วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part IV : Sonar System


ความเดิมตอนที่แล้ว

หน้าจอระบบโซนาร์บนเรือพิฆาตอาวุธนำวิถี USS The Sullivans (DDG 68) ประเทศอเมริกา แสดงภาพสีเขียวเป็นเส้นยึกยือมองยังไงก็ไม่เข้าใจ จึงมั่นใจได้เลยว่าคุณมาถูกห้องแล้ว

อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 4 ระบบโซนาร์
โซนาร์ Sonar : Sound navigation and ranging เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจจับวัตถุใต้น้ำ มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับระบบเรดาร์ โดยที่เรดาร์ใช้ชั้นบรรยากาศแอทโมสเฟียร์ เป็นตัวกลางสำหรับทางเดินทางของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ส่วนโซนาร์ใช้น้ำทะเลเป็นตัวกลาง สำหรับการแพร่พลังงานเสียงความถี่สุงเกินกว่ามนุษย์ได้ยิน
พลังงานเสียงหรือคลื่นเสียงที่แพร่ออกไป จะมีความถี่อยู่ที่ประมาณ 50,000 รอบต่อวินาที เมื่อกระทบกับวัตถุที่อยู่ในทะเล อาทิเช่น ปลาโลมา เรือดำน้ำ หรือพื้นทะเลเข้า จะสะท้อนข้อมูลกลับมายังเครื่องรับบนเรือ เครื่องรับจะวัดช่วงเวลาที่เสียงเดินทางไปกลับ เพื่อคำนวณหาระยะทางของวัตถุอีกทอดหนึ่ง โดยทั่วไปสามารถแบ่งโซนาร์ออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะของการแพร่คลื่นเสียง ได้แก่
1. โซนาร์แบบส่อง (Search Light Sonar) : ใช้การแพร่คลื่นเสียงออกไปเป็นมุมจำกัด คล้ายคลึงกับการฉายไฟฉายนั่นแหละครับ นิยมใช้ในเรือดำน้ำเพื่อค้นหาตำแหน่งของเรือผิวน้ำ รวมทั้งเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม ส่วนเรือผิวน้ำที่ยังคงใช้งานจะเป็นรุ่นเก่าราคาถูก โซนาร์ประเภทนี้ต้องติดตั้งบริเวณหัวเรือ เพื่อให้ห่างจากเสียงใบจักรเรือตนเองรบกวน
2. โซนาร์แบบกราด (Scanning Sonar) : ใช้การแพร่คลื่นเสียงออกไปรอบตัวเป็นรูปวงแหวน ด้วยกำลังส่งเท่ากันทุกทิศทาง นิยมใช้กับเรือผิวน้ำ นิยมติดตั้งบริเวณหัวเรือหรือใกล้เคียง (รวมทั้งบริเวณกลางเรือและท้ายเรือ ในลักษณะหย่อนชักหรือลากท้าย) ส่วนเรือประมงจะติดโซนาร์หาปลาไว้บนท้ายเรือ เมื่อใช้งานจึงหย่อนเครื่องส่งสัญญาณลงไปในทะเล
ระบบโซนาร์มีใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งกับเรือเดินสมุทร เรือสำรวจ เรือขนส่ง เรือสำราญ รวมทั้งเรือหาปลาน้อยใหญ่ ปัจจุบันมีโซน่าหาปลารุ่นพกพาระบบ Wireless ควบคุมแบบไร้สายได้ไกลสุดถึง 40 เมตร อุปกรณ์ควบคุมขนาดเทียบเท่าโทรศัพท์มือถือ ส่วนเครื่องโซนาร์เล็กกว่ากันครึ่งหนึ่ง เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับนักตกปลาเวอร์ชั่น 4.0
โซน่าหาปลา แบบ Wireless (Wireless Fish Finder FFW 1108-11) ใช้ถ่านก้อน AAA หน้าจอ LCD พร้อมไฟส่องสว่าง ผ่านการใช้งานเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น ราคา 1700 บาท รวมส่ง EMS
กลับมาสู่บทความอาวุธปราบเรือดำน้ำราชนาวีไทย ระบบโซนาร์ถูกใช้ในภารกิจต่อต้านเรือดำน้ำ เพื่อทำการค้นหาและตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำ รวมทั้งติดตามร่องรอยในบริเวณพื้นที่สุ่มเสี่ยง ก่อนเป้าหมายจะสร้างอันตรายให้กับเรือฝ่ายเรา สามารถแบ่งระบบโซนาร์จากโหมดการค้นหาออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
1. Passive Sonar สำหรับการค้นหาในโหมดพาสซีพ (Passive) คือการดักรับเสียงใต้น้ำย่านความถี่ต่ำ ได้แก่ เสียงจากใบจักร เครื่องจักร รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม ยกตัวอย่างจากภาพยนต์สงคราม ที่มีเจ้าหน้าที่สวมหูฟังนั่งทำหน้าปวดท้องหนัก แล้วตะโกนให้ทุกคนบนเรือได้ยินว่า
มีเสียงใบจักรทำงานครับกัปตันเรือพิฆาตกำลังเลี้ยวขวามีเสียงของหนักตกลงสู่ท้องทะเลจำนวนเยอะมากจนผมนับไม่ทันมันมาแล้ว มาแล้ว ทุกคนระวัง…!!” อะไรประมาณนี้
2. Active Sonar สำหรับการค้นหาในโหมดแอคทีฟซีพ (Active) ระบบโซนาร์จะแพร่คลื่นเสียงออกไปในทะเล เมื่อคลื่นเสียงกระทบวัตถุที่เป็นของแข็ง เสียงจะสะท้อนกลับมายังเรือติดตั้งโซนาร์อีกที คล้ายคลึงกับการใช้คำสั่งปิง (Ping) บนเครื่องคอมพิวเตอร์ โซนาร์จะทำการปิงเพื่อแพร่คลื่นเสียงออกไปติดต่อกัน ยกตัวอย่างจากภาพยนต์สงคราม ที่มีเจ้าหน้าที่นั่งอมทุกข์เฝ้ามองหน้าจอสีเขียว แล้วก็มีเสียงดัง ปิ๊ง………ปิ๊ง……ปิ๊งปิ๊ง ปิ๊งๆๆๆๆ ตลอดเวลาประมาณนี้
Passive Sonar จะให้แค่เพียงข้อมูลทางแบริ่ง (Bearing) ส่วน Active Sonar จะได้ทั้งแบริ่งและพิกัดระยะ (Range) จึงค้นหาตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ทว่าอีกฝ่ายก็อาจค้นหาเราได้จากคลื่น Active Sonar เช่นกัน
เจ้าหน้าที่ไทยกำลังทดสอบใช้งานระบบโซนาร์บนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ USS CURTS (FFG 38) ประเทศอเมริกา ระหว่างการฝึกร่วม CARAT Exercise 2001 โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำเรือคอยให้คำแนะนำ
ระบบโซนาร์กองทัพเรือไทยยุคเริ่มต้น
ปี 1916 ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยอังกฤษและอเมริกา ได้คิดค้นระบบตรวจจับเรือดำน้ำขึ้นมาสำเร็จ โดยใช้ชื่อเรียกว่า ASDIC (Anti-Submarine Detection and Identification Commission) ซึ่งเป็นชื่อย่อของคณะกรรมการค้นคว้าการปราบเรือดำน้ำ นับเป็น Active Sonar รุ่นแรกสุดของโลก แม้จะมีระยะทำการแค่เพียง 1 ไมล์ทะเล แต่ทำให้การรับมือเรืออูของเยอรมันดีกว่าเดิม ภารกิจปราบเรือดำน้ำประสบความสำเร็จมากขึ้น
ปี 1947 กองทัพเรือไทยซื้อเรือคอร์เวตชั้น Flower มือสามจำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) เรือชั้นนี้ออกแบบมาเพื่อปราบเรือดำน้ำเป็นภารกิจหลัก ทั้งยังเป็นรุ่นใหม่ที่ปรับปรุงให้ทันสมัยมากกว่าเดิม เป็นเรือลำของไทยที่ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog เป็นเรือลำแรกของไทยที่ติดตั้งระบบเรดาร์ตรวจการณ์และชี้เป้า Type 271 ซึ่งสามารถตรวจจับเรือดำน้ำเยอรมัน (ขณะลอยลำ) ได้ไกลถึง 2,500 เมตร หรือตรวจจับกล้องเพอริสโคปได้ไกลถึง 900 เมตร 
และยังเป็นเรือลำแรกของราชนาวีไทย ที่มีการติดตั้งระบบโซนาร์ค้นหาและโจมตีรุ่น Type 144 ซึ่งเป็นระบบโซนาร์แบบ Retractable (สามารถหดเข้ามาเก็บใต้ท้องเรือได้) มีระยะตรวจจับไกลสุด 2,500 หลา หรือ 2,286 เมตร พัฒนาต่อจากโซนาร์รุ่น Type 123 ซึ่งติดตั้งบนเรือชั้น Flower รุ่นแรก ๆ เป็นโซนาร์แบบส่องหรือ Search Light Sonar ทำงานด้วยความถี่สุงและมีกำลังส่งต่ำ โดยจะส่งคลื่นเสียงออกไปเป็นบีมแคบเพียงบีมเดียว (ขอให้คิดถึงแสงไฟเรียกแบทแมนในรัตติกาลเข้าไว้) เป็นระบบ ASDIC ที่มีการพัฒนาปรับปรุงจนดีกว่าเดิม ทว่าการค้นหาเป้าก็ยังต้องใช้เวลาพอสมควร
เรื่องน่าเศร้าประการหนึ่งที่ต้องเขียนไว้ในบทความ เรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำจากอังกฤษทั้งสองลำ ถูกขายมาให้ในสภาพไม่ค่อยสมบรูณ์นัก ทั้งยังขาดการซ่อมบำรุงที่ดีจากเจ้าของใหม่ด้วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัยจึงได้รับผลกระทบ เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) เข้าร่วมทำสงครามเกาหลีระหว่างปี 1950 ถึง 1951 ระหว่างการปฎิบัติภารกิจ 2 ปีเต็ม ระบบเรดาร์ Type 271 ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือบางช่วงเวลาก็ทำงานไม่ได้เลย จึงคาดการณ์ได้ว่าระบบโซนาร์ Type 144 ก็คงประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
แผงควบคุมระบบ ASDIC กองทัพเรือออสเตรเลีย การใช้งานต้องสวมหูฟังแบบในภาพด้านขวามือ สี่เหลี่ยมสีเหลืองคือ Gear ASDIC ในโดมโซนาร์รุ่นแรก ใช้งานในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง


เรือตรวจการณ์ PCT-1 ความยาว 70 ฟุตของอเมริกา ติดตั้งระบบ ASDIC รุ่นเล็กกลางเรือ เครื่องยิงระเบิดลึก Y-gun 2 ระบบจำนวน 4 ลูก (ติดตั้งเพิ่มได้อีก 4 ลูก) และรางระเบิดลึก Mark 4 บรรจุระเบิดลึกขนาด 136 กก.ได้จำนวน 4 ลูก เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำ
ระบบโซนาร์จากอเมริกา
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด คณะกรรมการค้นคว้าการปราบเรือดำน้ำแยกย้ายบ้านใครบ้านมัน อังกฤษพยายามพัฒนาระบบตรวจจับใต้น้ำให้ดียิ่งขึ้น ทว่าติดขัดเรื่องงบประมาณจึงไม่ค่อยรุดหน้า ส่วนอเมริกาได้ก่อตั้ง University of California Division of War Reserch (UCDWR) ขึ้นมา สถาบันแห่งนี้ได้ช่วยพัฒนาระบบตรวจจับใต้น้ำรุ่นใหม่ โดยใช้ชื่อเรียกว่า Sonar หรือ Sound navigation and ranging ผมงานชิ้นแรกสุดก็คือระบบโซนาร์ QA ในปี 1933 ทำงานย่านความถี่15 ถึง 20 kHz โดยใช้เทคโนโลยี Transducer สำหรับการเปลี่ยนกำลังไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียง ตามติดมาด้วยระบบโซนาร์ตระกูล QB และ QC ซึ่งได้ติดตั้งบนเรือรบอเมริกาจำนวนมากกว่า 800 ลำ (โซนาร์ QA ทดสอบติดตั้งบนเรือพิฆาตจำนวน 8 ลำ) ส่วนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำและเรือขนาดเล็กกว่า ซึ่งหลังสงครามโลกยังคงเหลืออยู่จำนวน 1,204 ลำนั้น มากกว่า 80 เปอร์เซนต์ยังคงใช้ระบบ ASDIC รุ่นเล็กในการตรวจจับเรือดำน้ำ เพราะมีขนาดกระทัดรัดพอดีกับขนาดเรือ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แนวคิดระบบโซนาร์ของเมริกาและอังกฤษค่อนข้างแตกต่าง อเมริกาพัฒนาโซนาร์แบบกราด หรือ Scanning Sonar ค้นหาได้รอบตัวโดยการส่งคลื่นโซนาร์เพียงครั้งเดียว ส่วนอังกฤษยังคงยึดมั่นระบบโซนาร์แบบส่อง ด้วยแนวความคิดที่ว่า การส่งคลื่นโซนาร์ออกไปเพียงบีมเดียวย่อมมีกำลังส่งสูงกว่า จึงมีโอกาสจับเป้าได้มากกว่าและไกลกว่า โดยปรับปรุงให้ส่งได้ถึง 5 ถึง 9 บีมติดต่อกัน เพื่อช่วยลดเวลาในการค้นหาเป้าหมาย
กระทั่งปี 1958 ข้อจำกัดแนวคิดทั้งสองได้สิ้นสุดลง เมื่อมีการพัฒนาวิธีส่งคลื่นแบบ RDT หรือ Rotating Directional Transmission ด้วยการรวมข้อดีทั้งสองระบบไว้ด้วยกัน โดยการส่งคลื่นเป็นบีมแคบติดต่อกันกระทั่งรอบตัว ทำให้มีกำลังส่งสุงค้นหาได้รอบตัว ปลายปี 1958 อเมริกาพัฒนาระบบโซนาร์ระยะไกล AN/SQS - 23 โดยใช้ระบบ RDT มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 40,000 หลา หรือ 36.57 กิโลเมตร ทำงานย่านถี่ตํ่าแค่ 4.5 ถึง 5.5 KHz กำลังส่งสูงกว่าโซนาร์รุ่นเก่าเกือบ100 เท่า
ปี 1947 อเมริกาโอนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 จำนวน 3 ลำให้กองทัพเรือไทย ในเวลาต่อมาเราได้จัดหาเพิ่มจำนวน 5 ลำ รวมทั้งหมดจำนวน 8 ลำด้วยกัน เรือชั้น PC-461 ติดตั้งระบบค้นหาเรือดำน้ำครบทุกลำ (ส่วนใหญ่เป็น ASDIC Type 119 ซึ่งลดย่านความถี่เหลือเพียง 14 ถึง 22 KHz) เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลว่าอเมริกาถอดระบบออกก่อนส่งมอบให้ไทย จึงขอนับว่าเป็นเรือลำแรกที่ติดตั้งระบบโซนาร์จากอเมริกา
 ปี 1951 กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงท่าจีน (ลำที่สอง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่สอง) ติดตั้งระบบโซนาร์ QBF ปี และในปี 1959 กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Cannon จำนวน 1 ลำ ได้แก่ เรือหลวงปิ่นเกล้า ติดตั้งระบบโซนาร์ QCJ ต่อได้มีการติดตั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-17B ทดแทนระบบโซนาร์ QBF รวมทั้งบนเรือชั้น PC-461 บางลำ และติดตั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-11 ทดแทนระบบโซนาร์ QCJ เพิ่อรองรับการใช้งานติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่น Mark 44 Mod 1 นั่นเอง
                ภาพถ่ายเรือหลวงปิ่นเกล้าในปี 1969 เป็นเรือลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทยที่ติดตั้งระบบโซนาร์ QCJ
ปี 1971 และ 1973 กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น PF-103 จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงตาปี และเรือหลวงคีรีรัฐ ติดตั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-17B ทำงานร่วมกับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่น Mark 44 Mod 1 เป็นเรือรบใหม่เอี่ยมลำแรกของไทยที่สร้างโดยอเมริกา ใช้งบประมาณกองทัพเรือและงบช่วยเหลือทางทหารอเมริกา
ปี 1973 กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือฟริเกตอีก 1 ลำ ได้แก่ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร สร้างโดยอู่ต่อเรือยาร์โรว์ประเทศอังกฤษ ติดตั้งระบบโซนาร์ค้นหาและโจมตี Plessey PMS-26 ทำงานร่วมกับเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Limbo ที่กล่าวทั้งหมดคือระบบโซนาร์กองทัพเรือไทยยุคเริ่มต้น ซึ่งได้ปลดประจำการหรือใช้งานไม่ได้แล้ว ช่วงเวลาหลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ เมื่อกองทัพเรือมีแนวคิดระบบโซนาร์รุ่นมาตราฐาน ติดตั้งบนเรือทุกลำที่ใช้ทำภารกิจปราบเรือดำน้ำ ยกเว้นเรือที่ต่อจากประเทศจีนจำนวน 6 ลำ ด้วยเหตุผลเรื่องงบประมาณและความเข้ากันไม่ได้
ระบบโซนาร์กองทัพเรือไทยยุคปัจจุบัน
ระหว่างปี 1984 กองทัพเรือไทยปรับปรุงใหญ่เรือหลวงตาปีและเรือหลวงคีรีรัฐ หนึ่งในนั้นคือการติดตั้งระบบโซนาร์ DSQS-21C ทดแทนระบบโซนาร์ AN/SQS-17B ปีถัดไปถึงคิวของเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซึ่งเกิดอุบัติเหตุไฟใหม้ห้องเครื่องยนต์จนต้องซ่อมใหญ่ รวมทั้งติดตั้งระบบโซนาร์ DSQS-21C ทดแทนระบบโซนาร์ Plessey PMS-26 และนี่ก็คือปฐมบทระบบโซนาร์กองทัพเรือไทยยุคปัจจุบัน
การใช้งานระบบโซนาร์นั้น ไม่แตกต่างไปจากราชนาวีทั่วโลก โดยใช้สำหรับภารกิจสำรวจและค้นหา (Search) การโจมตีเป้าหมาย (Attack) การสร้างเสียงรบกวน (Noise making) การเดินเรือ (Navigation) การสำรวจพื้นท้องทะเล (Bottom search) การติดต่อสื่อสาร (Communication) การสมุทรศาสตร์ (Oceanographic) การสกัดกั้นแอคทีฟ (Active interrupt) การเตือนภัยตอร์ปิโด (Torpedo warning) การจำแนกชนิดเป้าหมาย (Classification) การเตือนเสียงรบกวนของตัวเรือ (Self noise monitoring) การหลบหลีกทุ่นระเบิด (Mine Avoidance) รวมทั้งการวัดพิกัดระยะเป้าหมายทางพาสซีฟ (Passive range) ราชนาวีไทยประจำการระบบโซนาร์จำนวน 8 รุ่น แต่ผู้เขียนจะเขียนถึงมากกว่านิดหน่อย
ระบบโซนาร์ DSQS–21C
นี่คือระบบโซนาร์หัวเรือ ( Hull Mounted Sonar หรือ Bow Sonar) รุ่นมาตราฐานกองทัพเรือไทย มีชื่อทางการค้าอีกชื่อหนึ่งว่า ASO 85 ผลิตโดย Krupp Atlas Elektronik ประเทศเยอรมัน นับเป็นระบบโซนาร์ยุคใหม่อย่างแท้จริง ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการค้นหา พิสูจน์ทราบ และติดตามเป้าหมาย แสดงผลข้อมูลผ่านหน้าจอด้วยสี 3 สี คือ แดง เขียว และ เหลือง ทำให้สะดวกในการใช้งานมากกว่าเดิม ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive มีขนาดกระทัดรัดติดตั้งบนเรือได้หลายขนาด ภายในโดมโซนาร์รูปทรงเพรียวน้ำทำจากเหล็ก ติดตั้งทรานสดิวเซอร์รูปทรงกระบอก (Cylindrical Arrays) ประกอบไปด้วยตัวทรานสดิวเซอร์ขนาดเล็กจำนวน 6 แถว ๆ ล่ะ 32 ตัว สามารถแพร่คลื่นเสียงในการบีมได้ทั้งทางตั้ง (Vertical) และแนวราบ (Horizonta)
ระบบโซนาร์ DSQS-21C พัฒนาต่อจากโซนาร์ DSQS-21B ของกองทัพเรือเยอรมัน เพราะเป็นรุ่นส่งออกจึงตัดออปชั่นบางส่วนออก ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นรุ่น DBQS-21D ติดตั้งบนเรือดำน้ำชั้น Type 206A ที่ผู้อ่านทุกท่านคุ้นเคยกันดี สามารถติดตามเป้าหมายแบบ ATT ( Automatic Target Tracker) ได้พร้อมกันจำนวน 3 เป้าหมาย ตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำได้ครบ 360 องศา สามารถเลือกส่งความถี่ไกลสุดได้ถึง 29 กิโลเมตร แต่มีระยะตรวจจับหวังผลประมาณ 12 กิโลเมตร เรือที่ติดตั้งโซนาร์รุ่นนี้มีจำนวนรวม 8 ลำ ได้แก่ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงคำรณสินธุ เรือหลวงทยานชล และเรือหลวงล่องลม
ภาพพิธีปล่อยเรือหลวงรัตนโกสินทร์ลงน้ำ วันที่ 11 พฤษภาคม 1985 อู่ต่อเรือ Tacoma ประเทศอเมริกา เป็นเรือลำแรกที่ติดตั้งระบบโซนาร์ DSQS-21C ตั้งแต่เริ่มเข้าประจำการ
ระบบโซนาร์ SJD-5A
นี่คือร่างอวตารระบบโซนาร์แบบส่องรุ่น TAMIR-11 (หรือ MG-11) จากสหภาพโซเวียต ซึ่งเข้าประจำการในช่วงต้นทศวรรษ 1950 เพื่อใช้งานควบคู่กับจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 ( หรือร่างอวตารของ RBU-1200) ค้นหาเป้าหมายในโหมด Active เท่านั้น ระยะตรวจจับไกลสุดที่ 7.4 กิโลเมตร ใช้เทคนิคการส่งบีมหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการค้นหาเป้าหมาย แม้จะเป็นระบบโซนาร์เก่าแก่จิ๊กโก๋เรียกป๋า แต่มีความน่าเชื่อถือในค้นหาและติดตามเป้าหมาย รวมทั้งทำงานในสภาวะท้องทะเลไม่ปรกติได้ดีมาก
พัฒนาปรับปรุงจากระบบโซนาร์ SJD-3A ซึ่งก็คือ TAMIR-11เวอร์ชั่นจีนนั่นเอง เปลี่ยนแปลงจากระบบ Retractable สามารถยืดและหดโดมโซนาร์ได้ มาเป็นโดมหัวเรือชนิดตายตัวแบบโซนาร์รุ่นใหม่ ติดตั้ง Transducer Array โดยแช่อยู่ในน้ำจืด ระบบมีขนาดกระทัดรัด น้ำหนักเบา ง่ายต่อการใช้งาน และสะดวกต่อการบำรุงรักษา เรือที่ติดตั้งระบบโซนาร์แบบ SJD-5A มีจำนวนรวม 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี
โดมโซนาร์บริเวณหัวเรือเรือหลวงบางปะกง ติดตั้งระบบโซนาร์รุ่น SJD-5A ในภาพทำสีโดมเข้มกว่าเรือลำอื่นของราชนาวีไทย (ที่มักทาสีแดงเหมือนกันกับบริเวณใต้ท้องเรือ)
ระบบโซนาร์ SJD-7A
นี่คือร่างอวตารระบบโซนาร์รุ่น DE-1164 จากอิตาลี จีนได้นำมาปรับปรุงเรื่องตัดเสียงรบกวน และลดการสั่นสะเทือนระหว่างใช้งาน ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive ระยะตรวจจับไกลสุดที่ 9.3 กิโลเมตร เข้าประจำการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 ส่วนเวอร์ชั่นจีนนับเพิ่มเข้าไปอีก 10 ปี เรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสิน เคยติดตั้งโซนาร์รุ่นนี้ ช่วงเข้าประจำการ ทว่าหลังการปรับปรุงใหญ่ในปี 2014 ได้ติดตั้งระบบโซนาร์ Atlas Elektronik DSQS-24C ทดแทน โซนาร์ทำงานร่วมกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk-46 Mod 5 ได้เป็นอย่างดี ไม่ทราบสถานะปัจจุบันว่าสุขสบายมากน้อยแค่ไหน
               โดมโซนาร์บริเวณหัวเรือเรือหลวงตากสิน เคยติดตั้งระบบโซนาร์รุ่น SJD-7A ตั้งแต่เริ่มเข้าประจำการ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นรุ่น DSQS-24C ในปัจจุบัน
ระบบโซนาร์ AN/SQS–26 CX
นี่คือระบบโซนาร์หัวเรือระยะไกลตัวแรกและตัวเดียวของกองทัพเรือไทย ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นระบบตรวจจับเรือดำน้ำมาตราฐานอเมริกา ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive ทำงานโหมด Active ที่ย่านความถี่ 3.102 ถึง 3.91kHz ทำงานโหมด Passive Broad Band ที่ย่านความถี่ 1.5 ถึง 2.5 KHz และโหมด Passive Narrow Band ที่ย่านความถี่ 0.1 ถึง 2.6 KHz มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 50 ไมล์ทะเล หรือ 92.75 กิโลเมตร ส่วน  AN/SQS-26 AXR ซึ่งเป็นรุ่นแรกสุด มีระยะตรวจจับไกลสุด 40 ไมล์ทะเล หรือ 74.2 กิโลเมตร
AN/SQS–26 ออกแบบมาเพื่อรับมือกับเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของโซเวียต รวมทั้งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็น มีขนาดโดมโซนาร์ที่ค่อนข้างใหญ่ เหมาะสมกับเรือรบขนาดใหญ่เท่านั้น ระยะตรวจจับเป้าหมายค่อนข้างไกล เป็นระบบโซนาร์หัวเรือมาตราฐานกองทัพเรืออเมริกา ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ถึง 1950 ประจำการบนเรือรบจำนวน 8 รุ่น จำนวนเรือที่ติดตั้งมากกว่า 100 ลำ ทั้งยังได้รับการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม และกลายมาเป็นระบบโซนาร์รุ่น AN/SQS – 53 ที่มีใช้งานในปัจจุบัน ประจำการกองทัพเรืออเมริกาและญี่ปุ่น จำนวนเรือติดตั้งมากกว่า 100 ลำเช่นกัน
ระบบโซนาร์หัวเรือระยะไกล AN/SQS–26 CX ติดตั้งในโดมโซนาร์บริเวณหัวเรือเรือหลงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในภาพอยู่ระหว่างการเข้าอู่ลอยเพื่อทาสีเรือใต้ท้องเรือใหม่ ยังไม่เสร็จนะครับเพิ่งจะรองพื้นเท่านั้น
ระบบโซนาร์ AN/SQS–35 IVDS
นี่คือระบบโซนาร์ชักหย่อน (Variable Depth Sonar) รุ่นแรกของกองทัพเรือไทย ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ระดับความลึกในการปล่อยตั้งแต่ 50 ถึง 600 ฟุต ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive ทำงานย่านความถี่ 11.9 ถึง 14.1 KHz โดยมีโหมดในการส่งคลื่นจำนวน 2 แบบ แต่ 5 โหมด ได้แก่ แบบ ODT (Omnidirectional Transmission) 1 โหมด และแบบ RDT (Rotating Directional Transmission) อีก โหมด
เป็นระบบโซนาร์ที่มีความถี่ในการส่งสูงแต่มีกำลังในการส่งต่ำ มีระยะตรวจจับไกลสุด 10 ไมล์ทะเล หรือ 18.55 กิโลเมตร เริ่มเข้าประจำการปลายทศวรรษ 1960 บนเรือรบอเมริกาและสมาชิกองค์การนาโต้อีกหลายประเทศ
ระบบโซนาร์ AN/SQS–35 IVDS ถูกปล่อยจากท้ายเรือฟริเกตชื่อ Fong Yang FF-933 ของกองทัพเรือไต้หวัน โดยเป็นเรือชั้นเดียวกับเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ระบบโซนาร์ AN/SQR–18 A(V)1
นี่คือระบบโซนาร์ลากท้าย (Towed Array Sonar) รุ่นแรกของกองทัพไทยเช่นกัน ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีชื่อเต็มว่า AN/SQR-18A(V)1 Sonar Tactical Towed Array System (TACTAS) ทำงานร่วมกับระบบโซนาร์ชักหย่อน SQS–35 โดยจะต้องปล่อยลงน้ำในภายหลังเท่านั้น ระดับความลึกสุงสุดในการปล่อยอยู่ที่ 600 ฟุต ความยาวสายลากโซนาร์หรือ Towed Array อยู่ที่ 612 ฟุต ค้นหาเป้าหมายในโหมด Passive จึงมีความเงียบเป้าหมายตามรอยได้ยาก ทำงานโหมด Passive Broad Band ที่ย่านความถี่ 300 ถึง 1,300 Hz และโหมด Passive Narrow Band ที่ย่านความถี่ 50 ถึง 1,300 Hz แต่เพราะถูกรบกวนโดยเสียงจากเรือมีความถี่ต่ำ (Higher Beam Noise) การทำงานในโหมด Passive Narrow Band มีความถี่จำกัดอยู่ในช่วง 140 ถึง 1,300 Hz
AN/SQR-18A(V)1 ตรวจับเป้าหมายได้โดยอัตโนมัติ ก่อนส่งผลการวิเคราะห์กลับมายังเครื่องรับ สายรับสัญญาณ (Towed Array) ต่ออยู่กับตัว Towed Body (มีชื่อเรียกว่า FISH หรือปลา) ของโซนาร์ AN/SQS - 35 (V) จึงต้องปรับตามระดับความลึกของตัว Towed Body ไปด้วย สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบโซนาร์หัวเรือ AN/SQS - 26 CX ทำงานแบบบูรณาการเพื่อช่วยกันค้นหาเป้าหมายใต้น้ำ
ก่อนหน้านี้เราเคยมีระบบโซนาร์ AN/SQR–18 A(V)2 ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย ทว่าเรือได้ปลดประจำการเป็นที่เรียบร้อย จึงเหลือแค่เพียงรุ่น (V)1 จำนวน 1 ระบบ ส่วนรุ่นใหม่กว่าคือ (V)3 ราชนาวีไทยไม่มีครับ
ระบบโซนาร์ AN/SQR–17A(V)2
นี่คือระบบโซนาร์วิเคราะห์สัญญาณเสียง (Sonar Signal Processing Set) รุ่นแรกสุดเช่นกัน ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สำหรับวิเคราะห์สัญญาณเสียงที่ได้รับจาก Sonobuoy โดยตรง หรือรับข้อมูลผ่านระบบ Link จากอากาศยานปีกหมุน โดยจะวิเคราะห์สัญญาณ Passive Narrow Band ที่ได้รับจากระบบโซนาร์ AN/SQS – 26 CX อีกที ระบบโซนาร์ SQR–18 ทำงานย่านความถี่ตั้งแต่ 0 ถึง 3.4 KHz
จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้เขียนมือเป็นระวิง จะเห็นได้ว่าเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใช้ระบบโซนาร์ทำงานร่วมกันถึง 4 ระบบ ทั้งยังสามารถรับสัญญานข้อมูลจากโซโนบุย ที่อากาศยานปีกหมุนนำไปปล่อยในทะเลได้ นับเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุดของราชนาวีไทย เทียบกับเรือฟริเกตลำใหม่ล่าสุดคือเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 3) ลำหลังได้เปรียบเรื่องระบบต่อสู้อากาศยานและระบบต่อต้านเรือผิวน้ำ แต่ยังเป็นรองในเรื่องระบบต่อสู้เรือดำน้ำ จนกว่าจะติดตั้งอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC เพิ่มเติม จึงจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงชนิดต้องใช้ภาพถ่าย
ระบบโซนาร์ Atlas Elektronik DSQS-24C
นี่คือระบบโซนาร์หัวเรือรุ่นล่าสุดของราชนาวีไทย มีชื่อทางการค้าอีกชื่อหนึ่งว่า Atlas Elektronik ASO 94 ทำงานในย่านความถี่ปานกลาง ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ที่ความถี่ 6 ถึง 9 KHz และโหมด Passive ที่ความถี่ 1 ถึง 11 KHz ตรวจจับได้ทั้งเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ หรือวัตถุขนาดเล็ก ได้แก่ ยานใต้น้ำไร้คนขับ และทุ่นระเบิด สามารถแจ้งเตือนภัยเมื่อตรวจพบตอร์ปิโด รวมทั้งใช้สื่อสารกับเรือดำน้ำฝ่ายเดียวกัน ประจำการบนเรือฟริเกตจำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน รวมทั้งเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 3 ) ที่เพิ่งทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 23 มกราคม 2017
โซนาร์ DSQS-24C หรือ ASO 94 พัฒนาปรับปรุงจากโซนาร์ DSQS-23B หรือ ASO-90 ซึ่งประจำการบนเรือฟริเกตชั้น F-122 และ F-123 ของเยอรมัน ส่วนโซนาร์ DSQS-23B ก็พัฒนาปรับปรุงจากโซนาร์ DSQS-21B หรือ ASO-80 อีกทอดหนึ่ง ทหารเรือไทยจึงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเคยมีประสบการณ์จากโซนาร์ DSQS-21C มาอย่างยาวนาน เป็นระบบตรวจจับเรือดำน้ำมาตราฐานกอทัพเรือเยอรมัน เพียงแต่เป็นรุ่นส่งออกที่ตัดออปชั่นบางอย่างออก
เกียร์โซนาร์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.88 เมตร อยู่ภายในโดมหัวเรือหรือใต้ท้องเรือบริเวณสะพานเดินเรือ สามารถเลือกส่งความถี่ไกลสุด 40 กิโลเมตร และมีระยะตรวจจับหวังผลอยู่ที่ 15 กิโลเมตร โซนาร์ถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ F-124 หรือชั้น Sachsen ของเยอรมัน เรือฟริเกตชั้น Ivar Huitfeldt และชั้น Absalon ของเดนมาร์ค รวมทั้งเรือฟริเกตชั้น Dutch Zeven Provincien ของเนเธอร์แลนด์ ในทวีปเอเชียนอกจากประเทศไทยแล้ว ยังติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น F-22P ของปากีสถานจำนวน 4 ลำด้วย เป็นเรือฟริเกตที่สร้างโดยจีนและติดตั้งระบบโซนาร์เยอรมัน
เรือฟริเกตชั้น DW-3000F ลำแรกสุดของโลก ได้รับพระราชทานชื่อว่าเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ ) ในภาพอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่อู่ต่อเรือ DSME เกาหลีใต้ ติดตั้งโดมโซนาร์ DSQS-24C ใต้สะพานเดินเรือพอดิบพอดี

ระบบโซนาร์ Atlas Electronics ACTAS (Active Towed Array Sonar)
นี่คือระบบโซนาร์ลากท้ายรุ่นล่าสุดของราชนาวีไทย ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ด้วยระบบ Active Variable-Depth Towed Body ติดตั้ง Transducer จำนวน 2 ชุดพร้อมสายเคเบิ้ลยาว 400 เมตร และค้นหาเป้าหมายในโหมด Passive ด้วยระบบ Dependent Passive Towed Array จำนวน 2 ชุด พร้อมสายเคเบิ้ลยาว 500 เมตร ต่อพว่งจาก Active Variable-Depth Towed Body อีกที ระยะตรวจจับตั้งแต่ 2 ถึง 60 กิโลเมตร สามารถใช้ระบบ ATLAS Modular ASW Combat System (AMACS) ควบคุมระบบโซนาร์ DSQS-24C และ ACTAS ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กองทัพเรือไทยสั่งซื้อ ACTAS จำนวน 1 ระบบเพื่อติดตั้งบนเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 3 ) แต่ว่าเป็นคำสั่งซื้ออันดับ 2 นะครับ เพราะกองทัพเรืออินเดียเป็นลูกค้ารายแรกสุด โดยได้สั่งซื้อจำนวนมากถึง 6 ระบบ เพื่อติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น Talwar จำนวน 3 ลำ และเรือพิฆาตชั้น Delhi จำนวน 3 ลำ มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 40 ล้านยูโร นำมาหารกันง่าย ๆ ได้ราคาหน่วยล่ะ 6.66 ล้านยูโรหรือ 245.2 ล้านบาท ของเราคงแพงกว่านิดหน่อยเพราะสั่งซื้อแค่เพียง 1 ระบบ
บริเวณท้ายเรือเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ ) มีช่องสำหรับติดตั้งระบบโซนาร์ ACTAS (Active Towed Array Sonar) เป็นสัญญานบ่งบอกว่าพ่อแท๊กซี่เขียว-เหลืองหางยาวมาแน่นอน

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนแอบยิ้มมุมปากก็คือ เรือรบปากีสถานใช้ระบบเรดาร์หัวเรือจากเยอรมัน ส่วนเรือรบอินเดียใช้ระบบโซนาร์ท้ายเรือจากเยอรมัน นำมารวมกันได้เป็นเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 3) ของไทย ขณะที่เรือรบลำใหม่เอี่ยมของเยอรมันคือเรือชั้น F-125 ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรือฟริเกตลำใหญ่ที่สุดในโลก (7,200 ตัน) ติดตั้งเพียงโซนาร์วัดความลึกสำหรับเดินเรือ ไม่มีอุปกรณ์ตรวจจับเรือดำน้ำแม้แต่ชิ้นเดียว (ไม่นับบนอากาศยานประจำเรือ) ราคาเรือลำหนึ่งแปรผันกับอุปกรณ์บนเรือเสมอไป
บทส่งท้าย
มหากาพย์อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ได้เดินทางมาถึงตอนจบที่แท้จริงในที่สุด ผู้เขียนขอข้ามเรื่องอากาศยานปราบเรือดำน้ำ ด้วยว่าเนื้อหามีน้อยเพราะมีแค่เพียง 2 รุ่น และอาจเขียนถึงในบทความอากาศยานปราบเรือดำน้ำ ทั่วโลก ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 อ้างอิงจาก

ภาพประกอบอ้างอิงจาก

2 ความคิดเห็น:

  1. กราบขอบพระคุณคุณSuperBoyมากครับที่สรรสร้างบทความดีๆแบบนี้ออกมา อย่าหยุดเขียนนะครับ 55555

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ยินดีครับ ปีนี้ว่าจะเขียนเรื่อยๆ อย่างน้อยเดือนล่ะ 1 บทความ

      ลบ