วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Type 053HT Class Mid-Life Upgrade Program


                            โครงการปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยาและเรือหลวงบางปะกง

กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ มีกำลังรบหลักเป็นเรือฟริเกตจำนวน 6 ลำประกอบไปด้วย เรือหลวงเจ้าพระยา ประจำการ 5 เมษายน 1991 เรือหลวงบางปะกง ประจำการ 20 กรกฎาคม 1991 เรือหลวงกระบุรี ประจำการ 16 มกราคม 1992 เรือหลวงสายบุรี ประจำการ 4 สิงหาคม 1992 เรือหลวงนเรศวร ประจำการ 15 ธันวาคม 1994 และเรือหลวงตากสิน ประจำการ 28 กันยายน 1995 ตามลำดับ เป็นกองเรือฟริเกตดีที่สุดของเราในเวลานั้น
วันเวลาผ่านพ้นมาประมาณ 20 ปี เรือรบทุกลำเริ่มล้าสมัยไปตามกาลเวลา จึงได้มีการปรับปรุงใหญ่เรือให้ทันสมัยกว่าเดิม เรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรีซึ่งติดระบบอาวุธจีนทั้งลำ ได้รับการปรับปรุงด้วยระบบอาวุธใหม่จากจีนทั้งลำ เรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงตากสินซึ่งติดระบบอาวุธจีนผสมตะวันตก ได้รับการปรับปรุงด้วยระบบอาวุธใหม่จากตะวันตกทั้งลำ ส่วนเรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงซึ่งมีอายุมากที่สุด ยังมีแค่เพียงการปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ
วันเวลาผ่านพ้นมาอีกไม่กี่ปี ศิษย์พี่ใหญ่ที่ถูกโลกลืมทั้งสองลำ ได้กลับมาเป็นคนดังในข่าวเด่นอีกครั้งหนึ่ง บทความนี้เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับปรุงเรือ ทั้งแบบที่ดูสมจริงสมจัง (Real Design) และแบบอาจจะเป็นไปได้ก็ได้ (What If) ผู้เขียนเคยเขียนถึงเรือหลวงเจ้าพระยาเมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้มีอรรถรสมากขึ้นแวะเข้าไปอ่านได้ครับ à   เรดาร์ที่หายไป
เรือหลวงเจ้าพระยามีระวางขับน้ำปกติ 1,676 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,924 ตัน ยาว 102.87 เมตร กว้าง 11.36 เมตร กินน้ำลึก 3.1 เมตร ระบบขับเคลื่อน CODAD เครื่องจักรดีเซลจำนวน 4 เครื่อง ความเร็วสูงสุด 30 นอต ระยะทำการ 3,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต ไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือ เรายังมีความจำเป็นต้องใช้เรือฟริเกต ขณะที่งบประมาณก้อนโตนำไปจัดซื้อเรือดำน้ำ การปรับปรุงเรือให้ใช้งานได้อีก 15-20 ปี เป็นทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าซื้อเรือใหม่
การปรับปรุงเรือถ้ามีนะครับ เพื่อให้กำลังพลก้าวทันเทคโนโลยีรุ่นใหม่ รองรับภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ดีกว่าเดิม เรือมีงานหนักพอตัวอันประกอบไปด้วย ปฏิบัติการรบผิวน้ำ (Anti-Surface Warfare หรือ ASuW) การปราบเรือดำน้ำ (Anti-Submarine Warfare หรือ ASW) รวมทั้งการป้องกันภัยทางอากาศ (Anti- Air Warfare หรือ AAW) นอกจากนี้ยังได้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เข้าประจำการฝั่งทะเลอันดามันอีกหนึ่งงาน
ชมภาพเรือทั้งสองลำในปัจจุบันกันหน่อย เรือหลวงเจ้าพระยาหมายเลข 455 เรดาร์ตรวจการณ์ Type 354 Eye Shield หายไปจากยอดเสากระโดง มีกล้องตรวจการณ์ MX-10MS ติดตั้งแทน มีเรดาร์เดินเรือ 3 ตัว SATCOM 2 ใบ ขนาดเล็กกับใหญ่อย่างละหนึ่งใบ เปลี่ยนมาใช้เรือยางท้องแข็งพร้อมเครนทั้งสองกราบเรือ ขณะที่เรือหลวงบางปะกงหมายเลข 456 เพิ่งซ่อมบำรุงเสร็จไปไม่นาน มีเรดาร์ตรวจการณ์ Type 354 Eye Shield มี SATCOM ใบเล็กหนึ่งใบ และมีเรดาร์เดินเรือ 3 ตัวเท่ากัน


ถ้าปรับปรุงจะต้องทำอย่างไร ง่ายสุดก็คือทำเหมือนเรือหลวงกระบุรี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เฟสด้วยกัน เฟสแรกติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์รุ่น SR 60A พร้อมระบบพิสูจน์ฝ่าย ปรับปรุงปืนใหญ่ 100 มม.แท่นคู่เป็นรุ่น JRNG-5 พร้อมป้อมปืนรุ่นใหม่ ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่น TR 47C ติดตั้งระบบอำนวยการรบแบบ Poseidon 3 เฟสที่สองเปลี่ยนปืนต่อสู้อากาศยาน 37 มม.แท่นคู่รุ่น JRNG-3 ควบคุมอัตโนมัติไม่ต้องมีพลปืนที่แท่นยิง ติดตั้งระบบควบคุมการยิงแบบ Optical รุ่น JPT46 TDS เฟสที่สามติดตั้งระบบ ESMรุ่น ES-3601 ใช้ในตรวจจับการแพร่คลื่นเรดาร์ รวมทั้งจัดหาอาวุธนำวิธี C-802A ทดแทนของเดิม
มูลค่ารวมปรับปรุงเรือ 2 ลำเท่ากับ 1,682,503,000 ล้านบาท อาวุธนำวิถี C-802A ไม่ทราบจำนวน 1,682,503,000 ล้านบาท ยอดรวมเท่ากับ 3,084,882,900 ล้านบาท หรือลำละ 1,542,441,450 ล้านบาท ราคานี้ไม่รวมระบบ ESM ที่จัดหาเพิ่มเติม ข้อแตกต่างของการปรับปรุงครั้งนี้ก็คือ ค่าเงินเฟ้อสูงกว่าเดิม ราคาอาวุธสูงกว่าเดิม เรือหลวงเจ้าพระยามีปืนใหญ่ 100 มม.จำนวน 2 กระบอก ตามข่าวเห็นว่าจะไม่เปลี่ยนป้อมปืน เพื่อลดราคาลงมาบ้างกระมังครับ ฉะนั้นถ้าเลือกเส้นทางนี้ (ซึ่งก็น่าจะใช่ 98 เปอร์เซ็นต์) ราคาปรับปรุงเรือต่อลำประมาณ 1,800 ล้านบาทขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วเสร็จจะมีหน้าตาประมาณนี้


ผู้เขียนวาดภาพเรือขึ้นมาเอง ฉะนั้นสเกลอาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แค่ใช้ดูประกอบบทความให้พอเข้าใจตรงกัน ถ้าปรับปรุงเรือตามนี้ใช้อาวุธแบบนี้ บทความนี้ก็คงสิ้นสุดแต่เพียงเท่านั้น บังเอิญว่าต่อมมโนทำงานผิดปรกติ เสนอแนวคิดปรับปรุงเรือด้วยระบบอาวุธจากตะวันตก เป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่พรรคการเมืองเพิ่มเติมขึ้นมา เผื่อไปสะกิดต่อมโดนใจท่านผู้ใหญ่ในกองทัพ และเพื่อไม่ให้มี What If ใน What If ซ้ำซ้อนมากเกินไป ผู้เขียนขอกำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.ระบบเรดาร์และอาวุธทั้งหมดต้องเป็นของใหม่เท่านั้น ไม่ไปหยิบยืมจากเรือลำนั้นลำโน้นหรือลำนี้
2.ระบบเรดาร์และอาวุธจะต้องมีประจำการในกองทัพเรือ หรือซื้อมาแล้วได้ของแล้วแต่ยังไม่ได้ประจำการ อุปกรณ์ที่ต้องใช้อาจเป็นรุ่นที่ใกล้เคียงกัน หรือรุ่นเดียวกันแต่คนล่ะผู้ผลิตก็พอได้ แต่ประเภทที่ว่าไม่เหมือนกันเลยต้องขอผ่าน
3.ระบบอำนวยการรบเหมือนเรือหลวงนเรศวรและท่าจีน นั่นหมายถึงระบบเรดาร์จะต้องเป็น SAAB อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้เขียนนี่แฟนพันธ์แท้ Signaal เชียวนะ น้ำตาไหลพรากเปียกโน้ตบุ๊กไปหมด
4.ปรับปรุงตัวเรือให้น้อยที่สุด เอาเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ผู้เขียนขอข้ามการติดตั้งลานจอดเฮลิคอปเตอร์แบบเรือหลวงกระบุรี และอยากแสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่าง เรือหลวงกระบุรีมีครีบกันโคลงมากถึง 4 ตัว ขณะที่เรือหลวงเจ้าพระยามีแค่เพียง 2 ตัวกะจิ๋วหลิว ยังไม่นับความแตกต่างภายในตัวเรือ (ซึ่งไม่มีใครทราบนอกจากลูกเรือ) งานนี้ยากเกินไปขอผ่านไปเลย

5.การติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ จะไม่ใช้จุดที่เคยติดตั้งอาวุธนำวิถี C-801 เพราะมีตู้ระบบระบายอากาศ (หรือเปล่า?) ตั้งขวางทาง ติดตั้งตรงข้ามกับแท่นยิงสองกราบเรือไม่ตรงกัน เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ผู้เขียนไม่มีความรู้เลย ฉะนั้นขอเลือกจุดที่เป็นไปได้มากที่สุด นั่นก็คือจุดติดตั้งปืนกลต่อสู้อากาศยานท้ายเรือ ได้อย่างเสียอย่างครับงานนี้


เข้าใจตรงกันแล้วเราก็ไปกันต่อเลย เริ่มกันจากแบบเรือที่ 1 หรือ V1 เรามีงบประมาณปรับปรุงเรือค่อนข้างจำกัด แต่ต้องการเน้นภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ จึงได้ตัดระบบอาวุธการปราบเรือดำน้ำออก จะมีหน้าตาเรือประมาณนี้


อธิบายจากหัวเรือมาท้ายเรือนะครับ ระบบโซนาร์ SJD-3A ระยะทำการ 7.4 กิโลเมตร กับจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 ระยะยิง 1,200 เมตร ถูกถอดออกเพราะใช้ร่วมกับระบบตะวันตกไม่ได้ แต่ถ้าใช้ร่วมกันได้และระบบอาวุธยังใช้งานได้ อยากใส่ไว้กันเหนียวอันนี้ไม่ว่ากัน ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.รุ่น Rebuilt แบบเดียวกับเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงแหลมสิงห์ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ราคาปืนถูกลงมา ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mk2 ขนาด 30 มม.จำนวน 2 กระบอก
ปืนใหญ่ 76/62 มม.ผู้เขียนตั้งบนแท่นยกสูงกว่าเดิม เพื่อให้ปืนมีมุมยิงดีกว่าเดิมเท่านั้นเอง (หัวเรือสูงๆ จะได้ไม่บัง) ปรกติปืนใหญ่ 100 มม.ของจีนมีคลังกระสุนใต้ดาดฟ้าเรืออยู่แล้ว ถ้าชอบรถกระบะโหลดก็ติดได้เลยไม่ว่ากัน

ไล่กันต่อกันไปเลย ระบบอำนวยการรบ 9LV เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 รุ่นปรกติ ออปโทรนิกควบคุมการยิง EOS500 เรดาร์เดินเรือ 3 ตัว เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB ระบบ ESM รุ่น ES-3601 ระบบเป้าลวงอาวุธนำวิถี DLT-12T ขนาด 12 ท่อยิง อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ RGM-84L Harpoon Block II จำนวน 8 นัด พื้นที่ว่างตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ไว้เลย เพียงแต่ไม่รู้จุดไหนตั้งได้ตั้งไม่ได้ จุดไหนตั้งแล้วถ่วงเรือได้ดีกว่ากัน จึงขอโชว์ทั้งสองจุดให้เห็นภาพ
ท้ายเรือถอดปืนใหญ่ปืนกลออกทั้งหมด ติดตั้งแท่นยิง MK29 สำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 8 นัด พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 รุ่นนำวิถีได้ กองทัพเรือไทยไม่มีแท่นยิง MK29 แต่มีแท่นยิง Albatross สำหรับจรวด Aspide ซึ่งอิตาลีซื้อลิขสิทธิ์แท่นยิง MK29 ไปจากอเมริกา หน้าตาเหมือนกันหมดพอกล้อมแกล้มได้ เรามักคุ้นเคยกับระบบแท่นยิงแนวดิ่ง MK41 แต่เรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกาใช้งานแท่นยิง MK29 กับ ESSM ฉะนั้นมันก็ใช้งานได้แหละครับ
ข้อดีของแบบเรือ V1 ก็คือ ได้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะยิง 40-50 กิโลเมตร ระบบอาวุธมาตรฐานกองทัพเรือไทยทั้งหมด ข้อเสียก็คือ จุดติดตั้งปืนกลท้ายเรืออยู่ในรัศมีไอพ่นท้ายจรวด ต้องปล่อยโล่งๆ ไว้แบบนั้นแหละ ติดปืนกล 12.7 มม.กันเหนียวท้ายเรือสัก 2 กระบอก จุดสังเกตอีกเรื่องหนึ่งก็คือ แท่นยิงพร้อม ESSM จำนวน 8 นัดมีน้ำหนักเกือบ 7 ตัน ถ้าจะติดจริงๆ ต้องปรับปรุงพอสมควร แต่จุดนี้เป็นจุดติดตั้งที่เหมาะสมที่สุด เราจะได้พื้นที่อเนกประสงค์ตามความต้องการ


ที่ผู้เขียนปล่อยพื้นที่ท้ายเรือโล่งๆ ไว้ เพราะต้องการสนับสนุนภารกิจด้านอื่นเพิ่ม ที่สำคัญก็คือภารกิจสนับสนุนการลำลายทุ่นระเบิด มีการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มเติมอีก 2 ตู้ (ตรงที่เดิมของปืนใหญ่ 100 มม.) ท้ายเรือเป็นจุดใช้งานอุปกรณ์ทั้งหลายทั้งปวง ขนอะไรมาได้พ่อก็ขนมากันได้เลย ภารกิจต่อไปคือสนับสนุนการวางทุ่นระเบิด ในภาพคือบรรทุกทุ่นระเบิดต่อต้านเรือดำน้ำแบบล่องหนไว้บนราง จัดการปิดตายช่องแคบมะละกามันเสียเลย เรือดำน้ำของเขาเข้าออกกันไม่ได้ เรือดำน้ำของเราก็เข้าออกไม่ได้ เพราะทุ่นระเบิดมันล่องหนหาไม่เจอเสียที ใครมีปัญหาให้บอกว่าผมเพื่อนตุ้ม
มาดูแบบเรือ V2 กันต่อเลยนะครับ คราวนี้เรามีงบประมาณมากเพียงพอ ต้องการอาวุธทันสมัยทำการรบได้ทั้ง 3 มิติ ติดตั้งระบบโซนาร์หัวเรือพร้อมตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ โยไม่สนใจเรื่องพื้นที่เอนกประสงค์ รูปร่างหน้าตาประมาณนี้ครับ


หัวเรือติดตั้งโซนาร์ DSQS-24C ปืนใหญ่ 76/62 มม.เปลี่ยนมาเป็นของใหม่ยิงได้ 120 นัด/นาที ติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดแฝดสามจำนวน 2 แท่นยิง แท่นยิง MK29 สำหรับ ESSM ย้ายลงไปอยู่ด้านล่างท้ายเรือ ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mk2 กระบอกที่สาม ติดตั้งระบบเป้าลวงตอร์ปิโด MK137 ชนิด 6 ท่อยิงด้านท้ายเรือ มีปืนกล 12.7 มม.กลางลำเรือด้วยลืมไป
จุดสังเกตเรื่องหนึ่งก็คือ ท้ายเรือมีห้องอะไรไม่ทราบมีประตูเปิดปิดขวางอยู่ ผู้เขียนยกพื้นแท่นยิง MK29 เล็กน้อยเพื่อให้จรวดบินข้ามหัว ตอนบรรจุลูกจรวดต้องใช้คนตัวสูงหน่อย เตี้ยๆ ไล่ไปอยู่ข้างหลังไม่ว่ากันนะ
โซนาร์ DSQS-24C หรือ ASO-94 พัฒนาปรับปรุงจากโซนาร์ DSQS-23B หรือ ASO-90 ซึ่งมีใช้งานบนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น F-123 ของเยอรมัน ทำงานในย่านความถี่ปานกลาง ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ที่ความถี่ 6 ถึง 9 KHz และโหมด Passive ที่ความถี่ 1 ถึง 11 KHz ตรวจจับได้ทั้งเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ หรือวัตถุขนาดเล็ก ได้แก่ ยานใต้น้ำไร้คนขับ หรือทุ่นระเบิด สามารถแจ้งเตือนภัยเมื่อตรวจพบตอร์ปิโด รวมทั้งใช้สื่อสารกับเรือดำน้ำฝ่ายเดียวกัน ส่งความถี่ได้ไกลสุด 40 กิโลเมตร โดยมีระยะตรวจจับหวังผลอยู่ที่ 15 กิโลเมตร มากกว่านี้ก็พอได้แล้วแต่ชนิดของเป้า
แบบเรือ V2 มีอาวุธทันสมัยเต็มลำ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องราคาขึ้นมา อยากรู้อยากเห็นอะไรประมาณนี้ รายละเอียดเท่าที่พอหาข้อมูลได้ ปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid กระบอกละ 370 ล้านบาท กระสุนหัวระเบิด HE ลูกละ 39,000 บาท กระสุนต่อระยะ Vocalno ลูกละ 678,193.81 บาท ปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mk2 ซื้อในปี 2014 กระบอกล่ะ 60 ล้านบาท ซื้อในปี 2017 กระบอกละ 75 ล้านบาท กระสุน 30 มม.ลูกละ 5,350.92 บาท กระสุนซ้อมเห็นว่าจะผลิตเองในประเทศ
ปี 2017 กองทัพเรือไทยซื้อจรวด RGM-84L Harpoon Block II จำนวน 5 นัด พร้อมจรวดฝึกซ้อมอีก 1 นัด รวมอุปกรณ์จัดเก็บ อะไหล่ การอบรมพวกนี้เข้าไปด้วยในราคา 24.9 ล้านเหรียญ ผู้เขียนขอมั่วตัดให้เฉพาะจรวด 5 นัดราคา 20 ล้านเหรียญ เท่ากับนัดล่ะ 4 ล้านเหรียญหรือ 133.37 ล้านบาท ซื้อน้อยย่อมจ่ายหนักแบบนี้หรือเปล่า
ปี 2015 กองทัพเรือไทยซื้อจรวด ESSM จำนวน 16 นัด พร้อมกล่อง Mk25 จำนวน 3 กล่อง (ไว้ใส่ในแท่นยิง Mk41 เพื่อยิงจรวด) และอุปกรณ์จัดเก็บในราคา 26.943 ล้านเหรียญ ผู้เขียนขอมั่วตัดให้เฉพาะจรวด 16 นัดมีราคา 20 ล้านเหรียญ เท่ากับนัดล่ะ 1.25 ล้านเหรียญหรือ 41.68 ล้านบาท ขอย้ำอีกทีว่าราคานี้มั่วมาก ใช้ประกอบบทความนี้เท่านั้น
หันมาดูตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำกันบ้าง ผู้อ่านคงรู้จัก MU90 ตอร์ปิโดที่ทันสมัยที่สุดของค่ายตะวันตก ปี 2012 ฝรั่งเศสซื้อ MU90 จำนวนมากในวงเงินลูกละ 2.1 ล้านเหรียญ เก็บตัวเลขนี้ไว้เป็นตัวตั้งก่อนนะครับ แล้วไปดูตอร์ปิโดที่เราจะใช้งานกันต่อ เดือนที่แล้วเนเธอร์แลนด์สั่งซื้อตอร์ปิโด Mk54 เฉพาะชุดคิท เพื่อนำไปปรับปรุงตอร์ปิโด Mk46 ให้เป็นรุ่นใหม่ สั่งซื้อทั้งหมด 109 ชุดคิทเป็นเงินถึง 169 ล้านเหรียญ เท่ากับชุดคิทละ 1.594 ล้านเหรียญ แต่ด้วยกฎข้อที่ 1 ต้องจัดซื้อใหม่เท่านั้น ผู้เขียนนำมาวิเคราะห์กับ MU90 แล้วขอมั่วราคาไปที่ลูกละ 2 ล้านเหรียญหรือ 66.68 ล้านบาท
เห็นราคาอาวุธแล้วปวดขมับยังครับยังไม่หมด โครงการปรับปรุงเรือหลวงนเรศวรเฟส 3 เราสั่งซื้อ โซนาร์ DSQS-24C กับปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mk2 สำหรับเรือจำนวน 2 ลำในวงเงิน 810 ล้านบาท หักค่าปืนจำนวน 4 กระบอกเท่ากับ 240 ล้านบาท โซนาร์ 2 ตัวราคา 570 ล้านบาท โซนาร์ 1 ตัวราคา 285 ล้านบาท ผู้เขียนใจถึงเพิ่มให้เป็น 300 ล้านบาท
มีผู้อ่านเขียนจดหมายมาต่อว่า ขอถามราคาอาวุธอื่นสักนิดได้ไหม เอาแค่จรวด SM-2 กับ RAM และ Aspide ก็พอ ผู้เขียนใจดีรีบจัดให้ตามคำขอ เดือนที่แล้วเดนมาร์คขอซื้อ SM-2 Block IIIA จำนวน 46 นัดในราคา 152 ล้านเหรียญ เท่ากับนัดละ 3.30 ล้านเหรียญหรือ 110 ล้านบาท ในปี 2013 กองทัพเรือไทยซื้อจรวด Aspide จำนวน 10 นัดในราคา 256 ล้านบาท เท่ากับนัดละ 25.6 ล้านบาทไม่ขาดไม่เกิน คงตั้งใช้จรวด 10 ลูกนี้ไปจนเรือปลดประจำการนั่นเอง
มาที่สุดยอดขวัญใจมหาชนกันบ้าง ปี 2016 กาตาร์ขอซื้อจรวด RIM-116C Rolling Airframe Missile จำนวน 252 นัดในวงเงิน 260 ล้านเหรียญ เท่ากับนัดละ 1.03 ล้านเหรียญหรือ 34.34 ล้านบาท (ใครอยากติด 21 นัดบวกราคาเองนะครับ) อีทีนี้ RAM Block II ต้องมีราคาแพงกว่าอยู่แล้ว และ RAM Block II ยิงด้วยท่อ VLS ได้ก็จะแพงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังต้องซื้อกล่อง ExLS เพื่อใส่ในท่อยิง Mk41 ด้วย ราคารวมเท่าไหร่ไม่กล้าคาดเดา หวังว่าจะไม่แซงหน้า ESSM ก็แล้วกัน


เรามาดูแบบเรือ V3 กันต่อนะ แบบเรือสุดท้ายเน้นภารกิจปราบเรือดำน้ำ นับเป็นแบบเรือ V2 รุ่นประหยัดก็เห็นจะไม่ผิด ใช้ปืนใหญ่ 76/62 มม.รุ่น Rebuilt ปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mk2 หัวเรือติดแค่เพียง 1 กระบอก โดยติดตรงกลางเลื่อนมาข้างหน้าประมาณ 1 เมตร (ตรงที่ติดปืนยิงสลุตนั่นแหละครับ) เพื่อให้มีมุมยิงกว้างกว่าเดิม และหลบช่องทางขึ้นลงฉุกเฉินของเรือ ออปโทรนิกควบคุมการยิง EOS500 ถูกโยกไปไว้ด้านหลัง ไม่มีแท่นยิง MK29 กับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ให้ใช้แบบประทับบ่ายิงก็แล้วกัน (แบกขึ้นเรือกันเหนียวสัก 2 กล่อง อยากยิงตรงไหนของเรือก็ตามสะดวก) มีพื้นที่อเนกประสงค์ท้ายเรือเหมือนเดิม บังเอิญกองทัพเรือยังไม่มีอากาศยานไร้คนขับ ผู้เขียนก็เลยไม่ได้กล่าวถึงในท้องเรื่อง
ผู้อ่านท่านเดิมเขียนมาต่อว่าอีกแล้ว เราก็หนึ่งในตองอูหาใช่ไก่กาที่ไหน ขอแบบว่าติดอาวุธล้นลำเรือไม่ได้หรืออย่างไร ผู้เขียนใจดีจัดให้ตามคำขอเช่นเคย โดยใช้แบบเรือ V2 เป็นตัวตั้ง ติดเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง Sea Giraffe 4A เข้าไปกลางลำ เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 ที่หัวเรือนำวิถีได้แล้ว ฉะนั้นเรือลำนี้ควบคุมปืน 4 กระบอกได้ใน 3 ทิศทาง ควบคุมจรวด ESSM ได้ 2 ทิศทางๆ ละ 2 นัด รวมทั้งแบก Harpoon Block II ไปด้วย 16 นัด คนไหนใจดีคิดราคารวมให้ผู้เขียนที

ถึงตรงนี้ผู้อ่านบางท่านอาจคิดในใจ โอ้ย! ไม่มีใครเขาทำกันหรอก ปรับปรุงเรืออายุ 27 ขวบปีไม่คุ้มสักนิด ผู้เขียนขอพาสมาชิกขึ้นรถไฟล่องใต้ ไปยังดินแดนเสือเหลืองปลายสุดด้ามขวาน ในปี 1983 กองทัพเรือมาเลเซียประจำการเรือคอร์เวตชั้น Kasturi ซื้อจากเยอรมันจำนวน 2 ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,850 ตัน ยาว 98 เมตร กว้าง 11.5 เมตร กินน้ำลึก 3.5 เมตร เล็กกว่าเรือหลวงเจ้าพระยาของเราแค่สองฝ่ามือ อายุมากกว่า 8 ปีและมีแบบเรือทันสมัยกว่า
เรือทั้งสองลำปรับปรุงใหญ่แล้วเสร็จในปี 2014 ปืนใหญ่ 100 มม.หัวเรือถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่กล 57 มม.จากท้ายเรือ (มาเลเซียใช้ปืนขนาด 57 มม.เป็นอาวุธมาตรฐานเหมือนเราใช้ปืน 76/62) ติดตั้งโซนาร์ DSQS-24C กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ทดแทนโซนาร์ EDO786 กับจรวดปราบเรือดำน้ำของโบฟอร์ส ที่เขียนว่า TUMM6 นั่นคือระบบสื่อสารใต้น้ำ ใช้คุยกับเรือดำน้ำสกอร์ปิเน่ของตัวเอง ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mk2 ทดแทนปืนกล Emerson 30 มม.แท่นคู่ ท้ายเรือปล่อยไว้โล่งๆ แบบนั้นแหละ มีจรวดประทับบ่ายิงป้องกันภัยทางอากาศ เรือเขาเก่ากว่าเราแต่ตอนนี้หล่อเฟี๊ยวเลย


แท่นยิงปืนใหญ่กล 57 มม.ถูกยกสูงขึ้นเล็กน้อย (ผู้เขียนแอบลอกการบ้านเขามานี่เอง ฮ่า ฮ่า) ใช้ MIRADORควบคุมปืนแทนพี่ไข่ WM22 เสียแล้ว จรวดปราบเรือดำน้ำของโบฟอร์สเหลือแค่อินโดนีเซียที่ยังใช้งาน (ในย่านนี้นะ)
และเมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ ผู้อ่านคงเดาออกว่าผู้เขียนเชียร์แบบเรือ V3 (ไม่เชื่อดูที่ปืน 76/62 ล้อมคอกไว้ให้ด้วย) ด้วยเหตุผลว่าราคาไม่แพงเกินไป ได้โซนาร์มาตรฐานใหม่ราชนาวีไทย ปัจจุบันเรือหลวงพุทธทั้ง 2 ลำปลดประจำการแล้ว เรือฟริเกตเกาหลีใต้ลำแรกยังไม่ส่งมอบ ส่วนลำที่สองซึ่งทุกคนท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า จะต่อเองในประเทศด้วยมาตรฐานเดียวกับเรือหลวงตรังนั้นไซร้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะได้แจ้งเกิดตอนไหน ผู้เขียนไม่กล้าคาดเดาแม้แต่น้อย
เรือหลวงเจ้าพระยาติดโซนาร์ใหม่เอี่ยม สามารถนำมาใช้ในภารกิจฝึกสอนบุคลากร ให้มีความรู้ความชำนาญระบบโซนาร์มาตรฐานใหม่ ได้ดีกว่าเข้าไปวุ่นวายบนเรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน หรือเรือหลวงท่าจีนที่เป็นกำลังเรือรบหลัก เงิน 300 ล้านบาทซื้อปืนใหญ่ 76/62 ของใหม่ไม่ได้ด้วยซ้ำ ซื้อ Harpoon Block II ได้ 2 นัดกว่าๆ เงินก้อนนี้นำมาพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น น่าจะเป็นอีกหนึ่งมุมมองไว้พิจารณานะครับ แล้วเจอกันใหม่ในบทความถัดไปสวัสดีครับ ;)
                     -------------------------------------------
อ้างอิงจาก










2 ความคิดเห็น:

  1. อาจแค่ 50% ก็ได้ ติดตั้งเรดาร์ใหม่กับอาวุธนำวิถี C-802A แต่ปืนคงเดิม แบบเดียวกับ ทร.บังคลาเทศ

    ตอบลบ