วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Bangladesh Navy : กองทัพเรือบังกลาเทศ

Bangladesh Navy

    กองทัพเรือบังกลาเทศได้รับการจัดตั้งในปี 1971 ปีเดียวกับการเกิดประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศนั่นแหละครับ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศในแถบเอเชียใต้ได้รับเอกราชจากอังกฤษกันถ้วนหน้า ทว่าดินแดนของบังกลาเทศยังคงเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน โดยถูกเรียกว่าปากีสถานตะวันออกและปากีสถานตะวันตก  เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้น รวมทั้งความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ประชาชนทั้งสองฝั่งมีความขัดแย้งรุนแรงทวีคูณ จนในที่สุดก็ถึงจุดที่ต้องตัดสินใจแตกหัก

    วันที่  26 มีนาคม 1971 ปากีสถานตะวันออก(หรือบังกลาเทศ)ได้ประกาศแยกตัวจากปากีสถานตะวันตก(หรือปากีสถาน) จึงเกิดการปะทะกันระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยอินเดียได้ส่งกำลังรบเข้ามาช่วยฝั่งตะวันออกทำการต่อสู้ สงครามครั้งสำคัญยุติลงในวันที่ 16 ธันวาคม 1971 บังกลาเทศได้เอกราชและการยอมรับจากนานาชาติ มีการปกครองด้วยระบบประธานาธิบดี ก่อนเปลี่ยนมาสู่ระบบรัฐสภาในปี 1991

กองทัพเรือยุคเริ่มต้น

    เนื่องจากประเทศได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ งบประมาณในการจัดหาอาวุธจึงน้อยไปด้วย กองทัพเรือจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้เรือมือสอง เริ่มจากเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กและเรือตอร์ปิโดจากจีนจำนวนหนึ่ง กระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม 1976 เรือฟริเกตลำแรกสุดจึงได้เข้าประจำการ BNS Umar Farooq คือเรือฟริเกตชั้น Salisbury ของอังกฤษที่เคยใช้ชื่อ F61 Llandaff มาก่อน เรือรบขนาด 2,400 ตัน ถูกสร้างขึ้นในปี 1958 ด้วยราคา 3.39 ล้านปอนด์ มีความยาว 103.5 เมตร กว้าง 12.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 102 มม.แท่นคู่จำนวน 1 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นคู่จำนวน 1 กระบอก และจรวดต่อสู้เรือดำน้ำ Squid อีก 1 ระบบ เรือ BNS Umar Farooq ปลดประจำการในวันที่ 30 ธันวาคม 2015 เรือรบอายุ 57 ปีถูกปรับปรุงเป็นเรือพิพิธภัณฑ์ต่อไป

     2 ปีต่อมาเรือฟริเกตลำที่ 2 ก็เข้าประจำการบ้าง บังกลาเทศเลือกเรือฟริเกตมือสองชั้น Leopard ของอังกฤษจำนวน 2 ลำ BNS Ali Haider (1978) ซึ่งก็คือ F37 HMS Jaguar เข้าประจำการในปี 1978 อีก 4 ปีต่อมาเป็นคิวของ BNS Abu Bakar (1982) หรือชื่อเดิม F27 HMS Lynx เรือฟริเกตชั้น Leopard ใช้แบบเรือเดียวกันกับเรือฟริเกตชั้น Salisbury ถือเป็นเรือพี่เรือน้องที่คลานตามกันมาก็ว่าได้ ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,520 ตัน ยาว 100 เมตร กว้าง 12 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 102 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.แท่นคู่จำนวน 1 กระบอก และจรวดต่อสู้เรือดำน้ำ Squid อีก 1 ระบบ เรือชั้น Leopard ทั้ง 2 ลำของกองทัพเรือบังกลาเทศ ปลดประจำการพร้อมกันในวันที่ 22 มกราคม 2014 มีอายุการใช้งานรวม 56 ปี และ 54 ปีตามลำดับ

    การมาของเรือฟริเกตอังกฤษจำนวน 3 ลำ ทำให้กองทัพเรือบังกลาเทศมีความพร้อมรบมากขึ้น และทำให้ดุลการรบทางทะเลมีความทัดเทียมกันมากขึ้น เพราะกองทัพเรือปากีสถานในช่วงนั้นค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องมาจากการรบทางทะเลกับกองทัพเรืออินเดียในปี 1971  พวกเขาได้สูญเสียเรือพิฆาตจำนวน 2 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวน 1 ลำ เรือดำน้ำจำนวน 1 ลำ เรือตรวจการณ์จำนวน 3 ลำ และเรือปืนขนาดเล็กอีกจำนวน 7 ลำ ขณะที่อินเดียสูญเสียเรือฟริเกตจำนวน 1 ลำ และเครื่องบินจำนวน 1 ลำเท่านั้น ปากีสถานประจำการด้วยเรือพิฆาตมือสองชั้น Gearing จากอเมริกา เรือพิฆาตมือสองชั้น County จากอังกฤษ รวมทั้งเรือฟริเกตมือสองชั้น River จากอังกฤษเช่นกัน เรือทุกลำเป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ความทันสมัยจึงไม่เทียบเท่าเรือที่ใหม่กว่ากันเกือบ 20 ปี ผมขอยกตัวอย่างแค่เรื่องระบบเรดาร์อย่างเดียวพอนะครับ

    ระบบหรือเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล Type 965 บนเรือรบทั้ง 3 ลำ มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 220 ไมล์ทะเลหรือ 410 กิโลเมตร (ระบบเรดาร์ Sea Giraffe AMB บนเรือหลวงจักรี มีระยะตรวจจับไกลสุด 180 กิโลเมตร ส่วนระบบเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล Thales LW08 บนเรือหลวงนเรศวร มีระยะตรวจจับไกลสุด 140 ไมล์ทะเล หรือ 260 กิโลเมตร) เรดาร์บนเรือ BNS Umar Farooq ยังเป็นรุ่นใหม่กว่าด้วย เพราะ Type 965 (AKE 2) ใช้จานรับสัญญานซ้อนกัน 2 ชั้น (เช่นเดียวกับเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Type 42 ของอังกฤษ) ทำหน้าที่เป็นเรดาร์เตือนภัยทางอากาศเคลื่อนที่ได้เลย นอกจากนี้ยังติดตั้ง Type 982 Aircraft Direction Radar อีก 1 ระบบ เชื่อหรือไม่ว่าเรือฟริเกตลำนี้ ติดตั้งเรดาร์และโซนาร์ทุกชนิดรวมกันถึง 10 ระบบ

    นอกจากเรือฟริเกตจากอังกฤษแล้ว บังกลาเทศยังได้ของแปลกจากยูโกสลาเวียด้วย เรือตรวจการณ์ชั้น Kraljevica จำนวน 2 ลำถูกโอนมาให้ในปี 1975 BNS Karnafuli และ BNS Tista มีระวางขับน้ำเต็มที่ 200 ตัน ยาว 41 เมตร กว้าง 6.3 เมตร เข้าประจำการครั้งแรกในปี 1956 เรือถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ต่อต้านเรือดำน้ำ ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 จำนวน 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน 20 มม.แฝดสี่จำนวน 1 กระบอก จรวดต่อสู้เรือดำน้ำขนาด 128 มม.จำนวน 2 ระบบ รวมทั้งรางปล่อยระเบิดลึกด้านท้ายเรืออีก 2 ราง ได้มีการปรับปรุงเรือครั้งใหญ่ในปี 1995 และ 1998 ตามลำดับ สถานะปัจจุบันยังคงประจำการอยู่ทั้งสองลำ

    ผู้เขียนขอย้อนกลับไปที่เรืออังกฤษอีกครั้ง คราวนี้เป็นเรือมือหนึ่งที่ต่อขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ผู้อ่านหลายท่านคงทราบมาก่อน ว่าอู่ต่อเรือวอสเปอร์เคยตั้งสาขาอยู่ที่เกาะแห่งนี้ เพื่อที่จะกดราคาเรือให้ต่ำกว่าการต่อจากประเทศอังกฤษ แบบเรือทั้งหมดมีระวางขับน้ำไม่เกิน 600 ตัน ลูกค้าทั้งหมดมาจากประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง  กองทัพเรือบังกลาเทศสั่งต่อเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่จำนวน 2 ลำในปี 1984 เรือชั้น Meghna มีระวางขับน้ำเต็มที่ 410 ตัน ยาว 46.5 เมตร กว้าง 10.5 เมตร ติดตั้ง ติดตั้งปืนใหญ่ Bofors 57 มม.จำนวน 1 กระบอก  ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/70 มม.จำนวน 1 กระบอก ควบคุมการยิงด้วยระบบออปโทรนิค Selenia NA18 B รวมทั้งปืนกลขนาด 7.62 มม.จำนวน 2 กระบอก ถือเป็นเรือเล็กที่มีอาวุธเด็ดเกินตัวกันเลยทีเดียว

    หลังจากเรือทั้ง 2 ลำเข้าประจำการได้เพียง 2 ปี อู่ต่อเรือวอสเปอร์สาขาสิงคโปร์ก็ปิดตัวลง โดยได้สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับอู่ต่อเรือ ST Marine ประเทศไทยก็เคยสั่งต่อเรือจากที่นี่จำนวนหลายลำ

เรือจีนมาแล้ว

    กองทัพเรือบังกลาเทศยังคงเดินหน้าต่อไป ในปี 1983 มีการจัดหาเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Type 24 จากจีนจำนวน 5 ลำ ซึ่งก็คือเรือชั้น Heku จากโซเวียตนั่นเอง มีระวางขับน้ำเพียง 79 ตัน ยาว 27 เมตร กว้าง 6.3 เมตร สามารถทำความเร็วได้สุงสุดถึง 38 น๊อต ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 25 มม.แท่นคู่จำนวน 1 กระบอก และจรวดต่อสู้เรือรบ SY-1 Silkworm จำนวน 2 นัด เรือจิ๋วชั้นนี้ถือเป็นการยกระดับกองทัพเรือ จากยุคตอร์ปิโดขนาด 533 มม.ไปสู่ยุคจรวดนำวิถี หลังกองทัพเรือไทยมีจรวดกาเบรียลเพียง 6 ปีเท่านั้น

    5 ปีต่อมาอาวุธจากจีนก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อมีการจัดหาเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Type 021 จำนวน 4 ลำ เรือลำใหม่มีขนาดใหญ่ขึ้นคือระวางขับน้ำ 171 ตัน ยาว 38.6 เมตร กว้าง 7.6 เมตร ความเร็วสุงสุดลดลงมาเหลือ 35 น๊อต ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน  AK230 แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก ควบคุมการยิงด้วย Kolonka optronic director ท้ายเรือเป็นจรวดต่อสู้เรือรบ SY-1 Silkworm จำนวน 4 นัด บนเสากระโดงหลักติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Type 352 Square Tie ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นจึงมีระยะปฎิบัติการณ์ไกลขึ้น ผู้เขียนกำลังจะเขียนเรื่องที่น่าสนุกกว่านั้น ได้มีการปรับปรุงใหญ่เรือชั้นนี้ในปี 2009  โดยการติดตั้งระบบเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่ รวมทั้งจรวดต่อสู้เรือรบ C-704 จำนวน 4 นัดทดแทนของเดิม จึงมั่นใจได้ว่าจะได้เห็น Type 021 อีกนานพอสมควร

    ตัดไปที่กองเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ได้มีการจัดหาเรือจากจีนเพิ่มเติมเช่นกัน เรือชั้น Type 062 Shanghai II จำนวน 8 ลำ ได้ทยอยเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1982 จนครบทุกลำ มีระวางขับน้ำเต็มที่ 135 ตัน ยาว 38.78 เมตร กว้าง 5.41 เมตร ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.แท่นคู่ จำนวน 2 กระบอก  ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 25 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก รวมทั้งระเบิดลึกจำนวน 8 ลูกที่ท้ายเรือ 13 ปีต่อมาได้มีการตั้งหน่วยยามฝั่งขึ้น เรือชั้น Type 062 จำนวน 4 ลำจึงถูกโอนให้กับหน่วยงานใหม่ (ปี 1996 จำนวน 1 ลำ และปี 2005 จำนวน 3ลำ) เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดของหน่วยยามฝั่งบังกลาเทศ จนกระทั่งเรือลำสุดท้ายของบทความนี้เข้าประจำการ

    เรือฟริเกตจำนวน 3 ลำ เรือตอร์ปิโดขนาดเล็กจำนวน 4 ลำ รวมทั้งเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจำนวน 9 ลำ นับว่าเพียงพอรับมือกับภัยคุกคามผิวน้ำแล้ว ทว่าการรับมือกับภัยคุกคามใต้น้ำ ยังมีแค่เพียงเรือฟริเกตจำนวน 3 ลำ และเรือตรวจการณ์จากยูโกสลาเวียจำนวน 2 ลำเท่านั้น ข้อดีของเรือรบอังกฤษในยุคนั้นก็คือ ติดตั้งเรดาร์และโซนาร์จำนวนหลายชุดบนเรือลำเดียว ข้อเสียก็คือมีขนาดใหญ่เทอะทะและกินน้ำลึกขาดความคล่องตัวในการทำภารกิจใกล้ชายฝั่ง ครั้นจะพึ่งพาเรือตรวจการณ์ของยูโก ก็มีแต่โซนาร์สุดแสนโบราณทำงานไปตามท้องเรื่อง

    ในปี 1985 กองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ (Submarine Chaser) ชั้น Type 037 Hainan จำนวน 2 ลำ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 400 ตัน ยาว 58.77 เมตร กว้าง 7.2 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 57 มม.แท่นคู่ จำนวน 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 25 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือดำน้ำ RBU-1200 จำนวน 4 ระบบ และรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือจำนวน 2 ราง 10 ปีต่อมา BNS Durjoy (1985) เสียหายอย่างหนักระหว่างเข้ารับการซ่อมบำรุง ทำให้ต้องปลดประจำการเรือในท้ายที่สุด

    ได้มีการจัดหาเรือชั้น Type 062-I Haizhui จำนวน 1 ลำ เพื่อนำมาใช้งานทดแทน BNS Durjoy (1985) ที่ถุกจำหน่ายไป Type 062-I ก็คือ Type 062 Shanghai II เวอร์ชั่นปราบเรือดำน้ำนั่นเอง ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือดำน้ำ RBU-1200 และระบบโซนาร์เพิ่มเติมเข้าไป BNS Barkat เป็นเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำลำที่ใหม่สุด คือเข้าประจำการปี 1995 และมีระวางขับน้ำน้อยที่สุดเพียง 170 ตันอีกด้วย

    เรือจากจีนลำถัดไปเป็นเรือช่วยรบ เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Type 010 มีระวางขับน้ำ 590 ตัน  ยาว 59.94 เมตร กว้าง 8.38 เมตร ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.แท่นคู่ จำนวน 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 25 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก ปืนกลขนาด 14.5 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก และรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือจำนวน 2 ราง เรือชั้น Type 010 พัฒนามาจากเรือชั้น T43 ของโซเวียต ติดตั้งระบบโซนาร์ค้นหาทุ่นระเบิด รวมทั้งอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดบริเวณท้ายเรือ แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ค่อนข้างล้าสมัยพอสมควร

    เรือจากจีนลำสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ เป็นเรือจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดระวางขับน้ำ 1,702 ตัน เป็นเรือฟริเกตมือสองอายุน้อยที่สุดเพียง 2 ปี ช่วงประจำการกับกองทัพเรือจีนเคยยิงเรือสินค้าเวียตนามมาแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นเรือฟริเกตติดจรวดนำวิถีลำแรกสุด BNS Osman หรือเรือฟริเกตชั้น Type 053H1 (Jianghu-II) มีความยาว 103.2 เมตร กว้าง 10.8 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 100 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.แท่นคู่จำนวน 4 กระบอก จรวดต่อสู้เรือดำน้ำ RBU-1200 จำนวน 2 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ SY-1 Silkworm จำนวน 6 นัด และรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือจำนวน 2 ราง

    BNS Osman เข้าประจำการในช่วงปลายปี 1989 ได้รับการปรับปรุงครั้งสำคัญต้นปี 2009 ด้วยการติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4-8 นัดทดแทนของเดิม รวมทั้งปรับปรุงระบบสื่อสารให้ทันสมัยมากกว่าเดิม เรือได้เข้าร่วมกับสหประชาชาติระหว่างปี 2010- 2014 ในภารกิจรักษาความปลอดภัยน่านน้ำเลบานอน  เรียกว่าติดจรวดใหม่แล้วออกไปอวดธงกับชาวโลกกันเลย เป็นภารกิจที่กองทัพเรือไทยห่างเหินนานพอสมควร

เรืออังกฤษยังไม่ตาย

    ระหว่างปี 1983-1995 กองทัพบังกลาเทศสั่งซื้อเรือรบจำนวนมากจากประเทศจีน ส่วนใหญ่เป็นเรือใหม่หรือใช้งานมาแล้ว 2-3 ปี เรือทั้งหมดมีขนาดเล็กระวางขับน้ำไม่เกิน 600 ตัน ติดตั้งอาวุธและระบบเรดาร์ภายใต้ลิคสิทธิ์จากโซเวียต จากนั้นก็ก้าวกระโดดไปเป็นเรือฟริเกตชั้นเจียงหูเลย ทว่าเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่และเรือคอร์เวต รวมทั้งเรือช่วยรบขนาดใหญ่กว่า 600 ตัน อุตสาหกรรมการต่อเรือจีนในยุคนั้นยังไม่ค่อยชำนาญ บังกลาเทศได้เบนเข็มไปหาอังกฤษอีกรอบหนึ่ง เพื่อจัดหาเรือรบและเรือช่วยรบมือสองเข้าประจำการ

    กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือรบมากพอควรแล้ว จึงได้จัดตั้งกองเรือกวาดทุ่นระเบิดขึ้นบ้าง นอกจากเรือชั้น Type 010 จำนวน 1 ลำซึ่งเข้าประจำการในปี 1996 แล้ว ยังมีการจัดหาเรือเรือกวาดทุ่นระเบิดมือสองของอังกฤษจำนวน 4 ลำด้วย เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น River ระวางขับน้ำเต็มที่ 890 ตัน ยาว 47 เมตร กว้าง 10.5 เมตร ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกลขนาด 7.62 มม.จำนวน 2 กระบอก แม้จะเป็นเรือเก่าจากกองทัพเรืออังกฤษก็จริง แต่มีอายุเพียง 10 ปีและแบบเรือค่อนข้างทันสมัย ทำภารกิจได้ดีกว่า ออกทะเลลึกได้ดีกว่า และติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยกว่าเรือจีนแบบเทียบไม่ติด ทั้งยังทำภารกิจตรวจการณ์ไกลฝั่งได้ในระดับหนึ่ง  ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนชอบลำนี้เป็นพิเศษ พ่ออ้วนศรีขยี้ใจสาวจากดาวเคราะห์แคระ

    ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งหรือ OPV หรือ Offshore Patrol Vessel เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น บังกลาเทศต้องการเรือแบบนี้จำนวนมาก ทว่าโครงการเรือชั้น Sea Dragon ไม่ได้รับการจัดหาเพิ่มเติม พวกเขาจึงมองไปที่เรือรบมือสองของอังกฤษอีกครั้ง เรือตรวจการณ์อายุ 25 ปีชั้น Island คือตัวเลือกที่ดีที่สุด มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,200 ตัน ยาว 59 เมตร กว้าง 11 เมตร ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกลขนาด 7.62 มม.จำนวน 2 กระบอก บังกลาเทศได้กวาดมาทั้งสิ้นจำนวน 5 ลำจากทั้งหมด 7 ลำ แบบเรือค่อนข้างล้าสมัยติดอาวุธได้ไม่มาก แต่ทำภารกิจไกลฝั่งได้ดีและทนทานต่อคลื่นลมในทะเล เรือลำแรกคือ BNS Sangu เข้าประจำการในปี 2002 ติดตั้งระบบเรดาร์เดินเรือและอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่

    ก่อนที่ผู้เขียนจะเขียนถึงเรือลำอื่นต่อ ต้องขอบอกความจริงอีกเรื่องหนึ่งก่อน บังกลาเทศไม่ได้มีเรือชั้น Island เพียง  5 ลำ ก่อนหน้านี้ในปี 1994 พวกเขาได้ซื้อเรือชั้น Island จำนวน 1 ลำมาก่อนแล้ว BNS Shaheed Ruhul Amin ทำหน้าที่เป็นเรือฝึก ทดแทนเรือลำเดิมที่ใช้ชื่อเดียวกัน ซึ่งดัดแปลงมาจากเรือขนส่งสินค้าแคนาดา บังกลาเทศมักใช้ชื่อเรือและหมายเลขเรือเดิม แม้จะไม่ทุกครั้งแต่ก็เป็นส่วนใหญ่ สามารถสรุปความได้ว่า พวกเขามีเรือชั้น Island จำนวนถึง 6 ลำ เหลือแบ่งให้ตรินิแดดและโตเบโกเพียง 1 ลำเท่านั้น

    เรือมือสองจากอังกฤษเดินทางมาแล้วจำนวน 10 ลำ และผู้เขียนอยากจะพูดถึงตัวจิ๊ดที่สุดต่อไปเลย เมื่ออังกฤษต่อเรือตรวจการณ์ชั้น Island ครบจำนวนแล้ว พวกเขาได้เริ่มโครงการเรือตรวจการณ์ชั้น Castle ต่อทันที มีความต้องการจำนวนเรือรวมทั้งสิ้น 6 ลำด้วยกัน ทว่าต่อครบ 2 ลำก็ต้องยุติด้วยเหตุผลโน่นนั่นนี่ กระทั่งปี  2010  เรือทั้งหมดถูกขายต่อให้กับบังกลาเทศ มีการส่งมอบเรือในปีถัดไปหลังปรับปรุงเสร็จเรียบร้อย เรือชั้น Castle ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,427 ตัน ยาว 81 เมตร กว้าง 11.5 เมตร ติดตั้งระบบเรดาร์เดินเรือและอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ ด้านอาวุธมีเพียงปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอกเท่านั้น

    เรือทั้ง 2 ลำถูกชุบชีวิตอีกครั้งในปี 2013 ด้วยการติดตั้งปืนใหญ่ AK-176 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G  และจรวดต่อสู้เรือรบ C-704 อีกจำนวน 4 นัด กองทัพเรือบังกลาเทศกำหนดให้เป็นเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญและต่ออายุไปอีกยาวนาน เรือทั้ง 2 ลำจะประจำการไปอีกอย่างน้อยก็ 20 ปี ตามมาตราฐานกองทัพเรือบังกลาเทศเขาล่ะ

เกาหลีใต้ประเดิมตลาด

    ผู้เขียนขอพาไปแวะประเทศคุ้นเคยกันบ้างนะครับ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจีนนักก็คือเกาหลีใต้นั่นเอง ผู้อ่านทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า อุตสาหกรรมการต่อเรือเกาหลีใต้ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปเพียง 20 ปีก่อน พวกเขายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นไม่เป็นที่รู้จักกับชาวโลก ระหว่างปี 1995 หน่วยยามฝั่งบังกลาเทศได้ถูกจัดตั้งขึ้น และได้มีการสั่งเรือตรวจการณ์จำนวน 1 ลำจากอู่ต่อเรือฮุนได BNS Madhumati หรือเรือชั้น Sea Dragon มีระวางขับน้ำเต็มที่ 635 ตัน  ยาว 60.8 เมตร กว้าง 8 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ Bofors 57 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/70 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก หน่วยยามฝั่งมีแผนจะจัดหารวมทั้งสิ้นถึง 6 ลำ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณจึงไม่ได้สั่งเพิ่มเติมอีก BNS Madhumati เข้าประจำการกับกองทัพเรือในปี 1998 ส่วนหน่วยยามฝั่งได้รับโอนเรือลำอื่นของกองทัพเรือทดแทน

    อาจกล่าวแบบเป็นกันเองได้ว่า บังกลาเทศคือลูกค้ารายแรกของอู่ต่อเรือกาหลีใต้ เรือชั้น Sea Dragon แทบไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ภาพถ่ายของเรือลำนี้แทบจะไม่มีเลยว่างั้น จนกระทั่งเรือได้เข้าร่วมกับสหประชาชาติระหว่างปี 2010- 2014 ในภารกิจรักษาความปลอดภัยน่านน้ำเลบานอน นั่นเองผู้เขียนจึงได้รู้ความจริงว่า มีเรือลำนี้อยู่บนโลกใบนี้ด้วย และเมื่อผู้เขียนรู้โลกนี้ย่อมรู้ตามกัน เป็นเรือที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจพอตัวนะครับ

    จากนั้นไม่นานเรือเกาหลีใต้ชุดที่ 2 ก็ตามมา คราวนี้เป็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่งรับโอนมาจากกองทัพเรือเกาหลีใต้ เรือชั้น Chamsuri หรือ Sea Dolphin มีระวางขับน้ำเต็มที่ 170 ตัน ยาว 37 เมตร กว้าง 7 เมตร ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก เข้าประจำการในปี 2000 จำนวน 2 ลำ และในปี 2004 อีกจำนวน 2 ลำ (รวมทั้งหมด 4 ลำ) นอกจากบังกลาเทศแล้วยังมีอีกหลายชาติที่ได้รับโอน กองทัพเรือฟิลิปปินส์ได้มากสุดจำนวนถึง 8 ลำด้วยกัน

    และแล้วก็มาถึงคิวของพระเอกตัวจริง นั่นก็คือโครงการเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1994 แต่มีความล่าช้าเนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณ กระทั่งในปี 1998 อู่ต่อเรือแดวูจากเกาหลีใต้จึงได้รับการคัดเลือก เรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น DW 2000-H ซึ่งก็คือเรือชั้น Ulsan รุ่นปรับปรุงใหม่ มีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,370 ตัน ยาว 103.7 เมตร กว้าง 13.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/70 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Otomat  Mk. II Block IV จำนวน 4-8 นัด (ท่อยิงจรวด Otomat  Mk. II เป็นแบบ 2 นัดต่อ 1 กล่อง ท่อยิงจำนวน 4 กล่องใส่จรวดได้มากสุด 8 นัด) จรวดต่อสู้อากาศ FM-90 ระยะยิง 15 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Whitehead A244S จำนวน 6 นัด ติดตั้งระบบเรดาร์เดินเรือ เรดาร์ตรวจการณ์ เรดาร์ควบคุมการยิง ระบบโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำ ระบบสื่อสารข้อมูล อุปกรณ์สงครามอิเลคทรอนิคส์ ระบบเป้าลวง และระบบอำนวยการรบ จากค่ายตะวันตกอย่างครบครัน รวมทั้งลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขนาด 7 ตันจำนวน 1 ลำ

    BNS Khalid Bin Walid เป็นเรือรบที่ทันสมัยที่สุดของบังกลาเทศ  และเป็นการยกระดับให้เทียบเท่าเรือรบจากอารยประเทศ เรือได้เข้าประจำการกลางปี 2001 โดยยังไม่ได้ติดตั้งอาวุธสำคัญบางอย่าง ทว่า 6 เดือนถัดมาพวกเขาก็ต้องพบกันฝันร้าย เมื่อเรือฟริเกตเกาหลีใต้มีปัญหานานับประการ สุดแล้วที่จะเยียวยาจึงต้องส่งกลับไปซ่อมที่แดวู จริงอยู่ว่าเรือยังอยู่ในช่วงรับประกัน แต่ก็ต้องเสียเวลา เสียโอกาส รวมทั้งเสียความรู้สึก เรือฟริเกตส่งออกลำแรกของเกาหลีใต้ใช้เวลาซ่อมแซมเกือบ 5 ปี จนถึงกลางปี 2007 จึงกลับเข้าประจำการอีกครั้ง กองทัพเรือบังกลาเทศได้เปลี่ยนชื่อเรือมาเป็น BNS Bangabandhu และติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานจากประเทศจีนเพิ่มเติมด้วย ทำให้เรือมีความพร้อมรบ 3 มิติโดยสมบรูณ์แบบ ผู้อ่านคงแปลกใจที่เลือกใช้จรวดจากจีน อาจเพราะมาตราฐานการจัดหาอาวุธก็เป็นได้ ทั้งนี้กองทัพอากาศก็ใช้จรวด FM-90 ติดบนรถหุ้มเกราะล้อยางเช่นกัน

    เรือรบทันสมัยที่สุดได้รับภารกิจคุ้มกันน่านน้ำประเทศ จึงไม่ได้ทำภารกิจให้สหประชาติเหมือนเรือลำอื่น ราคาของโครงการนี้อยู่ที่ 100 ล้านเหรียญบวกลบ ไม่ทราบรายละเอียดว่ารวมอะไรบ้างนะครับ ความเห็นส่วนตัวดูว่าสวยดีและเหมาะสมกับเขา เลยพาลนึกถึงโครงการต่อเรือรบในประเทศของเราไปด้วย เรือขนาด 2,500 ตันติดอาวุธประมาณนี้น่าจะเริ่มต้นง่ายที่สุด ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึงนะครับทุกท่าน

ลุงแซมไม่ยอมน้อยหน้า

     กองทัพเรือบังกลาเทศยังมีของแปลกให้ได้ชมกัน คราวนี้ข้ามมาไกลจากฝั่งทวีปอเมริกา เป็นเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่สุดของหน่วยยามฝั่งอเมริกา เรือชั้น Hamilton ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,250 ตัน ยาว 115 เมตร กว้าง 13 เมตร อเมริกาทยอยปลดประจำการเกือบทั้งหมด จึงมีโครงการปรับปรุงเรือแล้วโอนให้ประเทศพันธมิตร กองทัพเรือบังกลาเทศได้รับโอนจำนวน 2 ลำ BNS Somudra Joy เข้าประจำการในปี 2013 BNS Somudra Avijan เข้าประจำการในปี 2015 ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเรือลำล่ะประมาณ 12 ล้านเหรียญ ติดตั้งปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง MK 92 และปืนกลขนาด 7.62 มม.อีกจำนวน 2 กระบอก

    เรือชั้น Hamilton มีขนาดใหญ่ที่สุดระวางขับน้ำมากที่สุด ระยะทำการไกลถึง 18,000 ไมล์ทะเลหรือ 30,000 กิโลเมตร มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์(แบบพับได้)ด้านท้ายเรือ สามารถทำภารกิจในทะเลลึกได้ดีกว่าเรือรบทุกลำ กองทัพเรือบังกลาเทศกำหนดให้เป็นเรือฟริเกตตรวจการณ์  และมีแผนติดตั้งอาวุธทันสมัยเพิ่มเติมในอนาคต คงต้องรอดูกันไปล่ะครับ ว่าท้ายที่สุดจะออกมาแบบไหน

    การมาของเรือชั้น Hamilton ไม่ใช่ครั้งแรกสุด ก่อนหน้านี้อเมริกาเคยโอนเรือระบายพลขนาดใหญ่หรือ LCU จำนวน 3 ลำระหว่างปี 1990-1992 รวมทั้งเรือยางเคลื่อนที่เร็วสำหรับหน่วยปฎิบัติการพิเศษอีกจำนวน 12 ลำ มีข่าวการโอนเรือชั้น Hamilton ลำที่ 3 แต่ยังไม่เป็นทางการ คาดว่าทุกอย่างจะชัดเจนภายในปี 2017

เรือจีนมาอีกแล้ว

    กองทัพเรือบังกลาเทศใช้อาวุธหลากหลายประเทศ ทว่าใช้อาวุธจากจีนค่อนข้างมากเป็นพิเศษ ด้วยว่าราคาไม่แพงหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีก็ตาม เรือรบใหม่เอี่ยมหรือมือสองจึงมักติดอาวุธจากจีนเสมอ และปัจจุบันจีนสามารถต่อเรือรบทุกขนาดและทุกชนิด ให้ลูกค้าคนสำคัญได้เลือกซื้อหากันตามใจชอบ บังกลาเทศหันมาสนใจเรือจีนอีกครั้ง ในโครงการจัดหาเรือทดแทนเรือฟริเกตจากอังกฤษ

    พวกเขาตัดสินใจเลือกเรือฟริเกตชั้นเจียงหูอีกครั้ง คราวนี้เป็นรุ่น Type 053H2 (Jianghu-III) ซึ่งปรับปรุงทันสมัยมากขึ้น BNS Abu Bakar และ BNS Ali Haider เข้าประจำการในปี 2014 เรืออายุ 27 ปีมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,960 ตัน ยาว 103.2 เมตร กว้าง 11.3 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 100 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.แท่นคู่จำนวน 4 กระบอก จรวดต่อสู้เรือดำน้ำ RBU-1200 จำนวน 2 ระบบ และจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4-8 นัด เรดาร์และโซนาร์ทันสมัยมากขึ้นเล็กน้อย มีการติดตั้งระบบสื่อสารดาต้าลิงค์รุ่นใหม่จากจีนด้วย โดยจะเป็นระบบสื่อสารมาตราฐานบนเรือรบรุ่นใหม่ทั้งหมด

    วันที่ 12 พฤษภาคม 2014 เรือ  BNS Ali Haider ได้เข้าร่วมกับสหประชาชาติ ในภารกิจรักษาความปลอดภัยน่านน้ำเลบานอน ทดแทนเรือ BNS Osman ที่ทำภารกิจมาร่วม 4 ปีแล้ว

    เรือฟริเกตอังกฤษจำนวน 3 ลำได้ปลดประจำการลง โดยแทนที่ด้วยเรือฟริเกตจากจีนจำนวน 2 ลำ เมื่อบวกเรือฟริเกตจากอเมริกาจำนวน 2 ลำ ซึ่งมีแผนติดอาวุธทันสมัยในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล จึงทำให้กองเรือฟริเกตเพิ่มจาก 5 ลำเป็น 6 ลำ สามารถรองรับการทำทุกภารกิจได้เหมือนเดิม

    จะเขียนถึงเรือจีนลำต่อไปกันเลยครับ กองทัพเรือบังกลาเทศต้องการจัดตั้งกองเรือคอร์เวต เพื่อทำภารกิจตรวจสอบพื้นที่สุ่มเสี่ยงอันตราย หลังจากเรือตรวจการณ์ของตนเองประสบเหตุหรือตรวจพบเข้า จึงต้องการเรือที่มีความคล่องตัวสุงราคาไม่แพงนัก ติดตั้งปืนใหญ่ ปืนต่อสู้อากาศยาน จรวดต่อสู้เรือรบ และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะสั้น มีค่าปฎิบัติการต่ำกว่าเรือฟริเกตขนาดใหญ่ โดยไม่ทำภารกิจปราบเรือดำน้ำแต่อย่างใด โดยเริ่มต้นจากนำเรือชั้น Castle มาปรับปรุงให้เป็นเรือคอร์เวต ต่อด้วยจัดหาเรือคอร์เวตรุ่นใหม่จากจีนจำนวน 2 ลำ

    เรือชั้น Type 056 ใช้แบบเรือที่ค่อนข้างทันสมัย ออกแบบลดการตรวจจับด้วยเรดาร์หรือ Stealth ระวางขับน้ำ 1,300 ตัน ยาว 90 เมตร กว้าง 11.4 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ AK-176 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G  ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 30 มม.ควบคุมด้วยรีโมทจำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัด และจรวดต่อสู้อากาศยาน  FL-3000N ระยะยิงไกลสุด 9 กิโลเมตรจำนวน 8 นัดมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขนาด 7 ตัน ไม่มีการติดตั้งโซนาร์และอาวุธปราบเรือดำน้ำ (สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้เพราะมีพื้นที่รองรับ) จีนขายเรือคอร์เวตชั้น Type 056 ให้บังกลาเทศเป็นชาติแรก ทั้งที่ตนเองยังต้องการเรือชั้นนี้อีกหลายสิบลำ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมของพวกเขา

    BNS Shadhinota และ BNS Prottoy เข้าประจำการพร้อมกันในวันที่ 19 มีนาคม 2516 กองเรือคอร์เวตบังกลาเทศมีจำนวนเรือ 4 ลำเข้าไปแล้ว แต่พวกเขายังไม่ยอมหยุดเพียงเท่านี้ จึงได้จัดหาเรือคอร์เวตชั้น Type 056 เพิ่มเติมอีก 2 ลำในเฟสสอง จำนวนเรือทั้งโครงการมียอดรวมอยู่ที่ 8 ลำ ซึ่งถ้าทำสำเร็จลุล่วงโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น กองเรือคอร์เวตบังกลาเทศจะมีจำนวนเรือถึง 10 ลำ ย้ำ!... 10 ลำด้วยกัน  เป็นการเสริมสร้างกำลังรบให้แข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยเรือรบใหม่เอี่ยมสุดทันสมัยจากประเทศจีน และถ้าติดตั้งโซนาร์กับตอร์ปิโดเบาเพิ่มเติมในอนาคต กองเรือคอร์เวตจะทำการรบได้ครบทั้ง 3 มิติ น่าเกรงขามไม่เบาเหมือนกันนะครับ

    ราคาเรือชั้น Type 056 ของบังกลาเทศ อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเหรียญต่อลำ ผู้เขียนคาดว่ารวมทุกอย่างไว้หมดแล้ว ยกเว้นก็เพียงลูกจรวดและกระสุนปืนชนิดต่าง ๆ เท่านั้น

    แล้วพวกเขาก็เดินทางมาถึงจุดที่ควรจะเป็น กองทัพเรือบังกลาเทศต้องการจัดตั้งกองเรือดำน้ำมานานแล้ว พวกเขาส่งทหารไปฝึกอบรมที่ตุรกีตั้งแต่ปี 2004 จากนั้นจึงตั้งโครงการจัดหาเรือดำน้ำในปี 2008 แล้วโครงการก็เลื่อนไปเป็นปี 2012 ด้วยติดขัดเรื่องงบประมาณอะไรนี่แหละ 2 ปีต่อมาพวกเขาได้เลือกเรือเฟสแรกสำเร็จเสร็จสิ้น บังกลาเทศสั่งซื้อเรือดำน้ำมือสองจากจีนในราคา 203.5 ล้านเหรียญ โดยมีความสนใจเรือดำน้ำชั้น S20 หรือ Type 039 song ในการจัดหาเฟสสองต่อไป

    เรือชั้น Type 035G Ming จำนวน 2 ลำจะถูกปรับปรุงใหม่ทั้งลำ และน่าจะมีการส่งมอบภายในปี 2016 ซึ่งก็คือปีนี้ Type 035G Ming พัฒนามาจาก Type 033 Romeo ของโซเวียต ระวางขับน้ำเต็มที่ขณะดำ 2,113 ตัน ยาว 76 เมตร กว้าง 7.6 เมตร ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.จำนวน 8 ท่อยิง (ด้านหน้า 6 ด้านหลัง 2) บรรทุกตอร์ปิโด Yu-4 ซึ่งมีระยะยิง 15 กม.ที่ความเร็ว 40 น๊อตได้ถึง 18 นัด เรือชั้น Type 035G จำนวน 12 ลำเข้าประจำการกองทัพเรือจีนระหว่างปี 1990-1999  โดยในปี 2003 ได้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่กับเรือชั้นนี้ เมื่อเรือหมายเลข 361จมลงบริเวณทะเลเหลืองระหว่างทำการฝึกซ้อม ลูกเรือจำนวน 70 นายเสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุอย่างเป็นทางการไม่ปรากฎแน่ชัด แต่ใช้คำว่าขัดข้องทางเทคนิคก็คงจะได้กระมัง

การพึ่งพาตัวเอง

    กองทัพเรือบังกลาเทศซื้อเรือจากต่างประเทศมาโดยตลอด แม้ภายในประเทศจะมีอู่ต่อเรืออยู่ประมาณ 200 แห่งก็ตาม สาเหตุเป็นเพราะอู่ดังกล่าวขนาดค่อนข้างเล็ก ใช้วิธีต่อเรือเก่าคร่ำครึไม่เหมาะกับเรือยุคใหม่ อีกทั้งเครื่องมือที่มีความทันสมัยก็แทบหาไม่ได้เลย เป็นความขัดสนเนื่องมาจากไม่มีเม็ดเงินลงทุนนั่นเอง กระทั่งรัฐบาลเห็นความสำคัญของเรื่องนี้เข้า จึงผลักดันให้อู่ต่อเรือ Khulna ของกองทัพเรือมีความทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งขอความช่วยเหลือหลายด้านจากจีนด้วย จนสามารถเริ่มต้นโครงการต่อเรือรบในประเทศสำเร็จ

    โครงการแรกสุดก็คือเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ เริ่มต้นในปี 2009 ด้วยสัญญาซื้อเรือ 2 ลำจากอู่ต่อเรือ Wuchang ประเทศจีน เรือตรวจการณ์ชั้น Durjoy เป็นญาติผู้น้องของเรือคอร์เวตชั้น Type 056 โดยการลดขนาดลงจนเหลือระวางขับน้ำ 648 ตัน มีความยาว 64.2 เมตร กว้าง 9 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ AK-176 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G  ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 30 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ C-704 จำนวน 4 นัด  จรวดปราบเรือดำน้ำ  EDS-25A จำนวน 2 ระบบ รวมทั้งระบบโซนาร์ ESS-3 ที่บริเวณหัวเรือ นับเป็นเรือตรวจการณ์ที่มีอาวุธครบครันลำหนึ่ง

    BNS Durjoy (2013) และ BNS Nirmul เข้าประจำการพร้อมกันวันที่ 29 สิงหาคม 2013 กองทัพเรือบังกลาเทศกำหนดให้เป็นเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ ทว่าคนบังกลาเทศส่วนใหญ่มักเรียกว่าเรือคอร์เวตจรวดนำวิถี ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2014  เรือ BNS Nirmul ได้เข้าร่วมกับสหประชาชาติ ในภารกิจรักษาความปลอดภัยน่านน้ำเลบานอน ทดแทนเรือ BNS Madhumati ที่ทำภารกิจมาร่วม 4 ปีแล้ว

    วันที่ 30 มิถุนายน 2014 กองทัพเรือบังกลาเทศเซ็นสัญญาต่อเรือชั้น Durjoy จำนวน 2 ลำ กับอู่ต่อเรือ Khulna ซึ่งเป็นของกองทัพเรือนั่นเอง นี่คือการต่อเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยความช่วยเหลืออย่างดีจากอู่ต่อเรือ Wuchang ประเทศจีน มีพิธีวางกระดูกเรือในวันที่ 6 สิงหาคม 2015 คาดว่าอีกไม่นานพวกเราจะได้เห็นเรือทั้ง 2 ลำ ตามโครงการนี้จะมีการจัดหาเรือจำนวน 8 ลำ เมื่อเฟส 2 เสร็จสิ้นลงก็จะมีเฟสต่อไปตามมา อู่ต่อเรือบังกลาเทศจะทำผลงานได้ดีหรือไม่ เรามาคอยตามชมด้วยกันต่อไปนะครับ

    ต่อไปเป็นโครงการที่มีเรือเข้าประจำการจริงแล้ว และถือเป็นเรือติดอาวุธลำแรกที่ต่อขึ้นเองในประเทศ นั่นก็คือเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรชั้น Padma ระวางขับน้ำ 350 ตัน ยาว 50.4 เมตร กว้าง 7.5 เมตร ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก ออกแบบให้ติดตั้งรางวางทุ่นระเบิดด้านท้ายเรือได้ รวมทั้งจรวดต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่า และอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก  โครงการเริ่มเดินหน้าในปี 2010 และทยอยเข้าประจำการจนครบในอีก 3 ปีต่อมา เรือเฟสแรกจำนวน 5 ลำต่อขึ้นโดยอู่ต่อเรือ Khulna ทั้งหมด โดยมีแผนจะต่อเรือทั้งโครงการรวมทั้งสิ้น 23 ลำ

    อู่ต่อเรือ Khulna มีอายุครบ 56 ปีพอดี พวกเขายังมีผลงานกับกองทัพเรืออีกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรือขนส่งและเรือช่วยรบชนิดต่าง ๆ อาทิเช่น เรือน้ำมันขนาด 68 เมตร BNS Khan Jahan Ali เรือลากจูงชั้น Damen Stan Tug 3008 จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดใหญ่หรือ LCU จำนวน 2 ลำ รวมทั้งทำการซ่อมบำรุงเรือรบทุกลำของกองทัพเรือ หน่วยยามฝั่ง และหน่วยงานอี่น ๆ ของรัฐบาล

    บังกลาเทศยังมีอู่ต่อเรือ Dockyard and Engineering Works หรือ DEW หรือ Narayanganj ซึ่งใหญ่รองลงมาและเป็นของกองทัพเรือเช่นกัน มีผลงานด้านเรือขนาดเล็กมานานพอสมควร อาทิเช่น เรือขนส่งกำลังพล เรือตรวจการณ์ลําน้ำ เรือตรวจการณ์ขนาด 18 เมตรของหน่วยยามฝั่ง และเรือระบายพลขนาดเล็กของกองทัพเรืออีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันมีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นของหน่วยยามฝั่ง

    อุตสาหกรรมการต่อเรือของบังกลาเทศ ยังมีขนาดไม่ใหญ่โตเทคโนโลยีก็ค่อนข้างล้าสมัย แต่ด้วยกำลังซื้อจากกองทัพเรือและหน่วยยามฝั่ง จึงสามารถต่อเรือรบขนาดเล็กและเรือช่วยรบได้หลายสิบลำ โครงการเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น Durjoy ทำให้พวกเขาก้าวไปข้างหน้าอีกหลายก้าว เรื่องดีมากที่ผู้เขียนสังเกตุเห็นก็คือ แต่ละโครงการมีจำนวนเรือมากพอสมควร โดยไม่มีการทิ้งช่วงให้การพัฒนาต้องสะดุดลง

หน่วยยามฝั่ง

    วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1995 หน่วยยามฝั่งบังกลาเทศได้ถูกจัดตั้งขึ้น มีการโอนกำลังพลและกำลังเรือบางส่วนมาจากกองทัพเรือ หน้าที่หลักของพวกเขาก็เหมือนกับหน่วยยามฝั่งประเทศอื่น อาทิเช่น รักษาผลประโยชน์บนน่านน้ำ ตรวจคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย การควบคุมมลพิษทางทะเล การควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ป้องกันการลักลอบค้าอาวุธเถื่อนและยาเสพติด การดำเนินการบรรเทาภัยพิบัติต่าง ๆ  รวมทั้งปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ พื้นที่ดูแลอยู่ในเขตห่างจากฝั่งไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล โดยทำงานแยกจากกองทัพเรือเป็นเอกเทศ

    ปัจจุบันหน่วยยามฝั่งมีกำลังพล 3,339 นาย มีเรือขนาดต่าง ๆ รวมกันจำนวน 63 ลำ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรือเล็กขนาดไม่เกิน 50 เมตร ใช้ในการป้องปรามและสกัดกั้นการกระทำผิดนอกชายฝั่ง ติดตั้งเพียงอาวุธปืนขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนก็ว่าเหมาะสมกับภารกิจดีแล้ว ที่ใหญ่สุดเห็นจะเป็น ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.แท่นคู่ บนเรือชั้น Type 062 Shanghai II จำนวน 4 ลำ เรือส่วนใหญ่ค่อนข้างมีอายุพอสมควร จึงได้มีโครงการจัดหาเรือรุ่นใหม่เพิ่มเติม ถือเป็นการปรับปรุงหน่วยครั้งใหญ่ประมาณนั้นครับ

    โครงการแรกสุดที่ผู้เขียนจะขอเขียนถึง ยังอยู่ภายในประเทศที่อู่ต่อเรือ DEW หรือ Narayanganj หน่วยยามฝั่งสั่งต่อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งหรือ IPV จำนวน 2 ลำ เรือมีความยาว 43.4 เมตร กว้าง 6.4 เมตร ความเร็วสุงสุด 25 น๊อต และสั่งต่อเรือตรวจการณ์ความเร็วสุงหรือ FPB อีกจำนวน 2 ลำ เรือมีความยาว 52 เมตร กว้าง 7 เมตร ความเร็วสุงสุด 25 น๊อต เรือทั้งหมดจะทำการส่งมอบภายในปี 2017 หรือปีหน้า นอกจากนี้ยังมีโครงการเรือเครนท้องแบนจำนวน 1 ลำ เรือตรวจการณ์ลำน้ำความเร็วสุงขนาดใหญ่จำนวน 6 ลำ รวมทั้งโครงการเรือตรวจการณ์ลำน้ำความเร็วสุงจากอินโดนีเซียจำนวน 12 ลำเพิ่มเติมเข้ามา

    โครงการใหญ่ที่สุดของหน่วยยามฝั่งมาถึงแล้ว นั่นคือการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเข้าประจำการ วันที่ 4 มีนาคม 2015 รัฐบาลบังกลาเทศตัดสินใจเลือกเรือคอร์เวตชั้น  Minerva จากอิตาลี เรือมือสองจำนวน 4 ลำมีราคารวมอยู่ที่ 10.5 ล้านยูโร โดยจะการปรับปรุงซ่อมแซมทาสีเรือใหม่ รวมทั้งถอดอาวุธทุกชนิดและเรดาร์ตรวจการณ์ของอิตาลีออก เรือชั้น  Minerva 2 ลำได้ปลดประจำการในเดือนพฤษภาคม 2015 แล้วส่งมอบให้กับอู่ต่อเรือ Fincantieri ของอิตาลีปรับปรุงเรือตามสัญญาทันที เรือ F 551 Minerva เปลี่ยนมาใช้ชื่อ PL 71 Syed Nazrul ส่วนเรือ F 558 Sibilla เปลี่ยนมาใช้ชื่อ PL 72 Tajuddin อู่ต่อเรือใช้เวลาปรับปรุงจนแล้วเสร็จภายใน 168 วัน ขณะนี้ติดระบบเรดาร์และอาวุธปืนเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการส่งมอบเรือให้หน่วยยามฝั่งบังกลาเทศภายในปีนี้

    เรือชั้น  Minerva มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,285 ตัน ยาว 87 เมตร กว้าง 10.5 เมตร ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน OtoMelara KBA 25 มม.จำนวน 1 กระบอก (เมื่อเข้าประจำการอาจมีการติดปืนกลเพิ่ม) เรืออายุ 29 ปีและ 25 ปีได้รับการปรับปรุงเครื่องยนต์ครั้งใหญ่ ให้มีสภาพสมบรูณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลการวิ่งทดสอบด้วยกำลังเครื่องสุงสุด สามารถทำความเร็วได้ถึง 24.05 น๊อต ขณะที่ผลการทดสอบเมื่อปี 1988 ความเร็วสุงสุดอยู่ที่ 24.3 น๊อต ทางด้านเรืออีก 2 ลำคือ F 552 Urania และ F 553 Danaide ได้ปลดประจำการจากองทัพเรืออิตาลีเป็นที่เรียบร้อย เรือเฟสสองน่าจะส่งมอบได้ภายในปี 2017 หน่วยยามฝั่งบังกลาเทศจะมีศักยภาพสุงขึ้นทันตาเห็น

คุยกันส่งท้าย

    บทความเรื่องกองทัพเรือบังกลาเทศค่อนข้างยาวมาก รวมทั้งมีข้อมูลเรือแทบจะครบทุกลำกันเลยทีเดียว เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าไม่ค่อยมีใครเขียนถึง จึงอยากเขียนถึงมากซักหน่อยเพื่อให้รู้จักแพร่หลาย กองทัพเรือบังกลาเทศใช้เรือและอาวุธหลากหลาย นั่นก็เพราะสภาวะจำยอมจากงบประมาณ ปัจจุบันพวกเขาพยายามสร้างมาตราฐานให้ชัดเจน โดยอิงกับอาวุธและเรดาร์จากจีนมากกว่า 80 เปอร์เซนต์ โครงการในอนาคตก็ยังหนีไม่พ้นจีนเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำเฟสสองหรือเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีโครงการใหม่ เหมือนว่าจะดีแต่ไม่น่าจะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะดันมีเรื่องยุ่งยากน่าปวดหัวตามมาน่ะสิครับ

     ภัยคุกคามจากประเทศปากีสถานในปัจจุบัน ค่อนข้างมีน้อยมากจนถึงน้อยที่สุดไปแล้ว เพราะทางนั้นไม่ได้ต้องการที่จะรวมประเทศ ฝ่ายอินเดียก็คงไม่ยอมให้ทำแบบนั้นแน่ ทั้งยังวุ่นวายกับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายระดับโลก ไหนจะอเมริกาและจีนทั้งกดดันและแทรกแซงอยู่ร่ำไป แล้วภัยคุกคามที่สำคัญของบังกลาเทศอยู่ที่ไหน ตอบโดยไม่ต้องคิดว่าจากกองทัพเรือพม่านั่นเอง ทั้งสองประเทศมีเรื่องระหองระแหงกันบ่อยครั้ง ประชาชนทั้งสองฝ่ายก็ไม่กินเส้นกันเลยว่างั้น เมื่อกองทัพเรือพม่าใหญ่โตขึ้นตามลำดับ กองทัพเรือบังกลาเทศจึงต้องใหญ่โตขึ้นตามลำดับด้วย ทั้งสองฝ่ายจึงได้โตแบบก้าวกระโดดไปพร้อม ๆ กัน

    แล้วมันยุ่งยากน่าปวดหัวตรงไหนล่ะครับ ก็ตรงอาวุธต่าง ๆ มาจากประเทศจีนเหมือนกันเนี่ยสิ บังกลาเทศมีเรือฟริเกตชั้นเจียงหูพม่าก็มี พม่ามีจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A บังกลาเทศก็มี ปืนเรือชนิดต่าง ๆ ก็ใช้รุ่นเดียวกัน อาวุธปราบเรือดำน้ำก็ใช้รุ่นเดียวกันอีกแล้ว เรดาร์ตรวจการณ์เรดาร์ควบคุมการยิงก็ยังเหมือนกัน เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำก็รุ่นเดียวกันอีกแล้ว เรียกว่าลงจากเรือฝ่ายนี้ไปใช้เรือฝ่ายนั้นได้ทันที

     กองทัพเรือบังกลาเทศดูจะทันสมัยกว่านิดหน่อย ตรงที่มีจรวดต่อสู้อากาศยาน FM-90 ระยะยิง 15 กิโลเมตร และ FL-3000N ระยะยิงไกลสุด 9 กิโลเมตรประจำการแล้ว ทั้งยังมีตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Whitehead A244S ใช้งานด้วย (แม้จะบนเรือลำเดียวก็เถอะ) เมื่อบวกกับเรือดำน้ำมือสองจำนวน 2 ลำเข้าไปด้วย น่าจะถือว่าวิ่งนำกันอยู่อย่างน้อยก็ 2 เสาไฟฟ้า

    แต่ฝั่งพม่าก็มีข้อได้เปรียบเหมือนกันนะครับ เพราะสามารถต่อเรือฟริเกตขนาด 2,500 ตัน เรือคอร์เวตรูปทรง Stealth เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี รวมทั้งเรือตรวจการณ์ปืนได้ด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อมองไปไกลที่ระยะ 10 ปีข้างหน้าแล้ว พม่ามีโอกาสแซงทางโค้งช่วงท้ายได้อย่างสบาย ขึ้นอยู่กับว่าโครงการเรือดำน้ำจะออกมาแบบไหน รวมทั้งการติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานบนเรือฟริเกตลำใหม่ หรือลำใหม่กว่า (อีกแล้วเหรอ)

    แน่นอนที่สุดว่าบังกลาเทศจะไม่อยู่เฉย ถ้าโครงการเรือดำน้ำของพม่าผ่ายฉลุยไปด้วยดี จะต้องมีการจัดหาอาวุธมากกว่าเดิม งบประมาณที่ใช้ก็จะมากกว่าเดิมตามไป ถามว่าใครจะได้ผลประโยชน์มากที่สุด ตอบโดยไม่ต้องคิดว่าจีนสิครับ จริงอยู่ว่าพม่าใช้อาวุธจากอินเดียและรัสเซียผสมปนเปด้วย ฝ่ายบังกลาเทศก็ใช้อาวุธจากค่ายตะวันตกอยู่พอสมควร ทว่าอาวุธจากจีนยังครองอันดับหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลง

             -------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก   

https://en.wikipedia.org/wiki/Bangladesh_Navy
http://defence.pk/threads/bangladesh-navy.168818/page-149
http://www.bdmilitary.com/bangladesh-defence-procurement/bcg-receive-minerva-class-opvs-2016/
http://defence.pk/threads/4-minerva-class-corvettes-to-join-bangladesh-coast-guard.351980/page-13
http://humansatsea.com/2016/08/08/converted-patrol-vessels-delivered-bangladesh-coast-guard/
http://www.naviearmatori.net/eng/foto-222941-1.html
http://defence.pk/threads/bangladesh-navy.168818/page-152
http://www.defencebd.com/p/ships-of-bangladesh-navy.html
http://www.defencebd.com/2010/11/frigates-name-pennant-number-class.html
http://www.worldwarships.com/country/bangladesh
http://www.defencebd.com/2013/01/bangladesh-nany-launches-homemade-opv.html
http://ordendebatallainternacional.blogspot.com/2012/10/bangladesh.html
http://w3.khulnashipyard.com/
http://dewbn.com/
http://www.defensemedianetwork.com/stories/pla-navy-commissions-first-type-056-corvette-bengbu/
http://navaltoday.com/2015/05/07/former-uscgc-rush-joins-bangladesh-navy/
http://thedailynewnation.com/news/12319/two-war-ships-ali-haider-and-nirmul-of-bangladesh-navy-left-chittagong--for-lebanon-in-un-peace-mission-yesterday.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น