วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

Tank Landing Ship


Tank Landing Ship หรือ Landing Ship, Tank หรือ LST คือเรือยกพลขนาดใหญ่ ใช้ในการลำเลียงรถถัง ยานเกราะ รถบรรทุก ทหาร รวมทั้งยุทโธปกรณ์จำนวนมาก นำมาส่งให้ถึงชายหาดเพื่อเดินทางทางบกต่อไป เรือที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือเรือชั้น LST-542 ซึ่งพัฒนาจากเรือชั้น LST-1 ที่ใช้แบบเรืออังกฤษอีกที เรือชั้นนี้ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมหาศาล เวลาเพียง 2 ปีกว่าอเมริกาปั๊มออกมาถึง 612 ลำ หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว ได้มีการปล่อยเรือให้กับพันธมิตรในราคาย่อมเยา ประเทศไทยมีเรือชั้น LST-542 จำนวน 5 ลำด้วยกันประกอบไปด้วย

HTMS Angthong
วันที่ 5 พฤษภาคม 1947 ราชนาวีไทยเข้าประจำการเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ใช้ชื่อว่าเรือหลวงอ่างทอง (ลำที่ 2) หรือ HTMS Angthong กำหนดให้ใช้หมายเลข LST-1 นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธการ เพราะเรือหลวงอ่างทองสามารถบรรทุกรถถังจำนวนมาก มาเกยชายหาดเพื่อส่งรถถังลงแผ่นดินได้อย่างปลอดภัย เพียงแต่ว่าตอนนั้นนาวิกโยธินไทยยังไม่มีรถถัง จึงไม่มีภาพรถถังวิ่งลงจากเรือเหมือนในสงครามโลก วันเวลาผ่านพ้นไปนานถึง 72 ปีเต็ม ปัจจุบันนี้นาวิกโยธินมีรถถังรวมกันมากถึง 5 คัน (ฮา)


ภาพเรือหลวงอ่างทองจากนิตยสารสมรภูมิ น่าจะเป็นปี 198x ขึ้นไปแล้วล่ะครับ เพราะใช้เสากระโดงเรือขนาดใหญ่ทรงสามเหลี่ยม ติดตั้งเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่ มีการกำหนดลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เรดาร์ควบคุมการยิงปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดไม่อยู่เสียแล้ว (คิดว่าไม่มีตั้งแต่แรก) ในภาพกำลังปล่อยเรือระบายพล LCVP (Landing Craft, Vehicle, Personnel) ซึ่งสามารถบรรทุกทหารพร้อมอาวุธได้ถึง 36 นาย มองเห็นสะพานขึ้นเรือหรือ Gangway พาดลงมาสู่ผืนน้ำ
สังเกตที่บั้นทายจะมีจุดปล่อยสมอเรือ ในภาพก็คือทิ้งสมอเรือเรียบร้อยแล้ว (โดนลากไปไกลโซ่จะขาดไหม?) เรือที่เกี่ยวข้องกับภารกิจยกพลขึ้นบกในยุคนั้น มักมีสมอเรือติดอยู่บริเวณท้ายเรือเสมอ ส่วนจะมีที่หัวเรือด้วยหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง


เรือหลวงอ่างทองเป็นเรือมือสองจากอเมริกา ชื่อเดิมคือ USS LST-924 เข้าประจำการวันที่ 10 กรกฎาคม 1944 เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองหลายสมรภูมิ โดยเฉพาะในสงครามเอเชีย-แปซิฟิกกับประเทศญี่ปุ่น และได้รับเหรียญ battle stars มากถึง 4 เหรียญ ตอนขายให้เรามีอายุการใช้งานเพียง 3 ปีกับ 2 เดือน ค่อนข้างใหม่แต่ใช้งานหนักพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิด สังเกตดีๆ จะเห็นว่าไม่มีเรดาร์ควบคุมการยิง เรื่องปรกติในช่วงสงครามเพราะเรือมีจำนวนเยอะมาก


ส่วนภาพนี้เป็นเรือหลวงอ่างทองปี 1956 ภาพประกอบจากนิตยสาร Jane Fighting Ships เรือยังอยู่ในสภาพเดิมๆ ทุกประการ เสากระโดงขนาดเล็กติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SG มีแพชูชีพหรือ LIFERAFT รุ่นเก่าเยอะแยะไปหมด ภาพสมัยก่อนหาได้ค่อนข้างยากมาก และเรือสมัยก่อนยังไม่มีการเขียนหมายเลขเรือ


มาพิจารณา superstructure เรือกันสักนิด เรือหลวงอ่างทองมีสะพานเดินเรือหรือ Bridge อยู่ที่ดาดฟ้าชั้นสอง ตรงที่มีช่องกระจกกลมเยอะๆ นั่นแหละครับ การบังคับเรือจะทำกันจากห้องนี้ เรือชั้น LST-542 ได้สร้าง Navigation Bridge ความสูง 2 ชั้นเพิ่มเติมจากเรือชั้น LST-1 (ผู้เขียนขอใช้คำว่าหอตรวจการณ์) โดยที่ชั้นบนสุดจะเป็นแบบเปิดประทุนโล่ง
ในภาพหอตรวจการณ์รูปทรงหกเหลี่ยมใหญ่ แต่เรือหลวงอ่างทองจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมเล็ก ด้านบนเปิดประทุนโล่งๆ เหมือนกัน แต่ของเรามีผ้าใบกันแดดกันฝนคลุมไว้ด้วย วาดออกมาเป็นภาพจะมีรายละเอียดประมาณนี้


คุณลักษณะของเรือยกพลขึ้นบกชั้น LST-542
ระวางขับน้ำปกติ 1,625 ตัน
ระวางขับน้ำเต็มที่ 4,080 ตัน
ความยาวตลอดลำ 100 เมตร
ความกว้าง 15 เมตร
กินน้ำลึกหัวเรือ 0.71 เมตร (เรือเปล่า) และ 2.49 เมตร (บรรทุกเต็มที่)
กินน้ำลึกท้ายเรือ 2.29 (เรือเปล่า) 4.29 เมตร (บรรทุกเต็มที่)
เครื่องยนต์ดีเซล General Motors 12-567 จำนวน 2 เครื่อง
เพลาใบจักร 2 เพลา
ความเร็วสูงสุด 12 นอต
ความเร็วมัธยัสถ์ 9 นอต
ระยะปฏิบัติการไกลสุด 24,000 ไมล์ ที่ 9 นอต
กำลังพลประจำเรือ 117 นาย
ระบบอาวุธ
ปืนกล 40/60 Bofors ลำกล้องแฝด จำนวน 2 กระบอก
ปืนกล 40/60 Bofors ลำกล้องเดี่ยว จำนวน 4 กระบอก
ปืนกล Oerlikon 20 มม.ลำกล้องเดี่ยว จำนวน 6-12 กระบอก
เรดาร์ควบคุมการยิง Mk.51 จำนวน 2 ระบบ
เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่หรือ LST ส่วนมากเป็นเรือท้องป้าน หัวเรือกินน้ำน้อยกว่าท้ายเรือพอสมควร เพื่อให้การจอดเทียบชายหาดมีปัญหาน้อยที่สุด ผลที่ตามมาก็คือเรือโคลงมากกว่าปรกติ กับเขตน้ำตื้นไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก กับลูกประดู่ที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือก็เช่นกัน แต่กับทหารบกที่ต้องเดินทางข้ามมหาสมุทร ทุกคนอยากลงไปสู้รบกับข้าศึกบนทวีปยุโรป มากกว่าผจญพายุลูกใหญ่บนเรือที่โคลงเคลงไม่หยุด
ข้อมูลของเรือหลวงอ่างทองมีค่อนข้างน้อย ภาพถ่ายรวมทั้งประวัติจึงได้มีน้อยตามกัน ในปี 1978 เรือถูกปลดประจำการชั่วคราว ต่อมาอีก 20 ปีจึงได้เข้าประจำการใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนมาใช้หมายเลข LST-711 ตามสมัยนิยม ใช้ได้เพียง 8 ปีก็ปลดประจำการถาวร ไม่มีข้อมูลว่าหลังจากนั้นทำอย่างไรกับเรือ

HTMS Chang
หลังจากใช้งานเรือหลวงอ่างทองมาแล้ว 15 ปี กองทัพเรือไทยจึงได้ประจำการเรือชั้น LST-542 ลำที่สอง อเมริกาได้ส่งมอบเรือ USS Lincoln County (LST-898) ให้กับเราที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ตามโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารในยุคนั้น วันที่ 3 สิงหาคม 1962 เรือหลวงช้าง (ลำที่ 2) เข้าประจำการอย่างเป็นทางการ ภาพถ่ายใบนี้มาจากปี 1965 อาจจะดูไม่ค่อยชัดเจนมากนัก เรามาพิจารณาจากภาพวาดกันต่อเลย



มีการปรับปรุงเรือครั้งใหญ่เรียบร้อยแล้ว เปลี่ยนมาใช้เสากระโดงรูปทรงสามเหลี่ยม ติดเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำรุ่น SPS-21 หอตรวจการณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมเล็กถูกปรับปรุงใหม่ มีการสร้างหลังคาและติดกระจกกันลม พร้อมกับต่อระเบียงขนาดใหญ่ออกไปทุกด้าน โดยมีเก้าอี้ให้กัปปิตันขึ้นมานั่งส่องกล้อง เรือเราจำนวน 3 จาก 5 ลำใช้หอตรวจการณ์รูปทรงนี้
สังเกตได้ว่ายังไม่มีการติดหมายเลขเรือ และใช้แพชูชีพรุ่นเก่าซึ่งกินพื้นที่แต่ดูเท่ห์มาก กองทัพเรือไทยเริ่มติดหมายเลขช้างเรือในอีกประมาณ 5 ปีต่อมา หลังจากติดหมายเลขก็มีหน้าตาประมาณนี้ครับ


HTMS Chang (LST-2) มีการติดตั้งเรดาร์เดินเรือเพิ่มเติมเข้ามา ใช้แพชูชีพรุ่นใหม่สีขาวขนาดกะทัดรัด มีการใช้งานเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงบนเรือ ถ้าสังเกตที่หัวเรือฝั่งซ้ายจะเห็นสมอเรือ เท่ากับว่าเรือชั้นนี้มีสมอเรือทั้งหน้าและหลัง ภาพถ่ายใบนี้น่าจะเป็นปี 198x ขึ้นไป อาวุธปืนพร้อมเรดาร์ควบคุมการยิงอยู่กันครบ จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเรือ
นอกจากทำหน้าที่เรือยกพลขึ้นบกแล้ว เรือหลวงช้างยังทำหน้าที่ฝึกองค์บุคคลให้กับนักเรียนนายเรือ นักเรียนจ่าทหารเรือ รวมทั้งพลทหารเป็นเวลายาวนานมาก ว่ากันว่ามีผบ.ทร.เคยฝึกกับเรือลำนี้มากกว่า 10 คน เป็นเรือครูที่ลูกประดู่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ เรือหลวงช้างยังเคยร่วมการฝึก Cobra Gold เคยช่วยผู้ประสบภัยจากพายุถล่มที่ภาคใต้ รวมทั้งเคยได้รับหน้าที่พิเศษมากก็คือ เป็นหมู่เรือถวายการอารักขาอีกหนึ่งภารกิจ
เรือหลวงช้างปลดประจำการในปี 2005 ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2012 ได้มีพิธีนำเรือหลวงช้างลงสู่ท้องทะเล บริเวณหินลูกบาตร น่านน้ำทะเลตราด จังหวัดตราด เพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักดำน้ำทั่วโลก และช่วยอนุลักษณ์แหล่งปะการังจริงในทางอ้อม ภารกิจสำคัญสำเร็จล่วงลุอย่างสมบรูณ์แบบ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามมาจนถึงทุกวันนี้


ภาพกราฟิกจากเว็บไซด์ www.thai-scuba.com โดยการใช้อุปกรณ์สำรวจใต้น้ำราคาแพง เรือหลวงช้างตั้งอยู่บนท้องทะเลอย่างมั่นคง ลึกลงไปใต้น้ำประมาณ 30 เมตร มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงสำหรับนักดำน้ำ (ถ้าไม่ทำอะไรแผลงๆ ) ตัวเรือจะสามารถคงสภาพเดิมอยู่ได้ประมาณ 25-30 ปี

HTMS Phangan
            เรือหลวงพงัน (ลำที่ 2) เป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำที่ 3 ของไทย ได้รับโอนตามโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหาร เข้าประจำการวันที่ 9 มกราคม 1966 เดิมเรือมีชื่อว่า USS Stark County (LST-1134) เป็นเรือชั้น LST-542 ชุดท้ายๆ ได้รับการปรับปรุงดีกว่าชุดแรก ทันสงครามโลกก็จริงแต่ไม่มีผลงานโดดเด่น มาปังเอาตอนสงครามเกาหลีในการยกพลขึ้นบกหลายครั้ง หลังจากนั้นจึงปลดประจำการแล้วโอนต่อมาให้ไทย และได้เข้าร่วมสงครามใหญ่ครั้งที่ 3 ในชีวิตประจำการ



วันที่ 4 พฤษภาคม 1966 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเวียดนามใต้ กองทัพเรือจึงได้จัดตั้งหน่วยเรือซีฮอร์ส (Sea Horse Element) ขึ้นมา ประกอบด้วยเรือหลวงพงันซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบก กับเรือ ต.12 ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ให้ไปปฏิบัติการลำเลียงและเฝ้าตรวจบริเวณชายฝั่ง เพื่อป้องกันการแทรกซึมทางทะเลของข้าศึก
เรือหลวงพงันใช้กำลังพล 156 นาย มีการผลัดเปลี่ยนกำลังพลเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งทุก 6 เดือน รวมทั้งหมด 5 ชุดโดยแต่ละชุดจะมี 2 ผลัด ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 1966 กระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม 1972 จึงมีคำสั่งให้เดินทางกลับประเทศ ระยะเวลา 6 ปีครึ่งมีการปะทะครั้งใหญ่จำนวนหลายครั้ง เรือหลวงพงันเคยไปซ่อมที่เกาะกวมถึง 5 เดือนมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังกลับถึงประเทศได้อย่างปลอดภัย


                นี่คือภาพวาดเรือหลวงพงันระหว่างสงครามเวียดนาม มีการติดตั้งระบบอาวุธและระบบสื่อสารแบบจัดเต็ม มีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำรุ่น SPS-21 กับเรดาร์เดินเรืออย่างละตัว ปืนและเรดาร์ควบคุมการยิงอยู่ในสถานะพร้อมรบ เพราะเรือต้องออกรบจริงทุกอย่างต้องใช้งานได้จริง โดยได้รับการสนับสนุนการซ่อมบำรุงจากอเมริกา
                สังเกตที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์เล็กน้อย เรือ LST ของไทยจอดได้ 1 ลำตามแนวยาว แต่เรือ LST ของอเมริกาจะถอดเครนใหญ่ออก เพื่อทำลานจอดจำนวน 2 ลำตามแนวขวาง รองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่อย่างชีนุกได้ด้วย สงครามเวียดนามเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงมีความโดดเด่นสูงมาก แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะเอาชนะข้าศึกซึ่งมีโซเวียตหนุนหลัง
                มีข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง เรือหลวงพงันมีหอตรวจการณ์แบบแปดเหลี่ยมเต็ม โดยการสร้างหอบนสะพานเดินเรือแบบเต็มพื้นที่ ตีโป่งเป็นระเบียงอีก 4 ด้านพร้อมหลังคาขนาดใหญ่ หอตรวจการณ์แบบนี้เรามีแค่ 2 ลำเท่านั้น


                กลับจากราชการเวียดนามแล้วก็จะเหมือนกับเรือลำอื่น คือทำหน้าที่จอดเป็นเพื่อนผักตบชวาเสียมากกว่า ในภาพเปลี่ยนมาใช้หมายเลข LST-713 เรียบร้อยแล้ว อยู่ตรงไหนสักแห่งในกรุงเทพจำกันได้ไหมครับ เรดาร์ 2 ตัวบนสุดเสากระโดงหายไปแล้ว แต่มีเรดาร์เดินเรือจำนวน 1 ตัวกลางเสากระโดง อาวุธและระบบสื่อสารยังคงจัดเต็มเหมือนเดิม ผลพวงจากสงครามเวียดนามนั่นเอง


เรือหลวงพงันปลดระวางประจำการวันที่ 5 มิถุนายน 2008 ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน 2010 กองทัพเรือได้ส่งมอบเรือให้กับจังหวัดสุราษธานี เพื่อนำไปจัดสร้างเป็น พิพิธภัณฑ์เรือหลวงพงัน ณ บริเวณท่าเทียบเรือท้องศาลา ตำบลเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรือตั้งแท่นอยู่ในน้ำตื้นล้อมกรอบด้วยลานปูนกว้าง ผู้อ่านคนไหนบังเอิญผ่านไปแถวนั้นแวะถ่ายภาพมาฝากด้วยนะครับ

HTMS Lunta
เรือหลวงลันตา (HTMS Lanta) เดิมชื่อ USS Stone County (LST-1141) เป็นเรือในชั้น LST-542 ชุดท้ายๆ เหมือนเรือหลวงพงัน เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนามกับราชนาวีอเมริกา ก่อนเข้าประจำการกองทัพเรือไทยในวันที่ 12 มีนาคม 1970 ตามโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารของอเมริกา เรือได้รับการปรับปรุงใหญ่มาอย่างพร้อมสรรพ ถ้าเดาไม่ผิดก็คงทำกันที่เกาะกวมนั่นเอง อายุอาจมากหน่อยแต่สภาพค่อนข้างดีทีเดียว


ภาพถ่ายใบนี้ผู้เขียนมีคำถามค้างคาใจ ว่าสถานที่ตรงนี้มันอยู่ตรงไหนกันล่ะหนอ เพราะมีภาพถ่ายเรือช่วยรบไทยแล่นอยู่แถวนี้จำนวนหลายใบ ไม่ว่าจะเป็นเรือบรรทุกน้ำมัน เรือกวาดทุ่นระเบิด รวมทั้งเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ เป็นจุดที่ตากล้องต่างชาติมานั่งถ่ายภาพอยู่บ่อยครั้ง


เรามาดูรายละเอียดของเรือกันบ้างนะครับ เริ่มจากการลงมาในส่วนท้องเรือซึ่งเรียกว่า Tank Deck สามารถบรรทุกรถถัง Sherman ได้จำนวน 20 คัน ที่เห็นเป็นเส้นยาวๆ ขนานด้านข้างเรือ ต้นแบบจะเป็นยางกันกระแทกเหมือนรถเก๋งนี่แหละ แต่ไม่ทราบว่าในภาพเป็นยางหรือเป็นเหล็กไปแล้ว ดูจากภาพรวมภายใน Tank Deck ค่อนข้างน่าอึดอัด ทหารบกที่เดินทางมาด้วยไม่ชอบอยู่ในนี้กันเท่าไหร่ ขอขึ้นไปผจญคลื่นลมบนดาดฟ้ายังดีเสียกว่า


ทีนี้เราขึ้นมามองจากภาพมุมสูงกันบ้าง ดาดฟ้าเรือชั้นบนสุดปรกติจะเรียกว่า Main Deck หรือ Upper Deck แต่กับเรือ LST จะเรียกว่า Weather Deck ถ้ามองดีๆ จะเห็นผ้าใบคลุมอยู่จำนวน 2 จุดด้วยกัน จุดที่อยู่หัวเรือถ้าเป็นเรือชั้น LST-1 จะเป็นลิฟท์ขนาดใหญ่หรือ Elevator Hatch บรรทุกรถจี๊ปได้ 2 คันหรือรถบรรทุกได้ 1 คัน แต่เรือชั้น LST-542 จะเปลี่ยนมาใช้สะพานลาดแบบพับเก็บได้ เรียกชื่อยาวๆ ว่า Weather-Deck to Tank-Deck Ramp Hatch
ที่เปลี่ยนมาใช้สะพานลาดเพราะแข็งแรงทนทานกว่า อายุการใช้งานมากกว่า โอกาสที่จะเสียมีน้อยกว่า และถ้าเสียก็ยังซ่อมแซมได้ง่ายกว่า จุดที่มีผ้าใบคลุมหน้าสะพานเดินเรือเรียกว่า Cargo Hatch ลิฟท์ลำเลียงยุทโธปกรณ์นั่นแหละครับ อุปกรณ์ทั้งสองชิ้นนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่า มากับเรือทั้ง 5 ลำของเราครบถ้วนหรือไม่ หรืออาจเสียหายระหว่างการใช้งานในภายหลัง เพราะถ้าไปดูบนเรือหลวงพงันกับเรือหลวงลันตาจะไม่มีแล้ว


เข้าสู่ปี 200x เรือหลวงลันตาซึ่งเปลี่ยนมาใช้หมายเลข LST 714 ก็เข้าอีหรอบเดิม คือจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้ากรมอู่ทหารเรือ โดยมีการถอดอุปกรณ์สื่อสารบางส่วนออกไป ต้องเข้าใจนะครับว่าเรือใกล้ปลดประจำการ การดูแลให้มีสภาพเหมือนเดิมไม่คุ้มค่าแล้ว กองทัพเรือมีเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่แล้ว และความจำเป็นของเรือประเภทนี้น้อยลงแล้ว เรือหลวงลันตามีสภาพสมบรูณ์เป็นอันดับหนึ่ง ถ้าได้เห็นเรือหลวงช้างหรือเรือหลวงพระทองอาจร้องไห้ได้
เรือหลวงลันตาปลดประจำการวันที่ 30 เมษายน 2007 ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2009 เรือได้เดินทางมายังท่าเทียบเรือท่องเที่ยวคลองจิหลาด ปากแม่น้ำกระบี่ เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เรือหลวงลันตาและศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา ให้ยิ่งใหญ่อลังการเป็นจุดท่องเที่ยวของจังหวัดสืบไป

ผู้อ่านคงเคยเห็นพิพิธภัณฑ์เรือจำนวนมาก สงสัยบ้างไหมครับว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ผมมีข้อมูลของจังหวัดกระบี่จะมานำเสมอ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรือประกอบไปด้วย
1 การถอดและติดตั้งอุปกรณ์ประจำเรือ การนำเรือเข้าอู่เพื่อซ่อมบำรุง การปรับปรุงตัวเรือ การทาสีเรือใหม่ทั้งหมด ใช้เงิน 14,858,692 บาท
2 การลากจูงจากท่าเรือกรมอู่ทหารเรือจังหวัดสมุทรปราการ มาทางทะเลอ่าวไทยผ่านช่องแคบมะละกา และทะเลอันดามันสู่จังหวัดกระบี่ ใช้เงิน 5,885,000 บาท
3 การนำเรือขึ้นมาวางบนบก การขุดลอกร่องน้ำ รื้อแนวเขื่อนป้องกันคลื่นและถนนริมชายฝั่งของเดิมออก ก่อสร้างฐานรองรับตัวเรือ ปรับปรุงสภาพดินและไอ้โน่นไอ้นี่ ใช้เงิน 19.9 ล้านบาท
4 การปรับปรุงเรือหลวงลันตาภายนอกตัวเรือเพิ่มเติม ใช้เงิน 30.75 ล้านบาท
5 การปรับปรุงเรือหลวงลันตาภายในตัวเรือเพิ่มเติม ใช้เงิน 22 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงในส่วนพื้นที่รอบๆ ตัวเรือ สร้างสระน้ำ โถงทางเดิน อาคารอเนกประสงค์ และไอ้โน่นไอ้นั่นไอ้นี่ รวมๆ กันอีก 18.2 ล้านบาท ค่าก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เรือหลวงลันตาและอุทยานการเรียนรู้ฝั่งทะเล อันดามันเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา อีก 64 ล้านบาท ไม่รวมรายจ่ายจุกจิกซึ่งมีเยอะจนนับกันไม่ไหว จะเห็นได้ว่ากระบี่ใช้งบประมาณแบบจัดเต็ม แต่ความอลังการยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะมีไอเทมลับสุดยอดเข้ามาเพิ่มเติมด้วย
ก่อนไปดูไอเทมลับมาเยี่ยมชมสะพานเดินเรือสักนัด ในภาพเห็นหอตรวจการณ์แบบแปดเหลี่ยมเต็มอย่างชัดเจน เรือหลวงลันตาได้รับการปรับปรุงตั้งแต่สัญชาติอเมริกา ส่วนเรือหลวงพงันได้รับการปรับปรุงเพราะไปเวียดนาม เรืออีก 3 ลำไม่ได้ปรับปรุงเพราะอยู่แต่ในประเทศ ต่างกรรมต่างวาระตามนี้แหละครับ


  และนี่ก็คือภาพวาดเรือหลวงลันตาปี 2016 เมื่อถอดเครนใหญ่ออกไปเล่นวอลเลย์บอลกันได้เลย แม้ว่าจังหวัดกระบี่จะทุ่มทุนจำนวนมหาศาล ในการสร้างพิพิธภัณฑ์เรือหลวงลันตาให้ใหญ่โตและโดดเด่น แต่พวกเขาประสบปัญหาเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน จนทำให้โครงการต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว
                วันที่ 3 กรกฎาคม 2012 ระหว่างซ่อมแซมภายในตัวเรืออยู่นั้น สะเก็ดไฟได้กระเด็นไปโดนท่อน้ำมัน ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โชคดีที่สามารถควบคุมเพลิงได้ทันเวลา ไม่มีผู้บาดเจ็บและมีความเสียหายเล็กน้อย
                ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2013 เกิดไฟไหม้บนเรือหลวงลันตาครั้งที่สอง คราวนี้ต้นเพลิงมาจากห้องครัวที่อยู่ท้ายเรือ มีการระดมรถดับเพลิงมาฉีดน้ำสกัดจากด้านนอกเรือ และต้องรอให้หมดควันถึงจะสำรวจความเสียหายได้ สาเหตุคาดว่าเกิดจากการทาสีเรือใหม่??? ไม่มีผู้บาดเจ็บแต่ต้องซ่อมแซมไฟไหม้อีกเยอะเลย


                ทีนี้เรามาดูไอเทมลับกันบ้าง นอกจากเรือหลวงลันตาแล้วยังมีเครื่องบิน A-7 Corsair II อีกหนึ่งลำ ติดตั้งจรวดต่อต้านเรดาร์ AGM-88 HARM จำนวน 2 นัดใต้ปีก เฉพาะค่าซ่อมแซมเครื่องบินโดนไปแล้ว 7.8 ล้านบาท ผู้เขียนไม่กล้านับรวมว่าทั้งโครงการใช้เงินเท่าไหร่ การสร้างพิพิธภัณฑ์เรือไม่ใช่แค่ขนเรือไปตั้งไว้เฉยๆ แต่มีค่าใช้จ่ายตรงนั้นตรงนี้จำนวนมหาศาล จังหวัดไหนอยากได้เรือหลวงพุทธไปทำพิพิธภัณฑ์คิดมากๆ นะครับ เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน (ฮา)

HTMS Prathong
            ในที่สุดก็มาถึงเรือลำสุดท้าย เรือหลวงพระทองเดิมชื่อว่าเรือ USS Dodge County (LST-722) มีประสบการณ์แปลกว่าชาวบ้านชาวช่อง คือเคยเข้าร่วมวิกฤตคิวบาที่เกือบกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ประจำการทัพเรือไทยวันที่ 1 พฤศจิกายน 1978 มีอายุการใช้งาน 31 ปีเข้าไปแล้ว บังเอิญมีภาพขนาดใหญ่จำนวน 2 ภาพ ผู้เขียนจึงนำมาให้ชมแบบไม่ลดขนาด


                ภาพถ่ายจากปี 1981 ครับ เรือยังใช้หมายเลข LST-5 เหมือนสมัยก่อน เห็นหอตรวจการณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมเล็กอย่างชัดเจน บนหลังคามีไฟฉายขนาดใหญ่ ตัว น่าจะกำลังซ้อมรบเพราะเรือระบายพล LCVP ไม่อยู่เสียแล้ว อาวุธปืนและเรดาร์ควบคุมการยิงอยู่กันครบ ติดเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่ ตัว จะเห็นได้ว่าเครนใหญ่ตั้งอยู่พอดีกับลิฟท์ขนของ (และสะพานขึ้นเรือ) ใช้ลำเลียงยุทโธปกรณ์ขึ้นลงจากเรือได้อย่างสะดวก เมื่อนำมาวาดภาพจะได้รายละเอียดตามนี้

                

                เรือหลวงพระทองมีโอกาสเข้าร่วมการฝึกซ้อมบ่อยครั้ง รวมทั้งกับกองเรืออเมริกาที่แวะเวียนมาร่วมฝึกกับเรา จะเห็นเฮลิคอปเตอร์เข้าร่วมการฝึกซ้อมด้วย ภาพสวยๆ แบบนี้หาได้ค่อนข้างยากมาก เปลี่ยนมาใช้หมายเลข LST-715 แล้วน่าจะประมาณปี 199x ขึ้นไปละครับ เมื่อเรือมีสภาพทรุดโทรมลงจึงได้ปลดประจำการแบบเงียบๆ
                ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2014 เรือพระทองได้ถูกนำไปวางใต้ท้องทะเล เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดพังงา โดยกำหนดให้วางเรือที่กองปลาเหลืองใกล้กับเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ภายใต้การคุ้มกันอย่างแน่นหนาจากเรือหลวงปัตตานี พร้อมกับเรือลำเล็กลำน้อยอีกจำนวนหนึ่ง


แต่การจมมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น เพราะท้ายเรือจมก่อนหัวเรือไม่ตรงตามแผน และทำให้เรือลงไปนอนตะแคงอยู่บนพื้นทราย อีกทั้งยังจมลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ตั้งใจ เป็นจุดให้นักดำน้ำมาเที่ยวชมไม่ได้เพราะอันตรายเกินไป รวมทั้งตัวเรือจะคงสภาพได้ไม่เกิน 10-15 ปี ผู้เขียนไม่ทราบเหมือนกันว่ามีการแก้ไขหรือยัง นี่เป็นปัญหาสำคัญที่เคยเกิดขึ้นกับเรือหลายลำ ในอนาคตถ้าจะมีเพิ่มเติมควรวางแผนให้รอบคอบกว่านี้ รวมทั้งใช้งบประมาณมากเพียงพอจะได้ไม่เกิดปัญหา

สรุปส่งท้าย
เรือชั้น LST-542 เป็นเรือช่วยรบที่อเนกประสงค์ที่สุดในโลก นอกจากรับใช้ภารกิจมากมายกับราชนาวีไทย ครั้นปลดประจำการยังทำหน้าที่อื่นต่อได้ด้วยแล้วนั้น กับประเทศอื่นๆ ก็มีความอเนกประสงค์ไม่แพ้กัน เรือบางลำแบกเรือระบายพล LCVP ไปด้วยถึง 6 ลำ บางลำแบกเรือระบายพลขนาดใหญ่ LCT (Landing Craft Tank) ระวางขับน้ำ 535 ตัน บางลำก็ติดปืนใหญ่ขนาด 3 นิ้ว บางลำติดจรวดไม่นำวิถีสำหรับถล่มภาคพื้นดิน บางลำมีเครื่องบินทะเล 2 ลำพร้อมกว้านชักรอก
บางลำกลายร่างเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก ด้วยการสร้างลานบินรองรับอากาศยานจำนวน 8 ลำ และเมื่อเฮลิคอปเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เรือหลายลำถูกปรับปรุงเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ กราบซ้ายขวาของเรือสามารถแบกแพขนานยนต์ไปด้วยกันได้ เป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กก็ยังได้
ผู้เขียนขอตั้งสโลแกนให้กับเรือชั้น LST-542 ว่า เป็นทุกอย่างให้คุณแล้ว
สำหรับประเทศไทยมีความสำคัญอยู่อีกหนึ่งเรื่อง ถือเป็นสถิติตลอดกาลที่ไม่มีใครล้มได้ นั่นคือเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีมากถึง 5 ลำด้วยกัน เราไม่เคยมีเรือใหญ่ชั้นเดียวกันจำนวนมากเท่านี้ ส่วนในอนาคตเมื่อผู้เขียนได้ลองจับยามสามตา ขอใช้ความว่า ไม่มีวันนั้นอีกแล้ว น่าจะเหมาะสมที่สุด
เรื่องราวของเรือชั้น LST-542 ได้จบสิ้นแล้ว แต่เรื่องราวของเรือยกพลขึ้นบกนั้นยังไม่จบ ทั้งเรือที่ประจำการในปัจจุบันและเรือที่จะจัดหาในอนาคต ผู้เขียนขอยกยอดไปเป็นตอนหน้าเช่นเคย ส่วนวันนี้ขอลาไปก่อนสวัสดีครับ J


                เรือหลวงอ่างทองหนึ่งในจตุรเทพยุคสงครามเย็น อดีตที่ไม่หวนกลับของกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธการ


อ้างอิงจาก

นิตยสารสมรภูมิ
เอกสารดาวน์โหลด : Landing Ship, Tank (LST) 1942-2002
เอกสารดาวน์โหลด : รายงานผลการดำเนินงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ประจำปีงบประมาณ 2558