุธจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ ราคา 583,000 บาท

2.กรกฎาคม 2478 เรือตอร์ปิโดใหญ่ไม่มีอาวุธจากอิตาลีจำนวน 7 ลำ ราคา 3,999,940 บาท

3.สิงหาคม 2478 เรือสลุปไม่มีอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 1,885,000 บาท

4.พฤศจิกายน 2478 เรือดำน้ำพร้อมอาวุธยกเว้นลูกตอร์ปิโดจากญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำ ราคา 3,280,000 บาท

5.ธันวาคม 2478 เรือปืนหนักพร้อมอาวุธยกเว้นปืนใหญ่ 75 มม.จากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 5,726,666 บาท

6.มกราคม 2479 เรือตอร์ปิโดเล็กพร้อมอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 3 ลำ ราคา 721,154 บาท

7.มีนาคม 2479 เรือลำเลียงไม่มีอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 676,722 บาท

ราคารวมเรือทุกลำเท่ากับ 16,872,482 บาท

ภาพประกอบที่สามคือเรือหลวงวิรุณในอู่ต่อเรือประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในสี่เรือดำน้ำชุดแรกของราชนาวีไทย

นอกจากเรือชนิดต่างๆ จำนวน 7 แบบยอดรวม 22 ลำ คณะกรรมการได้พิจารณาซื้ออาวุธมาใช้งานเพิ่มเติมประกอบไปด้วย

1.ปืนใหญ่ขนาด 120/45 มม.จำนวน 12 กระบอก ราคา 514,948 บาทใช้ในเรือสลุป

2.ตอร์ปิโดขนาด 45 มม.(แบบ ฉ) จำนวน 80 ลูก และท่อยิงเดี่ยวกับท่อยิงคู่จำนวน 15 ชุด ราคา 1,259,545 บาทใช้ในเรือตอร์ปิโดกับเรือดำน้ำ

3.ปืนใหญ่ขนาด 75/51 มม.(โบฟอร์ส) จำนวน 40 กระบอก ราคา 1,222,402 บาทใช้ในเรือตอร์ปิโดกับเรือปืน

4.ทุ่นระเบิดชนิดทอดประจำที่จำนวน 200 ลูก ราคา 500,000 บาท

5.เครื่องบินทะเลแบบ บรน.1จำนวน 6 ลำ ราคา 229,476 บาท

6.ปืนใหญ่ขนาด 76/25 มม.จำนวน 5 กระบอก ราคา 92,505 บาทติดในเรือตอร์ปิโดเล็กที่จะสร้างเอง

7.ลูกปืน 75/51 มม.และลูกปืนหลอด ราคา 210,000 บาท

8.ตอร์ปิโดขนาด 45 มม.(แบบ ฉ) จำนวน 20 ลูก และท่อยิงคู่จำนวน 8 ชุด ราคา 301,282 บาทใช้ในเรือสลุปกับเรือหลวงพระร่วง

9.เครื่องจักรและหม้อน้ำเรือตอร์ปิโดเล็กจำนวน 3 ชุด ราคา 334,103 บาท (กองทัพเรือต้องการสร้างเอง)

10.สร้างเรือตรวจการณ์ประมงขนาด 50 ตันจำนวน 3 ลำที่กรมอู่ทหารเรือ ราคา 151,815 บาท ประกอบไปด้วยเรือหลวงสารสินธุ เรือหลวงเทียวอุทก และเรือหลวงตระเวนนารี

11.ซื้อเครื่องหนีภัยจากเรือดำน้ำจำนวน 200 ชุด ราคา18,366 บาท

ราคาระบบอาวุธทั้งหมดเท่ากับ 4,834,442 บาท

คณะกรรมการยังได้ซื้ออาวุธชนิดอื่นเพิ่มเติมทว่าผู้เขียนไม่สามารถหาราคาได้ดังนี้

1.ปืนกลแมดเสนขนาด 20 มม.ทั้งรุ่นแท่นเดี่ยวและแท่นคู่

2.หมวกเหล็ก 4,000 ใบ

3.ลูกปืนซ้อมยิงกับลูกสลุตของปืนใหญ่ 120/45 มม.

4.ระเบิดลึกและพาราเวนกวาดทุ่นระเบิดจากญี่ปุ่น

5.ปืนใหญ่สนามขนาด 75/40 มม.สำหรับนาวิกโยธิน (ขอแบ่งจากกองทัพบก)

6.ปืนกลแมดเสนขนาด 8 มม.สำหรับนาวิกโยธินและเรือยามฝั่ง

7.สร้างเรือยามฝั่งเพิ่มเติมจำนวน 3 ลำ โดยกรมอู่ทหารเรือ ประกอบไปด้วยเรือ ร.ย.ฝ.9 ถึง ร.ย.ฝ.11

8.สร้างเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 150 ตันจำนวน 1 ลำโดยกรมอู่ทหารเรือ ได้แก่เรือหลวงปรง กระทรวงกลาโหมออกเงินให้ 75,000 บาทโดยให้ใช้เรือร่วมกับกรมเชื้อเพลิง

ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2478 ถึง 2481 หรือ 4 ปี กองทัพเรือใช้งบประมาณในการพัฒนากำลังรบทางเรือจำนวน 21.7 ล้านบาท รวมอาวุธที่ไม่มีข้อมูลเรื่องราคากับการสร้างอู่แห้งที่กรมอู่ทหารเรือ อาคารสถานที่ คลังเชื้อเพลิงที่สัตหีบ เท่ากับว่ากองทัพเรือใช้เงินประมาณ 23 ล้านบาท เป็นเงินจากพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือเรือจำนวน 16 ล้านบาท บวกเงินจากงบประมาณประจำปีกองทัพเรืออีกประมาณ 7 ล้านบาท

ภาพประกอบที่สี่คือเรือสลุปชั้นเรือหลวงท่าจีนสร้างโดยญี่ปุ่น สังเกตนะครับโครงการสร้างเรือที่กองทัพเรือยื่นให้กับกระทรวงกลาโหมไม่มีเรือชนิดนี้ แต่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังโดยคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือ

นี่คือเบื้องหลังโครงการสร้างเรือหรือ Naval Programme ครั้งแรกของราชนาวีไทย เป็นโครงการระยะยาว 6 ปีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐสภา มีการเพิ่มเติมชนิดเรือเข้ามาจากความต้องการสกรีมแรกของกองทัพเรือ นั่นคือเรือสลุปขนาด 1,400 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือชนิดนี้ทำการรบ 3 มิติได้เหมือนเรือฟริเกตในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถใช้เป็นเรือฝึกให้กับกำลังพลทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

นอกจากซื้อเรือชนิดต่างๆ จำนวน 22 ลำเข้าประจำการ กองทัพเรือยังมีโครงการสร้างเรือยามฝั่งและเรือตรวจการณ์ประมงจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีแผนการสร้างเรือตอร์ปิโดเล็กด้วยฝีมือตัวเองจำนวน 3 ลำ ถึงได้จัดหาปืนใหญ่ขนาด 76/25 มม.จำนวน 5 กระบอก กับเครื่องจักรและหม้อน้ำเรือตอร์ปิโดเล็กจำนวน 3 ชุด โครงการนี้ค่อนข้างล่าช้ากว่าจะสร้างเสร็จปาเข้าไปปี 2499 และสร้างเพียงลำเดียวคือเรือหลวงสัตหีบในภาพประกอบที่สอง

โครงการบำรุงกำลังทางเรือเรือประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทุกอย่างเป็นไปตามแผนการเรือทุกลำถูกส่งมอบตามกำหนดการ ลูกประดู่ไทยสามารถสร้างกำลังทางเรือขนาดใหญ่ในเวลาไม่กี่ปี ผู้เขียนคาดหวังว่าชั่วชีวิตตัวเองจะได้เห็น RTN Naval Programme เกิดขึ้นกับตาสักครั้ง

อ้างอิงจาก

อนุสรณ์นักบินทหารเรือที่เสียชีวิตเมื่อ 17 มีนาคม 2512

https://www.shipscribe.com/thai/images/above.html

https://www.history.navy.mil/

https://web.facebook.com/photo?fbid=2187605524716389&set=pcb.2187606464716295

https://web.facebook.com/photo/?fbid=867927502005009&set=a.511878827609880

 

วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

Operation Naval Arrow

 

สงครามทุ่นระเบิด

        วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2017 สหรัฐอเมริกาออกคำเตือนมายังเรือสินค้าเอกชนทุกลำที่แล่นผ่านทะเลแดง ให้คอยระวังทุ่นระเบิดใต้น้ำกองกำลังกลุ่มกบฏฮูธี ซึ่งแอบลักลอบนำมาวางบริเวณช่องแคบบับเอลมันเดบ เลยมาจนท่าเรือโมกาประเทศเยเมน เพื่อโจมตีเรือทุกลำที่ดันทะเล่อทะล่าวิ่งเข้าใกล้ เป็นการเอาคืนเรื่องพ่ายแพ้สงครามอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบกับเรือพิฆาตสหรัฐอเมริกาแบบสู้กันไม่ได้

        วันที่ 8 มีนาคม 2017 เรือประมงลำหนึ่งแล่นชนทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำรอยต่อระหว่างเยเมนกับซาอุดีอาระเบีย ทุ่นระเบิดคาดว่ามาจากอิหร่านทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย เรือประมงเสียหายอย่างหนักและจมลงสู่ก้นทะเลในเวลาต่อมา

        วันที่ 10 มีนาคม 2017 เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งเยเมนลำหนึ่ง แล่นชนทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำประเทศตัวเอง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 รายบาดเจ็บอีก 8 ราย เรือเกิดความเสียหายอย่างหนักต้องใช้เรือลำอื่นช่วยลากจูงเข้าฝั่ง

        กลุ่มกบฏฮูธีออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อทั้งสองเหตุการณ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเคลมเป็นผลงานตัวเองโดยไม่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ

        วันที่ 25 มีนาคม 2017 กองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียประกอบไปด้วย เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Sandown จำนวน 3 ลำ สร้างจากประเทศอังกฤษติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยเต็มลำ ออกปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิดในทะเลแถบน่านน้ำเมืองโมกา โดยมีเจ้าหน้าที่เยเมนร่วมทำภารกิจจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางการคุ้มกันจากเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีและเรือคอร์เวตกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียจำนวนหลายลำ

        กองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียสามารถตรวจพบและเก็บกู้ทุ่นระเบิดจำนวนมาก ทุ่นระเบิดส่วนใหญ่สภาพค่อนข้างเก่าแต่ยังคงใช้งานได้ ถูกออกแบบให้ปล่อยจากเรือดำน้ำหรือเครื่องบิน ก่อนถูกดัดแปลงให้สามารถปล่อยจากเรือผิวน้ำขนาดเล็ก เหตุผลก็คือกลุ่มกบฏฮูธีไม่มีเรือดำน้ำหรือเครื่องบินขนาดใหญ่

        สงครามทุ่นระเบิดเกิดขึ้นทั้งในน่านน้ำและบนแผ่นดินประเทศเยเมน กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียทำภารกิจกวาดทุ่นระเบิดเป็นงานประจำ แม้เป็นทุ่นระเบิดรุ่นเก่าทว่าฤทธิ์เดชไม่เก่าตามอายุ ส่งผลให้พวกเขามีประสบการณ์สงครามทุ่นระเบิดมากที่สุดชาติหนึ่ง

        หลังจากวันนั้นกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียยังกวาดทุ่นระเบิดต่อไปเรื่อยๆ เพราะมีค่อนข้างมากส่งผลให้เรือหลายลำโดนลูกหลง รัฐบาลเยเมนในตอนนั้นรู้สึกกระดากอายประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาหันมาปรึกษากับอเมริกาเพื่อนผู้แสนดีจากแดนไกล ต่อมาในวันที่ 16 เมษายน 20167 กองทัพเรือเยเมนเริ่มปฏิบัติการธนูทะเลหรือ Operation Naval Arrow เพื่อตรวจจับและเก็บกวาดทุ่นระเบิดกลุ่มกบฏฮูธีให้หมดสิ้นจากน่านน้ำ

        เยเมนมีเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Yevgenia จำนวน 2 ลำ และชั้น Natya จำนวน 1 ลำ เรือจากโซเวียตทั้ง 3 ลำอายุรวมกันประมาณ 150 ปี พวกเขาจำเป็นต้องรีบจัดหาเรือชนิดอื่นเข้ามาเสริมทัพ โดยการติดตั้งอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ทันสมัยที่อเมริกาให้ยืม ตามแนวคิดสุดโต่ง เรือทุกลำเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดได้อย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้ง

Operation Naval Arrow ประสบความสำเร็จเท่าที้รัฐบาลเยเมนสามารถทำได้ ภายในสองสัปดาห์พวกเขาทำลายทุ่นระเบิดจำนวนมากถึง 86 นัด แต่ถึงกระนั้นภัยคุกคามจากอาวุธสมัยสงครามโลกยังไม่สิ้นสุดแค่เพียงเท่านี้

        วันที่ 1 พฤษภาคม 2017 เรือประมงลำหนึ่งแล่นชนทุ่นระเบิดลูกหนึ่ง เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงคร่าชีวิตลูกเรือจำนวน 1 ราย ทางการเยเมนแจ้งว่าเป็นทุ่นระเบิดดัดแปลงที่ยังเก็บกู้ไม่หมด ไม่ก็เรือขนาดเล็กของกลุ่มกบฏฮูธีลักลอบนำมาวางเพิ่มเติม

ตลอดปี 2017 มีการตรวจพบทุ่นระเบิดในทะเลแดง และค่อยๆ เลือนหายในปีถัดไปจนกระทั่งแทบไม่มีรายงานความเสียหาย ทั้งนี้เนื่องมาจากกลุ่มกบฏฮูธีครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมนสำเร็จ ปัจจุบันภัยคุกคามหลักถูกปรับเปลี่ยนเป็นอากาศยานไร้คนติดระเบิด อาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้นระยะไกล และขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่กลุ่มกบฏฮูธีได้รับเทคโนโลยีบวกความช่วยเหลือจากประเทศอิหร่าน

หมายเหตุ

ภาพประกอบที่ 1 ถึง 3 คือกองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียขณะฝึกซ้อม Gulf Shield 1 ประกอบไปด้วยเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Sandown กับเรือคอร์เวตชั้น Badr บนท้องฟ้ามีเฮลิคอปเตอร์ Super Puma สำหรับรับส่งเจ้าหน้าที่หน่วย EOD

ขณะปฏิบัติการจริงมีหารจัดกำลังทางเรือแบบนี้เลย เหตุผลที่ต้องมีเรือคุ้มกันเพราะอยู่ในเขตพื้นที่อันตราย ภัยคุกคามในช่วงนั้นคืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Noor หรือ C-802 เวอร์ชันอิหร่าน ทว่าเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างต่ำเนื่องจากเรือพิฆาตอเมริกาเผด็จหมดแล้ว ภัยคุกคามอันดับสองคือเรือยางพลีชีพติดระเบิดขนาดเล็ก ซึ่งกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียใช้ปืนกล 12.7 มม.ไล่ยิงเหมือนยิงเป็ดได้รับชัยชนะเด็ดขาดในเวลาต่อ

ทั้งเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Al Sadiq และเรือคอร์เวตชั้น Badr สร้างโดยสหรัฐอเมริกา มีปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ใช้งานบนเรือ โดยที่ลำหลังติดตั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.46 เพิ่มเติมเข้ามา จึงมีทั้งความคล่องตัวและความเหมาะสมมากกว่าเรือฟริเกตสร้างโดยฝรั่งเศสทั้งสองรุ่น ซาอุดีอาระเบียมีเรือชั้น Al Sadiq จำนวน 9 ลำบวกเรือชั้น Badr อีก 4 ลำ มากเพียงพอในการคุ้มกันเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวน 3 ลำ

ภาพประกอบสุดท้ายคือการกู้ทุ่นระเบิดของจริงในทะเลแดง ในภาพเข้าใจว่าทุ่นระเบิดหลุดจากจุดติดตั้งจึงลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ เห็นแบบนี้เรือลำไหนทะเล่อทะล่าเข้ามามีหวังซวยยกแผง จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่หน่วย EOD เข้าไปตรวจสอบและเก็บกู้ขึ้นสู่ฝั่ง

การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในทะเลแดงปี 2017 ใหญ่โตที่สุดในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งบ่งบอกชัดเจนถึงความสำคัญกองเรือกวาดทุ่นระเบิด อนาคตถ้าสงครามทุ่นระเบิดในทะเลแดงร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง ซาอุดีอาระเบียอาจหาตัวช่วยอาทิเช่นใช้ระบบ Mission Module บนเรือคอร์เวต Avante 2200 ซึ่งตัวเองมีประจำการจำนวน 5 ลำ

อ้างอิงจาก

https://thaimilitary.blogspot.com/2017/06/royal-saudi-navy-part-ii-yemen-civil-war.html

https://maritime-executive.com/article/saudi-forces-find-more-naval-mines-off-yemen

https://www.arabnews.com/node/995271/ajax/spa/page_action/aggregate

https://katehon.com/ar/news/hdth-khtyr-fy-bhr-lkhlyj-lyl-byn-yrn-wmryk