วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

Tracker, Trader & Tracer เจ้าคุณปู่ซู่ซ่าที่ยังลั้นลาจนถึงปัจจุบัน



   จุดเริ่มต้นโครงการอากาศยานเอนกประสงค์ประจำเรือบรรทุกเครื่องบินในยุค1950
   
     Grumman TBF Avenger เป็นเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดรุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพเรือและนาวิกโยธินอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 เครื่องต้นแบบเริ่มทดลองบินในปี1941และเข้าประจำการในกองทัพตั้งแต่ปี1942 เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นเก่าอย่าง Douglas TBD Devastator แล้ว TBF Avenger ยาวกว่า2เมตร, เครื่องยนต์แรงกว่าบินได้เร็วกว่า 111กม./ชม., น้ำหนักบินขึ้นสุงสุดมากกว่ากัน2เท่า, บรรทุกอาวุธได้มากกว่า2เท่าเช่นกัน, และมีระยะทำการไกลกว่ากันถึง900กิโลเมตร  สมรภูมิอันดุเดือดที่มิดเวย์คือการเปิดตัวเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดสมรรถนะสุงลำนี้ ก่อนจะแสดงผลงานอันโดดเด่นตลอดช่วงสงครามจนได้รับความนิยมจากนักบินเป็นจำนวนมาก TBF Avenger มียอดการผลิดรวมทุกรุ่นสุงถึง 9,839ลำ

      ในปีเดียวกันกับที่ TBF Avenger เริ่มเดินสายการผลิตเพื่อทำการส่งมอบ กองทัพเรืออเมริกาได้เสนอความต้องการกับบริษัทกรัมแมน ถึงความเป็นไปได้ในการจัดหาเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดรุ่นใหม่ เพื่อนำมาทดแทน TBF Avenger ที่พึ่งเข้าประจำการในอนาคต เมื่อได้ข้อสรุปเบี้องต้นโครงการใหม่นี้จึงเริ่มเดินเครื่องจักรอย่างรวดเร็ว จากนั้นอีกเพียง2ปีกรัมแมนได้สร้างเครื่องบินต้นแบบรุ่น XTB2F-1ขึ้นมาสำเร็จ เป็นเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดขนาดใหญ่แบบสองเครื่องยนต์หลายที่นั่งประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน สามารถบรรทุกระเบิดหรือตอร์ปิโดได้สุงสุด3,600กิโลกรัมและมีระยะทำการไกลสุดถึง5,950กิโลเมตร แม้จะมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจในทุกๆด้าน แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่เทอะทะและหนักเกินไปหน่อย จึงดูไม่เหมาะสมกับเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดมาตราฐานของกองทัพเรือ โครงการ XTB2F-1ถูกยกเลิกในเดือนมกราคมปี1945

      แต่ถึงอย่างไรก็ตามเครื่องบินต้นแบบที่กรัมแมนพัฒนาขึ้นมาก็ไม่สูญเปล่า เพราะในเวลาเดียวกันกองทัพเรืออเมริกากำลังสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ยักษ์ระวางขับน้ำ45,000ตันชั้นมิดเวย์ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง  พวกเขาจึงต้องการเครื่องบินขับไล่ที่มีขนาดใหญ่บินได้ไกลขึ้นและติดอาวุธได้มากกว่าเดิม กรัมแมนได้พัฒนาเครื่องบินต้นแบบแบบที่2ภายใต้ชื่อXTSF-1ขึ้นมา โดยใช้โครงสร้างเดียวกับXTB2F-1เพื่อเข้าร่วมการประกวดในโครงการนี้  ในปี1944เครื่องบินขับไล่2เครื่องยนต์รุ่น Grumman F7F Tigercat ก็ได้เข้าประจำการในกองทัพเรือและนาวิกโยธินอเมริกาตามลำดับ โดยมียอดการผลิตรวมอยู่ที่364ลำ

                                                                                   Grumman TBF Avenger


                                                                                             Grumman XTB2F



                                                                                    Grumman F7F Tigercat

Grumman AF2 Guardian

      โครงการเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดรุ่นใหม่ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุด เมื่อได้รับการปฎิเสธจากกองทัพกรัมแมนจึงหันมาพัฒนาเครื่องบินต้นแบบรุ่นที่3ภายใต้ชื่อ G-70 แทน หลังใช้ความพยายามอย่างหนักอยู่หลายเดือนพวกเขาวางแผนสร้างเครื่องบินต้นแบบรุ่นใหม่ในชื่อรหัส XTB3F จำนวน3ลำ โดยที่เครื่องบินบางลำจะใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ตของเวตติ้งเฮาส์แทนเครื่องยนต์เดิม  XTB3F-1ขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม1945 หลังสงครามโลกครั้งที่2ยุติลงแล้วหลายเดือน  เครื่องบิน2ที่นั่งเคียงกัน1เครื่องยนต์ลำนี้มีขนาดกระทัดรัดลงสามารถติดอาวุธได้รวม 1,800กิโลกรัมและมีปืนกล20มม.อีก2กระบอก ผลจากการทดสอบบนภาคพื้นดินเครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ตที่นำมาติดตั้งประสบปัญหาต่างๆมากมาย จึงถูกยกเลิกไปอย่างรวดเร็วและไม่เคยใช้บินเลยแม้แต่ครั้งเดียว

     หลังจากที่ XTB3F-1 ขึ้นบินได้เพียง5วัน กองทัพเรือก็ได้แจ้งข่าวร้ายกับกรัมแมนเป็นครั้งที่2ในรอบปี พวกเขาไม่ต้องการเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดอีกต่อไปแล้วไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เพราะในเวลานั้นมันกลายเป็นอาวุธที่ล้าสมัยในการรบยุคใหม่ไปเสียแล้ว หลังเสร็จสิ้นการประชุมทั้งวันพวกเขาจึงได้ข้อสรุปในท้ายที่สุด โดยกองทัพต้องการให้ปรับเปลี่ยนการพัฒนาโครงการ XTB3F เป็นเครื่องบินปราบเรือดำน้ำประจำเรือบรรทุกเครื่องบินแทน โดยให้มีเครื่องบินจำนวน2รูปแบบภายใต้โครงสร้างเดียวกัน คือมีเครื่องบินที่ติดเรดาร์ขนาดใหญ่และเครื่องบินติดอาวุธทำงานร่วมกันเป็นทีม Hunter-Killerในการไล่ล่าเรือดำน้ำข้าศึก หลังจากนั้นไม่นานกรัมแมนได้ปรับเปลี่ยนเครื่องบินต้นแบบที่เหลืออีก2ลำตามความต้องการใหม่นี้ทันที มีการเพิ่มที่นั่งเจ้าหน้าที่เรดาร์เพิ่มเข้าไปอีก2ที่นั่ง บริเวณพื้นที่บรรทุกระเบิดใต้ท้องเครื่องถูกเปลี่ยนมาติดตั้งราโดมขนาดใหญ่สำหรับเรดาร์รุ่นใหม่เข้าไปแทน เครื่องบินปราบเรือดำน้ำต้นแบบรุ่นใหม่ได้เริ่มบินทดสอบในเดือนพฤษจิกายน1949 และเข้าประจำการอย่างรวดเร็วในเดือนพฤษภาคม1950 ภายใต้ชื่อ Grumman AF2 Guardian โดยที่รุ่น AF-2W "Hunter"จะติดเรดาร์ค้นหารุ่น AN/APS-20 บริเวณใต้ท้องมีลูกเรือ4นายได้รับการผลิตทั้งสิ้น153ลำ  ส่วนรุ่น AF-2S "killer" มีลูกเรือ3นายสามารถติดอาวุธภายนอกได้หนักรวมรวม1,800กิโลกรัมได้รับการผลิต193ลำตามลำดับ

  หลังเข้าประจำการ AF2 Guardian ได้เข้าร่วมในสงครามเกาหลีทันที โดยทำหน้าที่ลาดตระเวณตรวจตราเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำของฝ่ายตรงข้าม แต่ทว่าเครื่องบินรุ่นใหม่ดันสร้างปัญหาใหญ่ให้ต้องตามแก้ต่อ เพราะมีสถิติเกิดอุบัติเหตุสุงมากจนเกินค่ามาตราฐานไปไกลโข การควบคุมเครื่องก็ค่อนข้างยากทำให้ใช้งานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกออกแบบมาเป็นเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดตั้งแต่แรกแต่ต้องแบกเรดาร์ขนาดใหญ่ตลอดเวลา และยังเป็นเครื่องบินเครื่องยนต์เดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่กองทัพเรือเคยมี ทำให้นักบินมีปัญหาในเรื่องการลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินมากเป็นพิเศษ  แม้ในปี 1952 จะมีการผลิตรุ่นใหม่คือ AF-3S ออกมาแต่ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นและมียอดการผลิตแค่เพียง40ลำเท่านั้น หลังเดือนเมษายน1953 AF2 Guardianทุกลำถูกสั่งระงับการออกปฎิบัติการ ถัดมาอีกเพียง2ปีเครื่องบินก็ถูกสำรองราชการและปลดประจำการในที่สุด  เป็นการปิดฉากคู่หูทีมเครื่องบินปราบเรือดำน้ำใบพัดเดี่ยวลงอย่างไม่น่าจดจำเลยซักนิด ในภายหลัง Guardian บางลำถูกดัดแปลงเป็นเครื่องบินดับเพลิงแต่ก็ไม่มาก และในปัจจุบันหาตัวเครื่องในสภาพสมบรูณ์แบบได้ยากเต็มที



                                                                                  Grumman AF2 Guardian



Grumman S-2 Tracker
    แม้ Grumman AF2 Guardian จะทำผลงานได้ไม่ดีเลยแต่กองทัพเรือเองก็ไม่ได้ตกใจ เพราะพวกเขาต้องการใช้เป็นเครื่องบินปราบเรือดำน้ำเฉพาะกาลในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น วันที่ 30 มิถุนายน 1950 1เดือนหลังจาก AF2 Guardian ลำแรกเข้าประจำการ กรัมแมนได้รับเลือกในโครงการใหม่ของกองทัพเรืออีกครั้ง พวกเขามีความต้องการเครื่องบินปราบเรือดำน้ำขนาด2เครื่องยนต์ สามารถทำงานทดแทนเครื่องบินGuardianทั้ง2แบบได้ในลำเดียวกัน โครงการ Model G-89 เริ่มต้นอย่างรวดเร็วและใช้เวลาไม่ถึง2ปีก็ได้เครื่องบินต้นแบบลำแรกสุด XS2F-1 Sentinel ขึ้นบินทดสอบครั้งแรกในวันที่ 4 ธันวาคม 1952

    เครื่องบินรุ่นใหม่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาพอสมควร มีปีกที่ยาวมากขึ้นแต่สามารถพับได้จึงโหลดลงลิฟท์ได้ ฐานล้อหน้าถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับเครื่องส่งตัวด้วยไอน้ำรุ่นใหม่ มีไฟฉายแรงสุง70ล้านแรงเทียนติดตั้งอยู่บริเวณปลายปีกขวา สามารถติดตั้งโซโนปุยได้ถึง8ตัวพร้อมอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ทุกชนิด นอกจากนี้ยังมีเรดาร์ค้นหาขนาดใหญ่รุ่น AN/APS-38(X-band), ระบบสนับสนุนสงครามอิเลคทรอนิค (Electronic Surveillance Measures), และอุปกรณ์ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กรุ่น AN/ASQ-8 (Magnetic Anomaly Detector) ที่ด้านท้ายเครื่อง  XS2F-1 Sentinel ใช้ลูกเรือ4นายเป็นนักบิน2นายละเจ้าหน้าที่เรดาร์อีก2นาย ติดตั้งอาวุธได้มากสุดที่2,180กิโลกรัม ประกอบไปด้วยตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ, ระเบิด, จรวดไม่นำวิถี, ระเบิดลึก, และทุ่นระเบิดรุ่นมาตราฐาน หลังทำการบินทดสอบอยู่2ปีเครื่องบินก็ได้รับการผลิตเข้าเข้าประจำการในชื่อ S2F-1 "Tracker" โดยได้รับความนิยมเป็นอย่างสุงจนมียอดการผลิตมากถึง 1,284ลำ มีใช้งานอยู่ใน 21ชาติทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
                                                            
                                                                            Grumman   XS2F-1 Sentinel

                                                                                       Grumman S-2 Tracker
 


Grumman C-1 Trader

    Trader เป็นเครื่องบินขนส่งทางทหารประจำเรือบรรทุกเครื่องบินขนาด2เครื่องยนต์ (Carrier Onboard Delivery) มีจุดเริ่มมาจากโครงการ Model G-89 เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพเรือในเวลานั้น ที่ขาดแคลนเครื่องบินขนส่งขนาดกระทัดรัดสามารถบินขึ้นลงเรือบรรทุกเครื่องบินได้และลงลิฟท์ขนาดมาตราฐานได้ด้วย  C-1 Trader พัฒนามาจากเครื่องต้นแบบ XS2F-1 Sentinel ซึ่งกลายเป็นเครื่องบินปราบเรือดำน้ำรุ่น Grumman S-2 Tracker ในเวลาต่อมา

    ลำตัวเครื่องถูกออกแบบใหม่ให้มีพื้นที่โดยสารภายใน สำหรับนักบิน2คนและผู้โดยสารจำนวน9นาย เมื่อถอดเก้าอี้ผู้โดยสารออกสามารถปรับเปลี่ยนมาบรรทุกสิ่งของต่างๆได้น้ำหนักรวม3,855กิโลกรัม ใช้เครื่องยนต์รุ่นเดียวกับS-2 Tracker มีขนาดใกล้เคียงกันและมีน้ำหนักเปล่ามากกว่ากันเพียง200กิโลกรัม ทำให้สมรรถนะการบินในเกือบทุกด้านใกล้เคียงกันราวกับฝาแฝด มีแค่เพียงส่วนลำตัวเครื่องเท่านั้นที่เป็นข้อแตกต่างอุปกรณ์ส่วนที่เหลือสามารถใช้อะไหล่ร่วมกันได้  เครื่องต้นแบบเริ่มบินทดสอบครั้งแรกในปี1955 ถัดมาเพียงปีเดียวก็ได้รับการผลิตเข้าประจำการในกองทัพเรือภายใต้ชื่อTF-1 Trader จนกระทั่งในปี1962จึงได้ถูกกำหนดชื่อตามข้อกำหนดใหม่เป็น C-1 Trader และถูกผลิตออกมาทั้งสิ้นจำนวน87ลำด้วยกัน รวมทั้งเครื่องบินทำสงครามอิเลคทรอนิคจำนวน4ลำในชื่อรุ่นTF-1Qด้วย

                                          

                                         
                                        

Grumman E-1 Tracer

    Tracer เป็นเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ (Airborne Early Warning ) รุ่นแรกสุดของกองทัพเรืออเมริกา โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี1951โดยกรัมแมนได้สร้างเครื่องบินต้นแบบ XWF-1 ขึ้นมาโดยใช้โครงสร้างเดียวกับต้นแบบเครื่องบินปราบเรือดำน้ำTracker แต่มีแค่เพียงเครื่องบินต้นแบบจำลองเท่านั้นที่ได้ผลิตขึ้นมา โครงการนี้ถูกยกเลิกไปในปี1953ด้วยหลายเหตุผลและหลายปัญหา

   ถัดมาอีกเพียง2ปีโครงการเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศของกองทัพเรือจึงได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนมาพัฒนาบนเครื่องบินขนส่งทางทหารแทน C-1 Trader ถูกนำมาปรับปรุงหลักอากาศพลศาสตร์ใหม่ทั้งหมด ใส่แพนหางใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงมาจากเครื่องบินต้นแบบXWF-1ดั้งเดิม พื้นที่ห้องโดยสารถูกปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปจนเต็มพื้นที่ หลังความพยายามอย่างหนักของทุกฝ่ายเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศรุ่นแรกสุดก็ได้รับการผลิตเข้าประจำการจำนวน88ลำ

   Tracer ติดตั้งจานราโดมขนาดใหญ่ทำจากไฟเบอร์กลาสรังผึ้งขนาด 6.1x9.14เมตรอยู่บนหลังเครื่อง ราโดมมีขนาดใหญ่มากบังเครื่องบินแทบมิดจนดูคล้ายกับหลังคาบ้าน  ภายในนั้นมีเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศรุ่น Hazeltine AN/APS-82 ที่มีกำลังส่งสุงถึง1000 Kw สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ตั้งแต่0ถึง99,000ฟิต ระยะทำการของเรดาร์อยู่ที่ประมาณ250–300ไมล์ ในช่วงปีแรกๆของสงครามเวียตนาม Tracer ได้ทำหน้าที่อันมากมายของตัวเองอย่างขันแข็ง รวมถึงภาระกิจควบคุมการโจมตีภาคพื้นดินเหนือดินแดนเวียดนามเหนือ และเตือนภัยทางอากาศให้กับกองเรือยุทธการของตัวเองด้วย
                                           
   
                                                                                             Grumman XWF-1
                                                  
                                                                                        Grumman E-1 Tracer

เครื่องบินทั้ง3แบบของกรัมแมนที่พัฒนามาจากเครื่องบินต้นแบบ XS2F-1 Sentinel ได้ถูกปลดประจำการจากกองทัพเรืออเมริกาในช่วงปี1980s Trader และ Tracer ไม่มีชาติอื่นใช้งานแต่ Tracker ยังมีอีกถึง20ชาติ เครื่องบินปราบเรือดำน้ำได้รับการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อใช้งานตามความเหมาะ สมอยู่ตลอดเวลา ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะรุ่นที่โดดเด่นจริงๆและแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
                                                        
Conair Firecat
   Firecat คือเครื่องบินดับเพลิงที่พัฒนาปรับปรุงมาจาก Grumman S-2 Tracker ในช่วงปี1970s บริษัทConairจากแคนาดาได้กว้านซื้อTrackerมือ2จากกองทัพเรือแคนาดาและอีกหลายชาติ ก่อนจะนำมาปรับปรุงใหม่ทั้งลำและถอดอุปกรณ์ทางทหารออกจนลดน้ำหนักลงได้ถึง1,500กิโลกรัม นอกจากนี้เพิ่มขนาดห้องโดยสารออกไปอีก20เซนติเมตร เครื่องบินสามารถบรรทุกน้ำหรือสารดับเพลิงบริเวณใต้ท้องเครื่องได้มากถึง3,296ลิตร Firecat ลำแรกเสร็จสมบรูณ์ในปี1978 มียอดผลิตรวมทั้งหมด35ลำ โดยรวม Turbo Firecat ที่เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพ Pratt & Whitney Canada PT6A-67AFเข้าไปด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ของแคนาดาคือลูกค้ารายใหญ่ของ Conair และมีหน่วยงานป้องกันภัยทางพลเรือนของฝรั่งเศสจัดหาไปใช้งานจำนวน14ลำด้วยกัน Conair Firecat ยังคงประจำการอยู่จนถึงปัจจุบัน
                                                       


S-2T Turbo Tracker For Taiwan

     ช่วงปี1980s รัฐบาลใต้หวันได้ทำสัญญามูลค่า260ล้านเหรียญกับบริษัทในเครือกรัมแมน เพื่อปรับปรุงเครื่องบิน S-2 Trackerจำนวน32ลำของของตัวเอง ก่อนโอนจากกองทัพอากาศไปยังกองทัพเรืออีกที  เครื่องบิน2ลำแรกถูกส่งไปยังอเมริกาในปี1988และเสร็จสมบรูณ์ในอีก3ปีถัดมา ส่วนเครื่องบินที่เหลือได้รับการปรับปรุงภายในประเทศใต้หวันเอง ระหว่างการปรับปรุงมีปัญหานิดหน่อยเรื่องสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เมื่อจบโครงการมีเครื่องบินที่ได้รับการต่ออายุเพียง27ลำเท่านั้น

     เครื่องบินปราบเรือดำน้ำจากยุค1950ได้รับการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพรุ่น Garret TPE-331-15AW รวมทั้งใช้ใบพัดรุ่นใหม่ชนิด4แฉกแทนของเดิม ทำให้มีนำหนักบรรทุกสุงสุดมากขึ้นกว่าเดิมอีก500กิโลกรัม ติดตั้งระบบอาวุธใหม่ประกอบไปด้วย AN/AQS-92F digital sonobuoy processor,  AN/ARR-84 99-channel sonobuoy receiver, Litton AN/APS-504 radar,  AN/ASQ-504 Magnetic Anomaly Detector,  และ AN/AAS-40 FLIR แทนที่ไฟฉายแรงสุง การโอนเครื่องบินTurbo Tracker จากกองทัพอากาศไปยังกองทัพเรือเสร็จสิ้นลงในปี1998

     ในปัจจุบันเครื่องบินTurbo Trackerยังประจำการอยู่แต่ไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจน ใต้หวันได้สั่งซื้อเครื่องบินปราบเรือดำน้ำมือสองจากอเมริการุ่น P-3C จำนวน12ลำในโครงการทดแทน และเริ่มมีการส่งมอบตั้งแต่ปลายปี2013 คาดว่าTurbo Trackerทั้งหมดจะปลดประจำการในอีกไม่เกิน2ปี

                             


S-2T Turbo Tracker For  Argentina

    กองทัพเรืออาเจนติน่ามี Grumman S-2 Trackerจำนวน9ลำด้วยกัน โดยลำแรกเริ่มเข้าประจำการในกองทัพตั้งแต่ปี1962  เครื่องบินปราบเรือดำน้ำ2เครื่องยนต์ถูกนำมาใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน  ARA Independencia(V-1) และ  ARA Veinticinco de Mayo (V-2) ตามลำดับ จนกระทั่งในปี1989รัฐบาลจึงตัดสินใจต่ออายุการใช้งานเครื่องบินครั้งใหญ่ บริษัทIsrael Aerospace Industries (IAI)จากอิสราเอลได้รับสัญญาให้ปรับปรุงเครื่องบิน S-2G จำนวน6ลำ ด้วยการติดเครื่องยนต์เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพรุ่น Garrett TPE331-15, ใบพัด5แฉกของHartzell และปรับปรุง+ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับเรือดำน้ำรุ่นใหม่

    ในปัจจุบันเครื่องบินจำนวน5ลำยังคงประจำการอยู่ แม้ว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน ARA Veinticinco de Mayo (V-2) จะปลดประจำการไปแล้วในปี2010ก็ตาม Turbo Tracker จำนวนหนึ่งถูกส่งไปปฎิบัติการอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน São Paulo (A12) ของบราซิล ตามกำหนดความร่วมมือของรัฐบาลและกองทัพเรือทั้ง2ประเทศ นักบินอาร์เจนติน่ายังคงได้รับการฝึกบินขึ้นลงเรือบรรทุกเครื่องบินต่อไป  ส่วนลูกเรือและเจ้าหน้าที่การบินของบราซิลก็ได้รับการฝึกฝนกับของจริง ก่อนที่เครื่องบินของตัวเองจะเข้าประจำการในอนาคต
                            
S-2T Turbo Tracker ของอาเจนติน่าบนเรือบรรทุกเครื่องบิน São Paulo (A12) ของบราซิล

                             
KC-2 Turbo Trader For Brazil

   ในปี1961กองทัพอากาศบราซิลมี S-2 Trackerจำนวน13ลำ โดยประจำการอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน NAeL Minas Gerais ( A 11) ของกองทัพเรืออีกที เครื่องบิน3ลำถูกถอดอาวุธออกและปรับปรุงให้เป็นเครื่องบินขนส่งทางทหารแทน ในปี1996เครื่องบินทุกลำปลดประจำการและP-3 Orionเข้ามาแทนที่ มีความพยายามที่จะปรับปรุงเครื่องบินบางลำให้เป็น S-2T Turbo Tracker แต่ก็ต้องยกเลิกไปเพราะมีค่าใช้จ่ายสุง


   ธันวาคม 2011 บริษัท Marsh Aviation จากอเมริกาได้รับสัญญามูลค่า167ล้านเหรียญจากกองทัพเรือบราซิล เพื่อจัดหาเครื่องบิน C-1A Trader มือสองจำนวน8ลำมาปรับปรุงใหม่หมดเพื่อเข้าประจำการอีกครั้งหนึ่ง การปรับปรุงเริ่มจากนำแอร์เฟรมที่ยังมีอายุการใช้งานอีกหลายพันชั่วโมงมาซ่อมแซมทาสีทั้งลำ ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพรุ่น Honeywell TPE331-14GR และใบพัดรุ่นใหม่ชนิด5แฉก เครื่องบิน4ลำแรกจะได้รับการติดตั้งระบบนำทางและระบบสื่อสารรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์เติมเชื้อเพลิงกลางอากาศเข้าไปด้วย กองทัพเรือบราซิลมีความต้องนำมาใช้เป็นเครื่องบินขนส่งทางทหารและเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน (carrier on board delivery and air-to-air refueling aircraft) แอร์เฟรมของC-1A Traderลำแรกๆถูกส่งไปเริ่มการปรับปรุงทันที โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนเมษายนปี 2014และส่งมอบในปีถัดไป
                                                    

                                             
        KC-2 Turbo Traderที่เหลืออีก2ใน4ลำ กองทัพเรือบราซิลวางแผนที่จะปรับปรุงเป็นเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ (Airborne early warning )ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยให้บริษัท Embraer ของประเทศตัวเองติดตั้งระบบเรดาร์ Eliradar HEW-784 และ Thales Searchwater 2000เข้าไปบริเวณใต้ท้องเครื่อง การปรับปรุงจะมีขึ้นหลังจากได้รับเครื่องและทดสอบใช้งานไปได้ซักระยะหนึ่ง ส่วน2ลำสุดท้ายคาดว่าจะใช้เป็นเครื่องบินขนส่งทางทหารเท่านั้น
                                            





   แต่แล้วในเดือนพฤษจิกายน 2014 กองทัพเรือบราซิลก็ต้องแก้ไขสัญญาอีกครั้ง สาเหตุก็เพราะงานปรับปรุงเครื่องบินล่าช้ามากและไม่คืบหน้าเท่าที่ควร จนเลยกำหนดไปแล้วหลายเดือนเครื่องบินลำแรกก็ยังไม่ได้ส่งมอบ  ทั้งนี้เนื่องมาจากบริษัทMarsh Aviationถูกทางการอเมริกาฟ้องร้องพัวพันอยู่หลายคดี จนบริษัทเกือบล้มละลายต้องเปลี่ยนผู้บริหารปรับปรุงโครงสร้างและหาเงินทุนเพิ่ม ภายใต้สัญญาฉบับใหม่มีการเพิ่มบริษัท Elbit Systems of America เข้าไปในนั้นด้วย เพื่อให้ทำงานที่ยังค้างอยู่ร่วมกันกับบริษัทMarsh Aviation คาดว่าเครื่องบินต้นแบบ KC-2 Turbo Trader จะสามารถทดลองบินได้ในเดือนพฤษจิกายน 2017 และเข้าประจำการกองทัพเรือบราซิลในเดือนธันวาคมปีถัดมา นักบินได้รับการฝึกขั้นต้นร่วมกันกับกองทัพอากาศบราซิล ก่อนส่งไปฝึกระดับสุงต่อที่เท็กซัสกับเครื่องบินT-44C Pegasu เมื่อ Turbo Trader เดินทางมาถึงบราซิล ทั้งเครื่องบินและนักบินจะถูกส่งมาฝึกขั้นต้นที่สนามบินกองทัพเรือทางตอนใต้ของกรุงริโอ เดอจาไนโร ก่อนเข้าประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินSão Paulo (A12) ต่อไป


Grumman S-2 Tracker for Thaland
   ในปี 1967-1968 ประเทศไทยได้รับโอนเครื่องบินปราบเรือดำน้ำรุ่น S-2FS Trackerจำนวน10ลำ และเครื่องบินขนส่งและสนับสนุนรุ่น US-2C อีก 2ลำจากอเมริกา เครื่องบินทั้งหมดมีฐานบินปฎิบัติการอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากอเมริกามาโดยตลอด ในปี1995เครื่องบินปราบเรือดำน้ำรุ่น P-3 Orionลำแรกถูกส่งมอบให้กับกองทัพเรือไทย หลังจากนั้นอีก4ปี S-2 Tracker ก็ได้รับการปลดประจำการทั้งหมด ในปัจจุบันยังมีเครื่องบินจำนวน5ลำถูกเก็บไว้ที่ฐานทัพเรืออู่ตะเภา อาจสามารถนำบางลำที่ยังอยู่ในสภาพดีมาปรับปรุงซ่อมแซมเปลี่ยนเครื่องยนต์กับระบบสื่อสารใหม่ เพื่อใช้ในภาระกิจตรวจการณ์ทางทะเลได้ ส่วนทางด้านภาระกิจเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศดูจะเป็นไปได้ยากมาก เพราะไม่ใช่ C-1 Trader ที่มีพื้นที่โดยสารกว้างขวาง แต่ดูเหมือนกองทัพเรือไม่มีความสนใจแม้แต่น้อยอาจเป็นเพราะเครื่องบินเก่ามากแล้ว
                                               



    Tracker ,Trader, Tracer  เริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี1954 และยังคงมีใช้งานอยู่ในปัจจุบันรวมไปถึงอนาคตด้วย อย่างน้อยที่สุดก็จะมีKC-2 Turbo Trader จำนวน8ลำของบราซิลที่เริ่มนับ1ใหม่ในปี 2018ต่อไปเรื่อยๆ จัดได้ว่าเป็นเครื่องบินอเนกประสงค์ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่ได้รับการพัฒนาและใช้งานมาอย่างยาวนานมากที่สุดลำหนึ่งของโลก




http://www.airvectors.net/avtraker.html
http://en.wikipedia.org/wiki/Grumman_S-2_Tracker
http://www.flightglobal.com/news/articles/brazilian-navy-restarts-kc-2-turbo-trader-contract-406169/
http://www.flightglobal.com/news/articles/brazilian-traders-set-for-modernisation-365929/