วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2568

Multipurpose Patrol Vessel

 

เรือตรวจการณ์อเนกประสงค์สำหรับราชนาวีไทย

ระหว่างรอคอยการถือกำเนิดโครงการเรือฟริเกตราชนาวีไทย ผู้เขียนขอแนะนำแบบเรือที่เหมาะสมกับโครงการเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ นำมาทดแทนเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงสัตหีบซึ่งปลดประจำการไปแล้ว 2 ลำ ที่เหลืออีก 4 ลำอยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายของการรับใช้ชาติ มีความจำเป็นต้องจัดหาเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่มาใช้งานทดแทน

        บทความนี้จะพูดถึงแบบเรือจากบริษัท DAMEN จำนวน 2 แบบเรือประกอบไปด้วย

1.SIGMA Fast Combatant 6110

        เรือมีระวางขับน้ำ 750 ตัน ยาว 61 เมตร กว้าง 10 เมตร กินน้ำลึก 3 เมตร ยาวกว่าเรือหลวงแหลมสิงห์เพียง 3 เมตร ฉะนั้นราคาเรือจึงแพงกว่ากันเล็กน้อย ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,000 ไมล์ทะเล ใช้ลูกเรือน้อยมากเพียง 33 นาย

        แบบเรือตามภาพประกอบได้รับการปรับปรุงเป็นเวอร์ชันใหม่ หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.พื้นที่ว่างหน้าสะพานเดินเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 8 นัด ใช้ระบบอำนวยการรบ เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ และเรดาร์ควบคุมการยิงจากบริษัท SAAB เพื่อแสดงให้เห็นว่าแบบเรือจากเนเธอร์แลนด์ติดตั้งระบบประเทศอื่นได้

        เสากระโดงรูปทรงพีระมิดเข้ากันได้ดีกับสะพานเดินเรือ ปล่องระบายความร้อนถูกตัดออกเพิ่มพื้นที่ใช้สอย พื้นที่ว่างกลางเรือติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงจำนวน 2 แท่นยิง ปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.จำนวน 1 กระบอก และเรือยางท้องแข็งขนาด 5.5 เมตรกับเครนอเนกประสงค์พับเก็บได้

        พื้นที่ว่างท้ายเรือติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด RAM ขนาด 21 ท่อยิง มีพื้นที่สำหรับรับ/ส่งสิ่งของกลางทะเลแค่พอใช้งานได้ ภาพรวม SIGMA Fast Combatant 6110 เทียบได้กับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี ราคาเรือเปล่าอาจถือว่าไม่แพงมากเกินไป แต่ราคาอาวุธที่ติดตั้งล้นลำอาจทำให้กองทัพเรือหมดตัว ฉะนั้นต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับเป็นเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์

        ปืนใหญ่ 76/62 มม.จากอิตาลีราคาแพงจนแทบจับต้องไม่ได้ เปลี่ยนมาใช้งานปืนใหญ่จากเกาหลีใต้หรือตุรเคียซึ่งมีราคาถูกกว่ากัน อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบมีเพียงจุดติดตั้งเท่านั้น วันไหนรัฐบาลกระเป๋าตุงค่อยจัดหามาใช้งานจำนวน 2-4 นัดต่อลำ ปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.เปลี่ยนเป็นรุ่นธรรมดา ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด RAM ให้ถอดออกไปเลย พื้นที่ว่างท้ายเรือใช้ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบ

        การปรับปรุงจะช่วยให้ SIGMA Fast Combatant 6110 เหมาะสมกับราชนาวีไทยมากกว่าเดิม ราคาเรือถูกลงจนสามารถจับต้องได้ และสามารถปรับปรุงเรือให้ทำการรบได้ดียิ่งขึ้น แบบเรือก็ดูเหมาะสมแม้ผู้เขียนแอบคิดในใจว่าขนาดเล็กไปสักนิด

2.SIGMA Fast Combatant 7311

        เรือมีระวางขับน้ำ 1,000 ตัน ยาว 73 เมตร กว้าง 11 เมตร กินน้ำลึก 3 เมตร ยาวกว่าเรือหลวงแหลมสิงห์ 15 เมตรสะใจกันไปเลย ฉะนั้นจึงใช้งานเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งได้อีกหนึ่งภารกิจ ราคาเรือย่อมมากกว่ากันพอสมควรอย่างเลี่ยงไม่ได้ ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,500 ไมล์ทะเล ใช้ลูกเรือจำนวน 63 นาย และมีที่ว่างสำหรับกำลังพลอีก 12 นาย

        แบบเรือตามภาพประกอบได้รับการปรับปรุงเป็นเวอร์ชันใหม่ หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.พื้นที่ว่างหน้าสะพานเดินเรือสำหรับติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 8 ท่อยิง (แต่ไม่ได้ติด) ใช้ระบบอำนวยการรบ เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ และเรดาร์ควบคุมการยิงจากบริษัท THALES  อันเป็นระบบที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากกองทัพเรือทั่วโลก

        เสากระโดงรูปทรงปรกติช่วยลดราคาสร้างเรือ ปล่องระบายความร้อนถูกตัดออกเพิ่มพื้นที่ใช้สอย สองกราบเรือทาสีเข้มช่วยปิดบังคราบสกปรก ระเบียงสะพานเดินเรือติดตั้งปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก พื้นที่ว่างกลางเรือติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงจำนวน 2 แท่นยิง เหนือห้องเครื่องยนต์ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4 นัด ต่อด้วยเรือยางท้องแข็งขนาด 9 เมตรจำนวน 2 ลำ ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.จำนวน 1 กระบอก ปิดท้ายด้วยลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 5.5 ตัน ลูกค้าเปลี่ยนมาติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบได้อย่างสบาย

        ภาพรวม SIGMA Fast Combatant 7311 เทียบได้กับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาดเล็ก การปรับปรุงเป็นเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์จึงง่ายกว่า SIGMA Fast Combatant 6110 ถ้ากองทัพเรือมีงบประมาณเพียงพอไม่ต้องปรับปรุงอะไรเลยก็ได้ ถ้าบังเอิญงบน้อยให้เปลี่ยนมาใช้งานปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จากเกาหลีใต้หรือตุรเคีย และถอดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบออกไปก่อน อากาศยานประจำเรือเปลี่ยนมาใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่บรรทุกทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ ได้ประมาณ 40 นัด

เพียงเท่านี้ SIGMA Fast Combatant 7311 ก็เหมาะสมกับการทำหน้าที่ทดแทนเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงสัตหีบ หนำซ้ำยังทำภารกิจได้อย่างหลากหลายมากกว่าเดิม หรืออาจเรียกว่าคุ้มค่าเงินทุกบาททุกสตางค์ยิ่งกว่าแบบเรือคู่แข่งทุกลำ

การสร้างเรือในประเทศ

        ความต้องการสร้างเรือในประเทศโดยบริษัทเอกชน เป็นออปชันเสริมที่บริษัท DAMEN ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เหตุผลส่วนหนึ่งการสร้างเรือในเนเธอร์แลนด์ราคาแพงเกินไป ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ถูกโยกย้ายมาสร้างที่โรมาเนีย เพื่อให้ราคาเรือลดต่ำจนสามารถทำตลาดแข่งกับเจ้าอื่นได้ ในเมื่อกองทัพเรือไทยต้องการให้สร้างเรือทุกลำในประเทศ บริษัท DAMEN ก็แค่ทำธุรกิจร่วมกับบริษัทเอกชนในประเทศสักแห่ง เลือกที่มีอู่ต่อเรือขนาดมาตรฐาน พนักงานมีฝีมือบวกประสบการณ์พอสมควร มีกำลังทรัพย์มากเพียงพอที่จะร่วมทุน เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างเรือตรวจการณ์ SIGMA Fast Combatant 6110 หรือ SIGMA Fast Combatant 7311 ในประเทศได้ครบทุกลำ

 

อ้างอิงจาก

https://www.damen.com/vessels/defence-and-security/sigma-frigates/sigma-fast-combatant-6110

https://www.damen.com/vessels/defence-and-security/sigma-frigates/sigma-fast-combatant-7311