วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

Vietnam People's Navy : กองทัพเรือเวียดนามกับอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ


     กองทัพเรือประชาชนเวียดนามถือกำเนิดขึ้นในปี 1953 เพื่อดูแลความปลอดภัยในเขตน่านน้ำและเกาะน้อยใหญ่ของสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียตนามใต้ กองทัพเรือเริ่มต้นด้วยทหารหน่วยยามฝั่งจำนวน 500 นายก่อนเพิ่มเป็น 2,500 นายในปี 1964 ระหว่างสงครามเวียดนามที่กินเวลา 19 ปี 5 เดือน 4 อาทิตย์ 1 วัน เวียตนามใต้มีแค่เพียงเรือตรวจการณ์ปืนจากจีนจำนวน  28  ลำและเรือเร็วตอร์ปิโดขนาดเล็กจากโซเวียตอีก 30 ลำเท่านั้น  เรือรบส่วนใหญ่ที่เข้าปะทะฝ่ายกับตรงข้ามจึงเป็นเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน การรบทางทะเลที่หมู่เกาะพาราเซลระหว่างเวียตนามเหนือกับจีนในวันที่ 19 มกราคม 1974  ส่งผลให้เวียตนามและจีนที่เคยร่วมเป็นร่วมตายกันมาจนชนะสงคราม ต้องแตกคอกันในที่สุดเพราะการอ้างกรรมสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้

     หลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 พวกเขาได้ครอบครองเรือรบของกองทัพเรือสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียตนามเหนือมาได้จำนวนหนึ่ง ทว่าเป็นเพียงเรือตรวจการณ์ชายฝั่งและเรือวางทุ่นระเบิดขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ เรือพิฆาตคุ้มกันและเรือฟริเกตจำนวน 9 ลำได้ถูกโอนไปให้ฟิลิปปินส์ตัดหน้าไปแล้วถึง 7 ลำ เมื่อรวมกับเรือของตัวเองแล้วกองทัพเรือเงียตนามจึงมีขนาดใหญ่โตขึ้น สงครามสิ้นสุดไปแล้วแต่ปัญหาต่างๆก็ยังไม่จบตาม เพราะเรือรบที่ได้มาติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆจากตะวันตก ทำให้การใช้งานดูแลหรือซ่อมบำรุงเป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐบาลจึงมีแผนเพื่อปฎิรูปกองทัพเรือให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆเป็นมาตราฐานเดียวกัน

      ระหว่างปี 1978 ถึง 1990 ความช่วยเหลือจากโชเวียตประกอบไปด้วยเรือรุ่นต่างๆมากพอสมควร เรือฟริเกตชั้น Petya II จำนวน 2 ลำเดินทางมาถึงเป็นชุดแรก จากนั้นไม่นานก็เป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Osa โซเวียตยังสร้างฐานทัพเรือขนาดมาตราฐานเพิ่มเติมให้ด้วย แต่เวียตนามไม่ได้นิ่งนอนใจรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว พวกเขามีความพยายามที่จะยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง และแล้วโครงการ TP-01 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1977 เป็นโครงการต่อเรือตรวจการณ์ขึ้นมาเองภายในประเทศ 3 ปีถัดจากนั้นที่อู่ต่อเรือ Ba Son เรือตรวจการณ์ HQ-251 ถูกปล่อยลงน้ำและเข้าประจำการในปีถัดไป ถัดมาไม่นานนักจึงเป็นคิวของโครงการ TP-01M ซึ่งก็คือเรือ HQ-253 เรือทั้ง 2 ลำมีความคล้ายคลึงกับเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำ Type 037 Hinan ของประเทศจีนราวกับฝาแฝด

     หลังสิ้นสุดโครงการไม่ได้มีการต่อเรือเพิ่มหรือปรับปรุงแบบเรือให้ทันสมัยขึ้น สาเหตุแรกเป็นเพราะเรือต้นแบบจากจีนเองก็มีปัญหาในการใช้งานอยู่พอสมควร ทั้งนี้เนื่องมาจากเทคโนโลยีการต่อเรือของจีนในสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้าและอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก เรือทั้ง 2 ลำของเวียตนามจึงมีสถานะใช้งานไปซ่อมแซมไปจนถึงวันปลดประจำการ  สาเหตุถัดไปเกิดจากทั้งสองประเทศเริ่มมีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น  ทำให้ความช่วยเหลือทางการทหารจากจีนค่อยๆน้อยลงจนสิ้นสุดในเวลาต่อมา การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆมาให้จึงสิ้นสุดลงไปด้วยโดยปริยาย

     ก้าวเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 90  หลังการล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต กองทัพเรือเวียดนามแทบไม่ได้จัดหาเรือรบรุ่นใหม่เพิ่มเติมเลย ที่พอจะมีอยู่บ้างก็เป็นเรือจากเกาหลีเหนืออาทิเช่นเรือดำน้ำขนาดเล็ก และเมื่อไม่มีความช่วยเหลือจากต่างประเทศการต่อเรือรบใช้เองก็แทบเป็นไปได้ พวกเขาจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการซ่อมแซมเรือเก่าให้ใช้งานได้เป็นพัลวัน กระทั่งสหพันธรัฐรัสเซียเริ่มเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรมทางทหารมากขึ้น โครงการจัดหาเรือรบรุ่นใหม่ของเวียตนามจึงเป็นรูปเป็นร่าง เรือตรวจการณ์อาวุธปืนความยาว 50 เมตรชั้น Svetlyak จำนวน 6 ลำคือออเดอร์แรกสุด ตามมาด้วยเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Tarantul-I จำนวน 4 ลำ  และเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น BPS-500 อีก 1 ลำ ทั้งนี้เพื่อทดแทนเรือรุ่นเก่าๆที่หมดสภาพและต้องปลดประจำการเสียที

     เมื่อมีเรือรบรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเข้าประจำการแล้วความจำเป็นเร่งด่วนจึงหมดไปด้วย กองทัพเรือเวียดนามเริ่มต้นเดินหน้าในเรื่องสำคัญๆทันที การต่อเรือภายในประเทศถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเตรียมตัวอยู่หลายปีโครงการ TT400TP จึงได้เริ่มต้นขึ้น เรือตรวจการณ์ความยาว 54 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 455 ตันเริ่มต้นวางกระดูกในปี 2009 ก่อนปล่อยลงน้ำในปี 2011 และเข้าประจำการในปีถัดมา เรือชั้นนี้สามารถวิ่งด้วยความเร็วสุงสุดได้ถึง 32 น๊อต และด้วยความเร็วเดินทาง 15 น๊อตจะมีระยะปฎิบัติการ 2,500 ไมล์ทะเล เรือชั้น TT400TP เข้าประจำการแล้ว 4 ลำและอยู่ในระหว่างสร้างอีก 2 ลำ  ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ  AK-630 ขนาด 30 มม. 1 กระบอก ปืนกล 14.5 มม. 2 กระบอก และแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน  MANPAD รุ่น 9K38 Igla แบบถอดเก็บได้ 1 แท่น ติดตั้งอยู่บนดาดฟ้ากลางเรือค่อนไปทางท้าย

      แท่นยิงจรวด MANPAD แบบถอดเก็บได้เป็นระบบที่น่าสนใจมาก ตัวแท่นยิงเป็นเหล็กสุงระดับไหล่พร้อมจุดติดตั้งเลื่อนสุงต่ำได้ แค่นำอาวุธมาวางทาบแล้วกดล๊อคเข้าตำแหน่งก็พร้อมใช้งานแล้ว จุดติดตั้งที่แข็งแรงช่วยในการเล็งเป้าหมายได้ดีกว่าการประทับบ่ายิงโดยตรง อาทิเช่น ในกรณีคลื่นลมแรงทัศนะวิสัยไม่ดีจะเห็นผลต่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อไม่ใช้งานสามารถนำจรวดจัดเก็บภายในตัวเรือยืดอายุการใช้งานได้อีก หรือเลือกที่จะย้ายไปยิงด้านหน้าเรือด้านข้างเรือตามแต่สถานะการณ์ ถ้ากองทัพเรือไทยจะคิดปรับปรุงดัดแปลงใช้งานบ้างผู้เขียนก็เห็นดีด้วย

     ต่อจากโครงการ TT400TP ก็เป็นโครงการเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น  Molniya ( ซึ่งเวียตนามเรียกว่าเรือคอร์เวต ) เรือมีความยาว 56.9 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 550 ตัน ทำความเร็วสุงสุดได้ถึง 38 น๊อต ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก และจรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 16 นัด เวียตนามได้ลิคสิทธิ์ต่อเรือจากรัสเซียจำนวน 12 ลำ บวกออปชั่นเสริม 4 ลำ อู่ต่อเรือ Ba Son ได้ต่อเรือจำนวน 6 ลำเข้าประจำการแล้ว และอยูในระหว่างการสั่งซื้ออีก 4 ลำครบตามแผนคือ 10 ลำ เวียตนามยังเหลือโควต้าต่อเรือชั้น Molniya อีก 6 ลำ สำหรับอนาคตหรืออาจขายให้กับชาติอื่นๆก็เป็นได้

    นอกจากเรือรบติดอาวุธทั้ง 2 แบบแล้ว กองทัพเรือเวียดนามยังได้ต่อเรือช่วยรบชนิดอื่นๆอีกหลายลำด้วยกัน อาทิเช่น เรือลำเลียงทหารชั้น K 122 หมายเลขเรือ HQ-571 ต่อด้วยเรือพยาบาลชั้น Z189 หมายเลขเรือ HQ-561  และเรือสำรวจและวิจัยทางทะเลชั้น HSV-6613 หมายเลขเรือ HQ-888  โดยใช้แบบเรือของ Damen เนเธอร์แลนด์แต่ต่อโดยอู่ต่อเรือ Song Thu ของเวียตนาม มีระวางขับน้ำประมาณ 1,500 ตัน ยาว 66.3 เมตร เซึ่งก็ป็นแบบเรือเดียวกันกับเรือหลวงพฤหัสบดีของเรานี่แหละ เพียงแต่รายละเอียดบางอย่างแตกต่างกันออกไปบ้างเท่านั้นเอง

     เพื่อจะมองภาพรวมให้กว้างขึ้นผู้เขียนจะขอข้ามไปพูดถึงหน่วยยามฝั่งเวียตนามซักครู่หนึ่ง หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกประชาชนเวียดนามได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1998 หน้าที่หลักก็เหมือนหน่วยยามฝั่งประเทศอื่นๆแต่เรือที่ใช้งานค่อนข้างน่าสนใจ ผู้เขียนได้พูดถึงเรือตรวจการณ์ TT400TP ไปแล้วว่ากองทัพเรือเวียตนามมีจำนวน  6 ลำ ทางด้านหน่วยยามฝั่งเวียตนามก็มีเรือชั้นนี้เช่นกันโดยใช้ชื่อรุ่น TT400 ติดเพียงอาวุธปืนกลขนาด 23 มม. มีการจัดหาทั้งหมด 8 ลำและเข้าประจำการแล้ว 5 ลำ นอกจากนี้ในตระกูลเดียวก็ยังมีเรือชั้น TT200 ระวางขับน้ำ 200 ตัน มีการจัดหาทั้งหมดจำนวน 10 ลำ และเรือชั้น TT120 ระวางขับน้ำ 120 ตัน มีการจัดหาอีกจำนวน 5 ลำตามแผนการ

     ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเรือตรวจการณ์สำคัญที่สุดของหน่วยยามฝั่งเวียตนาม นั่นคือเรือชั้น DN 2000 ซึ่งใช้แบบเรือ Damen 9014 จากเนเธอร์แลนด์มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งาน เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีความยาว 90 เมตร ระวางขับน้ำ  2,500 ตัน ต่อที่อู่ต่อเรือ Ha Long ซึ่งเป็นอู่ในเครือ Damen Group ที่ได้ลงทุนมาสร้างให้ถึงเวียตนาม ทำไมถึงได้กล้าลงทุนขนาดนี้ เป็นเพราะปริมาณยังไงล่ะครับ ตามแผนการที่วางไว้เรือชั้น DN 2000 จะมีจำนวนถึง 9 ลำด้วยกัน เรือ DN 2000 เข้าประจำการแล้ว 2 จาก 4 ลำแรก และอีก 5 ลำที่เหลือกำลังรอคำสั่งซื้อในเฟสถัดไป ตามแผนการที่วางไว้หน่วยยามฝั่งเวียตนามจะมีเรือรวมทั้งสิ้น 48 ลำ เรือที่ไม่ได้ต่อเองในประเทศก็จะนำเข้าจากเกาหลีใต้และเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก บวกด้วยเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กรุ่นเก่าของรัสเซียอีก 5 ลำ

     อุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศเวียตนามรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทว่ายังคงเป็นเพียงการต่อเรือช่วยรบและเรือรบติดอาวุธขนาดไม่เกิน 600 ตันเท่านั้น ส่วนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น DN 2000 ขนาด 2,500 ตันก็ยังไม่ใช่การต่อด้วยมาตราฐานเรือรบแท้ๆ การจัดหาเรือรบขนาดใหญ่ของพวกเขายังคงเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี 2006 กองทัพเรือเวียตนามได้สั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น Gepard 3.9 จากรัสเซียจำนวน 2 ลำวงเงิน 350 ล้านเหรียญและ เข้าประจำการแล้ว ต่อมายังได้สั่งซื้อเรือแบบเดียวกันเพิ่มอีก 2 ลำในปี 2011 ขณะนี้อยู่ระหว่างสร้าง นอกจากนี้ในอนาคตก็จะสั่งเพิ่มอีก 2 ลำครบ 6 ลำตามความต้องการ เรือมีความยาว 102 เมตร ระวางขับน้ำ 2,100 ตัน  ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก ระบบ CIWS Palma (หรือ Kashtan รุ่นส่งออก) 1 ระบบ ประกอบไปด้วยปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ 30 มม. 2 กระบอกและจรวดต่อสู้อากาศยาน SA-N-11 ระยะยิง 8 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 8 นัด มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่น Kamov Ka-27 แต่ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

     เรือฟริเกต Gepard 3.9 มีความทันสมัยมากก็จริง แต่มีจุดอ่อนสำคัญคือทำการรบได้เพียง 2 มิติเท่านั้น เนื่องมาจากเรือไม่มีระบบอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำและโซนาร์ทางการทหารแต่อย่างใด มีเพียงเฮลิคอปเตอร์ Ka-27 ในการไล่ล่าเรือดำน้ำเท่านั้น ถ้าโดนเรือดำน้ำตลบหลังคงลำบากเพราะไม่มีอะไรป้องกันตัว ภารกิจปราบเรือดำน้ำยังคงเป็นหน้าที่ของเรือฟริเกตจากยุคทศวรรษที่ 50 ชั้น Petya II  จำนวน 5 ลำ เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำมีความยาว 81 เมตร ระวางขับน้ำ 1,150 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-726 ขนาด 76 มม.ลำกล้องแฝด จำนวน 2 กระบอก  จรวดต่อต้านเรือดำน้ำ RBU-6000  12 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบ แท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.แฝด 5 จำนวน 2 ระบบ ติดตั้งโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำและระบบ VDS (variable depth sonar) เรือจำนวน 2 ใน 5 ลำถูกดัดแปลงให้ติดอาวุธปืนกลขนาด 23 มม. และ 37 มม.แทนที่อาวุธเก่า โดยยังคงมีแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.แฝด 5 จำนวน 1 ระบบไว้ด้านท้ายเรือ เนื่องจากเรือมีอายุการใช้งานมากพอสมควร ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าระบบโซนาร์จะยังทำงานได้ตามปรกติหรือไม่ ให้เดาก็คงคาดว่าเรือ 2 ลำที่ถูกดัดแปลงระบบโซนาร์คงใช้งานไม่ได้แล้ว

     นอกจากเรือรบรุ่นใหม่จำนวนมากจากประเทศรัสเซียแล้ว กองทัพเรือเวียตนามยังได้สั่งซื้อเรือรบจากประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย อู่ต่อเรือ Damen ได้รับคำสั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น SIGMA 9814 จำนวน 2 ลำจากความต้องการรวม 4 ลำ โดยจะเป็นการต่อเรือที่เนเธอร์แลนด์ 1 ลำและในเวียตนามอีก 1 ลำ ติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆจากค่ายตะวันตกทั้งหมด ปืนใหญ่อัตโนมัติ Oto Melara ขนาด 76 มม.1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara  MARLINขนาด 30 มม. จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet  MM40 Block 3 จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน MICA VL  จำนวน 12 นัด ตามแบบโมเดลเรือที่จัดแสดงได้ติดตั้งระบบโซนาร์ด้วย จึงคาดว่าน่าจะมีแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.รวมอยู่ด้วย เรือ SIGMA 9814 มีขนาดเล็กกว่าเรือ Gepard 3.9 อยู่นิดหน่อย ทว่ามีอาวุธครบทั้ง 3 มิติและมีความทันสมัยมากกว่า ผู้เขียนไม่คิดว่ากองทัพเรือเวียตนามจะนำเรือ SIGMA 9814 มาใช้ในกองเรือปราบเรือดำน้ำ เพราะเป็นเรือรบทันสมัยมากที่สุดติดจรวดต่อสุ้อากาศยานที่ดีที่สุดมีระยะยิงไกลมากที่สุด เรือฟริเกตชั้นนี้จึงน่าจะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากกว่าเรือลำอื่นๆ

     แล้วเวียตนามจะใช้เรือรบชนิดไหนในการไล่ล่าเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม นอกจากเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Petya จำนวน 3 ลำแล้ว พวกเขายังได้สั่งซื้อเรือดำน้ำพิฆาตชั้น Kilo 636M จากรัสเซียจำนวนถึง 6 ลำด้วยกัน เรือยาว 70 เมตร ระวางขับน้ำประมาณ 3,000 ตัน ติดตั้งได้ทั้งตอร์ปิโดขนาด 533 มม. ต่อสู้เรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ จรวดต่อสู้เรือรบรุ่น 3M-54 Klub และจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น SA-N-8 Gremlin ในเวอร์ชั่นเวียตนามอาจมีการลดสเป็กอุปกรณ์บางอย่างลง แต่ก็ยังติดตั้งโซนาร์ตระกูล  MGK 400E ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับไกลมาก

     ก่อนหน้านี้ในปี 1997 เวียตนามมีเรือดำน้ำแล้ว 2 ลำด้วยกัน โดยเป็นเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือชั้น Yugo ความยาว 20 เมตร ระวางขับน้ำประมาณ 110 ตัน  รองรับการติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือผิวน้ำขนาด 533 มม.ได้ 2 นัด หรือบรรทุกเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษได้มากสุด 6 นาย  เรือชั้น Yugo ของเวียตนามน่าจะเป็นเวอร์ชั่นสำหรับฝึกเท่านั้น และอาจจะเป็นเรือดำน้ำมือสองที่ผ่านการใช้งานมาพอสมควร สถานะปัจจุบันไม่แน่ใจอาจปลดประจำการแล้วก็เป็นได้  กลับมาที่เรือดำน้ำใหม่เอี่ยมชั้น Kilo อีกครั้ง เรือจำนวน 4 ลำได้ทำการส่งมอบและเข้าประจำการเรียบร้อยแล้ว เรือดำน้ำอีก 2 ลำที่เหลืออยู่ระหว่างการทดสอบในอู่ต่อเรือประเทศรัสเซีย ในดีลนี้ไม่มีการต่อเองในประเทศเพราะเทคโนโลยีของอู่ต่อเรือในเวียตนามยังคงก้าวไม่ถึง

     ผู้เขียนพอสรุปได้ว่า เรือฟริเกต SIGMA 9814 ลำที่ 2 ที่จะสร้างในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นเรือฟริเกตลำแรกของเวียตนามที่ต่อขึ้นเองในประเทศ และเรือฟริเกต SIGMA 9814 ในเฟส 2 อีกจำนวน 2 ลำก็น่าจะต่อเองในประเทศเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ถ้าเวียตนามมีความพร้อมและเจราจากับรัสเซียดีๆแล้วล่ะก็ เรือฟริเกต Gepard 3.9  เฟสสุดท้ายจำนวน 2 ลำก็น่าจะมีการต่อในประเทศด้วยเช่นกัน

     จำนวนอู่ต่อเรือในประเทศเวียตนามนับรวมได้ประมาณ 32 แห่ง อู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกก็คือ Ha Long Ba Son และSong Thu ซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างทันสมัย สามารถรองรับการก่อสร้างและซ่อมบำรุงเรือรบขนาด 5,000 ตันได้อย่างสบาย นอกจากนี้เวียตนามยังสามารถส่งออกเรือได้เป็นครั้งแรกแล้ว โดยในวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 อู่ต่อเรือ Ha Long ได้ทำพิธีปล่อยเรือระบายพลขนาดใหญ่ชั้น RoRo 5612 ลงน้ำ กองทัพเรือบาฮามาส (หรือกองกำลังป้องกันตนเองบาฮามาส) ได้สั่งซื้อเรือลำนี้พร้อมกับเรือตรวจการณ์ 8 ลำจาก Damen Group บริษัทแม่ในเนเธอร์แลนด์ได้ส่งงานต่อเรืออเนกประสงค์ Stan Lander 5612 มาที่อู่ต่อเรือในเวียตนาม เรือมีความยาว 56.2 เมตร กว้าง 12 เมตร กินน้ำลึก 2.7 เมตร จะทำหน้าที่เป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือบาฮามาส และยังสามารถทำหน้าที่อื่นๆได้อย่างหลากหลาย ทั้งบรรทุกขนส่งสิ่งของเครื่องจักรขนาดใหญ่ หรือจะเป็นสัมภาระ น้ำดื่ม น้ำมัน ลำเลียงทหารและตำรวจ จนถึงติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ได้อีกด้วย

     โอกาสที่อู่ต่อเรือจากเวียตนามจะรับงานนอกประเทศเองเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเป็นงานรับช่วงต่อมาอีกทีเหมือนดีลเรือบาฮามาสก็ช่างน่ารักน่าลุ้น กองทัพเรือเวียตนามยังมีความต้องการเรือรุ่นใหม่ๆอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่จะหนักไปทางเรือตรวจการณ์ขนาดต่างๆและเรือช่วยรบรูปแบบต่างๆ เช่น เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกบรรทุกรถถัง เรือขนส่งน้ำมัน หรือเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดเป็นต้น
 
     โครงการในอนาคตของกองทัพเรือเวียตนาม ก็น่าจะเป็นการจัดหาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำทดแทนเรือฟริเกตชั้น Petya II ผู้เขียนเดาใจไม่ถูกว่าจะมีการจัดหาทดแทนหรือโอนหน้าที่ไปให้กองเรือดำน้ำเลย เนื่องมาจากพวกเขาจะมีเรือฟริเกตรุ่นใหม่10 ลำในการป้องกันประเทศอยู่แล้ว และยังลงทุนไปมากโขกับกองเรือดำน้ำจำนวน 6ลำ ซึ่งทำการรบได้ครบทั้ง 3 มิติ แฟนเพจชาวเวียตนามได้คาดเดาว่าน่าจะเป็นเรือฟริเกตชั้น SIGMA 10514 ของเนเธอร์แลนด์ คงเป็นเพราะมีการจัดหาเรือฟริเกต SIGMA 9814 จำนวน 2 ลำแล้วนั่นเอง ทว่าเรือ SIGMA 10514 ติดระบบตรวจจับเรือดำน้ำทันสมัยจะมีราคาค่อนข้างแพงพอสมควร งบประมาณที่กองทัพเรือตั้งไว้อาจจะบานปลายได้โดยง่าย

     ก่อนหน้านี้ประมาณ 3-4 ปี เรือจากรัสเซียที่แฟนเพจชาวเวียตนามพูดถึงก็คือเรือชั้น SKR-2100 ( ซึ่งเป็นแบบเรือของหน่วยยามฝั่งรัสเซียที่ไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาจริง ) เรือชั้นนี้มีระวางขับน้ำประมาณ 3,000 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 100 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 8 นัด ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.จำนวน 4 ท่อยิง  จรวดต่อสู้อากาศยาน Shtil-1 Buk missile system จำนวน 24 นัดจากระบบ VLS จำนวน 3 หน่วย ท้ายเรือมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่น Kamov Ka-27 พร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ 1ลำ ติดตั้งระบบโซนาร์ขนาดปานกลางราคาไม่แพงมาก

     เรือชั้น SKR-2100 มีอาวุธครบครันทั้ง 3 มิติโดยเฉพาะระบบอาวุธต่อสู้อากาศยาน ซึ่งถ้าเวียตนามซื้อมาใช้ในภารกิจปราบเรือดำน้ำคงไม่ใช่แบบนี้แน่ เพราะเรือจะมีราคาแพงจนเกินงบประมาณไปไกลโข อีกทั้งยังไม่รู้ว่ารัสเซียจะขายจรวด Shtil-1ให้หรือไม่ ผู้เขียนคาดว่าอาจจะเปลี่ยนเป็นปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอกด้านหัวเรือ ส่วนระบบจรวดต่อสู้อากาศยานก็คงตัดทิ้งเหลือเพียงระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำเท่านั้น

     ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่าเรือฟริเกตชั้น Gepard ติดระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำได้หรือไม่ คำตอบก็คือสามารถติดได้ครับเพราะเรือ Gepard Pr11661 ของรัสเซียติดตั้งโซนาร์ประสิทธิภาพสุงราคาแพง 2 ระบบ มีท่อยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม.จำนวน 4 ท่อยิง และจรวดต่อต้านเรือดำน้ำ RBU-6000 12 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบด้านหัวเรือ แต่การปรับปรุงเรือน่าจะมีราคาแพงพอสมควรเลยทีเดียว ทั้งยังไม่แน่ใจว่ารัสเซียจะขายระบบโซนาร์รุ่นนี้ให้หรือไม่  เทียบกับการติดตั้งโซนาร์ขนาดเล็กกว่ากับตอร์ปิโดปรบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.จำนวน 4 ท่อยิงในตำแหน่งเดียวกับเรือชั้น SKR-2100 แล้ว ดูจะมีราคาถูกกว่ากันพอสมควรรวมทั้งราคาตอร์ปิโดด้วย หรืออาจจะข้ามสายพันธ์ไปติดตั้งระบบโซนาร์จากค่ายตะวันตก และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.แทนก็เป็นไปได้ ส่วนจะใช้งานได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับบริษัทที่รับปรับปรุงเรือ ใครอยากได้ดีลนี้ข้ามศพ Damen Group ไปก่อน (ขอซักมุขเถอะ)

     โครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำของกองทัพเรือเวียตนามยังไม่มีความความชัดเจน แต่โครงการที่จะเกิดก่อนแน่ๆก็คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งระวางขับน้ำประมาณ 2,000 ตัน แม้หน่วยยามฝั่งเวียตนามจะมีแผนจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น DN2000 จำนวนถึง 9 ลำอยู่แล้วก็ตาม แต่เรือติดอาวุธแค่เพียงปืนกลขนาดเล็กและใช้ในภารกิจค้นหากู้ภัยบังคับใช้กฎหมายกลางทะเล ส่วนทางด้านเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งของกองทัพเรือเวียตนาม จะเน้นในภารกิจป้องปรามลาดตระเวณพื้นที่สุ่มเสียงและติดอาวุธหนักกว่ากัน  ปลายปี 2014 ได้เคยมีข่าวกับเรือตรวจการณ์จากอินเดียจำนวน 4 ลำ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเรือชั้น Saryu ระวางขับน้ำ 2,300 ตัน คงต้องรอดูกันต่อไปว่าท้ายที่สุดจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ คาดว่าไม่เกินกลางปีหน้าโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งน่าจะได้ข้อสรุป

      กองทัพเรือประชาชนเวียดนามกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดแต่เป็นระเบียบ อาวุธและอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นของรัสเซียบวกกับค่ายตะวันตกที่เริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ อุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศก็กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามกัน ปริมาณเรือจำนวนมากทำให้พวกเขาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ทว่าอีก10ปีข้างเมื่อความต้องการภายในประเทศลดน้อยลง เราจะมาดูกันอีกทีว่าพวกเขาจะก้าวข้ามปัญหาต่างๆที่ตามมาได้หรือไม่และอย่างไร


-----------------------------------------------------------------------


อ้างอิงจาก

http://www.shephardmedia.com/news/mil-log/damen-roro-5612-launches-vietnam/
https://en.wikipedia.org/wiki/Vietnam_People%27s_Navy
https://en.wikipedia.org/wiki/Vietnam_Coast_Guard
http://defenceforumindia.com/forum/threads/vietnam-launches-first-locally-made-warship.30262/
http://www.globalsecurity.org/military/world/vietnam/navy.htm
http://www.vietnamshipbuildingnews.com
http://www.globalsecurity.org/military/world/vietnam/navy.htm
http://defence.pk/threads/vietnam-military-news-discussion.211882/page-141
------------------------------------------------------------------


2 ความคิดเห็น:

  1. ดูๆ แล้วจะว่าไปพื้นฐานอุตสาหกรรมต่อเรือของเวียดนามนี่ กำลังรุดหน้าเลยนะครับ แต่อย่างในตอนนี้ก็มีการรับงานจ้างต่อเรือจากอู่ของ Damen มาต่อที่เวียดนามเยอะเหมือนกันนะครับ อันนี้ข้อมูลปี 2561 นะครับ

    อยากให้ลองรีไรท์ฉบับปี 2561 ดูบ้างนะครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไว้มีโอกาสจะเขียนถึงเวียดนามอีกทีครับ

      ลบ