วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

Hisar-class Offshore Patrol Vessel

  

วันที่ 20 มกราคม 2025 บริษัท Dearsan ร่วมมือกับบริษัท Desan และอู่ต่อเรือ Özata Shipyards ประเทศตุรเคีย ประกาศเดินหน้าสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Hisar ลำที่สามโดยใช้หมายเลข P-1222 บริษัทร่วมทุนทั้งสามได้รับสัญญาจากกองทัพเรือตุรเคียในการสร้างเรือตรวจการณ์ชั้น Hisar จำนวน 4 ลำ ส่งผลให้ยอดรวมเรือชั้นนี้อยู่ที่ 6 ลำจากความต้องการทั้งหมด 10 ลำ

 การเปิดตัวเรือลำใหม่เรียกเสียงฮือฮาจากสื่อมวลชนทั่วโลก เนื่องจากแบบเรือมีความแตกต่างจากเรือสองลำแรกพอสมควร เป็นความแตกต่างที่ส่งผลดีต่อเรือมากกว่าผลร้าย รวมทั้งอาจทำให้เรือตระกูลนี้ขายดีมากกว่าเดิมซึ่งจัดว่าดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Hisar ลำที่สามมีระวางขับน้ำประมาณ 2,300 ตัน ยาว 99.56 เมตร กว้าง 14.42 เมตร กินน้ำลึก 3.77 เมตรไม่รวมโดมโซนาร์ ใช้ระบบขับเคลื่อน CODELOD (COmbined Diesel-eLectric Or Diesel) เครื่องยนต์ดีเซลทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ความเร็วสูงสุด 24 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต ออกทะเลได้นานสุด 21 วัน ใช้ลูกเรือจำนวน 104 นาย

 ระบบอาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วย หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ MKE 76/62 mm อัตรายิง 85 นัดต่อนาที ถัดไปเล็กน้อยคือแท่นยิงแนวดิ่ง MİDLAS จำนวน 8 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Hisar-O รุ่นนำวิถีอินฟราเรดระยะยิง 25 กิโลเมตรจำนวนมากสุด 32 นัด ส่วน Hisar-O รุ่นนำวิถีเรดาร์ระยะยิง 35 กิโลเมตรน่าจะไม่ได้รับการติดตั้ง หน้าสะพานเดินเรือสร้างแท่นยิงยกสูงประมาณหนึ่งเมตรกว่า สำหรับแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Rocketsan ASW ระยะยิง 2 กิโลเมตรจำนวน 6 นัด

พื้นที่ว่างกลางเรือคือจุดติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Atmaca จำนวน 8 นัด ถัดไปเล็กน้อยคือจุดติดตั้งแท่นยิงเป้าลวง ต่อด้วยปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.รุ่น STAMP บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์คือระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Gökdeniz ขนาด 35 มม.ลำกล้องแฝด ลานจอดท้ายเรือรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน มีจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 6 เมตรที่กราบขวาเรือ กับจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 8 เมตรที่บั้นท้ายเรือ

 ใช้ระบบอำนวยการรบ HAVELSAN ADVENT SYS ตามความคาดหมาย เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรุ่น CENK 200-N ระยะตรวจจับไกลสุด 100 กิโลเมตร เรดาร์ควบคุมการยิง AKR-D จำนวน 1 ตัว ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง OCTOPUS-S จำนวน 1 ตัว เรดาร์เดินเรือจำนวน 3 ตัว โซนาร์หัวเรือ YAKAMOS 2020 และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์

 ทั้งแบบเรือ ระบบเรดาร์ และระบบอาวุธเป็นสินค้าจากตุรเคียทั้งหมด

 

นี่คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดอาวุธ 3 มิติเมดอินตุรเคียทั้งลำ

รบกวนผู้อ่านทุกคนชมภาพประกอบที่สองกันสักนิด บริเวณสองกราบเรือคือจุดเติมเชื้อเพลิงหรือรับส่งสิ่งของกลางทะเล มีการติดตั้งปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพิ่มเติมเข้ามา แต่ถึงกระนั้นก็ยังเหลือพื้นที่ว่างอีกพอสมควร ถ้าติดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำขนาด 3 ท่อยิงเพิ่มเติมเข้ามา เรือลำนี้จะกลายเป็นเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำได้อย่างภาคภูมิใจ โดยมีอาวุธปราบเรือดำน้ำทั้งตอร์ปิโดเบา จรวดระยะใกล้ และเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน

ไม่ธรรมดาชะเอิงเอยไม่ธรรมดา

โครงการเรือตรวจการณ์ชั้น Hisar สร้างเรือเสร็จแล้วจำนวน 2 ลำโดยบริษัท ASFAT ภาพประกอบที่สามเป็นการเปรียบเทียบระหว่างเรือลำที่สามหมายเลข P-1222 ลำบน กับเรือลำที่หนึ่งชื่อ TCG Akhisar P-1220 ลำล่าง จะพบว่าตั้งแต่หัวเรือไล่มาจนถึงเสากระโดงหลักมีความแตกต่างราวกับเรือคนละรุ่น

 

TCG Akhisar P-1220 ใช้รูปทรงเดียวกับเรือคอร์เวตชั้น MILGEM ตั้งแต่หัวจรดท้าย กว้านสมอเรือกับจุดผูกเชือกหัวเรือย้ายลงไปอยู่ใต้ดาดฟ้าเรือ เพื่อให้เรือลดการตรวจจับจากคลื่นเรดาร์ให้มากที่สุด มีการสร้างจุดติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้นระยะใกล้ L-UMTAS ขนาด 4 ท่อยิงเพิ่มเติมหน้าสะพานเดินเรือ พื้นที่ส่วนอื่นของเรือเหมือนเรือต้นฉบับเกือบทั้งหมด ยกเว้นมีการสร้างเสากระโดงรองขนาดเล็กเพิ่มเติมหลังปล่องระบายความร้อน กับปรับเปลี่ยนมาใช้งานระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดแบบปืนกล

ส่วนเรือหมายเลข P-1222 ออกแบบหัวเรือคล้ายคลึงเรือฟริเกตชั้น I-Class กว้านสมอเรือกับจุดผูกเชือกหัวเรือย้ายมาอยู่เหนือดาดฟ้าเรือตามปรกติ ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.ขยับมาด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งกับแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ สะพานเดินเรือเรียกว่ายกมาจากเรือฟริเกตชั้น I-Class ยังไงยังงั้น ระเบียงสะพานเดินเรือยาวขึ้นถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น ตั้งแต่กลางเรือจนถึงท้ายเรือมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

 เราอาจเรียกเรือหมายเลข P-1222 ว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Hisar Batch 2 ก็คงไม่ผิด

ถ้าบริษัท Dearsan ร่วมกับบริษัท บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ เสนอแบบเรือ Hisar Batch 2 ให้กับราชนาวีไทยในโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ผู้เขียนขอจินตนาการและทำภาพประกอบที่สี่ให้ได้รับชมพอเป็นน้ำจิ้มดังนี้


หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ถัดไปคือแท่นยิงแนวดิ่งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL-MICA จำนวน 8 ท่อยิง ใช้เรดาร์ควบคุมการยิงและระบบอำนวยการรบจากสเปน ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 1X จากสวีเดน กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM จำนวน 4-8 นัด ท้ายเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ Sentinel 30 จำนวน 2 กระบอก มาพร้อมแท่นยิงเป้าลวงกับระบบดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ESM รุ่นเดียวกับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ส่วนระบบปราบเรือดำน้ำตัดทิ้งปล่อยให้เป็นหน้าที่กองเรือฟริเกตจะเหมาะสมกว่า

เท่ากับว่าเรือลำนี้คือเรือคอร์เวตติดอาวุธ 2 มิติดีๆ นี่เอง

 โครการนี้ Hisar Batch 2 ต้องสร้างต่อเนื่องควบคู่ไปกับเรือฟริเกต กำหนดให้สร้างเฟสแรกจำนวน 2 ลำแทนที่เรือหลวงปิ่นเกล้ากับเรือหลวงมกุฎราชกุมาร สร้างเฟสสองจำนวน 2 ลำแทนที่เรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกง และสร้างเฟสสามจำนวน 2 ลำแทนที่เรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรี เท่ากับว่าราชนาวีไทยจะมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 2+2+6=10 ลำ (ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 7 ลำ) ถือว่ากำลังเหมาะสม

 นี่คืออีกหนึ่งความฝันที่อยู่ห่างไกลความจริงเสียเหลือเกิน

อ้างอิงจาก

 https://x.com/KeremHok/status/1892609339191431382

 https://x.com/T_Nblty/status/1892613174848790623

 https://en.wikipedia.org/wiki/Hisar-class_offshore_patrol_vessel

 https://www.navalnews.com/naval-news/2023/07/turkish-navys-first-hisar-class-opv-is-ready-for-launch/