วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566

Naresuan-Class General Purpose Frigate

 

วันที่ 1 ตุลาคม 2530 กองทัพเรือไทยยังอยู่ในสภาพของกองทัพเรือชายฝั่ง (Coastal Navy) โดยมีเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กที่ใช้ในภารกิจป้องกันการแทรกซึมทางทะเลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จำนวนมาก โดยเรือเล็กเหล่านี้มีขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองในการรบทางเรืออย่างจำกัดมาก กองทัพเรือไทยมีเรือรบขนาดใหญ่ที่สามารถออกปฏิบัติการในทะเลลึกและมีขีดความสามารถในการรบทางเรือยุคใหม่จำนวนน้อย เรือรบขนาดใหญ่ที่มีอยู่ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 40 ถึง 50 ปี และใกล้หมดคุณค่าทางยุทธการแล้ว เรือรบสมัยใหม่ที่มีอยู่บ้างก็มีขนาดเล็ก ระยะปฏิบัติการจำกัดและไม่สามารถปฏิบัติการในสภาพคลื่นลมแรง

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กองทัพเรือไทยไม่มีเรือรบที่มีดาดฟ้าและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เลยแม้แต่ลำเดียว ทั้งๆ ที่เฮลิคอปเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการรบทางเรือกว่าสามทศวรรษแล้ว ทั้งในด้านการลาดตระเวนตรวจการณ์ การเตือนล่วงหน้าในอากาศ การปราบเรือดำน้ำ การโจมตีเรือรบผิวน้ำ การค้นหาและกู้ภัย การชี้เป้าและควบคุมอาวุธนำวิถีระยะยิงพ้นขอบฟ้าเรดาร์

ด้วยข้อจำกัดอันร้ายแรงดังกล่าว กองทัพเรือไทยในช่วงนั้นจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทางเรือในลักษณะพึ่งพากองทัพเรือของประเทศมหาอำนาจ ในการคุ้มครองจำนวนหลายร้อยหลายพันลำที่ต้องลำเลียงยุทธปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำรงอยู่และกองทัพไทยสามารถทำการรบได้โดยต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยในช่วงนั้นตกอยู่ในภาวะความมั่นคงอันไม่แท้จริง (False Sense of security) โดยสิ้นเชิง

          การเสริมกำลังด้วยเรือขนาดใหญ่ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการไกลฝั่งและในสภาพคลื่นลมแรงจึงเป็นความจำเป็น ระหว่างปี 2530 ถึง 2540 กองทัพเรือได้จัดหาเรือชนิดต่างๆ เข้าประจำการ เพื่อปรับเปลี่ยนจากกองทัพเรือชายฝั่ง (Coastal Navy) เป็นกองทัพเรือไกลฝั่ง (Off-Shore Navy) หนึ่งในนั้นก็คือการจัดหาเรือฟริเกตอเนกประสงค์ซึ่งมีความทันสมัยเทียบเท่าเรือฟริเกตจากยุโรป

โครงการเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร

          เรือฟริเกตชุดนี้เป็นเรือที่ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ใฝ่ฝันที่จัดหาให้กองทัพเรือไทยเป็นเวลานานแล้ว ถึงขนาดลงทุนเขียนแบบ Conceptual Design ด้วยตัวท่านเอง แล้วให้บริษัทออกแบบต่อเรือของ สปจ. ออกแบบรายละเอียดเป็นพิมพ์เขียว และทำ Model Tank Test อย่างสมบูรณ์ เรือชุดนี้เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ (General Purpose Frigate) สามารถปฏิบัติการในทะเลลึกในสภาพคลื่นลมแรงได้ดีกว่าเรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการรบทั้ง 3 มิติ โดยมีทั้งดาดฟ้าเรือและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ สามารถนำเฮลิคอปเตอร์ออกทะเลไปด้วยอย่างปลอดภัยในทุกสภาพอากาศ เรือชุดนี้มีขนาดและขีดความสามารถใกล้เคียงกับเรือฟริเกตทั้งสมัยของกองทัพเรือต่างๆ ในยุโรป เช่น เรือฟริเกตชั้น LUPO ของกองทัพเรืออิตาลี

          เนื่องจากเรือฟริเกตชุดนี้จะเป็นกำลังรบที่สำคัญของกองทัพเรือต่อไป ท่านจึงไม่ยอมผลีผลามเชื่อถือผลงานออกแบบและทดลองหุ่นจำลองเรือของจีนเลยทันที แต่ได้ส่งแบบเรือและผลการทดลองใน Model Tank Test ให้กับกองทัพเรือสหรัฐช่วยตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยคอมพิวเตอร์ที่กองทัพเรือสหรัฐใช้การออกแบบ แตรวจสอบผลการทำ Model Tank Test  สำหรับเรือรบของเรือสหรัฐเอง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบเรือของกองทัพเรือสหรัฐ ได้ช่วยแก้ไขแบบเรือทั้งการจัดห้องต่างๆ ภายในเรือให้สะดวกต่อการปฏิบัติการ และลดความเสียหายจากอาวุธของข้าศึก การปรับปรุงการทรงตัวของเรือ การเสริมความมั่นคงของดาดฟ้าเรือการปรับปรุงระบบสนับสนุนต่างๆ บนดาดฟ้าบินและในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการทนต่อลมที่เข้าปะทะด้านข้างของตัวเรือจาก 90 นอตตามมาตรฐานการต่อเรือของกองทัพเรือจีนเป็น 100 นอตตามมาตรฐานสหรัฐ เพื่อให้เรือชุดนี้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการในทะเลลึกได้สูงขึ้น นอกจากนี้สหรัฐยังได้ช่วยแก้ไขแบบเรือเพื่อลดพื้นที่สะท้อนคลื่นเรดาร์ลงอีกด้วย นับว่าเป็นเรือไทยชุดแรกที่ใช้เทคโนโลยีล่องหน (Stealth Technology)

          เรือชุดนี้มีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,980 ตัน ความยาว 120 เมตร ความเร็วสูงสุด 32 นอต นับว่าเป็นเรือฟริเกตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความเร็วสูงที่สุดเท่าที่กองทัพเรือเคยมี ตัวเรือออกแบบสร้างโดยอู่ต่อเรือของจีนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย และเพลาใบจักรเป็นของเยอรมนีและสหรัฐที่ใช้กันทั่วไป และเป็นมาตรฐานของกองทัพเรือไทยอยู่แล้ว เว้นเครื่องกังหันก๊าซซึ่งมีใช้กันทั่วโลกรวมทั้งกองทัพเรือสหรัฐ แต่กองทัพเรือไทยเพิ่งสั่งซื้อมาใช้ราชการเป็นครั้งแรก สำหรับระบบค้นหาเป้านั้นใช้ของเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก ส่วนระบบอาวุธใช้ของกองทัพเรือสหรัฐเป็นสำคัญ โดยกองทัพเรือยอมรับระบบควบคุมและสั่งการของจีนบางส่วนเท่าที่รับได้เพื่อลดราคาเรือลงให้มากที่สุด

          ในด้านการติดตั้งและเชื่อมต่อระบบอาวุธของเรือชุดนี้ซึ่งกองทัพเรือจะดำเนินการเองในประเทศไทยนั้น เพื่อความรอบคอบและเป็นการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี กองทัพเรือได้ตกลงว่าจ้างหน่วยงานเชื่อมต่อระบบอาวุธของสหรัฐ เพื่อให้เข้ากับระบบควบคุมและสั่งการของจีนและสหรัฐ โดยในลำแรกกองทัพเรือตกลงให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเป็นผู้ดำเนินการและเจ้าหน้าที่ของไทยฝึกงาน ส่วนลำที่สองนั้นฝ่ายไทยจะเป็นผู้เชื่อมต่อระบบอาวุธเอง โดยสหรัฐจะคอยติดตามผลการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด

          สำหรับระบบอาวุธตลอดจนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นนั้น กองทัพเรือได้ตกลงใจที่จะจัดหาจากสหรัฐเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเห็นว่ากองทัพเรือลงทุนสร้างเรือฟริเกตขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณสูงพอสมควร จึงต้องการให้เรือมีขีดความสามารถในการรบสูง อาวุธของสหรัฐนั้นมีสมรรถนะและความเชื่อถือได้สูงมาก เพราะสหรัฐลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาอย่างละเอียดรอบคอบโดยใช้ระยะเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนทางด้านการเมืองระหว่างประเทศก็นับว่าสหรัฐเป็นพันธมิตรที่ดี ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยมาโดยตลอด ให้บริการหลังการขายเป็นไปด้วยดี อะไหล่ต่างๆ จัดหาได้สะดวกและยังมีใช้งานไปอีกนาน เพราะสหรัฐเองก็ยังใช้อาวุธที่กองทัพเรือจะจัดหา และที่สำคัญมากอีกประการก็คือสหรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งสามารถฝึกอบรมทั้งระดับผู้ใช้งานและผู้ซ่อมให้แก่กองทัพเรือได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเพื่อความประหยัด กองทัพเรือจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ระบบอาวุธและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนบางแบบที่ทันสมัยและพอยอมรับได้ไปก่อน

          ในขั้นการพิจารณาระบบอาวุธที่จะใช้งานกับเรือชุดนี้ กองทัพเรือทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า ระบบไฟฟ้าของเรือต่างกับระบบไฟฟ้าที่ใช้กับระบบอาวุธของสหรัฐ และต้องจัดหาเครื่องแปลงความถี่ไฟฟ้ารวมทั้งเครื่องทำความเย็นเพื่อระบายความร้อนของเรดาร์อากาศ และเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธเพิ่มเติมในภายหลัง อย่างไรก็ตามในขั้นการทำข้อตกลงจ้างสร้างเรือ กองทัพเรือยังไม่สามารถซื้อเครื่องแปลงความถี่ไฟฟ้าและเครื่องทำความเย็นดังกล่าวได้ เพราะยังไม่ได้รับรายละเอียดข้อมูลคุณลักษณะความต้องการที่แท้จริง

          ผลการเจรจากับอู่ต่อเรือจงหัวของจีน สามารถตกลงราคาและงวดการชำระเงินได้ตามความสามารถในการชำระเงินของกองทัพเรือในช่วงนั้น โดยกองทัพเรือได้ปรับโครงการพัฒนากองทัพและชะลอโครงการบางโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่ำกว่า แล้วนำงบประมาณที่เตรียมไว้มาร่วมสมทบอีกหนึ่งทาง คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อ 19 กันยายน 2532 ให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณในโครงการนี้ และอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือลงนามในหนังสือตกลงจ้างเรือฟริเกตชุดนี้ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล จำนวน 2 ลำแทนรัฐบาลไทย ซึ่งได้มีการลงนามกันที่กรุงเทพเมื่อ 21 กันยายน 2532 เมื่อรวมราคาเรือพร้อมอาวุธและระบบเรดาร์ต่างๆ แล้ว เรือฟริเกตชุดนี้มีราคาลำละ 4,725 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าเรือฟริเกตขนาดเดียวกันที่สร้างในยุโรป และมีราคาเฉลี่ยลำละประมาณ 8,000 ล้านบาท ทำให้เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรเป็นที่สนใจของกองทัพเรือต่างๆ อาทิเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ซึ่งต่อมากองทัพเรือออสเตรเลียได้ตัดสินใจเปลี่ยนปืนขนาด 76 มิลลิเมตร ของเรือฟริเกต ANZAC เป็นปืนขนาด 127 มิลลิเมตร แบบเดียวกับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรด้วย

          ตามข้อตกลงการจ้างสร้างเรือชุดนี้กำหนดให้มีการฝึกอบรมระดับผู้ใช้งานและผู้ซ่อมอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมการต่อเรือเช่นเดียวกับเรือฟริเกตชุดแรกซึ่งกองทัพเรือไทยได้ส่งนายทหารสัญญาบัตรอีก 16 คนไปรับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 2 ปี

          กองทัพเรือได้รับมอบเรือหลวงนเรศวร มาใช้ราชการในกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการแล้ว ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2537 และได้รับมอบเรือหลวงตากสินแล้วตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2538 เรือทั้งสองลำได้รับการติดตั้งและเชื่อมต่อระบบอาวุธ รวมทั้งได้ทำงานยิงตรวจรับอาวุธเรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการในประเทศด้วยฝีมือของทหารเรือไทยเองทั้งสิ้น ทั้งที่เรือหลวงนเรศวร (421) ได้ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 14 ธันวาคม 2537 และเรือหลวงตากสินขึ้นระวางประจำการเมื่อ 28 ธันวาคม 2538

คุณสมบัติเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น F25T

ระวางขับน้ำ : 2,985 ตัน

          ยาว : 120.5 เมตร       

กว้าง : 13.7 เมตร

กินน้ำลึก : 4.3 เมตร

ระบบขับเคลื่อน : CODOG เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ LM-2500 จำนวน 1 ตัว กับเครื่องยนต์ดีเซล MTU 20V1163 จำนวน 2 ตัว

ความเร็วสูงสุด : 32 นอต

ระยะปฏิบัติการไกลสุด : 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต

มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน

ระบบเรดาร์

          เรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง Type 360

          เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Thales LW-08

          เรดาร์เดินเรือ Raytheon AN/SPS-64(V)15

เรดาร์เดินเรือและควบคุมการลงจอดอากาศยาน Raytheon AN/SPS-64(V)5

เรดาร์ควบคุมการยิงปืนใหญ่ Thales STIR-18

เรดาร์ควบคุมการยิงปืนกล Type 347G

โซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำ SJD-7

ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์

          อุปกรณ์รบกวนการแพร่สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Mirage NRJ-5 ECM

          อุปกรณ์ดักจับการแพร่สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Model 945 GPJ ESM

          แท่นยิงเป้าลวง Type 945 ขนาด 26 ท่อยิงจำนวน 4 แท่น

ระบบอาวุธ

          ปืนใหญ่ Mk 45 Mod. 2 ขนาด 5 นิ้วจำนวน 1 กระบอก

ปืนกลอัตโนมัติ Type 76A ขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ RGM-84A Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง

ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 Mod. 5 จำนวน 6 ท่อยิง

มีพื้นที่ว่างสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน RIM-7 VL-Sea Sparrow จำนวน 8 ท่อยิง

โครงการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน

          วันที่ 3 มิถุนายน 2554 กองทัพเรือได้จัดพิธีลงนามในสัญญาฯ สำหรับโครงการปรับปรุงเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรจำนวน 2 ลำโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ รายละเอียดทั้งหมดของโครงการประกอบไปด้วย

ระยะที่ 1 วงเงิน 2,951 ล้านบาท ประกอบด้วย                         

1. แท่นยิง แบบ Lockheed Martin Mk.41 VLS สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-อากาศ ESSM จำนวน 1 แท่น 8 ท่อยิง ท่อยิงละ 4 นัด รวม 32 นัด

2. ระบบอำนวยการรบ แบบ Saab 9LV Mk.4                           

3. เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ แบบ Saab Sea Giraffe AMD 3D         

4. เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง แบบ Saab CEROS 200 with CWI

5. ระบบพิสูจน์ฝ่าย แบบ Selex SIT422 interogator และ Selex M425 transponder

6. ระบบรวมการสื่อสาร แบบ Saab TactiCall ICS                      

7. ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี แบบ Saab Link-E/G (TIDLS) 

8. ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี แบบ AviaSatcom Link-RTN  

9. ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี แบบ Link-11 (TADIL-A)                  

10. ระบบแสดงตนอัตโนมัติสำหรับเรือ (AIS)                              

11. ระบบอุตุนิยมวิทยา                                                                                              

ระยะที่ 2 วงเงิน 3,300 ล้านบาท ประกอบด้วย                         

1. ลูกอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ Raytheon RIM-162B ESSM (600 ล้านบาท)

2. แท่นยิงเป้าลวง แบบ Terma DL-12T จำนวน 2 แท่น แท่นละ 12 ท่อยิง  

3. แท่นยิงเป้าลวง แบบ Terma Mk.137 จำนวน 4 แท่น แท่นละ 6 ท่อยิง   

4. ระบบอำนวยการรบ แบบ Saab 9LV Mk.4 (ติดตั้งคอนโซลเพิ่มเติม)         

5. ระบบควบคุมการยิงเป้าลวง แบบ Terma SKWS (C-Guard)                  

6. เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง แบบ Saab CEROS 200 with CWI (ติดตั้งเพิ่มอีก 1 ชุด)

7. ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง แบบ Saab EOS 500                     

8. ศูนย์เล็งกำหนดเป้าหมาย แบบ Saab Bridge Pointers TDS                  

9. ระบบ radar ESM แบบ ITT ES-3601 (AN/SLQ-4)                 

10. ระบบ communication ESM                                        

11. ระบบนำร่องด้วยแรงเฉื่อย แบบ Raytheon Anschutz MINS 2 (ring laser gyro)

12. ระบบวิทยุสื่อสาร                                                       

13. ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)                                                                               

ระยะที่ 3 วงเงิน 810 ล้านบาท ประกอบด้วย                            

1. โซนาร์หัวเรือ Atlas Elektronic DSQS-24                            

2. ปืนใหญ่กล MSI-DSL/ATK DS-30MR/Mk.44 ขนาด 30 มม. แท่นเดี่ยว 2 แท่น

มูลค่ารวมทั้งโครงการเท่ากับ 2,951 + 3,300 + 810 = 7,061 ล้านบาท หรือเท่ากับลำละ 3,530.5 ล้านบาท รวมราคาสร้างเรือลำละ 4,725 ล้านบาท เท่ากับว่าเรือฟริเกตชุดนี้ราคารวมเท่ากับ 8,255.5 ล้านบาท

บทสรุป

          เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรยังคงเป็นกำลังรบหลักให้กับราชนาวีไทยต่อไปได้อีกประมาณ 15 ปี เมื่อถึงเวลาปลดประจำการจะค่อนข้างใกล้เคียงแผนการสร้างเรือฟริเกต 4 ลำมูลค่า 80,000 ล้านบาทจากสมุดปกขาวกองทัพเรือ เท่ากับว่าเรือฟริเกตทั้งสองลำจะมีอายุประจำการ 42 ปีบวกลบ 5 ปีแต่ค่อนมาทางบวก

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์

https://www.navalanalyses.com/2017/02/naresuan-class-frigates-of-royal-thai.html

https://www.navy.mi.th/namo/index.php?option=com_content&view=article&id=288:2012-10-12-04-29-35&catid=57:2009-08-25-02-29-04&Itemid=28

https://www2.navy.mi.th/993a3785a74bf88bd1ba75743d74f4c0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น