วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

1933 Thai Army Vehicles รถถังยานเกราะไทยในเหตุการณ์กบฎบวรเดช

    กบฏบวรเดช (Bavoradej rebellion) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม  2476 ถือเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สาเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และชนวนสำคัญที่สุดก็คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ จนนำไปสู่การใช้กำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช


      เหตุการณ์ในครั้งนี้กินระยะเวลารวม 15 วัน เป็นการสู้รบกันระหว่างทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และอยุธยา โดยเรียกชื่อตัวเองว่าคณะกู้บ้านกู้เมือง กับทหารฝ่ายรัฐบาลในกรุงเทพที่มีอาวุธประสิทธิภาพสุง ผลการสู้รบทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตรวม 17 นาย ฝ่ายกบฏเสียชีวิตพอๆกันแต่ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน ท้ายที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถเอาชนะและจับกุมตัวฝ่ายกบฎส่วนใหญ่ได้ ต่อมาภายหลังได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรืออนุสาวรีย์หลักสี่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้

    กบฏบวรเดชมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ไปว่าจะเป็นมูลเหตุที่มาที่ไป รายละเอียดและแผนการสู้รบของทั้งสองฝ่าย บทสรุปของเหตุการณ์และผลกระทบที่ตามมา รวมถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังที่เชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงรายละเอียดแค่ที่จำเป็น แต่จะเทน้ำหนักไปยังรถถัง ยานเกราะ และอาวุธสำคัญๆทั้งหลายแทน ทั้งนี้เป็นเพราะอาวุธดังกล่าวมีรายละเอียดและความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และมีนัยยะสำคัญเชื่อมโยงไปสู่เหตุการณ์อื่นๆในภายหลังด้วย ภาพและข้อมูลส่วนใหญ่ผู้เขียนอ้างอิงจากที่นี่ครับ

                      ------->  http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0

อากาศยาน  

 
    เริ่มต้นกันที่อากาศยานสำคัญๆในเหตุการณ์นี้ก่อนเลยครับ ในช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพอากาศเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกองทัพบก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากกองบินทหารบกในปี 2456 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมอากาศยานทหารบกในวันที่ 19 มีนาคม 2461 และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นกรมอากาศยานในวันที่ 1 ธันวาคม 2464 กระทั่งวันที่ 9 เมษายน 2480 จึงได้ถูกยกฐานะเป็นกองทัพอากาศในที่สุด และมีการจัดงานวันกองทัพอากาศทุกปีในวันนี้

    วันที่ 9 ตุลาคม 2476 นักบินผู้หนึ่งชื่อเรืออากาศโทขุนไสวมัณยากาศ ได้บังคับเครื่องบินลงจอดที่สนามมณฑลทหารราชบุรี และได้ยื่นจดหมายฉบับหนึ่งให้แก่พลตรีพระยาสุรพันธเสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑล ก่อนแจ้งว่าเป็นสาสน์จากพระองค์เจ้าบวรเดช และนั่นก็ทำให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวกับตาตัวเอง จึงรีบเดินทางกรุงเทพเพื่อเตรียมตัวรับมือโดยเร่งด่วน พูดว่านักบินผู้นี้ทำแผนแตกหรือดวงซวยมากก็คงไม่ผิด แต่อันที่จริงแล้วฝ่ายรัฐบาลรู้ระแคะระคายเรื่องการก่อกบฎมานานพอสมควร ได้มีการเตรียมรับมือและตัดทอนอาวุธของทหารหัวเมืองไว้ก่อนหน้านี้ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นใครและจะลงมือกันวันไหนที่ไหนกันแน่

    คืนวันที่ 11 ตุลาคม 2476 คณะกู้บ้านกู้เมืองได้เคลื่อนพลจากนครราชสีมาเข้ายืดสถานีรถไฟดอนเมือง หลักสี่ บางเขน และพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งสนามบินดอนเมืองด้วย ในเวลานั้นเองนักบินจากฐานบินอื่นๆได้รับคำสั่งลวงให้มาแข่งเทนนิสที่ดอนเมือง โดยให้นำเครื่องบินรบประจำตัวมาด้วย เมื่อรู้ความจริงเข้าพวกเขาจึงประกาศวางตนเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใด 3 วันต่อมามีนักบิน 2 นายลักลอบนำเครื่องบินนิเออร์ปอร์ต เดอลาจ หลบหนีออกมาได้สำเร็จ เครื่องบินลำแรกลงจอดฉุกเฉินในสนามหลวงสำเร็จ แต่อีกลำตกในเขตพระราชฐานชั้นในนักบินเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อทหารฝ่ายรัฐบาลยืดดอนเมืองคืนจากอีกฝ่ายได้แล้ว จึงได้สั่งให้นักบินจำนวนหนึ่งนำเครื่องบินไล่ตามคณะกู้บ้านกู้เมืองไป จนกระทั่งได้มาเจอกองกำลังส่วนใหญ่ที่แถวๆปากช่อง เหล่านักบินดวงตกทำหน้าที่ตัวเองโดยทิ้งระเบิดใส่ทุ่งนาแล้วกลับมารายงานผล ฝ่ายรัฐบาลจึงได้รู้ที่ตั้งของอีกฝ่ายอย่างชัดเจนแม้จะไม่ค่อยปลื้มผลงานนักบินนัก

    เครื่องบินขับไล่ 2 ที่นั่งแบบ ข.2 นิเออร์ปอร์ต เดอลาจ หรือ Nieuport-Delage NiD 29 เป็นเครื่องบินที่ซื้อมาจากฝรั่งเศสทำความเร็วได้สุงสุด 235 กม./ชม. มีระยะทำการ 580 กม. ติดอาวุธปืนกลขนาด 7.7 มมจำนวน  2 กระบอก กองบินทหารบกนำเข้าประจำการในปี 2462 จำนวน 4 ลำ นอกจากนี้ยังได้ให้กรมช่างอากาศสร้างเพิ่มในปี 2467 อีกจำนวนหนึ่งด้วย ผลงานในการรบไม่ปรากฎแน่ชัดแต่มีบางเหตุการณ์ที่สำคัญๆคือ

    วันที่ 19 กรกฎาคม 2469 นายเรือโททองพูล ชื่นสุวรรณ กับนายสิบตรีทองเจือ  อ่างแก้ว  ศิษย์การบินชั้นมัธยมได้นำเครื่องบินนิเออปอรต์เดอลาจจำนวน 2 ลำทำการฝึกบินที่สนามบินโคกกระเทียม  ที่ระดับความสูงประมาณ 800 เมตรเครื่องบินทั้งสองลำได้ชนกันกลางอากาศ เครื่องบินของนายร้อยโท ทองพล ชื่นสุวรรณตกลงกระแทกพื้นนักบินเสียชีวิตทันที ส่วนเครื่องบินของนายสิบตรี ทองเจือ อ่างแก้วควงสว่านลงปะทะยอดไม้ นักบินกระโดดออกจากเครื่องบินทันแต่ได้รับบาดเจ็บพอสมควร นับเป็นการชนกันทางอากาศครั้งแรกในประเทศไทย

     วันที่ 15 พฤศจิกายน 2472 นายร้อยโทนาม  พันธุ์นักรบผู้ช่วยผู้บังคับฝูงบินที่ 4 ตำบลโคกกะเทียม จังหวัดลพบุรี ได้นำเครื่องบินนิเออปอรต์เดอลาจทำการบินผาดแผลงในระยะสูงประมาณ 1,000 เมตร ทว่าเครื่องบินได้เกิดไฟไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ นักบินถูกไฟลวกและไม่สามารถบังคับเครื่องบินได้แล้ว จึงตัดสินใจโดดร่มชูชีพออกจากเครื่องโดยปลอดภัย นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีนักบินโดดร่มออกจากเครื่องบิน

    จากนั้น ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2473 กรมอากาศยานจึงออกคำสั่งให้กองบินต่าง ๆ จัดการแก้ไขที่นั่งเครื่องบินทุกแบบทุกชนิด ให้ใช้ร่มชูชีพได้ทุกเครื่อง เว้นไว้แต่เครื่องบินนิเออปอรต์ 23 ตารางเมตร

    อากาศยานที่สำคัญลำสุดท้ายก็คือเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบท.1 เบรเกต์ ( BREGUET 14B) วันที่ 24 ตุลาคม 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายา ได้เสด็จโดยเครื่องบินออกจากสนามบินทหารนครราชสีมามุ่งไปยังปลายทางที่พนมเปญ ร้อยเอกหลวงเวหนเหินเห็จคนสนิทเป็นนักบินนำเครื่องไปสู่จุดหมายโดยสวัสดิภาพ กรมอากาศยานมีประจำการเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ 2 หน่วยคือ กองบินใหญ่ที่ 2 (ลาดตระเวน) ดอนเมือง และกองบินใหญ่ที่ 3 (ทิ้งระเบิด) นครราชสีมา นอกจากใช้ในภารกิจทิ้งระเบิดในการศึกสงครามแล้ว เครื่องบินยังมีหน้าที่ตรวจการณ์บินธุรการหรือเป็นเครื่องบินเมล์ และได้มีการดัดแปลงเป็นเครื่องบินพยาบาลเพิ่มเติมอีกด้วย

เรือหลวงสุโขทัยลำที่ 1



    เมื่อพื้นที่แถวดอนเมืองโดนกองกำลังฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองยึดสำเร็จ แผนการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาลที่คิดขึ้นมาแรกสุดก็คือ ให้กองทัพเรือนำเรือหลวงสุโขทัยล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังแถวสะพานพระรามหก จากนั้นในช่วงเช้าตรู่จึงเปิดฉากยิงปืนใหญ่เรือถล่มไปยังที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากสะพานพระรามหกประมาณ 13 กิโลเมตร ทันทีที่ทราบเรื่องผู้บัญชาการทหารเรือก็รีบปฎิเสธทันที เพราะปืนใหญ่ของเรือลำนี้มีอำนาจทำลายล้างสุงมาก เมื่อวังปารุสก์ยังยืนยันที่จะให้ยิงให้จงได้ทหารเรือจึงได้ประกาศวางตัวเป็นกลาง จากนั้นจึงรีบเอาเรือไปจอดทอดสมอที่กรมสรรพาวุธบางนาเพื่อเติมน้ำมันและเสบียง ผู้บัญชาการทหารเรือตัดสินใจนำเรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงเจ้าพระยาออกทะเล เพื่อไปถวายอารักขาพระเจ้าอยู่หัวต่อไม่สนใจคำสั่งจากวังปารุสก์

    เรือหลวงสุโขทัยต่อโดยอู่อาร์มสตรอง วิทเวิร์ธ ประเทศอังกฤษ เป็นแบบเรือเดียวกันกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์ที่เคยซื้อมาก่อนหน้านี้ กองทัพเรือไทยจัดหาเข้าประจำการในวันที่ 6 มิถุนายน 2473 ในราคา 20,300 ปอนด์ จัดอยู่ในประเภทเรือปืนเบารักษาชายฝั่ง มีระวางขับน้ำปกติ 886 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,000 ตัน ความยาวตลอดลำ 52.47 เมตร กว้างสุด 11.85 เมตร กินน้ำลึก 4.80 เมตร ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด152/50 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนใหญ่ขนาด 76/45 มม.อีก 4 กระบอกในเวลานั้น ปลดประจำการในวันที่ 15 ธันวาคม 2513 หลังรับใช้ชาติ 40 ปีเต็ม ภารกิจแรกสุดหลังเข้าประจำการได้เพียง 4 เดือน ก็เกือบจะกลายเป็นการยิงทหารไทยด้วยกันเองเสียแล้ว

 ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63


    ปืนใหญ่ภูเขาขนาดกระทัดรัดรุ่นนี้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น เข้าประจำการกองทัพบกไทยในปี 2463 ปากลำกล้องปืนมีขนาดกว้าง 75 มม. ภายในบรรจุด้วยเกลียวทั้งหมด 32 เกลียว มีระยะยิงไกลสุดถึง 6 กิโลเมตร ใช้พลยิงรวมกันทั้งหมดจำนวน 5 นาย โดยทำหน้าที่ยิงลั่นไก ป้อนกระสุน รับส่งวิทยุ และหาตำแหน่งข้าศึก ถูกจัดให้เป็นอาวุธประจำกองพันทหารปืนใหญ่ทั่วประเทศ สามารถใช้เทียมลากด้วยม้าได้จึงมีความคล่องตัวสุงมาก

    ช่วงต้นของเหตุการณ์กบฎบวรเดชปืนใหญ่รุ่นนี้มีบทบาทมากพอสมควร  คณะกู้บ้านกู้เมืองเคลื่อนขบวนทัพหลักเข้าสู่พระนคร โดยมีกองระวังหน้าจำนวน 2 หมวดใช้รถไฟขบวนเล็กวิ่งล่วงหน้าไปก่อน ตามติดมาด้วยขบวนรถหลักใช้รถข.ต.(ข้างต่ำ) บรรทุกปืนใหญ่ภูเขาไว้ด้านหน้า 2 กระบอกและด้านหลังอีก 3 กระบอก ตรงกลางขบวนจะเป็นตู้โดยสารสำหรับบรรทุกทหารราบ ทหารม้า และทหารปืนใหญ่จำนวน 5 กองพัน รวมทั้งมีตู้ขบวนกองบัญชาการของแม่ทัพกับฝ่ายเสนาธิการด้วย คณะกู้บ้านกู้เมืองตัดสินใจใช้สถานีรถไฟดอนเมืองเป็นฐานทัพหลัก โดยจัดให้ทหารทัพหน้าสุดตั้งมั่นอยู่ที่สถานีบางเขน  ทหารส่วนที่เหลือตั้งแถวเรียงรายยาวมาจนถึงสถานีหลักสี่

    เมื่อทราบข่าวว่าสถานีดอนเมืองโดนยึดเป็นที่แน่ชัดแล้ว ทหารฝ่ายรัฐบาลจึงได้เคลื่อนขบวนทัพจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปยังลานสินค้าของบริษัทปูนซีเมนต์สยามที่สถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟบางเขนไปประมาณ 5 กิโลเมตรเศษๆ จากนั้นจึงเอาปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 มาตั้งเรียงแถวอยู่บนถนนประดิพัทธิ์ ก่อนจะเริ่มระดมยิงใส่ทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองประมาณ 40 นัดเห็นจะได้ กระสุนทั้งหมดลอยข้ามทหารหัวเมืองไปตกท้องนาท้องไร่แถวนั้นหมด โดยที่ทหารปืนใหญ่ของอีกฝ่ายไม่ได้ยิงโต้ตอบเลย เนื่องจากพวกเขามีแต่กระสุนซ้อมยิงหล่อซีเมนต์ที่ใช้ได้ผลในระยะใกล้ๆเท่านั้น ก่อนหน้านี้ไม่นานรัฐบาลได้เรียกเก็บกระสุนจริงจากทั่วประเทศ นัยว่าเพื่อเป็นการป้องกันการก่อกบฎที่เคยได้ข่าวมา

    ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ยังมีบทบาทในฐานะหัวหมู่ทะลวงฟันของกองกำลังฝ่ายรัฐบาล โดยได้นำปืนใหญ่ขึ้นใส่รถข.ต.พร้อมรถถังและหรืออาวุธลับใหม่เอี่ยมอ่อง จากนั้นจึงใช้หัวรถจักรไอน้ำดันท้ายรถข.ต.แล่นเข้าไปยิงต่อสู้กับทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง บริเวณสนามรบที่มีการยิงจริงเริ่มต้นจากสถานีรถไฟบางเขน หลักสี่ ไปจนถึงดอนเมืองซึ่งเป็นที่มั่นท้ายสุด ทว่าหลังจากฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองล่าถอยกำลังไปตั้งมั่นอยู่แถวปากช่องแล้ว ยุทธวิธีการรบแม้จะยังอยู่บนรางรถไฟเหมือนเดิมก็ตาม แต่ก็เปลี่ยนไปเป็นการปะทะกันด้วยทหารราบในพื้นที่แคบๆแทน ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ที่ทหารฝ่ายรัฐบาลขนไปด้วยจึงแทบไม่ได้ใช้งาน ได้ปรากฎโฉมต่อสาธารณะชนอีกทีก็ตอนสวนสนามฉลองชัยโน่น

    ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ได้เข้าร่วมทำศึกครั้งสำคัญมากในเวลาต่อมาด้วย วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพเข้าประเทศไทยจำนวน 8 แห่งด้วยกัน คือทางบกที่อรัญประเทศ ส่วนทางทะเลได้ยกพลขึ้นบกที่ บางปู สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และ ปัตตานี การยกพลขึ้นบกที่สงขลามีลักษณะแตกต่างกว่าที่อื่นอยู่บ้าง เพราะเป็นจุดที่ญี่ปุ่นส่งกำลังเข้ามามากเป็นพิเศษเนื่องจากสามารถขึ้นบกได้อย่างสะดวก มีบริเวณหาดทรายที่กว้างและยาวมากกว่า 9 กิโลเมตร ทั้งยังสามารถเดินทางไปสู่รัฐไทรบุรีและปีนังของมาเลเซียได้ใกล้ที่สุดแล้ว ทหารญี่ปุ่นสามารถยกพลขึ้นบกได้อย่างง่ายดายตามแผน ทว่ากองทหารไทยก็ยังโชคดีที่ทราบข่าวได้เร็วและพอมีเวลาเตรียมตัว จึงสามารถวางกำลังตามแนวรบได้ใกล้เคียงกับแแผนที่เคยวางไว้ ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 จากกองร้อยที่ 3 ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ตั้งยิงบริเวณเขารูปช้าง เพื่อช่วยคุ้มกันทหารราบที่อยู่แนวหน้า และทำหน้าที่เป็นปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของข้าศึกอีกด้วย การปะทะกันครั้งนั้นกินเวลานานถึง 7 ชั่วโมงเต็ม ก่อนมีคำสั่งทางโทรเลขจากผู้บังคับบัญชามณฑล 6 ค่ายนครศรีธรรมราช ให้ทหารทุกนายหยุดยิงและหลีกทางให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปตามคำสั่งรัฐบาล ผลจากการรบทหารไทยเสียชีวิต 7 นายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ขณะที่ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตประมาณ 200 นายและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76


    หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาสั่งซื้อปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาดปากลำกล้อง 40 มม.แบบอัตโนมัติ ติดตั้งบนรถสายพานหลังคาเปิดมีเกราะเหล็กรอบด้านขนาด 6 ตัน จากบริษัท วิคเกอร์อาร์มสตรองประเทศอังกฤษ โดยได้สั่งซื้อผ่านบริษัทบาโรบราวน์ ประเทศไทยรวมทั้งสิ้นจำนวน 10 คัน อาวุธใหม่เอี่ยมอ่องได้เดินทางมาถึงไทยในเดือนสิงหาคม 2476 และขึ้นทะเบียนเป็นอาวุธประจำการชื่อว่า ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 นับเป็นปืนต่อสู้อากาศยานเคลื่อนที่ด้วยตนเองแบบแรกสุดของประเทศ

    วันที่ 14 ตุลาคม 2476 ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนทัพเข้าปะทะทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ยึดสถานนีรถไฟบางเขนเอาไว้ โดยใช้หัวรถจักรหุ้มเกราะดันหลังรถข.ต.บรรทุกรถถังเคลื่อนที่เข้าหาพร้อมกันทั้ง 2 ราง นอกจากนี้แล้วยังมีเหล่าทหารราบอยู่ในรถพ่วงคันหลังอีกจำนวนหนึ่ง ผลจากการปะทะในช่วงเช้าส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียผู้บังคับกองพันที่มีความสำคัญมากไป ผู้บัญชาการกองกำลังผสมฝ่ายรัฐบาลจึงรีบแก้เกมส์ที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำทันที โดยสั่งการให้ไปนำปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ที่เพิ่งผ่านการตรวจรับสดๆร้อนๆมาแล้วจำนวน 2 คันมาออกสนามรบจริงทันที อาวุธใหม่เอี่ยมอ่องจึงได้เริ่มต้นทำงานในวันแรกสุดที่เข้าประจำการ

    ผบ.หน่วยกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้นำปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76ขึ้นบรรทุกบนรถข.ต.แล้วใช้หัวรถจักรดันท้ายเหมือนเช่นเคย กระทั่งพบเป้าหมายจึงเปิดฉากยิงชุดแรกด้วยตัวเองจำนวน 4 นัด กระสุนพุ่งไปยังรังปืนกลทหารฝ่ายตรงข้ามบริเวณหน้าต่างโบสถ์วัดเทวสุนทร อำนาจการยิงของปืนกลขนาด 40 มม.เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก กระสุนปืนทำให้โบสถ์มีรูขนาดใหญ่โตรวมทั้งปืนก็ยิงได้เร็วและรุนแรงติดต่อกัน ทหารหัวเมืองทั้งหมดไม่เคยเจออาวุธทันสมัยแบบนี้มาก่อน จึงพากันหนีตายทิ้งที่มั่นวิ่งหนีเอาตัวรอดกลับไปยังฐานทัพหลักที่ดอนเมือง ทหารราบจากฝ่ายรัฐบาลจึงสามารถเข้ายืดพื้นที่ท้องทุ่งบางเขนไว้ได้โดยละม่อม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานเป็นพระเอกตัวจริงในวันนี้ และจะเป็นไม้เด็ดในการปราบกบฎที่ได้ผลดีเกินคาด ทว่าวันรุ่งขึ้นอาวุธลับใหม่เอี่ยมอ่องจากอังกฤษของฝ่ายรัฐบาล ก็โดนไอเท็มลับเมดอินเยอรมันของอีกฝ่ายเล่นงานเข้าจนได้ ผู้เขียนจะย้อนกลับมาเล่าเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ

    ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ถูกลำเลียงขึ้นรถไฟไปปราบกองกำลังคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ปากช่องด้วย แต่แทบไม่ได้นำมาใช้งานจริงเลยนอกจากเข้าพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะ รถสายพานขนาด 6 ตันติดปืนกลมีผลงานอีกครั้งเมื่อกลับคืนสู่พระนคร ทางรัฐบาลได้มีการจัดรัฐพิธีอย่างยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้เสียชีวิตฝ่ายตนทั้ง 17 คน โดยได้จัดสร้างเมรุชั่วคราวขึ้นที่ทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวง รถสายพานที่เหลือทั้ง 9 คันทำหน้าที่ลำเลียงหีบศพทหารกล้า จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังเมรุชั่วคราวสนามหลวง และเมื่อสิ้นสุดงานยังได้นำอัฐิของผู้เสียชีวิตไปบรรจุไว้ในสถูปชั่วคราวอีกที

    ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มม.มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Ordnance QF 2-pounder พัฒนาต่อมาจากปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม. Ordnance QF 1-pounder ซึ่งอังกฤษเริ่มนำเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1890 โน่น ทว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ "ปอมปอม" (pom-pom) เสียมากกว่า เป็นปืนกลขนาดลำกล้องกว้าง 40/39 มม.ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีอัตรายิงสุงสุดถึง 115 นัด/นาทีที่เป้าหมายไกลสุด 6,220 เมตร ปอมปอมยังมีรุ่นใช้งานบนเรือรบอีกด้วยและได้รับความนิยมสุงมากในเวลานั้น มีทั้งรุ่นลำกล้องเดี่ยว สี่ลำกล้อง และแปดลำกล้อง ปืนได้รับความนิยมมากมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในราชนาวีหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น และชาติท้ายสุดที่ได้นำปืนไปใช้งานคืออเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เฉพาะปอมปอมรุ่นท้ายๆได้รับการปรับปรุงให้มีอัตรายิงสุงสุดมากถึง 200 นัด/นาที ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง กองทัพบกอังกฤษมีปืนใหญ่ติดรถถังและอาวุธปืนต่อสู้รถถังชื่อเดียวกันคือ QF 2-Pounder โดยมีขนาดลำกล้อง 40มม.เท่ากัน แต่มีความยาวลำกล้องต่างกันและมีอัตรายิงสุงสุดเพียง 20 นัด/นาที

    ปอมปอมผ่านสมรภูมิใหญ่มาทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง นับเป็นปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของอังกฤษรุ่นที่ดีที่สุด ได้รับความนิยมมากที่สุดคือผลิตออกมาประมาณ 7,000กระบอก และเป็นปืนอังกฤษแท้ๆรุ่นท้ายสุดในสารบบอีกด้วย เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไปได้เพียงครึ่งทางทุกคนก็รู้ว่าปอมปอมไปต่อไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากอาวุธปืนมีอัตรายิงต่ำเกินไป ระยะยิงสั้นเกินไป ความแม่นยำน้อยเกินไป ความน่าเชื่อถือน้อยเกินไป การซ่อมบำรุงสุงเกินไป และที่สำคัญระบบระบายความร้อนด้วยน้ำสร้างปัญหาใหญ่เกินไป อังกฤษจึงได้ริเริ่มจัดหาปืนกลต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่มาแทนที่ ปืนต่อสู้อากาศยานโบฟอร์ส 40/L60 มม. และปืนเออลิคอน 20 มม.เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เมื่อปืนทั้ง 2 ชนิดล้าสมัยลงและต้องหารุ่นใหม่มาแทนที่อีกครั้ง อังกฤษก็เลือกจรวดต่อสู้อากาศยานซีแคทมาแทนที่ปืนโบฟอร์ส 40/L60 มม. (ในตอนแรกต้องการใช้งานปืนโบฟอร์ส 40/L70มม.แต่ได้ถูกยกเลิกไป) และเลือกปืนเออลิคอน 20 มม.รุ่นที่ใหม่กว่ามาแทนที่ของเดิม ปิดฉากปืนต่อสู้อากาศยานเมดอินอิงแลนด์แท้ๆไปโดยปริยาย

 รถถังเบาแบบ 73 (Light tank, Carden Loyd Mark VI)


       ในปี 2473 กองทัพบกได้สั่งซื้อรถถังเบาแบบ Carden Loyd Mk6 จากประเทศอังกฤษจำนวน 10 คัน เพื่อนำมาใช้งาน นับเป็นรถถังรุ่นแรกสุดของประเทศไทย โดยจัดตั้งเป็นกองร้อยที่ 3 กองรถรบใน ม.พัน.1รอ. รถถังขนาดจิ๋วคันนี้สร้างโดยบริษัท วิกเกอร์ อาร์มสตรอง อังกฤษ มีชื่อเล่นเรียกกันในแวดวงทหารว่ารถถังรุ่นไอ้แอ้ด ทางด้านกองทัพบกได้ตั้งชื่อรถตามปี พ.ศ.ที่นำเข้าประจำการ คือรถถังเบาแบบ 73 ก่อนหน้านี้ได้รับภารกิจจอดคุ้มกันฝ่ายรัฐบาลอยู่ด้านหน้าวังปารุสก์

    วันแรกของการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่าย รถถังแบบ 63 รับหน้าที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันร่วมกับปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ทว่าปืนกลเบาวิกเกอร์ระบายความร้อนด้วยน้ำขนาด 7.7 มม.ที่ติดมากับรถ ไม่สามารถเจาะทะลุทะลวงรังปืนกลเบา(ขนาด 7.7มม.เช่นกัน) ของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ ฝ่ายรัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพกว่า คือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ตามที่ผู้เขียนได้เขียนถึง รถถังแบบ 73 ถูกส่งไปปราบคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ปากช่องด้วย แต่ไม่ได้แสดงบทบาทอะไรมากมายซักเท่าไหร่ นอกจากเข้าพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะแล้วก็กลับพระนคร

    รถถังเบาแบบ 73 หรือไอ้แอ้ดมีความยาว 2.46 เมตร กว้าง 1.70 เมตร สุง 1.29 เมตร ติดปืนกลเบาขนาด 7.7 มม.พร้อมกระสุน 1,000 นัด ใช้เครื่องยนต์แก๊สโซลีน 4 สูบ 22 แรงม้า ความเร็วสูงสุดบนถนน 45 กม/ชม และมีระยะปฏิบัติการ 160 กม  ด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็กมากมีเกราะบางและติดอาวุธเบา เลยไม่ได้ออกรบแนวหน้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเท่าไหร่นัก ไอ้แอ้ดปลดประจำการในปี 2495 หลังรับใช้ชาติ 22 ปีเต็ม

รถถังเบาแบบ 76 (Lighttank Carden Loyd 6 tons  Mark E)


            ปี 2476 กองทัพบกสั่งซื้อรถถังขนาดเบาแบบ Carden Loyd 6 tons  Mark E จากประเทศอังกฤษเข้ามาใช้งานจำนวน 10 คัน รถถังขนาด 6 ตันสร้างโดยบริษัท วิกเกอร์ อาร์มสตรองเช่นเดียวกับรถถังเบาแบบ 73 รถถังคันนี้ถูกตั้งชื่อเล่นว่าไอ้โกร่งเพื่อคล้องจองกับไอ้แอ้ดนั่นเอง มีบทบาทสำคัญมากในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน ช่วงเดือนธันวาคม 2483 ถึงเดือนเมษายน 2484 โดยเฉพาะการรบครั้งสำคัญที่สมรภูมิบ้านพร้าว ระหว่างทหารไทยกับทหารต่างชาติของฝรั่งเศส รถถังเบาแบบ 76 จำนวน 2 คันได้บุกตะลุยฝ่ากระสุนปืนไปข้างหน้าอย่างห้าวหาญ จนสามารถบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามจนได้รับชัยชนะเด็ดขาดในที่สุด สร้างตำนานสงครามรถถังครั้งแรกของประเทศไทยเอาไว้อย่างสง่างาม

    ทันทีที่ทราบแน่ชัดว่ามีการก่อกบฎขึ้นแล้ว ฝ่ายรัฐบาลจึงได้เคลื่อนทัพรถถังเบาแบบ 76 มาป้องกันหน้าวังปารุสก์ฐานบัญชาการหลักทันที อาวุธใหม่เอี่ยมชนิดนี้ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในประเทศ เพราะรถถังเบาแบบ 76 หรือ Carden Loyd 6 tons  Mark E หรือ Vickers 6-Ton Mark E Light Tank หุ้มเกาะแบบเฉียงหนาถึง 13 มม. ติดตั้งอาวุธปืนใหญ่ขนาด 47 มม.รุ่น OQF 3-Pounder Gun จำนวน 1 กระบอก ปืนกลเบาขนาด 7.7 มม. อีกจำนวน 1 กระบอกเคียงคู่กัน (มีรุ่นติดเฉพาะปืนกล 7.7 มม.ลำกล้องแฝดด้วย แต่กองทัพบกไม่ได้จัดซื้อมาใช้งาน) จึงสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มียานยนต์ชนิดไหนในไทยสามารถผ่านรถคันนี้ไปได้ ที่ฝ่ายรัฐบาลรีบเข็นอาวุธสุดทันสมัยออกมาป้องกันตัวเองนั้น เพราะคาดจะว่ามีทหารในพระนครเข้าร่วมกับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองด้วยนั่นเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้องทุกประการเพียงแต่พวกเขาไม่ได้มาตามนัดเท่านั้นเอง

    กว่ารถถังเบาแบบ 76 ได้ออกรบจริงๆจังๆก็ปาเข้าไปวันสุดท้ายที่มีการยิงกัน วันที่ 24 ตุลาคม 2476 ที่บริเวณถนนหน้าตลาดดงพระยาเย็นอำเภอปากช่อง ทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองชุดท้ายสุดตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ตั้งรับ ทหารฝ่ายรัฐบาลใช้รถถังเบาแบบ 76 บุกนำหน้าขบวนเข้าไปตามถนนหน้าตลาด เมื่อวิ่งเข้าใกล้เป้าหมายจนถึงระยะยิงหวังผลของปืน ผู้บังคับกองพันจึงออกคำสั่งให้รถถังทำการยิงขู่ออกไป 1 ชุด ทหารชั้นผู้น้อยของอีกฝ่ายรอจังหวะสำคัญอยู่แล้ว จึงรีบโบกธงขาวขอยอมแพ้และมอบตัวแต่โดยดีทุกนาย ปิดฉากเหตุการณ์กบฏบวรเดชลงแบบไม่เสียเลือดเนื้อเพิ่มเติม ไอ้โกร่งปลดประจำการในปี 2495 หลังรับใช้ชาติ 22 ปีเต็มเช่นเดียวกับไอ้แอ้ด

รถไฟ   



    หลังจากเขียนมานานพอสมควรจึงถึงเวลาพระเอกตัวจริงเสียที ในยุคสมัยนั้น(ปี 2476)การเดินทางระหว่างพระนครกับหัวเมืองสามารถทำได้โดย ทางรถไฟ ทางเรือ และทางเกวียนเท่านั้น การขนทหารจำนวนมากและอาวุธหนักใช้ทางรถไฟเท่านั้นจึงจะสะดวกที่สุด ประกอบกับช่วงเดือนตุลาคมอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลากแล้ว ทุ่งนาทุ่งข้าวตลอดข้างทางที่ไม่ใช่ที่ดอนล้วนเจิ่งนองไปด้วยน้ำ น้ำ แล้วก็น้ำท่วมขังตลอดพื้นที่ การรบกันระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงทำกันบนรางรถไฟเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีฝนตกลงมาก็ต้องหาที่หลบใต้ตู้ขบวนโดยสารพลางยิงป้องกันตัววุ่นวายไปหมด บนรางรถไฟที่มีความกว้าง 1 เมตรจากบางซื่อถึงปากช่อง เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในเวลาเพียง 15 วัน มีผู้กล้าหาญมีผู้เสียสละ มีคนหักหลังมีคนวิ่งหนี มีผู้ชนะและมีผู้แพ้ หลังเหตุการณ์นี้จบลงประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทว่าไม่ได้เป็นไปตามที่คณะกู้บ้านกู้เมืองมีความปราถนาแม้แต่น้อย

    ผู้เขียนจะพาไปดูการจัดขบวนรถไฟของทหารฝ่ายรัฐบาล เพื่อตามไปปราบทหารฝ่ายกู้บ้านกู้เมืองซึ่งทราบที่อยู่อย่างชัดเจนแล้ว วันที่ 17 ตุลาคม 2476 รัฐบาลจัดเตรียมทหารจำนวน 2 กองพันพร้อมอาวุธหนักกระสุนปืนและเสบียงครบครัน แล้วยกทัพติดตามไปเพื่อไล่ล่าทหารหัวเมืองฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช ขบวนหน้าสุดจะเป็นรถไฟขบวนเล็กบรรทุกทหารพร้อมอาวุธหนัก รวมทั้งทหารช่างส่วนหน้าเพื่อทำการสำรวจเส้นทางที่ชำรุดจากการกระทำของอีกฝ่าย การเดินทางเป็นไปด้วยความล่าช้ามากเพราะต้องจอดซ่อมรางรถไฟเป็นระยะๆ หรือในบางช่วงก็จะมีตู้ชบวนว่างๆถูกผลักให้ตกรางจึงต้องเสียเวลาเอาออก ขบวนถัดมาจะเป็นหัวรถจักรไอน้ำที่มีใช้งานในเวลานั้น (มีภาพรถจักรสวิส 450 แรงม้าหมายเลข 504 ขณะสวมเกราะกันกระสุน ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นช่วงเวลาเข้าปะทะกันที่ดอนเมืองมากกว่าช่วงเวลาที่ตามไปปากช่อง) บางส่วนของตู้ขบวนจะเป็นรถข.ต.(ข้างต่ำ) สำหรับบรรทุก รถถัง ปืนใหญ่ภูเขา รถปตอ. รถหุ้มเกราะ และที่สำคัญมากที่สุดก็คือ รถปั้นจั่นสำหรับยกอาวุธหนักทั้งหลายขึ้นบนรถข.ต.อีกที บางตู้ขบวนจะเป็นรถตู้ ถ.ค.หรือรถโถงมีหลังคาสุง เพื่อใช้สำหรับโดยสารม้าศึกทั้งหลายรวมทั้งเก็บเสบียง อาวุธ และอื่นๆ น้ำหนักบรรทุกที่ค่อนข้างมากทำให้หัวรถจักรทำความเร็วได้ต่ำกว่าปรกติพอสมควร

    หัวรถจักรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเหตุการณ์กบฎบวรเดช และถือเป็นไอเท็มลับสุดยอดของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองก็คือ หัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิค (ฮาโนแมก) หมายเลข 277 สร้างโดยบริษัท แอนโนเวอร์เช แมชชีนเนนเบอะ (ยอร์จ อีเกสทอฟ์ฟ, แฮนโนเวอร์) ประเทศเยอรมัน วันที่ 15 ตุลาคม 2476 มีการขนอาวุธต่างๆเข้ามาปะทะกันตั้งแต่เช้าตรู่ ทหารทั้งสองฝ่ายต่างยันกันไปยันกันมาไม่มีผลแพ้ชนะเด็ดขาด กระทั่งเวลาประมาณ 16:00 น. คือยิงกันไปมาเกือบ 10 ชั่วโมงเต็มแล้ว ระหว่างที่ฝ่ายรัฐบาลรุกคืบหน้าใกล้สถานีสถานีหลักสี่มากขึ้น โดยใช้อาวุธทันสมัยล่าสุดคือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 เป็นไม้เด็ด กระทั่งหัวขบวนรถไฟอยู่ห่างแนวต้านทหารหัวเมืองไม่ไกลนัก เสนาธิการฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองเห็นว่าทหารคงจะเอาไม่อยู่แล้ว จึงได้ออกคำสั่งให้ปล่อยรถจักรไอน้ำคันนี้ที่จอดติดเครื่องรออยู่ทันที หัวรถจักรเคลื่อนตัวแล่นมาตามทางคู่ขนานด้านตะวันออกจากสถานีดอนเมือง ก่อนคนขับจะเร่งความเร็วขึ้นจนมิดเกจ์แล้วชิงกระโดดหนีออกมาทันที ทหารฝ่ายรัฐบาลเริ่มรู้ตัวเมื่อเห็นหัวรถจักรกำลังจะวิ่งผ่านสถานีหลักสี่ แม้จะพยายามช่วยกันระดมยิงสกัดด้วยปืนใหญ่ภูเขาจำนวนหลายกระบอกแล้วก็ตาม ทว่ากระสุนปืนลูกกระจ้อยร่อยก็มิอาจทำอะไรยักษ์เฮอคิวลิสคันนี้ได้



    หัวรถจักรหมายเลข 277 พุ่งเข้าปะทะขบวนรถไฟของฝ่ายรัฐบาลเสียงดังสนั่นหวั่นไหว แรงปะทะทำให้รถไฟทั้งสองขบวนพลิกคว่ำตกรางในที่สุด ไอเท็มลับสุดยอดยังได้ลากรถไฟฝ่ายรัฐบาลถอยหลังไปไกลประมาณหนึ่งร้อยเมตร  ส่งผลให้ทหารที่อยู่บนรถไฟบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ใหม่เอี่ยมที่เพิ่งใช้งานได้เพียง 2 วัน และปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 อีกจำนวนหนึ่งเสียหายหนักใช้การไม่ได้ทันที การยิงกันในวันนั้นเป็นอันยุติลงเมื่อรถไฟทั้งสองขบวนจอดสนิท ทหารฝ่ายรัฐบาลช่วยเหลือคนเจ็บออกจากรถแล้วถอยกลับไปตั้งหลักก่อน ทางด้านฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองก็รีบเก็บข้าวเก็บของรวบรวมไพร่พลทุกนาย แล้วพากันขึ้นรถไฟแล่นไปตั้งหลักที่ปากช่องในคืนนั้นเลย

    ไอเท็มลับสุดยอดคือรถจักรไอน้ำหมายเลข 277 เองก็มีความเสียหายหนักมากเช่นกัน นับเป็นการชนะน๊อคที่ต้องสังเวยด้วยตัวเองยังไงยังงั้น เมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายต่างๆภายในประเทศสิ้นสุดลงแล้ว กรมรถไฟได้ทำการซ่อมแซมและนำหัวรถจักรหมายเลข 277 มาใช้งานตามปกติจนหมดอายุ 

บทส่งท้าย

    การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยในปี 2475 ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการจัดหาอาวุธหลักสำคัญๆของประเทศอีกด้วย ในส่วนกองทัพบกที่เป็นกำลังพลใหญ่สุดและสำคัญที่สุด ได้มีการจัดหารถถัง ยานเกราะ และอาวุธปืนกลจากประเทศอังกฤษเป็นหลัก โดยได้เริ่มต้นโครงการจัดหาอาวุธหลังจากตั้งคณะรัฐบาลสำเร็จได้ไม่นาน ตามแผนระยะ 10 ปีจะมีการจัดหารถถังจากอังกฤษรวมทั้งสิ้น 64 คันด้วยกัน (แต่ได้มาเพียง 60 คันเพราะอังกฤษขอยกเลิก 4 คันสุดท้าย) นั่นก็คือ รถถังเบาแบบ 73 จำนวน 10 คัน รถถังเบาแบบ 76 จำนวน 10 คัน รถถังลอยน้ำแบบ 76 จำนวน 2 คัน รถถังเบาแบบ 77 จำนวน 30 คัน รถถังเบาแบบ 81 จำนวน 12 คัน  เมื่อรวมกับรถถังเบาแบบ 83 จากญี่ปุ่นอีก 50 คันที่จัดหาเพิ่มเติมในภายหลังแล้ว ทำให้กองทัพบกไทยมีจำนวนรถถังมากถึง 110 คันเลยทีเดียว ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานมากขึ้นอีกด้วย นอกจากรถสายพานติดปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 จำนวน 10 คันแล้ว ยังได้มีการจัดหาปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 77 ขนาด 75 มม.จากสวีเดนมาเพิ่มเติมอีก 8 คัน และได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมป้องกันต่อสู้อากาศยานขึ้นมาทันที

    ด้านกองทัพเรือก็มีการเสริมกำลังขนาดใหญ่เช่นกัน โดยสั่งต่อเรือตอร์ปิโดขนาดใหญ่จากประเทศอิตาลีจำนวน 2 ลำก่อนและอีกจำนวน 7 ลำในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีเรือวางทุ่นระเบิดจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ เรือสลุปติดปืนใหญ่ 120 มม.ระวางขับน้ำ 1,400 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือตอร์ปิโดเล็กจากญีปุ่นจำนวน 3 ลำ เรือปืนหนักหุ้มเกราะติดปืนใหญ่ขนาด 200 มม.ระวางขับน้ำ 2,340 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือดำน้ำชายฝั่งขนาด 430 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำ เรือวางทุ่นระเบิดระวางขับน้ำ 395 ตันจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ และเรือลำเลียงขนาด 1,374 ตันจากญี่ปุ่นอีกจำนวน 2 ลำ นอกจากนี้ยังได้มีการต่อเรือเล็กเรือน้อยในประเทศอีกจำนวนหนึ่ง กองทัพเรือไทยใช้เวลา 10 ปีเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉกเช่นกองทัพบก


    กรมอากาศยานมีการเสริมกำลังเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านั้นได้ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดจากฝรั่งเศสเป็นหลัก ทว่าหลังจากปี 2475 เป็นต้นไป ประเทศไทยได้หันไปสนใจเครื่องบินจากประเทศอื่นแทน เริ่มจากการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.9 (ฮอว์ค 2) จากอเมริกาจำนวน 12 ลำในปี 2476 จากนั้นในปีถัดไปกรมอากาศยานได้สร้างเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด บ.จ.1 (คอร์แซร์) ลำแรกจากจำนวน 84 ลำ นับเป็นเครื่องบินรบรุ่นแรกสุดที่สร้างเองภายในประเทศ  ปี 2479 ได้สร้างเครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) ลำแรกจากจำนวนรวม 74 ลำ นับเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นแรกสุดที่สร้างเองภายในประเทศเช่นกัน กรมอากาศยานหรือกองทัพอากาศในปัจจุบันมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเทียบเท่าเหล่าทัพอื่นๆ โดยมีพัฒนาการที่สำคัญกว่าและลึกซึ้งมากกว่า เพราะสามารถสร้างเครื่องบินขึ้นมาได้เองภายในประเทศ ถ้าทัพอื่นกระโดดหนึ่งก้าวทัพนี้จะถือว่ากระโดดสองหรือสามก้าวก็คงไม่ผิด

    การจัดหาอาวุธหลักสำคัญๆของทุกเหล่าทัพอาจแตกต่างเรื่องที่มาของอาวุธอยู่บ้างก็ตาม แต่ที่เหมือนๆกันก็มีอยู่ข้อหนึ่งและสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือจะพยายามหลีกเลี่ยงการจัดหาอาวุธจากประเทศฝรั่งเศส ด้วยว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้นสมัยนั้น หรือเป็นแผนการของทุกเหล่าทัพที่จัดวางไว้แล้วก็ตามแต่

ภาคผนวก :    

    รถไฟไทยเริ่มต้นในรัชกาลที่ 5 (2411-2453) เป็นรถไฟของบริษัทเอกชนเดนมาร์กที่ได้รับสัมปทานในปี 2429 แต่กว่าจะเปิดเดินรถก็จนกระทั่งวันที่ 11 เมษายน 2436 เพราะบริษัทมีทุนน้อยจนรัฐบาลต้องให้ยืมเงิน แต่รถไฟที่มีบทบาทในประเทศไทยคือรถไฟของรัฐบาล กล่าวคือในปี 2430 รัฐบาลได้จ้างวิศวกรชาวอังกฤษสำรวจเส้นทางภาคเหนือและอีสาน ต่อมาในเดือนตุลาคมรัฐบาลได้ตั้งกรมรถไฟ โดยจ้างนายเบทเก (Bethge) วิศวกรเยอรมันเป็นอธิบดี มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

    ต่อมารัฐบาลได้ตัดสินใจสร้างรถไฟสายอีสานเป็นสายแรก เพราะขณะนั้นฝรั่งเศสมีท่าทีคุกคามไทยมากที่สุด โดยยึดเขมรและเวียดนามและสิบสองจุไทไปแล้ว ในปี 2434 มีการประมูลสร้างรถไฟสายอีสานช่วงกรุงเทพฯ-โคราช บริษัทอังกฤษชนะการประมูลในราคา 9.96 ล้านบาท เงินค่าก่อสร้างนำมาจากการขายหุ้นหุ้นละ 100 บาท จำนวน 160,000 หุ้น แต่ปรากฏว่าบริษัทอังกฤษสร้างได้ล่าช้ากว่าสัญญามาก รัฐบาลจึงเลิกสัญญาและสร้างเองช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยาสามารถสร้างเสร็จและเปิดเดินรถวันที่ 26 มีนาคม 2439 และเสร็จถึงโคราชเปิดเดินรถวันที่ 21 ธันวาคม 2443 ขนาดความกว้างของราง แบบ Standard Guage (1.435 เมตร)

    -ภาคอีสานเปิดเดินรถถึงอุบลราชธานี (สถานีปลายทางอยู่ที่อำเภอวารินชำราบ) เมื่อ 1 เมษายน 2473 ถึงขอนแก่นปี 2476 ถึงอุดรธานีปี 2484 และหนองคายปี 2499 (ร.9)
    -ภาคเหนือถึงปากน้ำโพปี 2848 ถึงเชียงใหม่ปี 2464 เสียเวลา 11 ปีเพื่อสร้างอุโมงค์ขุนตาลยาว 1.3 กม.
    -ภาคใต้ถึงสุไหงโกลกปี 2464 (ร 6)
    -ภาคตะวันออกถึงฉะเชิงเทราปี 2450 อารัญประเทศปี 2469 (ร.7)
    - ภาคตะวันตกถึงสุพรรณบุรี ปี 2502 (ร.9)

    ในสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดใช้ทางรถไฟ 932 กม. กำลังก่อสร้าง 690 กม. ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีทางรถไฟเปิดใช้ 2581 กม. กำลังก่อสร้าง 497 กม. จะเห็นได้ว่าเส้นทางรถไฟไทยเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี

หมายเหตุ : 

    ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทางรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทางรถไฟที่มีขนาดความกว้างของราง 1.435 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ได้มาตรฐานสากล และเส้นทางรถไฟสายใต้ของไทยนั้น รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้กู้ยืมเงินจากประเทศอังกฤษมาทำการก่อสร้าง โดยประเทศอังกฤษมีเงื่อนไขว่าไทยจะต้องสร้างทางรถไฟให้ความกว้างของรางมีขนาด 1 เมตร และจะต้องสร้างเชื่อมต่อกับทางรถไฟในประเทศมลายู สถานีหลักของทางรถไฟสายใต้คือสถานีรถไฟบางกอกน้อยทางฝั่งธนบุรี และสถานีหลักในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือคือสถานีหัวลำโพง เพื่อความสะดวกในการเดินทางขนส่ง ทางรัฐบาลไทยจึงต้องตัดสินใจขยับความกว้างของรางรถไฟในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 1.435 เมตร เป็นขนาด 1 เมตร และยังได้สร้างสะพานพระราม6 เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างสายใต้กับสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน การปรับขนาดรางรถไฟใช้เวลานานพอสมควร จนเสร็จหมดทุกสายในปี พ.ศ.2473

    -------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0
http://www.network54.com/Forum/330333/search?searchterm=thai&sort=match
http://www.oocities.org/haadyai.history/source/utapaonihon.html
https://en.wikipedia.org/wiki/QF_2-pounder_naval_gun
http://www.tungsong.com/ram5/Rama5005.html
https://sites.google.com/site/pankungtest/wiwathnakar-rth-thang-thiy
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=1654
http://suwit-history.blogspot.com/2015/06/blog-post_27.html
http://www.wing2rtaf.net/wing2a/wing2/history.html
http://www.dae.mi.th/articles/aeronautical.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_aircraft_of_the_Royal_Thai_Air_Force

                           -------------------------------------------------------------------------------------------

7 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากนะครับ ผมติดตามตลอดเลย เขียนมาอีกเยอะนะครับผมรออยู่

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณเช่นกันครับ นานๆจะมีเหยื่อหลงเข้ามาซักราย ก๊ากกกก!!! ^_^

    ตอบลบ
  3. เรื่องยทความนี้น่าเอาไปสร้างเป็นหนังฟอมยักมากๆๆครับคงจะมันหน้าดู(มีอาวุธลับด้วย)😊😊😊

    ตอบลบ
  4. เรื่องยทความนี้น่าเอาไปสร้างเป็นหนังฟอมยักมากๆๆครับคงจะมันหน้าดู(มีอาวุธลับด้วย)😊😊😊

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. นั่นสินะ ใครสนใจสร้างภาพยนตร์ติดต่อมาได้นะครับ ;)

      ลบ
  5. ชอบรถถังไอ้โกร่งอะ55555ชื่อมันเท่ดีแถมโหดด้วย

    ตอบลบ