วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563

Squadron 2020


 โครงการจัดหาเรือคอร์เวตอเนกประสงค์กองทัพเรือฟินแลนด์

ปี 2008 กองทัพเรือฟินแลนด์เริ่มต้นโครงการสำคัญที่สุด คือการจัดหาเรือรบอเนกประสงค์เข้าประจำการแทนเรือเก่า ช่วงแรกเป็นเพียงตั้งโครงการและกำหนดความต้องการ ปีถัดเริ่มมาเข้าสู่ Multi-Purpose Vessel 2020 Research Program ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ รองรับการสร้างเรือรบอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าเงินในปี 2020 เพื่อนำมาทดแทนเรือรบรุ่นปัจจุบันที่กำลังประจำการ
โครงการที่ว่านี้รู้จักกันในชื่อ  Multi-Purpose Vessel 2020 หรือ MTA 2020 ระบุอยู่ในแผนการของกองทัพเรืออย่างชัดเจน เรือลำใหม่จะต้องมีความเอนกประสงค์มากกว่าเดิม รองรับภัยคุกคามโดยทั่วไปและสงครามอสมมาตร ใช้งานได้ดีทั้งในทะเลหลวงและทะเลบอลติก สามารถเข้าร่วมกับภารกิจระดับวิกฤตระหว่างประเทศ ต้องการนำมาทดแทนเรือวางทุ่นระเบิดชั้น Hameenmaa ชั้น Pohjanmaa และเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Rauma

ก่อนอื่นทำความรู้จักกองทัพเรือฟินแลนด์สักนิด หลังสงครามโลกครั้งที่สองพวกเขาใช้เรือและอาวุธรัสเซียเป็นหลัก ยุคถัดมาเปลี่ยนมาใช้อาวุธสวีเดนโดยสร้างเรือเองในประเทศ มีแค่เพียงเรือลำเล็กขนาดไม่เกิน 2,000 ตัน อาวุธหลักสำคัญที่สุดคือจรวดต่อสู้เรือรบกับทุ่นระเบิด ใช่แล้วครับอ่านไม่ผิดทุ่นระเบิด เขาเคยปรับปรุงเรือฟริเกตชั้น Riga เป็นเรือวางทุ่นระเบิด เรือธงลำสุดท้ายของฟินแลนด์เป็นเรือวางทุ่นระเบิด ปัจจุบันมีเรือวางทุ่นระเบิดติดจรวดต่อสู้อากาศยาน Umkhonto
เพราะฉะนั้นผู้เขียนต่อร้อยบาทขอดีดมะกอกทีเดียว อย่างไรเสียเรือลำใหม่ต้องวางทุ่นระเบิดได้แน่นอน
โครงการเดินหน้าเต็มตัวในปี 2015 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แถลงข่าว นี่คือโครงการที่มีชื่อเรียกขานค่อนข้างมาก นอกจากชื่อเดิมคือ Multi-Purpose Vessel 2020 หรือ MTA 2020 แล้ว ในฟินแลนด์มักเรียกกันว่า Laivue 2020 หรือ Flotilla 2020 รวมทั้ง Monitoimialus 2020 ด้วย ส่วนชื่อภาษาอังกฤษหันมาใช้คำว่า Squadron 2020 OPV Programme หรือโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง Squadron 2020  จำนวนเรือในโครงการมีจำนวน 4 ลำ นำมาทดแทนเรือวางทุ่นระเบิดชั้น Hameenmaa 1 ลำ (ปัจจุบันปลดประจำการแล้ว) เรือวางทุ่นระเบิดชั้น Pohjanmaa 2 ลำในปี 2025 และเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Rauma 4 ลำในปี 2025 อันเป็นปีที่เรือรบรุ่นใหม่ลำแรกเข้าประจำการ

เท่ากับว่าเรือรบหลักลดจำนวนลงจาก 7 เป็น 4 ลำ ปริมาณน้อยลงแต่ระวางขับน้ำเท่ากับหรือมากกว่า เพราะมีเรือเพียงแบบเดียวทำให้สะดวกต่อการซ่อมบำรุง ส่งผลมายังความพร้อมของกองเรือและกองทัพเรือ ซึ่งดีกว่าเดิมแน่นอนแต่มากน้อยแค่ไหนคงต้องรอดู ลดค่าใช้และปัญหาจุกจิกจากจากจำนวนแบบเรือ รวมทั้งเมื่อถึงเวลาปรับปรุงใหญ่กลางอายุใช้งาน การวางแผนกระทำได้สะดวก ราคาปรับปรุงเรือสมเหตุสมผล สามารถสลับเรือเข้ามาปรับปรุงได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อจำนวนเรือเข้าประจำการเพียงเล็กน้อย เพราะมีข้อดีเยอะมากทุกชาติจึงอยากมีแบบเรือน้อยที่สุด
การมาของเรือรบ 4 ลำหน้าตาเหมือนกัน เป็นการปิดฉากเรือธงตลอดกาล เป็นเพราะอะไรนั้นเดี๋ยวเราค่อยว่ากัน

Squadron 2020 กำหนดให้มีเรือความยาวระหว่าง 60 ถึง 105 เมตร ระวางขับน้ำ 2,000 ถึง 3,000 ตัน และภาพนี้คือเรือแบบแรกสุดในปี 2015 ผู้เขียนขอเรียกว่า V1 เพื่อความเข้าใจชัดเจน เรือมีขนาดกะทัดรัดแต่ติดอาวุธครบครัน ระวางน้ำน่าจะปริ่มๆ 2,000 ตัน ยาวไม่น่าเกิน 90 เมตร ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.ที่หัวเรือ จรวดต่อสู้อากาศยาน 32 ท่อยิง มีเรดาร์ควบคุมการยิงเพียงตัวเดียว ฉะนั้นจรวดน่าจะเป็น Umkhonto ซึ่งเวลาติดตั้งจริงคงไม่เกิน 16 ท่อยิง เรดาร์ตรวจการณ์แบบ 3 มิติบนเสากระโดง มีจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 8 นัด ท่อยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำซ่อนในตัวเรือ
ท้ายเรือมีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง ตีเส้นไว้สำหรับวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module และยังเหลือพื้นที่รองรับอากาศยานไร้คนขับ ก้นเรือเจาะช่องขนาดใหญ่ใช้ปล่อยทุ่นระเบิดกับโซนาร์ลากท้าย นี่คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่ดีที่สุดในปี 2020 แต่ยังเป็นเพียงแบบเรือลำแรกสุดของโครงการ

ครั้นถึง ปี 2017 กองทัพเรือฟินแลนด์ออกเอกสารเพิ่มเติม เรือในเอกสารรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ผู้เขียนขอเรียกว่า V2 ก็แล้วกัน นอกจากอธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของโครงการ ยังได้ลงลึกรายละเอียดความสามารถเรือลำใหม่ว่า สามารถป้องกันภัยทางอากาศ ป้องกันภัยจากเรือผิวน้ำ ป้องกันภัยจากเรือใต้น้ำ ใช้วางทุ่นระเบิดได้ ใช้เก็บกู้ทุ่นระเบิดก็ได้ และสามารถแล่นในน่านน้ำที่มีน้ำแข็ง ถูกกำหนดชนิดเรือให้เป็นเรือคอร์เวต แต่คนฟินแลนด์มักเรียกติดปากว่า Minelaying Icebreaker Corvette ครั้นคนในยุโรปเห็นเข้ามักเรียกกันว่า Light Frigate
แบบเรือ V2 แตกต่างจากแบบเรือ V1 ชนิดหน้ามือหลัง มีความยาวประมาณ 105-110 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid ซึ่งฟินแลนด์ไม่เคยมีประจำการมาก่อน สร้างความตื่นเต้นให้กับหลายคนตามปรกติแหละครับ เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติฝังในเสากระโดง Integrated Mast จำนวนเรดาร์ 4 ตัว 4 ทิศทางทันสมัยที่สุด สันข้างเรือซึ่งเป็นจุดแบ่งแยกสีเรือด้านล่างกับด้านบน โค้งค่อนข้างสูงขนานไปกับดาดฟ้าหัวเรือ ความเห็นส่วนตัวเรือลำนี้ออกแบบได้สวยงาม

ชมภาพที่ชัดเจนกว่าเดิมกันต่อ ภาพนี้แสดงถึงอาวุธและระบบต่างๆ ภายในเรือ มีครบถ้วนทุกอย่างตามข้อมูลเอกสารฉบับใหม่ รวมทั้งทุ่นระเบิดไพ่เด็ดไม้ตายหนุ่มขี้อายเมืองหิมะ คนฟินแลนด์ค่อนข้างเก็บตัวไม่ชอบออกสังคม เวลาเข้าประชุมระดับประเทศหรือระดับโลก มักโต้เถียงชาติอื่นไม่ทันโดนเพื่อนล้อเป็นประจำ นิสัยน่ารักเป็นกันเองมีภาษาเป็นของตัวเอง โครงการ Squadron 2020 สำคัญกับพวกเขามาก เพราะกองทัพเรือจะก้าวกระโดดไปข้างหน้าแบบปุบปับ นับรวมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอาวุธ อุปกรณ์ตรวจจับ อุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งการซ่อมบำรุงและปรับปรุงเรือ

ชมภาพวาดเรือด้านข้างกันบ้างนะครับ หัวเรือค่อนข้างสูงและเรียบตามแบบฉบับเรือรุ่นใหม่ สะพานเดินเรืออ้อมมาด้านหลังเล็กน้อย ทำให้มีมุมมองประมาณ 310 องศา เสากระโดงค่อนมาทางกลางเรือ มีเรดาร์เดินเรือหลังเรดาร์ควบคุมการยิงตัวหน้า ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง 2 ตัว มีระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Millennium Gun มีระบบเป้าลวง MASS จำนวน 4 ระบบ พร้อมระบบสื่อสารแบบจัดเต็มเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นเรือลำนี้ติดระบบ Datalink อย่างแน่นอน
แบบเรือโดยรวมค่อนข้างสวยงาม เสากระโดง Integrated Mast ใหญ่โตไปสักนิด เพราะไม่มีจุดติดตั้งระบบเป้าลวงท้ายเรือ จึงต้องตีโป่งห้อยออกมาด้านข้างแบบนี้ บังเอิญจุดปล่อยเรือเล็กอยู่สูงกว่าเรือลำอื่น ทำให้ Superstructure หรือเก๋งเรือส่วนท้ายสูงขึ้นตามกัน ปล่องระบายความร้อนจึงสูงกว่าสะพานเดินเรืออย่างชัดเจน หัวเตี้ยท้ายโด่งต่างจากเรือเกาหลีที่หัวโด่งท้ายเตี้ย แต่มีข้อดีคือความสมดุลหน้า-กลาง-หลังไม่ต่างกันมาก เป็นการพิจารณาจากภาพอย่างเดียวนะครับ

ต่อมาไม่กี่เดือนมีการโชว์ภาพเรือแบบที่สามหรือ V3 รูปร่างหน้าตาผิดไปจากเดิมพอสมควร ใช้สะพานเดินเรือแบบ 270 องศา เป็นแนวยาวขนานกราบเรือมองไม่เห็นด้านหลัง เสากระโดงถูกขยับมาข้างหน้าเล็กน้อย เรดาร์เดินเรือหลังเรดาร์ควบคุมการยิงตัวหน้าหายไป ติดแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 2 ระบบหรือ 16 ท่อยิง ระบบเป้าลวงท้ายขยับมาอยู่ข้างเรดาร์ควบคุมการยิงตัวหลัง มีปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.ห้อยข้างเรือแทน ปืนกล Millennium Gun ใช้ยิงเรือขนาดเล็กได้ก็จริง แต่ติดอยู่ตรงกลางมีมุมอับข้างเรือแน่นอน เพราะฉะนั้นปืนกล 12.7 มม.จะเข้ามาเสริมช่องว่างดังกล่าว
ระบบเป้าลวง MASS ติดเป้าลวงตอร์ปิโดเสริมได้ โดยการเสียบ Canto ไว้ด้านบนประมาณ 4- 6 นัด เพราะฉะนั้นเรือฟินแลนด์มีเป้าลวงครบทั้งหมด แบบเรือ V3 สวยดีนะครับ หัวเตี้ยท้ายโด่งเช่นเดิมแสดงว่านำแบบเรือ V2 มาขัดเกลา ทว่าสันข้างเรือเตี้ยกว่าเดิมพอสมควร ถ้าพูดถึงเรื่องความสวยงามต้องโดนตัดคะแนน ถึงตอนนี้ดูไม่เหมือนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งแล้ว จะว่าเรือคอร์เวตก็ไม่ใช่เรือฟริเกตเบาก็ไม่เชิง เหมือนเรือฟริเกตขนาดมาตรฐานทั่วไปมากกว่า
ครั้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 มีข่าวการจัดซื้ออาวุธในโครงการ Squadron 2020 ต้นเหตุมาจากการเสนอให้สภาคองเกรสอนุมัติ มีการเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซด์สื่อมวลชนจึงเล่นข่าวตาม ฟินแลนด์จัดหาจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 68 นัด กล่องบรรจุจรวดแบบแฝดสี่ MK25 จำนวน 17 กล่อง ราคาเฉพาะโครงนี้อยู่ที่ 112.7 ล้านเหรียญ เท่ากับว่าเรือ 3 ลำมีจรวด ESSM 16 นัดกับกล่อง MK25 อีก 4 กล่อง และเรือ 1 ลำมีจรวด ESSM 20 นัดกับกล่อง MK25 อีก 5 กล่อง เอาเข้าจริงน่าจะมีการทดสอบยิงเมื่อเรือเข้าประจำการ ฉะนั้นจำนวนจรวดจะอยู่ที่ 16 นัดเท่ากันทุกลำ

นอกจากนี้ฟินแลนด์ยังขอซื้อจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon block II+ extended range (ER) ทั้งลูกจริงและลูกซ้อมรวมกัน 120 นัด ราคารวมเฉพาะโครงการอยู่ที่ 622 ล้านเหรียญ นับรวมทั้ง 2 โครงการเท่ากับ 734.7 ล้านเหรียญ ค่อนข้างสูงมากและเป็นการประเดิมส่งออก Harpoon block II+ ER ล็อตใหญ่รายแรก สื่อมวลชนจำนวนมากเสนอข่าวนี้ออกไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยทั้งจากสื่อจริงและมิตรรักแฟนเพลง แต่นี่คือข้อมูลเฉพาะฝั่งอเมริกาเท่านั้น (ย้ำว่าเท่านั้น)
ถัดมาแค่เพียงไม่กี่เดือน กองทัพเรือฟินแลนด์ลงข่าวจัดหาอาวุธอย่างเป็นทางการ จรวด ESSM มาจริงตามที่อับดุลเอ๊ยว่าไว้ ไม่มีการเปิดเผยจำนวนคาดว่าลดลงเล็กน้อย แต่จรวดต่อสู้เรือรบกลายเป็น Gabriel MK5 ของอิสราเอล มูลค่ารวม 162 ล้านยูโร มีออปชั่นเสริมเพิ่มเป็น 193 ล้านยูโร ลดลงมาจากซื้อจรวด Harpoon ถึงสามในสี่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนจรวดที่จัดหา ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขแต่น้อยกว่ากันแน่ ฉะนั้นแล้วฟินแลนด์ไม่มี Harpoon block II+ ER นะครับ

ในข่าวยังได้แสดงแบบเรือใหม่หรือ V4 มีหน้าตาผิดแปลกจากเดิมค่อนข้างมาก ขนาดโดยรวมใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน เสากระโดงโยกมาด้านหน้าติดสะพานเดินเรือ รูปทรงเจดีย์หักมีเสาเสียบกลางดูยังไงก็ไม่งามสง่า กลางเรือเว้นที่ว่างค่อนข้างเยอะมาก ปล่องระบายความร้อนสูงกว่าสะพานเดินเรือเล็กน้อย ทำให้เรือมีรูปร่างสมส่วนมากกว่าเดิม ท้ายเรือเตี้ยลงกว่าเดิมติดปืนกล Millennium Gun ที่เดิม รายละเอียดของภาพไม่ค่อยชัดเจน แต่มีจุดที่แตกต่างจากทุกเวอร์ชันมองเห็นไหมครับ
จุดที่ว่านั้นคือใช้ปืนใหญ่ขนาด 57 มม.แทนที่ปืนใหญ่ 76/62 มม.ที่เราคุ้นเคย ในภาพเรือกำลังแล่นตัดทะเลน้ำแข็ง ฉะนั้นโครงสร้างเรือต้องออกแบบรองรับจุดนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อเติมด้วยว่า เรือจะใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV ของ SAAB เรดาร์ควบคุมการยิง Ceros 200 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Sea Giraffe 4A แบบฝังติดจำนวน 4 ตัว เรดาร์ตรวจการณ์ผิวน้ำ Sea Giraffe 1X อีก 1 ตัว นี่คือคู่หูคู่ใหม่ของ SAAB ในยุคใหม่ ส่วนเรดาร์ Sea Giraffe AMB ไม่ค่อยเป็นที่นิยมแล้ว
ข่าวคราวโครงการ Squadron 2020 เงียบหายไปประมาณ 1 ปี กระทั่งกลางเดือนกันยายน 2519 รัฐบาลฟินแลนด์ประกาศอนุมัติสร้างเรือคอร์เวตเอนกประสงค์จำนวน 4 ลำ และนี่ภาพเรือลำสุดท้ายท้ายสุดหรือแบบเรือ V5

รูปร่างหน้าตาเหมือนแบบเรือ V4 หัวจรดท้าย แต่หน้าสะพานเดินเรือสร้างเก๋งเรือยื่นออกมา ความสวยงามลดลงทันทีหนึ่งในสาม เสากระโดง Light Integrated Mast ผอมเพรียวกว่าเดิม เข้าใจว่า SAAB คือผู้รับผิดชอบเพราะเป็นมืออาชีพ กลางเรือวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module  2 ตู้ กับจรวดต่อสู้เรือรบ Gabriel MK5 อีก 8 นัด ปล่องระบายความร้อนเปลี่ยนเป็นทรงสามเหลี่ยมแหลมตั้ง บังคับทิศทางให้ควันลอยสูงกว่าเรดาร์ควบคุมการยิง (ไม่รู้ของจริงทำได้ดีแค่ไหน)
ปืนกล Millennium Gun หายไปแล้ว แทนที่ด้วยปืนกล 12.7 ควบคุมด้วยรีโมท ช่องปล่อยเรือเล็กเตี้ยลงมาในระดับมาตรฐาน ทำให้ความสูงท้ายเรือลดลงมาเทียบเท่าปรกติ ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์มี Mission Deck ขนาดใหญ่ ท้ายเรือมีช่องขนาดใหญ่จำนวน 2 ช่อง สำหรับเก็บทุ่นระเบิดกับโซนาร์ลากท้ายและอื่นๆ ต้องออกแบบจุดนี้มาตั้งแต่พิมพ์เขียวนะครับ ให้มาปรับปรุงเรือในภายหลังทำไม่ได้แน่นอน เรือที่มี Mission Deck จะมีราคาสูงกว่าเรือทั่วไป
ภาพรวมแบบเรือ V5 ดูปราดเปรียวขึ้นและใหญ่ขึ้น แต่ดูให้สิบครั้งก็ดูไม่เหมือนเรือคอร์เวต สันข้างเรือตัดขึ้นดาดฟ้าก่อนถึงหัวเรือพอสมควร แปลกดีและสวยกว่า V3 ซึ่งดูน่าเบื่อเกินไป ความเห็นส่วนตัวเหมือนเรือฟริเกตระบบเอจิสของนอร์เวย์ เพียงแต่ลำนี้เป็นรุ่นประหยัดใช้เรดาร์ SAAB ระบบอำนวยการรบ SAAB รวมทั้งเพิ่มเติมความอเนกประสงค์เข้ามา

ชมภาพวาดด้านข้างเรือสักนิด สะพานเดินเรือกลับมาเป็นแบบ 310 องศาอีกครั้ง ลำตัวเรือใต้น้ำออกแบบมาสำหรับทะเลลึก ใช้สีกันเพรียงสีเขียวมาตรฐานกองทัพเรือฟินแลนด์ สีนี้สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นที่นิยมมาก ปัจจุบันแทบหายไปเลยเหลือแค่สีแดงกับสีดำ มีรัสเซียใช้อีกหนึ่งชาติแต่เฉพาะแค่บางลำ ที่ต้องสร้างเก๋งเรือหรือ Superstructure ยื่นออกมาจากสะพานเดินเรือ เข้าใจว่ากลางลำเว้นพื้นที่ว่างไว้ค่อนข้างมาก หัวเรือจึงมีพื้นที่ใช้งานไม่เพียงพอต้องโมใหม่ สังเกตไหมครับว่าโซนาร์หัวเรือขนาดค่อนข้างเล็ก ระยะทำการสั้นตามขนาดไปด้วยเรื่องนี้มีสาเหตุ
เพราะต้องใช้งานในพื้นที่หนาวเย็นอุณหภูมิติดลบ จึงมีหัวเรือค่อนข้างสูงแข็งแกร่งเป็นพิเศษ นอกจากฝ่าทะเลน้ำแข็งแล้วยังเผชิญคลื่นลมดีกว่าเรือหัวเตี้ย บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดระบบป้องกันตัวเองในอนาคตได้ ผู้เขียนคิดว่าคงไม่ติดในอีก 10 ปีข้างหน้า และถ้าติดก็อาจไม่ใช่ Millennium Gun เรือฟินแลนด์ใช้ปืนขนาด 57 มม.กับ 40 มม.มาเนิ่นนาน ฉะนั้นอาจได้ Bofors 40 mm Mk5 ยิงเลเซอร์ได้ด้วย (อันนี้ก็เว่อไป) รวมทั้งปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid โอกาสมาคงเหลือน้อย

ภาพนี้แสดงข้อมูลเรือคอร์เวตลำใหม่ของฟินแลนด์ ระวางขับน้ำ3,900 ตัน ยาว 114 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร ใช้ลูกเรือ 70 นาย ความเร็วสูงสุด 26 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ไกลสุด 2,600 ไมล์ทะเล ระวางขับน้ำมากกว่าเรือฟริเกต DF3000F ของเราเล็กน้อย ความสวยงามผู้เขียนขอไม่เทียบแล้วกัน เพราะโดยส่วนตัวชอบแบบเรือ V2 มากที่สุด
Mission Deck ท้ายเรือมีช่องขนาดใหญ่ 2 ช่อง ในภาพช่องขวามือปล่อยโซนาร์ลางท้าย Towed Array Sonar ทำงานโหมด Passive ระยะไกล ที่อยู่ในเรือสีส้มคือยานใต้น้ำไร้คนขับ ส่วนสีเหลืองเป็นโซนาร์ลากท้ายตรวจจับทุ่นระเบิด ช่องซ้ายมือทุ่นระเบิดบนรางปล่อย กับตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module นี่คือทางเลือกทั้งหมดที่สามารถติดตั้งได้ แต่เวลาใช้งานต้องเลือกติดเฉพาะบางอย่าง รวมทั้งอาจมีโซนาร์ลากท้าย Variable Depth Sonar ขนาดเล็กเสริมเข้ามา ส่วนเรื่องโซนาร์หัวเรือที่มีขนาดเล็ก คาดว่าเป็นโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิด โดยปรกติมีระยะทำการประมาณ 2 กิโลเมตร
ที่เห็นเป็นท่อกลมๆ คือแท่นยิงตอร์ปิโด T-47 หรือ New Lightweight Torpedo (NLWT) ของ SAAB ขนาด 400 มม.นำวิถีเส้นลวดระยะยิง 20 กิโลเมตร ยิงใส่เรือดำน้ำก็ได้หรือเรือผิวน้ำก็ดี กองทัพเรือไทยคงไม่สนใจลูกยาวสวีเดนสินะ โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์โชว์การใส่อากาศยานไร้คนขับกับตู้ควบคุม กลางเรือโชว์เรือยางท้องแข็งกับจรวดต่อสู้เรือรบ Gabriel MK5 หัวเรือเป็นปืนใหญ่ 57 มม.กับจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM ทั้งหมดนี้คืออาวุธมาตรฐานฟินแลนด์ในอนาคต
โครงการ Squadron 2020 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 1.3 พันล้านยูโร นับรวมจรวดต่อสู้อากาศยานจำนวนหนึ่ง แน่นอนว่าเหมือนกันโครงการอื่นคืองบบานปลาย ไม่สามารถจัดหาทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามต้องการ กองทัพเรือฟินแลนด์จำเป็นต้องเลือกและไม่เลือก อะไรที่เขาเลือกหรือไม่เลือกพอคาดเดาได้ เริ่มจากสิ่งที่เขาเลือกก่อนแล้วกัน
1 เรือขนาด 3,900 ตันใหญ่กว่าความต้องการเดิม อเนกประสงค์มากขึ้นทำภารกิจได้อย่างครบถ้วน
2 ระบบเรดาร์ ระบบสื่อสาร ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์
3 จรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM
ฟินแลนด์เลือกสิ่งมีความสำคัญมากกว่า เรือขนาดใหญ่ใช้งานได้ดีทั้งเขตน้ำตื้นและทะเลลึก เรดาร์รุ่นทันสมัยแปะติดเสากระโดง 4 ทิศทาง เปลี่ยนให้เรือลำนี้เป็นสถานีเรดาร์เคลื่อนที่ จรวดต่อสู้อากาศยานที่ผ่านการเก็บแต้มมาแล้ว เปลี่ยนให้เรือเป็นฐานยิงจรวดเคลื่อนที่ มีประสิทธิภาพกว่าจรวด Sea Ceptor หนึ่งในผู้ท้าชิง ทีนี้เรามาดูสิ่งที่เขาไม่เลือกบ้าง
1 ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม. ถูกตัดทิ้ง ใช้ปืนใหญ่ 57 มม.จากเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Rauma ทดแทน มีค่าใช้จ่ายแค่ตอนยกปืนมาใส่เท่านั้น ส่วนการซ่อมคืนสภาพดูตามหน้างานไม่เสียไม่ต้องซ่อม
2 จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon block II+ extended range (ER) ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ระยะยิงไกลกว่าเดิม สามารถยิงโจมตีชายฝั่งได้ถูกตัดออกไป หันมาใช้จรวดอิสราเอลซึ่งมีระยะยิง 150 กิโลเมตรขึ้นไป มี Datalink แบบสองทางติดตั้งในจรวด ความทันสมัยและความน่าเชื่อถืออาจไม่เทียบเท่า แต่อาวุธพี่อิสใช้งานได้และใช้งานได้ดีด้วยหรือใครจะเถียง
3 ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Millennium Gun ขายไม่ออกอีกแล้วน่าสงสารคนขาย
สิ่งที่กองทัพเรือฟินแลนด์เลือกและไม่เลือกบ่งบอกอะไรบ้าง หนึ่งพวกเขาเน้นเรื่องการป้องกันมากกว่าโจมตี สองพวกเขาเลือกเรือลำใหญ่ที่สุด ไม่สนใจเรื่องโดนค่อนแคะการเรียกชื่อเรือ สามอาวุธสวีเดนหายไปเกือบทั้งหมด เหลือแค่เพียงเรดาร์ ระบบอำนวยการรบ และกลับมาใช้ตอร์ปิโด 400 มม.อีกครั้ง สี่ไม่มีเรือธงอีกต่อไป ทั้งนี้เนื่องมาจากเรือ 4 ลำทุกอย่างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรือทุกลำสามารถเป็นเรือธงได้ (แล้วแต่กำหนด) การทำภารกิจต่างๆ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งกรณีเรือธงมีอุบัติเหตุหรือความเสียหาย สามารถเปลี่ยนเรือลำใหม่เป็นเรือธงได้เดี๋ยวนั้น
เรื่องเรือธงพิจารณาตามกายภาพนะครับ ส่วนเรื่องตามตำราว่าอย่างไรผู้เขียนไม่ทราบจริงๆ

ชมภาพกราฟิกมุมบนของเรือกันบ้าง มีจุดติดตั้งแท่นยิง MK41 จำนวน 2 ระบบแต่ติดแค่ 1 ระบบ เห็นเก๋งเรือส่วนที่เป็นติ่งหน้าสะพานเดินเรือ กลางเรือวางตู้คอนเทนเนอร์ไว้ 2 ตู้ ถ้าเอาออกจะติดจรวดต่อสู้เรือรบเพิ่มเป็น 16 นัด ปล่องระบายความร้อนเตี้ยลงในระดับมาตรฐาน หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ค่อนข้างราบโล่ง มีสะพานขึ้นเรือแบบซ่อน 2 ฝั่งหลังช่องปล่อยเรือเล็ก ท้ายเรือค่อนข้างสูงกว่าเรือรุ่นเดิมเพราะมี Mission Deck
เรือลำใหม่ของฟินแลนด์ตั้งชื่อว่าชั้น PHOJANMAA มาจากชื่อเขตการปกครองฝั่งตะวันตกของประเทศ กองทัพเรือฟินแลนด์กำหนดให้สามารถทำภารกิจได้ดังนี้
-ปราบเรือผิวน้ำ
-วางทุ่นระเบิดและไล่ล่าทุ่นระเบิด
-ปราบเรือดำน้ำ
-ป้องภัยทางอากาศ
-ระดมยิงชายฝั่ง (ด้วยปืนใหญ่และจรวด)
-เป็นเรือบัญชาการในการทำภารกิจต่างๆ
-ปฏิบัติการในทะเลได้เป็นเวลายาวนาน
-ใช้งานได้ทั้งเขตทะเลน้ำแข็งและทะเลบอลติก
เพราะต้องการเรือที่ตอบโจทย์ได้ตรงที่สุด ฟินแลนด์เลือกที่จะพัฒนาและสร้างเรือด้วยตัวเอง บริษัทต่างชาติให้ความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนไม่มีข้อมูลรู้เพียงสร้างโดยอู่ต่อเรือในประเทศ นี่คือแบบเรือที่น่าสนใจในปัจจุบันและอนาคต อาวุธอาจไม่มากมายชนิดล้นลำก็จริง แต่มีครบถ้วนทำได้ทุกภารกิจด้วยเรือลำเดียว ติดตั้งเรดาร์ทันสมัยเทียบเท่าเรือฟริเกตรุ่นใหม่ มีพื้นที่ว่างเผื่อไว้บนเรือค่อนข้างมาก การติดตั้งอาวุธเพิ่มจึงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เสียดายก็แต่ฟินแลนด์คงไม่ทำอะไรมากมาย อย่างดีแค่เปลี่ยนปืนใหญ่กับติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิด
เรือลำแรกเริ่มสร้างในปี 2022 ทดสอบเดินเรือปี 2024 และเข้าประจำการปีถัดไป เรือทั้ง 4 ลำพร้อมประจำการปี 2028 สิ้นสุด 20 ปีแห่งการเดินทางที่มีตอนจบเลิศหรู ปรกติฟินแลนด์ประจำการเรือประมาณ 30 ปี ฉะนั้นทุกคนมีเวลาดื่นน้ำผึ้งพระจันทร์ 10 ปี หลังจากนั้นเตรียมตัวเข้าสู่โครงการ Squadron 2050 ต่อไป ถึงเวลานั้นผู้เขียนจะกลับมาเขียนถึงอีกครั้ง (ทวงด้วยนะ) วันนี้ต้องกล่าวอำลากันตรงนี้สวัสดีรอบวงครับ J
                    -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
            รายงานเรื่อง : Laivue 2020 tiedotustilaisuus
                รายงานเรื่อง : Squadron 2020 The Finnish Defence Forces strategic project