วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

RTN Missile Corvette Programme

 

โครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีราชนาวืไทย

คณะกรรมการพิจารณาจัดหาเรือคอร์เวต ตามคำสั่งกองทัพเรือ (เฉพาะ) ที่ 15/2525 ลงวันที่ 20 มกราคม 2525 ได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กองทัพเรือมอบหมายให้มาตามลำดับ โดยได้เริ่มส่งหนังสือเชิญชวน พร้อมทั้ง Staff-Requirement ให้สถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย 7 แห่ง และตัวแทนในประเทศไทยของบริษัทผู้สร้างเรือในต่างประเทศ 15 รายในวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ในการนี้ได้มีบริษัทต่างๆ ยื่นเอกสารรายละเอียดและซองราคา 11 ราย

จากการพิจารณาข้อเสนอบริษัทต่างๆ โดยยังมิได้เปิดซองราคา ปรากฏว่ามีบริษัทที่เสนอแบบเรือที่ผ่านการพิจารณาขั้นแรก 3 บริษัทได้แก่

1.บริษัทซี.เอ็น.อาร์จากอิตาลี

2. บริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัดจากสหรัฐอเมริกา

3.บริษัทวอสเปอร์แห่งอังกฤษ 

แต่เนื่องมาจากแบบเรือของทั้งสามบริษัทดังกล่าวมีข้อบกพร่องในเรื่องต่างๆ อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น กองทัพเรือจึงให้คณะกรรมการรวบรวมข้อบกพร่องทั้งหมดของแต่ละบริษัท แล้วส่งให้ทราบและแก้ไขและให้ทั้งสามบริษัทยื่นข้อเสนอมาใหม่ โดยให้ยื่นราคาถึงวันที่ 30 กันยายน 2525

เมื่อบริษัททั้งสามยื่นข้อเสนอมาใหม่ กองทัพเรือพิจารณาเห็นว่าราคาเรือของบริษัทวอสเปอร์สูงกว่าอีก 2 บริษัทมาก จึงได้ตกลงใจให้ตัดบริษัทวอสเปอร์ออกจากการพิจารณา คงเหลือไว้พิจารณาในขั้นสุดท้าย 2 บริษัท อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาทบทวนแบบแปลนและรายละเอียดของเรือทั้งสองบริษัทแล้ว กองทัพเรือเห็นว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมความต้องการ ระบบอาวุธและลักษณะของเรือบางประการให้เหมาะสม ซึ่งได้ให้คณะกรรมการแจ้งให้บริษัทแก้ไขเพิ่มเติมตามความต้องการกองทัพเรือต่อไป

เมื่อบริษัทซี.เอ็น.อาร์และบริษัททาโคม่ายื่นข้อเสนอเข้ามาใหม่ คณะกรรมการได้พิจารณาเปรียบบเทียบลักษณะของเรือ รวมทั้งเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ของทั้งสองบริษัทแล้วสรุปพิจารณา และเสนอแนะต่อกองทัพเรือเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2525 ที่ประชุมคณะกรรมการนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการ ประกอบกับข้อพิจารณาผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2525 แล้วกองทัพเรือได้ตกลงใจให้คณะกรรมการเจรจากับผู้แทนบริษัททาโคม่าเป็นอันดับแรก รวมทั้งแจ้งให้บริษัททาโคม่าแก้ไขข้อบกพร่องอีกบางประการ แล้วเสนอแบบและราคาเรือมาใหม่

+++++++++++++++++

นี่คือข้อมูลการพิจารณาแบบเรือคอร์เวตราชนาวีไทยระหว่างปี 2525 โครงการนี้มีบริษัทต่างชาติเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ราย ผู้เขียนจะเล่าเรื่องราวเจาะลึกแบบเรือคอร์เวตทั้ง 3 บริษัท ด้วยข้อมูลน้อยนิดอ้างอิงจากข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนพยายามรวบรวมสุดกำลัง หวังให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมการชิงชัยโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีลำแรกของลูกประดู่ไทย

คำเตือน : แบบเรือของจริงอาจแตกต่างจากแบบเรือที่ผู้เขียนวาดประกอบบทความ

บริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัด

          บริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัดจากสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่ของราชนาวีไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากในช่วงเวลาเดียวบริษัทอิตัลไทย มารีน จำกัด อู่ต่อเรือในประเทศขนาดใหญ่ นำแบบเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ชั้น เรือ PSMM Mk5 ของบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัด มาสร้างเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงสัตหีบจำนวน 6 ลำให้กับกองทัพเรือ ถ้าผู้เขียนบอกว่าแบบเรือจากสหรัฐอเมริกาคือเต็งหนึ่งโครงการก็คงไม่ผิด และบทสรุปก็เป็นไปตามคาดหมายทาโคม่าได้รับการคัดเลือกให้สร้างเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจำนวน 2 ลำ

          เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการกองทัพเรือที่ค่อนข้างเยอะเป็นพิเศษ ทาโคม่านำแบบเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาดใหญ่ (larger patrol chaser missile craft หรือ PCG) หรือเรือคอร์เวตชั้น Badr กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียตามภาพประกอบที่หนึ่งภาพบน มาปรับปรุงแก้ไขถึง 3 รอบจนได้แบบเรือที่กองทัพเรือยอมรับตามภาพประกอบที่หนึ่งภาพบน ซึ่งมีความแตกต่างจากแบบเรือดั้งเดิมตั้งแต่หน้าสะพานเดินเรือจนถึงท้ายเรือ

          เรือคอร์เวตชั้น Badr มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,038 ตัน ยาว 74.7 เมตรหรือ 245 ฟุต กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 2.6 เมตร ติดปืนใหญ่ Oto 76/62 Compact ที่หัวเรือ 1 กระบอก ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ท้ายเรือ 1 ระบบ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำMk 46 อีก 2 แท่นยิง หัวเรือมีพื้นที่ว่างหน้าสะพานเดินเรือค่อนข้างมาก ท้ายเรือเป็นดาดฟ้าโล่งและยาวติดอาวุธไล่เรียงกันไปคล้ายเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี

          ทาโคม่านำแบบเรือมาขยายความยาวเพิ่ม 7 ฟุต สร้างเก๋งเรือหรือ Superstructure ความยาวประมาณ สามในสี่ของตัวเรือ ติดระบบอาวุธและเรดาร์ตรงตามความต้องการกองทัพเรือไทย ซึ่งกำหนดให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ตรงตามมาตรฐานในตอนนั้น ผสมผสานกันระหว่างระบบเรดาร์บนเรือฟริเกตเรือหลวงมกุฎราชกุมาร กับระบบอาวุธบนเรือเร็วโจมตีปืนชั้นเรือหลวงชลบุรีซึ่งกำลังสร้างอยู่ที่อิตาลี

ภาพประกอบที่สองภาพบนคือแบบเรือ PFMM Mk.16 เวอร์ชันแรกของบริษัททาโคม่า ระวางขับน้ำปรกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 960 ตัน ยาว 76.8 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.5 เมตร ติดปืนใหญ่ OTO 76/62 IROF อัตรายิง 100 นัดต่อนาที จำนวน 1 กระบอก ปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝด จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 20 มม.Oerlikon GAM-BO1 จำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stingray จำนวน 6 ท่อยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE จำนวน 8 ท่อยิง และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx อีก 1 ระบบ

ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW-06 บนเสากระโดงรอง เรดาร์เดินเรือ Decca 1226 ข้างเสากระโดงหลัก เรดาร์ควบคุมการยิง Signaal WM-25 รูปร่างเหมือนไข่บนเสากระโดงหลัก สำหรับควบคุมปืนใหญ่กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน และเรดาร์ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง LIROD-8 สำหรับควบคุมปืนกล 40 มม.หน้าเสากระโดงหลัก ส่งผลให้เรือสามารถยิงปืนใหญ่และปืนกลพร้อมกันแต่แยกทิศทางได้ เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ  DA-05 อยู่บนเสากระโดงรองทาสีดำหลังปล่องระบายความร้อน

ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ประกอบไปด้วย ระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ESM รุ่น Elettronica ELT 211 ระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 ติดจานส่งสัญญาณรบกวน ELT 828 จำนวน 4 ใบ และแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี Dagaie หมุนได้รอบตัวจำนวน 1 แท่นยิง

ภาพประกอบที่สองภาพบนคือแบบเรือ PFMM Mk.16 เวอร์ชันสอง ความแตกต่างจากเวอร์ชันแรกเรื่องใหญ่ ๆ มีเพียง 2 เรื่อง หนึ่งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx หายไปจากท้ายเรือ สองระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 กับจานส่งสัญญาณรบกวน ELT 828 จำนวน 4 ใบหายไปจากเสากระโดง แบบเรือเวอร์ชันสองราคาถูกกว่าแบบเรือเวอร์ชันแรกเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือก

หมายเหตุ : เรือคอร์เวตลำจริงใช้แบบเรือ PFMM Mk.16 เวอร์ชันสอง และเปลี่ยนปืนกล 20 มม.มาใช้รุ่น Mk.20 DM6 ของบริษัท Rheinmetall จากเยอรมัน

บริษัทวอสเปอร์

          ในการยื่นแบบเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีรอบสอง กองทัพเรือเห็นว่าราคาเรือของบริษัทวอสเปอร์สูงกว่าอีก 2 บริษัท ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่เรือส่งออกจากอังกฤษถูกลูกถีบขาคู่ตกรอบแรก นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจค่อนมาก เพราะบริษัทวอสเปอร์คือผู้เชี่ยวชาญเรือขนาดเล็กมาช้านาน ขายเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือตรวจการณ์ปืน เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี เรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำ และเรือฟริเกตตรวจการณ์ (ปัจจุบันน่าจะเรียกว่าเรือฟริเกตเบา) มากกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก ต่อให้ซี.เอ็น.อาร์กับทาโคม่านำสินค้ามารวมกันยังแพ้วอสเปอร์แบบสู้ไม่ได้

          แต่ก็เอาเถอะในเมื่อตกรอบก็คือตกรอบช่วยไม่ได้ ผู้เขียนขอตั้งสมมุติฐานเพื่อสรรหาแบบเรือเข้าร่วมโครงการจำนวน 2 สมมุติฐาน อ้างอิงจากเหตุผลในการตกรอบคือราคาเรือแพงเกินไป

สมมุติฐานข้อที่หนึ่ง : วอสเปอร์ส่งเรือใหญ่เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้ตัวเองไม่สามารถกดราคาสู้กับคู่แข่ง

          จากสมมุติฐานข้อนี้มีความเป็นไปได้เพียงหนึ่งเดียว วอสเปอร์ส่งแบบเรือฟริเกตตรวจการณ์รุ่น Vosper MK7 เข้าร่วมชิงชัย ประมาณว่าใช้ความใหญ่เข้ามาข่มแต่ตัวเองดันพลาดท่าเสียที

          ภาพประกอบที่สามคือเรือฟริเกต DAT Assawari กองทัพเรือลิเบีย ใช้แบบเรือ Vosper MK7 ซึ่งถูกปรับปรุงจากแบบเรือ Vosper MK5 หรือเรือฟริเกตชั้น Alvand กองทัพเรืออิหร่านให้ทันสมัยมากกว่าเดิม เรือเข้าประจำการระหว่างปี 1973 หรือ 2516 ก่อนโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีถึง 9 ปี ภาพประกอบที่สามล่างขวาคือเรือ DAT Assawari เพิ่งสร้างเสร็จสดๆ ร้อนๆ หน้าสะพานเดือนเรือยังไม่ได้ติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat ขนาด 4 ท่อยิง ภาพประกอบที่สามภาพใหญ่เรือ DAT Assawari หลังการปรับปรุงใหญ่ หน้าสะพานเดือนเรือเปลี่ยนมาติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE ขนาด 4 ท่อยิง ปล่องระบายความร้อนปรับเปลี่ยนรูปทรงคล้ายเรือหลวงเจ้าพระยา รวมทั้งเปลี่ยนมาใช้หมายเลข 211 อย่างเป็นทางการ

          กลับมาที่การชิงชัยโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีอีกครั้ง ภาพประกอบที่สี่ภาพบนคือแบบเรือ Vosper MK7 เวอร์ชันแรกของบริษัทวอสเปอร์ เพราะเป็นเรือใหญ่ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงให้วุ่นวายจนกลายเป็นเรืออีกลำ หัวเรือติดปืนใหญ่ OTO 76/62 IROF หน้าสะพานเดินเรือติดปืนกล Breda Bofors 40/70 ระเบียงสะพานเดินคือจุดเดียวที่ถูกปรับปรุงให้ยาวกว่าเดิม รองรับการติดตั้งปืนกล 20 มม. Oerlikon GAM-BO1 ท้ายเรือติดอาวุธเรียงกันประกอบไปด้วย อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE จำนวน 8 ท่อยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stingray จำนวน 6 ท่อยิง และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx อีก 1 ระบบ

          ภาพประกอบที่สี่ภาพล่างคือแบบเรือ Vosper MK7 เวอร์ชันสองของบริษัทวอสเปอร์ ใช้ระบบเรดาร์เหมือนแบบเรือ PFMM Mk.16 บริษัททาโคม่าทั้งหมด ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx กับระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 หายไปจากเรือเช่นเดียวกันกัน

ความเป็นไปได้ที่วอสเปอร์จะใช้แบบเรือ Vosper MK7 ค่อนข้างน้อยมาก ผู้เขียนให้ราคาที่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยมีข้อแม้ว่าวอสเปอร์พัฒนาแบบเรือคอร์เวตขนาดเล็กกว่า 1,000 ตันไม่ทันเวลา

สมมุติฐานข้อที่สอง : วอสเปอร์ส่งเรือเล็กเข้าร่วมโครงการ แต่ตั้งราคาแพงเกินไปเพราะไม่เคยบุกตลาดไทยมาก่อน

          อย่างที่ทราบกันดีบริษัทวอสเปอร์ขายเรือให้กับลูกค้าทั่วโลกมาช้านาน เรือคอร์เวตขนาดไม่เกิน 1,000 ตันขายได้เรื่อยๆ ตลอดเวลา เริ่มต้นตั้งแต่ขายเรือคอร์เวตตรวจการณ์ชั้น Kromantse ให้กับกองทัพเรือกานาในปี 1964 จำนวน 2 ลำ ใช้แบบเรือ Vosper MK1 ระวางขับน้ำ 500 ตัน ยาว 54 เมตร กว้าง 8.7 เมตร กินน้ำลึก 3.1 เมตร โดยใช้อาวุธอังกฤษจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง  ต่อมาในปี 1966 กองทัพเรือลิเบียประจำการเรือคอร์เวต RLNS Tobruk ใช้แบบเรือ Vosper MK1 เหมือนกองทัพเรือกานา และติดระบบอาวุธและเรดาร์เหมือนกันทั้งลำ

ปี 1972 วอสเปอร์ขายเรือคอร์เวตชั้น Dorina ให้กับกองทัพเรือไนจีเรียจำนวน 2 ลำ ใช้แบบเรือ Vosper MK3 ระวางขับน้ำ 650 ตัน ยาว 61.2 เมตร กว้าง 9.5 เมตร กินน้ำลึก 3.3 เมตร และยังคงใช้อาวุธอังกฤษจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ได้ระบบเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นใหม่จากเนเธอร์แลนด์เพิ่มเติมเข้ามา

          ถัดมาเพียง 6 ปีในปี 1979 หรือพ.. 2522 วอสเปอร์ขายเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำชั้น Erinomi ให้กองทัพเรือไนจีเรียอีกครั้งจำนวน  2  ลำตามภาพประกอบที่ห้า คราวนี้ใช้แบบเรือ Vosper MK9 ซึ่งถูกปรับปรุงจากแบบเรือ Vosper MK3 ระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 850 ตัน ยาว 69 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.2 เมตรรวมโดมโซนาร์ เท่ากับว่าไนจีเรียสั่งซื้อเรือคอร์เวตจากวอสเปอร์รวมกันถึง 4 ลำ

หัวเรือติดปืนใหญ่ OTO 76/62 มม. จำนวน 1 กระบอก หน้าสะพานเดินเรือคือแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Bofors ขนาด 375 มม.ขนาด 2 ท่อยิง ใช้เรดาร์ตรวจการณ์รุ่นส่งออกจากอังกฤษ ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง WM-25 จากเนเธอร์แลนด์ ที่ว่างกลางเรือติดปืนกล 20 มม.Oerlikon GAM-BO1 จำนวน 2 กระบอก ท้ายเรือติดปืนกล Bofors 40L70 จำนวน 1 กระบอก กับแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat ขนาด 4 ท่อยิง มีออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Sea Archer สำหรับปืนกล 40 มม. ส่วน Seacat ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง WM-25 บนเสากระโดงร่วมกับปืนใหญ่ 76 มม.

นี่คือการออกแบบที่ย้อนแย้งกับหลักนิยมกองทัพเรืออังกฤษ พวกเขาพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat ขึ้นมาเพื่อใช้งานทดแทนปืนกล 40 มม. แต่แล้วตัวเองกลับขายเรือติดทั้ง Seacat และปืนกล 40 มม.ให้กับลูกค้า โดยมีปืนกล 20 มม.Oerlikon GAM-BO1 อีก 2 กระบอกไว้ป้องกันตัว

ข้อเท็จจริงก็คือไนจีเรียต้องการใช้ปืนกล 40 มม.เป็นปืนรอง วอสเปอร์จึงทำตามความต้องการลูกค้า แบบเรือ Vosper MK9 ดูน่ารักปุ๊กปิ๊กไม่เหมือนใคร มีความสวยงามครึ่งลำหน้าบวกความขี้เหร่ครึ่งลำหลัง

          สมมุติฐานข้อที่สองของผู้เขียนก็คือ วอสเปอร์ส่งแบบเรือคอร์เวต Vosper MK9 เข้าร่วมชิงชัยโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี เรือชั้นนี้เพิ่งเข้าประจำการเพียง 3 ปีถือว่าใหม่มาก ติด Seacat ขนาด 4 ท่อยิงกลายเป็นเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีรุ่นประหยัดสำหรับชาติเล็ก วอสเปอร์จะนำเรือลำนี้มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการราชนาวีไทย เพิ่มเติมความทันสมัยเข้ามาและตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป อาทิเช่นในภาพประกอบมีเรือเล็กจอดติดกันจำนวน 2 ลำ วอสเปอร์ต้องการตัดออกหนึ่งลำเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัย

          ภาพประกอบที่หกภาพบนคือแบบเรือ Vosper MK9 เวอร์ชันแรกของบริษัทวอสเปอร์ ยาว 69 เมตรเท่าเดิม ระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 870 ตัน หัวเรือติดปืนใหญ่ OTO 76/62 IROF หน้าสะพานเดินเรือติดปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝดแทนที่แท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Bofors ขนาด 375 มม. จุดติดไฟฉายกลางเรือเปลี่ยนเป็นจุดติดปืนกล 20 มม.Oerlikon GAM-BO1 เรือเล็กย้ายมาวางข้างปล่องระบายความร้อนซึ่งออกแบบใหม่ร่วมสมัยมากขึ้น ถัดไปเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง ต่อด้วยจุดติดเรดาร์เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ DA-05 และแท่นยิงเป้าลวง Dagaie

          ปืนกล Bofors 40L70 ถูกแทนที่ด้วยระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx สองกราบเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stingray จำนวน 6 ท่อยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat ขนาด 4 ท่อยิงถูกแทนที่ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE จำนวน 8 ท่อยิง ความน่ารักปุ๊กปิ๊กถูกเปลี่ยนเป็นความดุดันน่าเกรงขาม มาพร้อมราคาเรือที่ขยับตัวสูงขึ้นตามราคาระบบอาวุธและเรดาร์

          ภาพประกอบที่หกภาพล่างคือแบบเรือ Vosper MK9 เวอร์ชันสองของบริษัทวอสเปอร์ ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx กับระบบ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 หายไป การปรับปรุงทำให้เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจากอังกฤษประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม บังเอิญแบบเรือค่อนข้างเล็กมาก ระวางขับน้ำกับความยาวน้อยกว่าแบบเรือคู่แข่ง เมื่อนำมาติดระบบอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทย ติดได้ทั้งหมดก็จริงแต่แทบไม่เหลือที่ว่างให้ลูกเรือเดินผ่าน ต่อให้บริษัทวอสเปอรเสนอราคาใกล้เคียงคู่แข่งแต่คงไม่ได้รับการคัดเลือกอยู่ดี

          วอสเปอร์ไม่เคยขายเรือให้กับราชนาวีไทยมาก่อน โครงการนี้จึงเกิดความผิดพลาดทั้งเรื่องแบบเรือและการเสนอราคา แต่ถึงกระนั้นก็ตามเมื่อกองทัพเรือตั้งโครงการเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขึ้นมา วอสเปอร์จับมือกับบริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด ใช้แบบเรือชั้น Province รุ่นปรับปรุงเข้าร่วมชิงชัย สามารถเอาชนะคู่แข่งได้รับการคัดเลือกให้สร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขนาด 62 เมตรจำนวน 3 ลำ แบบเรือเดียวกันยังถูกปรับปรุงและสร้างเรือตรวจการณ์ปืนให้กองทัพเรือไทยจำนวน 3 ลำ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีก 1 ลำ จำนวนรวมเท่ากับ 7 ลำแซงหน้าแบบเรือตรวจการณ์ปืน PSMM Mk5 บริษัททาโคม่า 1 ลำ ได้ครอบครองอันดับหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

บริษัทซี.เอ็น.อาร์

          เรือคอร์เวตจากอิตาลีเป็นอีกหนึ่งตัวเต็งของโครงการ ก่อนหน้านี้ในปี 2519 กองทัพเรือสั่งซื้อเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้นเรือหลวงราชฤทธิ์จำนวน 3 ลำ จากบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ประเทศอิตาลี มูลค่ารวมประมาณ 1,736 ล้านบาทเศษ ถัดมาในปี 2523 ตามโครงการเสริมกำลังทางเรือ รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือเร็วโจมตี ปืนจำนวน 3 ลำจากบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ประเทศอิตาลีเช่นเดียวกัน เท่ากับว่ากองทัพเรือคุ้นเคยเรือรบขนาดปานกลางจากดินแดนมักกะโรนีมากเป็นพิเศษ

          สำหรับโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีราชนาวีไทยในปี 2525 อิตาลีมีการเปลี่ยนมือจากบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้าเจ้าประจำ เป็นบริษัทซี.เอ็น.อาร์ หรือ Cantieri Navali Riuniti เพราะมีแบบเรือคอร์เวตทันสมัยประสิทธิภาพสูงหลายแบบอาทิเช่น แบบเรือ Mini Lupo ซึ่งเปรียบได้กับน้องสาวคนสุดท้องของเรือฟริเกตชั้น Lupo เรือมีระวางขับน้ำ 1,504 ตัน ยาว 94.6 เมตร กว้าง 10.7 เมตร แบ่งเป็นรุ่นปราบเรือผิวน้ำติดปืนใหญ่ 5 นิ้ว กับรุ่นป้องกันภัยทางอากาศติดปืนใหญ่ 3 นิ้วกับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน โดยมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รบเรือ ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ และลานจอดพร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตันมาอย่างพร้อมสรรพ

หมายเหตุ : เรือฟริเกตตระกูล Lopu มีด้วยกัน 3 รุ่นประกอบไปด้วย

1.Lupo  CODOG รุ่นมาตรฐานกองทัพเรืออิตาลี

2.Lupo CODOD รุ่นเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับส่งออกลูกค้าชาติใหญ่

3.Mini Lupo ขนาดย่อส่วนสำหรับส่งออกลูกค้าชาติเล็ก

ทว่าในความเป็นจริงซี.เอ็น.อาร์ขายเรือ Lupo รุ่นมาตรฐานให้กับลูกค้าต่างชาติมากถึง 14 ลำ ส่วน Lupo CODOD และ Mini Lupo ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับส่งออกกลับขายไม่ออกแม้แต่ลำเดียว

นอกจาก Mini Lupo ซี.เอ็น.อาร์ยังมีแบบเรือคอร์เวต Feluca ติดอาวุธครบ 3 มิติ บังเอิญขนาดค่อนข้างเล็กยาวเพียง 57.8 เมตรสั้นกว่าแบบเรือ Vosper MK9 ด้วยซ้ำ ฉะนั้นแบบเรือที่เหมาะสมกับกองทัพเรือไทยมากที่สุดสมควรเป็น แบบเรือคอร์เวตป้องกันภัยทางอากาศ C-1000 ตามภาพประกอบที่เจ็ดมากที่สุด

แบบเรือ C-1000 มีระวางขับน้ำประมาณ 1,000 ตัน ยาว 75 เมตร กว้าง 10.25 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล GMT 230DVM  จำนวน 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 6,000  ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต หัวเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE จำนวน 8 ท่อยิง วางเรดาร์ตรวจการณ์บนหลังคาสะพานเดินเรือหน้าเสากระโดง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรือรบอิตาลีที่คนทั่วโลกคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่มีปล่องระบายความร้อนทำให้เรือค่อนข้างโล่ง กลางเรือติดปืนใหญ่ OTO  76/62 มม.กับแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 6 ท่อยิง ท้ายเรือมีพื้นที่ว่างรองรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4-8 ท่อยิง

C-1000 ทำการรบได้ครบ 3 มิติตรงตามความต้องการ บังเอิญกองทัพเรือมีความต้องการเรื่องอื่นด้วยอาทิเช่น เรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลางหรือระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด ซี.เอ็น.อาร์จำเป็นต้องปรับปรุงแบบเรือใหม่หมดทั้งลำ กรณีเดียวกับทาโคม่าปรับปรุงเรือคอร์เวตชั้น Badr ให้กลายเป็นแบบเรือ PFMM Mk.16

ผู้เขียนขออนุญาตปรับปรุงแบบเรือคอร์เวตจากอิตาลีให้เหมาะสมกับโครงการ

ภาพประกอบที่แปดภาพบนคือแบบเรือ C-1000 เวอร์ชันแรกของบริษัทซี.เอ็น.อาร์ หัวเรือติดปืนใหญ่ OTO 76/62 IROF ถัดไปเล็กน้อยสร้างจุดติดตั้งปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝด ระเบียงสะพานเดินเรือยาวกว่าเดิมเพื่อติดปืนกล 20 มม.Oerlikon GAM-BO1 เสากระโดงคล้ายแบบเรือคู่แข่งเพราะบังคับติดเรดาร์ควบคุมการยิง WM-25 กับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW-06 แต่ย้ายเรดาร์เดินเรือ Decca 1226 มาอยู่หน้าเรดาร์ควบคุมการยิง WM-25 แท่นยิงเป้าลวง Dagaie อยู่หลังเสากระโดงคล้ายแบบเรือจากอเมริกา

กลางเรือสร้างจุดติดเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ  DA-05 เพิ่มปล่องระบายความร้อนรูปทรงสมัยนิยม เพิ่มเรือเล็กเป็น 2 ลำพร้อมเครนเดวิดค่อนข้างสูง การออกแบบจุดผู้เขียนหยิบยืมมาจากเรือคอร์เวตชั้น Minerva กองทัพเรืออิตาลี ใช้เป็นแบบเรือบริษัทซี.เอ็น.อาร์หรือ Fincantieri ในปัจจุบันเช่นกัน ทว่าเรือขนาดใหญ่ถึง 1,285 ตัน ยาว 87 เมตร กว้าง 10.5 ราคาย่อมแพงจนไม่อาจเอาชนะคู่แข่งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

เครื่องจักรใหญ่เปลี่ยนมาใช้งานเครื่องยนต์ MTU จากเยอรมัน ท้ายเรือติดอาวุธไล่เลียงกันไปตามความเหมาะสม ดาดฟ้าชั้นสองติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง กับระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ดาดฟ้าเรือชั้นล่างติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stingray จำนวน 6 ท่อยิง กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE จำนวน 8 ท่อยิงเหมือนแบบเรือคู่แข่งทุกลำ

ภาพประกอบที่แปดภาพบนคือแบบเรือ C-1000 เวอร์ชันสองของบริษัทซี.เอ็น.อาร์ วอสเปอร์ ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx กับระบบ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 หายไปราคาเรือจึงถูกลง แบบเรือจากอิตาลีเหมาะสมกับความต้องการราชนาวีไทยมาก อาจเป็นเพราะผู้เขียนซึ่งเป็นคนวาดภาพรู้เฉลยตอนจบแล้ว การปรับปรุงเรือสามารถยึดแบบเรือผู้ชนะจากอเมริกามาเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน

บทสรุปโครงการ

          แบบเรือเข้าชิงชัยรอบสุดท้ายทั้ง PFMM Mk.16 จากอเมริกาหรือ C-1000 จากอิตาลี มีความเหมาะสมกับราชนาวีไทยทั้งขนาดเรือ ความคุ้นเคย การใช้งาน คอนเนคชั่นคนในกองทัพเรือ รวมทั้งการตั้งราคาให้ตรงกับงบประมาณ เนื่องจากช่วงนั้นกองทัพเรือซื้อเรือจากอเมริกาและอิตาลีหลายรุ่น ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนก็คือลำไหนก็ได้ เพราะแบบเรือ PFMM Mk.16 กับ C-1000 ขนาดใกล้เคียงกันราวกับแฝดสยาม         

          บังเอิญกองทัพเรือเลือกเจรจากับบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัดก่อน เมื่อการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดีทำให้แบบเรือ PFMM Mk.16 จากสหรัฐอเมริกา ได้รับการคัดเลือกในโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีราชนาวีไทย


          มีเรื่องหนึ่งน่าสนใจผู้เขียนขอลงปิดท้ายบทความ นิตยสาร Conway's All the World's Fighting Ships 19471995 ลงข่าวว่า กองทัพเรือไทยต้องการสร้างเรือคอร์เวตจากแบบเรือ PFMM Mk.16 เพิ่มโดยใช้อู่ต่อเรือในประเทศ แต่ถูกยกเลิกแล้วหันมาสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขนาดเล็กกว่าจำนวนมากกว่า ส่งผลให้บริษัทวอสเปอร์ประเทศอังกฤษแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการจากแบบเรือชั้น Province รุ่นปรับปรุง

จากข้อมูลเบื้องต้นผู้เขียนขอตั้งสมมุติฐานว่า หนึ่งในเหตุผลที่กองทัพเรือเลือกแบบเรือ PFMM Mk.16 เป็นผู้ชนะโครงการ เนื่องจากบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จำกัดให้ออปชันถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือ บังเอิญโชคร้ายบริษัททาโคม่าล้มละลายเสียก่อน ไม่ก็แบบเรือบริษัทวอสเปอร์ราคาถูกกว่าน่าสนใจมากกว่า ส่งผลให้เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจากสหรัฐอเมริกามีเพียง 2 ลำเท่าเดิม

++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://www.naval.com.br/blog/2017/10/16/as-fragatas-type-21-classe-amazon/

http://www.mdc.idv.tw/mdc/navy/othernavy/mk5-7.htm

https://www.naval.com.br/blog/2017/10/17/as-corvetas-vosper-mk-9-da-nigeria/?fbclid=IwAR1Hln3-qX3CIGnFMEJDt8iFkASHKOVUta-srPenn9qpce9ylR_fl3T_OmM

https://www.secretprojects.co.uk/threads/italian-never-build-from-1975-to-today.5861/

https://thaimilitary.blogspot.com/2021/08/thai-navy-missile-corvette.html

http://www.shipbucket.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น