วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

HTMS Khamronsin

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 กองทัพเรือได้ออกหนังสือเชิญชวนให้บริษัท ห้างร้าน และอู่ต่อเรือต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ให้เสนอราคาและรายละเอียดสำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ โดยมีคุณลักษณะโดยย่อดังนี้

1. ประเภท เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำหรือ ตกด. (Patrol Ship-ASW)
2. ภารกิจ ลาดตระเวนตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ เพื่อป้องกันเรือลำเลียงและคุ้มครองทรัพยากรของชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
3. ขีดความสามารถ
3.1 ลาดตระเวนตรวจการณ์ทางพื้นน้ำและใต้น้ำ
3.2 คุ้มกันเรือลำเลียงด้วยการป้องกัน ปราบปราม หยุดยั้ง หรือทำลายเรือดำน้ำ
3.3 คุ้มครองทรัพยากรของชาติในทะเล
3.4 สนับสนุนกำลังรบทางบกด้วยการทำลายเป้าหมายบนฝั่งในระยะใกล้
3.5 ป้องกันตนเองได้จากภัยคุกคามทางผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ
3.6 วางทุ่นระเบิดทางรับได้
3.7 ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล
3.8 ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล
3.9 ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
 4. ขนาดและความเร็ว
                4.1 ความยาวตลอดลำระหว่าง 55-65 เมตร
                4.2 ระวางขับน้ำปรกติระหว่าง 450-550 ตัน
                4.3 ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 25 นอต
                4.4 ระยะปฏิบัติการณ์ด้วยความเร็วเดินทางไม่น้อย 2,500 ไมล์ เมื่อระวางขับน้ำเต็มที่
5. ตัวเรือ
                5.1 ตัวเรือเป็นเหล็ก เก๋งสะพานเดินเรือเป็นอลูมีเนียมอัลลอยด์
                5.2 เป็นเรือแบบที่เคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว (Well-Proven) หรือดัดแปลงน้อยที่สุดจากเรือแบบที่เคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว การดัดแปลงนี้อนุญาตเฉพาะการเปลี่ยนแปลงความยาวเรือไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์
                5.3 สามารถปฏิบัติภารกิจในทะเลไม่น้อยกว่าระดับ 4
                5.4 มีมาตรฐานการสร้าง การออกแบบ วัสดุ ฝีมือ และอุปกรณ์ทนทานต่อแรงกระแทกและการสั่นสะเทือน
                5.5 เป็นเรือที่มีการออกแบบให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้เกิดเสียงใต้น้ำน้อยที่สุด
ลักษณะของโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเริ่มต้นโครงการในปีงบประมาณ 2530 ดังนี้
โครงการส่วนที่ 1 เป็นการจัดซื้อลิขสิทธิ์รวมทั้งแบบเรือ วัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างเรือ รวมทั้งจัดผู้เชี่ยวชาญเพื่อควบคุม แนะนำ และตรวจงานสร้างเรือ ทดสอบและทดลองเรือจนเสร็จเรียบร้อยสมบรูณ์จำนวน 1 ลำ
 โครงการส่วนที่ 2 ว่าจ้างสร้างเรือจำนวน 2 ลำ
บริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด ได้ติดต่อกับบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นอู่เรือที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบเรือ และเคยต่อเรือผิวน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กให้กับกองทัพเรือแห่งราชนาวีอังกฤษและบรรดามิตรประเทศมาแล้วมากมาย โดยเลือกแบบเรือในชั้น Province Class ซึ่งมีความยาว 56.7 เมตร และนำมาดัดแปลงยืดเฉพาะความยาวไปอีก 9 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ความยาวตลอดลำใหม่เป็น 62 เมตร

เหตุผลที่บริษัทตัดสินใจเลือกแบบเรือในชั้น Province Class มาเสนอให้กับกองทัพเรือ เนื่องมาจากบริษัทวอสเปอร์ได้เคยต่อเรือชุดนี้ให้กับกองทัพเรือโอมานมาแล้ว 4 ลำ โดยมีมาตรฐานการออกแบบและการสร้าง รวมทั้งการตรวจงานภายใต้การควบคุมของราชนาวีอังกฤษ เพื่อใช้ในภารกิจคุ้มครองเส้นทางลำเลียงน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ มีความเร็วสูงและมีสมรรถนะดีเยี่ยมสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทวอสเปอร์เป็นอันมาก อีกทั้งได้เคยพิสูจน์ตัวเองในการทดสอบทางทะเล โดยการวิ่งฝ่าคลื่นลมในสภาพระดับ 7 มาแล้ว (ความสูงของคลื่นเฉลี่ยประมาณ 8 เมตร) เป็นเวลา 9 วันโดยไม่มีอันตรายใดๆ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและแข็งแกร่งกับตัวเรือมากขึ้น บริษัทได้ตกลงกับบริษัทวอสเปอร์ให้ออกแบบโครงสร้างตัวเรือใหม่ทั้งหมดตามกฎของลอยด์ และให้สถาบันลอยด์แห่งอังกฤษตรวจรับรองแบบโครงสร้างใหม่นี้ทั้งหมดด้วย
บริษัทได้ยื่นซองประกวด ราคา และรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2530 และได้รับให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาทั้ง 2 รายการ ได้มีการเจรจาทางด้านรายละเอียดและเทคนิคอื่นๆ ต่อมาอีกเป็นเวลา 7 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนที่เป็นรายละเอียดต่างๆ ใกล้เคียงความต้องการกองทัพเรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในที่สุดได้มีการลงนามในสัญญาทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 24 กันยายน 2530 โดยพลเรือเอกธาดา ดิษฐบรรจง ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี
หลังการเซ็นสัญญาบริษัทอิตัลไทย มารีนโดยความร่วมมือจากบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์ เริ่มวางแผนงานพร้อมทั้งเตรียมการด้านวิศวกรรม ทั้งด้านการต่อเรือและการสั่งของโดยละเอียด จากนั้นจึงเริ่มต้นโครงการที่ 1 โดยการประกอบสร้างเรือลำที่ 1 ที่กรมอู่ทหารเรือ พร้อมๆ กับเรื่องต้นโครงการที่ 2 โดยการประกอบสร้างเรือลำที่ 2 ที่อู่ต่อเรือของตัวเอง ดังนั้นตามแผนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำจะแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน
การสร้างเรือที่อิตัลไทยเริ่มต้นปลายเดือนมีนาคม 2531 ควบคู่ไปกับการสร้างเรือที่กรมอู่ทหารเรือ ชิ้นส่วนแรกซึ่งมีน้ำหนัก 20 ตันสร้างแล้วเสร็จกลางเดือนพฤษภาคม การดำเนินงานได้ดำเนินก้าวหน้ามาด้วยดี และเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้โดยตลอด ทำการปิดดาดฟ้าภายหลังที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย เครื่องหางเสือ ทำการติดตั้งเพลาใบจักร ทำการติดตั้งเก๋งสะพานเรือรวมทั้งเสากระโดง และพร้อมที่จะปล่อยเรือลงในภายในเดือนกรกฎาคม 2534 การก่อสร้างเรือลำนี้ให้แล้วเสร็จสมบรูณ์ รวมทั้งการทดสอบและปรับแต่งอุปกรณ์ทุกอย่าง จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 18 เดือน โดยบริษัทมีแผนจะส่งให้กองทัพเรือได้ในเดือนมกราคม 2534

เรือตรวจการณ์ที่กรมอู่ทหารเรือสร้างใช้ชื่อว่าเรือหลวงล่องลม หรือ HTMS Longlom วันที่ 8 สิงหาคม 2532 กองทัพเรือได้เชิญคุณชนิดา กมลนาวิน ภรรยารองผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ถัดมาไม่กี่วันคือวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำลำที่สองชื่อเรือหลวงคำรณสินธุ หรือ HTMS Khamronsin ได้ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำโดย นอ.หญิงวัชรินทร์ นาคะเทศ ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการเป็นประธาน ส่วนเรือตรวจการลำที่สามกำลังดำเนินการที่อู่ต่อเรืออิตัลไทย มีความคืบหน้าค่อนข้างมากกำหนดให้ชื่อเรือหลวงทยานชล หรือ HTMS Thayanchon สามารถทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 7 ธันวาคม 2532 (ต้องใช้คำว่าเร็วฟ้าผ่าความเห็นส่วนตัวผู้เขียน)
เหตุการณ์หลังจากนั้น
บทความช่วงแรกทั้งหมดผู้เขียนนำมาจากนิตยสารสงคราม หรือ ALL WARFARE ปี 2532 จริงอยู่ว่าเป็นข้อมูลเปิดเผยทว่าในชีวิตไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะฉะนั้นจะขออ้างอิงจากนิตยสารสงครามเป็นหลัก รวมทั้งอยากขอร้องผู้ต้องการนำข้อมูลไปเผยแพรต่อว่า กรุณาลงเครดิตให้ตรงเจ้าของที่แท้จริงด้วยขอบคุณครับ
เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำทั้ง 3 ลำเข้าประจำการในปี 2535-2536  ตามแผนการบริษัทจะส่งมอบลำแรกให้กองทัพเรือต้นปี 2534 ซึ่งดูเหมือนว่าล่าช้าไปประมาณ 1 ปีกว่า ขณะที่พิธีปล่อยเรือล่าช้าแค่เพียง 1 เดือนเท่านั้น ผู้เขียนไม่ทราบเบื้องลึกเบื้องหลังว่าติดปัญหาตรงไหน และการส่งมอบกับการเข้าประจำการต้องทำอะไรก่อนหรือไม่ ทว่าเมื่อลองเปรียบเทียบกับโครงการอื่นโดยเฉพาะในปัจจุบัน ไม่ถือว่าล่าช้ามากอยู่ในระดับค่อนข้างใช้ได้ ผู้อ่านต้องไม่ลืมประเด็นสำคัญในโครงการนี้ว่า เรือหลวงคำรณสินธุเป็นเรือติดโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำลำแรกที่สร้างในไทย เรือหลวงคำรณสินธุเป็นเรือติดปืนใหญ่อัตโนมัติ 76/62 มม.ลำแรกที่สร้างในไทย และเรือหลวงคำรณสินธุเป็นเรือติดระบบอำนวยการรบลำแรกที่สร้างในไทย

            ชมภาพนางเอกในบทความนี้กันสักนิด เรือหลวงคำรณสินธุซึ่งเปลี่ยนมาใช้หมายเลข 531 ในภายหลัง ระวางขับน้ำปกติ 475 ตัน ยาว 62 เมตร กว้าง 8.22 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.5 เมตร ความเร็วมัธยัสถ์ 15 นอต ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,850 ไมล์ กำลังพลประจำเรือ 58 นาย ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.1 กระบอกที่หัวเรือ ปืนกล 30 มม.แท่นคู่ 1 กระบอกท้ายเรือบนดาดฟ้าชั้นสอง ปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอก แท่นยิงตอร์ปิโดแบบแฝดสามจำนวน 2 แท่น แท่นยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่น รางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 1 ราง รวมทั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดอีก 2 ราง
                เรือทั้ง 3 ลำติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Plessey AWS-4 ระยะตรวจจับไกลสุด 110 กิโลเมตร ใช้ระบบอำนวยการรบ NAUTIS-P เรดาร์ควบคุมการยิง Sea Archer 1A Mod 2s เป็นเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นส่งออกปรับปรุงจากรุ่น GSA.8 ที่มีใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Type22 กับ Type23 ของราชนาวีอังกฤษ มีเรดาร์เดินเรืออีก 2 ตัว (ติดเพิ่มเติมในภายหลัง 1 ตัว) จะเห็นได้ว่าเรือหลวงคำรณสินธุและพี่น้องอีกสองลำ มีเรดาร์รวมทั้งอาวุธอันทรงประสิทธิภาพในยุคนั้น ที่น่าสังเกตก็คือทั้งเรือ เรดาร์ แท่นยิงตอร์ปิโด และระบบอำนวยการรบยกมาจากอังกฤษ ส่วนโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำมาจากเยอรมัน เพราะต้องการใช้รุ่น DSQS-21C ของ Atlas ซึ่งเป็นรุ่นมาตรฐานกองทัพเรือไทย

                เรามาชมสองพี่สาวของเรือหลวงคำรณสินธุกันต่อ ภาพใหญ่คือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Nyayo ของเคนยา ติดจรวดต่อสู้เรือรบออโตแมทจากอิตาลีได้มากสุด 8 นัด (ในภาพไม่มีนะครับ) เข้าประจำการปี 2531 ก่อนหน้าเรือเรา 4 ปี ส่วนลำบนซ้ายเป็นเรือชั้น Dhofar แห่งกองทัพเรือโอมาน หรือเรือชั้น Province Class แบบดั้งเดิม ติดจรวดต่อสู้เรือรบเอ็กโซเซ่ต์จากฝรั่งเศสได้มากสุด 8 นัด เข้าประจำการปี 2525 ก่อนหน้าเรือเราถึง 10 ปี และภาพบนขวาคือเรือหลวงทยานชลของเรา ดูอวบอั๋นบวมน้ำมากขึ้น มีความทันสมัยมากขึ้น มีปล่องควันขนาดใหญ่กลางลำ ทว่าทรวดทรงองค์เอวไม่ต่างไปจากพี่น้องเลย
                จำคุณสมบัติที่กองทัพเรือกำหนดได้ไหมครับ เรือที่เข้าร่วมชิงชัยโครงการเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ ต้องเป็นเรือที่มีการออกแบบให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้เกิดเสียงใต้น้ำน้อยที่สุด นี่คือการปรับปรุงโครงสร้างตัวเรือใหม่หมดตามกฎของลอยด์ และให้สถาบันลอยด์แห่งอังกฤษตรวจรับรองแบบโครงสร้างใหม่ แต่อย่างที่รู้ว่าแบบเรือไม่ได้เกิดมาเพื่อภารกิจปราบเรือดำน้ำ ถึงมีการปรับปรุงจนหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดินค่อนข้างมากก็ตาม แต่ยังห่างไกลเรือรบที่ออกแบบมาเพื่อภารกิจปราบเรือดำน้ำโดยตรง ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่งซึ่งน่าจะมากเพียงพอกับความต้องการ
                คำถามตามมาก็คือมีประเทศอื่นใช้เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ แปลงร่างจากเรือตรวจการณ์หรือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีแบบประเทศไทยไหม คำตอบคือมีแน่นอนในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ช่วงนั้นหลายๆ ประเทศขนาดกองทัพเรือค่อนข้างเล็ก เศรษฐกิจไม่ค่อยดีไม่มีเงินซื้อเรือลำใหญ่ ต้องใช้การปรับปรุงเรือไม่แตกต่างไปจากเรา ยกตัวอย่างก็คือเรือตรวจการณ์ชั้น Fearless ของสิงคโปร์จำนวน 6 ลำจาก 12 ลำ ติดโซนาร์หัวเรือและตอร์ปิโดเบาแฝดสามเหมือนเรือเรา ส่วนเรือคอร์เวตชั้น Victory ซึ่งใช้แบบเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจากเยอรมัน มีโซนาร์ลากท้ายกับตอร์ปิโดเบาแฝดสามสุดแสนทันสมัย

ภาพนี้คือเรือตรวจการณ์ชั้น Fearless ซึ่งสิงคโปร์ออกแบบเองและสร้างเอง ระวางขับน้ำ 500 ตัน ยาว 55 เมตร กว้าง 8.6 เมตร ติดโซนาร์หัวเรือกับแท่นยิงตอร์ปิโดเบาแฝดสาม หัวเรือเป็นปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.ท้ายเรือมีแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยานระยะประชิดแฝดสอง หน้าตาเหมือนเรือตรวจการณ์มีท่อระบายความร้อนข้างตัวเรือ การเก็บเสียงใต้น้ำคิดว่าไม่น่าดีกว่าเรือของเรา ปัจจุบันเรือชั้นนี้ซึ่งเข้าประจำการหลังเรือเรา 3 ปีปลดประจำการหมดแล้ว เรือชั้น Victory ทุกลำก็ถอดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาออกแล้ว เพราะสิงคโปร์มีเรือฟริเกตทันสมัยติดโซนาร์ลากท้าย 6 ลำเข้ามาทำหน้าที่แทน

   กลับมาที่กองเรือยุทธการราชนาวีไทยกันต่อ ในปี 2532 กองเรือปราบเรือดำน้ำมีจำนวนเรือเท่าในภาพ เหลือเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจากยุคสงครามโลกจำนวน 5 ลำ กองทัพเรือตั้งใจสร้างเรือใหม่เข้ามาทดแทนจำนวน 3 ลำ ถ้าดูจากปริมาณจะเห็นว่าลดน้อยลง ถ้านับยอดรวมก่อนเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตันจะมีมากถึง 8 ลำ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราได้เรือคอร์เวตเพิ่มเข้ามาถึง 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือชั้นเรือหลวงตาปีระวางขับน้ำ 885 ตันจำนวน 2 ลำ เรือชั้นเรือหลวงรัตนโกสินร์ระวางขับน้ำ 840 ตันจำนวน 2 ลำ เมื่อรวมของใหม่อีก 3 ลำเท่ากับ 7 ลำใกล้เคียงกับของเดิม ฉะนั้นแล้วกองเรือปราบเรือดำน้ำไม่ได้เล็กลงจากยุคก่อนปี 2500 ให้บังเอิญแผนภาพของท่านจูดาสมีอายุสั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
                เนื่องมาจากกองทัพเรือได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ให้ซื้อเรือรบจากต่างประเทศจำนวนมากเข้าประจำการ รวมทั้งเครื่องบินขับไล่โจมตีมือสองอีก 2 ฝูงบิน ครั้นถึงเดือนมีนาคม 2435 มีการปรับปรุงโครงสร้างกองเรือยุทธการใหม่ กองเรือปราบเรือดำน้ำเปลี่ยนชื่อเป็นกองเรือฟริเกตที่ 1 เพิ่มกองเรือฟริเกตที่ 2 เพื่อประจำการเรือฟริเกตจากประเทศจีนจำนวน 6 ลำ เพิ่มกองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์เพื่อประจำการเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จากสเปน เมื่อเรือหลวงคำรณสินธุเข้าประจำการในอีก 4 เดือนถัดมา จึงได้สังกัดกองเรือฟริเกตที่ 1 ทั้งที่ตัวเองไม่ใกล้เคียงเรือฟริเกตสักนิด
เหตุการณ์ต่อจากนี้
            การสร้างเรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญ เพราะเป็นแบบเรือรุ่นใหม่มีความสลับซับซ้อน ติดตั้งอาวุธและเรดาร์ทันสมัยพร้อมใช้งาน รวมทั้งใช้วิธีสร้างเรือแบบ Block Technology ทำให้ลดระยะเวลาในการสร้างเรือ มีความสะดวกสบายกว่าเดิม ผลงานมีคุณภาพมากกว่าเดิม แต่ต้องใช้พื้นที่ในการสร้างเรือมากกว่าเดิม ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งบุคลการในการสร้างเรือมากกว่าเดิม ต้องมีการควบคุมการจัดการและบริหาร การควบคุมคุณภาพ และข้อกำหนดต่างๆ อย่างเคร่งครัด การสร้างเรือจึงจะเป็นผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในภายหลัง
ปี 2525-2535 เป็นยุคเรืองรองการสร้างเรือในประเทศไทย มีการสร้างเรือยกพลขนาดใหญ่ระวางขับน้ำ 3,000 ตันจำนวน 2 ลำ สร้างเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงสัตหีบความยาว 50 เมตรจำนวน 6 ลำ สร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุอีก 3 ลำ จากนั้นเว้นระยะไปอีก 8 ปีถึงได้มีการสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงหัวหินอีก 3 ลำ โดยใช้แบบเรือบริษัทวอสเปอร์มาปรับปรุงให้เหมาะสม กรมอู่ทหารเรือเป็นคนออกแบบโดยได้รับคำแนะนำจากวิศวกรบริษัทวอสเปอร์ แต่ทว่าหลังจากนั้นเราหักเลี้ยวไปทิศทางอื่น ไม่มีการสร้างเรือตรวจการณ์ความยาว 60 เมตรเพิ่มเติม ละทิ้งความรู้ความสามารถทั้งหมดลอยสู่ท้องทะเล กระทั่ง 3 ปีที่ผ่านมามีการสร้างเรือหลวงแหลมสิงห์ความยาว 58 เมตรเพิ่มเติม 1 ลำ

ในภาพเป็นพิธีขึ้นระวางประจำการเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงสัตหีบจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือหลวงตากใบ เรือหลวงกันตรัง เรือหลวงเทพา และเรือหลวงท้ายเหมือง ซึ่งเป็น 4 ลำสุดท้ายของเรือสร้างโดยบริษัทอิตัลไทย มารีน ภาพแบบนี้หาดูในยุคสมัยนี้ไม่ได้แล้วนะครับ แต่ถ้าเป็นเรือตรวจการณ์ความยาว 25-35 เมตรยังมีให้เห็นเป็นกระษัย จากภาพจะเห็นว่าเรือติดอาวุธปืนรุ่นเก่าที่ซ่อมคืนสภาพ ทำการเล็งยิงด้วยสายตา บังคับทิศทางด้วยสองมือ ราคาเรือจึงไม่แพงสั่งซื้อรวดเดียว 6 ลำได้ทันที ครั้นนำมาติดอาวุธทันสมัยพร้อมระบบควบคุมการยิง ก็เกิดเหตุการณ์คดีพลิกขึ้นมากะทันหัน

หลังเข้าประจำการปี 2527 กับ 2529 เมื่อถึงปี 2532 เรือหลวงคลองใหญ่กับเรือหลวงตากใบได้รับการปรับปรุง โดยการติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.ปืนกล 40/70 มม.และระบบควบคุมการยิง NA-18 จากอิตาลี คำถามมีอยู่ว่าทำไมปรับปรุงแค่เพียง 2 ลำ คำตอบก็คือราคาปรับปรุงเรือแพงกว่าราคาสร้างเรือทั้งลำ โดยเฉพาะปืนใหญ่ 76/62 มม.นี่แพงเลือดสาด ปัจจุบันมีขายแต่รุ่น Super Rapid คราวนี้ยิ่งแพงไปใหญ่ เรือหลวงคำรณสินธุจึงไม่ใช่แค่เพียงเรือตรวจการณ์ที่ดีที่สุด ติดอาวุธและเรดาร์ทันสมัยที่สุด ใช้วิธีการสร้างเรือรุ่นใหม่ล่าสุด แต่ยังเป็นเรือตรวจการณ์ราคาแพงที่สุดอีกหนึ่งตำแหน่ง
ทางบ้านส่งโทรเลขมาสอบถามว่า การสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำยังเหมาะสมหรือไม่ และยังมีความจำเป็นอยู่อีกหรือไม่ เรื่องความจำเป็นผู้เขียนคิดว่ามีดีกว่าไม่มี แต่เรื่องสร้างเรือใหม่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะเรือมีขนาดเล็กเกินไป ออกทะเลลึกไม่ไหว ทำงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำได้ก็จริง แต่ไม่มีลานจอดและไม่มีระบบดาต้าลิงก์กับอากาศยาน ที่สำคัญเรือดำน้ำทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม อย่าลืมนะครับว่าเราสร้างเรือลำนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเรายังไม่มีรถไฟฟ้ามีแต่ถนนดินลูกรัง ปัจจุบันเรามีรถไฟฟ้าคู่ถนนดินลูกรังแล้ว เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว
มาลองคิดราคาแบบมั่วๆ กันดูสักหน่อย เรือหลวงแหลมสิงห์ราคาเรือเปล่า 700 ล้านบาท ราคารวมปืนใหญ่ 76/62 มม.มือสอง ปืนกล DSM-30MR และระบบควบคุมการยิงเท่ากับ 1,200 ล้านบาท (700+500=1,200) ถ้าติดปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid ในฝันของมิตรรักแฟนเพลงทั้งหลาย จะมีราคาสยองขวัญวันพระใหญ่มากไปกว่านี้

สมมุติว่านำเรือชั้นเรือหลวงแหลมสิงห์มาติดโซนาร์หัวเรือ ขนาดไม่ใหญ่นักราคา 10 ล้านเหรียญไม่น่ามีถูกกว่านี้ ติดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาและอุปกรณ์ 2 แท่นตีว่า 6 ล้านเหรียญ หาชุดคิทแปลงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่น Mk46 เป็นรุ่น Mk54 นัดละ 1.5 ล้านเหรียญ จำนวน 6 นัดรวมเท่ากับ 9 ล้านเหรียญ ติดระบบเป้าลวง V-Canto 24 นัด นัดละ 6.56 ล้านบาทรวมเท่ากับ 158 ล้านบาท ต้องติดแท่นยิงและอุปกรณ์ด้วยใช่ไหมตีกว่า 120 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจะมีราคา1,200+300+180+270+158+120=2,228 ล้านบาทต่อลำ ถ้ายังไม่จัดหาลูกตอร์ปิโดกับเป้าลวงอยู่ที่ 1,800 ล้านบาทต่อลำ
เรือ 3 ลำเท่ากับ 5,400 ล้านบาทแพงจับใจ ไม่นับรวมการแก้ไขแบบเรือให้มีความเงียบกว่าเดิม ซึ่งว่ากันตรงๆ ขนาดเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River ยังทำไม่ได้ ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับแผนนี้แบบออกหน้า แต่ทว่าแต่ทว่า ถ้าเป็นเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำราคาประหยัด อันนี้ผู้เขียนเห็นด้วยสมควรมีเผื่อเหลือเผื่อขาด ติดโซนาร์เรือหาปลาราคาไม่เกิน 2 ล้านเหรียญ กับจรวดปราบเรือดำน้ำไม่นำวิถี รวมทั้งรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือเป็นท่าไม้ตาย อยากประหยัดกว่าเดิมไม่ต้องติดปืนใหญ่ 76/62 มม. ตัดความต้องการระดมยิงฝั่งให้เรือลำอื่นทำแทน ราคาเรือจะลดลงมาอยู่ในระดับสามารถแตะต้องได้

นี่เป็นการยกตัวอย่างเท่านั้น ในภาพคือเรือตรวจการณ์ชั้น P1200 ของตุรกี ราคาในปี 2547 อยู่ที่ลำละ 840 ล้านบาท ไทยแลนด์ซื้อแบบเรือมาสร้างเองใช้ระบบอำนวยการรบกับโซนาร์ตามเขาก็ได้ ปืนกล 40 มม.แท่นคู่ถ้าแพงเกินไปซื้อ Bofors 40 มม. Mk4 แท่นเดี่ยวมาใช้งานแทนก็ได้ สามารถยิงกระสุน 3P ตี่ต่อเป้าหมายพื้นน้ำและบนอากาศได้ดีกว่าเดิม ปืนรองใช้ 20 มม.กระบอกละ 10 กว่าล้านบาทประหยัดดี ส่วนปืนกล 12.7 มม.แล้วแต่สะดวกเลย ท้ายเรือมีรางปล่อยระเบิดลึกกับจรวดปราบเรือดำน้ำ Rocketsan ระยะยิง 2 กิโลเมตร ใช้ตรวจการณ์เป็นงานหลักปราบเรือดำน้ำเป็นงานรอง
ราคาเรือแพงสุดน่าจะประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท ได้อาวุธใหม่หมดไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องการซ่อมแซมก่อนเวลา เริ่มต้นโครงการในปี 2563 กำหนดให้สร้างเฟสละ 3 ลำใช้เวลา 3 ปี เฟสแรกนำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบที่ไม่ได้รับการปรับปรุง เฟสสองในปี 2566 นำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบที่ได้รับการปรับปรุง อาวุธปืน 76/62 เอาไปทำอะไหล่ให้กับเรือลำอื่น ส่วนเฟสสามในปี 2569 นำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงหัวหิน ถ้าเรือเก่ายังใหม่อยู่อาจโอนไปสังกัดตำรวจน้ำ กรมประมง กรมเจ้าท่า หรือแบ่งเรือมาสนับสนุนการกวาดทุ่นระเบิดโดยใช้ Mission Module ตามความเหมาะสม  
และเฟสสี่ในปี 2572 นำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ สร้างแล้วเสร็จทั้ง 3 ลำในปี 2575 ตอนนั้นเรือมีอายุ 40 ปีพอดิบพอดี สมควรกับเวลาแล้วเธอควรพักผ่อนได้แล้ว เราจะมีเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ถึง 12 ลำหน้าตาเหมือนกัน (เฟสห้าแล้วแต่กองทัพเรือเลยครับ) โดยไม่จำเป็นต้องใช้เรือและอาวุธตามใจผู้เขียน แต่ให้ทำเป็นเฟสๆ โดยใช้แบบเรือเดียวกัน กำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจน ระบุว่าสร้างภายในประเทศเท่านั้น ที่เหลือให้เอกชนจัดการเหมือนโครงการเรือหลวงคำรณสินธุ
แม้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ ใช้เรือฟริเกตกับเฮลิคอปเตอร์ที่ออกแบบมาโดยตรงดีที่สุด ให้บังเอิญเรือตรวจการณ์ความยาว 50 เมตรของเราชราภาพเต็มที แค่เพิ่มระบบปราบเรือดำน้ำราคาประหยัดเข้ามาไม่น่ามีปัญหา จะใช้ RBU-1200 กับโซนาร์รุ่นสงครามโลกของรัสเซียก็ได้ หรือรุ่นก๊อปปี้จากจีนที่เราซื้อเรือรบจากเขาเกิน 10 ลำแล้วก็ได้ นำมาใช้งานพื้นที่ใกล้ฝั่ง เขตน้ำตื้น หรือตามท่าเรือ เพื่อกดดันและหรือขับไล่ให้เรือดำน้ำข้าศึกทำภารกิจไม่สำเร็จ
เรือหลวงคำรณสินธุเป็นโครงการที่ดีมากในปี 2530 เสียดายว่าเราไม่ได้สานต่อให้เป็นเรือคอร์เวตความยาว 80 เมตร ระวางขับน้ำ 1,500 ตันมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทำนองนี้ ความรู้ความชำนาญของทีมงานสร้างเรือรางเลือนไปตามเวลา ดูจากหน้าเสื่อกว่าจะเริ่มต้นได้ใหม่ก็คงอีกนาน ตามอ่านกันต่อในบทความหน้าสวัสดีปีใหม่ 2563 ผู้อ่านทุกท่านครับ J
                     -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
            นิตยสารสงคราม หรือ ALL WARFARE ฉบับที่ 282 400 411 และ 416
                เฟซบุ๊คนิตยาสารสงคราม สมรภูมิ แทงโก้ และอื่นๆ ทางการรถไฟและการทหาร
เฟซบุ๊คเรือหลวงคำรณสินธุ
                วารสารกรมอูทหารเรือประจำปี 2551 ฉบับที่ 1



วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

HTMS Makut Rajakumarn Behind the Scenes


วันสบายๆ กับเรือหลวงมกุฎราชกุมาร

ใกล้เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2019 แล้ว ปีนี้เป็นปีที่ผู้เขียนประสบความวุ่นวายมากที่สุด และเป็นปีที่เขียนบทความทางทหารมากที่สุด มีเพียงกันยายนเดือนเดียวหาเวลาว่างไม่ได้จริงๆ แรกสุดตั้งใจเขียนหนักไปทางเรื่องไม่เป็นเรื่อง เมื่อได้อ่านทบทวนปรากฏว่าเป็นเรื่องเครียดๆ เยอะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบทความนี้จะอ่านง่ายไม่ปวดหัว อ่านไปดื่มกาแฟกินทองหยิบฝอยทองไป มารู้ตัวอีกทีเบาหวานขึ้นตาเสียแล้ว โดยจะเป็นเรื่องราวเรือหลวงมกุฎราชกุมารในมุมมองสบายๆ
วันที่ 21 สิงหาคม 1969 กองทัพเรือลงนามสัญญาสร้างเรือกับบริษัท ยาร์โรว์ จำกัด เพื่อจัดหาเรือฟริเกตจากอังกฤษเข้าประจำการ เรือหลวงมกุฎราชกุมารทำพิธีปล่อยน้ำวันที่ 18 พฤศจิกายน 1971 ก่อนที่เรือราคา 375 ล้านบาทจะเดินทางไกล 14,476 ไมล์กลับมายังประเทศไทย จากนั้นทำพิธีเข้าประจำการในวันที่ 7 พฤษภาคม 1973

ในภาพเป็นแสตมป์เฉลิมฉลองกองทัพเรือ ในชุดนี้ประกอบไปด้วย เรือหลวงมกุฎราชกุมารราคา 2 บาท เรือหลวงตาปีราคา 3 บาท เรือหลวงปราบปรปักษ์ราคา 5 บาท และเรือต.91 ราคา 6 บาท มีวางขายอยู่ใน EBAY ราคาดวงละ 753.05 บาทเท่ากันทุกดวง ผู้อ่านท่านใดสนใจเข้าไปตามเก็บแต้มได้เดี๋ยวนี้เลย
เรือหลวงมกุฎราชกุมารมีระวางขับน้ำปกติ 1,948 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,072 ตัน ยาว 97.56 เมตร กว้าง 10.97 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.50 เมตร เป็นเรือรบที่ทันสมัยที่สุดของราชนาวีไทย ติดอาวุธจากอังกฤษทั้งหมดประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วจำนวน 2 กระบอก ปืนกลขนาด 40/60 มม.จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยาน Seacat 1 แท่นยิง และจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo อีก 1 แท่นยิง โซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำใช้ของของอังกฤษ แต่เลือกติดตั้งระบบเรดาร์ทั้งหมดจากเนเธอร์แลนด์ ไม่สนใจเรดาร์รุ่นส่งออกของอังกฤษแต่อย่างใด ทำให้เรือทันสมัยกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า

นี่คือภาพถ่ายตอนเพิ่งเข้าประจำการ เสากระโดงดูโล่งๆ เพราะยังไม่มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์กับเรดาร์ตรวจการณ์ระยะใกล้ เป็นแบบเรือจากอังกฤษก็จริงแต่ไม่เหมือนเรือรบเขาสักลำ เพราะเป็นรุ่นส่งออกมีลูกค้าอยู่แค่เพียง 2 ราย เพ่งมองที่กราบเรือข้างปืนใหญ่กระบอกหน้า จะเห็นว่าเป็นผิวเรียบทั้งหมดและไม่มีท่อน้ำทิ้ง ตอนนี้เริ่มกันงงแล้วใช่ไหมเอ่ย
หลังเข้าประจำการได้เพียงไม่กี่ปี เรือหลวงมกุฎราชกุมารถูกปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม (หรืออีกนัยก็คือเพิ่งได้งบประมาณ) โดยเฉพาะระบบตรวจจับและระบบสงครามสงครามอิเล็กทรอนิกส์ มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ ZW06 ซึ่งสามารถช่วยนำทางการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ได้ ติดระบบตรวจจับการแพร่คลื่นเรดาร์ Elettronica ELT 211 ติดระบบรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์ Elettronica ELT 318 โดยใช้จาน ELT 828 Antennas จำนวน 4 จาน สุดท้ายติดระบบเป้าลวง Sippican Mk 33 RBOC อีก 2 แท่นยิง หมายความว่ากองทัพเรือไทยจัดอุปกรณ์มาครบองค์ประชุม

ภาพนี้ค่อนข้างชัดเจนมากและสวยงามมาก ผู้เขียนได้มาจากท่านจูดาสซึ่งน่าจะแสกนจากนิตยสารสงคราม เห็นปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกท้ายอย่างชัดเจน และเห็นท่อยิง Limbo กระดกขึ้นอยู่ในโหมดพร้อมยิง แบบเรือเดิมๆ จากอังกฤษมีแค่ปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกหน้า ตอนที่เราซื้อเรือมี 2 แนวความคิดแตกต่างกัน ทหารเรือบางส่วนต้องให้ติดปืนใหญ่ 2 กระบอกเพิ่มอำนาจการระดมยิง ทหารเรืออีกส่วนต้องการให้มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก ผลสรุปก็อย่างที่รู้คือฝ่ายแรกเอาชนะไปได้ โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบเรือติดปืนเยอะๆ ชนิดล้นลำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงยอมรับได้ทั้งสองแนวความคิด
อยากให้เปรียบเทียบสักเล็กน้อย ภาพที่สองเรือเล็กจะเห็นเรือบดอยู่ด้านข้างจรวด Seacat มองไปที่หัวเรือเห็นท่อน้ำทิ้งกำลังทำงานอย่างชัดเจน (ใต้กระบอกปืนใหญ่ไม่ไกลจากเลข 7) ทีนี้อยากให้ผู้อ่านย้อนกลับไปชมภาพแรกอีกครั้ง เรือเล็กจะเป็นเรือติดเครื่องยนต์สีขาวและไม่มีท่อน้ำทิ้งใต้ปืนใหญ่ นี่คือข้อแตกต่างที่พอสังเกตได้ระหว่างกราบซ้ายกราบขวา
เนื่องมาจากเรือหลวงมกุฎราชกุมารมีรูปร่างสง่างาม บวกกับอาวุธและเรดาร์ทันสมัยเต็มลำเท่าที่จะติดได้ เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากบรรดามิตรรักแฟนเพลงทั่วโลก ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลบางส่วนมาได้อยากนำมาอวด

เริ่มกันจากดินแดนเมืองน้ำหอมฝรั่งเศส มีคนนำภาพเรือหลวงมกุฎราชกุมารจากนิตยสารฉบับหนึ่ง มาแสกนใส่คอมพิวเตอร์พร้อมเขียนระบุเวอร์ชันปี 1975 ภาพนี้ได้ถูกสลับด้านเพื่อความสวยงาม เพราะเรือเล็กเป็นเรือบดและมีท่อน้ำทิ้งใต้ปืนใหญ่หัวเรือ ยังไม่ได้ติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ มองไม่เห็นหมายเลขเรือแต่เห็นธงราชนาวีชัดเจน ภาพถ่าย 3 ใบจาก 3 มุมสวยทุกมุมเลยนะครับ หาเรือที่ถ่ายภาพขึ้นแบบนี้ได้น้อยเต็มที ยกตัวอย่างเช่นเรือฟริเกต DW3000F บางมุมโคตรขี้เหล่ บางมุมสูงอย่างกับเครนหน้าท่า และบางมุมถือว่าสวยใช้ได้เลย แต่ใม่ใช่กับเรืออังกฤษลำนี้อย่างแน่นอน

ความนิยมชมชอบได้มาโผล่ที่เอเชียเช่นกัน คนวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นแอบขโมยเรือเรามาติดธงญี่ปุ่นเสียเลย ก่อนส่งการ์ตูนไปขายที่ฝรั่งเศสอีกแล้วสินะ (เป็นภาพการ์ตูนก็ยังสวยนี่มันเรืออะไรกัน) เนื้อหาในภาพน่าจะประมาณต้นหนบอกว่าเรือมาถึงจุดนัดหมายแล้ว กัปตันเรือจึงสั่งให้ส่งสัญญาณไฟไปยังเรืออีกลำ แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่ามาจากการ์ตูนเรื่องอะไร
ประเทศญี่ปุ่นวงการการ์ตูนใหญ่โตมากและมีมูลค่าสูงมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเขียนเป็นการ์ตูนเพื่อสื่อความหมายในวงกว้าง และมีการ์ตูนเกี่ยวกับสงครามเป็นจำนวนมาก ของฝรั่งก็มีเหมือนกันผู้เขียนเคยอ่านตอนเด็กๆ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สอง บางเรื่องก็พวกสายลับทำนองนี้ เส้นสายค่อนข้างมืด เนื้อหาเดินเร็วมาก ภาพไม่ค่อยสมจริง โชคร้ายที่ตอนนี้จำชื่อนิตยสารไม่ได้แล้ว น่าจะอยู่สำนักพิมพ์เดียวกับ กีฬา&การ์ตูน ที่เมื่อนานมาแล้วโด่งดังมาก ใครจำ ฮามิชตีนระเบิด รองเท้าของทอมมี่ ปัญหาของบิลลี่ หรือ รอยแห่งโรเวอร์ได้โปรดมารายงานตัวด้วย

จากเอเชียเราไปทวีปอเมริกาใต้กันบ้าง ศิลปินท่านหนึ่งแสดงฝีมือตัวเองด้วยการวาดภาพ และนี่ก็คือภาพวาดเรือหลวงมกุฎราชกุมารเวอร์ชัน 1973 เขาใช้สเกล 20 พิกเซลเท่ากับ 1 เมตร ภาพจึงมีขนาดใหญ่กว่าเว็บไซต์ Shipbuckket.com ที่กำหนดให้ 2 พิกเซลเท่ากับ 1 ฟุต ถือว่าวาดสวยใช้ได้เลยนะสวยกว่าภาพวาดของผู้เขียนด้วยซ้ำ เพียงแต่รายละเอียดหลายๆ ส่วนอาจไม่ตรงความจริง คงว่าอะไรไม่ได้เพราะผิดมาตั้งแต่ภาพกราฟิกของ Thales แล้ว
ความนิยมชมชอบไม่ได้หยุดแค่เพียงเท่านี้ ผู้เขียนขอพาขึ้นเหนือไปเที่ยวทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อตามรอยหาภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเรื่องหนึ่ง และนี่ก็คือโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องที่เป็นเป้าหมาย

‘Bermuda Tentacles’ สร้างโดยค่าย The Asylum ซึ่งภาพยนตร์ส่วนใหญ่ไม่ฉายโรงแต่ออกแผ่น DVD ส่วนเรื่องนี้มีฉายในเคเบิลทีวีด้วย เข้าวันที่ 12 เมษายน 2014 เป็นภาพยนตร์แนวไซไฟแอคชั่นสยองขวัญความยาว 89 นาที เห็นภาพครั้งแรกผู้เขียนตื่นเต้นดีใจมาก เรือรบไทยได้เข้าฉากภาพยนตร์อเมริกาเชียวนะ ว่าแล้วจึงออกค้นหาแผ่นซีดีซึ่งบอกได้คำเดียวยากมาก เพราะผ่านมาแล้วตั้ง 2 ปีกว่าและตัวเองดันอยู่ต่างจังหวัด ใช้เวลาอยู่หลายเดือนก่อนทำใจว่าคงหาไม่เจอ
แต่แล้วเหมือนมีโชคช่วยอำนวยชัย แฟนเก่าทอดทิ้งไปแต่ได้ของเด็ดโดนใจกลับคืน ปลายปี 2018 ผู้เขียนแวะซื้อของกินที่เทสโก้ โลตัสใกล้บ้าน ก่อนจากมาพร้อมภาพยนตร์มา 6 เรื่องรวมทั้งเรื่องนี้

มฤตยูเบอร์มิวด้าคือชื่อเรื่องภาษาไทย ใช้ภาพเดียวกับโปสเตอร์อเมริกาแต่ลงชื่อเรื่องคนละจุด เล่นบังหัวเรือเสียจนมิดชิดเห็นแต่หมายเลข 433  โปรยหัวตัวอักษรแดงว่า ปฏิบัติการกู้ชีวิตประธานาธิบดี ที่มีสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าเป็นสมรภูมิ นี่เรือรบไทยช่วยเหลือประธานาธิบดีอเมริกาเชียวหรือ? น่าจะสนุกสนานเร้าใจและเร้าหรืออย่างแน่นอน
ปรากฏว่างานนี้เนื้อเรื่องไม่ตรงปก เรื่องราวส่วนใหญ่อยู่บนเรือประจัญบานอเมริกากับเรือคุ้มกัน ที่จับพลัดจับพลูได้เผชิญหน้าภัยร้ายจากใต้มหาสมุทร ต้องระดมทหารทั้งหมดมายืนเรียงแถวยิงเอ็มสิบหกใส่ตัวประหลาด ส่วนอาวุธปืนอาวุธจรวดซึ่งมีล้นลำไม่รู้ว่าติดไปเพื่ออะไร ภาพยนตร์เรื่องนี้พอดูเอาสนุกได้แต่อย่างจริงจัง คิดเสียว่านั่งดูเรือรบอเมริกาของจริงบ้างของปลอมบ้าง เปลี่ยนบรรยากาศจากบ้านผีปอบหรือบุญชูผู้น่ารัก
เนื่องมาจากภาพนี้หายากมากผู้เขียนขออนุญาตใส่ลายน้ำ แต่ค่อนข้างเนียนกริบถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็นจริงๆ (ฮา) บทความนี้ใช้เวลาค้นหาข้อมูลนานถึง 2 ปี หามาได้แล้วดันลืมเขียนบวกเพิ่มอีก 1 ปี นำมารวมกันจึงเท่ากับ 3 ปีพอดิบพอดี ไม่น่าจะมีบทความไหนของผู้เขียนยาวนานกว่านี้ คือถ้านานกว่านี้คงไม่เขียนแล้วไปเรื่องอื่นเถอะ
ราชนาวีไทยซื้อเรือหลวงมกุฎราชกุมารลำเดียวก็จริง แต่ยังมีพี่น้องร่วมสายโลหิตคลานตามกันมาหนึ่งลำ เธอก็คือเรือฟริเกตมาเลเซียชื่อ KD Rahmat รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกันแต่ขนาดเล็กกว่านิดหน่อย

เรือลำนี้มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,600 ตัน ยาว 93.9 เมตร กว้าง 10.4 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ติดอาวุธอังกฤษแต่ใช้เรดาร์จากเนเธอร์แลนด์เหมือนเรา เพียงแต่ปืนใหญ่ 4.5 นิ้วและระบบเรดาร์โบราณกว่ากัน เพราะสั่งซื้อก่อนประมาณ 3 ปีและเข้าประจำการก่อน 2 ปี เรือมาเลเซียไม่มีปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกท้าย แต่มีลานจอดสำหรับเฮลิคอปเตอร์ Westland Wasp Mk1 เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่นจิ๋วที่เขามีประจำการถึง 12 ลำ ตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือคล้ายคลึงกับเรือเรามาก ยกเว้นปล่องระบายความร้อนขยับขึ้นมาข้างหน้า สลับกับเรดาร์ตรวจการณ์ LW02 ขยับไปอยู่ท้ายปล่อง ส่วนเสากระโดงเยื้องมาทางกลางเรือมากกว่าเรือเรา จุดแตกต่างมองเห็นด้วยสายตาน่าจะมีแค่เพียงเท่านี้

ส่วนภาพนี้เป็น F24 KD Rahmat ลำเดิม แต่ปีน่าจะใหม่กว่ากันพอสมควร มีการทาสีเข้มด้านบนปล่องระบายความร้อน รวมทั้งถอดจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo ออกเพื่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์เต็มพื้นที่ เสากระโดงท่อนบนทาสีเข้มเหมือนเรือรบราชนาวีอังกฤษ เรือเราไม่ได้ทาเพราะเสาอยู่ห่างปล่องระบายความร้อนค่อนข้างเยอะ
ปี 1983 มาเลเซียถอดจรวดต่อสู้อากาศยาน Seacat ออกเพราะหมดอายุการใช้งาน ติดตั้งปืนกลขนาด 40/70 มม.กระบอกที่ 3 เข้าไปทดแทน F24 KD Rahmat ถูกปลดประจำการปี 2004 สุดท้ายกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำให้ประชาชนเข้ามาเยี่ยมชม ครั้นถึงปี 2017 เกิดอุบัติเหตุทำให้เรือจมโดยการเอียงซ้าย ไม่ทราบเหมือนกันว่าแก้ไขเรียบร้อยหรือยัง
หลังจากเข้าประจำการประมาณ 15-20 ปี เรือหลวงมกุฎราชกุมารมีการปรับปรุงช่วงครึ่งอายุ ด้วยการถอดจรวดต่อสู้อากาศยาน Saecat และเรดาร์ควบคุมการยิงออก ทดแทนด้วยปืนกล 40 มม.แท่นคู่จากอิตาลี ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงใกล้เคียงระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด เปลี่ยนโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำเป็นรุ่นใหม่จากเยอรมัน ใส่แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเข้าไป แต่ต้องถอดปืนกล 40/60 มม.ออกเสียก่อน ถือว่าปรับปรุงไม่มากใช้งบประมาณแค่พอสมควร

แต่การปรับปรุงยังไม่โดนกองเชียร์สักเท่าไร หลายคนจึงสร้างเรือหลวงมกุฎราชกุมารเวอร์ชันตัวเองขึ้นมา รวมทั้งภาพนี้ซึ่งเป็นเวอร์ชันท่านจูดาส มีการติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon บริเวณท้ายเรือซึ่งเป็นที่ว่างโล่ง มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยจำนวนหลายคนก็เลือกจุดนี้ เพราะเป็นจุดที่ง่ายที่สุดไม่ต้องดัดแปลงเรือ รวมทั้งไม่เกะกะทั้งปืนใหญ่และปืนกล
ผู้เขียนเคยวาดภาพเรือหลวงมกุฎราชกุมารเช่นกัน เป็นเรือลำแรกของกองทัพเรือไทยกันเลยทีเดียว ตอนนั้นมีความพยายามปรับปรุงเรือเหมือนท่านจูดาส ใช้เวลาออกแบบและแก้ไขอยู่ประมาณ 3-4 เดือนเต็ม จนได้ข้อสรุปว่าไม่มีจุดเหมาะสมในการติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon คือถ้าจะทำจริงๆ ต้องถอดปืนใหญ่ 4.5 ท้ายเรือออกไปสถานเดียว เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแนวความคิดต่างจากคนอื่น ด้วยเหตุผลที่กำลังจะกล่าวถึงโปรดรอสักประเดี๋ยว
ตอนนั้นเองผู้เขียนแอบคิดในใจว่าแล้วกองทัพเรือไทยล่ะ พวกเขามีแนวคิดปรับปรุงเรือให้ทันสมัยกว่านี้หรือไม่? และถ้าต้องการปรับปรุงเขาเลือกวิธีไหน? วันเวลาผ่านพ้นมาถึงกลางเดือนที่แล้ว ปริศนาคาใจจึงได้คลี่คลายกระจ่างชัดเจน

นี่คือภาพจากแสกนนิตยสารสงครามปี 1990 เป็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ด้วยระบบเรดาร์และอาวุธทันสมัยระดมใส่เข้ามาชนิดล้นลำ โดยพอจะเรียบเรียงให้ชัดเจนได้ดังนี้
-ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.Super Rapid อัตรายิง 120 นัดต่อนาทีแทนปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกหัวเรือ
-ติดเรดาร์ควบคุมการยิงจรวดรุ่น STIR 180 จำนวน 2 ตัวแทนรุ่น M44
-ติดระบบเป้าลวง DAGAIE รุ่นใหม่ทันสมัยแทน Sippican Mk 33 RBOC
-ติดจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon แทนปืนกล 40/60 มม.
-ติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx หรือ Goldkeeper แทนแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Seacat
-ติดแทนยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Aspide จากอิตาลี แทนปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกท้ายเรือ
-ติดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Stringray แทนจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo
-ติดระบบโซนาร์ลากท้าย Towed Array System Sonar (TASS) หรือ Variable Depth Sonar (VDS) แทนรางปล่อยระเบิดลึก
-ถ้ามีงบประมาณเหลือจะปรับปรุงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันสมัยกว่าเดิม

ภาพนี้ติด Phalanx กับ Towed Array System Sonar เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 180 โดนบังเล็กน้อยแต่ไม่มีปัญหา ซึ่งอันจริงติด STIR 180 แค่ตัวเดียวก็พอ เพราะปืนใหญ่หัวเรือมีเรดาร์ WM22 ช่วยจัดการอยู่แล้ว

ส่วนภาพนี้ติด Goldkeeper กับ Variable Depth Sonar เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 180 โดนบังน้อยลง แต่เนื่องมากจาก Goldkeeper ต้องใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือเป็นคลังกระสุน จึงไม่เหลือพื้นที่ไว้ใส่จรวด Aspide ต้องไปโมจุดอื่นเพิ่ม
จะเห็นได้ว่าราชนาวีปรับปรุงเรือโดยการจัดชุดใหญ่จัมโบ้ กลายเป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ติดอาวุธล้นลำตัวจริงเสียงจริง เห็นภาพนี้ครั้งแรกผู้เขียนถึงกับอึ้งทึ่งเสียว ไม่คิดมาก่อนว่าจะออกมาในแนวนี้ เกิดคำถามในใจขึ้นมาทันทีว่าติดจรวด Harpoon ไหวเหรอ? คำถามข้อนี้มีคำตอบรวดเร็วมากครับ เรามาดูภาพถัดไปกันต่อเลย

ภาพถ่ายใบนี้น่าจะไม่นานสักเท่าไร เพราะเรือบดถูกแทนที่ด้วยเรือยางท้องแข็งเสียแล้ว ที่นี้ถ้ามองที่กราบเรือข้างปล่องระบายความร้อน จุดที่ติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ จะเห็นว่ามีพื้นที่โล่งทั้งยาวและลึกพอสมควร สามารถติดตั้งแท่นยิงจรวด Harpoon ให้เฉียงทำมุมออกด้านนอกเล็กน้อย เพียงแต่ต้องเสริมเสาและคานรองรับน้ำหนักจรวด จากนั้นมาดูที่ท้ายเรือโล่งๆ กันบ้าง ปรกติจะมีรางปล่อยระเบิดลึกเพียงรางเดียว ทำไมในข้อเสนอถึงไม่เลือกติดจรวด Harpoon จุดนี้? ทั้งๆ ที่มันง่ายดายกว่ากันตั้งเยอะแยะ ผู้อ่านลองคิดเล่นๆ สัก 5 นาทีค่อยอ่านบทความต่อนะครับ
เหตุผลหลักน่าจะมาเรื่องความเตี้ยของท้ายเรือ เนื่องจากออกแบบให้ใช้งานจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo ซึ่งมีแท่นยิงค่อนข้างใหญ่ กินพื้นที่มาก มีน้ำหนักรวมถึง 35 ตัน ถ้าตั้งชั้นเดียวกับอาวุธชนิดอื่นจะเกะกะมาก ไหนยังต้องมีคลังแสงเก็บลูกจรวดอีกจำนวนหนึ่ง อู่ต่อเรือจึงกำหนดให้ Limbo อยู่ต่ำลงไปจากดาดฟ้าเรือ มีช่องเปิดปิดอย่างดีป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แล้วทำท้ายเรือเปิดโล่งเพื่อความสะดวกในการดูแล รวมทั้งสะดวกในการขนย้ายลูกจรวดเข้ามาเก็บในคลังแสง
ทีนี้ถ้าเราเอาจุดท้ายเรือมาติดจรวด Harpoon จรวดจะอยู่ใกล้ระดับน้ำมากเกินไป มีคลื่นซัดสาดเข้ามารับรองว่าโดนแท่นยิงทุกลูกคลื่น ความเสียหายเล็กๆน้อยๆ อาจเกิดได้ง่ายกว่าและมากกว่า โดยเฉพาะเทียบกับดาดฟ้าเรือชั้นสองที่กำหนดไว้ตามข้อเสนอ เหตุผลเดียวกันนี้เองที่ผู้เขียนเลือกติดจรวด Harpoon แทนปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกท้ายเรือ แต่แผนปรับปรุงของกองทัพเรือเหนือชั้นกว่าหน้าตาเฉย บอกตามตรงว่าไม่เคยคิดถึงจุดนี้แม้แต่ครั้งเดียว
เหตุผลข้อถัดไปอาจฟังแล้วคิดว่าตลกคาเฟ่ โดยปรกติท้ายเรือจะเป็นจุดผูกเรือกับเสาบนชายฝั่ง ถ้าติดแท่นยิงจรวด Harpoon เข้าไปมันจะเกะกะ ถามว่าติดได้ไหม-ผูกได้ไหม-เป็นจุดติดตั้งได้ไหม คำตอบก็คือติดได้-ผูกได้-เป็นจุดติดตั้งได้ แต่ไม่ใช่จุดติดทั้งที่ดีที่สุดและอาจมีปัญหาตามมา มันจะวุ่นวายเกินไปจนไม่เหมาะสมในการใช้งาน
แต่ถ้าติดโซนาร์ลากท้ายตัวเล็กๆ กลางท้ายเรือพร้อมสร้างห้องขึ้นมาคลุม (เรือลำเล็กติดได้แค่โซนาร์ตัวเล็กแหละครับ เหมือนเรือคอร์เวตของสิงคโปร์ที่สร้างจากเยอรมัน ลำนั้นติด VDS โซนาร์โดยใช้พื้นที่นิดเดียว) ยังเหลือพื้นที่ด้านข้างส่วนหนึ่งสำหรับผูกเชือกเรือ และไม่มีปัญหาเรื่องโดนน้ำทะเลเหมือนจรวด Harpoon เพราะโซนาร์ถูกออกแบบให้ทำงานใต้น้ำอยู่แล้ว เรือบางลำแค่ยกโซนาร์พ้นจากระดับน้ำเพียงหนึ่งฟุต ที่เขียนทั้งหมดเป็นการคาดเดาของผู้เขียนคนเดียวนะครับ
สุดท้ายท้ายสุดแผนปรับปรุงเรือหลวงมกุฎราชกุมารถูกยกเลิก เหลือแค่เพียงติดปืนกล 40 มม.แท่นคู่กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ (ตามภาพสวยๆ ภาพนี้แหละ) กองทัพเรือไทยต้องรอต่อไปอีกประมาณ 7 ปีกว่า ถึงจะได้เรือฟริเกตมือสองชั้น KNOX จากอเมริกาเข้าประจำการ ทำให้มีเรือฟริเกตติดระบบโซนาร์ลากท้ายลำแรกใช้งาน อุปกรณ์ชิ้นนี้สำคัญจริงๆ นะครับ ถึงมีเฮลิคอปเตอร์ติดโซนาร์แบบชักหย่อนก็ทดแทนไม่ได้ เพราะเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินในสภาพอากาศแปรปรวนไม่ได้ ระยะเวลาปฏิบัติการณ์สั้นกว่ากันหลายเท่าตัว ปัจจุบันเรามีเรือฟริเกตติดโซนาร์ลากท้ายเพียง 1 ลำเท่านั้น

เรือหลวงมกุฎราชกุมารเข้าประจำการปี 1973 เวลาผ่านพ้นจนถึงปลายปี 2016 หรือ 43 ปีให้หลัง ได้มีการทดสอบยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo โดยกองทัพเรือไทย ผู้เขียนนำภาพและข่าวให้เพื่อนชาวอังกฤษอ่าน เขาบอกว่านี่คือการทดสอบ Limbo ครั้งล่าสุดและอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย จากเรือรบเพียงลำเดียวบนโลกที่ยังคงประจำการอาวุธนี้ ชมภาพเคลื่อนไหวกันสักนิดดีกว่านะครับ

Limbo มีระยะยิงไกลสุด 914 เมตร แท่นยิงแฝดสามจะส่งลูกจรวดหนัก 177 กิโลกรัมพร้อมรบหัวขนาด 94 กิโลกรัมขึ้นไปบนอากาศ ก่อนตกลงมาเป็นรูปสามเหลี่ยมล้อมเป้าหมายที่เล็งไว้ ผลลัพธ์ก็คือเกิดการระเบิดในวงกว้างใต้ท้องทะเล ถ้าเรือดำน้ำเป้าหมายหลบอยู่แถวนั้นก็ซวยไป ปรกติในคลังแสงมีลูกจรวด 51 นัดสามารถยิงถล่มเป้าหมายได้ถึง 17 ครั้ง
ผลการทดสอบบนเรือเรือหลวงมกุฎราชกุมารเป็นไปด้วยดี ลูกจรวดตกใกล้เคียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเกือบเท่า นี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้เห็น Limbo ทำงาน หาไม่ได้อีกแล้วขนาดเขียนเองยังแอบใจหายเอง
แล้วบทความนี้ก็เดินทางมาถึงตอนจบ เรือหลวงมกุฎราชกุมารประจำการมาแล้ว 46 ปีครึ่ง แต่ยังไม่มีเรือฟริเกตลำใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน นับรวมเรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐเข้าไปด้วย เท่ากับเรามีเรือติดอาวุธปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำที่มีอายุถึง 45-48 ปี และยังไม่มีกำหนดว่าวันไหนพวกเธอจะได้พักผ่อน จั่วหัวว่าเป็นบทความสบายๆ อ่านแค่พอขำๆ เหตุไฉนลงท้ายกลายเป็นเรื่องเคร่งเครียดอีกแล้วล่ะหนอ วันนี้ขอลาแบบแอบเศร้าเล็กน้อยสวัสดีครับ J
                     -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
            นิตยสารสงครามปี 1990
หนังสือ A Compendium of Armaments and Military Hardware (Routledge Revivals)