วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

Navies of Landlocked Countries

กองทัพเรือประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล

            อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดที่มีการสำรวจ จำนวนประเทศบนโลกเบี้ยว ๆ ใบนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 228 ประเทศ จำนวนประชากรทั้งโลกเท่ากับ 7,400,786,496 คน (ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเป็นอันดับที่ 20 นั่นคือมีจำนวน 68,414,135 คน) เทียบกับปี 1950 หรือย้อนเวลากลับไป 67 ปี จำนวนประชากรทั่วทั้งโลกมีแค่เพียง 2,557,628,654 คนเท่านั้น ในทางกลับกันพื้นที่บนโลกยังคงเท่าเดิม นั่นหมายถึงมีผู้คนแย่งกันกินแย่งกันใช้มากกว่าเดิมเกือบ 3 เท่าตัว

                และในจำนวนประเทศน้อยใหญ่ซึ่งผู้เขียนไม่มีวันจำชื่อหมด มีประเทศที่ถูกปิดล้อม(หรือเกือบถูกปิดล้อม)ด้วยแผ่นดินทุกด้านอยู่จำนวน 44 ประเทศ เราเรียกดินแดนเหล่านี้ว่า Landlocked Countries ดินแดนบางแห่งอาจมีทะเลขนาดใหญ่ขนาบข้าง แต่ไม่ได้เชื่อมต่อกับมหาสมุทรอย่างแท้จริง ในทะเลอาจมีทรัพยากรอันมีค่าอยู่ก็จริง แต่ไม่อาจขนส่งสินค้าทางเรือไปยังสถานที่ห่างไกล จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางอื่นซึ่งยุ่งยากกว่า ไม่ก็ลำเลียงไปยังท่าเรือประเทศใกล้เคียงทดแทน

                และในบรรดาผู้โชดร้ายจำนวน 44 รายนั้น มีการจัดตั้งกองทัพเรือขึ้นมาถึง 10 ประเทศด้วยกัน รวมทั้งมีประเทศที่ไม่มีกองทัพเรือแต่มีกำลังรบทางเรืออีกจำนวน 8 ประเทศ บทความนี้จะเขียนถึงประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลแต่มีกองทัพเรือ ถือเสียว่าอ่านเรื่องแปลกแต่จริงอิงความสนุก ได้ความรู้ติดปลายนวมนิดหน่อยแล้วกันนะครับ

Azerbaijan Navy

                อาเซอร์ไบจานประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1991 ใกล้เคียงกับหลายประเทศเมื่อคราวเกิดเหตุการณ์กรุแตก จำนวนประชากรประมาณ 10 ล้านคน ขนาดพื้นที่ประมาณ 86,600 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเทือกเขาคอเคซัส ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างยุโรปตะวันออกกับเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ทิศเหนือติดประเทศรัสเซีย ทิศใต้ติดประเทศอิหร่าน ทิศตะวันตกติดประเทศอาร์มีเนีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดประเทศจอร์เจีย และทิศตะวันออกจรดทะเลแคสเปียน ซึ่งแม้ทะเลจะมีความยาว 1,030 กิโลเมตร กว้าง 435 กิโลเมตร และมีส่วนลึกสุดถึง 1,025 เมตรก็ตาม แต่ทว่าไม่ได้เชื่อมต่อกับมหาสมุทรแห่งใดเลย (เปรียบได้กับคดีฆาตกรรมในห้องปิดตาย ไม่สามารถเข้าหรือออกจากห้องได้เพราะประตูโดนล๊อค) อาเซอร์ไบจานจึงกลายเป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล แม้จะมีทะเลขนาดใหญ่ขนาบข้างก็ตาม


                กองทัพเรืออาเซอร์ไบจานซึ่งเกิดขึ้นพร้อมประเทศ ได้รับการโอนเรือรบและอาวุธจำนวนหนึ่งจากโซเวียต มีความแข็งแกร่งมากเป็นอันดับสองในทะเลแคสเปียน (เจ้าตัวเขาว่าแบบนี้นะครับ) นอกจากเรือรบติดอาวุธนำวิถีจำนวนหนึ่งแล้ว ยังมีเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก เรือกวาดทุ่นระเบิด รวมทั้งดำน้ำขนาดเล็กสำหรับหน่วยปฎิบัติการพิเศษใต้น้ำ ส่วนอันดับหนึ่งคงไม่ต้องทายกันนะครับ กองทัพเรือรัสเซียชนะเลิศแบบทิ้งห่างหลายกิโลตัน

                กองทัพเรืออาเซอร์ไบจานมีควมสัมพันธ์อันดีกับอเมริกาและตุรกี โดยรายแรกเข้ามาช่วยอบรมฝึกสอนหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งในส่วนกองทัพเรือและเหล่านาวิกโยธิน รวมทั้งช่วยปรับปรุงวางรากฐานภายในกองทัพให้ทันสมัย (ช่วยเหลือด้านการเงินด้วยนิดหน่อย) ส่วนรายหลังเข้ามาช่วยปรับปรุงซ่อมแซมเรือรบน้อยใหญ่ในราคาไม่แพง รวมทั้งขายเรือช่วยรบขนาดเล็กให้กับหลายหน่วยงาน ถือเป็นพันธมิตรที่สนิทสนมมากอะไรประมาณนั้น

กำลังทางเรืออาเซอร์ไบจานในปัจจุบัน มีเรือรบจำนวน 14 ลำ เรือช่วยรบจำนวน 22 ลำ เครื่องบินปีกแข็ง 3 ลำ เครื่องบินปีกหมุน 3 ลำ เรือรบสำคัญ ๆ ประกอบไปด้วย เรือดำน้ำขนาด 6 ตันชั้น Triton จำนวน 4 ลำ เรือฟริเกตเบาชั้น Petya II จำนวน 1 ลำ (หรือจะเรียกว่าเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำก็คงไม่ผิด) เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Osa II จำนวน 1 ลำ เรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจำนวน 3 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Sonya จำนวน 2 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดเล็กชั้น Yevgenya จำนวน 5 ลำ รวมทั้งเรือยกพลขึ้นบกความยาว 72 เมตรชั้น Polnocny จำนวน 6 ลำ

                เรือฟริเกตเบาชั้น Petya II มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,150 ตัน ยาว 81.8 เมตร กว้าง 9.2 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-6000 จำนวน 2 ระบบ ปืนกลอัตโนมัติแฝดหก AK-630 จำนวน 2 กระบอก และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.จำนวน 4 ท่อยิง ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CODAG ทำความเร็วสุงสุด 30 น๊อต เป็นเรือขนาดกระทัดรัดที่มีอาวุธมากเกินตัว ด้วยว่าเป็นเรือโซเวียตจากยุคสงครามเย็น


                เรือรบส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานพอสมควร กองทัพเรืออาเซอร์ไบจานมีแนวคิดที่จะต่อเรือขึ้นเอง ดูจากภาพรวมความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ความต้องการเร่งด่วนในตอนนี้ก็คือ การจัดหาเรือคอร์เวตและเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชนิดละ 2 ลำ เพื่อทดแทนของเดิมที่มีประจำการอยู่ 2 ลำ ซึ่งแม้จะได้รับการปรับปรุงไปแล้วเมื่อไม่นาน แต่ก็ชราภาพไปตามอายุไขนั่นแหละครับ โครงการนี้เดินหน้ามาได้ระยะหนึ่ง ตุรกีได้เสนอแบบเรือทั้งสองชนิดให้พิจารณา และเป็นเต็งจ๋าอันดับหนึ่งทั้งแบบเรือและความสัมพันธ์ โดยมีคู่แข่งขันที่น่ากลัวมากชื่อว่าอิสราเอล ที่เหลือจากนี้ยังมองไม่เห็นความน่าจะเป็น

Azerbaijan Border Guard

                ในปี 2002 อาเซอร์ไบจานได้จัดตั้งหน่วยยามฝั่งขึ้น เหตุผลสำคัญคงมาจากหลักสูตรอเมริกานั่นเอง กระทั่งครบ 3 ปีหน่วยงานนี้จึงเป็นรูปเป็นร่าง มีการโอนเจ้าหน้าที่และเรือบางส่วนไปจากกองทัพเรือ ได้แก่ เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Osa II ขนาด 200 ตันจำนวน 1 ลำ (ถอดอาวุธนำวิถีออกเพราะไม่ได้ใช้งาน) เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น Stenka จำนวน 3 ลำ (ถอดโซนาร์และตอร์ปิโดออกเพราะไม่ได้ใช้งาน) และเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

                เรือที่ได้รับโอนมาใช้งานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะมีคุณสมบัติไม่ตรงกับภารกิจคือลาดตระเวน รวมทั้งมีระยะปฎิบัติการณ์ที่น้อยเกินไป หน่วยยามฝั่งจึงได้จัดหาเรือรุ่นใหม่ทดแทน แบ่งเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งความเร็วสุงจำนวน 6 ลำ และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งพร้อมลานจอดเฮลิคอปเตอร์อีกจำนวน 6 ลำ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดเข้าร่วมชิงชัยบ้าง แต่ทว่า Israel Shipyards เป็นผู้ได้รับสัญญาต่อเรือทั้ง 12 ลำ

ปี 2014 เรือตรวจการณ์ความเร็วสุงชั้น Shaldag Mk V จำนวน 2 ลำ ถูกส่งมอบให้หน่วยยามฝั่งอาเซอร์ไบจาน มีระวางขับน้ำ 100 ตัน ยาว 32 เมตร กว้าง 6.4 เมตร ความเร็วสุงสุด 40 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 1,800 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติควบคุมด้วยรีโมทขนาด 23 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติควบคุมด้วยรีโมทขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนกลเบาขนาด 7.62 มม.จำนวน 4 กระบอก และจรวดพื้น-สู่-พื้น Spike ER ระยะยิง 8 กิโลเมตรจำนวน 4 นัด ปัจจุบันเรือทั้ง 6 ลำส่งมอบเป็นที่เรียบร้อย เข้าประจำการจริงและทดสอบยิงจรวด Spike ER เข้าเป้าอย่างแม่นยำ



ปี 2016 เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Sa'ar 62 จำนวน 2 ลำ ถูกส่งมอบให้หน่วยยามฝั่งอาเซอร์ไบจาน มีระวางขับน้ำ 500 ตัน ยาว 62 เมตร กว้าง 7.6 เมตร ความเร็วสุงสุด 30 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 5,000 ไมล์ทะเล ด้านท้ายเรือมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ รองรับการใช้งาน EC-135 ซึ่งน่าจะมีน้อยกว่าจำนวนเรือ ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติควบคุมด้วยรีโมทขนาด 23 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติควบคุมด้วยรีโมทขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนกลเบาขนาด 7.62 มม.จำนวน 4 กระบอก และจรวดพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ระยะยิง 25 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด ติดตั้งระบบเป้าลวงจรวด/ตอร์ปิโดจำนวน 4 ระบบ มีการทดสอบยิงจรวด Spike NLOS เข้าเป้าอย่างแม่นยำ อาเซอร์ไบจานสั่งซื้อเรือเฟสแรกจำนวน 3 ลำ เรือลำสุดท้ายมีกำหมดส่งมอบภายในปีนี้ ส่วนเรือเฟสที่สองจะตามมาในอีกไม่นาน


ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กองทัพเรืออาเซอร์ไบจานจะประกอบไปด้วย เรือคอร์เวต เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี เรือกวาดทุ่นระเบิด เรือยกพลขึ้นบก และเรือขนส่งเท่านั้น ส่วนทางด้านหน่วยยามฝั่งอาเซอร์ไบจาน จะมีเรือแค่ใหม่จากอิสราเอลจำนวน 12 ลำ อาเซอร์ไบจานยังมีตำรวจน้ำพร้อมเรือขนาดเล็กอีกจำนวน 12 ลำ ทำหน้าที่ดูแลความสงบและรักษากฎหมายบริเวณชายฝั่ง ประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลประเทศนี้ มีกำลังทางเรือที่ค่อนข้างเข้มแข็งและเป็นระเบียบแบบแผน

Bolivia Navy

            โบลิเวียตั้งอยู่ตอนกลางทวีปอเมริกาใต้ ได้รับเอกราชจากสเปนตั้งแต่ปี1825 จำนวนประชากรประมาณ 11 ล้านคน ขนาดพื้นที่ประมาณ 1,098,581 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดประเทศบราซิล ทิศใต้ติดประเทศปารากวัยและอาร์เจนตินา ทิศตะวันตกประเทศชิลีและเปรู เป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลที่เคยมีทางออกสู่ทะเลมาก่อนหน้านี้ นั่นคือเคยมีพื้นที่ติดกับทะเลเหมือนประเทศทั่วไป แต่พอไม่มีทางออกสู่ทะเลเท่านั้นแหละก็ได้กลายมาเป็นเป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลไปในทันที อ่านแล้วงงดีไหมครับ ถ้ายังไม่งงตามข้าพเจ้ามา

                หลังได้รับเอกราชในปี 1825 โบลิเวียมีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดมหาสมุทรแปซิฟิค สามารถค้าขายทางทะเลกับนานาชาติได้อย่างปรกติ แต่ทว่าในสงคราม “War of Pacific” ช่วงปี 1879 ถึง 1883 ระหว่างประเทศชิลีกับประเทศโบลิเวียกับเปรู ซึ่งแม้ชิลีจะมีกำลังทางบกน้อยกว่า แต่กำลังทางเรือแข็งแกร่งกว่าอีกฝ่ายพอสมควร หลังใช้เวลาในสนามรบถึง 5 ปีเต็ม สงครามใหญ่จบลงด้วยชัยชนะของชิลี พวกเขายึดครองพื้นที่บางส่วนของโบลิเวียและเปรูได้อย่างเด็ดขาด และหลังใช้เวลาเจรจาอย่างยาวนานถึง 10 ปีเต็ม ชิลีกับโบลิเวียได้ทำสัญญาสงบศึกในปี 1904 โดยชิลีได้ครอบครองพื้นที่ติดทะเลตลอดแนว โบลิเวียกลายมาเป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล ขณะที่เปรูซึ่งแพ้สงครามด้วยนั้น ต้องสูญเสียพื้นที่ภาคใต้ทั้งก้อนให้กับชิลี


พื้นที่ของโบลิเวียตอนได้รับเอกราชและพื้นที่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าต้องสูญเสียให้กับชาติใกล้เคียงไปพอสมควร พื้นที่หมายเลข 1 ต้องสูญเสียให้กับชิลีในสงครามใหญ่ จึงไม่มีทางออกสู่ทะเลในปัจจุบัน พื้นที่หมายเลข 2 เป็นของเปรูที่สูญเสียให้กับชิลี


                โบลิเวียเป็นประเทศที่มีกำลังทหารไม่เข้มแข็งนัก จึงต้องสูญเสียพื้นที่ให้กับผู้รุกรานหลายต่อหลายครั้ง พวกเขาไม่มีกองทัพเรือในการรบกับชิลี ทั้งที่มีพื้นที่ติดทะเลก็เลยต้องสูญเสียดินแดนไป กว่าจะมีการจัดตั้งกองทัพเรือกันอย่างจริงจัง ก็ปาเข้าไปในปี 1963 หรือหลังสงคราม War of Pacific ถึง 80 ปีเต็ม พื้นที่รับผิดชอบอยู่ในทะเลสาบตีตีกากา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งอยู่บนเทือกเขาแอนดีสระหว่างประเทศเปรูและโบลิเวีย ครอบคลุมพื้นที่ 8,372 ตารางกิโลเมตร มีความลึกสูงสุดประมาณ 284 เมตร และความลึกเฉลี่ยประมาณ 107 เมตร มากกว่าอ่าวไทยที่มีความลึกสุงสุดประมาณ 80 เมตร และความลึกเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร นำเรือดำน้ำ S26T ของเราไปดำผุดดำว่ายสบายใจเฉิบ

                นอกจากทะเลสาบตีตีกากาแล้ว กองทัพเรือยังต้องดูแลรักษาความปลอดภัย รวมทั้งให้บริการด้านการอนามัยให้กับพลเมือง ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำลำคลองทั่วทั้งประเทศ กองทัพเรือมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3,800 นาย และมีเหล่านาวิกโยธินอีกประมาณ 700 นาย กำลังทางเรือประกอบไปด้วย เรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจำนวน 44 ลำ เรือลำที่ใหญ่ที่สุดคือเรือชั้น PR-51 จำนวน 1 ลำ เรือหมายเลข LP-501 มีระวางขับน้ำ 46 ตัน ยาว 21 เมตร กว้าง 5.8 เมตร ติดตั้งปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนกลเบาขนาด 7.62 มม.อีก 2 กระบอก เรือลำนี้คือเรือธงลำใหญ่ที่สุดของพวกเขาแล้ว ส่วนที่เหลือล้วนแต่เป็นเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กความยาวไม่เกิน 15 เมตร โบลิเวียยังมีเรือฝึกจำนวน 1 ลำ เรือน้ำมันจำนวน 2 ลำ เรือพยาบาลอีกจำนวน 3 ลำ ซึ่งนับเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดที่ยังประจำการอยู่


                ทะเลสาบตีตีกากา แหล่งท่องเทียวสำคัญสร้างรายได้มหาศาลให้กับโบลิเวีย และเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือในปัจจุบัน


                                                                                  เรือตรวจการณ์ชั้น PR-51 ติดธงกองทัพเรือโบลิเวีย 

กองทัพเรือโบลิเวียเคยมีเรือขนส่งสินค้าขนาด 6,390 ตันชื่อ Libertador Bolivar (TM-01) เป็นเรือมือสามต่อจากประเทศอังกฤษในปี 1950 โดยต้องนำไปจอดเทียบท่าอยู่ในอาเจนติน่าหรืออุรุกวัย ก่อนลำเลียงยุทธปัจจัยผ่านทางบกเข้าสู่ประเทศ ปัจจุบันปลดระวางเป็นที่เรียบร้อย ใช้บริการขนส่งเอกชนสะดวกและประหยัดกว่า ลำบากลำบนดีเหมือนกันนะครับ

ปี 2015 กองทัพเรือโบลิเวียเซ็นสัญญาซื้อเรือพยาบาลจำนวน 1 ลำ จากอู่ต่อเรือกองทัพเรือเปรูในวงเงิน 1.2 ล้านเหรียญ PIASS (Plataforma Intinerante de Acción Social con Sostenibilidad) มีระวางขับน้ำ 226 ตัน ยาว 42 เมตร กว้าง 8 เมตร เป็นเรือท้องแบนกินน้ำลึกเพียงนิดเดียว เรือจากเปรูลำนี้มีความอเนกประสงค์มากมาย สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลายตามภารกิจ PIASS จะเป็นเรือพยาบาลลำที่ 4 ที่ใหญ่ที่สุดและใหม่ที่สุดของโบลิเวีย

นอกจากเรือลำเล็กลำน้อยทั้งเก่าและใหม่นั้น โบลิเวียยังมีเครื่องบินตรวจการณ์ใบพัดรุ่น Cesna 206 และ Cesna 402 อีกชนิดล่ะ 1 ลำ กองทัพเรือประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลประเทศนี้ มีความหวังอันยิ่งใหญ่ว่าในอนาคตซักวันหนึ่ง พวกเขาจะมีท้องทะเลให้ได้ปกปักษ์รักษาอย่างแท้จริง เพื่อเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการจัดตั้งกองทัพเรือโบลิเวีย ผู้เขียนขอเอาใจช่วยแม้จะมองไม่เห็นหนทาง


                 เรือรุ่น PIASS ซึ่งในประเทศชิลีใช้เป็นเรือโดยสารภายในแม่น้ำ มีการต่อออกมาจำนวนมากกว่า 6 ลำแล้ว

Kazakhstan Navy

                ย้อนกลับมายังทะเลแคสเบี้ยนอีกครั้ง ยังมีอีกสองดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เริ่มจากประเทศคาซัคสถานที่เราคุ้นหู ซึ่งประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1991 (ชาติสุดท้ายในจำนวนสมาชิก 15 ชาติ) จำนวนประชากรประมาณ 18 ล้านคน ขนาดพื้นที่ประมาณ 2,724,900 ตารางกิโลเมตร กว้างใหญ่ไพศาลเป็นอันดับที่ 9 ของโลก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินแดนกึ่งทะเลทราย มีฤดูหนาวที่หนาวเย็นและฤดูร้อนที่แห้งแล้งมาก ทิศเหนือติดประเทศรัสเซีย ทิศใต้ติดประเทศเติร์กเมนิสถาน คีร์กีซถานและอุซเบกิสถาน  ทิศตะวันออกติดประเทศจีน และทิศตะวันตกจรดทะเลแคสเปียน

                กำลังทางทหารของคาซัคสถานแตกต่างจากโบลิเวียราวฟ้ากับเหว คือออกจะเข้มแข็งเกินความจำเป็นเสียด้วยซ้ำ พวกเขาสนิทสนมกับรัสเซียค่อนข้างมาก กองทัพอากาศมีทั้งเครื่องบินขับไล่ Mig-29 Mig-31 และ Su-30 เครื่องบินทิ้งระเบิด Su-25 เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 และ Mi-35 รวมทั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน S-300 กองทัพบกมีรถถังหลัก T-72B3 รถหุ้มเกราะสายพาน BMP-2 รถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-80 รวมทั้งอาวุธโน่นนั่นนี่เยอะแยะมากมาย เราไปดูกองทัพเรือประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกกันดีกว่า ไม่อย่างนั้นบทความคงยาวจนอ่านไม่ไหว

                กองทัพเรือคาซัคสถานก็มีไอเท็มลับเช่นกัน นั่นคือเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด Su-27 จำนวน 2 ลำ และเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 อีกจำนวนหลายลำ (กลืนน้ำลายดังเอื๊อกกันเลยทีเดียว) นอกจากนี้ยังมีสุดยอดท่าไม้ตายอยู่ในมือ นั่นคืออู่ต่อเรือZenit ตั้งอยู่ในเมือง Uralsk ภาคตะวันตกของประเทศ และเริ่มต่อเรือรบกันมาตั้งแต่ปี 1941 เท่ากับมีประสบการณ์อย่างโชกโชนถึง 66 ปี ปัจจุบันสามารถต่อเรือขนาดเล็กได้ทุกประเภท เท่าที่ขนาดแท่นต่อเรือของอู่รองรับได้

                Project 250 Patrol Vessel หรือ Kazakhstan Class คือเรือตรวจการณ์ติดจรวดรุ่นใหม่ล่าสุด ปรับปรุงมากจากแบบเรือ Project 300 ของหน่วยยามฝั่ง มีระวางขับน้ำ 230 ตัน ยาว 42.2 เมตร กว้าง 7.8 เมตร ใช้เครื่องยนต์ MTU จากเยอรมันจำนวน 2 ตัว ความเร็วสุงสุด 30 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 1,200 ไมล์ทะเลหรือ 10 วัน เรือเฟสแรกจำนวน 3 ลำเข้าประจำการครบแล้ว เรือเฟสสองจำนวน 3 ลำอยู่ในระหว่างการต่อ โดยลำแรกของเฟสหรือลำที่ 4 ของทั้งหมด ปล่อยลงน้ำแล้ว และจะเข้าประจำการในปีนี้ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศและพื้นน้ำรุ่น Delta-250 และเรดาร์เดินเรือ Furuno ใช้ระบบอำนวยการรบ Kaskad-250 ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเอง งานนี้พี่ไม่ได้มาเล่น ๆ นะจ๊ะน้องสาว

                Project 250 Patrol Vessel หรือ Kazakhstan Class มีชื่อตามโครงการว่า Bars-MO class และมีฉายาว่า Rocket Artillery Ship มีการติดอาวุธที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เรือลำแรกสุดชื่อ PC-250 Kazakhstan ติดปืนกลอัตโนมัติ 2M-3Mขนาด 25 มม.ลำกล้องแฝดเป็นปืนหลัก และปืนกลอัตโนมัติ ZU-23-2 ขนาด 23 มม.ลำกล้องแฝดเป็นปืนรอง ระบบเป้าลวงกลางเรือจำนวน 2 ระบบ ท้ายเรือติดตั้งจรวดไม่นำวิถีขนาด 122 มม.จำนวน 12 ท่อยิง MLRS BM-21 Grad ที่เราคุ้นเคยมีระยะยิงไกลสุด 20 กิโลเมตร ซึ่งถ้าจรวดทั้งหมดเกาะกลุ่มกันไม่เกิน 100 เมตร เรือฟริเกตของนาโต้ที่ว่าแน่ ๆ ได้มีคางเหลืองกันบ้าง เพราะระบบสงครามอิเลคทรอนิคส์และระบบเป้าลวงไม่ส่งผลต่อวิถีโคจร หลุดเข้าไปซัก 6-7 ลูกหมดสภาพนักศึกษาแน่


                                                                       เรือหมายเลข 250 ทดสอบยิงจรวดไม่นำวิถีขนาด 122 มม.

                ส่วนเรือ Rocket Artillery Ship ลำที่ 2 เป็นต้นไป เปลี่ยนมาใช้ปืนหลักเป็นรุ่น AK-306 พร้อมระบบออปโทรนิคควบคุมการยิง Sens-2-250 ซึ่งพัฒนาเองอีกแล้ว AK-306 คือปืนกล 30 มม.แฝดหกรุ่น AK-630 ที่เราคุ้นเคยนั่นแหละ ทว่าได้ลดสเป็กและน้ำหนักเพื่อใช้ติดตั้งบนเรือขนาดเล็ก อัตรายิงลดลงจาก 4000 นัดต่อนาทีเหลือแค่ 1,000 นัดต่อนาที (แต่ก็ยังมากกว่า DS-30MR ที่ยิงได้จุ๋มจิ๋มแค่ 200 นัดต่อนาที) ติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน Igla พร้อมแท่นยิงแฝดสี่รุ่น Arbalet-K ทดแทนปืนรอง ด้านท้ายเรือติดตั้งระบบแท่นยิงแฝดสี่ Baryer-VK สำหรับจรวดอเนกประสงค์นำวิถีเลเซอร์รุ่น RK-2V ซึ่งมีระยะยิงไกลสุดประมาณ 7.5 กิโลเมตร ขนาดเล็กลงปริมาณน้อยลง แต่กระทัดกว่าเดิมและแม่นยำกว่าเดิม


เรือหมายเลข 253 ซึ่งเป็นลำที่ 4 ในจำนวน 6 ลำ จะติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานขนาดเล็กบนดาดฟ้าชั้นสองกลางลำ (มุมบนซ้ายมือ) และจรวดพื้น-สู่-พื้นขนาดเล็กด้านท้ายสุดของเรือ (มุมบนขวามือ)

                กองทัพเรือคาซัคสถานยังมีเรือขนาดเล็กอีกประมาณ 15 ลำ ที่สำคัญหน่อยได้แก่ เรือตรวจการณ์ขนาด 39 ตัน ชั้น Project 1400M Grif จากรัสเซียจำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ยาว 40 เมตร ชั้น AB-25 จากตุรกีจำนวน 2 ลำ และเรือกวาดทุ่นระเบิดชายฝั่ง Project 10750E ใหม่เอี่ยมอีก 1 ลำ (กำลังต่ออีก 1 ลำ) MCM Alatau สร้างโดยอู่ต่อเรือในรัสเซีย ระวางขับน้ำ 169 ตัน ยาว 32 เมตร กว้าง 6.9 เมตร ติดตั้งปืนกล AK-306 ขนาด 30 มม.แฝดหกจำนวน 1 กระบอก รวมทั้งระบบเรดาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดและยานกู้ทำลายทุ่นระเบิดใต้น้ำรุ่น A9-M เรือสวยมากเห็นแล้วอยากได้ซัก 4 ลำ



Kazakhstan Coast Guard and Future Navy

            หน่วยยามฝั่งคาซัคสถานสังกัดกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ มีความรับผิดชอบในเขตน่านน้ำ 25 กิโลเมตรจากชายฝั่ง พวกเขาได้รับเรือรุ่นใหม่เข้ามาประจำการเช่นกัน ลำแรกคือเรือตรวจการณ์ความเร็วสุงขนาด 62 ตัน Project 0210 Aybar ยาว 27.3 เมตร กว้าง 6.62 เมตร ความเร็วสุงสุด 37 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ 600 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนกล 12.7 มม.ควบคุมด้วยรีโมท เข้าประจำการแล้ว 8 ลำจากยอดรวม 10 ลำ เรืออีกลำคือ Project 300 ซึ่งปรับปรุงมาจากแบบเรือ Project 22180 ของรัสเซีย มีระวางขับน้ำ 218 ตัน ยาว 41.75 เมตร กว้าง 7.8 เมตร ความเร็วสุงสุด 30 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 1,200 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนกล 12.7 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก เรือบางลำติดตั้งปืนกล AK-306 ขนาด 30 มม.พร้อมระบบออปโทรนิคควบคุมการยิง เข้าประจำการครบถ้วนทั้ง 5 ลำแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะมีเฟสสองต่อไปหรือเปล่า


                                       เรือหมายเลข 205 ซึ่งเป็นลำที่ 5 และเป็นลำสุดท้าย ติดอาวุธปืนหลักและระบบควบคุมการยิงทันสมัย

                รูปร่างหน้าตาเรือยามฝั่งเหมือนเรือกองทัพเรือราวกับฝาแฝด เพราะใช้แบบเรือเดียวกันแต่ติดอาวุธต่างกันนั่นเอง คาซัคสถานมีแนวคิดที่ทันสมัยไม่แพ้ประเทศอื่น พวกเขาต่อเรือรุ่นเดียวกันอย่างต่อเนื่องถึง 11 ลำด้วยกัน จึงมีการสร้างงานและองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ราคาเรือต่อหน่วยลดลงตามปริมาณสั่งซื้อ การซ่อมบำรุงและอะไหล่ตามวงรอบใช้งานร่วมกันได้ ขณะที่กองทัพเรือไทยในอดีตใช้วิธีการต่อเรือเฟสละ 3 ลำ จากนั้นก็เว้นไปอีก 4 ปีแล้วค่อยต่อใหม่อีก 3ลำ ทว่าในตอนนี้ดูแล้วแย่กว่าเก่า เพราะต่อเรือเพียง 1 ลำแล้วหยุดไป 2-3 ปีค่อยต่อลำถัดไป ขอบ่นถึงหน่อยนะครับอย่าว่ากันเลย

                กองทัพเรือคาซัคสถานมีความต้องการเรือรบขนาดใหญ่เพิ่มเติม กระทั่งในปี 2014 จึงได้เซ็นข้อตกลงจัดหาเรือคอร์เวตจำนวน 3 ลำจากรัสเซีย ทำไมโครงการนี้จึงไม่ต่อเองภายในประเทศ เป็นเพราะอู่ต่อเรือ Zenit รองรับขนาดเรือได้แค่ 300 ตัน จำเป็นต้องจัดหาจากอู่ต่อเรือ Zelenodolsk ของรัสเซียเป็นการแก้ขัดไปก่อน

                Project 21632 Tornado Design ใช้แบบเรือคอร์เวตชั้น Buyan ของรัสเซียมาปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น มีระวางขับน้ำ 560 ตัน ยาว 61.45 เมตร กว้าง 9.6 เมตร ความเร็วสุงสุด 26 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 1,500 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน Igla พร้อมแท่นยิงแฝดสี่รุ่น Arbalet-K จำนวน 1 ระบบ ปืนกล AK-306 ขนาด 30 มม.แฝดหกจำนวน 2 กระบอก (ไม่ก็รุ่น AK-630 ที่ทันสมัยกว่า) ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติทันสมัย พร้อมระบบสงครามอิเลคทรอนิคส์และระบบเป้าลวง




            เรือในเฟสสองจำนวน 3 ลำต้องการต่อเองในประเทศ โดยจะต้องปรับปรุงอู่ต่อเรือให้รองรับได้เสียก่อน แบบเรือคอร์เวตเปลี่ยนไปเล็กน้อย เพราะกลับมาติดตั้งจรวดไม่นำวิถีขนาด 122 มม.อีกครั้ง โดยใช้ระบบแท่นยิงใหม่ทันสมัยมากขึ้น จำนวนลำกล้องจรวดมีมากขึ้น และมีออปชั่นเสริมคือระบบบรรจุจรวดแบบอัตโนมัติ


Turkmenistan Navy

                เติร์กเมนิสถานเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล พวกเขาได้รับเอกราชในวันที่ 27 ตุลาคม 1991 มีจำนวนประชากรประมาณ 5.2 ล้านคน ขนาดพื้นที่ประมาณ 491,210 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดประเทศคาซัคสถาน ทิศใต้ติดประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถาน ทิศตะวันออกติดประเทศอุซเบกิสถาน และทิศตะวันตกจรดทะเลแคสเปียน

                กองทัพเรือเติร์กเมนิสถานมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ถึงกระนั้นก็ยังมีหน่วยยามฝั่งเฉกเช่นอารยประเทศ มีเรื่องน่าปวดหัวมาเล่าสู่กันฟัง เรือยามฝั่งสั่งซื้อล๊อตเดียวกับเรือกองทัพเรือนี่แหละ ทาสีใกล้เคียงกันติดอาวุธเหมือนกันทุกประการ และมีออปชั่นเสริมเป็นจรวดต่อสู้อากาศยาน ติดตั้งถึง 2 ระบบทั้งที่เรือลำเล็กนิดเดียว

                หลังได้รับเอกราชในปี 1991 กองทัพเรือเติร์กเมนิสถานได้รับโอนเรือจากโซเวียตจำนวนหนึ่ง จัดหาเรือตรวจการณ์จากยูเครนเพิ่มเติม รวมทั้งได้รับโอนเรือขุดเจาะน้ำแข็งจากอเมริกาจำนวน 1 ลำ ต่อมาได้จัดหาเรือตรวจการณ์ความเร็วสุงขนาดเล็กจากรัสเซียเพิ่มเติม บรรดาเรือลำเล็กลำน้อยผู้เขียนอยากขอข้าม ไปพบกับหัวหมู่ทะลวงฟันตัวจิ๊ดกันเลยดีกว่า

                ปี 2011 กองทัพเรือเติร์กเมนิสถาน จัดหาเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีขนาดเล็ก (หรือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีขนาดใหญ่) จากรัสเซียจำนวน 2 ลำ Project 1241.8 Molniya เข้าประจำการในปีถัดไป มีระวางขับน้ำ 550 ตัน ยาว 56 เมตร กว้าง 10.5 เมตร ความเร็วสุงสุด 38 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 2,400 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล AK-630 ขนาด 30 มม.แฝดหกจำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยาน Igla พร้อมแท่นยิงแฝดสอง และจรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 8 นัด ฮาร์พูนสกี้สามารถยิงได้ไกลสุดถึง 130 กิโลเมตร (โดนไม่โดนอีกเรื่อง) ทั้งสองลำถือเป็นกำลังหลักในการป้องกันประเทศ เติร์กเมนิสถานมีความต้องการจำนวน 4 ลำ คาดว่าจะจัดหาเพิ่มเติมเมื่อมีงบประมาณ


เรือชั้น Molniya พร้อมบ้องข้าวหลามจำนวน 16 บ้อง เจ้าของฉายานาม Fisherman Killer of Caspian Sea ชื่อนี้ได้มาไม่ใช่เพราะโชดช่วยหรือจับสลากได้

ปี 2011 กองทัพเรือเติร์กเมนิสถานจัดหาเรือตรวจการณ์ชั้น Tuzla จากตุรกีจำนวน 2 ลำในวงเงิน 55 ล้านยูโร และเข้าประจำการในปีถัดไป NTPB (New Type Patrol Boat) มีระวางขับน้ำ 406 ตัน ยาว 55.7 เมตร กว้าง 8.85 เมตร ความเร็วสุงสุด 25 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 1,000 ไมล์ทะเล ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 40 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 14.5 มม.จำนวน 2 กระบอก ด้านท้ายสามารถติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบขนาดเล็ก หรือเครื่องยิงจรวดปราบเรือดำน้ำและรางปล่อยระเบิดลึกได้ ทว่าปัจจุบันยังคงปล่อยโล่งโจ้งเหมือนเดิม น่าจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล

จากนั้นจึงมีการจัดหาเรือตรวจการณ์ชั้น Tuzla เพิ่มเติมอีกจำนวน 8 ลำ ซึ่งน่าจะมอบให้หน่วยยามฝั่งจำนวน 6 ลำและกองทัพเรืออีกจำนวน 2 ลำ เรือของหน่วยยามฝั่งใช้หมายเลขเรือนำด้วยตัว S (กองทัพเรือใช้ตัว P) ทาสีเหมือนกันแต่คาดสีเขียวกลางลำพร้อมตัวหนังสือภาษาท้องถิ่นขนาดใหญ่ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ THALES MW-08 (กองทัพเรือใช้แค่เรดาร์เดินเรือต๊อกต๋อย) ติดตั้งระบบจรวดต่อสู้อากาศยาน Simbad-RC จำนวน 2 แท่นยิง ควบคุมการยิงด้วยรีโมทพร้อมระบบตรวจจับเป้าหมายรุ่นใหม่ล่าสุด (ทันสมัยกว่า Sadral ของทร.ไทยพอสมควร) เป็นลูกค้ารายแรกสุดที่ซื้อไปติดตั้งบนเรืออย่างเป็นทางการ ทำให้เรือตรวจการณ์ชั้น Tuzla ของหน่วยยามฝั่ง มีเขี้ยวเล็บแหลมคมกว่าของกองทัพเรือประมาณ 2 เสาไฟ


        เรือตรวจการณ์ชั้น Tuzla ของหน่วยามฝั่ง พร้อมเรดาร์ทันสมัยและจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่เอี่ยมจำนวน 2 ระบบ



                                                         เรือตรวจการณ์ชั้น Tuzla ของกองทัพเรือ โล้งโจ้งเชียวนะคุณ

ทำไมกองทัพเรือในทะเลแคสเปียนถึงได้เสริมทัพกันเป็นการใหญ่ แล้วยังติดอาวุธค่อนข้างมากทั้งที่เรือลำเล็กนิดเดียว ไม่เว้นกระทั่งเรือตรวจการณ์ของหน่วยยามฝั่ง พวกเขามีความขัดแย้งกันเองอยู่หรือเปล่า เพราะมีทั้งโปรรัสเซียและโปรอเมริกาประจัญหน้าทุกวี่วัน หรือว่าพี่ปูได้แผ่รังสีอำมหิตออกมา เพื่อสร้างบรรยากาศมาคุให้กับทะเลปิดตายแห่งนี้ เปล่าเลยครับที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่ประเด็น ประเทศอิหร่านต่างหากคือภัยคุกคามที่น่ากลัว

ปี 2015 เรือคอร์เวตชั้น Molniya ของเติร์กเมนิสถาน ยิงจรวดใส่เรือประมงอิหร่านโดยไม่มีการเตือน อิหร่านได้ออกมาประณามอย่างดุเดือด ฝ่ายคนยิงบอกแค่เพียงเรือประมงรุกล้ำน่านน้ำ (น่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานหลายปี และเคยมีคดีความกันมาก่อนเพียงแต่ไม่ออกสื่อ ไม่อย่างนั้นเติร์กเมนคงไม่กล้ากระตุกหนวดเสือ) ทะเลแคสเปียนร้อนระอุขึ้นมาทันควัน ประเทศใกล้เคียงรวมทั้งพี่เบิ้มรัสเซีย ต้องเสริมกำลังทางเรือและเตรียมความพร้อมขั้นสุดยอด

ยังไม่มีการเอาคืนจากฝ่ายอิหร่านนะครับ คงเป็นเพราะติดพันการรบทางบกในซีเรียและเยเมนนี่แหละ แต่ในอนาคตที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเท่าไหร่ ประเทศแถบนี้จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีคนจองกฐินอิหร่านสามัคคีเยอะพอตัว รวมทั้งปากีสถานที่แม้จะไม่ได้ติดทะเลแคสเปียน แต่ก็มีเรื่องระหองระแหงกับขาใหญ่อยู่บ่อยครั้ง

คุยกันส่งท้าย

                เรื่องน่าสนใจเมื่อเขียนมาถึงบรรทัดนี้ก็คือ ตุรกีขายอาวุธได้เยอะกว่าที่ผู้เขียนเคยคาดคิด ล่าสุดเพิ่งขายเรือคอร์เวต MILGEM ขนาด 2,400 ตันให้กับปากีสถานจำนวน 4 ลำ ถ้าอาเซอร์ไบจานจัดหาไปอีกจำนวน 2 ลำ ตามที่ตุรกีได้ยื่นข้อเสนอไปให้แล้วนั้น (อิสราเอลบอกข้ามศพตัวเองไปก่อน) เรือชั้น Sigma ของเนเธอร์แลนด์ และเรือชั้น Gowind ของฝรั่งเศส จะได้เจอคู่แข่งขันที่สมน้ำสมเนื้อในตลาดโลกแน่ ว่าแต่พี่ไทยไม่สนใจซัก 2 ลำบ้างเหรือครับ ในฐานลูกค้าเก่าแก่เคยซื้อแบบเรือตั้งหลายหน รับรองตุรกียอมเสนอราคาพิเศษให้แน่นวล



บทความเรื่องกองทัพเรือประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลก็ต้องจบลงโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกแล้ว ทั้งที่เพิ่งไปได้แค่เพียง 4 ประเทศเท่านั้นเอง บทความตอนต่อไปจะเกี่ยวข้องกับ 6 ประเทศที่เหลือ และถ้าไม่ยาวเกินไปนักก็จะต่อด้วย ประเทศที่ไม่มีกองทัพเรือแต่มีกำลังรบทางเรือทั้ง 8 ประเทศตามลำดับ ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)

           ---------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
















ภาพประกอบอ้างอิงจาก













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น