วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

Bangladesh Navy 2021

 กองทัพเรือบังกลาเทศ 2021

         บังกลาเทศมีพื้นที่ในท้องทะเล 118,813 ตารางกิโลเมตร ทรัพยากรกลางมหาสมุทรอินเดียมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทว่ากองทัพเรือค่อนข้างล้าสมัยไร้ประสิทธิภาพ กำลังรบหลักเป็นเรือฟริเกตมือสองจากอังกฤษ กับเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจากรัสเซียและจีน รับมือภัยคุกคามจากอาวุธทันสมัยได้น้อยเต็มทน รวมทั้งไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้เลย ต้องซื้อเรือจากต่างประเทศมาใช้งานเพียงอย่างเดียว

ต่อมาในปี 2009 รัฐบาลในตอนนั้นผุดแผน Forces Goal 2030 ขึ้นมา เพื่อปรับปรุงทุกเหล่าทัพให้เข้มแข็งกว่าเดิม กองทัพเรือบังกลาเทศได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้เช่นกัน แผนใหญ่แผนนี้กินระยะเวลานานถึง 20 ปีเต็ม แบ่งเป็น 4 เฟสโดยแต่ละเฟสใช้เวลาละ 5 ปี นับถึงตอนนี้ผ่านไปแล้วครึ่งทางคือ 10 ปีเต็ม การเสริมกำลังทางเรือมีตัวเลขน่าสนใจประกอบไปด้วย (ไม่นับรวมหน่วยยามฝั่ง)

-จัดตั้งกองเรือดำน้ำ ซื้อเรือดำน้ำมาใช้งานจำนวน 2 ลำ

-ซื้อเรือฟริเกตเพิ่มจำนวน 6 ลำ นำมาทดแทนเรือเก่าและขยายกองเรือให้ใหญ่ขึ้น

-จัดตั้งกองเรือคอร์เวต ซื้อเรือคอร์เวตมาใช้งานจำนวน 6 ลำ

-สร้างเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4 ลำ

-สร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 5 ลำ

-ซื้อเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลจำนวน 2 ลำ

-ซื้อเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัยจำนวน 2 ลำ

-ซื้อเรือสำรวจขนาดใหญ่จำนวน 1 ลำ

-สร้างเรือสำรวจอุทกศาสตร์ขนาดเล็กจำนวน 2 ลำ

นอกจากนี้ยังได้จัดหาเรือน้ำมันขนาดต่างๆ จำนวน 3 ลำ เรือระบายพลจำนวน 2 ลำ รวมทั้งยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกอีกจำนวน 6 ลำ ไม่นับรวมโครงการเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมากมาย เวลา 10 ปีกองทัพเรือบังกลาเทศจัดชุดใหญ่ไฟกะพริบครบถ้วนทุกกองเรือ

ผู้เขียนเคยเขียนถึงกองทัพเรือบังกลาเทศไปแล้วในปี 2016 ฉะนั้นในบทความนี้จะเน้นมาที่กองเรือรบหลัก ประกอบไปด้วยเรือดำน้ำ เรือฟริเกต และเรือคอร์เวต แผนการในอนาคต กับการพึ่งพาตัวเองเท่านั้น ใครอยากอ่านเรื่องราวในอดีตเป็นการปูทาง เชิญตามลิงก์ด้านล่างได้เลย

Bangladesh Navy

เรือดำน้ำ

         ระหว่างปี 2014 บังกลาเทศสั่งซื้อเรือดำน้ำ Type 035G Ming มือสองจากจีนราคา 203.5 ล้านเหรียญ BNS Nabajatra S161 กับ BNS Joyjatra S162 เข้าประจำการวันที่ 12 มีนาคม 2017 พร้อมกัน เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,110 ตันระหว่างดำ ยาว 76 เมตร กว้าง 7.6 เมตร ความเร็วสูงสุด 15 นอตบนผิวน้ำ และ 18 นอตระหว่างดำ สามารถดำน้ำได้ลึกสุด 300 เมตร

Type 035G Ming ใช้ระบบโซนาร์จีนโดยนำโซนาร์ฝรั่งเศสมาพัฒนา มาพร้อมตอร์ปิโดขนาด 533 มม. Yu-4 ระยะยิงไกลสุด 15 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 40 นอต รวมทั้งได้ข่าวว่าจัดหาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่น ET-40 ระยะยิงไกลสุด 30 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 25 นอตมาใช้งานเช่นกัน

         เรือทั้ง 2 ลำเริ่มเข้าประจำการปี 1990 ได้รับการปรับปรุงใหญ่ก่อนส่งมอบให้กับบังกลาเทศ น่าจะใช้งานได้อีก 20 ปีคือถึงปี 2037 ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันใหม่ว่าจะไปเรือลำไหน

จากภาพถ่ายจะเห็นว่ารูปทรงเรือค่อนข้างโบราณ โดยเฉพาะสะพานเดินเรือขัดหูขัดตาเสียเหลือเกิน เนื่องจาก Type 035G Ming ถูกพัฒนาจากเรือชั้น Type 033 Romeo ของโซเวียตจากยุคห้าศูนย์ แต่ถึงกระนั้นส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าคุ้มค่าเงิน การรบจริงอาจไม่ทัดเทียมเรือดำน้ำรุ่นใหม่ก็จริง ทว่าอย่างน้อยเป็นการช่วยฝึกฝนเจ้าหน้าที่กับลูกเรือ ให้มีความรู้ความสามารถจากการใช้งานจริง เรือรบตัวเองยังได้ฝึกฝนการค้นหาและไล่ล่าเรือดำน้ำ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเรือจากมหามิตรแต่อย่างใด

การมาของเรือรูปทรงโบราณจำนวน 2 ลำ ส่งผลให้พม่าต้องเร่งปรับปรุงการทำสงครามใต้น้ำ รองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่จากเพื่อนรักเพื่อนแค้น เป็นการแก้เกมเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ก่อน

เรือฟริเกต

         ผู้เขียนขอไล่เรียงเรือฟริเกตบังกลาเทศไปทีละแบบเรือ เริ่มต้นจาก เดอะแบก ซึ่งมีหนึ่งเดียวเท่านั้นชื่อ BNS Bangabandhu F25 เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น DW 2000-H จากอู่ต่อเรือแดวูหรือ DSME ประเทศเกาหลีใต้ ระวางขับน้ำเต็มที่ 2380 ตัน ยาว 103.7 เมตร กว้าง 12.5 เมตร กินน้ำลึก 3.8 เมตร ตั้งปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Otomat  Mk. II Block IV จำนวน 8 นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 ระยะยิง 15 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด ปิดท้ายด้วยตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Whitehead A244S จำนวน 6 นัด

เรือลำนี้ใช้เรดาร์รุ่นใหม่ทันสมัยจากค่ายตะวันตก รวมทั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง ECM และ ESM จาก THALES โดยมีเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 รุ่น Type 345 จากจีนโผล่เข้ามาเป็นข้าวนอกนา เป็นเรือลำเดียวที่มีตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ จัดหามาใช้งานตั้งแต่ปี 2001 ทว่ามีปัญหาใหญ่ต้องกลับไปแก้ไขที่เกาหลีใต้ ก่อนเข้าประจำการอีกครั้งกลางปี 2007 ฉะนั้นเรือไม่ได้อยู่ในโครงการ Forces Goal 2030 แต่อย่างใด

ที่มีเพียงลำเดียวเพราะภัยคุกคามยังไม่ปรากฏ ต่อมาในปี 2020 พม่าจัดหาเรือดำน้ำ Kilo Project 877 จากอินเดียเข้าประจำการ และมีแนวโน้มว่าจะซื้อเรือดำน้ำใหม่เพิ่มเติม เล็งมาที่เรือดำน้ำ Kilo Project 636 รุ่นใหม่จากรัสเซีย ฉะนั้นอีกไม่นานบังกลาเทศจำเป็นต้องขยับตัวครั้งใหญ่

เรือฟริเกตสองลำถัดไปคือ BNS Somudra Joy F28 กับ BNS Somudra Avijan F29 เป็นเรือฟริเกตตรวจการณ์มือสองจากอเมริกา อดีตเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอาวุธนำวิถีชั้น Hamilton บังกลาเทศจัดหาเข้าประจำการปี 2013 กับ 2016 มีค่าใช้จ่ายซ่อมแซมปรับปรุงลำละ 12 ล้านเหรียญ

เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,250 ตัน ยาว 115.2 เมตร กว้าง 13.1 เมตร กินน้ำลึก 4.6 เมตร ความเร็วสูงสุด 29 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 16,000 ไมล์ทะเล ระบบอาวุธมีเพียงปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก แต่เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดออกทะเลลึกได้ดีที่สุด อายุมากแล้วก็จริงทว่ายังมีประจำการครบทุกลำ ล่าสุดคือหน่วยยามฝั่งเวียดนามกำลังจะได้รับเรือชั้นนี้เข้าประจำการ

เรือฟริเกตสองลำถัดไปคือ BNS Abu Bakar F15 กับ BNS Ali Haider F17 เป็นเรือชั้น Type 053H2 (Jianghu-III) รูปร่างคล้ายคลึงเรือหลวงเจ้าพระยาของเรานี่แหละ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,960 ตัน ยาว 103.2 เมตร กว้าง 11.3 เมตร กินน้ำลึก 3.2 เมตร ติดปืนใหญ่ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 4 กระบอก จรวดต่อสู้เรือดำน้ำ RBU-1200 จำนวน 2 แท่นยิง และอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 นัด ติดตั้งระบบเป้าลวงรุ่นทันสมัยกว่าเรือหลวงเจ้าพระยา เปลี่ยนมาใช้ระบบสื่อสารใหม่เอี่ยมทันสมัยจากนี้

เรือทั้งสองลำเข้าประจำการวันที่ 1 มีนาคม 2014 ถัดมาเพียงเดือนกว่าๆ BNS Ali Haider ได้เข้าร่วมกับสหประชาชาติ ในภารกิจรักษาความปลอดภัยน่านน้ำเลบานอน ทดแทนเรือเดิมตัวเองซึ่งทำภารกิจมาร่วม 4 ปี เรียกว่าลูกเรือยังไม่ทันชำนาญก็ออกปฏิบัติการจริงกันแล้ว

ในภาพถ่ายไล่จากใกล้ไปไกล ประกอบไปด้วยเรือ BNS Abu Bakar กำลังฝึกทางทะเลร่วมกับกองทัพเรืออินเดีย ลำที่สองคือเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำชั้น Kamorta ขนาด 3,000 ตันของอินเดีย ต่อด้วยเรือคอร์เวต Type 56 ลำใหม่ของตัวเอง ที่อยู่ไกลสุดคือคอร์เวตชั้น Kora ขนาด 1,400 ตันของอินเดีย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมระหว่างสองประเทศ

เรือฟริเกตชั้น Type 053H2 (Jianghu-III) เข้าประจำการปี 2014 มูลค่าในการจัดหาอยู่ที่ลำละ 40 ล้านเหรียญ (รวม C-802A ด้วยจำนวนหนึ่ง) ถูกปรับปรุงใหม่มีหลายอย่างทันสมัยกว่าเรือหลวงเจ้าพระยา ทว่าอายุเรือนับถึงปีนี้คือ 35 ปีกับ 34 ปีเข้าไปแล้ว เมื่อถึงปี 2030 เรือจะมีอายุ 43 ปีกับ 44 ปีตามลำดับ ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าเรือมีอายุมากเกินไป

บังกลาเทศคุ้นเคยกับการใช้งานเรือมือสอง พวกเขาน่าจะมีแผนรับมือจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า

เรือฟริเกตลำใหม่

มาถึงเรือฟริเกตลำที่ 5 และ 6 ที่บังกลาเทศจัดหามาใช้งานตามโครงการ Forces Goal 2030 เพิ่งเข้าประจำการปีที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ นั่นคือเรือชื่อ BNS Umar Farooq F16 กับ BNS Abu Ubaidah  F19 เป็นเรือฟริเกตชั้น Type 053H3 (Jiangwei II) จากประเทศจีน และเป็นเรือลำเดียวกับที่เคยตกเป็นข่าวใหญ่โตว่า จีนจะยกให้ไทยจำนวน 2 ลำระหว่างปีที่แล้วนั่นเอง

เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,393 ตัน ยาว 112 เมตร กว้าง 12.4 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร ติดปืนใหญ่ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 4 กระบอก จรวดต่อสู้เรือดำน้ำ Type 3200 ขนาด 6 ลำกล้องจำนวน 2 แท่นยิง (แตกต่างจาก RBU-1200 ซึ่งมีเพียง 5 ลำกล้อง) อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 นัด และอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 จำนวน 8 นัด มีลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตันบริเวณท้ายเรือ

เรือทั้ง 2 ลำเข้าประจำการวันที่ 5 พฤศจิกายน 2020 เพิ่งมีอายุ 21 ปีกับ 22 ปีถือว่าค่อนข้างน้อยสำหรับเรือมือสอง อยู่รับใช้ชาติได้อีกอย่างน้อยๆ 20 ปีเต็ม ใช้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 เหมือนเรือ BNS Bangabandhu หรือเดอะแบก แม้เป็นการจัดหาเรือมือสองเข้าประจำการ ทว่ามีความคอมม่อนกับอาวุธเดิมน่าประทับใจมาก นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่บังกลาเทศเล็งเรือชั้นนี้

ภาพนี้คือเรือ BNS Umar Farooq กำลังวิ่งทดสอบหลังเข้าประจำการ ผู้เขียนตัดมาจากคลิปวิดีโอซึ่งมีความละเอียดไม่มากเท่าไร ฉะนั้นภาพถ่ายอาจไม่ชัดเจนโปรดทำใจเล็กน้อย

เรือชั้นนี้มีความทันสมัยพอสมควร จริงอยู่ไม่ได้ติดตั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ บังเอิญติดตั้งโซนาร์หัวเรือ SJD-7 เหมือนเรือหลวงนเรศวรก่อนปรับปรุง จีนนำโซนาร์รุ่น DE-1164 ของอิตาลีมาใช้งานโดยใช้ชื่อใหม่ ส่วนอิตาลีนำโซนาร์ AN/SQS-56B รุ่นส่งออกของอเมริกามาใช้งานโดยใช้ชื่อใหม่เช่นกัน เท่ากับว่าเรือฟริเกตบังกลาเทศใช้โซนาร์ตระกูลเดียวกับเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry ของอเมริกา ค้นหาเป้าหมายที่ทะเล่อทะล่าเข้ามาโดยความชะล่าใจ แล้วให้เฮลิคอปเตอร์บินไปหย่อนตอร์ปิโดใส่ได้เช่นกัน แผนนี้หลายชาติรวมทั้งอังกฤษเคยใช้งานมาก่อนในยุคเจ็ดศูนย์

ระบบอำนวยการรบเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แตกต่างออกไป Type 053H2 (Jianghu-III) ใช้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 ซึ่งแปลงร่างมาจาก Crotale จากประเทศฝรั่งเศส จำเป็นต้องใช้งานระบบอำนวยการรบ ZJK-3C ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์ระบบอำนวยการรบ TAVITAC จาก Thomson-CSF ประเทศฝรั่งเศสมาใช้งาน มีความทันสมัยกว่า ZKJ-3 บนเรือหลวงเจ้าพระยาและ Poseidon-3 บนเรือหลวงกระบุรีค่อนข้างมาก นับรวมระบบโซนาร์หัวเรือ SJD-7 เข้ามาด้วย ส่งผลให้เรือสามารถติดตั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำได้ไม่ยาก ถ้าบังกลาเทศต้องการจริงๆ มีหรือจีนจะไม่ยอมจัดให้

ภาพถัดไปเรือ BNS Abu Ubaidah กำลังวิ่งทดสอบในคลิปเดียวกัน มองเห็นเรือ BNS Umar Farooq เป็นลำถัดไป ส่วนลำสุดท้ายเป็นเรือคอร์เวตใหม่เอี่ยมอ่อง เข้าประจำการวันเดียวกับเรือฟริเกตทั้งสองลำ อีกไม่นานได้เจอตัวจริงในบทความนี้อย่างแน่นอน

บังกลาเทศสั่งซื้อเรือฟริเกตทั้ง 2 ลำปลายปี 2018 ส่งมอบปลายปี 2020 และช่วงปลายปี 2019 มีข่าวว่าพวกเขาอยากได้เรืออีก 2 ลำ มีการกำหนดชื่อเรือจำนวน 1 ลำเรียบร้อยแล้ว ตั้งใจนำมาทดแทนเรือฟริเกต Type 053H2 (Jianghu-III) ในอนาคต เป็นจริงตามนี้พวกเขาจะมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 ถึง 5 ลำ ศัพท์วัยรุ่นตอนปลายแถวบ้านใช้คำว่า เฟี้ยวเงาะ

ทว่าข่าวนี้ยังไม่เป็นทางการสักเท่าไร ยังหาข่าวยืนยันจากรัฐบาลหรือกองทัพเรือทั้งสองชาติไม่พบ ต้องรอดูกันไปว่าเจียงเว่ยจะมาตามนัดหรือเลยมาจอดแถวๆ แคว้นเสียม

เรือคอร์เวต

         บังกลาเทศเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จริงจังกับเรือคอร์เวต ถึงขนาดจัดหาเพิ่มเติมถึง 6 ลำภายในเวลาเพียง 10 ปี ที่สำคัญเป็นเรือใหม่เอี่ยมติดอาวุธทันสมัยถึง 4 ลำ มาพร้อมระบบป้องกันตนเองระยะประชิดแบบอาวุธนำวิถี อันเป็นรุ่นมาตรฐานเรือบรรทุกเครื่องบินประเทศจีน

         เรือสองลำแรกคือเรือคอร์เวตมือสองชั้น Castle จากอังกฤษ ผู้เขียนเคยเขียนถึงหลายครั้งฉะนั้นจะไม่อ้อมค้อม BNS Bijoy F35 กับ BNS  Dhaleshwari F36 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,427 ตัน ยาว 81 เมตร กว้าง 11.5 เมตร กินน้ำลึก 3.6 เมตร ติดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-704 จากจีนจำนวน 4 นัด ปืนกล Oerlikon 20/70 มม.อีก 2 กระบอก โดยใช้เรดาร์ตรวจการณ์และเรดาร์ควบคุมการยิงจากจีน

         บังกลาเทศซื้อเรือทั้งสองลำในปี 2010 ปรับปรุงใหม่หมดแล้วเข้าประจำการในปีถัดไป แบบเรือเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งใช้งานกลางทะเล ฝ่าคลื่นลมได้ดีเทียบเท่าเรือฟริเกตจีนซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากัน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ออกแบบมาเพื่อ Sea King ขนาด 10 ตัน ทว่า Chinook ขนาด 22 ตันเคยบินลงมาแล้วระหว่างสงครามฟอล์กแลนด์

หลังเรือคอร์เวตมือสองจากอังกฤษเข้าประจำการ ต่อมาในปี 2012 บังกลาเทศสั่งซื้อเรือคอร์เวต Type 056 จากประเทศจีนจำนวน 2 ลำ BNS Shadhinota F111 กับ BNS Prottoy F112 เข้าประจำการวันที่ 19 มีนาคม 2016 เท่ากับว่าตอนนี้กองเรือคอร์เวตมีเรือจำนวน 4 ลำ

         เรือคอร์เวต Type 056 รุ่นส่งออกสะพานเดินเรือแตกต่างจากของแท้เล็กน้อย ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,330 ตัน ยาว 91.1 เมตร กว้าง 11.14 เมตร กินน้ำลึก 3.37 เมตร ติดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ H/PJ-17 จำนวน 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัด และอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน FL-3000N จำนวน 8 นัด

FL-3000N ออกแบบมาเพื่อจัดการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ ถ้าความเร็วต่ำกว่าเสียงได้ที่ระยะทาง 9 กิโลเมตร ถ้าความเร็วเหนือเสียงได้ที่ระยะทาง 6 กิโลเมตร ส่งผลให้เรือมีทั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้กับ CIWS รุ่นใหม่ทันสมัยไปพร้อมกัน บังกลาเทศคือชาติแรกที่จีนส่งออก FL-3000N ให้ใช้งาน บ่งบอกเป็นนัยว่าใครคือลูกค้ารายสำคัญของตัวเอง

ในภาพคือเรือ BNS Prottoy มองเห็นแท่นยิง FL-3000N ขนาด 8 ท่อยิงอย่างชัดเจน จรวดถูกออกแบบให้ยิงออกไปก่อนค่อยล็อกเป้าหมายทีหลัง ยิงใส่อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบพร้อมกันหลายนัดในเวลาใกล้เคียงกัน ทันสมัยกว่า CIWS ระบบปืนซึ่งจัดการเป้าหมายได้ครั้งละหนึ่งนัด ในภาพเล็กเรือ BNS Shadhinota ทดสอบยิง FL-3000N ใส่เป้าหมาย หลังเข้าประจำการจริงได้เพียงไม่นาน

เรือคอร์เวตชั้นนี้ใช้อาวุธจีนทั้งลำก็จริง ทว่าระบบเรดาร์ส่วนใหญ่แปลงร่างมาจากยุโรป เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A นำเรดาร์ตรวจการณ์ RAN-10 ของอิตาลีมาพัฒนา เรดาร์ควบคุมการยิง  TR47C นำเรดาร์ตรวจการณ์ RTN-20 ของอิตาลีมาพัฒนาเช่นกัน ส่วนเรดาร์ตัวใหญ่ท้ายแท่นยิง FL-3000N  คือเรดาร์ตรวจการณ์ Kelvin Hughes SharpEye S-band จากอังกฤษ มีเรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes SharpEye X-band อีก 1 ตัวบนเสากระโดงเรือ

ช่องออกเรือเล็กมีแผ่นโลหะปิดบังอย่างแน่นหนา ไม่ได้เป็นตาข่ายใช้ลอกชักขึ้นชักลงเหมือนเรือฟริเกต DW-3000F จากเกาหลีใต้ มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยคงไม่ชอบใจรุ่นส่งออกสักเท่าไร แต่ถ้าเป็นรุ่นปราบเรือดำน้ำมาพร้อมโซนาร์ลากท้ายค่อยว่ากัน

เนื่องจากไม่มีระบบปราบเรือดำน้ำเหมือนเรือต้นฉบับ ราคาเรือไม่แพงเกินไปบังกลาเทศจึงสนใจค่อนข้างมาก ต่อมากลางปี 2015 พวกเขาสั่งซื้อเรือคอร์เวต Type 056 รุ่นส่งออกเพิ่มเติม 2 ลำ BNS Shongram F113 กับ BNS Prottasha F114 ทยอยเข้าประจำการระหว่างปี 2020 มีความแตกต่างจากเรือ 2 ลำแรกเล็กน้อย เป็นการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นดีกว่าเรือต้นฉบับด้วยซ้ำ

ส่วนภาพนี้คือเรือ BNS Shongram เข้าร่วมกับสหประชาชาติ ในภารกิจรักษาความปลอดภัยน่านน้ำเลบานอน หลังจากตัวเองเข้าประจำการได้ไม่ครบ 2 เดือนอีกแล้ว เพื่อทดแทนเรือ NS Bijoy (เรือคอร์เวตชั้น Castle) ซึ่งเกิดความเสียหายจากการระเบิดใหญ่ที่ท่าเรือกรุงเบรุต

ภาพนี้เห็นความแตกต่างจากเรือ 2 ลำแรกไม่ชัดเจน ชมภาพถัดไปซึ่งชัดเจนกว่ากันดีกว่า

         นี่คือภาพถ่ายระยะใกล้เรือ BNS Shongram มองเห็นเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C รุ่นใหม่เอี่ยมอ่อง นำมาแทนที่เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A มีระยะทำการไกลสุด 150 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายให้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่ระยะไกลสุด 60 กิโลเมตร ทำงานคู่กับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน FL-3000N ได้อย่างดีเยี่ยม ที่อยู่ด้านหน้าคือเรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes SharpEye X-band มีเรดาร์เดินเรือตัวที่ 3 รุ่นโดมกลมเพิ่มเข้ามา 1 ตัว มีจานดาวเทียม SATCOM เพิ่มอีก 1 ใบ นี่คือสิ่งแตกต่างระหว่างเรือคอร์เวต Type 056 เฟสแรกกับเฟสสอง

         เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C เรือคอร์เวต Type 056 ของจีนไม่มีสักลำ บังกลาเทศเป็นชาติแรกที่ได้ประเดิมเรดาร์ใหม่ หน้าเรดาร์ควบคุมการยิง TR47C มีกล้องตรวจการณ์ออปทรอนิกส์ติดตั้งมาด้วย อุปกรณ์ตัวนี้ใช้ควบคุมการยิงบนเรือหลายลำ ข้างเสากระโดงติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM และอุปกรณ์รบกวนการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ECM อาจไม่ทันสมัยเหมือนของตะวันตกแต่มาครบนะครับคุณ

โครงการใหม่

         บังกลาเทศมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Island มือสองจากอังกฤษจำนวน 6 ลำ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,260 ตัน ยาว 59.5 เมตร กว้าง 11 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.5 เมตร ติดปืนกล Bofors 40/70 มม จำนวน 1 กระบอกที่หัวเรือเท่านั้น ถูกออกแบบสำหรับใช้งานกลางทะเลลึก มีความคงทนคลื่นลมได้ดีกว่าเรือขนาดใกล้เคียงกัน แต่อายุมากแล้วผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน กองทัพเรือบังกลาเทศต้องการเรือใหม่จำนวน 6 ลำเข้าประจำการทดแทน

         วันที่ 23 มกราคม 2020 บริษัท Chittagong Dry Dock Limited (CDDL) ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือภายในประเทศ ได้รับสัญญาสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 6 ลำจากกองทัพเรือบังกลาเทศ ตามสัญญา CDDL จะส่งเทียบเชิญไปยังบริษัทสร้างเรือชั้นนำทั่วโลก ให้ส่งแบบเรือตัวเองเข้าร่วมชิงชัยในโครงการสำคัญ ส่วนจะสร้างในประเทศหรือนอกประเทศค่อยมาเจรจากัน

คุณสมบัติคร่าวๆ เรือมีระวางขับน้ำประมาณ 2,000 ตัน ความเร็วสูงสุดอย่างน้อย 20 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต ยาวมากกว่า 85 เมตรขึ้นไป กว้างประมาณ 14 เมตร ลานจอดท้ายเรือรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตัน ทนทะเลได้ถึงระดับ Sea State 6 ตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ 20 ฟุตได้ 2 ตู้ โดยมีปืนกล 30 มม.กับ 12.7 มม.เป็นอาวุธป้องกันตัว

โครงการนี้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง Damen OPV 1800 Sex Axe มีคุณสมบัติใกล้เคียงที่สุด ถือเป็นตัวเต็งหามจากมิตรรักแฟนเพลงชาวบังกลาเทศ บังเอิญแบบเรือจากเนเธอร์แลนด์ราคาแพงไม่ใช่เล่นๆ เรือจำนวน 6 ลำถือเป็นโครงการน่าหนักใจพอสมควร บังกลาเทศเองใช่มีงบประมาณมากมาย ต้องรอดูกันต่อไปว่า Sex Axe จะมาตามนัดหรือกลายเป็นเรือจีน

โครงการถัดไปคือ Large-type Patrol Ship (LPS)  หรือเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ใหญ่กว่าเรือ Large Patrol Craft (LPC) ของตัวเองพอสมควร กำหนดให้ติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบถึง 8 นัด โครงการนี้ตุรกีผ่านเข้ารอบเป็นรายแรก โดยการเสนอแบบเรือคอร์เวตชั้น MİLGEM ขนาด 2,400 ตันของตัวเอง มาพร้อมอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ ATMACA ของตัวเองเช่นกัน

เป็นโครงการที่แปลกประหลาดพอสมควร เพราะเรือ LPS ขนาดใหญ่กว่าเรือคอร์เวตด้วยซ้ำ ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบมากกว่าจาก 4 นัดเป็น 8 นัด แบบเรือที่เข้ารอบแรกทันสมัยกว่าเรือฟริเกตทุกลำของตัวเอง ถ้ามีแท่นยิงแนวดิ่งติดตั้งมาด้วยจะยิ่งเฮไปกันใหญ่ นี่มันอะไรกันวุ้ย!

ตอนนี้ผู้เขียนอยากเห็นผู้เข้ารอบรายอื่น ถึงจะสามารถบอกทิศทางของโครงการได้ ที่พอบอกได้ในตอนนี้คือเรือมีราคาแพงแน่นอน แล้วบังกลาเทศจะไปหาเงินมาจากไหน

ถ้าคิดว่า 2 โครงการที่เพิ่งผ่านไปน่าตื่นเต้นตกใจ โครงการที่ 3 ของพี่เขาน่าตื่นเต้นตกใจยิ่งกว่า ปลายเดือนตุลาคม 2020 มีข่าวว่ากองทัพเรือบังกลาเทศอยากได้เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์!

ใช่ครับเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์อ่านไม่ผิด

ที่มาที่ไปมาจากตุรกีเจ้าเดิมนั่นแหละ มาปั่นหูบังกลาเทศเรื่องเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเติมเต็มโครงการ Forces Goal 2030 ให้สวยหรูมากยิ่งขึ้น ข้อมูลโครงการนี้โผล่ออกมาค่อนข้างน้อย มิตรรักแฟนชาวบังกลาเทศเพลงพูดถึงเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบหรือ LH ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมิตรรักแฟนเพลงชาวไทยก็มักพูดถึงเช่นกัน โชคร้ายเรือมีราคาแพงเกินไปรวมทั้งใหญ่เกินไป บางทีอาจเป็นเรือยกพลขึ้นบกมีอู่ลอยหรือ LPD จอดเฮลิคอปเตอร์ได้ 2 ถึง 3 ลำ

กองทัพเรือบังกลาเทศมีเฮลิคอปเตอร์ AW109 จำนวน 2 ลำ จะมีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ไปเพื่ออะไร? จริงอยู่ใช้เฮลิคอปเตอร์จากเหล่าทัพอื่นก็ได้ แต่ต้องฝึกฝนบินขึ้นลงเรือให้เกิดความชำนาญ ไม่เช่นนั้นพลัดตกทะเลเสียทั้งของเสียทั้งคน เป็นโครงการน่าตื่นเต้นตกใจและน่าติดตามมาก

การพึ่งพาตัวเอง       

         บังกลาเทศสร้างเรือด้วยตัวเองได้ดีระดับหนึ่ง บทความเดิมลงไว้แล้วฉะนั้นผู้เขียนจะเขียนถึงเล็กน้อย เริ่มต้นจากโครงการเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่หรือ Large Patrol Craft (LPC) ปี 2009 พวกเขาสั่งซื้อเรือจากประเทศจีนจำนวน 2 ลำ ต่อมาในปี 2014 จึงสั่งซื้อเพิ่มอีก 2 ลำโดยสร้างเองภายในประเทศ ถือเป็นเรือรบลำใหญ่สุดที่บังกลาเทศสร้างด้วยตัวเอง

         เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 648 ตัน ยาว 64 เมตร กว้าง 9 เมตร กินน้ำลึก 3 เมตร ติดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล Oerlikon 20/70 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C704 จำนวน 4 นัด จรวดปราบเรือดำน้ำ EDS-25A ขนาด 6 ลำกล้องจำนวน 2 แท่นยิง ทำงานร่วมกับโซนาร์หัวเรือ ESS-3 ระยะทำการประมาณ 8 กิโลเมตร

ภาพบนฝั่งซ้ายมือคือ BNS Nishan P815 เรือลำสุดท้ายในโครงการ นับเป็นฝาแฝดกับเรือ Littoral Mission Ship (LMS) ของมาเลเซียซึ่งสั่งจากจีน 4 ลำเช่นกัน โดยมีออปชันสร้างเอง 2 ลำเช่นกันทว่ายกเลิกในท้ายที่สุด เรือลำนี้ติดอาวุธครบ 3 มิติประมาทไม่ได้เหมือนกัน

ภาพบนฝั่งขวามือคือเรือระบายพลขนาดใหญ่หรือ LCU สร้างโดยอู่ต่อเรือ Khulna Shipyard หรือ KSY ยาว 42 เมตร ระวางขับน้ำ 415 ตัน ใกล้เคียงเรือหลวงราวีซึ่งเราสร้างเองภายในประเทศ KSY ยังมีผลงานเป็นเรือน้ำมันขนาด 68 เมตร BNS Khan Jahan Ali เรือลากจูงชั้น Damen Stan Tug 3008 จำนวน 2 ลำ เป็นอู่ต่อเรือเก่าแก่อายุมากกว่า 60 ปีเข้าไปแล้ว

ภาพล่างฝั่งซ้ายคือเรือตรวจการณ์ปืนชั้น Padma ของอู่ต่อเรือ KSY เช่นกัน เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 270 ตัน ยาว 50.4 เมตร กว้าง 7.5 เมตร กินน้ำลึก 1.9 เมตร กองทัพเรือบังกลาเทศสั่งซื้อจำนวน 5 ลำ ติดตั้งปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 แท่นยิง ปืนกล Oerlikon 20/70 มม.อีก 2 กระบอก นอกจากนี้ยังได้สั่งเพิ่มอีกจำนวน 5 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างในอู่ต่อเรือ

เรือตรวจการณ์ชั้น Padma หน่วยยามฝั่งบังกลาเทศมีประจำการจำนวน 3 ลำ รวมทั้งมีอีก 2 ลำสร้างเสร็จแล้วปล่อยลงน้ำแล้ว แตกต่างกันตรงหัวเรือใช้ราวกับตกแบบทึบทำจากโลหะ เสากระโดงสูงขึ้นเพื่อติดเรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ลำ และใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด 25 มม.จากอิตาลีที่หัวเรือ (อาวุธมาตรฐานหน่วยยามฝั่ง) กับปืนกล 12.7 มม.อีกจำนวน 2 กระบอก

เท่ากับว่าตอนนี้เรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรมีสร้างแน่นอน 15 ลำ เป็นการสนับสนุนอู่ต่อเรือภายในประเทศที่น่าอิจฉามาก ประเทศไทยควรทำแบบนี้ติดต่อกันสักสองปีหนึ่งลำก็ยังดี

ภาพล่างฝั่งขวาคือเรือสำรวจอุทกศาสตร์ตัวเรือแฝด สร้างขึ้นมาจำนวน 2 ลำเข้าประจำการพร้อมเรือฟริเกตชั้น Type 053H3 (Jiangwei II) ปลายปีที่แล้ว เรือ BNS Darshak (H581) กับ BNS Tallashi (H582) มีความยาว 32.78 เมตร กว้าง 8.4 เมตร กินน้ำลึก 3.17 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 12 นอต ข้อมูลเรือมีเพียงเท่านี้เนื่องจากเป็นเรือใหม่มาก

บทสรุปก่อนจาก

         การเสริมทัพกองทัพเรือบังกลาเทศในรอบ 10 ปี ส่งผลให้พวกเขามีความน่าเกรงขามมากกว่าเดิม โดยเฉพาะกำลังรบหลักอันประกอบไปด้วยเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ เรือฟริเกตจำนวน 7 ลำ เรือคอร์เวตจำนวน 6 ลำ และเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีอีก 4 ลำ ผู้เขียนขอนำมาเทียบกับกองทัพเรือไทยให้พอเห็นภาพได้ดังนี้ (นับเรือทุกลำที่ยังไม่ปลดประจำการรวมทั้งเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ยกเว้นเรือหลวงปิ่นเกล้าหนึ่งลำผู้เขียนขอเถอะนะ)

         บังกลาเทศมีเรือดำน้ำ 2 ลำ : ไทยมีเรือดำน้ำ 0 ลำ

         บังกลาเทศมีเรือฟริเกต 7 ลำ : ไทยมีเรือฟริเกต 8 ลำ

บังกลาเทศมีเรือคอร์เวต 6 ลำ : ไทยมีเรือคอร์เวต 4 ลำ

บังกลาเทศมีเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี 4 ลำ : ไทยมีเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ 3 ลำ

เทียบกันตามนี้กำลังทางเรือเราไม่เป็นรองสักเท่าไร ยกเว้นแค่เพียงกองเรือดำน้ำเท่านั้น ต่อไปผู้เขียนจะเปรียบเทียบอาวุธสำคัญๆ ซึ่งมีใช้งานบนเรือ

บังกลาเทศมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ 7 ลำ (เรือฟริเกต 3 ลำกับเรือคอร์เวต 4 ลำ) : ไทยมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ 6 ลำ (เรือฟริเกต 3 ลำ เรือคอร์เวต 2 ลำ และเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ)

บังกลาเทศมีเรือติดอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS 4 ลำ (เรือคอร์เวต 4 ลำ โกงมากๆ เลยเพราะ FL-3000N แท้เชียว) : ไทยมีเรือติดอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS 2 ลำ (เรือฟริเกต 1 ลำกับเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ)

บังกลาเทศมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือ 15 ลำ (เรือฟริเกต 5 ลำ เรือคอร์เวต 6 ลำ และเรือตรวจการณ์ 4 ลำ) : ไทยมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ 10 ลำ (เรือฟริเกต 7 ลำ เรือคอร์เวต 2 ลำ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 1 ลำ) นับรวมเรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงซึ่งยังคงติดตั้งแท่นยิง C-801 บนเรือ ถ้าผู้เขียนไม่นับจะลดลงมาเหลือเพียง 8 ลำ

บังกลาเทศมีเรือติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 1 ลำ (เรือฟริเกต 1 ลำ) : ไทยมีเรือติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 11 ลำ (เรือฟริเกต 4 ลำ เรือคอร์เวต 4 ลำ เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ 3 ลำ)

บังกลาเทศมีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำ 8 ลำ (เรือฟริเกต 4 ลำ เรือตรวจการณ์ 4 ลำ) : ไทยมีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำ 4 ลำ (เรือฟริเกต 4 ลำ)

จะเห็นได้ว่าบังกลาเทศอ่อนเรื่องอาวุธปราบเรือดำน้ำทันสมัย แก้ไขง่ายๆ โดยซื้อเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Z-9 จากจีน และติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำบนเรือฟริเกตชั้น Type 053H3 (Jiangwei II) จำนวน 2 ลำ เพียงเท่านี้น่าจะพอทำให้พม่าเกรงขามกว่าเดิม

ส่วนไทยตกเป็นรองเรื่องอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด เอ่อเราจะเริ่มแก้ไขจากตรงไหนดี? ไว้ค่อยว่ากันทีหลังแล้วกันเนอะ แต่ถึงอย่างไรเรายังนำเขาอยู่หนึ่งก้าว เพราะบังกลาเทศไม่มีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์

บทความนี้ขอสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ ปี 2030 เมื่อโครงการ Forces Goal 2030 เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ผู้เขียนจะกลับมาเขียนให้อ่านอีกครั้งโปรดติดตามตอนต่อไป

+++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://defence.pk/pdf/threads/bangladesh-navy.168818/page-380

https://www.navaltoday.com/2020/01/23/cddl-bangladesh-navy-orders-six-offshore-patrol-vessels/

https://en.wikipedia.org/wiki/Forces_Goal_2030

https://en.wikipedia.org/wiki/Padma-class_patrol_vessel

https://www.savunmasanayist.com/ada-sinifi-korvet-ve-atmaca-bangladeste-kisa-listeye-girdi/

https://defence.pk/pdf/threads/ada-class-corvette-and-atmaca-shortlisted-in-bangladesh-navy.694540/

https://www.facebook.com/DTB2.O/posts/556269664950740/

http://forceindia.net/cover-story/surging-ahead/

https://www.militaryimages.net/threads/bangladesh-military-photos.6165/page-15

https://www.facebook.com/TheBangladeshNavy

https://defence.pk/pdf/threads/bangladesh-navy.168818/page-367

 

 

 

 

 

             

วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

Jianghu Facelift Progarmme (What If)

           โครงการปรับปรุงเรือฟริเกตชั้นเจียงหู

ขอต้อนรับผู้อ่านทุกคนเข้าสู่บทความพิเศษ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองบทความผู้เขียนใน Blogger ขึ้นมาแตะหลักร้อย บทความที่หนึ่งร้อยเอ็ดจะเป็นเรื่องเหนือจินตนาการ หรือที่เรียกว่าบทความ What If ซึ่งโดยปรกติเขียนปีละหนึ่งครั้ง

ผู้เขียนอยากเขียนถึงเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจากจีน กองทัพเรือไทยมีจำนวน 4 ลำแบบแบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อย แต่ขอเรียกรวบยอดว่าชั้นเจียงหูเพื่อความสะดวก เรือชั้นนี้เคยมีบทความ What If เขียนถึงหลายครั้ง เรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงผู้เขียนเคยใส่ระบบ SAAB เข้าไปทั้งลำ เป็นที่โด่งดังมากในยูทูปเพียงแต่ไม่ใช่ยูทูปของผู้เขียน

ถ้าเช่นนั้นจะเขียนบทความถึงเรือเจียงหูอีกเพื่ออะไร?

คำตอบก็คือมีแนวความคิดแตกต่างออกไป โดยการยึดถือวิธีการ Facelift’ จากแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์

ย้อนเวลากลับไปประมาณ 30 ปีที่แล้ว รถยนต์ในเมืองไทยมีตัวเลือกมากมายกว่านี้ แต่การแข่งขันดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้มข้นเร้าใจ ทุกครั้งที่มีการปรับโฉมประจำปีหรือครึ่งอายุใช้งาน บริษัทรถยนต์แค่เปลี่ยนสติ๊กเกอร์ติดข้างรถ บางครั้งใจดีเปลี่ยนกระจังหน้าแตกต่างออกไปเล็กน้อย บางครั้งใจดีเปลี่ยนไฟเลี้ยวจากสีส้มเป็นสีขาว บางครั้งก็ใจดีเปลี่ยนลายล้ออัลลอยหรือล้อแม็ก ทว่าส่วนอื่นๆ ของรถยังคงเหมือนเดิมทุกประการ

เมื่อรถของท่านจากรุ่นใหม่เอี่ยมกลายเป็นตกรุ่น วิธีย้อมแมวง่ายๆ คือตรงมาที่ร้านอะไหล่แถววรจักร ซื้อกระจังหน้าหรือไฟเลี้ยวนำมาเปลี่ยนเองที่บ้าน เพียงเท่านี้ท่านจะมีรถใหม่ไว้ขับอวดสาวๆ ในหมู่บ้าน

ต่อมาเมื่อการแข่งขันทวีความเข้มข้นกว่าเดิม การปรับโฉมเริ่มทำมากขึ้นโดยเฉพาะรถยุโรป ซึ่งมีอายุการตลาดนานกว่ารถญี่ปุ่น หนึ่งในบริษัทจากเยอรมันคือเมอร์ซิเดสที่เรารู้จัก เป็นบริษัทแรกๆ ที่ปรับปรุงรถตัวเองใช้งานค่อนข้างมาก เปลี่ยนทั้งกันชนหน้าเอย ฝากระโปรงเอย กระจังหน้าเอย บางครั้งก็เปลี่ยนบังโคลนหรือแก้มข้าง ไม่รวมไฟหน้าซึ่งมักแตกต่างระหว่างรุ่นประหยัดกับรุ่นแพงสุด

การปรับปรุงโฉมรถครึ่งอายุการใช้งาน เมอร์ซิเดสมีคำเรียกขานว่ารุ่น Facelift รถคันแรกที่ใช้คำนี้ที่ผู้เขียนจำได้รางๆว่าเป็นรุ่น E-Class W124 หรือรุ่นโลงจำปา ซึ่งมีอายุการตลาดยาวนานถึง 12 ปี  โดยเริ่มวางขายใช้ชื่อรุ่น 230E  และ 300E ต่อมาเมื่อมีการ Facelift จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ E230 กับ E300 โดยเปลี่ยนใหม่หมดทั้งกันชนหน้า-กันชนหลัง กระจังหน้า-ฝากระโปรงหน้า ไฟหน้า-ไฟท้าย-ไฟเลี้ยว รวมทั้งติดกราบข้างประตูเพิ่มความสวยงามและช่วยปกป้องตัวถัง

คำถามถัดไปเรือชั้นเจียงหู Facelift ต่างจากเรือชั้นเจียงหู Saab ตรงไหน?

ข้อแตกต่างก็คือ Facelift เป็นการปรับปรุงระดับโรงงาน ใช้อุปกรณ์ทุกชนิดจากบริษัทตัวเองเท่านั้น ฉะนั้นเรือชั้นเจียงหูที่นำมาเข้าร่วมโครงการ Facelift จะใช้ระบบอาวุธกับระบบเรดาร์จากจีนเท่านั้น ยกเว้นที่เคยติดตั้งอยู่แล้วเช่นปืนกล 12.7 มม.ของอเมริกา หรืออุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์จากอเมริกาเช่นกัน

สรุปความสั้นๆ โครงการนี้จีนทั้งลำ ผู้เขียนนามสกุล อยู่เป็น ครับ ทัพเรือไทยไปอเมริกาผู้เขียนไปอเมริกา ทัพเรือไทยไปรัสเซียผู้เขียนไปรัสเซีย ทัพเรือไทยไปจีนผู้เขียนก็ไปจีน ต่อให้ทัพเรือไทยไปตุรกีหรือยูเครนผู้เขียนไม่พลาดแน่นอนฮา ราชนาวีไทยมีเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจำนวน 4 ลำก็จริง ทว่าโครงการนี้มีเรือเข้าร่วมถึง 7 ลำด้วยกัน

ตัดเข้าสู่เนื้อหาหลักโครงการ Jianghu Facelift Progarmme (ผู้เขียนขอเรียกสั้นๆ ว่า Facelift) มีการเปลี่ยนอุปกรณ์หลักๆ จำนวน 5 ระบบด้วยกัน ประกอบไปด้วยทดแทนปืนใหญ่ 100 มม.ลำกล้องแฝดด้วยปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.อัตรายิงสูงสุด 120 นัด/นาที มีกระสุนในคลังแสงจำนวน 150 นัด นี่คือปืนรุ่นใหม่มีความอเนกประสงค์มากกว่าเดิม มีอัตรายิงสูงสุดเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว สามารถยิงเป้าหมายบนอากาศดีกว่าเดิมอย่างชัดเจน

H/PJ-26 เป็นอาวุธมาตรฐานเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตจีนในปัจจุบัน เมื่อจีนปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเราได้ใช้งานเช่นกัน แตกต่างจากปืนใหญ่ 100 มม.ซึ่งค่อยๆ สูญหายไปเกือบหมด เรือพิฆาตรุ่นใหม่ของจีนใช้ปืนใหญ่ 130 มม.ทดแทนเสียแล้ว

อุปกรณ์ที่สองคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C รุ่นใหม่เอี่ยมอ่อง นำมาแทนที่เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A บนเรือหลวงกระบุรีกับสายบุรี และเรดาร์ตรวจการณ์ Type 354 Eye Shield บนเรือหลวงบางปะกง (เรือหลวงเจ้าพระยาถอดออกเสียแล้ว) เรดาร์รุ่นใหม่เปิดตัวในงาน LIMA 2017 ประเทศมาเลเซีย จากโบร์ชัวร์บริษัท CSOC ระบุว่า SR2410C ตรวจจับเป้าหมายความเร็วมากสุดที่ 3 มัค ตรวจจับอากาศยานไร้คนขับหรืออาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบระดับต่ำได้ดีมาก มีระยะทำการไกลสุด 150 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายให้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่ระยะไกลสุด 60 กิโลเมตร ทำงานคู่กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ได้อย่างดีเยี่ยม

นี่คือข้อมูลจำนวนน้อยนิดที่ผู้เขียนค้นพบ เรดาร์จริงอาจมีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ (ขออวยหน่อยเถอะตามนามสกุล)

เนื่องจาก CSOC ระบุว่า SR2410C มีคุณสมบัติใกล้เคียงเรดาร์ SMART-S MK2 ของ THALES ทำให้ใครหลายคนเข้าใจว่ามีระยะทำการถึง 250 กิโลเมตร ปัจจุบันเรดาร์ตัวนี้ใช้งานจริงบนเรือคอร์เวต Type 056 กองทัพเรือบังกลาเทศจำนวน 2 ลำเฟสหลัง เรือชั้นนี้ระวางขับน้ำเพียง 1,300 ตันแบกเรดาร์ตัวนี้แทบหลังแอ่นเสียแล้ว

SR2410C ยังถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น Type 054A/P กองทัพเรือปากีสถาน 4 ลำ ทำงานร่วมกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน HQ-16 หรือ LY-80 ระยะยิง 70 กิโลเมตร เกินระยะติดตามเป้าหมายเรดาร์ไป 10 กิโลเมตร ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงช่วยจัดการกระมังครับ ที่น่าสนุกก็คือเรือคอร์เวตชั้น MILGEM ที่ปากีสถานซื้อจากตุรกี 4 ลำเช่นกัน ใช้ LY-80 ร่วมกับเรดาร์ SMART-S MK2 โดยมีระบบอำนวยการรบ GENESIS ซึ่งตุรกีพัฒนาเองควบคุมอีกที โอยอ่านแล้วปวดหัวแทน

อุปกรณ์ที่สามคือแท่นยิงเป้าลวงขนาด 9 ท่อยิงรุ่นปรับทิศทางไม่ได้ นี่คือรุ่นใหม่ล่าสุดใช้งานบนเรือคอร์เวตชั้น Type 056 โชคร้ายผู้เขียนหาชื่อรุ่นไม่เจอเสียที ขนาดกะทัดรัดเมื่อเทียบกับรุ่น Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงปรับทิศทางได้ สามารถปล่อยเป้าลวง Chaff สะท้อนคลื่นเรดาร์จากอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือ ส่วนเป้าลวงตอร์ปิโดยังไม่เคยเห็นภาพถ่ายแต่อย่างใด

ระบบเป้าลวงรุ่นใหม่จากจีนจะทำงานคู่กับอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM รุ่น ES-3601 ของบริษัท L3HARRIS ซึ่งมีงานบนเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรีรวมทั้งเรือรบชั้นนำของไทยอีกหลายลำ ไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะในอดีตทำงานร่วมกับระบบเป้าลวง  Type 945G รุ่นเก่ามากมาแล้ว

มาต่อกันด้วยอุปกรณ์ที่สี่เลยครับ ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ซึ่งทางผู้ผลิตใช้คำว่า  SHIP SELF MISSILE WEAPON SYSTEM ออกแบบมาเพื่อจัดการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบโดยเฉพาะ แต่สามารถยิงเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ หรืออากาศยานไร้คนขับที่ทะเล่อทะล่าเข้ามาขวางทางปืน ทำงานโดยการยิงออกไปเลยไม่จำเป็นต้องล็อกเป้าหมาย ควบคุมทิศทางเลี้ยวซ้ายเลี้ยวด้วยเรดาร์ตรวจการณ์เรือ เมื่อ FL-3000N เข้าใกล้เป้าหมายระบบตรวจจับความร้อนที่ปลายจมูก จะช่วยนำวิถีจนกระทั่งจรวดวิ่งเข้าเก็บแต้มอย่างสวยงาม ภาพรวมลักษณะคล้ายคลึงกับ RAM ของอเมริกานั่นเอง

FL-3000N จัดการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบความเร็วต่ำกว่าเสียงได้ที่ระยะทาง 9 กิโลเมตร จัดการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบความเร็วเหนือเสียงที่ระยะทาง 6 กิโลเมตร มีความเร็ว 850 เมตรต่อวินาที วิ่งชนเป้าหมายในระยะเวลาไม่เกิน 8 วินาที ความแม่นยำในการยิงนัดแรกอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลทั้งหมดมาจากโบรชัวร์บริษัทผู้ผลิต CASC ครับผม

อาวุธใหม่เทียบได้กับความหวังของหมู่บ้าน เรือฟริเกตชั้นเจียงหูไม่มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ได้ FL-3000N จำนวน 8 ท่อยิงสำหรับป้องกันตัว เท่ากับได้ชุบชีวิตใหม่ในยุคที่ทุกชาติมีอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ

อุปกรณ์ชิ้นที่ห้าค่อนข้างมีเรื่องวุ่นวายเล็กน้อย ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.xilu.com ประเทศจีนระบุว่า เรือหลวงบางปะกงกับเรือหลวงเจ้าพระยาใช้ระบบอำนวยการรบ CCS-3 หรือรุ่นส่งออกของ ZKJ-3 ซึ่งเคยตั้งชื่อว่า Poseidon-4 แต่ถูกยกเลิกไปเสียก่อน ส่วนเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรี ถูกปรับปรุงครึ่งอายุใช้งานโดยถอดระบบอำนวยการรบ CCS-3 ออก แล้วใส่ Poseidon-3 หรือ ZKJ-2 เข้ามาแทนที่ ข้อมูลพวกนี้ผู้อ่านทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว

ระบบอำนวยการรบทั้งสองค่อนข้างเก่าพอสมควร CCS-3 ทำงานร่วมกับโพรเซสเซอร์ Intel 8086 จากยุค 1978 โน่น ส่วน Poseidon-3 พัฒนาต่อจาก CTC-1629 ของ Racal Marine Radar ประเทศอังกฤษ จีนใช้งานบนเรือฟริเกต Type 053K เพียง 2 ลำเท่านั้น กองทัพเรือไทยต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ของระบบอำนวยการรบ หรือ ‘Common Fleet New Normal’  ประกอบกับโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำที่สอง พวกเขาหมายตาเรือฟริเกต Type 054A/T แถมเฮลิคอปเตอร์เอาไว้ ถ้าเรือจีนมาจริงๆ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเฟสสามอาจเป็นเรือคอร์เวต Type 056 รุ่นส่งออก (ตัดระบบปราบเรือดำน้ำทิ้ง) เรือทั้ง 2 ลำใช้ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 รุ่นใหม่ล่าสุด อันเป็นมาตรฐานเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตจีนรุ่นใหม่ทุกลำ

หลังการพิจารณาทัพเรือไทยตัดสินใจว่า เรือชั้นเจียงหูทั้ง 4 ลำต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5

อุปกรณ์ทั้งหมดในโครงการ Facelift  ไม่น่ามีปัญหาในการสั่งซื้อ เพราะมีติดตั้งบนเรือคอร์เวต Type 056 กองทัพเรือบังกลาเทศอยู่แล้ว ไทยจีนพี่น้องกันคลานตามกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ใช้งานไปก่อนค่อยผ่อนส่งเป็นให้เช่าที่ดิน 99 ปีเนอะ


อารัมภบทมานานชมภาพเรือหลังการปรับปรุง Facelift  กันดีกว่า ภาพแรกคือเรือหลวงสายบุรีซึ่งถูกปรับปรุงพร้อมเรือหลวงกระบุรีในเฟสแรกสุด ปืนใหญ่ Type 79A ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝด แทนที่ด้วยปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. ปืนกล Type 76A ขนาด37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 แท่นที่หัวเรือ แทนที่ด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N รุ่น 8 ท่อยิง เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A หรือ Type 360 แทนที่ด้วยเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C ระบบเป้าลวงกลางเรือเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ 9 ท่อยิง ระบบเป้าลวงท้ายเรือถอดออกแทนที่ด้วยปืนกล 12.7 มม. ระบบอำนวยการรบเปลี่ยนเป็น ZKJ-5 สามารถปรับปรุงให้ใช้งานอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-8 หรือ ASROC จีน รุ่นยิงจากแท่นยิง C-802A ได้ทันที

หลังการปรับปรุงหัวเรือเบากว่าเดิมเล็กน้อย เนื่องจากปืนใหญ่มีขนาดเล็กกว่ากันพอสมควร จากประสบการณ์เคยโดยสารเรือขนข้าวเปลือกของผู้เขียน ถ้าหัวเรือเบาลงการบังคับควบคุมเรือจะง่ายกว่าเดิม คล้ายดั่งรถกระบะติดพวงมาลัยเพาเวอร์อะไรทำนองนี้ เพียงแต่ไม่ทราบว่ามีผลกับเรือขนาด 1,924 ตันมากน้อยแค่ไหน

เรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงปรับปรุงในเฟสถัดไป โดยถอดระบบเรดาร์กับระบบอาวุธออกไปเกือบหมด หัวเรือติดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N เรดาร์ควบคุมการยิงเปลี่ยนเป็นรุ่น TR47C หรือ Type 348  เสากระโดงหลักติดเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C ที่อยู่สูงขึ้นไปคืออุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ES-3601 ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 มาตามนัดไม่มีเบี้ยว อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 ท่อยิงก็มาตามนัดเช่นกัน ที่ไม่มีการเปลี่ยนรุ่นใหม่เพราะต้องซื้อเพิ่มจำนวนมาก

ท้ายเรือติดตั้งปืนกล Type 76A ขนาด37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 แท่น โดยนำมาจากเรือหลวงกระบุรีกับสายบุรี ปืนกลรุ่นนี้ได้รับฉายาว่า DRADO เมืองจีน อัตรายิงสูงสุด 190 นัดต่อนาทีต่อกระบอก รวมกันเท่ากับ 380 นัดต่อนาทีต่อแท่นยิง ใช้งานเป็นปืนรองทำหน้าที่ป้องกันท้ายเรือ มีเรดาร์ควบคุมการยิง TR47C คอยควบคุมอีก 1 ตัว ท้ายเรือถอดปืนใหญ่ 100 มม.ออกไปกลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ผู้เขียนให้เรือหลวงเจ้าพระยาลำเลียงทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำล่องหน ไปจัดการปิดช่องแคบมะละกาไม่ให้เข้าไม่ให้ออกเสียเลย ส่วนจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 กับโซนาร์หัวเรือ SJD-3  ยังคงติดตั้งตามปรกติ ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหนก็ตามนั้นไม่ต้องคิดมาก

ภาพนี้คือแบบเรือซึ่งได้รับการคัดเลือก ผู้เขียนขอเรียกว่า V1 รุ่น Final ท้ายเรือเบากว่าเดิมเพราะถอดปืนใหญ่ 100 มม.ออกไปเก็บในคลังแสง หัวเรือเบาลงเช่นกันแต่หักลบแล้วยังมีส่วนต่างพอสมควร และส่วนต่างนี่แหละที่ใช้ลำเลียงทุ่นระเบิดหรืออะไรก็ตาม ทว่าผู้เขียนยังมีแบบเรือไม่ถูกคัดเลือกในโครงการ เรามาชมภาพแบบเรือเหล่านั้นไปพร้อมๆ กัน

ภาพถัดไปคือแบบเรือ V2 มีชื่อเล่นว่า Balance โดยย้ายแท่นยิงระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N มาติดแทนปืนใหญ่ 100 มม.กระบอกท้าย เป็นการกระจายน้ำหนักไม่ให้โหลดมาที่หัวเรือเกินไป FL-3000N มีมุมยิงกว้างกว่าเดิมนิดหน่อยไปด้วย ซึ่งอันที่จริงไม่จำเป็นเท่าไรเพราะ FL-3000N  เลี้ยวได้ แต่แบบเรือ V2 จะไม่มีพื้นที่อเนกประสงค์ท้ายเรือ

ภาพถัดไปคือแบบเรือ V3 มีชื่อเล่นว่า Limo โดยการย้ายแท่นยิงระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N มาติดท้ายเรือ แล้วย้ายปืนกล Type 76A ขนาด37 มม.มาติดตั้งหัวเรือ แบบเรือ V2 ใช้เรดาร์ควบคุมการยิงเพียงตัวเดียว ประหยัดเงินได้นิดหน่อยไว้ทำเรื่องอื่น แต่ท้ายเรือจะโล่งๆ มีเพียงปืนกล 12.7 มม.ติดตั้งไว้กันเหนียว โดยมีพื้นที่อเนกประสงค์เช่นเคย

ภาพถัดไปคือแบบเรือ V4 ซึ่งเป็นแบบเรือท้ายสุด มีชื่อเล่นว่า Combo นับเป็นรุ่นจัดแน่นจัดเต็ม โดยการติดตั้งปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.บริเวณท้ายเรืออีก 1 กระบอก ประสิทธิภาพสูงสุดราคาแพงที่สุด ผลการลงคะแนนแพ้แบบเรือ V1 ไปอย่างฉิวเฉียด เรื่องพรรคไหนเลือกแบบเรือไหนเรื่องนี้ผู้เขียนไม่ทราบ รับรู้แค่เพียง ‘Common Fleet New Normal’  

หลังการปรับปรุงเรือฟริเกตชั้นเจียงหูของไทยมีประสิทธิภาพสูงกว่าเรือคอร์เวตชั้น Type 056 ของบังกลาเทศเล็กน้อย ตรงที่เรือเราใส่ CC-802A ได้มากกว่ากัน 4 นัด เรือจะทำการรบใต้น้ำได้ดีเท่าเดิม ทำการรบผิวน้ำได้ดีเท่าเดิม 2 ลำและดีกว่าเดิมพอสมควรอีก 2 ลำ รวมทั้งทำการรบบนอากาศได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อทั้ง 4 ลำ

การปรับปรุงจะช่วยยืดอายุเรือได้อีก 15-20 ปี ลากยาวมากกว่านี้ตัวเรือไม่น่าไหวแล้ว

โครงการ Facelift  มีผลสืบเนื่องมาถึงเรือยกพลขึ้นบกขนาด 20,000 ตันชั้น Type 071E ซึ่งกองทัพเรือสั่งซื้อจากประเทศจีนจำนวน 1 ลำ เรือลำใหม่จะติดตั้งอุปกรณ์เหมือนๆ กัน เริ่มต้นจากปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. ต่อด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ใส่ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 มีเรดาร์ควบคุมการยิง TR47C อีก 1 ตัวเหนือสะพานเดินเรือ เสากระโดงหลักติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C ใช้ระบบเป้าลวงรุ่นใหม่ 9 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นช่วยป้องกันเรือทั้งลำ บริเวณกลางเรือมีปืนกล Type 76A ขนาด37 มม.จำนวน 2 แท่น พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง TR47C อีก 1 ตัว

ติดอาวุธกับเรดาร์จำนวนเท่านี้อาจดูไม่มาก แต่เพียงเท่านี้เรือหลวงจักรีนฤเบศรก็ค้อนจนตาเขียวแล้ว ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่ามากเพียงพอต่อภัยคุกคามในปัจจุบัน ไว้ปรับปรุงใหญ่ครึ่งอายุการใช้งานค่อยว่ากันอีกที

โครงการ Facelift  ยังมีผลสืบเนื่องต่อไปเล็กน้อย เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นปัตตานีมีโครงการปรับปรุงใหญ่เช่นกัน เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A จากเรือหลวงกระบุรีและสายบุรีซึ่งมีระยะตรวจจับไกลสุด 166 กิโลเมตร จะถูกนำมาทดแทนเรดาร์ตรวจการณ์ Selex RAN-30X/I ในตำแหน่งเดิม ทำหน้าที่ตรวจการณ์ทางอากาศตามปรกติ ส่วนเรดาร์ Selex RAN-30X/I จะลดลงมาติดเหนือสะพานเดินเรือ ทำหน้าที่ตรวจการณ์ผิวน้ำระยะเกินขอบฟ้า โดยมีอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ES-3601 ติดตั้งเหนือเรดาร์ตัวบน ทำงานร่วมกับระบบเป้าลวงรุ่นใหม่ 9 ท่อยิงจำนวน 2 แท่น

กลางเรือติดตั้อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัด โดยใช้แท่นยิงซ้อนกันเหมือนเรือคอร์เวต Type 056 เพื่อประหยัดพื้นที่ ปืนกล 20 มม.เปลี่ยนเป็นรุ่น Oerlikon Searanger 20 โดยการซื้อชุดคิทจากบริษัท Rheinmetall มาติดตั้งกับปืนกล GAM-BO1 ของเก่ากองทัพเรือไทย กลายเป็นรุ่นควบคุมด้วยรีโมทมีออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงบนแท่นปืน ใช้กระสุนปืนขนาด 20x128 mm.รุ่นใหม่ชื่อ SAPPIE-T ของ Rheinmetall โดยให้ซื้อมาพร้อมกันรวดเดียวไปเลย

กระสุนรุ่นใหม่มีความทันสมัยมากขึ้น เป็นรุ่นกึ่งเจาะเกาะใช้ได้ทั้งเป้าหมายผิวน้ำและอากาศยาน เมื่อ SAPPIE-T วิ่งแหวกอากาศมากระทบเป้าหมาย หัวรบขนาดเล็กจำนวนมากถูกสาดออกมาเป็นวงกว้าง แล้วระเบิดพร้อมๆ กันสร้างความเสียหายมากกว่ากระสุนรุ่นเก่า ข้อดีของ SAPPIE-T คือไม่ติดตั้งระบบตั้งชนวนทันสมัย ราคากระสุนไม่แพงเกินไปสามารถเอื้อมถึงสบาย ทว่าประสิทธิภาพกระสุนขึ้นอยู่กับความเร็วในการพุ่งชน ระยะทาง 1กิโลเมตรกระสุนทำงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าไกลกว่านั้นประสิทธิภาพลดลงไปเรื่อยๆ ปืนกล 20 มม.ระยะยิงหวังผล 2 กิโลเมตรถือว่าเหมาะสมกับ SAPPIE-T

เมื่อการติดตั้งชุดคิทบนเรือชั้นเรือหลวงปัตตานีสิ้นสุดลง ราชนาวีไทยจะนำปืนกล Searanger 20 มาติดตั้งกับเรือรบสำคัญๆ หลายลำ ซึ่งยังไม่มีปืนกลควบคุมด้วยรีโมทใช้งาน ประกอบไปด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงสิมิรัน เรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงตาปีกับเรือหลวงคีรีรัฐ (ปลดประจำการให้ย้ายปืนไปอยู่ลำอื่น) เรือหลวงบางระจันกับเรือหลวงหนองสาหร่าย หรือแม้กระทั่งเรือตรวจการณ์ชั้นต.111 จำนวน 3 ลำเฟสแลก


ชมภาพเรือหลวงปัตตานีหลังการปรับปรุง ตอนนี้อุปกรณ์เต็มลำแทบไม่เหลือทางเดิน ที่ผู้เขียนนำเรดาร์ RAN-30X/I มาติดตั้งตำแหน่งต่ำกว่าเดิม ไม่ได้คิดเองนะครับลอกการบ้านกองทัพเรืออิตาลีอีกที ประเทศนี้ติด RAN-30X/I เหนือสะพานเดินเรือ ไล่ตั้งแต่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือฟริเกตปราบเรือผิวน้ำ เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ จนถึงเรื่องบรรทุกเครื่องบินดาดฟ้าสกีจัมป์ ไม่รู้เรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบลำใหม่ติดตั้งหรือเปล่านะ

RAN-30X/I สามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย เป็นเรดาร์เดินเรือช่วยนำทางเฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้ ทำงานโหมด 1 หมุนเรดาร์รอบตัว 15 ครั้งต่อนาที สามารถตรวจจับเป้าหมายทางอากาศได้ไกล 100 กิโลเมตร ทำงานโหมด 3 หมุนเรดาร์รอบตัว 3 ครั้งต่อนาที สามารถตรวจจับเป้าหมายผิวน้ำระยะเกินขอบฟ้าถึง 200 กิโลเมตร ทำงานโหมด 4 หมุนเรดาร์รอบตัว 30 ครั้งต่อนาที สามารถตรวจจับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบที่ระยะ 25 กิโลเมตร นำมาจับคู่กับเรดาร์ SR-60A ได้อย่างลงตัว เพราะเรดาร์จีนซื้อลิขสิทธิ์เรดาร์ RAN-10 ของอิตาลีมาผลิตเอง เมื่ออิตาลีจับคู่กับอิตาลีผลลัพธ์ย่อมกลายเป็นอิตาลี

เมื่อโครงการ Facelift สำเร็จเสร็จสิ้นครบทุกลำ กองทัพเรือไทยจะมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 12 ลำ แบ่งเป็น Harpoon จำนวน 6 ลำและ C-802A อีกจำนวน 6 ลำ กองทัพเรือไทยจะมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 11 ลำ ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ หนึ่งเรือหลวงจักรีนฤเบศรติด Mistral ระยะยิง 5 กิโลเมตร สองเรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี และเรือหลวงช้าง (เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำใหม่) ติด FL-3000N ระยะยิง 9 กิโลเมตร สามเรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัยติด Aspida 2000 ระยะยิง 25 กิโลเมตร และสี่เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน รวมทั้งเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชติด ESSM ระยะยิง 50 กิโลเมตร

ผลการปรับปรุงตามโครงการ Jianghu Facelift Progarmme ช่วยอุดช่องว่างการรบผิวน้ำกับการรบทางอากาศได้เป็นอย่างดี เหลือการรบใต้น้ำให้จัดการต่อเป็นงานชิ้นถัดไป เรือฟริเกต Type 054A/T จอดรอที่หน้าประตูทางเข้าแล้ว มาพร้อมเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C ปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 เรดาร์ควบคุมการยิง TR47C ระบบเป้าลวงรุ่น 9 ท่อยิง สามารถใส่อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน LY-80 จำนวน 24 นัด กับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-8 ได้อีก 8 นัด มีโซนาร์หัวเรือ โซนาร์ VDS โซนาร์ Towed Array ติดตั้งมาครบถ้วน รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ Z-9 พร้อมโซนาร์ชักหย่อนเป็นของฝากนักกอล์ฟ

ทั้งหมดนี้จีนคิดราคาเพียง 12,000 ล้านบาท เท่าเรือดำน้ำ S-26T ซึ่งอาจไม่ได้ไปต่อพอดิบพอดี

                                                +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

http://zhongchuan.zhehc.com/cssc/api/content/detail.htm?id=21

https://thaidefense-news.blogspot.com/2017/04/blog-post_10.html?m=0

https://www.navyrecognition.com/m/index.php/news/naval-exhibitions/euronaval-2014/2105-rheinmetall-defence-exhibits-its-20mm-remote-controlled-gun-station-oerlikon-searanger-20-.html

https://www.shephardmedia.com/news/digital-battlespace/lima-2017-china-promoting-new-radar/

https://en.m.wikipedia.org/wiki/H/ZKJ

https://www.leonardocompany.com/en/products/ran30x

https://www.globaldefensecorp.com/2020/06/21/china-launched-9th-type-056-corvette-in-2020/

https://www.asiapacificdefensejournal.com/2019/04/bangladesh-receives-two-new-shadhinota.html?m=1

https://www.navalnews.com/naval-news/2021/01/chinese-shipyard-launches-2nd-type-054-a-p-frigate-for-pakistan-navy/

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?t=5736&start=200