วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2566

VENARI-85 for RTN

 

โครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด

สมุดปกขาวกองทัพเรือ พ..2566 มีข้อมูลน่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศของกองทัพเรือ ข้อมูลสมุดปกขาวหน้าที่ 29 ส่วนหนึ่งระบุไว้ตามนี้

5.1 กองทัพเรือมุ่งเน้นและสนับสนุนอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเพื่อการพึ่งพาตัวเอง โดยที่ผ่านมากองทัพเรือได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในการต่อเรือประเภทต่างๆ อาทิ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และเรือตรวจการณ์ประเภทอื่นๆ เรือสำรวจอุทกศาสตร์ เรือระบายพล เรือลากจูง เรือปฏิบัติการความเร็วสูง อีกทั้งสนับสนุนในการซ่อมบำรุงเรือของกองทัพเรือ โดยในอนาคตกองทัพเรือมุ่งเน้นการดำเนินโครงการจัดหายุทโธปกรณ์สำคัญ ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำ และโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด ซึ่งมีวงเงินรวม 82,950 ล้านบาท อีกทั้งมีแผนการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ภายในประเทศในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตามในระยะแรกยังคงมีความจำเป็นต้องจัดหายุทโธปกรณ์ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยยังไม่มีขีดความสามารถดำเนินการได้เอง

จากข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าระหว่างปี 2566 ถึง 2580 กองทัพเรือมีแผนจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำ กับเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิดไม่ระบุจำนวน แต่จากข้อมูลเก่าคาดเดาได้ว่าจำนวน  1 ลำทดแทนเรือหลวงถลาง (MCS 621) ซึ่งเป็นเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด ราคาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำเท่ากับ 80,400 ล้านบาท ฉะนั้นเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิดจำนวน 1 ลำจึงมีราคา 2,550 ล้านบาท ซึ่งอาจรวมยานผิวน้ำไร้คนขับหรือยานใต้น้ำไร้คนขับเพิ่มเติมเข้ามาในโครงการ

เป็นการจัดหาโดยมีข้อกำหนดต้องสร้างเรือเองในประเทศ ทั้งนี้ทั้งนั้นมีรายละเอียดเติมปิดท้ายอาจจัดหาจากต่างประเทศ ถ้าบริษัทในประเทศไม่มีขีดความสามารถดำเนินการได้เอง ฉะนั้นถ้ากองทัพเรือซื้อเรือฟริเกตจากประเทศจีน2 ลำกับสร้างเอง 2 ลำ ย่อมไม่ผิดไปจากข้อกำหนดสมุดปกขาวเพราะเขียนไว้แล้วอย่างชัดเจนแล้ว

เอกสารทางราชการต้องอ่านให้ละเอียดและแตกฉานนะครับ

ที่ผ่านมากองทัพเรือยังไม่เคยริเริ่มโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด ทว่าในปี 2560 เคยมีโครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์ เพื่อทดแทนเรือหลวงถลางซึ่งใกล้ปลดประจำการเต็มที โดยมีบริษัทสร้างเรือในไทยจับมือกับบริษัทต่างชาติเสนอแบบเรือเข้าร่วมโครงการ 2 บริษัท บังเอิญโครงการนี้ไปไม่ถึงดวงดาวถูกเก็บเข้ากรุตามระเบียบพักไปเสียก่อน

ผู้เขียนไม่ทราบความต้องการในปัจจุบันของกองทัพเรือ จึงใช้วิธีคาดเดาว่าเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิดต้องเป็นศูนย์สงครามทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ เป็นฐานปฏิบัติการส่วนหน้าในพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม รองรับการจัดเก็บทุ่นระเบิดแบบลอยตามกระแสน้ำ เป็นฐานปฏิบัติการของยานใต้น้ำไร้คนขับหรือ UUV เป็นฐานปฏิบัติการยานล่าทำลายทุ่นระเบิดหรือ MDV  มีพื้นที่บนเรือรองรับหน่วยปฏิบัติการ วางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ได้ รวมทั้งมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางสำหรับเจ้าหน้าที่ทำลายวัตถุระเบิดจากทางอากาศ

ในอนาคตถ้ากองทัพเรือขึ้นโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิดจริง แบบเรือจากโครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์อาจได้เกิดใหม่อีกครั้ง บทความนี้ผู้เขียนขอนำแบบเรือจากประเทศอังกฤษมานำเสนออีกครั้งพร้อมทางเลือกใหม่เพิ่มเติม

BMT VENARI-85

วันที่ 2 มิถุนายน 2560 เว็บเพจ "Navy For Live" ลงบทความเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือตามนี้

++++++++++++++++++

Navy Updates

บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ร่วมมือกับ บริษัท BMT Defense Services ประเทศอังกฤษ ได้ยื่นเสนอแบบเรือเพื่อประกอบการพิจารณากับ กองเรือทุ่นระเบิด ในการจัดเตรียมโครงการ "เรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์" เพื่อทดแทน ร.ล.ถลาง ที่ใกล้ถึงวาระการปลดระวางประจำการ โดยปัจจุบัน ยังอยู่ในขั้นการเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้านเพื่อเสนอโครงการต่อไปนั่นเอง

เรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด (Mine Countermeasure Support Ship) นั้น ตามความต้องการของหน่วยผู้ใช้ จะรองรับการปฏิบัติการต่อต้านทุ่นระเบิด ทั้งในและนอกประเทศ โดยจะต้องมีขีดความสามารถในการสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด ร่วมกับ ชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ (MCM Mobile Team) เพื่อสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด ในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการต่อต้านฯ ก่อนการปฏิบัติการยกพลขึ้นบก

สำหรับแบบเรือที่เสนอโดย BMT Defense Service นั้น จะเป็นไปตามแนวความคิดการใช้เรือสมัยใหม่ คือ Mission Module Concept เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งานให้มากที่สุด และ ยังสามารถใช้เป็นเรือวางทุ่นระเบิด ไม่น้อยกว่า 150 ลูกต่อเที่ยว ด้วยรางวางทุ่นระเบิดระบบปิดท้ายเรือ จำนวน 4 ราง พร้อมระบบตั้งค่าทุ่นระเบิดภายใน

ภายในห้องศูนย์ยุทธการ จะทำหน้าที่ เป็นศูนย์สงครามทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ ให้กับกองกำลังทางเรือ โดยจะสามารถวางแผนร่วมกับ กำลังต่อต้านทุ่นระเบิดอื่นๆ ด้วยระบบ Thales M-cube ที่มีการออกแบบระบบโดยการใช้ MCM Expert Program ซึ่งเป็นโปรแกรมมาตรฐานที่ใช้ในกองกำลังต่อต้านทุ่นระเบิด NATO

ความต้องการของลานจอดเฮลิคอปเตอร์ นั้นเพื่อรองรับการใช้งาน MCM Pouncer คือ เมื่อตรวจพบทุ่นระเบิดแบบลอยตามกระแสน้ำ หรือ ทุ่นระเบิดที่ขาดจากสายยึดทุ่นลอยตามกระแสน้ำนั้น จะดำเนินการส่ง ฮ. พร้อมเจ้าหน้าที่ EOD ในการต่อต้านทุ่นระเบิดให้หมดสภาพจากการเป็นภัยคุกคาม

นอกจากบริษัท อิตัลไทยมารีน จำกัด จะมีการเสนอแบบ เพื่อประกอบการพิจารณาแล้ว ยังมี บริษัท มาร์ซัน จำกัด ที่กำลังเตรียมการจัดหาความร่วมมือจากอู่ต่อเรือตุรกีในครั้งนี้ด้วย

ป.ล. ภาพประกอบ ยังไม่ใช่แบบสำเร็จ หรือ ความต้องการของ กทบ. นะครับ เป็นเพียงแบบที่เสนอ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุง

By Admin ต้นปืน561

++++++++++++++++++

ภาพประกอบที่ 2 และ 3 มาจากเว็บเพจ Navy For เป็นภาพแบบเรือที่บริษัทอิตัลไทยมารีนกับบริษัท BMT Defense Services ประเทศอังกฤษนำเสนอในโครงการ โดยนำแบบเรือปราบทุ่นระเบิด VENARI-85 มาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับภารกิจสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด มีการตัดจุดรับส่งยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดท้ายเรือออกไป แล้วสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางขึ้นมาทดแทน ใต้ลานจอดเป็นพื้นที่จัดเก็บทุ่นระเบิดจำนวนมากสุด 150 ลูกพร้อมรางปล่อยทุ่นระเบิด 4 ราง กราบขวาเรือติดตั้งเครนขนาด 15 ตันสำหรับจัดเก็บทุ่นระเบิดบนเรือ ถัดจากเครนเล็กน้อยคือจุดรับส่งสิ่งของกลางทะเลกับปืนฉีดน้ำความดันสูง

ภาพประกอบที่ 2 มองเห็นจุดวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module จำนวน 1 ตู้ ผู้เขียนเข้าใจว่าใช้จุดนี้ในการหย่อนทุ่นระเบิดลงสู่ห้องเก็บ เสร็จเรียบร้อยถึงนำตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตมาวางปิดท้าย ถ้าต้องวางทุ่นระเบิดหลายรอบติดกันท่าทางคงยุ่งยากพอสมควร เข้าใจว่าจุดที่ปรับปรุงเพิ่มเติมแตกต่างจากเดิมมีเพียงเท่านี้

VENARI-85 มีความยาว 85.9 เมตร น้ำหนักบรรทุกรวมประมาณ 500 ตัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัว เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 ตัว สองกราบเรือติดตั้งเรือยางท้องแข็งขนาด 7 เมตร ใต้ท้องเรือติดตั้งโซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิด เสากระโดงติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติกับเรดาร์เดินเรือ หน้าสะพานเดินเรือมีจุดติดตั้งปืนหลักกับแท่นยิงระบบเป้าลวงอาวุธนำวิถี มีที่พักสำหรับลูกเรือ 58 นาย รองรับการทำงานแบบ Mission Module Concept

กรณีต้องการเรือคุณลักษณะตามเดิม

จากภาพกราฟิกผู้เขียนนำมาวาดเป็นภาพเรือสไตล์ Shipbucket ตามภาพประกอบที่ 4

เรือลำบนติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Thales Variant มาพร้อมปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mark2 ขนาด 30 มม.ใช้ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOFCS บนเสากระโดง มีปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอกกับปืนกลขนาด 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ไม่มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์และระบบเป้าลวง เสากระโดงหลักเหมือนแบบเรือที่นำเสนอทุกประการ จัดเป็นรุ่นราคาประหยัดมีอาวุธสำหรับป้องกันตัวแค่พอประมาณ

เรือลำล่างติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ Thales NS50 มาพร้อมปืนใหญ่ OTO ขนาด 76/62 มม.รุ่น Sovraponte เป็นปืนรุ่นอเนกประสงค์ธรรมดาไม่มีระบบ Strales System ใช้กระสุนนำวิถีต่อสู้อากาศยานไม่ได้ ราคาจึงไม่แพงเกินไปสามารถจัดหามาใช้งานได้ เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกรุ่นนี้เพราะไม่ใช่พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ บรรจุกระสุนพร้อมยิงในป้อมปืนจำนวน 76 นัด ถ้าต้องการเน้นป้องกันภัยทางอากาศก็ใส่กระสุนแตกอากาศ เน้นป้องกันภัยผิวน้ำก็ใส่กระสุนเจาะเกาะ จัดเป็นรุ่นท็อปราคาแพงติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันตัวอย่างครบถ้วน

ปืนรองเป็นปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอกกับปืนกลขนาด 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ติดตั้งระบบดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ VIGILE Mk2 R-ESM และแท่นยิงเป้าลวง SKWS DL-12T จำนวน 2 แท่นยิง ใช้ระบบอำนวยการรบ TACTICOS มาพร้อมระบบดาต้าลิงก์ Link-Y มีกล้องตรวจการณ์ตอนกลางคืนอีก 1 ตัว

เฉพาะราคาเรือไม่น่าเกิน 2,550 ล้านบาทนะครับ

กรณีต้องการเรือคุณลักษณะใหม่

          ถ้ากองทัพเรือเปลี่ยนใจอยากได้ออปชัน Mother Ship มาใช้งานทดแทนการวางทุ่นระเบิด ผู้เขียนขอนำเสนอภาพประกอบที่ 5 ซึ่งใช้แบบเรือ VENARI-85 รุ่นดั้งเดิมของบริษัท BMT Defense Services

          เรือลำบนติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Thales Variant กับปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mark2 ขนาด 30 มม.กลางเรือเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 7 ตัน ใต้ลานจอดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ มีจุดรับส่งยานใต้น้ำไร้คนขับเฉพาะกราบขวาจุดเดียว ท้ายเรือเป็นจุดรับส่งยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ วางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ได้จำนวน 2 ตู้ ติดตั้งเครนขนาด 15 ตันไว้ที่บั้นท้ายเรือ

          เรือลำล่างติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ Thales NS50 กับปืนใหญ่ OTO ขนาด 76/62 มม.รุ่น Sovraponte ท้ายเรือถอดจุดรับส่งยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดออก สามารถวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ได้มากสุดถึง 6 ตู้ รองรับภารกิจอื่นอาทิเช่น ขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขนส่งยุทโธปกรณ์ สำรวจอุทกศาสตร์ รวมทั้งปราบเรือดำน้ำด้วยระบบ Mission Module ในอนาคตภายภาคหน้า

บทสรุป

          แบบเรือ VENARI-85 ทั้งรุ่นดั้งเดิมและรุ่นปรับปรุงเพื่อกองทัพเรือไทย มีความอเนกประสงค์รองรับการทำสงครามรูปแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี ติดขัดแค่เพียงบริษัท BMT Defense Services วางขายสินค้าตัวนี้กำลังจะขึ้นปีที่ 8 ปรากฏว่ายังหาลูกค้าเงินถุงเงินถังไม่ได้สักรายรวมทั้งกองทัพเรืออังกฤษประเทศผู้ผลิต

ถ้ากองทัพเรือไทยจัดหามาใช้งานอาจเป็นลำเดียวบนโลก

ถ้าไม่คิดมากก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

เอกสารดาวน์โหลด : สมุดปกขาวกองทัพเรือ พ..2566

https://web.facebook.com/NavyForLifePage/posts/pfbid0XmSYeGnBsBE1cWqCdMbKbWgkPuMfNL7xzwy8xVQwqGyi4qN32YxVPFMtq7rdwxNDl

https://www.bmt.org/projects/project/3355/bmt-venari-85

 

         


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น