วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

Santa to the Sea

ซานตาคลอสจากเอเชียตะวันออก
ปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีข่าวเล็ก ๆ ที่น่าสนใจข่าวหนึ่ง กองทัพเรือนามิเบียเข้าประจำการเรือใหม่ 2 ลำ เป็นเรือที่มีอุปกรณ์ปราบเรือดำน้ำชุดแรกสุด เป็นเรือที่ได้รับมอบจากจีนชุดแรกสุด และเป็นประเทศล่าสุดที่ได้รับเรือฟรีจากจีน

วันที่ 27 ตุลาคม 2017 ประธานาธิบดี Hage Geingob เป็นประธานในพิธีเข้าประจำการเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น Type-037I Hainan ชื่อ C12 Daures และ C13 Brukkaros มีระวางขับน้ำ 420 ตัน ยาว 58.77 เมตร กว้าง 7.2 เมตร กินน้ำลึก 2.2 เมตร (ไม่รวมโดมโซนาร์ SJD-3 ซึ่งสามารถยืดหดได้) ติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Type-81 แฝดหกจำนวน 2 แท่นยิง ปืนกล 14.5 มม.แฝดสองจำนวน 2 กระบอก และปืนกลปริศนาลำกล้องเดี่ยวอีกจำนวน 2 กระบอก
ปืนกลปริศนามุมบนขวาของภาพ ดูยังไงก็ไม่เหมือนปืน 37 มม.หรือ 30 มม.ของจีน ไม่เหมือนปืน Bofors 40 มม.ของสวีเดน แต่คล้ายคลึงปืน Oerlikon KCA 30 มม.จากสวิสเซอร์แลนด์ เข้าใจว่าจีนซื้อปืนเก่า KCA นำมาปรับคืนสภาพ ขอเรียกว่าปืนกล 30 มม.ขัดตาทัพไปก่อน ใช้งานได้ทั้งรีโมทและพลยิงประจำป้อม ทำงานร่วมกับออปโทนิคควบคุมการยิง
นามิเบียอาจเพิ่งเคยได้รับเรือจากจีน แต่พวกเขาไม่ใช่ลูกค้าใหม่เอี่ยมถอดด้าม ปี 2012 เรือชื่อ S11 NS ELEPHANT ที่ซื้อจากจีนราคาพิเศษได้เข้าประจำการ ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,580 ตัน ยาว 109 เมตร เป็นเรืออเนกประสงค์ที่ทำหน้าที่ได้สมชื่อ ทั้งขนส่งสินค้า ลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัย ลำเลียงทหาร ลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์ ฝึกหัดลูกเรือ ลาดตระเวนคุ้มกัน และทำหน้าที่เป็นเรือธงของกองทัพ ติดตั้งปืนกล 30 มม.ที่หัวเรือพร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง และปืนกล 14.5 มม.ลำกล้องแฝดอีก 2 กระบอก มีเรือชูชีพขนาดกลางและเรือชูชีพปฎิบัติการช่วยเหลือ ลานจอดท้ายเรือรองรับเฮลิคอปเตอร์ Z-9 จากจีน หรือเปลี่ยนมาใส่เรือยางขนาด 6.5 เมตรจำนวน 3 ลำได้พอดิบพอดี มีเครนยกเรือลงน้ำติดตั้งไว้พร้อมสรรพ (ปรกติใช้ยกตู้คอนเทนเนอร์)

เมื่อจีนบุกแอฟริกา
            หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ทหารญี่ปุ่นถูกส่งกลับบ้านไม่ก็เข้าค่ายกักกัน คนจีนจึงได้หันมารบราฆ่าฟันกันเอง สุดท้ายพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะเด็ดขาด ฝ่ายตรงข้ามจำต้องถอยร่นไปอยู่กลางทะเล จัดตั้งเป็นประเทศไต้หวันโดยมีอเมริกาช่วยหนุน ครั้นเกิดความกดดันจากชาติตะวันตกมากขึ้น จีนแผ่นดินใหญ่ก็ทนนิ่งเฉยต่อไปไม่ไหว จึงได้เริ่มผูกไมตรีจิตกับ 8 ประเทศในแอฟริกาเหนือและซาเฮล (พื้นที่ระหว่างแอฟริกาเหนือกับแอฟริกาใต้) หวังเป็นคะแนนเสียงในเวทีการเมืองระดับโลก ก่อนขยายพื้นที่ไปยังแอฟริกาใต้และประเทศเล็ก ๆ แถบยุโรปและเอเชีย
                การสานความสัมพันธ์ยังช่วยในเรื่องทำมาค้าขาย คนจีนเดินทางไปทำงานประเทศไหน ทางการจะตามไปช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม ความช่วยเหลือที่สำคัญก็คือทางด้านการทหาร ใบเบิกทางที่ดีที่สุดผ่านการพิสูจน์มานับไม่ถ้วน ช่วงนั้นจีนยังคงมีอาวุธหนักไม่เพียงพอ ก็เลยแจกปืนกล ปืนพก ลูกระเบิด กระสุนขนาดต่าง ๆ รวมทั้งยานพาหนะน้อยใหญ่ไปก่อน กระทั่งย่างก้าวเข้าสู่กลางปี 1972 แล้ว จึงได้มีการแจกเรือกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง
                เรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้น Type-062 Shanghai คือแบบเรือที่จีนใช้แจกจ่ายไปทั่วโลก แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยได้แก่ Shanghai I ถึง Shanghai III สร้างลำแรกในปี 195x และลำสุดท้ายเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง เรือส่วนใหญ่เข้าประจำการตามปรกติ เมื่อบางลำเริ่มชราภาพหรือมีเหตุอันควร จึงได้ปลดระวางแล้วส่งมอบไปยังมิตรสหาย บางประเทศแจกกันฟรี ๆ ไม่มีกำเหน็จ บางประเทศแถมเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงให้ด้วย บางประเทศอาจมีค่าใช้จ่ายตามสมควร บางประเทศอาจมีออปชั่นโน่นนั่นนี่เพิ่มเติม
                Type-062 Shanghai มีระวางขับน้ำ 125-170 ตันยาว 36-41 เมตร กว้าง 5.3-5.5 เมตร ความเร็วสุงสุด 25-28.5 น๊อต อาวุธที่ใช้บนเรือแตกต่างไปตามรุ่นย่อย ประเทศที่ได้รับแจกประกอบไปด้วย อียิปต์ (ชาติแรกสุดที่จีนเข้าไปจีบ) จำนวน 4 ลำ คองโกจำนวน 3 ลำ ซาอีร์จำนวน 4 ลำ แคเมอรูนจำนวน 2 ลำ ตูนิเซียจำนวน 2 ลำ เซียร์ราลีโอนจำนวน 2 ลำ กินีจำนวน 6 ลำ ศรีลังกาจำนวน 6 ลำ บังคลาเทศจำนวน 6 ลำ แอลบาเนียจำนวน 6 ลำ ปากีสถานจำนวน 12 ลำ รวมทั้งเกาหลีเหนือจำนวน 24 ลำขึ้นไป
                บังคลาเทศและศรีลังกาใช้งานแล้วเกิดชอบใจ จีนจึงสร้างเรือใหม่ให้ในราคามิตรภาพขอนแก่น เมื่อติมอร์ตะวันออกจัดตั้งประเทศสำเร็จ ก็ได้ซื้อเรือชั้นนี้จำนวน 3 ลำด้วยเงินกู้ระยะยาวจากจีน มีการปรับปรุงใหญ่ตั้งแต่หัวเรือจรวดท้ายเรือ ใส่เครื่องยนต์ใหม่ ระบบเรดาร์ใหม่ รวมทั้งอาวุธทันสมัยรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าผู้อ่านจำเรือตรวจการณ์ขนาด 46 เมตร ที่พม่าสร้างเองได้ ลำนั้นก็คือร่างอวตารใหม่ของเรือติมอร์ตะวันออกลำนี้ ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ C-802 ด้วยนะฮร้าฟ
เรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้น Type-062 Shanghai คือจุดเริ่มต้นเทศกาลลดแลกแจกแถม คือจุดเริ่มต้นเรือแจกฟรีจากประเทศหลังม่านไม้ไผ่ คือแรงบันดาลใจให้เพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ลอกการบ้านคำตอบเดียวกันในปัจจุบันและอนาคต

ภาพบนคือเรือ Type-062 ของจีนในอดีตกาล ติดตั้งปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก และปืนกล 25 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ภาพกลางคือเรือของหน่วยยามฝั่งบังคลาเทศ ติดตั้งอาวุธเหมือนกับจีนแต่ยาวกว่าใหญ่กว่า ลำสุดท้ายคือเรือใหม่ของติมอร์ตะวันออก ระวางขับน้ำ 175 ตัน ยาวถึง 43 เมตร ติดตั้งปืนกล H/PJ17 30 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกล 14.5 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ถอยหลังสะพานเดินเรือไป 2 เมตรก็เรือพม่าแล้วครับ
การแจกเรือจีนในปัจจุบัน
วันที่ 9 พฤษภาคม 2014 ประเทศเซเชลล์ซึ่งเป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ได้รับมอบเรือตรวจการณ์ Type-062 Shanghai II จากจีนจำนวน 1 ลำ ถึงจะใช้ชื่อเดิมแต่ใหญ่โตขึ้นและทันสมัยขึ้น P607 Etoile มีระวางขับน้ำ 135 ตัน ยาวถึง 38.78 เมตร ความเร็วสุงสุด 26 น๊อต ติดตั้งติดตั้งปืนกล H/PJ17 30 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกล 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก หน่วยยามฝั่งเซเชลล์มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก นอกจากของฟรีจากจีนที่ได้รับเป็นลำล่าสุด ยังมีเรือตรวจการณ์ขนาด 46 จากอินเดียจำนวน 2 ลำ และขนาด 30 เมตรจากยูเออีอีก 1 ลำ ทั้งหมดเป็นของบริจาคเพื่อการกุศล
วันที่ 20 กรกฎาคม 2017 ประเทศไอเวอรี่โคสต์หรือโกตดีวัวร์ ตั้งอยู่บนขอบทวีปแอฟริกาตะวันตก ได้รับมอบเรือใหม่เอี่ยมจากจีนจำนวน 1 ลำ ราคารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 4.4 ล้านเหรียญ เรือชั้นคนเหล็กหรือ Predator ยาว 27 เมตร ติดตั้งปืนกลได้จำนวน 2 กระบอก ก่อนหน้านี้อเมริกาเคยสั่งซื้อเรือชั้นนี้จากจีน มอบให้อิรัคจำนวนหลายลำตามโครงการอะไรซักอย่าง โครงการต่อไปพี่กันซื้อเรือ M25 ของน้องไทยบ้างนะจ๊ะ

ภาพบนคือเรือตรวจการณ์ของเซเชลล์ ภาพล่างคือเรือตรวจการณ์ของไอเวอรี่โคสต์ สวยงามขึ้น อเนกประสงค์ขึ้น และทันสมัยขึ้น มีพื้นที่ใช้งานมากขึ้นพอสมควร ถ้าไม่รู้จักมาก่อนอาจเดาว่าเรือยุโรป
วันที่ 18 กรกฎาคม 2017 ประเทศกานาซึ่งอยู่แอฟริกาตะวันตกติดกับไอเวอรี่โคสต์ ได้รับมอบเรือขนาดเล็กจากจีนจำนวน 4 ลำ รวมทั้งปืนกลหนักและกระสุนจำนวน 120,000 นัด มูลค่าความช่วยเหลืออยู่ที่ 7.5 ล้านเหรียญ กานามีท่าเรือน้ำลึกรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ จุดสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ทั้งเรือและปืนจากจีนได้ใช้งานจริงอย่างแน่นอน
ย้อนกลับไปในปี 2011 กานาสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ชั้น Snake จากจีนจำนวน 4 ลำ เรือขนาด 46.8 เมตรมูลค่ารวม 68 ล้านเหรียญ ติดปืนกล 30 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกล 14.5 มม.จำนวน 2 กระบอก ถือเป็นลูกค้าเก่าแก่กันมาก่อนแต่ในอดีต จีนไม่ใช่ชาติเดียวที่เป็นผู้ให้ด้วยใจบริสุทธิ์ ในปี 2012 เกาหลีใต้ได้มอบเรือตรวจการณ์ชั้น Chamsuri พร้อมอาวุธจำนวน 1 ลำ ส่วนเยอรมันขายเรือเร็วโจมตีชั้น Gepard จำนวน  2 ลำให้กานาในราคาแสนถูก แทนที่ปืนใหญ่และจรวดด้วยปืนกลและเรือยาง ถึงจะเป็นเรือเก่าแต่ก็ยังใช้งานได้อีกหลายปี ประเทศเล็กประเทศน้อยก็แบบนี้แหละครับ

เรือชั้น Snake เป็นอีกลำที่น่าสนใจ มีใช้งานบ้านใกล้เรือนเคียงกับเรานี่เอง ระหว่างปี 2005-2007 กัมพูชาได้รับบริจาคเรือจากจีนจำนวน 9 ลำ และได้เพิ่มอีกปีล่ะลำสองลำคละเคล้ากันไป ยอดรวมปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ 15 ลำ ติดตั้งปืนกล 40 มม.ลำกล้องคู่จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 23 มม.ลำกล้องคู่จำนวน 1 กระบอก และปืนกล 14.5 มม.ลำกล้องคู่จำนวน 2 กระบอก รูปร่างหน้าตาเหมือนเรือกานาทุกประการ ยกเว้นไม่มีแผ่นกันคลื่นที่หัวเรือ ความสวยงามหายไป 27.85 เปอร์เซนต์
นอกจากกัมพูชาจะเป็นเพื่อนร่วมน้ำสาบานของจีนแล้ว ยังมีอีกหนึ่งประเทศที่มีสถานะทัดเทียมกัน รัฐบาลปากีสถานต้องการจัดตั้งหน่วยยามฝั่ง มีการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ขนาด 600 ตันจำนวน 4 ลำ และขนาด 1,500 ตันจำนวน 2 ลำ โดยได้เทงบประมาณลงมาให้เกือบ 4,000 ล้านบาท มีการประกวดประชันและจีนเป็นผู้ชนะ อ่านมาถึงตรงนี้ก็ยังปรกติดีอยู่
วันที่ 17 มกราคม 2017 จีนส่งมอบเรือตรวจการณ์ชั้น Hingol จำนวน 2 ลำให้กับเจ้าของ ระวางขับน้ำ 600 ตัน ยาว 68 เมตร กว้าง 8.7 เมตร ติดตั้งปืนกล H/PJ17 30 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกล 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ให้บังเอิญสื่อมวลชนจีนเกิดทำผิดแผน ตีข่าวทั่วโลกว่าเป็นเรือบริจาคจากเพื่อนถึงเพื่อน รัฐบาลปากีสถานรีบออกมาบอกว่านี่เงินฉัน หาใช่ไก่กาคอยแต่รับของฟรีเสียที่ไหน ส่วนตัวเชื่อว่าจีนขายให้ในราคาต่ำกว่าทุน อย่างน้อยต้องคิดเงินค่าปืนกลบ้างล่ะน่า

เกาหลีใต้มาแล้ว
นอกจากกานาจะได้เรือตรวจการณ์ชั้น Chamsuri แล้ว ยังมีอีกหลายชาติที่ได้รับแจกของดีเมืองกิมจิ เรือขนาด 170 ตัน ยาว 37 เมตร กว้าง 7 เมตร  กินน้ำลึก 1.7 เมตร ถูกโอนไปยังบังคลาเทศจำนวน 4 ลำ ติมอร์ตะวันออกจำนวน 3 ลำ และฟิลิปปินส์จำนวน 8 ลำ ติดตั้งปืนกล 40 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 20 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกล 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก (นอกจากมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง) เรือลำนี้เปรียบได้กับหัวหมู่ทะลวงฟันของแดจังกืม

เกาหลีใต้ยังมีของดีของเด็ดอีกเพียบ ใครเห็นใครชอบใครเห็นใครหลงรวมทั้งผู้เขียน เริ่มต้นจากในปี 2014 กองทัพเรือโคลัมเบียได้รับมอบเรือคอร์เวตชั้น Donghae จำนวน 1 ลำ ระวางขับน้ำ 1,076 ตัน ยาว 78.1 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 2.6 เมตร ติดตั้งปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก และแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามจำนวน 2 แท่นยิง อายุอานามมากกว่าเรือหลวงรัตนโกสินทร์เพียง 3 ปี

ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 หน่วยยามฝั่งเปรูเข้าประจำการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชื่อ BAP Ferré (PM-211) ซึ่งได้รับแจกจากเกาหลีใต้ในปีเดียวกัน นี่คือเรือคอร์เวตชั้น Pohang ระวางขับน้ำ 1,200 ตัน ยาว 88.3 เมตร กว้าง 10 เมตร กินน้ำลึก 2.9 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ผ่านการปรับปรุงใหญ่ใช้งานได้อีกยาวนาน อาวุธป้องกันตัวอยู่ในระดับดีหนึ่งประเภทหนึ่ง

ต้นเดือนมิถุนายน 2017 มีการปล่อยภาพเรือคอร์เวตลำใหม่ของเวียตนามชื่อ HQ-18 ซึ่งก็คือเรือคอร์เวตชั้น Pohang ชื่อ PCC-761 Gimcheon ที่ปลดประจำการแล้ว ดีลนี้ค่อนข้างแปลกเพราะไม่เคยมีข่าว วันดีคืนดีเรือมาจอดที่เวียตนามเสียแล้ว ติดตั้งปืนใหญ่76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก และปืนกล 20 มม.หกลำกล้องรวบอีก 1 กระบอก จากภาพไม่มีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะเวียตนามไม่มีตอร์ปิโดเบา

วันที่ 26 ตุลาคม 2017 กองทัพเรืออียิปต์เข้าประจำการเรือคอร์เวตหมายเลข 1000 ชื่อ ENS Shbab Misr นี่คือเรือคอร์เวตชั้น Pohang ชื่อ PCC-763 Jinju ของเกาหลีใต้ ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก มาพร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง Signaal WM 28 และเรดาร์/ออปโทรนิคควบคุมการยิง Signaal LIOD Mk2 เรือลำนี้เคยติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ Exociet MM38 จำนวน 2 นัด ครั้นจรวดหมดอายุเกาหลีใต้เลยถอดแท่นยิงออก คิดว่าอียิปต์คงไม่ดิ้นรนติดจรวดเข้าไปใหม่ เพราะมีเรือทันสมัยใหม่เอี่ยมอยู่ในกองทัพอีกตั้งหลายลำ

มาที่ประเทศฟิลิปปินส์กันบ้าง เกาหลีใต้จะส่งมอบเรือคอร์เวตชั้น Pohang ชื่อ PCC-762 Chungju ให้ภายในปีนี้ โดยคิดราคาเรือเก๋ ๆ แค่เพียง 1 เหรียญอเมริกา ตามข่าวบอกว่าไม่ถอดอาวุธและอุปกรณ์ออกซักชิ้น รวมทั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำด้วย ฟิลิปปินส์ต้องการอาวุธชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง อาจยิงใครไม่ได้ก็จริงแต่ใช้ฝึกทหารตัวเอง พวกเขาห่างหายจากระบบปราบเรือดำน้ำมาแสนนาน ไอ้ที่คุ้นเคยก็โบราณมากสมัยพระเจ้าเหา การบริจาคเรือลำนี้มีดราม่าเกิดขึ้นเล็กน้อย จีนประท้วงอย่างหนักอ้างว่าจะทำให้ภูมิภาควุ่นวาย นาทีนี้จีนกลายเพื่อนรักของฟิลิปปินส์ ไม่ทราบว่ายังจะประท้วงอยู่อีกหรือไม่

เกาหลีใต้มาทีหลังหลายปีก็จริง ทว่าพ่อคุณแจกของดีของเด่นกันเลย เรือรบขนาด 1,200 ตันใหญ่เพียงพอสำหรับทุกภารกิจ ติดตั้งอาวุธทันสมัยได้รับความนิยมสุง ใช้งานง่ายดูแลง่าย ค่าใช้จ่ายพอดีกับกระเป๋าสตางค์ และที่น่าสนใจก็คือพวกเขายังมีเรือคอร์เวตชั้น Pohang อยู่อีกจำนวน 14 ลำ อนาคตจะไปเทียบท่าประเทศไหนบ้าง ต้องติดตามข่าวสารกันต่อไป
ญี่ปุ่นก็มา
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2015 หน่วยยามฝั่งเวียดนามรับเรือบริจาคลำแรกสุดจากญี่ปุ่น โครงการนี้มียอดรวมอยู่ที่จำนวน 5 ลำ เรือลำเลียงและตรวจการณ์ CSB-6001 ในอดีตเคยชื่อว่า Syokaku สร้างในปี 1991 ระวางขับน้ำสุงสุด 725 ตัน ยาว 56 เมตร ความเร็วเดินทาง 12.5 น๊อต อายุอานามยังไม่มากเท่าไหร่ มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับภารกิจ หน้าตาเรือไม่ถึงกับเชยไม่ถึงกับใหม่ ใช้ลำเลียงยุทธปัจจัย กำลังพล รวมทั้งดูแลความสงบในน่านน้ำ เรือทั้ง 5 ลำทยอยเข้าประจำการครบแล้ว
ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม 2915 กรมประมงเวียตนามได้รับมอบเรือลำแรกสุดจากจำนวน 6 ลำ อดีตเรือชื่อ Hayato สร้างในปี 1993 ระวางขับน้ำสุงสุด 1,079 ตัน ยาว 56 เมตร ความเร็วสุงสุด 12.5 น๊อต ใช้ลูกเรือจำนวน 49 นาย ตามปรกติเรือที่เขียนคำว่า Vietnam Fisheries Resources Surveillance ทั้งสองกราบ มักได้ออกทีวีถ่ายทอดสดอยู่เป็นเนืองนิจ งานหลักคือการฉีดน้ำแรงดันสุงใส่ฝ่ายตรงข้าม พุ่งเข้าปะทะใช้สีข้างเบียดอีกฝ่ายให้แดดิ้น โดยปรกติเรือกรมประมงไม่ติดอาวุธ เพราะเกิดการกระทบกระทั่งแบบนี้ทุกวี่วัน มีปืนในมืออาจบานปลายเป็นชนวนสงคราม

ภาพบนคือเรือ CSB-6001 ของหน่วยยามฝั่งเวียดนาม ภาพล่างคือพิธีส่งมอบเรือตรวจการณ์ลำแรกของกรมประมง เวียตนามต้องการเรือใหญ่จากญี่ปุ่นจำนวน 10 ลำ สุดท้ายได้เกินมา 1 ลำต้องส่งพี่ไทยไปดูงานเสียหน่อย
ขอพาผู้อ่านไปยังประเทศฟิลิปปินส์อีกครั้ง คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นหน่วยยามฝั่งกันบ้างนะครับ กลางปี 2015 มีข่าวว่าญี่ปุ่นจะบริจาคเรือให้จำนวน 10 ลำ โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า (JICA) ที่คนไทยหลายคนได้รับทุนเรียนต่อหรือฝึกอบรม บทสรุปของโครงการนี้ก็คือ มีการสร้างเรือตรวจการณ์จากญี่ปุ่นจำนวน 10 ลำ ไจก้าให้เงินกู้ยืมเพื่อการพัฒนาในการสร้างเรือ 80 เปอร์เซนต์ รัฐบาลฟิลิปปินส์ควักกระเป๋า 20 เปอร์เซนต์ ส่วนจะใช้คืนเมื่อไหร่และยังไงไม่รู้เลยซักนิด เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ผู้เขียนหมดหนทางที่จะเข้าใจ แต่ที่เข้าใจแจ่มแจ้งก็คือเรือสร้างเสร็จแล้ว 7 ลำในเวลาเพียง 2 ปี

เรือตรวจการณ์ชั้น Parola ยาว 44.5 เมตร กว้าง 7.5 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร ความเร็วสุงสุด 25 น๊อต ระยะทำการ 2,800 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 น๊อต มีจุดติดตั้งปืนแต่ยังไม่มีปืนติดตั้ง ใช้แบบเรือหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่นมาปรับปรุง เอนกประสงค์และทำงานได้หลายภารกิจ เรือทั้ง 10 ลำจะเป็นม้างานไปอีก 30 ปีเต็ม มาตราฐานการต่อเรือของญี่ปุ่นนั้นดีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าซ่อมบำรุงตามวงรอบได้ดีแค่ไหน ส่วนตัวมองว่าเรือสวยงามตามท้องเรื่อง เหมาะสมกับทะเลฝั่งอันดามันมากกว่าฝั่งอ่าวไทย
แม้มีโครงการเรือใหม่จำนวน 10 ลำแล้วก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเพิ่มเติม เรือจำนวนหนึ่งจะถูกสั่งซื้อใหม่ในเวลาอันควร บวกกับเรือที่ญี่ปุ่นอยากช่วยเหลืออีกจำนวน 2 ลำ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเรือขนาดใหญ่ของหน่วยยามฝั่ง อาจจะเก่านิดหน่อยอายุซัก 20-25 ปี ปลดระวางเร็วขึ้นปรับปรุงตามความเหมาะสม
ภาพถัดไปคือเรือตรวจการณ์ลำใหม่ของหน่วยยามฝั่งมาเลเซียชื่อ KM Arau ที่ในอดีตคือเรือ PL-01 Ojima ของหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่น สร้างในปี 1989 ระวางขับน้ำประมาณ 1,000 ตัน ยาว 87 เมตร กว้าง 10.5 เมตร ไม่นานมานี้มาเลเซียทำสัญญามูลค่า 166 ล้านเหรียญ จัดหาเรือตรวจการณ์มือสองจากญี่ปุ่นจำนวน 3 ลำ เรืออายุ 28 ขวบลำนี้คือลำที่หนึ่งของโครงการ ได้รับการปรับปรุงใหญ่ติดตั้งอุปกรณ์ใหม่เอี่ยม มีพิธีส่งมอบเรือในวันที่ 7 มิถุนายน 2017 ปัจจุบันลำที่สองส่งมอบแล้วตั้งชื่อว่าKM Pekan ส่วนลำที่สามจะตามมาภายในปีนี้ ฟิลิปปินส์อาจได้เรือชั้นนี้จำนวน 2 ลำก็เป็นได้

ญี่ปุ่นเคยบริจาคเรือให้อินโดนีเซียในปี 2007 เป็นเรือตรวจการณ์ความยาว 27 เมตรจำนวน 3 ลำ ใช้ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ปัจจุบันอินโดนีเซียคงไม่อยากรับแล้ว เพราะสร้างเองได้หมดรวมทั้งเรือฟริเกต Sigma 10514
การบริจาคเรือในอนาคต
                สามยักษ์ใหญ่เอเชียตะวันออกแจกเรือฟรีเหมือนกัน ในความเหมือนมีความแตกต่างที่พอมองออก ยักษ์ตัวแรกก็คือจีนแจกทั้งเรือเก่าและเรือใหม่ แตกต่างกันไปตามความสัมพันธ์และผลประโยชน์ ถ้าเป็นเรือใหม่มีแบบเรือมากมายหลายขนาด ส่วนของเก่าเรือตรวจการณ์ชั้น Type-037 ถูกใช้เป็นตัวยืนพื้น จีนยังคงมีเรือชั้นนี้มากกว่า 100 ลำ แบ่งเป็นรุ่นปราบเรือดำน้ำซึ่งกำลังทยอยปลดประจำการ และรุ่นปราบเรือผิวน้ำติดจรวดต่อสู้เรือรบ ตัวหลังนี่ยังใหม่หน่อยแต่ก็แจกได้เหมือนกัน
                เรือชั้น Type-037 ขนาดใหญ่สุดไม่เกิน 500 ตัน เอาดีกว่านี้ต้องเรือฟริเกตชั้น Type-053 เหมือนเรือหลวงเจ้าพระยา ลำนี้ออกจะใหญ่โตไปนิดคือขนาด 2,200 ตัน ติดอาวุธจีนทั้งลำต้องจัดหาเพิ่มเติมต่อไป ควรที่จะเป็นประเทศใช้งานอาวุธจีนอยู่ก่อน เขาจึงขายให้ในราคาพิเศษอาทิเช่นพม่าและบังคลาเทศ ปากีสถานเล็งรุ่นที่มีจรวดต่อสู้อากาศยานและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แต่คงไม่ได้ในเร็ววันนอกจากจะเอาลำที่เก่ากว่า
                ส่วนเกาหลีใต้เจ้าพ่อซีรีย์ดราม่านั้น หันมาแจกเรือรบขนาดใหญ่ปลดประจำการแล้ว เรือคอร์เวตชั้น Pohang ยังมีให้แจกอีกมากมาย ทีเด็ดทีขาดอยู่ที่เรือฟริเกตชั้น Ulsan ระวางขับน้ำ 2,350 ตัน ยาว 103.5 เมตร กว้าง 12.5 เมตร กินน้ำลึก 3.8 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่76/62 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 3 กระบอก แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามจำนวน 2 แท่นยิง และจรวดต่อสู้เรือรบฮาร์พูนแฝดสี่จำนวน 2 แท่นยิง ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง เรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง โซนาร์หัวเรือขนาดกลาง และระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ เกาหลีใต้เหลือเรือชั้นนี้อยู่ 6 ลำ ที่ปลดไปแล้วยังปรกติสุขดีอยู่อีก 1 ลำ นี่คือของขวัญที่ไม่มีประเทศไหนอยากปฎิเสธ เทียบกับเรือฟริเกตชั้น Type-053 ผู้เขียนก็เอาลำนี้
                และยักษ์ใหญ่ตัวสุดท้ายที่เพิ่งสะดุ้งตื่น รัฐบาลญี่ปุ่นแจกเรือใหม่ป้ายแดงราคาพิเศษ สร้างในประเทศมาตราฐานเดียวกับกองทัพ แต่มีเงื่อนไขหยุมหยิมเพราะกฎหมายยังไม่อำนวย แจกประเทศในเอเชียตามความสัมพันธ์และผลประโยชน์ พร้อมกับแจกเรือเก่าที่ยังไม่ปลดประจำการ ปรับปรุงซ่อมแซมให้ด้วยเพียงแต่ไม่ติดอาวุธ ญี่ปุ่นเป็นเกาะมีเรือพาณิชย์จำนวนนับไม่ถ้วน เรือที่แจกมาจากหน่วยยามฝั่งบ้าง กรมประมงบ้าง หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องจับตาดูต่อไปในอนาคต ว่าจะมีการแจกเรือรบปลดระวางกันบ้างไหม อาจต้องแก้ไขกฎหมายเสียก่อนนะครับ ฮ่า ฮ่า

เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีชั้น Type 037II Houjian ของจีน และเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Ulsan ของเกาหลีใต้ สองผู้เล่นหน้าใหม่ที่กำลังรอเวลาลงสนาม
                การแจกเรือฟรีไม่ได้มีแค่เพียง 3 ประเทศ การแจกของฟรีไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรือรบ ถ้ามีโอกาสและมีประเด็นที่น่าสนใจ อาจมีซานตาคลอสภาคสองตามมาในภายหลัง วันนี้ลากันไปก่อนสวัสดีปีใหม่ 2018 ผู้อ่านทุกท่านนะครับ J
ปล.ข้อมูลในบทความเป็นเพียงบางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด อาจมีตกหล่นมากบ้างน้อยบ้างผู้เขียนต้องขออภัยมณีเด้ง
                                       ----------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
หนังสือ : Jane's fighting ships 1986-1987

2 ความคิดเห็น: