วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566

River Class Batch 3

 

วันที่ 30 มกราคม 2007 เรือตรวจการณ์ HMS Clyde (P257)  เข้าประจำการกองทัพเรืออังกฤษอย่างเป็นทางการ เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River ลำที่ 4 สร้างโดยบริษัท VT Shipbuilding ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท BAE Systems ไปแล้ว และเนื่องมาจากเรือต้องมาประจำการหมู่เกาะฟอล์กแลนด์แทนเรือตรวจการณ์ชั้น Castle จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเรือเล็กน้อยเพื่อความเหมาะสมกับภารกิจ

ภาพประกอบที่หนึ่งภาพเล็กคือท้ายเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 1 รุ่นปรกติ ไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทุกขนาด แต่มีพื้นว่างวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตได้ 2 ใบ เหตุผลที่ไม่มีเพราะอังกฤษใช้งานเรือไม่ไกลจากแผ่นดินใหญ่ งานหลักคือตรวจสอบเรือประมงหรือเรือพาณิชย์ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์รวมทั้งไม่จำเป็นต้องติดอาวุธหนัก มีเพียงปืนกล 20 มม.เป็นปืนหลักจำนวน 1 กระบอก กับปืนกลขนาด 7.62 มม.หรือ 12.7 มม.เป็นปืนรองอีก 2 กระบอก

ภาพประกอบที่หนึ่งภาพใหญ่คือเรือ HMS Clyde (P257)  ท้ายเรือสร้างเหล่าเต๊งขึ้นมาใช้เป็นลานจอดโดยไม่มีโรงเก็บ รองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตันอาทิเช่นเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย Sea King ตามภาพ ใต้ลานจอดคือพื้นที่อเนกประสงค์ใช้เป็นห้องพักผ่อนหรือจุดเก็บเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน หัวเรือเปลี่ยนมาติดปืนกลขนาด 30 มม.ป้องกันตัวเองดีกว่าเดิม นี่คือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River River Batch 1 รุ่นปรับปรุงลำแรกและลำเดียว

เหล่าเต๊งที่สร้างขึ้นมาใหม่ยื่นเลยท้ายเรือออกไปเล็กน้อย เป็นการปรับปรุงง่ายๆ ราคาไม่แพง ไม่วุ่นวายกับส่วนอื่นของเรือ และเพิ่มเติมความอเนกประสงค์ให้เรือได้อย่างดีเยี่ยม

ภาพประกอบที่สองคือเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ OPV 552 แห่งราชนาวีไทย เป็นเรือลำแรกในโครงการ ‘The future of the RTN OPVs project’ ที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงไปแล้ว ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเรือไว้คร่าวๆ ดังนี้

1.ใช้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่หนึ่งหรือเรือหลวงกระบี่เป็นต้นแบบ

2.มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบและระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์

3.มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

พิจารณาตามภาพถ่ายเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์อย่างละเอียดแล้วพบว่า

-ใช้แบบเรือชั้น River Batch 2 รุ่นปรับปรุงเหมือนเรือหลวงกระบี่ ตรงตามคุณสมบัติข้อที่หนึ่ง

-มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบและระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ตรงตามคุณสมบัติข้อที่สอง

-มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์แต่ไม่มีโรงเก็บทุกขนาด เท่ากับว่าไม่ตรงคุณสมบัติข้อที่สาม

ผู้เขียนไม่กล้าวิจารณ์ว่าทำไมหรือเพราะเหตุอันใด เนื่องจากคุณสมบัติตามโครงการอาจเปลี่ยนแปลงได้

เหตุผลที่เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เพราะสร้างไม่ได้ ปรับปรุงไม่ได้ ไม่มีพื้นที่มากเพียงพอ อยากได้ต้องไปแบบเรือ 94m OPV ของบริษัท BAE Systems ที่บริษัทอู่กรุงเทพเคยนำแบบเรือมาโชว์ในงาน Defense & Security 2022 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2022 ที่อาคาร Challenger Hall 1-2 ศูนย์จัดแสดงสินค้า Impact เมืองทองธานี โดยใช้ชื่อว่าแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 94 เมตร

ทั้งโครงการ ‘The future of the RTN OPVs project’ และแบบเรือ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 94 เมตร ของบริษัทอู่กรุงเทพ ผู้เขียนเคยเขียนบทความเรียบร้อยแล้วอ่านทบทวนความจำตรงนี้เลยครับ

https://thaimilitary.blogspot.com/2023/06/the-future-of-rtn-opvs-project.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2022/09/krabi-class-94m-design.html

บทความนี้ไม่เกี่ยวข้อกับการเพิ่มโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ตามความต้องการราชนาวีไทย แต่เป็นโครงการศึกษาการปรับปรุงแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 2 ให้มีความอเนกประสงค์มากกว่าเดิม โดยการสร้างเหล่าเต๊งเหมือนเรือ HMS Clyde (P257)  ใช้เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และปรับปรุงลานจอดเฮลิคอปเตอร์เดิมเป็น Mission Bay หรือพื้นที่อเนกประสงค์ รองรับภารกิจเสริมต่างๆ ได้ใกล้เคียงแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่

ผู้เขียนถือวิสาสะตั้งชื่อแบบเรือเสริมเหล่าเต็งว่า เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 3’ เป็นแบบเรือ Case Study ที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพแนวคิดอย่างชัดเจน

แบบเรือ River Batch 3 V1

ภาพประกอบที่สามคือแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 3 V1 ผู้เขียนปรับปรุงจากเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลำจริง หัวเรือติดปืนใหญ่ขนาด 76 มม.จากอิตาลีจำนวน 1 กระบอก (ราคาปี 2016 กระบอกละ 370 ล้านบาท) กลางเรือติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.จากอังกฤษจำนวน 2 กระบอก (ราคาปี 2016 กระบอกละ 75 ล้านบาท) ระบบเรดาร์ยกมาจาก Thales ทั้งชุด ใช้ระบบอำนวยการรบ TACTICOS Baseline 2 ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ NS50 AESA เรดาร์เดินเรือ X-Band จำนวน 2 ตัว เรดาร์เดินเรือ X-Band จำนวน 1 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 จำนวน 1 ตัว ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ใช้ระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ VIGILE Mk2 R-ESM กับแท่นยิงเป้าลวง SKWS DL-12T ขนาด 12 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง

กลางเรือปรับปรุงใหม่โดยการเฉือนพื้นที่ใช้งานบางส่วนทิ้ง กลายเป็นพื้นที่ว่างติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4 นัด แล้วสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตันต่อจากปล่องระบายความร้อน จุดรับส่งเรือยางท้องแข็งสร้าง Superstructure ความสูงเท่าดาดฟ้าหัวเรือ ใช้เป็นจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งเหมือนเดิมและได้พื้นที่ใช้งานใต้ดาดฟ้าเรือเพิ่มขึ้น ทดแทนจุดที่ถูกเฉือนทิ้งหน้าปล่องระบายความร้อน ใต้ลานจอดคือห้องเครื่องยนต์ (ตำแหน่งเดิม) กับ Mission Bay พื้นที่อเนกประสงค์ ท้ายเรือมีที่ว่างวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้ 2 ใบ ใช้ราวกับตกแบบทืเชื่อมต่อกับ Mission Bay แบบเปิดโล่ง มีสะพานขึ้นเรือหรือ Gangway ที่กราบขวาจำนวน 1 ตัว

ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกองทัพเรือสเปนตามภาพล่าง แต่สร้าง Mission Bay แบบเปิดโล่งจะไม่ต้องใช้งานระบบปรับอากาศให้เปลืองพลังงาน เข้าร่วมโครงการรักษ์โลกที่ท่านนายกพีต้าให้ความสำคัญ

ภาพประกอบที่สี่คือแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 3 V1 เช่นเดียวกัน เปลี่ยนมาทำภารกิจเสริมวางทุ่นระเบิดสกัดกั้นกองเรือฝ่ายตรงข้าม ใช้ Mission Bay กับที่ว่างท้ายเรือบรรทุกทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ ได้ประมาณ 100-140 ลูก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานอาวุธหรืออากาศยานประจำเรือ

ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกองทัพเรือโปรตุเกสตามภาพล่าง สังเกตนะครับว่ามีการทำเครื่องหมายสำหรับวางรางปล่อยทุ่นระเบิดเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาใช้งานสามารถขนทุ่นระเบิดไปทิ้งจุดยุทธศาสตร์อย่างรวดเร็ว นอกจากผู้เขียนได้แนวคิดเรื่องการวางรางทุ่นระเบิด ผู้เขียนยังออกแบบเหล่าเต๊งโดยใช้เรือลำนี้แหละเป็นต้นแบบ เพราะฉะนั้นแบบเรือ River Batch 3 V1 ใช้งานจริงได้อย่างแน่นอน

ชี้แจงข้อดีต่างๆ ครบถ้วนแล้วต้องบอกข้อด้อยจากการปรับปรุงเรือด้วย

การสร้างเหล่าเต๊งทำให้อุปกรณ์ช่วยในการลงจอดกับห้องควบคุมอากาศยานหายไป ผู้เขียนจึงสร้างแท่นเล็กๆ ขึ้นมาบนปล่องระบายความร้อนกราบขวา (เหนือเครนแบบพับเก็บได้) ใช้เป็นจุดติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการลงจอดเลียนแบบเรือชั้น River Batch 2 กองทัพเรืออังกฤษ ต่างกันเล็กน้อยตรงที่เรืออังกฤษติดกราบซ้ายส่วน River Batch 3 ติดกราบขวา เพราะผู้เขียนวาดภาพเรือกราบขวาถ้านำไปใส่กราบซ้ายย่อมไม่มีใครเห็น

สำหรับห้องควบคุมอากาศยานคงทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใช้งานเหมือนเรือโปรตุเกสอันเป็นเรือต้นฉบับ

แบบเรือ River Batch 3 V2

          ภาพประกอบที่ห้าคือแบบเรือ River Batch 3 V2 ผู้เขียนใช้แบบเรือ V1 มาปรับปรุงแก้ไขเพียงนิดเดียว โดยการเจาะช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนลานจอดจำนวน 2 จุด กสามารถพลิกออกมาเพื่อวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ลงสู่ Mission Bay ที่ว่างท้ายเรือติดเครนแบบพับเก็บได้เพิ่มที่กราบขวา สำหรับยกยานอัตโนมัติสำรวจใต้น้ำหรือยานใต้น้ำไล่ล่าทุ่นระเบิดลงสู่ท้องทะเล รองรับภารกิจปราบทุ่นระเบิดหรือสำรวจทางอุทกศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกองทัพเรือแคนาดาในอนาคตตามภาพล่าง เพียงแต่เรือแคนาดามี Mission Bay บริเวณกราบขวากลางเรือ และใช้เครนเดวิดในการยกอุปกรณ์ต่างๆ บริเวณท้ายเรือ

ภาพประกอบที่หกคือแบบเรือ River Batch 3 V2 เช่นเดียวกัน เปลี่ยนมาทำภารกิจตรวจสอบเรือประมงกับเรือพาณิชย์ต่างชาติจำนวนมาก ที่ว่างท้ายเรือบรรทุกเรือยางท้องแข็งขนาด 4.5 เมตรเพิ่มเข้ามาอีก 1-2 ลำ เป็นออปชันเสริมที่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่จำนวนมากมีให้กับลูกค้า ผู้เขียนใส่เข้ามาบนเรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 3  V2 โดยไม่ต้องจ่ายเงินปรับปรุงเรือให้ปวดกระดองใจ เพียงแต่เรือยางท้องแข็งที่เพิ่มเข้ามาขนาดไม่ใหญ่เท่าไร เหมาะสมกับการใช้งานเป็นเรือลำที่สามลำที่สี่มากกว่าเรือลำที่หนึ่ง

ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกองทัพเรือแคนาดาในอนาคตตามภาพล่างเช่นเดียวกัน เพียงแต่เรือแคนาดาใช้ระบบ Cube System ในการรับส่งเรือด้วยระบบอัตโนมัติ ส่วนเรือผู้เขียนใช้เครนพับเก็บได้ในการรับส่งเรือด้วยระบบอัตโนมือ

แบบเรือ River Batch 3 V3


          ภาพประกอบที่เจ็ดคือแบบเรือ River Batch 3 V3 สร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยาวลายบั้นท้ายเรือเล็กน้อย ห้องเครื่องยนต์ถูกยกขึ้นมาเหนือดาดฟ้าเชื่อมโยงกับปล่องระบายความร้อน ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการลงจอดกับห้องควบคุมอากาศยานเหมือนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ Mission Bay ใต้ลานจอดวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้ 2 ใบ ท้ายเรือเหลือพื้นที่ว่างสำหรับทำโน่นนั่นนี่ได้อีกนิดหน่อย

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์ HMS Clyde (P257) ของอังกฤษ นำมาผสมกับแบบเรือ 94m OPV ของบริษัท BAE Systems ที่สร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เชื่อมโยงกับปล่องระบายความร้อน ฉะนั้นห้องเครื่องยนต์กับห้องควบคุมอากาศยานที่ผู้เขียนจงใจยกขึ้นมาย่อมเชื่อมโยงได้เช่นกัน

สังเกตนะครับว่าจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ ผู้เขียนหยิบดีไซน์แบบเรือ 94m OPV มาใช้บนเรือ Batch 3 ข้อดีของแบบเรือ V3 คือสวยกว่า V1 และ V2 มีพื้นที่ใช้งานภายในตัวเรือมากกว่าเดิม ส่วนข้อเสียประกอบไปด้วยราคาแพงกว่ากัน ต้องปรับปรุงแบบเรือมากกว่า เสียค่าใช้จ่ายในการทดสอบแบบเรือมากกว่า

แบบเรือ River Batch 3 V4

          ภาพประกอบที่แปดคือแบบเรือ River Batch 3 V4 ผู้เขียนใช้แบบเรือ V4 มาปรับปรุงแก้ไขเพียงนิดเดียว โดยการสร้างจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตรที่บั้นท้ายเรือตรงกลาง เพิ่มเรือเล็กลำที่สามซึ่งมีขนาดใหญ่โตที่สุดเข้ามา ที่ว่างกราบซ้ายกราบขวานอกจากใช้ผูกเชือกเรือยังสามารถทำภารกิจอื่นได้ อาทิเช่นปล่อยยานอัตโนมัติสำรวจใต้น้ำหรือปล่อยทุ่นระเบิด ติดเครนแบบพับเก็บได้หรือรอกยกของเพิ่มเติมได้

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์กองทัพเรือปากีสถาน พื้นที่อเนกประสงค์ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์จะลอกการบ้านเรือลำนี้ (แต่อุปกรณ์เกะกะที่เห็นในภาพให้เข้าที่เข้าทาง) โดยการติดตั้งเสาค้ำลานจอดจำนวน 4 แถวเหมือนภาพประกอบ วางรางปล่อยทุ่นระเบิดได้จำนวน 3 รางแบบหลวมๆ บังเอิญแบบเรือ V4 แบ่งพื้นที่ตรงกลางให้กับจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตร เท่ากับว่าสามารถติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดได้เพียง 2  ราง

แบบเรือ River Batch 3 V5

          ภาพประกอบที่เก้าคือแบบเรือ River Batch 3 V5 ผู้เขียนใช้แบบเรือ V3 มาปรับปรุงแก้ไขเพียงนิดเดียว โดยการสร้างจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.25 เมตรที่บั้นท้ายเรือตรงกลาง เพิ่มเรือเล็กลำที่สามซึ่งมีขนาดใหญ่โตที่สุดเข้ามา ใต้ลานจอดวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้ 2 ใบ

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์กองทัพเรือบรูไน แบบเรือ V5 ถือเป็นตัวท๊อปติดออปชันมากที่สุด ราคาแพงที่สุด โดยมีข้อเสียความอเนกประสงค์น้อยที่สุดในตระกูล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้าได้พิจารณา

          เห็นแบบเรืออเนกประสงค์น้อยที่สุดกันไปแล้ว ลำถัดไปคือแบบเรืออเนกประสงค์มากที่สุด

 แบบเรือ River Batch 3 V6

          ภาพประกอบที่สิบคือแบบเรือ River Batch 3 V6 ผู้เขียนใช้แบบเรือ V1 มาปรับปรุงแก้ไขเพียงนิดเดียว โดยการติดตั้งเครนขนาดใหญ่แทนเครนแบบพับเก็บได้ที่กราบขวา ยกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตขึ้นมาวางบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ได้ และเหลือที่ว่างให้เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กบินขึ้นลงได้ ท้ายเรือกราบขวาติดตั้งเครนแบบพับเก็บได้จำนวน 1 ตัว อุปกรณ์ช่วยในการลงจอดย้ายไปติดบนปล่องระบายความร้อนกราบซ้าย

          แบบเรือ V6 ทำภารกิจเสริมได้อย่างหลากหลายไปพร้อมกัน อาทิเช่นใช้ Mission Bay บรรทุกทุ่นระเบิดจำนวน 100-140 ลูก ใช้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทำภารกิจปราบทุ่นระเบิด หรือเปลี่ยนมาทำภารกิจวางทุ่นระเบิดแบบเต็มลำ โดยบรรทุกทุ่นระเบิดบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพิ่มจำนวน 60-90 ลูก แล้วใช้เครนใหญ่กราบขวาเรือยกทุ่นระเบิดลงสู่น้ำ โดยมีข้อแม้การวางทุ่นระเบิด 160-230 นัดอาจมีความล่าช้านิดหน่อย

          ผู้เขียนได้แนวคิดจากเรือตรวจการณ์กองทัพเรือออสเตรเลีย ขออนุญาตเรียกชื่อเล่นแบบเรือ V6 ว่าพี่เครนใหญ่ เป็นแบบเรือที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด เพราะฉะนั้นของแปลกแหวกแนวจะถูกใส่เข้ามาบนเรือลำนี้

          ภาพประกอบที่สิบเอ็ดคือแบบเรือ River Batch 3 V6 เช่นเดียวกัน ติดระบบป้องกันภัยทางอากาศ C-Dome จากอิสราเอล ประกอบไปด้วยห้องควบคุมในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ พร้อมเรดาร์ตรวจจับเป้าหมาย AESA จำนวน 4 ตัวกับกล้องออปโทรนิกส์อีก 1 ตัว และแท่นยิงแนวดิ่งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Iron Dome จำนวน 20 ท่อยิงที่ท้ายเรือ และเหลือที่ว่างให้เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กบินขึ้นลงในแนวเฉียง 45 องศาได้

          Iron Dome หนึ่งนัดราคา 100,000-150,000 เหรียญ เทียบกับ ESSM ราคานัดละ 1 ล้านเหรียญถูกกว่ากันไม่รู้กี่เท่า ยิงเป้าหมายบนอากาศได้ทุกชนิดยกเว้นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบบินเรี่ยนำ ถ้าใช้งานถูกประเภทจะสามารถคุ้มกันกองเรือจากภัยคุกคามทางอากาศได้อย่างยอดเยี่ยมกระเทียมเจียว

          ชมแบบเรือรุ่นป้องกันภัยทางอากาศไปแล้ว ลำถัดไปคือแบบเรือรุ่นปราบเรือดำน้ำ

          ภาพประกอบที่สิบสองคือแบบเรือ River Batch 3 V6 เช่นเดียวกัน ติดตั้งระบบ ASW Warfare Cube System ไว้ที่ท้ายเรือ โดยการใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตในพื้นที่ตรงกลาง ขนาบสองข้างด้วยแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่นแฝดสอง ในตู้คอนเทนเนอร์แบ่งพื้นที่ด้านหน้าใช้เป็นห้องควบคุม พื้นที่ด้านหลังติดตั้งโซนาร์ลากท้ายขนาดเล็กแต่ทรงประสิทธิภาพ ค้นหาเป้าหมายใต้น้ำได้ทั้งโหมด Active และ Passive

          แนวคิดนี้บริษัท SH Defence ประเทศเดนมาร์กกำลังพัฒนาให้เป็นจริง ระบบโซนาร์อาจไม่เป็นไปตามที่ผู้เขียนกำหนดก็ได้ ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตว่าของจริงจะเป็นเช่นไร

บทสรุป

          เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง River Batch 3 เป็นแบบเรือ Case Study ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเรือรุ่นใหม่ ให้ตรงความต้องการกองทัพเรือหรือลูกค้ามากที่สุด อาจพัฒนาเป็นเรือหรือเปลี่ยนไปใช้แบบเรือที่ดีกว่าทันสมัยกว่า ประเทศที่สามารถสร้างเรือรบได้ด้วยตัวเองถือเป็นเรื่องปรกติ กว่าจะสร้างเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ เรือฟริเกต หรือเรือพิฆาตได้สักลำ ต้องมีแบบเรือ Case Study จำนวนพอสมควรเป็นแนวทาง

          ผู้เขียนหวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีแบบเรือ Case Study เช่นกัน

                                        +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

www.shipbucket.com

http://milmae.net/go/2896

https://web.facebook.com/photo/?fbid=366293442196254&set=pcb.366294735529458

https://barcoavista.blogspot.com/2009/07/navios-de-patrulha-oceanico-classe.html

https://twitter.com/SHDefence/status/1663612529153658881

https://twitter.com/SHDefence/status/1664257130629672961

https://www.damen.com/vessels/defence-and-security/opv?view=overview

https://www.youtube.com/watch?v=BtbK5xoAYsw

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น