วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

RTN Naval Programme

 

โครงการบำรุงกำลังทางเรือ

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศในปี 2475 กองทัพเรือไทยขนาดค่อนข้างเล็กเต็มไปด้วยเรือเก่าใกล้ปลดประจำการ ประกอบกับเรือสมัยนั้นอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น เรือปืนอายุ 15 ปี เรือพิฆาตและเรือตอร์ปิโดอายุ 15 ปี เรือยามฝั่งอายุ 5-10 ปี ส่งผลให้กองทัพเรือเหลือเรือใช้งานได้ประกอบไปด้วย เรือปืนจำนวน 2 ลำ (เรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์) เรือยามฝั่งจำนวน 5 ลำ (ร.ย.ฝ.2 ถึง ร.ย.ฝ.5 และเรือหาญหักศัตรู) รวมทั้งเรือหลวงพระร่วงซึ่งเข้ารับการปรับปรุงยึดอายุการใช้งาน กำลังรบที่มีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับภัยคุกคามซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ย่างเข้าสู่ปี 2477 กองทัพเรือปรับปรุงกำลังทางเรือให้แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยการซื้อเรือตอร์ปิโดจากประเทศอิตาลีจำนวน 2 ลำ ได้แก่เรือหลวงตราดและเรือหลวงภูเก็ต ราคารวมทั้งอาวุธประมาณ 2.6 ล้านบาท กับเรือยามฝั่งจากอังกฤษจำนวน 3 ลำได้แก่เรือ ร.ย.ฝ.6 ถึง ร.ย.ฝ.8 ราคาไม่รวมอาวุธประมาณ 8 แสนบาท โดยใช้งบประมาณที่ได้รับเพิ่มเติมจากกระทรวงกลาโหมช่วงปลายปี 2476

ราชนาวีไทยขยับตัวครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือหลวงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในสองเรือปืนซึ่งจัดว่าทันสมัยที่สุดในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรือจากอังกฤษขนาดเล็กมากระวางขับน้ำเต็มที่เพียง 1,000 ตัน ระบบควบการยิงค่อนข้างล้าสมัยใช้งานยากความแม่นยำต่ำ

เพื่อให้การปรับปรุงกำลังทางเรือเป็นไปตามแบบแผนการที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ กองทัพเรือได้จัดทำโครงการสร้างเรือ (Naval Construction Programme หรือ Naval Programme) เพื่อส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาในวันที่ 18 มกราคม 2477 ผู้เขียนขอคัดลอกข้อมูลสำคัญบางส่วนมาเผยแพร่ต่อตามนี้

เรียน นายพันเอก หลวงพิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ตามนโยบายป้องกันประเทศสยามในปัจจุบัน ทุกหน่วยกำลังของชาติกำลังวางโครงการที่จะทำให้ประเทศมีกำลังพลเหมาะสมกับสถานการณ์ สำหรับกองทัพเรือได้วางโครงการไว้เป็นขั้นๆ ตามกำลังทรัพย์ของประเทศ และขั้นต่ำสุดที่ต้องการให้พอทำการได้ผลบ้างเฉพาะในยุคนี้มีดังนี้

-เรือปืนขนาดหนัก 2,000 ตันจำนวน 2 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันจำนวน 6 ลำ

-เรือดำน้ำขนาด 300-400 ตันจำนวน 6 ลำ

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ

-ทุ่นระเบิดจำนวน 2,000 ลูก

-เรือยามฝั่งไม่ต่ำกว่า 20 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาดเล็กสำหรับฝึกคนจำนวน 2 ลำ

-เรือฝึกหัดนักเรียนจำนวน 1 ลำ

ด้วยกำลังเท่านี้จะช่วยรักษาความเป็นกลางไว้ได้ ถ้าเกิดสงครามจะช่วยป้องกันการยกพลขึ้นบก และช่วยรักษาปีกทหารบกบริเวณก้นอ่าวสยามไว้ได้ แต่จะไปทำการรุกรานไม่ได้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น

ราคาเรือและอาวุธที่กล่าวถึงประมาณได้ดังนี้

-เรือปืนขนาด 2,000 ตันลำละ 5,000,000 บาท

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันลำละ 1,300,000 บาท

-เรือดำน้ำขนาด 300 ตันลำละ 2,300,000 บาท

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดขนาด 400 ตันลำละ 500,000 บาท

-เรือยามฝั่งลำละ 120,000 บาท

ในขั้นนี้กองทัพเรือขออนุมัติเริ่มดำเนินการเฉพาะ

-เรือปืนขนาด 2,000 ตันจำนวน 1 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันจำนวน 4 ลำ

-เรือดำน้ำขนาด 300 ตันจำนวน 3 ลำ

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดขนาด 400 ตันจำนวน 1 ลำ

รวมทั้งหมดเป็นเงินประมาณ 17,600,000 บาท

กองทัพเรือกำลังทาบทามบริษัทต่างๆ ในการใช้เงิน ถ้าหากบริษัทตกลงให้ผ่อนปีละ 2,000,000 บาท กองทัพเรือขอให้กระทรวงกลาโหมเจรจาตกลงกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลอนุมัติกองทัพเรือจะรีบดำเนินการต่อไป ฉะนั้นถ้าเริ่มได้เสียเดี๋ยวนี้จะเป็นการดียิ่ง มิฉะนั้นจะไม่ได้เรือมาใช้ทันการ

ควรมีควรแล้วแต่จะกรุณา นาวาเอกพระยาวิจารณ์จักรกิจ ผู้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ

หมายเหตุ : ผู้เขียนถือวิสาสะปรับปรุงสำนวนการเขียนเล็กน้อย ข้อมูลยังอยู่ครบถ้วนแต่อ่านเข้าใจง่ายกว่าเดิม

ภาพประกอบที่สองเรือลำใหญ่คือเรือหลวงระยอง เรือตอร์ปิโดใหญ่สร้างจากประเทศอิตาลี ส่วนเรือลำเล็กสองลำคือเรือหลวงตากใบกับเรือหลวงสัตหีบ เรือตอร์ปิโดเล็กสร้างจากประเทศญี่ปุ่นและสร้างเอง เป็นหนึ่งในผลผลิตจากโครงการบำรุงกำลังทางเรือเรือ

โครงการบำรุงกำลังทางเรือแบ่งออกเป็น 2 สกรีมประกอบไปด้วย สกรีมหนึ่งสร้างเรือเล็กสำหรับทำการรบใกล้ฝั่ง สกรีมสองสร้างเรือใหญ่สำหรับทำการรบระยะไกล จำนวนเรือที่กองทัพเรือเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเพียงสกรีมแรกเนื่องจากเกรงว่ารัฐบาลอาจมีงบประมาณไม่เพียงพอ

โครงการบำรุงกำลังทางเรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล เพียงแต่รัฐบาลไม่เห็นด้วยที่กองทัพเรือขอซื้อเรือด้วยวิธีผ่อนจ่าย เกรงว่านานาชาติจะเข้าใจผิดคิดว่าการเงินประเทศไทยไม่ดี รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้เงินคงคลังซึ่งมีเงินสดมากเพียงพอ กำหนดให้ใช้งบประมาณบำรุงกำลังทางเรือ 18 ล้านบาทในเวลา 6 ปี

วันที่ 29 มีนาคม 2477 พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือถูกดันเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน 2478 พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือถูกประกาศเป็นกฎหมาย เนื้อหาใจความสำคัญมีแค่เพียง 4 มาตรา ประเด็นสำคัญอยู่ในมาตราที่ 3 ให้ตั้งงบประมาณก้อนหนึ่งเป็นเงิน 18 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงกลาโหมจัดสร้างโครงการบำรุงกำลังทางเรือภายใน 6 ปี และมาตราที่ 4 ให้จ่ายเงินจากเงินงบประมาณปีละ 1 ล้านบาท ที่เหลือให้จ่ายเงินจากเงินคงคลัง

เท่ากับว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้สูตร เงินงบประมาณ 1 ล้านบาท + เงินคงคลัง 2 ล้านบาท = งบประมาณบำรุงกำลังทางเรือเรือ 3 ล้านบาทต่อปี

ข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่สมควรบันทึกเพิ่มเติมก็คือ กองทัพเรือใช้สูตร 1+2= 3 ระยะเวลา 6 ปีในการใช้เงินซื้อเรือ ครั้นถึงเวลาจริงเงินคงคลังจำนวน 12 ล้านถูกใช้หมดสิ้นภายใน 4 ปีแรก เนื่องจากกองทัพเรือมีการปรับเปลี่ยนแผนการจ่ายเงินกับบริษัทสร้างเรือเล็กน้อย ความเปลี่ยนแปลงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งใดรัฐบาลยังคงจ่ายเงินเท่าเดิม

เมื่อพระราชบัญญัติถูกประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ กองทัพเรือได้ออกคำสั่งเฉพาะที่ 2/78 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือ ประกอบไปด้วยนายทหารเรือระดับนาวาตรีขึ้นไปจำนวน 13 นาย คณะกรรมการใช้วิธีประกวดราคาและคัดเลือกซื้อเรือ จากบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดแต่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ และอาจแยกซื้อเรือจากบริษัทหนึ่งแต่ซื้ออาวุธจากอีกบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้กองทัพเรือได้ใช้อาวุธคุณภาพดีราคาประหยัด ยกตัวอย่างเช่นซื้อเรือตอร์ปิโดจากอิตาลี ซื้อปืนใหญ่จากสวีเดน ส่วนตอร์ปิโดซื้อจากเดนมาร์กและญี่ปุ่น

เมื่อการประกวดราคาได้ผู้ชนะการคัดเลือกครบถ้วนทั้งหมด คณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือจึงสั่งซื้อเรือชนิดต่างๆ ประกอบไปด้วย

1.กรกฎาคม 2478 เรือกวาดทุ่นระเบิดไม่มีอาวุธจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ ราคา 583,000 บาท

2.กรกฎาคม 2478 เรือตอร์ปิโดใหญ่ไม่มีอาวุธจากอิตาลีจำนวน 7 ลำ ราคา 3,999,940 บาท

3.สิงหาคม 2478 เรือสลุปไม่มีอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 1,885,000 บาท

4.พฤศจิกายน 2478 เรือดำน้ำพร้อมอาวุธยกเว้นลูกตอร์ปิโดจากญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำ ราคา 3,280,000 บาท

5.ธันวาคม 2478 เรือปืนหนักพร้อมอาวุธยกเว้นปืนใหญ่ 75 มม.จากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 5,726,666 บาท

6.มกราคม 2479 เรือตอร์ปิโดเล็กพร้อมอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 3 ลำ ราคา 721,154 บาท

7.มีนาคม 2479 เรือลำเลียงไม่มีอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 676,722 บาท

ราคารวมเรือทุกลำเท่ากับ 16,872,482 บาท

ภาพประกอบที่สามคือเรือหลวงวิรุณในอู่ต่อเรือประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในสี่เรือดำน้ำชุดแรกของราชนาวีไทย

นอกจากเรือชนิดต่างๆ จำนวน 7 แบบยอดรวม 22 ลำ คณะกรรมการได้พิจารณาซื้ออาวุธมาใช้งานเพิ่มเติมประกอบไปด้วย

1.ปืนใหญ่ขนาด 120/45 มม.จำนวน 12 กระบอก ราคา 514,948 บาทใช้ในเรือสลุป

2.ตอร์ปิโดขนาด 45 มม.(แบบ ฉ) จำนวน 80 ลูก และท่อยิงเดี่ยวกับท่อยิงคู่จำนวน 15 ชุด ราคา 1,259,545 บาทใช้ในเรือตอร์ปิโดกับเรือดำน้ำ

3.ปืนใหญ่ขนาด 75/51 มม.(โบฟอร์ส) จำนวน 40 กระบอก ราคา 1,222,402 บาทใช้ในเรือตอร์ปิโดกับเรือปืน

4.ทุ่นระเบิดชนิดทอดประจำที่จำนวน 200 ลูก ราคา 500,000 บาท

5.เครื่องบินทะเลแบบ บรน.1จำนวน 6 ลำ ราคา 229,476 บาท

6.ปืนใหญ่ขนาด 76/25 มม.จำนวน 5 กระบอก ราคา 92,505 บาทติดในเรือตอร์ปิโดเล็กที่จะสร้างเอง

7.ลูกปืน 75/51 มม.และลูกปืนหลอด ราคา 210,000 บาท

8.ตอร์ปิโดขนาด 45 มม.(แบบ ฉ) จำนวน 20 ลูก และท่อยิงคู่จำนวน 8 ชุด ราคา 301,282 บาทใช้ในเรือสลุปกับเรือหลวงพระร่วง

9.เครื่องจักรและหม้อน้ำเรือตอร์ปิโดเล็กจำนวน 3 ชุด ราคา 334,103 บาท (กองทัพเรือต้องการสร้างเอง)

10.สร้างเรือตรวจการณ์ประมงขนาด 50 ตันจำนวน 3 ลำที่กรมอู่ทหารเรือ ราคา 151,815 บาท ประกอบไปด้วยเรือหลวงสารสินธุ เรือหลวงเทียวอุทก และเรือหลวงตระเวนนารี

11.ซื้อเครื่องหนีภัยจากเรือดำน้ำจำนวน 200 ชุด ราคา18,366 บาท

ราคาระบบอาวุธทั้งหมดเท่ากับ 4,834,442 บาท

คณะกรรมการยังได้ซื้ออาวุธชนิดอื่นเพิ่มเติมทว่าผู้เขียนไม่สามารถหาราคาได้ดังนี้

1.ปืนกลแมดเสนขนาด 20 มม.ทั้งรุ่นแท่นเดี่ยวและแท่นคู่

2.หมวกเหล็ก 4,000 ใบ

3.ลูกปืนซ้อมยิงกับลูกสลุตของปืนใหญ่ 120/45 มม.

4.ระเบิดลึกและพาราเวนกวาดทุ่นระเบิดจากญี่ปุ่น

5.ปืนใหญ่สนามขนาด 75/40 มม.สำหรับนาวิกโยธิน (ขอแบ่งจากกองทัพบก)

6.ปืนกลแมดเสนขนาด 8 มม.สำหรับนาวิกโยธินและเรือยามฝั่ง

7.สร้างเรือยามฝั่งเพิ่มเติมจำนวน 3 ลำ โดยกรมอู่ทหารเรือ ประกอบไปด้วยเรือ ร.ย.ฝ.9 ถึง ร.ย.ฝ.11

8.สร้างเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 150 ตันจำนวน 1 ลำโดยกรมอู่ทหารเรือ ได้แก่เรือหลวงปรง กระทรวงกลาโหมออกเงินให้ 75,000 บาทโดยให้ใช้เรือร่วมกับกรมเชื้อเพลิง

ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2478 ถึง 2481 หรือ 4 ปี กองทัพเรือใช้งบประมาณในการพัฒนากำลังรบทางเรือจำนวน 21.7 ล้านบาท รวมอาวุธที่ไม่มีข้อมูลเรื่องราคากับการสร้างอู่แห้งที่กรมอู่ทหารเรือ อาคารสถานที่ คลังเชื้อเพลิงที่สัตหีบ เท่ากับว่ากองทัพเรือใช้เงินประมาณ 23 ล้านบาท เป็นเงินจากพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือเรือจำนวน 16 ล้านบาท บวกเงินจากงบประมาณประจำปีกองทัพเรืออีกประมาณ 7 ล้านบาท

ภาพประกอบที่สี่คือเรือสลุปชั้นเรือหลวงท่าจีนสร้างโดยญี่ปุ่น สังเกตนะครับโครงการสร้างเรือที่กองทัพเรือยื่นให้กับกระทรวงกลาโหมไม่มีเรือชนิดนี้ แต่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังโดยคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือ

นี่คือเบื้องหลังโครงการสร้างเรือหรือ Naval Programme ครั้งแรกของราชนาวีไทย เป็นโครงการระยะยาว 6 ปีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐสภา มีการเพิ่มเติมชนิดเรือเข้ามาจากความต้องการสกรีมแรกของกองทัพเรือ นั่นคือเรือสลุปขนาด 1,400 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือชนิดนี้ทำการรบ 3 มิติได้เหมือนเรือฟริเกตในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถใช้เป็นเรือฝึกให้กับกำลังพลทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

นอกจากซื้อเรือชนิดต่างๆ จำนวน 22 ลำเข้าประจำการ กองทัพเรือยังมีโครงการสร้างเรือยามฝั่งและเรือตรวจการณ์ประมงจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีแผนการสร้างเรือตอร์ปิโดเล็กด้วยฝีมือตัวเองจำนวน 3 ลำ ถึงได้จัดหาปืนใหญ่ขนาด 76/25 มม.จำนวน 5 กระบอก กับเครื่องจักรและหม้อน้ำเรือตอร์ปิโดเล็กจำนวน 3 ชุด โครงการนี้ค่อนข้างล่าช้ากว่าจะสร้างเสร็จปาเข้าไปปี 2499 และสร้างเพียงลำเดียวคือเรือหลวงสัตหีบในภาพประกอบที่สอง

โครงการบำรุงกำลังทางเรือเรือประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทุกอย่างเป็นไปตามแผนการเรือทุกลำถูกส่งมอบตามกำหนดการ ลูกประดู่ไทยสามารถสร้างกำลังทางเรือขนาดใหญ่ในเวลาไม่กี่ปี ผู้เขียนคาดหวังว่าชั่วชีวิตตัวเองจะได้เห็น RTN Naval Programme เกิดขึ้นกับตาสักครั้ง

อ้างอิงจาก

อนุสรณ์นักบินทหารเรือที่เสียชีวิตเมื่อ 17 มีนาคม 2512

https://www.shipscribe.com/thai/images/above.html

https://www.history.navy.mil/

https://web.facebook.com/photo?fbid=2187605524716389&set=pcb.2187606464716295

https://web.facebook.com/photo/?fbid=867927502005009&set=a.511878827609880

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น