วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567

FFG-62 VS Type 054B

 

          ปัจจุบันกองทัพเรืออเมริกาครองอันดับหนึ่งของโลกทั้งจำนวนเรือและขีดความสามารถ ตามมาห่างๆ แต่เข้าใกล้มากขึ้นทุกทีคือกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนหรือกองทัพเรือจีน สองชาตินี้มีโครงการสร้างเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยเข้าประจำการช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ผู้เขียนจึงนำแบบเรือทั้งสองรุ่นมาเปรียบเทียบให้มองภาพเห็นชัดเจน เป็นข้อมูลเสริมแด่ผู้อ่านซึ่งต้องการเข้าใจและเรียนรู้กองทัพเรืออันดับหนึ่งและสองของโลก

ขนาดเรือ

          วันที่ 26 สิงหาคม 2023 อู่ต่อเรือ Hudong Zhonghua Shipyard ประเทศจีน มีการประกอบพิธีปล่อยเรือฟริเกตชั้น Type 054B ลำแรกลงน้ำ คาดการณ์ว่าเรือจะสามารถเข้าประจำการปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025

Type 054B มีระวางขับน้ำปรกติ 4,400 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 5,500 ตัน ยาว 147 เมตร กว้าง 17 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOD ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 4 ตัว ความเร็วสูงสุดประมาณ 28 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 6,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต และ 7,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต

          Type 054B คือเรือที่คนทั่วโลกจับตามองเป็นเวลายาวนานหลายปี นานเสียจนผู้เขียนถอดใจไปแล้วหลังเห็นจีนสั่งซึ่งเรือฟริเกตชั้น Type 054A เฟสใหม่ แต่แล้วด้วยอิทธิฤทธิ์หลวงปู่เค็มทำให้เรือที่โลกเฝ้ารอปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน ขนาดใหญ่โตกว่าและทันสมัยกว่าเรือฟริเกตชั้น Type 054A อย่างเห็นได้ชัด บังเอิญผู้เขียนผิดหวังเล็กน้อยเพราะเรือลำจริงยังไปไม่สุด ทว่าพอเข้าใจเหตุผลนี่คือสุดของที่สุดของกองทัพเรือจีนในปัจจุบัน

          จีนต้องการสร้างเรือฟริเกตชั้น Type 054B เฟสหนึ่งจำนวน 10 ลำ คาดการณ์ว่าตั้งแต่ลำที่สามเป็นต้นไปการสร้างเรือจะรวดเร็วกว่าเดิม เรียกว่าปั๊มเรือกันจนมือเป็นระวิงอะไรทำนองนี้

          ข้ามฝั่งกลับมาที่ลุงแซมกองทัพเรืออเมริกากันบ้าง

          วันที่ 31 สิงหาคม 2022 บริษัท Fincantieri Marinette Marine’s shipyard ในสหรัฐอเมริกา ประกอบพิธีตัดเหล็กเรือฟริเกตชั้น FFG-62 หรือเรือฟริเกตชั้น Constellation ลำแรกในวงเงิน 795 ล้านเหรียญ เรือรบรุ่นใหม่ทันสมัยลำแรกมีกำหนดส่งมอบและเข้าประจำการภายในปี 2026

FFG-62 มีระวางขับน้ำปรกติ 6,112 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 7,408 ตัน ยาว 151 เมตร กว้าง 19.7 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODLAG ติดตั้งเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์+ดีเซล+มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นรุ่นแรกของอเมริกา ความเร็วสูงสุด 26 นอตขึ้นไป ระยะปฏิบัติการไกลสุด 6,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต

          FFG-62 คือเรือที่คนทั่วโลกจำนวนพอสมควรให้ความสนใจ โดยที่คนทั่วโลกบางส่วนไม่ให้ความสำคัญรวมทั้งผู้เขียน เนื่องจากเมื่อนำแบบเรือมาเปรียบเทียบกับเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาตกองทัพเรืออเมริกา FFG-62 กลายเป็นลูกปลาน้อยไม่มีอะไรน่าสนใจหรือดึงดูดใจ แต่ด้วยอเมริกันสแตนดาร์ดเมื่อนำเรือมาเปรียบเทียบกับเรือฟริเกตชาติอื่น กลับกลายเป็นว่า FFG-62 ทะยานขึ้นสู่หัวตารางกลายเป็นจ่าฝูงไม่ก็รองจ่าฝูง

          นำเรือสองลำมาเปรียบเทียบตันต่อตันได้ดังนี้

          FFG-62 ระวางขับน้ำปรกติมากกว่า Type 054B เท่ากับ 1,712 ตัน

          FFG-62 ระวางขับน้ำสูงสุดมากกว่า Type 054B เท่ากับ 1,908 ตัน

          FFG-62 ยาวกว่า Type 054B เท่ากับ 4 เมตร และกว้างกว่าเท่ากับ 2.7 เมตร

          ความยาวต่างกันเล็กน้อยทว่าความกว้างต่างกันถือว่าเยอะ ส่งผลให้ระวางขับน้ำมากกว่ากันพอสมควร คะแนนหัวข้อนี้อเมริกาได้หนึ่งแต้มไปครอบครองเป็นการประเดิมสนาม

ปืนใหญ่หัวเรือ

          เรือฟริเกตชั้น Type 054B เลือกใช้งานปืนใหญ่ H/PJ-87 ขนาด 100 มม.โดยการนำปืนใหญ่ 100 มม.รุ่นส่งออกของฝรั่งเศสมาพัฒนาต่อ อัตรายิงสูงสุง 78 นัดต่อนาทีไม่รองรับกระสุนต่อระยะหรือกระสุนฉลาด เหตุผลที่จีนถอดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.ออกเข้าใจว่าต้องการยิงถล่มเป้าหมายระยะทางไกลกว่าเดิม

          เรือฟริเกตชั้น FFG-62 เลือกใช้งานปืนใหญ่ Bofors 57 mm Mk110 ขนาด 57 มม.เหตุผลง่ายๆ ก็คือกองทัพเรืออเมริกาคิดว่าปืนใหญ่ขนาด 127 มม.ไม่เหมาะสม หวยจึงมาออกที่ Bofors 57 mm Mk110 เพราะกองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งเลิกใช้งานปืนใหญ่ขนาด 76 มม.ไปแล้ว สามารถใช้กระสุน 3P เลือกวิธีจู่โจมเป้าหมายได้ถึง 6 ชนิดโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ดูเหมือนว่าอเมริกาเลือกใช้งานกระสุนผลิตเองในประเทศเป็นหลัก

          ปืนใหญ่ 100 มม.กับ 57 มม.มีจุดดีจุดด้อยแตกต่างกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นอยู่กับว่าใช้งานกับเป้าหมายอะไร ฉะนั้นคะแนนหัวข้อนี้ผู้เขียนให้เท่ากันคนละหนึ่งแต้ม

แท่นยิงแนวดิ่ง VLS

          เรือฟริเกตชั้น Type 054B มีแท่นยิงแนวดิ่งหน้าสะพานเดินเรือจำนวน 32 ท่อยิง คาดการณ์ว่าสำหรับใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน HHQ-16C รุ่นใหม่ยิงได้ไกลสุด 50 กิโลเมตร และอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-8 ระยะยิงไกลสุด 50 กิโลเมตร การติดตั้งอาจเลือก HHQ-16C จำนวน 24 นัดกับ Yu-8 จำนวน 8 นัด โดยไม่มีอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกลใช้งานเหมือนเรือฟริเกตรุ่นเก่า

          เรือฟริเกตชั้น FFG-62 มีแท่นยิงแนวดิ่งหน้าสะพานเดินเรือจำนวน 32 ท่อยิง สามารถเลือกใช้งานอาวุธทุกชนิดที่สามารถบรรจุลงในแท่นยิงแนวดิ่ง บังเอิญกองทัพเรืออเมริกาเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า สำหรับใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ระยะยิง 50 กิโลเมตร กับ SM-2 ระยะยิงมากกว่า 100 กิโลเมตร ส่วนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SM-6 เป็นแผนการระยะยาว และอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกล Tomahawk ยังอยู่ในสถานะไม่ชัดเจน

          กองทัพเรืออเมริกาหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC

ทว่าเนื่องมาจากตั้งแต่เรือฟริเกตลำที่สองเป็นต้นไป เรือจะได้รับการติดตั้งโซนาร์ลากท้ายอันดับหนึ่งของโลก ประกอบกับบนเรือมีระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำ AN/SQQ-89(V)16 ใช้งานอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นลูกเรือแค่นำ VL-ASROC มาใส่ท่อยิงจำนวนตามที่ต้องการ ก็สามารถใช้งานลูกยาวพิฆาตซับมารีนได้ตามปรกติ

          ถ้าเปรียบเทียบตามข้อมูลที่กองทัพเรืออเมริกาเผยแพร่ เรือฟริเกตชั้น Type 054B เป็นต่อหนึ่งเสาไฟ

          ถ้าเปรียบเทียบตามข้อมูลจากการใช้งานจริง เรือฟริเกตชั้น FFG-62 จะแซงนำหน้าสองเสาไฟ

เนื่องจากยังหาความชัดเจนที่ชัดเจนไม่ได้ ฉะนั้นคะแนนหัวข้อนี้ผู้เขียนให้เท่ากันคนละหนึ่งแต้ม

ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดบริเวณหัวเรือ

          เรือฟริเกตชั้น Type 054B ติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 ขนาด 30 มม.สิบเอ็ดลำกล้องรวบจำนวน 1 ระบบ ส่วนเรือฟริเกตชั้น FFG-62 มีเพียงตัวเปล่ากับหัวใจดวงเปลี่ยว ฉะนั้นคะแนนหัวข้อนี้จีนได้หนึ่งแต้มไปครอบครอง

ระบบเรดาร์

          ภาพประกอบที่สองเรือฟริเกตชั้น Type 054B น่าจะใช้งานระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 เหมือน Type 054A ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรูปทรงสามเหลี่ยมพีระมิดไม่ทราบรุ่น ทำงานโดยการหมุนรอบตัวเองใช้เรดาร์ AESA จำนวน 2 ตัวประกบหน้าหลัง ตัวแรกสำหรับตรวจจับเป้าหมายตัวที่สองสำหรับติดตามเป้าหมาย หลักการเดียวกันกับเรดาร์ Type 382 ซึ่งจีนซื้อลิขสิทธิ์เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ MR-710 Fregat ของรัสเซียมาใช้งาน

          ต่ำลงมาเล็กน้อยคือเรดาร์ควบคุมการยิงแบบ Phased Array จำนวน 4 ตัวฝังรอบเสากระโดง มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ต่ำลงมาเล็กน้อยเพียงแต่ไม่ทราบว่าเป็น ECM หรือ ESM เสากระโดงรองติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำรุ่นสองหน้า ใช้หลักการเดียวกันตัวแรกตรวจจับเป้าหมายตัวที่สองติดตามเป้าหมาย อันเป็นรูปแบบมาตรฐานการติดตั้งระบบเรดาร์บนเรือฟริเกตตระกูล Type 054 ทุกรุ่นและทุกลำ

          จุดนี้แหละครับที่ผู้เขียนผิดหวังเล็กน้อย ปัจจุบันเรือฟริเกตขนาดใหญ่ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Phased Array จำนวน 3-6 ตัวฝังรอบเสากระโดง เรดาร์สองหน้ารูปทรงสามเหลี่ยมพีระมิดถือว่าล้าสมัยเกินไป แต่ต้องเข้าใจนะครับว่าเทคโนโลยีจีนยังสร้างเรดาร์ตรวจการณ์ Phased Array ขนาดเล็กไม่ได้ รวมทั้งจีนต้องการสร้างเรือฟริเกตชั้น Type 054B อย่างน้อยที่สุด 20 ลำ ถ้าใส่เรดาร์ Phased Array รอบเสากระโดงราคาเรืออาจสูงเกินไปส่งผลกระทบต่อโครงการ

          ระบบเรดาร์บนเรือฟริเกตชั้น FFG-62 มีปริศนาให้เหล่านักสืบหัวเห็ดช่วยกันไขคดี

          ภาพประกอบที่สามเรือติดตั้งระบบอำนวยการรบ Aegis Baseline 10 Combat System ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ 3มิติ AN/SPY-6(V3) ซึ่งเป็นเรดาร์ Phased Array จำนวน 3 ตัว มีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AN/SPS-73(V)18 น่าจะอุปกรณ์รูปทรงสามเหลี่ยมจำนวน 2 ตัว ใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ SEWIP Block 2 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมาก ต่อกันด้วยด้วยเอ่อไม่มีแล้วครับ

ข้อมูลจากกองทัพเรืออเมริกาตัดจบมันดื้อๆ แค่เพียงเท่านี้

          ปัญหาก็คือเรือฟริเกตชั้น FFG-62 ติดเรดาร์ควบคุมการยิงไว้ที่จุดไหน???

          เรือลาดตระเวนกับเรือพิฆาตระบบเอจิสรุ่นเก่าของอเมริกาใช้เรดาร์ควบคุมการยิง AN/SPG-62 จำนวน 3 ถึง 4 ตัว ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AN/SPY-1 จำนวน 4 ตัว

เรือพิฆาตชั้น DDG-1000 ใช้เรดาร์ตรวจการณ์  3 มิติ AN/SPY-3 ระยะตรวจจับ 320 กิโลเมตรจำนวน 4 ตัวสำหรับนำวิถี SM-2 กับ ESSM ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล Volume Search Radar (VSR) หรือ AN/SPY-4 ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่จำนวน 4 ตัว

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Gerald R. Ford (CVN-78) ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AN/SPY-3 ระยะตรวจจับ 320 กิโลเมตรจำนวน 3 ตัวสำหรับนำวิถี ESSM ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล Volume Search Radar (VSR) หรือ AN/SPY-4 ระยะทำการไกลสุด 463 กิโลเมตรจำนวน 3 ตัว

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS John F. Kennedy (CVN-79) ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AN/SPY-3 ระยะตรวจจับ 320 กิโลเมตรจำนวน 3 ตัวสำหรับนำวิถี ESSM ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AN/SPY-6(V3) จำนวน 3 ตัว

เรือฟริเกตชั้น FFG-62 ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3มิติ AN/SPY-6(V3) จำนวน 3 ตัวโดยไม่มีเรดาร์ควบคุมการยิง???

เท่ากับว่ากองทัพเรืออเมริกาบอกความจริงไม่ครบถ้วน แบบเรือที่นำมาจัดแสดงติดตั้งอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน แต่ถ้านำมาเปรียบเทียบกับเรือฟริเกต Type 054B ต้องถือว่าฝั่งอเมริกาเปิดเผยข้อมูลมากกว่าแบบเทียบกันไม่ติด เพราะกองทัพเรือกับรัฐบาลจีนไม่เปิดเผยข้อมูลแม้แต่เรื่องเดียวต้องคาดเดาเอาเอง

ฉะนั้นเมื่อเรือฟริเกตชั้น FFG-62 เข้าประจำการจริง จะมีออปชันติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงตามนี้

1.ปรับปรุงเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AN/SPY-6(V3) จำนวน 3 ตัว ให้ช่วยนำวิถี SM-2 กับ ESSM

2.ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง AN/SPG-62 จำนวน 2 ตัว

3.โดมทรงกลมเล็กใหญ่บนเรือนับรวมกันจำนวน 10 โดม อาจมีสัก 2 โดมเป็นเรดาร์ควบคุมการยิงไอเทมลับ

4.ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AN/SPY-3 ใต้ SEWIP Block 2 จำนวน 2 ตัว สำหรับนำวิถีให้กับ SM-2 และ ESSM เป็นการลอกการบ้านเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่

5.ใช้งานแบบยิง SM-2 และ ESSM ไม่ได้แบบนี้ไปก่อน รอเรดาร์ควบคุมการยิงไอเทมลับพัฒนาเสร็จค่อยว่ากัน

แม้ยังมีปริศนาเรดาร์ควบคุมการยิงอะไรเอ่ย ทว่าคะแนนหัวข้อนี้อเมริกาได้หนึ่งแต้มไปครอบครอง

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ

เรือฟริเกตชั้น Type 054B เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ทำการรบได้ 3 มิติ โดยมีภารกิจอันดับหนึ่งคือปราบเรือดำน้ำเพราะมีขนาดเหมาะสมที่สุด เรือรุ่นเก่าอย่าง Type 054A ติดตั้งตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ YJ-83 หรือ C-802A รุ่นฟูลออปชันจำนวน 8 นัด ทว่า Type 054B เปลี่ยนมาใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ YJ-12 จำนวน 8 นัด เพราะมีความเร็วสูงสุดมากถึง 4 มัค ระยะยิงไกลสุดเพิ่มขึ้นเป็น 400 กิโลเมตร เพียงแต่รูปแบบการโจมตี YJ-12 ใช้เพดานบินค่อนข้างสูงต่างจาก YJ-83 ซึ่งใช้ยุทธวิธีบินเรี่ยน้ำ

เรือฟริเกตชั้น FFG-62 เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ทำการรบได้ 3 มิติเช่นกัน โดยมีภารกิจอันดับหนึ่งคือปราบเรือผิวน้ำต่อด้วยคุ้มกันกองเรือหรือขบวนเรือสินค้า กองทัพเรืออเมริกากำหนดให้ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM จากนอร์เวย์จำนวน 16 นัด อาวุธรุ่นใหม่ใช้รูปทรงลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ ตรวจจับเป้าหมายด้วยคลื่นความร้อน มีระบบดาต้าลิงก์ทันสมัยเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับเรือหรืออากาศยาน ปัจจุบัน NSM กลายเป็นอาวุธปราบเรือผิวน้ำหลักของสมาชิกนาโต้ทดแทน Harpoon รุ่นเก่าจากอเมริกา

          อเมริกานี่แหละที่ถีบหัวส่ง Harpoon แล้วเลือกใช้งาน NSM เป็นรายแรก เพราะตรงกับความต้องการของตัวเองในปัจจุบัน ต่อมาชาติอื่นพากันลอกการบ้านจนกลายเป็นสินค้าขายดีฮอตฮิตติดลมบน

          YJ-12 กับ NSM มีดีมีเลวแตกต่างกันเทียบกันไม่ได้ ฉะนั้นคะแนนหัวข้อนี้ผู้เขียนให้เท่ากันคนละหนึ่งแต้ม

ปืนกลอัตโนมัติขนาด 25-30 มม.

          เนื่องจากเรือฟริเกตชั้น Type 054B และเรือฟริเกตชั้น FFG-62 ไม่มีการติดตั้งอาวุธชนิดนี้ แม้บนเรือมีที่พื้นที่ว่างมากเพียงพอสำหรับติดตั้งก็ตาม ฉะนั้นหัวข้อนี้ผู้เขียนไม่แจกคะแนนให้กับทั้งสองฝ่าย

 ระบบเป้าลวง

          เรือฟริเกตชั้น Type 054B ติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง น้อยกว่าเรือฟริเกตชั้น Type 054A ซึ่งมีจำนวน 4 แท่นยิง บั้นท้ายเรือมีเป้าลวงตอร์ปิโดแบบลากท้ายไม่ทราบรุ่นไม่ทราบจำนวน เป็นอุปกรณ์ปรกติมาตรฐานกองทัพเรือจีนไม่มีอะไรหวือหวา

          เรือฟริเกตชั้น FFG-62 ติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี Nulka ขนาด 4 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง บั้นท้ายเรือมีเป้าลวงตอร์ปิโดแบบลากท้าย AN/SLQ-25 Nixie รุ่นมาตรฐานกองทัพเรืออเมริกา เพราะ Nulka ประสิทธิภาพสูงกว่า Type 726-4 แต่มีจำนวนน้อยกว่ากัน ฉะนั้นคะแนนหัวข้อนี้ผู้เขียนให้เท่ากันคนละหนึ่งแต้ม

          ในความเป็นจริงกองทัพเรืออเมริกาใช้งานระบบเป้าลวงมากกว่านี้ มีทั้งรุ่นมาตรฐานขนาด 130 มม.และรุ่นแพชูชีพขนาดใหญ่ใช้ปล่อยทิ้งน้ำ เพียงแต่กองทัพเรืออเมริกาเปิดเผยข้อมูลเท่านี้ผู้เขียนจึงกำหนดเพียงเท่านี้

ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดบริเวณท้ายเรือ

          เรือฟริเกตชั้น Type 054B ติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด HHQ-10 ขนาด 24 ท่อยิง ส่วนเรือฟริเกตชั้น FFG-62 ติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด RAM Black II ขนาด 21 ท่อยิง เพราะ RAM Black II ประสิทธิภาพสูงกว่า HHQ-10 เล็กน้อยแต่มีจำนวนน้อยกว่า ฉะนั้นคะแนนหัวข้อนี้ผู้เขียนให้เท่ากันคนละหนึ่งแต้ม

ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

          คาดการณ์ว่าเรือฟริเกตชั้น Type 054B จะติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Yu-7 จำนวน 6 ท่อยิง ส่วนเรือฟริเกตชั้น FFG-62 ไม่มีข้อมูลการติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโด ฉะนั้นคะแนนหัวข้อนี้จีนได้หนึ่งแต้มไปครอบครอง

          ต้องบอกก่อนนะครับว่าภารกิจเรือฟริเกตชั้น FFG-62 คือการตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำ ส่วนภารกิจปราบเรือดำน้ำยกให้เฮลิคอปเตอร์ประจำเรือซึ่งเป็นแบบนี้ตั้งแต่เรือฟริเกตชั้น OHP จากยุค 80 กองทัพเรืออเมริกาไม่ติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำบนเรือฟริเกตก็ไม่แปลกรวมทั้งไม่เป็นอะไร เพราะยังสามารถใส่ VL-ASROC ในแท่นยิงแนวดิ่งหน้าสะพานเดินเรือได้ หรือถ้าต้องการติดตั้งเพิ่มเติมในภายหลังก็ใช้เวลาปรับปรุงเรือไม่นาน

โซนาร์หัวเรือ

          คาดการณ์ว่าเรือฟริเกตชั้น Type 054B จะติดตั้งโซนาร์หัวเรือ Type 307 ซึ่งจีนซื้อลิขสิทธิ์โซนาร์ MGK-335 จากรัสเซียมาสร้างเอง ส่วนเรือฟริเกตชั้น FFG-62 ไม่ติดตั้งโซนาร์หัวเรือ ไม่มี Bulbous Bow สำหรับแหวกน้ำแต่มี External Bow Thruster หนึ่งตัวไว้ช่วยเหลือขณะจอดเทียบท่า ฉะนั้นคะแนนหัวข้อนี้จีนได้หนึ่งแต้มแต่เพียงผู้เดียว

 โซนาร์ท้ายเรือ

          คาดการณ์ว่าเรือฟริเกตชั้น Type 054B จะติดตั้งโซนาร์ลากจูง H/SJG-311 Towed Variable-Depth Sonar (TVDS) ที่ช่องใหญ่กราบซ้าย กับโซนาร์ลากท้าย H/SJG-206 Towed Line Array Sonar (TLAS) ที่ช่องเล็กกราบซ้าย เป็นระบบโซนาร์มาตรฐานมีใช้งานบนเรือฟริเกตตระกูล Type 054 เรือพิฆาตชั้น Type 052D และเรือพิฆาตชั้น Type 055 เข้ามาอุดช่องว่างสงครามใต้น้ำซึ่งกองทัพเรือจีนค่อนข้างล้าสมัยได้ดีพอสมควร

บังเอิญโซนาร์ลากจูง H/SJG-311 ขนาดค่อนข้างเล็กใกล้เคียงโซนาร์ AN/SQS–35 IVDS บนเรือฟริเกตชั้น KNOX กองทัพเรืออเมริกายุค 70 เทียบกับโซนาร์ ACTAS บนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชจีนยังตามหลังสองเสาไฟ ต้องรอพัฒนาโซนาร์รุ่นใหม่กว่านี้ถึงจะสามารถไล่จี้ท้ายได้ใกล้เคียงกว่าเดิม

          ระบบโซนาร์ลากท้ายบนเรือฟริเกตชั้น FFG-62 น่าสนใจพอสมควร

          ตามแผนแรกเรือจะติดตั้งระบบโซนาร์ลากท้าย AN/SLQ-61 light weight Towed Array Sonar กับโซนาร์ลากจูง AN/SQS-62 Variable-Depth Sonar ที่อเมริกาพัฒนาขึ้นมาเอง ฝาแฝดคู่นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับเรือฟริเกตและเรือ LCS ในรูปแบบ Mission Mudule จำนวนเรือ 20+10=30 ลำมากเพียงพอที่จะพัฒนาโดยมีราคาสมเหตุสมผล ทว่าในการทดสอบใช้งานจริงฝาแฝดกลับได้ผลงานน่าผิดหวัง กองทัพเรืออเมริกาจึงเปลี่ยนแผนหันมาติดตั้งโซนาร์ลากท้าย CAPTAS 4 ซึ่งดีที่สุดทันสมัยที่สุดระยะตรวจจับมากกว่า 100 กิโลเมตร

          เรือฟริเกตชั้น FFG-62 ยังมีโซนาร์เตือนภัยตอร์ปิโดและเป้าลวงลากท้าย AN/SLQ-61 Lightweight Tow Torpedo Defense Mission Module เพิ่มเติมเข้ามาในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาผู้เขียนขอไม่นับรวมในการให้คะแนน แต่ถึงกระนั้น CAPTAS 4 ยังช่วยให้อเมริกาได้หนึ่งแต้มไปครอบครอง

อากาศยานประจำเรือ

          เรือฟริเกตชั้น Type 054B ออกแบบให้รองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ล่าสุดจำนวน 1 ลำตามภาพประกอบที่สี่ ปัจจุบันเฮลิคอปเตอร์ Z-20F รุ่นใช้งานทางทะเลพัฒนาเสร็จแล้ว แต่กว่าจะพร้อมประจำการและพร้อมใช้งานเต็มสูบอาจกินเวลา 5-10 ปี เทียบกับเฮลิคอปเตอร์ NH90 Sea Tiger ของกองทัพเรือเยอรมัน เพิ่งออกปฏิบัติภารกิจตอนกลางคืนได้อย่างครบถ้วนช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา

          เรือฟริเกตชั้น FFG-62 มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ค่อนข้างใหญ่ตามภาพประกอบที่ห้า สำหรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R Seahawk จำนวน 1 ลำ และอากาศยานไร้คนขับปีกหมุน MQ-8C Firescout อีก 1 ลำ  MQ-8C Firescout คือเฮลิคอปเตอร์ BELL 407 รุ่นไร้คนขับนั่นแหละครับ ติดอาวุธได้จำนวนหนึ่งหรือจะเป็นโซโนบุยจำนวน 48 นัด อนาคตสามารถใช้งานตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Very Lightweight Torpedo (VLWT) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.75 นิ้วหรือ 140 มม.หนัก 220 ปอนด์หรือ 100 กิโลกรัมได้ ฉะนั้นการทำภารกิจปราบเรือดำน้ำร่วมกับ MH-60R Seahawk จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม

          MQ-8C Firescout ช่วยให้อเมริกาปาดหน้าจีนคว้าหนึ่งแต้มสำคัญไปครอบครอง

          สรุปคะแนนอย่างเป็นทางการ อเมริกา 9 แต้ม : จีน 8 แต้ม

คำวิจารณ์

          เรือฟริเกตชั้น Type 054B คือการนำเรือฟริเกตชั้น Type 054A ขยายร่างจาก 4,000 ตันเป็น 5,500 ตัน ปรับเปลี่ยนรูปทรงจาก Semi-Stealth เป็น Full-Stealth กว้านสมอเรือกับจุดผูกเชือกหัวเรือย้ายลงอยู่ใต้ดาดฟ้าเรือ ขนาดใหญ่ขึ้น ใช้ระบบเรดาร์ ระบบอาวุธ และเฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่ เพียงแต่ส่วนใหญ่เป็นการนำรุ่นเก่ามาต่อยอดให้ร่วมสมัย เท่ากับว่าเรือฟริเกตชั้น Type 054B มาสุดทางแล้วไม่สามารถไปต่อได้แล้ว

          เรือฟริเกตรุ่นถัดไปของจีนต้องพัฒนาใหม่หมดยกเว้นเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ โดยมีสิ่งสำคัญที่สมควรพัฒนาให้เหมาะสมมากกว่าเดิมประกอบไปด้วย

          1.อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานรุ่นที่สามารถใส่ 4 นัดใน 1 ท่อยิง เพื่อให้เรือสามารถใช้อาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกลได้เหมือนเรือฟริเกตค่ายนาโต้ โดยไม่ต้องจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนแท่นยิงแนวดิ่งหรือลดจำนวนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน เรือฟริเกตอเนกประสงค์หรือปราบเรือดำน้ำจำนวนแท่นยิงแนวดิ่ง 32 ท่อยิงถือว่ามาสุดทางแล้วเช่นกัน หากเพิ่มมากกว่านี้ต้องขยายขนาดเรือ แก้ไขแบบเรือ เพิ่มกำลังไฟบนเรือ รวมทั้งส่งผลให้ราคาเรือสูงกว่าเดิม เก็บเงินก้อนนี้ไว้จ่ายค่าเสียหายในข้อที่ 2 และ 3 น่าจะเหมาะสมกว่า

          2.ระบบตรวจจับใต้น้ำทั้งโซนาร์หัวเรือและโซนาร์ลากท้าย ตอนนี้ CAPTAS 4 พากัปตันอเมริกาและแก๊งนาโต้ฉีกห่างไปไกลกว่าเดิม จีนต้องลดระยะห่างด้วยเทคโนโลยีคุณภาพใกล้เคียงกัน ปัญหาก็คือไม่ใช่นึกอยากทำก็ทำกันได้ง่ายๆ ขนาดอเมริกามีงบประมาณให้ถลุงมากมายยังไปไม่รอดต้องรีบถอนตัวก่อนสายเกินแก้

3.ระบบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติแบบ Phased Array ขนาดเหมาะสมกับเรือฟริเกต ปัจจุบันจีนใช้งานเรดาร์ชนิดนี้บนเรือพิฆาตชั้น Type 052 กับ Type 055 แต่มีข้างใหญ่เสียจนเรือฟริเกตขนาด 5,500 ตันแบกไม่ไหว ถ้าจีนอยากลดระยะห่างระหว่างตัวเองกับอเมริกาต้องเร่งพัฒนาเรดาร์รุ่นใหม่ให้เร็วที่สุด

เรดาร์รุ่นใหม่ไม่น่าทันใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Type 054B อย่างดีที่สุดอาจมีรุ่นทดสอบติดตั้งบนเรือลำสุดท้าย ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้จีนล้างบางขึ้นเรือฟริเกตชั้น Type 057 ใหม่หมดทั้งลำอะไรแบบนี้ไปเลย

ข้ามฝั่งกลับมาที่ลุงแซมกองทัพเรืออเมริกากันบ้าง

เรือฟริเกตจีนเลือกพัฒนาเองโดยใช้การถ่ายทอดลิขสิทธิ์หรือวิศวกรรมย้อนยุคอันแสนโด่งดัง ทว่าเรือฟริเกตอเมริกาใช้วิธีคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุด โดยกำหนดคุณสมบัติแตกต่างจากเรือจีนชนิดกลับหัวกลับท้าย

โครงการเรือฟริเกตชั้น FFG-62 ผู้ชนะการประกวดแบบเรือคือบริษัท Fincantieri จากอิตาลี ใช้แบบเรือฟริเกตชั้น FREMM มาปรับปรุงให้มีความอนุรักษนิยมหรือแก่กว่าเดิม ปรับเปลี่ยนรูปทรงจาก Full-Stealth เป็น Semi-Stealth กว้านสมอเรือกับจุดผูกเชือกหัวเรือย้ายมาอยู่บนดาดฟ้าตามปรกติ ติดตั้งเรดาร์เหนือสะพานเดินเรือใช้เสากระโดงเดี่ยวมีเสาค้ำยัน 2 ต้นสืบสานทายาทจากยุคสงครามโลก (พี่แกชอบเสาทรงนี้มาก) อเมริกาใช้เรือครั้งหนึ่ง 8 เดือนกว่าจะกลับถึงฐานทัพมีแต่สนิมเต็มลำ ฉะนั้นอุปกรณ์ทุกอย่างบนเรือต้องใช้งานง่าย ซ่อมบำรุงง่าย ปรับปรุงแก้ไขง่าย ลูกเรือจะได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับภารกิจตัวเอง ไม่วิตกกังวลเรื่องการใช้ท่ายากแต่อย่างใด

เนื่องจากปืนใหญ่ขนาด 127 มม.ไม่เหมาะสมกับเรือ อเมริกาเลือกซื้อปืนใหญ่ขนาด 57 มม.จากสวีเดนบวกอังกฤษมาใช้งาน

เนื่องจากอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon ล้าสมัยเกินไป อเมริกาเลือกซื้อ NSM จากนอร์เวย์มาใช้งาน

เนื่องจากโซนาร์ AN/SQS-61+ AN/SQS-62 ทำงานก๊องแก๊งเกินไป อเมริกาเลือกซื้อ CAPTAS 4 จากฝรั่งเศสบวกเนเธอร์แลนด์มาใช้งาน

ส่วนระบบอาวุธและเรดาร์ขั้นเทพของตัวเองทั้งหลายทั้งปวง อเมริกายังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็มีออปชันตรงนี้เพิ่มเดี๋ยวก็มีออปชันตรงนั้นเพิ่ม จุดเด่นอันดับหนึ่งในปัจจุบันคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Phased Array หรือเรดาร์ตระกูล SPY นั่นเอง

ปัจจุบันจีนใช้งานเรดาร์ Phased Array พัฒนาเองประสิทธิภาพใกล้เคียง AN/SPY-1 ของอเมริกา บังเอิญเรดาร์จีนขนาดใหญ่กว่าบรรดาแฟนคลับจึงเคลมว่าระยะตรวจจับไกลกว่า บังเอิญอีกครั้งปัจจุบันกองทัพเรืออเมริกาเปลี่ยนมาใช้งานเรดาร์ตระกูล AN/SPY-6 ซึ่งมีรุ่นย่อยถึง 4 รุ่นบนเรือรบรุ่นใหม่ทุกลำ มีเรดาร์ AN/SPY-3 ใช้ในการควบคุมการยิง SM-2 กับ ESSM มีเรดาร์ AN/SPY-4 บนเรือรบขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตันบางลำ รวมทั้งมีเรดาร์ AN/SPY-7 รุ่นส่งออกขายให้กับญี่ปุ่น แคนาดา และสเปน นี่คือจุดเด่นที่จีนยังคงไล่ตามหลังอเมริกามากกว่า 10 ปี

บทสรุป

          การพัฒนาเรือฟริเกตรุ่นใหม่กว่านี้ของจีนอาจใช้งบประมาณมากกว่าอเมริกา เพราะอเมริกาไม่จำเป็นต้องพัฒนาทุกอย่างสามารถพึ่งพาเพื่อนๆ ได้ เรือฟริเกต Type 057 ของแท้จีนจะมีหน้าตาเช่นไรคือเรื่องน่าสนใจมาก แต่กว่าเรือลำจริงจะมาคงต้องรอกันอีกหลายปีไม่แน่อาจทันลูกชายคนเล็กบวช

          ส่วนเรือฟริเกตอเมริกาผู้เขียนยังคงยืนยันคำเดิม เป็นแบบเรือที่น่าเบื่อไม่สมควรเขียนบทความถึงด้วยซ้ำ ปริศนาเรดาร์ควบคุมการยิงอะไรเอ่ยยังน่าสนใจกว่าตั้งเยอะฮา

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

https://twitter.com/knktlw/status/1725955741356286220

https://web.facebook.com/photo?fbid=821742833290143&set=pcb.821742983290128

https://www.naval.com.br/blog/2023/11/04/lancada-a-segunda-fragata-type-054b-da-marinha-chinesa/

https://twitter.com/NavyLookout/status/1481559102451068928

https://www.reddit.com/r/WarshipPorn/comments/108hfn0/latest_uss_constellation_ffg_62_rendering_at_sna/

https://www.rtx.com/raytheon/what-we-do/sea/spy6-radars

https://twitter.com/K4POUR/status/1696534383082266712

วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567

Leander Class 2024

 เรือฟริเกตชั้น Leander สำหรับกองทัพเรือไทย

Type 31e General Purpose Frigate

          ทั้งนี้เนื่องมาจากเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 26 Global Combat Ship มีราคาค่อนข้างแพง รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องลดการจัดหาจาก 13 ลำเหลือเพียง 8 ลำ และตั้งโครงการเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Type 31e General Purpose Frigate ขึ้นมาในเดือนกันยายน 2017 กองทัพเรืออังกฤษต้องการเรือจำนวน 5 ลำในวงเงิน 1.25 พันล้านปอนด์ ติดตั้งเพียงปืนใหญ่ ปืนกลอัตโนมัติ และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน

          แม้ถูกกำหนดให้เป็นเรือฟริเกตทว่า Type 31e ไม่ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบและตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ทว่าบนเรือต้องมีที่ว่างรองรับระบบโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำที่หัวเรือและอาจเพิ่มเติมโซนาร์ลากท้ายกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ต้องมีพื้นที่ว่างรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 1 ระบบหรือ 8 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกลที่อังกฤษกำลังพัฒนาใกล้แล้วเสร็จในอีกไม่นาน ทำให้ภาพรวม Type 31e จึงเทียบเท่าเรือฟริเกตติดอาวุธเทียบเท่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง นอกจากผู้เขียนจะคิดเช่นนี้บริษัท BAE Systems ยักษ์ใหญ่ด้านอาวุธของประเทศอังกฤษก็มีความเห็นใกล้เคียงกัน

          หนึ่งในสามแบบเรือที่บริษัท BAE Systems นำเสนอต่อกองทัพเรืออังกฤษ คือแบบเรือชั้น Cutlass ซึ่งนำเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef ของกองทัพเรือโอมานมาเพิ่มความยาวจาก 99 เมตรเป็น 117 เมตรตามภาพประกอบที่หนึ่ง ตั้งแต่หัวเรือถึงเสากระโดงหลักยังคงใช้รูปทรงเดิม ความยาวเพิ่มขึ้น 3 เมตรรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง GW-35 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Captor พื้นที่กลางเรือความยาวเพิ่มขึ้น 15 เมตรรองรับความต้องการตามโครงการ สร้างปล่องระบายความร้อนจุดที่สองเพิ่มเติมเข้ามา ถัดไปเป็นพื้นที่ว่างรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 1 ระบบหรือ 8 ท่อยิง ขนาบด้วยแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโดจำนวน 2 แท่นยิง สองกราบเรือสร้างจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาดใหญ่ซึ่งโมเดลเรือในภาพประกอบไม่ได้ใส่ไว้

          ถัดจากพื้นที่ซึ่งได้เพิ่มเติมเข้ามาเป็นจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ ต่อด้วยปล่องระบายความร้อนกับระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด และเนื่องมาจากมีการย้ายจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งมาไว้กลางลำ ที่ว่างข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สามารถติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mk2 จำนวน 2 กระบอก ลานจอดกับโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันตามปรกติ บริเวณบั้นท้ายเหมือนเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef ทุกประการ

          ว่ากันตามจริง BAE Systems คาดว่าแบบเรือ Cutlass สามารถเข้าวินแบบนอนมาพระสวดแบบสบาย ว่ากันตามจริงผู้เขียนในตอนนั้นเห็นด้วยเพราะไม่มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ ให้บังเอิญบริษัท Babcock International ดันจูบปากกับบริษัท Thales จากเนเธอร์แลนด์และอู่ต่อเรือ Odense Steel Shipyard จากเดนมาร์กนำเสนอแบบเรือชั้น Arrowhead 140 เข้าร่วมชิงชัย แบบเรือใหม่เอี่ยมเป็นการนำเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Iver Huitfeldt ของเดนมาร์ก มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการที่ค่อนข้างแปลกประหลาดของราชนาวีอังกฤษ พูดง่ายๆ ว่าหั่นออปชันจนสามารถขายเรือราคาลำละ 250 ล้านปอนด์ได้นั่นเอง

          แบบเรือชั้น Arrowhead 140 ขนาดใหญ่โตแบกเรือยางท้องแข็งไปกับเรือมากถึง 4 ลำ แบบเรือชั้น Cutlass แบกได้เพียง 2 ลำและมีการออกแบบที่รกหูรกตามาก BAE Systems ตัดสินใจนำแบบเรือมารีโนเวทใหม่ให้มีความทันสมัยกว่าเดิม ก่อนตั้งชื่อใหม่ว่าแบบเรือชั้น Leander เพื่อส่งชิงชัยในรอบตัดสินขั้นเด็ดขาด

          จากภาพประกอบที่สองแบบเรือชั้น Leander มีระวางขับน้ำ 3,677 ตัน ยาว 117 เมตรเท่าเดิม กว้าง 14.6 เมตรเท่าเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef (เพราะนำแบบเรือเก่ามาขยายความยาวมันดื้อๆ) กินน้ำลึก 4.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ที่หัวเรือ ต่อด้วยแท่นยิงแนวดิ่ง GW-35 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Captor จำนวน 12 ท่อยิง ปรับเปลี่ยน Superstructure หน้าสะพานเดินเรือจากทรงเฉียงไล่ระดับเป็นทรงเหลี่ยม สำหรับติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีขนาด 6 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นยิง

สะพานเดินเรือกับเสากระโดงหลักใช้รูปทรงเดิม ปรับปรุงพื้นที่กลางเรือให้เชื่อมโยงมาถึงปล่องระบายความร้อน ด้านบนเป็นจุดติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ ต่อด้วยพื้นที่ว่างรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 กับเครนขนาดใหญ่ ด้านล่างเจาะช่องกราบเรือละสองช่องใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ กลายเป็นจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งจำนวน 4 ลำ (เล็ก 2 ลำ ใหญ่ 2 ลำ) และวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบ ตั้งแต่ปล่องระบายความร้อนถึงบั้นท้ายเหมือนเรือชั้น Cutlass ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์

ปลายปี 2019 รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าแบบเรือ Arrowhead 140 เป็นผู้ชนะโครงการ Type 31e General Purpose Frigate ส่งผลให้บริษัท BAE Systems แพ้คาบ้านตัวเองแบบหมดสภาพ เมื่อมีการจัดตั้งโครงการเรือฟริเกต Type 32 หรือ Type 31e Batch 2 ขึ้นมาในปี 2022 แบบเรือชั้น Cutlass กับ Leander ถูกเก็บเข้ากรุโดยพร้อมเพรียง บริษัท BAE Systems นำเสนอแบบเรือ Adaptable Strike Frigate ซึ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งลำ และหมายมั่นปั้นมือว่าตัวเองจะสามารถล้างอายลบรอยแค้นฝังลึกในใจสำเร็จ

ชมหนังตัวอย่างกันเรียบร้อยแล้วผู้เขียนขอเข้าสู่เนื้อหาบทความที่แท้จริง

RTN Super Frigate Program

จากนี้ไปเป็นเรื่องราวสมมุติหรือโลกคู่ขนาน

วันที่ 3 มีนาคม 2024 กองทัพเรือไทยประกาศเดินหน้าโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำมูลค่า 80,400 ล้านบาท กำหนดให้สร้างเองในประเทศส่วนบริษัทไหนจะจับคู่บริษัทไหนก็ตามสะดวก

วันที่ 26 มีนาคม 2024 บริษัทมาร์ซันจำกัดร่วมมือกับบริษัท ThyssenKrupp Marine Systems ประเทศเยอรมัน เสนอแบบเรือชั้น MEKO A100 ให้กับกองทัพเรือไทย ข้อมูลเรือลำนี้ตามบทความด้านล่าง

MEKO Frigate for RTN

วันที่ 13 เมษายน 2024 นายแอนดี้ โคล หัวหน้าทีมโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจากบริษัท BAE Systems เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ Soft Power แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้เป็นการเดินทางส่วนตัวทว่ามิตรรักแฟนเพลงชาวไทยจำนวนหลายร้อยชีวิต กลับมารวมตัวที่สนามบินเพื่อชูป้ายไฟ ‘We Need Common Fleet’ บ้าง ‘Common Fleet Welcome Home’ บ้าง รวมทั้ง ‘Common Fleet The Special One’ เป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือน แอนดี้ โคลรู้สึกประทับใจและรับรู้ความต้องการอย่างชัดเจน เขารู้ว่าคนไทยจำนวนสิบสามล้านอยากสานงานต่อก่องานใหม่ร่วมกับ BAE Systems

คืนนั้นเองชายหนุ่มประชุมทางไกลกับเจ้านายระดับสูงที่เกาะบริเตน ก่อนได้ข้อสรุปจะนำเสนอแบบเรือชั้น The Avenger เข้าร่วมโครงการ ไม่เกี่ยวข้องกับการจากไปของกัปตันอเมริกาแต่เป็นหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม

วันที่ 16 เมษายน 2024 หลังเล่นสงกรานต์กันจนปอดบวม บริษัทอู่กรุงเทพจำกัดร่วมมือกับบริษัท BAE Systems ประอังกฤษ เสนอแบบเรือชั้น River Batch 3 ให้กับกองทัพเรือไทยตามภาพประกอบที่สาม

แบบเรือชั้น River Batch 3 คือการนำแบบเรือชั้น The Avenger ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการเรือฟริเกต Type 31e แต่เป็นเพียงตัวประกอบไม่มีบทพูด ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการราชนาวีไทยในปี 202 โดยนำการนำแบบเรือตรวจการณ์ความยาว 94 เมตรมาผสมผสานแบบเรือเดิมจนกลายเป็นศิลปะระดับสูง

หมายเหตุ : ภาพประกอบเกิดจากจินตนาการผู้เขียนซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงข้อเท็จจริงก็ได้ ผู้อ่านคนไหนอยากได้พิมพ์เขียวแบบเรือกรุณาติดต่อบริษัท BAE Systems ประอังกฤษเอาเองเด้อ!

แอนดี้ โคลนำเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 2 มาเพิ่มความยาวจาก 90 เมตรเป็น 111 เมตร หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ข้างเสากระโดงติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Kk2 จำนวน 2 กระบอก ถัดไปเล็กน้อยคือจุดติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ พื้นที่เพิ่มเติมกลางเรือคือที่ว่างรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 2 ระบบหรือ 16 ท่อยิง แต่ใส่แค่เพียง 1 ระบบหรือ 8 ท่อยิงที่ว่างอีกหนึ่งจุดใช้ติดตั้ง SATCOM ขนาดใหญ่ ลดจำนวนเรือยางท้องแข็งจาก 4 ลำเหลือเพียง 2 ลำ นำที่ว่างมาติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่นแฝดสาม ลานจอดกับโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันเฉพาะรุ่นพับหางได้

แบบเรือชั้น River Batch 3 คือความภูมิใจของเหล่าอิงลิชภักดี ต่อมาไม่นานเมื่อแอนดี้ โคลกลับมาจากเทศกาลวันไหลที่พัทยา ตอนนั้นเองชายหนุ่มจากลอนดอนใต้พลันได้รู้ตัวหลังสร่างเมาว่า แบบเรือชั้น River Batch 3 ไม่มีจุดติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS (Active Towed Array Sonar)

Leander Class Frigate

          เพราะความร้อนใจแอนดี้ โคลรีบติดต่อเท็ดดี้ เชอริ่งแฮมซีอีโอบริษัท BAE Systems นายใหญ่ใช้ความคิดไม่นานได้พลันสั่งการจากชั้นสิบสี่ผ่านระบบปลาดาว ในเมื่อ The Avenger ไปต่อไม่ได้เราจำเป็นต้องงัดลูกรัก The Leander ออกมาจากกรุ ขี้หมูขี้หมายังพอโฆษณากับลูกค้าได้ว่าเรือลำนี้เป็นญาติผู้พี่ของ The River

แอนดี้ โคลได้ยินรีบประชุมทีมงานโครงการ The Super Frigate คืนนั้นเลย มีการทำงานหามรุ่งหามค่ำใช้เวลารวมทั้งสิ้น 72 ชั่วโมง และแล้วในที่สุดพวกเขาก็ได้แบบเรือ The Leander ติดอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทยในปี 2024 ส่งผลให้แบบเรือลำนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือฟริเกตชั้น Leander 2024

          ภาพประกอบที่สี่คือแบบเรือฟริเกตชั้น Leander V1 ติดอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทยในปี 2024 ความกว้างความยาวยังคงเท่าเดิมระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3,720 ตัน หลังเสากระโดงหลักคือจุดระบายความร้อนขนาดเล็กทดแทนปล่องขนาดใหญ่บนเรือชั้น Cutlass นี่คือดีไซน์เฉพาะตัวเรือรบอังกฤษทุกลำเพิ่งมาสิ้นสุดที่เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 26 ปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ก็เป็นดีไซน์เฉพาะตัวเรือรบอังกฤษทุกลำเช่นกัน อยู่ชิดโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เหลือพื้นที่ว่างตรงกลางมากเพียงพอสำหรับใช้งาน สังเกตนะครับว่าราวกันตกหัวเรือข้างจุดติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งเว้นช่องว่างเล็กน้อย ใช้เป็นจุดวางสะพานให้ลูกเรือที่อยู่ส่วนหัวเรือเดินขึ้นฝั่งได้อย่างสะดวก

หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ถัดมาเล็กน้อยคือแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 1 ระบบ 8 ท่อยิงสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 32 นัด หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโดขนาด 6 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นยิง เรือใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV Mk4 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ 3 มิติ Sea Giraffe 4A เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ 3 มิติ Sea Giraffe 1X เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS200 จำนวน 2 ตัว และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOS500 อีก 1 ตัว ใช้ระบบดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ES-3601 ESM ติดบนเสาทาสีดำเหนือปล่องระบายความร้อน ส่วนระบบก่อกวนคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ECM ไม่มีเหมือนเช่นกัน

จาภาพประกอบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB หายไปจากเรือ เหตุผลก็คือแอนดี้ โคลหาจุดติดตั้งที่สมควรกับเหตุและผมไม่เจอ นายเฟรดริก ลุงเบิร์กที่ปรึกษาพิเศษบริษัท SAAB ก็แนะนำให้ใช้งาน Sea Giraffe 4A คู่กับ Sea Giraffe 1X เหมือนเรือฟริเกตชั้น Type 123 กองทัพเรือเยอรมัน เรือคอร์เวตชั้น PHOJANMAA กองทัพเรือฟินแลนด์ รวมทั้งเรือคอร์เวตขนาดใหญ่รุ่นใหม่กองทัพเรือสวีเดนในอนาคต

แอนดี้ โคลสอบถามว่าการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำใกล้กันมีปัญหาอะไรหรือไม่ ปรกติแล้วเขาติดเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศตัวใหญ่ตำแหน่งต่ำกว่ากันไม่ใช่เหรอ เฟรดริก ลุงเบิร์กหัวเราะเฮฮาก่อนเฉลยปริศนาสำคัญค้างคาใจ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Legend หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ TRS-3D กับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AN/SQS-9B บนเสากระโดงต้นเดียวกัน โดยติด TRS-3D สูงกว่า AN/SQS-9B เล็กน้อยก็ใช้งานได้ปรกติทั้ง 10 ลำไม่เห็นมีปัญหาตรงไหน

มาดูจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดกันต่อเลย จุดรับส่งเรือยางท้องแข็งลดจำนวนจาก 4 ลำเหลือเพียง 2 ลำ เพราะต้องการพื้นที่สำหรับคลังแสงและจุดติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk54 (เรือฟริเกตชั้น Leander ปี 2019 ไม่มีอุปกรณ์ตรงจับและทำลายเป้าหมายใต้น้ำ) ถัดไปเล็กน้อยคือสะพานเดินเรือแบบซ่อนรูปซึ่งมีเฉพาะกราบขวา เป็นอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้ลูกเรือเกิดความสะดวกสบายมากกว่าเดิม

พื้นที่ด้านบนสำหรับแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM จำนวน 8 ท่อยิง มีพื้นที่ว่างสำหรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 อีกจำนวน 1 ระบบ 8 ท่อยิง แต่ไม่ได้ติดตั้งใช้เป็นจุดวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบ หรืออาจปรับเปลี่ยนเป็นแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM อีกจำนวน 8 ท่อยิง ตามหลักนิยมใหม่ล่าสุดที่เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา

หน้าปล่องระบายความร้อนติดตั้ง SATCOM หรือจานรับสัญญาณดาวเทียมขนาดใหญ่ ขนาบสองฝั่งด้วยแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีขนาด 12 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Millennium Gun ขนาบสองฝั่งด้วยปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mk2

เหตุผลที่ถอดระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ออกเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ปัจจุบันการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามมีความหลากหลายมากขึ้นเกิน CIWS จากอเมริการับมือไหว Millennium Gun จะเข้ามาจัดการอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ อากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ รวมทั้งอากาศยานไร้คนขับติดระเบิดที่กำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในทะเลแดง ส่วน DS-30M Mk2 รับหน้าที่จัดการยานผิวน้ำไร้คนขับติดระเบิด ยานกึ่งดำน้ำไร้คนขับติดระเบิด รวมทั้งเรือยางพลีชีพหรือเรือโจรสลัดก๊อกๆ แก๊กๆ อะไรทำนองนี้

การผลึกกำลังระหว่าง Millennium Gun กับ DS-30M Mk2 รับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้ดีกว่า Phalanx กับ DS-30M Mk2

การผลึกกำลังระหว่าง Sea Giraffe 4A กับ Sea Giraffe 1X มีความเหมาะสมและประสิทธิภาพเข้ากันได้ดีกว่า Sea Giraffe 4A กับ Sea Giraffe AMB

อย่าลืมนะครับว่าราชนาวีไทยต้องการ Phalanx กับ Sea Giraffe AMB ในปี 2013 หรือย้อนเวลากลับไป 11 ปี การเปลี่ยนแปลงความต้องการเพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่คือสิ่งสมควรกระทำ

Common Fleet Welcome Home

          ต้นเดือนพฤษภาคม 2024 มีการจัดตั้งบริษัท BAE Systems Thailand ขึ้นมาที่ซอยงามดูพลี รองรับการสร้างเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำมูลค่า 80,400 ล้านบาท มีการรับสมัครพนักงานชาวไทยจำนวนมากเพื่อช่วยใช้เงิน รวมทั้งเฮียตือ สะพานเหลืองซึ่งเข้าร่วมบริษัทในตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้เชี่ยวชาญและช่ำชองกองทัพไทย

          สัปดาห์แรกของเดือนมีการประชุมใหญ่ร่วมกันเป็นครั้งแรก แอนดี้ โคลนำแบบเรือฟริเกตชั้น Leander V1 มาอวดโฉมเพื่อนร่วมงานชาวไทยเป็นครั้งแรก ทุกคนบอกว่าสุดยอดมากครับนายคราวนี้แหละเราต้องชนะแน่นอน มีเพียงเฮียตือคนเดียวที่โกรธเสียจนหนวดกระดิก แกตะโกนเสียงดังกึกก้องทำแบบนี้ไม่ได้จะเกิดหายนะ จะเกิดภัยพิบัติร้ายแรงทั่วโลกยิ่งกว่าไวรัสโคโรน่าจากประเทศจีน จะเกิดน้ำท่วมฟ้าปลากินดาว กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอยน้ำเต้าน้อยจะถอยจม คุณแก้ไขแบบเรือตามใจชอบแบบนี้ผมก็ตายสถานเดียว คุณต้องติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์ให้เหมือนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชทุกประการเข้าใจไหม

          สัปดาห์ที่สองของการทำงานมีการประชุมใหญ่ครั้งที่สอง แอนดี้ โคลนำแบบเรือเรือฟริเกตชั้น Leander V2 ติดตั้งระบบเรดาร์และอาวุธตามความต้องการปี 2013 มาอวดโฉมพนักงานทุกคนตามภาพประกอบที่ห้า

          อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon เข้ามาแทนที่ NSM ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx เข้ามาแทนที่ Millennium Gun เรดาร์ตรวจการณ์ Sea Giraffe 1X หายไปได้ Sea Giraffe AMB แทนที่บนเสากระโดงหลัง โยกเรดาร์ตรวจการณ์ Sea Giraffe 4A มาไว้บนเสากระโดงรองหน้าปล่องระบายความร้อน พื้นที่ว่างสำหรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 อีกจำนวน 1 ระบบ 8 ท่อยิงหายไปเพราะต้องสร้างเสากระโดงรอง

          เมื่อเฮียตือเห็นภาพแบบเรือ V2 แกร้องไอ้หย่าเสียงดังลั่นห้อง เจ้าตัวให้คำแนะนำตามหน้าที่คุณฉลาดแต่ขาดความเฉลียว ทำไมไม่สร้างเสากระโดงรองหลังปล่องระบายความร้อนเหมือนเรือฟริเกตสเปน ลำนั้นสร้างได้สวยงามคะแนนเต็มสิบไม่ทราบเหมือนกันทำไมรอบชิงถึงได้แพ้พ่ายให้กับเรือเกาหลีใต้

          สัปดาห์ที่สามของการทำงานมีการประชุมใหญ่ครั้งที่สอง แอนดี้ โคลนำแบบเรือเรือฟริเกตชั้น Leander V3 ติดตั้งระบบเรดาร์และอาวุธตามความต้องการปี 2013 มาอวดโฉมพนักงานทุกคนตามภาพประกอบที่หก

          แบบเรือเหมือน V1 ตั้งแต่หัวเรือจนถึงจุดเติมเชื้อเพลิงกลางทะเล มีการสร้างเสากระโดงรองเชื่อมต่อกับปล่องระบายความร้อนเหมือนเรือฟริเกตสเปน บังเอิญเรือฟริเกตอังกฤษใช้ปล่องขนาดใหญ่มากและสูงมาก พลอยทำให้เสากระโดงรองทั้งใหญ่ทั้งสูงและหนาตามกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

แบบเรือฟริเกตชั้น Leander V3 เป็นการผสมผสานระหว่าง V1 ที่ทันสมัยกับ V2 ที่อนุรักษนิยมได้อย่างลงตัว ผู้เขียนหมายถึงถ้าไม่นับรวมความสวยงามหรือประสิทธิภาพการใช้งานเรือที่แท้จริง

          เมื่อเฮียตือเห็นภาพแบบเรือ V2 แกร้องไอ้หย่าเสียงดังลั่นห้อง เย็นนั้นแกเดินมายื่นใบลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้เชี่ยวชาญและช่ำชองกองทัพไทย ให้เหตุผลว่าจะไปทำงานบริษัทเยอรมันเพราะอยากกินไส้กรอก

 The Problems

          ปัญหาที่บริษัท BAE Systems Thailand ต้องจัดการให้เสร็จเรียบร้อยมีด้วยกันตามนี้

1.ราชนาวีไทยต้องการใช้งานระบบขับเคลื่อน CODAG เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์จำนวน 1 ตัว ทว่าแบบเรือฟริเกตชั้น Leander ใช้ระบบขับเคลื่อน CODELOD เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัวทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ทันสมัยมากที่สุดก็จริงบังเอิญไม่ตรงความต้องการของลูกค้า

2.การติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทยปี 2013 จะทำเช่นไรให้เหมาะสม

3.ปัญหาเรื่องระบบตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำ รบกวนผู้อ่านชมภาพประกอบที่เจ็ดไปพร้อมกัน

อย่างที่ทราบกันดีเรือฟริเกตชั้น Leander คือการนำเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef มาเพิ่มเฉพาะความยาว 18 เมตร เพราะฉะนั้นบั้นท้ายเรือย่อมมีรูปร่างหน้าตาตามภาพประกอบ การติดตั้งโซนาร์หัวเรือ DSDQ-24 ไม่น่ามีปัญหารบกวนจิตใจ โชคร้ายโซนาร์ลากท้าย ACTAS จากบริษัท Atlas Electronics ประเทศเยอรมันขนาดใหญ่โตมาก เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชซึ่งเป็นเรือฟริเกตแท้ๆ จากเกาหลีใต้ยังประสบปัญหา คุยกันทีแรกบอกสบายๆ ชิวๆ ยังไงก็ได้ ครั้นเอาเข้าจริงๆ บริษัท DSME ต้องตีโป่งบั้นท้ายออกมาไม่เช่นนั้นยัดโซนาร์ไม่ได้ความขี้เหร่โผล่ทันที

เรือฟริเกตชั้น Leander ติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS ได้หรือไม่ผู้เขียนไม่กล้าให้คำตอบ รวมทั้งขออนุญาตไม่เชื่อทุกคำตอบจากทุกคนนับรวมเจ้าของแบบเรือด้วย ต้องเห็นเรือจริงติดตั้งโซนาร์จริงกับตาตัวเองเสียก่อนถึงจะยอมเชื่อ ทั้งนี้เนื่องมาจากในอดีตผู้เขียนเคยเจ็บมาเยอะขอเชื่อแค่เพียงสายตาตัวเอง

The end

          วันที่ 12 มิถุนายน 2024 นายแอนดี้ โคล ซีอีโอบริษัท BAE Systems Thailand ร่วมมือกับบริษัทอู่กรุงเทพจำกัด เสนอแบบเรือฟริเกตชั้น Leander และแบบเรือฟริเกตชั้น River Batch 3 เข้าร่วมโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงกองทัพเรือไทย โดยกดราคาเรือฟริเกตชั้น Leander ติดระบบอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทยปี 2024 อยู่ที่ลำละ 480 ล้านเหรียญ ส่วนเรือฟริเกตชั้น River Batch 3 ซึ่งทันสมัยน้อยกว่าและติดโซนาร์ลากท้ายไม่ได้ราคาลำละ 400 ล้านเหรียญ เป็นการวัดใจลูกค้าว่ายังอิงลิชภักดีเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไป

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

https://thaimilitary.blogspot.com/2020/03/type-31e-general-purpose-frigate.html

https://www.navylookout.com/bae-systems-issues-updated-imagery-of-leander-type-31e-frigate-concept/?fbclid=IwAR3U6feowgpRF5biAVsmtNvLeqLfUFQ2FNuGyc3UkQv3H564tkZOrGlSkl8

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/1a/ONS_Al_Rahmani-15a.jpg/1280px-ONS_Al_Rahmani-15a.jpg

http://www.shipbucket.com/drawings/6171

http://www.shipbucket.com/drawings/6175