วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Republic of Korea Navy and Japan Maritime Self-Defense Force Part II


กองทัพเรือเกาหลีใต้และกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นภาค 2

    หลังจากที่ผู้เขียนได้เขียนถึงกองทัพเรือเกาหลีใต้ไว้เมื่อหลายเดือนก่อน จากนั้นก็หายไปทำโน่นนั่นนี่จนสาแก่ใจตัวเอง(หรือเปล่า) บัดนี้ถึงเวลาอันควรแล้ว ที่จะเอางานดองชิ้นนี้มาจัดการต่อให้เสร็จสมบรูณ์ ก่อนอื่นเราไปทบทวนเรื่องเก่าจากบทความเดิมกันก่อนนะครับ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดจะเป็นของกองทัพเรือเกาหลีใต้ แล้วต่อด้วยกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นในบทความนี้กันเลยครับ

http://thaimilitary.blogspot.com/2015/08/republic-of-korea-navy-and-japan.html


  
Japan Maritime Self-Defense Force 

    กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น หรือ Japan Maritime Self-Defense Force หรือ JMSDF ได้ถือกำเนิดในปี 1954 พูดง่ายๆก็คือกองทัพเรือญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นจึงต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อนี้แทน JMSDF มีขนาดใหญ่กว่ากองทัพเรือเกาหลีใต้อยู่พอสมควร มีเรือรบและเรือช่วยรบน้อยใหญ่เข้าประจำการถึง 154 ลำ และอากาศยานทุกชนิดรวมกันถึง 346 ลำด้วยกัน (ไม่รวมหน่วยามฝั่งญี่ปุ่นที่แยกออกไปต่างหาก) ซึ่งถ้านับเฉพาะเรือรบและเรือช่วยรบที่สำคัญๆแล้วจะประกอบไปด้วย

       - เรือดำน้ำโจมตี จำนวน 17 ลำ
       - เรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ดาดฟ้าเรียบ (หรือเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์) จำนวน 4 ลำ
       - เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ จำนวน 8 ลำ
       - เรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำ จำนวน 18 ลำ
       - เรือพิฆาตอเนกประสงค์ (หรือเรือฟริเกต) จำนวน 11 ลำ
       - เรือพิฆาตคุ้มกัน (หรือเรือคอร์เวต) จำนวน 6 ลำ
       - เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบ จำนวน 3 ลำ
       - เรือกวาดทุ่นระเบิด จำนวน 27 ลำ
       - เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี จำนวน 6 ลำ
       -เรือฝึกแบบต่างๆ จำนวน 8 ลำ (รวมเรือดำน้ำฝึกหัดจำนวน 2 ลำ)
       - เรือสนับสนุนขนาดใหญ่แบบต่างๆ จำนวน 22 ลำ

เรือดำน้ำโจมตี

    กองเรือดำน้ำญี่ปุ่นในปัจจุบันมีเรือเข้าประจำการรวมจำนวน 17 ลำ แบ่งเป็นเรือดำน้ำชั้น Oyashio  จำนวน 11 ลำ ทว่าในปี 2015 เรือ SS-590 Oyashio ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นเรือฝึก ปัจจุบันจึงเหลือแค่เพียง 10 ลำ เรือทั้งหมดต่อขึ้นโดยอู่ต่อเรือ Kawasaki และ Mitsubishi ระหว่างปี 1994 ถึง 2008 เรือชั้น Oyashio มีความยาว 81.7 เมตร กว้าง 8.9 เมตร ระวางขับน้ำสุงสุดขณะดำ 4,000 ตัน ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง สำหรับตอร์ปิโด Type 89 และจรวดต่อสู้เรือรบ UGM-84 Harpoon ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและระบบโซนาร์ที่พัฒนาเองหรือร่วมพัฒนากับต่างชาติ ความเร็วสุงสุดผิวน้ำ 12 นอต ความเร็วสุงสุดใต้น้ำ 20 นอต
   
    เรือดำน้ำอีกรุ่นที่ใหม่กว่า ใหญ่กว่า และทันสมัยกว่าคือ เรือดำน้ำชั้น Soryu ซึ่งเป็นรุ่นปรับปรุงของเรือชั้น Oyashio ให้ทันสมัยมากขึ้น โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2005 โดยมีแผนที่จะต่อเรือทั้งหมดจำนวน 12 ลำและเข้าประจำการแล้วจำนวน 7 ลำ นั่นจะทำให้กองเรือมีเรือดำน้ำโจมตีรวมทั้งสิ้น  22 ลำ เรือดำชั้น Soryu มีความยาว 84 เมตร กว้าง 9.1 เมตร ระวางขับน้ำสุงสุดขณะดำ 4,200 ตัน เรือเฟสแรกจำนวน 6 ลำได้รับการติดตั้งระบบขับเคลื่อน AIP แบบ Sterling Engine รุ่น Kawasaki Kockums V4-275R จึงสามารถปฏิบัติการใต้น้ำได้มากกว่าเดิม 3 ถึง  5 เท่า (ที่ความเร็วต่ำมากคือประมาณ 4 น๊อต) เรือเฟสต่อไปจำนวน 6 ลำจะยกเลิกระบบขับเคลื่อน AIP แบบ Sterling และเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่เรือดำน้ำแบบ Lithium Ion แทนการใช้แบตเตอรี่แบบ lead–acid ทำให้ราคาต่อเรือต่อลำสุงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 18 เปอร์เซนต์ (จาก 16,000 ล้านบาทเป็น 19,000 ล้านบาท) ญี่ปุ่นได้เสนอแบบเรือ Soryu ในโครงการจัดหาเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของออสเตรเลียด้วย แต่ผลการตัดสินที่เพิ่งออกมาสดๆร้อนๆทำให้ญี่ปุ่นต้องอกหัก เพราะผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการนี้คือ แบบเรือ Shortfin Barracuda จากฝรั่งเศส



เรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ดาดฟ้าเรียบ

    JMSDF ประจำการเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์มาตั้งยุคทศวรรษที่ 70 ประกอบไปด้วยเรือชั้น Haruna จำนวน 2 ลำและเรือชั้น Shirane อีก 2 ลำ โดยปรับปรุงจากแบบเรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำมาขยายความยาวของลานจอดและโรงเก็บอากาศยาน ทำให้สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขนาด 10 ตันได้ 4 ลำ เรือติดตั้งระบบอาวุธป้องกันตัวครบครันทั้ง 3 มิติ จึงสามารถทำการรบได้อย่างอิสระเฉกเช่นเรือรบทั่วไป เรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์มีความสำคัญมากในภารกิจปราบเรือดำน้ำ เพราะพื้นที่รับผิดชอบของ JMSDF มีขนาดใหญ่และกว้างขวางมาก มีการตรวจพบการรุกล้ำเข้าน่านน้ำหวงห้ามจากเรือดำน้ำไม่ปรากฎสัญชาติอยู่บ่อยครั้ง จำเป็นที่จะต้องมีเรือรบขนาดใหญ่บรรทุกอากาศยานได้หลายลำเข้าประจำการ

    เรือชั้น Haruna และ Shirane น่าจะเป็นเรือในอุดมคติของผู้อ่านหลายท่านรวมทั้งผู้เขียนด้วย เพราะได้ติดตั้งระบบอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆชนิดแน่นเอี๊ยดเต็มลำ เมื่อวันเวลาผ่านไปยุทธวิธีในการรบก็เปลี่ยนแปลงไป การจัดหาเรือตามแผนยุทธศาสตร์จึงต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 4 ลำถึงเวลาต้องปลดประจำการ JMSDF ได้ตั้งโครงการเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ดาดฟ้าเรียบขึ้นมา ผู้อ่านจะเรียกว่าโครงการจัดหาเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ก็ได้นะครับ เพียงแต่ญี่ปุ่นตั้งชื่อเรียกเรือให้แตกต่างออกไปเท่านั้นเอง นัยว่าไม่ให้ผิดไปจากรัฐธรรมนูญของตัวเอง ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างคงต้องคุยกันอีกยาว  และถ้าผู้อ่านยังสับสนว่าเรือที่กำลังพูดถึงมันเป็นอย่างไรกันแน่ ได้โปรดนึกถึงภาพเรือหลวงจักรีนฤเบศที่ไม่มีลานสกีจั๊มพ์เข้าไว้ครับ

    วันที่ 18 มีนาคม 2009 เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้น Hyuga ลำแรกคือ DDH-181 Hyuga เข้าประจำการ เรือลำที่ 2 คือ DDH-182 Ise เข้าประจำการในวันที่ 16 มีนาคม 2011 เรือชั้น Hyuga มีความยาว 197 เมตร กว้าง 33 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 19,000 ตัน มีความกว้างและยาวมากกว่าเรือหลวงจักรีนฤเบศนิดหน่อย ทว่ามีระวางขับน้ำสุงสุดมากกว่ากันอยู่พอสมควร ที่น่าสนใจมากก็คือ ระบบเรดาร์และอาวุธต่างๆที่ติดตั้งอยู่บนเรือชั้นนี้มาแบบครบเครื่อง เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ในอุดมคติของผู้อ่านหลายท่านรวมทั้งผู้เขียนอีกแล้ว ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ OPS-50 AESA และเรดาร์ควบคุมการยิง FCS-3A ที่พัฒนาเอง ระบบป้องกันตัวระยะประชิด Phalanx CIWS จำนวน 2 ระบบ ระบบท่อยิงแนวดิ่ง MK-41 VLS จำนวน 16 ท่อยิง สำหรับจรวดปราบเรือดำน้ำ RUM-139 VL ASROC จำนวน 12 นัด และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลาง ESSM จำนวน 16 นัด แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามขนาด 324 มม.จำนวน 2 แท่นยิง พร้อมระบบเป้าลวงจรวดต่อสู้เรือรบและระบบเป้าลวงตอร์ปิโด
 

    เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้น Hyuga ออกแบบมาเพื่อภารกิจปราบเรือดำน้ำ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การอพยพคนจากภัยสงคราม และเป็นฐานบินกลางทะเลได้อีกด้วย สามารถบรรทุกอากาศยานได้สุงสุด 18 ลำ ประจำการด้วยเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่น SH-60K Seahawk และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงรุ่น  MCH101 ซึ่งในปีนี้เองเรือ DDH-182 Ise ได้ออกปฎิบัติการจริงร่วมกับเครื่องบินปีกหมุนแบบเอียงรุ่น V-22 Osprey ของอเมริกา ในภารกิจลำเลียงความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมโตะ ญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายแรกที่สั่งซื้อเครื่องบิน V-22B Block C Osprey จำนวน 17 ลำ มีมูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญ เครื่องบินเฟสแรกจำนวน 5 ลำมูลค่า 332 ล้านเหรียญ จะสามารถจัดส่งให้ญี่ปุ่นได้ในเดือนมิถุนายน 2018 เครื่องบินอเนกประสงค์รุ่นใหม่สามารถลงลิฟท์ขนส่งของเรือชั้น Hyuga ได้อย่างพอดี

    เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำถัดไปคือเรือชั้น Izumo มีการจัดหาเข้าประจำการจำนวน 2 ลำเช่นกัน เรือลำแรก DDH-183 Izumo เข้าประจำการวันที่ 25 มีนาคม 2515 ส่วนเรือลำที่ 2 DDH-184 Kaga ทำพิธีปล่อยลงน้ำวันที่ 27 สิงหาคม 2015 และพร้อมเข้าประจำการในเดือนมีนาคม 2017 เรือชั้น Izumo มีความยาว 248 เมตร กว้าง 38 เมตร กินน้ำลึก 7.5 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 27,000 ตัน สามารถบรรทุกอากาศยานได้ 28 ลำ มีขนาดใหญ่กว่าเรือชั้น Hyuga แบบบังกันมิด ติดตั้งระบบเรดาร์ต่างๆใกล้เคียงกันมากแต่ใช้ระบบอาวุธแตกต่างออกไป เพราะมีเพียงระบบป้องกันตัวระยะประชิด Phalanx CIWS จำนวน 2 ระบบ และระบบป้องกันตัวระยะประชิด SeaRam CIWS จำนวน 2 ระบบ ผู้เขียนเข้าใจว่ามีพื้นที่รองรับระบบท่อยิงแนวดิ่ง MK-41 VLS อยู่แล้ว ระบบเรดาร์ควบคุมการยิงก็รองรับจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM อยู่แล้ว ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีการติดตั้งในภายหลังหรือไม่ 

    เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำแรกสุดเพิ่งเข้าประจำการในปี 2009 ก็จริง ทว่าโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ปลายทศวรรษที่ 50 JMSDF ได้เริ่มต้นโครงการสำคัญภายใต้ชื่อ CVH Project โดยได้ออกแบบเรือขึ้นมาจำนวน 2 แบบเรือคือ CVH-A ระวางขับน้ำสุงสุด 23,000 ตัน สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ HSS-2 Sea Kings จำนวน 18 ลำ และเครื่องบินลาดตระเวนปราบเรือดำน้ำ S2F Trackers จำนวน 6 ลำ แบบเรือที่ 2 คือ CVH-B มีความยาว 166.5 เมตร กว้าง 26.5 เมตร กินน้ำลึก 6.5 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 14,000 ตัน  สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ HSS-2 Sea Kings จำนวน 18 ลำ โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อคุ้มกันกองขบวนเรือสินค้า จากเรือดำน้ำโจมตีรุ่นใหม่ของโซเวียตคือ Type XXI (Whisky และ Foxtrot) โดยการแปรขบวนเรือจะใช้เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ถึง 6 ลำ เฮลิคอปเตอร์ HSS-2 Sea Kings จำนวน 12 ลำ และเครื่องบิน S2F Trackers อีกจำนวน 4 ถึง 6 ลำ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำภารกิจตลอดการเดินทาง

   
    ปี 1959 JMSDF ได้ตัดสินใจเลือกแบบเรือ CVH-B ที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะมีราคารวมถูกกว่าแบบเรือ CVH-A อยู่พอสมควร ทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆตลอดอายุการใช้งานก็ต่ำกว่ากันมาก แบบเรือ CVH-B จะใช้ระบบขับเคลื่อนเช่นเดียวกับเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น 35DDG ซึ่งเป็นเรือรบติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานลำแรกสุดของญี่ปุ่น ราคารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 1 หมื่นล้านเยนต่อลำ แยกเป็นเงินของญี่ปุ่น 62.8 เปอร์เซนต์และของอเมริกา 37.2 เปอร์เซนต์ตามลำดับ อย่างไรก็ตามในปี 1961 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจยุติโครงการนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะมีข้อขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มีความกังวลเรื่องการแข่งขันสะสมอาวุธจะรุนแรงมากขึ้น และประสบปัญหาสำคัญสุดก็คือเรื่องงบประมาณ เพราะโครงการ 35DDG ใช้งบบานปลายมาก ทำให้สามารถต่อเรือพิฆาตได้เพียง 1 ลำคือ JDS Amatsukaze ในราคา 9.8 พันล้านเยน

เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ

    JMSDF ประจำการเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศจำนวน 8 ลำ โดยเป็นเรือรบติดตั้งระบบเอจิสจำนวน 6 ลำ ต้นปี 1990 ญี่ปุ่นเริ่มต้นโครงการเรือพิฆาตขนาด 9,500 ตันพร้อมเทคโนโลยีสุดทันสมัยจากอเมริกา โดยใช้แบบเรือ  Arleigh Burke Flight II ของอเมริกามาปรับปรุงให้ตรงตามความต้องการของตัวเอง วันที่ 25 มีนาคม 1993 หรือ 3 ปีถัดมา เรือพิฆาตชั้น Kongo ลำแรกคือ DDG-173 Kongo เข้าประจำการ ส่วนเรืออีก 3 ลำได้ทยอยเข้าประจำการจนครบภายใน 5 ปี  ช่วยแบ่งเบาภาระจากเรือพิฆาตชั้น Hatakaze ที่มีระบบเรดาร์และอาวุธทันสมัยน้อยกว่ากันพอสมควร

    เรือชั้น Kongo มีความยาว 161 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 6.2 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 9,500 ตัน ติดตั้งระบบอำนวยการรบ  Aegis และเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AN/SPY-1D ติดตั้งปืนใหญ่ Oto-Breda 127/54 มม. จำนวน 1 กระบอก ระบบป้องกันตัวระยะประชิด Phalanx CIWS จำนวน 2 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามขนาด 324 มม.จำนวน 2 แท่นยิง และระบบท่อยิงแนวดิ่ง MK-41 VLS จำนวน 90 ท่อยิง สำหรับจรวดปราบเรือดำน้ำ RUM-139 VL ASROC รวมทั้งอาวุธสำคัญคือจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล SM-2 และ SM-3 ที่ยิงได้ไกลถึง 500 กิโลเมตร

    หลังโครงการเรือพิฆาตชั้น Kongo สิ้นสุดลง โครงการเรือพิฆาตชั้น  Atago ก็เริ่มต้นเดินหน้าอย่างเต็มตัวในปี 2000 โครงการสำคัญนี้ได้รับการจัดหาเรือในเฟสแรกจำนวน 2 ลำ โดยเข้าประจำการในปี 2007 และ 2008 ตามลำดับ เรือชั้น Kongo มีความยาว 165 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 6.2 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 10,000 ตัน และใช้แบบเรือพิฆาตชั้น Kongo มาปรับปรุงให้ทันสมัยมากกว่าเดิม ใช้ระบบอำนวยการรบรุ่นใหม่กว่าคือ  Aegis Baseline 7 phase 1 ใช้ปืนใหญ่รุ่นใหม่  Mk-45 Mod 4 127/62 มม. ใช้จรวดต่อสู้เรือรบ Type 90 (SSM-1B) ที่ญี่ปุ่นพัฒนาเอง และเพิ่มจำนวนท่อยิงแนวดิ่ง MK-41 VLS เป็น 96 ท่อยิง

    นอกจากเรือพิฆาตระบบเอจิสจำนวน 6 ลำแล้ว โครงการ 27DD Destroyer Project หรือเรือพิฆาตชั้น  Atago เฟส 2 ก็เดินหน้าแล้วเช่นกัน เพื่อรองรับภัยคุกคามจากอาวุธนำวิถีและขีปนาวุธที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นทุกวัน เรือชั้น 27DD Destroyer Project มีระวางขับน้ำ 8,200 ตันใช้แบบเรือพิฆาตชั้น  Atago มาปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น โดยจะเป็นเรือรบลำแรกของญี่ปุ่นที่ใช้ระบบขับเคลื่อน COGLAG (COmbined Gas turbine eLectric And Gas turbine) กำหนดการส่งมอบเรือลำแรกในปี 2020 เรือชั้น 27DD จะมาทดแทนเรือพิฆาตชั้น Hatakaze ในจำนวนเท่ากันคือ 2 ลำ เท่ากับว่า JMSDF จะคงจำนวนเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศไว้ที่ 8 ลำ


เรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำและเรือพิฆาตอเนกประสงค์


           โครงการสำคัญอีก 1 โครงการของ JMSDF ก็คือ 25DD Class Destroyer Project เป็นโครงการจัดหาเรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำขนาด 5,000 ตัน ทดแทนเรือชั้น Hatsuyuki จำนวน 3 ลำในเฟสแรก และทดแทนเรือชั้น  Asagiri จำนวน 8 ลำในเฟสถัดไป (แต่อาจจะไม่ครบทุกลำ)  โครงการเฟสแรกได้มีการสั่งต่อเรือไปแล้วจำนวน 2 ลำ ใช้งบประมาณปี 2013 และ 2014 ใช้หมายเลขเรือ DD-119 และ DD-120 เข้าประจำการปี 2018 และ 2019

    เรือชั้น 25DD มีความยาว 151 เมตร กว้าง 18.3 เมตร กินน้ำลึก 5.3 เมตร  ระวางขับน้ำปรกติ 5,000 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 6,800 ตัน โดยใช้แบบเรือพิฆาตชั้น Akizuki มาปรับปรุงให้ทันสมัยมากกว่าเดิม ทว่าเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อน COGLAG  ติดตั้งปืนใหญ่ Mk-45 Mod 4 127/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ระบบท่อยิงแนวดิ่ง MK-41 VLS จำนวน 16 ท่อยิง สำหรับจรวดปราบเรือดำน้ำ RUM-139 VL ASROC จำนวน 12 นัด และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลาง ESSM จำนวน 16 นัด  ระบบป้องกันตัวระยะประชิด Phalanx CIWS จำนวน 2 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ Type 90 (SSM-1B) จำนวน 8 นัด แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามขนาด 324 มม.จำนวน 2 แท่นยิง นอกจากเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 1 ลำแล้ว จะประจำการอากาศยานไร้คนขับอีกจำนวน 1 ลำด้วย ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ OPS-50 AESA และเรดาร์ควบคุมการยิง FCS-3A FCS-3A แบบฝังติด 4 ตัวรอบเสากระโดง

    โครงการถัดไป DDR Destroyer Revolution Project จะเริ่มต้นในปี 2021 เป็นการจัดหาเรือรบรุ่นใหม่ทดแทนเรือชั้น  Murasame และอาจจะรวมเรือชั้น Asagiri จำนวนหนึ่งด้วย แบบเรือ DDR Destroyer ทันสมัยมากขึ้น .ใช้ระบบเรดาร์ทั้งหมดทันสมัยมากขึ้น ลดการตรวจจับของเรดาร์หรือ Stealth มากขึ้น ใช้อาวุธทันสมัยมากขึ้นอาทิเช่น ระบบป้องกันตัวระยะประชิดแบบ Laser ที่พัฒนาเอง (มีแผนจะติดตั้งกับเรือพิฆาตระบบเอจิสชั้น 27DDเป็นลำแรกสุดหลังพัฒนาเสร็จแล้ว) แต่ก็ยังเป็นการใช้แบบเรือ 25DD มาปรับปรุงใหญ่เหมือนเดิมอยู่ดี โครงการนี้ยังไม่เริ่มต้นนะครับจึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงแบบเรือสุดท้ายได้ ข้อมูลอันน้อยนิดที่ผู้เขียนพอหามาปะติดปะต่อได้ ช่วยให้เราพอมองเห็นภาพกองเรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำในอีก 20 ปีข้างหน้าได้ไม่มากก็น้อย

เรือพิฆาตคุ้มกัน

    JMSDF มีโครงการเรือรบขนาด 3,000 ตันใช่ชื่อ 30DEX (Destroyer Escort Xperimental) Project อู่ต่อเรือ  Mitsubishi Heavy Industries (MHI) ได้เผยโฉมโมเดลเรือชั้นนี้ในปี 2015 เป็นแบบเรือขนาดเล็กรุ่นใหม่ที่จะนำมาทดแทนเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Abukuma ซึ่งมีระวางขับน้ำสุงสุด 2,550 ตัน เรือชั้น 30DEX ถูกออกแบบให้สามารถทำความเร็วได้สุงมาก ลดการตรวจจับของเรดาร์หรือ Stealth แบบเต็มตัว ไม่ปรากฎปล่องไอเสียระบายความร้อนที่ปรกติจะอยู่กลางลำ เพราะโดนย้ายไปไว้ที่บั้นท้ายของเรือใกล้เคียงกับตำแหน่งของ Waterjet  ใช้เสากระโดงเรือรูปทรง 6 เหลี่ยมด้านไม่เท่าขนาดไม่ใหญ่ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AESA รอบ 4 ด้านเสากระโดง เรือลำแรกของโครงการจะเริ่มต่อในปี 2018 โดยคาดว่าจะมีจำนวนรวมทั้งโครงการอยู่ที่ 15 ลำ

    30DEX มีความยาว 120 เมตร กว้าง 18 เมตร ระวางขับน้ำปรกติ 3,000 ตัน ความเร็วสุงสุด 40 นอต จากโมเดลเรือติดตั้งปืนใหญ่ Mk-45 Mod 4 127/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ระบบป้องกันตัวระยะประชิด SeaRam CIWS จำนวน 1 ระบบ ปืนกลอัตโนมัติควบคุมด้วยรีโมท Remote Weapon System (RWS) รุ่น  Marlin WS 30 จำนวน 2 กระบอก นับเป็นเรือรบแท้ๆลำแรกของญี่ปุ่นที่ติดปืนกลอัตโนมัติควบคุมด้วยรีโมท บริเวณกลางเรือมีที่ว่างสำหรับติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 8 นัด ผู้เขียนมองไม่เห็นระบบท่อยิงแนวดิ่ง MK-41 VLS จึงไม่กล้ายืนยันว่าบนเรือลำจริงจะมีการติดตั้งหรือไม่ เพราะเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Abukuma ก็ไม่ได้ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน แต่ที่ผู้เขียนสามารถยืนยันได้ก็คือ เรือบางลำจะติดตั้งระบบป้องกันตัวระยะประชิดแบบ Laser ด้วย

    แบบเรือเดียวกันนี้เองที่รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับ MHI เสนอตัวเข้าชิงชัยในโครงการ Project SEA5000 ของกองทัพเรือออสเตรเลีย เป็นโครงการจัดหาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำขนาด 7,000 ตันจำนวนถึง 9 ลำ ผู้เขียนคาดว่าน่าจะตกรอบแรกแน่นอน เพราะขนาดเรือแตกต่างจากความต้องการพอสมควร และเมื่อแอบดูผลการคัดเลือกจากโครงการ Project SEA1000 ที่เป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำขนาด 4,000 ตัน จำนวน 12 ลำของออสเตรเลียแล้ว แบบเรือดำน้ำชั้น Soryu ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวเต็งหนึ่งมาโดยตลอด แต่พอเอาเข้าจริงๆดันตกรอบสุดท้ายเป็นลำแรกสุด เพราะออสเตรเลียมองว่าญี่ปุ่นไม่เคยขายเรือดำน้ำจำนวนมากมาก่อน (อันที่จริงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้ขายเลยซักลำต่างหาก) ความเสี่ยง( risk management ) ที่โครงการขนาดใหญ่ของเขาจะมีปัญหาจึงสุงตามไปด้วย เพราะฉะนั้นกับโครงการจัดหาเรือฟริเกตจึงน่าจะคล้ายๆกันคือตกรอบแรกก่อนใครเพื่อน

    30DEX (Destroyer Escort Xperimental) Project  สมควรจะจบแต่เพียงเท่านี้ ถ้าบังเอิญผู้เขียนไม่ไปพบกับภาพ CG ของ 30DEX เวอร์ชั่น 2016 โดยบังเอิญเข้า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือนำระบบป้องกันตัวระยะประชิด SeaRam CIWS มาอยู่ด้านหน้าสะพานเดินเรือ และย้ายปืนกลอัตโนมัติควบคุมด้วยรีโมท  Marlin WS 30 จำนวน 2 กระบอกไปไว้กลางเรือ Superstructure ของเรือก็เปลี่ยนจากแบบสามเหลี่ยมด้านไม่เท่ามาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายคลึงกับแบบเรือฟริเกตสมรรถนะสุงของไทยไม่มากก็น้อย ผู้เขียนไม่ยืนยันนะครับว่าแบบเรือปี 2016 จะเป็นแบบเรือที่สร้างจริง จึงอยากให้ยึดถือแบบเรือปี 2015 เป็นแบบเรือทางการเช่นเดิมจะดีกว่าครับ

เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก

    JMSDF ประจำการเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบชั้น Oaumi จำนวน 3 ลำ โดยใช้ชื่อว่าเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่หรือ Tank Landing Ship หรือ Landing Ship, Tank น่าจะเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นนั่นแหละครับ เรือชั้น Oaumi มีความยาว 178 เมตร กว้าง 25.8 เมตร กินน้ำลึก 6 เมตร  ระวางขับน้ำปรกติ 8,900 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 14,000 ตัน  ติดตั้งระบบป้องกันตัวระยะประชิด Phalanx CIWS จำนวน 2 ระบบ อู่ลอยใต้ท้องเรือสามารถบรรทุกยานลำเลียงโฮเวอร์คราฟ  Landing Craft  Air Cushion (LCAC) จำนวน 2 ลำ มีจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ท้ายเรือจำนวน 2 จุด แต่ไม่ปรากฎลิฟท์ขนาดใหญ่รองรับเฮลิคอปเตอร์ ส่วนลิฟท์ด้านหน้าเรือก็มีขนาดไม่ใหญ่นัก โรงเก็บขนาดใหญ่ใต้ดาดฟ้าเรือรองรับรถถังหลักจำนวน 10 คันพร้อมทหารจำนวน 330 นาย บริเวณหัวเรือไม่มีประตูเปิดจึงไม่สามารถส่งกำลังบำรุงถึงหน้าหาดได้ ดูจากภาพแล้วน่าจะเรียกว่าเรือ LPD Landing Platform, Dock มากกว่า เรือชั้น Oaumi เข้าประจำการระหว่างปี 1998 ถึง 2003

    นอกจากเรือชั้น Oaumi จำนวน 3 ลำแล้ว JMSDF ยังมีโครงการศึกษาเรืออเนกประสงค์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการสั่งการและควบคุม การขนส่งลำเลียงทางทะเล การปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และเป็นฐานปฏิบัติการกลางทะเล Multipurpose Vessels รุ่นใหม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีลิฟท์ขนาดใหญ่รองรับเครื่องบิน V-22B Osprey และเฮลิคอปเตอร์ CH-47J Chinook นับเป็นเรือ LPD รุ่นใหม่ที่ครบเครื่องในทุกภารกิจอย่างแท้จริง รอดูกันต่อไปครับว่า JMSDF จะตัดสินใจอย่างไรกับโครงการนี้

เรือกวาดทุ่นระเบิด
   
    JMSDF มีเรือกวาดทุ่นระเบิดประจำการถึง 27 ลำ เป็นปริมาณที่มากเพียงพอในการป้องกันประเทศ เรือบางลำรับใช้ชาติมานานแล้วจึงต้องหาเรือใหม่มาทดแทน โครงการ 25MSO Ocean Minesweeper Project จึงได้ถือกำเนิดขึ้น วันที่ 27 ตุลาคม 2015 ได้มีพิธีปล่อยเรือ JS Awaji (MSO-304) ลงน้ำ ซึ่งเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น  Awaji ลำแรกสุด มีความยาว 69 เมตร กว้าง 11 เมตร กินน้ำลึก 5.2 เมตร  ระวางขับน้ำ 690 ตัน  ตัวเรือทำจากวัสดุไฟเบอร์กลาส ติดตั้งอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ทันสมัย  ติดตั้งปืนกลแกตลิ่งอัตโนมัติ JM61 Sea Vulcan 20 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก เรือชั้น Awaji จะมาทดแทนเรือชั้น Yaeyama โดยเรือเฟสแรกจำนวน 3 ลำจากความต้องการรวม 6 ลำ โดยจะเริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป

อากาศยาน

    กองบินนาวีของ JMSDF มีขนาดใหญ่โตมากจนผู้เขียนยังตกใจ ในปี 2012 พวกเขามีเครื่องบินปีกแข็งจำนวน 200 ลำและเฮลิคอปเตอร์จำนวน 150 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลที่มีมากที่สุดก็คือ Lockheed P-3 Orion โดยมีรุ่นต่างๆทั้งหมดรวมกันถึง 86 ลำ JMSDF มีแผนที่จะนำเครื่องบินตรวจการณ์รุ่นใหม่เข้ามาทดแทนในอนาคต โดยเลือกเครื่องบินเจ็ท 4 เครื่องยนต์  Kawasaki P-1 ที่มีขนาดใหญ่กว่า ติดอาวุธได้มากกว่า และมีระยะทำการไกลกว่า Kawasaki P-1 เป็นเครื่องบินที่ญี่ปุ่นพัฒนาเองตั้งแต่ปี 2007 ในชื่อ XP-1 maritime patrol test aircraft ก่อนเข้าประจำการจริงในปี 2014 มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องบิน Boeing P-8 Poseidon อยู่นิดหน่อย

    Kawasaki P-1 ถูกสั่งซื้อแล้วจำนวน 23 ลำ คาดว่าตัวเลขทั้งโครงการน่าจะอยู่ที่ประมาณ 60 ลำ ผู้เขียนคาดว่า P-3 Orion รุ่น ELINT Electronic Warfare และ รุ่น Optical Reconnaissance น่าจะยังประจำการต่อไป ส่วนเครื่องบินปีกแข็งที่เหลือล้วนเป็นขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินฝึกใบพัดขั้นต้น Fuji T-5 จำนวน 41 ลำ และเครื่องบินลำเลียง 2 ใบพัด Beechcraft King Air จำนวน 27 ลำ รวมทั้งเครื่องบินค้นหากู้ภัย ShinMaywa US-2 จำนวน 5 ลำ ซึ่งมีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบกบินขึ้นลงจากทะเลได้ เครื่องบินรุ่นนี้อินเดียเพิ่งซื้อไปใช้งานจำนวน 18 ลำวงเงิน 1.65 พันล้านเหรียญ และญี่ปุ่นเคยเสนอให้กับกองทัพเรือไทยพิจารณาด้วย

    มาดูทางด้านเฮลิคอปเตอร์กันบ้างนะครับ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำและค้นหาช่วยเหลือตระกูล Mitsubishi H-60 มีจำนวนมากสุดคือ 114 ลำ นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อปริมาณไม่มากในทุกปีงบประมาณอีกด้วย เฮลิคอปเตอร์ที่น่าสนใจอีกรุ่นก็คือ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงและกวาดทุ่นระเบิด AgustaWestland MCH101 โดย JMSDF ได้สั่งซื้อแล้วจำนวน 14 ลำ รับมอบแล้วจำนวน 9 ลำ เพื่อนำมาทดแทนเครื่องรุ่นเก่าคือ CH-53E Super Stallion นอกนั้นก็เป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก เช่น Eurocopter EC135 จำนวน 12 ลำในภารกิจฝึกบิน

ภัยคุกคามทางทะเล

    หลังสงครามเกาหลีภัยคุกคามสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นก็คือสหภาพโซเวียต ดินแดนทางภาคเหนือทั้งหมดเป็นพื้นที่แจ้งเตือนสีส้มคือลดจากระดับสุงสุดลงมานิดเดียว เพราะสหภาพโซเวียตในเวลาดังกล่าวมีกองทัพขนาดใหญ่โตมหาศาล มีเทคโนโลยีสุงผลิตอาวุธทันสมัยออกมาให้เห็นตลอดเวลา ผู้นำทุกคนใช้นโยบายการทหารนำหน้าการเมือง และมีประเทศต่างๆในสนธิสัญญาวอร์ซอเป็นลูกคู่คอยสนับสนุน ภัยคุกคามทางทะเลของญี่ปุ่นที่สำคัญที่สุดก็คือ บรรดาเรือดำน้ำของโซเวียตทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่จำนวนนับร้อยลำ ช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากกองเรืออรบเมริกาจำนวนมากในญี่่ปุ่นแล้ว กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นก็จำเป็นที่จะต้องมีศักยภาพในการรับมือด้วย เรือรบของ JMSDF ทุกลำจึงติดตั้งระบบโซนาร์และติดอาวุธปราบเรือดำน้ำอย่างน้อยที่สุดก็ 2 ระบบ คือ ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม. และจรวดปราบเรือดำน้ำตระกูล ASROC กระทั่งเรือรบขนาดเล็กกว่า 2,500 ตันที่ไม่สามารถติด ASROCได้ ก็ได้ใช้บริการจรวดปราบเรือดำน้ำระยะใกล้  Bofors M/50 ASW Rocket แทน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรือดำน้ำโซเวียตคือมหันตภัยร้ายอย่างแท้จริง

    ทว่าภัยคุกคามในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร สหภาพโซเวียตได้กลายมาเป็นประเทศรัสเซียไปแล้ว ขนาดของกองทัพเล็กลงกว่าเดิมและไม่มีสนธิสัญญาวอร์ซออีกต่อไป แน่นอนว่าทางภาคเหนือยังไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ แต่โอกาสที่จะเกิดสงครามใหญ่เต็มรูปแบบกับรัสเซียมีน้อยเหลือเกิน ส่วนทางนั้นเองก็มีเรื่องวุ่นวายอยู่กับชายแดนฝั่งยุโรปรวมทั้งปัญหาเรื่องสงครามเศรษฐกิจ เมื่อรัสเซียมีขนาดเล็กลงประเทศจีนก็มีขนาดใหญ่ขึ้น การขยายตัวของกองทัพจีนในทุกเหล่าทัพเป็นไปด้วยความรวดเร็วมาก รวมทั้งมีนโยบายขยายอิทธิพลของตนเองออกไปทั่วโลก ดูได้จากกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนทะเลจีนใต้ บริเวณหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสเเปรตลีย์ ส่งผลให้จอเรดาร์ของญี่ปุ่นตรวจพบเรือรบและเครื่องบินประเทศจีน บินโฉบไปมาหรือแล่นตัดฟองคลื่นเข้าใกล้เขตน่านน้ำหวงห้ามอยู่บ่อยครั้ง จีนกำลังพยายามทำแบบที่สหภาพโซเวียตเคยทำมาในอดีต

    แต่ แต่ แล้วก็แต่ ภัยคุกคามจากจีนก็ยังไม่ใช่อันดับหนึ่งอยู่ดี ประเทศที่มาแรงแซงนำในช่วงนี้ก็คือเกาหลีเหนือ ซึ่งจนถึงเวลานี้ยังไม่ได้ประกาศยุติสงครามกับเกาหลีใต้แต่อย่างใด กลับพยายามแสดงอำนาจทางทหารตนเองให้คนทั้งโลกได้เห็นบ่อยครั้ง เรื่องสำคัญก็คือการทดลองยิงจรวดรุ่นต่างๆในทะเลญี่ปุ่น โดยจงใจให้จรวดตกลงใกล้กับน่านน้ำเกาหลีใต้และญี่ปุ่น วันที่ 6 มกราคม 2016 เกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 4 พวกเขามีแผนที่จะทดสอบครั้งที่ 5 ในอีกไม่นานเท่าไหร่ วันที่ 8 และ 23 เมษายน 2016 เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยกลางจากเรือดำน้ำและประสบผลสำเร็จ เฉพาะปีนี้มีการทดสอบยิงขีปนาวุธไปแล้วถึง 5 ครั้ง เป็นสาเหตสำคัญที่สุดที่ JMSDF รีบจัดหาเรือพิฆาตระบบเอจิสเพิ่มเติม ในภารกิจป้องกันภัยทางอากาศจากความคุ้มดีคุ้มร้ายของท่านผู้นำคิม ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากขืนมัวแต่นิ่งเฉยอยู่จะไม่ทันกาล ภัยคุกคามหลักในปัจจุบันและอนาคตได้เปลี่ยนรูปโฉมไปแล้ว ทำให้กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นต้องปรับตัวตามไปด้วยเช่นกัน

    ผู้เขียนขอจบบทความเรื่อง Republic of Korea Navy and Japan Maritime Self-Defense Force Part II ลงห้วนๆตรงนี้ โดยยังมีความอยากที่จะเขียนภาค 3 ต่อแต่ไม่ยืนยันนะครับ เพราะข้อมูลที่ต้องการช่างหาได้ยากเย็นเหลือเกิน อีกทั้งภาษาเกาหลีและญี่ปุ่นก็ไม่เข้าใจเลยซักนิด ขอบคุณครับที่ติดตามจนกว่าจะพบกันใหม่

          --------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://ja.wikipedia.org/wiki/%E6%B5%B7%E4%B8%8A%E8%87%AA%E8%A1%9B%E9%9A%8A%E3%81%AE%E8%88%AA%E7%A9%BA%E6%AF%8D%E8%89%A6%E5%BB%BA%E9%80%A0%E6%A7%8B%E6%83%B3
http://www.globalsecurity.org/military/world/japan/cv-newcon.htm
http://www.secretprojects.co.uk/forum/index.php/topic,23959.msg243789.html#msg243789
http://www.navyrecognition.com/index.php?option=com_content&task=view&id=2821
http://adf20021021.pixnet.net/blog/post/440613148-%E6%BE%B3%E6%B4%B2pacific-2015%E5%B9%B4%E5%A4%AA%E5%B9%B3%E6%B4%8B%E5%9C%8B%E9%9A%9B%E6%B5%B7%E4%BA%8B%E5%8D%9A%E8%A6%BD%E6%9C%83%3A%E6%97%A5%E6%9C%AC
http://www.japantimes.co.jp/news/2013/07/07/national/japan-eyes-two-new-aegis-destroyers-to-counter-n-korea-missile-threat/#.Vx2aU7V3TIX
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_Japan_Maritime_Self-Defense_Force_ships
http://kaito1412.wp-x.jp/25dd-%E6%9C%80%E6%96%B0%E6%83%85%E5%A0%B1-%E5%BB%BA%E9%80%A0%E7%8A%B6%E6%B3%81-16%E3%82%BB%E3%83%AB-49
http://www.japantimes.co.jp/news/2015/10/27/national/anticipating-muscular-missions-msdf-launches-new-minesweeper/#.Vx3D2rV3TIV
http://www.janes.com/article/55634/japanese-shipyard-launches-new-minesweeper-for-jmsdf
https://ja.wikipedia.org/wiki/25DD
http://www.worldlibrary.org/articles/type_90_ship-to-ship_missile
http://www.forumdefesa.com/forum/index.php?topic=5843.30
http://www.navyrecognition.com/index.php/news/defence-news/year-2015-news/july-2015-navy-naval-forces-defense-industry-technology-maritime-security-global-news/2925-japan-defense-ministry-unveiled-details-of-q27ddq-class-railgun-a-laser-armed-aegis-destroyer.html

         --------------------------------------------------------------------------------------------------   

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากนะครับที่เขียนบทความดีๆมาให้อ่าน ผมติดซะยิ่งกว่าซีรี่หลังข่าวอีกนะครับเนี่ย^_^

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณท่าน boybee boy มากครับ บทความใหม่ลงแล้วนะครับ สดๆร้อนๆเลย :)

    ตอบลบ