วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564

Castle Class Patrol Ship

 

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Castle

ไม่นานมานี้ผู้เขียนเจอภาพถ่ายสวยมากภาพหนึ่ง เป็นภาพเรือคอร์เวตกองทัพเรือบังกลาเทศจำนวน 2 ลำ กำลังฝึกซ้อมควบคุมเพลิงบนเรือสินค้ากลางทะเลลึก ประกอบไปด้วยเรือ BNS Bijoy F35 ลำที่อยู่ฝั่งขวามือ กับ BNS  Dhaleshwari F36 ลำที่อยู่ฝั่งซ้ายมือ ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงบริเวณหัวเรือยิงใส่ควันสีส้มบนเรือสินค้า

เรือทั้งสองลำมีรูปลักษณ์โดนเด่นสวยงามประทับใจ คล้ายคลึงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Darussalam กองทัพเรือบรูไน ซึ่งใช้แบบเรือ OPV80 จากบริษัท Lurssen ประเทศเยอรมัน ทั้งคู่มีความยาวใกล้เคียงกันมาก มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ค่อนข้างยาว ติดปืนใหญ่หัวเรือบนดาดฟ้ายกสูงหนึ่งชั้น อันเป็นจุดซึ่งมีชื่อเรียกกัน B Position ซึ่งโดยทั่วใช้ติดตั้งอาวุธต่อสู้อากาศยาน แต่เรือบังกลาเทศเตี้ยกว่าเรือบรูไนประมาณ 1 ชั้น รวมทั้งไม่มีปล่องระบายความร้อนแยกออกมาต่างหาก

คำถามข้อแรกเป็นเรือจากประเทศอะไร? คำตอบง่ายมากมาจากอังกฤษแน่นอน

ทำไมผู้เขียนถึงมั่นใจ? คำตอบก็คือเรือมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่เสากระโดงด้านหลัง ทาสีดำสนิทเพื่อลดคราบสกปรกจากเขม่าควัน เห็นแท่งแหลมๆ ยาวๆ บริเวณบนสุดเสากระโดงไหมครับ ใช้บังเขม่าควันไม่ให้ลอยมาโดนเรดาร์ตรวจการณ์

นี่คือดีไซน์เรืออังกฤษแท้ๆ ที่ถูกสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น

เราทราบแล้วว่าแบบเรือจากประเทศอังกฤษ อยากทราบไหมครับว่ามาจากอู่ต่อเรือชื่ออะไร

เพราะเป็นเกาะอังกฤษจึงมีอู่ต่อเรือค่อนข้างมาก แต่อู่ต่อเรือชื่อเสียงโด่งดังมีด้วยกัน 3 แห่ง ประกอบไปด้วย Yarrow ผู้เชี่ยวชาญเรือพิฆาตหรือเรือฟริเกต  Vosper Thorneycroft ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเรือตรวจการณ์หรือเรือเร็วโจมตี และ Vickers ผู้สร้างเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Invinible บังเอิญเรือลำนี้ไม่ได้มาจาก 3 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ แต่ถูกออกแบบและสร้างโดยอู่ต่อเรือขนาดเล็ก ผู้เขียนเอ่ยชื่อออกมาทุกคนต้องพากันส่ายหัว ซ่อนตัวอยู่ในเมืองอเบอร์ดีนประเทศสกอตแลนด์

Hall, Russell and Company

                ปี 1864 สองพี่น้อง William และ Jame Hall จับมือกับ Thomas Russell สร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์สำหรับเรือ และอู่ต่อเรือขนาดเล็กรับงานจากเอกชนทั่วไป โดยช่วงแรกมีลูกค้าจากจีนกับญี่ปุ่นช่วยหล่อเลี้ยงให้บริษัทอยู่รอด เมื่อเป็นที่รู้จักจึงมีลูกค้าจากยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในปี 1914 พวกเขาเริ่มขายเรือสินค้ากับเรือโดยสารอย่างจริงๆ จังๆ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเจ้าของและพนักงาน Hall Russell กลายเป็นดาวเคราะห์ฉายแสงวับวาวแห่งอเบอร์ดีน

ผลงานของ Hall Russell ข้าตากองทัพเรืออังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นกำลังเข้าตาจนจากสงครามโลกครั้งที่สอง อู่เล็กๆ แห่งนี้มีโอกาสสร้างเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำชั้น Flower จำนวนหลายลำ โดยเฉพาะเรือชื่อ HMS Loosestrife K105 สามารถจมเรือดำน้ำเยอรมัน U-192 ได้ระหว่างร่วมคุ้มกันขบวนคอนวอยเดินทางมาที่อเมริกา นอกจากนี้ยังสร้างเรือฟริเกตชั้น Flower อีกจำนวนหลายลำ อาทิเช่น HMS Lochy ของราชนาวีอังกฤษ หรือ HMCS Annan กองทัพเรือแคนาดา ประสบการณ์เหล่านี้ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถ พวกเขาสามารถออกแบบเรือรบชนิดต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

อู่ต่อเรือขนาดเล็กแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะระหว่างปี 1973 ถึง 1985 อันเป็นช่วงเวลาที่ตัวเองฉายแสงเจิดจ้า สร้างเรือรบรุ่นต่างๆ เข้าประจำการจำนวนมาก ผู้เขียนขอเรียบเรียงและนำเสนอได้ดังนี้

Island Class Patrol Boat

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง Hall Russell กิจการเจริญก้าวหน้าพอสมควร ขายดิบขายดีทั้งเรือประมง เรือสินค้า รวมทั้งเรือรบซึ่งออกแบบด้วยตัวเอง เริ่มจากปี 1973 กับ 1975 สกอตแลนด์สั่งซื้อเรือตรวจการณ์ประมงจำนวน 2 ลำ กองทัพเรืออังกฤษเช่าไปใช้งานแล้วเกิดติดอกติดใจ จึงได้สั่งซื้อจำนวน 7 ลำเข้าประการในเวลาต่อมา

ภาพนี้คือแค็ตตาล็อกจาก Hall Russell ขียนคำว่า ‘Offshore Patrol Vessel’ อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเรือตรวจการณ์ไกลยังไม่เป็นที่นิยม เรือในภาพคือเรือตรวจการณ์ชั้น Island มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,260 ตัน ยาวเพียง 59.5 เมตร กว้าง 11 เมตร แต่กินน้ำลึกสุดถึง 4.5 เมตร ผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับเรือหลวงแหลมสิงห์ ซึ่งมีระวางขับน้ำเต็มที่ 520 ตัน ยาว 58 เมตร กว้าง 9.3 เมตร แต่กินน้ำลึกสุดเพียง 2.5 เมตร เรือสองลำนี้กินน้ำลึกต่างกันถึง 2 เมตร!

คำถามทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือเรือตรวจการณ์ชั้น Island ถูกออกแบบให้ใช้งานในทะเลลึก

รูปร่างหน้าตาเรือค่อนข้างโบราณเมื่อเทียบกับยุคุสมัย หัวเรือยกสูงใช้ต้านแรงคลื่นท่ามกลางทะเลคลั่ง แล้วตัดลงมาโล่งๆ หนึ่งชั้นเหมือนเรือสินค้าหรือเรือยกพลขึ้นบก ติดตั้งปืนกล Bofors 40/60 มม.ไว้ที่ตำแหน่ง  B position สะพานเดินเรือรูปทรงทันสมัยพอสมควร มีปืน FN ขนาด 7.62 มม.ไว้ป้องกันตัวอีก 2 กระบอก ใช้เครื่องยนต์ดีเซล Ruston ทำความเร็วสูงสุด 16.5 นอต ระยะทำการไกลสุด 7,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ Type 1006 จำนวน 1 ตัว

หน้าที่หลักของเรือคือดูแลกองเรือประมง ต้องการเรือเล็กเดินทางทะเลลึกติดต่อกันหลายวัน และแบบเรือจาก Hall Russell ตอบสนองความต้องการได้ดีมาก จึงเป็นที่มาคำสั่งซื้อเรือล๊อตใหญ่จำนวน 7 ลำ เรือลำนี้คือต้นกำเนิดเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือลำนี้คือต้นกำเนิดให้ Hall Russell มีพื้นที่ยืนอย่างมั่นคง ท่ามกลางอู่ต่อเรือขนาดใหญ่จำนวนนับไม่ถ้วน

เรือตรวจการณ์ชั้น Island ทยอยปลดประจำการหลังปี 1994 เริ่มจากเรือที่มีสภาพย่ำแย่มากที่สุด เนื่องจากถูกใช้งานอย่างหนักต้องเผชิญพายุใหญ่หลายครั้ง  เรือจำนวน 6 ลำถูกขายต่อให้กับบังกลาเทศ เรืออีก  1 ลำขายต่อให้กับตรินิแดดและโตเบโก นี่คือภาพถ่ายเรือ BNS Sangu P 713 ของบังกลาเทศ สมัยประจำการราชนาวีอังกฤษชื่อเรือ HMS Guernsey P 297 เปลี่ยนมาใช้ปืนกล Bofors 40/70 มม.ทันสมัยกว่าเดิม เข้าประจำการประเทศใหม่ในปี 2004 จนถึงปัจจุบัน


เรือลำนี้อาจไม่ใช่เรือตรวจการณ์ทันสมัย มีราคาย่อมเยาสบายกระเป๋า ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสกอตแลนด์บ้านเกิด และเนื่องมาจากเรือลำนี้ไม่ใช่เรือตรวจการณ์แท้ๆ เมื่อสกอตแลนด์ปลดประจำการเรือชื่อ FPV Westra ในปี 2003 ถัดมาเพียง 3 ปีองค์กรอนุรักษ์สัตว์ทะเลนานาชาติขอซื้อไปใช้งาน FPV Westra  ปรับโฉมใหม่ทั้งลำแล้วถูกแต่งตั้งให้เป็นเรือธง

ส่วนภาพนี้คือเรือ MY Steve Irwin ติดธงประเทศเนเธอร์แลนด์ นี่คือตัวป่วนกวนใจเรือประมงลักลอบทำผิดกฎหมาย เรียกว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ เรือถูกทาสีพลางฟ้าดำเทาสวยกว่าเรือรบด้วยซ้ำ หัวเรือตั้งเสาสีดำไว้ผูกธงกับติดไฟสัญญาณ มีปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเป็นอาวุธประจำกาย ตำแหน่งติดตั้งปืนกลในเรืออังกฤษไม่มีในเรือสกอตแลนด์  แต่ใช้วางเรือยางท้องแข็งติดเรดาร์ขนาดใหญ่จำนวน 2 ลำ สะพานเดินเรือกับเสากระโดงเหมือนเดิมทุกประการ ท้ายเรือมีการสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ยื่นออกไปจากบั้นท้ายประมาณสองเมตรครึ่ง มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับได้มาพร้อมสรรพ

ในภาพ MY Steve Irwin บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ Robinson R22 ซึ่งมีวางขายมากกว่า 40 ปีด้วยยอดขายมากกว่า 4,600 ลำ บรรทุกนักบินกับผู้โดยสารได้ 2 ราย น้ำหนักบินสูงสุดเพียง 621 กิโลกรัม ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ MD500 ซึ่งสามารถโดยสารได้ถึง 5 ราย สามารถลงจอดรับส่งคนได้แต่ไม่เหมาะกับเดินทางไปพร้อมเรือ

MY Steve Irwin ปลดประจำการในปี 2018 ทว่าองค์กรอนุรักษ์สัตว์ทะเลนานาชาติยังมีเรือตรวจการณ์ชั้น Island อีก 3 ลำ แต่เป็นเรือตรวจการณ์ประเทศอเมริกาใช้ชื่อชั้นเหมือนกัน เรือธงในปัจจุบันติดธงเนเธอร์แลนด์เช่นเคย ชื่อเรือ NY Ocean Warrior มีความทันสมัยจนลูกประดู่ไทยยังต้องอิจฉา เพราะใช้แบบเรือ Damen Stand 5009 Sea Axe ความยาว 50 เมตรมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์มาจากโรงงาน เรือซึ่งมีรูปทรงคล้ายคลึงยานอวกาศราคา 12 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

Peacock Class Corvette

            ปี 1982 เป็นช่วงเวลาที่ Hall Russell เจริญรุ่งเรืองมากที่สุด พวกเขาได้สัญญาสร้างเรือคอร์เวตจำนวน 5 ลำให้กับราชนาวีอังกฤษ เป็นเรือคอร์เวตลำแรกที่ออกแบบด้วยตัวเอง และเป็นเรือคอร์เวตลำแรกของอังกฤษในรอบหลายสิบปี

                นี่คือเรือคอร์เวตชั้น Peacock ระวางขับน้ำสูงสุด 763 ตัน ยาว 62.6 เมตร กว้าง 10 เมตร กินน้ำลึก 2.72 เมตร ความเร็วสูงสุด 25 นอต ติดปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก ปืนกล 7.62 มม.อีก 2 กระบอก เรือจำนวน 5 ลำเข้าประจำการระหว่างปี 1983 ถึง 1985 สังกัดกองเรือตรวจการณ์ที่ 6 ราชนาวีอังกฤษประจำเกาะฮ่องกง


                แบบเรือค่อนข้างคุ้นตาคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะถูกออกแบบให้ใช้งานในทวีปเอเชีย จึงมีตัวเรือ (หรือ Hull) ส่วนที่วัดจากระดับน้ำถึงขอบเรือ (หรือ Freeboard) ค่อนข้างเตี้ยกว่าเรืออังกฤษโดยทั่วไป ใช้ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.เป็นปืนหลักในจุดติดตั้ง A Position ต่างจากเรืออังกฤษทุกลำซึ่งใช้ปืนใหญ่ขนาด 114 มม. ด้วยเหตุผลสำคัญต้องการใช้งานในน่านน้ำฮ่องกง ซึ่งในช่วงนั้นสัญญาเช่าเกาะจากจีนยังไม่สิ้นสุด จำเป็นต้องมีกำลังรบทางเรือคอยดูแลป้องกัน

                เรือคอร์เวตชั้น Peacock คือเรือตรวจการณ์ยาว 60 เมตรนั่นแหละครับ ติดอาวุธทันสมัยก็จริงแต่ใช้ป้องกันตัวเองเป็นหลัก เนื่องจากเรือยาวเกิน 50 เมตรหลายชาติไม่อยากเรียกเรือตรวจการณ์ เรียกเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งก็ดูไม่เหมาะสมสักเท่าไร เพราะเรือไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้งานในทะเลลึก คนเรื่องมากอย่างอังกฤษจึงเรียกเรือคอร์เวตให้รู้แล้วรู้รอดไป

                ความพิเศษของเรือที่ต้องประจำการในเขตร้อนก็คือ ติดระบบปรับอากาศเย็นเฉียบทั้งลำ เผชิญหน้ากับพายุลูกใหญ่ซึ่งมีค่อนข้างบ่อยได้ดี หน้าที่หลักนอกจากค้นหาและกู้ภัยแล้ว คือการร่วมมือกับตำรวจฮ่องกงตรวจจับของผิดกฎหมาย โดยมีพื้นที่รองรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษจำนวนหนึ่ง

                เข้าประจำการได้เพียง 4 ปี เรือใหม่สุดจำนวน 2 ลำถูกขายต่อให้ไอร์แลนด์ ต่อมาในปี 1997 เมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมกอดประเทศจีน เรือ 3 ลำที่เหลือถูกขายต่อให้กับฟิลิปปินส์ ปิดฉากเรือคอร์เวตลำสุดท้ายจากดินแดนเมืองผู้ดี

Castle Class Patrol Ship

                นางเองประจำบทความปรากฏตัวเสียที เมื่อเรือตรวจการณ์ชั้น Island เข้าประจำการกองทัพเรืออังกฤษ มีเสียงบ่นจากใครหลายคนเรื่องคุณลักษณะและหน้าตาเรือ ซึ่งค่อนข้างโบราณไม่เหมาะสมกับการรบยุคใหม่ ส่วนตัวผู้เขียนว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เรือลำนี้ถูกออกแบบให้สกอตแลนด์ดูแลเรือประมง บังเอิญอังกฤษชอบของแปลกและของถูกจึงซื้อมาใช้งาน ส่งผลให้เรือตรวจการณ์หน้าตาเชยระเบิดมียอดผลิตรวมกันถึง 9 ลำ

ต่อมาไม่นานอังกฤษต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งทันสมัยจำนวน 6 ลำ เพื่อคอยดูแลพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล สามารถทำภารกิจวางทุ่นระเบิดได้ด้วย หรือลำเลียงทหารไปกับเรือได้จำนวนหนึ่ง โครงการนี้เริ่มเดินหน้าในปี 1979 อู่ต่อเรือ Hall Russell ได้รับสัญญาสร้างเรือจำนวน 2 ลำเท่านั้น ส่วนอีก 4 ลำไว้ค่อยว่ากันใหม่ในอนาคต


ในภาพคือเรือตรวจการณ์ชั้น Castle ลำที่หนึ่ง HMS Leeds Cascle (P258) ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,427 ตัน ยาว 81 เมตร กว้าง 11.5 เมตร กินน้ำลึก 3.6 เมตร รูปร่างสวยงามตามแบบฉบับเรือรุ่นใหม่ ติดตั้งปืนกล Bofors 40/60 มม.ที่จุด B Position อันเป็นจุดป้องกันตัวเองจากภัยทางอากาศได้ดีที่สุด มีปืนกล 7.62 มม.อีก 2 กระบอกที่กราบสะพานเดินเรือ ปล่องระบายความร้อนรวมอยู่ในเสากระโดงหลัก ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์

เรือใหม่ใช้เครื่องยนต์ Ruston ทันสมัยกว่าเดิม ความเร็วสูงสุดเพิ่มเป็น 19.5 นอต ระยะทำการไกลสุด 10,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต บ่งบอกความเป็นเรือตรวจการณ์แท้ๆ ที่เขี้ยวลากดิน สามารถทำภารกิจได้อย่างยาวนานกว่าเดิม เสียค่าใช้จ่ายในการออกทะเลน้อยกว่าเรือรบแท้ๆ สามารถเติมเชื้อเพลิงกลางทะเลได้เหมือนเรือรบทั่วไป

เรือตรวจการณ์ชั้น Castle จำนวน 2 ลำเข้าประจำการในปี 1981 กับ 1982 อยากให้ผู้อ่านสังเกตที่เสากระโดงเรือสักนิด จะเห็นช่องกระจกขนาดใหญ่ 3 จำนวนทิศทาง ตรงนั้นเป็นจุดสำหรับเจ้าหน้าที่ขึ้นขึ้นตรวจการณ์ ใช้งานจริงนำกล้องขึ้นมาส่องค่อนข้างลำบากมาก ถือเป็นออปชันเสริมจากอู่ต่อเรือเล็กๆ ไร้ชื่อเสียงก็แล้วกัน

ถ้าเรือชั้น Island คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกของโลก เรือชั้น Castle จะเทียบได้กับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ลำแรกของโลก เรือทั้งสองลำผู้เขียนชอบมากอยากมีอยากได้ ไม่เช่นนั้นคงไม่เขียนบทความให้ปวดตาเล่น

Falkland  War

                วันที่ 2 เมษายน 1982 สงครามฟอล์กแลนด์ปะทุขึ้นมาห่างจากอังกฤษ 8,000 ไมล์ทะเล HMS Leeds Cascle ซึ่งกำลังออกตรวจการณ์ในช่องแคบอังกฤษ ถูกยกเลิกภารกิจและเรียกตัวกลับฐานทัพทันที วันที่ 22 เมษายน 1982 เรือติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารเพิ่มเติม เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไกล วันที่ 21 พฤษภาคม 1982 เรือเข้าร่วมภารกิจพร้อมเรือลำเลียงพล Queen Elizabeth 2 และ Canberra รับหน้าที่สำคัญสถานีเติมเชื้อเพลิงกลางทะเลให้กับเฮลิคอปเตอร์

                เมื่อการรบสิ้นสุดลง HMS Leeds Cascle ยังคงทำภารกิจอื่นต่อไปเรื่อยๆ ได้กลับบ้านเดือนสิงหาคมหลังสงครามจบสิ้นไปแล้วถึง 2 เดือน ต่อมาในปี 1983 เรือได้กลับมาทำภารกิจวางทุ่นระเบิด และนับจากนั้นเป็นต้นมา HMS Leeds Cascle กับเรือฝาแฝด Hms Dumbarton Castle ต้องสลับกันอยู่โยงเฝ้าเกาะฟอล์กแลนด์เป็นหน้าที่ประจำ

                นี่คือภาพถ่ายจากเกาะฟอล์กแลนด์หลังสิ้นสุดสงคราม ช่วงเวลา 2 เดือนที่เรือ HMS Leeds Cascle ต้องอยู่เวรปฏิบัติภารกิจ เริ่มจากภาพบนสุดฝั่งซ้ายมือ นี่คือปืนกล Bofors 40/60 มม.ใช้ป้อมปืน Mark VII อังกฤษพัฒนาขึ้นมาเอง ขนาดเล็กกว่าเดิมควบคุมด้วยไฟฟ้าใช้พลยิง 1 นาย ใช้พลบรรจุ 1 นายยืนอยู่ข้างรางใส่กระสุนสูงๆ น่นแหละครับ สามารถใส่กระสุนได้มากสุด 6 ตับโดยที่ 1 ตับมีกระสุน 4 นัด ต้องมีลูกเรืออีก 1-2 นายอยู่นอกป้อมปืนเพื่อนำตับกระสุนมาเติมในราง

เรือหลวงมกุฎราชกุมารติดปืนกล Bofors 40/60 มม.ป้อมปืนอังกฤษจำนวน 2 แท่นยิง ภายหลังถูกถอดออกเพื่อติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ ผู้เขียนจับยามสามตาหลายรอบแล้ว ปรากฏว่าปืนเรารุ่นเดียวกันกับปืนในภาพในนี้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าปืน 2 ป้อมนี้ปัจจุบันอยู่ที่ไหน เสียดายของแปลกปรกติเห็นแต่ป้อมปืน Mark 3 ของอเมริกา

 อังกฤษใช้งาน Bofors 40/60 มม.ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี 1962 จึงนำอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat มาทำหน้าที่ทดแทน แต่ทว่าเรือฟริเกต Type 22 Batch 2 ชื่อ HMS Brave F94 เข้าประจำการในปี 1986 ยังคงใช้งาน Bofors 40/60 มม.ป้อมปืน Mark VII หน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่เรือฟริเกต Type 22 Batch 1 ซึ่งเข้าร่วมรบสงครามฟอล์กแลนด์ปี 1982 ใช้ปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดบรรจุกระสุนจากแมกาซีนอัตโนมัติทั้ง 2 ลำ

ทำไมถึงนำ Bofors 40/60 มม.มาใช้กับเรือใหม่? คำตอบก็คือช่วงนั้นอังกฤษเร่งสร้างเรือฟริเกต Type 22 ซึ่งมีผลงานการรบยอดเยี่ยม นำมาทดแทนเรือฟริเกต Type 21 ซึ่งมีผลงานการรบยอดแย่ อะไรที่มันประหยัดได้ก็ใช้ๆ ไปก่อน

มาที่ภาพถ่ายบนสุดฝั่งขวามือกันบ้าง เฮลิคอปเตอร์ Sea King รุ่นค้นหาและกู้ภัยของกองทัพอากาศ กำลังบินลงมาจอดบนเรือ HMS Leeds Cascle ผู้เขียนคิดว่าไม่ได้มาลงเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากเรือแล่นออกมากลางทะเลหาได้อยู่ใกล้เรือ Queen Elizabeth 2 คาดเดาว่ากำลังทำภารกิจค้นหาและกู้ภัย อาจมีเฮลิคอปเตอร์ลำอื่นบินตกทะเลอะไรประมาณนี้

เฮลิคอปเตอร์ Westland Sea King อังกฤษซื้อลิขสิทธิ์อเมริกามาผลิตเองจำนวนมาก กองทัพเรือใช้ประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน หน้าที่หลักคือปราบเรือดำน้ำ (มีบางลำใช้เตือนภัยทางอากาศ) มีทั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นนำ โซนาร์ชักหย่อน โซโนปุย ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ และระเบิดลึกเป็นอาวุธประจำเครื่อง เริ่มประจำการตั้งแต่ปี 1970 เพราะฉะนั้นในสงครามฟอล์กแลนด์อังกฤษใช้งาน Sea King ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โชคร้ายตัวเองหาเรือดำน้ำ Type 209/1200 ของอาร์เจนตินาไม่เจอ ทั้งๆ ที่ตัวเองทุ่มกำลังและงบประมาณตามล่าอย่างเอาเป็นเอาตาย

เรือดำน้ำ Type 209 คือของจริงผ่านการพิสูจน์มาแล้ว เสียดายเหลือเกินทร.ไทยชอบของแถมมากกว่า

มาที่ภาพถ่ายด้านล่างฝั่งซ้ายมือกันต่อ นี่คือเรือ HMS Glamorgan (D19) เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Country ถูกโจมตีด้วยอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ยิงมาจากชายฝั่ง (อาเจนตินาดัดแปลงเอง) เรดาร์บนเรือตรวจเจอ Exocet วิ่งตรงเข้าหาเรือ กัปตันสั่งยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seaslug สกัดแต่ไม่ถูกเป้าหมาย เมื่อจวนตัวกัปตันสั่งอีกครั้งให้หักเรือหลบ Exocet พุ่งปะทะแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Secat แล้วจุดระเบิดสาดหัวรบใส่โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

มีผู้เสียชีวิต 13 ราย เสียเฮลิคอปเตอร์ไป 1 หนึ่ง ทว่าอย่างอื่นสามารถใช้งานได้ตามปรกติ ผู้เขียนเคยเขียนถึงเหตุการณ์นี้ในบทความ ‘The Ultimate Harrier’ เมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้นคิดว่าหลังสงครามจบเรือต้องรีบกลับไปซ่อมแซม ครั้นเจอภาพนี้เข้าไปพาลตกใจตาเหลือก ก่อนหัวเราะแบบนิยายกำลังภายในจีนว่า เคี๊ยก! เคี๊ยก!

นอกจาก HMS Glamorgan จะไม่เป็นอะไรแล้ว เธอยังได้อยู่เวรทำหน้าที่คุ้มกันเรือบรรทุกเครื่องบิน สิ่งที่น่าเจ็บใจมากที่สุดก็คือ นำเฮลิคอปเตอร์มาจอดในโรงเก็บได้ตามปรกติ ติ๊งต่างว่าผู้เขียนเป็นทหารอาร์เจนตินา จะรีบก้าวเท้าเข้าไปพบทหารอังกฤษ แล้วพูดแบบน้าค่อม ชวนชื่นว่า ไอ้สองให้พี่เดินสะดวกเถอะ!’

เหตุการณ์นี้บอกอะไรได้หลายอย่าง หนึ่งความพร้อมรบและความชำนาญของลูกเรือ มีความสำคัญมากกว่าอาวุธทันสมัย HMS Glamorgan ทำการรบอย่างห้าวหาญและถูกต้อง ต่อมาเมื่อเรือไฟไหม้ยังสามารถควบคุมเพลิงได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีใครทำได้ดีกว่านี้แล้วล่ะครับ สองคุณสมบัติเรือรบที่สมควรแตกต่างจากเรือทั่วไป HMS Glamorgan ถูกสร้างขึ้นมาด้วยคุณภาพดีหนึ่งประเภทหนึ่ง ทนแรงระเบิดทนไฟไหม้ได้ดีเยี่ยมอันดับหนึ่ง ดีกว่าเรือฟริเกต Type 21 หรือเรือพิฆาต Type 42 ซึ่งใหม่กว่าตั้งหลายปี และสามเรือลำนี้ดวงดีที่สุดในโลก บรรดาลูกเรือไม่มีใครเกิดปีชงอย่างแน่นอน

ภาพสุดท้ายภาพล่างฝั่งขวามือ เรือซึ่งมีสภาพยับเยินลำนี้ชื่อ  RFA Sir Tristram L3505 เรือยกพลขึ้นบกกองทัพบกอังกฤษ ต่อมาได้ถูกโยกย้ายมาอยู่กองทัพเรือ มีระวางขับน้ำ 6,407 ตัน ยาว 135.8 เมตร กว้าง 17.1 เมตร สามารถเปิดหัวเรือให้รถถังวิ่งลงชายหาดได้เหมือนเรือหลวงสุรินทร์ เรือลำนี้เจอแจ๊กพอตเข้าไปเต็มๆ ระหว่างทำภารกิจ

วันที่ 8 มิถุนายน 1982 ระหว่างที่เรือ RFA Sir Tristram กำลังลำเลียงทหารและยุทโธปกรณ์ ถูกเครื่องบินโจมตี A-4 Skyhawk กองทัพอากาศอาเจนตินา โจมตีด้วยลูกระเบิดขนาด 500 ปอนด์ ทว่าโชคดีมากที่ระเบิดยังไม่จุดชนวน เมื่อลูกเรือย้ายออกไประเบิดถึงเริ่มทำงาน หลังควบคุมเพลิงสำเร็จ RFA Sir Tristram เปลี่ยนมาใช้เป็นที่พักทหาร กว่าจะได้กลับอังกฤษก็ปี 1983 โน่น ต้องใช้เรือขนส่งขนาดใหญ่มาขนกลับ หลังซ่อมแซมใหญ่ RFA Sir Tristram เข้าประจำการต่อจนถึงปี 2005

เรือยกพลขึ้นบก RFA Sir Tristram ถูกโจมตีด้วยระเบิด 500 ปอนด์แต่ไม่จม ส่วนเรือฟริเกต Type 21 HMS Ardent F184 กับ Hms Antelope F170 ถูกโจมตีด้วยระเบิด 1,000 ปอนด์แต่ไม่รอด ส่วนหนึ่งเพราะขนาดหัวรบที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการระเบิดต่อเนื่องจนควบคุมเพลิงไม่สำเร็จ รวมทั้งจุดที่ระเบิดตกลงไปบนเรือด้วย แต่เรื่องนี้มีประเด็นให้น่าคิดพอสมควร โดยเฉพาะการนำเรือตรวจการณ์ไกลมาใช้งานแทนเรือรบ ถ้าเจอแจ๊กพอตแบบ RFA Sir Tristram จะเป็นเช่นไร?

ภาพถัดไปคือไฮไลท์ของบทความนี้ก็ว่าได้ เฮลิคอปเตอร์ชีนุกกองทัพอากาศอังกฤษ บินลงมาจอดท้ายเรือ HMS Leeds Cascle ซึ่งมีความยาวเพียง 81 เมตร กว้าง 11.5 เมตร หัวกับท้ายเฮลิคอปเตอร์เลยสองกราบเรือออกมาพอสมควร แต่ฐานล้อหน้าหลังอยู่ในตำแหน่งปลอดภัย ประตูทางขึ้นลงอาจหมิ่นเหม่สักเล็กน้อยแต่ไม่มีปัญหา


ทำไมไม่นำเรือลำใหญ่กว่านี้มาใช้งาน? เรือบรรทุกเครื่องบินไม่อยู่เรือยกพลขึ้นบกก็ได้นี่นา? คำตอบก็คือในเมือเรือตรวจการณ์ลำนี้ใช้ทำภารกิจได้ แล้วเราจะใช้เรือใหญ่กว่าเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าไปเพื่ออะไร

ทำไมถึงนำชีนุกมาจอดบนเรือลำเล็กขนาดนี้? คำตอบมีแค่เพียงข้อเดียวคือภารกิจลำเลียงกำลังพล

การลำเลียงพลมีด้วยกันสองทางเลือก หนึ่งทหารที่เดินทางมากับเรือตรวจการณ์ ทยอยขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปทำภารกิจหรือสับเปลี่ยนกำลัง สองทหารที่เดินทางมากับเฮลิคอปเตอร์ ทยอยลงเรือหลังกลับจากทำภารกิจหรือสับเปลี่ยนกำลัง

ทำไมอังกฤษใช้เรือตรวจการณ์ในการลำเลียงพล? เหตุผลง่ายๆ ก็คือรับมาจากเรือลำเลียง Queen Elizabeth 2 กับ Canberra

เรือตรวจการณ์ HMS Leeds Cascle เคยช่วยลำเลียงทหารมากสุดถึง 120 นาย ส่วนเฮลิคอปเตอร์ชีนุกเคยทำสถิติบรรทุกทหารมากสุดถึง 81 นาย สรุปความสั้นๆ กระชับได้ใจความว่าบ้าด้วยกันทั้งคู่

อยากให้สังเกตสะพานเดินสักนิดหนึ่ง ติดกระจกครอบคลุมประมาณ 300 องศา ถ้าไม่ติดว่าเสากระโดงเป็นปล่องระบายความร้อนในตัว อู่ต่อเรือ Hall Russell อาจสร้างสะพานเดินเรือ 360 องศาแบบนี้กำลังนิยมกันอยู่ในปัจจุบัน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือตัดเตี้ยลงเล็กน้อย ใช้เป็นจุดผูกเรือซึ่งจำเป็นต้องมีทุกลำ อาจดูคล้ายมีตำหนิทว่าไม่มีปัญหาต่อการใช้งาน เรือพิฆาตญี่ปุ่นหรือเรือฟริเกตแคนาดาล้วนแบ่งพื้นที่แบบนี้เช่นกัน

นี่คืออีกหนึ่งภารกิจเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง สมควรมีเรือสักลำที่ทำอะไรก็ได้ทุกอย่างไว้ใช้งาน วันใดวันหนึ่งหากเกิดสงครามรูปแบบใกล้เคียงกันแถวบ้านเรา ประเทศไทยอาจใช้งานเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งภารกิจใกล้เคียงกัน

วันที่ 20 สิงหาคม 1982 หลังพลัดพรากจากบ้านเกิดนานถึง 4 เดือน เรือ HMS Leeds Cascle เดินทางกลับเกาะอังกฤษพร้อมเรือฟริเกต HMS Yarmouth มีคนในครอบครัวเรือทั้ง 2 ลำมารอต้อนรับ รวมชาวบ้านแถวนั้นกับทหารเรือประมาณ 300 คน เทียบไม่ได้เลยกับตอนกองเรือเดินทางกลับครั้งแรก มีคนมารอแสดงความยินดีแบบมืดฟ้ามัวดิน มีเรือเล็กแล่นต้อนรับจำนวนนับร้อยลำ มีผู้สื่อข่าวทั้งจากทั่วประเทศและทั่วโลก มีนักการเมืองจำนวนนับไม่ถ้วนยืนยิ้มให้กล้อง

ผู้เขียนเห็นภาพแล้วรู้สึกเศร้าใจ รวมทั้งเข้าใจว่าสิ่งนี้คือหนึ่งในหน้าที่ทหารกล้า ได้กลับมาเห็นรอยยิ้มคนในครอบครัวก็ดีใจแล้ว สงครามฟอล์กแลนด์ทหารอังกฤษไม่พร้อมรบเท่าที่ควร บังเอิญอาเจนตินาไม่พร้อมรบมากกว่าหลายเท่าตัว

นี่คือเรือลำที่สองของชั้น Castle เรือ HMS Dumbarton Castle (P265) จอดอยู่ที่เกาะฟอล์กแลนด์หลังความขัดแย้งจบสิ้นหลายปี มีการปรับปรุงเรือให้ทันสมัยกว่าเดิม ปืนกล Bofors 40/60 มม.จากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกแทนที่ด้วยปืนกลอัตโนมัติ DS-30B ขนาด 30 มม.มีจานรับสัญญาณดาวเทียมสื่อสารหรือ SATCOM ถึง 2 ใบ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Plessey AWS-4 เพิ่มเติมเข้ามาด้วย นี่คือเรดาร์รุ่นเดียวกับเรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุของลูกประดู่ไทย เป็นเรดาร์ 2 มิติระยะตรวจจับไกลสุด 110 กิโลเมตร ปรกติเป็นรุ่นส่งออกผู้เขียนเพิ่งเคยเห็นบนเรืออังกฤษครั้งแรก

HMS Dumbarton Castle เป็นฝาแฝดกับเรือลำแรกก็จริง ทว่ามีจุดแตกต่างชัดเจนด้านหลังเสากระโดง HMS Leeds Cascle มีเสาเล็กๆ สีเทาสำหรับติดสัญญาณไฟ เรือยางท้องแข็งกับเครนสีเหลืองมีขนาดค่อนข้างเล็ก ส่วน HMS Dumbarton Castle สร้าง Superstructure ยื่นออกมาเพื่อติดเสาสัญญาณไฟ เรือยางท้องแข็งกับเครนขนาดใหญ่กว่ากันพอสมควร เวลาเฮลิคอปเตอร์ Sea King ลงจอดท้ายเครื่องน่าจะยื่นออกไปในทะเล

เรือลำนี้คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำสุดท้ายของ Hall Russell เพราะเรืออีก 4 ลำตามโครงการหายไปกับสายลมและแสงแดด สงครามฟอล์กแลนด์ทำให้อังกฤษเสียเรือรบกับเรือช่วยรบหลายลำ รวมทั้งได้เห็นจุดอ่อนใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มระหว่างการรบ จำเป็นต้องจัดการเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ เสียก่อน โครงการเรือตรวจการณ์จึงถูกดองเค็มโดยปริยาย

ที่เขียนว่าดองเค็มหมายความเช่นนั้นจริงๆ เรือตรวจการณ์ชั้น Island จำนวน 7 ลำ กับเรือตรวจการณ์ชั้น Castle จำนวน 2 ลำ ถูกใช้งานไปเรื่อยๆ โดยมีงบประมาณซ่อมบำรุงจำกัด เรือลำไหนสภาพย่ำแย่ถูกปลดประจำการไปก่อน อู่ต่อเรือ Hall Russell พลอยถูกลูกหลงจนอาการเข้าขั้นตรีทูต

อู่ต่อเรือจากสกอตแลนด์มีปัญหาการเงินมาโดยตลอด ขนาดในปี 1977 ช่วงเวลาที่ตัวเองฉายแสงเต็มที่ ยังต้องเข้าร่วมเป็นบริษัทย่อยของ British Shipbuilders Corporation ผู้เขียนเขียนชื่อนี้ทุกคนคงไม่รู้จัก แต่ถ้าเขียนว่า Yarrow คราวนี้แหละร้องอ๋อทุกราย ปี 1986 พวกเขาแยกตัวออกมาจากบริษัทใหญ่ ต่อมาอีก 2 ปีต้องมาอยู่ภายใต้บริษัทอื่นในเมืองอเบอร์ดีน ท้ายที่สุด Hall Russell ต้องปิดบริษัทในปี 1992 แม้พยายามดิ้นรนสร้างเรือชนิดต่างๆ ขายเอกชนแล้วก็ตาม

Hall Russell ปิดบริษัทไปแล้วก็จริง ทว่าเรือทั้ง 3 แบบของพวกเขายังคงประจำการอยู่ในปัจจุบัน

River Class Patrol Ship

เมื่อเรือตรวจการณ์ชั้น Island ถึงเวลาต้องปลดประจำการ ระหว่างปี 2001 มีการคัดเลือกเรือลำใหม่เข้ามาทดแทน แบบเรือจากบริษัท VT Group ซึ่งในอดีตคือ Vosper Thornycroft ได้รับการคัดเลือก เรือใหม่จำนวน 3 ลำเข้ามาแทนของเดิมจำนวน 7 ลำ เรือเข้าประจำการครบทุกลำภายในปี 2003 มีรูปร่างหน้าตาตามภาพนี้เลยครับ

เรือตรวจการณ์ชั้น River ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,700 ตัน ยาว 79.5 เมตร กว้าง 13.5 เมตร กินน้ำลึก 3.8 เมตร ใช้เครื่องยนต์ Ruston ความเร็วสูงสุด 20 นอต ระยะทำการไกลสุด 5,500 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนกล 20 มม.1 กระบอกที่จุด B Position ตำแหน่งเดิม และมีปืนกล 7.62 มม.อีก 2 กระบอก ใช้ลูกเรือน้อยมากเพียง 25 นายเท่านั้น

เรือใหม่หัวเรือค่อนข้างสูงไว้สู้คลื่นลม ออกแบบสะพานเดินเรือได้สวยงามมาก ใช้ปืนกลในตำแหน่งเดิมเพียงแต่ขนาดเล็กลง ตำแหน่งติดตั้งปืนใหญ่มีเครนพับได้ขนาดเล็กซ่อนอยู่ เรือยางท้องแข็งอยู่สองกราบเรือใกล้ปล่องระบายความร้อน ท้ายเรือปล่อยโล่งใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ วางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตจำนวน 2 ตู้ได้อย่างสบายๆ

ภาพรวมเรือลำนี้สวยงามมาก แต่ทว่างดงามเพียงสองในสามเท่านั้น เนื่องจากส่วนท้ายถูกหั่นออกไปเหมือนเรือพิการ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามลดตุ้นทุน กองทัพเรืออังกฤษไม่ต้องการลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ปืนกล 20 มม.ใช้ของเดิมเพื่อความประหยัด และกลับมาใช้เรดาร์เดินเรือเพียงตัวเดียวอีกครั้ง สิ่งใดที่ไม่จำเป็นถูกตัดทิ้งออกจากโครงการ ความสวยงามของหัวเรือจึงถูกความขี้เหร่บริเวณท้ายเรือขโมยซีน

หน้าที่หลักของเรือคือดูแลกองเรือประมง รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ไม่จำเป็นต้องติดอาวุธหนักให้สนิมเกาะเล่น เนื่องจากแทบไม่มีภัยคุกคามจากชาติไหน รวมทั้งอังกฤษมีเรือฟริเกตมากเพียงพอให้ความช่วยเหลือ

พูดถึงเรื่องไม่ดีไปแล้วต้องพูดถึงเรื่องดีบ้าง เรือตรวจการณ์ชั้น River ออกแบบให้ใช้งานได้ถึงปีละ 300 วัน ฉะนั้นเรือ 3 ลำสามารถทำงานได้เทียบเท่าเรือ 5 ลำ ที่สำคัญเป็นการเช่าซื้อไม่ได้ซื้อขาดจาก VT Group รัฐบาลอังกฤษจ่ายเงิน 60 ล้านปอนด์เพื่อเช่าเรือ 3 ลำเป็นเวลา 5 ปี การซ่อมบำรุงตามตารางเจ้าของเรือต้องเป็นคนจัดการ

เรือตรวจการณ์ชั้น River ทำสัญญาเช่าซื้อจำนวน 2 ครั้ง ต่อมาเมื่อถึงปลายปี 2012 ใกล้หมดสัญญา รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนใจขอซื้อเรือเหมายกเข่งในราคา 39 ล้านปอนด์ เรือถูกใช้งานมาเรื่อยๆ ก่อนปลดประจำการในปี 2017 ถึง 2018 เนื่องจากกองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่แล้ว แต่รัฐบาลใจดีเฉือนงบประมาณมาให้ 12.7 ล้านปอนด์ เพื่อซ่อมแซมเรือกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนบทบาทมาดูแลน่านน้ำใกล้บ้าน เรือทั้ง 3 ลำกลับเข้ามาประจำการใหม่ในปี 2020

ผลจากการเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ปี 2021 อังกฤษมีเรื่องตรวจการณ์ไกลฝั่งมากถึง 8 ลำ สามารถส่งเรือใหม่ออกไปไล่ล่ายาเสพติดกลางทะเลแคริบเบี้ยน หรือส่งมาแล่นโฉบยั่วโมโหสเปนเล่นที่ช่องแคบยิบรอลต้า โดยมีเรือใหม่ 1 ลำสลับเวรคอยดูแลเกาะฟอล์กแลนด์ และมีเรือเก่าอีก 3 ลำคอยดูแลหลังบ้านเรื่องจุกจิกทั่วไป

HMS Clyde (P257)

เรือตรวจการณ์ชั้น Island ได้เรือใหม่ทดแทนแล้ว ต่อมาในปี 2005 ถึงคิวเรือตรวจการณ์ชั้น Castle ซึ่งต้องประจำการที่เกาะฟอล์กแลนด์ กองทัพเรืออังกฤษเลือกซื้อเรือตรวจการณ์ชั้น River ลำที่ 4 แต่เรือต้องถูกปรับปรุงให้รองรับเฮลิคอปเตอร์ Sea King ได้ด้วย เรือลำใหม่จึงมีบริเวณท้ายเรือแตกต่างจากพี่ๆ ของตัวเอง

HMS Clyde (P257) เข้าประจำการวันที่ 30 มกราคม 2007 เปลี่ยนมาใช้ปืนกลอัตโนมัติ DS-30B ขนาด 30 มม.บนเสากระโดงติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Terma SCANTER 4100 ระยะทำการ 64 กิโลเมตรจากเดนมาร์ก แล้วสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์บริเวณท้ายเรือ อู่ต่อเรือจงใจยื่นลานจอดออกไปประมาณ 1.8 เมตร เพื่อให้เฮลิคอปเตอร์ Sea King และ Merlin สามารถลงจอดได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะมีเรือจำนวนมากทำแบบนี้เช่นกัน

จากภาพถ่ายจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า HMS Clyde มีความสมส่วนทั้งหัวเรือ-กลางเรือ-ท้ายเรือ ในภาพกำลังเติมเชื้อเพลิงให้กับ Sea King รุ่นค้นหาและกู้ภัยกองทัพอากาศอังกฤษ ที่เห็นสายน้ำมันลอยเคล้งคว้างหาใช่เติมแล้วไม่จ่ายเงินนะครับ แต่เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยระหว่างเติมเชื้อเพลิง

ลานจอดเฮลิคอปเตอร์เรือ HMS Clyde ค่อนข้างสั้นมาก Sea King ลงมาจอดได้ก็จริงแต่ท้ายโผล่พอสมควร  บินลงมาเติมเชื้อเพลิงยิ่งลำบากไปกันใหญ่ เรือเอียงซ้ายเอียงขวาเล็กน้อยอาจไถลตกทะเลทั้งลำ นักบินจึงบินลงมาเพื่อเสียบสายน้ำมันกับเครื่อง แล้วลอยขึ้นไปอีกครั้งในระดับความสูงไม่มาก เติมเชื้อเพลิงเสร็จก็โฉบลงมาส่งอุปกรณ์ก่อนจากไป วิธีการนี้นิยมใช้งานกับเรือขนาดไม่ใหญ่นัก ในกรณีเจอคลื่นลมแรงจัดสมควรปลอดภัยไว้ก่อน ผู้เขียนเคยเห็นเฮลิคอปเตอร์ไทยเติมเชื้อเพลิงแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่จำไม่ได้เสียแล้วว่ากับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำไหน

ต่อมาเมื่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่ทยอยเข้าประจำการ HMS Clyde จำเป็นต้องยุติบทบาทตัวเองในวันที่ 20 ธันวาคม 2019 แต่ยังโชคดีได้ย้ายมาอยู่บ้านใหม่กองทัพเรือโอมานในวันที่ 7 สิงหาคม 2020 มีชื่อใหม่ว่า RBNS Al-Zubara P80 อุปกรณ์ต่างๆ บนเรือลำนี้เหมือนเดิมทุกอย่าง ยกเว้นไม่มีปืนกล 30 มม.ที่หัวเรือเหมือนในอดีต

Castle Class Corvette

            เมื่อเรือตรวจการณ์ HMS Clyde ประจำการหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เรือตรวจการณ์ชั้น Castle ทั้ง 2 ลำจึงยุติบทบาทอย่างเป็นทางการ HMS Leeds Cascle กับ HMS Dumbarton Castle จอดคู่กันให้เพรียงเกาะเล่นได้ไม่นาน เดือนเมษายน 2010 กองทัพเรือบังกลาเทศขอซื้อไปใช้งาน เพื่อสร้างกองเรือจากอู่ต่อเรือ Hall Russell ให้ใหญ่โตกว่าเดิม เพียงแต่คราวนี้เรือใหม่จะไม่ใช่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง แต่ถูกยกระดับให้กลายเป็นเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี

                ภาพใบนี้คือเรือ BNS  Dhaleshwari F36 ในอดีตชื่อเรือ HMS Leeds Cascle ถูกซ่อมแซมใหญ่ก่อนส่งให้เจ้าของใหม่ โดยเฉพาะระบบเครื่องยนต์และเกียร์กลับมาดีเยี่ยมดังเดิม ได้เรือมาแล้วบังกลาเทศเริ่มปรับปรุงทันที โดยการติดตั้งปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. นี่คือปืนใหญ่ AK-176 ของรัสเซียผลิตโดยประเทศจีน อัตรายิงสูงสุด 120 นัด/นาที เทียบเท่าปืนใหญ่ Oto 76 mm Superapid ราคาแพงจากอิตาลี โดยมีกระสุนชนิดต่างๆ อยู่ในคลังแสงถึง 150 นัด

                เลยเข้ามาเล็กน้อยมองเห็นแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-704 จากจีนเช่นกัน ขนาดกะทัดรัดระยะยิง 35 กิโลเมตร ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347 เรดาร์ตรวจการณ์ Type 360 จากจีนยกโหล ฉะนั้นผู้เขียนขอเดาว่าใช้ระบบอำนวยการรบจากจีนเช่นกัน (ถ้าติดตั้งนะ) แต่จะเป็น Poseidon-3 เหมือนเรือหลวงกระบุรีหรือไม่ยังหาข้อมูลไม่เจอ นอกจากนี้ยังติดปืนกล Oerlikon20/70 มม.อีก 2 กระบอก และปืนกล DShK 12.7 มม.ของรัสเซียอีก 2 กระบอกที่สะพานเดินเรือ

                การปรับปรุงใหญ่ครั้งนี้เท่ากับชุบชีวิตเรือเก่า กลายมาเป็นเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีทำการรบได้ 2 มิติ สามารถรับใช้ชาติได้อย่างยาวนานถึง 20 ปีเต็ม บังกลาเทศซื้อเรือรบมือสองมาใช้งานหลายสิบปีแล้ว เรื่องการดูแลรักษาเรือเก่าพวกเขาทำได้ดีไม่แพ้ชาติไหน ฉะนั้นเราจะได้เห็นเรือฝาแฝด 2 ลำนี้จนเบื่อกันไปข้าง

เนื่องมาจากเรือชั้น Castle ออกแบบให้ใช้งานในทะเลลึก การเดินทางไปไหนมาไหนทำได้อย่างสะดวก เรือทั้ง 2 ลำจึงได้เดินทางไปโน่นมานี่บ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดภาพใบนี้ขึ้นมาในปีที่แล้ว

วันที่ 4 สิงหาคม 2020 ระหว่างที่เรือ BNS Bijoy F35 หรือ HMS Dumbarton Castle ในอดีต จอดเทียบท่าอยู่ที่กรุงเบรุต เพื่อทำภารกิจรักษาความปลอดภัยให้เลบานอน ร่วมกับเรือรบอีกหลายประเทศภายใต้ชื่อองค์กรสหประชาชาติ จู่ๆ โกดังในท่าเรือเกิดการจุดระเบิดครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายขนาดมหึมาทั่วทั้งพื้นที่ BNS Bijoy F35 จอดดับเครื่องยนต์อยู่ตรงนั้นพอดี พลอยได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดระดับปานกลาง ลูกเรือจำนวน 21 นายต้องถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล

เรือฟริเกตชื่อ Independencia ของบราซิลซึ่งเป็นเรือธงในภารกิจนี้ ส่งลูกเรือตัวเองเข้ามาช่วยซ่อมแซมฉุกเฉินไปก่อน ต่อมาเรือ BNS Bijoy จึงถูกลากไปซ่อมที่ฐานทัพเรือประเทศตุรกี กว่าได้ได้กลับบ้านก็วันที่ 25 ตุลาคม 2020 โน่น

คนมันจะซวยอะไรก็ช่วยไม่ได้ โชคดีความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นท้ายเรือ

จากภาพถ่ายใบนี้มีสองประเด็นให้ต้องขบคิด หนึ่งบังกลาเทศส่งเรือเข้าร่วมภารกิจยูเอ็นถึง 2 ลำ ทั้งๆ ที่ทัพเรือตัวเองไม่ได้ใหญ่โตเลย สองเรือ BNS Bijoy F35 ปรับปรุงในปี 2011 ก่อนหน้าเรือหลวงกระบุรีเล็กน้อย ได้เรดาร์ตรวจการณ์รุ่นเดียวกัน เรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นเดียวกัน ระบบอำนวยการรบถ้ามี (สมควรต้องมี) น่าจะรุ่นเดียวกัน ใช้อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบขนาดเล็กกว่าเรา เนื่องจากพื้นที่จำกัดรวมทั้งเป็นห่วงเรื่องน้ำหนัก แต่ที่สำคัญเขาได้ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.

เรือบังกลาเทศใช้ปืนใหญ่ 76 มม. เป็นรุ่นที่กองทัพเรือจีนใช้งานในปัจจุบัน รวมทั้งในอนาคตภายภาคหน้าอีก 20 ปี

 เรือไทยใช้ปืนใหญ่ 100 มม.เป็นรุ่นที่กองทัพเรือจีนไล่ปลดประจำการ ไม่เกิน 5 ปีไม่น่ามีเหลือแม้แต่กระบอกเดียว

                เพราะไม่อยากจบบทความนี้ด้วยเรื่องดราม่า จึงขอปิดท้ายด้วยภาพเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจาก Hall Russell ทั้ง 2 ลำนี้ผู้เขียนชื่นชอบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรือตรวจการณ์ชั้น Castle มีความล้ำสมัยเกินใคร ประจำการกับอังกฤษรับบทบาทเรืออเนกประสงค์ ครั้นมาอยู่บังกลาเทศกลายเป็นเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี สามารถติดอาวุธหนักได้มากเพียงพอป้องกันตัวเอง Hall Russell ออกแบบเรือได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้ เสียดายฝีมือเสียดายความรู้ที่สั่งสมมานานต้องเลือนหายไป

                                                +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://www.reddit.com/r/WarshipPorn/comments/m9ieiq/1200_x_576_exhms_dumbarton_castle_bns_bijoy_and/?utm_medium=android_app&utm_source=share

http://www.shipspotting.com/gallery/photo.php?lid=2054917

https://twitter.com/MYSteveIrwin/status/834486248718876672?s=06

https://en.m.wikipedia.org/wiki/List_of_ships_built_by_Hall,_Russell_%26_Company

https://emuseum.aberdeencity.gov.uk/objects/37284/leaflet-showing-island-class-offshore-patrol-vessels-built

https://www.facebook.com/HMS-Leeds-Castle-187292364656887/

https://en.m.wikipedia.org/wiki/RFA_Sir_Tristram_(L3505)

https://www.gracesguide.co.uk/Hall,_Russell_and_Co

 

                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น