วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

มหากาพย์เรดาร์เดินเรือไทย



เรดาร์ (Radar)

เรดาร์เป็นระบบที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการระบุระยะทาง ความสูง ทิศทาง ความเร็วของวัตถุที่อยู่กับที่และเคลื่อนที่ เช่น เครื่องบิน เรือ เครื่องส่งจะส่งคลื่นวิทยุออกมา แล้วไปสะท้อนกับวัตถุเป้าหมายและเครื่องรับจะจับสัญญาณที่สะท้อนกลับออกมา ถึงแม้ว่าสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจะอ่อนมากก็ตามสัญญาณวิทยุก็สามารถขยายได้ นี่ทำให้เรดาร์สามารถตรวจจับสิ่งต่างๆได้ เรดาร์มีประโยชน์ในการอธิบายสิ่งต่างๆร่วมถึงงานด้านอุตุนิยมวิทยา การจราจรทางอากาศ การตรวจจับความเร็วของรถในท้องถนน งานด้านทหาร ครั้งแรกในประเทศอังกฤษนั้นเรียกว่า RDF (Radio Direction Finder) คำว่า RADAR ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1941 ย่อมาจากคำว่า Radio Detection and Ranging แล้วต่อมาก็ได้มีการเพิ่มคำว่า Radar เข้าไปเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษ

การทำงานของเรดาร์
                เรดาร์ทำงานโดยการที่เครื่องส่งๆคลื่นออกไปในอากาศผ่านทางจานสายอากาศ โดยส่งเป็นช่วงๆส่งและหยุดสลับกันไป (ที่ต้องเป็นเช่นนี้ก็เพื่อว่าให้เครื่องรับมีช่วงเวลาที่จะรับสัญญาณที่สะท้อนกลับมา) ในขณะเดียวกันจานสายอากาศก็จะหมุนโดยรอบ 360 องศา และทำหน้าที่รวมคลื่นให้เป็นลำเหมือนลำแสงจากไฟฉายส่งออกไปในทิศทางที่สัมพันธ์กับการหมุนของจานสายอากาศ คลื่นที่ส่งออกไปนี้จะเดินทางด้วยความเร็วเท่าความเร็วของแสง คือประมาณ 300,000,000 เมตร/วินาที เมื่อคลื่นไปกระทบเป้าก็จะสะท้อนกลับมายังจานสายอากาศแล้วส่งต่อไปถึงเครื่องรับ (ในช่วงที่เครื่องส่งหยุดส่งคลื่นโดยมีสวิตซ์เปลี่ยนไปมาระหว่างการส่งและการรับ) เป้าที่มีความหนาแน่นมากจะสะท้อนคลื่นกลับมาแรงกว่าเป้าที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า จากนั้นคลื่นสะท้อนจะถูกส่งต่อไปยังหน่วยประมวลผลเพื่อประมวลผลแล้วส่งผลที่ได้ไปแสดงที่จอภาพ

                                                                     


เรดาร์เดินเรือ  Marine Radar หรือ Navigational Radar
เรดาร์เดินเรือเป็นเครื่องมืออิเลคโทรนิคที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางสาหรับเรือแทบทุกชนิด เครื่องมือนี้ใช้ในการหาความเร็ว ทิศทางและระยะทางของวัตถุ ดังนั้นจึงมี ประโยชน์ในการค้นหาสิ่งกีดขวางในการเดินเรือและใช้ในการหาที่เรือ

 การทางานเบื้องต้นของเรดาร์เดินเรือ
ลักษณะการทางานเบื้องต้นของเรดาร์นั้น จะได้แยกอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ได้แก่ ระยะต่ำสุดและระยะสูงสุด

- ระยะต่ำสุด (Minimum Range) เมื่อเรดาร์ถูกใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อ ไม่ให้เกิดการชนหรือปะทะกันระหว่างเรือกับเรือ หรือเรือกับวัตถุต่าง ๆ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ในระยะใกล้ ๆ และมันเป็นอันตรายอย่างมากถ้าเป้าหมายหรือวัตถุใกล้เข้ามายังเรือแต่ไม่มีภาพปรากฏให้เห็นบนจอภาพ การค้นหาเป้าหมายในระยะใกล้ ๆ ต้องขึ้นอยู่กับความสูงของสายอากาศ (ซึ่งมีการแพร่กระจายคลื่นทางแนวตั้ง) ที่อยู่เหนือพื้นน้ำ

- ระยะสูงสุด (Maximum Range) การจับภาพในระยะสูงสุดของเรดาร์(Rmax) จะต้องขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เช่น ความสูงของสายอากาศเหนือพื้นน้า ความสูงของเป้าเหนือพื้นน้า ขนาดของเป้าหมาย รูปร่างและวัตถุซึ่งเป็นเป้าหมาย และความโค้งของพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศก็ถือเป็นส่วนประกอบสาคัญ
ระยะสูงสุดจะเท่ากับระยะของเส้นขอบฟ้าหรือสั้นกว่า ในความเป็นจริงเส้นขอบฟ้าจะยาวกว่าการมองด้วยตาเปล่าประมาณ 6%

ระบบเรดาร์เดินเรือที่มีใช้งานอยู่ในกองทัพเรือ
เรดาร์เดินเรือในยุคปัจจุบันแบ่งออกเป็น2รุ่นใหญ่ๆตามคลื่นความถี่ นั่นก็คือ X-band และ S-band โดยทั่วไป X-band จะมีกำลังส่งมาตราฐานอยู่ที่4-25 kW และ S-band จะมีกำลังส่งมาตราฐานอยู่ที่30 kW กองทัพเรือมีการจัดหาเรดาร์เดินเรือแบ่งออกเป็น2แบบใหญ่ๆนั่นคือ เรดาร์รุ่นเล็กราคาไม่แพงมีกำลังส่ง4-25 kW เพื่อใช้งานกับเรือช่วยรบต่างๆหรือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งขนาดไม่ใหญ่ และเรดาร์รุ่นสุงขึ้นมาที่มีกำลังส่ง12-30 kWหรือมากกว่า นั่นก็คือเรดาร์รุ่นนั้นๆมีทั้ง X-band และ S-band ภายในรุ่นเดียวกัน ใช้กับเรือรบขนาดปานกลางไปจนถึงเรือรบสมรรถนะสุงทุกประเภท
                                                            
                                           


จากภาพตัวอย่างจะแสดงรายละเอียดและกายภาคที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เรดาร์X-bandรุ่นเล็กๆจะมีทั้งแบบ RADOME RADAR SENSOR (ราโดม) และ OPEN RADAR SENSOR (เสาอากาศ) ขนาดของเสาอากาศเป็นตัวแยกเรดาร์ทั้ง2รุ่นออกจากกัน เพราะX-band จะมีเสาอากาศกว้างตั้งแต่4-8ฟุตเท่านั้นแต่ S-band จะใหญ่กว่านั้นคือกว้างถึง10-12ฟุต ระยะทำการของเรดาร์เดินเรือโดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 24-96ไมล์ทะเล

แต่เรดาร์เดินเรือก็ยังมีรุ่นที่มีกำลังส่งสุงกว่านั้นเหมือนกันครับ คือมีX-band รุ่น50kW และ S-band รุ่น60kW วางขายในท้องตลาดด้วย ระยะทำการของเรดาร์ทั้ง2รุ่นอยุ่ที่120ไมล์ทะเลซึ่งถือว่าไกลมากที่สุดแล้ว จอแสดงผลระบบเรดาร์ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายขนาดและแบบ ทั้งรุ่นLCD, CRTหรือ Black Box อีกทั้งยังมีระบบTouch Screenให้เลือกใช้อีกด้วยในบางรุ่น ลูกค้าจึงไม่จำเป็นต้องเพ่งมองจอสีดำตัวอักษรสีเขียวที่สบายตาแต่ล้าสมัยเหมือนเดิมๆอีกต่อไป
                                                                     



รูปแบบการใช้ระบบเรดาร์เดินเรือ
กองทัพเรือมีการติดตั้งเรดาร์เดินเรือกับเรือทุกลำที่มีประจำการในกองทัพ(ไม่นับเรือขนาดเล็กที่ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง) แต่มีจำนวนและรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามภาระกิจ ผู้เขียนพอจะแยกแยะออกมาให้เห็นชัดเจนได้ตามนี้ครับ

1 ติดตั้งเฉพาะเรดาร์เดินเรือ1ระบบ
1.1 ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ X-band 1ระบบ
โดยใช้งานเป็นเรดาร์หลักเพียงตัวเดียวโดดๆไปเลยในทุกภาระกิจ การติดตั้งรูปแบบนี้มักจะมีกับเรือขนาดเล็กโดยทั่วไปเช่นเรือต.229 ,เรือกวาดทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งเช่น เรือหลวงดอนเจดีย์ ,เรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งเช่นเรือหลวงท่าดินแดง รวมถึงเรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถีลำแรกสุดของทัพเรือคือเรือชั้นเรือหลวงปราบปรปักษ์ ตามข้อมูลเรดาร์ดั้งเดิมคือ Decca TM 626 แต่จากในภาพน่าจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่แล้ว เดาจากตัวอักษรน่าจะเป็น Furuno นะครับ เรือลำนี้น่าเห็นใจมากเพราะแทบไม่มีพื้นที่ให้ติดตั้งเรดาร์เพิ่มเติมได้เลย แต่มีอยู่1ลำติดเรดาร์แบบราโดมเล็กๆไว้เหนือเรดาร์หลักอีกที ผู้เขียนยังไม่นับเพราะข้อมูลไม่ชัดเจนเท่าไหร่
                                                                  


1.2      ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ S-band 1ระบบ
เท่าที่ค้นหายังไม่เจอนะครับ อาจจะมีก็ได้แต่ผู้เขียนหาไม่เจอเอง ใครมีข้อมูลเสริมได้เลยครับ ข้อมูลเรื่องเรดาร์หายากพอสมควรและไม่ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะชื่อรุ่นย่อยลงไปยิ่งยากเข้าไปอีก

2                ติดตั้งเฉพาะเรดาร์เดินเรือ2ระบบ
2.1 ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ X-band 2ระบบ
โดยใช้ X-band ที่มีกำลังส่งมากกว่างานเป็นเรดาร์หลักและใช้ตัวที่มีกำลังส่งน้อยกว่าช่วยเสริมในบางภาระกิจรวมทั้งเป็นระบบสำรองไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้นเรือหลวงสัตหีบ เรือระบายพลขนาดใหญ่ชั้นเรือหลวงมันกลาง ต่อด้วยเรือลำใหม่ล่าสุดของเราคือเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือชั้นต.111ซึ่งติดเรดาร์ Furuno X-band รุ่น 25kWและ12 kW ตัวเรดาร์จะเป็นสีขาวสลับน้ำเงินคนหละฝั่งสวยงามมากและเป็นเรดาร์รุ่นใหม่อย่างแท้จริง เรือลำต่อไปคือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้นต.110ซึ่งเป็นเรือที่เก่ามากแล้วแต่ก็มีถึง2ตัว (เข้าใจว่าตัวเล็กด้านหน้าคงจะติดตั้งเพิ่ม) เรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถีชั้นเรือหลวงราชฤทธิ์ก็มีเรดาร์เดินเรือติด2ตัวเช่นกัน ผู้เขียนดูจากภาพเก่าพบว่ามีการติดตั้งเพิ่มเข้าไปอีก1ระบบคือ Furunoและน่าจะเปลี่ยนเรดาร์เก่าออกไปแล้ว เรือลำสุดท้ายแปลกว่าเพื่อนนิดหน่อยคือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้นต.992 เพราะเรือมีการติดเรดาร์ขนาดเล็กแบบราโดมเสริมเข้าไปด้วยเป็นระบบที่2(อยู่ระหว่างมิราดอร์และเรดาร์หลัก) เฉพาะรุ่นนี้เท่านั้นผมได้ข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่กองทัพเรือมาว่า เป็นเรดาร์เดินเรือรุ่น Furuno Navnet VX2 1834 C มีกำลังส่ง 4 Kw ระยะทำการของเรดาร์อยู่ที่36ไมล์ทะเล ราคาทั่วไปตามท้องตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,500 เหรียญ มีจอทัชสกรีนเป็นออปชั่นเสริมแต่กองทัพเรือเลือกใช้งานจอ TFT ขนาด 10.4นิ้ว
                                                                              


2.2      ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ X-band 1ระบบและ S-band 1ระบบ
เป็นการใช้เรดาร์ทั้ง2ความถี่ในการใช้งานร่วมกันซึ่งพบเห็นโดยทั่วไปกับเรือช่วยรบขนาดใหญ่เช่นเรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ชั้นเรือหลวงสิมิลัน เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ชั้นเรือหลวงสุรินทร์ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่งรุ่นพอเพียงขวัญใจอันดับ1ตลอดกาลของผู้เขียน คือเรือชั้นเรือหลวงหัวหินซึ่งติดเรดาร์ Sperry Marine BridgeMaster E จำนวน2ระบบตามภาพ
                                               
                  

เรดาร์เดินเรือความถี่S-band มีกำลังส่ง (Output Power) สุงกว่าคือตั้งแต่30 kW ขึ้นไป มีช่วงความยาวของคลื่น (Wavelength range) ที่ประมาณ 7.5–15เซนติเมตร โดยมีค่ามาตราฐานสำหรับเรดาร์อยู่ที่10เซนติเมตร แต่มีช่วงความถี่ (Frequency range) อยู่ที่ 2–4 GHz  นอกเหนือจากใช้เป็นเรดาร์เดินเรือแล้ว ยังเหมาะกับงานประเภทควบคุมการจราจรทางอากาศ การตรวจสอบสภาพอากาศและงานทั่วไปเสียมากกว่า (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเรดาร์แต่ละรุ่น)

ขณะที่ X-band ซึ่งมีกำลังส่งอยู่ระหว่าง4-25 kW มีช่วงความยาวของคลื่นอยู่ที่ 2.5-3.75 เซนติเมตร มีค่ามาตราฐานสำหรับเรดาร์อยู่ที่ 3เซนติเมตร แต่มีช่วงความถี่มากถึง 812 GHz นอกเหนือจากใช้เป็นเรดาร์เดินเรือแล้ว ยังมีความสามารถมากพอที่จะใช้นำวิถีระบบอาวุธจรวด และการเฝ้าระวังพื้นที่ในความรับผิดชอบ (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเรดาร์แต่ละรุ่น) เพราะฉะนั้นเรือรบสมรรถนะสุงหรือเรือขนาดใหญ่จึงสมควรติดเรดาร์ทั้ง2ความถี่เพื่อใช้งานร่วมกัน

3 ติดตั้งเรดาร์เดินเรือร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ (Air Search Radar) แบ่งออกได้เป็น
3.1ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ1ระบบและเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ1ระบบ
ในอดีตได้แก่เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุซึ่งมีเรดาร์เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ BAE Systems AWS-4หรือType 944 ทำงานร่วมกับเรดาร์เดินเรือแบบ Sperry Marine BridgeMaster E แบบเรืออังกฤษระบบเรดาร์อังกฤษอาวุธปืนจากอิตาลีลำนี้เป็นเรือลำเดียวที่มีรูปแบบการติดตั้งแบบ1+1 เรือหลวงคำรณสินธุถือเป็นเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำขนาดเล็กที่ยังถูกใช้งานเป็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่งต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะมีเรือตรวจการณ์จริงๆมากเพียงพอเธอจึงจะได้กลับไปทำภาระกิจหลักต่อไป

แต่ปัจจุบันเรือหลวงคำรณสินธุได้รับการติดตั้งเรดาร์เดินเรือตัวที่2เพิ่มเติมแล้ว การติดตั้งรูปแบบนี้จึงไม่มีแล้วครับ
                                                                 


3.2ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ2ระบบและเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ1ระบบ
       นอกจากเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุที่ได้รับการปรับปรุงเรดาร์ตัวที่2เพิ่มเติมแล้ว (ติดตั้งระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงมิราดอร์ แทนSea Archer 1A mod.2 แล้วด้วยครับ) ยังมีเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ชั้นเรือหลวงอ่างทองอีกหนึ่งลำด้วยครัย โดยเรือมีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Terma SCANTER 4100 และเรดาร์เดินเรือแบบ Raytheon NSC-25 SeaScout จำนวน 2 ระบบ โดยจะแยกเป็น X-band และ S-band อย่างละ1ระบบตามมาตราฐานทั่วไป
                                                       
              

                แต่ถ้าย้อนกลับไปซัก2ปีเราจะมีเรือหลวงจักรีนฤเบศรรวมอยู่ในนี้ด้วย โดยที่เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกและลำเดียวของเราติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Raytheon AN/SPS-52C และเรดาร์เดินเรือแบบ Sperry Marine Rasca จำนวน2ระบบ จากข้อมูลเว็บนอกหลายแห่งระบุว่าเรือหลวงจักรีนฤเบศรติดตั้งเดินเรือแบบ Kelvin Hughes Type 1006 navigation ผู้เขียนจึงพยายามหาข้อมูลจนเจอภาพประกอบเขียนตัวอักษรไว้อย่างชัดเจน เป็นอันว่ากองทัพเรือไทยยังไม่มีเรดาร์เดินเรือจาก Kelvin Hughes ใช้งานจนกว่าเรือหลวงนเรศวรจะปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน

เรือหลวงจักรีนฤเบศรกำลังเปลี่ยนเรดาร์หลักจาก Raytheon AN/SPS-52C มาเป็น Saab Sea Giraffe AMB 3D ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ มีความทันสมัยมากขึ้นแต่ระยะทำการก็หดลงมาเช่นกัน ในอนาคตข้างหน้าเรือรบระดับแนวหน้าของไทยน่าจะมีการติดตั้ง Saab Sea Giraffe AMB 3Dกัน มากพอสมควร เหมือนครั้งหนึ่งเราเคยใช้เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales ZW06 กับเรือรบทันสมัย3รุ่นจำนวน6ลำ

3.3ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ3ระบบและเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ1ระบบ
การติดตั้งรูปแบบนี้มีแค่เพียงเรือลำเดียวเท่านั้นก็คือเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงปิ่นเกล้า เรือลำนี้ระวางประจำการกับกองทัพเรืออเมริกาในวันที่ 20 พ.ค.2487  ราชนาวีไทยได้รับมอบในวันที่ 22 ก.ค.2502 ตามลำดับ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Westinghouse AN/SPS-6C และเรดาร์เดินเรือจำนวนถึง3ระบบด้วยกัน เป็น X-band 2 ระบบและ S-band 1 ระบบ แต่ไม่มีรายละเอียดปรากฎ

เรือหลวงปิ่นเกล้าปลดประจำการตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2551 และมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2551 ผู้เขียนไม่แน่ใจสถานะในปัจจุบันอย่างชัดเจนขอละไว้เอาไว้ก่อนแล้วกันครับ
                                                            


4ติดตั้งเรดาร์เดินเรือร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ (Surface Search Radar)
การติดตั้งรูปแบบนี้มีเรือแค่เพียงแบบเดียวครับ ก็คือ เรือเร็วโจมตีปืนชั้นเรือหลวงชลบุรีจำนวน3ลำ  โดยเรือติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales ZW06 และเรดาร์เดินเรือแบบ Decca 1226 จำนวน1ระบบ (เข้าใจว่าเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่แล้ว) แม้จะติดอาวุธแค่ปืนก็จริงแต่เป็นเรือในฝันของผู้เขียนลำหนึ่งเลย เพราะมีระบบต่างๆครบเครื่องมากที่สุดเท่าที่เรือยาว60เมตรจะมีได้ นอกจากมีเรดาร์ที่ดีเกินเรือแล้วยังมีเรดาร์ควบคุมการยิงถึง2ระบบหน้า-หลัง มีระบบ CIWS ขนาด40มม. เป็นรุ่นแรกๆของประเทศ  มีระบบสงครามอิเลคทรอนิคทั้ง ECM ESM จาก Elettronica Newton ครับชุด และยังมีระบบเป้าลวง Mk.33 RBOC ติดตั้งอีกด้วย ถ้าเปลี่ยนปืน76/62 ด้านท้ายให้เป็นจรวดต่อสู้เรือเข้าไปแล้ว เรือหลวงชลบุรีจะกลายเป็น เรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถีที่ทรงอานุภาพมากที่สุดลำหนึ่งไปเลยทีเดียว
                                         


5ติดตั้งเรดาร์เดินเรือร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ (Air/Surface Search Radar)
5.1ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ2ระบบและเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ1ระบบ
การติดตั้งรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมมากในยุคปัจจุบัน ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีทำให้เรดาร์มีขนาดเล็กลงแต่ทำหน้าที่ได้มากกว่าและดีกว่าของเดิม กองทัพเรือไทยมีเรือ2ชั้น3ลำที่ติดตั้งรูปแบบนี้คือเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงกระบุรี2ลำ มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ PLA Navy SR-60A และเรดาร์เดินเรือแบบ Sperry Marine BridgeMaster E จำนวน2ระบบ

เรือลำถัดไปคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นเรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่ประเทศไทยต่อเองเป็นลำแรก เรือทันสมัยมากลำนี้ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ Thales Variant และเรดาร์เดินเรือแบบ Sperry Marine BridgeMaster E จำนวน2ระบบ ( ดูจากกายภาพน่าจะใช่นะครับเพราะเรดาร์ S-band มีขนาดไม่ใหญ่เหมือน Raytheon NSC-25 SeaScout )
                                         


5.2ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ3ระบบและเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ1ระบบ
นี่ก็เป็นอีก1รูปแบบที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน โดยเรือบางลำจะใช้เรดาร์เดินเรือตัวที่3ในการช่วยลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือด้วย กองทัพเรือไทยมีเรือ2ชั้น4ลำที่ติดตั้งรูปแบบนี้คือเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงเจ้าพระยา2ลำ มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ PLA Navy Type 354 Eye Shield และเรดาร์เดินเรือแบบ Sperry Marine BridgeMaster E และ Furuno จำนวน3ระบบ น่าแปลกใจนิดหน่อยที่การติดตั้งเรดาร์เดินเรือน่าจะสลับกับเรือหลวงกระบุรีที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ด้านหลังเรือด้วย ผู้เขียนพยายามย้อนดูภาพเก่าๆพอได้ใจความว่า เรือหลวงเจ้าพระยามีการติดตั้งเรดาร์ตัวหน้าสุดเพิ่มเติมขึ้นมา ตามมาตราฐานกองทัพเรือไทยแล้วมักจะเลือกเรดาร์ของ Furuno หรือ Kodenในการติดตั้งเพิ่มให้กับเรือรบ ขณะเดียวกันก็เป็นมาตราฐานของเรือเล็กและเรือช่วยรบในปัจจุบันอีกด้วย

เรือลำถัดไปคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นเรือหลวงปัตตานีจำนวน2ลำ ซึ่งเป็นเรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งแบบแรกของประเทศไทย มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ Selex RAN-30X/I และเรดาร์เดินเรือแบบ Raytheon NSC-25 SeaScout และ Koden จำนวน3ระบบ แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามีเรดาร์ที่ทำหน้าที่ช่วยลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือด้วยหรือไม่ เพราะเรดาร์ทั้งหมด5ตัวติดตั้งอยู่ใกล้กันบริเวณเหนือหอบังคับการณ์ ไม่มีเรดาร์ตัวไหนชี้ไปด้านหลังแบบเรือหลวงนเรศวรหรือเรือฟริเกตลำใหม่แต่อย่างใด
                                                        


6ติดตั้งเรดาร์เดินเรือร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ

6.1 ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ2ระบบร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ
การติดตั้งรูปแบบนี้เคยได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะกับเรือรบที่มีประสิทธิภาพสุง ประเทศไทยมีเรือที่ติดตั้งแบบนี้ถึง3ชั้น6ลำด้วยกันคือ เรือฟริเกตชั้นเรือหลวงตาปีจำนวน2ลำ มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Raytheon AN/SPS-53E (วงกลมสีส้มทั้งหมดคือเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ) เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Thales LW04 (วงกลมสีส้มทั้งหมดคือเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ)  และเรดาร์เดินเรือแบบ Furuno และ Koden จำนวน2ระบบ เมื่อตรวจสอบกับภาพเก่าๆพบว่าจะมีการเปลี่ยนเรดาร์เดินเรือเก่าออกไปแล้วคือรุ่น Racal Decca I-Band TM 626 และมีการติดตั้งเพิ่มอีก1ระบบ โดยถ้าเราจะย้อนไปในสมัยปี2514ที่เรือเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆแล้วหละก็ จะเห็นว่ามีการปรับปรุงครั้งใหญ่มากไปแล้วด้วย เรือลำนี้อายุมากกว่าผมหลายปีและเป็นหลักฐานสำคัญมากบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ ระหว่างกองทัพเรือไทยกับบริษัท Deccaที่มีมายาวนานมากกว่า40ปีแล้วด้วย

เรือลำต่อไปคือเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจำนวน2ลำ มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Raytheon AN/SPS-10F เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Lockheed Martin AN/SPS-40B และเรดาร์เดินเรือแบบ Marconi LN-66 และยี่ห้ออื่นจำนวน2ระบบ เมื่อผู้เขียนลองย้อนดูภาพเก่าของเรือฟริเกตมือ2จากอเมริกาลำนี้ จะเห็นว่ามีการติดตั้งเรดาร์เดินเรือเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งก็คงไม่พ้น Furuno หรือ Koden ถ้ามีการกระทำหลังจากเราได้รับมอบไปแล้ว เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำแท้ๆที่มีระวางขับน้ำเต็มที่ถึง4,209 ตัน ถือเป็นเรือฟริเกตขนาดใหญ่ที่สุดในกองทัพเรือไทยในตอนนี้เลย มีระบบจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC และระบบ CIWS แบบฟาลังซ์พร้อมกระสุนชนิดพิเศษเป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียวของไทยในปัจจุบัน มีโซนาร์ถึง3ระบบติดตั้งอยู่ในเรือ แม้จะมีอายุมากแล้วก็ตามแต่ยังมีเขี้ยวเล็บและความร่วมสมัยมากเกินตัว

เรือลำสุดท้ายคือเรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์จำนวน2ลำ มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales ZW06 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Thales DA05 และเรดาร์เดินเรือแบบ Sperry Marine BridgeMaster E และ Koden จำนวน2ระบบ เมื่อเทียบกับภาพเก่าๆจะเห็นได้ว่าเรดาร์ Koden บริเวณด้านหน้าสุดมีการติดตั้งเพิ่มในภายหลัง เรือหลวงรัตนโกสินทร์เป็นเรือรบที่ทันสมัยมากที่สุดอีกลำหนึ่งของกองทัพเรือไทย มีระบบอาวุธที่ดีมากสามารถทำการรบได้ทั้ง3มิติ ติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์ตามมาตราฐานกองทัพเรือยุคนั้นได้ดีมาก เสียดายว่าเรือเล็กไปนิดจึงออกปฎิบัติการณ์ไกลฝั่งได้ไม่ดีเท่าเรือใหญ่ เป็นเรือลำแรกๆที่ถูกตัดระบบ ECM ออกไปเพื่อให้ราคาถูกลงมาบ้าง เมื่อมีการติดตั้งระบบ ESMใหม่เข้าไปใหม่ก็ไม่ได้มีการพิจารณาติดตั้งระบบ ECM ด้วยหลังจากเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงนเรศวรเข้าประจำการในปี2538 ระบบ ECM ก็ไม่ได้มีการติดตั้งในเรือลำไหนอีกเลยรวมถึงเรือฟริเกตลำใหม่ล่าสุดจากเกาหลีใต้เช่นกัน
                                                  



6.2 ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ3ระบบร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ
การติดตั้งรูปแบบนี้มีแค่เพียงเรือหลวงมกุฎราชกุมารลำเดียวเท่านั้นครับ มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales ZW06 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Thales DA05 และเรดาร์เดินเรือแบบ Furuno และ Kodenจำนวน3ระบบ เมื่อเทียบกับภาพเก่าๆเรือจะติดแค่เพียงเรดาร์Deccaบริเวณเสากระโดงหน้าด้านซ้ายมือเท่านั้นเอง

เรือหลวงมกุฎราชกุมารเป็นเรือฟริเกตติดจรวดต่อสู้อากาศยานลำแรกของประเทศไทยและลำแรกๆของอาเซียน กองทัพเรือตั้งใจจะใช้ชื่อว่าเรือหลวงเจ้าพระยา แต่ในระหว่างที่เรือยังสร้างไม่เสร็จได้มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ฯขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร กองทัพเรือจึงได้เปลี่ยนชื่อเรือเป็นเรือหลวงมกุฎราชกุมารเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ เรือจะครบรอบการเข้าประจำการ41ปีในวันที่5 พฤษภาคม 2557นี้เอง ปัจจุบันอาวุธจรวดซีแคทถุกถอดออกไปแล้วเพราะหมดอายุ
                                                   

7ติดตั้งเรดาร์เดินเรือร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศและเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ

การติดตั้งรูปแบบสุดท้ายนี้ใช้กับเรือฟริเกตทันสมัยในยุคปัจจุบัน กองทัพเรือไทยมีเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงนเรศวรจำนวน2ลำที่ติดตั้งแบบดังกล่าว แต่ในอนาคตจะมีเรือฟริเกตลำใหม่อีกอย่างน้อย2ลำที่ติดตั้งแบบนี้เช่นกัน โดยจะมีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ Saab Sea Giraffe AMB 3D เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Thales LW08 และคาดว่าจะมีการติดตั้งเรดาร์เดินเรือแบบ Kelvin Hughes SharpEye จำนวน3ระบบ(X-band 1ระบบและS-band 1ระบบ) แต่ในภาพเป็นของเก่าทั้งหมดนะครับคือ Raytheon AN/SPS-64 และ Furuno

เรือหลวงนเรศวรทั้ง2ลำกำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุงช่วงกลางอายุแบบBig Minor Change คาดว่าปีหน้าจะเสร็จสมบูรณ์เข้าประจำการในกองทัพเรือได้อีกครั้ง เป็นเรือลำแรกที่มีระบบDATALINK   ระบบ VLS (Vertical Launching System) และจรวดต่อสู้อากาศยานทันสมัยรุ่นESSM (Evolved SeaSparrow Missile ) ระยะยิง50กิโลเมตร


ระบบเรดาร์เดินเรือกองทัพเรือไทยมีมากแบบจริงเหรอ

จริงครับเรามีเรดาร์เดินเรือมากแบบจริงๆ นับเฉพาะเรือที่ยังประจำการอยู่ก็น่าจะได้ประมาณนี้นะครับ

Sperry Marine BridgeMaster E (ชุด ร.ล.เจ้าพระยา, กระบุรี, รัตนโกสินทร์, ต.991, ต.994,กระบี่)
Sperry Marine Rasca (ชุด ร.ล.จักรีนฤเบศร, สิมิลัน)
Sperry Marine (ชุด ร.ล.คำรณสินธุ, หัวหิน, ถลาง)
Decca (ชุด ร.ล.ปราบปรปักษ์, ชลบุรี, สัตหีบ, ทองแก้ว, ลาดหญ้า ลำที่ 2, บางระจัน, ต.91, ล.21)
Marconi LN-66 (ชุด ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)
Raytheon AN/SPS-64 (ชุด ร.ล.นเรศวร)
Raytheon Anschutz NSC-25 SeaScout (ชุด ร.ล.ปัตตานี, ชุด ร.ล.อ่างทอง)
Raytheon Anschutz Pathfinder/ST Mk.2 (ชุด ร.ล.มันนอก)
Atlas Elektronik 9600M (ชุด ร.ล.ลาดหญ้า ลำที่ 3)
Koden (ชุด ร.ล.ตาปี, มกุฎราชกุมาร, รัตนโกสินทร์, ราชฤทธิ์, ปัตตานี, สีชัง, มัตโพน ลำที่ 1, เกล็ดแก้ว, จุฬา, สมุย, เปริด, จวง, จิก, ต.11, ต.21, ล.11)
Furuno (ชุด ร.ล.นเรศวร, ตาปี, มกุฎราชกุมาร, เจ้าพระยา, กระบุรี, ปราบปรปักษ์, ราชฤทธิ์, สัตหีบ, มัตโพน ลำที่ 2, มันนอก, ถลาง, ต.11, ต.991, ต.994, ต.21, ต.213, ต.227)
Anritsu (ชุด ต.11, ต.81, ต.21, ต.213, ต.231, ล.11)      

แต่เมื่อมองเข้าไปในเหตุผลลึกๆแล้ว เรดาร์เดินเรือเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมานานมาก ตั้งแต่เรือขนาด40ฟุตไปจนถึงเรือบรรทุกเครื่องบินระวางขับน้ำ1แสนตันล้วนต้องใช้งานเรดาร์เดินเรือ มีบริษัทผู้ผลิตมากมีสินค้าใหม่ๆออกมาโดยตลอด เทคโนโลยีใหม่มาแทนของเดิมตลอดผู้ซื้อเองก็ต้องขยับตัวตามด้วยเช่นกัน เมื่อมีการต่อเรือลำใหม่ถัดไปอีกซัก5ปีแม้เรือจะเป็นแบบเดิมแต่เรดาร์เดินเรือก็อาจจะเปลี่ยนรุ่นไปแล้ว เปรียบเทียบง่ายๆเหมือนกับรถเก๋งโตโยต้าโคโรลล่าที่มีรุ่นใหม่ออกมาทุก4-5ปี เราเคยซื้อรุ่น3ห่วงมาใช้งานอย่างดีเยี่ยมแต่พอจะซื้อใหม่ก็กลายเป็นรุ่นหน้าหมูไปแล้ว

นอกจากนี้การที่บริษัทผู้ผลิตถูกเปลี่ยนมือหรือโดนควบกิจการจากบริษัทอื่นมีผลมายังลูกค้าเก่าแก่ด้วย กองทัพเรือไทยใช้เรดาร์ของ Decca จากประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี2514กับเรือชั้นเรือหลวงตาปี (นับเฉพาะเรือที่ยังประจำการและหาข้อมูลได้) จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการจัดหาเรดาร์ของ Sperry Marine BridgeMaster E ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท Northrop Grumman Electronic Systems จากอเมริกามาใช้กับเรือรบหลักลำใหม่ๆโดยตลอด เรามาดูเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของเขาดูนะครับ

                                                         

ดูตามแผนภาพแล้วจะเห็นได้ว่ากองทัพเรือไทยเลือกใช้เรดาร์จากบริษัทนี้เป็นหลักมาโดยตลอ ดแม้จะเปลี่ยนชื่อบริษัทและเจ้าของไปหลายครั้งแล้วก็ตาม อาจมีรุ่นแปลกๆเข้ามาบ้างจากเรือมือ2หรือการจัดซื้อจัดหาที่มีความจำเป็นบางประการ  ผู้เขียนมีเรื่องแปลกมาเล่าให้ฟังครับ เรือบรรทุกเครื่องบิน Queen Elizabeth Class ลำใหม่ล่าสุดของอังกฤษเลือกเรดาร์ Sperry Marine VisionMaster FT seriesจากอเมริกามาติดตั้ง แทนที่จะเป็นเรดาร์ Kelvin Hughes SharpEye ของประเทศตัวเอง(ถึงขนาดมีภาพเรือในโบรชัวร์เลยนะครับ) สวนทางกับประเทศไทยที่ใช้เปลี่ยนมาใช้เรดาร์อังกฤษแท้ๆแทนที่เรดาร์อดีตอังกฤษที่เป็นลูกค้ายาวนานกัน นับว่าแปลกดีเหมือนกันก็ว่ากันไป


บทสรุประบบเรดาร์เดินเรือกองทัพเรือไทย

การติดตั้งระบบเรดาร์เดินเรือของกองทัพเรือไทยแยกออกเป็น2ประเภทอย่างชัดเจน นั่นก็คือแบบเรดาร์สำหรับเรือขนาดเล็กและเรือช่วยรบทั่วไป กับเรือรบหลักและเรือช่วยรบขนาดใหญ่ที่จะใช้รุ่นแพงกว่าดีกว่า

เรดาร์สำหรับเรือขนาดเล็กและเรือช่วยรบทั่วไปในปัจจุบันกองทัพเรือเลือก Furuno เป็นหลักไปแล้วโดยมี Koden เป็นตัวสอดแทรก คิดว่าดีนะครับเพราะจะได้มีทางเลือกไม่เป็นการผูกขาดสินค้าจนเกินไป ใครมีสินค้าที่เหมาะสมกว่าในวงเงินที่ต้องการก็ได้ออเดอร์ไปโปร่งใสยุติธรรมดี (ผู้เขียนชอบหน้าตา Furuno ที่มีสีน้ำเงินสลับขาว แต่ชอบหน้าจอของทาง Koden มากกว่า) นอกจากนี้ในกรณีเรือรบหลักต้องการติดเรดาร์เดินเรือเพิ่มก็จะใช้บริการจาก2รายนี้เช่นกัน

ส่วน Anritsu ที่เคยมีติดอยู่บ้างนั้น แทบทั้งหมดจะเป็นเรือที่ต่อขึ้นจากประเทศอเมริกาและออสเตรเลียก่อนส่งมายังไทย มีเรือต่อในประเทศและติดเรดาร์ Anritsu แค่เพียงเรือชั้นต.213บางลำเท่านั้นเอง และนับตั้งแต่วันที่27 ตุลาคม 2543เป็นต้นไป หลังจากเรือ ต.83 จากออสเตรเลียเข้าประจำการแล้วกองทัพเรือก็ไม่ได้เลือกเรดาร์Anritsu อีกเลย ผู้เขียนคิดว่าคงไม่มีการสั่งซื้ออีกแล้วหละครับเหลือแค่2รายเท่านั้นเอง

ส่วนเรือรบหลักและเรือช่วยรบขนาดใหญ่อาจจะยังไม่ชัดเจนนิดหน่อย ผู้เขียนเข้าใจว่ากองทัพเรือเลือก Kelvin Hughesสำหรับเรือรบที่มีประสิทธิภาพสุงเท่านั้น และยังคงใช้ Sperry Marine กับเรือรบหลักทั่วไปเหมือนเดิม (อนาคตเปลี่ยนมาเป็นVisionMaster FT series ได้แล้วนะ) โดยมี Raytheon Anschutz เป็นตัวสอดแทรกเหมือนเช่นเรือขนาดเล็กไม่มีผิด แต่บางทีกองทัพเรืออาจเปลี่ยนมาเลือก Kelvin Hughes เป็นเรดาร์เดินเรือหลักเลยก็ได้นะครับ กาลเวลาจะเป็นตัวบ่งบอกข้อสันนิฐานนี้ว่าถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
                                                           

                -----------------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น