วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563

The Lost Ship: New Rookie


เรือส่งออกที่โลกลืม: ตอนผู้เล่นหน้าใหม่
การสร้างเรือขึ้นเองในประเทศโดยเฉพาะเรือรบ ถือเป็นสุดยอดปรารถนาของบุคคลในแวดวงการทหาร แต่การส่งออกเรือรบที่เราสร้างเองในประเทศ เปรียบได้กับถูกหวยสามตัวล่างห้าร้อยคูณห้าร้อย นอกจากคุณจะสามารถคุยโวได้ทุกเว็บบอร์ดแล้ว ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชาติ และถ้าผลงานดีอาจมีลูกค้าทยอยสั่งซื้ออีกเพียบ รวมทั้งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือให้เจริญก้าวหน้า สามารถสร้างเรือที่ดีขึ้นใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นได้ในอนาคต
ฉะนั้นแล้วทุกประเทศที่สร้างเรือได้ล้วนอยากส่งออก ปัญหาสำคัญมีแค่เพียงๆ สั้นเรื่องเดียว ทุกวันนี้หลายประเทศสามารถส่งออกได้แล้ว การแข่งขันทวีความรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แทบไม่เหลือที่ว่างให้กับผู้อ่อนแอหรือเด็กหัดคลาน แต่ทว่าท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงเข้มข้นนั้น บังเอิญมีเด็กหัดคลานเข้ามาท้าทายขาใหญ่ประจำซอย หมอนี่เข้ามาโกยเงินโกยทองกลับไปให้น้องเมีย บทความนี้จะพูดถึงพวกเขาเหล่านั้น เรือที่ใครหลายคนไม่รู้จักสร้างโดยเด็กหัดคลาน
ไม่พูดพร่ำทำเพลงเข้าสู่เนื้อหาสาระกันเลย ระหว่างปี 2014 ประเทศเคนยาสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจากบริษัท Western Marine Shipyard ประเทศบังคลาเทศ ใช่ครับอ่านไม่ผิดบังคลาเทศอยู่ติดกับพม่านี่แหละ พวกเขาสามารถส่งออกเรือตรวจการณ์ทันสมัยได้แล้ว และนี่ก็คือภาพกราฟิกของแบบเรือลำที่ว่านี้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า ทุกประเทศบนโลกเรียกชื่อรุ่นเรือไม่เหมือนกัน เรือลำนี้ได้รัฐมนตรีกระทรวงการประมงเป็นผู้ตรวจงานก่อสร้าง มีหน้าที่ดูแลเรือประมงน้อยใหญ่ของตัวเอง อยู่สังกัดหน่วยยามฝั่งที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากกองทัพเรือ ตอนสั่งซื้อจึงได้กำหนดคุณลักษณะต่างๆ ของเรือ ตรงตามความต้องการและตามภารกิจหลักที่ต้องกระทำ
อู่ต่อเรือ Western Marine ใช้แบบเรือบริษัท Icarus Marine Pty ประเทศแอฟริกาใต้ หัวเรือติดปืนกลขนาด 40 มม.ได้ถ้าลูกค้าต้องการ สะพานเดินเรือสูง 3 ชั้นอยู่ชิดหัวเรือพอสมควร บนเสากระโดงมีเรดาร์เดินเรือกับอุปกรณ์สื่อสาร กลางเรือมีเครนกับเรือยางท้องแข็งความเร็วสูง ท้ายเรือมีห้องพักไล่เรียงตามยาวจำนวนหนึ่ง โดยที่ด้านบนสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกำลังเหมาะ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลทำงานคู่กับระบบวอเตอร์เจ็ท ที่ความสูงระดับน้ำท้ายเรือสร้างฟรีบอร์ดกับบันใดทางขึ้น สำหรับช่วยคนตกน้ำให้ปีนขึ้นเรือได้อย่างสะดวก
แบบเรือถือว่าแปลกและน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะต้องการลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนเรือขนาดเล็ก ผู้ออกแบบจึงคิดคำนวณจนได้รูปร่างหน้าตาเช่นนี้ และเนื่องมาจากตัวเรือไม่สูงจากน้ำทะเลเท่าไร จำเป็นต้องยกลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อป้องกันอันตราย อาจดูแปลกตาไม่เหมือนกับเรือตรวจการณ์ทั่วไป แต่ด้วยเหตุนี้เองหน่วยยามฝั่งเคนยาถึงเลือกใช้งาน

ทีนี้มาชมภาพเรือจริงเทียบกับภาพกราฟิกกันบ้าง สะพานเดินเรือสูง 3 ชั้นค่อนข้างโดดเด่น แต่ไม่ได้สูงตลอดทั้งลำจนเรือโคลงเคลงเกินเหตุ เสากระโดงเรือมีขนาดเล็กกว่าภาพกราฟิก ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ตั้งเสาตรงส่วนภาพกราฟิกใช้เสาเอียง บรรดาห้องต่างๆ ขยับมาอยู่มุมสุดของลานจอด ติดยางกันกระแทกด้านข้างเรือเพิ่มเติมเข้ามา สิ่งที่แตกต่างกันมากที่สุดเห็นจะเป็นสมอเรือ ถูกโยกมาอยู่ด้านหน้าสุดของตัวเรือเป็นรูปปากฉลาม
เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ใช้ชื่อว่า Dora ระวางขับน้ำ 350 ตัน ยาว 54.7 เมตร กว้าง 7.8 เมตร กินน้ำลึก 2.2 เมตร เฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลจากเยอรมันทำความเร็วสูงสุด 28 นอต แต่ถ้าใช้ระบบวอเตอร์เจ็ทด้วยจะมีความเร็วถึง 35.9 นอต ระยะทำการไกลสุด 1,500 ไมล์ทะเล ปรกติใช้ลูกเรือ 25 นายกับเจ้าหน้าที่กรมประมงอีก 10 นาย โดยมีอีกทางเลือกคือใช้ลูกเรือ 12 นายเพื่อลำเลียงเจ้าหน้าที่หรือพลเรือนไปกับเรือได้ถึง 60 คน ติดอาวุธปืนกลขนาด 20 มม.ไว้ที่หัวเรือหนึ่งกระบอก

เนื่องจากเป็นเรือตัวท๊อปของหน่วยยามฝั่ง จึงมีอะไรต่อมิอะไรบนเรือเต็มไปหมด อาทิเช่นเรดาร์เดินเรือจำนวน 3 ตัว มีปืนฉีดน้ำความดันสูง 2 กระบอก มีเรือยางขนาดเล็ก 2 ลำ มียางท้องแข็งความเร็วสูงอีก 1 ลำ ลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 5 ตัน แต่ได้เฉพาะรับ-ส่งช่วงเวลาสั้นๆ กลางทะเล เรือเล็กแบบนี้สู้คลื่นลมแรงไม่ไหวเดี๋ยวงานเข้า ใต้ลานจอดเป็นพื้นที่โล่งสำหรับเจ้าหน้าที่กรมประมงระหว่างเดินทาง ค่อนข้างอเนกประสงค์และทำหน้าที่สกัดกั้นทางทะเลได้ดี
มีพิธีเซ็นสัญญาในวันที่ 14 มกราคม 2014 เรือถูกส่งมอบให้กับเคนยาวันที่ 19 กันยายน 2017 แต่เข้าประจำการจริงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2018 อันเป็นวันที่หน่วยยามฝั่งเริ่มงานวันแรกตามกฎหมาย ประธานาธิบดีเคนยาให้งบประมาณปีละ 100 ล้านเหรียญหรือ 3,244 ล้านบาท สำหรับหน่วยยามซึ่งแยกออกมาจากกองทัพเรือ มีภารกิจสำคัญคือดูแลกองเรือประมงตัวเอง และปราบปรามยาเสพติดซึ่งมีการลักลอบลำเลียงเยอะมาก ประเทศเคนยามีความคิดก้าวหน้ามากพอสมควร
มีอยู่จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือกราบเรือก่อนถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เป็นช่องระบายความร้อนและเคนยาเลือกไม่ทากราบเรือสีดำ (ต้องบอกว่าบริษัทออกแบบเรือเลือกไม่ทาจะชัดเจนกว่า) ทำให้มีรอยควันเลอะกราบเรือสักเล็กน้อย ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ไม่ค่อยทากราบเรือสีดำกันแล้วล่ะครับ โดยมีหลายลำออกแบบให้ปล่อยควันดำน้อยกว่าสมัยก่อน เลอะควันจนสกปรกก็จริงแต่อยู่ในเกณฑ์รับได้ หลักนิยมหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

ชมภาพสุดท้ายบริเวณกลางเรือจนถึงท้ายเรือ เห็นเรือยางติดเครื่องยนต์ขนาดเล็ก 2 ลำพร้อมไม้พาย เห็นเรือยางท้องแบนความเร็วสูงยาวประมาณ 8 เมตร เห็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์พร้อมบันใดทางขึ้น ในกรณีตรวจพบผู้บาดเจ็บหรือราชาเฮโรอีน ลูกเรือจะใช้เรือเล็กแล่นเข้าไปรับที่ความเร็ว 45 นอต นำมาขึ้นเรือรอให้เฮลิคอปเตอร์รับตัวไปเดี๋ยวนั้นเลย เสียดายว่าเรือลำจริงตัดฟรีบอร์ดท้ายเรือทิ้งไป ฉะนั้นคนตกน้ำปีนขึ้นเรือลำบากหน่อย (อาจเป็นเพราะระบบวอเตอร์เจ๊ทก็ได้)
ตอนนี้บังคลาเทศเริ่มต้นนับหนึ่งแล้ว โดยมีโอกาสที่จะนับสอง-สาม-สี่-ห้าต่อไปเรื่อยๆ แต่ต้องหาตลาดที่เหมาะสมให้ได้เสียก่อน และตลาดที่เหมาะสมที่สุดก็คือเรือตรวจการณ์ ปัจจุบันยอดขายเรือชนิดนี้ดีเอามากๆ โดยเฉพาะกับประเทศในทวีปแอฟริกา เอเชียกลาง หรือตามหมู่เกาะน้อยใหญ่ ล้วนต้องการนำมาใช้งานป้องกันทรัพย์สินในทะเล โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งจัดตั้งหน่วยยามฝั่งขึ้นมา ประเทศเหล่านี้ชอบซื้อเรือใหม่เลยนะครับ ไม่ใช่รับช่วงเรือเก่าอายุ 30 ปีมาจากกองทัพเรือ
ผู้เขียนอาจมีคำถามว่าได้กำไรสักกี่บาท อู่ต่อเรือในไทยขายเรือให้ราชการเยอะกว่านี้เห็นมีแต่ร่วงโรย แล้วเรือที่มีปืนกลกระบอกเดียวจะกำไรสักกี่บาท ทุกคนครับยิ่งเรือติดอาวุธน้อยยิ่งมีส่วนต่างกำไรมาก ไม่ต้องแบ่งเงิน ไม่ต้องปรับปรุงเรือ ไม่ต้องเสียค่าดำเนินการ เรือเคนยาลำนี้ราคา 3,600 ล้านชิลลิงเคนยาหรือ 1,093 ล้านบาท ไม่มีอาวุธปืนอัตโนมัติ ไม่มีระบบอำนวยการรบ ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเล็งและติดตามเป้าหมาย แต่ราคา 1,093 ล้านบาทตอนนี้น่าสนใจหรือยังครับ
ทำความรู้จักเรือส่งออกจากบังคลาเทศกันไปแล้ว ขอพาทุกคนล่องลงใต้ไปยังแหลมมลายูบ้าง วันที่ 18 ตุลาคม 2012 บริษัท Shin Yang Shipyard ได้แถลงข่าวพร้อมส่งมอบเรือที่ตนเองสร้างแล้วเสร็จ ให้กับกองทัพเรือสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์หรือยูเออีภายในปีนี้ และนี่ก็คือเรือส่งออกจากดินแดนเสือเหลืองมาเลเซีย

ลำใหญ่เบ้อเริ่มกันเลยทีเดียว ที่สำคัญมีด้วยกันถึง 2 ลำ นี่คือเรือระบายพลขนาดใหญ่หรือ Landing Craft Tank หรือ LCT ต้องใช้คำว่าเรือระบายพลขนาดยักษ์ถึงจะเหมาะสม ขณะที่บริษัท Shin Yang ใช้คำว่าเรือฝึกบนโบรชัวร์ แต่ถ้าพิจารณาจากเรืออเมริกาที่ไทยเคยใช้งาน ควรเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดกลางหรือ Landing Ship Medium หรือ LSM เฉพาะคำเรียกแบบเรือก็ปวดหัวข้างซ้ายจะแย่ อ่านข่าวนี้ครั้งแรกผู้เขียนประหลาดใจมาก ไม่นึกมาก่อนว่ามาเลเซียเคยส่งออกเรือขนาดใหญ่ เข้าไปส่องดูบริษัท Shin Yang ขนาดใหญ่โตพอสมควร เคยสร้างอู่ลอยความยาว 160 เมตรให้อู่ต่อเรือญี่ปุ่นมาแล้ว

และนี่คือภาพเรือลำแรกซึ่งควรใช้เป็นชื่อชั้นเรือ A81 Al Quwaisat ขณะฝึกซ้อมร่วมกับกองเรืออาหรับในปี 2018 ระวางขับน้ำปรกติ 2,046 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,469 ตัน ยาว 80 เมตร กว้าง 16.8 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลคัมมินส์ 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 12 นอต หัวเรือสามารถเปิดลงมาได้ ฝั่งซ้ายมือมีเครนขนาดใหญ่ 1 ตัว ดาดฟ้าเรือข้างเครนเปิดโล่งถึงชั้นล่าง เพื่อความสะดวกในการขนอุปกรณ์ขึ้นลงจากเรือ ที่เหลือเป็นพื้นที่โล่งยาวไปจนเกือบสุดท้ายเรือ
เรือจากมาเลเซียมีท้องเรือปรกติ ไม่ใช่ท้องป้านเหมือนเรือยกพลขึ้นบกหรือ LST วิ่งมาเกยชายหาดเพื่อลำเลียงรถถังไม่ได้ก็จริง แต่มีความคงทนทะเลมากกว่ากัน รวมทั้งเรือค่อนข้างกว้างพอสมควร จึงพลอยมั่นใจว่าเหล่าทหารหาญจะไม่อ้วกแตกก่อนเวลา เรือจริงผู้เขียนขออนุญาตชมว่าสวยใช้ได้เลย ไม่เหมือนเรือยกพลขึ้นบก  LST ลำใหม่ของอินโดนีเซีย มองอย่างไรก็ขัดหูขัดตาเสียเหลือเกิน เหมือนนำเรือสินค้ายุค 90 มาดัดแปลงเป็นเรือใช้งานทางทหาร

ทีนี้มาชมท้ายเรือกันบ้าง นี่คือเรือลำที่สองชื่อ A82 Al Futaisi ติดเรดาร์เดินเรือทั้งหมด 3 ตัว มีจานดาวเทียมสื่อสารหรือ SATCOM อีก 2 ใบ ติดปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม.รุ่นเดียวกับเรือ ต.994 ไว้ 4 กระบอก กราบซ้ายมือวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ไม่แน่ใจว่าเป็นเหล็ก อลูมีเนียม หรือหลังคาผ้าใบ ส่วนกราบขวามือเป็นเครนกับเรือยางขนาดเล็ก 1 ลำ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน มีห้องควบคุมอากาศยานขนาดพอดี ท้ายเรือมีช่องให้คนออกได้แต่ยานหุ้มเกราะออกไม่ได้
ผู้เขียนชอบเรือลำนี้มาก อยากให้ประเทศไทยจัดหามาใช้งาน เพราะสามารถทำภารกิจดังต่อไปนี้ได้
-ลำเลียงทหาร ยานหุ้มเกราะ รถถัง และอื่นๆ ตามภารกิจยกพลขึ้นบก หรือทำหน้าที่แทนเรือ LST ในอดีต
-ลำเลียงน้ำมัน น้ำดื่ม อาหารของกิน รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ หรือทำหน้าที่เรือลำเลียงทางด้านพลเรือน
-เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำแทนเรือจีนขนาด 2 หมื่นตัน
-เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดแทนเรือหลวงถลาง รวมทั้งทำหน้าที่กวาดทุ่นระเบิดด้วยระบบ Mission Module
-เป็นเรือวางทุ่นระเบิด โดยการเจาะท้ายเรือสำหรับวางรางจำนวน 3-4 ชุด เนื่องจากมีพื้นที่ใหญ่โตโอ่อ่าตั้งแต่หัวจรดท้าย จึงสามารถบรรทุกทุ่นระเบิดได้ประมาณ 500 ลูก
-ทำหน้าลำเลียงผู้ประสบภัยทางทะเล เฉพาะการลำเลียงจากเกาะสู่แผ่นดินใหญ่นะครับ จะได้ตัดภารกิจนี้ไปจากเรือ LPD ที่มีอู่ลอยด้านท้าย หรือจะค้นหากู้ภัยกลางทะเลด้วยเฮลิคอปเตอร์ก็พอได้
จากนี้ไปผู้เขียนขอพาทุกคนย้อนเวลา วันที่ 13 มิถุนายน 2018 มีข่าวสำคัญจากกบฏฮูตีผ่านโลกออนไลน์ว่า วันนี้ตนเองยิงเรือรบประเทศยูเออีจมทะเลไปอีก 1 ลำ เท่านั้นเองพี่น้องชาวไทยพากันเปิดเบียร์ฉลอง พร้อมเปรยเบาๆ กับลมกับฟ้าว่าจมอีกแล้วเหรอ ผู้เขียนได้ลองทบทวนกับข่าวต่างๆ ที่ฮูตีปล่อยออกมา พบว่าวันนี้กองเรือรบยูเออีจมหมดทั้งกองเรือแล้ว รวมทั้งเรือคอร์เวตติดเรดาร์ Sea Giraffe AMB จรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM และอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิด RAM
ทั้งๆ ที่ไม่มีภาพถ่ายเรือยูเออีโดนยิง ที่นำมาลงเป็นภาพเก่าเรือซาอุไฟไหม้เพราะเรือยางติดระเบิด ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าปักใจเชื่อได้อย่างไร ทีนี้เรามาฟังข่าวจากอีกฝั่งกันบ้าง สื่อมวลชนซาอุดิอาระเบียเปิดเผยข้อมูลว่า เรือลำหนึ่งของยูเออีโดนทีเด็ดครูวัยใหญ่จริง แต่เป็นจรวดต่อสู้รถถัง Kornet ไม่ใช่จรวดต่อสู้เรือรบ ถูกยิงตอนเรือแล่นเข้าเทียบท่าจนเกิดไฟลุกไหม้ แต่จรวดลูกเท่านั้นไม่ทำให้เรือยาว 80 เมตรจมหรอกครับ และนี่ก็คือภาพถ่ายใบเดียวซึ่งเล็ดลอดมาจากสมรภูมิ

ในภาพจะเห็นเรือ A82 Al Futaisi จอดเกยท่าเรือ มีทหารยูเออีบางส่วนนั่งรวมกันใกล้กองอุปกรณ์ต่างๆ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือมีรอยดำจากไฟไหม้ สรุปความได้ว่าเรือรบที่ตกเป็นข่าวก็คือลำนี้ ข่าวฝั่งนี้บอกว่าไม่จมแค่ไฟไหม้เล็กน้อย สามารถทำภารกิจตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ คล้ายกับเรือหลวงลันตาไปทำภารกิจที่เวียดนาม โดนจรวดอาร์พีจียิงใส่จนเกิดความเสียหาย ถูกส่งไปซ่อมที่เกาะกวมและได้รับการปรับปรุงใหญ่ กลายเป็นเรือ LST ลำที่ทันสมัยที่สุดของราชนาวีไทย
ข่าวทั้งสองฝั่งไม่เหมือนกันนะครับ ผู้อ่านพิจารณาตามเหตุผลส่วนตัวได้เลย กลับมาที่อู่ต่อเรือมาเลเซียเป็นการปิดท้าย พวกเขาเริ่มขายเรือได้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เรือขนาดค่อนข้างใหญ่ขายให้กับประเทศฐานะดี ดูจากจุดนั้นถือว่ามีอนาคตพอสมควร แต่พอมาดูจากจุดนี้หาอนาคตไม่เจอแล้ว คือยังคงขายเรือพาณิชย์ให้กับเอกชนได้อยู่เรื่อยๆ แต่เรือทหารไม่มีลูกค้าหลงเข้ามาอีกแล้ว ซึ่งถ้าหากจะมีสมควรมีตั้งหลายปีแล้ว เรื่องปรกติของอู่ต่อเรือขนาดเล็กไม่มีการตลาดที่ดี
เมื่อหันกลับมาดูลูกค้าเก่าบ้าง ใช้คำว่าสิ้นหวังน่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะยูเออีมีอู่ต่อเรือ Damen ในประเทศแล้ว ปีนี้รับงานต่อเรือยกพลขึ้นบกขนาด 100 เมตรให้กับประเทศในแอฟริกา เวลาผ่านไปแค่ 8 ปีสถานการณ์พลิกหน้ามือหลังมือ
จากนี้ไปขอพามาพบเรือลำที่สาม อันเนื่องมาจากข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในประเทศไทย วันที่ 9 ตุลาคม 2018 คณะผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมศรีลังกาเข้าพบรัฐมนตรีกลาโหมไทย วันนั้นเองมีการปล่อยข่าวว่าบริษัทอู่กรุงเทพ เสนอสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 3 ลำมูลค่า 12,000 ล้านบาทให้กับศรีลังกา นอกจากนี้ยังได้เสนอแบบเรือเดียวกันให้กับฟิลิปปินส์อีก 6 ลำ ถ้าไม่ติดขัดปัญหาบริษัทอู่กรุงเทพจะขายเรือใหญ่ได้ถึง 9 ลำ ผู้เขียนคิดว่าบริษัท Navantia กับ Damen รวมทั้ง Naval Group ซึ่งเป็นเจ้าพ่อวงการเรือตรวจการณ์มานาน ต้องล้มละลายเพราะอู่ต่อเรือเล็กๆ จากสยามเมืองยิ้มในคราวนี้
ตอนนั้นเองพ่อแม่พี่น้องแวดวงการทหารประเทศไทย พากันเปิดเบียร์เฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จ (อีกแล้ว) มียกเว้นอยู่ก็แค่คนบ้าอย่างผู้เขียน ที่เข้าไปส่องในอินเทอร์เน็ตและพบข้อมูลสำคัญว่า วันที่ 19 เมษายน 2018 หรือย้อนเวลากลับไป 6 เดือนกว่าๆ กองทัพเรือศรีลังกาเข้าประจำการเรือตรวจการณ์ใหม่เอี่ยม 1 ลำ ต่อมาในวันที่ 27 สิงหาคม 2018 หรือย้อนกลับไปแค่เดือนกว่าๆ เท่านั้น กองทัพเรือศรีลังกาเข้าประจำการเรือตรวจการณ์มือสองอีก 1 ลำ

ในภาพคือเรือตรวจการณ์ลำใหม่ของศรีลังกา P624 SLNS Sindurala ซึ่งเป็นเรือชั้น Saryu ของประเทศอินเดีย ระวางขับน้ำ 2,350 ตัน ยาว 105.7 เมตร กว้าง 13.6 เมตร กินน้ำลึก 3.6 เมตร มีลานจอดพร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ เรือต้นฉบับติดปืนใหญ่ 76 มม.ที่หัวเรือกับปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.กลางเรืออีก 2 กระบอก แต่เรือศรีลังกาติดแค่ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝด กับปืนกล 20 มม.อีก 2 กระบอกเท่านั้น ราคาเรือเปล่า 66 ล้านเหรียญ รวมอาวุธด้วยเป็น 74 ล้านเหรียญ มาจากอู่ต่อเรือ GOA ซึ่งเคยเป็นข่าวโด่งดังในอดีต เรื่องที่เอาชนะโครงการเรือฟริเกตฟิลิปปินส์แต่การเงินไม่ผ่านเลยโดนปรับแพ้
ภาพถัดไปเป็นเรือ P624 SLNS Sindurala เข้าประจำการแล้วสักพักหนึ่ง เทียบกับเรือชั้น Hamilton ระวางขับน้ำ 3,250 ตันชื่อ BRP Ramon Alcaraz ของฟิลิปปินส์ ขนาดสูสีกันมากไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ส่วนเรือคอร์เวตของมาเลเซียเล็กกว่ากันทันตาเห็น (อาจเป็นเพราะเรืออยู่ไกลและมุมกล้อง) เรือติดตั้งอาวุธทันสมัยได้ถ้าลูกค้าต้องการ มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์มาให้เลย บอกตามตรงถ้าเข้าแข่งขันโครงการเดียวกัน เรือตรวจการณ์ชั้น River Batch II จากอังกฤษน้ำลายเหนียวคอแน่

ขอพูดถึงกองทัพเรือศรีลังกาสักเล็กน้อย พวกเขามีแผนใหญ่ระหว่างปี 2015 ถึงปี 2025 ว่า จะเพิ่มเรือรบชนิดต่างๆ เข้ามามากถึง 20 ลำ นับรวมเรือทุกชนิดและทุกขนาดที่ขาดหายไป ศรีลังกามีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอยู่แล้ว 4 ลำ แต่ต้องการลำใหญ่กว่าเดิมคือมากกว่า 2,000 ตัน ใช้ชื่อเรียกว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสมรรถนะสูงหรือ Advance Offshore Patrol Vessel หรือ AOPV อาจเป็นโครงการนี้หรือเปล่าที่อู่กรุงเทพเสนอแบบเรือเข้าห้ำหั่น?
ผู้เขียนขออนุญาตเฉลยตอนจบ ปัจจุบันศรีลังกาประจำการเรือ AOPV ถึง 4 ลำแล้ว ประกอบไปด้วยเรือชั้น Saryu จำนวน 2 ลำ (P623 SLNS Sayurala กับ P624 SLNS Sindurala) ลำที่ 3 เป็นเรือตรวจการณ์มือสองชั้น Hamilton จากอเมริกา (P626 SLNS Gajabahu) ซึ่งน่าจะเสียค่าใช้จ่าย 10-15 ล้านเหรียญในการซ่อมแซม ส่วนลำสุดท้ายเป็นเรือฟริเกตมือสองชั้น Type 053H2G จากจีน (P 625 SLNS Parakramabahu) คิดว่าไม่เสียเงินสักบาทตามโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน
ราคารวม 4 ลำเท่ากับ 74+74+15+0= 163 ล้านเหรียญหรือ 5,287 ล้านบาทตามค่าเงินวันที่เขียนถึง ขณะที่เรือจากไทยแลนด์ลำละ 4,000 ล้านบาทหรือ 123.32 ล้านเหรียญ สามารถซื้อเรือชั้น Saryu แบบไม่ติดปืนกลได้ถึง 1.86893 ลำ
ส่วนตัวคิดว่าศรีลังกามีเรือ AOPV เพียงเท่านี้ก่อน เพราะการเข้าประจำการเรือใหญ่กว่า 2,300 ตันถึง 4 ลำ ต้องใช้ลูกเรือประมาณ 400 นาย ต้องใช้ผู้การเรือที่มีฝีมือพอสมควร ต้องมีท่าจอดเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ต้องมีระบบจ่ายไฟฟ้าให้เรือแต่ละประเทศ อเมริกา อินเดีย จีน บางทีเรืออาจใช้ไฟไม่เท่ากันสักลำ ต้องมีอู่ซ่อมเรือสำหรับซ่อมบำรุงตามวงรอบ ต้องมีค่าใช้จ่ายมากมายไม่ว่าจะค่าน้ำมัน ค่าอาหารค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าโน่นค่านี่ค่าเบี้ยหัวแตกอีกนับไม่ถ้วน
แต่ทว่าแต่ทว่า เมื่อผู้เขียนลองคิดในแง่มุมที่อาจเป็นไปได้ ถ้ากองทัพเรือศรีลังกาไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ถ้าไม่กำหนดว่าต้องใหญ่กว่า 2,000 ตัน ถ้าไม่ต้องการโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ถ้าต้องการ Guide Missile Offshore Patrol Vessel หรือ GOPV ซึ่งเป็นรุ่นติดอาวุธนำวิถีสุดท้ายสมัย ใช้เป็นไม้เด็ดในการออก Blue Sea เลียนแบบบางประเทศ และถ้าบริษัทอู่กรุงเทพเสนอแบบเรือเหมือนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ (ราคาถูกกว่ากองทัพเรือไทยเพราะศรีลังกาสั่งซื้อถึง 3 ลำ) ถ้าเป็นตามนี้ทั้งหมดก็มีโอกาสที่จะเป็นจริงได้ แต่ต้องฝ่าด่านคู่แข่งขันน้อยใหญ่ไปให้ได้เสียก่อน
คู่แข่งรายแรกประกาศตัวมาตั้งแต่ปี 2017 รัสเซียเสนอแบบเรือ Gepard 5.1 Ocean Patrol Vessel ให้กับรัฐบาลศรีลังกา ราคาเรือต่อลำอยู่ที่ 135 ล้านเหรียญ ถ้ารวมอะไหล่ กระสุนปืน รวมทั้งบริการหลังการขายจะอยู่ที่ 158 ล้านเหรียญ อู่ต่อเรือรัสเซียยืนยันว่าเรือพร้อมประจำการใน 40 เดือน ทีเด็ดทีขาดอยู่ที่รัฐบาลรัสเซียจะปล่อยเงินกู้ให้ทั้งก้อน
โครงการนี้ได้เจรจากันจนถึงปลายปี 2017 สรุปว่าได้เป็นเรือรุ่นเดียวกับเวียดนาม แต่ติดจรวดโจมตีชายฝั่ง Kalibr-M มาด้วยเลย (เพื่อ???) มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ อาวุธส่วนที่เหลือจะคล้ายคลึงกัน ราคาเรือขึ้นมาอยู่ที่ 158.5 ล้านเหรียญ รวมโน่นนั่นนี่โน่นแน่เข้าไปเป็น 195 ล้านเหรียญ นี่คือข่าวภาษาอังกฤษจากประเทศศรีลังกา ผู้เขียนไม่ทราบจริงๆ ว่าตอนนี้รุ่งหรือร่วงไปแล้ว ที่ไม่ทราบยิ่งกว่าก็คือโครงการ 3 ลำ 12,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นขออนุญาตตัดจบเลยนะครับ
สมมุติว่าโครงการ AOPV กับ GOPV มีพื้นที่เต็มแล้ว ยังเหลือโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นธรรมดาให้ได้ลุ้น ปัจจุบันศรีลังกามีเรือ OPV ขนาดต่ำกว่า 2,000 ตันจำนวน 4 ลำ โดยสามในสี่ลำค่อนเก่าพอสมควร และหนึ่งในสามลำมีขนาดเล็กเท่าๆ เรือตรวจการณ์เคนยา ถ้าเขาอยากได้เรือมาทดแทนเข้าทางของเราพอดี เพราะแบบเรือ OPV ความยาว 90 เมตรจากอังกฤษระวางขับน้ำประมาณ 2,000 ตัน ติดปัญหาเล็กๆ แค่ราคาเรือเท่านั้นเอง เนื่องจากเรือ AOPV จากอินเดียราคา 74 ล้านเหรียญ ส่วนเรือ OPV พี่ไทยราคา 123.32 ล้านเหรียญ ปัญหาเล็กๆ แค่นี้เองหาทางแก้อย่างไรดีหนอ
เรือลำที่สามคุยกันนานพอสมควร บังเอิญมีความเกี่ยวกับประเทศไทยแบบอ้อมๆ ประเด็นสำคัญก็คืออินเดียเริ่มเดินหน้าอย่างจริงจัง นาทีนี้พวกเขาขายเรือขนาด 2,350 ตันได้แล้ว เป็นแบบเดียวกับกองทัพเรือทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ ส่วนลูกค้าที่ไม่เคยมั่นใจถึงอย่างไรก็คงไม่เปลี่ยน ต่างคนต่างอยู่กระเป๋าเงินใครกระเป๋าเงินมัน อินเดียพยายามบุกตลาดโลกมากกว่าเดิม ล่าสุดได้โครงการเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งเวียดนาม มูลค่ารวมโครงการอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเหรียญ
ทำไมเวียดนามซึ่งต่อเรือได้เองมานานแล้ว รวมทั้งมีอู่ต่อเรือ Damen ในประเทศถึงซื้อเรืออินเดีย คำตอบก็คือรัฐบาลอินเดียให้เงินกู้ 100 ล้านเหรียญ ใช้แผนเดียวกับรัฐบาลรัสเซียทำกับกองทัพเรือศรีลังกา ฝรั่งเศสเคยทำกับอียิปต์ตอนขายทั้งเรือรบและเครื่องบิน หรืออเมริกาเคยทำกับโปแลนด์ตอนขายเครื่องบิน F-16 เรื่องแบบนี้ว่ากันไม่ได้แอบบ่นในใจก็ยังไม่ได้ ไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยพอจะช่วยเหลืออู่ต่อเรือไทยได้ไหม ไม่น่าถามเลยเนอะในเมื่อรู้คำตอบอยู่แล้ว
เนื่องจากเนื้อหาค่อนข้างยาวพอสมควร มีเรืออีกหลายลำที่น่าสนใจยังไม่ได้พูดถึง เกรงว่าผู้อ่านจะพากันถอดใจไปเสียก่อน ฉะนั้นบทความนี้ต้องขออำลาแต่เพียงเท่านี้ เรือส่งออกที่โลกลืมตอนต่อไปที่จะตามติดมา ถ้ามีเวลาผู้เขียนอยากวาดภาพประกอบสวยๆ (ตั้งใจไว้แล้วจะพยายาม) เก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อชาตินะครับแล้วเจอกันใหม่ J

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสมรรถนะสูงลำใหม่ล่าสุดของศรีลังกาชื่อ P 625 SLNS Parakramabahu มีอำนาจการยิงสูงที่สุดในกองเรือ เพราะมีปืนใหญ่ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝด 1 แท่นยิง ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดควบคุมด้วยไฟฟ้าอีก 4 แท่นยิง รวมทั้งลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน ถ้ามีเงินซื้อจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A มาติดได้เลย (หลังปืนหลัก 8 นัด กลางเรืออีก 8 นัด อ่าห์!!!) รับใช้ชาติได้อีกอย่างๆ น้อย 15-20 ปี นี่คือของดีของเด็ดโดนใจจากหลังม่านไม้ไผ่
ผู้เขียนคิดว่าจีนแอบเหล่ศรีลังกาอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ยังหาทีเด็ดทีขาดในการเข้าตีไม่ได้ จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่ากลัวที่สุด เผลอหน่อยเดียวพ่อเหมาทั้งกองเรือทำมาแล้ว ผู้อ่านคนไหนไม่เชื่อเดินทางมาดูที่สัตหีบได้เน่อ
                                     -------------------------------
อ้างอิงจาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น