วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566

River Class Batch 3

 

วันที่ 30 มกราคม 2007 เรือตรวจการณ์ HMS Clyde (P257)  เข้าประจำการกองทัพเรืออังกฤษอย่างเป็นทางการ เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River ลำที่ 4 สร้างโดยบริษัท VT Shipbuilding ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท BAE Systems ไปแล้ว และเนื่องมาจากเรือต้องมาประจำการหมู่เกาะฟอล์กแลนด์แทนเรือตรวจการณ์ชั้น Castle จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเรือเล็กน้อยเพื่อความเหมาะสมกับภารกิจ

ภาพประกอบที่หนึ่งภาพเล็กคือท้ายเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 1 รุ่นปรกติ ไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทุกขนาด แต่มีพื้นว่างวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตได้ 2 ใบ เหตุผลที่ไม่มีเพราะอังกฤษใช้งานเรือไม่ไกลจากแผ่นดินใหญ่ งานหลักคือตรวจสอบเรือประมงหรือเรือพาณิชย์ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์รวมทั้งไม่จำเป็นต้องติดอาวุธหนัก มีเพียงปืนกล 20 มม.เป็นปืนหลักจำนวน 1 กระบอก กับปืนกลขนาด 7.62 มม.หรือ 12.7 มม.เป็นปืนรองอีก 2 กระบอก

ภาพประกอบที่หนึ่งภาพใหญ่คือเรือ HMS Clyde (P257)  ท้ายเรือสร้างเหล่าเต๊งขึ้นมาใช้เป็นลานจอดโดยไม่มีโรงเก็บ รองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตันอาทิเช่นเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย Sea King ตามภาพ ใต้ลานจอดคือพื้นที่อเนกประสงค์ใช้เป็นห้องพักผ่อนหรือจุดเก็บเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน หัวเรือเปลี่ยนมาติดปืนกลขนาด 30 มม.ป้องกันตัวเองดีกว่าเดิม นี่คือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River River Batch 1 รุ่นปรับปรุงลำแรกและลำเดียว

เหล่าเต๊งที่สร้างขึ้นมาใหม่ยื่นเลยท้ายเรือออกไปเล็กน้อย เป็นการปรับปรุงง่ายๆ ราคาไม่แพง ไม่วุ่นวายกับส่วนอื่นของเรือ และเพิ่มเติมความอเนกประสงค์ให้เรือได้อย่างดีเยี่ยม

ภาพประกอบที่สองคือเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ OPV 552 แห่งราชนาวีไทย เป็นเรือลำแรกในโครงการ ‘The future of the RTN OPVs project’ ที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงไปแล้ว ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเรือไว้คร่าวๆ ดังนี้

1.ใช้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่หนึ่งหรือเรือหลวงกระบี่เป็นต้นแบบ

2.มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบและระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์

3.มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

พิจารณาตามภาพถ่ายเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์อย่างละเอียดแล้วพบว่า

-ใช้แบบเรือชั้น River Batch 2 รุ่นปรับปรุงเหมือนเรือหลวงกระบี่ ตรงตามคุณสมบัติข้อที่หนึ่ง

-มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบและระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ตรงตามคุณสมบัติข้อที่สอง

-มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์แต่ไม่มีโรงเก็บทุกขนาด เท่ากับว่าไม่ตรงคุณสมบัติข้อที่สาม

ผู้เขียนไม่กล้าวิจารณ์ว่าทำไมหรือเพราะเหตุอันใด เนื่องจากคุณสมบัติตามโครงการอาจเปลี่ยนแปลงได้

เหตุผลที่เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เพราะสร้างไม่ได้ ปรับปรุงไม่ได้ ไม่มีพื้นที่มากเพียงพอ อยากได้ต้องไปแบบเรือ 94m OPV ของบริษัท BAE Systems ที่บริษัทอู่กรุงเทพเคยนำแบบเรือมาโชว์ในงาน Defense & Security 2022 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2022 ที่อาคาร Challenger Hall 1-2 ศูนย์จัดแสดงสินค้า Impact เมืองทองธานี โดยใช้ชื่อว่าแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 94 เมตร

ทั้งโครงการ ‘The future of the RTN OPVs project’ และแบบเรือ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 94 เมตร ของบริษัทอู่กรุงเทพ ผู้เขียนเคยเขียนบทความเรียบร้อยแล้วอ่านทบทวนความจำตรงนี้เลยครับ

https://thaimilitary.blogspot.com/2023/06/the-future-of-rtn-opvs-project.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2022/09/krabi-class-94m-design.html

บทความนี้ไม่เกี่ยวข้อกับการเพิ่มโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ตามความต้องการราชนาวีไทย แต่เป็นโครงการศึกษาการปรับปรุงแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 2 ให้มีความอเนกประสงค์มากกว่าเดิม โดยการสร้างเหล่าเต๊งเหมือนเรือ HMS Clyde (P257)  ใช้เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และปรับปรุงลานจอดเฮลิคอปเตอร์เดิมเป็น Mission Bay หรือพื้นที่อเนกประสงค์ รองรับภารกิจเสริมต่างๆ ได้ใกล้เคียงแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่

ผู้เขียนถือวิสาสะตั้งชื่อแบบเรือเสริมเหล่าเต็งว่า เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 3’ เป็นแบบเรือ Case Study ที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพแนวคิดอย่างชัดเจน

แบบเรือ River Batch 3 V1

ภาพประกอบที่สามคือแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 3 V1 ผู้เขียนปรับปรุงจากเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลำจริง หัวเรือติดปืนใหญ่ขนาด 76 มม.จากอิตาลีจำนวน 1 กระบอก (ราคาปี 2016 กระบอกละ 370 ล้านบาท) กลางเรือติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.จากอังกฤษจำนวน 2 กระบอก (ราคาปี 2016 กระบอกละ 75 ล้านบาท) ระบบเรดาร์ยกมาจาก Thales ทั้งชุด ใช้ระบบอำนวยการรบ TACTICOS Baseline 2 ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ NS50 AESA เรดาร์เดินเรือ X-Band จำนวน 2 ตัว เรดาร์เดินเรือ X-Band จำนวน 1 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 จำนวน 1 ตัว ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ใช้ระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ VIGILE Mk2 R-ESM กับแท่นยิงเป้าลวง SKWS DL-12T ขนาด 12 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง

กลางเรือปรับปรุงใหม่โดยการเฉือนพื้นที่ใช้งานบางส่วนทิ้ง กลายเป็นพื้นที่ว่างติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4 นัด แล้วสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตันต่อจากปล่องระบายความร้อน จุดรับส่งเรือยางท้องแข็งสร้าง Superstructure ความสูงเท่าดาดฟ้าหัวเรือ ใช้เป็นจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งเหมือนเดิมและได้พื้นที่ใช้งานใต้ดาดฟ้าเรือเพิ่มขึ้น ทดแทนจุดที่ถูกเฉือนทิ้งหน้าปล่องระบายความร้อน ใต้ลานจอดคือห้องเครื่องยนต์ (ตำแหน่งเดิม) กับ Mission Bay พื้นที่อเนกประสงค์ ท้ายเรือมีที่ว่างวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้ 2 ใบ ใช้ราวกับตกแบบทืเชื่อมต่อกับ Mission Bay แบบเปิดโล่ง มีสะพานขึ้นเรือหรือ Gangway ที่กราบขวาจำนวน 1 ตัว

ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกองทัพเรือสเปนตามภาพล่าง แต่สร้าง Mission Bay แบบเปิดโล่งจะไม่ต้องใช้งานระบบปรับอากาศให้เปลืองพลังงาน เข้าร่วมโครงการรักษ์โลกที่ท่านนายกพีต้าให้ความสำคัญ

ภาพประกอบที่สี่คือแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 3 V1 เช่นเดียวกัน เปลี่ยนมาทำภารกิจเสริมวางทุ่นระเบิดสกัดกั้นกองเรือฝ่ายตรงข้าม ใช้ Mission Bay กับที่ว่างท้ายเรือบรรทุกทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ ได้ประมาณ 100-140 ลูก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานอาวุธหรืออากาศยานประจำเรือ

ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกองทัพเรือโปรตุเกสตามภาพล่าง สังเกตนะครับว่ามีการทำเครื่องหมายสำหรับวางรางปล่อยทุ่นระเบิดเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาใช้งานสามารถขนทุ่นระเบิดไปทิ้งจุดยุทธศาสตร์อย่างรวดเร็ว นอกจากผู้เขียนได้แนวคิดเรื่องการวางรางทุ่นระเบิด ผู้เขียนยังออกแบบเหล่าเต๊งโดยใช้เรือลำนี้แหละเป็นต้นแบบ เพราะฉะนั้นแบบเรือ River Batch 3 V1 ใช้งานจริงได้อย่างแน่นอน

ชี้แจงข้อดีต่างๆ ครบถ้วนแล้วต้องบอกข้อด้อยจากการปรับปรุงเรือด้วย

การสร้างเหล่าเต๊งทำให้อุปกรณ์ช่วยในการลงจอดกับห้องควบคุมอากาศยานหายไป ผู้เขียนจึงสร้างแท่นเล็กๆ ขึ้นมาบนปล่องระบายความร้อนกราบขวา (เหนือเครนแบบพับเก็บได้) ใช้เป็นจุดติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการลงจอดเลียนแบบเรือชั้น River Batch 2 กองทัพเรืออังกฤษ ต่างกันเล็กน้อยตรงที่เรืออังกฤษติดกราบซ้ายส่วน River Batch 3 ติดกราบขวา เพราะผู้เขียนวาดภาพเรือกราบขวาถ้านำไปใส่กราบซ้ายย่อมไม่มีใครเห็น

สำหรับห้องควบคุมอากาศยานคงทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใช้งานเหมือนเรือโปรตุเกสอันเป็นเรือต้นฉบับ

แบบเรือ River Batch 3 V2

          ภาพประกอบที่ห้าคือแบบเรือ River Batch 3 V2 ผู้เขียนใช้แบบเรือ V1 มาปรับปรุงแก้ไขเพียงนิดเดียว โดยการเจาะช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนลานจอดจำนวน 2 จุด กสามารถพลิกออกมาเพื่อวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ลงสู่ Mission Bay ที่ว่างท้ายเรือติดเครนแบบพับเก็บได้เพิ่มที่กราบขวา สำหรับยกยานอัตโนมัติสำรวจใต้น้ำหรือยานใต้น้ำไล่ล่าทุ่นระเบิดลงสู่ท้องทะเล รองรับภารกิจปราบทุ่นระเบิดหรือสำรวจทางอุทกศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกองทัพเรือแคนาดาในอนาคตตามภาพล่าง เพียงแต่เรือแคนาดามี Mission Bay บริเวณกราบขวากลางเรือ และใช้เครนเดวิดในการยกอุปกรณ์ต่างๆ บริเวณท้ายเรือ

ภาพประกอบที่หกคือแบบเรือ River Batch 3 V2 เช่นเดียวกัน เปลี่ยนมาทำภารกิจตรวจสอบเรือประมงกับเรือพาณิชย์ต่างชาติจำนวนมาก ที่ว่างท้ายเรือบรรทุกเรือยางท้องแข็งขนาด 4.5 เมตรเพิ่มเข้ามาอีก 1-2 ลำ เป็นออปชันเสริมที่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่จำนวนมากมีให้กับลูกค้า ผู้เขียนใส่เข้ามาบนเรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 3  V2 โดยไม่ต้องจ่ายเงินปรับปรุงเรือให้ปวดกระดองใจ เพียงแต่เรือยางท้องแข็งที่เพิ่มเข้ามาขนาดไม่ใหญ่เท่าไร เหมาะสมกับการใช้งานเป็นเรือลำที่สามลำที่สี่มากกว่าเรือลำที่หนึ่ง

ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกองทัพเรือแคนาดาในอนาคตตามภาพล่างเช่นเดียวกัน เพียงแต่เรือแคนาดาใช้ระบบ Cube System ในการรับส่งเรือด้วยระบบอัตโนมัติ ส่วนเรือผู้เขียนใช้เครนพับเก็บได้ในการรับส่งเรือด้วยระบบอัตโนมือ

แบบเรือ River Batch 3 V3


          ภาพประกอบที่เจ็ดคือแบบเรือ River Batch 3 V3 สร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยาวลายบั้นท้ายเรือเล็กน้อย ห้องเครื่องยนต์ถูกยกขึ้นมาเหนือดาดฟ้าเชื่อมโยงกับปล่องระบายความร้อน ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการลงจอดกับห้องควบคุมอากาศยานเหมือนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ Mission Bay ใต้ลานจอดวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้ 2 ใบ ท้ายเรือเหลือพื้นที่ว่างสำหรับทำโน่นนั่นนี่ได้อีกนิดหน่อย

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ HMS Clyde (P257) ของอังกฤษ นำมาผสมกับแบบเรือ 94m OPV ของบริษัท BAE Systems ที่สร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เชื่อมโยงกับปล่องระบายความร้อน ฉะนั้นห้องเครื่องยนต์กับห้องควบคุมอากาศยานที่ผู้เขียนจงใจยกขึ้นมาย่อมเชื่อมโยงได้เช่นกัน

สังเกตนะครับว่าจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ ผู้เขียนหยิบดีไซน์แบบเรือ 94m OPV มาใช้บนเรือ Batch 3 ข้อดีของแบบเรือ V3 คือสวยกว่า V1 และ V2 มีพื้นที่ใช้งานภายในตัวเรือมากกว่าเดิม ส่วนข้อเสียประกอบไปด้วยราคาแพงกว่ากัน ต้องปรับปรุงแบบเรือมากกว่า เสียค่าใช้จ่ายในการทดสอบแบบเรือมากกว่า

แบบเรือ River Batch 3 V4

          ภาพประกอบที่แปดคือแบบเรือ River Batch 3 V4 ผู้เขียนใช้แบบเรือ V4 มาปรับปรุงแก้ไขเพียงนิดเดียว โดยการสร้างจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตรที่บั้นท้ายเรือตรงกลาง เพิ่มเรือเล็กลำที่สามซึ่งมีขนาดใหญ่โตที่สุดเข้ามา ที่ว่างกราบซ้ายกราบขวานอกจากใช้ผูกเชือกเรือยังสามารถทำภารกิจอื่นได้ อาทิเช่นปล่อยยานอัตโนมัติสำรวจใต้น้ำหรือปล่อยทุ่นระเบิด ติดเครนแบบพับเก็บได้หรือรอกยกของเพิ่มเติมได้

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์กองทัพเรือปากีสถาน พื้นที่อเนกประสงค์ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์จะลอกการบ้านเรือลำนี้ (แต่อุปกรณ์เกะกะที่เห็นในภาพให้เข้าที่เข้าทาง) โดยการติดตั้งเสาค้ำลานจอดจำนวน 4 แถวเหมือนภาพประกอบ วางรางปล่อยทุ่นระเบิดได้จำนวน 3 รางแบบหลวมๆ บังเอิญแบบเรือ V4 แบ่งพื้นที่ตรงกลางให้กับจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตร เท่ากับว่าสามารถติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดได้เพียง 2  ราง

แบบเรือ River Batch 3 V5

          ภาพประกอบที่เก้าคือแบบเรือ River Batch 3 V5 ผู้เขียนใช้แบบเรือ V3 มาปรับปรุงแก้ไขเพียงนิดเดียว โดยการสร้างจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตรที่บั้นท้ายเรือตรงกลาง เพิ่มเรือเล็กลำที่สามซึ่งมีขนาดใหญ่โตที่สุดเข้ามา ใต้ลานจอดวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้ 2 ใบ

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์กองทัพเรือบรูไน แบบเรือ V5 ถือเป็นตัวท๊อปติดออปชันมากที่สุด ราคาแพงที่สุด โดยมีข้อเสียความอเนกประสงค์น้อยที่สุดในตระกูล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้าได้พิจารณา

          เห็นแบบเรืออเนกประสงค์น้อยที่สุดกันไปแล้ว ลำถัดไปคือแบบเรืออเนกประสงค์มากที่สุด

 แบบเรือ River Batch 3 V6

          ภาพประกอบที่สิบคือแบบเรือ River Batch 3 V6 ผู้เขียนใช้แบบเรือ V1 มาปรับปรุงแก้ไขเพียงนิดเดียว โดยการติดตั้งเครนขนาดใหญ่แทนเครนแบบพับเก็บได้ที่กราบขวา ยกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตขึ้นมาวางบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ได้ และเหลือที่ว่างให้เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กบินขึ้นลงได้ ท้ายเรือกราบขวาติดตั้งเครนแบบพับเก็บได้จำนวน 1 ตัว อุปกรณ์ช่วยในการลงจอดย้ายไปติดบนปล่องระบายความร้อนกราบซ้าย

          แบบเรือ V6 ทำภารกิจเสริมได้อย่างหลากหลายไปพร้อมกัน อาทิเช่นใช้ Mission Bay บรรทุกทุ่นระเบิดจำนวน 100-140 ลูก ใช้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทำภารกิจปราบทุ่นระเบิด หรือเปลี่ยนมาทำภารกิจวางทุ่นระเบิดแบบเต็มลำ โดยบรรทุกทุ่นระเบิดบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพิ่มจำนวน 60-90 ลูก แล้วใช้เครนใหญ่กราบขวาเรือยกทุ่นระเบิดลงสู่น้ำ โดยมีข้อแม้การวางทุ่นระเบิด 160-230 นัดอาจมีความล่าช้านิดหน่อย

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์กองทัพเรือออสเตรเลีย ขออนุญาตเรียกชื่อเล่นแบบเรือ V6 ว่าพี่เครนใหญ่ เป็นแบบเรือที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด เพราะฉะนั้นของแปลกแหวกแนวจะถูกใส่เข้ามาบนเรือลำนี้

          ภาพประกอบที่สิบเอ็ดคือแบบเรือ River Batch 3 V6 เช่นเดียวกัน ติดระบบป้องกันภัยทางอากาศ C-Dome จากอิสราเอล ประกอบไปด้วยห้องควบคุมในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ พร้อมเรดาร์ตรวจจับเป้าหมาย AESA จำนวน 4 ตัวกับกล้องออปโทรนิกส์อีก 1 ตัว และแท่นยิงแนวดิ่งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Iron Dome จำนวน 20 ท่อยิงที่ท้ายเรือ และเหลือที่ว่างให้เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กบินขึ้นลงในแนวเฉียง 45 องศาได้

          Iron Dome หนึ่งนัดราคา 100,000-150,000 เหรียญ เทียบกับ ESSM ราคานัดละ 1 ล้านเหรียญถูกกว่ากันไม่รู้กี่เท่า ยิงเป้าหมายบนอากาศได้ทุกชนิดยกเว้นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบบินเรี่ยนำ ถ้าใช้งานถูกประเภทจะสามารถคุ้มกันกองเรือจากภัยคุกคามทางอากาศได้อย่างยอดเยี่ยมกระเทียมเจียว

          ชมแบบเรือรุ่นป้องกันภัยทางอากาศไปแล้ว ลำถัดไปคือแบบเรือรุ่นปราบเรือดำน้ำ

          ภาพประกอบที่สิบสองคือแบบเรือ River Batch 3 V6 เช่นเดียวกัน ติดตั้งระบบ ASW Warfare Cube System ไว้ที่ท้ายเรือ โดยการใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตในพื้นที่ตรงกลาง ขนาบสองข้างด้วยแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่นแฝดสอง ในตู้คอนเทนเนอร์แบ่งพื้นที่ด้านหน้าใช้เป็นห้องควบคุม พื้นที่ด้านหลังติดตั้งโซนาร์ลากท้ายขนาดเล็กแต่ทรงประสิทธิภาพ ค้นหาเป้าหมายใต้น้ำได้ทั้งโหมด Active และ Passive

          แนวคิดนี้บริษัท SH Defence ประเทศเดนมาร์กกำลังพัฒนาให้เป็นจริง ระบบโซนาร์อาจไม่เป็นไปตามที่ผู้เขียนกำหนดก็ได้ ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตว่าของจริงจะเป็นเช่นไร

บทสรุป

          เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง River Batch 3 เป็นแบบเรือ Case Study ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเรือรุ่นใหม่ ให้ตรงความต้องการกองทัพเรือหรือลูกค้ามากที่สุด อาจพัฒนาเป็นเรือหรือเปลี่ยนไปใช้แบบเรือที่ดีกว่าทันสมัยกว่า ประเทศที่สามารถสร้างเรือรบได้ด้วยตัวเองถือเป็นเรื่องปรกติ กว่าจะสร้างเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ เรือฟริเกต หรือเรือพิฆาตได้สักลำ ต้องมีแบบเรือ Case Study จำนวนพอสมควรเป็นแนวทาง

          ผู้เขียนหวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีแบบเรือ Case Study เช่นกัน

                                        +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

www.shipbucket.com

http://milmae.net/go/2896

https://web.facebook.com/photo/?fbid=366293442196254&set=pcb.366294735529458

https://barcoavista.blogspot.com/2009/07/navios-de-patrulha-oceanico-classe.html

https://twitter.com/SHDefence/status/1663612529153658881

https://twitter.com/SHDefence/status/1664257130629672961

https://www.damen.com/vessels/defence-and-security/opv?view=overview

https://www.youtube.com/watch?v=BtbK5xoAYsw

 

 

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566

The future of the RTN OPVs project

 

บทนำ

การสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ..2554 และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อรองรับบทบาทและหน้าที่กองทัพเรือในด้านการปฏิบัติการทางทหารในการป้องกัน ประเทศ การรักษากฎหมาย และการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีขีดความสามารถในการ ลาดตระเวนตรวจการณ์รักษาฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและ คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และการรักษากฎหมายในทะเล ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ขอบเขตของโครงการเป็นการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จำนวน 1 ลำ ในวงเงินรวม 2,931,285,844 บาท ระยะเวลาการดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ถึง 2555

โครงการนี้ใช้อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ เป็นสถานที่ก่อสร้าง ต่อมาในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เรือหลวงกระบี่ OPV-551 เข้าประจำการสังกัดหมวดเรือที่ 1 กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 3 ของราชนาวีไทย และเป็นเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างในประเทศไทย

2,931.28 ล้านบาทได้เรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2 ขนาด 1,969 ตัน ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ

ความสำเร็จจากโครงการการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ที่แม้พบเจออุปสรรคมากมายจนทำให้การสร้างเรือเกิดความล่าช้า ทว่ากองทัพเรือค่อนข้างชื่นชอบมากเป็นพิเศษ โครงการ ‘The future of the RTN OPVs project’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเพิ่มเติมทดแทนเรือเก่าใกล้ปลดประจำการ

คุณสมบัติเรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่

          ภาพประกอบที่หนึ่งผู้เขียนเจอใน Thaifighterclub.org เมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เป็นข้อมูลเอกสารนำเสนอโครงการ The future of the RTN OPVs project อันมีรายละเอียดน่าสนใจประกอบไปด้วย

1.ใช้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่หนึ่งหรือเรือหลวงกระบี่เป็นต้นแบบ

2.มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบและระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์

3.มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

          ความต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอยู่ที่ 3 ลำ เข้ามาประจำการทดแทนเรือหลวงปิ่นเกล้าซึ่งเข้าประจำการปี 1944 เรือหลวงคีรีรัฐซึ่งเข้าประจำการปี 1970 และเรือหลวงมกุฎราชกุมารซึ่งเข้าประจำการปี 1973

          ข้อมูลจากเอกสารทำให้ผู้เขียนแปลกใจเล็กน้อย เพราะเรือหลวงคีรีรัฐเข้าประจำการปี 1974 ส่วนเรือหลวงตาปีเรือฝาแฝดเข้าประจำการปี 1971 แต่ก็เอาเถอะคนทำเอกสารอาจลงข้อมูลผิดพลาดเรื่องนี้ไม่ว่ากัน สิ่งที่ผู้เขียนต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็คือ โครงการนี้นับรวมเรือหลวงตาปีด้วยหรือไม่

1.ถ้ามีเรือหลวงตาปี เท่ากับกองทัพเรือจัดหาเรือใหม่ทดแทนเรือเก่าอัตราส่วน 3 ต่อ 4

          2.ถ้าไม่มีเรือหลวงตาปี เท่ากับกองทัพเรือจัดหาเรือใหม่ทดแทนเรือเก่าอัตราส่วน 3 ต่อ 3

          ถ้าเป็นไปตามข้อ 2 ผู้อ่านอาจนึกสงสัยอย่างรุนแรงว่า อ้าวแล้วเรือหลวงตาปีหายไปไหน?

          คำตอบก็คือเรือหลวงตาปีถูกทดแทนด้วยเรือหลวงกระบี่เรียบร้อยแล้ว

          แต่ถ้าเป็นไปตามข้อ 1 เรือหลวงตาปียังอยู่ในรายชื่อเรือที่ถูกทดแทนตามโครงการ

เนื่องจากผู้เขียนไม่ใช่ทหารเรือไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จึงตัดสินใจตั้งสมมุติฐานเป็นไปตามข้อ 1  

ชมภาพประกอบที่สองกันต่อ นี่คือรายละเอียดการพัฒนาโครงการตามความต้องการกองทัพเรือ ภาพซ้ายบนคือระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM ทำงานร่วมกับระบบเป้าลวงรุ่นใหม่ทันสมัย ภาพซ้ายล่างคืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ ส่วนภาพขวามือคือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์บนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นหลวงปัตตานี อันเป็นสิ่งที่กองทัพเรือต้องการบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่

          เมื่อกำหนดรายละเอียดชัดเจนขั้นตอนถัดไปคือการเดินหน้า โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เฉลิมพระเกียรติฯ ถูกจัดตั้งขึ้นมา ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 – 2561 ระยะที่ 1 จัดหาเฉพาะตัวเรือจำนวน 1 ลำ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2558 – 2561 ระยะที่ 2 จัดหาระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ รวมทั้งระบบอาวุธ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2559 – 2561

วันที่ 27 กันยายน 2562 เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ OPV-552 เข้าประจำการเข้าประจำการสังกัดหมวดเรือที่ 1 กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 4 ของราชนาวีไทย และเป็นเรือตรวจการณ์ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบลำแรกที่เคยสร้างในประเทศไทย ราคาสร้างเรือระยะที่ 1 กับระยะที่ 2 รวมกันเท่ากับ 5,428,9300,000 บาท

ภาพประกอบที่สามคือการเปรียบเรือหลวงกระบี่ราคา 2,931.28 ล้านบาท (ภาพบน) กับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ราคา 5,428.93 ล้านบาท (ภาพล่าง) จ่ายเงินเพิ่ม 2,497.65 ล้านบาทสิ่งที่ได้เพิ่มหลักๆ มีดังนี้


1.ปรับปรุงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ให้มีขนาดเท่าแบบเรือ River Batch 2 ของแท้จากอังกฤษ รองรับการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตัน ขณะที่เรือหลวงกระบี่มีตัดทอนความยาวลานจอดท้ายเรือสั้นกว่าเดิม รองรับการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 7 ตัน

นี่คือการปรับปรุงโดยการไม่ปรับปรุง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Back to Basic อะไรประมาณนี้

2.ออกแบบโครงสร้าง Superstructure ด้านหลังปล่องระบายความร้อน รองรับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวนมากสุด 8 นัด

แบบเรือ River Batch 2 ไม่รองรับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ แต่เราต้องการติดจำเป็นต้องโมดิฟายกันสักเล็กน้อย ปัญหาตามมาก็คือบริเวณสองกราบเรือตรงจุดติดตั้ง Harpoon ถูกออกแบบให้เป็นจุดวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุต เมื่อมี Harpoon เพิ่มเติมเข้ามาตรงนั้นพอดิบพอดี การวางตู้คอนเทนเนอร์เพื่อทำภารกิจเสริมจึงทำได้อย่างลำบากหรือทำไม่ได้เลย

ปัจจุบันกองทัพเรือยังไม่มีตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ใช้งาน พื้นที่จุดนั้นใช้วิธีกางเต็นท์ผ้าใบป้องกันแสงแดดตามปรกติ เท่ากับว่าการติดตั้ง Harpoon ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานเรือ แต่ถึงกระนั้นก็ตามวันใดวันหนึ่งถ้ากองทัพเรือเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แนวคิดใหม่อย่างตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ถูกจัดหามาใช้งาน ถึงตอนนี้ผู้การเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์จะมีปัญหาให้ปวดหัวเล่น

ได้ Harpoon เสียตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ นี่คือราคาที่เราต้องจ่ายในการปรับปรุงเรือ

3.ปรับฐานแท่นเครื่องจักรใหญ่และระบบที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถรองรับการใช้งานเครื่องจักรรุ่นใหม่

4.จัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block 2 จากอเมริกามาใช้งานในวงเงิน 360 ล้านบาท

งบประมาณ 2,497.65 ล้านบาทหลักๆ ได้เพิ่มเท่านี้ ถามว่าแพงไหมผู้เขียนตอบทันทีว่าไม่แพง เพราะรายละเอียดการจัดหาแสดงข้อมูลไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าคุณลักษณะเรือข้อที่ 3 ตามโครงการ The future of the RTN OPVs project กำหนดไว้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า ต้องมีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

โครงการบอกว่าต้องมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ แต่เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ราคาที่เพิ่มขึ้น 2,497.65 ล้านบาทแพงขึ้นทันตาเห็น รวมทั้งมีข้อเปรียบเทียบตามมาทันทีทันควัน

ถ้ากองทัพเรือเพิ่มงบประมาณอีก 433.63 ล้านบาท จะสามารถสร้างเรือหลวงกระบี่ได้ถึง 2 ลำ

จริงอยู่ค่าเงินเฟ้ออาจสูงขึ้น ค่าแรงอาจมากขึ้น ราคาอุปกรณ์อาจแพงขึ้น แต่การสร้างเรือพร้อมกัน 2 ลำถูกกว่าสร้างเรือครั้งละ 1 ลำ ส่งผลให้ราคาสร้างเรือใกล้เคียงของเดิมหรือแตกต่างกันเล็กน้อย

ช่วงเวลาที่เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ยังสร้างไม่เสร็จ ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องการติดตั้งโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์รุ่นพับได้ พิจารณาตามข้อเท็จจริงพบว่ามีปัญหาค่อนข้างเยอะ เนื่องจากถึงเป็นรุ่นรุ่นพับได้ก็ยังเกะกะและสูงอยู่ดี โรงเก็บจะบังอุปกรณ์ช่วยในการลงจอดกับห้องควบคุมอากาศยานจนใช้งานไม่ได้ รวมทั้งกินพื้นที่จนอาจทำให้เฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันลงจอดไม่ได้ จากข้อมูลทั้งหมดสามารถสรุปความได้ว่า การติดตั้งโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์บนแบบเรือ River Batch 2 เป็นไปไม่ได้เลย

เมื่อหลวงประจวบคีรีขันธ์เข้าประจำการอย่างเป็นทางการ เท่ากับว่าโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลสำเร็จไปแล้ว 1 ลำจาก 3 ลำ กองทัพเรือสามารถปลดประจำการเรือเก่าได้ไม่เกิน 2 ลำ อันเป็นที่มาของการจากไปอย่างเงียบกริบของเรือหลวงตาปี รวมทั้งอาจเป็นที่มาของการจากไปของเรือหลวงคีรีรัฐในอนาคตไม่ไกล

กลับมาที่โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเพิ่มอีก 2 ลำ ในเมื่อแบบเรือ River Batch 2 จากอังกฤษไม่ตอบสนองความต้องการ กองทัพเรือจำเป็นต้องโบกมือลาแล้วหันมาเลือกแบบเรือมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

แบบเรือที่เหมาะสมกับโครงการมีมากมายหลายบริษัท ผู้เขียนหลับตาสุ่มเลือกจากกล่องนำโชคของตัวเอง ปรากฏว่าจับได้ของดีของเด็ดจากเจ้าพ่อเรือตรวจการณ์อันดับหนึ่งจากเนเธอร์แลนด์

หมายเหตุ : ราคาเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ผู้เขียนยึดถือจากโฆษกกองทัพเรือซึ่งแถลงข่าวในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เสียดายก็แต่ท่านโฆษกไม่ลงรายละเอียดโครงการเรือหลวงกระบี่ ส่งผลให้ผู้เขียนไม่สามารถเล่นท่าแปลกมากไปกว่านี้ ทำได้เพียงนำตัวเลขมาบวกลบง่ายๆ ในการเขียนบทความ

เรือคอร์เวตชั้น Yarmook

ระหว่างปี 2017 รัฐบาลปากีสถานเซ็นสัญญากับบริษัท Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น OPV 1900 จำนวน 2 ลำ ในการสั่งซื้อกองทัพเรือปากีสถานขอปรับปรุงแบบเรือเพิ่มเติม ส่งผลให้ขนาดเรือใหญ่กว่าเดิมจาก 1,900 ตันเป็น 2,300 ตัน รวมทั้งถูกกำหนดให้เป็นเรือคอร์เวตอย่างเป็นทางการ

          อู่ต่อเรือ Damen ในโรมาเนียรับผิดชอบโครงการ เรือลำที่หนึ่ง PNS Yarmook F-271 ทำพิธีปล่อยลงน้ำเดือนพฤษภาคม 2019 เข้าประจำการเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เรือลำที่สอง PNS Tabuk F-272 ทำพิธีปล่อยลงน้ำเดือนกันยายน 2019 เข้าประจำการเดือนพฤศจิกายน 2020 ราคาเรืออยู่ที่ประมาณ 75-90 ล้านเหรียญ หรือ 2,609-3,131 ล้านบาท เพราะเป็นเรือเปล่ามีแค่เพียงเรดาร์เดินเรือ 2 ตัวเหมือนเรือหลวงช้าง

          เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ราคาเรือเปล่า 2,650 ล้านบาท ส่วนเรือคอร์เวตชั้น Yarmook ราคาเรือเปล่า 2,609-3,131 ล้านบาท ถือว่าไม่ห่างกันเท่าไหร่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

หลังจากสร้างเรือให้ปากีสถานครบทั้งสองลำ บริษัท Damen  นำแบบเรือ OPV 1900 รุ่นปรับปรุงมาวางขายอย่างเป็นทางการ โดยไม่ลืมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น OPV 2200 Military เรือมีระวางขับน้ำปรกติ 1,915 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,200 ตัน ยาว 91.22 เมตร กว้าง 14 เมตร กินน้ำลึกสุด 3.97 เมตร ระบบขับเคลื่อน CODAD ใช้เครื่องยนต์ดีเซล Caterpillar 3516E จำนวน 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 22.5 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็วเดินทาง ออกทะเลนานสุด 30 วัน ใช้ลูกเรือ 79 นาย มีห้องพยาบาลพร้อมเตียงผ่าตัด 3 เตียง

ภาพประกอบที่สี่คือกราบขวาเรือคอร์เวต PNS Tabuk F-272 หัวเรือมีจุดติดปืนกลอัตโนมัติขนาดไม่เกิน 40 มม. สะพานเดินเรือสร้างระเบียงตีโป่งออกมาจากตัวเรือ หลังคาสะพานเดินเรือมีปืนฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวน 2 กระบอก เสากระโดงเรือค่อนข้างโล่งเพราะยังไม่ได้ติดเรดาร์ตรวจการณ์ บริเวณกลางเรือยกสูงระดับดาดฟ้าเรือชั้นสอง มีจุดติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4-8 นัด (แล้วแต่ขนาดอาวุธ) ถัดไปเล็กน้อยคือปล่องระบายความร้อนคู่กับจุดติดตั้งเสาสัญญาณระบบสื่อสาร หลังปล่องระบายความร้อนกราบขวาติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx กองทัพเรือปากีสถานถอดออกมาจากเรือฟริเกตปลดประจำการของตัวเอง

          ใต้ Phalanx คือสะพานขึ้นเรือหรือ Gangway ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์คือจุดปล่อยแพชูชีพหรือ LIFERAFT จำนวน 5 ตัว ลานจอดท้ายเรือถูกหั่นออกไปเล็กน้อย เป็นดีไซน์ที่ค่อนข้างแปลกแต่มีเหตุผล


          ภาพประกอบที่ห้าคือกราบซ้ายเรือคอร์เวต PNS Tabuk F-272 หน้าสะพานเดินเรือมีเสาขนาดเล็กผู้เชือกโยงมาถึงเรือยางท้องแข็งหลังปล่องระบายความร้อน ทำหน้าที่ประคองหัวเรือไม่ให้หมุนเคว้งคว้างระหว่างปล่อยเรือ สะพานเดินเรือรูปทรงแปดเหลี่ยมมุมมอง 320 องศา จุดติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบค่อนข้างกว้างขวาง มีจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรฝั่งตรงข้าม Phalanx ที่อยู่ด้านล่างคือจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งลำที่สาม มีผ้าใบกันน้ำสีอ่อนจำนวน 4 ผืนปิดบังไว้อย่างมิดชิด

          ภาพนี้มองเห็นชัดเจนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ค่อนข้างสั้น ข้อมูลจากบริษัท Damen ระบุว่ายาวเพียง 12 เมตร รองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 5.5 ตัน โดยมีภาพเฮลิคอปเตอร์ Z-9 จากประเทศจีนจอดอยู่ในโบรชัวร์

          ทำไมแบบเรือรุ่นใหม่รองรับเฮลิคอปเตอร์ไม่เกิน 5.5 ตัน? ทั้งที่แบบเรือ OPV 1800 รุ่นเก่าซึ่งมีระวางขับน้ำน้อยกว่าความยาวน้อยกว่า กลับมีลานจอดขนาดใหญ่รองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 11 ตัน

          คำตอบผู้เขียนระบุไว้นานแล้ว OPV 2200 Military คือแบบเรือรุ่น Custom ถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการกองทัพเรือปากีสถาน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ถูกหั่นสั้นลงเพราะลูกค้าต้องการพื้นที่เพิ่มเติม นอกจากใช้เป็นจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตรจำนวน 1 ลำ สองกราบเรือยังเหลือที่ว่างทำภารกิจเสริมได้ อาทิเช่นใช้เป็นจุดปล่อยยานใต้น้ำไร้คนขับ โซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิด หรือยานใต้น้ำไล่ล่าทุ่นระเบิด

ทีเด็ดเจ้าพ่อเรือตรวจการณ์อันดับหนึ่ง

          แม้แบบเรือ OPV 2200 Military จะถูกปรับปรุงตามความต้องการลูกค้าเอเชียใต้ ทว่าบริษัท Damen ไม่ลืมติดตั้งออปชันเสริมของตัวเองเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้เรือมีความอเนกประสงค์ทำภารกิจได้อย่างหลากหลาย ภาพประกอบที่หกอธิบายข้อดีต่างๆ บนเรือลำนี้ไว้อย่างชัดเจน

         

          ขวาสุดคือโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก อาทิเช่น ScanEagle หรือ S-100 สังเกตนะครับว่าหลังคาค่อนข้างสูง ตรงนี้ใช้เป็นจุดติดตั้งอาวุธบริเวณท้ายเรือ ถัดมาตรงกลางคือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 11 ตัน อาทิเช่น NH-90 หรือ S-70B หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ความสูงเท่าจุดติดอาวุธกราบขวา ซ้ายสุดคือห้องควบคุมอากาศยานกับทางเดินเข้าสู่ตัวเรือและห้องเก็บอุปกรณ์ หลังคาค่อนข้างเตี้ยเพราะด้านบนใช้เป็นจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตร

          ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์คือพื้นที่อเนกประสงค์หรือ Mission Bay บนลานจอดมีช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวน 2 จุด สามารถพลิกออกมาเพื่อวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ลงสู่ Mission Bay ผู้เขียนลืมเขียนถึงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวน 2 กระบอก ติดอยู่เหนือโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับกับห้องควบคุมอากาศยาน พื้นที่ว่างบนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ใช้เป็นจุดติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการลงจอด

          จากภาพประกอบทำให้ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยว่า ถอดเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรออกแล้วสร้างจุดติดตั้งอาวุธเพิ่มเข้ามา จะสามารถติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.เพิ่มเป็น 2 กระบอก โดยที่เรือยังมีเรือยางท้องแข็งไว้ใช้งานจำนวน 2 ลำ ปรับปรุงเรือแบบนี้น่าจะดีกว่าเหมาะสมกว่าใช่หรือไม่?

ภาพประกอบที่เจ็ดคือคำตอบชัดเจน บริเวณกราบขวาเรือใต้จุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตร คือทางขึ้นเรือกับจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งลำที่สาม ข้อมูลจากโบรชัวร์บอกแค่เพียงใช้เรือ Rescue Boat ยี่ห้อ SOLAS  ผู้เขียนนำภาพเรือมาเปรียบเทียบจนพบว่าเป็นรุ่น RIBO 450 ซึ่งมีความยาว 4.5 เมตร กว้าง 1.9 เมตร บรรทุกคนได้มากสุด 6 คน ใช้เครื่องยนต์ขนาด 25-40 แรงม้า น้ำหนักเรือ 595 กิโลกรัม น้ำหนักรวมสูงสุด 1.5 ตัน

RIBO 450 ขนาดใกล้เคียงเรือยางท้องแข็งบนเรือหลวงแหลมสิงห์ ใช้งานในเขตน้ำตื้นไม่ไกลจากชายฝั่งได้ตามปรกติ แต่ถ้าบังเอิญเรืออยู่ห่างฝั่ง 100 ไมล์ทะเลเต็มไปด้วยคลื่นลมแรง นำ RIBO 450 แล่นมาตรวจสอบเรือน้ำมันที่บังเอิญเครื่องยนต์มีปัญหา ระหว่างเดินทางความเล็กของเรืออาจสร้างอันตรายให้เจ้าหน้าที่

ถ้ากองทัพเรือซื้อเรือมาใช้งานเป็นเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี งานหลักคือปกป้องน่านน้ำจากกำลังทางเรือไม่ทราบฝ่าย เปลี่ยนเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรเป็นปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.กระบอกที่สองถือว่าเหมาะสม

ถ้ากองทัพเรือซื้อเรือมาใช้งานเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ภารกิจหลักคือลาดตระเวนตรวจการณ์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องมีเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรตามเดิม

การติดตั้งเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรสร้างปัญหาเล็กน้อย เรื่องที่หนึ่งเสาเครนเดวิดโผล่ขึ้นมานิดหน่อย บังมุมยิงปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.จากกราบขวาประมาณ 2 องศา เรื่องที่สองยิงเป้าหมายใกล้กราบซ้ายเรือไม่ถนัดหรือทำไม่ได้เพราะปืนอยู่กราบขวา เท่ากับว่าเรือมีจุดบอดค่อนข้างชัดเจน ปัญหามุมยิงบริษัท Damen มองเห็นเช่นเดียวกัน จึงได้ต่อเติมระเบียงรูปทรงครึ่งวงกลมถัดจากเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตร ใช้เป็นจุดติดปืนกลขนาด 12.7 มม.ปิดจุดบอดบริเวณกราบซ้ายท้ายเรือ อาจไม่ดีเทียบเท่าปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.กระบอกที่สอง แต่ดีเพียงพอในการป้องกันตัวจากเรือยางท้องแข็งติดระเบิดหรือยานผิวน้ำไร้คนขับติดระเบิด

          รู้จักแบบเรือ OPV 2200 Military ทุกซอกทุกมุมครบถ้วนแล้ว ถึงเวลาที่ผู้เขียนจะปรับปรุงเรือให้น้อยที่สุด เพื่อความเหมาะสมกับโครงการ The future of the RTN OPVs project แห่งราชนาวีไทย

OPV 2200RTN Military

          เนื่องจากผู้เขียนไม่มีเวลาวาดภาพเรือด้วยตัวเอง จำเป็นต้องค้นหาภาพวาดเพื่อนสมาชิก shipbucketeer มาใช้งานในบทความ จากการค้นหาใน www.shipbucket.com พบภาพวาดเรือ OPV 2200 Military จำนวน 2 ลำ เรือลำที่หนึ่งสวยถูกใจเป็นอย่างยิ่ง แต่เรือค่อนข้างอ้วนท้วนสมบูรณ์ รูปทรงค่อนข้างผิดเพี้ยน อุปกรณ์หลายอย่างไม่ตรงข้อเท็จจริง ส่วนเรือลำที่สองรูปทรงถูกต้อง อุปกรณ์ถูกต้อง ทว่าเรือค่อนข้างเจ้าเนื้อเช่นเดียวกัน

          ผู้เขียนนำภาพวาดเรือทั้งสองลำมาลดความอ้วนให้ใกล้เคียงของจริง แล้วตัดสินใจเลือกเรือลำที่สองซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่า ภาพประกอบที่แปดคือการเปรียบเทียบแบบเรือ OPV 2200 Military จากโบรชัวร์ (ลำบน) กับแบบเรือ OPV 2200RTN Military (ลำล่าง) ที่ผู้เขียนปรับปรุงเพื่อนำเสนอในบทความ


อย่างที่เคยบอกไปผู้เขียนต้องการปรับปรุงเรือน้อยที่สุด ข้อแตกต่างระหว่าง OPV 2200 Military กับ OPV 2200RTN Military อยู่ที่ท้ายเรือเพียงจุดเดียว การติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์ใช้มาตรฐานราชนาวืไทย ปืนหลักหัวเรือขนาด 76 มม.จากอิตาลี บริษัท Damen เจ้าของแบบเรือยืนยันว่าสามารถติดได้ ระบบอำนวยการรบ เรดาร์ควบคุมการยิง และกล้องตรวจการณ์ระยะไกลใช้เหมือนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ บนเสากระโดงเปลี่ยนเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales Variant เป็นเรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติรุ่นใหม่ทันสมัย  

หลังคาสะพานเดินเรือมีปืนฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวน 2 กระบอก ระเบียงสะพานเดินเรือมีจุดติดปืนกล 12.7 มม.กับอุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนระยะไกล 1000RX LRAD พื้นที่ว่างกลางเรือติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบขนาด 4 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง สลับกับแท่นยิงเป้าลวงขนาด 12 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง (แท่นยิงอาวุธปล่อยอยู่กราบซ้ายแท่นยิงเป้าลวงอยู่กราบขวา แท่นยิงอาวุธปล่อยอยู่กราบขวาแท่นยิงเป้าลวงอยู่กราบซ้าย) โดยไม่ลืมหันทิศทางแท่นยิงไปในทางเดียวกัน วิธีการนี้ผู้เขียนลอกการบ้านจากเรือฟริเกตชั้น FREMM ประเทศอิตาลี

จุดติดอาวุธกราบขวาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สำหรับปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.จากอังกฤษ ติดออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงไว้บนป้อมปืนตัดปัญหาทั้งหมดทั้งปวง กราบซ้ายโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์คือเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตร ต่อเติมลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยาวถึงท้ายเรือ รองรับรองรับการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตัน ใต้ลานจอดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์หรือ Mission Bay กับจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตร ติดปืนกล 12.7 มม.ปิดจุดบอดบริเวณท้ายเรือ มีปืนฉีดน้ำแรงดันสูงขนาบโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์อีก 2 กระบอก

การต่อเติมลานจอดเฮลิคอปเตอร์ส่งผลให้ท้ายเรือหนักขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบกับการใช้งานเรือมีขนาด 2,200 ตันสักเท่าไหร่ รวมทั้งมีปืนใหญ่ 76 มม.กับคลังกระสุนหนัก 8 ตันช่วยถ่วงอยู่ที่หัวเรือ แบบเรือ OPV 2200RTN Military จาก บริษัท Damen ตรงตามความต้องการและน่าสนใจค่อนข้างมาก


ภาพประกอบที่เก้าผู้เขียนสร้างแบบเรือ OPV 2200RTN Military จำนวน 2 รุ่นให้เปรียบเทียบ แบบเรือ V1 ลำบนใช้ระบบ THALES ทั้งลำเหมือนเรือชั้น River Batch 2 คุณลักษณะของเรือประกอบไปด้วย

คุณสมบัติทั่วไป:

ระวางขับน้ำปรกติ: 1,948 ตัน

ระวางขับน้ำเต็มที่: 2,250 ตัน

ยาว: 91.22 เมตร

กว้าง: 14 เมตร

กินน้ำลึกสุด: 3.97 เมตร

ระบบขับเคลื่อน: CODAD เครื่องยนต์ดีเซล Caterpillar 3516E จำนวน 4 ตัว

ความเร็วสูงสุด: 22.5 นอต

ระยะปฏิบัติการไกลสุด: 3,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็วเดินทาง

ออกทะเลนานสุด: 30 วัน

ลูกเรือ: 79 นาย

เรือเล็ก

เรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตรจำนวน 1 ลำ

เรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรจำนวน 1 ลำ

เรือยางท้องแข็งขนาด 4.5 เมตรจำนวน 1 ลำ

ระบบอิเล็กทรอนิกส์:

 

ระบบอำนวยการรบ TACTICOS

เรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ NS50 AESA ระยะตรวจจับบนอากาศ 180 กิโลเมตร ระยะตรวจจับพื้นน้ำ 80 กิโลเมตร

เรดาร์เดินเรือ X-Band จำนวน 2 ตัว

เรดาร์เดินเรือ X-Band จำนวน 1 ตัว

เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 จำนวน 1 ตัว

กล้องตรวจการณ์ระยะไกล WESCAM MX10-MSจำนวน 1 ตัว

ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์:

ระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ VIGILE Mk2 R-ESM

แท่นยิงเป้าลวง SKWS DL-12T ขนาด 12 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง

ระบบอาวุธ:

ปืนใหญ่ OTO Melara 76mm Super Rapid ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก

ปืนกลอัตโนมัติ MSI-DS SEAHAWK DS A1 ขนาด 30 มม.จำนวน 1 กระบอก

ปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม. จำนวน 4 กระบอก

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบไม่ระบุรุ่นจำนวน 8 นัด

อุปกรณ์เสริม:

ตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ตู้

อุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนระยะไกล 1000RX LRAD จำนวน 2 ระบบ

ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวน 4 กระบอก

แพชูชีพ LIFERAFT 12 ตัว

อากาศยาน:

เฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตันจำนวน 1 ลำพร้อมโรงเก็บ

          อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กจำนวน 1 ลำพร้อมโรงเก็บ

แบบเรือจากเนเธอร์แลนด์มีคุณสมบัติเหนือคู่แข่งระดับเดียวกันเล็กน้อย ทั้งเรือยางท้องแข็งคุณลักษณะต่างกันจำนวน 3 ลำ หรือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตันบวกโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก นำมาเทียบกับคู่แข่งระดับต่ำกว่ากันจะห่างชั้นพอสมควร เพราะเป็นแบบเรือรุ่นใหม่ได้รับการปรับปรุงด้วยประสบการณ์บวกความรู้ มาเสกสรรปั้นแต่งให้แบบเรือมีความเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบันและอนาคต

สำหรับแบบเรือ V2 ลำล่างเปลี่ยนมาใช้ระบบ SAAB ทั้งลำ สิ่งที่แตกต่างจากแบบเรือ V1 ประกอบไปด้วย

ระบบอำนวยการรบ 9LV Mk4

เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 1X ระยะตรวจจับ 100 กิโลเมตร

เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200

ระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ L3Harris ES-3601S

บทสรุป

          ผู้เขียนไม่อาจรู้ว่าปัจจุบันโครงการ ‘The future of the RTN OPVs project’ ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว ผู้เขียนไม่อาจรู้ว่าความต้องการทั้ง 3 ข้อยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าทุกอย่างยังเหมือนเดิมแบบเรือ OPV 2200RTN Military จะตรงตามความต้องการทุกประการ รวมทั้งแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่จำนวนมากจากหลายประเทศ ไม่จำเป็นต้องซื้อแบบเรือคอร์เวตจากยุคก่อนปี 2000 ที่ล้าสมัยไปแล้ว มาใช้เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งซึ่งต้องการความอเนกประสงค์ ทำภารกิจได้อย่างหลากหลาย และมีค่าใช้จ่ายในการใช้เรือไม่สูงเกินไป

          เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็น OPV 2200RTN Military ก็ได้ ขอแค่มีการประกวดแบบเรืออย่างเที่ยงตรง ยุติธรรม เป็นไปตามมาตรฐานเหมือนดั่งประเทศทั่วไป กองทัพเรือจะได้แบบเรือเหมาะสมและถูกต้องกับความต้องการ สุขสมอารมณ์หมายทั้งคนขาย คนซื้อ และคนจ่ายเงิน

                                        +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://www.thaifighterclub.org/

https://thaimilitary.blogspot.com/2020/05/offshore-patrol-vessel-program.html

https://www.damen.com/vessels/defence-and-security/opv/offshore-patrol-vessel-2200-military?utm_source=google&utm_medium=cpc&utm_campaign=17691482055&utm_id=7015p0000013VLtAAM&utm_term=damen%20opv%202200&utm_content=140036333953&gclid=Cj0KCQjw98ujBhCgARIsAD7QeAiV46DVDKPfCldyaulgQyd7x1Wf351FLzVCfBj5v1MutHuWVet6fjoaAvW6EALw_wcB

https://rescueboats.nl/product/zodiac-ribo-450/

https://defence.pk/pdf/threads/pakistan-navy-ships-yarmook-class-corvette.668448/page-13

https://www.thairath.co.th/news/politic/584039?fbclid=IwAR2nEh5u79WqbIt8MugtKJFmWF81Wolk48HtGHjoCI-V0nUWjgmFeTb5xJ4

http://www.dockyard.navy.mi.th/orm/TP001C02/ormOPV.php