วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

CPFH (Cost Per Flight Hour)


ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน

เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ได้รับความที่นิยมอย่างแพร่หลาย นอกจากเป็นพาหนะในการเดินทางหรือขนส่งแล้ว ยังใช้เป็นอาวุธสำหรับป้องกันตนเองได้อีกด้วย เกือบทุกประเทศล้วนมีกองทัพอากาศ เกือบทุกประเทศล้วนมีเครื่องบินกับเฮลิคอปเตอร์ มากน้อยว่ากันไปตามงบประมาณกับความสำคัญ โดยไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันเสมอไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ สัก 2 ประเทศ เริ่มจากลาวซึ่งปลดประจำการเครื่องบินขับไล่ Mig-21 มานานพอสมควร ปัจจุบันลาวยังไม่ค่อยมีงบประมาณ แต่พวกเขาเพิ่งจัดหาเครื่องบินฝึกโจมตี Yak-130 มาสดๆ ร้อนๆ รวมทั้งมีแผนจัดหาเครื่องบินขับไล่ในอนาคต ทั้งนี้เนื่องมาจากมีข้อขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนนิวซีแลนด์ซึ่งปลดประจำการเครื่องบินโจมตี A-4K Skyhawk นานแล้วเช่นกัน ปัจจุบันนิวซีแลนด์มีงบประมาณเพียงพอ ทว่าพวกเขาไม่มีเครื่องบินรบแม้แต่ลำเดียว แต่มีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ SH-2G Super Seasprite จำนวน 8 ลำ ทั้งนี้เนื่องมาจากกองทัพเรือไม่มีหน่วยอากาศยาน สิงคโปร์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่คล้ายๆ กัน

การจัดหาเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์เข้าประจำการ แต่ละคนหรือแต่ละประเทศมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน โดยมีสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญมาก ส่งผลกระทบกับเงินในกระเป๋าอย่างชัดเจน สิ่งนั้นก็คือค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน หรือ Cost Per Flight Hour อาจไม่แตกต่างหลักล้านเหรียญเหมือนราคาเครื่อง แต่ในระยะยาวจะเริ่มแตกต่างจนอาจเทียบเท่า ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินสำคัญมากแค่ไหน สำคัญเสียจนผู้เขียนได้ยินหรือได้อ่านอยู่บ่อยครั้งว่า

เครื่องบิน F-35A ราคาถูกลงแล้วก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินสูงกองทัพอากาศคงไม่ไหวหรอก!”

เราควรซื้อเครื่องบิน F-15E มาสัก 8 ลำนะ กองทัพอากาศสู้ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินได้แน่นอน!”

ตกลงแล้วค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินคืออะไร? กองทัพอากาศสู้ได้หรือสู้ไม่ได้กันแน่? บทความนี้จะเป็นกุญแจช่วยไขปริศนาข้อแรก เพียงแต่ผู้อ่านต้องมีกุญแจส่วนตัวดอกที่สอง เพื่อไขปริศนาข้อสองกันด้วยตัวเองนะครับ



เครื่องบินขับไล่ JAS 39 Gripen ครองแชมป์ความประหยัดมานานหลายปี นาทีนี้ยังเป็นจ่าฝูงเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ ถามใจ JF-17 Thunder ของปากีสถานกับ Tejas ของอินเดียดูเสียก่อน

อารัมภบทมานานพอสมควรแล้ว เข้าสู่เนื้อหาของบทความอย่างเป็นจริงเป็นจัง ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน หรือ Cost Per Flight Hour ถูกพูดถึงในวงกว้างทั่วโลก นักบินรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องมักได้ยินจนคุ้นหู วิธีคำนวณของแต่ล่ะรายล้วนแตกต่างกัน ไม่มีใครผิดไม่มีใครผิดถูกหรอกครับ อยู่ที่ว่าคุณใส่รายละเอียดมากน้อยแค่ไหน เรามาดูตัวอย่างกันก่อนดีกว่า



ในสี่เหลี่ยมสีเขียวที่อยู่ด้านบน เป็นวิธีคำนวณค่าใช้จ่ายเครื่องบินพลเรือน ซึ่งมีสูตรคำนวณง่ายๆ อยู่ว่า

ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง + ค่าซ่อมบำรุงแอร์เฟรมกับใบพัด + ค่าซ่อมคืนสภาพเครื่องยนต์ = ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน

เป็นสูตรง่ายๆ สำหรับบุคคลผู้มีเครื่องบินส่วนตัว ใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณค่าโดยสาร ค่าขนส่ง การซื้อเครื่องบินเพิ่ม การขายเครื่องบินเก่า การขายต่อกิจการ รวมทั้งตัดสินใจว่าจะเปิดบริษัทต่อหรือหนีเจ้าหนี้ดี บางรายนับค่าเช่าที่เก็บเครื่องบินกับภาษีต่างๆ ด้วย ส่วนภาษีของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน ตัวเลขที่ได้จากการคำนวณจึงแตกต่างกัน

ตัวอย่างที่สองอยู่ในสี่เหลี่ยมสีแดงด้านล่าง จากรายงานของนิตยสารทางทหารฉบับหนึ่ง ในรายงานระบุค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินของ Gripen ในปี 2012 เท่ากับ 4,700 เหรียญต่อชั่วโมง เทียบกับเครื่องบิน F-16 Block 40/50 ซึ่งอ้างอิงจากรายงาน Study กองทัพอากาศอเมริกาในปี 2005 ว่าเท่ากับ 7,000 เหรียญต่อชั่วโมง โดยมีวิธีการคิดคำนวณตามสูตรนี้

ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้จริง + ค่าเตรียมความพร้อมและซ่อมแซมก่อนบิน +   ค่าซ่อมบำรุงตามตารางกับค่าใช้จ่ายเจ้าหน้าที่ = ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน

อ่านแล้วผู้เขียนนึกสงสัยเรื่องตัวเลข บังเอิญข้อมูลฝั่งอเมริกานั้นพอตรวจสอบได้ (ส่วนของสวีเดนไม่รู้จะไปหาที่ไหน) จึงตามเข้าไปส่องจนพบข้อมูลที่น่าสนใจ อเมริกาเริ่มจัดเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินตั้งแต่ปี 2006 (เฉพาะส่วนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะชน) ในปีนั้นเอง F-16A มีค่าใช้จ่าย 8,495 เหรียญต่อชั่วโมง สูงกว่าในรายงานถึง 21.3 เปอร์เซ็นต์

ทำไม F-16 มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ถูกกล่าวอ้าง? เนื่องมาจากรัฐบาลอเมริกามีวิธีคิดคำนวณแตกต่างจากนิตยสาร ตัวแปรที่พวกเขานำมาใช้ในการหาข้อมูลนั้น ประกอบไปด้วยตามภาพนี้เลยครับ



คุณพระคุณเจ้า! อะไรมันจะเยอะแยะกันปานนี้ ผู้เขียนขอไม่ลงรายละเอียดแต่อย่างใด ไม่อย่างนั้นบทความคงยาวเกิน 20 หน้ากระดาษ ตัวเลขยุบยับเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องบัญชีด้วย ช่วงท้ายบทความจะย้อนมาที่เรื่องนี้อีกครั้ง ทว่าตอนนี้อยากพูดถึงอีกสักประเด็น สิ่งนั้นก็คือค่าใช้จ่ายต่อเครื่องบิน (หนึ่งลำ) ซึ่งมีความผกผันกับค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน

ยกตัวอย่างตามแผนภูมิด้านล่าง เครื่องบิน 2 ลำถูกใช้งานเป็นเวลา 6 เดือนเท่ากัน โดยลำแรกบินไปทั้งสิ้น 326 ชั่วโมงบิน ส่วนลำที่สองบินแค่เพียง 250 ชั่วโมงบิน ความแตกต่างของทั้งสองลำจึงมีดังนี้



เครื่องบินลำแรกซึ่งมีชั่วโมงบินมากกว่า มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินน้อยกว่าลำสอง 11 เปอร์เซ็นต์ แต่มีค่าใช้จ่ายต่อเครื่องบินมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องซ่อมบำรุงตามวงรอบมากกว่ากัน ฉะนั้นเครื่องบินลำแรกอาจมีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินน้อยกว่า 1 หมื่นเหรียญ และอาจมีค่าใช้จ่ายต่อเครื่องบินสูงกว่า 5 หมื่นเหรียญ เรื่องพวกนี้ต้องนำมาคำนวณอย่างรอบคอบ เพราะบางประเทศนั้นฝึกบินกันแทบทุกวัน ส่วนบางประเทศก็ฝึกบินกันแทบทุกเดือน

มัวแต่โม้เพลินเดี๋ยวผู้อ่านจะเบื่อ ตัดเข้าสู่ช่วงข้อมูลสำคัญต่อกันไปเลย ทุกปีกระทรวงกลาโหมอเมริกาจะมีรายงานฉบับหนึ่ง เนื้อหากล่าวถึงค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน ของอากาศยานทุกรุ่นที่ยังประจำการอยู่ ในบทความนี้เป็นรายงานประจำปีงบประมาณ 2019 ซึ่งจัดเก็บข้อมูลจากปีงบประมาณ 2018 (ตุลาคม 2017 ถึงกันยายน 2018) ก่อนถูกเผยแพร่ในวันที่ 12 ตุลาคม 2018 หยิบแว่นสายตายาวแล้วมาเพ่งอ่านกันได้เลย





สองภาพนี้คือค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินของเครื่องบินทุกเหล่าทัพ เครื่องบิน E-4B Advance Airborne Command Post (AACP) ซึ่งปรับปรุงมาจากเครื่องบิน Boeing 747-200 ครองแชมป์ค่าใช้จ่ายสูงอันดับหนึ่ง เพราะทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการจากบนฟากฟ้า จึงต้องแบกอุปกรณ์มากมายให้มาตามซ่อมบำรุง รองลงมาก็คือเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน B-2A เรดาร์อาจตรวจจับเครื่องบินไม่พบก็จริง แต่ถ้าบินเพลินไปหน่อยเจ้าของเครื่องอาจกระเป๋าฉีก ผู้เขียนหาเครื่องบิน VC-25A Air Force One ซึ่งเป็นเครื่องบินประจำตัวประธานาธิบดีไม่เจอ ไปหลบอยู่ตรงไหนกันล่ะหนอ?



ส่วนภาพนี้คือค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินของเฮลิคอปเตอร์ทุกเหล่าทัพ อันดับหนึ่งคือ VH-3D Marine One เฮลิคอปเตอร์ประจำตัวประธานาธิบดีของนาวิกโยธิน (ปรากฏตัวในภาพยนตร์เยอะมาก) Sea King รุ่นนี้มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน ในอนาคตจะถูกทดแทนด้วย Lockheed Matin VH-71 หรือ AgustaWestland AW101 นั่นเอง แต่เนื่องมาจากความล่าช้าและอะไรหลายอย่าง ทำให้โครงการจัดหาต้องถูกยกเลิก ในการคัดเลือกรอบสองเฮลิคอปเตอร์ Sikosky VH-92 หรือ Sikosky S-92 ที่ประเทศไทยมีอยู่ 3 ลำเข้ามาเสียบแทนที่ ถ้าโครงการไม่ถูกยกเลิกไปอีกรอบนะครับ

ดูภาพรวมคร่าวๆ จนปวดสายตาแล้ว ผู้เขียนจะขอเจาะลึกเครื่องบินบางลำ เฉพาะลำที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยทั้งทางตรง ทางอ้อม ทางจากข่าวลือ ข่าวเต้า รวมทั้งข่าวมโน โดยใช้ตัวเลขจากช่องซ้ายสุดติดชื่อเครื่องบิน (DoD) ซึ่งเป็นข้อมูลเครื่องบินรัฐบาลอเมริกา ที่ไม่ได้บวกค่าใช้จ่ายเจ้าหน้าที่พื้นดิน และค่าจัดเก็บเครื่องบินในกรณีเครื่องบินต่างชาติเพิ่ม

เข้าใจตรงกันแล้วก็ลุยกันเลย ลำแรกสุดเป็นเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้น AV-8B Harrier II ของนาวิกโยธินอเมริกา มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 13,152 เหรียญหรือ 414,033 บาท (ค่าเงินวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2019 อยู่ที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 31.4807 บาท) เพราะใช้เทคโนโลยีแตกต่างจากชาวบ้าน การบินขึ้นลงทางดิ่งผลาญน้ำมันค่อนข้างมาก รวมทั้งอะไหล่ต่างๆ ถูกผลิตอย่างจำกัดจำเขี่ย จึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับขนาดเครื่อง



กองทัพเรือไทยเคยมีเครื่องบินตระกูลนี้ เป็นรุ่น AV-8S Matador หรือ AV-8A Harrier จำนวน 9 ลำ (ซื้อต่อมาจากสเปน) ใช้งานบนเรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันปลดประจำการทุกลำแล้ว มีข่าวเรื่องจัดหา AV-8B Harrier II มือสองจากอเมริกากันทุกปี เพียงแต่เป็นข่าวลือที่ไม่เคยเป็นข่าวจริง เพราะทางอเมริกาไม่คิดจะขายให้กับเรา

ส่วนประเทศที่อยากขายก็คืออังกฤษ ปลายปี 2010 พวกเขาจะปลดประจำการ Harrier ฝูงสุดท้าย จึงได้เสนอขายยกฝูงทั้งเครื่องบินและอะไหล่ บังเอิญกองทัพเรือมีโครงการปรับปรุงเรือหลายลำ และหยอดกระปุกไว้ซื้อเรือดำน้ำมือสองเยอรมัน สุดท้ายอเมริกาเข้ามาซื้อไปครอบครอง เพื่อเป็นอะไหล่สำหรับเครื่องบินตนเองต่อไป

ลำต่อไปก็คือ F-16 Fighting Falcon ซึ่งมีเรื่องน่าหวาดเสียวให้ได้ขบคิดว่า เครื่องบิน F-16C กองทัพอากาศอเมริกามีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 8,374 เหรียญหรือ 263,619 บาท แต่ F-16A Block 15 ของกองทัพเรือมีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 14,171 เหรียญหรือ 446,113 บาท แตกต่างกันเสียจนแอบใจใจคว่ำ ที่ F-16A รุ่นเดียวกันบล็อกเดียวกับของเราดันแพงหูฉี่ ผู้เขียนรีบย้อนกลับไปดูในปี 2018 ปรากฏว่า F-16A Block 15 ของกองทัพเรือมีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 8,067 เหรียญหรือ 253,954 บาท ต่ำกว่า F-16C กองทัพอากาศอเมริกาเล็กน้อย

ตัวเลขที่แตกต่างกันหมายความว่าอย่างไร? หมายความว่ามีปัญหาขนาดใหญ่เกิดขึ้น โดยเพิ่งจะเกิดในปี 2018 ที่ผ่านมา แล้วปัญหาขนาดใหญ่ที่ว่าคืออะไร? ตอบกันตรงๆ ว่าไม่ทราบจริงๆ ครับ มีตัวแปรยิบย่อยอยู่ด้วยกันถึง 23 ตัวแปร ถ้าตัวใดตัวหนึ่งหรือหลายตัวเกิดมีปัญหา จะส่งผลกระทบมายังตัวเลขรวมแบบนี้เลย



ประเทศไทยมี F-16 จำนวนค่อนข้างมาก ประกอบไปด้วยเครื่องบินใหม่เอี่ยมจำนวน 2 ฝูง เครื่องบินมือสองจำนวน 1 ฝูง และสิงคโปร์มอบให้เป็นค่าเช่าสถานที่อีก 7 ลำ ฝูงบิน 403 ตาคลีมี F-16 MLU ที่ดีที่สุดทันสมัยที่สุด เนื่องจากเพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ 18 ลำในวงเงิน 700 ล้านเหรียญ เครื่องบินฝูงนี้เราซื้อมาในปี 1992 จำนวน 18 ลำราคารวม 400 ล้านเหรียญ หรือลำล่ะ 22.22 ล้านเหรียญ โดยสามารถซื้อเพิ่มอีก 18 ลำได้ในอนาคต แต่เราไม่ได้สั่งเพิ่มเพราะกำลังสนใจลำอื่นอยู่

เครื่องบินลำต่อไปอันที่จริงเรานั้นไม่มี แต่เราเคยเกือบมีทว่าสุดท้ายแล้วก็ยังไม่มี เครื่องบินที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายลำนี้ก็คือ F/A-18C/D Hornet ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 18,989 เหรียญหรือ 597,787 บาท ส่วน F/A-18E/F Super Hornet ที่ทั้งใหม่กว่า ใหญ่กว่า และทันสมัยกว่า มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 11,828 เหรียญหรือ 372,354 บาท Super Hornet ขนาดใหญ่กว่าแต่ดันประหยัดกว่า สาเหตุเป็นเพราะอะไรท้ายบทความจะมีเฉลย



ความเกี่ยวข้องเครื่องบินลำนี้กับเรานั้น ฟังความจากฝั่งอเมริกากันก่อน ในปี 1996 ประเทศไทยสั่งซื้อเครื่องบิน F/A-18C/D Hornet จำนวน 8 ลำ พร้อมจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon อีก 5 นัด มีอะไหล่ การสนับสนุน กับการฝึกอบรมด้วย มูลค่ารวมอยู่ที่ 578 ล้านเหรียญ โดยมีข้อเสนอพ่วงก็คือต้องขายจรวดต่อสู้อากาศยาน AMRAAM ด้วย ตอนนั้นสภาคองเกรสยังไม่อยากขาย เพราะจรวดรุ่นนี้มีความทันสมัยสูงมาก รัฐบาลไทย บริษัทผู้ผลิต รวมทั้งเพนตากอนจึงช่วยกันกดดัน โดยยกตัวอย่างการขายจรวดของชาติในยุโรปขึ้นมาอ้างอิง สุดท้ายเครื่องบินขายออกและเราได้จรวดตามต้องการ

ความโชคดีมาพร้อมกับความโชคร้าย ปี 1997 ได้เกิดวิกฤตการเงินขนาดใหญ่ทั่วทั้งเอเชีย หรือที่เรียกกันติดปากว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นเราจ่ายค่าเครื่องบินบางส่วนไปแล้ว แต่ไม่มีเงินมาจ่ายส่วนที่เหลือตามสัญญา รัฐบาลไทยจึงทำเรื่องขอยุติโครงการ โดยให้อเมริกาซื้อเครื่องบินที่ผลิตแล้วไปใช้งานเอง ตามปรกติเขาจะยึดเงินก้อนแรกและปรับเงินเราเพิ่ม ทว่าผลการเจรจาก็คือทางเราไม่เสียค่าปรับ แต่เงินยังไม่ได้คืนและไม่มีแนวโน้มว่าจะได้คืน

รับเผือกร้อนมาแล้วเพนตากอนต้องทำงานต่อ เป้าหมายแรกพวกเขาเสนอขาย F/A-18C/D Hornet ให้กับชิลี แล้วต่อกันด้วยคูเวต ก่อนมาจับยัดลงที่นาวิกโยธินอเมริกา ขายได้แล้วจึงยกเลิกสัญญาในวันที่ 5 เมษายน 1999 เหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอเมริกา ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในโครงการจัดซื้อทางทหาร (Foreign Military Sale หรือ FMS) คนอเมริกาส่วนใหญ่ไม่พอใจรัฐบาล ที่อยู่ดีๆ เอางบประมาณจากภาษีในส่วนอื่น มาซื้อเครื่องบินรบที่ใกล้ตกรุ่นให้กับนาวิกโยธิน ในปีนั้น F/A-18E/F Super Hornet เข้าประจำการกับกองทัพเรือแล้วด้วย สาเหตุนี้เอง F/A-18C/D จึงขายได้ค่อนข้างยาก ไม่มีใครเอาจนต้องมาลงที่นาวิกโยธิน ซึ่งถ้าสลับมาเป็น F-16C/D น่าจะมีแต่คนแย่งกันจับจอง

จากนั้นในปี 2000 รัฐบาลไทยเจรจาขอซื้อเครื่องบิน F-16 ADF มือสองจำนวน 1 ฝูง โดยใช้เงินก้อนแรกที่จ่ายไปแล้วนั่นแหละครับ เราจึงได้ครอบครองเครื่องบินที่ยิงจรวด AMRAAM ได้ แต่จรวดยังไม่มีต้องเจรจาขอซื้อกันอีกครั้ง (โอยเหนื่อย) และในปีเดียวกันนั้นเอง เครื่องบิน F/A-18C/D Hornet ได้ปิดสายการผลิตไปตลอดกาล

วันที่ 27 กันยายน 2001 อเมริกาขายจรวด AMRAAM จำนวน 8 นัดให้ไทยในวงเงิน 7 ล้านเหรียญ โดยอ้างเหตุผลว่าพม่าได้รับเครื่องบิน Mig-29 จากรัสเซียจำนวน 10 ลำ จรวดทั้งหมดจะถูกจัดเก็บอยู่ในอเมริกา และพร้อมส่งมอบให้กับประเทศไทยภายใน 48 ชั่วโมง เราเป็นชาติที่ 25 ที่ได้ใช้งานจรวดสมรรถนะสูง ตามหลังสิงคโปร์กับไต้หวันซึ่งสั่งซื้อไปก่อนแล้ว โดยน่าจะมีออปชั่นที่ไม่อยากเลือกเหมือนเรานี่แหละ กว่าจะเขียนจบเล่นเอาปวดข้อมืออะไรมันจะวุ่นวายขนาดนี้

ทีนี้มาฟังความฝั่งจากฝั่งเราบ้าง ในการจัดซื้อเครื่องบิน F/A-18C/D Hornet จำนวน 8 ลำ เราได้ขู่ว่าถ้าไม่ขายจรวด AMRAAM มาให้พร้อมกัน เราจะไปซื้อเครื่องบิน Mirage 2000 กับจรวดรุ่นใหม่ของฝรั่งเศสมาใช้งานแทน อเมริกาก็เลยยอมขายทั้งเครื่องบินและจรวด ส่วนเรื่องจัดซื้อจรวด AMRAAM ซึ่งว่ากันว่าอยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมาเองนั้น เป็นเพราะเราได้แอบจัดซื้อจรวดครั้งล่ะไม่กี่นัด ให้มีมูลค่าน้อยๆ จนไม่ต้องเสนอเข้าสู่สภาคองเกรส

ผู้เขียนได้ยินได้ฟังแล้วก็ว่าเข้าที บังเอิญต่อมมโนทำงานขึ้นมาแบบปุบปับว่า ถ้าอเมริกาในตอนนั้นไม่ยอมขายจรวดให้ และไทยแลนด์ในตอนนั้นซื้อเครื่องบิน Mirage 2000 กับจรวด Mica และ Exocet จริงตามคำขู่ ต่อมาไม่นานวิกฤตต้มยำกุ้งก็พลันมาเยือน เมื่อย้ายผู้เล่นจากฝั่งอเมริกามาเป็นฝรั่งเศส แล้วหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น???

                .ไก่ รัฐบาลฝรั่งเศสยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ซื้อเครื่องบิน Mirage 2000 ที่ผลิตแล้วไปใช้งานเอง พร้อมกับขายเครื่องบิน Mirage F-1 มือสองให้กับไทยแลนด์จำนวน 1 ฝูง

                .ไข่ รัฐบาลฝรั่งเศสช่วยยกเลิกสัญญาซื้อขาย แต่ไม่คืนเงินและไม่มีเครื่องบินมือสอง

.ควาย นอกจากจะไม่ได้อะไรติดมือแล้ว ไทยแลนด์ยังต้องจ่ายค่าปรับเต็มวงเงินตามสัญญา

ผู้เขียนนอนตีลังกาคิดมาตั้งหลายคืน ทว่ายังไม่ได้คำตอบที่ตรงกับใจสักที จึงตัดสินใจเลือก ง.งู ถูกทุกข้อก็แล้วกัน

ลำถัดไปคือเครื่องบินโจมตีสนับสนุนภาคพื้นดิน A-10 thunderbolt ติดปืนกล 30 มม. 7 ลำกล้องรวบไว้ที่ปลายจมูก และบรรทุกระเบิดได้อีก 7,200 กิโลกรัม เป็นเครื่องบินในฝันของใครหลายคน รวมทั้งเรืออากาศโทเกร็ก เกทส์ แห่งแอเรีย 88 รูปร่างอาจจะดูเทอะทะไปบ้าง มีน้ำหนักมากกว่า F/A-18C/D Hornet เล็กน้อย แต่มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 6,118 เหรียญหรือ 192,599 บาท ต่ำที่สุดในบรรดาเครื่องบินรบที่ยังคงประจำการ ผลงานในการรบจริงค่อนข้างดีจนถึงดีมาก



กองทัพอากาศไทยเคยทดสอบเครื่องบิน A-10 ในปี 1983 ก่อนได้ข้อสรุปว่าสนใจอยากจัดหามาใช้งาน เพราะมีราคาและค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงเท่าไหร่ รับมือกองทัพรถถังเวียดนามในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี ถามไปทางอเมริกาทางนั้นไม่ตอบกลับเสียที ครั้นพอมีคู่แข่งเข้ามาเสนอเครื่องบินมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินฝึกโจมตี Hawk เครื่องบินฝึกโจมตี MB339 เครื่องบินโจมตี AMX เครื่องบินขับไล่โจมตี Tornado รวมทั้งเครื่องบินขับไล่ F-7M จากจีนซึ่งว่ากันว่าราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ

เห็นราคาคู่แข่งขันรายสุดท้ายแล้วเริ่มหนักใจ ปี 1988 อเมริกาตอบกลับมาว่ายินดีขาย A-10 ให้ไทย แต่ถึงตอนนั้นสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะสงครามร่มเกล้าที่ระอุขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราอยากได้เครื่องบิน F-16 ฝูงที่สองมากกว่า เนื่องจากสามารถทำภารกิจได้หลากหลายกว่า สรุปความได้ว่างานนี้แยกย้ายบ้านใครบ้านมัน

ขอบคุณภาพถ่ายและข้อมูลจากท่านท้าวทองไหล ผมแอบส่องมาจากเว็บบอร์ด Thaifighter นี่แหละครับ

บทความค่อนข้างยาวอย่าเพิ่งเบื่อกันล่ะ เครื่องบินลำต่อไปก็คือพญาอินทรีย์ผู้เกรียงไกร ซึ่งมาด้วยกัน 2 รุ่นตามอายุและเทคโนโลยี เริ่มกันจาก F-15C Eagle เครื่องบินขับไล่ครองอากาศที่มีชื่อเสียง ซึ่งบินกลับจากสมรภูมิในฐานะผู้พิชิตแทบทุกครั้ง ออกแบบให้ทำสงครามกลางอากาศอย่างเดียว จึงติดแต่เพียงปืนกล 20 มม.กับจรวดต่อสู้อากาศยานทั้งระยะใกล้และไกล F-15C Eagle มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 21,290 เหรียญหรือ 674,224 บาท แอบกลืนน้ำลายกันเล็กน้อย

ลำต่อไปก็คือ F-15E Strike Eagle ซึ่งสามารถทำภารกิจได้หลากหลายกว่า ทั้งขับไล่ครองอากาศเหมือนกับรุ่นเดิม และโจมตีทางลึกด้วยระเบิดทันสมัยจำนวนมาก จึงสามารถฉายเดี่ยวได้โดยไม่ต้องมีรุ่นอื่นคุ้มกัน F-15E มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 17,071 เหรียญหรือ 537,407 บาท ถูกกว่ารถเก๋งผู้เขียนประมาณหนึ่งหมื่นบาท



ความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้นมีอยู่ว่า ปลายปี 2018 มีข่าวชิ้นหนึ่งสร้างความฮือฮาทั่วยุทธจักร เมื่อญี่ปุ่นต้องการขายเครื่องบิน F-15J ของตนเองกลับคืนอเมริกา เพื่อระดมเงินมาสมทบซื้อเครื่องบิน F-35 เพิ่มเติม ในข่าวแจ้งว่าอเมริกาจะเอาไปปล่อยต่อ ให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่ง นั่นหมายความว่ารวมประเทศไทยเข้าไปด้วย

F-15J ของญี่ปุ่นค่อนข้างใกล้เคียงกับ F-15C ของอเมริกา ฉะนั้นจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 674,224 บาทต่อชั่วโมง ถ้าอเมริกาเกิดอยากขายให้กับเราจริง โดยไม่รอให้จีนเสนอ FTC-2000 Mountain Eagle ตัดหน้าแบบคราวก่อน ต้องถามท่านกบแล้วละครับว่าจะเอาดีไม่เอาดี ทางนั้นก็พญาอินทรีย์ทางนี้ก็อินทรีย์ภูเขา เลือกกันไม่ถูกเลยจริงๆ นะเออ

ลำถัดไปเป็นเครื่องบินใหม่เอี่ยมอ่อง แฝดสามผู้มีชื่อเสียงทั้งในทางที่ดีและไม่ดี (ตอนนี้น่าจะดีเอามากๆ แล้ว เมื่ออิสราเอลเก็บแต้มสำคัญได้) โดยเป็นเครื่องบินจากโลกอนาคตที่แท้จริง เริ่มต้นจากเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ F-35A มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 17,701 เหรียญหรือ 557,240 บาท (แพงกว่ารถเก๋งผู้เขียน 8,240 บาท) ต่อกันที่เครื่องบินขับไล่ขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้น F-35B มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 23,891 เหรียญหรือ 752,105 บาท ก่อนปิดท้ายด้วยเครื่องบินขับไล่ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน F-35C มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 22,978 เหรียญหรือ 723,363 บาท



 กองทัพอากาศไทยสนใจ F-35A หรือเปล่า? กองทัพเรือล่ะอยากได้ F-35B หรือไม่? ตัวเลขที่แสดงให้เห็นเป็นเพียงข้อมูลคร่าวๆ ของจริงอาจมากกว่าหรือน้อยกว่าตามการใช้งาน รวมทั้งมีโอกาสสวิงขึ้นสูงเมื่อเจอปัญหา (เคยเกิดปัญหาใหญ่โตและแก้ไขสำเร็จมาแล้ว) แต่นี่ก็เป็นตัวเลขที่ชัดเจนมากที่สุด โดยเฉพาะ F-35A ซึ่งมีการจัดเก็บมาหลายปี

เครื่องบินลำสุดท้ายก็คือ C-130 ถูกใช้งานด้านลำเลียงและขนส่งมาอย่างยาวนาน โดยเครื่องต้นแบบเริ่มทดลองบินในปี 1954 โน่น อเมริกามีประจำการอยู่จำนวน 2 รุ่น C-130H ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 9,120 เหรียญหรือ 287,104 บาท กับ C-130J ซึ่งใหม่กว่าและยังมีเครื่องบินขาย ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 6,135 เหรียญหรือ 193,134 บาท กลายเป็นลำใหม่ถูกลงกว่าลำเก่า 93,970 บาทต่อชั่วโมง ไม่ว่าจะเพราะเหตุใดตัวเลขนี้น่าสนใจเหลือเกิน



กองทัพอากาศไทยมีเครื่องบิน C-130 จำนวน 12 ลำ แบ่งเป็นรุ่นลำตัวสั้น C-130H จำนวน 6 ลำ และรุ่นลำตัวยาว C-130H-30 อีก 6 ลำ ถ้ามีการจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาทดแทนและหรือเพิ่มเติม C-130J ลำนี้เองน่าสนใจมากที่สุดของแจ้ ไม่ต้องมองเครื่องบินลำเลียงจีนหรือรัสเซียกันหรอก ค่าเครื่องอาจแพงกว่ากันอยู่บ้าง อเมริกาอาจเล่นตัวอยู่บ้าง ต้องใช้เวลารอคอยอยู่บ้าง แต่ของเขาดีจริงและมีคุณภาพสูงสุด ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานถูกกว่าอย่างแน่นอน

ลำต่อไปเป็นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงทางยุทธวิธี UH-60 Blackhawk ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีจากภาพยนตร์ชื่อดัง กองทัพบกอเมริกามีประจำการ 3 รุ่น เริ่มจาก UH-60A Blackhawk ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 4,587 เหรียญหรือ 144,402 บาท ต่อด้วย UH-60L Blackhawk ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 4,188 เหรียญหรือ 131,841 บาท รวมทั้ง UH-60M Blackhawk ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 4,124 เหรียญหรือ 129,826 บาท ยิ่งเป็นรุ่นใหม่ยิ่งประหยัดมากกว่าเดิม



กองทัพบกไทยมีประจำการ 2 รุ่น ประกอบไปด้วย UH-60L Blackhawk จำนวน 7 ลำ เฮลิคอปเตอร์ชุดแรกเข้าประจำการในปี 2545 ราคาต่อลำอยู่ที่ 666.498 ล้านบาท เรายังมี UH-60M Blackhawk อีก 7 ลำ ทยอยซื้อช่วงปี 2014-2016 จนครบจำนวน นอกจากนี้เรายังเอาซากเฮลิคอปเตอร์ CH-47 Chinook จำนวน 6 ลำ ไปแลกกับ UH-60A Blackhawk มือสองที่ผ่านการซ่อมใหญ่จำนวน 3 ลำ พร้อมติดตั้งถังดับเพลิงแบบพับได้ชิดแบมบี้ ขนาด 1,500 ลิตร โดยต้องจ่ายเงินเพิ่ม 491.13 ล้านบาท เป็นอันว่าไทยแลนด์มีครบ 3 รุ่นไม่น้อยหน้าอเมริกา

ลำต่อไปย้ายมาฝั่งกองทัพเรือบ้าง ลำนี้เป็นญาติสนิทกับเหยี่ยวดำผู้โด่งดัง แต่ถูกแปลงร่างเป็นเหยี่ยวทะเลกับเหยี่ยวกลางคืน นั่นก็คือ MH-60R Blackhawk เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำ มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 4,378 เหรียญหรือ 137,822 บาท และ MH-60S Knighthawk เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ใช้งานทางทะเล มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 4,900 เหรียญหรือ 154,255 บาท แพงกว่ารุ่นใช้งานบนฝั่งของกองทัพบกแต่ไม่มาก



กองทัพเรือไทยประจำการ S-70B-7 Blackhawk ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของ MH-60R แต่เป็นรุ่นที่เก่ากว่ากันพอสมควร สั่งซื้อในปี 1993 วงเงิน 3,528,000 ล้านบาท หรือลำล่ะ 588 ล้านบาท ติดตั้งระบบโซนาร์แบบชักหย่อนจำนวน 3 ลำ (จัดหาในภายหลัง) ส่วนอีก 3 ทำหน้าที่มือหย่อนตอร์ปิโด เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำของเรามีอยู่เท่านี้แหละครับ

นอกจากนี้ยังมี MH-60S Knighthawk อีก 2 ลำ อเมริกาอนุมัติขายให้เราเป็นชาติแรกจำนวน 6 ลำวงเงิน 246 ล้านเหรียญ (แต่เราเพิ่งซื้อแค่ 2 ลำ) เพื่อใช้ในภารกิจค้นหากู้ภัยทางอากาศ สั่งซื้อในปี 2007 และเข้าประจำการปี 2011 วงเงิน 58 ล้านเหรียญแต่ไม่ทราบว่ากี่บาท (ไม่รู้ค่าเงินในตอนนั้น) เฮลิคอปเตอร์ทุกลำประจำการบนเรือหลวงจักรีนฤเบศร หมายถึงเวลาออกทำภารกิจนะครับ ส่วนเวลาปรกติอยู่ในโรงเก็บบนฝั่งทั้งหมด รวมทั้งใช้ทำภารกิจอื่นด้วยให้คุ้มกับค่าตัว

ลำต่อไปเป็นเฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุด UH-72 Lakota ขนาดค่อนข้างเล็กบรรทุกทหารไม่เกิน 9 นาย แต่สามารถเปิดท้ายเพื่อขนสัมภาระหรือเปลสนามได้ อเมริกามีใช้งานทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และโรงเรียนฝึกหัดนักบิน มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 2,759 เหรียญหรือแค่ 86,855 บาท เป็นเฮลิคอปเตอร์บริษัท Eurocopter จากยุโรป (ปัจจุบันก็คือบริษัท Airbus Helicopters) นี่สามารถเจาะตลาดกองทัพอเมริกาได้สำเร็จ มียอดผลิตรวมทุกรุ่นอยู่ประมาณ 400 ลำ



กองทัพบกไทยสนใจ UH-72 Lakota ค่อนข้างมาก ปี 2013 จึงได้ซื้อจำนวน 6 ลำในวงเงิน 77 ล้านเหรียญ แต่เอาเข้าจริงไม่ถึงหรอกครับ เพราะรัฐบาลไทยอนุมัติซื้อวงเงิน 55 ล้านเหรียญหรือ 1,737 ล้านบาท ถัดมาอีกเพียง 1 ปีกองทัพบกขอซื้อเพิ่มอีก 9 ลำในวงเงิน 89 ล้านเหรียญ และมีแผนจะจัดหามาจนครบ 30 ลำ เพื่อมาทดแทนเฮลิคอปเตอร์เก่าใกล้หมดอายุ

ครั้นถึงกุมภาพันธ์ 2015 กองทัพบกยกเลิกคำสั่งซื้อ UH-72 Lakota จำนวน 9 ลำ ก่อนหันมาซื้อ EC145 T2 จำนวน 6 ลำเพื่อใช้งานภารกิจ VIP ระดับผู้บัญชาการ ปัจจุบัน Lakota สภาพพร้อมใช้งานเหลืออยู่เพียง 4 ลำ เมื่อ 3 ปีที่แล้วตกไป 1 ลำ กับลงจอดฉุกเฉินอีก 1 ลำในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2019 ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายละเอียดว่าเสียหายมากน้อยแค่ไหน

เฮลิคอปเตอร์ลำต่อไปทุกคนรู้จักกันดี เจ้าของฉายา ฮิวอี้ ผู้โด่งดังมาจากสงครามเวียดนาม กองทัพอากาศอเมริกายังประจำการอยู่นะครับ UH-1H มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 2,241 เหรียญหรือ 70,548 บาท และ UH-1N Twin Huey ซึ่งใหม่กว่าและใช้ 2 เครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 3,931 เหรียญหรือ 123,750 บาท



กองทัพบกไทยเคยมี UH-1H รวมกันประมาณ 122 ลำ ปัจจุบันน่าจะบินได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกองทัพอากาศก็มีอยู่ 17 ลำ สำหรับภารกิจค้นหากู้ภัยทางอากาศ แต่กำลังจะถูกทดแทนด้วย Eurocopter EC725 Caraca หรือมีชื่อใหม่ทั้งบริษัทและรุ่นว่า Airbus Helicopters H225M ฉะนั้นแล้วอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ฉายา ฮิวอี้ จะเหลือแค่เพียงตำนานเท่านั้น

มาถึงลำสุดท้ายกันแล้วนะครับ โดยลำนี้มีหน้าตาแตกต่างจากชาวบ้าน เพราะเป็นเฮลิคอปเตอร์โจมตีไล่ล่ารถถัง นาวิกโยธินอเมริกามีอยู่ 2 รุ่นด้วยกัน ประกอบไปด้วย AH-1W SuperCobra มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 7,659 เหรียญหรือ 241,111 บาท และรุ่นใหม่กว่า AH-1Z Viper มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 4,115 เหรียญหรือ 129,543 บาท ตัวเลขแตกต่างกันพอสมควร ย้อนกลับไปดูในปี 2018 ตัวเลขอยู่ที่ 8,996 เหรียญกับ 4,690 เหรียญ หนักกว่าเดิมเข้าไปอีก



อาจจะเป็นเพราะความชราภาพ เพราะ AH-1W ประจำการปี 1985 ส่วน AH-1Z ปี 2008 กลับมาที่กองทัพบกไทยอีกครั้ง เรามี AH-1F Cobra รุ่นโก๋แก่อยู่ 7 ลำ ซื้อในปี 1990 จำนวน 4 ลำ (ตกไป 1 ลำ) ในปี 2012 ซื้อมือสองมาอีก 4 ลำ คล้ายว่าเราอยากได้รุ่นใหม่มาทดแทน คล้ายว่าเรามีรุ่นที่ต้องการในใจแล้ว และคล้ายว่าจะเป็น AH-1Z Viper หรือเปล่านะ?

 ผู้อ่านอาจมีคำถามในใจว่า ตัวเลขที่มีการจัดเก็บทั้งหมดนั้น สามารถปลอมแปลงข้อมูลได้หรือไม่? ตกแต่งให้ดีเกินจริงได้หรือไม่? หรือปั้นน้ำเป็นตัวเสียเลยได้หรือไม่? คำตอบก็คือได้ครับ ปลอมในระดับฝูงบินก็ได้ ปลอมในระดับกองบินก็ได้ หรือปลอมในระดับกองทัพก็ได้ แต่ถ้าต้นสังกัดตรวจพบว่าโคตรโกงเมื่อไหร่ ได้จำคุกขี้ไก่ตลอดชีวิตสถานเดียว ไม่มีนะครับแบบที่ว่าสำรองราชการ หรือย้ายมานั่งตบยุงในกระทรวงทบวงกรม กฎหมายอเมริกาค่อนข้างแข็งและมีช่องโหว่น้อยมาก

ตัวเลขจะถูกนำไปใช้งานหลายอย่าง แผนกบัญชีใช้เป็นค่าตั้งต้นในการเบิกงบประมาณ ยกตัวอย่างเช่น  AH-1Z Viper มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินอยู่ที่ 4,115 เหรียญ เดือนมกราคมฝูงบิน HMLA-169 ทำการบิน 312 ชั่วโมง เท่ากับมีค่าใช้จ่าย 1,283,880 เหรียญ ถ้าทำเบิก 1,298,457 เหรียญเกินไปเล็กน้อยยังพอถูไถ แต่ถ้าทำเบิก 1,583,800 เกินไปถึง 3 แสนเหรียญ จะมีการตรวจสอบว่าเกิดปัญหาจากตรงไหน ซึ่งถ้าตรวจแล้วไม่พบปัญหาคนทำเบิกนั่นแหละจะมีปัญหา

ตัวเลขพวกนี้ยังใช้ในการวิเคราะห์ วางแผนระยะยาว รวมทั้งหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวเลขแค่เพียงปีเดียวคงทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีตัวเลข 6 ปีติดต่อกัน นำมาจัดเรียงเป็นกราฟเส้นอย่างสวยงาม ทุกคนจะมองเห็นภาพรวมอย่างชัดเจน



นี่คือค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินตั้งแต่ปี 2014 ถึงปี 2019 ผู้เขียนขอไล่จากล่างสุด (ค่าใช้จ่ายน้อยสุด) ขึ้นไปยังบนสุด (ค่าใช้จ่ายมากสุด) เริ่มจาก A-10 ปรกติสุขทุกประการ ค่าใช้จ่ายน้อยลงกว่าเดิมเล็กน้อย ส่วน F-16C ก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ F/A-18E มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเล็กน้อย ที่น่าหนักใจก็คือ F/A-18C ซึ่งพุ่งพรวดไปไกลลิบ (จากเคยใกล้เคียง F/A-18E ในปี 2014 ) ปัญหานี้กองทัพเรืออเมริกาไม่หนักใจเลย เพราะฝูงบิน VFA-34 Blue Blasters ซึ่งยังคงใช้งาน F/A-18C เป็นฝูงท้าย ได้ปลดประจำการไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2019 ที่ผ่านมา เหลือแค่เพียงนาวิกโยธินเหล่าเดียวเท่านั้น

มาที่เครื่องบิน AV-8B กันบ้าง เหมือนว่าเคยมีปัญหาแต่แก้ไขสำเร็จแล้ว เครื่องบินลำต่อไปตอนนี้ติ่งจีนกำลังงอน เขาก็คือ F-35A ผู้เคยมีปัญหาระดับใหญ่โคตรในปี 2016 อเมริกาใช้เวลา 2 ปีเต็มในการจัดการแก้ไข ปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ในระดับมาตรฐาน ต่อกันด้วยเครื่องบินซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเดิม F-15E สามารถทำได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทิ้งห่าง F-15C ซึ่งเคยมีตัวเลขใกล้เคียงกันมาก ลำนี้สวิงขึ้นลงอยู่บ้างแต่ยังไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ส่วน F-35B กับ F-35C เพิ่งจัดเก็บข้อมูลเป็นปีแรกสุด ก็เลยไม่มีกราฟเส้นเหมือนกับชาวบ้านชาวช่อง ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีปัญหาให้แก้ไขหรือเปล่า

ปิดท้ายกันด้วยสุดยอดเครื่องบินขับไล่ในยุคปัจจุบัน F-22A Raptor ผู้มีปัญหาใหญ่โตในระดับจักวาล จาก 21,464 เหรียญในปี 2014 พุ่งพรวดมาเป็น 36,455 เหรียญในปี 2019 ปัญหาของ F-22A เกิดขึ้นพร้อมกับ F-35A ลำหลังแก้ไขได้แล้วแต่ลำนี้ยังบานปลายไม่หยุด เห็นไหมครับว่าตัวเลขบอกอะไรกับเราเยอะแยะมาก

ตัวเลขพวกนี้เอกชนนำไปใช้งานได้ด้วย ถ้ามีนิตยสารฉบับหนึ่งทำภาพกราฟิกสวยงาม อ้างอิงจากข้อมูลจริงซึ่งหาได้ไม่ยากเลย นิตยสารฉบับนั้นจะมีความน่าเชื่อถือระดับสูงมาก ผู้เขียนบอกคำเดียวว่าเทหน้าตักรักหมดใจ ทั้งที่พวกเขาเสียเวลาโหลดข้อมูล 3 นาที กับตกแต่งภาพอีกไม่น่าเกิน 30 นาที แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีปัญหาใหม่ตามมาอยู่ดี



ภาพนี้แสดงข้อมูลจากปี 2016 (ผู้เขียนใส่ปีเพิ่มให้เอง) เป็นปีที่ F-35A กับ F-22A ต้องเผชิญวิบากกรรมครั้งใหญ่ ปัจจุบัน F-35A แก้ไขปัญหาได้แล้ว ทว่าผู้คนยังจดจำข้อมูลเก่าติดหัว ส่วน F-22A ไม่มีใครพูดถึงสักคน ทั้งที่ปัญหายังคงสาหัสอยู่เลย เรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นถ้ามีการใส่ปีเพิ่มเข้าไป พร้อมเขียนกำกับว่าข้อมูลของปีนี้เท่านั้น ครั้นพอไม่ใส่จึงกลายเป็นตัวเลขตลอดกาล ถูกนำมาอ้างอิงโดยไม่ตรงกับเวลาจัดเก็บข้อมูล ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่ผลกระทบใหญ่โตเบ้อเริ่มเลย

คาดว่าผู้อ่านคงตาเปียกตาแฉะกันแล้ว บทความนี้จึงขออำลาแต่เพียงเท่านี้ จนกว่าจะพบกันใหม่สวัสดีครับ ;)
-------------------------------------------

อ้างอิงจาก

เอกสารรายงาน : Fixed Wing and Helicopter Reimbursement Rates FY 2019
เอกสารรายงาน : Metrics to Compare Aircraft Operating and Support Costs in the Department of Defense
เอกสารรายงาน : FAST JET OPERATING COSTS COST PER FLIGHT HOUR STUDY OF SELECTED AIRCRAFT
เอกสารรายงาน : Operating Costs of Aging Air Force Aircraft




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น