วันที่ 12
ธันวาคม 2013 กองทัพอากาศอิรัก
ได้เซ็นสัญญากับบริษัท Korea Aerospace Industries (KAI)
จากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อจัดหาเครื่องบินรุ่น T-50IQ จำนวน 24
ลำในวงเงิน 1.1 พันล้านเหรียญ
รวมทั้งเซ็นสัญญามูลค่า 1 พันล้านเหรียญ เพื่อว่าจ้างให้ KAI
สนับสนุนการซ่อมบำรุงและอบรมนักบินเป็นเวลา 20 ปีเต็ม (แหล่งข่าวบางแห่งบอกว่า 25 ปี)
จะมีการส่งมอบเครื่องบินเป็นจำนวน 4 ครั้ง แต่ละครั้งมีจำนวน
6 ลำ ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี
T-50IQ
ก็คือเครื่องบินฝึกไอพ่นรุ่น T-50 ของเกาหลีใต้นั่นเอง
แต่เป็นตัวท๊อปคือรุ่น FA-50 ติดตั้งระบบเอวิโอนิกส์มากกว่าเดิม
โจมตีทิ้งระเบิดได้ดีกว่าเดิม ราคาแพงขึ้นตามอุปกรณ์ไปด้วย T-50 Golden Eagle เป็นเครื่องบินสองที่นั่งขนาดเล็ก น้ำหนักเปล่า
6.47 ตัน น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 12.3 ตัน
ใช้เครื่องยนต์ GE F404 ของอเมริกา
แต่ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตในเกาหลีใต้ ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 1.5 มัค ติดตั้งปืนกล 20 มม.6
ลำกล้องรวบจำนวน 1 กระบอก มีจุดติดตั้งอาวุธภายนอกจำนวน 7
จุด แบกระเบิดไปด้วยมากสุด 3.74 ตัน
สนนราคาอยู่ที่ประมาณลำละ 21 ถึง 30 ล้านเหรียญ
อิรักสั่งซื้อเครื่องบิน
T-50IQ จำนวน 24 ลำในวงเงิน 1.1 พันล้านเหรียญ
หารกันตรงๆ ไปเลยจะได้เท่ากับ 45.83 ล้านเหรียญต่อลำ
บังเอิญว่าในสัญญามีอย่างอื่นปะปนอยู่ด้วย ผู้เขียนไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน
จะปีนรั้วกองทัพอากาศอิรักเข้าไปแอบดูก็เกรงใจ
แต่เท่าที่ทราบก็คือมีอะไหล่และอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ของ
1.1 พันล้านเหรียญ ถ้าตัดออกไปแล้วจับมาหารกันใหม่อีกครั้ง
จะได้ราคาเครื่องบิน 32 ล้านเหรียญต่อลำ
ถือว่าใกล้เคียงกับข้อมูลในวิกินะครับ
หลังจากเซ็นสัญญากันไปประมาณ
1
ปีครึ่ง วันที่ 13 กรกฎาคม 2015 ทางบริษัท KAI ได้เผยแพร่ภาพเครื่องบิน T-50IQ ลำแรกสุด ทดลองบินเพื่อทดสอบจริงเป็นเที่ยวแรกสุด
มีการถ่ายภาพเป็นที่ระทึกกันตามธรรมเนียม
เมื่อเครื่องบิน 6 ลำแรกผ่านหมดทุกขั้นตอน จึงได้จัดส่งไปให้อิรักโดยพร้อมหน้ากัน แต่ใช้วิธีเดินทางด้วยเรือบรรทุกสินค้า ล่องกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงอ่าวเปอร์เซีย แล้วเขาจอดเครื่องบินกันแบบไหน ? แบบนี้ยังไงล่ะครับ
ง่า…เหตุไฉนถึงเหลืออยู่เพียงแค่นี้ ที่อยู่ด้านหลังยังมีอีกเพียบ ในห่อขาวๆ
นั่นแหละเครื่องบินทั้งนั้นเลย เพียงแต่ยังไม่ได้ประกอบร่างเท่านั้นเอง
จากภาพถ่ายเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เกาหลีใต้ได้นำรถยนต์คันละ 9 แสนบาท จอดอยู่เหนือเครื่องบินรบลำล่ะ 1 พันล้านบาท
ให้รู้กันเสียบ้างว่าไผเป็นไผ
พอเครื่องบินเดินทางไปถึงที่หมาย
เจ้าหน้าที่ KAI จะรีบกรูเข้ามาแกะห่อ
เพื่อตรวจสอบว่ายาไอซ์ที่เพื่อนฝากมายังอยู่หรือไม่ เอ๊ย! เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่
ถ้ามีจะได้เคลมกับประกันอะไรทำนองนี้
หลังตรวจสอบว่าได้ของครบหมดทุกชิ้นส่วน
เจ้าหน้าที่จึงเริ่มประกอบร่างกันอีกครั้ง ทำกันในอิรักนะครับไม่ใช่นิคมอมตะนคร
สังเกตได้ว่าทั้งเสาและคานของโกดังทาสีแดง เจ้าหน้าที่ KAI
ใส่เสื้อยืดสีน้ำเงินรองเท้าผ้าใบ
การขนส่งเครื่องบินมาถึงอิรักปลายปี
2016
มีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มีนาคม
2017 และอีกเพียง 2 วันถัดมา
กองทัพอากาศอิรักเผยแพร่ภาพถ่าย T-50IQ บินเหนือกรุงแบกแดด
ลำนี้หมายเลข 1 ครับ
ตอนนี้หมายเลขที่หางไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่อง แต่อีกสักพักจะกลับไปตรงตามมาตรฐาน
ส่วนลายพลางบินเครื่องบินที่ดูอ่อนกว่าเดิม เข้าใจว่าโดนแดดจัดสีเลยเพี้ยนไปบ้าง
กล้องถ่ายรูปนะครับไม่ใช่ผู้เขียน สรุปว่าตอนนี้มีเครื่องบิน T-50IQ จำนวน 6 ลำแล้ว
ต่อมาในช่วงต้นปี 2018
มีการขนเครื่องบิน 6 ลำชุดที่สองมาส่ง
เหมือนเดิมเลยคือทำการประกอบในโกดัง ส่องๆ เสียบๆ ขยับๆ ถีบๆ อยู่สักพักใหญ่ เครื่องบินลำแรกแต่หมายเลข
7 ก็เสร็จเรียบร้อย เหลือน๊อตอะไรไม่ทราบอีก 5 ตัวไว้ดูต่างหน้า
ถึงจะเป็นกลางคืนเราก็ขยันทำโอที
ไหนจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนเมีย แทงโครเอเชียก็โดนเข้าไปเต็มข้อ
อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญมากในการทำงาน
สิ่งนั้นก็คือพัดลมตั้งพื้นของบ้านเรานั่นเอง ใช่ฮาตาริอาจารย์เฉลิมชัยหรือเปล่าหนอ
วันที่ 12
มิถุนายน 2018 มีพิธีส่งมอบเครื่องบินชุดที่สองอย่างเป็นทางการ
คราวนี้อิรักนำเครื่องบินทั้ง 12 ลำมาจัดแสดง
ย้ายมาใช้โรงจอดหลังใหม่ยิ่งใหญ่อลังการ เจ้าหน้าที่ KAI ต้องเหนื่อยกับการลากเครื่องบิน
เพื่อให้ผู้สื่อข่าวได้มาทำข่าวกันอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ทั้งนั้นมีเบื้องลึกเบื้องหลังเล็กน้อย
เครื่องบินที่ส่งมาประกอบชุดแรกสุด
ผ่านไปแล้ว 10 เดือนยังบินได้แค่ 5 ลำ ไม่รู้จริงๆ ว่าลำสุดท้ายแก้ไขได้ตอนไหน
รอบนี้จึงต้องโชว์เครื่องบินให้ครบทุกลำ ส่วนจะบินได้จริงกี่ลำอย่าไปสนใจ
ตามหลักประเมินความสามารถฝ่ายตรงข้าม จะต้องถือว่าอิรักมี T-50IQ พร้อมใช้งาน 12 ลำ สุดยอดนักรบหรือนายพลคนดังในอดีต
ดันประเมินกำลังรบฝ่ายตรงข้ามไว้ต่ำกว่าเหตุ
ผลก็คือเอาชื่อเสียงที่สะสมมาโยนทิ้งทะเล ฉะนั้นอิรักมี T-50IQ 12 ลำแน่นอนครับ
เครื่องบิน 6 ลำถัดไปจะขนมาส่งช่วงปลายปีนี้ ส่วนอีก 6 ลำก็มาปีหน้าไม่เกินแน่นอน
อิรักจะมีเครื่องบิน T-50IQ จำนวน 24 ลำภายในปี
2019 ช้าหรือเร็วอยู่ที่ฝีมือเจ้าหน้าที่ KAI ผู้อ่านอาจนึกสงสัย…ทำไมต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก
ประกอบเสร็จแล้วบินมาส่งถึงที่ไม่ได้เหรอ เรื่องนี้ต้องแอบไปดูรายละเอียดสัญญา
ถ้าให้คาดเดาคงเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับที่ 2
ภาพถ่ายใบนี้แสดงให้เห็นว่า เครื่องบินทั้ง 24 ลำประกอบขึ้นมาหมดแล้ว
แต่ 12 ลำหลังยังอยู่ระหว่างการทดสอบ
ในสัญญานอกจากเครื่องบินกับเจ้าหน้าที่แล้ว
ยังมีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด สมัยก่อนชอบอ่านการ์ตูนเอเรีย 88
ขณะบินตรวจการณ์แล้วเจอฝ่ายตรงข้าม
ซากิจะสั่งให้ปลดถังน้ำมันทิ้งหมดทั้งฝูง อิรักจึงต้องสั่งมาเผื่อเยอะๆ หน่อย
ภาพด้านล่างถ่ายที่โรงงานในเกาหลีใต้
ผบ.ทอ.ของอิรักเดินทางไปตรวจของ
จะเห็นได้ว่าโกดังไม่มีเสาและคานแดง เจ้าหน้าที่ KAI สวมเสื้อเหมือนที่ผู้เขียนซื้อในตลาดนัด
มีของครบทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันจักรซิงเกอร์ ยาขัดรองเท้า
น้ำยาเคลือบเบาะหนัง รวมทั้งจรวดและลูกระเบิดดัมมี่ขนาดเท่าจริง
แท่นรองจรวดนี่ต้องส่งไปด้วยหรือเปล่า?
T-50IQ
ใช้ชื่อโครงการว่า ‘เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดขนาดเบา’ แล้วภารกิจที่แท้จริงนั้นคืออะไร?
ผู้เขียนขอพาไปเยี่ยมชมเครื่องบินลำอื่นกันก่อน
เริ่มจากสุดยอดเครื่องบินโจมตีจากรัสเซีย Su-25 อิรักมีเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ประมาณ 20 กว่าลำ โดยจัดซื้อครั้งแรกจำนวน 12 ลำในปี 1998
ต่อมาได้จัดซื้อเพิ่มเติมในปี 2014 เป็นจำนวนที่ไม่ชัดเจนแต่ใกล้เคียงของเก่า
Su-25 ชุดใหม่เป็นเครื่องบินมือสอง
นำมาปรับปรุงคืนสภาพใช้งานได้ 10 กว่าปี
ติดตั้งเลเซอร์วัดระยะกับเรดาร์ตรวจอากาศที่จมูก สามารถออกโจมตีในเวลากลางคืนได้
แต่ก็คงได้ตามสภาพนั่นแหละครับ
เครื่องบินลำต่อมาก็คือ
L-159
ซึ่งพัฒนามาจาก L-39 ที่ผู้อ่านคุ้นเคย
อิรักจัดหารุ่นที่นั่งเดียวจำนวน 12 ลำ
และรุ่นสองที่นั่งอีกจำนวน 2 ลำ
จึงนับว่าเป็นเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดขนาดเบา ในภาพจะเป็นรุ่นที่นั่งเดี่ยว
กระจกห้องนักบินเปิดออกด้านขวามือ ที่นั่งด้านหลังตีตู้ลำโพงปกปิดมิดชิด
ใต้ท้องเครื่องติดกระเปาะปืนกลอากาศ 20 มม.แบบถอดได้
ส่วนภาพนี้จะเป็นรุ่นสองที่นั่ง
เปิดกระจกทั้งบานไปด้านหลัง (เริ่มคุ้นหน้าค่าตากันแล้ว) L-159 น่าจะใช้ในภารกิจตบเด็ก เป็นเครื่องใหม่เอี่ยมประจำการได้อีก 25 ปี ส่วน Su-25 น่าจะใช้ในภารกิจทิ้งระเบิดทั่วไป
แต่อาจไม่ใช่กับเป้าหมายสำคัญ
เครื่องบินลำถัดมาสุดติ่งกระดิ่งแมว
Cessna
208B Grand Caravan หรือ AC-208 Combat Caravan
ซึ่งติดออปโทรนิกตรวจจับเป้าหมายใต้ท้องเครื่อง และมีจรวดต่อสู้รถถัง
Hellfire ที่ปีกสองข้างข้าง เห็นติ๋มๆ แบบนี้ประมาทไม่ได้เชียวนา
อิรักสั่งซื้อ Combat Caravan จำนวน 3 ลำ
บังเอิญตกไปหนึ่งจึงเหลือแค่สอง
เครื่องบินลำสุดท้ายในภารกิจโจมตีทิ้งระเบิด
เป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุด โจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำที่สุด
นั่นก็คือเครื่องบิน F-16 Block 52 โดยอิรักสั่งซื้อจำนวน 2 ครั้งเป็นรุ่นที่นั่งเดียวจำนวน
28 ลำ (หมายเลข 1607 ถึง 1618 กับ หมายเลข 1621 ถึง 1636) กับรุ่นที่นั่งคู่อีกจำนวน
8 ลำ ( หมายเลข 1601 ถึง 1606 กับ หมายเลข 1619 ถึง
1620) รุ่นที่นั่งเดี่ยวตกระหว่างฝึกบินไปหนึ่งลำ เห็นว่าสั่งเพิ่มอีก
3 ลำหรือเปล่าไม่แน่ใจ ที่สำคัญไม่ได้มาแค่เครื่องบินเปล่าๆ
ภาพถัดมาเป็นเครื่องบิน
F-16D Block 52 หมายเลข 2 หลังเครื่องจะมีโหนกยาวไปชนกับแพนหาง
นอกจากใช้ฝึกนักบินให้กับรุ่นที่นั่งเดี่ยว
ยังใช้เป็นเครื่องบินโจมตีทางลึกได้อีกด้วย (ดีไม่ดีอีกเรื่อง)
ปัจจุบันใช้แค่ฝึกบินกับหล่อเข้ากล้อง
แล้วตอนออกรบจริงแบกอะไรบ้าง
ตามภาพเลยครับ ระเบิดนำวิถีเลเซอร์ Paveway II
จรวดต่อสู้อากาศยาน AIM-9L Sidewinder รวมทั้งหมวกนักบิน
JHMCS HMD ภารกิจของวันนี้คือโจมตีภาคพื้นดินใส่กองกำลัง ISIS
มาดูภาพด้านนอกเครื่องบินกันบ้าง’ จะเห็นกระเปาะ AN-AAQ-33 Sniper โชว์หราอย่างชัดเจน
อิรักยังได้สั่งซื้อจรวดต่อสู้อากาศยาน AIM-7M
Sparrow และจรวดโจมตีนำวิถีเลเซอร์ AGM-65D
Maverick มาด้วยจำนวนหนึ่ง เครื่องบิน F-16
อิรักนี่ของมาครบทุกอย่างนะครับ
เพียงแต่ไม่ได้สั่งจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่ รวมทั้งไม่มีระเบิดนำวิถี GPS รุ่น JDAM ที่แพงกว่า Paveway ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า
กลับมาที่ T-50IQ เป็นการปิดท้าย ช่วง 2 ปีแรกคงทำหน้าที่เครื่องบินฝึกกันไปก่อน
เพราะตอนนี้ไม่มีเครื่องบินไอพ่นสำหรับฝึกเลย หลังจากนี้อาจได้ออกสนามจริงกันบ้าง
ใช้อาวุธเหมือนกับอาวุธดัมมี่นั่นแหละครับ เป้าหมายไม่สำคัญก็ระเบิดธรรมดา
เป้าหมายมีค่าหรือเสี่ยงหน่อยค่อยจรวดโจมตี Maverick
โดยมีจรวดต่อสู้อากาศยาน Sidewinder ติดไว้กันเหนียว
การมีเจ้าหน้าที่ KAI
มาอยู่ในประเทศ คนเหล่านี้ต้องกิน ต้องใช้ ต้องเที่ยว
ต้องว่าจ้างแรงงานในประเทศ เม็ดเงินที่ได้กลับคืนอาจแค่น้อยนิด
(เกาหลีใต้ประมาณค่าไว้ด้วย บังเอิญผู้เขียนหาลิงค์ไม่เจอแล้ว)
แต่เป็นเงินสดเข้ากระเป๋าประชาชนโดยตรง รวมทั้งเป็นหลักประกันอย่างมั่นคง
ถึงจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นใครก็ตาม T-50IQ
ก็ยังใช้งานได้ไปอีก 20 ปีเต็ม
ส่วนการประกอบชิ้นส่วนเครื่องบินในประเทศ
เป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบเจ้าหน้าที่ KAI เพราะถ้าไม่ทำแล้วถึงเวลาเกิดทำไม่ได้
จะกลายเป็นโครงการขายฝันเหมือนคำว่า ‘ถ่ายทอดเทคโนโลยี’ เจอกันใหม่บทความถัดไป…สวัสดีครับ ;)
------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น