วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

Tridente Frigate Program

 

โครงการจัดหาเรือฟริเกตกองทัพเรือชิลี

ปี 1997 กองทัพเรือชิลีเริ่มต้นโครงการใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คือการจัดหารเรือฟริเกตรุ่นใหม่จำนวนมากถึง 8 ลำ เข้าประจำการทดแทนเรือเดิมของตนเองทั้งหมด ‘Tridente Frigate Program’ หรือ ‘Project Tridente’ คือชื่อเรียกโครงการสำคัญโครงการนี้ แบ่งออกเป็นสามเฟสโดยเฟสแรกต้องการสี่ลำ เฟสที่สองจำนวนสองลำ โดยอาจมีเฟสสามอีกสองลำตามมาในอนาคต หนึ่งในความต้องการของกองทัพกับรัฐบาลก็คือ เรือทุกลำต้องสร้างขึ้นเองภายในประเทศ

 ข้อดีของโครงการนี้มีด้วยกันมากมาย หนึ่งได้เรือรุ่นเดียวกันใช้งานทั้งกองเรือ แต่ติดตั้งอาวุธแตกต่างกันตามภารกิจ สองได้เรือใหม่ใช้งานได้อีกอย่างน้อยสี่สิบปี ต่างจากของเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นเรือมือสอง ราคาถูกก็จริงแต่ต้องเสียเงินปรับปรุงเพิ่มเติม อายุใช้งานต่อให้ลากอย่างไรก็ไม่เกินยี่สิบปี สามได้พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศ รองรับการซ่อมบำรุงทั้งน้อยและใหญ่ได้ด้วยตนเอง และสี่เป็นก้าวแรกในการสร้างเรือรบขึ้นเองในอนาคต

ปัญหาของโครงการนี้ย่อมมีเช่นกัน นอกจากความพร้อมของอุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศ โครงการนี้ยังต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่มหาศาล ประมาณการคร่าวๆ การสร้างเรือจำนวน 6 ถึง 8 ลำในเวลา 15 ปี ใช้งบประมาณอย่างน้อยๆ หนึ่งพันล้านดอลลาร์ หารออกมาได้เท่ากับลำละ 125 ล้านเหรียญถึง 166.6 ล้านเหรียญ

ผู้เขียนขอแทรกความเห็นส่วนตัวเล็กน้อย นี่คือราคาที่คำนวณในปี 1997 นะครับ และค่อนข้างมองโลกในแง่ดีเกินไปสักหน่อย อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดในโครงการใหญ่ สปอยล์เรื่องเสร็จเรากลับมาที่กองเรือผิวน้ำอีกครั้ง ในปีนั้นเองราชนาวีชิลีมีเรือรบหลักจำนวน 8 ลำประกอบไปด้วย


เรือ 4 ลำแรกเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Condell ซึ่งก็คือเรือฟริเกตชั้น Leander หรือ Type 12I รุ่นส่งออกของอังกฤษ ชิลีสั่งซื้อมือหนึ่งจำนวนสองลำประกอบไปด้วย PFG-06 Condell และ PFG-07 Lynch มีระวางขับน้ำปรกติ 2,500 ตัน ยาว 113 เมตร กว้าง 12 เมตร กินน้ำลึก 5.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 4.5 นิ้วลำกล้องแฝด 1 กระบอก ปืนกล 20 มม. 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat แฝดสี่ 1 แท่นยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่นยิง อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 นัดบริเวณท้ายเรือ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ SA319B Alouette III ซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก

ต่อมาในปี 1990 กองทัพเรือชิลีซื้อเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง AS332 SuperPuma มาใช้งาน 4 ลำ ถัดมา 3 ปีเฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ AS532SC Cougar อีก 6 ลำก็ตามมา Cougar สามารถติดจรวด AM39 Exocet ติดได้ถึง 2 ลูก เรือฟริเกตทั้ง 2 ลำปรับปรุงท้ายเรือรอบรับเฮลิคอปเตอร์ใหม่ พร้อมถอดแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ออกไป แล้วติดจรวด MM40 Exocet รุ่นใหม่กว่าในตำแหน่งเดิมแท่นยิงตอร์ปิโดเบา ส่วนแท่นยิงตอร์ปิโดเบาถูกโยกย้ายลงมาชั้นล่าง ติดระบบเป้าลวง Seagnat ขนาด 130 มม.จำนวน 4 ชุด ส่วนจรวด Seacat ใช้งานลากยาวมาจนถึงปี 1998 โน่น

ชิลียังขอซื้อเรือฟริเกต Type 12I มือสองจากอังกฤษมาอีก 2 ลำ ประกอบไปด้วย PFG-08 Ministro Zenteno ในปี 1991 และ PF-09 Baquedano ในปี 1992 ทั้งสองลำเป็นเรือชั้น Leander Batch III ระวางขับน้ำมากกว่าเรือชิลีเล็กน้อย ใช้อาวุธเหมือนกันหมดยกเว้นได้ปืนกล 40 มม.แทนปืนกล 20 มม. การซ่อมบำรุงหรือจัดหาอาวุธจึงทำได้อย่างสะดวก


ผู้เขียนขอย้อนเวลากลับมาสู่ยุคกางเกงขาบาน เนื่องจากเรือชั้นนี้มีอะไรน่าสนใจมากมาย ภาพซ้ายมือคือเรือ PFG-06 Condell ในปี 1978 ทำสีพรางคล้ายเรืออังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สวยงามและแปลกตามากจนกลายเป็นจุดเด่น ส่วนภาพขวามือแสดงท้ายเรืออย่างชัดเจน เห็นแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat ต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ SA319B Alouette III บินขึ้นจากลานจอด ปิดท้ายด้วยแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet สี่ท่อยิง

PFG-06 Condell และ PFG-07 Lynch เป็นเรือที่คนชิลีส่วนมากภูมิใจ เพราะเป็นเรือฟริเกตมือหนึ่งซึ่งนานๆ ครั้งรัฐบาลถึงจะอนุมัติ เรือทั้งสองลำยังมีเรื่องราวน่าสนใจหลายเรื่อง ติดตามได้ในท้ายบทความอีกไม่นานเกินรอ

ทีนี้เรามาชมเรือรบที่เหลืออีก 4 ลำ เป็นเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีชั้น Country มือสองจากอังกฤษประกอบไปด้วย

1.DLG-11 Captain Prat เข้าประจำการปี 1982

2.DLH-12 Admiral Cochrane เข้าประจำการปี 1984

3.DLG-14 Almirante Latorre เข้าประจำการปี 1986

4.DLH-15 Blanco Encalada เข้าประจำการปี 1987


ในภาพคือเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ DLH-15 Blanco Encalada ระวางขับน้ำ 6,200 ตัน ยาว 158.54 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร ติดปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วลำกล้องแฝด 1 แท่นยิง ถัดมาเป็นแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM-38 Exocet จำนวน 4 นัด กลางเรือมีปืนกล 20 มม.2 กระบอก แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่น ติดระบบแท่นยิงแนวดิ่งของอิสราเอลจำนวน 16 ท่อยิง สำหรับอาวุธำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 1 ติดเรดาร์ควบคุมการยิง ELM-2221 STGR ของอิสราเอล ระบบสื่อสารและระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ก็ของอิสราเอล ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือรองรับ AS532SC Cougar หรือ AS332 SuperPuma ได้ถึงสองลำพร้อมกัน

เรืออังกฤษทั้ง 8 ลำมีอายุการใช้งานพอสมควร กองทัพเรือต้องการแทนที่ด้วยเรือใหม่ในอัตราหนึ่งต่อหนึ่ง จึงเป็นที่มา Tridente Frigate Program อันเป็นเรื่องราวบทความนี้ ชิลีเดินหน้าโครงการอย่างเต็มที่ปลายปี 1999 ต้องการประกาศผลการคัดเลือกกลางปี 2001 ในโครงการนี้มีผู้เข้าร่วมหลายทีมด้วยกัน โชคร้ายข้อมูลโครงการนี้ไม่มีการเผยแพร่ ผู้เขียนไม่กล้ายืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนโครงการกองทัพเรือแอฟริกาใต้ แต่พอรวมรวบรายละเอียดที่น่าสนใจได้ดังนี้

มาพบกับทีมแรกคือทีมแคนาดาก่อนนะครับ ปลายปี 1999 พวกเขาได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ โดยใช้เรือฟริเกตชั้น Halifax ของตัวเองเป็นภาพปก แคนาดาแบ่งชนิดเรือออกเป็น 3 ประเภทประกอบไปด้วย

1.เรือฟริเกตใช้งานทั่วไปหรือ General Porpose Frigate หรือ GP

2.เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Frigate หรือ ASW

3.เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ หรือ Air-Defence Frigate หรือ AAW

เรือทั้ง 3 ประเภทผู้อ่านคงคุ้นชื่อเป็นอย่างยิ่ง ทราบไหมครับว่ารายละเอียดแตกต่างกันตรงไหน นักสืบจิ๋วโคนันจะช่วยเฉลยในบทความนี้ แต่ขอวงเล็บปิดท้ายว่าเป็นหลักนิยมในปี 1999 สำหรับกองทัพเรือชิลีเสนอโดยทีมแคนาดา


ภาพแรกเป็นรายละเอียดระบบเรดาร์ต่างๆ รวมมาถึงระบบอำนวยการรบ ข้อแตกต่างมีนิดเดียวก็คือเรือ AAW ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล ส่วน GP กับ ASW ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะกลาง สีเทากับสีเขียวเป็นรายละเอียดปลีกย่อยในการติดตั้ง ไม่มีอะไรแตกต่างกันเป็นนัยยะสำคัญ


ส่วนภาพสองจะเป็นเรื่องอาวุธปืน อาวุธนำวิถี ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเป้าลวง รวมทั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด เรือ AAW เท่านั้นที่ติดเรดาร์ควบคุมการยิงแท้ๆ เรืออีกสองชนิดใช้แค่ Electro-Optics ซึ่งมีราคาถูกกว่า เรือ AAW มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะไกลด้วย อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ก็มีเช่นเดียวกับเรืออีกสองประเภท (เข้าใจว่านำวิถีด้วยอินฟาเรดไม่ต้องใช้เรดาร์ควบคุม) และมีเพียงเรือ GP เท่านั้นที่ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ


มาชมระบบปราบเรือดำน้ำเป็นการปิดท้าย เรือทุกลำมีโซนาร์หัวเรือ โซโนปุยสำหรับเฮลิคอปเตอร์ ระบบสื่อสารใต้น้ำ ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ และระบบเป้าลวงตอร์ปิโด แต่เรือ ASW มีระบบโซนาร์ลากท้าย Towed Array Sonar เพิ่มเติมเข้ามา ทำงานในโหมด Passive ตรวจจับได้ค่อนข้างไกล อันเป็นไอเท่มลับที่เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำต้องมี

ถัดจากทีมแคนาดาย้ายไปฝั่งยุโรปกัน ทีมเนเธอร์แลนด์นำเสนอแบบเรือ Next Generation M Frigate โดยการนำเรือฟริเกต Type M ของตัวเองมาปรับปรุงใหญ่ ใช้ระบบอำนวยการรบและระบบเรดาร์ของ Thomson-CSF (ซึ่งในปี 2000 ได้เปลี่ยนมาเป็น Thales Nederland) แต่ใส่อาวุธอเมริกาไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mk-46 อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM


รายละเอียดเรือเนเธอร์แลนด์หาไม่ได้เลย รู้แค่เพียงเรือลำนี้ถูกพัฒนาต่อเป็นแบบเรือฟริเกตรุ่นใหม่ในปี 2016 แต่แล้วกลับโดนถีบตกโครงการจากแบบเรือใหม่กว่า อันเป็นแบบเรือที่ประเทศเยอรมันแท้ๆ ยังขอซื้อไปใช้งาน ผู้เขียนขออนุญาติข้ามไปสู่ทีมที่สามนะครับ นี่คือทีมเต็งหามนอนมาพระสวดที่แท้จริง ต้นปี 2000 ทีมอเมริกาได้เข้ามานำเสนอรายละเอียด อันเป็นข้อเสนอที่เย้ายวนใจที่สุดในสามโลก ข้อเสนอที่ว่าเป็นอย่างไรรับโปรดติดตามได้ทันที

ทีมอเมริกาจะผลักดันการสร้างเรือภายในประเทศ โดยใช้แบบเรือ Meko 200 รุ่นลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ อันเป็นรุ่นพัฒนาปรับปรุงจากแบบเรือ Meko 200 ที่ขายได้ระเบิดระเบ้อในช่วงก่อนหน้า อารมณ์ประมาณแปลงร่างเรือพิฆาต KDX-I มาเป็นเรือฟริเกต DW3000F นั่นแหละครับ ระบบอาวุธต่างๆ ลูงแซมใส่พานถวายให้อย่างดี ประกอบไปด้วย อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะไกล SM-2 Block IIIA อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง ESSM ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM Block I รวมทั้งระบบโซนาร์ลากท้าย AN/SQR-18A


เรือเยอรมันจับคู่กับอาวุธอเมริกา แม่เจ้าโว้ย! แค่นี้ก็ฮือฮาทั่วทั้งทวีปอเมริกาใต้ แต่ช้าก่อนเรื่องนี้ยังไม่จบ! เพราะเป็น Big Deal ขนาดใหญ่มหึมา อเมริกาเปิดไฟเขียวยอมขายระบบเรดาร์ SPY-1 ที่ตนเองหวงนักหวงหนา เพื่อให้ชิลีใช้งานจรวด SM-2 Block IIIA ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ทว่าแต่ทว่าแต่ทว่า ระบบอำนวยการรบ Aegis ดันไม่มาตามนัด

รัฐบาลอเมริกาไม่อนุมัติการขายระบบ Aegis ทำให้ Lockheed Martinต้องหาพาร์ทเนอร์รายอื่นเข้ามาช่วยโครงการ พวกเขาเลือก SAAB บริษัทดาวรุ่งจากสวีเดนมาจอยกัน เรือจะใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV เรดาร์ตรวจการณ์ Sea Giraffe AMB เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 บนเรือเฟสแรกจำนวน 4 ลำ ส่วนอีก 2-4 ลำจะติดตั้งระบบเรดาร์ SPY-1 พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิงขนาดใหญ่กว่าเดิม ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยว่าใช้อเมริกาเลย (แผนง่าย) หรือพัฒนาของสวีเดนต่อ (แผนยาก)

Lockheed Martin จะถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนมายัง SAAB เพื่อให้ระบบอำนวยการรบ 9LV ทำงานกับระบบเรดาร์ SPY-1 และจรวด SM-2 Block IIIA ได้ แต่ประสิทธิภาพคงไม่เทียบเท่าระบบ Aegis แผนนี้นอกจากขายอาวุธให้ชิลีได้แล้ว ยังสามารถขายประเทศอื่นที่ไม่อยากปล่อยระบบ Aegis อาทิเช่นไต้หวัน พม่า ไทย ฮ่องกง ศรีลังกา หรือเลบานอน

ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอภาพวาดเรือทีมอเมริกา อันเป็นเฟสแรกทำภารกิจปราบเรือดำน้ำ ใช้ระบบอาวุธและเรดาร์ตามที่ได้เอื้อนเอ่ย จะมีรูปร่างหน้าตาประมาณนี้เลยครับ


นี่คือแบบเรือจากโครงการเรือคอร์เวตประเทศแอฟริกาใต้ อันเป็นแบบเรือ Meko 200 Stealth ลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ มีระวางขับน้ำ 3,580 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 15 เมตร ติดระบบแท่นยิงแนวดิ่งได้มากถึง 32 ท่อยิง ใช้ปืนใหญ่ 5 นิ้วรุ่นใหม่ของอเมริกา อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mk-46 อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx เพียงเท่านี้ก็เยอะเกินพอในการป้องกันตนเอง


ส่วนภาพนี้เป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ (งานหยาบภาพไม่สวยโปรดให้อภัย) ใช้ระบบเรดาร์ SPY-1F เหมือนนอร์เวย์เล็กและเบากว่ารุ่นปรกติ ติดจรวด SM-2 Block IIIA เพิ่มเติมเข้ามา ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดเปลี่ยนเป็น RAM แต่โซนาร์ลากท้ายหายไปเพื่อกดราคาเรือ ใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV ในการควบคุมการทำงาน นี่คือความฝันบนหอแดงของชิลี+อเมริกา+สวีเดน ที่จะตีตลาดเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศในราคาย่อมเยาว์

เรือเยอรมันจับคู่กับอาวุธอเมริกาใช้ระบบอำนวยการรบสวีเดน เข้าตากรรมการและเขี่ยคู่แข่งรายอื่นทิ้งทั้งหมด กองทัพเรือชิลีให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่ข้อสรุปจากทีมอเมริกาทำให้จิตใจไหวหวั่น เรือเฟสแรกจำนวน 4 ลำสร้างเองในประเทศ มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 1.3 พันล้านหรือลำละ 325 ล้านเหรียญ

นี่คือกระสุนนัดแรกวิ่งทะลุขั้วหัวใจ จริงอยู่ว่าการประเมินราคาต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ราคาที่เคาะออกมาก็สูงเกินเหตุเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แอฟริกาใต้ซื้อเรือฟริเกต Meko A200 จากเยอรมัน 4 ลำวงเงินหนึ่งพันล้านเหรียญหรือลำละ 250 ล้านเหรียญ โดยไม่มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานกับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด นำราคาสองอย่างที่ว่ามาบวกเพิ่มยังถูกกว่ากันอยู่ดี ทั้งที่แบบเรือ Meko A200 ใหม่กว่าทันสมัยกว่าแบบเรือ Meko 200 Stealth

กระสุนนัดที่สองย้อนกลับไปในปี 1997 กองทัพอากาศชิลีต้องการเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์จำนวน 24 ลำ โดยตั้งวงเงินไว้ที่ 1 พันล้านเหรียญเช่นกัน รายชื่อเครื่องบินที่ส่งเข้าชิงชัยประกอบไปด้วย Mirage 2000 ของฝรั่งเศส JAS-39 Gripen ของสวีเดน และ F-16 C/D ของอเมริกา สิ่งนี้เองคือปัญหาใหญ่สำหรับ Tridente Frigate Program

ปัญหาก็คือปี 2000 รัฐบาลชิลีเกิดถังแตก ไม่สามารถหาเงินมาประเคนให้กับสองโครงการใหญ่ พวกเขาจำเป็นต้องเลือกข้าง ไม่อาจอยู่นิ่งเป็นไทยเฉยให้เด็กมัธยมปีนเกลียว เดือนธันวาคม 2000 รัฐบาลชิลีประกาศซื้อเครื่องบิน F-16 Block50 จำนวน 10 ลำในวงเงิน 500 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นรุ่น C ที่นั่งเดี่ยว 6 ลำ และรุ่น D สองที่นั่งอีก 4 ลำ เครื่องบินมาพร้อมอาวุธและอุปกรณ์ช่วยรบครบครัน รวมทั้งประกาศยุติโครงการจัดหาเรือฟริเกตกองทัพเรือ

สัญญาซื้อเครื่องบินเซ็นในปี 2002 เครื่องบินเข้าประจำการระหว่างปี 2006 ทว่า F-16 แค่ 10 ลำไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเครื่องบิน Mirage 50/5M ของตัวเองนั้นไม่ไหวจะเคลียร์ เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2004 รัฐบาลชิลีประกาศซื้อเครื่องบิน F-16 MLU จากเนเธอร์แลนด์จำนวน 18 ลำในวงเงิน 150 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นรุ่น A ที่นั่งเดี่ยว 11 ลำ รุ่น B สองที่นั่งอีก 7 ลำ ถัดมาอีก 4 ปีชิลีขอซื้อ F-16 MLU รุ่น A ที่นั่งเดี่ยวอีก 18 ลำจากเนเธอร์แลนด์เจ้าเดิม เพียงแต่คราวนี้ไม่ทราบวงเงินในการจัดหา ระยะเวลาแค่เพียง 6 ปีพวกเขาสั่งซื้อ F-16 ถึง 46 ลำ


ภาพสวยๆ ภาพนี้คือเครื่องบิน F-16 C ชิลีเพิ่งสร้างเสร็จกลางปี 2005 ติดกระเปาะชี้เป้า AN/AAQ-28 (V) Litening Targeting Pod มาพร้อมหมวก Joint Helmet-Mounted Cueing System หรือ JHMCS ทำงานร่วมกับอาวุธนำวิถีอินฟาเรด Python 4 ในภาพยังมีอาวุธนำวิถีเรดาร์ Derby ของอิสราเอล กับระเบิดนำวิถี JDAM ขนาด 500 ปอนด์ ขณะที่เครื่องบิน F-16 MLU ได้รับการปรับปรุงครึ่งอายุ แม้ไม่เทียบเท่าของใหม่ล่าสุดก็ตาม ทว่าทำงานได้ทัดเทียมกันใช้อาวุธต่างๆ ร่วมกัน

ต้องบอกว่าชิลีโชคดีค่อนข้างมาก ตัวเองได้เครื่องบินมือสองราคาไม่แพงถึงสองฝูง ทั้งนี้เนื่องมาจากการล่มสลายของโซเวียต ทำให้หลายชาติในนาโต้รวมทั้งอเมริกา ต้องลดกำลังทหารและอาวุธราคาแพงลงตามกัน นี่คือสาเหตุที่เนเธอร์แลนด์ขาย F-16 MLU ให้ชิลี และเป็นสาเหตุที่เยอรมันขาย Alphajet ให้ไทยแลนด์ ในราคามิตรภาพยิ่งกว่าถนนแถวบ้านผู้เขียนเสียอีก ให้บังเอิญโชคร้ายเราได้มาเพียง 25 จาก 50 ลำ โทษใครไม่ได้เลยนอกจากตัวเองกับคนใกล้ตัว

กองทัพอากาศชิลีสุขสมอารมณ์หมาย ส่วนกองทัพเรือได้มาก็แต่แห้วกระป๋อง Tridente Frigate Program ล้มเหลวไม่เป็นท่า โครงการจบบทความต้องจบตามด้วยใช่หรือไม่ คำตอบคือยังครับยังไม่จบ โปรดติดตามตอนต่อไปเร็วๆ นี้

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://base.mforos.com/1716042/3414429-las-fragatas-tipo-leander-pfg-06-condell-pfg-07-lynch-pfg-08-zenteno-y-pf-09-gral-baquedano/?pag=2

https://base.mforos.com/730111-escuadra-nacional/

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Chilean_frigate_Almirante_Wiliams_(FF-19)_underway_in_the_Pacific_Ocean_on_11_July_2005_(050711-N-4374S-005).jpg

http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?query=CNS+Almirante+Williams+FF19&x=0&y=0

https://en.wikipedia.org/wiki/Spruance-class_destroyer

https://en.wikipedia.org/wiki/Oliver_Hazard_Perry-class_frigate

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_ships_of_the_Chilean_Navy

https://www.forecastinternational.com/notable/defdaily.htm

https://en.mercopress.com/2002/05/08/chilean-navy-ready-to-shop

https://www.lockheedmartin.com/en-ca/chile.html

http://www.f-16.net/f-16_users_article9.html

http://navalphotos.blogspot.com/2011/06/cs-almirante-williams-ff-19.html?m=1

http://navalphotos.blogspot.com/2011/08/cns-almirante-condell-ff06.html?m=1

รายงานเรื่อง : Navy/Industry International Dialog 15 February 2000

เอกสาร : TEAM CANADA PRESENTATION TO THE CHILEAN NAVY DECEMBER, 20 1999


วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563

Chilean Navy Air-Defence Frigate

 

เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศชิลี

ช่วงสงครามเย็นระหว่างนาโต้กับวอร์ซอ กองทัพเรือชิลีจัดหาเรือรบรุ่นใหม่เข้าประจำการ ตามความเหมาะสมกับภารกิจและเงินในกระเป๋า ส่วนใหญ่เป็นเรือมือสองจากอเมริกาหรืออังกฤษ เหมือนกับหลายประเทศในอเมริกาใต้และเอเชีย ยกเว้นเรือที่มีความสำคัญเช่นเรือดำน้ำ อันเป็นอาวุธยุทธศาสตร์ใช้คานอำนาจสองฝ่าย และช่วยยับยั้งให้การเกิดสงครามไม่ง่ายเหมือนอดีต ชิลีเลือกเรือดำน้ำมือหนึ่งประสิทธิภาพสูงมาใช้งาน

หนึ่งในชนิดเรือที่น่าสนใจของประเทศนี้ก็คือ เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ อันเป็นเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง มีราคาค่อนข้างสูงเพราะติดอุปกรณ์ทันสมัยล้นลำ ค่ายใช้จ่ายในการใช้งานและซ่อมบำรุงจึงมากตามกัน แต่เป็นที่หมายปองจากทุกชาติรวมทั้งราชนาวีไทย ชิลีเองมีความต้องการเรือประเภทนี้เช่นกัน ทว่ามีเงินไม่มากเพียงพอที่จะถอยเรือป้ายแดง จึงเบนเข็มมาจัดหาเรือมือสองใช้งานไปพลางๆ

เรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานลำแรกที่จะพูดถึง เป็นเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีชั้น Country จากประเทศอังกฤษ ระวางขับน้ำ 6,200 ตัน ยาว 158.54 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร อังกฤษสร้างขึ้นมาจำนวน 8 ลำ ทยอยเข้าประจำการระหว่างปี 1962 ถึง 1970 เมื่อปลดประจำการชิลีขอซื้อต่อจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วย

1.DLG-11 Captain Prat ประจำการตั้งแต่ปี 1982 ถึง 2006

2.DLH-12 Admiral Cochrane ประจำการตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2006

3.DLG-14 Almirante Latorre ประจำการตั้งแต่ปี 1986 ถึง 1998

4.DLH-15 "Blanco Encalada ประจำการตั้งแต่ปี 1987 ถึง 2003

รหัสเรือแตกต่างกันเล็กน้อย DLG คือเรือพิฆาตอาวุธนำวิถี ส่วน DLH คือเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ สาเหตุเป็นเพราะเมื่อรับเรือเข้าประจำการ ชิลีถอดอาวุธบางอย่างออกจากเรือจำนวนสองลำ แล้วสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์พร้อมโรงเก็บขนาดใหญ่ สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์ SuperPuma ได้พร้อมกันถึงสองลำ จึงเป็นที่มาของความแตกต่างเรื่องรหัสเรือ


นี่คือเรือ DLG-11 Captain Prat  ถ่ายในปี1989  ติดปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วลำกล้องแฝดหนึ่งแท่นยิง ถูกออกแบบเพื่อภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ ปืนรุ่นนี้จึงใช้ยิงเป้าหมายอากาศยานได้ดีมาก ถัดมาเป็นแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM-38 Exocet จำนวน 4 นัด กลางเรือมีปืนกล 20 มม.2 กระบอก แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่น แท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Seacat แบบแฝดสี่ 2 แท่น ท้ายเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศระยะกลาง Seaslug พร้อมจรวดในแมกกาซีนมากถึง 24 นัด รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่งลำ


เรือลำถัดมาคือ DLH-15 Blanco Encalada ซึ่งมีฉายาว่า The White ในปี 1989 หลังซื้อต่อได้ไม่นานชิลีปรับปรุงใหม่ทันที แท่นยิงกับเรดาร์ควบคุมการยิงจรวด Seaslug หายไป แต่จรวด Seacat ยังอยู่ตำแหน่งเดิม ได้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์แบบยาวมากมาแทน ในภาพจอดเฮลิคอปเตอร์คู่กันจำนวนสองลำ ใต้ลานจอดแอบใส่รางปล่อยระเบิดลึกไว้ด้วยสองราง

ปรับปรุงใหม่แล้วดูทันสมัยมากขึ้น ที่ทำแบบนี้เพราะจรวด Seaslug เหลือจำนวนน้อยนิด จรวดรุ่นนี้อังกฤษพัฒนาขึ้นมาเอง มีความยาว 6 เมตรหนักประมาณ 2 ตัน ระยะยิงไกลสุดรุ่น Mk2 ร่วมๆ 32 กิโลเมตร แต่ค่อนข้างล้าสมัยยิงเครื่องบินลำใหญ่ๆ ได้เท่านั้น กองทัพเรือชิลีถือคติพจน์ว่ามีดีกว่าไม่มี นี่คือก้าวแรกก้าวสำคัญในการเดินทางไปสู่เส้นชัย

จรวด Seacat ทุกคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี ประเทศไทยเคยมีบนเรือหลวงมกุฏราชกุมาร ระยะยิงค่อนข้างสั้นเพียง 5 กิโลเมตร ระบบนำวิถีอาจไม่แม่นยำสักเท่าไร แต่ทันสมัยที่สุดและกะทัดรัดที่สุดในปี 1960 อังกฤษนำมาใช้งานแทนปืนต่อสู้อากาศยาน 40 มม.พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิงแท่นใครแท่นมัน มีความแม่นยำกว่ากันและแพงกว่ากันพอสมควร

ได้เรือมาแล้วต้องมีการทดสอบยิงจรวด ประชาชนจะได้อุ่นใจนอนหลับฝันดี แม้จรวด Seaslug จะมีข่าวว่ายิงได้เพียงเป้าหมายผิวน้ำ ส่วนเป้าหมายอากาศยานความเร็วสูงอาจมีปัญหา ก็อย่าไปคิดมากถือว่าซื้อเรือแถมจรวดมาด้วย เรือชั้นนี้ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ COSAG หรือระบบไอน้ำกับแก๊สเทอร์ไบ โดยติดเครื่องยนต์ด้วยระบบแก๊สก่อนขับเคลื่อนด้วยระบบไอน้ำ ถือเป็นต้นฉบับระบบขับเคลื่อน COGOG หรือ COGAG ให้กับเรือรุ่นถัดๆ มาอีกหลายลำ


ภาพถัดไปคือเรือ DLG-11 Captain Prat ในปี1998 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นก็คือ จรวด Seacat สองกราบเรือถูกถอดออกไป เรดาร์ควบคุมการยิงสองกราบเรือก็เช่นกัน ติดเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นใหม่เหนือสะพานเดินเรือกับหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ติดระบบแท่นยิงแนวดิ่งของอิสราเอลจำนวน 16 ท่อยิง บริเวณข้างปล่องระบายความร้อนอันที่สอง เพื่อใช้งานอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Barak 1 ควบคุมด้วยเรดาร์ระยะยิงไกลสุด 12 กิโลเมตร


จรวด Barak 1อิสราเอลเคลมว่ายิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ รวมทั้งมีภาพการยิงทำลายจรวดการเบรียลของตัวเอง ทำให้เรือมีโอกาสเอาตัวรอดกลับฐานมากขึ้นกว่าเดิม อาจไม่ดีที่สุดทว่าราคาเหมาะสมที่สุด อิสราเอลการช่างดัดแปลงให้ติดกับเรือลำไหนก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเรือไม่แพงจนระเป๋าฉีก จากภาพชิลีขยับแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำมาติดแทนที่จรวด Seacat ส่วนระบบเรดาร์อื่นๆ ของอังกฤษยังอยู่ที่เดิมทั้งหมด


ภาพถัดไปเรือ DLG-11 Captain Prat ถอดจรวด Seaslug ออกเสียแล้ว เรดาร์ควบคุมการยิงขนาดมหึมาก็เช่นกัน แล้วสร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นมา ภาพถ่ายน่าจะประมาณปี 2000 หรือใกล้เคียง ชิลีใช้งานต่อจนถึงปี 2006 ก็ปลดประจำการแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ได้ไม่นาน สาเหตุเป็นเพราะอะไรโปรดรอสักครู่หนึ่ง


 กลับมาชมภาพเรือ DLH-15 Blanco Encalada ในปี 1999 กันบ้าง จรวด Barak 1มาตามนัดไม่มีผิดพลาด ดูจากมุมนี้ไม่แน่ใจว่าเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Type 695 หายไปหรือยัง ลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์ SuperPuma ได้สองลำอย่างสบายๆ เวลาบินขึ้นอาจต้องบินทีละลำเพื่อความปลอดภัย เป็นพัฒนาการสุดท้ายท้ายสุดของเรือพิฆาตชั้นนี้

เรือทั้งสี่ลำเข้าประจำการไม่พร้อมกันและปลดประจำการไม่พร้อมกัน บางลำมาทีหลังแต่ปลดก่อนเป็นไปตามสภาพเรือ และเรือสองลำสุดท้ายปลดประจำการในปี 2006 ด้วยเหตุผลมีเรือลำใหม่เข้าประจำการทดแทน

ปี 2004 กองทัพเรือชิลีทำสัญญามูลค่า 350 ล้านเหรียญ เพื่อจัดซื้อเรือฟริเกตมือสองจากกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีโครงการลดกำลังพลครั้งใหญ่มหึมา เรียกว่าขายมันหมดทุกอย่างเท่าที่ตัวเองขายได้ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการล่มสลายของโซเวียต สัญญาฉบับนี้ประกอบไปด้วยเรือฟริเกตสองชั้นจำนวนสี่ลำ เรือชั้นแรกคือเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Type L


เรือลำที่หนึ่งใช้ชื่อว่า FF 11 Captain Prat  อันเป็นชื่อเดิมของเรือพิฆาตชั้น Country จากอังกฤษ ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,750 ตัน ยาว 130.5 เมตร กว้าง 14.6 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร หัวเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Sea Sparrow จากอเมริกาจำนวน 8 นัด ระยะยิงหวังผลอยู่ที่ 8 ไมล์ทะเลหรือ 14.8 กิโลเมตร ควบคุมการยิงด้วย STIR 1.8 ซึ่งมีจานส่งสัญญาณกว้าง 1.8 เมตร โดยในภาพจะเป็นตัวบนทรงแหลมเล็กน้อย ส่วนที่อยู่ต่ำลงมาคือเรดาร์ควบคุมการยิง STIR 2.4 ซึ่งมีจานส่งสัญญาณกว้าง 2.4 เมตร ไว้สำหรับไพ่เด็ดไม้ตายที่ติดอยู่ด้านท้ายเรือ

นอกจากนี้ยังมีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thlaes ZW-06 เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales Smart-S Mk1 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Thales LW-08 ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLQ-503 RAMSES ระบบโซนาร์ตรวจับเรือดำน้ำ Thales PHS-36 ระบบอำนวยการรบ Thales SEWACO V ระบบเป้าลวง Mk36 SRBOC ทำงานอัตโนมัติ


เขียนจนเมื่อยมืออุปกรณ์ไม่ครบเสียที ข้ามมาชมเรือลำที่สองกันบ้าง นี่คือเรือชื่อ FF 14 Almirante Latorre บริเวณกลางเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด (ในภาพถอดออกแล้ว) มีห้องยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 ฝั่งละสองท่อยิง ท้ายเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง SM-1 ของอเมริกา ระยะยิงไกลสุด 25 ไมล์ทะเลหรือ 46.5 กิโลเมตร ปิดท้ายด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Goldkeeper  ซึ่งใช้ปืนกลเจ็ดลำกล้องรวบขนาด 30 มม.มีกระสุนในแมกกาซีนประมาณ 1,500 ถึง 2,000 นัด เรียกว่ายิงกันให้เพลิดเพลินหนำใจกันไปเลย


ทีนี้มาดูภาพท้ายเรือกันบ้าง เห็นแท่นยิง Goldkeeper ตั้งโดดเด่นค่อนข้างสูง เพราะต้องการพื้นที่จำนวนหนึ่งในการจัดเก็บกระสุนปืน แต่ไม่อยากกินเนื้อที่ใต้ดาดฟ้าเรือจึงยกสูงประมาณนี้ แตกต่างจาก Phalanx ของอเมริกาที่นำไปวางตรงไหนก็ได้ มีความคล่องตัวกว่ากันติดบนเรือลำเล็กลำใหญ่ได้หมด แต่มีกระสุนจำนวนน้อยกว่ากันเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน


และในภาพนี้แสดงจรวด SM-1 บนเรือรบชิลี ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล สามารถยิงได้ค่อนข้างสูงอันเป็นจุดเด่นสำคัญ ชิลีเปลี่ยนจากจรวด Seaslug มาเป็น SM-1 ถือเป็นก้าวกระโดด แม้จรวดใกล้ล้าสมัยและมีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่แล้ว แต่ยังถือเป็นของดีมีคุณภาพผ่านการรบจริงมาแล้ว ในราคาสบายกระเป๋าตัวเองสามารถจ่ายได้


ทีนี้เรามาดูเรือลำที่สามในดีลนี้ เป็นเรือฟริเกตเอนกประสงค์ Type M ใช้ชื่อว่า FF-15 Almirante Blanco Encalada               ขนาดเล็กกว่าเรือสองลำแรกไม่เท่าไร ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,340 ตัน ยาว 123.72 เมตร กว้าง 14.37 เมตร กินน้ำลึก 6.1 เมตร ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด และอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Sea Sparrow จำนวน 16 นัด โดยใช้แท่นยิงแนวดิ่งฝั่งซ้ายมือของโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ มีห้องยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 ฝั่งละสองท่อยิง ทำการรบได้ครบสามมิติโดยใช้อาวุธมาตราฐานนาโต้

เรือติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales Smart-S Mk1 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Thales LW-08 ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ Thales APECS-II/AR-700 ECM และ Thales Vigile APX ESM ระบบโซนาร์ตรวจับเรือดำน้ำ Thales PHS-36 ระบบอำนวยการรบ Thales SEWACO Mk.VII ระบบเป้าลวง Mk36 SRBOC ทำงานอัตโนมัติ เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.8 อีกสองตัว โอยเหนื่อยขาดอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ไปบ้างอย่าว่ากันเลยเน่อ


ภาพนี้คือเรือลำที่สี่ชื่อ FF-18 Almirante Riveros หน้าสะพานเดินเรือฝั่งขวามองเห็น Thales APECS-II/AR-700 ใช้ก่อกวนเรดาร์ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างชัดเจน มีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales Scout ติดมาด้วยลืมบอกไป เรือทั้งสี่ลำเพิ่งถูกปรับปรุงใหญ่ในปี 2000 นี้เอง ชิลีขอซื้อต่อและเข้าประจำการจริงในปี 2006 ผู้เขียนอยากใช้คำว่าแก่งแย่งชิงดีจะเหมาสมกว่า เพราะเป็นของดีใครๆ ก็อยากมีอยากได้ เนเธอร์แลนด์เองรีบปล่อยของในราคามิตรภาพที่แท้จริง ไม่ใช่หมกเม็ดแบบโครงการเรือดำน้ำซื้อสองแถมหนึ่ง ไอ้เสือปืนไวอย่างชิลีเป็นผู้ครอบครองเรือสี่ลำ ในราคาไม่แพงจนผู้เขียนอิจฉาตาร้อนไปหมดแล้ว

แต่ก็นั่นแหละครับ โบราณกล่าวไว้ว่าชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน เรือฟริเกตชั้น Type L ทั้งสองลำประจำการในปี 1986 ชิลีซื้อมาใช้งานต่อก่อนปลดประจำการปลายปี 2019 เท่ากับว่าเรือมีอายุการใช้งานแค่เพียง 33 ปี

ทำไมปลดประจำการไวจัง! สู้เรือประเทศไทยไม่ได้! เราใช้งานเรือหนึ่งลำตั้ง 50 ปีเชียวนะจะบอกให้!

เอ่อเรื่องที่เราใช้งานเรือแบบลากยาวนั้น หาใช่เรือเรามีประสิทธิภาพสูงอะไรไม่ แค่เราไม่มีเงินซื้อเรือใหม่เท่านั้นเอง ว่ากันตามจริง 33 ปีก็ถือว่ามากพอสมควร เรือรบส่วนใหญ่ทยอยปลดประจำการในช่วงนี้ รวมทั้งถ้าชิลีต้องการประจำการเรือสองลำนี้ต่อ พวกเขาจะมีปัญหาเรื่องอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน เพราะจรวด SM-1 ก็ดี Sea Sparrow ก็ดีใกล้หมดอายุ

เรืออีกสองลำที่ซื้อพร้อมกันใช้จรวด Sea Sparrow ก็จริง แต่เป็นรุ่นใช้งานแท่นยิงแนวดิ่งทันสมัยกว่าและใหม่กว่า ยังมีอายุการใช้งานอีกนานพอสมควร ไม่มีทางเลือกชิลีจำเป็นต้องซื้อเรือลำใหม่ โดยคราวนี้พวกเขามองมาที่เรือออสเตรเลีย


วันที่ 15 เมษายน 2020 กองทัพเรือออสเตรเลียได้ส่งมอบเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry จำนวนสองลำ ให้กับกองทัพเรือชิลีภายใต้สัญญามูลค่า 110 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นค่าเรือลำละ 45 ล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นค่าฝึก ค่าใช้จ่าย รวมทั้งอะไหล่จำนวนหนึ่ง เรือลำใหม่ยังใช้ชื่อเดิมกับหมายเลขเดิม แต่เปลี่ยนรหัสเล็กน้อยเป็น FFG 11 Captain Prat กับ FFG 14 Almirante Latorre และสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ เรือออสเตรเลียอายุน้อยกว่าเรือเนเธอร์แลนด์แค่ 6 ปีกับ 7 ปี

ทำไมชิลีซื้อเรืออายุไม่ห่างกันเท่าไรมาแทนเรือเก่า? ข้อมูลส่วนหนึ่งจากเอกสาร ‘Seas of Chile: 2040 Vision’ เขียนไว้อย่างน่าสนใจมากว่า เรือออสเตรเลียมาพร้อมอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง SM-2 ทันสมัยกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าจรวด SM-1 พอสมควร สิ่งนี้เองเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาจัดหาเรือ รวมทั้งเรือออสเตรเลียมีแท่นยิงแนวดิ่ง MKk-41 จำนวนแปดท่อยิง สามารถติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ได้มากถึง 32 นัด

จรวดทั้งสองรุ่นถือว่าทันสมัยที่สุดในตอนนี้ จริงอยู่ว่าระบบต่างๆ บนเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศออสเตรเลีย อาจใช้งานไม่ดีเทียบเท่าเรือใหม่เอี่ยมราคา 450 ล้านเหรียญ แต่ถูกกว่ากันสิบเท่าตัวย้ำอีกครั้งว่าสิบเท่าตัว สามารถใช้จรวด SM-2 ได้ทันทีเดี๋ยวนี้เลย ของมันต้องมีส่วนได้ใช้งานตอนไหนแล้วค่อยว่ากัน


นี่คือภาพถ่ายเรือ FFG 14 Almirante Latorre มีครบทุกอย่างยกเว้นระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ที่บังเอิญหายไปจากหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ชิลีจะนำ Goldkeeper จากเรือเก่ามาใส่บนเรือใหม่ ติดขัดปัญหาเล็กน้อยที่ Goldkeeper ต้องการพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือประมาณ 2 เมตร ไม่อย่างนั้นต้องยกสูงขึ้นไป 2 เมตรเพื่อเก็บกระสุนปืน

แล้วชิลีจะทำอย่างไร? ถ้าเป็นผู้เขียนจะใช้แผนง่ายที่สุดก็คือ เรือลำนี้มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สองลำใช่ไหม ฉะนั้นให้เจาะดาดฟ้าโรงเก็บฝั่งขวาเป็นคลังกระสุน เหลือฝั่งซ้ายไว้เก็บเฮลิคอปเตอร์ดั่งเดิม มีคำถามตามมาว่าแล้วเรือไม่เสียสมดุลหรือ เพราะ Goldkeeper น้ำหนักรวมประมาณ 10 ตัน ส่วนตัวคิดว่าเรื่องสมดุลไม่น่ามีปัญหา ปรกติเรือใส่เฮลิคอปเตอร์ 10 ตันไว้สองลำ ถ้าลำขวาบินออกไปเหลือลำซ้ายหนัก 10 ตันในโรงเก็บ ถ้ามีปัญหาจริงเรือคงเอียงกระเท่เร่ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว

FFG 14 Almirante Latorre มีระวางขับน้ำ 4,100 ตัน ยาว 138.1 เมตร กว้าง 13.7 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ยังไม่แน่ใจว่าติดอาวุธครบตามต้นฉบับหรือไม่ ผู้เขียนขอละไว้รอให้เรือเข้าประจำการก่อน อเมริกาสร้างเรือลำนี้เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ แต่เนื่องมาจากติดจรวด SM-1 ได้มากสุดถึง 40 นัด ทำให้หลายชาตินำมาใช้งานป้องกันภัยทางอากาศ เรือใช้ระบบขับเคลื่อนแก๊สเทอร์ไบน์ล้วนคนไทยมองว่าเปลือง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับสองลำก่อนคนชิลีบอกว่าสบายๆ

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://www.shipsnostalgia.com/gallery/showphoto.php/photo/902146/title/almirante-latorre-dlg-14/cat/513

https://www.armada.cl/site/unidades_navales/511.htm

https://base.mforos.com/1716038/3448624-destructores-tipo-county-dlh-11-prat-dlh-12-cochrane-dlh-15-blanco-y-dlg-14-latorre/?pag=6

https://base.mforos.com/1716042/4015674-fragatas-tipo-l-capitan-prat-ffg-11-almirante-latorre-ffg-14/

http://www.seaforces.org/marint/Chilean-Navy/ships.htm

http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?search_title=CNS%20Capitan%20Prat%20FF11

http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?query=CNS+Almirante+LaTorre+FF14&x=23&y=5

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Chilean_frigate_Almirante_Blanco_Encalada_(FF_15)_leaves_Pearl_Harbor_in_July_2014.JPG

http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?query=CNS+ALMIRANTE+RIVEROS+FF18&x=35&y=7

https://www.navalanalyses.com/2015/05/jacob-van-heemskerck-class-frigates-of.html

https://web.facebook.com/511544342548156/photos/pcb.1180983582270892/1180983115604272/?type=3&theater

https://www.abc.net.au/news/2020-04-24/australia-gifts-two-retired-war-ships-chile/12179044