วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

World War II : Japanese invasion of Thailand Part II

สงครามโลกครั้งที่สอง : วันญี่ปุ่นขึ้นบก ตอนที่ 2

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 2.00 น.กองทัพญี่ปุ่นเริ่มต้นบุกประเทศไทยพร้อม ๆ กับ มาเลเซีย  ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ช่วงเวลาเดียวกับที่คนกรุงเทพกำลังร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางอากาศหนาวกำลังพอเหมาะและงานฉลองก็มีถึงรุ่งเช้า กองเรือขนาดใหญ่ญี่ปุ่นซึ่งเตรียมพร้อมอยู่กลางอ่าวไทย  ได้ทำการแยกกองเดินทางไปยังเป้าหมายจำนวน 7 เส้นทาง ประกอบไปด้วย ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และบางปู (สมุทรปราการ) ญี่ปุ่นยังได้เคลื่อนกำลังพลทางบกจากพระตะบอง เข้าสู่ชายแดนไทยด้านอรัญประเทศ ปฐมบทสงครามโลกครั้งที่สองในเมืองไทยเริ่มขึ้นแล้ว

บทความแรกผู้เขียนได้เขียนถึงมูลเหตุของสงคราม การเตรียมความพร้อมของทหารไทยและทหารญี่ปุ่น รวมทั้งการรบที่ปัตตานีและสงขลาเป็นที่เรียบร้อย ในบทความนี้จะขอเขียนถึงการรบที่เหลือจนแล้วเสร็จ ผู้อ่านสามารถติดตามความเดิมตอนที่แล้วได้จากลิงค์ด้านล่างเลยครับ


ความเดิมตอนที่แล้ว ---> World War II : Japanese invasion of Thailand

เมืองคอนก่อนสงครามโลก

นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมากที่สุดในภาคใต้ และมีพื้นที่ใหญ่อันดับสองของภาคใต้ ภูมิประเทศแต่ล่ะส่วนแตกต่างกัน ตามลักษณะเทือกเขานครศรีธรรมราช สามารถแบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบไปด้วย เทือกเขาตอนกลาง ที่ราบชายฝั่งด้านตะวันออก และที่ราบชายฝั่งด้านตะวันตก เป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งยาวสุดในประเทศ คือยาวถึง 225 กิโลเมตร มีแหลมที่ยาวที่สุดในประเทศ คือแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง

เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงเป็นสถานที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่ 6 ค่ายวชิราวุธ ที่บ้านท่าแพ ตำบลปากพูน อำเภอเมือง ภายใต้การนำของพลเอกหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก มีหน่วยทหารประจำการประกอบไปด้วย ร.พัน 39 และ ป.พัน 15 ทำหน้าที่ดูแลหน่วยทหารภาคใต้ทั้งหมด โดยในช่วงแรกสุดใช้ชื่อมณฑลทหารบกที่ 5 ก่อนเปลี่ยนมาเป็นมณฑลทหารบกที่ 6 ในเวลาต่อมา ทหารส่วนใหญ่ล้วนตามกันมาจากราชบุรีตั้งแต่ปี 2482 ซึ่งเริ่มย้ายค่ายวชิราวุธมาอยู่ในท่าแพ


ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกเล็งเห็นภัยร้ายตรงหน้า จึงได้เตรียมพร้อมในการรับมือทหารญี่ปุ่น มีการฝึกฝนหน่วยทหารประจำการ และหน่วยยุวชนทหารให้มีความพร้อมรบ คัดเลือกราษฎรอาสาสมัครเข้ามาฝึกฝน หวังระดมกำลังพลเพื่อต้านทานให้มากที่สุด เพราะรู้ดีว่าทหารญี่ปุ่นมีศักยภาพสุง แต่ทว่าเมืองคอนมีชายหาดยาวมากเกินไป จึงไม่อาจคาดเดาจุดที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก พลเอกหลวงเสนาณรงค์ ตัดสินใจคงกำลังส่วนใหญ่ไว้ในค่าย และพร้อมเคลื่อนพลไปยังจุดปะทะตลอดเวลา เป็นแผนการณ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ

นครราชศรีธรรมราชก็เป็นเช่นจังหวัดอื่น จารชนชาวญี่ปุ่นลอบแฝงตัวเข้ามาในพื้นที่ ประมาณต้นปีพศ. 2475 ได้มีครอบครัวชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งรกราก เปิดกิจการเป็นทั้งร้านหมอฟันและร้านถ่ายรูป ทุกคนในเมืองรู้จักในชื่อหมอลูและแม่ศรี กิจการเจริญก้าวหน้ากระทั่งสร้างตึกขนาด 3 คูหา ลูกจ้างชายหนุ่มญี่ปุ่นหมุนเวียนกันมาทำงาน ในภายหลังเริ่มมีวิศวกรญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง เข้ามาควบคุมการก่อสร้างถนนสายปากพนัง-นครศรีธรรมราช และก่อนหน้านี้ไม่ถึงหนึ่งขวบปีดี เริ่มมีพ่อค้าแร่มากกว่า 7 คนเข้ามาในพื้นที่ พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นจารชนญี่ปุ่น ทว่าฝ่ายไทยไม่ได้ระแคะระคายเรื่องนี้เลย

ค่ายวชิราวุธ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองถึง 7 กิโลเมตร เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ญี่ปุ่นต้องการควบคุม เพื่อใช้ค่ายเป็นที่ตั้งทางทหารของตนเอง จึงวางแผนขึ้นบกบริเวณชายฝั่งปากพูน และปากนคร แล้วลำเลียงพลมาตามคลองท่าแพ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจะถึงสะพานท่าแพ จากนั้นจึงใช้กำลังเข้าควบคุมค่ายวชิราวุธ ด้วยข้อมูลที่ได้รับจากจารชนในพื้นที่

                                                                                           สะพานท่าแพซึ่งเป็นจุดชี้เป็นชี้ตาย

ในการขึ้นบกที่ปัตตานีและสงขลานั้น ญี่ปุ่นใช้ทหารราบจากกองทัพที่ 25 ซึ่งกำลังส่วนใหญ่ขึ้นบกที่แหลมมลายู ส่วนการขึ้นบกเป้าหมายอื่นในประเทศไทย ใช้ทหารราบจากกองทัพที่ 15 ทั้งหมด รวมทั้งการขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช ด้วยเรือลำเลียงที่ดัดแปลงมาจากเรือขนส่งสินค้าจำนวน 3 ลำ ชื่อ Zenyo Maru Miike Maru และ Toho Maru ภายใต้การปกป้องจากเรือคุ้มกันขนาด 870 ตันชื่อ Shimushu

ญี่ปุ่นขึ้นท่าแพ

เวลาประมาณ 05.00 น.ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับข่าวจากนายไปรษณีย์นครศรีธรรมราช ว่าญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลาแล้ว จึงสั่งการนายพันตรีหลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารรบที่ 39 หรือ ร.พัน 39 ให้เตรียมกำลังพลเดินทางไปสนับสนุนที่สงขลา และให้กำลังบางส่วนไปสกัดกั้นทหารญี่ปุ่น ที่สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองและชุมทางท่าแพ อันเป็นจุดสำคัญในการเดินทางไปแหลมมลายู

ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนอยู่นั้นเอง พลทหารจาก ป.พัน 15 ซึ่งเป็นเวรยามอยู่ที่คลองท่าแพ ได้แจ้งว่าพบทหารญี่ปุ่นพร้อมเรือระบายพลหลายลำ ช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดฝนตกหนักทั่วพื้นที่ น้ำในคลองขึ้นสุงเหมาะกับการเคลื่อนพล อีกทั้งมีรายงานว่าพบทหารญี่ปุ่นแฝงตัวอยู่บนเรือหลายลำ จึงได้ระงับคำสั่งเดินทางไปที่สงขลา กำลังทหาร ร.พัน 39 เปลี่ยนเส้นทางโดยเร่งด่วน เมื่อไฟสงครามมาเยือนถึงหน้าประตูบ้าน

การวางกำลังตั้งรับเป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนจาก ป.พัน 13  ซึ่งมีปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง 105 มม.จำนวน 5 กระบอก และปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 อีกจำนวน 2 กระบอก ทหารช่วยรบมณฑลทหารบกประจำแนวรับตะวันออก และมียุวชนทหารจากหน่วยฝึกยุวชนที่ 55 จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนประมาณ 30 นาย เข้ามาเสริมทัพ สนามบินขนาดเล็กติดกับค่ายวชิราวุธ มีเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 3 ลำจอดอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตั้งรับญี่ปุ่น ด้วยการส่งเครื่องบินกระจายไปตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญ

กระสุนปืนนัดแรกดังขึ้นในเวลา 06.50 น. การปะทะระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นเริ่มแล้ว ผู้บุกรุกดาหน้าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน เรือระบายพลจำนวนมากลอยอยู่ในคลอง กำลังบางส่วนหนึ่งขึ้นฝั่งเป็นที่เรียบร้อย เสียงปืนใหญ่จากทั้งสองฝ่ายดังถี่กว่า เสียงปืนกลดังกระหึ่มตลอดเวลาที่สะพานท่าแพ ทหารญี่ปุ่นใกล้เข้ามามากขึ้นตามลำดับ มีคำสั่งให้เอาเครื่องบินขึ้นออกโจมตีได้ ทว่าฟ้าฝนไม่เป็นใจให้กับฝ่ายตั้งรับ เนื่องจากฝนตกหนักพื้นสนามเละเป็นโคลน เครื่องบินรบทั้ง 3 ลำจึงไม่สามารถขึ้นบินได้

                                                                                            ทหารญี่ปุ่นในคลองท่าแพ

หยุดยิงชั่วคราว

  เวลาประมาณ 07.30 น.รัฐบาลไทยมีคำสั่งหยุดยิงชั่วคราว เพื่อรอผลการเจรจาจากกรุงเทพอีกที ทว่าคำสั่งไม่เกิดผลกับท่าแพ เป็นเพราะอยู่ในช่วงการรบติดพัน ทหารฝ่ายไทยจำเป็นต้องป้องกันตัวไว้ก่อน ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากวิ่งเข้าใส่อย่างบ้าบิ่น โดยมีเรือคุ้มกันช่วยยิงปืนใหญ่สนับสนุน โรงเรือนค่ายวชิราวุธโดนถล่มจนหลังคาเปิด ส่วนปืนใหญ่จาก ป.พัน 13 ก็ยิงใส่ทหารญี่ปุ่นตลอดเวลา การสู้รบมีความรุนแรงตลอดเวลา ความสูญเสียมีมากขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย แนวรบถนนราชดำเนินหน้าค่ายวชิราวุธ กลายเป็นจุดปะทะที่ดุเดือดมากที่สุด กระทั่งญี่ปุ่นเข้ามาในระยะประชิด จึงกลายเป็นการรบด้วยดาบปลายปืนกับซามูไร

บนท้องฟ้าปรากฎเครื่องบินญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง บางลำบินปักหัวลงต่ำแต่ไม่ได้โจมตี คาดว่าทำหน้าที่ชี้เป้าให้กับเรือคุ้มกัน เพื่อใช้ปืนใหญ่เรือขนาด 120/45 มม.จำนวน 3 กระบอกจากเรือ Shimushu  ยิงถล่มทหารฝ่ายไทยตลอดเวลา การรบยังคงทวีความรุนแรงหนักหน่วง กระทั่งยุวชนทหารที่อยู่แนวป้องกันท้ายสุด เริ่มเข้าสู่การรบจริงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยุวชนทหารบางคนไม่มีอาวุธปืน จึงทำหน้าที่ลำเลียงกระสุนมาส่งแนวหน้า

เวลาประมาณ 11.00 น.พระสาครบุรานุรักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัด ได้นำโทรเลขจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาส่งให้กับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ข้อความก็คือ "หยุดรบ ปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านได้" และนำโทรเลขจากจอมพลป.พิบูลสงคราม มาส่งมอบในคราวเดียวกัน ข้อความก็คือ "ให้ระงับการต่อต้านปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านไป ขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจา"

เวลาต่อจากนั้นไม่นานนัก ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งคณะผู้เจรจา ก่อนมาตกลงกันตรงถนนหน้าค่ายวชิราวุธ ระหว่างที่เจรจาอยู่มีการยิงกันประปราย และมีมูลเหตุขยายตัวเป็นการตะลุมบอน ต้องมีการหยุดพักเพื่อห้ามหทารทั้งสองฝ่าย การเจรจาดำเนินไปอย่างทุลักทุเลและเนิ่นนาน ท่ามกลางความกดดันและตึงเครียดจากทุกฝ่าย กระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น.จึงสามารถทำข้อตกลงร่วมกันได้ การรบที่เมืองคอนยุติลงในท้ายที่สุด

หลังญี่ปุ่นเข้าเมืองคอน

ที่นครศรีธรรมราชมีความสูญเสียมากที่สุด ทหารจากค่ายวชิราวุธเสียชีวิต 39 นาย ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตไม่ทราบจำนวน คาดว่ามีจำนวนสุงพอสมควร จากนั้นทหารญี่ปุ่นเข้ายึดค่ายวชิราวุธ อาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมด รวมทั้งสนามบินซึ่งต้องการมากที่สุด ตำรวจและทหารรวมทั้งครอบครัว ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นในวันนั้นเลย

เนื่องจากทหารญี่ปุ่นอยู่ในค่ายวชิราวุธทั้งหมด โดยออกมาซื้ออาหารช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น คนเมืองคอนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากเรื่องข้าวยากหมากแพงซึ่งเลี่ยงไม่ได้ การกระทบกระทั่งระหว่างสองฝ่ายแทบจะไม่มี เพราะมีคำสั่งห้ามทหารญี่ปุ่นยุ่งกับสาวไทยโดยเด็ดขาด กองทัพได้นำผู้หญิงตัวเองมาบริการในค่าย เคยมีคดีความเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง และมีการตัดสินอย่างเด็ดขาดไม่เลือกฝ่าย

เมื่อสงครามโลกทวีความดุเดือดมากขึ้น สนามบินถูกขยายให้มีขนาดใหญ่โต จากการทำงานอย่างหนักของนายทหารญี่ปุ่น ที่ควบคุมการก่อสร้างและลงมือด้วยตัวเอง ภายหลังได้มีเครื่องบินรบญี่ปุ่นนับร้อยลำ มาจอดพักเพื่อเติมน้ำมันหรือซ่อมบำรุง เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มทิ้งระเบิดในไทย ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนเมืองคอนมีน้อยมาก เพราะเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ค่ายวชิราวุธ และค่ายนี้ก็ตั้งอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางป่าเขา
สนามบินทหารอยู่ด้านล่างของภาพ ต่อมาได้ถูกก่อสร้างให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อรองรับเครื่องบินรบญี่ปุ่นจำนวนนับร้อยลำ

หลั่งเลือดที่สุราษฎร์ฯ

สุราษฎร์ธานีหรือสุราษฎร์ฯ เป็นจังหวัดตั้งอยู่ภาคใต้ตอนบนฝั่งตะวันออก มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ ภูมิประเทศค่อนข้างหลากหลาย ประกอบไปด้วย ที่ราบสูง ภูเขา และที่ราบชายฝั่ง มีพื้นที่ชายฝั่งติดกับอ่าวไทย รวมทั้งหมู่เกาะน้อยใหญ่จำนวนถึง 108 เกาะ แต่ทว่าสุราษฎร์ฯไม่ได้เป็นจุดยุทธศาสตร์อะไร ไม่มีการตั้งกองกำลังทหารในพื้นที่ จึงน่าจะปลอดภัยจากการรุกรานของญี่ปุ่น ซึ่งจองกฐินครบทุกจังหวัดที่มีค่ายทหาร

ศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัยในอดีต มีแม่น้ำตาปีไหลผ่านกลางจังหวัด เมื่อมีการจัดสร้างทางรถไฟในปี 2449 และเส้นทางจากชุมพรไปยังนครศรีธรรมราช จึงต้องตัดผ่านแม่น้ำสำคัญอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทางการไทยได้ก่อสร้างสะพานจุลจอมเกล้า ที่ตำบลท่าข้าม เมืองไชยา โดยมีแค่ทางรถไฟกับทางคนเดินเท่านั้น สะพานแห่งนี้คือมูลเหตุสำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดเชื่อมโยงในการเดินทางด้วยรถไฟ ถ้ายึดไม่ได้ก็จะลำเลียงทหารและยุทธปัจจัยไม่ได้ แผนการทั้งหมดจะล่าช้าหรือไม่ก็ล้มเหลว ทหารญี่ปุ่นได้วางแผนขึ้นบกที่สุราษฎร์ธานี และตั้งค่ายทหารริมสะพานจุลจอมเกล้าเลย เพื่อควบคุมการลำเลียงพลไปสู่แหลมมลายู หรือส่งกำลังทหารย้อนกลับไปยังพม่า

เช่นเดียวกับเป้าหมายอื่นทั่วภาคใต้ จารชนญี่ปุ่นได้แฝงตัวเข้ามาในพื้นที่ เพื่อสืบหาข่าวสารสำคัญ จัดทำแผนที่โดยรวม กำหนดจุดยกพลขึ้นฝั่ง สืบหาข้อมูลทางทหารทั้งหมด รวมทั้งตีสนิทกับคนสำคัญในพื้นที่  รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเจรจา ที่สุราษฎร์ฯได้มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง เปิดร้านขายจานชามกระเบื้องที่บ้านดอนหลายปีดีดัก จึงเป็นที่รู้จักของคนทั้งเมืองก็ว่าได้ เพราะเป็นคนมีอัธยาศัยไมตรี

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 6.30 น.ได้ปรากฎเรือระบายพลติดธงญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ แล่นเข้ามาในแม่น้ำตาปีพร้อมทหารเต็มลำ ก่อนขึ้นฝั่งตั้งขบวนเดินทางไปยังศาลากลาง โดยมีพ่อค้าขายจานแต่งชุดร้อยโทเดินนำขบวน ข่าวญี่ปุ่นบุกสุราษฎร์ฯถึงทางการไทยทันที ตำรวจพร้อมอาวุธครบมือถูกสั่งให้เตรียมพร้อม โดยตั้งจุดสกัดที่ท่าน้ำศาลกลางจังหวัด กับถนนด้านหลังศาลากลางจังหวัดรวม 2 จุด
                                                                                             ตำรวจสุราษฎร์ฯยืนอยู่ริมแม่น้ำตาปี

ปืนพกปะทะปืนกล

เวลาประมาณ 7.30 น.นายพันตำรวจโทหลวงประพันธ เมฆะวิภาต ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายร้อยตำรวจเอก ขุนวารินทร์สัญจร รองผู้กำกับ ได้เข้าไปเจรจากับนายทหารญี่ปุ่น โดยมีพ่อค้าจานชามเป็นล่ามให้ การพูดคุยไม่ประสบความสำเร็จ การปะทะกันด้วยอาวุธจึงได้ตามมา

กำลังฝ่ายไทยประกอบไปด้วย ตำรวจภูธร ลูกเสือในเครื่องแบบ ราษฎรอาสาสมัคร รวมทั้งประชาชนในพื้นที่  โดยมีอาวุธปืนพกและปืนเล็กยาวจำนวนหนึ่ง ต้องต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นพร้อมอาวุธครบมือจำนวนมาก เมื่อการเจรจาล้มเหลวลง ผู้รุกรานนั้นจึงเริ่มยิงใส่ทันควัน พร้อมเคลื่อนพลโหมตีเพื่อยึดสถานที่สำคัญ เป้าหมายหลักก็คือ ท่าเรือ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข และศาลากลางจังหวัด ทว่าฝ่ายไทยได้ตั้งรับอย่างเต็มกำลัง ด้วยอาวุธที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า และกำลังพลที่ชำนาญการรบน้อยกว่า

ผ่านไปไม่นานสถานที่หลายแห่งถูกยึด เหลือแค่เพียงจุดสกัดติดศาลากลางทั้งสองจุด ผู้เขียนมีข้อมูลบางส่วนว่า พบเครื่องบินญี่ปุ่นบินวนอยู่เหนือพื้นที่ แต่ผู้เขียนไม่ขอยืนยันนะครับ เพราะข้อมูลในมือมีน้อยเกินไป กระทั่งเวลาประมาณ 13.00 น.สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่า รัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านประเทศได้ รวมทั้งมีโทรเลขสั่งให้หยุดยิงจากรัฐบาล การปะทะกันที่บ้านดอนจึงได้ยุติลง

ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ฝ่ายไทยเสียชีวิตประมาณ 18 คน บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ทราบจำนวน พลบค่ำเกิดไฟใหม้ที่ศาลากลางจังหวัด ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของฝ่ายไหน ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งค่ายทหารหลายจุด อาทิเช่น  ริมสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำตาปี  สวนยางพาราที่ท่าข้าม ท่าน้ำสวนสราญรมย์  เพื่อควบคุมเส้นทางรถไฟไปยังแหลมมลายู สำหรับสะพานจุลจอมเกล้านั้น ยังมีบทบาทสำคัญในเวลาต่อมา ผู้เขียนจะขอยกยอดไปยังตอนถัดไปนะครับ
                                                                                           ศาลากลางจังหวัดถูกเผาในตอนกลางคืน

ยุวชนทหารที่ชุมพร

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 มีเรือลำเลียงพลญี่ปุ่นเข้ามาในอ่าวชุมพร แต่เนื่องจากเผชิญพายุฝนอย่างหนัก จึงไม่สามารถทำภารกิจตามเวลานัดหมายได้ อีกทั้งการขึ้นบกยังเกิดข้อผิดพลาด เพราะบ้านคอสนและบ้านแหลมซึ่งเป็นจุดขึ้นฝั่ง ยังอยู่ในช่วงน้ำลดและไม่มีหาดทรายเลย จึงต้องเดินลุยโคลนด้วยความยากลำบาก กว่าจะรวมพลสำเร็จก็ปาเข้าไปเช้าตรู่ ทหารญี่ปุ่นแบ่งกำลังไปตั้งฐานที่ริมถนนหน้าวัดท่ายางใต้ ส่วนที่เหลือตั้งฐานริมถนนหน้าสะพานท่านางสังข์ อันเป็นเส้นทางหลักมุ่งตรงเข้าไปในเมือง
เนื่องจากที่นี่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยทหารเช่นกัน ทว่าทหารทั้งหมดจาก ร.พัน 38 ได้เดินทางไปฝึกภาคสนามที่สนามบินทับไก่ หลวงจรูญประศาสน์ (จรูญ คชภูมิ) ข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพร ทราบข่าวญี่ปุ่นขึ้นบกเวลาประมาณ 6.30 น.จึงรีบแจ้งข่าวให้กับ นายพันตรี ขุนเอกสิงห์สุรศักดิ์ (เชิด  เอกสิงห์) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 38 และนายร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 52 รับทราบ ทหารจาก ร.พัน 38 จำนวน 1 หมวด รีบเดินทางกลับเพื่อสกัดกั้นญี่ปุ่น พร้อมไอเท็มลับปืนกลเบาแบบ 66 หรือปืนกลแมดเสนขนาด 8 มม.จำนวน 9 กระบอก 

แนวปะทะบนถนนสายชุมพร–ปากน้ำ บริเวณสะพานท่านางสังข์ ทางด้าน พ.ต.ต.หลวงจิตการุณราษฎร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรชุมพร ได้นำกำลังตำรวจเข้ามาสกัดกั้นไว้ก่อน รวมทั้งนายร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ได้นำกำลังยุวชนทหารที่ 52 เข้ามาเสริมทัพ จำนวนยุวชนทหารมีประมาณ 100 นาย แต่มีปืนเล็กยาวเพียง 30 กระบอก และปืนกลเบาแบบ 66 อีก 1 กระบอกเท่านั้น ยุวชนทหารส่วนที่เหลือจึงต้องเป็นกำลังเสริม

การปะทะอย่างดุเดือด

กระสุนนัดแรกดังขึ้นเวลาประมาณ 7.00 น.เมื่อหน่วยลาดตระเวนญี่ปุ่นพบกับกำลังตำรวจไทย ทั้งสองฝ่ายต่างใช้สะพานเป็นเส้นแบ่งเขต การปะทะกันมีอย่างประปรายและเบาบาง เพราะไม่มีคำสั่งที่ชัดเจนออกมา เวลาผ่านไปประมาณหนึ่งชั่วโมง นายร้อยเอกประชา มัณยานนท์ ได้นำกำลังทหารจาก ร.พัน 38 เข้ามาสมทบ โดยใช้รถบรรทุกทหารวิ่งข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม ก่อนมาหยุดที่ถนนหน้าวัดท่ายางใต้ แล้วใช้ปืนกลเบาทั้ง 9 กระบอก ยิงใส่ทหารญี่ปุ่นที่ตั้งมั่นอยู่ในดงมะพร้าว อำนาจการยิงสร้างความเสียหายทันที บังเอิญว่ากระสุนปืนมีจำนวนจำกัดจำเขี่ย เพราะรีบกลับมาจากฝึกภาคสนาม ครั้นให้รถบรรทุกวิ่งกลับไปเอากระสุน ก็โดนยิงสกัดจนข้ามสะพานไม่ได้ ไอเท็มลับที่เตรียมมาใช้งานได้เพียงครึ่งชั่วโมง
                                                                                                  ปืนกลเบาแบบ 66 จากเดนมาร์ค

ทางด้านแนวปะทะริมสะพานท่านางสังข์ มีความดุเดือดมากขึ้นตามไปด้วย ฝ่ายไทยต้องการยึดสะพานทั้งสองฝั่ง เนื่องจากอีกฝ่ายมีกำลังเยอะกว่ามาก รวมทั้งอาวุธก็ทันสมัยเทียบกันไม่ติด ถ้าหารญี่ปุ่นข้ามมาฝั่งนี้สำเร็จ อาจโดนโอบล้อมโจมตีจากหลายด้าน แต่ทหารญี่ปุ่นไม่ยอมให้ยึดสะพาน จึงได้สกัดกั้นด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า กระทั่งฝ่ายไทยสูญเสียผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหาร ปืนกลเบาเพียงกระบอกเดียวขาทรายเกิดชำรุด กระสุนปืนที่มีถูกใช้ไปจนแทบไม่เหลือ จึงจำเป็นต้องเล็งยิงอย่างประหยัด ประสิทธิภาพการรบลดลงทันตาเห็น 

เวลาประมาณ 12.00 น.การรบที่ชุมพรได้สิ้นสุด เนื่องจากมีคำสั่งให้หยุดยิงจากรัฐบาล จากนั้นไม่นานการเจรจาจึงเกิดขึ้น และอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนพลเข้าตัวเมือง เพื่อเข้าพักที่โรงเรียนสตรีสอาดเผดิมวิทยา (โรงเรียนอนุบาลชุมพรในปัจจุบัน) โรงเรียนช่างไม้ (วิทยาลัยเทคนิคชุมพรในปัจจุบัน) และโรงเรียนชุมพรศรียาภัย (โรงเรียนศรียาภัยในปัจจุบัน) ก่อนเดินทางไปยังอำเภอกระบุรี จังหวัดระนองในเวลาต่อมา

ความสูญเสียฝ่ายไทยประกอบไปด้วย ผู้บังคับหน่วยและยุวชนทหารเสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บ 5 นาย  ทหารเสียชีวิต 1 นาย ตำรวจเสียชีวิต 2 นาย ราษฎรอาสาสมัครเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน ความสูญเสียฝ่ายญี่ปุ่นเท่าที่มีหลักฐาน ทหารญี่ปุ่นได้ฝังศพทหารจำนวน 11 นาย บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน 

การรบที่ประจวบ

กองบินน้อยที่ 5 ตั้งอยู่ที่อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีทางวิ่งดินลูกรังบดอัดแน่นจำนวน 2 รันเวย์ความยาว 800 เมตรและ 1,000 เมตร นาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย เป็นผู้บังคับกองบินน้อย มีกำลังพลรวมกันประมาณ 160 นาย ประจำการเครื่องบินขับไล่ บ.ข.9 (ฮอว์ค 2) จำนวน 1 ฝูงบิน เครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 1 ฝูงบิน และเครื่องบินโจมตี บ.จ.1 (คอร์แซร์) จำนวน 1 ฝูงบิน กองบินผสมมีอากาศยานรวมจำนวน 27 ลำ มีหน้าที่ป้องกันภาคใต้ไปจนถึงแหลมมลายู ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก เพราะเป็นประตูทางเข้าระหว่างภาคใต้กับภาคกลาง 

กองบินแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ จึงใช้เป็นสถานที่ฝึกใช้อาวุธภาคพื้นดินและอากาศยาน ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นานนัก กองทัพอากาศเพิ่งประจำการเครื่องบินโจมตี บ.จ.2 (Ki-30 นาโกย่า) ที่จัดหาจากญี่ปุ่นจำนวน 24 ลำ เครื่องบินบางลำถูกนำมาฝึกบินที่อ่าวมะนาว ทำการสอนโดยครูฝึกชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ทหารเหล่านี้ทำหน้าที่จารชนอีกหนึ่งตำแหน่ง พื้นที่โดยรอบอ่าวมะนาว ตัวเมืองประจวบ รวมทั้งกำลังทหารที่กองบินน้อยที่ 5 ถูกญี่ปุ่นล้วงความลับอย่างละเอียด ถือเป็นความได้เปรียบชนิดมหาศาล
                                                                                             เครื่องบินโจมตี บ.จ.2 ผู้มาพร้อมจารชนญี่ปุ่น

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 02.00 น. เรือลำเลียงขนาดใหญ่ลำหนึ่ง พร้อมทหารญี่ปุ่นจำนวน  1 กรมผสม แล่นเข้าประชิดชายฝั่งไทยอย่างเงียบกริบ เรือระบายพลจำนวน 4 ลำมุ่งไปยังอ่าวประจวบ เพื่อขึ้นบกบริเวณหัวถนนตลาดนอก ห่างจากตัวเมืองประจวบเพียงหน่อยเดียว ทหารญี่ปุ่นกระจายกำลังเพื่อยึดพื้นที่สำคัญ กำลังบางส่วนมาถึงสถานีตำรวจภูธร และได้เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ การรบดำเนินอยู่ประมาณ 20 นาที ตำรวจไทยซึ่งมีกำลังน้อยกว่าจึงล่าถอยไป ตัวเมืองประจวบถูกยึดอย่างง่ายดาย ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ตำรวจไทยเสียชีวิต 13 นาย บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ทราบจำนวน

กองบินน้อยโดนจู่โจม

เรือระบายพลส่วนที่เหลือจำนวน 3 ลำ มุ่งตรงไปยังอ่าวมะนาวในเวลาเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือกองบินน้อยที่ 5 แม้กองบินจะเตรียมการรับมือญี่ปุ่นไว้แล้ว ด้วยการตั้งรังปืนกลหนักแบบ 77 หรือ ปืนกลวิคเกอร์ขนาด 7.7 มม.จำนวน 5 ฐานยิง รวมทั้งปืนกลเบาแบบ 66 ที่ได้ติดตั้งล้อมรอบสนามบิน บังเอิญว่าเครื่องบินรบได้ถูกกระจายไปทั่วภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตั้งรับญี่ปุ่น จึงเหลือเพียงเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินโจมตี บ.จ.1 (คอร์แซร์) จำนวน 5 ลำ เพื่อป้องกันพื้นที่รอบกองบินเท่านั้น 

เวลาประมาณ 03.00 น.ทหารญี่ปุ่นลักลอบขึ้นฝั่งอย่างเงียบกริบ หน่วยจู่โจมเข้าจัดการทหารยามในที่ตั้งปืนกล ก่อนกระจายกำลังล้อมรอบพื้นที่สนามบิน เวลาเดียวกันนั้นเอง ผู้บังคับกองบินน้อยได้รับแจ้งว่า ทหารญี่ปุ่นบุกเข้าตัวเมืองแล้ว พร้อมกับเรืออากาศตรีสมศรี สุจริตธรรม ผู้บังคับกองทหารราบได้รายงานว่า พบเรือระบายพลจำนวน 3 ลำในอ่าวมะนาว เมื่อทราบเป็นที่แน่ชัดว่าญี่ปุ่นบุก นาวาอากาศตรีหม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย จึงได้สั่งการไปยังทหารทุกคน ให้ทำตามแผนการที่ได้กำหนดไว้

เครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินโจมตี บ.จ.1 (คอร์แซร์) จำนวน 5 ลำ ถูกติดเครื่องพร้อมบินอยู่บนรันเวย์ ทหารญี่ปุ่นที่ซุ่มอยู่จึงได้โจมตีอย่างหนัก เครื่องบินขับไล่ลำแรกสามารถบินขึ้นสำเร็จ แม้ว่าจะโดนยิงปืนใส่หลายนัดก็ตาม เรืออากาศตรี แม้น ประสงค์ดี ได้ใช้ระเบิดขนาด 50 กิโลกรัม โจมตีใส่เรือลำเลียงญี่ปุ่นที่ตรวจพบ ทว่าพลาดเป้าหมายเพราะความมืด นี่คือการโจมตีครั้งแรกและครั้งเดียวของเครื่องบินไทย เนื่องจากเครื่องบินที่เหลือล้วนเสียหายหนัก นักบินและช่างเครื่องบาดเจ็บเสียชีวิตกันถ้วนหน้า

เมื่อเครื่องบินรบโดนยึดหรือทำลายหมดสิ้น การรบครั้งนี้จึงต้องวัดกันที่ภาคพื้นดิน ทหารญี่ปุ่นทำการจู่โจมอย่างรวดเร็ว และสามารถยึดพื้นที่บางส่วนได้แล้ว อาทิเช่น กองรักษาการณ์ ทางวิ่งทั้ง 2 รันเวย์ แต่ก็ยังมีปืนกลหนักบางกระบอก ทำหน้าของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะรังปืนกลชายหาดใกล้โรงเก็บเครื่องบิน เป็นจุดที่ทหารญี่ปุ่นต้องสูญเสียจำนวนมาก 

กระทั่งเวลาประมาณ 07.00 น.สถานการณ์ญี่ปุ่นดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อสามารถยึดโรงเก็บเครื่องบินได้สำเร็จ ทหารไทยต้องถอดปืนกลและล่าถอยห่างออกไป ชายหาดทั้งหมดจึงปลอดภัยโดยสิ้นเชิง การส่งทหารมาเพิ่มเติมกระทำได้อย่างสะดวก ผู้บังคับกองบินน้อยสั่งเผาอาคารกองบังคับการกองบิน อันเป็นที่มั่นสำคัญของทหารไทยในเวลานั้น เพื่อทำลายเอกสารสำคัญทั้งหมด รวมทั้งป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นใช้งานได้ ครอบครัวทหารได้อพยพไปที่เชิงเขาล้อมหมวก เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการปะทะกัน และจัดหาอาหารให้กับทหารที่อ่อนล้า
                                                                                                     ปืนกลหนักแบบ 77 จากอังกฤษ
สงครามวันสุดท้าย

ทหารญี่ปุ่นโหมกำลังเข้าตีอย่างดุเดือด ด้วยต้องการยึดกองบินน้อยที่ 5 ให้ได้อย่างเด็ดขาด ทหารไทยพยายามต้านทานจนสุดกำลัง ด้วยว่าถ้าแพ้ก็คือโดนยึดสนามบิน การรบดำเนินมาจนถึงช่วงเย็นในที่สุด ทว่ายังไม่มีผลแพ้ชนะเด็ดขาด เมื่อความมืดมิดเข้ามาเยือนตามกาลเวลา พร้อมมีพายุฝนกระหน่ำใส่อย่างรุนแรง ทั้งสองฝ่ายทำได้แค่ตรึงกำลังอยู่ในที่มั่น ตลอดคืนนั้นไม่มีการโหมบุกใส่กันแต่อย่างใด 

การรบที่อ่าวมะนาวข้ามมาถึงวันรุ่งขึ้น แม้ทหารไทยจะมีจำนวนน้อยกว่าอาวุธน้อยกว่า แต่ที่มั่นตั้งอยู่บนทำเลที่สุงกว่า จึงเห็นการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายอย่างชัดเจน ทหารญี่ปุ่นจึงไม่กล้าบุกใส่อย่างผลีผลาม แม้มีการเสริมกำลังพลรวมทั้งอาวุธหนักก็ตาม เช้าตรู่วันที่ 9 ธันวาคม 2484 มีการยิงกันประปรายพอเป็นน้ำจิ้ม

เวลาประมาณ 07.00 น. บุรุษไปรษณีย์ชื่อนายหยอย ทิพย์นุกูล ได้นำโทรเลขจากพันเอกหลวงเชวง ศักดิ์สงคราม (ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาส่งให้ผู้บังคับกองบินน้อย แจ้งว่าหยุดรบและปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านได้ ทว่านาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย กลัวว่าเป็นกลลวงของฝ่ายญี่ปุ่น จึงไม่ได้ทำตามและตรึงกำลังไว้เช่นเดิม

เวลาประมาณ 10.00 น. กำลังทหารไทยยังคงโดนล้อมกรอบ ไม่มีช่องทางให้ถอยหนีออกจากกองบิน ไม่มีความหวังจะได้รับช่วยเหลือจากภายนอก พวกเขาใช้เชิงเขาล้อมหมวกเป็นที่มั่นท้ายสุด ผู้บังคับกองบินน้อยสั่งเผาคลังน้ำมันทิ้ง พร้อมสั่งให้ทหารทุกนายพร้อมสู้ตาย ส่วนทหารญี่ปุ่นยังคงล้อมกรอบอยู่เช่นเดิม ไม่มีการโหมบุกเข้าตีอย่างหนัก ทั้งที่มีกำลังทหารอีก 1 กองพันเข้ามาสมทบ

เวลาประมาณ 12.00น.นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง  ใช้รถบรรทุกทหาร 6 ล้อติดธงสีขาว วิ่งผ่านทหารญี่ปุ่นเข้ามาอย่างปลอดภัย พร้อมกับยื่นโทรเลขจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แจ้งว่ารัฐบาลไทยยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย จึงได้มีการเจรจาสงบศึกตามมา และมีการหยุดยิงในเวลาประมาณ14.00 น. 

ความสูญเสียที่อ่าวมะนาวประกอบไปด้วย ทหารฝ่ายไทยเสียชีวิต 38 นาย ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย พลเรือนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บรวมทั้งหมด 27 คน ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 217 นาย ส่วนใหญ่เป็นทหารเกณฑ์ชาวเกาหลีและไต้หวัน ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บประมาณ 300 นาย และมีบางส่วนเสียชีวิตในเวลาต่อมา


การเผชิญหน้าที่บางปู

หลังได้รับคำสั่งให้บุกประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เรือลำเลียงที่ดัดแปลงมาจากขนส่งสินค้าญี่ปุ่นชื่อ Sydney Maru ได้แยกตัวจากกองเรือมุ่งตรงไปยังสมุทรปราการ ก่อนจอดห่างประภาคารสันดอนประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วปล่อยเรือระบายพลหลายลำมุ่งตรงมายังบางปู อันเป็นสถานตากอากาศใหม่เอี่ยมของไทย และเปิดให้บริการได้เพียง 2 ปีพอดิบพอดี 

เวลาประมาณ 03.00 น.ทหารญี่ปุ่นจากกองพันที่ 3 กองพลรักษาพระองค์โคโนเอะ สังกัดกองทัพที่ 15 ภายใต้การนำของพันโทโยชิดะ ได้ทำการยึดสะพานสุขตาและคุมตัวพนักงานทั้งหมด พนักงานบางคนแอบเล็ดลอดออกไปสำเร็จ และได้มีการแจ้งข่าวกับนายร้อยคำรวจเอกจินดา โกมลสุต รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ จึงมีคำสั่งให้ตำรวจประมาณ 20 นาย ยกขบวนไปที่บางปูโดยเร่งด่วน กำลังตำรวจเผชิญหน้าทหารญี่ปุ่นระหว่างเส้นทาง ทั้งสองฝ่ายตั้งแนวรับระหว่างสองฟากถนนทันที

                                                                                               สะพานสุขตาหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ

เวลาประมาณ 06.00 น.มีทหารญี่ปุ่นถือธงขาวเดินเข้ามาขอเจรจา นายร้อยตำรวจตรีสุวิทย์ เอกศิลป์ ได้เดินเข้าไปเจรจาด้วย ญี่ปุ่นขอผ่านทางแต่ทางเรายังไม่ได้รับคำสั่ง ผลการเจรจายังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายกลับไปที่มั่นตนเองเช่นเก่า ต่อมากำลังทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทย ได้เดินทางเข้ามาสมทบพวกเดียวกัน ตำรวจสมุทรปราการยกมาทั้งโรงพัก โดยมีอาวุธแค่เพียงปืนพกกับปืนเล็กยาว

กระทั่งฟ้าสว่างมองเห็นหน้ากันชัดเจน คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้เดินทางมาพบตำรวจ นายพันเอกหลวงยอดอาวุธ (ฟ้อน ฤทธาคนี) หัวหน้าคณะผู้แทนได้แจ้งว่า รัฐบาลตัดสินใจให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางเข้ากรุงเทพ ตำรวจสมุทรปราการจึงได้เปิดทางตามคำสั่ง การเผชิญหน้ากันเป็นอันสิ้นสุดลง โดยไม่มีความสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย เป็นแนวรบแรกและแนวรบเดียวที่ไม่มีการปะทะกัน ทหารญี่ปุ่นทุกนายออกจากสมุทรปราการในเย็นวันนั้น

แนวรบด้านชายแดนตะวันออก

นอกจากกำลังทหารที่มาทางเรือ ญี่ปุ่นได้เตรียมกำลังบางส่วนไว้ในอินโดจีนฝรั่งเศส กองพลรักษาพระองค์โคโนเอะ สังกัดกองทัพที่ 15 ภายใต้การนำของพลโททาคูโมะ นิชิมูระ มีกำลังทหารญี่ปุ่นหลักหมื่นนาย พร้อมรถถังยานเกราะประมาณ 600 คัน ได้เคลื่อนทัพผ่านจังหวัดพระตะบอง ซึ่งในเวลานั้นเป็นพื้นที่ประเทศไทย เกิดการปะทะกันกับตำรวจไทยจำนวนไม่กี่คน ก่อนเดินทางต่อโดยคงกำลังไว้นิดหน่อย เมื่อเคลื่อนทัพผ่านจังหวัดพิบูลสงคราม ไม่ปรากฎการต่อต้านจากทหารไทย เพราะได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ระงับการต่อสู้ 

ครั้นต้องการเคลื่อนทัพผ่านจังหวัดปราจีนบุรี ก็ดันมีสนามบินวัฒนานครขวางทางอยู่ ในสนามบินมีเครื่องบินรบจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายอันดับหนึ่งต่อการเคลื่อนทัพ ญี่ปุ่นตัดสินใจบุกโจมตีสายฟ้าแลบ เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในภายหลัง เพราะการสนับสนุนทางอากาศยังทำได้จำกัด ต้องใช้เครื่องบินจากสนามบินในอินโดจีนฝรั่งเศส ถ้ากองกำลังเข้าสู่ประเทศไทยมากกว่าเดิม จะอยู่เกินระยะทำการของเครื่องบินญี่ปุ่น เครื่องบินของไทยที่วัฒนานครจึงเป็นอันตราย ชิงลงมือก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ข่าวการบุกของญี่ปุ่นบริเวณชายแดนตะวันออก มีมาซักพักหนึ่งแล้วจากข่าวสารหลากหลาย เพียงแต่ไม่ทราบวันเวลาที่ชัดเจน กำลังทหารฝ่ายไทยที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นที่ตั้งค่ายทหารของกองพลที่ 2 แต่ทว่ารัฐบาลตัดสินใจยอมเปิดทาง เพราะคาดว่าคงต้านทานได้ไม่เกิน 2 วัน แนวรบด้านนี้จึงแทบไม่มีการหลั่งเลือด นอกจากตำรวจเสียชีวิต 2 นายที่จังหวัดพระตะบอง ก็มีการรบเหนือสนามบินวัฒนานครอีกแห่งเดียว

ยุทธเวหา 20 ต่อ 3

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 09.00 น. เครื่องบินขับไล่ Ki-27 จากกองบินน้อยที่ 77 จำนวน 11 ลำ และเครื่องบินโจมตี Ki-30 จากกองบินน้อยที่ 31 จำนวน 9 ลำ บินออกมาจากฐานทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนฝรั่งเศส ก่อนตรงดิ่งเข้าโจมตีสนามบินวัฒนานคร ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกประเทศไทย กว่าที่คนในสนามบินจะทันรู้ตัว ก็พบเครื่องบินจำนวนมากอยู่บนหัวแล้ว การจู่โจมแบบสายฟ้าแลบประสบความสำเร็จ 

แต่ทว่าฝูงบินที่ 43 กองบินผสมที่ 80 ไม่คิดยอมแพ้ จึงได้ส่งเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 3 ลำเข้าสกัดกั้น การรบบนฟากฟ้าดำเนินไปอย่างดุเดือด เครื่องบินปีกสองชั้นของไทยพยายามอย่างเต็มที่ แต่ไม่อาจต้านทานเครื่องบินขับไล่ Ki-27 ที่มีปีกชั้นเดียวและทันสมัยกว่าได้ ท้ายที่สุดจึงถูกญี่ปุ่นยิงตกทั้ง 3 ลำ นักบินบนเครื่องเสียชีวิตทุกนาย ยุทธเวหาเหนือน่านฟ้าไทยได้ยุติลง พร้อมการต่อต้านครั้งสุดท้ายของชายแดนตะวันออก กองพลรักษาพระองค์โคโนเอะเข้าไทยได้สำเร็จ โดยสูญเสียแค่ทหารจำนวน 3 นายที่พระตะบอง

                                                                                               เครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 กองทัพอากาศไทย
บทสรุปที่ยังไม่จบ

ญี่ปุ่นบุกไทยโดยใช้เส้นทางจำนวนมาก ประกอบไปด้วย ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ บางปู (สมุทรปราการ) และชายแดนด้านอรัญประเทศ เพื่อควบคุมเส้นทางระหว่างแหลมมลายู-พม่า ควบคุมกำลังทหารไทยในภาคใต้ทั้งหมด ต้องการที่พักสำหรับทหารหลายหมื่นนาย รวมทั้งทหารที่จะตามมาภายหลัง เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเป็นทางผ่าน จึงไม่มีการโจมตีอย่างหนักระหว่างปะทะกัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้อยู่ในระดับที่ดี รวมทั้งต้องการประหยัดอาวุธ ยุทธปัจจัย และกำลังทหารไปในตัว 

ญี่ปุ่นมีความต้องการใช้พื้นที่ประเทศไทย เป็นสถานที่คุมตัวนักโทษสงครามจำนวนมาก มีการตัดถนนเพื่อใช้ในการขนส่ง รวมทั้งสร้างทางรถไฟเพิ่มเติม หรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ญี่ปุ่นยังใช้ไทยเป็นสถานที่พักผ่อน ของทหารที่กลับมาจากแนวหน้า รวมทั้งสถานที่รักษาตัวทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ญี่ปุ่นจึงพยายามควบคุมทหารตัวเอง ไม่ให้มีเรื่องประทบกระทั่งกับคนไทย เพราะไม่ต้องการให้เกิดการต่อต้านในวงกว้าง จนส่งผลกระทบต่อการรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ที่แหลมมลายู พม่า รวมทั้งอินเดีย


บทความเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง : วันญี่ปุ่นขึ้นบก ตอนที่ 2 ก็ได้จบลงเป็นที่เรียบร้อย ญี่ปุ่นสามารถบุกเข้าไทยได้ตามแผน ทว่าเป็นเพียงปฐมบทของสงครามใหญ่เท่านั้น บทความที่เกี่ยวข้องตอนถัดไป จะเป็นเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน แต่คราวนี้จะสลับผู้ร้าย-ผู้ดีกันบ้าง โดยเป็นเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนี้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ  ;)

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
  
อ้างอิงจาก




















ภาพที่เกี่ยวข้องกับนครศรีธรรมราชอ้างอิงจาก : http://www.gotonakhon.com/




วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part II : Anti-Submarine Missile



 อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 2 : จรวดปราบเรือดำน้ำ


ความเดิมตอนที่แล้ว ---> Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part I : Depth Charge

    หลังได้รู้จักระเบิดลึกเป็นที่เรียบร้อย ผู้เขียนจะเขียนถึงอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดถัดไป ได้แก่ เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Mortar  จรวดปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Rocket และ อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Missile อาวุธทั้งหมดเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องกัน ระยะเวลาคาบเกี่ยวหรือต่อเนื่องกัน และใช้วิธียิงออกจากเรือเช่นเดียวกัน จึงรวบรวมไว้ในตอนนี้พร้อมหน้ากัน แม้ตัวอาวุธจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะอาวุธชนิดท้ายสุดที่ทันสมัยที่สุด

เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog 

    อย่างที่ผู้อ่านทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเรือดำน้ำเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร แม้ว่ากองทัพเรืออังกฤษในตอนนั้น จะติดตั้งเครื่องยิงระเบิดลึกบนเรือรบทุกลำ แต่ก็ยังมีอัตรายิงช้าเกินไป ระยะทำการสั้นเกินไป จำนวนที่ยิงมีน้อยเกินไป .ใช้เวลาในการบรรจุนานเกินไป รวมทั้งขาดความแม่นยำอีกด้วย อังกฤษจึงได้ค้นคิดอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ ที่สามารถช่วยปิดจุดอ่อนที่ว่ามา โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สุงเกินไป รวมทั้งมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปด้วย

    อาวุธดังกล่าวเข้าประจำการในปี 1942 และเข้าสู่การรบทางทะเลอันดุเดือดทันที โดยมีสถิติกับเรือดำน้ำเยอรมันดังนี้ ทำการโจมตี 268 ครั้ง สามารถทำลายเป้าหมายได้ 47 เป้าหมาย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่การโจมตี 5.7 ครั้งต่อ 1 เป้าหมาย เป็นสถิติที่ไม่เลวเลยใช่ไหมครับ นั่นเป็นเพราะการโจมตีมีความรุนแรงกว่าเดิม ระยะทำการไกลกว่าเดิม รัศมีการโจมตีมากกว่าเดิม และมีความแม่นยำมากกว่าเดิม ทั้งนี้ก็เพราะใช้ระบบโซนาร์ ในการค้นหาเป้าหมายใต้น้ำ รวมทั้งควบคุมการยิงอาวุธรุ่นใหม่

    อาวุธที่ว่าก็คือ Hedgehog ถูกตั้งชื่อตามลักษณะแท่นยิง ซึ่งประหนึ่งมีหนามแหลมเหมือนขนเม่น  แท่นยิงมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ในกล่องมีเหล็กแท่งสำหรับติดตั้งลูกระเบิดจำนวน 24 นัด ลูกระเบิดมีขนาดกว้าง 7.2 นิ้ว ยาว 1.18 เมตร หนัก 29 กิโลกรัม น้ำหนักหัวรบอยู่ที่ 16 กิโลกรัม ระยะยิงไกลสุดประมาณ 250 เมตร ระยะยิงใกล้สุดประมาณ 37 เมตร แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยตามชนิดหัวรบ


    ลูกระเบิดทั้ง 24 นัดจะถูกยิงออกไปไล่เรี่ยกัน แล้วตกลงสู่พื้นน้ำเป็นพื้นที่กว้างตามกำหนด การใช้งาน Hedgehog ทำได้หลายรูปแบบ ถ้าใช้จรวด Mark 10 จะสร้างพื้นที่ทำลายล้างเป็นรูปไข่ กว้าง 59 เมตร ยาว 51 เมตร เหมาะกับการยิงถล่มเป้าหมายที่ชัดเจน หรือถ้าใช้จรวด Mark 11 จะสร้างพื้นที่ทำลายล้างเป็นรูปวงกลม กว้างและยาว 244 เมตร เหมาะกับการป้องกันตัวเองจากเป้าหมาย รวมทั้งใช้ยิงเพื่อเปิดทางแก่ให้กองเรือ

    แท่นยิงรุ่นแรกสุดคือ  Mark 10 ควบคุมการยิงด้วยมือ โดยมีจุดลั่นไกอยู่ด้านหลังแท่นยิง ติดตั้งแผ่นเหล็กกำบังความร้อน เมื่อทุกอย่างพร้อมและได้รับคำสั่งยิง พลยิงจะหมุนจุดลั่นไกตามเข็มนาฬิกาติดต่อกัน จนกว่าลูกจรวดทุกนัดจะยิงออกไปจนครบ แท่นยิงรุ่นถัดมาคือ  Mark 11 ได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ควบคุมการยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากจากสะพานเดินเรือ และใช้โซนาร์รุ่นใหม่ค้นหาเป้าหมายใต้น้ำ

    การบรรจุลูกจรวดใช้เวลาเพียง 3 นาที จึงสามารถยิงเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง ลูกจรวดมีขนาดเล็ก จัดเก็บง่าย ดูแลง่าย ติดตั้งกับเรือเล็กเช่นเรือตรวจการณ์ชั้น PC-461 ได้ เรืออังกฤษมักใช้งานร่วมกับโซนาร์ค้นหาเป้าหมาย Type 127D มีระยะตรวจจับไกลสุด 2,286 เมตร หรือโซนาร์ค้นหาและโจมตีรุ่น Type 144 ซึ่งเป็นโซนาร์แบบ Retractable เมื่อไม่ใช้งานสามารถจัดเก็บใต้ท้องเรือได้ (มีระยะตรวจจับใกล้เคียงโชนาร์ Type 127D ) ขณะที่เรืออเมริกามักใช้งาน Hedgehog ร่วมกับโซนาร์แอสดิค ( ASDIC) รวมทั้งโซนาร์ AN/SQS 17B ที่เป็นรุ่นใหม่กว่า

    Hedgehog ประจำการในกองทัพเรือหลายสิบประเทศ เป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด เป็นช่วงเวลาทองของอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดนี้ อเมริกายังได้พัฒนาระบบแท่นยิง Mark 15 เพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลัง แท่นยิงรุ่นใหม่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้าสมบรูณ์แบบ บังคับควบคุมทิศทางแท่นยิงได้ ทำงานร่วมกับระบบโซนาร์ AN/SQS 17B น้ำหนักรวมทั้งแท่นยิงอยู่ที่ 7.9 ตัน  Mark 15 ถูกติดตั้งบนเรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำจำนวนมาก หลายประเทศยังได้จัดหาไปใช้งาน อาทิเช่น ตุรกี ชิลี

            เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ Papudo (P 37) ของชิลี หัวเรือติดตั้งแท่นยิง Mark 15 จำนวน 1 ระบบ

            เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ L'Opiniatre (P 642) ของฝรั่งเศส หัวเรือติดตั้งแท่นยิง Mark 11 จำนวน 1 ระบบ



เรือพิฆาต USS Sarsfield (DD-837) ของอเมริกา หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งแท่นยิง Mark 15 จำนวน 1 ระบบตรงกลาง และแท่นยิง Mark 11 จำนวน 2 ระบบขนาบซ้าย-ขวา ทำให้มี Hedgehog พร้อมใช้งานจำนวน 72 นัด

    USS Sarsfield (DD-837) มีประวัติที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรือพิฆาตชั้น Gearing ขนาด 3,460 ตัน เข้าประจำการในปี 1945 โดยติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วแท่นคู่จำนวน 3 แท่นยิง ปืนต่อสู้อากาศยาน 40/60 มม.แท่นคู่จำนวน 6 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน 20 มม.จำนวน 11 กระบอก รวมทั้งตอร์ปิโด 533 มม. จำนวน 10 แท่นยิง หลังสงครามโลกได้ถอดปืนใหญ่ 5 นิ้วหน้าสะพานเดินเรือออก แล้วใส่ Hedgehog จำนวน 3 แท่นยิงเข้าไปแทนที่ ปี 1967 ได้รับการปรับปรุงใหญ่ตามโครงการ FRAM Upgrade โดยติดตั้งแท่นยิงแฝดสาม Mark 32 สำหรับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 จำนวน 2 แท่นยิง  แท่นยิงแฝดแปด Mark 112 สำหรับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC รวมทั้งระบบโซนาร์ SQS-23 ที่มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 40,000 หลา หรือ 36.57 กิโลเมตร

    ปี 1977 USS Sarsfield (DD-837) ถูกโอนไปให้ไต้หวัน โดยใช้ชื่อ Te Yang (DD-25) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น DDG-925 ในภายหลัง ไต้หวันปรับปรุงเรือครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการติดตั้งปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยาน SM-1 จำนวน 10 นัด จรวดต่อสู้เรือรบ Hsiung Feng II จำนวน 8 นัด รวมทั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx CIWS เพิ่มเติมในภายหลัง เรือลำนี้ปลดประจำการในปี 2005 ก่อนกลายมาเป็นเรือพิพิธภัณฑ์ในท้ายสุด ระยะเวลา 60 ปีที่เข้าประจำการ เรือได้รับการติดตั้งอาวุธที่ดีที่สุดในแต่ล่ะยุคสมัย จำนวนมากที่สุดเท่าที่สามารถโหลดได้ ใช้ระบบเรดาร์และเซนเซอร์ที่ดีที่สุด เพื่อให้เรือมีความพร้อมรบมากที่สุด


    กองทัพเรือไทยเคยติดตั้งระบบแท่นยิง Mark 11 บนเรือรบจำนวน 5 ลำ ได้แก่ ได้แก่ เรือหลวงท่าจีน (ลำที่สอง) เรือหลวงประแสร์ (ลำที่สอง) เรือหลวงปิ่นเกล้า เรือหลวงตาปี และเรือหลวงคีรีรัฐ นับเป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำมาตราฐานรุ่นหนึ่ง ก่อนปลดประจำการจนหมดในปี 1984 เมื่อเรือหลวงคีรีรัฐถอด Hedgehog แท่นยิงท้ายสุดออกจากเรือ ปิดตำนานอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดนี้ไว้ที่ 33 ปี แต่ถ้ารวมเครื่องยิงลูกระเบิดชนิดต่อไป ซึ่งใช้ลูกระเบิดรุ่นเดียวกัน ลูกระเบิดจะมีอายุประการในกองทัพเรือไทยเท่ากับ 37 ปี

    ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าบนเรือหลวงปิ่นเกล้า ยังคงมีแท่นยิง Mark 11 ติดตั้งอยู่หรือไม่ แต่เนื่องมาจากเรือปลดประจำการไปแล้ว อยู่ในสถานะเรือครูเข้าร่วมพิธีสำคัญเท่านั้น เท่ากับว่าอาวุธทุกชนิดบนเรือไม่ได้ประจำการ รวมทั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำในตำนานชื่อ Hedgehog ด้วย

เรือหลวงคีรีรัฐก่อนปี 1984 ยังคงมีแท่นยิง Mark 11 หน้าสะพานเดินเรือ แม่สาวเซ็กซี่ขี้เหร่ของผู้เขียน เป็นเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น PF-103 จำนวนไม่กี่ลำบนโลก

เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap 

     หลังอังกฤษประจำการเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog แล้ว สัมพันธมิตรทุกประเทศต่างทยอยจัดหามาใช้งานบ้าง อเมริกาเองได้ประจำการ Hedgehog เช่นกัน โดยใช้ระบบแท่นยิง Mark 10 ทำงานควบคู่ระบบโซนาร์ ASDIC จากนั้นจึงพัฒนาต่อเป็นระบบแท่นยิง Mark 11 และ Mark 15 ตามที่ทราบกันไปแล้ว

    อเมริกาไม่ได้หยุดแค่เพียงเท่านี้ เพราะต้องการติดตั้งอาวุธบนเรือขนาดเล็กด้วย แต่ถ้าใช้แท่นยิง Mark 11 ก็จะวุ่นวาย จำเป็นต้องถอดปืนใหญ่หัวหน้าออกไปด้วย จึงพัฒนาแท่นยิงขนาดกระทัดรัดขึ้น บรรจุลูกระเบิดจำนวน 4 นัดในรุ่น Mark 20 และ 8 นัดในรุ่น Mark 22 แท่นยิงถูกออกแบบให้เป็นระบบราง มีน้ำหนักเบาพับเก็บอยู่บนดาดฟ้าเรือ เมื่อต้องการใช้งานจึงกางรางขึ้นทำมุม 48 องศา สามารถยิงได้ไกลสุดประมาณ 280 เมตร ทำให้เรือขนาดเล็กติดตั้ง Mousetrap ได้อย่างสะดวก เป็นอาวุธที่ใช้งานง่าย ใช้พื้นที่น้อย ราคาไม่แพง ประจำการอยู่บนเรือตรวจการณ์กองทัพเรืออเมริกา หน่วยยามฝั่งอเมริกา รวมทั้งมิตรประเทศที่ได้รับโอนเรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรือลำเล็กสุดที่ติดตั้ง Mousetrap  คือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้น 83 ฟุต


    เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 ของอเมริกา สามารถจมเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำของเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่นรวมกันจำนวน 13 ลำ เกือบทั้งหมดมาจากปืนใหญ่และระเบิดลึก ทั้งจากรางปล่อยด้านท้ายเรือหรือเครื่องยิงกราบเรือซ้ายและขวา ส่วน Mousetrap ที่อยู่ด้านหัวเรือนั้น ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน ว่าสามารถจมเรือดำน้ำได้กี่ลำกันแน่ (หรืออาจมีสถิติเท่ากับศูนย์) นั่นเป็นเพราะมีจำนวนลูกระเบิดน้อยเกินไป การยิงซัลโวชุดล่ะ 8 นัดครอบคลุมพื้นที่ไม่มาก ต่างจาก Hedgehog ที่มีจำนวนลูกระเบิดถึง 24 นัด

    กองทัพเรือไทยประจำการ Mousetrap ตั้งแต่ปี 1947 บนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 จำนวน 8 ลำ โดยติดตั้งแท่นยิง Mark 20 จำนวน 2 รางหน้าปืนใหญ่หัวเรือ ควบคุมการยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือ นอกจากนี้ยังติดตั้งบนเรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) เมื่อเปลี่ยนภารกิจมาเป็นเรือฝึกในภายหลัง เรือปลดประจำการประมาณปี 1985 ทำให้ Mousetrap ได้ปลดประจำการตามไป เป็นอาวุธที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ

เรือหลวงสุครีพกลับจากการซ่อมแซมที่เกากวมในปี 1965 มองเห็นแท่นยิง Mark 20 ได้อย่างชัดเจน ด้านล่างคือภาพผ่าครึ่งลูกระเบิด Mousetrap ซึ่งใช้งานกับ Hedgehog ด้วยเช่นกัน

เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Limbo

    ย้อนกลับไปสงครามโลกครั้งที่สองอีกครั้ง หลังอังกฤษเข้าประจำการเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog ได้เพียงปีเดียว พวกเขาก็พัฒนาอาวุธชนิดใหม่สำเร็จ Squid Anti Submarine Mortar เป็นระบบแท่นยิงลูกระเบิดชนิดแฝดสาม ขนาดลำกล้อง 305มม.น้ำหนักรวม 7 ตัน ลูกระเบิดมีขนาด 177 กิโลกรัม หัวรบขนาด 94 กิโลกรัม ควบคุมการยิงอัตโนมัติด้วยระบบโซนาร์ ระยะยิงไกลสุดประมาณ 250 เมตร โจมตีได้ลึกสุดที่ 270 เมตร สามารถบรรจุลูกระเบิดเพิ่มด้วยระบบรางไฟฟ้า หรือจะเรียกเครื่องยิงลูกระเบิดรุ่นเฮฟวี่เวทก็ได้นะครับ

    ลูกระเบิดตกสู่พื้นน้ำทำมุมสามเหลี่ยมกว้าง 37 เมตร ด้วยลูกระเบิดลึกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หัวรบขนาดใหญ่ขึ้น จึงมีความรุนแรงในการโจมตีมากกว่าเดิม กองทัพเรืออังกฤษติดตั้ง Squid บนเรือรบประมาณ 70 ลำ ผลการโจมตีระหว่างสงครามจำนวน 50 ครั้ง สามารถทำลายเรือดำน้ำข้าศึกได้ถึง 17 ลำ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่การโจมตี 2.94 ครั้งต่อ 1 เป้าหมาย เป็นสถิติที่ที่สุดในยุคนั้นกันเลยทีเดียว

    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Squid เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำมาตราฐานของอังกฤษ โดยมีการผลิตออกมาจำนวน 195 ระบบ แต่ด้วยระยะยิงที่สั้นพอสมควร ทำให้มีปัญหาในการรับมือเรือดำน้ำรุ่นใหม่ จึงพัฒนาอาวุธที่ทันสมัยมากกว่าเดิม ระยะยิงไกลกว่าเดิม แต่ใช้ลูกระเบิดชนิดเดียวกัน

                                                  ระบบแท่นยิง ระบบรางโหลดบรจุ และคลังเก็บลูกระเบิดของ Squid

                                            อำนาจการทำลายของลูกระเบิดหนัก 177 กิโลกรัมจำนวน 3 นัด

    ในปี 1955 (หรือ 12 ปีหลังจาก Squid เข้าประจำการ) Limbo Anti Submarine Mortar Mark 10 ได้เข้าประจำการบนเรือรบลำแรก โดยการนำ Squid มาปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ใช้ลำกล้องเครื่องยิงจรวดยาวมากกว่าเดิม จนสามารถเพิ่มระยะยิงเป็น 366 เมตรถึง 914 เมตร ทำงานร่วมกับระบบโซนาร์รุ่นใหม่ ได้แก่ Type 170 และ Type 174 ทว่าน้ำหนักรวมทั้งระบบก็เพิ่มขึ้นเป็น 35 ตันด้วย (รวมลูกระเบิดจำนวน 51 นัด สามารถยิงซัลโวได้รวม 17 ชุด) จึงต้องการพื้นที่ติดตั้งขนาดใหญ่ตาม เนื่องจากขนาดลำกล้องที่ยาวเทอะทะ จึงนิยมติดตั้ง Limbo ทั้งระบบใต้ดาดฟ้าใหญ่ เรือบางลำสร้างหลังคาคลุมด้านบน เมื่อใช้งานจึงเปิดหลังคาออกแล้วยกแท่นยิงขึ้น


     Limbo เข้าประจำการบนเรือรบจำนวนมาก เรือบางลำติด Limbo ถึง 2 ระบบตามความยาวเรือ นอกจากกองทัพเรืออังกฤษแล้ว ยังมีอีกหลายชาติจัดหาเครื่องยิงลูกระเบิดรุ่นทั้งใหญ่และยาวไปใช้งาน ราชนาวีไทยไม่ยอมน้อยหน้าชาติอื่น ในปี 1973 จึงได้ Limbo มาพร้อมเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ก่อนปลดประจำการอาวุธในปี 1988 โดยติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Sting Ray ทดแทน (เท่ากับประจำการประมาณ 15 ปี) ใกล้เคียงช่วงเวลาที่อังกฤษปลดประจำการอาวุธชนิดนี้ Limbo ได้เข้าร่วมสงครามฟอร์คแลนด์ในปี 1982 ด้วย แต่กองเรืออังกฤษค้นหาเรือดำน้ำอาร์เจนติน่าไม่เจอ จึงไม่มีการใช้งาน Limbo แต่อย่างใด


    แม้ Limbo จะปลดประจำการไปแล้ว แต่อาวุธยังคงติดตั้งอยู่ในเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ในอนาคตถ้าปลดประจำการและจัดทำเป็นเรือพิพิธภัณฑ์ แค่เอาแท่นยิงจรวดซีแคทและเรดาร์ควบคุมการยิง กลับมาติดตั้งอีกครั้งในตำแหน่งเดิม ก็จะได้เรือที่สมบรูณ์แบบอีกลำหนึ่ง ปัญหาก็คือซีแคทยังอยู่ไหม


    สงครามอินเดีย-ปากีสถานวันที่ 9 ธันวาคม 1971 มีการปะทะกันระหว่างเรือดำน้ำของปากีสถาน กับเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำของอินเดีย เรือดำน้ำ PNS Hangor (S131) ชองปากีสถาน ได้ยิงตอร์ปิโดใส่เรือฟริเกต INS Khukri (F149) ของอินเดียแล้วรีบฉากหนี ตอร์ปิโดลูกสุดท้ายโดนที่บริเวณถังน้ำมัน ทำให้เรือฟริเกตชั้น Type 14 Blackwood ขนาด 1,200 ตันจมลงใน 5 นาที เรือฟริเกต INS Kirpan (F144) ของอินเดียได้โจมตีคืนด้วยระเบิดลึก ทว่า PNS Hangor หลบหนีไปไกลแล้ว ส่วนเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Limbo จำนวน 2 แท่นยิง ก็ดันเสียหายใช้งานไม่ได้ เรือดำน้ำปากีสถานลาดตระเวนต่อไปอีก 4 วัน ก่อนหันหัวเรือกลับสู่ฐานทัพโดยสวัสดิภาพ

    เรือฟริเกตชั้น Type 14 Blackwood เคยติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม.รุ่น Mk 20 Bidderจำนวน 4 ท่อยิง แต่ถอดออกหลังประจำการได้ไม่นาน เพราะอาวุธประสบปัญหาพอสมควร จึงหันมาพัฒนาตอร์ปิโดขนาด 324 มม.ทดแทน ครั้นเข้าร่วมสงครามภายใต้กองทัพเรืออินเดีย จึงสู้เรือดำน้ำรุ่นใหม่ของปากีสถานไม่ได้ ทั้งในด้านระบบอาวุธและระบบตรวจจับเป้าหมาย

                                                ขนาดลูกระเบิด Limbo และ Squid เทียบกับลูกระเบิด Hedgehog และ Mousetrap

จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 (RBU-1200)

    จรวดปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Rocket เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำพิสัยใกล้และพิสัยปานกลาง มีลักษณะเป็นลูกจรวดไม่นำวิถี (Rocket) ขับเคลื่อนในตัวด้วยเชื้อเพลิงแข็ง ควบคุมระยะยิงด้วยการคำนวณมุมกระดก และความเร็วต้นของจรวดจากระบบคอมพิวเตอร์ สามารถจุดชนวนหัวรบได้ 3 วิธี ได้แก่ ชนวนระเบิดด้วยการตั้งเวลา ชนวนเฉียดระเบิด (Proximity) ด้วยอิทธิพลของอำนาจแม่เหล็กหรือเสียง และชนวนระเบิดด้วยการตั้งระยะลึก โดยมีระยะยิงตั้งแต่ 500 เมตร ถึง 6,000 เมตร

    ปี 1991 กองทัพเรือไทยได้สั่งซื้อเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำจากจีน โดยแบ่งเป็นชั้น Type 053HT Jianghu-III จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงบางปะกง (ลำที่สอง) กับเรือหลวงเจ้าพระยา (ลำที่สอง) และชั้น Type 053HT-H Jianghu-III จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงกระบุรี กับเรือหลวงสายบุรี เรือทั้ง 4 ลำติดตั้งระบบโซนาร์ SJD-5  ทำงานควบคู่กับจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 กองทัพเรือไทยใช้คำเรียกว่า Rocket Depth Charge หรือ RDC แบบ 86 อาจเป็นเพราะมันคือระเบิดลึกขับเคลื่อนในตัวนั่นเอง

    จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 พัฒนาปรับปรุงมาจากรุ่น RBU-1200 ของโซเวียต แท่นยิงขนาดกระทัดรัดน้ำหนักเพียง 620 กิโลกรัม มีท่อยิงจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 5 ท่อ แท่นยิงยาว 1.390 เมตร กว้าง 1.140 เมตร สุง 1.150 เมตร ควบคุมการยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือ สามารถเลือกยิงทีล่ะนัดหรือซัลโวหมดทั้ง 5 นัดก็ได้ สามารถควบคุมด้วยมือในกรณีฉุกเฉินได้ ลูกจรวดมีน้ำหนัก 69.6 กิโลกรัม หัวรบ TNT มีน้ำหนัก 30.1 กิโลกรัม หัวรบTBA มีน้ำหนัก 32 กิโลกรัม ลูกจรวด ยาว 1.228 เมตร กว้าง 0.252 เมตร ระยะยิงไกลสุดเมื่อกระดกมุม 45 องศาเท่ากับ 1,200 เมตร ถึง 1,450 เมตร รัศมีการทำลายด้วยหัวรบ TNT เท่ากับ 6 เมตร รัศมีการทำลายด้วยหัวรบ TBA เท่ากับ 9 เมตร ตั้งระเบิดได้ที่ความลึกมากสุด 300 เมตร


    เนื่องจากอาวุธค่อนข้างเก่ามาก RBU-1200 เริ่มเข้าประจำการในปี 1956 ทำงานควบคู่กับ Tamir-11 (MG-11) Search Light Sonar ซึ่งเป็นโซนาร์แบบ Retractable มี Telescoping Arm ยื่นออกมาจากใต้ท้องเรือ เมื่อไม่ต้องการใช้งานสามารถหดเก็บได้ จีนได้ขอซื้อลิคสิทธิ์อาวุธมาผลิตเองในชื่อ จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 และ SJD-3 telescoping high frequency active sonar บังเอิญว่าเรือของไทยใช้ระบบโซนาร์ SJD-5 ซึ่งนำ SJD-3 มาปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น การตรวจจับเป้าหมายจึงทำได้ดีขึ้น ทว่าประสิทธิภาพอาวุธยังคงเดิมนะครับ

    โชคของการยิงโดนของ Type 86 เมื่อเป้าใต้น้ำอยู่ในระดับความลึกไม่เกิน 100 เมตร โชคของการยิงโดนเป้าในการยิงแบบซัลโวจำนวน 10 นัด จะมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เปอร์เซนต์ เป้าหมายจะถูกทำลายถ้าอยู่ในรัศมีของลูกจรวดไม่เกิน 5 เมตร  เป้าหมายจะได้รับความเสียถ้าอยู่ในรัศมีของลูกจรวดไม่เกิน 5 ถึง 10 เมตร (ขึ้นอยู่กับชนิดของหัวรบด้วย) เรือฟริเกตชั้น Jianghu-III ทุกลำ สามารถจัดเก็บลูกจรวดในคลังได้จำนวน 30 นัด โดยมีช่องโหลดอาวุธที่หัวเรือระหว่างแท่นยิงทั้งสองด้าน แต่การบรรจุลูกจรวดต้องทำด้วยมือนะครับ โดยการกระดกท่อยิงทำมุม 4 องศา จากนั้นจึงทำการบรรจุทีล่ะนัดจนครบทุกท่อ

    จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86และ ระบบโซนาร์ SJD-5 ยังคงขายได้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมีลูกค้ากระเป๋าเบาจัดหาใช้งานสม่ำเสมอ จึงไม่น่ามีปัญหาในเรื่องการซ่อมบำรุงหรือจัดหาลูกจรวดเพิ่มเติม กองทัพเรือไทยได้มีการซ้อมยิง Type 86 มาโดยตลอด อาวุธยังคงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ แม้ประสิทธิภาพจะน้อยนิดแต่ถ้ายิงโดนก็จมนะเออ ผู้เขียนแค่ติดใจเรื่องระบบโซนาร์ SJD-5 เท่านั้น ว่ายังคงสามารถใช้งานได้ดีมากน้อยแค่ไหน

                                                      เรือหลวงกระบุรีทดสอบยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 ในปี 2012


อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC 

    อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ เป็นระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำระยะไกล สามารถโจมตีเป้าหมายตั้งแต่ระยะ 10 กิโลเมตรขึ้นไป มีลักษณะผสมกันระหว่างอาวุธนำวิถี พื้น-สู่-พื้น กับอาวุธปราบเรือดำน้ำ ได้แก่ ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำหรือระเบิดลึกนิวเคลียร์ มีส่วนประกอบสำคัญดังนี้

    - อาวุธนำวิถี

    - แท่นยิงอาวุธนำวิถี

    - ระบบโซนาร์สำหรับตรวจจับและพิสูจน์ทราบเป้าหมาย เพื่อส่งข้อมูลไปยังเครื่องควบคุม

    - ระบบควบคุมการยิง มีหน้าที่ควบคุมการโคจรของอาวุธนำวิถี ให้เดินทางไปถึงยังจุดหมายที่กำหนด ก่อนปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำให้ตกสู่พื้นน้ำ

    อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำประกอบไปด้วย โครงลูกจรวดใช้บรรจุอาวุธปราบเรือดำน้ำ มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวจรวด และชุดกลไกปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำให้ตกสู่พื้นน้ำ อาวุธนำวิถีเดินทางสู่เป้าหมายด้วยระบบขับเคลื่อนเชื้อเพลิงแข็ง ก่อนปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำลงสู่พื้นน้ำ เหนือตำแหน่งที่ได้ตั้งข้อมูลไว้ล่วงหน้า

    ถ้าอาวุธปราบเรือดำน้ำเป็นตอร์ปิโด ทันทีที่ตอร์ปิโดแยกตัวจากโครงจรวด ร่มหน่วงความเร็วท้ายตอร์ปิโดจะกางออก เพื่อลดอัตราความเร็วในการตกสู่พื้นน้ำ และควบคุมการตกสู่พื้นน้ำให้มีความปลอดภัย ร่มจะปลดออกโดยอัตโนมัติเมื่อตอร์ปิโดตกถึงพื้นน้ำ และแบตเตอรี่ตอร์ปิโดจะเริ่มทำงานเมื่อสำผัสน้ำทะเล

    ถ้าอาวุธปราบเรือดำน้ำเป็นระเบิดลึกนิวเคลียร์ ทันทีที่แยกตัวจากโครงจรวด ลูกระเบิดลึกจะยังคงโคจรต่อไปด้วยแรงเฉื่อย โดยใช้ครีบหางรักษาเสถียรภาพการทรงตัว ซึ่งครีบหางจะกางออกโดยอัตโนมัติ และหลุดออกเมื่อกระทบกับพื้นน้ำโดยแรง ลูกระเบิดลึกจะจมลงและระเบิดตามความลึกที่กำหนดไว้


    อเมริกาเริ่มต้นพัฒนาอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 เพื่อนำมาแทนที่ RUR-4 Weapon Alpha ซึ่งล้าสมัยและมีระยะยิงสั้นมาก Weapon Alpha มีรูปร่างหน้าตาคล้ายปืนใหญ่ขนาด 5.25 นิ้ว แต่ทว่าใช้ยิงระเบิดลึกขนาด 238 กิโลกรัมได้ไกลเพียง 730 เมตร เมื่ออเมริกาพัฒนาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 สำเร็จเรียบร้อย จึงต่อยอดมาเป็น RUR-5 ASROC (ย่อมาจากAnti-Submarine ROCket) ในท้ายที่สุด

    ASROC เริ่มเข้าประจำการในปี 1959 บนเรือ USS Norfolk (DL-1) ซึ่งเป็นเรือพิฆาตขนาดใหญ่ระวางขับน้ำ 5,600 ตัน อเมริกาเรียกเรือชนิดนี้ว่า Destroyer Leader (DL) ถือกำเนิดมาจากโครงการ Hunter-Killer Cruiser ในอดีต โดยมีภารกิจหลักคือปราบเรือดำน้ำ จึงติดตั้ง RUR-4 Weapon Alpha จำนวน 4 ระบบที่หัวเรือและท้ายเรือ RUR-5 ASROC ถูกติดตั้งทดแทน Weapon Alpha ด้านท้ายเรือ อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ สามารถบรรจุตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 หรือระเบิดลึก Mark 17 ที่ใช้หัวรบนิวเคลียร์ W44

    หลัง USS Norfolk (DL-1) ปรับปรุงแล้วเสร็จได้ไม่นาน โครงการ FRAM Upgrade (Fleet Rehabilitation and Modernization) จึงเริ่มเดินหน้าทันที FRAM Upgrade คือการปรับปรุงใหญ่เรือพิฆาตชั้น Gearing เรือจะได้รับการติดตั้ง แท่นยิงแฝดแปด Mark 112 สำหรับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC และแท่นยิงแฝดสาม Mark 32 สำหรับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 รวมทั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-23 ที่ทันสมัย โดยที่ FRAM II (หรือเฟสสอง) จะปรับปรุงท้ายเรือให้เป็นลานจอดกับโรงเก็บ รองรับอากาศยานไร้คนขับปราบเรือดำน้ำ QH-50 DASH จึงมีความยืดหยุ่นในการทำภารกิจมากกว่าเดิม เรือพิฆาตชั้น Gearing จำนวน 94  ลำได้รับการปรับปรุง เมื่อรวมกับเรือพิฆาตชั้น Allen M. Sumners อีกจำนวน 33 ลำที่ปรับปรุงเพิ่มเติม ส่งผลให้ ASROC กลายเป็นระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นมาตราฐาน ของกองทัพเรืออเมริกาไปในทันที

    หมายเหตุ : ปัจจุบันอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก กำลังได้รับความนิยมชนิดล้นหลาม และมีใช้งานแทบทุกกองทัพเรือก็ว่าได้ เพียงแต่เปลี่ยนภารกิจมาเป็นลาดตระเวณหาข่าว รับ-ส่งข้อมูลให้กับเรือรบและอาวุธนำวิถี รวมทั้งต่อต้านเรือผิวน้ำ (ได้ในระดับหนึ่ง) QH-50 DASH แค่เกิดเร็วไป 50 กว่าปีเท่านั้นเอง

     ASROC ถูกควบคุมด้วย Underwater Battery Fire Control System Mark 114 เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมอาวุธปราบเรือดำน้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการยิงอาวุธปราบเรือดำน้ำ ออกคำสั่งในการหันหรือกระดกแท่นยิง ช่วยในการติดตามเป้าหมายให้กับโซนาร์ รวมทั้งให้ข้อมูลเรดาร์เมื่อต้องการติดตามเป้าหมายด้วยเรดาร์ ควบคุมการยิงแท่นยิงแฝดแปด Mark 112 สำหรับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC และแท่นยิงแฝดสาม Mark 32 สำหรับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 ระบบหลักของ Mark 114 FCS ประกอบไปด้วย

    - Attack Console Mark 53 MOD 0 ส่วนประมวลผลกลางระบบควบคุมการยิง

    - Position Indicator Mark 78 MOD 2 แสดงข้อมูลของเรือยิง เรือเป้าหมาย และข้อมูลในการใช้อาวุธ

    - Stabilization Computer Mark 134 ให้ข้อมูลการหันและกระดกกับระบบควบคุมการยิง

    - Relay Transmitter  Mark 43 ตรวจสอบการทำงานของระบบสัญญาณ สามารถสั่งหยุดสัญญานได้


    ASROC เข้าประจำการมาอย่างยาวนาน เข้าร่วมสงครามทางทะเลก็หลายครั้ง โดยครั้งสำคัญที่สุดก็คือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missle Crisis) ในปี 1962 เมื่อรัฐบาลอเมริกาส่งกองทัพเรือไปปิดล้อมน่านน้ำทะเลแคริบเบี้ยน เพื่อกดดันให้โซเวียตถอนขีปนาวุธพิสัยไกลออกจากคิวบา จึงมีการเผชิญหน้ากับเรือดำน้ำโซเวียตจำนวนหนึ่ง เรือรบอเมริกากดดันเรือดำน้ำโซเวียตอย่างหนัก ด้วยการทิ้งระเบิดลึกเข้าใส่จำนวนมาก เพื่อให้เรือดำน้ำหันหัวกลับหรือหยุดแล้วลอยลำขึ้น ระเบิดลึก Mark 17 หัวรบนิวเคลียร์ถูกติดตั้งกับ ASROC ทันที แท่นยิงแฝดแปด Mark 112 อยู่ในสถานะพร้อมยิง แต่อาวุธไม่ได้ใช้งานเพราะการเจรจาประสบผลสำเร็จ

    สงครามทางทะเลครั้งอื่นที่เรือรบอเมริกาเข้าร่วม ได้แก่ สงครามอิรัก–อิหร่าน (Iran–Iraq War) ระหว่างปี 1980 ถึง 1988 ปฏิบัติการโมร์วาริด (Operation Morvarid) ในปี 1980 ซึ่งเป็นการรบทางทะเลกับกองทัพเรืออิหร่าน ปฏิบัติการโล่ทะเลทราย (Operation Desert Shield) และปฏิบัติการพายุทะเลทราย (Operation Desert Storm) ในสงครามอิรัก-คูเวต (หรือสงครามอ่าวเปอร์เซีย) ระหว่างปี 1990-1991 รวมทั้งสงครามอิรัก (Operation Iraqi Freedom) ในปี 2003 แต่สงครามที่เอ่ยถึงทั้งหมด ไม่พบการเผชิญหน้ากับเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม ASROC จึงไม่ได้ใช้งานหรือเตรียมพร้อมแต่อย่างใด

    ย้อนกลับไปเมื่อเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ราชนาวีไทยเข้าประจำการอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำเป็นครั้งแรก เมื่อเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เข้าประจำการในวันที่ 30 กรกฎาคม 1994 ต่อด้วยเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย เข้าประจำการในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1996 เรือทั้งสองลำได้รับการโอนมาจากกองทัพเรืออเมริกา เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Knox ชื่อ USS Truett (FF-1095) และ USS Ouellet (FF-1077) ตามลำดับ

    เรือฟริเกตอเมริกามาพร้อม RUR-5A Mod 4 ASROC บรรจุตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 46 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ASROC มีความยาว 4.5 เมตร น้ำหนัก 487 กิโลกรัม ระยะทำการไกลสุดประมาณ 19 กิโลเมตร แท่นยิงแฝดแปด Mark 112 สามารถโหลดอาวุธโดยอัตโนมัติจากคลังใต้สะพานเดินเรือ คลังสามารถจัดเก็บลูกจรวดได้จำนวน 16 นัด เมื่อรวมกับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 46 ในคลังอีกจำนวน 24 นัด ทำให้เรือสามารถทำภารกิจได้ถึงยุโรป โดยไม่ต้องกลัวกระสุนหมดกลางทางเสียก่อน ส่วนผลการทำภารกิจผู้เขียนไม่อาจทราบได้


    เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ปลดประจำการไปแล้ว เหลือเพียงเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกลำเดียวเท่นั้น ที่สามารถใช้งานอาวุธทันสมัยชนิดนี้ได้ แต่ก็มีแนวโน้มจะถูกปลดระวางในอีก 5 ถึง 10 ปี

     RUM-139 VL-ASROC คืออาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ล่าสุด พัฒนาต่อจาก RUR-5 ASROC นั่นแหละ โดยใช้ระบบแท่นยิงแนวดิ่ง Mark 41 Vertical Launching System (VLS) ซึ่งมีติดตั้งอยู่บนเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงนเรศวร รวมทั้งเรือฟริเกตลำใหม่ต่อจากเกาหลีใต้ด้วย ผู้เขียนแอบคาดหวังในใจเพียงลำพังว่า กองทัพเรือไทยอาจจะมี RUM-139 VL-ASROC เข้าประจำการในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล

บทส่งท้าย

     บทความเรื่อง อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 2 : จรวดปราบเรือดำน้ำ ก็ได้จบลงแบบกระท่อนกระแท่น บทความตอนต่อไปจะเป็นตอนจบของไตรภาค ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีเรื่องอื่นแซงคิวหรือไม่ ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ  ;)


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
  
อ้างอิงจาก
 
http://www.navsource.org/archives/05/0201.htm

http://www.seaforces.org/wpnsys/SURFACE/RUR-5-ASROC.htm

https://de.wikipedia.org/wiki/RBU-1200

https://en.wikipedia.org/wiki/Naval_weaponry_of_the_People's_Liberation_Army_Navy

https://en.wikipedia.org/wiki/Limbo_(weapon)

http://www.navsource.org/archives/05/837.htm

http://www.navweaps.com/Weapons/WAMUS_ASW.php

http://www.navweaps.com/Weapons/WAMBR_ASW.php#Hedgehog

http://www.ussjpkennedyjr.org/gearings.html

http://www.navweaps.com/Weapons/WAMBR_ASW.php

http://www.fleet.navy.mi.th/ftc/test56/2210.pdf

https://en.wikipedia.org/wiki/USS_Norfolk_(DL-1)

http://www.ww2pcsa.org/patrol-craft.html

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part I : Depth Charge

 อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 1 : ระเบิดลึก


    บทความนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูล อาวุธปราบเรือดำน้ำทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่มีประจำการอยู่ในกองทัพเรือไทย รวมทั้งเครื่องมือค้นหาและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลบางอย่างอาจคลาดเคลื่อนหรือไม่ชัดเจน อาทิเช่น ชื่อเรือที่ติดตั้ง อุปกรณ์ตรวจจับ ระยะเวลาประจำการ หรือจำนวนรวมทั้งหมด ผู้เขียนต้องขออภัยล่วงหน้าไว้ก่อน เนื่องจากข้อมูลเก่าค้นหาได้ค่อนข้างยาก และเนื่องจากมีอาวุธค่อนข้างหลากหลาย จึงได้แบ่งบทความออกเป็นหลายตอน ตามชนิดของอาวุธและระยะเวลาประจำการ เพื่อไม่ให้เสียเวลาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

ระเบิดลึก (DEPTH CHARGE)

    ระเบิดลึกมีใช้งานมาอย่างยาวนานมาก จัดเป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดแรกก็ว่าได้ ประมาณปี 1914 กองทัพเรืออังกฤษได้คิดค้นระเบิดลึกขึ้นมา ด้วยการพัฒนาต่อจากทุ่นระเบิด (Mine) ซึ่งใช้ปราบเรือผิวน้ำ และได้เข้าประจำการในปีถัดไป โดยใช้ชื่อว่า Type A และ Type B ระเบิดลึกรุ่นแรกสุดมีน้ำหนัก 50 ปอนด์หรือ 22. กิโลกรัม น้ำหนักดินระเบิดอยู่ที่ 32.5 ปอนด์หรือ 14.7 กิโลกรัม รุ่น Type A จะตั้งให้ระเบิดที่ความลึก 40 ฟุตหรือ 12 เมตร ส่วนรุ่น Type B สามารถตั้งให้ระเบิดได้ทั้งความลึก 40 ฟุตหรือ 12 เมตร หรือ 80 ฟุตหรือ 24 เมตร


    ระเบิดลึกทำงานโดยการโดยการปล่อยหรือยิงออกไปจากเรือ เมื่อลูกระเบิดจมถึงระดับความลึกที่ตั้งไว้ ก็จะจุดชนวนโดยใช้ความกดดันของน้ำ สามารถใช้ได้ทั้งการเข้าโจมตีหรือป้องกันตนเอง ใช้ได้ทั้งการโจมตีอย่างมีแบบแผน หรือป้องกันตัวอย่างเร่งด่วนในกรณีฉุกเฉิน แม้ว่าระเบิดลึกจะไม่มีระบบนำวิถีก็ตาม แต่ด้วยจำนวนและวิธีใช้งาน สามารถสร้างความกดดันอย่างมากกับเรือดำน้ำ และถ้ามีโชดก็อาจทำลายเป้าหมายได้เลย

    ระเบิดลึกสามารถใช้งานได้ 2 ระบบ ระบบแรกจะใช้รางปล่อยระเบิดลึก ซึ่งพัฒนาปรับปรุงมาจากรางปล่อยทุ่นระเบิด โดยติดตั้งให้ท้ายรางโผล่พ้นท้ายเรือเล็กน้อย ประกอบไปด้วยรางบนและรางล่าง (UPPER AND LOWER GUIDE RAILS) ลูกขัดตัวหน้าและลูกขัดตัวท้าย (FORWARD AND AFTER DETENT) เครื่องปล่อย (RELEADE TRACK CONTROL UNIT) รวมทั้งเพลาแง่กันระเบิดลึก (SWIGING LEVER) สามารถปล่อยระเบิดลึกได้ด้วยมือจากท้ายราง หรือปล่อยด้วยระบบไฟฟ้า (ELECTRO HYDRAULIC) จากสะพานเดินเรือ ตัวรางออกแบบให้ลาดเอียงประมาณ 5 องศา สามารถปล่อยระเบิดได้ทีละ 1 ลูกด้วยระบบกลไก ลูกขัดตัวท้ายจะยกขึ้นลูกขัดตัวหน้าจะยุบลง ลูกระเบิดลึกลูกถัดไปจะกลิ้งมาแทนที่  รางรุ่นมาตราฐานบรรจุระเบิดลึกได้จำนวน 8 ถึง 12 ลูก ขณะที่รางรุ่นเล็กจะสามารถบรรจุได้ 3 ถึง 5 ลูก โดยสามารถบรรจุเพิ่มได้อย่างรวดเร็ว รางปล่อยระเบิดในปัจจุบันจะเป็นรุ่นเดียวกัน สามารถปรับปรุงความยาวรางตามขนาดเรือได้

    อีกระบบก็คือใช้เครื่องยิงระเบิดลึก ทำการยิงลูกระเบิดให้ลอยสุงขึ้นฟ้า สามารถยิงได้ไกลสุดถึง 150 หลาหรือ 137.16 เมตร ระบบเครื่องยิงประกอบไปด้วย ท่อยิงเรียบ (BARREL) รังเพลิงกลม (EXPANSION CHAMBER) เครื่องลูกเลื่อน (BREECH MECHANISM) ถาดยิง (CRADLE TRAY) รวมทั้งโซ่รัดระเบิดลึกกับถาดบรรจุ สามารถยิงที่แท่นด้วยการสับนกหรือกระตุกเชือกลั่นไก หรือยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือก็ได้ ทุกครั้งที่ใช้งานกับเครื่องยิง ระเบิดลึกจะต้องติดตั้งถาดบรรจุตรงกลางลูก จึงมีหน้าตาคล้ายกับค้อนขนาดยักษ์ไม่ผิดเพี๊ยน จากนั้นจึงเสียบถาดบรรจุลงในท่อยิงเรียบ เมื่อจรวดพ้นท่อถาดบรรจุจะสลัดตัวเองทิ้ง (บางรุ่นในอดีตไม่สลัดตัวเอง) เป็นเทคนิคง่าย ๆ แต่ใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม เครื่องยิงระเบิดลึกมีขนาดกระทัดรัด สามารถติดตั้งตรงไหนก็ได้ของเรือ (ขณะที่รางปล่อยระเบิดต้องติดสุดของท้ายเรือ) เพิ่มระยะทำการระเบิดลึกให้ไกลมากขึ้น แต่มีอัตรายิงต่ำกว่าใช้รางปล่อยท้ายเรือ และต้องใช้ดินขับในการยิงทุกครั้ง จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเดิม


ท้ายเรือ HMS Fanning ในปี 1916 มีรางปล่อยจำนวน 2 รางและลูกระเบิดลึกจำนวน 24 ลูก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตั้งแต่ปี 1914 ถึง 1918 กองทัพเรืออังกฤษได้ผลิตระเบิดลึกจำนวนรวม 74,441 ลูก ถูกใช้งานจริงจำนวนรวม 16,451 ลูก เรือดำน้ำจากเยอรมันจมทันทีจำนวน 38 ลำ และอีก 140 ลำเสียหายหนักจนถูกจำหน่าย วันที่ 22 มีนาคม 1916 เรือ U-68 คือเรือดำน้ำลำแรกที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดลึก

    ตลอดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมันเสียเรือดำน้ำจำนวนรวม 220 ลำ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลงานของระเบิดลึก แต่ทว่าจมเรือฝ่ายพันธมิตรจำนวนรวม 4,837 ลำ คิดเป็นระวางขับน้ำจำนวนรวม 11 ล้านตัน

    กองทัพเรือไทยประจำการ รางปล่อยระเบิดลึก และเครื่องยิงระเบิดลึก จำนวนหลายรุ่นด้วยกัน  โดยมีการจัดหาระบบแท่นยิงและระเบิดลึกจาก 3 ประเทศ ต่างกรรมต่างวาระ อันประกอบไปด้วย

ระเบิดลึกจากอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

    เดือนกันยายน 1920 กองทัพเรือไทยซื้อเรือหลวงพระร่วงจากอังกฤษในราคา 2 แสนปอนด์ เป็นเรือพิฆาตตอร์ปิโดชั้น R-Class เข้าประจำการกองทัพเรืออังกฤษวันที่ 25 พฤษจิกายน 1916 ก่อนถูกขายคืนให้กับอู่ต่อเรือ Thornycroft ในวันที่ 21 พฤษภาคม 1920 เนื่องจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไปแล้ว และเข้าประจำการกองทัพเรือไทยในปีนั้นเลย เป็นเรือรบทันสมัยที่สุดของเราในช่วงเวลานั้น

    เรือหลวงพระร่วงเข้าประจำการวันที่ 11 ตุลาคม 1920 ระวางขับน้ำ 1,046 ตัน ยาว 83.57 เมตร กว้าง 8.34 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 102 มม.จำนวน 3 กระบอก และปืนใหญ่ 76 มม.จำนวน 1 กระบอก เวลาต่อมาได้ติดตั้งอาวุธอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมทั้งระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำด้วย โดยมีทั้งรางปล่อยระเบิดลึก (Depth Charge Rack หรือ Depth Charge Rail) จำนวน 2 ราง และเครื่องยิงระเบิดลึก (Depth Charge Projector หรือ Depth Charge Thrower) จำนวน 2 แท่นยิง เป็นเรือรบลำแรกของไทยที่ติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำ

    นั่นคือข้อมูลจากกองทัพเรือไทยครับ ทีนี้มายังข้อมูลที่ผู้เขียนหามาได้บ้าง เรือพิฆาตตอร์ปิโดชั้น R-Class มีพื้นที่ท้ายเรือค่อนข้างน้อย เพราะต้องติดตั้งป้อมปืนใหญ่ 102 มม.ชิดท้ายเรือ ภาพแปลนเรือจากอังกฤษนั้น แสดงให้เห็นเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่นยิง ตั้งเฉียงทำมุม 45 องศากับกราบเรือทั้งสองข้าง ฉะนั้นรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 รางนั้น น่าจะไม่ได้ติดตั้งเสียมากกว่า นอกจากจะถอดป้อมปืนใหญ่ 102 มม.ท้ายเรือออกไป ซึ่งข้อมูลตรงนี้ผู้เขียนหาไม่เจอเลย ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมจะมาปรับปรุงอีกรอบนะครับ

    ผู้เขียนอยากวาดภาพเรือหลวงพระร่วงมาก แต่อะไรต่อมิอะไรที่อยู่ในมือมีไม่มากพอ ประกอบกับข้อมือขวาไม่หายขาดเสียที ก็เลยเป็นโรคเลื่อนกันไปเรื่อย ๆ ก่อน เหมือนเรือลำอื่น ๆ ของราชนาวีไทยนั่นแล

    3 ปีต่อมาหรือในปี 1923 กองทัพเรือไทยได้สั่งต่อเรือยนต์ตอร์ปิโด จากอู่ต่อเรือ Thornycroft จำนวน 1 ลำ โดยใช้ชื่อว่า เรือยามฝั่งหาญหักศัตรู ระวางขับน้ำ 9 ตัน ยาว 16.78 เมตร กว้าง 3.36 เมตร กินน้ำลึก 0.9 เมตร ติดตั้งปืนกลแมดเสน 8 มม.จำนวน 4 กระบอก ตอร์ปิโด 18 นิ้ว 2 ท่อยิง และรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง

    ปี 1930 กองทัพเรือไทยได้สั่งต่อเรือยามฝั่งจากอู่ต่อเรือ Barrow  Brown จำนวน 3 ลำ โดยใช้ชื่อว่า เรือยามฝั่งหมายเลข 3 4 และ 5 ตามลำดับ ระวางขับน้ำ 10 ตัน ยาว 18.3 เมตร กว้าง 3.4 เมตร กินน้ำลึก 1.8 เมตร ติดตั้งปืนกลแมดเสน 8 มม.จำนวน 4 กระบอก ตอร์ปิโด 18 นิ้ว 2 ท่อยิง และรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง อีก 6 ปีต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพเรือไทยสั่งต่อเรือยามฝั่งเพิ่มเติมจำนวน 3 ลำ โดยได้ย้ายกลับไปที่อู่ต่อเรือ Thornycroft แทน ซึ่งควบรวมกิจการอู่ต่อเรือ Barrow Brown ไปแล้ว

    เรือยามฝั่งหมายเลข 6 7 และ 8 ติดตั้งอาวุธเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีรางปล่อยระเบิดลึกด้านท้ายเรือ ช่วงเวลาจากนั้นไม่นาน ได้มีการต่อเรือยามฝั่งภายในประเทศจำนวน 4 ลำ โดยใช้แบบเรือเดียวกับเรือยามฝั่งอังกฤษ ระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 11.2 ตัน ความกว้่างความยาวเท่ากันหมด เรือทุกลำติดตั้งอาวุธเหมือนเดิม บางลำติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกภายหลัง และใช้ชื่อว่า เรือยามฝั่งหมายเลข 9 10 11 และ 12 ตามลำดับ

    ถึงตอนนี้เราคงพอมองเห็นภาพ กองเรือปราบเรือดำน้ำในยุคนั้นได้แล้วนะครับ อาวุธหลักประกอบไปด้วยรางปล่อยระเบิดลึกและเครื่องยิงระเบิดลึกจากประเทศอังกฤษ เรือหลวงพระร่วงน่าจะติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกรุ่นมาตราฐาน หรือที่อเมริกาเรียกว่ารุ่น  Mark I (ถ้าได้ติดตั้งนะครับ) ส่วนเรือยามฝั่งน่าจะเป็นรุ่นกระทัดรัด หรือที่อเมริกาเรียกว่ารุ่น  Mark II  เครื่องยิงระเบิดลึกน่าจะเป็นรุ่น Mark I หรือ Thornycroft Thrower DCT ซึ่งอเมริกาได้นำไปพัฒนาต่อเป็นรุ่นรางแฝด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Y-gun


                                                          เครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น Mark I ขณะทดสอบยิงเป็นครั้งแรก

ระเบิดลึกจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

    ระหว่างปี 1947 กองทัพเรือไทยซื้อเรือจากอังกฤษจำนวน 3 ลำ เป็นเรือคอร์เวตชั้น Flower จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) เรือชั้นนี้ออกแบบมาเพื่อปราบเรือดำน้ำเป็นภารกิจหลัก เรือลำสุดท้ายคือเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น  Algerine ซึ่งก็คือเรือหลวงโพธิ์สามต้นนั่นเอง เรือทุกลำสามารถติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกรุ่นมาตราฐานจำนวน 2 ราง  หรือที่อเมริกาเรียกว่ารุ่น  Mark 3 (ไม่แน่ใจว่าเรือหลวงโพธิ์สามต้นติดตั้งหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่) รวมทั้งเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น Mark II จำนวน 4 แท่นยิง

    เรือหลวงโพธิ์สามต้นแม้จะเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิด แต่มีระวางขับน้ำมากถึง 900 ตัน รวมทั้งติดอาวุธหนักเบาไว้อย่างครบครัน จึงสามารถทำการรบทางทะเลได้เป็นอย่างดี ใช้ทำภารกิจตรวจการณ์ก็ยังไหว เรือได้ถูกโอนไปอยู่กองเรือฟริเกตระหว่างปี 1984 ถึง 1986 ซึ่งเป็นช่วงที่เราขาดแคลนเรือรบอย่างหนัก ก่อนโอนกลับมายังกองเรือทุ่นระเบิดในภายหลัง สุดท้ายได้เปลี่ยนภารกิจมาเป็นเรือฝึกกระทั่งปลดประจำการ

    ขณะที่เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) ได้ทำภารกิจสำคัญให้กับประเทศ โดยการเข้าร่วมสงครามเกาหลีในนามสหประชาชาติ ระหว่างปี 1950 ถึง 1951 กองทัพเรือได้สูญเสียเรือหลวงประแสร์ระหว่างการรบ ทางด้านเรือหลวงบางปะกงเสียหายไม่มาก และได้เดินทางกลับถึงไทยต้นปี 1952 หลังมีเรือรบชุดใหม่มาสับเปลี่ยนกำลัง เมื่อเรือเข้าสู่ช่วงใกล้ปลดประจำการ จึงเปลี่ยนภารกิจมาเป็นเรือฝึกปราบเรือดำน้ำ

    รางปล่อยระเบิดลึกและเครื่องยิงระเบิดลึกจากอังกฤษ ปัจจุบันได้ปลดประจำการหมดแล้ว เพราะได้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทั้งยังล้าสมัยและไม่มีอะไหล่ซ่อมบำรุง ผู้เขียนไม่เคยเห็นอาวุธของกองทัพเรือเลย อาจเป็นเพราะเรือทุกลำจำหน่ายหมดแล้ว เนื่องจากยังไม่มีแนวคิดที่จะอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์ จริงอยู่ว่ายังมีเรือหลวงโพธิ์สามต้นที่จังหวัดจันทบุรี แต่เป็นเพียงการกู้ซากเรือขึ้นมาจากน้ำ ทั้งยังไม่มีอาวุธซักชนิดติดตั้งอยู่บนเรือ ก็เลยเอวังด้วยประการฉะนี้ เป็นที่น่าเสียดายไม่มากก็น้อยแต่จะทำยังไงได้


ภาพถ่ายเรือรบอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในภาพประกอบไปด้วย เครื่องยิงระเบิดลึกเป็นรุ่น Mark II ระเบิดลึก ถาดบรรจุ และรอกเชือก เจ้าหน้าที่กำลังติดตั้งโก๊ หรือ PISTOL เข้าไปในระเบิดลึก


 เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) ในปี 1947 ติดตั้งเครื่องยิงระเบิดลึกเป็นรุ่น Mark II จำนวน 4 แท่นยิง และรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง น่าจะเป็นภาพถ่ายก่อนเดินทางกลับประเทศไทย


เครื่องยิงระเบิดลึกจากญี่ปุ่น

    สาเหตุเนื่องมาจาก "พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478" กองทัพเรือไทยได้จัดหาเรือรบจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือเรือสลุปชั้นเรือหลวงท่าจีนจำนวน 2 ลำ จากบริษัทมิตซุยบุชซันไกชาในวงเงิน 1.885 ล้านบาท เรือญี่ปุ่นมีเครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 จำนวน 2 แท่นยิง ติดตั้งถัดจากป้อมปืนใหญ่ท้ายเรือค่อนไปทางด้านข้าง แต่ไม่ได้ติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึก เพราะติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดไว้ก่อนแล้ว เรือชั้นเรือหลวงท่าจีนถูกใช้งานเป็นเรือฝึกในยามปรกติ จึงได้ติดตั้งอาวุธทุกชนิดอย่างละไม่มากไม่น้อย รวมทั้งเครื่องกวาดทุ่นระเบิด เครื่องบินทะเล รวมทั้งของหนักอย่างตอร์ปิโดขนาด 450 มม. จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีเครื่องยิงระเบิดลึกเพียง 2แท่นยิง

    เครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 หรือท่อยิงระเบิดลึกแบบ 80 ใช้สำหรับการยิงส่งลูกระเบิดลึกแบบ 80 ออกจากกราบเรือ ประกอบไปด้วย ท่อยิง ถาดดินขับ และถาดรองยิง เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกดินขับมีขนาด 180 ซม. ใช้ดินขับอัตราธรรมดายิงได้ไกลสุด 38 เมตร ใช้ดินขับอัตราปานกลางยิงได้ไกลสุด 63 เมตร และใช้ดินขับอัตราสุงยิงได้ไกลสุด 93 เมตร รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงเครื่องยิงระเบิดลึก Mark II ของอังกฤษ


    ลูกระเบิดลึกแบบ 80 เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำ ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 441 มม. เมื่อบรรจุดินระเบิดพร้อมหนัก 160 กิโลกรัม ตั้งระยะลึกให้ลูกระเบิดทำงานได้มีระดับลึก 25 และ 50 เมตร อัตราความเร็วในการจมน้ำ 2 เมตร/วินาที การจุดระเบิดใช้แรงดันของน้ำตามระดับความลึกที่ตั้งไว้

    เครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 ประจำการอยู่บนเรือสลุปจำนวน 2 ลำเท่านั้น ผู็อ่านสามารถรับชมเครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 ของจริงได้ ที่พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเรือที่มีความสมบรูณ์มากที่สุดลำหนึ่งของไทย และเป็นเรือญี่ปุ่นสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีความสมบรูณ์มากที่สุดลำหนึ่งของโลก

                                               เรือหลวงแม่กลองได้ขึ้นปกนิตยสารประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง
   
    ข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับ "พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478" ผู้เขียนได้เขียนถึงเมื่อไม่นานนี้เอง สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ตามลิงค์นี้ครับ

http://thaimilitary.blogspot.com/2016/04/the-power-of-sea-2478.html

การจัดหาเรือรบจากอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

    เรือรบและเรือช่วยรบจากอเมริกา เริ่มเข้าประจำการกองทัพเรือไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรือส่วนใหญ่เคยประจำการกองทัพเรืออเมริกามาก่อน บางลำโอนให้จากความช่วยเหลือทางทหาร ส่วนบางลำโอนให้โดยคิดราคามิตรภาพ ผู้เขียนจะขอเขียนถึงเฉพาะเรือรบบางลำ ที่ติดตั้งระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำ ไม่อย่างนั้นบทความคงยาวเกินไป เพราะเราได้รับโอนเรือจากอเมริกาจำนวนหลายสิบสำ

    ความจริงแล้วก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรือได้จัดหาเรือรบและเรือช่วยรบจากอิตาลีเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าไม่ได้ติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำ ก็เลยขอข้ามไปก่อนในบทความนี้ เมื่อคุณมีเรือรบจากอเมริกา ก็ต้องมีอาวุธจากอเมริกาด้วย ระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำของอเมริกาในยุคนั้น มีความใกล้เคียงกับของอังกฤษเป็นอย่างมาก จะเรียกว่าเป็นรุ่นปรับปรุงก็คงไม่ผิดนัก โดยใช้ชื่อรุ่นแตกต่างกันไม่ก็ใช้แท่นยิงต่างกัน

    เริ่มต้นจากจากเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 ปี 1947 อเมริกาโอนเรือจำนวน  3 ลำให้กองทัพเรือไทย ได้แก่ หลวงสารสินธุ  เรือหลวงทยานชล และเรือหลวงคำรณสินธุ ในเวลาต่อมาเราได้จัดหาเพิ่มจำนวน 5 ลำ โดยการจัดหาครั้งแรกเป็นการซื้อต่อจำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงพาลี และเรือหลวงสุครีพ  ส่วนการจัดหาอีกครั้ง เป็นการโอนเรือจำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงตองปลิว เรือหลวงลิ่วลม และเรือหลวงล่องลม สุดท้ายมีเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ รวมทั้งหมดจำนวน 8 ลำด้วยกัน

    เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 เริ่มเข้าประจำการช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาต่อเรือชั้นนี้มากถึง 343 ลำ (เรือบางเฟสต่อขึ้นหลังสิ้นสุดสงคราม) สำหรับภารกิจค้นหาและปราบเรือดำน้ำบริเวณชายฝั่ง ท่าเรือ ฐานทัพเรือ และจุดเสี่ยงที่อาจโดนโจมตี แม้เรือจะมีระวางขับน้ำเพียง 335 ถึง 480 ตัน (ตามรุ่นย่อย) แต่มีความคล่องตัวสุงมาก และติดอาวุธป้องกันตัวอย่างครบครัน จึงทำหน้าที่ตรวจการณ์ผิวน้ำได้อีกด้วย ในการเข้าปะทะกับเรืออูตลอดการรบ สามารถจมเรือฝ่ายตรงข้ามได้และโดนจมเช่นกัน  เราไปชมภาพเรือกันซักหน่อยนะครับ


เรือ PC-1264 ของอเมริการะหว่างพิธีเข้าประจำการ ท้ายสุดของเรือเป็นรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง ต่อด้วยเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่นยิง ถัดไปเป็นป้อมปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน 1 กระบอก ต่อด้วยเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่นยิง ขั้นกลางด้วยเรือเล็กและเครนยกเรือ บริเวณกลางเรือและหอบังคับการณ์ ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม. จำนวน 3 กระบอก หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ 76/50 จำนวน 1 กระบอก หน้าปืนเป็นจรวดปราบเรือดำน้ำ Mark 20 Mousetrap จำนวน 2 แท่นยิง


เรือหลวงทยานชลในปี 1969 กองทัพเรือถอดเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่นยิง บริเวณกลางเรือออก และติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.จำนวน 2 กระบอกทดแทน

    ต่อมาในปี 1951 กองทัพเรือต้องการเรือรบขนาดใหญ่เพิ่มเติม เพื่อนำมาทดแทนเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) ที่ได้สูญเสียไปในการรบสงครามเกาหลี และเพื่อสับเปลี่ยนกำลังทางเรืออีกด้วย รัฐบาลไทยติดต่อขอซื้อเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma จำนวน 2 ลำจากกองทัพเรืออเมริกา มูลค่ารวมโครงการอยู่ที่ 861,940 เหรียญ วันที่ 29 ตุลาคม 1951 มีพิธีรับมอบเรือหลวงท่าจีน (ลำที่สอง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่สอง)  ที่ท่าเรือหมายเลข 12 เมืองโยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้เข้าร่วมสงครามเกาหลีทดแทนเรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง)

    เรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma  มีระวางขับน้ำ 1,430 ตัน ยาว 92.8 เมตร กว้าง 11.4 เมตร กินน้ำลึก 4.4 เมตร ติดตั้งติดตั้งปืนใหญ่ 76/50 จำนวน 3 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน  2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม. จำนวน 9 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ Mark 11 Hedgehog จำนวน 1 แท่นยิง รางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง และเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 8 แท่นยิง

    วันที่ 22 กรกฎาคม 1959 กองทัพเรือได้ประจำการเรือรบจากอเมริกาเพิ่มเติมอีก 1 ลำ เรือหลวงปิ่นเกล้าถูกเช่ายืมเป็นเวลา 5 ปี จากนั้นจึงมีการต่อสัญญาออกไป ท้ายที่สุดจึงได้มอบให้กองทัพเรือไทย  ในลักษณะการช่วยเหลือทางทหาร กองทัพเรือได้มีการปรับปรุงเรือตลอดเวลา รวมทั้งติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ เป็นเรือที่น่าภาคภูมิใจมากอีกหนึ่งลำ เพราะทุกวันนี้ยังคงใช้งานได้ดีอยู่ แม้จะเป็นเพียงเรือครูไม่ใช่เรือรบแล้วก็ตาม

    เรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Cannon มีระวางขับน้ำ 1,240 ตัน ยาว 93.3 เมตร กว้าง 11.6 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ติดตั้งติดตั้งปืนใหญ่ 76/50 จำนวน 3 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน  1 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม. จำนวน 8 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ Mark 11 Hedgehog จำนวน 1 แท่นยิง รางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง และเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 8 แท่นยิง

    จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาเพียง 12 ปี กองทัพเรือได้จัดหาเรือรบติดอาวุธปราบเรือดำน้ำถึง 11 ลำ อาวุธอเมริกาจึงกลายเป็นอาวุธหลักทดแทนของเดิม ทั้งจากอังกฤษและญี่ปุ่นไปโดยปริยาย


เรือหลวงปิ่นเกล้าในปี 2015 ติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง เครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 8 แท่นยิง รวมทั้งอาวุธใหม่อย่างตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ แต่ไม่แน่ใจเรื่องจรวดปราบเรือดำน้ำ Mark 11 Hedgehog

รางปล่อยและเครื่องยิงระเบิดลึกจากอเมริกา

    รางปล่อยระเบิดลึกของอเมริกานั้น ได้พัฒนาปรับปรุงจากของอังกฤษอีกที และกลายเป็นระบบมาตราฐาน ที่ทุกประเทศสมาชิกนาโต้จัดหาเข้าประจำการ อเมริกาพัฒนารางปล่อยระเบิดลึกตลอดเวลา จนมีจำนวนรุ่นมากถึง 9 รุ่นด้วยกัน แต่รุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีดังนี้

    - Mark 3 บรรจุระเบิดลึกขนาด 136 กก.ได้จำนวน 8 ลูก พัฒนาขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

    - Mark 4 บรรจุระเบิดลึกขนาด 136 กก.ได้จำนวน 4 ลูก ปรับปรุงจากรุ่น Mark 3 เพื่อใช้งานบนเรือเล็ก

    - Mark 9 บรรจุระเบิดลึกขนาด 136 กก.ได้จำนวน 4 ถึง 12 ลูก (ตามขนาดความยาวราง) เป็นรางรุ่นใหม่ล่าสุด สามารถควบคุมการปล่อยด้วยไฟฟ้า


   รางปล่อยระเบิดลึก Mark 9 พร้อมลูกระเบิดลึก Mark 6 จำนวน 10 ลูกในราง


    กองทัพเรือไทยเคยใช้งานรางครบทั้ง 3 รุ่น ทว่าปัจจุบันใช้งานเพียงรุ่น  Mark 9 ที่ทันสมัยที่สุด มีประจำการอยู่บนเรือรบจำนวน 5 ลำ ได้แก่ เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ (เป็นเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงตาปี ) เรือหลวงคำรณสินธุ เรือหลวงทยานชล และเรือหลวงล่องลม (เป็นเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ) นอกจากนี้ยังมีเรืออีก 2 ลำที่ยังติดตั้งรางปล่อยระเบิดท้าย ได้แก่ เรือหลวงปิ่นเกล้า และเรือหลวงมกุฏราชกุมาร  แต่ถูกเปลี่ยนภารกิจเป็นเรือครูและเรือฝึกไปแล้ว จึงไม่ได้นับเป็นกำลังรบทางเรืออีกต่อไป

    มาถึงเครื่องยิงระเบิดลึกกันบ้างนะครับ อเมริกาได้พัฒนาปรับปรุงจากของอังกฤษเช่นเคย โดยรุ่นแรกสุด Mark I หรือ Y-gun สามารถยิงระเบิดลึกได้พร้อมกันจำนวน 2 นัด เป็นการยิงออกกราบซ้ายและกราบขวาของเรือ ตามลักษณะท่อยิงเรียบที่เป็นรูปตัว Y เหมาะกับการติดตั้งบริเวณกลางดาดฟ้าเรือ และควรเป็นพื้นที่โล่ง ๆ ไม่มีอุปกรณ์ตั้งขวาง โดยตั้งใจใช้งานกับเรือขนาดใหญ่ประเภท เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน เป็นต้น


    กระทั่งเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อต้องเผชิญกับกองเรืออูอันแสนเกรียงไกร อเมริกาจึงเร่งพัฒนาเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่นใหม่ ที่มีขนาดกระทัดรัดและทันสมัยมากขึ้น สุดท้ายได้เป็นรุ่น  Mark 6 หรือ K-gun เพราะมีท่อยิงเรียบรูปตัว K นั่นเอง แม้ Mark 6 จะยิงได้ครั้งละ 1 นัดก็ตาม แต่ยิงได้เร็วมากขึ้น บรรจุระเบิดลึกและดินขับในลูกเลื่อนได้เร็วขึ้น ใช้งานบนเรือเล็กได้อย่างสะดวก และสามารถยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือ

    ระยะยิงของเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น Mark 6 หรือ K-gun แปรผันกับชนิดของดินขับ ถ้าใช้ดินขับ No 1. MK 6 จะยิงได้ไกลสุด 60 หลา 54.8 หรือ เมตร หรือถ้าใช้ดินขับNo 3. MK 9 จะยิงได้ไกลสุด150 หลาหรือ 137.16 เมตร


 เครื่องยิงระเบิดลึก Mark 6 หรือ K-gun พร้อมลูกระเบิดลึก Mark 9 จำนวน 4 ลูก ในภาพเล็กคือ เครื่องยิงระเบิดลึก Mark I หรือ Y-gun

    กองทัพเรือไทยประจำการเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น  Mark 6  Mod 1หรือ K-gun บนเรือรบจากอเมริกาทุกลำ รวมทั้งปรับปรุงให้ใช้งานบนเรือรบลำอื่น ๆ ด้วย ปัจจุบัน  Mark 6  Mod 1 ยังประจำการอยู่บนเรือรบจำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงคำรณสินธุ เรือหลวงทยานชล และเรือหลวงล่องลม  กองทัพเรือได้ซ่อมบำรุงให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา รวมทั้งทดสอบยิงระเบิดลึกระหว่างการฝึกอยู่เสมอ



    ในภาพเป็นส่วนท้ายของเรือหลวงล่องลม (PC 533) ซึ่งติดตั้งอาวุธจำนวนมากประกอบไปด้วย ลูกศรสีแดงคือรางปล่อยระเบิด Mark 9 จำนวน 1 ราง ลูกศรสีเขียวคือรางปล่อยทุ่นระเบิดจำนวน 2 ราง ลูกศรสีเหลืองคือเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น  Mark 6  Mod 1 จำนวน 2 แท่นยิง ลูกศรสีแดงคือปืนต่อสู้อากาศ Breda/Rheinmetall 30/82 มม.แท่นคู่ จำนวน 1 แท่นยิง ลูกศรสีม่วงคือ Thales Target Designation Sight (TDS) ซึ่งสามารถใช้คุมปืนในกรณีจำเป็นได้ ลูกศรสีส้มคือแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแฝดสามรุ่น  PMW49A จำนวน 2 แท่นยิง

ชนิดของลูกระเบิดลึก

    ผู้เขียนขอเขียนถึงตัวลูกระเบิดลึกซักนิดนะครับ ปัจจุบันกองทัพเรือไทยมีประจำการจำนวน 2 รุ่น รุ่นแรกที่จะเขียนถึงก็คือลูกระเบิดลึก Mark 6 โดยมีรุ่นย่อยประกอบไปด้วย  Mod.0  Mod.1 และ Mod.2 ลูกระเบิดมีรูปทรงเหมือนถังน้ำมันเฉกเช่นระเบิดลึกทั่วไป ทำด้วยโลหะทรงกระบอกปิดหัวท้าย มีช่องบรรจุดินระเบิดบริเวณริมบน ตรงกึ่งกลางเป็นหลอดสำหรับบรรจุโก๊ หรือ PISTOL น้ำหนักรวมพร้อมใช้งานอยู่ที่ 420 ปอนด์ หรือ 190 กิโลกรัม ดินระเบิดมีน้ำหนัก 300 ปอนด์หรือ 136 กิโลกรัม ถือเป็นลูกระเบิดลึกรุ่นมาตราฐานชายไทย

    Mark 6 ถูกพัฒนาให้ใช้งานแตกต่างกัน ตามระดับความลึกที่ต้องการโจมตีเป้าหมาย สามารถตั้งความลึกต่ำสุดได้ที่ 30 ฟุตเท่ากันทุกรุ่น ความลึกสุงสุดของ Mod.0 อยู่ที่ 300 ฟุต ความลึกสุงสุดของ Mod.1 อยู่ที่ 600 ฟุต และความลึกสุงสุดของ Mod.2 อยู่ที่ 1000 ฟุต เมื่อใช้งานร่วมกับเครื่องยิงระเบิดลึก ถาดบรรจุจะสลัดตัวออกจากลูกระเบิดลึก Mark 6 Mod.2 ทุกครั้ง ยกเว้นรุ่น  Mod.0 และ Mod.1 จะไม่หลุดออกจากกัน เป็นจุดสังเกตุที่ดีมากในการตรวจสอบด้วยสายตา (แต่ที่ผู้เขียนเคยเห็นในวีดีโอ หลุดออกจากกันทุกครั้ง)


  การทดสอบยิงระเบิดลึก Mark 6  Mod 1หรือ K-gun บนเรือหลวงคำรณสินธุ (PC 531) ในปี 2010



การทดสอบยิงระเบิดลึก Mark 6  Mod 1หรือ K-gun บนเรือหลวงทยานชล (PC 532) ในปี 2013 เป็นการยิงแบบสับนกหรือกระตุกเชือกลั่นไก คนยิงยืนห่างหน่อยเพราะกลัวสะเก็ดไฟจากดินขับ

    ลูกระเบิดลึกอีกรุ่นก็คือ Mark 9 โดยมีรุ่นย่อยประกอบไปด้วย Mod.2 Mod.3 และ Mod.4 มีรูปทรงเหมือนหยดน้ำหรือไม่ก็ถังแก๊สปิคนิค มีรูปร่างกลมหน้าตัดเสมือนรูปไข่ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความต้านของน้ำมีอัตราความเร็วในการจมที่ดีกว่า มีการทรงตัวในวิถีโคจรที่ดีกว่า จึงใช้ทำลายเป้าหมายใต้น้ำได้ดีกว่า และมีราคาแพงกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย น้ำหนักรวมพร้อมใช้งานอยู่ที่ 340 ปอนด์ หรือ 154 กิโลกรัม ดินระเบิดมีน้ำหนัก 190 ปอนด์หรือ 86.2 กิโลกรัม เมื่อใช้งานร่วมกับเครื่องยิงระเบิดลึก ถาดบรรจุจะสลัดตัวออกจากลูกระเบิดลึก Mark 9 ทุกครั้ง

    Mark 9 แต่ละรุ่นมีข้อแตกต่างที่การออกแบบตัวลูก โดยที่ Mod.3 และ Mod.4 ปรับปรุงมาจากลูกระเบิดลึก Mod.0 และ Mod.1 ที่ปลดประจำการไปแล้ว โดยที่ทุกรุ่นสามารถตั้งความลึกได้เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโก๊ หรือ PISTOL โก๊รุ่น Mark 6 สามารถตั้งความลึกได้ตั้งแต่ 30 ถึง 300 ฟุต โก๊รุ่น Mark 6-1 สามารถตั้งความลึกได้ตั้งแต่ 30 ถึง 600 ฟุต และโก๊รุ่น Mark 7-1 สามารถตั้งความลึกได้ตั้งแต่ 50 ถึง 500 ฟุต และในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลเท่าไหร่ อาจมีการเปลี่ยนดินระเบิดบรรจุ จากชนิด TNT เป็น HBX (High Blast Explosive) ทดแทน


    เรือฟริเกตชั้น Ulsan และเรือคอร์เวตชั้น Pohang ของกองทัพเรือเกาหลีใต้ ติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึก Mark 9 จำนวน 2 รางด้านท้ายเรือ โดยอยู่ต่ำกว่าดาดฟ้าใหญ่ หรือ Main Deck เล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกะกะป้อมปืนใหญ่ท้ายเรือที่อยู่ติดกัน ในภาพบรรจุระเบิดลึก Mark 9 รางล่ะ 6 ลูก (รวมเป็น 12 ลูก) ควบคุมการทิ้งระเบิดด้วยไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือ



บทส่งท้าย
   
    อาวุธปราบเรือดำน้ำในปัจจุบัน มีความทันสมัยและแม่นยำมากกว่าเดิม ระเบิดลึกจึงถึงจุดเสื่อมความนิยมลง แต่ก็ยังมีอีกหลายสิบชาติที่ใช้งานอยู่ เนื่องจากอาวุธมีราคาถูก ดูแลรักษาง่าย ใช้งานง่าย ติดตั้งได้กับเรือทุกลำ รวมทั้งยังมีลูกระเบิดเก่าอยู่ในคลังแสงจำนวนมาก ส่วนอนาคตข้างหน้าของระเบิดลึกนั้น ยังคงเป็นปริศนาคาใจผู้เขียนอยู่ ว่าจะยังใช้งานต่อกับราชนาวีหลายสิบชาติ รวมทั้งพัฒนาให้ทันสมัยมากกว่าเดิม หรือปิดฉากตัวเองไปอย่างเงียบเชียบวังเวงใจ เหมือนกันกับอาวุธปราบเรือดำน้ำจำนวนมาก คงต้องรอติดตามกันต่อไปล่ะครับ ว่าท้ายที่สุดระเบิดลึกจะลงเอยแบบไหน ไม่ใช่นางเอกดาวพระศุกร์ก็บ้านทรายทองกระมังครับ

    บทความเรื่อง อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 1 : ระเบิดลึก ก็ต้องขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ บทความตอนต่อไปผู้เขียนจะเขียนถึง จรวดปราบเรือดำน้ำ ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ อากาศยานปราบเรือดำน้ำ รวมทั้งระบบตรวจจับเรือดำน้ำ เพียงแต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเขียนเรื่องไหนก่อนเรื่องไหนหลัง ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ มีข้อติติงอย่างไรแนะนำได้ตลอดเวลา ;)

                        -----------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Depth_charge

http://www.navweaps.com/Weapons/WAMBR_ASW.php

http://www.navweaps.com/Weapons/WAMUS_ASW.php

http://maritime.org/doc/depthcharge6/index.htm

https://www.maritime.org/doc/depthcharge9/index.htm

http://www.fleet.navy.mi.th/ftc/test56/2210.pdf

http://www.hazegray.org/navhist/canada/systems/asw/

http://www.navsource.org/archives/12/01idx.htm

http://www.ussslater.org/tour/weapons/k-gun/k-gun.html

http://www.huffingtonpost.com/joseph-v-micallef/this-week-in-world-war-i_b_9231694.html


                        -----------------------------------------------------------------------------------