วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

The Golden Age


บทนำ

บทความนี้รวบรวมการเสริมทัพกองทัพเรือระหว่างปี 2520 ถึง 2530 อันเป็นช่วงเวลาที่มีโครงการสร้างเรือในประเทศจำนวนมาก รวมทั้งมีการจัดหาเรือและอากาศยานคุณภาพสูงจากต่างประเทศ ถือเป็นยุคเรืองรองของกองทัพเรือยุคหนึ่งพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากงบประมาณที่กองทัพเรือได้รับในแต่ละปี เนื้อหาบทความเรียงตามความชอบของผู้เขียนคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาหรืองบประมาณแต่อย่างใด

เพื่อไม่ให้เสียเวลาเข้าสู่เรื่องราวการเสริมทัพเรื่องแรก นั่นคือโครงการจัดเรือเร็วโจมตีอาวุธปืนจากอิตาลี

เรือหลวงชลบุรี

ตามโครงการเสริมกำลังทางเรือในปี 2523 รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือเร็วโจมตี (ปืน) จำนวน 3 ลำ กองทัพเรือจึงได้ว่าจ้างบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ประเทศอิตาลี เป็นผู้ต่อเรือทั้ง 3 ลำโดยใช้ชื่อว่า เรือหลวงชลบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงภูเก็ต

เรือหลวง 3 ลำเดินทางถึงประเทศไทยตามลำดับดังนี้

1.เรือหลวงชลบุรี วันที่ 2 มิถุนายน 2526

2.เรือหลวงสงขลา วันที่ 5 กันยายน 2526

3.เรือหลวงภูเก็ต วันที่ 12 ธันวาคม 2526

ทำการฉลองและสมโภชเรือหลวง 3 ลำตามลำดับดังนี้

1.เรือหลวงสงขลา วันที่ 5-7 กันยายน 2526

2.เรือหลวงภูเก็ต วันที่ 12-13 ธันวาคม 2526

3.เรือหลวงชลบุรี วันที่ 11-21 เมษายน 2527

หลายคนแปลกใจว่า ทำไมเรือหลวงชลบุรีเดินทางถึงประเทศไทยก่อนเรือหลวงลำอื่นๆ แต่ถึงได้กระทำพิธีฉลองเรือหลวงชลบุรีหลังเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ต

เหตุผล

1.เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ตมาถึงประเทศไทยก็เทียบท่าจังหวัดแต่ละจังหวัดทำการฉลองได้ทันที เมื่อเรือหลวงเดินทางมาถึงก็จัดพิธีฉลองและสมโภชได้ตามกำหนดการที่เตรียมไว้

2.เรือหลวงชลบุรีถึงประเทศไทยวันที่ 2 มิถุนายน 2526 พลเรือเอกสมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กระทำพิธีรับมอบเรือหลวงชลบุรี ณ ท่าเทียบเรือ กรมสรรพาวุธ ทหารเรือ บางนา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526

3.เป็นประเพณีของชาวจังหวัดชลบุรี ที่กระทำพิธีฉลองเรือรบหลวง 32 ชลบุรี (ลำเก่า) ในงานประจำปีจังหวัดชลบุรีปี พ.ศ.2481 จังหวัดชลบุรีจึงเห็นควรรอการฉลองเรือหลวงชลบุรี (ลำใหม่) ไว้ในงานประจำปีจังหวัดชลบุรี พ.ศ.2527 เพราะเรือหลวงชลบุรีเดินทางมาถึงประเทศไทย หลังจากงานประจำปีจังหวัดชลบุรี พ.ศ.2526 แล้ว

ด้วยเหตุผล 3 ประการ งานฉลองเรือหลวงชลบุรีจึงล่าช้ากว่างานฉลองเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ต แต่จังหวัดชลบุรีก็ได้ร่วมกับกองทัพเรือจัดงานเฉลิมฉลองเรือหลวงชลบุรีอย่างมโหฬารถึง 11 วัน 11 คืน มีพิธีการที่เหมาะสมยิ่งและมหรสพสมโภชอย่างมโหฬาร นับเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะ ได้สร้างของที่ระลึกในงานฉลองเรือหลวงชลบุรีไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายสิ่งหลายประการ

เรือหลวงชลบุรีลำใหม่มีสาระที่ควรศึกษาและสนใจคือ

เรือหลวงชลบุรีเป็นเรือเร็วโจมตี (ปืน) ซึ่งกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ณ เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี ซึ่งได้ลงนามทำสัญญา ณ ที่กองบัญชาการ กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2522 ระหว่างกองทัพเรือ โดย พลเรือเอกกวี สิงหะ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ  กับบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า แห่งประเทศอิตาลี โดยทำสัญญาต่อเรือ จำนวน 3 ลำ ด้วยกันคือ

-ลำที่ 1 เรือหลวงชลบุรี

-ลำที่ 2 เรือหลวงสงขลา

-ลำที่ 3 เรือหลวงภูเก็ต

8 มิถุนายน 2524 เริ่มประกอบพิธีประกอบเปลือกของเรือบนหมอน (วางกระดูกงู) ในอู่ โดยเรือชุดเรือหลวงชลบุรี จะประกอบไปด้วยสามท่อนคือ ส่วนท่อนหัว ส่วนท่อนกลาง และส่วนท่อนท้าย

-ส่วนท่อนหัว โดยเริ่มจากหัวเรือจนถึงหน้าสะพานเรือ

-ส่วนท่อนกลาง โดยเริ่มจากหน้าสะพานเดินเรือจนถึงหน้าห้องเครื่องท้าย

-ส่วนท่อนท้าย โดยเริ่มจากหน้าห้องเครื่องท้ายจนถึงท้ายเรือ

7 มิถุนายน 2525 ทำพิธีปล่อยเรือ โดยคุณหญิงสมบัติ เชื้อพิบูลย์

29 พฤศจิกายน 2525 ทำพิธีรับมอบเรือขั้นต้น ที่อู่เบรดา เมืองเวนิช โดยพลเรือเอกประเสริฐ แทนขำ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

22 กุมภาพันธ์ 2526 ลงนามเซ็นสัญญารับมอบเรือขั้นสุดท้าย โดยนาวาเอกเกษม รุจาคม กรรมการตรวจสอบการจ้างอาวุโส ที่อู่เบรดา เมืองเวนิช และวันนี้เองเรือหลวงชลบุรีก็ตกเป็นสมบัติของราชนาวีไทย และคนไทยโดยสมบูรณ์

16 เมษายน 2526 เวลา 06.00 น. เริ่มออกเดินทางจากเมืองตารันโต ประเทศอิตาลีกลับประเทศไทย โดยผ่านเมืองท่าต่างๆ ดังนี้

-ปอร์เสด ประเทศอียิปต์

-เจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

-จีบุติ ประเทศจีบุติ

-รัสมัสกัท ประเทศโอมาน

-บอมเบย์ ประเทศอินเดีย

-โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

-ปีนัง ประเทศมาเลเซีย

-เกาะบรานี ประเทศสิงคโปร์

-สงขลา และสัตหีบ

เดินทางถึงสัตหีบในวันที่ 2 มิถุนายน 2526 เวลา 08.00 น. รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 48 วัน เป็นระยะทาง 8,005 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 14,000 กิโลเมตร

การเดินทางถึงประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคใดๆ ในช่วงการเดินทางนับเป็นโชคดีแก่เรือหลวงชลบุรีเป็นยิ่งนัก

คุณลักษณะทั่วไปของเรือหลวงชลบุรี

ประเภท : เรือเร็วโจมตี (ปืน) Fast Attack Craft (Gun) - FAC(G)

ขนาด

ความยาวตลอดลำ : 60.40 เมตร

กว้างสุด : 8.80 เมตร

กินน้ำลึก : 1.95 เมตร

ระวางขับน้ำเต็มที่ : 450 ตัน

ระวางขับน้ำปรกติ : 400 ตัน

ความเร็วและรัศมีทำการ

ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง : 29 นอต

ความเร็วเดินทาง (ประหยัด) : 22 นอต

รัศมีทำการที่ความเร็วสูงสุด : 900 ไมล์ทะเล

รัศมีทำการที่ความเร็วประหยัด : 2,500 ไมล์ทะเล

กำลังงานของเครื่องจักร

เครื่องจักรใหญ่เป็นเครื่องยนต์ MTU ขนาด 20 สูบจำนวน 3 เครื่อง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง เครื่องละ 200 กิโลวัตต์

อัตรากำลังพลประจำเรือ : จำนวน 47 นาย

ระบบอาวุธ

ปืน 76/62 โอโตเมลารา (OTO-MELARA NAVAL COMPACT GUN) จำนวน 2 กระบอกที่หัวเรือ-ท้ายเรือ

ปืน 40/70 แท่นคู่ของเบรดา (BREDA BOFORS) พร้อมระบบบรรจุอัตโนมัติจำนวน 1 แท่น

เครื่องควบคุมการยิง SIGNAAL WM22/61 ซึ่งประกอบด้วย WM22/61-53TH กับ WM22/61-54TH  เพื่อใช้ควบคุมปืนทั้ง 3 กระบอก

เครื่องทำเป้าลวงจำนวน 4 แท่นแท่นละ 6 ท่อยิง

เรือเร็วโจมตีปืนชั้นเรือหลวงชลบุรีใช้แบบเรือ MV400 ของบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ประเทศอิตาลี แม้ไม่มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบเหมือนเรือชั้นเรือหลวงปราบปรปักษ์และเรือชั้นเรือหลวงราชฤทธิ์ ทว่าเรือเร็วโจมตีชุดใหม่ใช้งานอาวุธ ระบบตรวจจับ และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ดีที่สุดในยุคนั้น

ระบบอาวุธประกอบไปด้วย หัวเรือ-ท้ายเรือติดปืนใหญ่ OTO 76/62 จำนวน 2 กระบอก โจมตีเป้าหมายผิวน้ำหรือชายฝั่งได้ครบ 360 องศาโดยไม่มีมุมอับ ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง SIGNAAL WM22/61 คำนวณทิศทางได้อย่างแม่นยำ ระบบป้องกันภัยทางอากาศใช้ปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝด ในคลังแสงมีกระสุนขนาด 40 มม.พร้อมใช้งานจำนวน 444 นัด ทำงานร่วมกับเรดาร์/ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง SIGNAAL LIROD-8 ซึ่งออกแบบมาเพื่อจัดการเป้าหมายเคลื่อนที่บนอากาศโดยเฉพาะ โดยมีปืนกล 2.7 มม.อีก 2 กระบอกไว้ป้องกันตัว

ระบบเรดาร์จัดแน่นจัดเต็มไม่น้อยหน้าเรือลำไหน นอกจาก SIGNAAL WM22/61 กับ SIGNAAL LIROD-8 ซึ่งใช้ควบคุมอาวุธปืน เหนือสะพานเดินเรือติดเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SIGNAAL ZW06 ทำงานในโหมด I-band มีระยะทำการไกลสุด 46 กิโลเมตร มีใช้งานบนเรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว บนเสากระโดงติดตั้งระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ESM รุ่น Elettronica ELT 211 มาพร้อมระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 ใช้จานส่งสัญญาณรบกวนรุ่น ELT 828 จำนวน 2 ใบ เรือหลวงมกุฎราชกุมารใช้ ELT 828 จำนวน 2 ใบ ส่วนเรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัยไม่มีสักใบ เท่ากับว่าระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์บนเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีเหนือกว่าเรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์

เรือหลวงชลบุรียังติดตั้งระบบเป้าลวง MK-33 RBOC ชนิด 6 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นด้วยกัน ใช้แท่นยิง MK-135 ขนาดลำกล้อง 114 มม. เหมือนเรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงตาปี และเรือหลวงคีรีรัฐ เป็นเรือเร็วโจมตีเพียงชุดเดียวของราชนาวีไทยที่มีระบบเป้าลวงใช้งานบนเรือ

ภาพประกอบที่หนึ่งถ่ายทำในวันที่ 1 สิงหาคม 1982 (หรือ 2525) เรือหลวงชลบุรีทดสอบเดินเรือหลังทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 7 มิถุนายน 2525 ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525 มีการทำพิธีรับมอบเรือขั้นต้น ที่อู่เบรดา เมืองเวนิช เมื่อเรือพร้อมคนพร้อมจึงออกเดินทางกลับถึงประเทศไทยวันที่ 2 มิถุนายน 2526 ภาพประกอบที่สองเรือหลวงชลบุรีเข้าประจำการราชนาวีไทย โดยใช้หมายเลข 1 ก่อนเปลี่ยนเป็นหมายเลข 331 ในภายหลัง

จนถึงปัจจุบันเรือเร็วโจมตีปืนชั้นเรือหลวงชลบุรียังคงประจำการรับใช้ชาติครบทุกลำ

อ้างอิงจาก : เอกสารหอสมุดแห่งชาติชลบุรีชื่อ ฉลองเรือหลวงชลบุรี 11-21 เมษายน27’

ภาพประกอบจาก :

https://nara.getarchive.net/media/an-aerial-view-of-the-thai-italian-built-mv-400-class-fast-attack-craft-gun-b0ed06

https://www.thaifighterclub.org/

 

เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำที่ 7 ของราชนาวีไทย

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2529 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีปฐมฤกษ์ประกอบตัวเรือส่วนแรกของเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ซึ่งนับเป็นลำที่ 7 ของกองทัพเรือไทย โดยมีอาจารย์พูนสิน ดิษฐบรรจง ภรรยาพลเรือเอก ธาดา ดิษฐบรรจง ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานประกอบพิธี

เรือยกพลขึ้นบกลำใหม่นี้กองทัพเรือได้ทำสัญญากับอู่ต่อเรือ บริษัทกรุงเทพ จำกัด ในวงเงิน 480 ล้านบาทเมื่อกลางปีที่แล้ว และจะสามารถสร้างเสร็จในราวปลายปี 2531

ข้อมูลจำเพาะของเรือ

ความยาวตลอดลำ : 112.48 เมตร

ความกว้างสูงสุด : 15.40 เมตร

ความลึกจากดาดฟ้าใหญ่ถึงท้องเรือ : 7.80 เมตร

ระวางขับน้ำเต็มที่ : 4,000 ตัน

ระวางขับน้ำเบา : 2,200 ตัน

ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง :  16 นอต

ความเร็วเดินทาง : 12 นอต

เครื่องจักรใหญ่ : 2 เครื่อง

เครื่องไฟฟ้า 4 เครื่อง : 547 ..

เรือ LCPV : 3 ลำ

เรือ LCPL : 1 ลำ

เฮลิคอปเตอร์ : 1 ลำ

อาวุธ :

ปืนกล 40/70 มม. 2 กระบอก

ปืนกล 20 มม. 2 กระบอก

ปืนกล .50 นิ้ว 2 กระบอก

ประจำเรือ :

นายทหาร : 13 นาย

ประจำเรือ : 99 นาย

นักบิน

นายทหาร : 3 นาย

พันจ่า-จ่า : 4 นาย

นาวิกโยธิน : 300 นาย

เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำที่ 7 ของราชนาวีไทยคือเรือหลวงสุรินทร์ สังกัดกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ (กยพ.กร.) ขึ้นระวางประจำการ 20 มีนาคม 2532 เป็นแบบยกพลขึ้นบกแบบ LST (Landing Ship,Tank) สร้างโดยบริษัทกรุงเทพ จำกัด ร่วมมือกับบริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด ใช้แบบเรือยกพลขึ้นบก Normed PS 700 จากฝรั่งเศสเหมือนเรือหลวงสีชังเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำที่ 6 นำมาปรับปรุงเพื่อความเหมาะสมในการใช้งานมากกว่าเดิม โดยการปรับความสูงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือให้สูงเทียบเท่าดาดฟ้าเรือชั้นสอง สะพานเดินแคบกว่าเดิมแต่เพิ่มเรือระบายพลจาก 2 ลำเป็น 4 ลำ ปืนกล 40/70 มม.ทั้ง 2 กระบอกทำงานร่วมกับออปโทนิกส์ควบคุมการยิง Sea Archer Mk 1A Mod 2 เป็นเรือลำที่สามต่อจากเรือหลวงสีชังและเรือ ต.99 ที่ใช้ระบบควบคุมการยิงรุ่นใหม่ทันสมัยจากอังกฤษร่วมกับปืนกล 40/70 มม.

โครงการสร้างเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำที่ 7 ในปี 2529 ถือเป็นการสร้างเรือภายในประเทศขนาดใหญ่ที่สุดให้กับกองทัพเรือ หลังจากนั้นเป็นต้นมาอู่ต่อเรือภายในประเทศทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้รับโอกาสสร้างเรือขนาดใหญ่กว่าหรือเทียบเท่าเรือหลวงสุรินทร์จากกองทัพเรืออีกต่อไป

ภาพประกอบและข้อมูลจาก :

นิตยสารสงครามฉบับที่ 301 ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529

https://www.thaifighterclub.org/

 

โครงการเรือสำรวจสมุทรศาสตร์

          เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทางทะเล กองทัพเรือได้จัดเรือหลวงจันทรเป็นเรือพระที่นั่ง ซึ่งในขณะนั้นได้มีคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จหลายท่าน ทำให้การจัดที่พักรับรองไม่สามารถกระทำได้อย่างสมฐานะ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านห้องพักรับรองมีจำนวนไม่พอ สมุหราชองครักษ์ในขณะนั้นจึงได้เสนอต่อทางกองทัพว่า กองทัพเรือควรจะมีเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือหลวงจันทรจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง เพื่อให้การเสด็จประพาสทางทะเลมีความสะดวกพอสมควร ซึ่งประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ขณะนั้นมีความต้องการเรือสำรวจสมุทรศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ในการสำรวจทางสมุทรศาสตร์เพื่อการทางทหารและทรัพยากรทางทะเลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 3 กองทัพเรือพิจารณาเห็นชอบว่าควรดำเนินการตามที่กรมอุทกศาสตร์เสนอ แต่ให้เพิ่มขนาดเรือให้มีความใหญ่กว่าความต้องการนิดหน่อย เพื่อรองรับภารกิจด้านการรับรองการเสด็จประพาสทางทะเลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

เรือสำรวจสมุทรศาสตร์และเรือพระที่นั่งลำใหม่ได้รับพระราชทานชื่อว่าเรือหลวงศุกร์ ใช้แบบเรือบริษัท FERROSTALL ประเทศเยอรมันนำมาสร้างเองในประเทศโดยบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด มีพิธีวางกระดูกงูวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 พิธีปล่อยเรือลงน้ำวันที่ 8 กันยายน 2524 และขึ้นระวางประจำการวันที่ 3 มีนาคม 2525


เรือหลวงศุกร์มีระวางขับน้ำปรกติ 1,400 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,526 ตัน ยาว 62.90 เมตร กว้าง 11.50 เมตร กินน้ำลึก 4.00 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง ความเร็วสูงสุด 15 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ ที่ 12 นอต ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 15 วัน ใช้ลูกเรือจำนวน 58 คน อาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วยปืนกล Oerlikon L70 ขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก นอกจากอุปกรณ์สนับสนุนการสำรวจสมุทรศาสตร์แล้ว ยังมีเรือเล็กใช้งานจำนวน 3 ลำกับเรดาร์เดินเรืออีก 1 ตัว

ผู้เขียนพยายามหาญาติพี่น้องร่วมสายเลือดของเรือหลวงศุกร์จากประเทศเยอรมัน โชคร้ายไม่พบเรือที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแม้แต่ลำเดียว เรือที่รูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงมากที่สุดอยู่ประเทศอาเจนตินา เป็นเรือสำรวจเช่นเดียวกันชื่อ ARA Puerto Deseado เข้าประจำการปี 2521 สร้างโดยบริษัท Astarsa อู่ต่อเรือภายในประเทศที่ตอนนี้ถูกควบรวมกิจการแล้ว บังเอิญเรือสร้างโดยอาเจนตินาระวางขับน้ำ 2,400 ตัน ยาว 76.8 เมตร ขนาดใหญ่กว่าพอสมควรจนไม่อาจเป็นเรือรุ่นเดียวกัน แผนตามหาต้นกำเนิดเรือหลวงศุกร์จึงได้สิ้นสุดพร้อมความแพ้พ่ายแต่เพียงเท่านี้

หลังขึ้นระวางประจำการเรือหลวงศุกร์คือเรือธงของกรมอุทกศาสตร์ในการสำรวจทางทะเล เพราะมีขนาดใหญ่ที่สุด ทันสมัยที่สุด ทนทะเลมากที่สุด และมีอุปกรณ์สนับสนุนการสำรวจรุ่นใหม่ เรือหลวงศุกร์จึงทำหน้าที่เดี่ยวมือหนึ่งเป็นเวลา 26 ปีเต็ม เมื่อเรือหลวงพฤหัสบดีเข้าประจำการในปี 2551 เดี่ยวมือหนึ่งจึงย้ยมาอยู่ที่เรือสำรวจอเนกประสงค์ลำใหม่สร้างเองในประเทศ โดยใช้แบบเรือบริษัท Damen Schelde ประเทศเนเธอร์แลนด์สร้างโดยบริษัทยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียรริ่ง จำกัด

นอกจากสำรวจทางสมุทรศาสตร์เรือหลวงศุกร์ยังทำหน้าที่เรือพระที่นั่งอีกหนึ่งภารกิจ ประวัติการทำหน้าที่เรือพระที่นั่งของเรือหลวงศุกร์ผู้เขียนหาข้อมูลได้เพียงครั้งเดียว

ในการเสด็จประพาสทางเรือครั้งที่ 6 ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2526 โดยมีเรือหลวงศุกร์เป็นเรือพระที่นั่ง พลเรือโทธวัชชัย  ตรีเพ็ชร์ เจ้ากรมอุทกศาสตร์เป็นผู้บังคับการหมู่เรือฯ และเรือเอก นคร ทนุวงษ์เป็นผู้บังคับการเรือ สมเด็จย่าทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ทหาร ตำรวจ และหน่วยแพทย์ พอ.สว. ในจังหวัดภาคตะวันออก ข้าราชการและกำลังพลของกองทัพเรือทุกนายที่ตามเสด็จ ต่างชื่นชมในพระราชจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์ท่าน ที่ทรงห่วงใย ไต่ถามทุกข์สุขของราษฎรที่มาเฝ้ามาเข้าเฝ้าฯ ด้วยพระพักตร์ที่ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่ถือพระองค์ตลอดการปฏิบัติพระราชภารกิจ

อ้างอิงจาก : http://thaiseafarer.com/naval-force/agor812/

ภาพประกอบจาก : หนังสือ ประวัติกองทัพเรือ กับ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

 

โครงการจัดหาเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล

ระหว่างปี 2525 กองทัพเรือจัดหาเครื่องบินตรวจการณ์ F-27 MK 200 จากบริษัท Fokker Aerospace Group ประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 3 ลำ เครื่องบินเข้าประจำการปี 2527 และถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า เครื่องบินต่อต้านเรือผิวน้ำแบบที่ 1 หรือ บ.ตผ.1 ต่อมาในปี 2528 มีการจัดหาเพิ่มอีก 1 ลำเพื่อทดแทนลำที่สูญเสียจากอุบัติเหตุในปีเดียวกัน F-27 MK 200 ลำที่สี่แต่เป็นลำที่สามเข้าประจำการระหว่างปี 2530

คุณสมบัติของ บ.ตผ.1 มีดังนี้

น้ำหนักตัวเปล่า  :  30,980 -32,268 ปอนด์

น้ำหนักบรรทุกวิ่งขึ้นสูงสุด : 45,000 ปอนด์

มิติ (กว้าง x ยาว x สูง) : 29.0 x 23.69 x 8.78 เมตร

เครื่องยนต์ : ROLL-ROYCE DART RDA-536-7R

ความจุ : นม.ชพ. JP-8 (10,000) ปอนด์

ความเร็ว: ปฏิบัติการ 145-175 นอต เดินทาง 200 นอต สูงสุด 210 นอต

สิ้นเปลือง : 1280 ลิตร/ชั่วโมง

ระยะบินไกลสุด : 1000 ไมล์ทะเล/5 ชั่วโมง รัศมี 450 ไมล์ทะเล

 เพดานบิน : 17,000 ฟุต

ระยะทางวิ่ง : ขึ้น 5,500 ฟุต ลง 2,500 ฟุต

ระยะปฏิบัติการสูงสุด : 1000 ไมล์ทะเล

แม้ถูกกองทัพเรือตั้งชื่อว่าเครื่องบินต่อต้านเรือผิวน้ำแบบที่ 1 ภารกิจหลักคือการลาดตระเวนและโจมตีเรือผิวน้ำหรือเรือลำเลียง ทว่า F-27 MK 200 สามารถใช้งานได้ทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบและตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ เครื่องบินตรวจการณ์ F-27 MK 200 จำนวน 3 ลำจะทำงานร่วมกับเครื่องบินปราบเรือดำน้ำแบบที่ ๑ หรือ S-2F จำนวน 8 ลำในการไล่ล่าเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม


          นี่คือภาพถ่ายจากบริษัท Fokker Aerospace Group เครื่องบิน F-27 MK 200 หมายเลข 663 ติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stingray จากอังกฤษจำนวน 4 นัดที่ไพลอนใต้ปีกและข้างลำตัว ภาพประกอบที่สองจากนิตยสารสงครามฉบับที่ 229 ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 เครื่องบิน F-27 MK 200 กองทัพเรือทดสอบปล่อยตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stingray เป็นครั้งแรก ข้อมูลน่าสนใจจากนิตยสารสงครามระบุไว้ว่า

          ในภาพคือการทดสอบปล่อยตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำสติงเรย์ทางอากาศ โดย บ. ลาดตระเวนทางทะเลติดอาวุธ เอฟ-27 มาริไทม์ เอนฟอร์ซเซอร์ เครื่องหนึ่งในจำนวนทั้งสิ้น 3 เครื่องแห่งราชนาวีไทย สติงเรย์เป็นผลงานการพัฒนาและผลิตโดย แผนกระบบอาวุธใต้น้ำของบริษัทมาร์โคนี่ แห่งอังกฤษ จัดเป็นตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแบบใหม่ล่าสุดซึ่งราชนาวีและกองทัพอากาศอังกฤษเพิ่งนำเข้าประจำการเมื่อปีที่แล้วนี่เอง และสำหรับราชนาวีไทยของเรานั้นก็นับเป็นลูกค้าในย่านตะวันออกไกลรายแรกที่ได้สั่งซื้อตอร์ปิโดรุ่นใหม่ทันสมัยแบบนี้มาใช้ โดยจะนำเข้าติดตั้งเป็นอาวุธประจำตัวเรือคอร์เวตติดจรวดนำวิถีแบบใหม่ลำสุดจำนวน 2 ลำ ซึ่งในขณะนี้กำลังทำการก่อสร้างอยู่ในสหรัฐ และ บ. ลาดตระเวนแบบ เอฟ-27 จำนวน 3 เครื่องดังกล่าว

          สติงเรย์ เป็นอาวุธนำวิถีประเภท ยิงแล้วลืมได้เลย อีกแบบหนึ่งกล่าวคือ เมื่อถูกยิงปล่อยลงน้ำมาแล้ว มันจะปฏิบัติการค้นหาและตีต่อเป้าหมายได้เองโดยอิสระ ทั้งนี้เพราะในตัวสติงเรย์แต่ละลูกมีระบบคอมพิวเตอร์ที่มีขีดความสามารถสูง ซึ่งจะคอยควบคุมอำนวยการปฏิบัติการของสติงเรย์ทั้งหมด ตั้งแต่ กำหนดทิศทางการค้นหาเป้าหมาย คอยปรับแต่งความถี่และรูปแบบในการส่งคลื่นเสียงเพื่อค้นหาเป้าหมายให้เหมาะสมตามสถานการณ์แวดล้อม (สติงเรย์ในระบบแสวงเป้าและนำวิถีด้วยโซนาร์แบบผสมผสานทั้งภาคส่ง/ภาครับ) พิสูจน์ทราบเป้ากับคอยวิเคราะห์และตัดสัญญาณเสียงสะท้อนที่เป็นเป้าลวง ทั้งโดยธรรมชาติหรือโดยมาตรการก่อกวนของเป้าข้าศึก ตลอดไปจนถึงการสร้างสัญญาณคำสั่งการบังคับให้สติงเรย์วิ่งเข้าชนเป้าหมายอย่างแม่นยำในที่สุด

          เนื่องจากมีหัวใจสำคัญคือระบบคอมพิวเตอร์นั่นเอง ทำให้ชาติต่างๆ ที่จะซื้อสติงเรย์ไปใช้งาน สามารถปรับสมรรถนะของมันให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานในน่านน้ำปฏิบัติการของตนเองได้ ด้วยการเปลี่ยน ซอฟต์แวร์ โปรแกรม ของคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม

          นอกจากการเป็นอาวุธนำวิถีทันสมัยล้ำสมัยประเภท ยิงแล้วลืมได้เลย ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถรับมือกับเรือดำน้ำทุกแบบได้ไปจนตลอดช่วงทศวรรษที่ 90 แล้ว สติงเรย์ยังมีคุณสมบัติอีกข้อหนึ่งซึ่งมีส่วนทำให้ราชนาวีไทยตัดสินใจสั่งซื้อมาใช้งานนั่นก็คือ มันสามารถปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นเช่น ในบริเวณอ่าวไทยได้อย่างดีเยี่ยมเป็นพิเศษ

          ลูกค้าต่างชาติของสติงเรย์นอกเหนือไปจากราชนาวีไทยแล้ว ในขณะนี้ยังมีรัฐนาวีอียิปต์อีกหนึ่งชาติซึ่งได้สั่งซื้อไปใช้งานเป็นอาวุธประจำตัวเรือคอร์เวตชั้นเคสคูเบียร์ตาจำนวน 2 ลำที่สั่งต่อจากสเปน รวมทั้งใช้งานบนเฮลิคอปเตอร์ซีคิงส์ประจำเรือคอร์เวตทั้ง 2 ลำนี้ด้วย

          ยอดสั่งซื้อสติงเรย์ของราชนาวีไทยและรัฐนาวีอียิปต์นั้น เมื่อรวมกันแล้วจะมีมูลค่า 20 ล้านปอนด์

อ้างอิงจาก : นิตยสารสงครามฉบับที่ 229 ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527

ภาพประกอบจาก : https://pantip.com/topic/34904008

นิตยสารสงครามฉบับที่ 229 และบริษัท Fokker Aerospace Group ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

โครการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง

การสร้างเรือ ต.94

หลังจากที่กรมอู่ทหารเรือได้สร้างเรือยนต์รักษาฝั่งในชุดนี้ให้กองทัพเรือไปแล้ว 3 ลำ แต่กองทัพเรือยังคงมีความต้องการเรือประเภทนี้อยู่อีก จึงมีโครงการให้กรมอู่ทหารเรือสร้างเรือเป็นลำที่ 4 เมื่อกรมอู่ทหารเรือเริ่มโครงการไประยะหนึ่ง กองทัพเรือได้เปลี่ยนชื่อเรือประเภทนี้เป็น เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ..2524

เรือ ต.94 ยังใช้ HULL FORM ของเรือ ต.92 ทุกประการ เพียงแต่มีการแก้ไขเลื่อนเก๋งมาทางหัวเรือ และเลื่อนเครื่องจักรใหญ่ไปทางท้ายเรือ เพื่อให้สามารถทำฝา HATCH สำหรับการยกเครื่องจักรใหญ่ออกจากเรือโดยไม่ต้องตัดข้างเรือ เพิ่มพัดลมห้องเครื่องจักรเพื่อเพิ่ม AIR SUPPLY ทำให้การระบายอากาศดีขึ้น เปลี่ยนตำแหน่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปที่ด้านหัวเรือของเครื่องจักรใหญ่ และเลื่อนถังน้ำมันเชื้อเพลิงไปทางท้ายเรือ เปลี่ยนแบบเครื่องจักรใหญ่เป็น MTU 12 V 538 TB 81 ให้กำลังสูงขึ้นเล็กน้อยคือ 1870 KW ต่อเครื่อง

กองทัพเรือประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.94 ลงน้ำเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2523 เรือ ต.94 ทำการทดลองความเร็วได้สูงสุด 25.45 นอต ที่ความเร็วเครื่องจักร 1740 รอบต่อนาที ขณะทดลองเรือมีระวางขับน้ำ 139 ตัน

การสร้างเรือ ต.95-.98

หลังจากส่งมอบเรือ ต.94 ให้กับกองทัพเรือแล้ว กรมอู่ทหารเรือได้รับอนุมัติให้สร้างเรือชุดนี้เป็นระยะๆ คือเรือ ต.95 .96 .97 .98 และ ต.99

ในการสร้างเรือ ต.95 กรมอู่ทหารเรือกระทำไปพร้อมกับเรือ ต.96 และยังคงใช้ HULL FORM เดียวกับเรือ ต.92 แต่ได้ทำการดัดแปลงให้ TRIM ของเรือดีขึ้น โดยการปรับตำแหน่งของถังน้ำมันเชื้อเพลิงใช้การไปทางด้านหัวเรือ และลดขนาดของ HATCH ที่ทำไว้สำหรับยกเครื่องจักรใหญ่ขึ้นจากเรือ อันเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวเรือ เรือ ต.95 .96 และ ต.97 ทดลองความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 25.7 นอตทุกลำ ส่วนเรือ ต.98 ได้ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังสูงขึ้นคือ MTU 12 V TB 82 ให้กำลัง 2044 KW ต่อเครื่อง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 27.9 นอต ที่ความเร็วเครื่องยนต์ 1810 รอบต่อนาที

สำหรับเรือ ต.98 มีประวัติความเป็นมาต่างจากเรือลำอื่นเล็กน้อย หลังจากกรมอู่ทหารเรือต่อเรือ ต.95 .96 และ ต.97 เสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่ายังมีวัสดุที่ใช้การต่อเรือเหลืออยู่พอที่จะต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งได้อีก 1 ลำ และเพื่อเป็นการมิให้ช่างต่อเรือว่างเว้นจากการใช้ฝีมือต่อเรือเป็นเวลานาน กองทัพเรือจึงได้อนุมัติให้กรมอู่ทหารเรือต่อเรือ ต.98 ขึ้นอีก 1 ลำ และได้ทำพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2525

การสร้างเรือ ต.99

1.บทนำ

เมื่อเรือ ต.98 ขึ้นระวางประจำการเรียบร้อยแล้ว กรมอู่ทหารเรือได้เว้นช่วงการสร้างเรือไประยะหนึ่ง ในปี พ..2529 กองทัพเรือมีดำริที่จะจัดให้มีกิจกรรมอันเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 การสร้างเรือลำใหม่ในชุด ต.91 หรือเรือ ต.99 นี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวขั้นต้น กองทัพเรือได้นำเรือ ต.99 น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและขึ้นระวางประจำการในเดือนมกราคม 2531 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธี

2.การพัฒนาจากเรือ ต.92-.98

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวในข้อ 1 กองทัพเรือจึงมีความประสงค์ที่จะสร้างเรือ ต.99 ให้มีสมรรถนะสูงกว่าเรือทุกลำในชุดเรือ ต.91 กล่าวคือมีความเร็วสูง มีความคล่องแคล่วและมีอาวุธที่มีอำนาจการยิงสูง ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

2.1 ในด้านการอาวุธ ได้เปลี่ยนปืนหัวเรือจากปืนกล 40/60 มม.ที่ยิงด้วยระบบศูนย์เล็งธรรมดาที่ปืน เป็นปืนกลแบบ 40/70 มม.ที่มีระบบควบคุมการยิงแบบออปโทรนิกส์ ส่วนปืนท้ายเรือเปลี่ยนปืนกล 40/60 มม.เป็นปืนกล 20 มม.รุ่นใหม่ นอกจากนั้นได้ติดตั้งเครื่องควบคุมการยิงสำหรับเป้าพื้นน้ำและเป้าอากาศยาน นับได้ว่าเรือ ต.99 เป็นเรือลำเดียวในชุดนี้ที่มีเครื่องควบคุมการยิง

2.2 ในด้านตัวเรือ เมื่อเปลี่ยนปืนหัวเรือเป็นปืนกล 40/70 มม.จึงจำเป็นต้องเสริมโครงสร้างของเรือบริเวณใต้ปืนให้แข็งแรงขึ้น นอกจากนั้นยังได้เปลี่ยนเสากระโดงเรือให้มีฐานรับเรดาร์เดินเรือให้เหมาะสมกับการติดตั้งเครื่องควบคุมการยิง สำหรับถังน้ำและถังน้ำมันเชื้อเพลิงได้ออกแบบเปลี่ยนตำแหน่งเสียใหม่ เพื่อให้เรือลอยอยู่ในทริม (TRIM) เรือที่ดีและสามารถปรับแต่งทริม (TRIM) เรือได้ไม่ยาก เรือโบ๊ตเล็กที่มาสะดวกในการเก็บรักษาและใช้งานก็เปลี่ยนใหม่เป็นเรือยาง ส่วนการจัดแบ่งห้องต่างๆ ในเรือนั้น มีการปรับขนาดของห้องถือท้ายและขยายห้องศูนย์ยุทธการและห้องวิทยุให้ใหญ่ขึ้น ให้เหมาะสมกับเครื่องควบคุมการยิงที่เพิ่มขึ้นเฉพาะเรือลำนี้

2.3 เรือ ต.99 คงใช้ลายเส้นเดียวกับเรือ ต.92 ถึงเรือ ต.98 ด้วยเป็นแบบที่ได้รับการปรับปรุงไว้ดีมากแล้ว

2.4 ในด้านเครื่องจักรนั้น เรือ ต.99 มีระบบขับเคลื่อนเรือที่มีคุณลักษณะเหมือนเรือ ต.98 ทุกประการ

2.5 ระบบไฟฟ้า มีการปรับปรุงที่สำคัญคือเพิ่มกำลังการผลิตของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเรือจาก 60 กิโลวัตต์เป็น 65 กิโลวัตต์ เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ภาระที่เพิ่มขึ้นจากการติดตั้งเครื่องควบคุมการยิง

3.การสร้างเรือ

3.1 เรือ ต.99 ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี 8 เดือน ใกล้เคียงกับเรือลำอื่นๆ แต่ได้มีการวางแผนการสร้างดีกว่าทุกลำ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถนำเรือ ต.99 น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทันเวลา

3.2 ในขณะที่กรมอู่ทหารเรือกำลังดำเนินการสร้างเรือ ต.99 อยู่นั้น ตรงกับช่วงเวลาที่กองควบคุมคุณภาพของกรมอู่ทหารเรือ ได้พัฒนาขีดความสามารถในการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพขึ้นมากแล้ว เรือลำนี้จึงได้รับการตรวจสอบอย่างทันสมัยและเป็นระบบมากกว่าทุกๆ ลำในชุดเรือ ต.91 การปรับปรุงการตรวจสอบที่สมควรกล่าวถึงมากคือการฉายรังสีเพื่อตรวจสอบตำหนิในรอยเชื่อมแผ่นเหล็กตัวเรือ จัดได้ว่าเรือ ต.99 เป็นเรือลำแรกที่กรมอู่ทหารเรือสร้างขึ้นและได้รับการฉายรังสี

4.การทดลองเรือ

การทดลองเรือประกอบไปด้วยการทดลองเอียงเรือในท่า เพื่อนำตัวเลขไปคำนวณและประเมินค่าความทรงตัวของเรือ และการทดลองในทะเลเพื่อประเมินขีดความสามารถต่างๆ ของเรือ การทดลองเรือในทะเลประกอบไปด้วย การทดลองความเร็ว การทดลองอัตราเร่งและความสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิง ผลการทดลองพบว่าเรือ ต.99 สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 25.65 นอต ที่ความเร็วรอบเครื่องจักร 1820 รอบต่อนาที และที่ระวางขับน้ำ 137 ตัน

โครงการสร้างเรือชุด ต.91 เป็นผลงานระดับ MASTERPIECE ของกรมอู่ทหารเรือและกองทัพเรือ เรือลำแรกของโครงการคือเรือ ต.91 เข้าประจำการวันที่ 12 สิงหาคม 2511 เป็นเรือที่มีสมรรถนะสูงแต่ความเร็วไม่สูงตามเป้าเดิมที่ตั้งไว้ (30 นอต) เรือลำต่อๆ มามีการพัฒนาจนได้ HULL FORM ที่ดีมาก มีสมรรถนะสูง มีความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 25 นอต เรือ ต.99 จัดว่าเป็นเรือสมรรถนะสูงสุดของเรือชุดนี้ เพราะติดตั้งอาวุธปืนรุ่นใหม่ทันสมัยพร้อมระบบควบคุมการยิงแบบออปโทรนิกส์จากอังกฤษ

อ้างอิงจาก : เอกสาร อทร.9691 โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91’

ภาพประกอบจาก :

http://www.wings-aviation.ch/35-Thai-Navy/RTNAD-Basis-en.htm

 

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปืน

วันที่ 17 เมษายน 2529 คือวันรุ่งเรืองที่สุดของอุตสาหกรรมสร้างเรือภายในประเทศ เพราะเป็นวันที่กองทัพเรือขึ้นระวางประจำการเรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหลวงสัตหีบจำนวน 4 ลำพร้อมกัน

จากภาพประกอบไล่จากซ้ายไปขวาประกอบไปด้วย เรือหลวงตากใบหมายเลข 6 เรือหลวงกันตังหมายเลข 7 เรือหลวงเทพาหมายเลข 8 และเรือหลวงท้ายเหมืองหมายเลข 9  สมัยนั้นกองทัพเรือกำหนดให้เรียกเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรว่าเรือตรวจการณ์ปืน ปัจจุบันกำหนดให้เรียกเรือตรวจการณ์ระยะกลาง

เรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหลวงสัตหีบทั้ง 6 ลำสร้างโดยบริษัทอิตัลไทย มารีน จำกัด ใช้แบบเรือ PSMM Mk5 บริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา มาปรับปรุงให้เหมาะสมความต้องการราชนาวีไทย เรือมีระวางขับน้ำปกติ 260 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุด 300 ตัน ยาว 50.14 เมตร กว้าง 7.28 เมตร กินน้ำลึก 2.80 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล (MTU 16V568TB92) จำนวน 2 เครื่อง ความเร็วสูงสุด 22 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,500 ไมล์ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 15 นอต ปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 5 วัน

ระบบอาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ 76/50 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 40/60 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 20 มม.รุ่น GAM-BO1 จำนวน 2 กระบอก และปืนกล 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก บนเสากระโดงติดเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Decca จำนวน 1 ตัว ผสมผสานกันระหว่างอาวุธเก่าจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง กับอาวุธรุ่นใหม่ล่าสุดและระบบตรวจจับที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด

บริษัทอิตัลไทย มารีน จำกัดสร้างเรือหลวงสัตหีบหมายเลข 4 ขึ้นมาเป็นลำแรก ขึ้นระวางประจำการวันที่ 16 กันยายน 2526 สร้างเรือหลวงคลองใหญ่หมายเลข 5 เป็นลำที่สอง ขึ้นระวางประจำการวันที่ 10 เมษายน 2527 เรือสี่ลำที่เหลือขึ้นระวางประจำการพร้อมกันตามที่ได้กล่าวถึงในเบื้องต้นไปแล้ว เป็นโครงการใหญ่ที่สุดของบริษัทที่ได้รับจากกองทัพเรือ ใช้แบบเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ที่ดีที่สุดจากสหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้นเป็นต้นมาไม่เคยมีการขึ้นระวางประจำการเรือตรวจการณ์ปืนพร้อมกันถึง 4 ลำอีกเคย

แบบเรือ PSMM Mk5 มาจากโครงการ Patrol Ship Multi-Mission ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา พวกเขาต้องการเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรรุ่นใหม่ ที่สามารถติดอาวุธได้อย่างหลากหลายตามความต้องการ บริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัดจึงนำเรือตรวจการณ์ปืนชั้น Asheville มาพัฒนาให้ทันสมัยมากกว่าเดิม ต่อมาไม่นานกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแผนไม่สร้างเรือตรวจการณ์ปืนเพิ่มเติม แบบเรือ PSMM Mk5 จึงถูกส่งต่อให้ประเทศพันธมิตรนำไปใช้งานประกอบไปด้วย

-เรือตรวจการณ์ปืนชั้น PGM-581 กองทัพเรือเกาหลีใต้จำนวน 8 ลำ

-เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี Hsiung Feng I ชั้น Lung Chaing กองทัพเรือไต้หวันจำนวน 2 ลำ

-เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี Exocet ชั้น Mandau กองทัพเรืออินโดนีเซียจำนวน 4 ลำ

-เรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหลวงสัตหีบจำนวน 6 ลำ

เท่ากับว่าแบบเรือ PSMM Mk5 ได้รับการสร้างขึ้นระวางประจำการจำนวน 20 ลำ

เรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหลวงสัตหีบจำนวน 6 ลำเพิ่มกำลังทางเรือให้กับราชนาวีไทย ภารกิจลาดตระเวนตรวจการณ์มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม เพราะเป็นเรือใหญ่จึงทนทะเลได้ดีกว่าเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ออกทะเลได้นานกว่า ติดอาวุธได้มากกว่า ทำหน้าที่ทดแทนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงสารสินธุได้เป็นอย่างดี

ต่อมาในปี 2532 เรือหลวงคลองใหญ่กับเรือหลวงตากใบได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม โดยการติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม. ปืนกล 40/70 มม. และระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง NA-18 จากอิตาลีแบบยกเซต รวมทั้งปรับปรุงเสากระโดงเรือรองรับการติดตั้งระบบควบคุมการยิงรุ่นใหม่ทันสมัย ครั้นถึงปี 2533 เรือหลวงคลองใหญ่กับเรือหลวงตากใบโฉมใหม่จึงกลับเข้ามาประจำการรับใช้ชาติอีกครั้ง

การติดตั้งอาวุธทันและระบบควบคุมการยิงทันสมัยทำได้เพียง 3 ลำ (เรือหลวงสัตหีบได้รับการปรับปรุงเพิ่มอีก 1 ลำ) เหตุผลสำคัญก็คือราคาปืนใหญ่ 76/62 มม. ปืนกล 40/70 มม. และระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง NA-18 รวมกัน แพงกว่าราคาเรือตรวจการณ์ปืนสร้างเองในประเทศทั้งลำ จนถึงปัจจุบันเรือหลวงกันตัง เรือหลวงเทพา และเรือหลวงท้ายเหมือง ยังคงใช้งานปืนใหญ่ 76/50 มม. และปืนกล 40/60 มม.ต่อไปเหมือนเดิม

เรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหลวงสัตหีบเป็นโครงการแรกและโครงการเดียว ที่มีการสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรเข้าประจำการพร้อมกันถึง 6 ลำ เป็นโครงการแรกและโครงการเดียวที่อู่ต่อเรือในประเทศได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ เป็นโครงการแรกที่บริษัทเอกชนซื้อแบบเรือจากต่างประเทศมาสร้างให้กับกองทัพเรือ

ปัจจุบันการสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรขึ้นไปเปลี่ยนเป็นครั้งละ 1 ลำ เข้าประจำการแล้วก็ดองเค็มโครงการไม่สั่งซื้อเพิ่มเติม (อาทิเช่นเรือหลวงแหลมสิงห์) หรือสั่งซื้อเพิ่มแต่เป็นรุ่นปรับปรุงจนดูแตกต่างจากเรือลำแรกอย่างชัดเจน (อาทิเช่นเรือหลวงกระบี่กับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์) เรือที่เข้าประจำการจึงมีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยมาก ต่างจากภาพประกอบที่เหมือนกันยันเงาต้องแยกแยะจากหมายเลขเรือ

ภาพประกอบจาก : นิตยสารสงครามฉบับที่ 416 ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533

 

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 กองทัพเรือได้ออกหนังสือเชิญชวนให้บริษัท ห้างร้าน และอู่ต่อเรือต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ให้เสนอราคาและรายละเอียดสำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ โดยมีคุณลักษณะโดยอดังนี้

1.       ประเภท เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำหรือ ตกด. (Patrol Ship-ASW)

2. ภารกิจ ลาดตระเวนตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ เพื่อป้องกันเรือลำเลียงและคุ้มครองทรัพยากรของชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

3. ขีดความสามารถ

3.1 ลาดตระเวนตรวจการณ์ทางพื้นน้ำและใต้น้ำ

3.2 คุ้มกันเรือลำเลียงด้วยการป้องกัน ปราบปราม หยุดยั้ง หรือทำลายเรือดำน้ำ

3.3 คุ้มครองทรัพยากรของชาติในทะเล

3.4 สนับสนุนกำลังรบทางบกด้วยการทำลายเป้าหมายบนฝั่งในระยะใกล้

3.5 ป้องกันตนเองได้จากภัยคุกคามทางผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ

3.6 วางทุ่นระเบิดทางรับได้

3.7 ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล

3.8 ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล

3.9 ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

 4. ขนาดและความเร็ว

4.1 ความยาวตลอดลำระหว่าง 55-65 เมตร

4.2 ระวางขับน้ำปรกติระหว่าง 450-550 ตัน

4.3 ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 25 นอต

4.4 ระยะปฏิบัติการด้วยความเร็วเดินทางไม่น้อย 2,500 ไมล์ เมื่อระวางขับน้ำเต็มที่

5. ตัวเรือ

5.1 ตัวเรือเป็นเหล็ก เก๋งสะพานเดินเรือเป็นอลูมีเนียมอัลลอยด์

5.2 เป็นเรือแบบที่เคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว (Well-Proven) หรือดัดแปลงน้อยที่สุดจากเรือแบบที่เคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว การดัดแปลงนี้อนุญาตเฉพาะการเปลี่ยนแปลงความยาวเรือไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์

5.3 สามารถปฏิบัติภารกิจในทะเลไม่น้อยกว่าระดับ 4

5.4 มีมาตรฐานการสร้าง การออกแบบ วัสดุ ฝีมือ และอุปกรณ์ทนทานต่อแรงกระแทกและการสั่นสะเทือน

5.5 เป็นเรือที่มีการออกแบบให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้เกิดเสียงใต้น้ำน้อยที่สุด

ลักษณะของโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเริ่มต้นโครงการในปีงบประมาณ 2530 ดังนี้

โครงการส่วนที่ 1 เป็นการจัดซื้อลิขสิทธิ์รวมทั้งแบบเรือ วัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างเรือ รวมทั้งจัดผู้เชี่ยวชาญเพื่อควบคุม แนะนำ และตรวจงานสร้างเรือ ทดสอบและทดลองเรือจนเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์จำนวน 1 ลำ

 โครงการส่วนที่ 2 ว่าจ้างสร้างเรือจำนวน 2 ลำ

บริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด ได้ติดต่อกับบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นอู่เรือที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบเรือ และเคยต่อเรือผิวน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กให้กับกองทัพเรือแห่งราชนาวีอังกฤษและบรรดามิตรประเทศมาแล้วมากมาย โดยเลือกแบบเรือในชั้น Province Class ซึ่งมีความยาว 56.7 เมตร และนำมาดัดแปลงยืดเฉพาะความยาวไปอีก 9 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ความยาวตลอดลำใหม่เป็น 62 เมตร

เหตุผลที่บริษัทตัดสินใจเลือกแบบเรือในชั้น Province Class มาเสนอให้กับกองทัพเรือ เนื่องมาจากบริษัทวอสเปอร์ได้เคยต่อเรือชุดนี้ให้กับกองทัพเรือโอมานมาแล้ว 4 ลำ โดยมีมาตรฐานการออกแบบและการสร้าง รวมทั้งการตรวจงานภายใต้การควบคุมของราชนาวีอังกฤษ เพื่อใช้ในภารกิจคุ้มครองเส้นทางลำเลียงน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ มีความเร็วสูงและมีสมรรถนะดีเยี่ยมสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทวอสเปอร์เป็นอันมาก อีกทั้งได้เคยพิสูจน์ตัวเองในการทดสอบทางทะเล โดยการวิ่งฝ่าคลื่นลมในสภาพระดับ 7 มาแล้ว (ความสูงของคลื่นเฉลี่ยประมาณ 8 เมตร) เป็นเวลา 9 วันโดยไม่มีอันตรายใดๆ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและแข็งแกร่งกับตัวเรือมากขึ้น บริษัทได้ตกลงกับบริษัทวอสเปอร์ให้ออกแบบโครงสร้างตัวเรือใหม่ทั้งหมดตามกฎของลอยด์ และให้สถาบันลอยด์แห่งอังกฤษตรวจรับรองแบบโครงสร้างใหม่นี้ทั้งหมดด้วย

บริษัทได้ยื่นซองประกวด ราคา และรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2530 และได้รับให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาทั้ง 2 รายการ ได้มีการเจรจาทางด้านรายละเอียดและเทคนิคอื่นๆ ต่อมาอีกเป็นเวลา 7 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนที่เป็นรายละเอียดต่างๆ ใกล้เคียงความต้องการกองทัพเรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในที่สุดได้มีการลงนามในสัญญาทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 24 กันยายน 2530 โดยพลเรือเอกธาดา ดิษฐบรรจง ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี

หลังการเซ็นสัญญาบริษัทอิตัลไทย มารีนโดยความร่วมมือจากบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์ เริ่มวางแผนงานพร้อมทั้งเตรียมการด้านวิศวกรรม ทั้งด้านการต่อเรือและการสั่งของโดยละเอียด จากนั้นจึงเริ่มต้นโครงการที่ 1 โดยการประกอบสร้างเรือลำที่ 1 ที่กรมอู่ทหารเรือ พร้อมๆ กับเรื่องต้นโครงการที่ 2 โดยการประกอบสร้างเรือลำที่ 2 ที่อู่ต่อเรือของตัวเอง ดังนั้นตามแผนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำจะแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน

การสร้างเรือที่อิตัลไทยเริ่มต้นปลายเดือนมีนาคม 2531 ควบคู่ไปกับการสร้างเรือที่กรมอู่ทหารเรือ ชิ้นส่วนแรกซึ่งมีน้ำหนัก 20 ตันสร้างแล้วเสร็จกลางเดือนพฤษภาคม การดำเนินงานได้ดำเนินก้าวหน้ามาด้วยดี และเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้โดยตลอด ทำการปิดดาดฟ้าภายหลังที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย เครื่องหางเสือ ทำการติดตั้งเพลาใบจักร ทำการติดตั้งเก๋งสะพานเรือรวมทั้งเสากระโดง และพร้อมที่จะปล่อยเรือลงในภายในเดือนกรกฎาคม 2534 การก่อสร้างเรือลำนี้ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งการทดสอบและปรับแต่งอุปกรณ์ทุกอย่าง จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 18 เดือน โดยบริษัทมีแผนจะส่งให้กองทัพเรือได้ในเดือนมกราคม 2534

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำที่ได้รับการคัดเลือกจากบริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด เป็นการนำแบบเรือชั้น Province Class มาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับความต้องการ จนมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างจากเดิมซึ่งเป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีแท้ๆ แต่ถึงเป็นแบบเรือดัดแปลงก็ยังสามารถมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสถาบันลอยด์แห่งอังกฤษได้ตรวจรับรองแบบโครงสร้างใหม่อย่างครบถ้วนเรียบร้อย

อ้างอิงจาก : นิตยสารสงครามฉบับที่ 411 ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2533

ภาพประกอบจาก : https://thaimilitary.blogspot.com/2019/12/htms-khamronsin.html

 

พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำลงน้ำ

เพื่อการคุ้มกันเรือลำเลียงภายในอ่าวไทยและทะเลอันดามันให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางผิวน้ำ ทางอากาศ และจากใต้น้ำ เป็นภารกิจสำคัญมากภารกิจหนึ่งของกองทัพเรือ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้กองทัพทั้งสามมีอาวุธยุทโธปกรณ์ในการป้องกันประเทศ และประชาชนมาปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพยามสงคราม เพื่อปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จตามความมุ่งหมายดังกล่าว กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นต้องมีกำลังทางเรือที่สามารถลาดตระเวนตรวจการณ์ทางพื้นน้ำและใต้น้ำเพื่อคุ้มครองทรัพยากรของชาติ และให้การคุ้มกันเรือลำเลียงในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ให้เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำที่กองทัพเรือมีอยู่นั้น มีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากมีอายุใช้งานมากกว่า 40 ปี จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาทดแทน สำหรับในครั้งนี้กองทัพเรือได้รับอนุมัติให้จัดหาเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ โดยได้กำหนดแนวทางในการจัดหาไว้คือ กำหนดให้จ้างสร้างจำนวน 2 ลำโดยบริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด กับซื้อแบบเรือ วัสดุอุปกรณ์ และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค เพื่อให้กรมอู่ทหารเรือนำมาสร้างเองจำนวน 1 ลำ เพื่อเป็นการเตรียมการที่พร้อมที่กรมอู่ทหารเรือจะสร้างเรือรบขนาดใหญ่ได้เองต่อไป ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากแนวความคิดของอดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มาตรวจเยี่ยมกรมอู่ทหารเรือเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2529

แบบของเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำทั้ง 3 ลำ ได้รับการคัดเลือกมาจากแบบเรือที่มีคุณลักษณะของเรือ Province Class ที่ต่อโดยบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์ประเทศอังกฤษ กับจัดเพิ่มคุณลักษณะที่กองทัพเรือต้องการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดพอสรุปได้ดังนี้

-แบบและประเภทของเรือเป็นเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ ตัวเรือทำด้วยเหล็ก เก๋งเรือทำด้วยอลูมีเนียมผสม ขนาดความยาวตลอดลำ 62 เมตร กว้าง 8.22 เมตร กินน้ำลึก 2.5 เมตร ระวางขับน้ำปรกติ 450 ตัน รัศมีทำการ 2,500 ไมล์ทะเล ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 25 นอต ขับเคลื่อนโดยเครื่องจักรใหญ่ MTU จำนวน 2 เครื่อง

-ระบบอาวุธประกอบไปด้วย ปืนหลักหัวเรือชนิด 76/62 OTOMELARA พร้อมเครื่องควบคุมการยิง OPTRONICS SEA ARCHER ปืนรองท้ายเรือขนาด 30 มม.แท่นคู่ 1 แท่น แท่นยิงตอร์ปิโด PMW49A 2 แท่น รางปล่อยระเบิดลึก 2 ราง รางปล่อยทุ่นระเบิด 1 ราง แท่นยิงระเบิดน้ำลึก 2 แท่น และอุปกรณ์ตรวจสอบค้นหาทั้งผิวน้ำและใต้น้ำ

-ขีดความสามารถ ลาดตระเวนตรวจการณ์ทั้งผิวน้ำและใต้น้ำ คุ้มกันเรือลำเลียง ป้องกันและทำลายเรือดำน้ำ คุ้มครองทรัพยากรของชาติ ทำลายเป้าหมายบนฝั่ง วางทุ่นระเบิด และค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ชื่อของเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ กองทัพเรือได้ตั้งชื่อตามเรือรบในลำน้ำสมัยโบราณ ได้แก่ ร..สารสินธุ ร..ทยานชล ร..คำรณสินธุ ร..พาลี ร..สุครีพ ร..ทองปลิว ร..ลิ่วลม และ ร..ล่องลม ในปัจจุบันเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำเหล่านี้ได้ปลดระวางประจำการไปแล้วจำนวน 3 ลำ คือ ร..คำรณสินธุ ร..ทยานชล และร..ล่องลม ซึ่งยังไม่นำชื่อดังกล่าวไปตั้งให้กับเรือลำใด

แนวคิดในการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขึ้นมาใหม่นี้ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำที่ได้ปลดประจำการไปแล้ว รวมทั้งกองทัพเรือได้ยึดหลักปฏิบัติในการตั้งชื่อเรือใหม่ประการหนึ่งคือ การตั้งชื่อเรือแทนเรือที่ปลดระวางประจำการไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้มีประวัติสืบเนื่องกันต่อไป เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำลำที่กรมอู่ทหารเรือสร้างขึ้นนี้จึงมีชื่อว่าเรือหลวงล่องลม ตรงกับชื่อภาษาอังกฤษว่า H.T.M.S. Longlom

กองทัพเรือได้กระทำพิธีเจิมทวนหัวเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2530 โดยพลเรือเอก ธาดา ดิษฐบรรจง ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น และได้ประกอบปล่อยเรือหลวงล่องลม ลงน้ำในวันที่ 8 สิงหาคม 2532 โดยกองทัพเรือได้เชิญคุณชนิดา กมลนาวิน ภรรยารองผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี

และในวันที่ 15 สิงหาคม 2532 ถัดมาอีกไม่อีกวัน เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำลำที่สองชื่อเรือหลวงคำรณสินธุ (Khamronsin) ที่ต่อโดยบริษัทอิตัลไทย มารีน จำกัด (เจ้าของแบบเรือที่ชนะการประกวดราคา) ได้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำโดย นอ.หญิงวัชรินทร์ นาคะเทศ ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการเป็นประธาน

ดังที่กล่าวว่า บริษัทอิตัลไทย มารีนชนะการประกวดราคา สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 กองทัพเรือโดยคณะเลขนุการพิจารณาจัดหาเรือ ได้ออกหนังสือที่ กท.0505 (กตต.)/286 เชิญชวนให้บริษัท ห้างร้าน และอู่ต่อเรือต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เสนอราคาและรายละเอียดสำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ (ตกด.) โดยมีคุณลักษณะโดยย่อตามที่ผู้เขียนลงรายละเอียดไว้ในตอนที่หนึ่ง

จากการมองการณ์ไกลของพลเรือเอก ธาดา ดิษฐบรรจงอดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ต้องการให้กองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือมีขีดความสามารถสร้างเรือรบที่มีขนาดใหญ่ได้ดีเทียบเท่ากับอู่ต่อเรือๆ ที่มีประสบการณ์มามาก จึงได้กำหนดโครงการส่วนที่ 1 ขึ้นมา เมื่อบริษัทอิตัลไทย มารีนชนะการประกวดจึงได้ดำเนินการตามโครงการระยะที่ 1 (หมายเหตุ : คือการจัดซื้อลิขสิทธิ์รวมทั้งแบบเรือ วัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างเรือ รวมทั้งจัดผู้เชี่ยวชาญเพื่อควบคุมมาคอยช่วยเหลือในการสร้างเรือ) ที่ประกอบสร้างกันที่กรมอู่ทหารเรือ และพร้อมกับได้ดำเนินการโครงการระยะที่ 2 ที่อู่ของตนเอง (หมายเหตุ : คือการสร้างเรือจำนวน 2 ลำ) ดังนั้นเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำทั้งสองลำจึงแล้วเสร็จพร้อมปล่อยลงน้ำได้ในเวลาใกล้เคียงกัน (หมายเหตุ : หมายถึงเรือลำแรกที่อิตัลไทย มารีนสร้างกับเรือที่กรมอู่ทหารเรือสร้าง)

หลังจากเรือทั้งสองลำถูกปล่อยลงน้ำเรียบร้อยแล้ว  ยังจะต้องปรับแต่งติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆรวมทั้งระบบอาวุธอีกมากมาย จะต้องใช้เวลาอีกกว่า 18 เดือน เชื่อว่าการทดสอบวิ่งในทะเลได้ก็ราวในปลายปีหน้า (2533) และจะส่งมอบให้กับกองทัพเรือในเดือนมกราคม 2534  ส่วนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำลำที่สาม ขณะนี้กำลังขึ้นโครงการอยู่ภายในอู่อิตัลไทย มารีน และได้กำหนดชื่อแล้วว่า ร..ทยานชล

ภาพประกอบที่หนึ่งคือพิธีปล่อยเรือหลวงทยานชลลงน้ำ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2532 ที่บริษัทอิตัลไทย มารีน จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ สังเกตนะครับว่าเรือใช้หมายเลข 2 หมายถึงเป็นเรือลำที่สองของชั้น ภาพประกอบที่สองคือเรือหลวงทยานชลเปลี่ยนหมายเลขข้างเรือจากหมายเลข 2 เป็น 532 แล้ว ทว่าอุปกรณ์ต่างๆ บนเรือยังคงเหมือนเดิมซึ่งหาค่อนข้างยากมาก มองเห็นออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Sea Archer 1A Mod 2s อย่างชัดเจน ยิ่งเป็นภาพหายากไปกันใหญ่เพราะโดยปรกติ Sea Archer มักถูกผ้าคลุมเวลาเรือเข้าจอดเทียบท่า

อ้างอิงจาก : นิตยสารสงครามฉบับที่ 400 ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2532

ภาพประกอบจาก : https://thaimilitary.blogspot.com/2019/12/htms-khamronsin.html

 

โครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี

คณะกรรมการพิจารณาจัดหาเรือคอร์เวต ตามคำสั่งกองทัพเรือ (เฉพาะ) ที่ 15/2525 ลงวันที่ 20 มกราคม 2525 ได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กองทัพเรือมอบหมายให้มาตามลำดับ โดยได้เริ่มส่งหนังสือเชิญชวน พร้อมทั้ง Staff-Requirement ให้สถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย 7 แห่ง และตัวแทนในประเทศไทยของบริษัทผู้สร้างเรือในต่างประเทศ 15 รายในวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ในการนี้ได้มีบริษัทต่างๆ ยื่นเอกสารรายละเอียดและซองราคา 11 ราย

จากการพิจารณาข้อเสนอบริษัทต่างๆ โดยยังมิได้เปิดซองราคา ปรากฏว่ามีบริษัทที่เสนอแบบเรือที่ผ่านการพิจารณาขั้นแรก 3 บริษัทได้แก่ บริษัทซี.เอ็ม.อาร์จากอิตาลี บริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัดจากสหรัฐอเมริกา และบริษัทวอสเปอร์แห่งอังกฤษ  แต่เนื่องมาจากแบบเรือของทั้งสามบริษัทดังกล่าวมีข้อบกพร่องในเรื่องต่างๆ อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น กองทัพเรือจึงให้คณะกรรมการรวบรวมข้อบกพร่องทั้งหมดของแต่ละบริษัท แล้วส่งให้ทราบและแก้ไขและให้ทั้งสามบริษัทยื่นข้อเสนอมาใหม่ โดยให้ยื่นราคาถึงวันที่ 30 กันยายน 2525

เมื่อบริษัททั้งสามยื่นข้อเสนอมาใหม่ กองทัพเรือพิจารณาเห็นว่าราคาเรือของบริษัทวอสเปอร์สูงกว่าอีก 2 บริษัทมาก จึงได้ตกลงใจให้ตัดบริษัทวอสเปอร์ออกจากการพิจารณา คงเหลือไว้พิจารณาในขั้นสุดท้าย 2 บริษัท อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาทบทวนแบบแปลนและรายละเอียดของเรือทั้งสองบริษัทแล้ว กองทัพเรือเห็นว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมความต้องการ ระบบอาวุธและลักษณะของเรือบางประการให้เหมาะสม ซึ่งได้ให้คณะกรรมการแจ้งให้บริษัทแก้ไขเพิ่มเติมตามความต้องการกองทัพเรือต่อไป

เมื่อบริษัทซี.เอ็นและบริษัททาโคม่ายื่นข้อเสนอเข้ามาใหม่ คณะกรรมการได้พิจารณาเปรียบบเทียบลักษณะของเรือ รวมทั้งเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ของทั้งสองบริษัทแล้วสรุปพิจารณา และเสนอแนะต่อกองทัพเรือเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2525 ที่ประชุมคณะกรรมการนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการ ประกอบกับข้อพิจารณาผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2525 แล้วกองทัพเรือได้ตกลงใจให้คณะกรรมการเจรจากับผู้แทนบริษัททาโคม่าเป็นอันดับแรก รวมทั้งแจ้งให้บริษัททาโคม่าแก้ไขข้อบกพร่องอีกบางประการ แล้วเสนอแบบและราคาเรือมาใหม่

คณะกรรมการและอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้เจรจาเงื่อนไขของสัญญาและรายละเอียดของผนวกแนบท้ายสัญญา กับบริษัททาโคม่าและสามารถเจรจาทำความตกลงกันได้ คณะกรรมการได้เจรจาต่อรองจนถึงขั้นที่คณะกรรมการเห็นว่า ในระดับกรรมการลู่ทางที่จะให้บริษัททาโคม่าลดราคาลงไปอีกน่าจะมีอยู่น้อยมาก แต่บริษัททาโคม่าน่าจะลดราคาเรือลงได้อีกในขั้นการต่อรองระดับกองทัพเรือ จึงนำเรียนผู้บัญชาการทหารเรือว่าควรจะต่อรองกับบริษัททาโคม่าให้ลดราคาเรือลงอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะยอมรับได้ ในการประชุมเจรจาขั้นสุดท้ายระหว่างผู้บัญชาการทหารเรือและคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ กับบริษัททาโคม่าเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2526 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงราคาเรือกันได้ในราคา 143 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,296,150,000 บาท (สามพันสองร้อยเก้าสิบหกล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท)  และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2526 ให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อเป็นค่าสร้างเรือดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2527 ถึงปีงบประมาณ 2530

บัดนี้คณะกรรมการและบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ได้เตรียมสัญญาและผนวกแนบท้ายสัญญาไว้พร้อม ได้ตรวจสอบร่วมกันถูกต้องและลงนามกำกับทุกหน้าเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่จะลงนามทั้งในฐานะคู่สัญญาและในฐานะพยานตลอดจนผู้เข้าร่วมในพิธีทั้งสองฝ่ายได้มาพร้อมหน้ากันณ ที่นี้แล้ว จึงขออนุญาตกราบเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ลงนามในสัญญาและผนวกแนบท้ายสัญญารวมสองชุด ร่วมกับ Mr.Robert M Hill Vice President บริษัททาโคม่าซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัท ให้เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้รับจ้างต่อไป ทั้งนี้ได้มีเสนาธิการทหารเรือ และเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือลงนามในฐานะพยานฝ่ายกองทัพเรือ และมีเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย และนายชัยยุทธ กรรณสูตรประธานกรรมการบริษัทอิตัลไทย มารีน จำกัด ลงนามในฐานะพยานฝ่ายบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากองทัพเรือไทยจะมีเรือยามฝั่งเพิ่มขึ้นอีก 2 ลำพร้อมอาวุธเต็มอัตราศึก เช่น ฮาร์ปูน-อัลบราทรอส-ฟาแลงซ์-ปืน 76/62-40/70-ตอร์ปิโดปราบด.พร้อมอิเล็คทรอนิคที่ทันสมัยรวมราคามากกว่า 6 พันล้าน ในขณะที่อีก 2 เดือนข้างหน้าเรือปืนชุดชลบุรีจะถึงไทยจำนวน 3 ลำ จึงเป็นที่ไว้วางใจได้ว่ากองทัพเรือไทยไม่น้อยหน้าใครในภูมิภาคนี้เป็นแน่

โครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีใช้แบบเรือ PFMM Mk.16 ของบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง ระวางขับน้ำปรกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 960 ตัน ยาว 76.8 เมตรหรือ 252 ฟุต กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.5 เมตร ติดปืนใหญ่ Oto 76/62 IROF อัตรายิง 100 นัดต่อนาทีลำแรกของราชนาวีไทย ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon ลำแรกของราชนาวีไทย ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE ลำแรกของราชนาวีไทย และติดระบบเป้าลวง Dagaie รุ่นใหม่ทันสมัยลำแรกของราชนาวีไทย เรือลำเล็กก็จริงแต่มีพิษสงน่ากลัวประมาทไม่ได้เลย

ความแตกต่างระหว่างเรือในแผนการกับเรือจริงมีดังนี้

1.ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx หายไปจากท้ายเรือ

2.ระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 หายไปจากเสากระโดง ไม่มีจานส่งสัญญาณรบกวน ELT 828 จำนวน 4 ใบทั้งที่เรือทำจุดติดตั้งรอไว้แล้ว

เหตุผลที่ Phalanx กับ ECM ไม่มาตามนัดคงเป็นเพราะเรื่องงบประมาณ เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจากสหรัฐอเมริกาขนาด 960 ตันราคาลำละ 1,648 ล้านบาทในปี 2525 เทียบกับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยาขนาด 2,000 ตันจากประเทศจีนลำละ 1,700 ล้านบาทในปี 2531 และเรือเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรขนาด 3,000 ตันที่ออกแบบใหม่ลำละ ละ 4,725 ล้านบาท ในปี 2532 ลำไหนราคาถูก ลำไหนราคาแพง ลำไหนคุ้มค่า ลำไหนสิ้นเปลือง หรือลำไหนไม่ควรจัดหามาใช้งาน วานผู้อ่านคิด-วิเคราะห์-แยกแยะ และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

ภาพประกอบที่หนึ่งคือสูจิบัตร ที่ระลึกปล่อยเรือหลวงสุโขทัย จากการประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 1986 เป็นเรือคอร์เวตลำที่สองตามโครงการจัดหาจากราชนาวีไทย และเป็นเรือขนาดใหญ่ลำสุดท้ายที่บริษัททาโคม่าได้รับการว่าจ้างจากลูกค้า หลังจากนั้นไม่นานบริษัทถูกฟ้องล้มละลายจนต้องปิดบริษัทระหว่างปี 1992 สังเกตนะครับในสูจิบัตรมีทั้ง Phalanx และ ELT 828 จำนวน 4 ใบ

ภาพประกอบที่สองมาจากพิธีปล่อยเรือหลวงรัตนโกสินทร์ลงน้ำ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 1985 ที่อู่ต่อเรือ ทาโคม่า ประเทศสหรัฐอเมริกา นี่คือเรือรบลำแรกของราชนาวีไทยที่ติดตั้งระบบอาวุธทันสมัยครบ 3 มิติ มองเห็นแท่นยิงแฝดแปด Albatross บริษัทอิตาลีที่ท้ายเรือ สำหรับติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE Mk.2

เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์ทันสมัยที่สุดในย่านอาเซียน มีทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE Mk.2 อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stingray ทำการรบ 3 มิติได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งที่เรือมีระวางขับน้ำเพียง 960 ตัน และเนื่องมาจากเรือมีระวางขับน้ำเพียง 960 ตัน ทำให้เกิดจุดอ่อนขนาดใหญ่เนื่องจากไม่มีมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือ

หลังจากเรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัยเข้าประจำการ นิตยสาร Conway's All the World's Fighting Ships 19471995 ลงข่าวว่ากองทัพเรือต้องการสร้างเรือชั้นนี้เพิ่มโดยใช้อู่ต่อเรือภายในประเทศ แต่ถูกยกเลิกในภายหลังแล้วหันมาขึ้นโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ อันเป็นที่มาเรือตรวจการณ์ติดโซนาร์หัวเรือรุ่น DSQS-21C จำนวน 3 ลำ สร้างโดยบริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด 2 ลำและกรมอู่ทหารเรือ 1 ลำ

อ้างอิงจาก : นิตยสารสงคราม หรือ ALL WARFARE ปีที่ 6 เล่มที่ 161 วันที่ 30 พฤษภาคม 2526

ภาพประกอบจาก : https://thaimilitary.blogspot.com/2022/12/htms-sukhothai-442.html

 

บทสรุปปิดท้าย

          การเสริมทัพกองทัพเรือระหว่างปี 2520 ถึง 2530 ยังมีเรื่องราวอีกพอสมควร โดยเฉพาะการสร้างเรือในประเทศที่เจริญรุ่งเรืองอย่างถึงที่สุด ผู้เขียนสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

-บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด สร้างเรือสนับสนุนการกวาดทุ่นระเบิดหรือเรือหลวงถลาง โดยใช้แบบเรือบริษัท FERROSTALL ประเทศเยอรมันเหมือนดั่งเรือหลวงศุกร์ซึ่งเป็นเรือสำรวจอุทกศาสตร์

-บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด สร้างเรือระบายพลขนาดใหญ่จำนวน 4 ลำได้แก่ เรือหลวงทองแก้ว เรือหลวงทองหลาง เรือหลวงวังนอก และเรือหลวงวังใน

-บริษัทอิตัลไทย มารีน จำกัด สร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้นเรือ ต.213 จำนวน 14 ลำ

-บริษัทอิตัลไทย มารีน จำกัด สร้างเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำที่ 6 หรือเรือหลวงสีชัง ในช่วงเวลาคาบเกี่ยว

-บริษัท เทคนอติก อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด สร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่งความเร็วสูง ต.231 ไฮซูแคท ในช่วงเวลาคาบเกี่ยว

-กรมอู่ทหารเรือสร้างเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงแสมสารจำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงแสมสาร กับรือหลวงแรด โดยใช้แบบเรือจากบริษัท Oakwell Engineering ประเทศสิงคโปร์

ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมากองทัพเรือเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ต้องการปรับเปลี่ยนจากกองทัพเรือชายฝั่ง (Coastal Navy) เป็นกองทัพเรือไกลฝั่ง (Off-Shore Navy) โดยเริ่มต้นจากโครงการเรือฟริเกตขนาด 2,000 ตันจากประเทศจีนจำนวน 4 ลำ ส่งผลให้ยุคเรืองรองอุตสาหกรรมสร้างเรือภายในประเทศถูกฆ่าตัดตอน การจัดหาเรือจากเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจในประเทศเปลี่ยนเป็นการจัดหาเรือจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด

++++ The End ++++

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น